[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ จิบกาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 08 มิถุนายน 2566 14:45:43



หัวข้อ: กินนร กินรี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 มิถุนายน 2566 14:45:43
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/82483080774545__MG_2785_320x200_.JPG)
ภาพจาก : วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี

กินนร กินรี

กินนร กินรี เป็นสิ่งมีชีวิตนักดนตรีครึ่งมนุษย์ครึ่งนก ในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ปรากฏเครื่องดนตรีโบราณของอินเดียที่เรียกว่ากินรีวีณา และปรากฏใน อาทิปรวะ ของมหาภารตะ ในเอกสารของศาสนาพุทธ ปรากฏทั้งในชาดกและสัทธรรมปุณฑรีกสูตร ในธรรมเนียมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อว่ากินนรและกินรี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการร่ายรำ ดนตรี และกวี ส่วนในธรรมเนียมเอเชียตะวันออก นักวิชาการ เอ็ดเวิร์ด เอช. ชัฟเฟอร์ ระบุว่ากินนรมักสับสนกับการเวก ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตครึ่งมนุษย์ครึ่งนกเช่นกัน แต่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับกินนร

ในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง มีการพูดถึงกินนรกับกินรี  พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า กินนรกับกินรี เป็นอมนุษย์ในเทพนิยาย กินนรเป็นเพศชาย และกินรีเป็นเพศหญิง แต่ก็มักเรียกปนๆ กันไป  กินนร หมายถึงทั้ง ๒ เพศก็มี  และเชื่อว่ากินนรกับกินรีอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ บนหิมาลัย และอาจอยู่กันเป็นบ้านเมือง มีกษัตริย์ปกครอง เช่น กินนรกับกินรีในบทละครเรื่องนางมโนห์รา-พระสุธน ก็บอกว่ามีบ้านเมืองของกินนรอยู่เชิงเขาไกรลาส

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ อธิบายว่า กินนร มี ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นครึ่งคนครึ่งนก ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นนก อีกชนิดหนึ่งมีรูปร่างเหมือนคน เมื่อจะไปไหนมาไหนก็ใส่ปีกใส่หางบินไป กินนรชนิดแรกนั้นเรามักเห็นกันบ่อย ๆ ในภาพวาดและรูปปั้น เช่น อยู่ในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นรูปครึ่งคนครึ่งนก ส่วนที่มีรูปเป็นมนุษย์และใส่ปีกหางบินได้นั้น สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม  ๓ กล่าวว่า ตรงกับรูปสลักที่มหาสถูปโบโรบุโดในเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย  นางมโนห์ราในบทละครเก่าแก่ของไทยก็อยู่ในกินนรจำพวกที่ ๒ นี้ด้วย  เมื่อนางจะถูกบูชายัญก็ร้องขอปีกหางมาสวมใส่ เพื่อรำถวายเทวดาเป็นครั้งสุดท้าย แต่เมื่อได้ปีกหางแล้วก็บินหนีกลับไปนครของนางที่ป่าหิมพานต์

ในเรื่องของอินเดีย  กล่าวว่า พวกกินนรนั้น ถ้าได้คู่สู่สมเป็นสามีภรรยากันแล้ว ย่อมมีความรักใคร่ซื่อตรงต่อกันเสมอ เมื่อกวีอินเดียกล่าวถึงความรักระหว่างหญิงชายที่บริสุทธิ์ซื่อตรงต่อกัน ก็มักยกเอาความรักของกินนรขึ้นมาเปรียบ วรรณคดีไทยที่มีชื่อของกินนรกินรีปรากฏอยู่เสมอมีอยู่หลายเรื่อง ที่เป็นเรื่องของกินนรโดยตรง เช่น บทละครเรื่องมโนราห์ และที่เป็นส่วนหนึ่งของบทบรรยายและบทพรรณนาก็มีมากในวรรณกรรมต่างๆ เช่น ในไตรภูมิโลกวินิจฉัย ของพระยาธรรมปรีชา เรียบเรียงขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
 


ที่มา :
        - "กินนร กินรี" - คอลัมน์ องค์ความรู้ภาษาไทย  โดย ราชบัณฑิตยสถาน หน้า ๒๒ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับประจำวันอังคารที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๖
        - "กินนร" - เว็บไซต์ วิกิพีเดีย