[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 พฤษภาคม 2567 12:06:29 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 226 227 [228] 229 230 ... 236
4541  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตตปัญญาศึกษา : อาณาจักรแห่งรัก มิใช่เพียงดินแดนในฝัน เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 15:11:20
http://1.bp.blogspot.com/_QwjBfpkmoEU/RrWF7FmhwoI/AAAAAAAAAJw/3a0kcksuYAU/s1600-h/875985827_d2bad97542_m.jpg

 
โดย จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร
 
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๐
 
เมื่อผู้เขียนยังเล็ก คุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นนักดูหนังตัวยง เมื่อมีโอกาสก็มักจะหอบลูกๆ เข้าโรงหนังเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีหนังดีๆ เข้า เรายิ่งไม่ยอมพลาด ผู้เขียนจึงได้เรียนรู้เรื่องราวดีๆ มีมุมมองใหม่ๆ ต่อโลกและชีวิตจากหนังหลายๆ เรื่องที่เคยดูมา มีอยู่เรื่องหนึ่งที่จำได้ไม่รู้ลืมและถ้ามีโอกาสก็อยากหาแผ่นมาดูอีกสักครั้ง หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า The Lost Horizon ที่แปลเป็นไทยว่า “รักสุดขอบฟ้า” ท่านที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันน่าจะพอจำได้ เป็นเรื่องราวของนักบินที่เครื่องบินตกและหลงเข้าไปในดินแดนที่สวยงามราวกับสวรรค์ชื่อว่า “แชงกรีลา” เป็นดินแดนลี้ลับอยู่ท่ามกลางยอดเขาสูง มีหิมะขาวปกคลุม ผู้คนล้วนจิตใจดี มีความเฉลียวฉลาด ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
 
ในทิเบตก็มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับอาณาจักรในฝัน ซึ่งเล่าสืบทอดต่อกันมาว่าเป็นสถานที่แห่งสันติสุขและความรุ่งเรืองซ่อนเร้นอยู่อย่างลี้ลับในแถบเทือกเขาหิมาลัย ดินแดนนี้ปกครองโดยผู้ปกครองผู้ทรงสติปัญญาและการุณย์ อาณาประชาราษฎร์ต่างพากันปฏิบัติสมาธิภาวนา ทุกคนล้วนเป็นอริยบุคคลที่มีจิตใจสูง อาณาจักรนี้ถูกเรียกขานว่า ชัมบาลา นักวิชาการบางคนพยายามหาข้อมูลสนับสนุนให้ชัดว่าดินแดนนี้เคยมีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ของเอเชีย และเป็นแนวคิดที่ตรงกับแชงกรีลาทุกประการ
 
นอกจากนี้ในศาสนาหลักๆ ของโลกต่างกล่าวถึงดินแดนในฝันที่มีแต่ความสงบสุข มีความอุดมสมบูรณ์ ผู้คนอยู่ร่วมกันด้วยความรักเมตตา ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อย่างเช่นในศาสนาพุทธที่มีคติเรื่องยุคพระศรีอาริย์ว่าเป็นยุคที่โลกไม่มีความทุกข์ ไม่มีการเบียดเบียน มีแต่คนดีและมีแต่ความสะดวกสบาย ในศาสนาฮินดูกล่าวถึงพระนารายณ์อวตารปางที่ 10 เรียก กัลกิอวตาร ซึ่งพรรณนาไว้ว่าเป็นบุรุษขี่ม้าขาว ผู้มาช่วยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปเพื่อความสงบสุข
 
ในยุคที่บ้านเมืองเกือบจะเรียกได้ว่าเข้าขั้นกลียุคเช่นนี้ ยุคที่แม่ฆ่าลูก ลูกฆ่าพ่อ เหตุการณ์ระส่ำระสายทางการเมืองที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ยังไม่รวมภัยพิบัติต่างๆที่เกิดขึ้นรายวัน คงทำให้ผู้คนเริ่มชินชากับ “ความไม่ปกติ” ต่างๆ ที่ถูกทำให้เห็นจนชินตา จนอาจลืมไปแล้วว่าชีวิตที่เป็นปกติสุขนั้น ควรมีวิถีเช่นไร ไม่ต้องพูดถึงดินแดนในฝันที่มีแต่ความสงบสุข เพียงแค่หาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันก็ดูจะเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นทุกที
 
ในระยะหลังนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ในโลก ที่ทวีทั้งความรุนแรงและจำนวนความถี่ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม แผ่นดินไหว โคลนถล่ม จนผู้คนทั่วโลกต้องออกมารณรงค์เรื่องของภาวะโลกร้อนกันนับตั้งแต่ผู้นำประเทศ ดารานักร้อง ไปจนถึงเด็กๆ ตัวเล็กตัวน้อย รายการโทรทัศน์หลายรายการได้เชิญผู้รู้ระดับประเทศมาพูดคุยกันถึงประเด็นนี้ มีสารคดีหลายเรื่องแสดงให้เห็นถึงภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ตัวเราทุกที หลายคนคงเคยได้ยินนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งของไทย ท่านออกมาพูดหลายครั้งว่า หลังปี ค.ศ.2012 โลกเราจะเต็มไปด้วยความสงบสุข นับดูแล้วก็เหลือเวลาอีกเพียง 5 ปีเท่านั้น ถ้าสิ่งที่ท่านกล่าวไว้เป็นจริงเราก็คงมีโอกาสได้เห็นอาณาจักรในฝันอย่างชัมบาลา หรือแชงกรีลา หรือยุคพระศรีอาริย์ที่จะมาถึงเร็วกว่าที่คิด
 
แต่นักวิทยาศาสตร์ท่านเดียวกันก็ได้บอกไว้ว่า ก่อนจะถึงเวลานั้น โลกเราจะต้องประสบกับมหันตภัยที่จะนำพาความทุกข์อย่างมากมายมาสู่มวลมนุษย์ เมื่อย้อนระลึกถึงตัวอย่างที่เห็นชัดเจนครั้งเหตุการณ์สึนามิ ก็เห็นแล้วว่าความทุกข์ที่ถาโถมเข้ามาในเวลานั้นมันมากมาย และสะเทือนจิตใจเพียงไร แม้ว่าคนที่ไม่ได้ถูกกระทบจากเหตุการณ์โดยตรงต่างก็พากันตกอยู่ในภาวะเศร้าโศกและหดหู่ใจ สิ่งที่เยียวยาจิตใจของทุกคนในเวลานั้นก็เห็นจะมีแต่พลังแห่งรักของผู้คนที่แผ่ขยายออกไปทั่วทั้งโลก การได้สัมผัสถึงความรักความเมตตาของคนที่มีต่อ “ผู้อื่น” ที่มิใช่ลูก เมีย ญาติ หรือเพื่อนที่มีความเกี่ยวพันกันแต่อย่างใด จะมีก็แต่ความเป็นมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน ที่แตกหน่อออกมาจากโลกใบเดียวกัน ความรักครั้งนั้นแสดงให้เห็นถึงความรักที่ไปพ้นจากความเป็น “ตัวตน” อย่างแท้จริงอันเป็นคุณสมบัติของมนุษย์ที่แท้ ดุจดังความหวานที่เป็นคุณสมบัติของน้ำตาล หรือเกลือที่มีคุณสมบัติเป็นความเค็ม และความรักเมตตานี้ถือเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นของบัณฑิตจิตตปัญญาศึกษา
 
โดยทั่วไปการที่คนจะรักผู้อื่นได้นั้น ย่อมต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่มีความเป็นตัวเองร่วมอยู่ เช่นเป็นพวกเรา เป็นญาติเรา หรือเป็นผู้ที่มีประโยชน์ร่วมกัน เป็นความรักตัวที่แบ่งภาคออกไปอยู่ในคนเหล่านั้น ศาสนาต่างๆล้วนสอนให้คนมีความรักต่อกันเป็นพื้นฐาน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า การรักผู้อื่นนั้นเป็นหัวใจของทุกศาสนา ศีลหรือข้อปฏิบัติต่างๆ มีไว้เพื่อให้คนรักผู้อื่นใช่หรือไม่ ถ้าคนรักกันก็คงไม่มีใครทำร้ายฆ่าฟันกัน ขโมยของกัน พูดจาว่าร้ายใส่กัน ลองนึกดูเล่นๆ ว่าถ้าในโลกมีแต่ผู้คนที่มีแต่ความรักเมตตาต่อกัน ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกันโลก เราจะอยู่ในโลกนี้อย่างสุขกายสบายใจเพียงไร
 
การรักผู้อื่นเป็นสิ่งที่เราสามารถฝึกปฏิบัติได้ และจะเกิดประโยชน์แก่ตัวเช่นเดียวกับการฝึกปฏิบัติเพื่อยกระดับจิตใจด้วยวิธีการอื่นๆ การที่เราขยายจิตใจของตนเองออกไปจนกว้างขวางจนคนอื่นกลายเป็นเรา ไม่มีความแปลกแยก หมดความเป็นผู้อื่น หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ารู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียว เมื่อนั้นเราจะรู้สึกถึงความปลอดภัย ความวางใจ สบายใจ และเหนือสิ่งอื่นใด ผลอันเลิศที่จะเกิดขึ้นต่อมาก็คือ ความเห็นแก่ตัวจะลดลงไปตามสัดส่วน ยิ่งความรักคนอื่นแผ่ขยายกว้างขวางออกไปเท่าใด ตัวตนก็จะยิ่งลดน้อยลงเท่านั้น เมื่อตัวตนลดลงความอยากหาสิ่งต่างๆ ใส่ตน อารมณ์ขุ่นข้องด้วยเรื่องไม่พอใจที่คนอื่นทำกับเราก็จะลดลงไป ชีวิตเราก็จะมีความสุขมากขึ้น
 
ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากได้โลกที่มีแต่ความสงบสุข โลกที่มีแต่ผู้คนที่มีจิตใจดีงาม แต่ต้องแลกกับการสูญเสียที่นำมาซึ่งความทุกข์ทรมานจนอาจเกินขีดจำกัดที่มนุษย์เราจะทนรับไหว หรือพูดให้ชัดก็คือต้องรอให้มีภัยพิบัติที่หนักหนาเท่าสึนามิ หรือมากกว่าจนเกินจินตนาการที่เราจะคาดเดาได้ แล้วหลังจากนั้นมนุษย์เราจึงค่อยหันมารักกัน ช่วยเหลือเอื้ออาทรกัน มิฉะนั้นเราอาจต้องรับบททดสอบจากธรรมชาติ แถมด้วยการถูกซ้ำเติมจากเพื่อนมนุษย์ผู้ที่ฝึกฝนความเห็นแก่ตัวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่กล้าคิดเลยว่าโลกในยามนั้นจะน่าหวาดหวั่นสักเพียงไร
 
ถ้าเราต้องการให้โลกนี้เป็นโลกพระศรีอาริย์ เป็นอาณาจักรชัมบาลาหรือดินแดนแห่งพันธะสัญญา เราสามารถทำให้เกิดได้ในชั่วพริบตา โดยเริ่มจากตัวเราเอง ลองมาฝึกรักผู้อื่น เริ่มจากคนที่เราไม่เคยนึกรักเขามาก่อนเลย คนที่เดินเข้ามาในเส้นทางชีวิตของเราไม่ว่าเราจะปรารถนาหรือไม่ก็ตาม เมื่อนั้นอาณาจักรแห่งรักก็จะเกิดขึ้นจริงบนพื้นที่ที่ไร้พรมแดน ในใจของเรา
 
Sunday, August 05, 2007
 

http://jittapanya.blogspot.com/2007/08/blog-post.html
4542  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตตปัญญาศึกษา : ชื่นชมชีวิต เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 15:07:39
http://3.bp.blogspot.com/_QwjBfpkmoEU/RskcvxSEx2I/AAAAAAAAAKA/QQQ-1oUGxHI/s1600-h/541045776_33e2088705.jpg

 
โดย ชลลดา ทองทวี
 
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๐
 
เมื่อสองเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสลองทำกิจกรรม “สนทนากับเสียงภายใน” (Voice Dialogue) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยคุณฮาล และซิดรา สโตน นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Voice Dialogue เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เราได้ยินเสียงภายในของตนเองชัดขึ้น เป็นการมองอีกด้านของเหรียญว่า สิ่งเดียวกันที่เรามองเห็นตัวเอง หรือมองเห็นในตัวผู้อื่น หากเรามองอีกด้านอาจจะเห็น กลับตาลปัตรไปได้มากมาย กิจกรรมดังกล่าวนี้ อาจารย์ วิศิษฐ์ วังวิญญู ผู้เป็นกระบวนกร ช่วยนำพาการเดินทางการมองโลกทั้งด้านในและด้านนอก และได้ช่วยให้ผู้เขียนได้มองเห็นตัวเองได้ชัดขึ้น ในเวลาอันสั้น
 
อาจารย์วิศิษฐ์ ชวนให้เราตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า สิ่งที่เราไม่ชอบในตัวคนอื่น คืออะไร ข้อหนึ่งที่ผู้เขียนได้ออกมา คือ ไม่ชอบคนฟุ่มเฟือย จากนั้น อาจารย์ชวนให้เรามองตัวเองต่อว่า แล้วในมุมกลับกัน ความเป็นตัวเราเองที่ตรงข้ามกับสิ่งนี้ล่ะ คืออะไร ผู้เขียนได้คำตอบที่ไม่ยากเย็นนักว่า คือการรู้จักประหยัด สมถะในการใช้จ่ายหรือบริโภค
 
คำถามต่อมาที่อาจารย์ชวนให้มอง คือ แล้วถ้าเราจะมองสิ่งนี้ที่เราไม่ชอบในตัวคนอื่น แต่จากมุมมองของเขา เขาจะเรียกหรืออธิบายสิ่งที่เขาทำว่าอย่างไร ผู้เขียนต้องลองมองสิ่งนั้นในเชิงบวกอย่างสุดขั้วดู ในช่วงนี้กระบวนกรจะให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการถามความเห็นกันได้ เพื่อหาคำที่น่าจะเป็นไปได้ หรือน่าจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งเราโดยลำพังอาจจะไม่กล้าคิดไปถึง และผู้เขียนก็พบว่าเขาคงจะมองตัวเขาเองว่า “ชื่นชมชีวิต” เห็นความน่ารื่นรมย์ในสิ่งต่างๆ และต้องการไปสัมผัสสิ่งเหล่านั้นอย่างชื่นชม
 
จากนั้น อาจารย์ ชวนให้เราเดินทางต่อไปยังอีกด้านของเหรียญที่ค่อนข้างยาก คือ แล้วในสิ่งที่เราชื่นชมเกี่ยวกับตัวเราเอง ถ้าในมุมที่กลับกันคนอื่นเขาจะมองเห็นสิ่งนั้นในแง่ลบว่าอย่างไร กระบวนการในช่วงนี้ เราต้องอาศัยเพื่อนๆ ที่ร่วมทำกระบวนการด้วยกันช่วยเป็นอย่างมาก เพื่อให้ได้คำที่เป็นไปได้ และอาจจะไปไกลเกินกว่าที่เราจะยอมรับเกี่ยวกับตัวเอง ซึ่งผู้เขียนก็ได้พบคำว่า ตระหนี่ถี่เหนียว ออกมาจากคำแนะนำของเพื่อนๆ
 
อย่างไรก็ตาม คำที่ผู้เขียนสะดุดใจเหลือเกิน กลับเป็นคำที่มองเชิงบวกต่อผู้ที่บริโภคหรือเสพอย่างฟุ่มเฟือย ว่าเป็นการ “ชื่นชมชีวิต” อาจารย์วิศิษฐ์อธิบายว่า สิ่งที่เราเลือกที่จะไม่ทำ และไม่ชอบในตัวคนอื่นด้วย บางทีก็เป็น “ไพ่ที่เราทิ้งไป” เราไม่ยอมถือไว้ในมือด้วยเหตุผลต่างๆ อาจจะด้วยคำสอนทางปรัชญาที่เรายึดถือศรัทธา แต่ในอีกด้านของเหรียญ มันคือสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตของเรา เป็น “เงา” (Shadow) ที่เราไม่ได้สังเกตเห็น ตระหนักรู้ หรือยอมรับ การทำกิจกรรม Voice Dialogue จึงช่วยเปิดไพ่ใบนี้ออกมา และช่วยให้เราไม่ตัดสินคนอื่นหรือตัวเองอย่างสุดโต่ง เพราะจริงๆ เรื่องเดียวกันมันมองได้หลายด้าน จากคนที่มองอยู่ซึ่งต่างกันหลายคน ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าใครเลือกที่จะทิ้งไพ่ใบไหน หรือถือไพ่ใบไหนไว้เท่านั้นเอง
 
เช่นเดียวกับการประหยัด สมถะในการบริโภค ซึ่งดูจะเป็นเรื่องที่ดี น่าภาคภูมิใจ ที่เรามีวินัยในตัวเอง สามารถจะกระทำได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง ก็ไม่ได้หมายถึงว่า เราจะต้องไปไกลถึงขั้นละเลยไม่ชื่นชมชีวิตและความสวยงามต่างๆ รอบตัว
 
ทำอย่างไรเราจึงจะโอบกอดชีวิตได้อย่างรื่นรมย์ โดยยังคงไม่เสพจนฟุ่มเฟือย และไม่ตัดสินการบริโภคหรือการเสพไปเสียหมดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี หากว่ายังอยู่ในขอบเขตของการสัมผัสและชื่นชมแง่งามของชีวิต โดยไม่เบียดเบียนเดือดร้อนต่อตนเอง ผู้อื่น โลก และธรรมชาติ ทั้งนี้ เป็นเพราะการมีความรักความเมตตาให้แก่ตนเองเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้องมี ดังที่ท่านติช นัท ฮันห์ กล่าวไว้ว่า “When you love yourself, you can love others.” เมื่อเรารักตัวเอง เราก็จะสามารถรักคนอื่นได้ด้วย
 
สิ่งที่น่าหวาดหวั่นเกี่ยวกับการมองเห็นเหรียญเพียงด้านเดียว คือ การตัดสิน ซึ่งมันหมายถึงการตัดอีกด้านที่เป็นไปได้ ของชีวิตให้ขาดหายไปด้วย การใช้ชีวิตเพียงครึ่งเดียว ภายใต้กรอบการมองผ่านแว่นที่จำกัด ทำให้ชีวิตของเราขาดความเป็นธรรมดา ที่เป็นธรรมชาติ และนั่นหมายถึง เราไม่ได้สัมผัสเชื่อมโยงอยู่กับความเป็นจริงของชีวิต ตามที่มันเป็น แต่อยู่กับ “ความคิดเห็น” (opinion) ที่เราพร่ำบอกตัวเอง ว่ามันเป็นจริงอย่างนั้น อย่างนี้ การมองโลกที่บิดเบือน ย่อมจะทำให้ชีวิตของเราบิดเบี้ยวไปด้วย และจิตใจของเรา ก็ไม่มีความสุข เพราะมันบิดเบี้ยวบิดเบือนไปจากสภาวะที่ควรจะเป็น คือ การมองทุกสิ่ง อย่างที่เป็นจริงๆ เผชิญกับชีวิตอย่างตรงไปตรงมา
 
ที่จริงแล้ว การเดินทางในชีวิตทุกย่างก้าว มีสภาวะที่สดและใหม่ของปัจจุบันขณะอยู่เสมอ หากจะใช้กรอบเดิมๆ กรอบเดียว มากำหนดการก้าวเดินทุกก้าว คงจะเป็นการละเลยการยอมรับความเป็นจริงตามสภาพ
 
การศิโรราบต่อสภาวะชีวิตอย่างที่เป็น ความพอเหมาะพอดีของแต่ละจังหวะก้าวย่างในชีวิต ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยของแต่ละขณะนั้น ว่าควรสละละวางการบริโภคแค่ไหน หรือชื่นชมชีวิตมากน้อยเพียงใด และอย่างไร สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่หากเราเปิดใจเฝ้าดู จะสามารถเลือกดำเนินชีวิตได้ไม่ยากว่า แค่ไหน คือสิ่งที่พอดี พอเหมาะสำหรับตน
 
ความกล้าหาญที่จะเผชิญกับชีวิตอย่างตรงไปตรงมาดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ในสภาวะปรกติ แต่กระบวนการดีๆ เช่น กระบวนการ Voice Dialogue เป็นกระบวนการเชิงจิตตปัญญา (contemplation) ที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้ที่จะมองตัวเองและผู้อื่น ด้วยใจ อย่างใคร่ครวญ เป็นกระบวนการที่ช่วยเปิดไพ่ที่ทิ้งไปและคว่ำไว้ ใบนั้นออกมา ช่วยให้เราได้มองเห็นตัวเองและผู้อื่นอย่างเต็มตาและเต็มใจ
 
การเห็นมากขึ้น ช่วยให้เราเดินทางต่อไปในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น การเปิดตาและเปิดใจ ที่จะมองสิ่งต่างๆ ในมุมใหม่ๆ อีกด้าน แม้จะยากเย็น แต่ท้ายที่สุดแล้ว จะทำให้เรามองเห็นทางที่ผ่านมา ที่กำลังก้าวเดินอยู่ และที่อยู่เบื้องหน้า เห็นก้อนหิน และหลุมร่อง ไม่ล้มไม่พลาดตกร่องเดิมๆ อยู่ซ้ำๆ แต่สามารถปรับก้าวย่าง ให้สมดุล พอเหมาะพอควรแก่เหตุปัจจัย และเดินได้อย่างมีความสุข ด้วยความรื่นรมย์และชื่นชมได้มากยิ่งขึ้นต่อไป
 
Sunday, August 19, 2007
 
 
Posted by knoom at 7:30 AM| 0 commentsLabels: ชลลดา ทองทวี

http://jittapanya.blogspot.com/2007/08/blog-post_19.html
4543  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตตปัญญาศึกษา : ขยายพื้นที่แห่งความสุข เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 15:06:45
http://3.bp.blogspot.com/_QwjBfpkmoEU/RuXxKuIhJjI/AAAAAAAAAK8/MfDenkwBL0s/s1600-h/748795831_b7197153f7_m.jpg

 
โดย พูลฉวี เรืองวิชาธร
 
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๐
 
บรรยากาศช่วงวันสุดท้ายของการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาวิทยากรกระบวนการทางจิตวิญญาณขั้นต้น สำหรับ ๒๘ ชีวิตซึ่งเป็นบุคลากรทางด้านสาธารณสุขเครือข่ายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนั้นอบอวลไปด้วยน้ำตาแห่งความปิติสุข ความเมตตา การให้อภัย ความคิดถึงและความอาลัยที่ต้องล่ำลาหลังจากผ่านการร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกัน ระยะเวลาเพียงแค่ ๕ ครั้งๆ ละ ๔ วัน (ช่วงระหว่างพฤษภาคม ถึงสิงหาคม ๒๕๕๐) ทำไมหนอเราจึงผูกพันกันได้อย่างลึกซึ้งเพียงนี้? เป็นเสียงของผู้เข้าร่วมอบรมบอกเล่ากับเพื่อนๆ ที่เข้าอบรมด้วยกันระหว่างการกอดกันด้วยสัมผัสแห่งรักก่อนลาจาก
 
ผู้เขียนเป็นหนึ่งในทีมงานที่จัดกระบวนการและร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับกลุ่มทั้ง ๕ ครั้ง สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองและกลุ่มได้อย่างชัดเจนในด้านทักษะพื้นฐานของการเป็นวิทยากรกระบวนการทางจิตวิญญาณ(จะขอเรียกสั้นๆ ว่ากระบวนกร) คือ การรับฟังอย่างลึกซึ้ง การเปิดใจกว้างไม่ด่วนตัดสินถูกผิด การจับประเด็นทั้งเนื้อหาสาระและอารมณ์ความรู้สึก การตั้งคำถามลงลึกต่อเนื่องเชื่อมโยงอย่างมีพลังเพื่อกระตุ้นให้ผู้ตอบได้หันกลับมาคิดใคร่ครวญภายในอย่างลึกซึ้ง การใช้กระบวนวิธีคิดที่เป็นระบบสอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้ เนื้อหา และกิจกรรมผ่านประสบการณ์ตรง ในด้านพฤติกรรมการแสดงออกของแต่ละท่านและความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เห็นเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน คือ ความเชื่อมั่นว่าตนทำได้ อีกทั้งความไว้วางใจระหว่างกันในกลุ่ม การเกิดขึ้นของจิตสาธารณะหรือจิตใหญ่ของแต่ละคน การแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นใครมาจากไหน การสะท้อนสิ่งที่เพื่อนควรปรับปรุงด้วยภาษาแห่งความกรุณา การให้อภัยเวลาผิดพลาดพลั้งเผลอ ในด้านอารมณ์ความรู้สึกนั้นสังเกตได้ว่าแต่ละท่านมีความสงบนิ่ง มีสติเท่าทันกับสิ่งที่ตัวเองกระทำได้เร็วขึ้นถึงแม้บางครั้งจะผิดพลาดบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์
 
นอกจากนี้ตัวผู้เขียนเองสัมผัสได้ถึงความสุข ความอิ่มเอิบใจ ความมั่นใจในตัวเอง และความไว้วางใจที่เพิ่มมากขึ้นในทีมงานว่าเราทำได้ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาทั้งหมดก็ยังเป็นเพียงหน่ออ่อนที่ต้องได้รับการใส่ใจดูแล ได้รับการรดน้ำพรวนดินอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงระดับนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ต้องรอการตอกย้ำด้วยการเอาไปใช้หรือพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในชีวิตประจำวัน นี้แลการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งและยั่งยืนจึงจะเริ่มเป็นจริง
 
ในสังคมปัจจุบันนั้นต้องการความรวดเร็วสำเร็จรูปและง่ายไปเสียทุกอย่าง แม้กระทั่งการเรียนรู้หลายคนในสังคมก็คิดว่าการเรียนรู้จากการอบรมครั้งหรือสองครั้งก็น่าจะทำให้คนหรือองค์กรเปลี่ยนแปลงในทางที่ต้องการ เช่น คนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมความคุ้นชินที่ไม่น่ารักให้น่ารักขึ้น คนในองค์กรต้องมีความรับผิดชอบต่อองค์กร หรือต้องการให้คนในองค์กรมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รักกัน สามัคคีกันฯลฯ เมื่อหลังจากเสร็จสิ้นการอบรม สำหรับผู้เขียนเองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา แม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายยังต้องใช้เวลา เช่น ถ้าคุณกำลังเคลื่อนย้ายจากสภาพอากาศแบบหนึ่งไปอยู่ในสภาพอากาศอีกแบบ ร่างกายยังต้องใช้เวลาในการปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ในทำนองเดียวกันการปรับจิตใจต้องใช้เวลา เพราะจิตมีความซับซ้อนมากซึ่งคุณต้องยอมรับและเผชิญกับการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปรภายในอย่างรู้เท่าทัน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดังนั้นเราอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการอันหลากหลายและทดลองทำซ้ำอย่างต่อเนื่องจนจิตใจเกิดความคุ้นเคยใหม่ซึ่งจะค่อยๆ แปรเปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อย นอกจากความมุ่งมั่นตั้งใจของคนคนหนึ่งที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วนั้นยังต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกันทั้งปัจจัยในระหว่างกระบวนการเรียนรู้ และหลังจากออกไปดำเนินชีวิตประจำวัน สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้เขียนในการเปลี่ยนแปลงตนเองระหว่างการเรียนรู้ คือ ความไว้วางใจ ทั้งในตัวเราเองว่าเราทำได้ การได้รับความไว้วางใจและกำลังใจจากคนรอบข้าง มีหลายครั้งที่เราคิดว่าทำไม่ได้แต่พอได้รับกำลังใจและความไว้วางใจเราก็จะพยายามทำและเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการ
 
ในระหว่างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองนั้น ความไว้วางใจเป็นปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมกล้าที่จะเปิดใจยอมรับจุดเปราะบางของตัวเอง กล้าที่จะเผชิญกับเรื่องราวบางสิ่งบางอย่างที่ค้างคาใจ ถูกเก็บงำมาตลอดชีวิตและยังไม่ได้คลี่คลาย กล้าแม้กระทั่งปล่อยให้น้ำตาไหลรินอาบแก้มในที่สาธารณะต่อหน้าผู้เข้าร่วมอบรมด้วยกันซึ่งโดยปรกติหากเราไม่ได้ไว้วางใจกันมากพอเราคงไม่กล้าที่จะเปิดเผยหรือแสดงตัวตนที่แท้จริงของเราออกมาให้คนอื่นเห็น สำหรับผู้เขียนการกล้าที่จะเผชิญกับตัวตนที่แท้จริงของเรานั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างสำคัญยิ่ง
 
ความไว้วางใจระหว่างผู้เรียนรู้ด้วยกันหรือกับกระบวนกรนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาเองลอยๆ แต่ทุกคนในกระบวนการเรียนรู้ต้องร่วมกันสร้าง โดยเริ่มจากกระบวนกรเองต้องจัดกระบวนการที่หลากหลายง่ายต่อการเรียนรู้ปฏิบัติได้ไม่ซับซ้อน หากคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในชีวิตจริงก็จะทำให้เห็นแง่คิดและมุมมองได้ง่าย ได้สัมผัสถึงอารมณ์ความรู้สึก เหมาะสมกับกลุ่มผู้เรียน มีการรับฟังซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้งไม่ด่วนตัดสินและการมีส่วนร่วมของทุกคนบนบรรยากาศเป็นกันเองเอื้ออาทรระหว่างกัน ส่วนตัวผู้ร่วมเรียนรู้เองก็ต้องเปิดใจพร้อมที่จะเรียนรู้และรับฟังผู้อื่นอย่างแท้จริงด้วย
 
ปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงตนเองที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ เมื่อจบการอบรมและออกไปดำเนินชีวิตประจำวันแล้วทำอย่างไรเราจะสร้างโอกาสให้กับตัวเองในการทดลองใช้สิ่งต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มาในระหว่างการอบรม เพราะหากเราไม่มีโอกาสได้ทดลองใช้จริงอย่างสม่ำเสมอความคุ้นชินเดิมๆ ก็จะกลับเข้ามาหาเราอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการมีกลุ่มมีเพื่อนคอยช่วยเหลือให้กำลังใจคอยตักเตือนกันก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและยั่งยืนมากขึ้น
 
จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับบุคคลที่แตกต่างหลากหลาย ต่างองค์กร ต่างอาชีพ และจากประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงตัวเองนั้น ผู้เขียนได้ตระหนักว่าการที่คนคนหนึ่งเรียนรู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของมนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ และผลที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงก็คุ้มค่ากับต้นทุนที่ต้องเสียไป จึงขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังสร้างโอกาสในการเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่ขณะนี้ แล้วเราจะได้พบกับพื้นที่แห่งความสุขที่กว้างใหญ่ไพศาล
 
Sunday, September 09, 2007
 
 
Posted by knoom at 8:33 AM| 0 commentsLabels: พูลฉวี เรืองวิชาธร



http://jittapanya.blogspot.com/2007/09/blog-post_09.html
4544  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตตปัญญาศึกษา : แตกต่างแต่ไม่แตกแยก เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 15:05:33
http://1.bp.blogspot.com/_QwjBfpkmoEU/Ru1UQwGiOlI/AAAAAAAAAL0/GpIMC8ZqcJY/s1600-h/1221205977_d62640bd1d_m.jpg

 
โดย จารุพรรณ กุลดิลก
 
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๐
 
เหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่สั่นสะเทือนวงการวิทยาศาสตร์ได้อย่างมากครั้งหนึ่งก็คือ เมื่อทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ ไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ของการทดลองชื่อ อีพีอาร์ พาราดอกส์ (EPR Paradox) ที่ตัวเขาเองและทีมงานของเขาได้จำลองขึ้นเพื่อค้านทฤษฎีโครงสร้างอะตอมของนีลส์ บอห์ร แต่ผลที่ได้รับกลับเป็นการสนับสนุนทฤษฎีโครงสร้างอะตอมมากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น เขาพบว่า อนุภาคอิเล็คตรอน 2 ตัว ที่อยู่ตรงข้ามกัน และไม่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกันในเชิงพลังงาน แต่เมื่อมีแรงมากระทบอนุภาคหนึ่ง อีกอนุภาคหนึ่งก็จะมีผลกระทบเท่าๆ กันด้วย ซึ่งทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ และทุกวันนี้ก็ยังไม่มีทฤษฎีวิทยาศาสตร์ใด ๆ สามารถอธิบายได้อย่างสมบูรณ์ จนมีคนขนานนามปรากฎการณ์นี้ว่า ผีในอะตอม (The Ghost in the Atom)
 
จากปรากฎการณ์นี้ สามารถสรุปได้ว่า แม้อนุภาคทั้งสองจะอยู่คนละที่ หรือ คนละฟากฝั่งของจักรวาล หากตัวใดตัวหนึ่งเปลี่ยนแปลงในเชิงพลังงาน ลักษณะการเคลื่อนไหวหรือวิถีเส้นทาง อีกอนุภาคหนึ่งก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกันด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีความสงสัยว่า แล้วอนุภาค 2 ตัวนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า อาจจะมีการส่งข้อมูลบางอย่างระหว่างอนุภาคทั้งสองนี้ที่รวดเร็วกว่าความเร็วของแสง ที่ 186,000 ไมล์ต่อวินาที ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ และยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน
 
จากการทดลองข้างต้น ก็เกิดคำพูดหยอกล้อกันระหว่างไอน์ไสต์กับนีลส์ บอห์ร เนื่องจากไอน์สไตน์ยังเชื่อว่าฟิสิกส์น่าจะสามารถอธิบายปรากฎการณ์ทุกอย่างที่เกิดจากสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นได้ โดยกล่าวว่า “God does not play dice.” (พระเจ้าไม่ได้ทอยลูกเต๋า) “God is subtle but not malicious.” (พระเจ้าฉลาดเจ้าเล่ห์แสนกลแต่ไม่มีเจตนาร้าย) แล้วนีลส์ บอห์รก็โต้ตอบกลับไปว่า “Einstein, stop telling God what to do! ” (ไอน์สไตน์หยุดบอกพระเจ้าว่าต้องทำอะไรเสียที) และนั่นย่อมหมายถึง ยังมีความรู้อีกมากมายที่มนุษย์ยังไม่รู้ และสุดท้ายก็ไม่ต้องไปอธิบายเสียทั้งหมดก็ได้
 
