[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 23 ธันวาคม 2558 17:13:31



หัวข้อ: การแทงหยวก ในพิธีทางพุทธศาสนา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 ธันวาคม 2558 17:13:31
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/16885668742987_1..jpg)

การสลักหยวก หรือการแทงหยวก

การสลักหยวก หรือการแทงหยวก เป็นงานฝีมือช่างประเภทหนึ่งในช่างสิบหมู่ ประเภทช่างสลักของอ่อน ในอดีตมีประเพณีที่เกี่ยวกับการแทงหยวกกล้วยอยู่ ๒ อย่าง คือ การโกนจุก เเละการเผาศพ โดยงานโกนจุกหรือประเพณีการโกนจุกจะมีการจำลองเขาพระสุเมรุ เเล้วตกเเต่งภูเขาด้วยรูปสัตว์ต่างๆ เขาพระสุเมรุตั้งอยู่ตรงกลางร้านม้า ซึ่งทำโครงสร้างด้วยไม้เเล้วหุ้มด้วยหยวกกล้วยเเกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ประเพณีการเผาศพก็เช่นกัน จะทำร้านม้า ซึ่งทำโครงสร้างด้วยไม้ประดับด้วยหยวกกล้วยแกะสลักอย่างงดงาม

การสลักหยวกกล้วยนั้น ผู้ที่เป็นช่างจะต้องได้รับการฝึกหัดจนเกิดความชำนาญ เพราะไม่มีวาดลวดลายลงไปก่อน จับมีดได้ก็ลงมือสลักกันเลยทีเดียว จึงเรียกชื่อตามการทำงานแบบนี้ว่า "การแทงหยวก" ประกอบกับมีดที่ใช้มีปลายเเหลม เมื่อพิจารณาดูเเล้ว ก็เหมาะสมที่จะเรียกว่า แทงหยวก หรืออาจสรุปได้ว่า งานแทงหยวก คือการนำเอากาบกล้วยมาทำให้เป็นลวดลายต่างๆ โดยวิธีแทงด้วยมีด ใช้สำหรับการประดับตกเเต่งที่เป็นงานชั่วคราว เช่น การประดับเบญจารดน้ำ ประดับร้านม้า ประดับจิตกาธาน เป็นต้น

หยวกคือลำต้นกล้วยที่ลอกออกมาเป็นกาบ หรือแกนอ่อน ของลำต้นกล้วย มีสีขาว งานเเทงหยวกมักใช้หยวกหรือกาบกล้วยตานี เพราะมีสีขาวดีและเปลี่ยนสีไม่เร็วนัก ส่วนลวดลายแทงหยวกนิยมใช้ลายไทยโบราณเป็นลายมาตรฐาน ดังนี้
๑.ลายฟันหนึ่ง หมายถึงลายที่มีหนึ่งยอด เป็นงานเบื้องต้นที่ผู้เริ่มฝึกหัดแทงหยวกจะต้องฝึกฝนให้เกิดทักษะความชำนาญ ขนาดของฟันจะต้องเท่ากันทุกซี่ แทงเป็นเส้นตรงไม่คดโค้ง ฉลุให้เท่ากันทั้งสองด้าน เป็นลายที่เมื่อแทงและแยกลายออกจากกันแล้ว นำไปใช้ได้ทั้งสองข้าง
๒.ลายฟันสาม หมายถึงลายที่มีสามยอด เมื่อแทงและแยกลายออกจากกันแล้ว นำไปใช้ได้ทั้งสองข้างเช่นเดียวกับลายฟันหนึ่ง


 
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/24908816648854_1....jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/53450822747415_1...jpg)

๓.ลายฟันห้า หมายถึงลายที่มีห้ายอด มีความยากเนื่องจากต้องแทงถึงห้าหยักหรือห้ายอด หากไม่ชำนาญ ด้านซ้ายและด้านขวาจะมีขนาดไม่เท่ากัน และโดยเหตุที่ลายฟันห้าเป็นลายขนาดใหญ่ การแรลายจึงต้องสอดไส้เพื่อให้ได้ลวดลายที่สวยงามเด่นชัดยิ่งขึ้น ลายฟันห้าเมื่อแทงและแยกลายออกจากกันแล้วสามารถนำไปใช้ได้ทั้งสองข้างเช่นเดียวกัน
๔.ลายน่องสิงห์ หรือแข้งสิงห์ เป็นลายที่ประกอบส่วนที่เป็นเสาด้านซ้ายและด้านขวา จัดเป็นลายที่แทงยาก ในการฉลุลายน่องสิงห์เป็นการฉลุเพียงครั้งเดียว แต่เมื่อแยกออกจากกันจะได้ลายทั้งสองด้านซึ่งต้องเท่ากัน
๕.ลายหน้ากระดาน ใช้เป็นส่วนประกอบของแผงส่วนบน ส่วนกลางและส่วนฐาน ลายที่ใช้กันทั่วไป ได้แก่ ลายรักร้อย ลายก้ามปู ลายเครือเถา ลายดอก
๖.ลายเสา เป็นลายที่มีความสำคัญเนื่องจากการแทงกระทำได้ยากเช่นเดียวกัน งานส่วนนี้จะออกแบบลวดลายอย่างวิจิตรพิสดาร เพื่อแสดงฝีมือของช่างแต่ละคน ลายที่มักใช้ในการแทงลายเสา ได้แก่ ลายเครือเถา เช่น มะลิเลื้อย ลายกนก ลายรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ปลา นก ผีเสื้อ มังกร สัตว์หิมพานต์ ลายดอกไม้ ลายอักษร ลายสัตว์ ๑๒ ราศี
๗.ลายกระจัง หรือลายบัวคว่ำ เป็นลายที่ใช้ประกอบกับลายฟันสาม และลายฟันหนึ่ง นิยมใช้เป็นส่วนยอดและส่วนกลาง ไม่นิยมใช้เป็นส่วนฐาน มีหลายแบบ ได้แก่ กระจังรวน กระจังใบเทศ เป็นต้น


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : นสพ.ข่าวสด