[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
11 พฤษภาคม 2567 14:44:52 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เฉลว : ความเชื่อกับประเพณีนิยมในท้องถิ่น  (อ่าน 10421 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5478


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 05 กันยายน 2559 17:05:25 »



ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

เฉลว
กฎ กติกา หรือมายาคติของบรรพชน
Chalew : Ancestor's Rule or Myth

ความเชื่อของบรรพชนไทยในอดีต ส่วนมากจะยึดติดอยู่กับอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือปรากฏการณ์ที่อยู่เหนือธรรมชาติซึ่งบางสิ่งบางอย่างก็ยากแก่การพิสูจน์ได้ ในบรรดาความเชื่อของบรรพชนที่เกี่ยวเนื่องด้วยความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ จะต้องมีเรื่องของ “เฉลว” รวมอยู่ด้วยเรื่องหนึ่งเสมอ

เฉลว สัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ เป็นความเชื่อของบรรพชนไทยซึ่งปรากฏอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นความเชื่อที่มีองค์ประกอบ และมิติที่หลากหลายตามคตินิยมของสังคมท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งได้ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน บางอย่างได้สะท้อนออกมาให้เห็นถึงวิถีวัฒนธรรม ค่านิยม จารีตประเพณีที่แฝงไว้ด้วยระบบความเชื่อและพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังและเร้นลับ  บางอย่างแฝงไว้ด้วยค่านิยมทางสังคม ซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ จารีตประเพณี สังคม และศาสนา

ความเชื่อในลักษณะดังกล่าวนี้ แม้ว่าในสภาวการณ์ของสังคมปัจจุบันจะได้เลือนหายไปบ้างในสังคมเมือง แต่ว่าในสังคมชนบทความเชื่อในลักษณะดังกล่าวนี้ก็ถือว่ายังมีอิทธิพลต่อผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ อยู่มากพอสมควร

จากการศึกษาจะเห็นว่า ความเชื่อเรื่องเฉลวนั้นมีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยตลอดจนในถิ่นที่อยู่ของชนชาติไทในประเทศต่างๆ และในกลุ่มชนอื่นๆ เช่น ในกลุ่มชนกะเหรี่ยงและกลุ่มมอญเขมรเป็นต้น ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีความเชื่อและกระบวนการปฏิบัติที่จะนำไปใช้นั้นแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ก็จะเห็นว่ามีจุดมุ่งหมายเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าการเรียกชื่อจะแตกต่างกันไปบ้าง คือ ภาคกลางจะเรียกว่า เฉลว ภาคเหนือเรียก ตาแหลว หรือตาเหลว เช่นเดียวกับภาคอีสาน ส่วนภาคใต้เรียก เหลว บางท้องถิ่นเรียก เหลวเพชร



ภาพจาก : kornbykorn.blogspot.com

จากยมบาศ ถึง เฉลว
เทพเจ้าองค์หนึ่งซึ่งมนุษย์เกรงกลัวกันมาก คือ พระยมหรือท้าวมัจจุราช เหตุว่าพระยมเป็นเทพเจ้าแห่งความตายนั่นเอง ทุกสรรพชีวิตบนพื้นปฐวีดลย่อมมีความสะดุ้งกลัวต่อความตายด้วยกันทั้งนั้น

พระยมนั้นมีเมืองเป็นของตัวเองชื่อว่า ยมปุระ หรือยมโลก อยู่นอกขอบจักรวาลไปทางทิศทักษิณ รูปลักษณ์ของพระยมกล่าวกันว่า เป็นผู้มีรูปร่างใหญ่โต หน้าตาดุร้าย ในไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่า พระยมราชนั้นทรงธรรมนักหนา พิจารณาถ้อยความอันใดๆ และบังคับโจทก์แลจำเลยนั้นด้วยสัจซื่อและชอบธรรมทุกอันทุกเมื่อ ผู้ใดตายย่อมไปไหว้พญายมราชก่อน สีกายของพระยมราชนั้นเลื่อมประภัสสร หรือสีพระอาทิตย์แรกขึ้น แต่ในบางแห่งว่าผิวกายสีเขียว คือสีใบไม้ ใช้เครื่องนุ่งห่มสีแดง มีกระบือเป็นพาหนะ ถือคทาใหญ่เรียกว่า กาลทัณฑ์หรือยมทัณฑ์ มีนัยน์ตาเป็นอาวุธเรียกว่า นยนาวุธ มีบ่วงสำหรับคล้องและมัดสัตว์ผู้มีบาปเรียกว่า “ยมบาศ” พระยมมีนามเรียกกันหลายชื่อ เช่น พระยม ยมเทพ ธรรมราช ท้าวมัจจุราช พระกาล มฤตยู ปาศี (ผู้ถือบ่วง) เป็นต้น