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของปรากฏการณ์อีพีอาร์ พาราดอกส์ ของไอน์สไตน์ก็คือ การบอกให้เรารู้ว่า สิ่งสองสิ่ง แม้ไปคนละทิศทางกันโดยสิ้นเชิง แต่หากสิ่งหนึ่งเปลี่ยน อีกสิ่งก็จะเปลี่ยนด้วย ถึงแม้จะยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่ก็สามารถบอกได้ว่า หากจะเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ตรงข้ามก็ต้องเริ่มจากเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ตรงนี้เสียก่อน ในทางวิทยาศาสตร์จะเรียกคู่ตรงข้ามนี้ว่า local (สมุฏฐาน) กับ non-local (นอกสมุฏฐาน)
 
ปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์นี้ ตรงกับ แนวความคิดของจิตตปัญญาศึกษา คือ การเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ เริ่มจากภายในตนเอง จากบทความ ณ พรมแดนแห่งความรู้ เรื่อง “ชื่นชมชีวิต” ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ของดร. ชลลดา ทองทวี ในเรื่อง เงา (Shadow) สอดคล้องกับปรากฎการณ์พาราดอกส์ (Paradox) ที่ประจักษ์ชัดต่อสายตาชาวโลกแล้ว กระแสความคิดในสมองมนุษย์ ก็เกิดจากการไหลของอิเล็คตรอน ฉันใด ก็ ฉันนั้น ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดความคิดใดๆ ขึ้นในสมอง ย่อมจะมีความคิดในทางตรงข้ามเกิดขึ้นเสมอ หากเราเรียนรู้ที่จะเห็นความคิดตรงข้ามในตัวเอง ก็จะพบความจริง ของความเป็นเช่นนั้นเอง และสามารถวางใจเป็นกลาง แต่หากเราเห็นความคิดในตัวเราด้านเดียว ความคิดตรงข้ามย่อมไปเกิดที่อื่น หรือในคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นของสิ่งหนึ่ง เกิดความรู้สึก ชอบใจ ของสิ่งนั้นอย่างมาก และไม่เห็นความ ไม่ชอบใจ ตรงไหนเลย สักวันหนึ่งเราอาจจะพบคนที่ ไม่ชอบใจ ของสิ่งนั้นมากพอๆ กับเรา และเขาผู้นั้นก็ไม่สามารถเห็นความ ชอบใจ สิ่งของดังกล่าวได้เลยเช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นเช่นนั้นเอง เรียกว่า พาราดอกส์ (Paradox) หรือ ที่อาจารย์ชลลดาเขียนถึงเรื่อง เงา (Shadow) นั่นเอง
 
ส่วนกระบวนการที่นอกเหนือจากการพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ย่อมมีวิธีที่ทำให้คนเราประจักษ์ชัดถึงความเชื่อมโยงของสิ่งที่แตกต่างสองสิ่งอย่างเป็นธรรมดา ธรรมชาติ อาจารย์ชลลดาเขียนถึงวอยส์ ไดอะล็อค (Voice Dialogue) ที่เป็นการฟังตนเองอย่างลึกซึ้ง เป็นการเปิดโอกาสให้ค้นพบศักยภาพบางอย่างที่ตนอาจละเลยไป ไม่ใส่ใจมาก่อน กลับได้ตระหนักรู้และเกิดความเข้าใจ ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และสมดุลด้วยตนเอง ส่วนผศ. ดร. ปาริชาด สุวรรณบุบผา ก็ใช้วิธีไดอะล็อค ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นประเด็น “แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก” โดยเรียนรู้ผ่านการไดอะล็อคกับผู้อื่น และใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ซึ่งหมายรวมถึงการฟังตัวเอง การฟังผู้อื่น และการฟังความเงียบ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพด้านใน สามารถยอมรับสิ่งที่แตกต่างหลากหลายได้ หลังจากที่ไม่เคยยอมรับมาก่อน แต่เมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะมีความเห็นว่า ความแตกต่างหลากหลายเป็นธรรมชาติ และเกิดความสุขในการเห็นความเป็นธรรมชาติ ธรรมดา คนเราสามารถแตกต่างได้ แต่ไม่ต้องแตกแยก โดยอาจารย์ปาริชาดท่านใช้ประเด็นนี้ในการเผยแพร่เรื่อง สันติวิธี ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจอย่างยิ่งในปัจจุบัน
 
นอกจากนี้ สิ่งที่ควรเน้นย้ำก็คือ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ย่อมเริ่มจากตัวเอง เช่น หากเราเปลี่ยน โลกทั้งใบก็จะเปลี่ยน คราใดที่เราเห็นว่าสังคมมีปัญหา โลกมีปัญหา หรือคนรอบข้างมีปัญหา สิ่งที่เราควรจะทำก่อนที่จะลุกไปเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ ก็คือ อยู่กับตัวเอง ฟังตัวเอง การฟังเช่นนี้ต้องใช้สติสัมปชัญญะ เห็นความรู้สึก ความคิดที่เกิดขึ้น และเมื่อสามารถเท่าทันความคิดของตนได้ ย่อมจะเห็นความเป็นธรรมดาของปริมาณความคิดที่มากมาย ไม่ต้องไปคาดโทษความคิดใดๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเราห้ามหรือสั่งให้เกิดไม่ได้ และย่อมจะเห็นว่า ไม่ว่าความคิดที่เราชอบหรือไม่ชอบเกิดขึ้นมานั้น ก็ย่อมจะไม่เป็นปัญหา เมื่อเรียนรู้ฝึกฝนไปบ่อยๆ อะไรต่ออะไรก็ง่ายขึ้น ฟังคนอื่นก็เข้าใจง่ายขึ้น เห็นสังคมก็เข้าใจง่ายขึ้น เป็นลำดับๆ ไป จนในที่สุดโลกทั้งใบอาจเปลี่ยนแปลงไปหมดเลยก็เป็นไปได้
 
Sunday, September 16, 2007
 
 
Posted by knoom at 10:59 PM| 0 commentsLabels: จารุพรรณ กุลดิลก



 
http://jittapanya.blogspot.com/2007/09/blog-post_16.html
4545  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตตปัญญาศึกษา : การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 15:04:29
http://3.bp.blogspot.com/_QwjBfpkmoEU/RviYEZPHrkI/AAAAAAAAAMA/cI-_xs8vXXc/s1600-h/997749234_25effe2e36_m.jpg

 
โดย ปาริชาด สุวรรณบุบผา
 
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
 
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๐
 
วันที่ ๒๔ กันยายน ของทุกปี เป็นวันมหิดล เป็นวันที่นักศึกษามหิดลช่วยกันจำหน่ายธง หารายได้สมทบทุนกิจการเพื่อคนไข้ผู้ด้อยโอกาสของโรงพยาบาลศิริราช ความคิดและการกระทำช่วยเหลือคนไข้ผู้ยากไร้เช่นนี้ เป็นความคิดที่ควรค่าแก่การสรรเสริญเหนือสิ่งอื่นใด กิจกรรมนี้เป็นการแปลงคำขวัญของมหิดล “อตฺตานํ อุปมํ กเร” อันมีความหมายโดยรวมว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” มาทำให้เป็นรูปธรรมโดยการปฏิบัติที่แสดงความเมตตากรุณาที่จะรักและช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากให้ได้พ้นความทุกข์ ให้มีโอกาสหายโรคและสุขสบายได้มากขึ้นวิธีหนึ่ง
 
การเข้าใจผู้อื่นแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นการตระหนักถึงความคิด ความรู้สึก จิตใจและสถานการณ์ของผู้อื่น อาจทำได้หลายวิธี เช่น ใช้การฟังแบบลึกซึ้ง ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ผู้พูดและผู้ฟังวางใจซึ่งกันและกัน มีเมตตาจิต และปรารถนาดีต่อกัน ที่จะฟังเพื่อเรียนรู้ เป็นวิธีการเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้อื่นมากขึ้น ถ้ายังไม่มีโอกาสพูดและฟังอย่างลึกซึ้ง ก็อาจใช้วิธี จินตนาการอย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา (sympathetic imagination) เป็นการคิดนึกเอาว่า ถ้าเราเป็นเขา ได้รับการกระทำหรือคำพูดเช่นนี้ เราจะรู้สึกอย่างไร จินตนาการเป็นการสร้างสรรค์เริ่มคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่น นอกเหนือจากการคิดที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง เป็นการลดละ ลืมความสำคัญของตน เพื่อเห็นคุณค่าและความรู้สึกของผู้อื่นได้มากขึ้น
 
นอกจากนั้น ยังมีอีกวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ได้แก่ “passing over” คือการหยุดหรือวางความเชื่อ และเหตุผลของตนไว้ชั่วเวลาหนึ่ง เป็นการละวางตัวตนซึ่งมีแนวโน้มจะเข้าข้างตนเองว่าถูกที่สุด เหมาะสมที่สุด แล้ว “ก้าวข้าม” ไปทดลองปฏิบัติตามความเชื่อ เหตุผลหรือวิธีการของผู้อื่น เพื่อจะได้เข้าใจเงื่อนไข ปัจจัยที่ทำให้เขาคิดและเชื่อต่างจากตน เมื่อก้าวข้ามไปมีประสบการณ์นั้น จนเข้าใจ “แรงจูงใจ” และ “เงื่อนไขปัจจัย” ของผู้อื่นแล้ว จึง “ก้าวกลับ” (passing back) มายังจุดยืนเดิม และความเชื่อเดิมของตน วิธีนี้เป็นข้อเสนอของ John Dunne นักการศาสนาชาวอังกฤษ ที่แนะนำให้ศาสนิกชนต่างศาสนาได้ทดลอง “วาง” ความเชื่อ และการปฏิบัติของตนไว้ชั่วคราว แล้วลองเชื่อ ปฏิบัติ และทำทุกอย่างที่กำหนดไว้ในความเชื่อทางศาสนาของผู้อื่น ให้มีประสบการณ์ตรงเพื่อเข้าใจแรงจูงใจ อารมณ์ ความรู้สึกหรือเงื่อนไขของผู้อื่นที่เชื่อต่างจากตน การเรียนรู้ด้วยวิธีก้าวข้าม และก้าวกลับมาเช่นนี้ อาจทำให้ศาสนิกชนที่เชื่อต่างกันได้เข้าใจจุดยืนที่ต่างกัน และพัฒนา “ความเข้าอกเข้าใจ” และ “วางใจ” ต่อท่าทีและการปฏิบัติของผู้อื่นมากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง วิธีการดังกล่าวนี้เป็นการเรียนรู้โดยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา โดยมิเพียงแค่จินตนาการ แต่ได้ทดลองปฏิบัติเพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรงนั่นเอง
 
เมื่อครั้งสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมัน ผู้เขียนได้เข้าร่วมงานอาสาสมัครกับเพื่อนชาวคริสต์ กลุ่ม Diakonie ทำโครงการ “รถเที่ยงคืน” (midnight bus) เพื่อรวบรวมอาหารและเครื่องดื่มร้อนๆ ไปแจกจ่ายกับบุคคลผู้ไม่มีที่อยู่อาศัย (homeless) อาสาสมัครจะลงชื่อทำงานวันละ ๓ คน อุปกรณ์การทำงานประกอบไปด้วยรถตู้ ๑ คัน ด้านหลังรถจัดเป็นที่วางหม้อต้มน้ำร้อนสำหรับชงน้ำชา กาแฟ และซุปละลายทันทีพร้อมถ้วยกระดาษ เรานัดพบกันประมาณ ๑ ทุ่ม หน้าร้านขายขนมปังและเค้ก เพื่อรับบริจาคขนมที่ร้านต้องการทิ้ง เพราะเหลือจากการขาย แต่ว่ายังสดและปลอดภัยเพียงพอที่จะรับประทานได้ เนื่องจากร้านต้องการรักษาคุณภาพ จึงผลิตขายวันต่อวัน เมื่อได้ขนมแล้วก็จะขับรถตระเวนไปรอบใจกลางเมือง บริเวณที่มีผู้เที่ยวกลางคืนออกมาหาความสำราญ ผู้ไร้บ้านเหล่านี้จะมายืนรอเพื่อขอเศษเงินจากนักเที่ยวกลางคืนทั้งหลาย จึงเป็นโอกาสให้ได้แจกชา กาแฟ และซุปร้อนๆ เพื่อบรรเทาความหนาวเหน็บยามค่ำคืน
 
ในคริสต์ศาสนามีความรักแบบ agape ที่เป็นความรักแบบไม่มีเงื่อนไข สำหรับชาวพุทธอาจจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะพุทธศาสนาก็มีคำสอนเรื่องความรักความเมตตาที่ไม่มีขอบเขตและประมาณต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายเช่นกัน และผู้เขียนได้เพิ่มพูนการเรียนรู้อย่างยิ่งจากกิจกรรมนี้ เพื่อนชาวคริสต์บอกว่าโครงการรถเที่ยงคืนเป็นเหมือนการแบกกางเขน (carry the cross) เพื่อตัดตัวตน อดทนต่อความลำบาก ความเหนื่อยยากของตนเอง เพื่อบริการและช่วยเหลือผู้อื่น ดังที่พระเยซูเจ้าศาสดาในศาสนาคริสต์ได้ปฏิบัติแล้ว งานอาสาสมัครครั้งนี้ของผู้เขียนจึงเสมือนเป็นการ passing over ได้เรียนรู้การเสียสละ แรงจูงใจ และวิธีปฏิบัติเพื่อแสดงความศรัทธาต่อคำสอนทางศาสนาของอาสาสมัครชาวคริสต์ เพราะงานนี้ อาสาสมัครจะทำทุกวันถึงเที่ยงคืน ขับรถตู้ตระเวนหาผู้ไร้ที่อยู่ ซึ่งเป็นคนยากจน คนจรจัด บางคนก็ติดเหล้าและป่วย บ้างก็นอนหลบลมหนาวซุกตัวอยู่ใต้สะพานหรือมุมตึก อาสาสมัครต้องเดินจากรถลงไปปลุกและยื่นน้ำชาและซุปร้อนๆ ให้มีกำลังและความอบอุ่นเพิ่มขึ้น เป็นงานจิตอาสาเพื่อการพัฒนาจิตวิญญาณตามแนวคริสต์ศาสนา
 
ข้อสังเกตที่ได้เมื่อผู้เขียน passing back กลับมาอยู่ในเงื่อนไขของตนเอง ได้พบว่าการร่วมกิจกรรมนี้ ทำให้เข้าใจความหมายของคำว่า แบกกางเขน ของเพื่อนชาวคริสต์ได้ชัดเจนและลึกซึ้งมากขึ้นกว่าการอ่านจากหนังสือและการเรียนในชั้นเรียน เพราะเป็นการเรียนรู้ที่มีส่วนร่วมและได้สัมผัสกับ “ความสุขภายใน” ที่ได้ช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้อื่นแม้เพียงเล็กน้อย กับทั้งการเป็นอาสาสมัครนี้ไม่มีค่าตอบแทน ต้องทำงานท่ามกลางอากาศหนาว และบางครั้งก็เสี่ยงภัยอันตราย เพราะผู้ไร้ที่อยู่อาศัยเหล่านี้ใช้เศษเงินที่ขอได้ไปซื้อเหล้า เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย คนที่ติดเหล้าเหล่านี้อาจทำอันตรายโดยเฉพาะผู้หญิงอาสาสมัครที่เดินในที่เปลี่ยว
 
การเรียนรู้ประสบการณ์ของเพื่อนต่างศาสนาด้วยการมีส่วนร่วมให้ได้ประสบการณ์ตรงโดยการ passing over เพื่อเข้าใจแรงจูงใจ ความเสียสละและความจงรักภักดี ความเชื่อและศรัทธาของเขา ด้วยวิธีนี้ เป็นตัวอย่างที่อยากเรียกว่า การเรียนรู้แบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ผ่านการทดลองกระทำ อาจนับเป็นการทำสานเสวนาระหว่างศาสนาประเภทหนึ่ง เป็น dialogue of experience ที่ผ่านประสบการณ์ตรง เป็นกิจกรรมที่มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาที่ต่างกัน แต่ก็สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้
 
หากบุคคลในสังคมได้ผ่านประสบการณ์ “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” รูปแบบต่างๆ ดังกล่าวนี้ คงเป็นที่หวังได้ว่า ความเข้าใจและความสงบสุขจะเกิดอยู่ไม่ไกลจากดวงจิตของเรา และสันติสุขที่พวกเราเรียกร้องจะมาสู่สังคมไทยได้ในที่สุด
 
Sunday, September 23, 2007
 
 
Posted by knoom at 7:30 AM| 2 commentsLabels: ปาริชาด สุวรรณบุบผา



 
http://jittapanya.blogspot.com/2007/09/blog-post_23.html
4546  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตตปัญญาศึกษา : ด้วยรักและสนิทสนม เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 15:00:59
http://2.bp.blogspot.com/_QwjBfpkmoEU/RxGof5PHrnI/AAAAAAAAAMY/8rbziUyoUwk/s1600-h/footprints_2.jpg

 
โดย ธนัญธร เปรมใจชื่น
 
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๐
 
ระยะหลังมานี้ ฉันได้ร่วมทำงานกับพ่อใหญ่อยู่บ่อยครั้ง พ่อใหญ่ (อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู) เป็นพ่อทางจิตวิญญาณของฉัน การน้อมตนเป็นลูก เป็นศิษย์นั้น ช่วยเคาะเจ้าอัตตาตัวตนให้ฉันได้มากโขทีเดียว เพราะมันเป็นการช่วยให้ตระหนักกับตนเองว่า เรายังมีครูผู้กำกับดูแล การทำงานร่วมกับครูยังช่วยเปิดมุมมองของฉันให้ลึกซึ้งขึ้นด้วย ผ่านแว่นตาของครูที่มองออกไปเบื้องหน้า นี่ไม่นับประสบการณ์ตรงที่ไหลหลั่งมาจนเรียนไม่หวาดไหวนะ ครูเองก็สอนแบบวิถีโบราณ คือไม่ใช่แค่มาขอเรียน เมื่อจะเรียนก็ต้องยอมตัวด้วย
 
แต่มันไม่ง่ายเลย เพราะแค่ยอมตนนี่ก็แสนยากแล้ว โดยมากเรามักพูดว่า “ยอม” แต่ความจริงแท้ภายในของเรากลับไม่เคยยอมลงเลย เรายังกลัวว่าเราจะโง่ หรือด้อยกว่าเขา จนทำให้ฉันเกิดคำถามกับตนเองอยู่บ่อยครั้ง ว่าอะไรนะทำให้คนที่ดื้อรั้น อัตตาแรงอย่างฉัน เกิดสภาวะเชื่องลงได้ขนาดนี้
 
ทั้งที่ตอนเริ่มเดิมทีนั้น ฉันนี่แหละตัวป่วนของแท้ อยากเรียนก็อยากอยู่ แต่จะให้ก้มหัวให้น่ะไม่มีทาง ยังเชื่อเหลือคณาว่าตน “เจ๋ง” จนกระทั่งฉันค้นพบบางอย่างในตนเอง ผ่านการสอนแบบเรียนผ่านการปฏิบัติ เรียนไปพร้อมกับงานและที่สำคัญครูเองก็เรียนรู้ ฝึกตนและเปลี่ยนแปลงให้เห็นด้วยเช่นกัน และเมื่อเราค้นพบความยิ่งใหญ่ในความธรรมดาสามัญของครู จิตของเราก็น้อมได้ โดยมิจำต้องพยายาม
 
การน้อมตนและขอเป็นบุตรทางจิตวิญญาณนั้น มีความหมายต่อชีวิตฉันมาก ไม่ใช่ว่าพ่อฉันไม่ดี ไม่น่าเคารพนะ คนเรามักแยกไม่ออกเรื่องความสัมพันธ์ ประการสำคัญคือ ฉันแลเห็นถึงการเกิดใหม่อีกครั้งที่ภายในตนเอง จริงๆ แล้วหากเราไม่ติดยึดกับสภาวะการเกิดเพียงการถือกำเนิดเป็นทารก โดยเฉพาะในวิถีการพัฒนาด้านใน การเกิดใหม่ในแบบที่ดวงตาเปิดรับการเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพอีกครั้งนั้น เราอาจพบการเกิด-ดับของตนมากกว่าครั้งหนึ่งที่ชีวิตพึงมี
 
นับวัน จากที่เคยตามเรียน แบบห่างๆ ฉันก็เริ่มสนิทสนม และหลอมจิตกับพ่อใหญ่ พ่อครูของฉันได้มากขึ้น เมื่อหลอมรวมแล้ว ความเป็นหนึ่งแบบไม่แยกส่วนก็ผุดบังเกิด ทำให้เราแลเห็นความเป็นอื่นต่อกันน้อยลงไปด้วย ก็ความขัดแย้งทั้งหลาย ทั้งที่เกิดจากภายนอกและภายในตัวตนของเรานี้ ต่างล้วนเกิดจากภายในของเราเองที่แลเห็นเขาเป็นอื่นจากตัวเรา แม้บางทีที่เราบอกว่ารักกัน แต่เราก็ยังมีความเป็นอื่นแก่เขา เราจึงไม่อาจเห็นในมิติของเขา ที่อาจเหมือนหรือต่างไปจากที่เรามอง เพราะเมื่อโลกภายในของเราเป็นเช่นไร ภาพที่สะท้อนต่อเราจากโลกภายนอกก็จะเป็นเช่นนั้น เช่น โลกภายในของเรากำลังกลัวและหวาดระแวง เราก็อาจแลเห็นแต่ความไม่น่าวางใจ แลเห็นแต่คนที่กำลังเอารัดเอาเปรียบเรา แม้คนนั้นเขาจะไม่ได้คิดอะไรกับเราเลยก็ตามที แล้วเราก็เริ่มหวาดกลัว หวาดระแวงต่อโลก เราเริ่มไม่วางใจกันและกัน เราเริ่มมีแต่คนที่เรารู้จักแต่ไม่สนิทสนม เรากลายเป็นมนุษย์ที่กลัวการสนิทสนม เพราะเราหลงคิดไปว่า เขาจะมาเอาเปรียบเรา ซึ่งก็ไม่แปลกนัก ที่ทุกวันนี้เราจะไม่รู้จักคนข้างบ้าน มีญาติที่ไม่สนิทนัก มีเพื่อนแต่ก็แค่เรียนมาด้วยกัน อะไรทำนองนั้น
 
ครั้งหนึ่งในการทำงานร่วมกับพ่อใหญ่ งานโรงเรียนพ่อแม่ ที่ จ.นครสวรรค์ เราพูดคุยเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ การทำชุมชนปฏิบัติการขึ้น เพื่อเอื้อให้เกิดการเรียนรู้และหล่อเลี้ยงร่วมกัน การฝึกตนของแต่ละคนก็อาจเป็นจริงได้มากขึ้น มีผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งถามไถ่กับพ่อใหญ่ว่า จะทำอย่างไรจึงจะเกิดกลุ่มอย่างที่พ่อใหญ่ทำได้ เพราะเขายังมองไม่เห็นช่องทางที่จะเป็นไปได้ในชีวิตเขาเลย เพราะเพื่อนที่เขามีก็คงไม่สนใจเหมือนกับเขา แล้วจะหาใครมาร่วมได้
 
ฉันประทับใจคำตอบของพ่อมาก แทนที่จะตอบตรงๆ ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ถามได้คำตอบเลย แต่พ่อใหญ่กลับเล่าเรื่องการเดินทางของชีวิตแกเอง เรื่องราวที่แต่ละคนมาร่วมกันเป็นชุมชนของเราในวันนี้แม้แต่ตัวฉันเอง แล้วพ่อใหญ่ก็ยิ้มแก่ผู้ถามท่านนั้น และกล่าวว่า “ผมไม่เคยกลัวการสนิทสนม ผมพร้อมจะดูแลคนทุกคนที่เข้ามาในชีวิตอย่างสนิทชิดเชื้อ ผมมันพวกใจกล้าบ้าบิ่น กล้าที่จะบอกรักก่อน โดยไม่กลัวการปฏิเสธ” แล้วแกก็หัวเราะ
 
สิ่งหนึ่งที่มักพบเจอบ่อยครั้งทั้งกับตนเองและคนรอบข้างคือ เรามองเห็นข้อจำกัดของผู้อื่นง่ายกว่าข้อจำกัดที่เรามี เราแลเห็นแต่อุปสรรคและภาระที่จะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ เราจึงพยายามจัดวางความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องในชีวิต โดยให้ตัวตนของเรานี้ปลอดภัยที่สุดจากความสัมพันธ์นั้นๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ยังคงมีความเป็นอื่นอยู่ในความสัมพันธ์ของเราเสมอ แม้แต่คนในครอบครัวเดียวกัน และเมื่อเป็นอื่นจากกัน เราและเขาก็มิอาจหลอมรวมกันได้ การร่วมกันของผู้คนส่วนมากจึงเป็นดั่งภาระ เป็นงานที่ต้องจัดการดูแล ไม่ช้าเราก็เหนื่อย หรือมีอาการอยากหนีห่างในบางครั้ง แล้วเราก็มักพบแต่ความผิดหวังในความสัมพันธ์ระหว่างกัน
 
ในความสัมพันธ์มันคงต่างไปจากการจัดหมวดหมู่ของสิ่งของในบ้าน หรือโต๊ะทำงานของเรา ให้เข้าที่เข้าทาง เป็นระบบ เพราะเราต่างเติบโตและเปลี่ยนแปลงกันตลอดเวลา เรียนรู้ และเจ็บปวดเป็นด้วยกันทั้งนั้น จะว่าไปเจ้าความเจ็บปวดนี่ก็ไม่ได้เลวร้ายเสียทีเดียว เพราะเท่ากับเรามีพื้นที่การเรียนรู้เพิ่ม ถ้าเราคาดหวังน้อยลง กลัวความเจ็บปวดน้อยกว่านี้ เราอาจค้นพบความอัศจรรย์ในมิตรภาพระหว่างกัน และมันคงง่ายมากขึ้นที่เราจะเชื้อเชิญผู้คนเข้ามาร่วมกับเรา กล้าบอกคำรัก คำแห่งมิตรไมตรีจากตัวเราออกไปก่อน โดยไม่ต้องกังวลต่อผลการตอบรับ เพื่อสร้างพื้นที่อันปลอดภัยและน่าวางใจให้เกิดขึ้นระหว่างความสัมพันธ์
 
ฉันตระหนักเสมอว่า ฉันมีญาติ มีพี่และน้อง มีกัลยาณมิตรที่หล่อเลี้ยงดูแลชีวิตฉัน มากขึ้นทุกขณะ พ่อใหญ่จะบอกอยู่บ่อยครั้งว่า เมื่อเราดูแลเขา พวกเขาก็จะดูแลเรา ลูกหลานเราก็มีพื้นที่ที่ปลอดภัยมากขึ้น เพราะเราก็ไม่ดูดายลูกหลานของพวกเขา การไม่ทิ้งใครคนหนึ่งให้โดดเดี่ยวกับทุกข์ของเขา ก็เท่ากับเราได้ร่วมดูแลโลกทั้งใบแล้ว ชีวิตหนึ่งยังมีอะไรวิเศษมากไปกว่านี้อีก หากเพียงเรามีความสัมพันธ์อันงดงามอยู่รอบตัว
 
Sunday, October 14, 2007
 
 
Posted by knoom at 7:30 AM| 0 commentsLabels: ธนัญธร เปรมใจชื่น

http://jittapanya.blogspot.com/2007/10/blog-post_14.html
4547  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / จิตตปัญญาศึกษา : หายใจด้วยรัก เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:59:37
http://4.bp.blogspot.com/_QwjBfpkmoEU/RzfSPAgCc3I/AAAAAAAAANk/t7QSLeGOznI/s1600-h/butterfly8.jpg

 
โดย พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
 
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
 
ลมหายใจที่ผ่านเข้าออกปลายจมูก ช่างเป็นความมหัศจรรย์แห่งการดำรงอยู่ของชีวิต
 
ท่านทราบหรือไม่ว่า การหายใจเป็นการทำงานของร่างกายเพียงแบบเดียว ที่สามารถสลับสับเปลี่ยนไปมา ระหว่างการควบคุมสั่งการอัตโนมัติของระบบประสาทส่วนกลาง กับการควบคุมสั่งการอย่างเต็มที่โดยจิตสำนึกของเรา
 
ในเวลานอนหลับไม่รู้สึกตัว ลมหายใจของเราก็ยังคงทำงานตามการสั่งการของระบบประสาทส่วนกลาง หรือในเวลาที่เราวุ่นวายอยู่กับการทำงานโดยไม่ได้ใส่ใจกับลมหายใจ มันก็ยังคงทำงานต่อไป แต่เมื่อใดก็ตามที่เราหันกลับมาควบคุมลมหายใจ ลมหายใจก็จะแปรเปลี่ยนไปตามที่ใจเราสั่งการในทันที หรือแม้ว่าในบางครั้งที่จิตใจของเราเกิดความกลัว ลมหายใจที่ควรจะยาวตามปกติ ก็จะถูกตัดทอนให้เหลือสั้นลง การแทรกแซงและควบคุมโดยจิตสำนึกของเรานี่เองคือต้นเหตุแห่งความมหัศจรรย์ที่ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้
 
ภูมิปัญญาโบราณค้นพบความมหัศจรรย์ของลมหายใจมาแสนนาน และได้พัฒนาการฝึกฝนเกี่ยวกับลมหายใจต่างๆ เช่น อาณาปานสติ ปราณยามะ ทองเล็น โยคะ ไทเก๊ก ชี่กง เป็นต้น วันนี้ผมจะเชิญชวนท่านมาร่วมกันดูแลลมหายใจโดยใช้จิตสำนึกของเราในอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า "การหายใจด้วยรัก" (Heart Breath) ซึ่งเป็นการนำเอาภูมิปัญญาโบราณมาผนวกเข้ากับวิทยาการสมัยใหม่ในเรื่อง Biofeedback หรือการตรวจวัดการตอบสนองต่างๆ ของร่างกาย
 
ผมมีโอกาสรู้จักกับ "การหายใจด้วยรัก" ในโปรแกรมการฝึกฝนที่เรียกว่า Healing Rhythms (โปรดดูรายละเอียดที่ http://www.wilddivine.com) โปรแกรมดังกล่าวเป็นเครื่องมือฝึกสมาธิโดยใช้เทคโนโลยี Biofeedback ที่น่าสนใจมากที่สุดเครื่องหนึ่งในเวลานี้ ข้อค้นพบจากวิทยาการด้าน Biofeedback สามารถตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และคำนวณอัตราการแปรผันของการเต้นของหัวใจ (Heart rate variability) และคำนวณค่าความสอดคล้องกันของหัวใจ (Heart coherence) แสดงให้เห็นว่า คนที่หายใจเข้าออกเร็วและไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ มักจะมีการเต้นหัวใจไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เช่นกัน ในขณะที่เมื่อเขาได้ดูแลลมหายใจเข้าออกช้า เงียบ และนุ่มนวล ในจังหวะที่สม่ำเสมอ เครื่องจะตรวจพบว่า หัวใจเต้นเป็นระเบียบ และสอดคล้องกันเป็นจังหวะมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
 
โปรแกรมดังกล่าวจะแสดงภาพบนหน้าจอเป็นรูปปีกผีเสื้อที่กระพืออย่างช้าๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอกัน สลับกันทุกๆ ๕ วินาที เพื่อให้เรากำหนดลมหายใจเข้าและออกตามปีกผีเสื้อ การทำเช่นนี้จะช่วยให้หัวใจของเราปรับเข้าสู่สภาวะผ่อนคลาย และมีจังหวะการเต้นเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น ผมเข้าใจว่า นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาเรียกชื่อการหายใจตามปีกผีเสื้อนี้ว่า Heart Breath
หลังจากที่ผมและภรรยาร่วมกันทดลองศึกษาเครื่องมือนี้ เราได้พากันสืบค้นไปกับเครื่อง Biofeedback เพิ่มเติมมากไปกว่าการหายใจช้า เงียบ และสม่ำเสมอ นั่นคือ การหายใจด้วยความรักความทะนุถนอม
 
เราพบว่า การเต้นของหัวใจปรับเข้าสู่ความสอดคล้องกันอย่างรวดเร็วและเป็นธรรมชาติ สิ่งนี้ทำให้ผมนึกขึ้นได้ถึงการปฏิบัติที่ผมเคยเรียนรู้มาจากหลวงปู่พุทธะอิสระเรื่อง "สมาธิพระโพธิสัตว์" หรือการฝึกเจริญสติกับลมหายใจตามแนวทางของท่านติช นัท ฮันห์ หรือการฝึกทองเล็นของทิเบตว่าด้วยการให้ความสุขและรับความทุกข์ผ่านลมหายใจ ในขณะที่ภรรยาผมฝึกมาในด้านการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา เธอใช้ท่าทีภายในของสภาวะการรับฟังและพูดคุยกับผู้รับบริการในการเดินลมหายใจ เราต่างก็พบเช่นเดียวกันว่า สามารถปรับการเต้นของหัวใจให้เข้าสู่ความสอดคล้องอย่างรวดเร็วได้
 
การร่วมกันสืบค้นเล็กๆ นี้ทำให้ผมประหลาดใจ พร้อมๆ กับแน่ใจว่า หนทางของการปฏิบัติไม่ได้ดำรงอยู่เพียงสายเดียวอย่างแน่นอน แต่ทั้งหมดต่างมีแก่นบางอย่างร่วมกัน และหนึ่งในแก่นที่ผมพบในครั้งนี้คือ “การหายใจด้วยรัก” เพียงแค่เราใส่ใจดูแลลมหายใจของเราด้วยความรัก ลมหายใจนั้นก็จะเข้าไปช่วยดูแลหัวใจของเราอีกทีหนึ่ง จากความรัก ... สู่ลมหายใจ จากลมหายใจ ... สู่หัวใจ ช่างเป็นความงามของการดูแลตามลำดับขั้นธรรมชาติ จากลำดับขั้นชั้นจิต สู่ลำดับขั้นชั้นปราณ และสู่ลำดับขั้นชั้นกาย
 
