[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เอกสารธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 20 มีนาคม 2553 19:34:23



หัวข้อ: ความเป็นมา ของพระไตรปิฎก
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 20 มีนาคม 2553 19:34:23

(http://images.thaiza.com/33/33_20090625153350..jpg)

ความเป็นมา ของพระไตรปิฎก (๓)

ในเทศนาเรื่อง "เพชรในพระไตรปิฎก" พุทธทาสภิกขุ มองเห็นว่าในพระไตรปิฎกยังมีส่วนที่มิใช่พุทธพจน์อีกมาก ถ้าคิดเทียบเปอร์เซ็นต์ของส่วนที่ควรตัดออก

สำหรับนักศึกษาทั่วไปควรตัดออก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เหลืออยู่ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ สำหรับนักวิทยาศาสตร์ นักศึกษาโบราณคดี ครูบาอาจารย์ชั้นเลิศแล้ว ควรตัดออกได้อีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เหลือ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่ควรตัดออกคือเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ เช่น เรื่องราหูจับอาทิตย์ ราหูจับจันทร์ ข้อความที่เป็นไปในลักษณะสัสสตทิฐิ เป็นตัว เป็นตน เป็นคนคนเดียวเวียนว่ายตายเกิด อันเป็นลักษณะทิฐินอกพุทธศาสนาและในขั้นสุดท้ายพระอภิธรรมปิฎกทั้งหมดควรตัดออกด้วย

"ที่นี้ที่เหลือ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ก็มาเลือกเฟ้นได้โดยง่าย พบเครื่องขุดเพชรแล้วก็ขุดเพชร พบเพชรที่เรียกว่าหัวใจของพระไตรปิฎก คือ เพชรเม็ดเดียว ได้แก่ หลักคำสอนและวิธีการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติที่ว่า "สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น"

สำหรับพุทธทาสภิกขุ เครื่องชี้บ่งว่าเป็นพุทธพจน์หรือไม่ของพระไตรปิฎก มิได้อยู่ที่ "ข้อความ" นั้นๆ เป็น "คำพูด" ของพระพุทธเจ้าหรือไม่ หากอยู่ที่ "สาระ" ของคำสอนนั้นๆ เป็นหลักปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ได้จริงหรือไม่


หัวข้อ: Re: ความเป็นมา ของพระไตรปิฎก
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 20 มีนาคม 2553 19:40:06

การถ่ายทอดพระไตรปิฎก

ดังที่ทราบกันแล้วว่า สมัยพระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ เมื่อพระองค์เสด็จไปแสดงธรรมที่ไหน หรือทรงบัญญัติพระวินัยข้อไหน เมื่อใดสาวกที่ได้ยินได้ฟังก็ช่วยกันจดจำไว้ แล้วถ่ายทอดให้ศิษย์ด้วยวาจา เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการจารคำสอนลงเป็นลายลักษณ์อักษร

เคยมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า สมัยพุทธกาลคนยังไม่รู้จักการเขียนหนังสือหรืออย่างไร จึงไม่ปรากฏว่ามีตำรับตำราจารึกไว้เป็นหลักฐาน แม้บริขารของพระภิกษุก็ไม่ระบุหนังสือไว้ด้วย

พระมหาเสฐียรพงษ์ ปุณฺณวณฺโณ แสดงทรรศนะไว้ในหนังสือ ภาษาศาสตร์ อะไรคือ บาลี ว่า

ความจริง การเขียนหนังสือน่าจะมีมาก่อนพุทธกาลแล้ว ในพระไตรปิฎกเอง ก็มีข้อความเอ่ยถึงการขีดเขียนเป็นครั้งคราว เช่น ตอนหนึ่ง ห้ามภิกษุเล่นเกม "อักขริกา" (ซึ่งพระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า ได้แก่ การเล่นทายอักษรในอากาศหรือบนหลังของเพื่อนภิกษุ) วิชาเขียนหนังสือ (เลขา) ได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปะพิเศษอย่างหนึ่ง สิกขาบทบางข้อห้ามภิกษุณีเรียนศิลปะทางโลก หนึ่งในศิลปะเหล่านี้มีวิชาเขียนหนังสือด้วยในบทสนทนาภายในครอบครัว พ่อปรารภว่าจะให้บุตรเรียนวิชาอะไรดี ถ้าจะให้เรียนเขียนหนังสือบุตรอาจยังชีพอยู่ได้สบาย แต่อาจเจ็บนิ้วมือ (เพราะเขียนหนังสือ) ถ้าภิกษุเขียนหนังสือพรรณนาคุณของอัตวินิบาตกรรม ปรับอาบัติทุกกฎทุกตัวอักษร ถ้ามีผู้อ่านพบข้อความนั้นเข้าเห็นดีเห็นงามด้วยแล้ว ฆ่าตัวตายตามนั้นปรับอาบัติปาราชิก หลักฐานเหล่านี้แสดงว่า อักษรหรือการเขียนหนังสือมีมาก่อนสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ที่พระพุทธองค์ไม่นิยมใช้หันมาใช้วิธีมุขปาฐะแทนน่าจะทรงเห็นประโยชน์อานิสงส์บางสิ่งบางอย่างกระมัง หรือว่าระบบการขีดเขียนยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร ทั้งยังไม่มีอุปกรณ์การขีดเขียนเพียงพอก็ยากจะทราบได้

