[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 03 มิถุนายน 2564 15:09:05



หัวข้อ: ความเป็นมาของ วันอัฏฐมีบูชา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 03 มิถุนายน 2564 15:09:05
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/48385101680954_194246270_4664807383543788_125.jpg)
ปูนปั้นนูนต่ำปิดทองเหตุการณ์ถวายพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า อยู่ในเก๋งพระไพรีพินาศ
วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ มีเหล่าเทวดา มหากษัตริย์ พระภิกษุ พราหมณ์ และประชาชน
มาร่วมในการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ โดยมีดอกมณฑารพร่วงลงมาเป็นฉากหลัง
ขอขอบคุณเพจ ๑๐๐ พระชันษา สมเด็จพระสังฆราช (ที่มาภาพประกอบ)

วันอัฏฐมีบูชา


วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันแรม ๘ ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ หรือ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ในปีอธิกมาส

ปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ ๓  มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๔ มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันถวายพระเพลิงพุทธสรีระพระบรมศพพระพุทธเจ้า (เผาศพพระพุทธเจ้า) วันนี้จึงเรียกว่า “วันอัฏฐมีบูชา

ประวัติความเป็นมาของวันอัฏฐมีบูชา คือ เมื่อวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ในพรรษาที่ ๔๕ พระพุทธเจ้าได้ทรงประชวรหนัก ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ได้ทรงปลงมายุสังขาร โดยพระพุทธเจ้าตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลาย ย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ภิกษุทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท ให้ถึงพร้อมเถิด ความปรินิพพานแห่งตถาคต จักมีในไม่ช้า โดยล่วงไปอีกสามเดือนแต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน ฯ” (ทีฆนิกาย มหาวรรค. ๑๐/๑๐๐/๑๐๘)    
                                                                                                                                                                                                                                
หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ๘ วัน (หลังจากวันวิสาขบูชาแล้ว ๘ วัน) มัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดี แห่งเมืองกุสินารา เมื่อวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งนิยมเรียกกันว่าวันอัฏฐมี

การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอัฏฐมีบูชานี้ มีไม่กี่แห่งที่จัด เพราะในเมืองไทยมักไม่เป็นที่นิยม

แต่ละปี พุทธศาสนิกชนบางส่วน โดยเฉพาะพระสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาแห่งวัดนั้นๆ ได้พร้อมกันประกอบพิธีบูชาขึ้น เป็นการเฉพาะภายในวัด เช่นที่ปฏิบัติกันอยู่ในวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ เป็นต้น แต่จะปฏิบัติกันมาแต่เมื่อใด ไม่พบหลักฐาน ปัจจุบันนี้ก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่  

บางวัดในบางจังหวัด ยังมีการนิยมบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอัฎฐมีบูชานี้อยู่บ้าง บางแห่งถึงกับจัดเป็นงานใหญ่ มีการจำลองเหตุการณ์พิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระหรือพระบรมศพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลด้วย เช่น วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและหนึ่งเดียวในโลก เป็นงานประเพณีที่สำคัญของชาวลับแล ได้จำลองเหตุการณ์ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานในวันวิสาขบูชา โดยสมมุติเอาบริเวณวัดพระธาตุทุ่งยั้งเป็นเมืองกุสิรานาในอดีตและให้ชาวเมืองลับแลสมมุติว่าเป็นชาวเมืองกุสินารา พร้อมกับมีพระอริยสาวก ฤาษี พราหมณ์ พราหมณี ท้าวมหาพรหม เทวดา นางฟ้าและบรรดาสาวสวรรค์ ตลอดจนผู้ที่แต่งกายเป็นพระเจ้ามัลละกษัตริย์เมืองกุสินาราและเชื้อพระวงศ์มาเข้าร่วมในพิธี