ผมขอฝากแบบฝึกหัดว่าด้วย "การหายใจด้วยรัก" ไว้สักเล็กน้อย แบบฝึกหัดนี้เป็นการน้อมนำเอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย มาเป็นกุศโลบายช่วยดูแลลมหายใจ เพื่อให้เราเดินลมหายใจตามอย่างเชื่องช้าและเป็นจังหวะสม่ำเสมอ
 
เริ่มต้นจาก นั่งหรือยืนตามแต่ถนัด ตั้งลำตัวให้ตรงโดยไม่ต้องออกแรงเกร็งหลัง ผ่อนคลายร่างกาย ยกมือทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะสูงพอประมาณ หันฝ่ามือออก หายใจออกพร้อมวาดแขนลงมาด้านข้างลำตัว แล้วโอบฝ่ามือเข้าสู่กลางหัวใจ จากนั้นจึงหายใจเข้าพร้อมวาดมือย้อนกลับไปจนถึงเหนือศีรษะ ดุจดั่งผีเสื้อที่กำลังกระพือปีกบินอย่างเชื่องช้า ให้ทุกๆ วินาทีของการเคลื่อนไหวมือและลมหายใจเต็มไปด้วยความรักความใส่ใจ หายใจออกจากใจกลางหน้าอก อันเป็นฐานที่ตั้งแห่งความรัก นำเอาความรักมอบให้แด่ตัวเราเอง คนอื่น และโลก หายใจเข้าน้อมเอาความรักของสรรพสัตว์ไหลเข้ามาสัมผัสถึงฐานใจ
 
การปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยให้ท่านเข้าเป็นไปหนึ่งเดียวกับความมหัศจรรย์ของลมหายใจ ความมหัศจรรย์ของความรัก และความมหัศจรรย์ของการดำรงอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ
 
ผมขอเชิญชวนให้ท่านดูแลลมหายใจด้วยความรักที่มีอยู่แล้วภายในตัวท่าน หาเวลาในแต่ละวัน จะเป็นตอนไหนก็ได้ ดูแลลมหายใจเข้าออกอย่างใส่ใจ ด้วยความรัก และเนิ่นช้าสม่ำเสมอ อย่างน้อยหกถึงสิบนาที จำไว้นะครับว่า เมื่อท่านเริ่มต้นดูแลลมหายใจ ลมหายใจก็จะช่วยดูแลหัวใจให้กับท่าน
 
เมื่อถึงจุดหนึ่ง ท่านจะพบว่า ลมหายใจของเราก็สามารถเป็นกระจกสะท้อนจิตใจของเรา ให้เกิดปัญญาได้เข้ามาดูแลจิตใจต่อไปอีกเช่นกัน
 
 
Sunday, November 11, 2007
 
 
Posted by knoom at 7:30 AM| 0 commentsLabels: พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์



 
http://jittapanya.blogspot.com/2007/11/blog-post_11.html
4548  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / ความทรงจำนอกมิติ : การแพทย์ใหม่-กินวิตามิน-เกลือ-ไข่กลับดี? เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:57:07

 
 
 
 
ที่ตั้งเป็นหัวข้อของบทความวันนี้และมีเครื่องหมายคำถาม เพราะไม่แน่ใจว่าทำไม? รัฐบาลของเมืองนอกถึงได้ยอมให้มีบริษัทที่ขายและส่งออกสารที่การแพทย์แผนปัจจุบันห้ามใช้ โดยเฉพาะวิตามินในขนาดที่สูงมากๆ ดังนั้น ผู้เขียนจึงเขียนบทความนี้เพื่อวิเคราะห์พัฒนาการของวิชาการแพทย์ "สมัยใหม่" พร้อมๆ กับความเสื่อมถอยของหมอไทยโบราณ ซึ่งตัวเองมีส่วนที่ทำให้การแพทย์สมัยเก่าสมัยโบราณที่ชาวบ้านใช้ๆ กันมา-ทั้งที่ตัวเอง พูดจริงๆ ก็ได้เกิดมาดูโลกและเติบใหญ่ขึ้นมา ด้วยหมอตำแยและยาหม้อแผนโบราณ ซึ่งที่บ้านนอกชนบทไกลๆ ทั้งประเทศแทบว่าจะไม่มีแพทย์แผนปัจจุบันเลย-ต้องเสื่อมลง และถอยร่นจนแทบจะหายไปทั้งหมด ที่บอกว่าผู้เขียนมีส่วนนั้น ก็เพราะผู้เขียนชอบเขียนบทความลงในหนังสือต่างๆ และหนึ่งในนั้นคือหนังสือรับน้องใหม่ที่เขียนเป็นประจำ โดยเขียนตำหนิและด่าว่าการแพทย์สมัยเก่า รวมทั้งยาต้ม ยาแผนโบราณ และหมอตำแย โดยไม่มีเหตุผลใดๆ นอกจากล้าสมัย "เขา (ฝรั่ง) เลิกใช้กันแล้ว" อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดไม่ถึงว่าการแพทย์สมัยใหม่ประเทศไทยเราต้องพึ่งประเทศตะวันตกแทบจะทุกอย่างเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวินิจฉัยโรคที่ต้องพึ่งเทคโนโลยีของประเทศตะวันตก ฝรั่งหรือญี่ปุ่นแทบจะทั้งหมด-ทำให้ค่ายาค่ารักษาของแพทย์แพงขึ้นและแพงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรมกับคนไทยส่วนใหญ่และประเทศไทย
 
ที่จะเขียนวันนี้ คือการเปลี่ยนแปลงอย่างแทบว่าเป็นตรงกันข้ามกับทัศนคติทางวิชาการของการแพทย์สมัยใหม่ ตอนที่ผู้เขียนยังเป็นเด็กในชนบทห่างไกลจากปืนเที่ยงมากๆ นั้น แม่ของผู้เขียนที่เป็นคนทันสมัยมากๆ รู้สึกว่าแม่จะกลัวตกสมัยเป็นที่สุด อาจจะเพราะไม่ได้รับการศึกษาอย่างเป็นระบบ จึงขวนขวายเรียนด้วยตนเองจนเขียนอ่านหนังสือได้ดีมากๆ แม้แต่ภาษาอังกฤษก็พออ่านเขียนได้ ที่ชอบเป็นพิเศษคือเลขคณิตกับการแพทย์ (ทั้งเก่าและใหม่) โดยจะหาหนังสือเกี่ยวกับหมอและยามาอ่านเป็นประจำ (ตาและยายเป็นแพทย์แผนจีน-ไทย) โดยเฉพาะวิตามิน ซึ่งผู้อ่านบางคนเมื่อยังเป็นเด็กเล็กๆ และมีผู้ปกครองหรือแม่ที่อนามัยจัด ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ ก็คงเป็นเช่นแม่ของผู้เขียนเหมือนกันจะรู้ดี แม่นั้นชอบตั้งตัวเป็นผู้นำชุมชนด้านสุขภาพอนามัย โดยจะเรียกร้องให้ชาวบ้านปลูกฝีและฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดตั้งแต่ผู้เขียนเล็กมากๆ ทั้งๆ ที่ทั้งจังหวัดไม่มีหมอแผนปัจจุบันเลย จนกระทั่งผู้เขียนอายุได้สิบเอ็ดสิบสองแล้ว ในช่วงนั้นหากผู้อ่านที่มีอายุหน่อยจะยังคงจำได้ อาทิ ห้ามอาบน้ำถ้าหากเหงื่อยังไม่แห้งหรืออิ่มข้าวมาใหม่ๆ เพราะหลอดเลือดแดงจะทำงานผิดปกติ ห้ามกินข้าวเหนียว หน่อไม้ ไข่ หรือเนื้อวัว กุ้งหรือปลาที่ไม่มีเกล็ดเวลาเป็นแผลพุพองหรือเป็นไข้ เพราะเป็นของแสลง ไม่ให้โดนไอ (ละออง) ฝนเพราะกลัวเป็นหวัด จนกระทั่งเป็นเด็กที่โตพอควร ฯลฯ ที่สำคัญที่จะเขียนคือ ข้อห้ามหรือข้อควรระวังของการแพทย์แผนปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ เช่นเดียวกันกับวิทยาศาสตร์ที่มีแต่ข้อสันนิษฐาน ข้อสมมุตติฐาน หรือทฤษฎีที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ จึงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา กระทั่งหลายสิ่งหลายอย่างชักเข้ามาใกล้ๆ กับข้อห้าม หรือข้อสนับสนุนของแพทย์แผนโบราณเข้าทุกที เช่นตอนที่ผู้เขียนยังเรียนแพทย์อยู่นั้น จะมีสโลแกนในช่วงนั้นให้กินข้าว (คาร์โบไฮเดรต) ให้น้อย แต่ให้กินกับให้มาก โดยเฉพาะในระยะเจริญเติบโต แพทย์แผนปัจจุบันจะห้ามไม่ให้คนที่มีไข้ตัวร้อนอาบน้ำ หรือสระผม หรือกินน้ำเย็น แพทย์แผนปัจจุบันหลายคนจะห้ามของแสลงบางอย่างกับคนที่เป็นโรคผิวหนังพุพองรวมทั้งอีสุกอีใส ในราวๆ ปี พ.ศ.2515 การแพทย์สมัยใหม่ได้ลบล้างที่ผู้เขียนกล่าวมานั้นทั้งหมดเป็นตรงกันข้าม และหลังจากนั้นเป็นยุคของต่อมเอนโดครายน์ หรือฮอร์โมนและไขมันอิ่มตัว กินไข่ กินไขมัน กินเค็ม (และกินไก่เลี้ยงด้วยอาหารผสมฮอร์โมน) จะต้องระมัดระวังให้มากมาตั้งแต่นั้น โดยเฉพาะคนอ้วน คนสูบบุหรี่ คนเป็นโรคเบาหวาน คนเป็นโรคไตเรื้อรัง แม้กระทั่งคนในวัยกลางคนไปแล้ว ไม่ให้กินเค็มจัดทั้งที่ไม่ได้เป็นโรคอะไร หลังจากที่ผู้เขียนได้เป็นหมอมาตั้งนานแล้วได้หันไปทำธุรกิจ ในช่วงนั้นได้จัดกรุ๊ปนักท่องเที่ยวที่มีอายุหน่อย หลายคนเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน และบางคนในนั้นเคยเป็นอาจารย์ของผู้เขียนด้วยซ้ำ โดยได้เดินทางไปยังประเทศโรมาเนีย พร้อมกันนั้นก็ไปเยี่ยมเยียนศูนย์ชะลอความความชราที่มีชื่อเสียงของ ดร.แอนนา อัสลัน ซึ่งผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปีส่วนมากเป็นผู้หญิง ทุกคนโดยไม่มีผู้ใดยกเว้นพากันเข้าคอร์สการรักษากันถ้วนหน้า อย่างน้อยก็ทุกกรุ๊ปที่ผู้เขียนจัด และในสถานที่ที่เป็นเหมือนกับ "สปา" นี้เอง (ซึ่งควบคุมโดยแพทย์แผนปัจจุบันอย่างค่อนข้างเคร่งครัด) ที่ห้ามอย่างเด็ดขาด คือ ไข่กับเกลือ หรือเครื่องปรุงที่มีรสเค็มและหวานจัดทุกชนิด-ทั้งๆ ที่นักท่องเที่ยวเหล่านั้นไม่ได้มีโรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง หรือโรคที่แพทย์แผนปัจจุบันในช่วงนั้นห้ามกิน-ครั้นในปี พ.ศ.2533-34 ที่เมืองนอกเกิดค้นพบอาหารสี่หมู่ที่คนควรกินประจำ ได้แก่ อาหารจำพวกแป้ง เช่นข้าวประเภทต่างๆ เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ และนมกับผลิตภันฑ์จากนม เช่นเนยแข็ง แต่ยังต้องระวังเนยธรรมดา ไขมันอิ่มตัว รวมทั้งไข่ที่มีโคเลสเตอรอลสูง (อาทิตย์ละไม่เกินสี่ฟอง) และเครื่องปรุงหรืออาหารที่มีรสเค็มและหวานจัดทุกชนิดในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนมีอายุทุกๆ คน มีหรือไม่มีโรคประจำตัวก็ตาม เช่น โรคความดันเลือดสูงก็ตาม นอกจากนี้ยังให้ระวังน้ำตาลให้มากๆ ด้วย ในปี 2541 หรือปี 1996-7 ได้มีการวิจัยเรื่องอาหารกันมาก และได้มีหนังสือพีระมิดของกลุ่มอาหารที่ทางการอเมริกาแนะนำ (dietary pyramid guide) ซึ่งมีอาหารอยู่ห้าหมวดหมู่ โดยจะเน้นหนักที่ผักและผลไม้ ซึ่งนอกจากไม่ต้องระวังไม่ห้ามเลยแล้ว (นอกจากผลไม้ที่หวานจัด) ยังยุให้กินมากๆ เสียด้วย และเป็นครั้งแรกที่ให้ระมัดระวังการกินอาหารที่มีโปรตีนสูง (จากเนื้อสัตว์ ยกเว้นปลา) และบรรดาฟาสต์ฟู้ดทั้งหลาย ซึ่งเรารู้และใช้กันในปัจจุบัน ที่ไม่มีการห้ามให้ผู้ป่วยไม่ว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ หรือเส้นเลือดแดงใหญ่แข็งที่มักพบเสมอๆ ในคนแก่หรือไม่ คือไข่ที่อย่างน้อยต้องกินวันละฟอง แต่ยังคงห้ามกินไขมันอิ่มตัวและอาหารเค็มจัดในคนทั่วไปโดยเฉพาะคนมีความดันสูง ห้ามหรือให้ระวังน้ำตาลเป็นพิเศษไม่ว่าจะอายุเท่าไร? หรือมีโรคหรือไม่? มีอย่างหนึ่งที่น่าสังเกตคือ แพทย์แผนปัจจุบันจะระมัดระวังอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตก่อน และต่อมาเป็นเรื่องของไขมัน
 
ต่อมาอีกเป็นเรื่องของเนื้อสัตว์ ส่วนวิตามินจะถูกห้ามมาตลอด-ไม่ให้กินมากกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน-จนกระทั่งช่วงสี่ห้าปีมานี้เอง ที่วิตามินส่วนใหญ่โดยเฉพาะวิตามินที่ละลายในน้ำ รวมทั้งวิตามินซี บีคอมเพล็กซ์ หรือแม้แต่วิตามีนอี ซึ่งแม้จะละลายในน้ำมันและกินเกินกำหนดก็แทบไม่มีความเป็นพิษเลย
 
ผู้เขียนเป็นคนที่ชอบกินไข่ กินเค็มจัด และอาหารที่ค่อนข้างหวานเป็นพิเศษ โดยเฉลี่ยจะกินไข่วันละสองฟองและกินเค็มจัดมากๆ วันหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่าสี่หรือห้ากรัมหรือมากกว่านั้น พูดง่ายๆ ไม่มีน้ำปลาเกินกว่ามื้อละอย่างน้อยหนึ่งช้อนโต๊ะไม่ได้ ส่วนน้ำตาลนั้นพูดได้เลยว่าไม่ใช่กินกาแฟต้องใส่น้ำตาล หากแต่กินน้ำตาลผสมกาแฟจะถูกกว่า และกินเช่นนี้มาอย่างน้อยก็หกสิบกว่าปี โดยไม่มีโรคประจำตัวที่ต้องระมัดระวังอาหารแต่อย่างใดเลยแม้แต่น้อย แต่นั่นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล
 
เมื่อเร็วๆ นี้เองถึงได้รู้ว่า เกลือแกงหรือเกลือที่ใส่ขวดเล็กๆ ที่วางบนโต๊ะอาหาร (table salt) คู่กับขวดพริกไทยนั้น ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันคือสารอาหารที่มีความสามารถต่อต้าน หรือฆ่าเชื้อโรคที่เหนือชั้นยิ่งกว่าสารใดๆ ที่มีในวงการแพทย์ (แต่ต้องปรับให้เป็นกรดเสียก่อน) อาจเรียกว่าสารอาหารวิเศษมหัศจรรย์ (miracle mineral supplement) อย่างยิ่ง เหนือกว่าสารหรือยาใดๆ ก็ได้ (Walter Last: Miracle Mineral Supplement-Integrated Therapy, Nexus Jun.-Aug. 2009) วอลเตอร์ ลาสต์ เป็นนักชีวเคมี นักวิจัย และแพทย์ทางเลือกที่มีชื่อเสียงของเยอรมนี สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย เขาบอกว่าการค้นพบยาปฏิชีวนะถือว่าเป็นการค้นพบที่ใหญ่ยิ่งที่สุดในประวัติศาสตร์ของการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่เขาเชื่อว่าการค้นพบและการใช้สารในการรักษาโรคติดเชื้อของเกลือที่ทำให้เป็นกรดแล้ว (MMS) ต้องถือว่ามีความยิ่งใหญ่ยิ่งกว่ามากนัก เพราะนอกจากใช้ฆ่าแบคทีเรียแล้ว (แปลก-ที่มันไม่ทำอะไรกับแบคทีเรียที่มีประโยชน์และอยู่ภายในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ เช่นพวกแลคโตบาซิลลัส) มันยังทำลายพวกพาราไซต์ เช่นเชื้อมาลาเรีย ใช้ฆ่าแบคทีเรียในเลือดหรือการติดเชื้อในเลือด แม้แต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่นตับอักเสบ กระทั่งเอชไอวี/เอดส์ นอกจากนี้ยังรักษามะเร็งบางชนิดได้ด้วย โดยเฉพาะมะเร็งของต่อมน้ำเหลือง
 
การค้นพบว่าเกลือแกง (ที่ทำให้เป็นกรดหรือโซเดียมคลอไรด์ (NaClO))-ที่จะให้ก๊าซคลอรีนไดออกไซด์ (ClO2) อันเป็นออกซิแดนต์ (จึงต้องกินอาหารที่มีแอนติออกซิแดนต์สูงมากๆ หรือกินวิตามินซีวันละ 10,000 มิลลิกรัม) ก๊าซที่เชื่อว่าสามารถฆ่าจุลชีพที่เป็นเชื้อโรค รวมทั้งไวรัสหรือพาราไซต์ได้ดีที่สุด-เป็นการค้นพบของแพทย์ทางเลือกที่ชื่อว่า จิม ฮัมเบิล (J.V. Humble: MMS Therapy for Malaria and Other Diseases; Nexus 15(2), 2008) ซึ่งสามารถรักษาผู้ป่วยที่ป่วยเป็นมาลาเรียจำนวนถึง 75,000 คน ให้หายจากโรคโดยสิ้นเชิงภายในวันเดียว!! ทำให้บรรดาบริษัทยายักษ์ใหญ่ทั้งหลายพยายามยับยั้งปิดข่าว หรือไม่ก็ทำเฉยเมยต่อข่าวที่ดังยังกับโลกแตกเช่นนี้กันหมด
 
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับยาปฏิชีวนะ การใช้โซเดียมคลอไรด์ที่ได้มาจากเกลือแกงหรือโซเดียมคลอไรด์ ในการฆ่าเชื้อโรคจุลชีพต่างๆ ก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ถ้าหากไม่ให้แอนติออกซิแดนต์ตามไปด้วย เช่น วิตามินซี หรือบีคอมเพล็กซ์ โคเอนไซม์ เอหรือวิตามินอีเยอะๆ ไปด้วยกัน แต่ต้องเว้นช่วงเวลาให้ห่างกันสามชั่วโมง
 
ข้อเสียคือ การกินเกลือมากหรือแม้แต่เอ็มเอ็มเอส (MMS ที่ประกอบด้วยเกลือแกงถึง 20% (น้ำทะเลมีความเค็มเพียงราวๆ 3-4%) จึงมักจะทำให้ผู้ป่วยอาเจียนแทบทุกราย ปกติที่วอลเตอร์ ลาสต์ แนะนำคือ ใช้แค่ห้าหยดของเอ็มเอ็มเอสไดยผสมน้ำส้มสายชู (citric acid) ห้าเท่าหรือห้าหยดต่อเอ็มเอ็มเอสหนึ่งหยด โดยดื่มน้ำสักครึ่งแก้วก่อนกินยา แต่น้ำจะต้องไม่มีแอนติออกซิแดนต์ เช่น วิตามีนซี สำหรับโรคที่มีการติดเชื้อรุนแรงและเฉียบพลัน อาจจะเพิ่มขนาดยาเป็นสองหรือสามเท่า (10-15 หยดของเอ็มเอ็มเอส) คือปล่อยให้คนไข้อาเจียนถ้าจำเป็น หรือใช้เพียง 6 หยดของเอ็มเอ็มเอส ตามด้วย 6 หยดอีกหนึ่งชั่วโมงต่อมา แม้ว่าจิม ฮัมเบิล จะเคยใช้การให้ทางหลอดเลือดดำแต่ก็อันตราย ซึ่งวอลเตอร์ สาสต์ บอกว่าไม่จำเป็นและไม่แนะนำให้ทำ
 
ตอนนี้เอ็มเอ็มเอสที่มีความสามารถต้านเชื้อโรคที่แรงที่สุดที่การแพทย์รู้ แต่คนทั่วไปไม่รู้ ตราบใดที่การแพทย์ที่พึ่งบริษัทยา คือการแสวงหาผลประโยชน์หรือกำไร ดังนั้น การหายาที่ถูกและมีประสิทธิผลแท้จริงจึงจำเป็น เอ็มเอ็มเอสมีเพียงสองแห่งในโลกติดต่อได้ทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ผู้สนใจหาได้จากวารสารแพทย์ทางเลือกเนกซัส
 
ผู้เขียนคิดอย่างไตร่ตรอง และเชื่อมั่นในธรรมชาติกับมัชฌิมาปฏิปทา แต่ไม่เชื่อในมาตรฐานสายกลาง หรืออะไรก็ตามที่บุคคลคิดขึ้นใช้ชี้วัดที่หาทางสายกลางไม่ได้ เพราะมันเป็นปัจจัตตัง ทุกคนไม่เท่ากัน จริงกับไม่เหมือนกันจริง ตอนนี้ก็เหลือแต่ความหวาน (ไม่ใช่น้ำตาลที่เครื่องจักรทำขึ้น) ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะเปลี่ยนไปกับเขาบ้าง?


http://www.thaipost.net/sunday/221109/13903
4549  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: ปัญญาห้าสี กับ ไมตรีรูม ( ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา ) เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:54:54

 
 
องค์กรเคออร์ดิค ใช้ “มิติทางจิตใจ” ของสมาชิกในการทำงานฟันฝ่า “ระบบนิเวศแห่งความไม่แน่นอน” ร่วมกัน
 
สมาชิกขององค์กรเคออร์ดิค จึงเรียนรู้และประยุกต์ใช้การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ (contemplation) ไปพร้อมกัน กล่าวคือ เอาใจใส่ ประยุกต์ใช้และฝึกฝน มิติด้านจิตใจที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของตนเองและละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของผู้อื่น
 
“ความรู้สึก” ในที่นี้ มีทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมและส่วนที่เป็นนามธรรม ในส่วนที่เป็นรูปธรรม เป็นความรู้สึกที่ได้มาจากความช่างสังเกต สิ่งที่ดูเหมือนเล็กน้อย แต่มีความสำคัญยิ่งต่อมิติด้านจิตใจ ด้านการอยู่ร่วมกัน ด้านการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
 
ความช่างสังเกต เป็นคุณสมบัติที่ต้องการใช้ และต้องสร้างขึ้น พัฒนาขึ้น ในองค์กรเคออร์ดิค
 
ความช่างสังเกต ใช้ได้ทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมและส่วนที่เป็นนามธรรม ส่วนที่เป็นรูปธรรม สามารถวัดออกมาได้เป็นขนาด หรือนับจำนวนหรือมีแสงสี ความชัดเจน เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ส่วนที่เป็นนามธรรม สัมผัสได้ด้วยใจ สื่อสารต่อกันได้ด้วยใจ
 
องค์กรเคออร์ดิคที่แท้ สมาชิกจึงสื่อสารกันในหลายมิติและมิติที่ขาดไม่ได้คือ การสื่อสารจากใจถึงใจ เป็นการสื่อสารที่มีพลังลึกลับ แต่สัมผัสได้ โดยผู้ที่จะสัมผัสได้ต้องมีความละเอียดอ่อนในการรับรู้
 
องค์กรเคออร์ดิค จึงเป็นองค์กรที่มีการฝึกฝน และการใช้การสื่อสารและการรับสารที่ละเอียดอ่อน ที่เป็นการสื่อสารแบบ “อวัจนะ” (non – verbal) หรือเป็นการสื่อสารส่วนที่แทรกอยู่ในการสื่อวัจนะ (verbal) คือ “ระหว่างบรรทัด” หรือ “ระหว่างถ้อยคำ” และในบางกรณีเป็นการสื่อสารด้วยความเงียบ
 
การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ (จิตตปัญญาศึกษา – Contemplative Education) ประกอบด้วยองค์ 3 คือ
 
การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening)
การน้อมสู่ใจอย่างใคร่ครวญ (contemplation)
การเฝ้ามองเห็นตามที่เป็นจริง (meditation)

ท่านที่สนใจรายละเอียดอ่านได้จากหนังสือ “เรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ” โดยวิจักขณ์ พานิช สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา 2550
 
ผมมองว่า องค์กรเคออร์ดิค คือองค์กรที่ใช้พลังธรรมชาติหรือพลังธรรมดาในการขับเคลื่อนองค์กร และการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ก็คือ การเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ ใช้ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์
 
จากประสบการณ์ตรงของตนเอง ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันภายในองค์กร หรือเมื่ออยู่คนเดียวที่บ้าน ผมประยุกต์ใช้องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งของ “การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ” หรือบางครั้งใช้หลายองค์ประกอบพร้อม ๆ กัน มีทั้งใช้คนเดียว และใช้ร่วมกันหลาย ๆ คน และหลายครั้งใช้ร่วมกับสมาชิกเครือข่ายที่อยู่นอกองค์กร
 
เท่ากับ องค์กรเคออร์ดิค รู้จักใช้พลังทางจิตวิญญาณ พลังปัญญา หรือพลังแห่งการตื่นรู้ เพื่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กร โดยที่พลังแห่งการตื่นรู้ตามแนวของศาสนาพุทธ วัชรยาน จำแนกพลังแห่งการตื่นรู้ออกเป็น 5 พลัง
 
พลังวัชระ เป็นพลังความสามารถคิดวินิจฉัยใคร่ครวญได้อย่างลึกซึ้ง มีความหลักแหลมเฉียบคมทางปัญญา ตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างรอบคอบถี่ถ้วน วิเคราะห์เหตุปัจจัย ผลลัพธ์ ความเป็นไปได้อย่างตรงจุด
 
พลังรัตนะ คือพลังแห่งความเผื่อแผ่แบ่งปัน
 
พลังปัทมะ คือพลังแห่งการสื่อสารปฏิสัมพันธ์
 
พลังกรรมะ คือพลังของการกระทำอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้ง
 
พลังพุทธะ คือพลังของการใคร่ครวญพิจารณาหาคุณค่าและความหมายของสิ่งต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา เป็นการใคร่ครวญพิจารณาแบบใจกว้างไม่ยึดติด และไม่ตัดสิน
 
 
ความพอดีหรือความสมดุลของพลังทั้ง 5 ทำให้เกิดการตื่นรู้ และการเรียนรู้จากสภาพความเป็นจริง จากการปฏิบัติงาน และการดำรงชีวิตร่วมกัน เป็นทั้งการเรียนรู้ภายในและการเรียนรู้ภายนอก ก่อผลทั้งต่อจิตใจของสมาชิกองค์กรและต่อวัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งก่อผลเชิงรูปธรรมต่อผลการประกอบการขององค์กร
 
องค์กรที่ตื่นรู้และเรียนรู้จากการปฏิบัติ สมาชิกองค์กรที่เรียนรู้และตื่นรู้จากการปฏิบัติ โดยมีทักษะในการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ จะสามารถ “รู้” สิ่งต่าง ๆ ที่สำคัญต่อกิจการขององค์กรได้ในมิติที่ลึกกว่า ว่องไวกว่า เชื่อมโยงกว่า เป็นรูปธรรมกว่า จึงมีความสามารถปรับตัว พัฒนาตัวเพื่อการทำหน้าที่และการดำรงอยู่ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและคาดเดายากอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
วิจารณ์ พานิช

http://gotoknow.org/blog/thaikm/160215
4550  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: ปัญญาห้าสี กับ ไมตรีรูม ( ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา ) เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:54:28

 
หากเปรียบเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ค ลอนดอน โตเกียว หรือ เซี่ยงไฮ้ ว่ามีความเป็น "มหานคร" คือ เป็นนานาชาติ เป็นสากล มีตัวอย่าง ตัวเอก หรือตัวแทนจากวัฒนธรรมต่างๆ อยู่ ไม่ว่าเรื่องเล่า ความเชื่อ ความฝัน แรงบันดาลใจที่มาพร้อมกับผู้คนที่อยู่อาศัย ขุดทอง หรือท่องเที่ยวอยู่ที่นั่น

 
จากมุมมองเดียวกัน ผมนึกเองขำๆ ว่างานใหญ่อย่าง "มหกรรมกระบวนกร" ที่สถาบันขวัญเมืองจัดมาเป็นครั้งที่ ๖ แล้วนั้น มีความเป็น "มหานคร" ไม่ต่างกัน เพราะมีคุณลักษณะของความเป็นนานาชาติ สากล แถมยังมีตัวแทนของหลายวัฒนธรรม ทั้งยังมีเรื่องเล่า วัฒนธรรม ความฝันและแรงบันดาลใจ อันหลากหลายอย่างยิ่งของคนที่มาร่วมงานเหมือนกัน

งานมหกรรมกระบวนกรที่กล่าวถึงนี้ เป็นการประชุมกระบวนกร (facilitator) จากทั่วทุกภาคในไทยและหลายครั้งก็มีมวลมิตรจากประเทศอื่นด้วย กระบวนกรในที่นี้คือผู้จัดกระบวนการเพื่อการพัฒนาชีวิตด้านใน การเรียนรู้เพื่อให้เกิดสำนึกใหม่ และการเปิดมุมมองใหม่ต่อโลกและชีวิต การมาประชุมร่วมกันนี้ได้รับการเอื้อเฟื้ออนุเคราะห์สถานที่ จัดกิจกรรมและกระบวนการโดยสถาบันขวัญเมืองในฐานะเจ้าภาพและเจ้าบ้าน

แรกเริ่มเดิมทีมหกรรมกระบวนกรนั้นเป็นเสมือนเวทีพบปะกันของผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรม หรือเคยได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในตัวกับเหล่ากระบวนกรของสถาบันขวัญเมืองมา ทั้งจากการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ หรือจากการร่วมสนทนาในเวทีสุนทรียสนทนาต่างวาระโอกาส

แต่มหกรรมกระบวนกรได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับในระยะเวลาอันสั้น สู่เวทีเรียนรู้ร่วม นำเครื่องมือ วิธีการและพิธีกรรม ตลอดจนประสบการณ์ที่ได้ประสบพบเจอจากการทำงานและในชีวิตประจำวัน มาแลกเปลี่ยนสนทนาเล่าสู่กันฟัง ก่อให้เกิดการยกระดับความรู้ของทั้งกลุ่มแบบยกแผง มหกรรมกระบวนกรในครั้งหลังๆ จึงมีความไม่ธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ ใช่เป็นเพียงงานชุมนุมศิษย์เก่า หรือเป็นแค่พื้นที่การประชุมพบปะทั่วไปไม่

เหตุการณ์อันเป็นปรากฏการณ์แห่งวงการฝึกอบรมและพัฒนานี้พาให้ผมนึกถึงวรรณกรรมเลื่องชื่อเรื่องหนึ่งของกิมย้ง ภาพที่เกิดชัดในใจ คือ เวทีชุมนุมจอมยุทธจากทั่วพื้นพิภพ จากหลากหลายสำนักค่ายฝีมือ ไม่ว่าจะเป็น คงท้ง คุนลุ้น ง้อไบ๊ หรือแม้แต่หลวงจีนจากเส้าหลิน ต่างมารวมกัน ณ สถานที่เดียวกัน ณ สำนักบู๊ตึ๊ง เพื่ออวยพรวันเกิดครบรอบร้อยปีของปรมาจารย์เตียซำฮงเจ้าสำนักบู๊ตึ๊ง ขณะที่มหกรรมกระบวนกรนี้คลาคล่ำไปด้วยชาวยุทธกระบวนกรผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่

ยิ่งมหกรรมกระบวนกรคราวล่าสุดนี้ให้เผอิญตรงกันกับวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู บรรยากาศเลยกระเดียดเฉียดไปทางงานแซยิดเตียซำฮงเข้าไปใหญ่

ตัวละครในเรื่องของกิมย้งยังมีสีสันน่าสนใจในเชิงอุปมา ไม่ว่าจะเป็น มังกรเสื้อม่วง อินทรีคิ้วขาว ราชสีห์ขนทอง และค้างคาวปีกเขียว ส่วนมหกรรมกระบวนกรที่จังหวัดเชียงรายนี้เล่าก็กอปรไปด้วยกระบวนกรมากหลายแบบ เมื่อใช้แนวคิดคุณลักษณะคนตามแบบสัตว์ ๔ ทิศของชนพื้นเมืองอเมริกาเหนือหรือชาวอินเดียนแดงมามองผู้เข้าร่วมแต่ละคนแล้ว ผมจึงได้เห็นทั้ง หนูผู้ compromise กระทิงนัก action หมีจอม detail และอินทรีเจ้า project

แต่เอาเข้าจริงๆ แทนที่จะเป็นมหากาพย์ของกิมย้ง มีการประลองยุทธระหว่างสำนัก เสาะหาดาบฆ่ามังกรเพื่อขึ้นครองเป็นเจ้ายุทธภพ กลับกลายเป็นสงครามข้ามกาแลคซี่ เป็น Star Wars ของลุงจอร์จ ลูคัส กวัดแกว่งไลท์เซเบอร์ สว่างวูบๆ วาบๆ แทน