แต่ที่น่าคิดอยู่อย่างหนึ่ง วิธีเรียนด้วยมุขปาฐะนี้ นอกจากจะสร้างสัมพันธภาพอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้เรียนและผู้สอนแล้ว ยังเป็นการสร้างสมาธิฝึกจิตของผู้เรียนไปในตัวด้วย นักปราชญ์ยุคก่อนมีความคิดเช่นนี้ก็มีไม่น้อย เปลโตเคยกล่าวไว้ว่า "การคิดอักษรขึ้นใช้แทนการท่องจำทำให้มนุษย์ขาดอานุภาพแห่งความทรงจำ คือ แทนที่จะจดจำจากอินทรีย์ภายใน ต้องอาศัยสัญลักษณ์ภายนอกเข้าช่วย


หัวข้อ: Re: ความเป็นมา ของพระไตรปิฎก
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 20 มีนาคม 2553 19:50:08

ในพระสูตรหลายแห่ง เช่น อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต บอกวิธีศึกษาเล่าเรียนเพื่อให้การถ่ายทอดคำสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพไว้ ๕ ประการ คือ

๑. พหุสฺสุตา ต้องฟังให้มาก หาโอกาสสดับตรับฟังเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ให้มาก

๒. ธตา ฟังแล้วพยายามจำให้ได้ จับหลักหรือสาระได้ ทรงจำไว้แม่นยำ

๓. วจสา ปริจิตา ท่องบ่นสาธยายจนคล่องปาก

๔. มนสานุเปกฺขิตา เพ่งพินิจพิจารณาความหมายด้วยใจ จนนึกครั้งใดก็ปรากฏเนื้อความสว่างชัด

๕. ทิฏฺฐิยา สุปฏิวิทฺธา ขบให้แตก คือ ทำความเข้าใจลึกซึ้ง มองเห็นประจักษ์ด้วยปัญญา ทั้งแง่ความหมายและเหตุผล

วิธีการทั้ง ๕ นี้ เอื้ออำนวยให้ระบบการถ่ายทอดหลักคำสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสืบทอดต่อๆ กันมาเป็นเวลานานหลังจากพุทธปรินิพพาน เนื่องจากคำสอนของพระพุทธองค์มีมากมายเกินความสามารถของปัจเจกบุคคลคนเดียวจะจดจำได้หมด จึงได้มีการแบ่งหน้าที่กันในหมู่สงฆ์ ให้บางรูปที่เชี่ยวชาญทางพระวินัยรับผิดชอบท่องจำพระวินัย เรียกว่า วินัยธร ให้บางรูปรับหน้าที่ท่องจำพระสูตร เรียกว่า ธัมมธร แม้พระสูตรก็แบ่งหน้าที่ท่องจำเป็นส่วนๆ เช่น ทีฆภาณกะ (ผู้ท่องจำสูตรขนาดยาว) มัชฌิมภาณกะ (ผู้ท่องจำสูตรขนาดกลาง) เป็นต้น ระยะต้นๆ ก็เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ต่อมาได้ขยายจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ละกลุ่มก็มีศิษย์ศึกษาเล่าเรียนอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อพระธรรมวินัยได้รับการจัดแบ่งเป็น ๓ ปิฎกแล้ว การท่องจำพุทธวจนะได้พัฒนาเป็นระบบยิ่งขึ้น ถึงกับ (เชื่อว่า) มี "อาจริยปรัมปรา" หรือ "สำนัก" สืบทอดคำสอน มี ๓ สำนักด้วยกัน แต่ละสำนักล้วนอ้างว่าสืบทอดกันมายาวนาน ดังนี้ คือ

๑. สำนักพระวินัยปิฎก สืบทอดมาแต่พระอุบาลีเถระ

๒. สำนักพระสุตตันตปิฎก สืบทอดมาแต่พระอานนทเถระ

๓. สำนักพระอภิธรรมปิฎก สืบทอดมาแต่พระสารีบุตรเถระ

พระไตรปิฎกได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา ด้วยวิธี มุขปาฐะ หรือการท่องจำอย่างเป็นระบบ จนได้รับการจารลงเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๕ ในรัชสมัยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย ประเทศลังกา ระบบมุขปาฐะจึงได้เพลาความเข้มลง แต่ก็ยังถือปฏิบัติอยู่บ้างในบางประเทศ เช่น ไทย และพม่า มาจนบัดนี้



 (:88:)  http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=saradee&month=01-2010&date=17&group=6&gblog=31 (http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=saradee&month=01-2010&date=17&group=6&gblog=31)
อนุโมทนาสาธุค่ะ