เพราะตลอดงานมีแต่อ้างอิงถึงพล็อตและตัวละครในภาพยนตร์ซีรีส์ทั้ง ๖ ตอน โดยเฉพาะภาคท้ายๆ ของงานมหกรรมมีหัวเรื่องหลัก "วิถีแห่งโยดา" ที่ว่ากระบวนกรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่กระบวนทัศน์ใหม่ หรือกระบวนกรในแนวทางจิตวิวัฒน์นั้น จะทำหน้าที่บ่มเพาะสร้างอัศวินเจไดรุ่นใหม่ ให้เป็นผู้ที่เข้าใจ เข้าถึง และเป็นหนึ่งเดียวกับ "พลัง" ได้อย่างไร

เล่นเอาคนที่ยังไม่เคยดูต้องขอตัวช่วย ขอคำอธิบายเป็นระยะๆ ว่า โยดา อนาคิน ดาร์ธเวเดอร์ และลุค สกายวอล์กเกอร์ คือใคร ร้อนถึงคอหนังทั้งหลายต้องเปิดวงเล็กอธิบายคร่าวๆ ว่า ในโลกของสตาร์วอร์สนั้น เหล่าอัศวินเจไดคือผู้ที่ฝึกฝนตนเอง เพื่อจะเข้าถึง "พลัง" (The Force) ซึ่งเป็นสนามพลังอันไม่สิ้นสุดสร้างโดยสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในจักรวาฬ ที่เหล่าผู้ฝึกจิตมาดีแล้วสามารถนำมาใช้ได้

พลังนี้สามารถนำมาใช้ได้ในรูปแบบของเทเลพาธี (อ่านใจ) ไซโคไคเนซิส (เคลื่อนย้ายวัตถุ)พยากรณ์อนาคต รวมถึงเพิ่มศักยภาพทางกายของผู้ใช้ได้อีกด้วย ดังที่ลุคใช้ในการยิงถล่มเดธสตาร์ในภาคแรกสุด

แต่สิ่งที่เหล่าเจไดต้องระวังอย่างยิ่ง คือ ไม่ให้ตนเองตกไปสู่ด้านมืดของพลัง (Dark side of the Force) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ หากเกิดความหลง บ้าอำนาจ ไม่นำความรู้ความสามารถนั้นมาใช้เพื่อประโยชน์ตนเอง หรือเกิดจากตนไม่สามารถจัดการกับความโกรธ ความเกลียด หรือความกลัวที่เกิดขึ้นในจิตใจได้

ช่างประจวบเหมาะบังเอิญเหลือเกินที่ผมได้คุยกับ ดร.ปีเตอร์ เฮิร์ทซ์ ถึงเรื่องพลังเบญจพุทธคุณทั้งห้า (The Five Wisdom Energies) ของพุทธสายวัชรยาน อันได้แก่ พลังวัชระ (Vajra) รัตนะ (Ratna) ปัทมะ (Padma) กรรมะ (Karma) และพุทธะ (Buddha) ที่สัมพันธ์กับคุณลักษณะอันประเสริฐ ๕ ประการของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ คือ ปัญญาเฉียบคม (แทนด้วยสีน้ำเงิน) เอื้อเฟื้ออันอุเบกขา (สีเหลือง) การรับรู้อันลุ่มลึกละเอียดอ่อน (สีแดง) ความมุ่งมั่นในการกระทำอันเด็ดขาด (สีเขียว) และความสุขุมเปิดกว้างรับการเติบโต (สีขาว) ตามลำดับ

อันที่จริงผมก็ได้สนใจและเคยศึกษาเรื่อง ปัญญาห้าสี นี้มาก่อนหน้าอยู่พักหนึ่ง แต่ไม่เคยโยงมาเกี่ยวข้องกับสตาร์วอร์สแต่อย่างใด เมื่อครั้นได้ยินปีเตอร์ พูดออกเสียงพลังแห่งพระโพธิสัตว์อมิตาภะ (ปัทมะ) ว่า พัด-ม่า (Padma) แล้วทำให้ถึงบางอ้อทันทีว่า ท่าทางคุณลุงลูคัสคงมีเจตนาจงใจตั้งชื่อหญิงงามที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ดึงดูดให้ต้องตาต้องใจ น่าเข้าใกล้ (อันเป็นลักษณะของพลังปัทมะ) ว่า แพดเม่ (Padme) ขณะเดียวกัน เธอคือผู้เป็นต้นเหตุนำพามาซึ่งความโกรธ-เกลียด-กลัวการสูญเสียคนรักของอนาคิน ถึงขนาดที่ทำให้เขาตกไปอยู่ในด้านมืดของพลัง เห็นได้ชัดถึงการทำงานของสมองส่วนอมิดาลา (Amygdala) ที่ควบคุมอารมณ์ดังกล่าว จึงให้นามสกุลแก่ตัวละครนี้ว่า อมิดาลา (Amidala)

ท่านอาจารย์ประเวศเคยเรียกปรากฏการณ์ที่มนุษย์ขาดสติ ถูกชุดอารมณ์ลบเข้าครอบงำ สมองส่วนดังกล่าวทำงานหนัก ปิดกั้นการทำงานของสมองส่วนอื่น ทำเอาเห็นช้างตัวเท่าหมู ว่า "ตกบ่วงอมิกดาลา" พอโยงกับสตาร์วอร์สแล้วก็คงเรียกว่า "ตกบ่วงอมิดาลา" ได้เหมือนกัน

หลังจากที่อนาคินยินยอมพร้อมใจขายวิญญาณให้แก่ฝ่ายจักรวรรดิ กลายเป็นดาร์ธ เวเดอร์ จักรภพก็เดือดร้อนมากขึ้นไปอีกทุกหย่อมหญ้า ทำให้เหล่าอัศวินเจไดต้องฝึกฝนและเรียนรู้อย่างหนักเพื่อนำสมดุลกลับมาสู่พลัง (Bring balance to the Force) และสันติภาพมาสู่โลกและจักรวาฬ

อันเป็นโจทย์เดียวกันกับเหล่ากระบวนกรที่มาประชุมกันในงานมหกรรม
สิ่งที่น่าตื่นเต้น น่าทึ่ง และชวนติดตามของมหกรรมกระบวนกร ยิ่งกว่าสตาร์วอร์สทุกภาครวมกัน ก็คือ การได้เห็นอัศวินเจไดและโยดาโลดแล่นอยู่ในชีวิตจริง ลอง(จาก)ผิดลอง(จน)ถูก ฝึกฝนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบริบทที่หลากหลาย ทั้งภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน สถานบริการสาธารณสุข สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ไปถึงระดับครอบครัวและปัจเจกชนคนรักอิสระ
และที่สำคัญที่สุดคือ สตาร์วอร์สทำมา ๖ ภาคก็ยุติลง ส่วนงานมหกรรมกระบวนกรจัดมา ๖ ครั้งแล้ว มหากาพย์การเดินทางจากจิตตื่นรู้ สู่การยกระดับจิตร่วม (Collective Consciousness Stage) เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นเอง ...

(เชิญร่วมสร้างสรรค์โลกใบใหม่ได้ที่ "วงน้ำชา" http://www.wongnamcha.com/)
4551  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: ปัญญาห้าสี กับ ไมตรีรูม ( ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา ) เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:54:00

 
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐
 
คงยังจำกันได้นะครับว่าสัปดาห์ที่แล้วผมนำเรื่องพลังเบญจพุทธคุณมาเล่าสู่กัน พลังเบญจคุณนี้เป็นการประยุกต์จากแนวคิดของพุทธศาสนาสายวัชรยาน ประเทศทิเบต โดยท่านเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะ และมหาวิทยาลัยเองก็ได้เปิดโอกาสให้อาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรได้ฝึกฝนปฏิบัติตามแนวทางพลังเบญจพุทธคุณอยู่เสมอ
 
ทบทวนกันอีกทีครับ พลังเบญจพุทธคุณนี้ว่าด้วยคุณลักษณะในตัวของเราแต่ละคนทั้ง ๕ ประการ ต่างมีคุณลักษณะหนึ่งใดเด่นชัดในช่วงเวลาสถานการณ์ต่างกันออกไป แต่ไม่ใช่การจำแนกคนออกเป็น ๕ ประเภท พลังเบญจพุทธคุณยังแทนด้วยสัญลักษณ์สี และมีความเป็นธาตุ ได้แก่ วัชระ (Vajra) รัตนะ (Ratna) ปัทมะ (Padma) กรรมะ (Karma) และพุทธะ (Buddha) แทนด้วยสี ธาตุ มีลักษณะที่ปรากฏในภาวะปกติและภาวะสับสน ดังนี้
 
พลัง สี ธาตุ สัญลักษณ์ ภาวะปกติ ภาวะสับสน
วัชระ น้ำเงิน น้ำ คทา/วัชระ การคิดวิเคราะห์ยึด มั่นความคิด,โทสะ
รัตนะ เหลือง ดิน อัญมณี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เย่อหยิ่ง,โลภ
ปัทมะ แดง ไฟ ดอกบัว ความรู้สึก ญาณทัศนะ ราคะ ,ไม่มั่นคง
กรรมะ เขียว ลม กระบี่ มุ่งมั่นปฏิบัติ เอาแต่ใจ,อิจฉา
พุทธะ ขาว ที่ว่าง ธรรมจัก รสุขุม,เปิดกว้าง เฉื่อยชา,ปิดตัวเอง
 
 
วิธีการที่มหาวิทยาลัยนาโรปะใช้นั้นคือการทำห้องไมตรี (Maitri room) ขึ้นตามพลังทั้ง ๕ เป็นห้องสีต่างๆ ๕ สี ตั้งแต่ห้องสีน้ำเงิน ห้องสีเหลือง ห้องสีแดง ห้องสีเขียว ไปจนห้องสีขาว นักศึกษาที่ปฏิบัติภาวนาในห้องไมตรีนี้ก็จะต้องได้เข้าไปปฏิบัติให้ครบทั้ง ๕ ห้อง
 
ดังเช่นหลักสูตรปริญญาโทสาขาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ซึ่งเป็นการเรียนการสอนจิตบำบัดในแบบจิตตปัญญาศึกษา(Contemplative Psychotherapy) ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เข้าใจจิตใจและพัฒนาตัวเองไปพร้อมกับเนื้อหาวิชา ดังนั้น นักศึกษาของหลักสูตรนี้ทุกคนจะต้องได้เข้าร่วมกิจรรมที่ชื่อ Maitri Retreat ทุกปี ถือเป็นส่วนสำคัญของการฝึกปฏิบัติตามหลักสูตร กิจกรรมนี้ประกอบด้วยการฝึกสมาธิอย่างเข้มข้น การสอนสมาธิ การเดินจงกรม การนิ่งสงัดเงียบ และการทำงานกับชุมชน
 
แน่นอนว่ากิจกรรมการปฏิบัติภาวนา Maitri Retreat นี้ ต้องได้ใช้ห้องไมตรี (Maitri room) เป็นส่วนประกอบสำคัญ โดยห้องไมตรีทั้งห้าถูกออกแบบมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกนักจิตบำบัด โดยถือว่าเป็นการฝึกทางโลก ไม่ได้เป็นการฝึกตนทางศาสนาแต่อย่างใด
 
การปฏิบัติภาวนาในห้องไมตรีโดยทั่วไปจะปล่อยให้นักศึกษาผู้เรียนเป็นผู้เลือกห้องตามความรู้สึกตามความเหมาะสมของตนเอง ตามที่รู้สึกว่าตนเชื่อมโยงกับพลังหนึ่งใดในเบญจพุทธคุณ ไม่จำเป็นต้องเริ่มตามลำดับที่ห้องวัชระ หรือจากห้องพุทธะก่อน เมื่อเข้าไปในห้องแล้ว นักศึกษาจะนั่งทำสมาธิเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ใจสงบและจิตมีกำลัง
 
หลังจากนั้นต้องจัดวางท่าทางร่างกายตามแบบของพลัง ซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่ว่าจะเป็นพลังอะไร การอยู่ในท่าของพลังนั้นจะต้องทำต่อเนื่องไปอีกจนกระทั่งครบเวลา ๔๕ นาที
 
แต่ละพลังเบญจพุทธคุณกำหนดท่าทางจัดวางร่างกายไว้อย่างนี้ครับ สำหรับพลังวัชระ ให้ลงนอนคว่ำ ยื่นแขนซ้ายไปข้างหน้า งอศอกเข้า และวางศีรษะลงบนท่อนแขนซ้าย ตามองไปทางแขนขวาที่ยืดตรงออกไป ทำมุมตั้งฉากกับลำตัว
 
พลังรัตนะเป็นท่านอนหงาย เหยียดแขนและขาตรง แยกขา กางแขนทั้งสองข้างยื่นตรงทำมุมฉากกับลำตัว ส่วนพลังกรรมะนั้นคล้ายกัน นั่นคือนอนหงาย เหยียดแขนและขาตรง เพียงแต่แขนที่ยื่นออกไปนอกลำตัวนั้นทำมุมประมาณ ๔๕ องศา และนิ้วมือทั้งสิบต้องเหยียดเป็นเส้นตรง เสมือนลำแขนจรดปลายนิ้วเป็นกระบี่
 
สำหรับท่าทางของพลังปัทมะนั้นต่างออกไป แทนที่จะนอนคว่ำหรือหงาย ก็เป็นการนอนตะแคงขวา แขนซ้ายวางอยู่บนลำตัว ศีรษะวางหนุนอยู่บนแขนขวา แต่ถ้าคิดว่าการทำท่าตามพลังวัชระหรือปัทมะนั้นค่อนข้างแปลกและอาจจะเมื่อยล้าได้แล้วละก็ การวางท่าทางของพลังพุทธะจะพิสดารกว่าท่าอื่นๆ มากที่สุดครับ โดยเริ่มจากนั่งคุกเข่า โก้งโค้งก้มตัวลง ตั้งศอกบนพื้น หงายฝ่ามือทั้งสองออกเป็นลักษณะคล้ายดอกบัวบาน และวางคางลงตรงกลางฝ่ามือทั้งสองข้าง
 
ในระหว่าง ๔๕ นาทีที่จัดวางร่างกายตามท่าทางของพลังเบญจพุทธคุณ นักศึกษาไม่ต้องคิดหรือต้องทำอะไร รวมทั้งไม่ต้องทำสมาธิด้วย แต่ยินยอมให้เปราะบาง (vulnerable) ปลดปล่อยให้ตนเองได้รับผลจากพื้นที่ ห้อง สี พลัง เป็นการฝึกให้เราลองสัมผัสกับสภาวะทางจิตที่มีเสน่ห์ น่าค้นหา เพื่อจะพัฒนาความกล้าเผชิญ โดยไม่เกรงกลัวต่อสภาวะทางจิตที่เกิดขึ้นสดๆ ดิบๆ ในชั่วขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น โกรธ เกลียด เศร้าซึม สับสน หวาดกลัว เฉื่อยชา หรือ โอบอุ้ม มุ่งมั่น แจ่มชัด เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและจักรวาฬ
 
เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว นักศึกษาก็จะค่อยๆ ลุกขึ้น เดินออกไปจากห้องไมตรี และเดินไปอย่างสะเปะสะปะไม่มีที่หมายด้วย เขาใช้คำว่า Endless wandering เราอาจเรียกได้ว่าเป็นการเดินแบบใหม่ เจริญปุระ คือ เดินเรื่อยเปื่อย ไม่มีจุดหมาย (ฮา) เน้นให้เปิดรับความรู้สึก ไม่เกร็งและไม่ปิดกั้นไม่หน่วงเหนี่ยวความคิด ปล่อยให้รู้สึกถึงพลัง สัมผัสถึงเสียงข้างในตัว ภาษามวยก็ว่าลดการ์ดลง คงความเปราะบาง สร้างโอกาสให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างไม่คาดหวัง
 
หลักสูตรปริญญาโทจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยนาโรปะนั้น เขาจัดให้นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ และชั้นปีที่ ๒ เข้า Maitri Retreat เป็นระยะเวลาติดต่อกันประมาณ ๑ เดือน โดยให้นักศึกษาปฏิบัติภาวนาในห้องไมตรีแต่ละห้องเป็นเวลา ๕ วัน แต่ละวันจะได้เข้าไปในห้อง ๒ ครั้ง สิริรวมยาวนานถึง ๒๕ วัน ส่วนนักศึกษาในชั้นปีที่ ๓ ซึ่งเพิ่งผ่านการฝึกงานภาคสนามจิตบำบัดมาแล้ว จะทำ Maitri Retreat ร่วมกันเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ ทำให้ตลอดสัปดาห์นั้นต่างคนต่างมักมีเรื่องราวมากมายมาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งสัปดาห์นั้นทุกคนจะนั่งสมาธิทุกวัน วันละอย่างน้อย ๒ ชั่วโมง และเข้าไปใช้เวลาฝึกปฏิบัติพลังเบญจพุทธคุณในห้องทั้ง ๕ นั้น ห้องละ ๑ วัน วันละ ๒ ครั้ง
 
ในหลายครั้ง ผู้เข้าร่วม Maitri Retreat ด้วยกันอาจสามารถบอกได้เลยว่าใครไปฝึกในห้องไหนมา เพราะแต่ละคน และแต่ละห้อง จะแสดงออกหรือเผยพลังออกมาในลักษณะอาการที่มีแบบแผน (แต่ก็อาจไม่มีแบบแผนก็ได้) แม้ว่าอาจจะมากน้อยต่างกันไป
 
ยิ่งถ้าการฝึกนี้เป็นการฝึกร่วมกันเป็นชุมชน เป็นสังฆะ แวดล้อมด้วยกัลยาณมิตร ก็จะทำให้ต่างเป็นสะท้อนซึ่งกันและกัน ยกระดับการเรียนรู้ร่วมกันได้
 
การฝึกพลังและปฏิบัติในห้องไมตรีนี้เอง ทำให้นักศึกษาหรือผู้ฝึกได้รู้จัก ได้เข้าใจตัวเอง เปิดใจและวางใจให้รับเอาผลหรืออิทธิพลของห้องเข้ามาสู่ตัว สามารถสร้างความเชื่อมโยงพลังในแง่ใดแง่หนึ่งกับตัวเอง
 
และเมื่อเขาเหล่านั้นรู้จักและเข้าใจความซับซ้อน ไร้ระเบียบในตัวเองมากพอ เขาก็อาจจะเรียนรู้ที่จะใช้พลังนั้นอย่างชาญฉลาดและเหมาะสม เพื่อพัฒนาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่น
 
 
http://pingwab.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2
4552  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / ปัญญาห้าสี กับ ไมตรีรูม ( ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา ) เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:52:07

 
 
ปัญญาห้าสีกับไมตรีรูม (๑)
 
 
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2550
 
สิ่งหนึ่งที่เป็นลักษณะเด่นของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ที่เป็นมหาวิทยาลัยแนวพุทธทางตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ ความรุ่มรวยไปด้วยสิ่งที่เราอาจเรียกว่า ของเล่น เครื่องมือ กระบวนการ หรือ หากจะเรียกให้ทันยุคก็คือ นวัตกรรมทางการเรียนรู้ ซึ่งก็คือช่องทางการพัฒนาการเรียนรู้อย่างรอบด้าน หรือเป็นบูรณาการของนักศึกษา ช่องทางเหล่านี้นำมาซึ่งคำอธิบายวิธีและวิถีการพัฒนาที่มีได้หลากหลายจริต รูปแบบและจังหวะ
 
เปรียบเทียบมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในบางมุมก็อาจบอกว่าคล้ายกับประเทศไทยสมัยโบราณที่การเดินทางไปยังที่ต่างๆ ในโลกยังอาศัยเทคโนโลยีพื้นฐาน เช่น เรือ หรือยานพาหนะลากด้วยสัตว์ สมัยนั้นคาบสมุทรอินโดจีนเป็นเหมือนพื้นที่อันอุดมอันเป็นทางผ่านของสองอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ของเอเชีย คือ จีนและอินเดีย เราสามารถมองเห็นร่องรอยของชุดความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี รวมไปถึงแนวคิดความเชื่อเรื่องศาสนาและการเรียนรู้จากดินแดนทั้งสอง
 
มหาวิทยาลัยนาโรปะในปัจจุบันก็เหมือนอยู่ตรงกลางรอยเชื่อม หรือสะพานระหว่างหลายอารยธรรมเช่นกัน ทั้งจากวิทยาศาสตร์แนวใหม่ที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นจากวิทยาศาสตร์ยุคนิวตัน-เดส์การ์ตส์ จากวัฒนธรรมชนพื้นเมืองอินเดียนแดง และจากพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายวัชรยาน ผ่านทางท่านเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย
 
ตัวอย่างของเครื่องมือหรือกระบวนการเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรม อย่างเช่น การจัดนิเวศภาวนา (Eco Quest) พัฒนาขึ้นมาจากฐานพิธีกรรม Vision Quest ซึ่งเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านวัยจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ของชนพื้นเมืองอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาดั้งเดิม ก่อนที่ชาวยุโรปจะอพยพเข้ามา
 
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งมหาวิทยาลัยอยู่ใกล้สถานที่ทางธรรมชาติที่มีพลัง ทำให้การจัดนิเวศภาวนาเกิดขึ้นและเป็นไปได้ง่าย นักศึกษามีโอกาสได้ทดลอง ได้ผ่านประสบการณ์จากกระบวนการนี้ในที่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น อุทยานแห่งชาติแคนยอนแลนด์ ในรัฐยูท่าห์ หรือเมืองเครสโตน โคโลราโด
 
มีนวัตกรรมทางการเรียนรู้หนึ่งอันมาจากความเชื่อสายทิเบต และค่อนข้างมีเอกลักษณ์มากจนอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง ก็คือ ไมตรีรูม (Maitri Room) หรือห้องไมตรี อาจจะเรียกว่าเป็นห้องแห่งความเป็นมิตรก็ได้ ห้องไมตรีนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการฝึกพลังเบญจพุทธคุณทั้ง ๕ (Five Wisdom Energies Practice) (บางท่านได้แปลว่าพลังปัญจพุทธกุล หรือเบญจคุณ)
 
ห้องไมตรีนี้เกิดจากความสนใจของท่านเชอเกียม ตรุงปะ ที่ต้องการจะผสมผสานการบำบัดเยียวยาแนวร่วมสมัยให้เข้ากับคำสอนทางพุทธศาสนาสายวัชรยาน โดยออกแบบการฝึกด้วยการใช้ท่าทางเฉพาะ ภายในห้อง ๕ ห้อง ซึ่งแต่ละห้องออกแบบใช้สีต่างๆ กันทั้งหมด ๕ สี
 
พื้นฐานความคิดเรื่องนี้มาจากคำสอนเกี่ยวกับพลังเบญจพุทธคุณทั้ง ๕ อันเป็นคำอธิบายถึงแบบแผนพลังชีวิตต่างๆ ๕ ประการที่มีอยู่ทั้งในและนอกตัวเรา และแสดงออกมาในการดำเนินชีวิตของเราตลอดเวลา โดยพลังทั้ง ๕ นี้ เป็นพลังของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ทางวัชรยาน ใช้สัญลักษณ์แทนแต่ละพลังด้วยสีต่างๆ กัน ๕ สี บ้างจึงเรียกว่า ปัญญาห้าสี
 
พลังเบญจพุทธคุณทั้ง ๕ ในห้องไมตรีแต่ละห้องนี้ได้แก่ วัชระ (Vajra) รัตนะ (Ratna) ปัทมะ (Padma) กรรมะ (Karma) และพุทธะ (Buddha) ทว่า เมื่อพลังทั้ง ๕ มีด้านที่ให้คุณก็ย่อมจะมีแง่มุมที่ให้โทษเช่นกันเมื่อพลังนั้นอยู่ในภาวะที่กดดันสับสน เราลองมาสำรวจห้องไมตรีที่มีพลังเบญจพุทธคุณแต่ละอย่างไปทีละห้องด้วยกันครับ
 
พลังแรกคือ พลังวัชระ แทนด้วยสีน้ำเงิน พลังวัชระนั้นเปรียบดังอาวุธที่คมและแข็งแกร่งยิ่งกว่าเพชร เต็มไปด้วยความสามารถในการคิดวิเคราะห์และใคร่ครวญ มีพลังของการวิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนความเห็น เป็นลักษณะของความกระจ่างชัดเหมือนน้ำที่สะท้อนฉายภาพสิ่งต่างๆ ในสภาวะที่ปกติ พลังวัชระคือการมีความคิดการตัดสินใจว่องไว ผ่องใส ปราศจากอคติ แต่ในภาวะที่สับสน กลับเป็นการยึดมั่นกับความคิดของตัวเองสูง ถือความคิดของตัวเป็นใหญ่ และมีโทสะ
 
พลังต่อมาคือ พลังรัตนะ แทนด้วยสีเหลือง เป็นพลังที่โอบอุ้มและหล่อเลี้ยง มีความอ่อนโยนและการให้โดยไม่มีข้อแม้ การเผื่อแผ่แบ่งปัน เปรียบได้ดั่งธาตุดินที่เป็นแหล่งบ่มเพาะให้พืชพันธุ์งอกเงยเติบโต ในสภาวะปกติพลังรัตนะจะเป็นความใจกว้าง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่เมื่ออยู่ในสภาวะที่สับสนจะตามใจตัวเอง ต้องการครอบครอง เป็นความเกินพอดี เย่อหยิ่งโอ้อวด และโลภ
 
พลังในลำดับต่อมาคือ พลังปัทมะ แทนด้วยสีแดง เป็นพลังของเสน่ห์และมีแรงดึงดูด มีความสามารถในการใช้ญาณทัศนะ พลังปัทมะจึงเสมือนกับธาตุไฟที่มีความเคลื่อนไหววูบวาบ ดึงดูดสายตาและน่าสนใจ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเผาไหม้ทำลายสิ่งต่างๆ ได้ ในสภาวะปกตินั้น พลังปัทมะจะมีคุณลักษณะการรับฟัง การเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน สามารถสังเกตและรู้สึกได้ถึงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่ออยู่ในสภาวะที่สับสน พลังปัทมะจะเป็นความรู้สึกที่ไม่มั่นคง เจ้าราคะ ยึดติดกับการจมดิ่งในอารมณ์เข้มข้นแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นตื่นเต้น สุขหรือโศกเศร้าก็ตาม
 
สำหรับพลังต่อมาแทนด้วยสีเขียว คือ พลังกรรมะ เป็นพลังของความกระตือรือร้น ไม่หยุดอยู่นิ่ง ชอบประดิษฐ์และสร้างสรรค์ เป็นการได้ลงมือกระทำ พลังกรรมะจึงสัมพันธ์กับธาตุลม ลมที่พัดพาความชุ่มชื้นมาให้ หรือกลายเป็นลมพายุรุนแรงได้ เพราะในสภาวะปกตินั้น พลังกรรมะเป็นนักปฏิบัติ มีความมั่นใจในความสามารถ เห็นสถานการณ์ในรอบด้านจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างเหมาะสม แต่เมื่ออยู่ในสภาวะที่สับสนจะกลายเป็นเอาแต่ใจตนเป็นใหญ่ มีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว และอิจฉาริษยา
 
พลังสุดท้ายในเบญจพุทธคุณคือ พลังพุทธะ ถูกแทนด้วยสีขาว เพราะมีคุณลักษณะดั่งเป็นพื้นที่ว่าง ช่วยทำให้เกิดการไหลเลื่อน และทำหน้าที่รองรับพลังอื่นๆ ทั้ง ๔ พลังพุทธะมีลักษณะเปิดรับ สามารถรองรับและยอมรับความเป็นไปได้ต่างๆ ในสภาวะปกติ พลังพุทธะจะมีความสุขุมรอบคอบ เป็นมิตร พึงพอใจในการเป็นอยู่อย่างธรรมดา แต่ในสภาวะที่สับสนจะซบเซาเฉื่อยชาและน่าเบื่อ ขี้อายและไม่กล้าลองอะไรใหม่ๆ
 
พลังเบญจพุทธคุณนี้ไม่ได้เป็นการจำแนกคนออกเป็น ๕ ประเภทนะครับ (แม้ว่าบางคนจะมีลักษณะเข้ากั๊นเข้ากันกับบางพลังก็ตาม) เพราะว่าเราหาได้มีเพียงคุณลักษณะของพลังใดอย่างเดียว แต่ประกอบกันขึ้นจากพลังทั้ง ๕ เพียงแต่ว่าจะมีลักษณะใด มีคุณสมบัติไหนปรากฏเด่นชัดมากกว่าในแต่ละช่วง แต่ละเวลา แต่ละขณะของชีวิตเราเท่านั้น
 
สีทั้ง ๕ นี้ นอกจากเป็นสัญลักษณ์แทนพลังเบญจคุณ อันเปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ของวัชรยานแล้ว มหาวิทยาลัยนาโรปะยังมีธงสีทั้ง ๕ โบกสะบัดอยู่หน้ามหาวิทยาลัยอีกด้วย เสมือนว่าธงเป็นตัวแทนสื่อถึงปรัชญาการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้มุ่งสู่ปัญญาอันสมดุลทั้งกายและใจ สมดุลที่กลมกลืนผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและพุทธศาสนาจากตะวันออก
 
สำหรับการฝึกปฏิบัติในห้องไมตรีแต่ละสี เพื่อพัฒนาพลังเบญจพุทธคุณแต่ละด้านเป็นอย่างไรนั้น โปรดอดใจรอติดตามต่อในสัปดาห์หน้าครับ :-)
4553  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: มันดาลา หรือ เบญจคุณ พลวัตแห่งความว่าง: ปัญจพุทธกุล หรือ พลังปัญญาห้าสี เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:51:03





อารมณ์: รากฐานแห่งตันตระ
วิจักขณ์ พานิช
 
ด้วยเหตุที่ว่าชีวิตที่แท้เปี่ยมไปด้วยความเป็นไปได้ที่ไม่มีขีดจำกัด ในทางกลับกันชีวิตจึงเสี่ยงต่อความโกลาหลที่มากตามไปด้วย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกมองพื้นที่ว่างอันกว้างใหญ่ของจิตเป็นสิ่งที่น่าพึงปรารถนาหรือน่าหวั่นไหว มุมมองแตกต่างที่ว่าจะนำพาให้เราได้ไปพบกับทางเลือกของการพัฒนาศักยภาพแห่งการตื่นรู้ สู่การใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมในทุกลมหายใจเข้าออกเพื่อเผชิญหน้ากับสัจธรรมความเป็นอนิจจังดังกล่าว หรือทางเลือกที่จะ “ควบคุม” ความเป็นไปได้ที่โกลาหลด้วยการไม่ยอมรับสรรพสิ่งตามที่เป็นจริง จากนั้นจึงพยายามปิดกั้นศักยภาพอันไพศาลนั้นออกไปจากชีวิตเสีย

การควบคุมดูจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า อาจด้วยเพราะผลที่เห็นได้ชัดถนัดตา และดูเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุอย่างฉับไว ไม่ว่าจะเป็นระดับสังคมที่เห็นกันได้ดาษดื่นจากผู้มีอำนาจทั้งหลาย เช่น เจ้านายควบคุมลูกน้อง พ่อแม่ควบคุมลูก ครูควบคุมนักเรียน รัฐบาลควบคุมสื่อ รถถังควบคุมประชาชน เป็นต้น

แต่การควบคุมที่ว่านั้น กำลังทำให้คนส่วนใหญ่กลายเป็นคนเก็บกด เมื่อคนเราไม่รู้จักที่จะเผชิญหน้ากับแง่มุมที่หลากหลายของชีวิตอย่างที่มันควรจะเป็น ชีวิตในแต่ละวันจึงกำลังถูกควบคุมความเป็นไปได้ที่กว้างใหญ่ จนไม่หลงเหลือพื้นที่ภายในให้กับการเรียนรู้ เราต่างกำลังถูกจองจำในทุกๆด้าน ยิ่งเราเลือกที่จะควบคุมชีวิต หรือสยบยอมชีวิตให้กับการควบคุมมากเท่าไหร่ ดูเหมือนความเครียดของผู้คนในโลกสมัยใหม่ก็ดูจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นคำถามที่ว่าทางออกแห่งการควบคุมและกดทับ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วล่ะหรือ เรารู้สึกปลอดภัยและมั่นคงกับการดำรงชีวิตอยู่มากขึ้น หรือการควบคุมที่ว่านั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ส่งผลดีใดๆนอกเสียจากความจำเป็นที่ต้องเพิ่มดีกรีของการควบคุมให้เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆอย่างไม่รู้จบ
 
การแบ่งขั้วระหว่าง “โลก” กับ “ธรรม”
 
ผู้คนจำนวนมากเมื่อตระหนักว่าชีวิตพบกับทางตัน ก็ตัดสินใจเลือกที่จะผละจากปัญหาแล้วหันหน้าเข้าหาวัด แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ในปัจจุบัน แม้แต่ในบริบทของศาสนธรรม กลับไม่มีคำสอนที่สามารถช่วยบรรเทาความสับสนของผู้คนให้ลดน้อยลงได้ สิ่งที่เรามักได้ยินได้ฟังจากปากของชาววัด กลับเป็นข้อความในแง่ปฏิยัติหรือปฏิเวธที่ถอดเอามาจากพระคัมภีร์ อย่างไม่มีนัยของความเข้าใจในแนวทางการปฏิบัติของการสร้างสัมพันธ์กับอารมณ์ในชีวิตจริงเอาเสียเลย
“เลิกยึดมั่นกับมันเสีย อดีตมันผ่านไปแล้ว อนาคตยังมาไม่ถึง ปล่อยวางมันซะ แล้วชีวิตจะพบกับความสุขสงบที่แท้”

“โลภ โกรธ หลง เป็นเรื่องบ้าๆของอารมณ์ จงควบคุมสติให้อยู่กับลมหายใจ อย่ามัวพลัดหลงไปกับอารมณ์ร้ายพวกนั้น”

“ความสุข ความทุกข์ เป็นเรื่องทางโลก ผู้ที่เข้าใจธรรมะ มีชีวิตอยู่เหนือสุข เหนือทุกข์”
“อย่าเสียใจ อย่าร้องไห้ไปเลย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง”
“ความรัก คือ บ่อเกิดของความทุกข์”

...เป็นต้น
 
การยัดเยียดหลักการทางธรรมให้พอกทับหลักการทางโลกนั้น อาจทำให้รู้สึกโล่งใจไปได้สักพัก แต่หากผู้ฟังเลือกที่จะ “เชื่อ” คำสอนเหล่านั้น ชีวิตทางธรรมที่ไปรับเอามาก็ดูจะไม่มีอะไรต่างไปจากชีวิตแบบเดิมๆ เพราะมันยังคงเป็นชีวิตแห้งๆ เต็มไปด้วยหลักการล้านแปด อันปราศจากความชุ่มชื้นแห่งประสบการณ์ตรงของการเดินทางด้านใน แม้จะได้ชื่ออันสวยหรูว่าเป็น “ชีวิตทางธรรม” ก็ตามที

แม้แต่ในเรื่องของการฝึกจิตภาวนา บ่อยครั้งก็ยังหนีไม่พ้นกลเกมแห่งการควบคุมอีกเช่นเดียวกัน เทคนิคมากมายที่ถูกนำมาใช้ไปในลักษณะของเป้าหมายสูงสุด เพื่อควบคุมอารมณ์ด้านลบไม่ให้ออกมามีอิทธิพลเหนืออารมณ์ด้านบวก จนถูกมองว่าเป็นกลวิธีการแก้ปัญหาความทุกข์ที่ปลายเหตุอย่างได้ผลทันตา ความสุขสงบจากการภาวนาจึงอาจกลายเป็นสิ่งเสพติดชนิดหนึ่งไปโดยปริยาย เมื่อนั้นการภาวนาก็หาได้เป็นกระบวนการฝึกฝนที่จะทำให้เราสามารถเผชิญหน้ากับทุกแง่มุมของชีวิตได้อย่างปราศจากความกลัว มันได้กลับกลายเป็น “การลาพักร้อนจากชีวิต”หรือ “ทางเบี่ยงจิตวิญญาณ” ซึ่งหากเราฝึกฝนจนมีความชำนาญมากพอ ก็อาจจะค้นพบหนทางที่จะภาวนาแล้วหลีกหนีจากความโกลาหลทางอารมณ์ที่รุมเร้า พักจิตไว้ในฌาณขั้นใดขั้นหนึ่ง แล้วพึงเสพความสุขสงบจนเป็นที่พอใจ หารู้ไม่ว่าสิ่งที่เราพยายามฝึกนั้น กลับไม่ได้ทำให้เราเติบโตทางจิตวิญญาณ หรือรู้จักชีวิตดีขึ้นเลยแม้แต่น้อย เรากำลังพยายามแยกชีวิตออกเป็นสองส่วน “ชีวิตทางโลก” กับ “ชีวิตทางธรรม” ชีวิตที่แตกแยกส่วนเช่นนั้นยังห่างไกลจากความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ในศักยภาพความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงมากนัก
 
มหาสิทธานาโรปะ ตันตราจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของพุทธวัชรยาน ได้ตระหนักรู้ในข้อจำกัดที่ว่านี้ ท่านใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตศึกษาหลักพุทธปรัชญาจนแตกฉาน ชื่อเสียงและความสามารถของท่านเป็นที่เคารพเกรงขาม จนได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของสถาบันการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดียอย่างมหาวิทยาลัยนาลันทา จนมาวันหนึ่งขณะนาโรปะกำลังนั่งอ่านพระคัมภีร์อย่างคร่ำเคร่ง เงามืดได้พาดทอเข้าปกคลุม นาโรปะหันไปพบกับหญิงแก่นางหนึ่ง เดินกะเผลกๆด้วยไม้เท้า สวมใส่เสื้อผ้าเก่าขาดลุ่ยคลุมผิวหนังเหี่ยวย่นอันเหม็นสาบ หญิงแก่มองมาที่นาโรปะ

“เจ้ากำลังอ่านอะไร”
“อาตมากำลังอ่านพระคัมภีร์ที่ว่าด้วยหลักพุทธปรัชญาขั้นสูง ที่อาตมาคงไม่สามารถอธิบายให้หญิงแก่อย่างท่านเข้าใจได้”
หญิงแก่จึงถามต่อว่า
“เจ้าเข้าใจคำทุกคำที่ว่าไว้ในพระคัมภีร์หรือเปล่า”
“แน่นอน อาตมาเข้าใจคำทุกคำตามพระคัมภีร์”

หญิงแก่ได้ยินดังนั้น ก็ดีใจยิ่งนัก แย้มยิ้ม หัวเราะ กระโดดโลดเต้น ควงไม้เท้า ร่ายรำไปรอบๆ
นาโรปะเห็นหญิงแก่มีความสุขเช่นนั้น จึงกล่าวต่อไปว่า
“มากไปกว่านั้น อาตมายังเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งทั้งหมดที่แฝงไว้ในพระคัมภีร์อีกด้วย”
พอได้ยินดังนั้น หญิงแก่ถึงกับทรุดฮวบลงไปกับพื้น ร้องไห้ครวญครางด้วยความเศร้าโศก
นาโรปะแทบจะไม่เชื่อสายตาตัวเอง รีบเข้าไปประคองหญิงแก่ พร้อมถามว่าทำไมถึงต้องโศกเศร้าถึงเพียงนั้น
หญิงแก่จึงตอบนาโรปะว่า

“เมื่อข้าเห็นมหาบัณฑิตผู้เลื่องลือสามารถหลอกตัวเองว่าสามารถเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งแห่งชีวิต ด้วยการเอาแต่นั่งอ่านพระคัมภีร์ไปวันๆ มันทำให้ข้ารู้สึกโศกเศร้ายิ่งนัก”

นาโรปะได้ยินคำของหญิงแก่ ก็ถึงกับหน้ามืด รู้สึกราวกับคำกล่าวนั้นได้ตอกย้ำให้เขาหวนตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตที่แท้ที่เขาไม่เคยได้สัมผัส

หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น นาโรปะถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ เขาไม่สามารถหลงระเริงอยู่กับเกียรติยศชื่อเสียงจอมปลอมที่คนรอบข้างต่างยกยอสรรเสริญถึงความรอบรู้ของเขาได้อีกต่อไป เขาตัดสินใจสละคราบนักบวช ละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วมุ่งหน้าสู่ป่าลึกทางทิศตะวันออก เพื่อตามหาคุรุผู้สามารถสอนหนทางแห่งการสัมผัสคุณค่าของการมีชีวิตที่แท้

ชีวิตของนาโรปะเป็นตัวอย่างของบุคคลผู้ซึ่งใช้เวลากว่าค่อนชีวิต ภายใต้เกราะป้องกันทางหลักการที่ล้ำลึก ชื่อเสียง เกียรติยศ สถานภาพ คำสรรเสริญเยินยอจากภายนอก กลับไม่ได้ทำให้ชีวิตภายในของเขาชุ่มชื้นอย่างที่ควรจะเป็น การศึกษาธรรมะโดยไม่รู้จักสร้างความสัมพันธ์กับอารมณ์นอกจากจะทำให้ชีวิตของเรากลายเป็นชีวิตธัมมะธัมโมที่ขาดความชุ่มชื้นแล้ว เรายังไม่สามารถที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับใครได้อีกด้วย เพราะเมื่อเราเลือกที่จะสร้างเกราะมาป้องกันเลือดเนื้อแห่งชีวิต เพื่อที่จะหลีกหนีต่อความทุกข์และความเจ็บปวด เราก็กำลังตัดขาดชีวิตของเราเองออกจากผู้คนรอบข้างไปด้วยพร้อมๆกัน แม้อาจจะมีความสัมพันธ์ที่ผิวเผินอยู่บ้าง แต่สายใยเหล่านั้นก็ออกจะตื้นเขินเกินกว่าที่จะเรียกได้ว่าเป็นสายสัมพันธ์ที่ยั่งยืนแท้จริง นั่นคือสาเหตุสำคัญที่ว่าหากเราจะมานั่งจิบน้ำชาถกเถียงกันเรื่องของพุทธศาสนากับการเปลี่ยนแปลงสังคมกันแล้ว การภาวนาเพื่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับทุกอารมณ์ ทุกความรู้สึก จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดต่อชีวิตนักต่อสู้ทางสังคมรุ่นใหม่ไฟแรงทั้งหลาย ไม่เช่นนั้นการทำงานเพื่อสังคมกับการฝึกฝนทางจิตวิญญาณก็ยังคงต้องเป็นของแสลงต่อกัน ราวกับน้ำกับน้ำมันที่แยกชั้น ไม่สามารถผสมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างลงตัวเสียที
 
สัมผัสพลังชีวิตบนจิตว่าง
 
นามธรรมที่เรียกกันว่าอารมณ์เป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกและสัญชาตญาณขั้นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ ที่มีมาก่อนหลักวิธีคิดสูงส่งซับซ้อนที่ได้ถูกสร้างขึ้นมาในภายหลัง อารมณ์คือพลังชีวิตที่ถูกเร้าด้วยเหตุปัจจัยภายในและภายนอกอันอยู่เหนือการควบคุม จึงง่ายต่อการด่วนสรุปไปว่า อารมณ์คือต้นตอของความโกลาหล สับสน วุ่นวาย อันจะแปลงกลายเป็นปีศาจร้ายที่ชื่อความทุกข์ในที่สุด

ความหลงผิดที่ว่าเกิดมาจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างร้ายแรง เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ คือ เหตุปัจจัยภายในและภายนอกที่เลื่อนไหลต่างหาก อารมณ์เป็นเพียงสัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ธรรมดาๆที่มีเลือดเนื้อและความรู้สึก ในพุทธศาสนานั้นได้สอนไว้อย่างชัดเจนว่าเหตุปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่รายรอบตัวเราต่างก็ไม่จีรังยั่งยืน แปรเปลี่ยนไป คงอยู่ไม่ได้นาน และหาได้มีแก่นสารแห่งตัวตนที่แท้ ดังนั้นหากเราต้องการใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพ สิ่งที่เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ ก็คือ การสร้างความสัมพันธ์กับความเป็นไปตามธรรมชาติแห่งเหตุปัจจัยที่ว่านั้นอย่างถูกต้อง

พื้นฐานความเข้าใจในเรื่องของความไม่มีตัวตน เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ที่ละเอียดอ่อนของการดำเนินชีวิตในแต่ละขณะ ชีวิตที่แท้ประกอบไปด้วยการเลื่อนไหลของพลังงานอย่างเป็นพลวัต ผู้คนในโลกสมัยใหม่มักมีความเข้าใจไปว่า อารมณ์คือผลผลิตของความคิด และสมองคือกองบัญชาการแห่งการควบคุมอารมณ์ แต่หากเราลองเริ่มต้นสังเกตและสัมผัสการเลื่อนไหลของอารมณ์อย่างใกล้ชิด เราจะรู้ได้ทันทีว่า แท้จริงแล้วการเลื่อนไหลของอารมณ์นั้นมีความสัมพันธ์กับร่างกายในทุกๆส่วน อาจจะกล่าวได้ว่า ทุกอณูรูขุมขนของร่างกายมีความสามารถรับรู้ถึงพลังงานชีวิตที่ผุดขึ้นมา ณ วินาทีนั้นได้โดยไม่ต้องอาศัยการถอดความของสมองเลยแม้แต่น้อย
 
แบบฝึกหัดที่ ๑: อาณาปาณสติกับการตื่นรู้ทางอารมณ์

การใช้ลมหายใจช่วยในการฝึกฝนความรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่ว่าลมหายใจเป็นสิ่งมหัศจรรย์ลึกลับน่าพิศวง ลมหายใจ ก็คือร่างกายของเรานั่นเอง แต่เป็นร่างกายในลักษณะของการสัมผัสรับรู้การดำรงอยู่ในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น

เริ่มต้นด้วยการตามความรู้สึกของลมหายใจที่เลื่อนไหลกระทบปลายจมูก รู้สึกถึงความอุ่นที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อลมค่อยๆเข้าสู่ร่างกาย และรับรู้ถึงลมที่ค่อยๆเย็นลงเมื่อออกจากร่างกาย พยายามสูดหายใจให้เต็มปอดเพื่อสร้างความรู้สึกเปิดรับและผ่อนคลาย ค่อยๆตามลมหายใจเข้าออก ด้วยความมีสติอยู่ในทุกปัจจุบันขณะ หากจิตเริ่มฟุ้งด้วยภาพความคิดในอดีตและจินตนาการในอนาคต เราสามารถนำเทคนิคการเตือนสติตนเอง โดยเมื่อรู้ตัวว่าเริ่มคิด ให้บอกกับตัวเองในใจว่า “คิด!” แล้วจึงปล่อยวางการยึดมั่นในความคิดนั้น การเตือนตัวเองเช่นนี้จะทำให้เราสามารถตัดวงล้อแห่งความคิดฟุ้งซ่านแล้วสามารถกลับมามีสติอยู่ที่ลมหายใจได้อีกครั้ง

จากการฝึกสติที่ปลายจมูก ค่อยๆสังเกตถึงพลังแห่งการตื่นรู้ภายในที่ไหลเวียนอยู่ในทุกส่วนของร่างกาย หากสังเกตให้ดี เราจะรู้ว่าพลังแห่งการตื่นรู้ที่ว่ายังรวมถึงพื้นที่ว่างภายนอกรอบตัวเราอีกด้วย การค้นพบนี้จะนำเราไปสู่คำถามที่ว่า ร่างกายที่แท้จริงคืออะไรกันแน่?

ยิ่งเราสามารถผ่อนคลายร่างกายทุกส่วนได้มากเท่าไหร่ การตามลมหายใจที่ปลายจมูกก็ดูจะส่งผลต่อการสร้างสัมพันธ์กับพลังแห่งการตื่นรู้ในกายได้มากขึ้นเท่านั้น และที่น่าแปลกก็คือ ยิ่งเรามีสติอยู่ที่ลมหายใจมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งค้นพบจุดที่แข็งเกร็งตามส่วนต่างๆที่ร้องเรียกให้เราได้ปล่อยวางและผ่อนคลาย นั่นคือความหมายของบ่มเพาะการมีสติอยู่กับเนื้อกับตัว

แก่นภายในของร่างกายนั้นประกอบด้วยเส้นการไหลวิ่งของพลังงานบริเวณด้านหน้าของกระดูกสันหลัง จากกระดูกสะโพกถึงกระดูกศีรษะส่วนบน เส้นพลังงานที่ว่าจะค่อยๆปรากฏให้เราสัมผัสได้ก็ต่อเมื่อความตึงเครียดค่อยๆถูกปลดปล่อยออกไปทีละน้อย สรีระตามธรรมชาติของการไหลเวียนแห่งพลังงานจะเพิ่มความสำคัญต่อการฝึกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการฝึกอานาปาณสติเช่นนี้จะนำผู้ฝึกไปสู่ความผ่อนคลายที่ลึกขึ้นจนคุณรู้สึกราวกับว่าขอบเขตข้อจำกัดทางกายภาพของร่างกายค่อยๆอันตรธานไป จนร่างกายกลายเป็น “วัชรกายา” อันแสดงถึง ฐานแห่งความว่างที่ยอมให้สายธารแห่งการตื่นรู้ได้เลื่อนไหล ปมแห่งกรรมภายในค่อยๆคลี่คลาย ปลดปล่อยเป็นพลังงานทางความรู้สึกและอารมณ์ที่เทถ่ายในทุกอณู ให้เราได้สัมผัส รับรู้ และปล่อยวาง อย่างเป็นครรลอง
 
แบบฝึกหัดที่ ๒: สัมผัสการตื่นรู้ในทุกอณูของร่างกาย

เริ่มต้นด้วยการนอนราบกับพื้น ชันเขาแล้วใช้ผ้าหรือเข็มขัดรัดบริเวณเหนือหัวเข่า พอให้หัวเข่าสองข้างพอชนกัน เท้าสองข้างแยกออกพอประมาณเพื่อเพิ่มเสถียรภาพ มือสองข้างประสานกันไว้เหนือท้องน้อย จากนั้นให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ค่อยๆถ่ายเทความตึงแน่นไหลผ่านสิบจุดสัมผัสระหว่างร่างกายกับพื้นลงสู่ผืนดินเบื้องล่าง เริ่มจากฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ก้น แผ่นหลัง ข้อศอก หัวไหล่ และศีรษะตามลำดับ ใช้เวลาในการผ่อนคลายความเครียดในแต่ละจุดอย่างเต็มที่
จากนั้นให้สูดลมหายใจจากรูจมูกยาวไปยังบริเวณท้องน้อย ค่อยๆตามลมหายใจเข้าออกตามการยุบพอง จนสามารถสัมผัสจุดจักราบริเวณใต้สะดือหลังแนวกระดูกสันหลัง ที่ทำหน้าที่เป็นประตูสู่ความว่างอันไร้ขอบเขตได้ จากนั้นจึงพักจิตไว้ในพื้นที่ว่างนั้น ปลดปล่อย และผ่อนคลาย เสมือนตกอยู่ในภาวะดิ่งอิสระ

จากนั้นให้ปลดรัดและลดหัวเข้าสู่ท่านอนราบโดยสมบูรณ์ โดยอาจใช้เบาะรองช่วงขาให้สูงขึ้นเล็กน้อย ปล่อยมือทั้งสองไว้ข้างลำตัว การฝึกขั้นนี้จะเป็นการกำหนดจิตเพื่อสูดเอาลมหายใจนำพลังชีวิตหรือปราณไปสู่จุดต่างๆของร่างกาย เริ่มต้นด้วยหัวแม่เท้าทั้งสองข้าง พยายามปลดปล่อยหลักการความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ในหัวออกไปให้หมด แล้วตั้งจิตสูดลมหายใจจนไปถึงหัวแม่เท้า จากนั้นจึงขยายไปที่นิ้วอื่นๆ ฝ่าเท้า หน้าแข้ง หัวเข่า น่อง ก้น อวัยวะเพศ ท้องน้อย สะเอว แผ่นหลัง นิ้วมือ แขน ขึ้นมาเรื่อยๆจนถึงกระหม่อมศีรษะ

เราอาจจะเริ่มปฏิบัติด้วยการไม่รู้สึกอะไรเลย ทุกอย่างดูจะด้านตายไปหมด แต่เมื่อเราค่อยๆฝึกฝน ตามลมหายใจไปสู่จุดต่างๆของร่างกายที่ไร้ความรู้สึก ผ่านไปสักระยะหนึ่งร่างกายจะเริ่มแสดงสัญญาณของการกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เราเริ่มสัมผัสได้ถึงปฏิกิริยาตอบสนอง ความตื่นรู้จะค่อยๆปรากฎขึ้นด้วยประสาทสัมผัสที่แจ่มชัด เราจะเริ่มตระหนักได้ว่า แบบแผนตายตัวที่เรามีต่อความบีบคั้นในร่างกาย เกิดขึ้นจากส่วนของจิตใต้สำนึกหรือจิตสำนึกในขั้นต้นของการแข็งเกร็ง เรากำลังเก็บซ่อน ปมหรือแง่มุมบางอย่างของชีวิตไว้ในมุมมืด เป็นส่วนที่เราเพิกเฉย หรือไม่กล้าที่จะเข้าไปสร้างปฏิสัมพันธ์ เมื่อเราฝึกไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มพบว่าในบางบริเวณของความแข็งตึงค่อยๆคลายออก ปรากฎให้เรารับรู้ถึงปฏิกิริยาตอบสนอง เผยให้เราเห็นประกายแห่งความมีชีวิตชีวา ยิ่งร่างกายสามารถผ่อนคลายได้มากขึ้น เราก็ยิ่งสามารถสัมผัสถึงความว่างได้มากขึ้นตามไปด้วย ความว่างเป็นผลมาจากการผ่อนคลายและผ่อนพัก อันจะเป็นบาทฐานที่ทำให้เราสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ และความรู้สึก ได้อย่างเต็มที่
 

อ่านไดอาล๊อกเพิ่มเติม ได้

 
http://webboard.wongnamcha.com/index.php?topic=38.0
4554  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: มันดาลา หรือ เบญจคุณ พลวัตแห่งความว่าง: ปัญจพุทธกุล หรือ พลังปัญญาห้าสี เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:50:30


กลับมาอ่านกำลังภายในอีกครั้ง
 
วิศิษฐ์ วังวิญญู
 
สาราณียกรปาจารยสารมอบงานให้เขียนเรื่องการปฏิวัติในชีวิตปกติธรรมดา หรือในชีวิตประจำวัน จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก แล้วแต่ว่าจะมองงานเขียนแบบนี้ อย่างไร ตอนแรกคิดเรื่อง “การปฏิวัติในห้องนั่งเล่น” ที่เคยเป็นจ่าหัวหนังสือนิตยสารทางเลือกในสหรัฐอเมริกาเล่มหนึ่ง คือ อัตเน่รีดเดอร์ ตอนที่เราเป็นบรรณาธิการปาจารยสารฉบับหัวกะทิ เคยใช้ประเด็นนี้มาเล่นเป็นจ่าหัวหนังสือของเราเหมือนกัน เพียงนึกถึงคำ ๆ นี้ ก็ทำให้นึกถึงหลายสิ่งหลายอย่าง รวมทั้งบรรยากาศครั้งเมื่อทำปาจารยสารฉบับหัวกะทิด้วย
 
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการ “กลับมาอ่านกำลังภายในอีกครั้งหนึ่ง” ซึ่งประการแรก คนใกล้ชิดบอกว่า การที่ผมกลับมาอ่านกำลังภายในอีกครั้งหนึ่งนี้ ทำให้เธอ(น่าจะเป็นว่า) ผิดหวังในตัวผมลึก ๆ เธอบอกว่า ความรู้สึกเมื่อเลือกผมเป็นคนใกล้ชิด ก็คือ รู้สึกว่า ผมเป็นคนวิเศษกว่าคนอื่น ๆ หรือ คนธรรมดาทั่วไป แต่แล้วกลับมาอ่านกำลังภายใน! ประการแรก เธอไม่ชอบจีน และความเป็นจีนทั้งปวง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเธอชอบทิเบตหรือเปล่า ก็ไม่รู้ได้ และประการที่สอง เธอบอกว่า เวลาอยู่ด้วยกันจะเป็นช่วงเวลาที่เธอรู้สึกว่า ผมอยู่กับเธอน้อยที่สุด ก็เมื่อเวลาที่ผมกลับไปเล่นเกมคอมพิวเตอร์และเมื่อกลับไปอ่านกำลังภายใน เธอจะรู้สึกว่า ตัวตนของผมหายไปจากโลกนี้ มันถูกกิจกรรมนั้น ๆ กลืนกินตัวตนไปจนมืดมิด หายสาบสูญไป น่าสนใจมาก ในฐานะคนเล่นเรื่องพลังและคลื่นกันก่อเกิดจากพลัง พลังอะไรมันดูดเราไปจนหายไปสนิท พลังอะไร มันช่างมีศักยภาพอันยิ่งใหญ่เพียงนั้น มันคืออะไรหนอ?
 
เราพยายามทำอะไรกันที่ “ปาจารยสารฉบับหัวกะทิ” คือคนทำงานกับอาจารย์สุลักษณ์จะมีสองแบบ กระมัง อาจกล่าวอย่างนี้ได้หรือเปล่า? โดยเฉพาะคนที่มาทำปาจารยสาร ไม่ว่า ฉบับไหน มีลูกเล่นหรือตัวเล่นหรือเปล่า? สำหรับผมมีตัวเล่น หรือลูกเล่น หาตัวตนที่แตกต่าง อย่างเราเมื่อเราอยู่ในอาณาจักรของอาจารย์ เราก็คงหนีตัวตนหรือร่มเงาหรือฉายาของอาจารย์ไปไม่พ้น อย่างน้อยก็ดิ้นรนสักอย่างหนึ่ง อันนี้ก็ทำให้ผมเป็นบรรณาธิการ ในขณะที่คนทำปาจารยสารปัจจุบัน ซึ่งเรียกผมเป็นลุงแล้ว ใช้ตำแหน่งเรียกตัวเองว่า เป็นสาราณียกร อาจารย์เป็นคนพิถีพิถันมาก คงคิดว่า คนฝึกงาน คนเรียนรู้ น่าจะถ่อมตัว และคำว่า สาราณียกรอาจจะเหมาะสมกว่า
 
คนภายนอกอาจจะไม่ทราบ หรือไม่ก็อาจจะคาดเดาได้ คนทำงานกับอาจารย์สุลักษณ์ อย่างไร ก็คงต้องเต้นรำกับอาจารย์ จะเต้นแบบไหน ท่าไหน ก็เป็นอีกเรื่อง แต่จะต้องเต้นรำ คือหาที่ทางความสัมพันธ์กับอาจารย์ และเรื่องนี้จะไม่มีคำว่า ลงตัว จะเป็นความไร้ระเบียบและยากแก่การคาดเดาอยู่ตลอดเวลา ตรงนี้ก็เป็นอะไรที่มีชีวิตชีวามาก ๆ ที่เกิดขึ้น ณ ห้องนั่งเล่น ในบ้านซอยอิสรภาพ ถนนนเรศ เป็นบ้านเรือนไทยหลังเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ ท่ามกลางตึกสูง ๆ ที่รายล้อมอยู่ทั่วไป ในย่านที่ที่ดินคิดเป็นตารางวา อย่างแพงหูฉี่
 
แล้วมันเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวอะไรกับการกลับมาอ่านกำลังภายในอีกครั้ง?
 
มันอาจจะเกี่ยวกันในแง่ของคลื่นพลังกระมัง แต่จะเป็นคลื่นพลังอย่างใดแบบไหน คงจะต้องวินัจฉัยกันต่อไป
 
มาดูเรื่องปัญจะพุทธคุณหรือเบญจคุณ คือเวลานี้คนรุ่นหลานสองคน คือ ณัฐฬสกับวิจักขณ์ซึ่งเรียนมาจากนาโรปะทั้งคู่ และก็ในเวลาเดียวกัน สนใจที่จะนำพาเรื่องราวของมันดาลา หรือพลังทั้งห้า อันเป็นจริตของพระพุทธเจ้าห้าพระองค์มาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ และก็ได้แปล เก็บความและเขียนเรื่องนี้ออกมา ในเวลาใกล้เคียงกัน อย่างน่าประหลาดใจ
 
ความสนใจเรื่องนี้ของผม มันเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเรื่องของพลัง ซึ่ง ผมพยายามหรือเปล่า ที่จะสร้างแบรนด์เนมกับเรื่องนี้ขึ้นมา อย่างน้อยก็ด้วยการเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เรียกว่า “มณฑลแห่งพลัง”
 
อาจารย์สุลักษณ์นั้นมีพลังแห่งวัชระ คือปัญญา คือพลังทางความคิด อันนี้คงไม่มีใครเถียงใคร แต่ความเป็นข้อจำกัดหนึ่ง ของวัชระก็คือ ความใกล้ชิด อาจารย์เคยบอกกล่าว คนจีนและคนอังกฤษรังเกียจ “ความใกล้ชิด” “Intimacy breeds contempt” แปลไทยง่าย ๆ ว่า “ความใกล้ชิดก่อให้เกิดความเกลียดชัง” แต่ในขณะเดียวกัน อาจารย์ก็มีพลังพุทธะ หรือการให้พื้นที่คนอื่น โดยเฉพาะกับคนรุ่นหลัง อย่างมีคนตั้งข้อสังเกตว่า อาจารย์มีส่วนเกื้อกูลให้เกิดคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพจำนวนมาก
 
แล้วทั้งหมดนี้มันเกี่ยวกับการกลับมาอ่านกำลังภายในอย่างไรหรือ?
 
กลับไปอ้างอิงโจเซฟ ชิลตัน เพียซ เขาไม่ได้กล่าวโดยตรงนะครับ แต่ประมาณว่า ส่วนหนึ่ง หรือส่วนสำคัญของเอนเตอเทนเมนท์ในยุคสมัยนี้ ไม่ว่า จะเป็นคอมพิวเตอร์เกมก็ดี หรือ นิยายประโลมโลกก็ดี ที่ผ่านมาทางหนังสือการ์ตูนบางแบบ ภาพยนตร์บางแบบ อาจจะรวมทั้งหนังสือกำลังภายในด้วย มันไปเล่นกับสมองส่วนหลัง หรือสมองที่อยู่ในวิวัฒนาการอันดับต้น ๆ หรือ แรก ๆ แน่นอน เมื่อเรื่องราวมันวนเวียนอยู่กับเรื่องราวของการดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด มันจะไปกระตุ้นเร้าอะไรบางอย่างในระบบชีวิตของเราขึ้นมา และมันทำให้ติดได้ คือมันเสพติด เวลานี้ลูกหลานของเราติดเกมกันเป็นเรื่องธรรมดา และกลายเป็นปัญหาที่ผมไปทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่ใด ผู้คนก็มักจะถาม หรือขอความช่วยเหลือว่า ทำอย่างไร จะทำให้ลูกเขาเลิกละจากการติดเกม
 
แต่คนใกล้ชิดของผมก็ติดหนัง และหนังสือนิตยสารสวย ๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือไลฟ์สไตล์ เขากล่าวหาว่า ผมหายตัวไป เขาก็หายตัวไปเหมือนกัน เวลาไปกินอาหารในร้านรวงที่มีหนังสือพวกนี้ไว้บริการ ผมก็เห็นเขาหายตัวไป ขัดใจเหมือนกันแหละ แต่ผมยังไม่ได้บอกกล่าวเขา ว่าคุณหายตัวไปไหนแล้ว เพราะว่า ผมไม่ได้ชมชอบในสิ่งที่เขาชมชอบ ในมันดาลา ต้องบอกว่า เขาเป็นรัตนะ ชมชอบสิ่งของ และก็อยากครอบครองด้วย โดยเฉพาะเวลาที่มันไปในทางลบ แต่ในทางบวกที่ทำให้เขาและผมมาบรรจบกันก็คือ ความมั่งคั่งพรั่งพร้อมในใจของเขาที่พร้อมจะแบ่งปัน แต่แล้วจะทำอย่างไรล่ะ ที่จะทำให้ผู้คนก้าวมาในวิถีทางที่เป็นบวก
 
เสกสรร ประเสริฐกุลเคยบอกกล่าวว่า ผมมันพวกไมโคร ส่วนเขามันพวกแมคโคร นั้นเป็นเมื่อสมัยก่อน เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้ เสกสรรก็มาสนใจเรื่องทางจิตวิญญาณมากขึ้น แต่ตั้งแต่สมัยที่เราเคยอยู่ด้วยกันที่บ้านแสงจันทร์แล้ว เขาก็เคยถกกับผมในเรื่องพุทธศาสนาอยู่ไม่น้อยเวลาเลยทีเดียว เพียงแต่ว่า เวลานั้น การอยากเป็นคนเล็ก ๆ ตกปลาอยู่ริมลำธารของเขายังเป็นเพียงความฝัน
 
ก่อนที่ท่านจะตั้งคำถามว่า นี่มันอะไรกันหว่า ประเด็นของเรื่องอยู่ที่ไหน? ผมก็จะบอกว่า คือผมจะเก็บเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้แหละครับ มาเขียนในคอลัมน์ประจำนี้ ตามความประสงค์ของสาราณียกรรุ่นหลาน คนนี้ ผมก็นับถือเขาครับ ผมว่า ผมจะไม่เขียนบทความอะไรอยู่แล้วในช่วงนี้ แต่แล้วก็ต้องเอาสักหน่อย ตอบสนองคนรุ่นหลังบ้าง อย่างเช่นที่อาจารย์สุลักษณ์เคยเปิดทางให้คนรุ่นพวกเรามา แม้ว่าจะด้วยมันดาลาแบบไหน นพลักษณ์แบบใดก็ตาม ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่บังเอิญนะครับ เพราะเรื่องพวกนี้เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ผมจะเขียนต่อ ๆ ไปในคอลัมน์ประจำนี้ ถ้าคุณยังตามอ่านผมอยู่
 
(เข้าไปคุยต่อกับผมได้ใน www.wongnamcha.com)
 
4555  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: มันดาลา หรือ เบญจคุณ พลวัตแห่งความว่าง: ปัญจพุทธกุล หรือ พลังปัญญาห้าสี เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:48:18




พลวัตแห่งความว่าง: ปัญจพุทธกุล หรือ พลังปัญญาห้าสี

(Five Buddha Families, Five Wisdom Energies)
 
สองแบบฝึกหัดข้างต้น ถือเป็นบทนำที่ทำให้เราเข้าไปรู้จักกับพื้นที่ว่างแห่งประสบการณ์ชีวิตที่แท้ เป็นความจริงที่ว่าหากปราศจากความว่างภายในอันไพศาลเสียแล้ว เราก็ไม่สามารถสัมผัสรับรู้อะไรได้มากนัก อย่างเวลาที่เราเอาแต่คิดฟุ้งซ่าน ร่างกายเต็มไปด้วยความเครียด จะมองอะไรก็คงไม่สวย จะให้กินอะไรก็คงไม่อร่อย กายที่ผ่อนพักและจิตที่ว่างจะยอมให้ทุกประสบการณ์ชีวิตผุดบังเกิดขึ้น ไหลเลื่อน เคลื่อนไหว ในรูปแบบที่หลากหลาย ก่อเกิดเป็นพลังแห่งการเรียนรู้ที่มีค่าในทุกขณะ
ในพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานได้บอกไว้อย่างชัดเจนว่า ความว่างหรือสุญญตา หาใช่ความสูญเปล่าที่แห้งแล้ง ความว่างภายในอันถือเป็นพื้นฐานของการเดินทางทางจิตวิญญาณแท้จริงประกอบไปด้วยพลังแห่งการตื่นรู้ภายในอันเป็นพลวัต โดยหากจะจำแนกคุณลักษณะของพลังแห่งการตื่นรู้ที่ว่านั้น ก็จะสามารถแยกออกได้เป็นห้ารูปแบบด้วยกัน
 
๑) พลังวัชระ (พลังปัญญาสีน้ำเงิน)
วัชระนั้นเป็นอาวุธที่แข็งยิ่งกว่าเพชร เป็นที่รู้กันดีว่าไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถทำลายวัชระได้ เอกลักษณ์ของพลังวัชระ คือ ความแกร่งที่สามารถตัดสิ่งต่างๆได้อย่างเฉียบคม พลังการตื่นรู้แบบวัชระเป็นพลังแห่งความเฉียบขาด ทิ่มแทงอย่างตรงจุด ตัดในส่วนที่เกินความจำเป็นได้อย่างหมดจด อีกทั้งยังสามารถตระหนักรู้ถึงความเป็นไปรอบด้านอย่างแจ่มชัดอีกด้วย
พลังวัชระแสดงถึงความสามารถในการคิดวินิจฉัยใคร่ครวญได้อย่างลึกซึ้ง มีความหลักแหลมเฉียบคมทางปัญญา ตัดสินใจเรื่องราวต่างๆได้อย่างรอบคอบถี่ถ้วน วิเคราะห์เหตุปัจจัย ผลลัพธ์ความเป็นไปได้อย่างตรงจุด
แต่ในทางกลับกัน หากพลังวัชระตั้งอยู่โดยปราศจากความว่าง ข้อจำกัดแห่งตัวตนก็จะพลิกผันคุณสมบัติด้านบวกไปสู่ความบ้าคลั่งในแบบวัชระ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความโกรธ และการตัดสินผู้อื่นอย่างเสียๆหายๆ ความแหลมคมในการวิเคราะห์วินิจฉัยก็จะกลับกลายเป็นความยึดมั่นในหลักการของตน กลายเป็นความหยาบกระด้างและแข็งทื่อ อย่างที่ไม่ยอมเปิดรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ส่วนความโกรธในแบบวัชระนั้น เปรียบได้กับน้ำแข็งที่เย็นจนบาดเข้าไปถึงเนื้อ เป็นความแหลมคมที่ไปทิ่มแทงผู้อื่นอย่างเย็นชา
วัชระสัมพันธ์โดยตรงกับธาตุน้ำ น้ำที่ใสและนิ่งแสดงถึงธรรมชาติของความชัดเจน แน่วแน่ สะท้อนสรรพสิ่งตามที่เป็นจริงได้อย่างชัดเจน แต่น้ำที่ขุ่นและปั่นป่วน ก็แสดงถึงกลไกปกป้องตนเอง การเอาแต่ตนเองเป็นที่ตั้ง และความขุ่นมัวเย็นชา
 
๒) พลังรัตนะ (พลังปัญญาสีเหลือง)
คุณสมบัติของพลังรัตนะ คือ ความโอบอุ้ม ดูแล เผื่อแผ่ และหล่อเลี้ยง มีความสัมพันธ์โดยตรงกับธาตุดิน เป็นพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์และความงอกงาม พลังรัตนะจะมีคุณลักษณะของความอ่อนโยน และการให้อย่างไม่มีข้อแม้ จิตรัตนะจะคิดถึงแต่ผู้อื่นและหมั่นหล่อเลี้ยงมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้างอยู่เสมอ ความกว้างในแบบรัตนะจะให้ความรู้สึกของการโอบอุ้มและความอบอุ่นราวกับอ้อมแขนของแม่ ปัญญาแห่งรัตนะแสดงถึงความรุ่มรวยที่ออกมาจากความเต็มเปี่ยมภายใน ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจแห่งการให้ และการเผื่อแผ่แบ่งปันสู่ผู้อื่นอย่างเป็นธรรมชาติ
อัตตาที่บ้าคลั่งในแบบรัตนะจะแสดงออกด้วยการเปิดขยายอย่างหมกมุ่น จนเป็นความเยิ่นเย้อ ความเกินพอดี ความสุรุ่ยสุร่าย “ให้จนเสียคน” หรือ ความ “เว่อร์” เป็นต้น ความกว้างโดยปราศจากพื้นที่ว่างภายในอาจพลิกกลับกลายเป็นความตระหนี่ หรือความตะกละได้เช่นกัน นั่นคือความต้องการที่จะได้ทุกสิ่งทุกอย่าง จนกลายเป็น “ได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ” เหมือนผืนทะเลทรายที่แห้งแล้ง หรือธรณีสูบ นั่นเอง
 
๓) พลังปัทมะ (พลังปัญญาสีแดง)
ปัทมะ แสดงถึงการเปิดกว้าง คลี่บานอันงดงามของดอกบัว การเปิดในแบบปัทมะเป็นไปในลักษณะของความสัมพันธ์ที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์และแรงดึงดูดที่รุนแรง พลังตื่นรู้ในด้านนี้มีเสน่ห์ ร้อนแรง น่าหลงใหล และยังสามารถสัมผัสได้ถึงความสดชื่นและมีชีวิตชีวายามที่ได้เข้าใกล้ การสัมผัสพลังปัทมะเหมือนกับการได้แช่ในอ่างที่หอมหวลไปด้วยสมุนไพรและพฤกษานานาพันธุ์
แต่ในความบ้าคลั่งแบบปัทมะ เราจะเริ่มรู้สึกถึงความร้อนของราคะที่เผาไหม้ การขาดพื้นที่ว่างทำให้พลังปัทมะรุนแรงจนทำเอาเราหายใจไม่ออก ไร้ซึ่งพื้นที่แห่งการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ จนกลายเป็นความลุ่มหลงเกินพอดี แน่นอนว่าธาตุที่สัมพันธ์กับพลังปัทมะ ก็คือ ธาตุไฟนั่นเอง โดยปกตินั้นไฟให้อบอุ่นและแสงสว่าง และการพลิ้วไหวโชดช่วงของไฟนั้นดึงดูดสายตาให้จดจ้องอย่างไม่อาจละวางได้ ประกายและความร้อนของไฟยังปลุกให้เราตื่นจากอวิชชาความง่วงเหงา แต่กระนั้นหากไฟลุกโหมอย่างบ้าคลั่ง ก็จะเข้าเผาไหม้ทุกสิ่งอย่างไม่เลือก
 
๔) พลังกรรมะ (พลังปัญญาสีเขียว)
กรรม ในที่นี่หมายถึงการกระทำ อันแสดงถึง การเลื่อนไหลดั่งสายธารของพลังทางปัญญา โดยพลังในรูปแบบกรรมะ แสดงถึงความกระตือรือล้นและแรงดลใจอันจะนำไปสู่การกระทำอย่างมีประสิทธิผล พลังกรรมะจะไม่เคยหยุดอยู่นิ่ง ชอบคิดประดิษฐ์ สรรค์สร้างสิ่งละอันพันละน้อยอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังสามารถทำไปได้เรื่อยๆอย่างไม่หยุดหย่อน และไม่รู้จักเหนื่อยอีกด้วย แม้แต่ในสถานการณ์คับขัน พลังกรรมะก็ยังสามารถพัดผ่านนำเอาความชุ่มชื้นมาให้ ความตื่นรู้ในลักษณะนี้จะมองเห็นความเป็นไปได้ที่ซ่อนอยู่ในทุกๆสถานการณ์ แล้วจึงแสดงออกมาในรูปแบบของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเหมาะสมอยู่เสมอ กรรมะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับธาตุลมนั่นเอง
ความบ้าคลั่งแบบกรรมะ ก็คือ ความจู้จี้จุกจิก ความเจ้ากี้เจ้าการ ความดันทุรัง การทำอะไรไปเรื่อยๆตามสิ่งเร้าอย่างไม่บันยะบันยัง เอาแต่ใจตัวเอง ขี้ใจน้อย ฉุนเฉียว และขี้อิจฉา ด้วยแนวโน้มของการทำอะไรตามแบบแผนคุ้นชิน และการพัดพาเอาแต่ความต้องการของตนเองเป็นที่ตั้ง
 
๕) พลังพุทธะ (พลังปัญญาสีขาว)
พลังพุทธะสัมพันธ์กับธรรมชาติแห่งการตื่นรู้อันไพศาล หรืออากาศธาตุ พุทธปัญญา คือพลังพื้นฐานของจิตที่แผ่ออกมาจากพื้นที่ภายในอันกว้างใหญ่ไร้ขอบเขต พลังพื้นฐานที่ว่านี้มีความสำคัญต่อการโผล่ปรากฏ ไหลเลื่อน หมุนวนของพลังปัญญาสีอื่นๆ พลังพุทธะมีคุณลักษณะของการใคร่ครวญพิจารณาหาคุณค่าและความหมายของสิ่งต่างๆอยู่ตลอดเวลา เป็นความใจกว้างในเชิงจิตวิญญาณที่รองรับความเป็นไปได้ในแบบต่างๆอย่างไม่ตัดสิน
ความพลิกผันของพลังพุทธะ คือ ความเฉื่อยชาและน่าเบื่อ สามารถอยู่เฉยๆได้ทั้งวันโดยไม่ทำอะไร ชอบที่จะปิดตัวเองอยู่ในพื้นที่แคบๆ ความเงียบก็จะบูดเป็นความเย็นชาจนกลายเป็นความเหงา และความง่วงในที่สุด ความหงุดหงิดในแบบพุทธะอีกอย่างหนึ่งก็คือ การไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใคร และไม่ต้องการให้ใครมายุ่ง อีกทั้งยังขี้อาย และไม่กล้าลองทำอะไรใหม่ๆ
 
ปัญญาทั้งห้าสี คือ พลังการเรียนรู้ที่มีชีวิต การบ่มเพาะพลังทั้งห้าในด้านของปัญญาจำเป็นจะต้องมีพื้นที่ว่างให้กับการเลื่อนไหล และเกิดดับตามธรรมดาสภาวะ เราจะต้องละเลิกความเคยชินของการควบคุมและกดทับ แล้วฝึกฝนเปิดใจให้อยู่ในภาวะของการผ่อนพักตระหนักรู้โดยสมบูรณ์ นั่นคือความหมายที่แท้ของการภาวนาในฐานะกระบวนการเรียนรู้และการสร้างความสัมพันธ์ บนรากฐานของการปล่อยวางและศิโรราบ
หากเมื่อใดที่ความว่างถูกแปรเปลี่ยนเป็นความบีบคั้น อันเป็นแรงต่อต้านต่อการเลื่อนไหลของเหตุปัจจัยภายนอก ความตื่นตระหนกก็จะนำไปสู่กลไกการควบคุม เพิ่มความเครียด และความแข็งเกร็งให้กับทุกกล้ามเนื้อและทุกรูขุมขนของร่างกาย ปฏิกิริยานี้ส่งต่อไปยังสมองให้เร่งคิดที่จะควบคุมสถานการณ์ให้ได้โดยด่วน การบีบคั้นเช่นนั้น ก่อให้เกิดการพลิกกลับของความสัมพันธ์ต่อประสบการณ์ที่เกิดขึ้น พื้นที่ว่างอันไร้ขีดจำกัดถูกมองเป็นภยันต์อันตราย ศักยภาพที่กว้างใหญ่ถูกมองกลับไปเป็นความโกลาหล และความกลัวก่อให้เกิดการสร้างขอบเขตของพื้นที่ว่างของจิตเพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ขอบเขตที่ว่าคือสิ่งที่เรียกว่าอัตตาตัวตนนั่นเอง ในขอบเขตที่จำกัดของอัตตา พลังตื่นรู้ทางปัญญาก็จะพลิกผันกลายเป็นพลังอัตตาที่บ้าคลั่ง ด้วยความหลงผิดไปว่าของการควบคุม จะนำมาซึ่งพื้นที่ว่าง “ของเรา”ที่ขยายกว้างและปลอดภัยมากขึ้น
 
บทส่งท้าย:
การภาวนาบนฐานการตื่นรู้ในกาย คือ หนทางแห่งการสร้างความสัมพันธ์กับอารมณ์และความรู้สึกอย่างถูกต้อง เมื่อเราได้ฝึกฝนอย่างจริงจัง ณ จุดหนึ่งเราอาจจะรู้สึกราวกับว่าแต่ละส่วนของร่างกายค่อยๆเปิดกว้างราวกับดอกไม้กำลังแง้มบานขานรับแสงอาทิตย์ยามเช้า เรารู้สึกถึงพลังชีวิตได้ถูกปลุกให้ตื่น กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่ละส่วนของร่างกายดูจะมีพลังแห่งการตื่นรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ของมันเอง ที่เราสามารถจะเข้าไปสร้างความสัมพันธ์ สื่อสารแลกเปลี่ยนเพื่อการเรียนรู้ข้อความที่ร่างกายส่วนนั้นต้องการจะสื่อสารกับเรา
การฝึกฝนทางจิตวิญญาณ นอกจากจะคือการบ่มเพาะพลังแห่งการตื่นรู้ในกาย และการผ่อนพักใจให้ดำรงอยู่ในพื้นที่ว่างแห่งการเรียนรู้ภายในแล้ว เรายังต้องเรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์กับพลังงานแห่งอารมณ์ที่ผุดบังเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา อารมณ์เป็นเฉดสีของพลังงานที่ไหลเลื่อน โผล่ปรากฎหมุนวนเป็นพลวัต เราทุกคนต่างก็มีศักยภาพที่จะเปิดรับ สัมผัสพลังงานเหล่านั้นกันได้อย่างเต็มที่ เพราะแท้จริงแล้วพลังงานเหล่านี้ ก็คือ กระแสธารที่ประกอบกันขึ้นเป็นประสบการณ์ที่เรามักหลงผิดคิดไปว่าเป็น “ตัวเรา”นั่นเอง
แต่ทั้งนี้การทำความรู้จักและสร้างความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับอารมณ์ ท้ายที่สุดแล้วก็จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ของการรู้จักตัวเองได้จริงๆ การภาวนากับอารมณ์เป็นการเรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์กับศักยภาพภายใน สาดแสงไฟแห่งการตื่นรู้ สู่การเรียนรู้ทุกแง่มุมของชีวิต จนสามารถค้นพบศักยภาพแท้จริงที่เต็มเปี่ยมในแบบของเราเอง สู่การเหาะเหินเดินเท้าดำดิน ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมดื่มกินไปกับเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั่วทุกหกภพภูมิ ด้วยพื้นฐานของจิตใจที่ง่ายงามตามเส้นทางแห่งการฝึกฝนตนเองในทุกๆย่างก้าว
4556  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: มันดาลา หรือ เบญจคุณ พลวัตแห่งความว่าง: ปัญจพุทธกุล หรือ พลังปัญญาห้าสี เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:45:31




ระดับความเข้าใจและประสบการณ์
 
เมื่อเราเริ่มรับรู้เท่าทันพลังเหล่านี้ เราจะเห็นรูปแบบพฤติกรรม อารมณ์ ความคิดความรู้สึกของเราที่ตอบสนองต่อพลังเหล่านี้อย่างน้อยหนึ่งอย่างในพลัง ๕ อย่างนี้ การเท่าทันทันนี้จะเป็นพื้นฐานในการฝึกปฏิบัติที่จะพัฒนาการดำรงอยู่ร่วมกับผู้อื่น กับปรากฏการณ์ของโลก และกับตัวเราเอง มันไม่ใช่ว่าเราต้องมานั่งกรองหาพลังเหล่านี้ทุกวี่ทุกวัน อย่างไรก็ตาม เราจะเจอว่าในบางสถานการณ์ หากเราสามารถเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของพลังเหล่านี้ได้ เราจะสามารถทำงานกับพลังเหล่านี้ได้อย่างสอดคล้อง
 
เราสามารถฝึกฝนตัวเองให้สามารถเป็นเครื่องตรวจวัดภาวะทางกายภาพและจิตใจได้อย่างละเอียดประณีต เราสามารถตรวจจับรับรู้ระดับพลังเหล่านี้ได้ในผู้คนในสถานการณ์ต่างๆได้ เมื่อเราเข้าใจถึงสภาวะแห่งพลังภายในตัวเอง เราก็จะสามารถเรียนรู้ที่จะชื่นชมยินดีกับธรรมชาติภายในทั้งของเราเองและผู้อื่น เราสามารถใช้พลังเหล่านี้พัฒนาการรู้เท่าทันตัวเอง การสื่อสารและการแสดงออกที่สร้างสรรค์ในสถานการณ์ต่างๆ การฝึกฝนในการทำงานกับพลังต่างๆนั้นมีหลายวิถีทาง การรับรู้เท่าทันพลังคือก้าวแรก
 
ในการฝึกปฏิบัติที่เข้มข้นลงไปนั้น เป็นการฝึกกับสิ่งแวดล้อมของสีต่างๆอย่างจำเพาะเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกในห้องที่ออกแบบมาให้มีสีใดสีหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือใช้แว่นตาที่มีสี จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดคุณภาพทางจิตตามแบบแผนของพลังใดพลังหนึ่งได้โดยตรงอย่างฉับพลัน แต่ละห้องจะมีลักษณะคล้ายกล่อง ทาสีตามพลังแบบใดแบบหนึ่ง เป็นห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัสความยาวด้านละ ๗ ฟุต ฝาผนังทาสีทั่ว และใช้หน้าต่างมีสีตามสีของห้อง และมีรูปเฉพาะไม่เหมือนกัน เพื่อให้ทำให้เกิดแสงสีนั้นๆ ห้องของพื้นที่ว่างจะเงียบสงบ มีแสงแบบอินไดเร็กจากด้านบนเหนือศีรษะ ห้องความกระจ่างชัดมีสีน้ำเงินเข้ม มีหน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางแนวนอน ห้องแห่งความมั่งคั่งมีสีเหลือง หน้าต่างเป็นรูปวงกลมใหญ่ ห้องแห่งอารมณ์มีสีแดง หน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง ห้องแห่งการกระทำเป็นสีเขียวสด มีหน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสติดด้านบนเพดาน ด้วยองค์ประกอบของพื้นที่ สีและการจัดวางท่าเหล่านี้ จะทำให้คุณลักษณะแห่งพลังชนิดต่างๆจะเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น เราอาจรู้สึกว่าห้องเหมือนคุกหรือไม่ก็เป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ การนำตัวเราเข้าไปอยู่ในห้องเหล่านี้พร้อมกับการกำหนดอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งจะเป็นกระบวนการทำงานเพื่อเรียนรู้และผ่านพ้นจุดติดขัดภายใน และเพื่อค้นพบปัญญาที่ดำรงอยู่ในตัวเรา
 
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า แต่ละคนจะมีความสามารถ ความถนัดเฉพาะด้านและความต้องการต่างกัน ฉะนั้นแต่ละคนก็มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง หลายคนสามารถค้นพบปัญญาทั้ง ๕ ที่นำไปประยุกต์ใช้งานได้ทันทีในวิถีชีวิตและในหน้าที่การงานของตนได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่หลายๆคนไม่สามารถซึมซับปัญญาทั้ง ๕ ได้ดีนัก เวลาที่ผมทำงานกับผู้คน ผมพบว่าระยะเวลาหรือความเข้มข้นในการปฏิบัติของแต่ละคนไม่ได้เป็นปัจจัยที่จำเป็นนัก แต่ขึ้นอยู่กับความชอบและความเหมาะสมของแต่ละคนมากกว่า
 
การประยุกต์ใช้
 
การประยุกต์ใช้ปัญญาทั้ง ๕ นั้นมีไม่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้ในชีวิตส่วนตัวหรือหน้าที่การงาน เพราะสามารถปรับประยุกต์ให้เข้ากับเงื่อนไขความจำเป็นและความสนใจของแต่ละสาขาวิชาชีพและการเติบโตภายในของปัจเจกบุคคล ในเมื่อแต่ละสาขาอาชีพมีวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมจำเพาะ ก็ย่อมต้องการชุดภาษาที่จำเพาะ รวมทั้งรูปแบบและกระบวนวิธีที่ต่างกันออกไป ในช่วงระยะเวลา ๒๕ ปีที่ผ่านมา ผมทำงานในเงื่อนไขต่างๆ และได้ออกแบบแนวปฏิบัติและวัตถุดิบให้สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของแต่ละกลุ่ม ที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ (เมืองโบลเดอร์ รัฐโคโลราโด อเมริกา) ผมสอนและทำงานกับแนวทางปัญญา ๕ ที่มีหลักสูตรเต็มรูปแบบ ที่เปิดสอนในภาควิชาจิตวิทยา การศึกษา ศิลปศึกษา และศาสนศึกษาที่สถาบันการพัฒนาโรงเรียนแห่งชาติ (ในประเทศเนเธอแลนด์) ผมทำงานกับผู้ฝึกอบรมให้กับครูที่ออกไปทำงานอบรมให้กับครูผู้สอนตามโรงเรียนต่างๆ พวกเขากำลังพัฒนาโรงเรียนต้นแบบในระดับประถมและมัธยมอยู่ พวกเรากำลังอยู่ในกระบวนการสนทนาเพื่อหาวิธีนำเอาคุณลักษณะเหล่านี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ของโรงเรียน โครงการฝึกอบรมก็มีความยาวตั้งแต่ ๔ ชั่วโมง ไปจนถึง ๓ ปี โดยจัดให้กับผู้สนใจกลุ่มต่างๆได้แก่ นักการศึกษา ผู้นำองค์กร บุคลากรด้านสุขภาพ ศิลปิน
 
การให้ความรู้เบื้องต้นให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่แตกต่างกันตามแต่เงื่อนไขความต้องการในแต่ละอาชีพ ยกตัวอย่างเช่น บุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพจิตจะลองปฏิบัติโดยใช้ระยะเวลายาวหน่อย เพื่อให้เข้าถึงสภาวะจิตหนึ่งที่ชัดเจนถึงขึ้นสุดขั้ว เพื่อจะสามารถเข้าใจสภาพจิตใจของผู้ป่วยของตน พวกเขาจะเน้นไปที่การสำรวจศึกษาอาณาบริเวณแห่งจิตภายใน และรับรู้ถึงประสบการณ์ของกระบวนการแปรเปลี่ยนของพลังเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง ผมยังรู้สึกอัศจรรย์ใจทุกครั้งที่บางคนที่ไม่เคยมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านนี้มาก่อนเลย สามารถบรรยายประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองในช่วงปฏิบัติได้อย่างละเอียดราวกับจะเขียนตำราได้เป็นเล่ม แม้ใช้เวลาปฏิบัติเพียงยี่สิบนาทีก็ตาม เมื่อผู้ปฏิบัติเข้าสู่ภาวะจิตภายในของตนอย่างลึกซึ้งฉับพลัน พวกเขาก็จะเข้าใจและมีความพร้อมที่จะรับรู้สภาวะจิตใจที่สุดขั้วของผู้ป่วยของตนเองได้ดีขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม พวกที่สนใจในกระบวนการสร้างสรรค์มากกว่า ก็จะไม่ค่อยสนใจที่จะสำรวจตรวจตรามิติทางจิตวิทยาที่ลึกลงไป แต่ต้องการที่จะเล่นและเรียนรู้กับพลังต่างๆ ผ่านการทำงานด้านศิลปะของตนเองมากกว่า การฝึกผัสสะด้านต่าง ผ่านการแสดงออกทางศิลป์ เช่น การใช้สี การเต้น การออกเสียง และดนตรี เป็นวิธีการเข้าถึงพลังต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในงานศิลปะนั้น พลังเหล่านี้ดำรงอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำงานเชิงสร้างสรรค์ ดังที่การแสดงออกด้วยอวจนะภาษานั้นเสียงดังกว่าถ้อยคำที่พูดออกมา ผู้ปฏิบัติหลายคนได้ประสบกับจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ คือการเปลี่ยนการรับและความเข้าใจเกี่ยวกับตนเองและโลกอย่างสำคัญ
 
ในขณะที่เป้าหมายหลักคือการนำเสนอชุดภาษาที่เรียบง่ายแก่การช่วยให้เกิดการรู้เท่าทันตนเอง การสื่อสารและการร่วมมือนั้นสามารถทำให้สั้นและกระชับได้ ผมได้พัฒนาแนวทางการฝึกปฏิบัติอย่างเป็นลำดับขั้นซึ่งช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและนำเอาหลักการของปัญญาทั้ง ๕ ไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น ผมจะอธิบายถึงปัญญาทั้ง ๕ อย่างคร่าวๆ และให้ผู้ฝึกน้อมจิตไปพิจารณาดูว่าพลังเหล่านี้เกิดขึ้นหรือดำรงอยู่ในชีวิตตนอย่างไร ที่ไหน เมื่อไหร่บ้าง แล้วให้พิจารณาต่อไปว่ามีพลังอะไรดำรงอยู่ในชีวิตตัวเองอย่างเด่นชัด แล้วแยกเป็นกลุ่มย่อยตามแบบของพลังต่างๆเพื่อซักถามแลกเปลี่ยนในหมู่เพื่อนว่า “ทำไมเธอถึงอยู่กลุ่มนี้?” พวกเขาสามารถเลือกเข้ากลุ่มอื่นเพื่อสำรวจดูว่าพลังแบบไหนช่วยส่งเสริมสงเคราะห์ชีวิตตน หรือพลังอะไรที่ทำให้รู้สึกไม่ใช่ หรือพลังอะไรในคนอื่นที่ดึงดูดหรือมีเสน่ห์กับเรา แล้วผู้ปฏิบัติก็จะสามารถเริ่มทำงานอย่างสัมพันธ์กับผู้อื่นจากการสังเกตการเลือกเข้ากลุ่มพลังของเพื่อนๆ
 
พลังเบญจคุณในระบบการศึกษา
 
วิถีทางแห่งการรับรู้ทั้ง ๕
ในบริบทของปรัชญาการศึกษาอย่างมีจิตวิญญาณ ปัญญาทั้ง ๕ หมายถึงคุณลักษณะ ๕ ประการที่มีในผู้ที่ได้รับการฝึกฝนหรือผู้ที่การศึกษา ดังที่ปีเตอร์ เฮิร์ส อธิการบดีฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ได้กล่าวไว้ว่า “หลักการของปัญญาทั้ง ๕ มาจากพุทธศาสนานิกายวัชรญาณ ซึ่งสะท้อนถึงคุณลักษณะ ๕ ประการของจิตที่ตื่นแล้ว และเป็นวิถีทางทั้ง ๕ วิธีในการปลุกจิตให้ตื่น...เราพยายามสร้างให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาในปัญญาทั้ง ๕ “(เฮิร์ส 1987) ในการเน้นพัฒนาคุณลักษณะทั้ง ๕ นี้ช่วยเอื้อให้เกิดสมดุลระหว่างการมีความเชี่ยวชาญตามสาขาวิชาเฉพาะด้านและเสริมสร้างภาวะความเติบโตภายใน จากมุมมองของปรัชญาการศึกษาเชิงจิตวิญญาณ คุณลักษณะทั้ง ๕ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของบุคคลที่ถือว่ามีความรู้แล้วอย่างสมบูรณ์ เราสามารถมองว่าทั้งห้าเป็นวิถีการเรียนรู้ห้าประการ
 
นอกจากนี้ พันธกิจทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยนาโรปะได้ระบุไว้ว่า “เราเชื่อว่าคุณลักษณ์เหล่านี้จะช่วยเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสามารถดำรงอยู่ในสังคมสมัยใหม่ได้ดีที่สุด ความยากลำบากในการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันนั้นเกิดจากเครื่องกีดขวางทางจิตวิทยาเสียเป็นส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็นความไม่สมดุลทางอารมณ์ ความสับสน ความไม่สามารถในการสื่อสารกับผู้อื่น การขาดความชัดเจนในความคิด และความเข้าในชีวิตที่คับแคบ หากเมื่อบุคคลเริ่มเข้าใจและสามารถจัดการกับเครื่องกีดขวางเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วแล้วละก็ หนทางแห่งความสำเร็จ สัมฤทธิ์ผล และความพึงพอใจทั้งในชีวิตและในหน้าที่การงานก็จะเริ่มเปิดออก”
 
เราให้การศึกษาแก่นักศึกษาในฐานะมนุษย์ โดยเราให้ความสนใจใคร่รู้ในการเดินทางชีวิตของนักศึกษาแต่ละคนอย่างแท้จริง เราให้ความสนใจกับชีวิตของนักศึกษาในฐานะมนุษย์มากพอกับระดับการเรียนของเขา การที่เรามีศรัทธาในความดีพื้นฐานภายในของมนุษย์เอื้อให้เกิดบรรยากาศของกัลยาณมิตร อันเป็นฐานในการพัฒนาความไว้วางใจในหมู่นักศึกษาเอง ดังนั้น จุดเน้นจึงอยู่ที่การให้ความสำคัญกับตัวกระบวนการเรียนรู้พอๆกับเนื้อหา นั่นหมายถึง การให้คุณค่าต่อ ความเป็นมนุษย์ มากพอๆกับ การกระทำ หรือการน้อมนำเอาปัญญาเข้าสู่การดำรงชีวิต มากพอๆกับ การสั่งสมเก็บเกี่ยวความรู้
 
คุณลักษณ์ทั้ง ๕ นี้สามารถพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของการศึกษาเรียนรู้ ได้แก่ สภาพแวดล้อมของสถานศึกษา รูปแบบการสื่อสารของครู การพัฒนาหลักสูตร การประเมินผล และการให้คำแนะนำทางการศึกษาให้กับนักศึกษา ทั้งนี้ เราถือว่าคุณลักษณ์แต่ละอย่างเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นต่อกระบวนการศึกษาเรียนรู้ และเป็นพื้นฐานสำคัญของการเติบโตเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อความเข้าใจและความริเริ่มสร้างสรรค์ตลอดชีวิต
 
จากจุดยืนของการศึกษาอย่างมีจิตวิญญาณนั้น เบญจคุณ เป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของผู้มีการศึกษา ปรับประยุกต์มาจากเอกสารอธิบายมหาวิทยาลัยนาโรปะ ในการทำความเข้าใจอย่างมีโยนิโสมนัสิการกับเบญจคุณเหล่านี้ เราจะค้นพบปัญญาทั้ง ๕ ในตัวเรา
 
1. พื้นที่เปิดกว้าง = ความเปิดกว้าง และความเคารพในประสบการณ์ตรงภายในตน
คุณลักษณะนี้ช่วยบ่มเพาะให้เกิดการรับรู้เท่าทันในปัจจุบันขณะ การดำรงอยู่กับที่นี่และเดี๋ยวนี้ การดำรงอยู่ที่ฉับพลันเป็นธรรมชาติ มันจะช่วยให้เรารับรู้ประสบการณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นความคลุมเครือ ความไม่แน่นอน ความปั่นป่วนสับสน ทั้งภายในตัวเราเองและในสิ่งแวดล้อมรอบตัว เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาให้เราสามารถรับรู้กับประสบการตรงเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน ถูกต้อง ไม่บิดเบือน และสร้างสัมพันธ์ที่เปิดกว้างกับประสบการณ์เหล่านี้ นี่เป็นการฝึกใส่ใจกับวันเวลาของการดำรงชีวิตตลอด ๒๔ ชั่วโมง แม้แต่ในความฝัน ในการดำรงชีวิตด้วยสติปัญญาและความมั่นใจนั้น เราจะต้องวางรากฐานของการรู้เท่าทันและความสนใจใคร่รู้ที่ว่านี้ให้ต่อเนื่องและเข้มแข็ง
 
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของการศึกษาแนวจิตวิญญาณคือการเน้นความสำคัญของคุณลักษณะประการแรกนี้ คือการเปิดออกและพื้นที่กว้าง เป็นคุณสมบัติที่สถาบันการศึกษาโดยมากอ้างว่าให้ความสำคัญ และเป็นฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาคุณลักษณ์อื่นๆตามมา เพื่อจะสัมผัสคุณลักษณ์นี้ได้โดยการปฏิบัติสมาธิภาวนาในรูปแบบต่างๆ
 
การฝึกสมาธิเป็นหัวใจสำคัญของการบ่มเพาะเบญจคุณ
 
การฝึกนั่งสมาธิเป็นการฝึกจิต จะช่วยให้เราเห็นว่าจิตของเราทำงานอย่างไร เรามองหรือมีทัศนะเกี่ยวกับผู้คน โลก รวมทั้งตัวเราเองอย่างไร โดยเริ่มจากการฝึกสติ เพื่อรับรู้ความเป็นไปในปัจจุบันขณะ เราสามารถพัฒนาจิตให้มั่นคงและสงบได้โดยการผ่อนพักจิตและทำจิตให้เชื่อง นี่จะช่วยให้เราสามารถสัมผัสได้ถึงความเปิดกว้าง และช่วยให้เรามีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น แล้วเราก็จะค้นพบว่าจริงๆแล้ว ความเปิดกว้างนี้มีอยู่ในตัวเราอย่างเป็นธรรมชาติ เราจะรู้สึกถึงความเหมาะเจาะลงตัว เข้มแข็งและพอใจลึกๆ เป็นการค้นพบสมบัติอันล้ำค่าที่สุดภายใน เราจะต้องบ่มเพาะให้เกิดความเข้มแข็งแห่งจิตนี้ขึ้น เพื่อว่าความคิดและอารมณ์ทั้งหลายจะได้ไม่สามารถทำให้เราหวั่นไหวสั่นคลอน
 
หลังจากนั้น ก็มุ่งไปที่การรับรู้เท่าทันเชิงกว้าง เป็นการขยายผลแห่งการฝึกสติออกไปรับรู้ความเป็นไปของสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเราอย่างคมชัดแม่นยำ ซึ่งจะช่วยให้การรับรู้โลกของเรามีความละเอียดประณีตยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนกับสายรับสัญญาณวิทยุที่สามารถรับคลื่นเสียงได้คมชัด เราจะมองเห็น ได้ยินเสียง และรู้สึกกับโลกได้ตรงตามเป็นจริงยิ่งขึ้น สามารถแยกแยะปรากฏการณ์ต่างๆได้ ประสบการณ์ที่เราประสบทั้งหลายจะค่อยๆหลอมความเป็นตัวเราอย่างช้าๆ เราสามารถมีอุเบกขาธรรมได้มากขึ้น ชีวิตและหน้าที่การงานของเราก็เป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น
 
การฝึกสมาธินั้นมีอยู่หลายวิธี วิธีที่เรียบง่ายขั้นพื้นฐานที่สุดคือการนั่งสมาธิ และความเรียบง่ายนี้เองเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุด เพียงแค่จัดวางร่างกายให้อยู่ในท่านั่ง และรับรู้การหายใจเข้าออก ปล่อยให้ความคิดทั้งหลายมลายหายไปกับลมหายใจ เพียงเท่านี้ ก็อาจทำให้รู้สึกว่าช่างน่าเบื่อและทำให้หงุดหงิดขึ้นมาอย่างแรงได้ และมักทนกันไม่ได้ทุกคน เป็นการเดินทางด้านในที่ค่อนข้างจะลำบาก ส่วนวิธีอื่นที่กระทำได้คือการเดินภาวนา หรือ การท่องมนต์คาถาบางบท หรือการเพ่งให้เห็นเป็นนิมิตบางอย่าง หลายๆคนฝึกศิลปะแห่งการเคลื่อนไหวตามแบบแผนโบราณ เช่น ไทชิ หรือ โยคะ เป็นต้น บางครั้ง กิจกรรมเหล่านี้อาจไม่ยากเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกว่ามีอะไรให้ทำ ซึ่งก็ทำให้จิตสงบได้
 
อานุภาพของการฝึกสมาธิคือ การช่วยฝึกกาย วาจา ใจของเราให้เป็นหนึ่ง ในความเคลื่อนไหว เรารับรู้และหลอมรวมความเป็นไปของร่างกาย เราใส่ใจกับการพูดโดยการรับรู้ลมหายใจ เพื่อเชื่อมความคิดและอารมณ์ความรู้สึก เพื่อให้การแสดงออกนั้นมาจากสติปัญญามากกว่าความสับสนภายในของเรา การฝึกสมาธิจะช่วยขัดเกลาและตระเตรียมความคิดอ่านให้แหลมคม เพื่อนำไปใช้ในการคิดค้นและเรียนรู้ในสาขาวิชาเฉพาะต่างๆของเรา นอกจากนี้การเชื่อมหลอมกาย วาจา ใจที่ว่านี้ จะช่วยให้เราดำรงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม
 
การทำสมาธิทำให้เราพิจารณาตัวเองให้เป็นวิชาในการศึกษา ให้เวลาในการอยู่กับตัวเอง เพื่อทำการศึกษาและเข้าใจตัวเองด้วยอาการที่เรียบง่าย และช่วยทำให้เราแปรเปลี่ยน เพราะคำพูดคำสอนทั้งหลายในโลกมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเราอย่างเป็นรากฐานเพียงน้อยนิด ด้วยการแปรเปลี่ยนภายในที่แท้จริงนั้นเกิดจากการปฏิบัติ และการดำรงอยู่ หากเราสร้างมุ่งมั่นในการทำงานฝึกฝนตัวเองอย่างจริงจังแล้ว เราก็จะค้นพบวิถีทางเฉพาะตนในการเติบโตไปควบคู่กับการพัฒนาทางวิชาการเฉพาะด้านต่างๆ เป็นการให้การศึกษาแก่ตนเองใหม่เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างพลังชีวิตและความรู้สึกมั่นใจด้วย
 
การเรียนสมาธิภาวนาตัวต่อตัวกับผู้สอนจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในการปฏิบัติยิ่งขึ้น แต่ที่ว่านักศึกษา ผู้ปฏิบัติงานหรืออาจารย์ผู้สอนจะกลายเป็นนักปฏิบัติภาวนาตัวยงหรือไม่นั้น ไม่สำคัญเท่าการสร้างบรรยากาศของกัลยาณมิตรที่มีความเอื้ออาทรอย่างแท้จริง ในฐานะที่เป็นผู้สอนการทำสมาธิภาวนา ผมเคยเจอนักศึกษาหลายคนที่สนใจในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแนวลึก แต่ไม่เคยสนใจที่จะปฏิบัติสมาธิ ซึ่งถือว่าไม่เป็นไร เพราะผมก็จะหาหนทางอื่นๆในการช่วยให้นักศึกษาเหล่านี้ได้ทำงานด้านในกับร่างกายและจิตใจของตนเอง
 
จะขออ้างคำกล่าวของ ริชาร์ด บราวน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาการศึกษาด้านลึก แผนกปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ เขากล่าวว่า “การฝึกสมาธิมีผลต่อการเรียนรู้และความรู้ที่เราได้รับอย่างลึกซึ้ง การเรียนรู้ผ่านการภาวนานี้มีลักษณะเป็นองค์รวม และช่วยให้เรารับรู้ประสบการณ์ตรงได้อย่างรอบด้านหลายมิติ เข้าไปรับรู้อย่างข้ามเขตแดนขององค์ความรู้แขนงต่างๆอย่างเชื่อมโยง และเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างตัวเราในฐานะผู้เรียนและความรู้ที่เราเรียนอย่างเป็นองค์รวม คุณลักษณะเชิงจิตวิญญาณที่ข้ามพ้นขอบเขตจำกัดดังกล่าวแฝงอยู่ภายใต้พรมแดนแห่งความรู้ทั้งในมิติที่ลึกซึ้งและมิติที่กว้างใหญ่ไพศาล เนื่องจากธรรมชาติของความเชื่อมโยงขึ้นต่อกันระหว่างตัวผู้รับรู้กับสิ่งที่ถูกรับรู้ (ผู้รู้กับความรู้) หากผู้เรียนสามารถค้นพบความรู้อันศักดิ์สิทธิ์นี้โดยตรง ก็จะช่วยให้ผู้เรียนดำรงอยู่กับโลกนี้ได้อย่างมีศิลปะ มีเมตตาและดูแลโลกได้อย่างเต็มเปี่ยมยิ่งขึ้น” (บราวน์ 1996)
4557  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: มันดาลา หรือ เบญจคุณ พลวัตแห่งความว่าง: ปัญจพุทธกุล หรือ พลังปัญญาห้าสี เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:45:06
เทียบเคียงกับ Voice Dialogue
 
กระบวนการในวอยซ์ไดอะล็อค หนึ่ง น่าจะให้ความสำคัญกับตัวตนเล็ก ๆ ตัวตนย่อยทั้งหมดที่มี ว่าจะเก็บไพ่ที่ทิ้งไปให้ได้ครบสำรับอย่างไร เอาไพ่มาถือไว้ในมือ พร้อมจะใช้ได้ทุกใบ
 
วิถีแบบมันดาลา ก็คงไม่ได้ปฏิเสธ Totality หรือ ความเป็นทั้งหมด
 
และทั้งสองต่างก็ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของไพ่ใบต่าง ๆ มันดาลาอาจมีไพ่เพียงห้าใบ มั๊ง แต่ว่า แต่ละใบก็ยังแตกออกไปได้ในทางลบ และทางบวกอีกด้วย วอยซ์ไดอะล็อคมีไพ่ได้ไม่จำกัด เพราะไม่ได้ตั้งเอาไว้อย่างตายตัว ยังสำรวจตรวจตรา สืบค้นออกไปได้อีกเรื่อย ๆ กระมัง ที่สำคัญวอยซ์ไดอะล็อคให้ความสำคัญว่า ไพ่แต่ละใบจะมีไพ่ที่เป็นคู่ตรงกันข้าม เป็นหยินกับหยาง เป็นคู่ปรับสมดุลกัน เช่น pusher จะตรงกันข้ามกับ Being หรือแปลไทยก็ว่า คนที่ผลักดันตัวเอง และคนอื่น ๆ จะพยายามทำอะไรให้ได้มาก ๆ ซึ่งจะอยู่ตรงข้ามกับคนที่ ไม่ขวนขวาย หากพอใจกับตัวเองแล้ว ก็จะมีคู่แบบนี้ไปในทุก ๆ ตัวตนย่อย ๆ หรืออวัยวะแห่งจิตต่าง ๆ นี้ ไม่รู้ว่าจะใช้คำว่า เจตสิกได้ไหม? เอ่ย?
 
Pusher ในมันดาลา อาจเป็น กรรมจริต โดยที่คนที่นิ่งและพอใจ อาจเป็นพุทธจริต นิ่งพอใจ เปิดพื้นทีให้คนอื่น ในมันดาลา มันเป็นเรื่องสมดุลกระมัง คือกรรมะนั้นต้องการเข้าไปกระทำกับโลก และอยากให้โลกเป็นไปตามความคิดของเรา พุทธะ รู้และพอใจ จะกระทำบ้าง ตามจังหวะที่มันควรจะเป็น ด้วยความรู้ที่ตัวมีอยู่ และพื้นฐานก็ไม่ได้ต้องการผลักดันอะไรมากนัก
 
คือในมันดาลา ไดริน่า รอคเวล (Irina Rockwell) เขียนไว้ว่า สมดุลมันจะได้มาจาก การทำสมดุลของจริตต่าง ๆ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พลัง” ต่าง ๆ ในห้าพลังนั้น อาจมีตัวหลักตัวรอง เพราะฉะนั้น การเสริมกัน จึงเป็นไปได้
4558  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / Re: มันดาลา หรือ เบญจคุณ พลวัตแห่งความว่าง: ปัญจพุทธกุล หรือ พลังปัญญาห้าสี เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:44:37


 

มันดาลา บวกและลบ
 
ตรงนี้ก็เป็นหยินและหยางหรือไม่ เมื่อรัตนาเป็นลบ มันคือความต้องการ ความปรารถนาจะมีจะได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ภพภูมิของมันเมื่อเป็นลบคือเปรต ปากเล็กท้องโต คือจะต้องการ จะปรารถนาอยู่ตลอดเวลา แต่ในความเป็นบวกของมันก็คือ ความรู้สึกมั่งคั่งพรั่งพร้อม แม้ในสิ่งที่มีอยู่ธรรมดา เช่น เพียงได้ดื่มน้ำเปล่า หรือแม้แต่การได้สูดลมหายใจอันบริสุทธิ์สดชื่น ๆ ธรรมดา ๆ นี่เอง พลังบริสุทธิ์ของมันคืออุเบกขา
 
ส่วนวิชระ หรือวัชรานั้นตีความเป็นคำ ๆ เดียวว่า “ความคิด” รวมความทั้งคิดแบบหมีและอินทรีเอาไว้ ความเป็นบวกของมันก็คือปัญญาแห่งการเป็นกระจกใส สะท้อนความเป็นจริง ความเป็นลบของมันก็คือความแข็งตัวของกรอบคิด ความไม่ยืดหยุ่น ก็คือติดลบของหมี อนุรักษ์นิยม และไม่ยืดหยุ่น ร่างกายของคนที่มีกรอบคิดตายตัวพวกนี้ ไหล่หลังก็จะแข็งทื่อไปด้วย พลังบริสุทธิ์ของมันคือปัญญา
 
ปัทมะ ปัทมาคืออารมณ์ความรู้สึก คือความสัมพันธ์ คือความอ่อนหวานที่ทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่น ความเป็นลบของมันคือความเจ้าอารมณ์ และความไม่คงเส้นคงวา ความปรารถนาในความตื่นเต้นและความเข้มข้นทางอารมณ์อย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน แม้ว่า อารมณ์นั้นจะเป็นความเจ็บปวด ก็ยังดีกว่า ไม่มีอารมณ์อันใดเลย เวลาอยู่ในโหมดปกป้อง ปัทมะจะพยายามเอาใจผู้คน ปัทมะต้องการความรัก อย่างไม่มีจบสิ้นเมื่อมันอยู่ในแดนลบ แต่จะให้ความรักได้อย่างใจกว้าง เมื่อมันอยู่แดนบวก พลังบริสุทธิ์ของมันคือกรุณานั่นเอง
 
แล้วกรรมะเล่าเป็นเช่นไร ด้านบวกของมันก็คือทุกสิ่งเป็นไปได้ ทำให้เกิดขึ้นได้ ทำงานกับมันได้ ไม่ทึบตัน แบบเจาะเข้าไปทำอะไรไม่ได้เลย เวลาเข้าแดนลบ มันไปในทางต้องการจะควบคุม เวลาอยู่ในโหมดปกป้อง ความต้องการควบคุมนี้จะเด่นดวงขึ้นมา เวลาเป็นบวก มันคือการจัดทำจัดสรร ที่ก่อให้เกิดสิ่งที่ต้องการได้ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ โลกเต็มไปด้วย ความสร้างสรรค์ของพลังแห่งกรรมะ หรือพลังแห่งการก่อเกิด ในด้านลบอีกด้าน ก็คือ มันจะทำโน่นทำนี่ไม่รู้จักหยุดหย่อน ปราศจากสมดุลความพอดี มันจะไปอยู่ในคลื่นสมองแบบเบต้าแก่ ๆ ซึ่งทำให้เป็นเทปม้วนเก่า อันปราศจากปัญญา ที่จะพิจารณาใคร่ครวญ จะขาดวัชระ และเมื่อมัน แก่ ๆ เช่นนี้ การรับฟังความอื่นก็น้อยลง หรือไม่มี ก็เป็นการขาดพุทธะ หรือ การให้พื้นที่แก่คนอื่น ๆ
 
สุดท้ายคือพุทธะจริต พื้นฐานและพลังบริสุทธิ์ของมันคือพื้นที่ หรือความว่าง คือเป็นพื้นที่ให้อะไรต่ออะไรเกิดขึ้นได้ เมื่อเป็นบวกคือการเปิดพื้นที่ให้ผู้อื่น เมื่อเป็นลบ คือความรู้สึกหดแคบลงของพื้นที่ แบบว่า “ไม่เอา ฉันไม่แคร์” คือฉันไม่แคร์และไม่เอาอะไรกับใครทั้งนั้น พื้นที่ หรือ ความว่าง อันนี้คือ ธรรมธาตุ คือตัวความรู้นั้นเอง ตรงกันข้ามของมันคือ “ไม่รู้” สับสน เวลาใครถามอะไร ด้านลบของพุทธะก็จะตอบว่า ไม่รู้ หรือไม่ก็สับสน เมื่อกลับมาสู่ความเป็นปกติ ก็จะเห็นความเป็นไปได้ของทุก ๆ สิ่ง เปิดพื้นที่ให้ และรอคอยได้อย่างเป็นอนันตกาล
 
นี้แลคือลบและบวกของพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ทั้งหลาย
4559  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / มันดาลา หรือ เบญจคุณ พลวัตแห่งความว่าง: ปัญจพุทธกุล หรือ พลังปัญญาห้าสี เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:44:07





เบญจคุณ แนวทางการเรียนรู้ภายในอย่างเป็นองค์รวม
 
ไอรีนี่ รอคเวล
 
เวลานี้ เป็นเวลาที่ผู้คนแสดงหาชีวิตที่เต็มเปี่ยม มีความหมาย ทั้งในตัวเองและในความสัมพันธ์กับผู้อื่น มหาวิทยาลัยจึงน่าจะเป็นแหล่งวิทยาการที่จะช่วยให้เกิดการค้นพบและหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวของชีวิตทั้งหลายนี้ (สก็อต ๒๐๐๐)
 
การเรียนรู้ของเราเป็นการเดินทางตลอดชีวิต จากทารกสู่ที่สิ้นของชีวิตนั้นเต็มไปด้วยความท้าทายและโอกาสแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นความสำคัญพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ หากสังคมได้แต่สร้างสถาบันการศึกษาชั้นสูงเพื่อส่งเสริมชีวิตที่เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่านและความเครียด ทั้งๆที่สิ่งที่เราปรารถนาคือชีวิตที่ดี มีความสุข สมดุล ที่เรารู้สึกเพียงพอมิใช่หรือ? เราต้องยอมสูญเสียอะไรบ้างในการแลกมาเพื่อความสำเร็จที่สูงยิ่งขึ้นในชีวิตอย่างไม่ลืมหูลืมตา? ทำไมเราจึงติดอยู่ในแบบแผนพฤติกรรมและระบบที่มีแต่จะเพิ่มความสับสนปั่นป่วนให้กับชีวิตเล่า? ทำอย่างไร เราจึงจะสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้ในการค้นพบและนำเอาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเราออกมา?
 
สถาบันการศึกษาสามารถปรับเปลี่ยนพัฒนาโดยเริ่มจากส่วนที่เป็นโครงสร้างและระบบ งานของผมเน้นพัฒนาในส่วนของตัวมนุษย์ที่สร้างระบบและโครงสร้างที่ว่านี้ โดยเริ่มจากการสำรวจเรียนรู้ความเป็นตัวเราในปัจจุบันขณะ แนวทางที่ผมทำงานในการหลอมรวมปัจเจกเข้ากับองค์รวมเป็นการนำหลักการของเบญจคุณทั้ง ๕ มาใช้ ได้แก่ ความเปิดกว้าง ความกระจ่างชัด ความมั่งคั่ง พลังอารมณ์ และ การลงไม้ลงมือ ซึ่งองค์ประกอบในการเป็นมนุษย์ที่เต็มเหล่านี้เป็นแนวทางสำหรับระบบการศึกษาแนวจิตวิญญาณอันหนึ่ง ทั้งนี้การศึกษาอย่างมีจิตวิญญาณ ที่ความเข้าใจภายในรวมกับความรู้ทางโลกสมัยปัจจุบันในแขนงต่างๆนั้น ได้รับแรงบันดานใจจากหลักการปฏิบัติธรรมแนวพุทธ แนวทางการแสวงปัญญาต่างๆ รวมทั้งโลกทัศน์ที่ว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ เช่น แนวทั้งของชนเผ่าพื้นเมือง—ผู้แปล]
 
พลังแห่งเบญจคุณทั้ง ๕
 
หลักการแห่งเบญจคุณทั้ง ๕ เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับพลังรูปแบบต่างๆในตัวเรา ที่มีอยู่ในบุคลิกภาพ อาณาบริเวณแห่งอารมณ์ของเรา และการที่เราปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างและกับโลก เราต่างมีวิธีในการแสดงพลังเหล่านี้ออกมาอย่างเป็นตัวของตัวเอง ผ่านแสดงออกทางอากัปกิริยา การแสดงออกทางใบหน้า แบบแผนพฤติกรรม หรือแม้แต่การเลือกใช้คำพูดในโทนเสียงและจังหวะการพูด เราแสดงพลังเหล่านี้มาในทัศนคติ อารมณ์ การตัดสินใจและการกระทำต่างๆ ซึ่งบ่งบอกถึงแบบแผนการรับรู้และการมีปฏิสัมพันธ์กับโลก พลังเหล่านี้ยังครอบคลุมอยู่ในโลกแห่งปรากฏการณ์ และยังแฝงตัวอยู่ในระบบและโครงสร้างทางสังคมที่เราสร้างขึ้นมา
 
แม้ว่า ในแต่ละกลุ่มพลังก็จะมีแฝงไว้ซึ่งปัญญา แต่ก็มีความวิปลาสดำรงอยู่ด้วย การเรียนรู้ในเรื่องนี้จึงเป็นการรับรู้ชื่นชมความเข้มแข็ง และทำงานกับด้านที่อ่อนแอของเราเองด้วย นั่นคือการรับรู้พลังติดขัดเป็นลบในตัวเราอย่างเมตตาและเป็นมิตรอย่างไร้เงื่อนไขใดๆ เพื่อแปรเปลี่ยนพลังลบที่กักขังเรา ให้การเป็นการคลี่คลายขยายออกในตัวเรา การที่เราสามารถเป็นมิตรกับตัวเองได้ คือรู้สึกถึงความอบอุ่น ความรู้สึกผ่อนคลาย และเปิดออก จะเป็นการโอบประคองสิ่งที่มีคุณค่าหรือคุณลักษณะที่ดีที่สุดที่ดำรงอยู่ในตัวเรา เราไม่จำเป็นต้องพยายามตัดคุณลักษณ์ที่เราคิดว่าเลวร้ายในตัวเราทิ้งไป หากโอบประคองสิ่งเหล่านี้ไว้ เพื่อค้นพบว่ามันส่วนที่ดีที่สุดของเรา ภูมิปัญญาของเราคือการโอบประคองไว้ทั้งความสับสนและความดีงามในตัวเราเอง
 
โดยพื้นฐานแล้ว ไม่ว่าเราจะรับรู้ได้หรือไม่ก็ตาม พลังเหล่านี้แผ่ซ่านปกคลุมอยู่ในชีวิตของเรา มันคือความมีชีวิตชีวาแห่งการดำรงอยู่ โดยเป็นคุณลักษณะ เนื้อหนัง สภาพแวดล้อม บรรยากาศ และซุ่มเสียง ของทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต สิ่งที่มองเห็นและที่มองไม่เห็น มันเป็นพลังชีวิตของการดำรงอยู่ การทำความเข้าใจ รู้จักคุ้นเคยกับพลังเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถหลอมรวมและเจริญงอกงามที่ไปพ้นอัตตาอันคับแคบ และเปิดประตูชีวิตไปสู่ระดับการดำรงอยู่ที่ลึกซึ้งลงไปอีก เราสามารถสัมผัสพลังที่แฝงในตัวเราได้ในความคิดและอารมณ์ของเราเอง และเรียนรู้สัมผัสพลังรอบๆตัวเราผ่านการรับรู้ทางผัสสะ (การเห็น การได้ยินเสียง ได้กลิ่น รับรู้รส และสัมผัสทางกาย)
 
พลังที่มีอยู่ทั้งภายในและภายนอกตัวเรานี้ เป็นสิ่งที่สามารถรับรู้และเข้าถึงได้ทุกเวลา การที่จะทำงานกับพลังเหล่านี้ เราต้องพัฒนาการตื่นรู้เท่าทัน และความใส่ใจต่อปัจจุบันขณะโดยการสังเกตเรียนรู้ปัจจุบันขณะอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นพื้นพรมแดนแห่งอารมณ์ภายในตัวเรา หรือการรับรู้ผู้อื่น เราสามารถฝึกตัวเองได้ การฝึกสติและการรับรู้ที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญนั้นทำได้โดยการนั่งภาวนาซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยให้จิตตั้งมั่น ทำให้ใจมีความกระจ่างชัดและเข้มแข็ง ทั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถทำงานด้านในและปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกได้ดีขึ้น แต่ถ้าเราไม่สามารถรับรู้พลังเหล่านี้ได้ มันก็อาจมาควบคุมกำหนดชีวิตเราได้ แต่ถ้าเราเท่าทันมัน เราก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น


พลังทั้งห้าได้แก่
 
ความเป็นพื้นที่ว่าง
ภาวะปกติ: ความสงบ สุขุมรอบคอบ คบหาง่าย เปิดรับ เรียบง่าย เป็นมิตร พอใจในการดำรงอยู่อย่างธรรมดา
ภาวะสับสน: ซบเซา ขี้เกียจ ความหนืดไม่เคลื่อนไหวหรือกระตือรือร้น ขาดอารมณ์ขัน ดื้อรั้น รับรู้ความรู้สึกช้า ชอบปฏิเสธ
ทั่วไป: พลังนี้เกี่ยวข้องกับพื้นที่กว้าง ผัสสะรับรู้ต่างๆ สีขาว
 
ความกระจ่างชัด
ภาวะปกติ: จิตใจผ่องใส ความคิดอ่านฉับไว คมชัดแม่นยำ ปราศจากอคติ เต็มไปด้วยคุณธรรม
ภาวะสับสน: คิดวิเคราะห์มากเกินเหตุ ช่างติ ถือว่าตัวถูกและถือความเห็นของตนเป็นใหญ่ ใช้อำนาจ เรียกร้องให้สมบูรณ์ มีโทสะ
ทั่วไป: ธาตุน้ำ การมองเห็น สีน้ำเงิน
 
ความมั่งคั่ง
ภาวะปกติ: มีความพอพึงใจอย่างลุ่มลึก รู้สึกรุ่มรวย ขยายตัว เต็มไปด้วยศักยภาพ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจกว้าง มีท่าทีที่ชื่นชม
ภาวะสับสน: ถือตัวเองว่าสำคัญ เย่อหยิ่ง โอ้อวดเอาหน้า กดขี่ โลภ ตามใจตัวเอง มีความต้องการทางอารมณ์สูง ปรารถนาที่จะครอบครอง
ทั่วไป: เกี่ยวข้องกับธาตุดิน สัมผัสของกลิ่นและรส สีเหลือง
 
อารมณ์
ภาวะปกติ: หมายหมั้นสัมพันธ์ แผ่กระจายความอบอุ่น ดึงดูด มีเสน่ห์ รับฟังอย่างลึกซึ้ง พูดออกมาจากใจ มีความสามารถในญาณทัศนะ สังเกตหรือมองเห็นสิ่งที่เล็กน้อยได้ sensual
ภาวะสับสน: รู้สึกไม่มั่นคง แสวงหาการได้รับการยืนยัน เจ้าราคะ ยึดติดในการฉวยยึด แสวงหาความพึงพอใจ จัดการครอบงำควบคุมผู้อื่น เจ้าอารมณ์จนเกินเลย
ทั่วไป: เกี่ยวข้องกับธาตุไฟ ผัสสะด้านการฟัง สีแดง
 
กระทำการ
ภาวะปกติ: มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นนักปฏิบัติ เต็มได้ด้วยพลังบวก มั่นใจในความสามารถ กระทำการได้เหมาะสมกับเวลา หลอมรวมเชื่อมประสานกับโลกได้ดี
ภาวะสับสน: ไม่สงบ รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ทำอะไรเร็ว ควบคุม ครอบครอง หิวกระหายในอำนาจ ต้องการแข็งขัน กลัวความล้มเหลว วิตกกังวล อิจฉาริษยา
ทั่วไป: เกี่ยวข้องกับธาตุอากาศ ผัสสะของความรู้สึกทางกาย สีเขียว
4560  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / กระบวนการ NEW AGE / เฝ้ามองชีวิตเริงระบำ : เล่าเรื่องนาโรปะที่วงจิตวิวัฒน์ (ปี๔๗) เมื่อ: 13 มิถุนายน 2553 14:39:29

 
 
 
เมื่อผมเข้าเรียนที่นาโรปะเมื่อ ๘ ปีก่อน ตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจ เพราะว่าคุณพ่ออยากให้เรียน MBA แต่ผมต่อรองว่า ขอเป็น MA เฉยๆได้ใหม คุณพ่อก็เลยถามว่าแล้วจะไปเรียนที่ไหน ผมก็บอกว่า มหาวิทยาลัยนาโรปะ คุณพ่อก็ถามว่า ติดอันดับอะไรบ้าง (หัวเราะ) เพราะว่าไม่มีใครรู้จัก แต่ผมปรึกษาหลายๆ คนแล้ว อ.สุลักษณ์ ก็แนะนำที่นี่ ความจริง ชูมากเกอร์ คอลเลจ (Schumacher College) ก็น่าสนใจ แต่เนื่องจากไม่มีหลักสูตรประจำ มีแต่ course สั้นๆ ก็เลยไปเรียนที่นาโรปะ ตอนแรกตั้งใจไปเรียนเรื่อง Engaged Buddhism แต่คิดไปคิดมา ก็มาดูหลักสูตรผู้นำสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจ เพราะเขาใช้คำว่า The Union of Science, Spirit and Action เป็น theme ของหลักสูตรการศึกษา คือเพื่อให้เข้าใจวิธีคิด กรอบความคิดทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ศาสตร์ทั้งหมดที่เป็นมา เข้าใจมิติของความศักดิ์สิทธิ์ แล้วต้องนำไปสู่การรับใช้ผู้อื่น และการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ความศักดิ์สิทธิ์ถ้าหากไม่ได้ดำรงอยู่ในวิถีชีวิตแล้ว ก็เป็นเพียงแค่ความศักดิ์สิทธิ์ที่เราคิดเอาเอง
แนวคิอีกประการหนึ่งของหลักสูตรนี้ คือนิเวศวิทยาแนวลึก, System Theory, Chaos Theory และนำ principle ทางด้านมานุษยวิทยามาสอนด้วย เช่น Cultural Ecology ผมจึงเลือกเรียนสาขานี้เพราะเห็นว่าท้าทายดี
 
Course แรกก็เป็นอย่างที่เขียนไว้ในเอกสารประกอบ คือต้องออกไปอยู่ทะเลทราย ต้องพาตัวเองเข้าไป เป็นทั้งความรู้ เป็นทั้งตัวทดสอบความรู้ และเข้าไปหาความรู้ เพราะนาโรปะถือว่าความรู้เกิดขึ้นมาจากกระบวนการสัมพันธ์กับธรรมชาติ
 
นาโรปะเป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนเล็กๆ คล้ายๆ กับกลุ่มจิตวิวัฒน์ แล้วคิดว่าจะมีกระบวนการเรียนรู้และการศึกษาอย่างไร ที่ทำให้ผู้เรียนสามารถค้นพบความสุขในการเรียน แล้วเปลี่ยนแปลงตัวเอง เท่าทันตัวเอง ผู้ก่อตั้งคือ เชอเกียม ตรุงปะ (Chögyam Trungpa, Rinpoche) กับลูกศิษย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นศิลปินบ้าง เป็นนักวิทยาศาสตร์บ้าง อลัน กินสเบิร์ก กวีเอกร่วมสมัยของอเมริกา ก็เป็นลูกศิษย์คนหนึ่ง ที่มาช่วยก่อตั้งมหาวิทยาลัยด้วย มีการสอนเปิดสอนในหลายคณะ เช่น จิตวิทยาการศึกษา ดนตรี ศิลปะบำบัด โดยส่วนใหญ่ผู้เรียนจะเป็นชาวอเมริกัน แต่ก็มีจากอังกฤษบ้าง หลายๆ คนที่มาเรียนก็เพื่อเยียวยาตัวเอง เข้าใจตัวเอง และไปรับใช้คนอื่น มีนักศึกษาประมาณ ๑ พันคน (นพ.ประเวศ: เดี๋ยวนี้ มี ๑,๕๐๐ คน)
 
ตอนแรกมหาวิทยาลัยก็ไม่มีเงิน เพราะรัฐไม่อุดหนุน ค่าเล่าเรียนจึงสูง เนื้อหาวิชาส่วนใหญ่ จะมี ๓ เรื่องหลักๆ คือ หนึ่ง เรื่องการเข้าใจตนเอง มีวิชาภาวนา ที่ใช้คำว่า contemplative ไม่ได้ใช้คำว่า meditation เพราะคนที่นับถือศาสนาอื่น ก็มาเรียนได้ มีการแสวงหารูปแบบที่จะพัฒนาการทำงานด้านใน การได้ยินเสียงของตัวเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงของเรา อาจจะเป็นเสียงของคนอื่น หรือเป็นเสียงของพระเจ้าก็ได้
 
สอง เรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับโลก มีการเรียนพัฒนาการของระบบชีวิต ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ อาจารย์ก็จะให้อ่านทฤษฎีวิวัฒนาการแล้ววิพากษ์ทฤษฎีเหล่านี้ เรียนจนถึงการเกิดขึ้นของทุนนิยม และทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ใน scale ที่ใหญ่และซับซ้อนมากขึ้น เรียนทฤษฎีระบบ โดยใช้หนังสือของ โจแอนนา เมซี (Joanna Macy) ซึ่งถือว่าเป็น scholar ที่โยงกับพุทธศาสนาในเรื่องอิทัปปัจจยตา โยงเข้ากับ General System Theory เธอใช้ภาษาบาลีในการเขียนหนังสือมาก คนที่ไม่ใช่พุทธอย่างเพื่อนผม อ่านแล้วก็หงุดหงิด เพราะไม่รู้ภาษาบาลีสันสกฤต
 
สาม เรื่องการพัฒนา leadership ความเป็นผู้นำ หมายถึง การทำงานเป็นกลุ่ม การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การพัฒนาการฟัง การประสานความขัดแย้ง คือทักษะทุกอย่างที่เกี่ยวกับการสร้างองค์การ หลักสูตรที่ผมเรียน แบ่งเป็น ๓ area แต่ภาควิชาอื่นๆ เช่น ดนตรี ศิลปะ หรือ psychology ซึ่งนาโรปะมีหลากหลายมาก ทั้งการใช้กาย จิต มีสาขาใหม่คือ ecopsychology คือการใช้ธรรมชาติเป็นตัวบำบัด ที่ทำให้เราเยียวยา และปรับจิตใจให้สูงขึ้น จุดที่ผมคิดว่าเป็นข้อเด่นของนาโรปะ คือการรักษาขนาดให้เล็ก เพราะมีผลต่อการสร้างบรรยากาศความเสมอภาคในการเรียน ที่เข้าใจกันว่าฝรั่งมีความเท่าทียมกันในชั้นเรียน ก็ถูกในระดับหนึ่ง คือลูกศิษย์สามารถแย้งอาจารย์ได้ แต่ผมก็คิดว่า power relationship หรือประเด็นเรื่องอำนาจ ยังเป็นปัญหาอยู่ในบรรยากาศของการเรียน ที่นาโรปะพยายามทำคือ ลูกศิษย์กับอาจารย์สามารถเรียนไปด้วยกันได้ อาจารย์ก็สามารถไม่รู้ได้ ยอมรับตรงๆ ว่าไม่รู้แล้วค้นหาร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ก่อตั้งเน้นมาโดยตลอด หลักเรื่องการดำรงอยู่กับความไม่รู้ การไว้วางใจชีวิต การอยู่กับความเปราะบาง vulnerable เป็นจุดที่ผมรู้สึกว่า ในฐานะที่เติบโตมาทางพุทธเถรวาท ไม่ค่อยได้สัมผัส โดยเฉพาะเรื่องการเปราะบาง ในหนังสือซึ่งมีแปลเป็นภาษาไทย เรื่อง Shambhala เชอเกียม บอกว่า หัวใจของนักรบ ต้องเป็นหัวใจที่เปราะบางและแตกได้ตลอดเวลา ไม่ต้องเป็นหัวใจที่มั่นคง เชื่อมั่น แล้วก็รู้ ซึ่งผมคิดว่าเป็น principle หรือหลักการบางอย่างของนาโรปะ ที่มีผลทำให้ให้เปิดกว้างต่อความคิดสร้างสรรค์ และ innovation ความรู้ถูกสร้างขึ้นมาร่วมกันระหว่างครูกับศิษย์ คืออาจารย์จะมีความรู้และมีประสบการณ์มาก แต่เวลาร่วมอยู่ในกระบวนการสอน ในการเรียนรู้ร่วมกัน ก็มักจะมีอะไรที่ใหม่และสดเกิดขึ้นเสมอๆ
 
พื้นฐานของความไว้วางใจ จะใช้คำว่า basic goodness คือความดีความงาม ศักดิ์ศรี ความสง่างามของชีวิต ความสง่างามของความเป็นมนุษย์ มีอยู่แล้ว ไม่สามารถทำลายได้ ซึ่งตรงกับวิธีคิดของชนเผ่าดั้งเดิมของอเมริกา ที่เรียกว่าอินเดียนแดง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นาโรปะพยายามนำมาสอดประสานระหว่างความคิดทางพุทธ อินเดียนแดง และวิทยาศาสตร์ อาจารย์คนหนึ่งบอกว่า ไม่ว่าจะนอนดึกขนาดไหน ก็จะตื่นขึ้นมาแต่เช้า เพราะช่วยให้ตนเองมีพลังและช่วยให้สามารถเดินอยู่บนขอบได้ตลอดเวลา และบอกว่าชีวิตของการเรียนรู้ ต้องเดินอยู่บนขอบ ต้องพบความเสี่ยง พบกับอะไรที่มาปะทะมาชนได้ตลอดเวลา
ในแง่ของกระบวนการเรียนรู้ที่ผมอยากจะพูดถึง คือการนำพิธีกรรมมาใช้กระบวนการศึกษา หน้าที่ของพิธีกรรรมจะมีหลายประการ เชื่อมโยงกับที่ใช้กันในสังคมดั้งเดิม ชุมชนดั้งเดิมอยู่แล้ว เชื่อมโยงกับจิตที่แตกออก กับธรรมชาติ ทุกๆ class จะมีธรรมเนียมว่า ผู้เรียนจะนั่งเป็นวงกลมอย่างนี้ พอจบ class ก็จะมีพิธีกรรมเล็กๆ
 
สำหรับการภาวนา หมายถึงการนั่งตามลมหายใจ จะมีครูสอนภาวนาเป็นผู้ให้คำปรึกษา เมื่อนักเรียนที่ไม่คุ้นเคยหรือว่ามีปัญหาเกี่ยวกับภาวนา ก็สามารถ sign up และขอพบอาจารย์ได้ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจะมีห้องภาวนา ขนาด ๓๐ เบาะ เปิดตั้งแต่เช้า นักศึกษา staff ของมหาวิทยาลัย หรืออาจารย์ สามารถเข้าไปใช้ได้ตลอดเวลา
 
กลับมาเรื่องพิธีกรรมอีกนิด ก็คือ พิธีกรรมที่เป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นพิธีกรรมเก่าดั้งเดิม จะมีการค้นพิธีกรรมใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ พวกผมจะถูกฝึก ถูกสั่งการบ้านให้คิดพิธีกรรม แล้วนำมาเสนอให้เพื่อนๆ ทำด้วยกัน ทำตัวเป็นชนเผ่า บางคนก็ใช้การเคลื่อนไหวร่างกาย บางคนก็ใช้การร้อง ฉะนั้น ก็จะหลากหลาย เพื่อนผมหลายคน ใช้พิธีกรรมการร้อง มีสีสันมาก อย่างการร้องโอมมมมม เป็นต้น กรณีนี้ จะเห็นได้ว่า กระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นจากนักศึกษาด้วย หรือการออกไปอยู่ในทะเลทราย อดอาหาร ๓วัน ก่อนออกเดินทาง ครูก็จะแนะนำว่า ให้ฝึกสร้างพิธีกรรมที่จะอยู่กับตัวเอง เพราะเวลาอยู่กับตัวเอง จิตจะฟุ้งง่าย ต้องอาศัยพิธีกรรมช่วย ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือว่าคุยกับมดที่ผ่านไปมา ถามไปเลยว่า ชีวิตผมสับสนมาก ขอคำตอบหน่อย แล้วก็ให้ฟังจริงๆ แต่มดก็เมิน ไม่อยากคุยด้วย (หัวเราะ) คือการออกทะเลทราย (อยู่ในรัฐยูทาห์ ใกล้ๆ กับอริโซนา สวยงามมาก) ในสมัยก่อนเขาใช้คำว่า “Vision Quest” มหาวิทยาลัยเชื่อว่าถ้าปล่อยให้อยู่คนเดียว ในที่ไกลๆ เคว้งคว้าง เวิ้งว้าง จะมีผลต่อวิธีคิด (นพ.ประเวศ: มีเขียนว่า ออกไปแก้ผ้ากลางทะเลทราย) อาจารย์บอกว่าอาจจะเจออะไรดีๆ ผมก็ลองทุกอย่าง แต่ไม่เจออะไรสักที คืออาจารย์จะให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า การออกไปอยู่กับตัวเองครั้งนี้ ต้องการจะรู้เรื่องอะไร เราสามารถขอให้พลังของธรรมชาตินำความกระจ่างชัดเข้ามาในใจเราได้ ในด้านหนึ่ง นี่เป็นกระบวนการที่ช่วยให้เราทำหมายเหตุชีวิต คล้ายการบวชในบ้านเรา ที่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนสถานะจากเด็กกลายเป็นหนุ่ม การออกไปอยู่กับตนเองในธรรมชาติ ผมคิดว่าคงมาจากแรงบันดาลใจของหลายๆ คนที่ไปเรียนรู้มาจากอินเดียนแดง ประกอบกับเอาความรู้ความเข้าใจทางด้าน psychology สาย คาร์ล จุง (Carl Gustav Jung) ที่เป็นเรื่องของจิต เป็นเรื่องการตีความระบบสัญลักษณ์ เพราะว่าเมื่อเราออกจากทะเลทราย ก็จะมานั่งล้อมวง แล้วเล่าให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ก็จะถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเราในช่วง ๓ วัน มีนัยสำคัญอย่างไรต่อชีวิตเรา เราตั้งโจทย์ของตัวเองอย่างไร ก็จะมีการตีความเชิงสัญลักษณ์ ในแง่หนึ่งก็ช่วยให้นักเรียนเข้าในตัวเอง เช่น ถ้าบางคนเห็นนกหรืองู อาจารย์ก็จะถามว่า ปรกติคุณมองนกหรืองูอย่างไร โดยไม่ต้องคิด สัญลักษณ์พวกนี้มีความหมายอย่างไร เขาใช้คำว่า synchronisity ความประจวบเหมาะของเหตุการณ์และความหมาย ไม่ใช่อุบัติเหตุ นี่เป็นกระบวนการหนึ่งที่ทุกคนต้องผ่านในการศึกษาระดับปริญญาโท ซึ่งจะโยงเข้ากับความเข้าใจเรื่องนิเวศวิทยาแนวลึก เพราะหากไม่ได้เข้าไปอยู่ตรงนั้น เพียงแต่อ่านหนังสือเกี่ยวกับนิเวศวิทยาลัยแนวลึก ก็จะไม่สามารถเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้
 
พวกเราเคยเชิญนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ของสถาบันวิจัยทางอากาศที่อยู่ในโบลเดอร์ (Boulder) ซึ่งเป็นสถาบันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกา และกำลังวิจัยเรื่องโลกร้อน argument ของเขาคือ โลกร้อนอยู่แล้ว แต่คนไปคิดว่าตัวเองเป็นสาเหตุหลัก แม้เขาจะไม่ปฏิเสธว่ามนุษย์มีส่วนทำให้โลกร้อนยิ่งขึ้นก็ตาม โดยเขาเข้าไปอยู่ในป่า ภาวนา แล้วก็ทำงานในห้องแลป นักศึกษานาโรปะ จึงชวนมาร่วมเวที เพราะนาโรปะจะมีการจัดเวที brownbag lunch คือการถือขนมมานั่งกินมื้อกลางวันในวงสนทนาได้ เป็นกันเองมาก และพิธีกรรมหนึ่งก็คือการทำงานกับอารมณ์ ผมคิดว่า เป็นบรรยากาศทั่วไป ทุกชั้น ทุกสถานที่ ในนาโรปะ คือการให้คุณค่ากับการเข้าใจตนเอง เข้าใจอารมณ์ตัวเอง เพราะคนที่มาเรียนนาโรปะส่วนใหญ่จะใช้ความคิดมาก แต่เข้าใจเรื่องอารมณ์และการทำงานแบบกลุ่มน้อย เป็นเรื่องปกติที่นักศึกษาจะพูดเรื่องที่ตัวเองกลัว หรือเสียใจ แล้วร้องไห้ขึ้นมา การร้องไห้หรือการแสดงอารมณ์ความเศร้า เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในบรรยากาศของการศึกษา และสำคัญมาก เพราะอยากจะเอื้อเฟื้อให้คนได้สัมผัสแล้วไม่ปฏิเสธอารมณ์ของตัวเอง แต่ก็ไม่ปล่อยให้รุนแรงมากขึ้น
กลับมาที่หลักของการดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ เมื่อตอนที่ผมไปเรียน ผมไม่เคยอ่าน Mission ของนาโรปะหรืออ่านแบบไม่ได้สนใจมากนัก แต่พอเรียนจบแล้วกลับมาทำงาน เมื่ออ่านพันธกิจ ๖ ประการของนาโรปะ จะตรงกับกระบวนการเรียนรู้ที่สัมผัสมาเลย ซึ่งทำให้เปลี่ยนตัวเองมาก เพราะเมื่อก่อน ผมเป็นคนที่เหนียม ไม่แน่ใจ มีภาพลักษณ์ของตัวเองเยอะ ว่าควรเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้คิดว่าตัวเองคือใคร ซึ่งก็ถูกยัดเยียดมาในกระบวนการศึกษา ในกระบวนการเติบโต ในความเป็นผู้ชาย ทีนี้กระบวนการทั้งหลายในแต่ละวิชา ก็ช่วยทีละนิดทีละหน่อย ทำให้รับรู้ในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น แล้วก็นำมาประยุกต์ได้
 
ประการที่ ๑ คือ ความรู้เท่าทันปัจจุบันขณะ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้ การสร้างความรู้ เป็นการฝึกฝนและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง ซึ่งตรงกับหลักการทางพุทธซึ่งพวกเราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่กระบวนการศึกษาในตะวันตก หลักการนี้ถือว่าเป็นข้อแรก ที่สำคัญที่สุด เพราะหากเราสามารถรู้เท่าทันปัจจุบันขณะได้มากขึ้น จะทำให้เรารับรู้ประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้น ทำให้กระบวนการเรียนรู้ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเท่าทันความคิด ความรู้สึก การเกิดขึ้นของความคิดต่างๆ อารมณ์ต่างๆ และการอยู่ในปัจจุบันขณะ ก็จะมีคุณลักษณะต่างๆ ที่สามารถสำแดงออกมา ไม่ว่าจะเป็นความคิดอ่านแม่นยำ ความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น
 
หลักการที่ ๒ คือ การสร้างสรรค์ชุมชนแห่งการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องการแสวงหาของปัจเจกเท่านั้น และประสิทธิภาพก็ไม่ได้เกิดขึ้นในห้องเรียนที่แยกสัดส่วนจากสิ่งแวดล้อม แต่ว่าจะต้องเกิดจากปฏิสัมพันธ์ dynamic จากการปะทะสังสรรค์ที่เรามีต่อผู้คนและสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ฉะนั้น บรรยากาศของกัลยาณมิตรหรือการเรียนรู้ จะทำให้เกิดการทดลองการมีชีวิต ท้าทาย ทดสอบสติปัญญา ความรู้ และการรับรู้ของนักศึกษา เป้าหมายการเรียนรู้ในแต่ละวิชา ระบุว่าจริงๆ แล้ว คนที่มาเรียน เมื่อจบออกไป จะหาสมดุลในชีวิตอย่างไร การทำวิชาชีพจะเป็นอย่างไร เพื่อนผมหลายคนบ่นว่า มาลงภาวนาตั้ง ๙ หน่วยกิต จบออกไปจะทำอะไรกิน (หัวเราะ) ใครจะรู้ ใครจะเข้าใจบ้าง ว่าการภาวนามีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน
หลักการที่ ๓ คือ บ่มเพาะการเปิดกว้าง ซึ่งแยกย่อยออกไปอีก คือเขาถือว่า graduate จะต้องมีคุณลักษณะอย่างไร ทั้งหมด ๕ ประการด้วยกัน
 
๓.๑ นักศึกษาต้องมีความเปิดใจและเคารพในประสบการณ์ตรงของตัวเอง ไม่เฉพาะความคิด ประสบการณ์คือทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคิด อารมณ์ ความรู้สึก บัณฑิตที่พึงปรารถนาของนาโรปะ จะต้องมองเห็นประสบการณ์ตรงเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะถ้าพลาดการรับรู้ประสบการณ์ตรงเหล่านี้ การเรียนรู้ก็จะไม่เกิดขึ้น การบ่มเพาะความสนใจใคร่รู้ในโลก ในสิ่งที่อยู่รอบข้าง สามารถดำรงอยู่และยอมรับในสิ่งที่เราเป็นได้อย่างไม่แปลกแยก ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเรื่องหนึ่งของโจทย์การศึกษาในนาโรปะ ไม่แปลกแยกกับความคิด ไม่แปลกแยกกับความเป็นตัวเอง
 
๓.๒ ทักษะการสื่อสาร การสร้างความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ คือต้องเรียนรู้ที่จะชื่นชมคุณค่าในประสบการณ์ตรงของคนอื่น มีการฝึก dialogue ของ เดวิด โบห์ม ซึ่งจะคล้ายๆ กับของเควกเกอร์ ต้องรับฟังและเคารพ เมื่อได้ยินเสียงข้างในของตนเอง ก็ต้องเคารพในประสบการณ์ข้างในของคนอื่นด้วย เพราะทักษะในการสื่อสารจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราสามารถชื่นชมประสบการณ์ข้างในของคนอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นทักษะในการเขียน พูด ฟัง หรือทักษะในศิลปะแขนงต่างๆ เช่น ศิลปะแบบเคลื่อนไหว ทัศนศิลป์ ฯลฯ
 
๓.๓ มีการวิเคราะห์ที่แหลมคม ลุ่มลึก เป็นเรื่องพุทธิปัญญา เข้าใจหลักการต่างๆ เชื่อมโยงได้อย่างมีวิพากษ์ วิจารณ์ มีวิจารณญาณและมีปัญญา มีความสามารถในการเปิดพื้นที่เรียนรู้ ความตั้งใจที่จะแสวงหาความสดใหม่
 
๓.๔ การชื่นชมในความมั่งคั่งในภูมิปัญญาของโลก ว่ามีความหลากหลายเหมือนความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นของชนเผ่า ในศาสนาต่างๆ
 
ในนาโรปะจะมี World Wisdom Chair คือมีผู้อาวุโสคนหนึ่งไปอยู่ประจำ เป็นเทอมๆ เหมือนปราชญ์ประจำสถาบัน ตอนที่ผมอยู่ จะมีแรบไบ (rabbi) ซึ่งทุกเดือนหรือทุก ๒ อาทิตย์ ก็จะมีการนำเสนอเรื่องที่ตนเองสนใจและมีความรู้ โดยเปิดให้คนเข้าฟังได้โดยไม่ต้องเสียเงิน เมื่อครบเทอม ก็จะเลือกกรรมการคนอื่นต่อไป
๓.๕ การกระทำที่มีประสิทธิภาพ บัณทิตจะต้องกระทำเป็น ไม่ใช่คิดเป็นอย่างเดียว สามารถนำความรู้ไปกระทำให้ทะลุปรุโปร่ง
 
(หลักการที่ ๔ มรดกแห่งการศึกษาแนวพุทธ หลักการที่ ๕ วิถีแห่งภูมิปัญญาโลก และหลักการที่ ๖ การไม่ฝักใฝ่ในลัทธิความเชื่อหรือศาสนาใดๆ และความเปิดกว้าง, “บทเรียนจากมหาวิทยาลัยนาโรปะ”
โดย ณัฐฬส วังวิญญู)
 
มี paper อีกชิ้นหนึ่งเรื่อง “เบญจคุณ” ที่ผมแปลจาก “Five Wisdoms” ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างคุณลักษณะทั้ง ๕ จะคล้ายๆ กับนพลักษณ์ แต่ว่าอาจจะมาทางสายธิเบต เช่น แต่ละคุณลักษณะจะเผยตัวอย่างไรในแต่ละคน มีวิธีการอย่างไร เช่น สีแดงของผมมีมากเกินไป สีน้ำเงินของผมมีน้อย ผมต้องการสีน้ำเงินมาก ก็จะมีกระบวนการ เป็นห้อง ๕ ห้องที่ออกแบบไม่เหมือนกัน แต่ละห้องจะระบายสีแต่ละสี แล้วรูปลักษณะของห้องเป็นกระบวนการที่ช่วยให้เราดึงลักษณะบางอย่างออกมา ไม่ว่าจะเป็นความใจเย็น ความสงบ หรือว่าความจัดจ้าน บางคนมีความจัดจ้านน้อยไปหน่อย ก็จะมีห้องฝึกการแสดงออก บางคนใช้ความคิดมาก อยู่กับกายน้อย บางคนอยู่กับกายมากไป ก็ไม่ค่อยดี คือช่วยให้คนเรียนได้ค้นหาสมดุลของตัวเอง คือจะมี course ที่เปิดให้คนข้างนอกมาร่วมเรียนด้วยได้ ไม่จำกัดความรู้และอายุ ส่วนใหญ่อาจารย์ที่ไปสอน ก็เพราะอยากจะ cross discipline ก้าวไปสู่พรมแดนความรู้ของคนอื่นบ้าง ว่าคนอื่นคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในแง่ของการเรียนที่หลากหลาย ก็จะแบ่งพื้นที่ไว้ให้นักศึกษาได้ออกแบบการเรียน ว่าอยากจะอ่านหนังสือเล่มไหน การเลือกสถานที่เรียน อาจจะนัดหมายที่ร้านกาแฟ หรือที่ห้องสมุดก็ได้
 
ผมไม่มีโอกาสได้เรียนกับเชอเกียม ตรุงปะ เพราะท่านเสียชีวิตไปก่อนแล้ว ตอนที่เชอเกียมยังมีชีวิตอยู่ ก็จะมีเรื่องมากมายให้ได้ชื่นชมและหมั่นไส้ เขาเป็นคนแปลกๆ ที่ไม่ธรรมดา แต่ก็มีวิธีการสื่อสารกับชาวตะวันตกได้ดีมาก เชอเกียมชอบสอนเรื่องความคิดฉับพลัน ความคิดแรก มหาวิทยาลัยนาโรปะจะให้ฝึกเรื่องการจับความคิดแรก บ่อยๆ เพราะส่วนใหญ่เราจะถูกความคิดที่ ๒ - ๓ ทับถมความคิดแรกซึ่งดีที่สุด ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกพู่กัน ยิงธนู จัดดอกไม้ หรือพิธีชงชา พิธีกรรมและกระบวนการเหล่านี้มีขึ้นเพื่อฝึกการปล่อยพื้นที่ว่างให้กับความคิดแรก เชอเกียม บอกว่าทำโต๊ะให้ว่าง แล้วอาหารอันโอชะจะถูกส่งมาจากสรวงสวรรค์ การทำโต๊ะให้ว่างก็คือการอดอาหาร (หัวเราะ) แล้วอาหารอันโอชะจะถูกนำมาจากสรวงสวรรค์
อ.เอกวิทย์: สังเกตดูว่าการเรียนที่นี่ ค่อนข้างจะหลากหลาย
 
 
คุณณัฐฬส: มีหลายแบบครับ อาจารย์สอน วิธีการสอน และวิธีการให้คะแนนจะมีหลายแบบ บางวิชาอาจารย์ก็จะถามว่า ทำไมเราให้คะแนนตัวเองเท่านี้ และไปถามเพื่อนๆว่า พัฒนาการของเราเป็นอย่างไร
อย่างวิชา Group Dynamic เป็นวิชาที่ค่อนข้างยากเพราะมีความขัดแย้งกันสูง หลายๆ คนที่มาเรียนก็คาดหวังที่จะออกไปเป็นนักสิ่งแวดล้อม ไปทำงาน policy อะไรอย่างนี้ แต่หลายคนก็ไม่ได้สนใจจะดูตัวเอง สนใจแต่จะได้ MAไปสมัครเข้า UN หรือรัฐบาล ฉะนั้น พอมาเจอกระบวนการอย่างนี้ ก็จะรับไม่ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่รับไม่ได้ ว่าร้องไห้กันทำไม แต่ผมยอมรับว่า ครูที่สอนเรื่องเหล่านี้ จะต้องมีประสบการณ์สูงมาก เพราะการจัดการความขัดแย้งในห้องเรียนขนาด ๔๐ คน แล้วเริ่มด่าทอกัน คนที่จะมีปัญญาจัดการได้ ต้องแสดงให้เห็นเลยว่ามีวิธีการอย่างไร
 
ในปัจจุบัน มีทฤษฎีหรือหนังสือมากมายเกี่ยวกับเรื่อง group dynamic เรื่อง Field Theory ทฤษฎีสนามพลังของกลุ่ม เปรียบเทียบได้กับศิลปะการป้องกันตัว ไอกิโด้ ซึ่งก็เป็นศาสตร์ที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่งและควรจะปรับมาใช้กับบ้านเราได้บ้าง
 
 
อ.เอกวิทย์: มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยข้างเคียงมาเรียนบ้างหรือเปล่า
 
 
คุณณัฐฬส: ก็มีบ้างครับ อย่างเช่น มาจากมหาวิทยาลัยโคโรลาโด ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่สนใจมาทางนี้มากกว่า แต่บางคนก็ไม่เคยรู้จักเลย คนที่เป็นฝ่ายซ้ายมากๆ ก็จะมองว่านาโรปะเป็นมหาวิทยาลัยของพวกคร่ำครวญกับชีวิตตัวเอง (หัวเราะ) ไม่ทำอะไร ไม่มี action ไม่มีจุดยืนทางการเมือง ซึ่งก็มีส่วนที่เป็นจริง คือคณะที่เรียนไปทางกวีนิพนธ์ อักษรศาสตร์ ศิลปะ หรือดนตรี ก็จะไม่มี action ในเชิงการเมืองมาก ไม่เหมือนนักศึกษาสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นเพื่อนผม เคยเอาโซ่ล็อกคอตัวเองไว้กับร้านกาแฟสตาร์บัคที่มาเปิดใหม่ เพราะจะมาทำลายร้านกาแฟเล็กๆ ในเมืองโบลเดอร์ ซึ่งมีร้านกาแฟเล็กๆ น่ารักๆ มากมาย เพื่อนผมไม่ยอม ก็โดนจับไป
 
 
อ.เอกวิทย์: นาโรปะเป็นมหาวิทยาลัยทางเลือกที่น่าทึ่ง แต่ไม่ทราบว่า เท่าที่คุณณัฐฬสสังเกต คนที่เข้าเรียนมากน้อยเพียงใดที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้
 
 
คุณณัฐฬส: ผมไม่แน่ใจว่าจะตอบได้หรือเปล่า ถ้าดูจากคนที่ผมรู้จัก ผมเชื่อว่าถ้าคนที่มาเรียนแล้วสามารถเปลี่ยนตัวเองได้มีอยู่จริงไม่มากก็น้อย เพราะแต่ละปี ก็มีนักศึกษาเป็นพันคน และนักศึกษาจะถูกฝึกให้เปลี่ยนวิธีคิด จากการเรียนเพื่อไปสมัครงานที่ไหน ให้เป็นเรียนเพื่อจะสร้างงานของตัวเองเหมือนกับการสร้างพิธีกรรม บางคนอาจจะเป็นอาสาสมัคร กลับไปอยู่บ้าน ไปเป็นกรรมการในท้องถิ่นตัวเอง บางคนก็ไปเป็นครู และที่เป็นกันมาก คือ counsellor เดี๋ยวนี้ ก็จะมีเครือข่าย มี e-mail ส่งมาบอกว่า มีศิษย์เก่านาโรปะอยู่ที่นั่นที่นี่
 
อ.เอกวิทย์: ไม่ทราบว่านาโรปะมีการรับรองวิทยฐานะ ที่จะมีผลต่อการเรียนจบแล้วไปทำงานไหม
 
 
คุณณัฐฬส: ผมคิดว่า ก.พ. คงไม่รู้จัก ของไทยคงไม่มีการรับรอง แต่ว่าถ้าเทียบดูเนื้อหาวิชา ก็ไม่ห่างจากหลักสูตรที่อื่นมาก เพียงแต่มีวิธีการสอนและเนื้อหาบางอย่างที่แปลกออกไป อย่างผมเรียนตั้ง ๖๐ หน่วยกิต ในขณะที่หลักสูตรทั่วไปต้องการแค่ ๓๐ หน่วยกิต ถือว่าเป็นการเสริมเนื้อหาเข้าไป อย่างวิชาดนตรี หรือวิชา visual art ก็เป็นหลักสูตรที่น่าสนใจ หรือผมไปเรียนสีน้ำ เขาก็ไม่ได้สอนเทคนิคอะไรมาก แต่บอกว่า ศิลปะไม่ใช่การวาดภาพเหมือน แต่คือการสอนใจตัวเอง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งที่เรามอง ที่เราชื่นชม และอย่าลากพู่กันจนกระทั่งไม่มีเราเสียก่อน คือจะฝึกในการมอง ฝึกจิต แล้วจึงค่อยทำ ผมคิดว่า ความเข้าใจเรื่องการภาวนาก็มีผลต่อการออกแบบหลักสูตร ออกแบบวิชา
 
 
นพ.ประเวศ: ผมไปเยี่ยมนาโรปะเมื่อ ๒ สัปดาห์ก่อน ที่ประทับใจคือ เวลาเดินเข้าไป คนทั้งหมดจะมีหน้าตายิ้มแย้ม มีความสุข ตั้งแต่ผู้บริหาร ครู พนักงาน นักศึกษา ที่น่าสนใจ คือผมได้คุยกับอธิการบดี รองอธิการบดี และหัวหน้าแผนก religious ทำให้ทราบ คนที่เป็นครูจะมาเข้าเรียนเพิ่มเติม เพื่อให้เห็นจิตใจตนเอง และเข้าใจจิตใจผู้อื่น แล้วครูก็จะกลับไปสอนศิษย์ เป็นกระบวนการที่ดีมาก เป็นจุดที่ยิ่งใหญ่ เพราะของเราจะเรียนแต่เทคนิค ไม่เข้าใจตนเอง และความเป็นมนุษย์
อ.สุมน: สิ่งที่ยังไม่ค่อยเข้าใจนัก คือเรื่องความเปราะบางของจิตใจ เพราะเวลาพัฒนาจิต เราจะบอกว่าเพื่อให้จิตแข็งแกร่ง เข้มแข็ง แต่คุณมาพูดถึงความเปราะบาง หมายความว่าอย่างไร อ่อนไหวหรือโรแมนติก ถ้าภาษาอังกฤษจะเข้าใจ แต่พอมาเป็นหัวใจเปราะบาง พร้อมที่จะแตกสลาย จะไม่เข้าใจ
 
คุณณัฐฬส: ความเข้าใจของผม เขาจะใช้ image ของพระโพธิสัตว์ ลักษณะเด่นก็คือความสามารถในการฟัง โดยเฉพาะเรื่องราวความยุ่งยากได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งหัวใจที่จะเข้าไปรับฟังได้ ต้องไม่แข็งกระด้าง ที่เขาใช้คำว่า vulnerable หมายถึง broken ได้ รับรู้ได้ ไหวตัว และตื่นตัว อีกคำหนึ่งที่ใช้คือ surrender หรือศิโรราบ ผมคิดว่า เรื่องนี้ถกเถียงได้ว่าภาวะความเป็นผู้นำที่ต้องการ ความเข้มแข็งที่ว่าเป็นอะไรได้บ้าง อ่อนโยนได้อย่างไร ทุกข์ไปกับสิ่งที่เรารับรู้ได้หรือไม่ พระโพธิสัตว์รับรู้ความทุกข์และเป็นหนึ่งเดียวกับความทุกข์ หมายความว่าอย่างไร เพราะเชื่อว่า เมื่อเป็นหนึ่งเดียวกับความทุกข์ ไม่ปฏิเสธความทุกข์ action จะเกิดขึ้นจากความเมตตา แต่ใจจะต้อง broken heart, compassion ต้องเกิดมาจากใจที่ broken heart แต่นำมาตีความในเถรวาท ผมไม่รู้ว่าจะใช้ภาษาอะไร คนอื่นอาจจะช่วยเสริม
 
อ.เอกวิทย์: ความเข้าใจของผม คำว่า ความเปราะบาง vulnerable ในภาษาของการเล่นไพ่บริดจ์ หมายความถึงจุดที่จะต้องตัดสินใจ ว่าจะทิ้งไพ่หรือไม่ แต่คนที่จะทิ้งไพ่ได้ถูกต้อง ต้องเป็นคนที่เฉลียวฉลาด แหลมคม มีความอ่อนไหวสูงพอที่จะเข้าใจคนอื่น เข้าใจสถานการณ์ เข้าใจชีวิต นำไปสู่การเรียนรู้ และตัดสินใจที่ถูกต้อง
 
 
นพ.ประเวศ: ความหมายอีกประการหนึ่ง ก็คือการเปิดให้กับความเสี่ยงที่อะไรจะเกิดขึ้น เช่น การทำงานเพื่อส่วนรวม จะต้องถูกกระทบ
คุณวิศิษฐ์: เพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเชื่อมโยงกับกระบวนการเรียนรู้ ผมคิดว่า ความเปราะบาง คือการนำตัวเองเข้าไปสู่ความเสี่ยง ในการเรียนรู้ จะมี ๒ โหมดหลักๆ ในชีวิต คือ โหมดปกป้องตัวเอง กับ โหมดเรียนรู้ พื้นฐานที่สุดของโหมดปกป้อง คือความกลัว การนำตัวเองไปสู่จุด vulnerability หรือจุดเปราะบาง เมื่อนำพาตัวเองไปที่ๆ เรากลัว หรือเสี่ยงภัยบ่อยๆ พบกับการท้าทายที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด ตัวเองก็จะไม่กลัว
 
อีกด้านหนึ่ง เมื่อเรานำพาตัวเองไปสู่สิ่งที่เรากลัว หรือ uncomfortable zone ที่เราไม่สะดวกสบาย การเรียนรู้จะเกิดขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่อยู่ในความสะดวกสบายเดิมๆ ความคิดเดิมๆ ความรู้สึกเดิมๆ และไม่เปลี่ยน
 
ทีนี้ ในแง่หัวใจแตกสลาย คือมีการศึกษาและสังเกตองค์ทะไลลามะ เมื่อมีการสนทนากับนักวิทยาศาสตร์ เรื่องความเมตตากรุณา เมื่อท่านฟังความทุกข์ของคนอื่น ท่านจะ suffer ทันทีภายใน ๒-๓ วินาที ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับเรื่องราวที่ท่านได้ยิน หลังจากนั้น ท่านก็ฟื้นคืนสดชื่นขึ้นมาทันที คือมันเป็นพลังของการรับรู้ความทุกข์ของคนอื่นถึงก้นบึ้งที่หัวใจของเราแตกสลายได้
 
นพ.โกมาตร: ผมเข้าใจว่า การตีความสามารถแตกต่างกันได้ ผมนึกถึงการสัมมนาที่หาดใหญ่ คุณสุรภี (ชูตระกูล) ซึ่งแลคุณสุภาพรจนถึงนาทีสุดท้าย เล่าว่า ในจังหวะที่ต้องดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ใกล้ตาย จะมีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดอย่างยิ่งทั่วร่างกาย ชนิดแทบทนไม่ได้ แม้แต่จะขยับแขนขา ก็ต้องค่อยๆ ยกเป็นมิลลิเมตร ทีนี้คนดูแลก็เป็นมนุษย์ บางครั้งก็ไม่สามารถอยู่ในสถานการณ์อย่างนั้นได้ตลอดเวลา ส่วนผู้ป่วยเองก็หงุดหงิด เพราะว่าครั้งหนึ่งเคยควบคุม เคยจัดการกับชีวิตตัวเองได้ ปัจจุบัน แม้แต่เวลาคันก็ต้องเรียกคนอื่นมาเกาให้ พออยู่ในสถานการณ์อย่างนั้น คุณสุภาพร ซึ่งปฏิบัติมาตลอด ก็จะหงุดหงิด จิตใจขุ่นมัว คนดูแลก็อยู่ในความบีบคั้น และเหนื่อยกับการดูแลข้ามวันข้ามคืน ก็จะเกิดการปะทะกัน ผมคิดว่าจุดนี้คือความเปราะบาง และถ้าเราไม่เปิดตัวเองกับความเปราะบางนั้น เราก็จะไปไม่พ้น และเรียนรู้จะไม่เกิดขึ้น เพราะไม่เห็นความเปราะบางของตัวเอง นักรบแท้จริง จะต้องมีสุขภาวะที่เข้าไปในเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความเปราะบางนี้ เพื่อจะได้เติบโต และเรียนรู้ ดีกว่าการหวังว่าไม่ต้องพบ ไม่ต้องคิด แต่หงุดหงิดต่อไป หรือหาทางปกป้องตัวเองด้วยวิธีการเดิม ก็ไม่มีทางจะได้เรียนรู้
 
อ.เอกวิทย์: ดูเสมือนหนึ่งว่า นักรบชั้นยอด ศิลปิน กับพระสงฆ์ จะมีจิตอยู่ในระดับเดียวกัน
 
นพ.โกมาตร: คือพอแปล vulnerability เป็นความเปราะบาง จะมีลักษณะของความสุ่มเสียง ความหมิ่นเหม่ เกิดสิ่งที่ใจเรายากจะรับได้ มีความไม่แน่นอน
 
อ.จุมพล: เวลาฟังคุณณัฐฬสพูดถึง vulnerability เรื่องของความเปราะบาง ความรู้สึกแรกก็คิดในเชิงคำหมายว่า ถ้าเราใช้คำภาษาไทย ว่า “เปราะบาง” เราจะติดกับประสบการณ์เดิม เช่น แก้ว ที่เราเรียกว่าเปราะบาง แตกสลายได้ง่าย แล้วกลับมารวมกันลำบาก แต่พอฟังไประยะหนึ่ง ก็มีความรู้สึกว่า คำนี้มีความหมายกว้างมากกว่านั้นมาก
 
ผมรู้สึกว่า vulnerability เป็นศักยภาพ เป็นความสามารถของคน ที่พร้อมจะเปลี่ยน ซึ่งจะต้องยอมรับอะไรเข้ามา จึงจะเปลี่ยนได้ ถ้าใช้คำว่า บอบบาง แทน เปราะบาง อาจจะมีความหมายที่ผิด แต่ว่าจริงๆ ก็คือ ยอมให้อะไรซึมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเราได้ ไม่ไปสกัดกั้น หรือปกป้องเหมือนที่พูด พอซึมเข้ามา ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเราไปทันที แล้วหลังจากนั้นก็จะเกิดไปเป็นสิ่งใหม่


อ่านต่อที่

http://www.buddhayan.com/board.php?subject_id=102
 
หน้า:  1 ... 226 227 [228] 229 230 ... 236
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 4.391 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page 07 เมษายน 2561 08:03:22