ด้วยเหตุที่มนุษย์เกรงกลัวต่อเทพเจ้าองค์นี้มาก โดยเฉพาะมนุษย์ที่ประกอบแต่อกุศลกรรมทำแต่ความชั่ว ย่อมเกรงกลัวต่อเทพเจ้าองค์นี้มากเป็นพิเศษ เมื่อตายไปแล้วก็ไม่อยากจะไปรับโทษในยมโลก เป็นวิญญาณที่เร่ร่อนอยู่ในมนุษย์โลก มีลักษณะเป็นเปรต ภูต ผี ปิศาจ เที่ยวหลอกหลอนชาวมนุษย์

พวกมนุษย์เมื่อถูก ภูต ผี ปิศาจ หรือเปรต อสุรกาย ซึ่งเป็นวิญญาณเร่ร่อนหลอกหลอนก็เกิดความหวาดกลัว จึงได้คิดหาวิธีการป้องกัน โดยได้คติความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า ภูต ผี ปิศาจ เปรต อสุรกาย ย่อมเกรงกลัวต่อพญายมราช โดยเหตุที่พญายมราชมีของวิเศษซึ่ง ภูต ผี ปิศาจ เปรต อสุรกาย หวาดหวั่นสะพรึงกลัวคือ “ยมบาศ” พระเกจิอาจารย์ยุคโบราณจึงได้นำเอาลักษณะยมบาศของท้าวยมราชมาผูกเป็นอักขระเลขยันต์เรียกกันว่า “ยันต์เฉลวเพชร” เพื่อใช้ป้องกันสิ่งอัปมงคลต่างๆ ดังปรากฏตัวอย่างในพระปิดตาเกลอเดี่ยวของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม และยันต์รูปเฉลวที่ประทับด้านหลังเหรียญหลวงพ่อหมุน วัดเขาแดงตะวันออก พัทลุง ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป

มนุษย์ทั้งหลายใช้จินตนาการจากบ่วงบาศของท้าวยมราชมาผูกเป็นรูปลักษณะคล้ายดาว เรียกกันต่อมาว่า “เฉลว” ซึ่งชั้นต้นจริงๆ คงใช้เพื่อกัน ภูต ผี ปีศาจ เปรต อสุรกาย และสิ่งอัปมงคลต่างๆ เท่านั้น ต่อมาปรากฏว่ามีการประดิษฐ์เพิ่มเติมขึ้นมากหลากหลายรูปแบบ และมีคติสำหรับการนำไปใช้ในพิธีการที่แตกต่างกันออกไปตามภูมิภาคและท้องถิ่นต่างๆ บางท้องถิ่นก็ผูกเป็นตำนาน นิทาน เพื่อสื่อและอธิบายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเองด้วย




ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

ลักษณะที่เรียกว่า เฉลว
เฉลว พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า เฉลว น.เครื่องทำด้วยตอก หักขัดกันเป็นมุมๆ ตั้งแต่ ๕ มุมขึ้นไป สำหรับปักหม้อยา ปักเป็นเครื่องหมายที่สิ่งของ ซึ่งจะขายหรือปักบอกเขต

พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมให้ความหมายเฉลว ว่า เครื่องหมายอย่างหนึ่ง ทำด้วยตอก นำมาหักขัดเป็นมุมตั้งแต่ ๕ มุมขึ้นไป มีที่ใช้หลายอย่าง แล้วแต่ลักษณะและประโยชน์ใช้สอย ดังเช่น

เฉลวขนาดเล็ก หักขัดเป็น ๕ มุม ใช้สำหรับปักบนใบตองหรือผ้าขาวบางที่มัดปิดปากหม้อยาต้มของแพทย์แผนไทย

เฉลวขนาดใหญ่ ใช้ปักบนพื้นดินเป็นเครื่องหมายบอกเขตห้ามล่วงล้ำละเมิดสิทธิ์เหมือนรั้ว หรือใช้เป็นเครื่องหมายบอกขายที่ผืนนั้น เช่นเดียวกับที่ใช้ปักบนสิ่งของอื่นๆ เช่น เรือ แพ บ้าน เป็นต้น เพื่อบอกความประสงค์ให้รู้ว่าต้องการขายสิ่งนั้นๆ

พจนานุกรมหัตถกรรมและอุตสาหกรรมพื้นบ้านให้ความหมายเฉลวว่า เครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ใช้ตอกสานขัดกันเป็นแฉกๆ อาจมีห้าแฉก หกแฉก หรือมากกว่านั้น เฉลวเป็นเครื่องสานที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อของไทยมาแต่โบราณ เช่น มีการปักเฉลวไว้บนเครื่องเซ่นพลีตามริมทางหรือทางแยก เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกให้ภูต ผี และวิญญาณมารับเครื่องเซ่นพลีนั้น

พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปะเกี่ยวเนื่องให้ความหมายว่า เฉลว ก.เครื่องกั้นห้าม ห้ามแตะต้อง ห้ามล่วงสิทธิ์ ใช้ปักฝาหม้อยาเพื่อป้องกันผู้อื่นเปิด หากปักอยู่ตามสิ่งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้านเรือน แพ ฯลฯ ก็หมายถึงห้ามละเมิดสิทธิ์  ข.สิ่งใดที่ประสงค์จะแจ้งขายก็ใช้เฉลวปักหรือแขวนไว้เช่นกัน  ค.เครื่องป้องกันรังควานหรือเครื่องอาถรรพ์”

“เฉลว” ใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความหมายหลากหลายรูปแบบ ตัวเฉลวนั้นโบราณจะสานด้วยตอกไม้ไผ่หรือหวาย สานหักขัดเป็นมุมๆ ทำให้เกิดเป็นตาเหมือตาชะลอม มีหลายรูปแบบ เฉลวนี้ บางทีก็เรียกว่า “ตาแหลว” หรือ “ตาเหลว”

ในหนังสือบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงบันทึกประทาน กล่าวถึงเรื่องเฉลวเป็นใจความว่า เฉลว ก็คือ รั้วนั่นเอง  ยังเห็นได้อยู่ว่าเป็นตาคือรั้ว ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า ตะเหลว แล้วเรียกเพี้ยนกันไปต่างๆ  ตะเหลวมาแต่ ตาแหลว แล้วมาเป็น ตาเหลว แล้วเป็น ตะเหลว เฉลว อะไรต่อไป

ภาคพายัพและภาคอีสานตลอดจนชาติไทบางกลุ่มเรียก เฉลว ว่า “ตาแหลว” ถือว่าเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายใช้แทนตาของเหลว คำว่า “แหลว” หมายถึง เหยี่ยวซึ่งเป็นสัตว์ที่มีตาดีมาก สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้จากที่ไกลๆ

ในภาคเหนือ ดินแดนล้านนาในอดีต มีการใช้เฉลวในพิธีกรรมต่างๆ นอกจากจะใช้เป็นเครื่องรางชองชาวนาแล้วยังใช้เฉลวแบบตาเหยี่ยวกำหนดขอบเขตที่คุ้มครองให้ปลอดจากผีอีกด้วย โดยมีตำนานความเป็นมาของเฉลวซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองเชียงตุงว่า พระเจ้าเทิง กษัตริย์แห่งเมืองเงินยวงโปรดการประพาสป่าล่าสัตว์มาก วันหนึ่งเสด็จไปเที่ยวป่าล่าสัตว์นั้นได้เสด็จเข้าไปลึกมากทรงพบนางไม้ผู้หนึ่ง พระองค์พอใจในความงามของนางมากจึงได้อยู่ร่วมกันในถ้ำแห่งหนึ่งเป็นเวลานาน จนในที่สุดก็เป็นห่วงบ้านเมือง จึงขอลานางกลับ และก่อนที่พระองค์จะเดินทางกลับ นางได้สำรอกทารกซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าเทิงมอบให้มาด้วย ทารกผู้นั้นได้ชื่อว่า เจ้าชายตุง ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้น เจ้าชายตุงก็ชอบเที่ยวป่าเช่นเดียวกับพระราชบิดาของพระองค์และได้พบพระมารดาของพระองค์อีกด้วย เจ้าชายตุงได้มีโอกาสช่วยถอนคำสาปบรรพบุรุษของพระองค์ตามที่มารดาแจ้งให้ทราบ แล้วทรงเห็นว่าบริเวณใกล้เคียงกันนี้อุดมสมบูรณ์เหมาะที่จะตั้งเป็นเมืองใหญ่ได้ และเมื่อได้ตั้งเป็นเมืองขึ้นแล้วก็ให้ชื่อเมืองตามชื่อของพระองค์ว่า เชียงตุง พร้อมทั้งห้ามประชาชนของเมืองนี้ล่าสัตว์ แต่โดยที่สัตว์ทั้งหลายได้เข้ามากัดกินพืชผลที่ปลูกไว้เสียหายเป็นที่เดือดร้อน พระองค์จึงให้เหยี่ยวบินตรวจตรารักษาไร่นาเอาไว้ไม่ให้เป็นอันตรายไปมาก พระองค์จึงให้ประชาชนทำรั้วป้องกัน โดยเอาไม้ไผ่มาขัดกันเป็นรูปตาเหยี่ยวที่เรียกว่า ตาเหลว หรือเฉลว ทุกวันนี้



ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

รูปแบบของเฉลว
เฉลวนั้นมีรูปแบบที่หลากหลายก็จริง แต่เมื่อพิจารณาคุณลักษณะของการนำไปใช้แล้วจะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันเป็นส่วนมาก รูปแบบของเฉลวที่พบเห็นโดยทั่วๆ ไป เช่น
๑)เฉลว ๓ มุม หรือเฉลว ๓ แฉก ลักษณะคล้ายรูปดาว บางท่านว่า ใช้หมายถึง พระไตรสรณาคมน์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ การทำเฉลว ๓ มุมนั้น ท่านว่า เมื่อหักมุมที่ ๑ ให้ว่า มะ  มุมที่ ๒ ให้ว่า อะ  และมุมที่ ๓ ให้ว่า อุ  เฉลวสามมุมนี้หมอพื้นบ้านนิยมใช้ปักที่หม้อยาสมุนไพรแผนโบราณ หมายถึงว่า ขอให้อำนาจพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงประสาทพรให้หายป่วย ซึ่งเดิมเป็นความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ (อะ อุ มะ มาจาก โอม ในศาสนาฮินดู  อะ หมายถึง พระศิวะ  อุ หมายถึงพระวิษณุ  และ มะ หมายถึงพระพรหม)

๒)เฉลว ๔ มุม หมายถึง ธาตุทั้ง ๔ ที่ประกอบขึ้นเป็นร่างของคนและสัตว์ คือ ดิน น้ำ ลมไฟ (ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ เตโชธาตุ หรือมหาภูตรูป ๔ ก็เรียก)

๓) เฉลว ๕ มุม ท่านว่า หมายถึง พระเจ้า ๕ พระองค์ คือ นะ โม พุท ธา ยะ   นะ หมายถึง พระกกุสันธพุทธเจ้า  โม หมายถึง พระโกนาคมนพุทธเจ้า  พุท หมายถึง พระกัสสปพุทธเจ้า  ธา หมายถึง พระโคตม พุทธเจ้า  ยะ หมายถึง พระศรีอริยเมตไตรย  เมื่อหักมุมที่หนึ่งว่า นะ  มุมที่สอง โม  มุมที่สามว่า พุท  มุมที่สี่ ว่า ธา  และมุมที่ห้าว่า ยะ ตามลำดับ

๔)เฉลว ๘ มุม หรือ ๘ แฉก เวลาหักมุมแต่ละมุมให้ว่า คาถา อิติปิโส ๘ ทิศ (อิ ติ ปิ โส ภะ คะ วา อะ)

เฉลวที่ใช้ในภาคใต้
เฉลว ภาคใต้เรียกชื่อแตกต่างกันตามบริบทของท้องถิ่น คือเรียก กะหลิว ฉะหลิว เหลว หรือ เหลวเพชร ใช้สำหรับปักไว้ที่หม้อยาสมุนไพร จากการศึกษารูปแบบและบริบทของเฉลวในภาคใต้พบว่า นิยมใช้เฉลวลักษณะรูปดาวสานด้วยตอกหักขัดกันเป็นมุมหรือเป็นแฉก มี ๓ แบบคือ
    ๑.เฉลว แบบ ๓ มุม หรือ ๓ แฉก
     ๒.เฉลว แบบ ๕ มุม หรือ ๕ แฉก
     ๓.เฉลว แบบ ๘ มุม หรือ ๘ แฉก
สำหรับรูปแบบที่นิยมใช้กันเป็นพื้นโดยทั่วไปคือแบบ ๓ มุม หรือ ๓ แฉก และแบบ ๕ มุม หรือ ๕ แฉก ส่วนแบบ ๘ มุม หรือ ๘ แฉก ปรากฏพบเห็นค่อนข้างน้อย ทั้งนี้เพราะว่า กรรมวิธีการสานค่อนข้างยุ่งยากและสลับซับซ้อน

เฉลวที่ใช้ปักหม้อยาสมุนไพรนั้น ปกติตัวหมอยาจะเป็นคำทำเองไม่นิยมให้บุคคลอื่นทำให้ ซึ่งเข้าใจว่าหมอพื้นบ้านทุกคนนอกจากจะเรียนเกี่ยวกับการบริบาลรักษาโรคแล้ว ก็ยังต้องเรียนกรรมวิธีการทำเฉลวควบคู่กันไปด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า การใช้เฉลวในภาคใต้จะนิยมใช้ปักที่หม้อยาสมุนไพรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีการใช้ในบริบทหรือพิธีกรรมอื่นใดนอกจากนี้



ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

ล้านนาปรากฏว่ามี เฉลว เรียกชื่อตามสำเนียงท้องถิ่นว่า “ตาเหลว” ที่ใช้ในพิธีการต่างๆ หลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบจะใช้ในพิธีการที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น คือ
๑) ตาเหลวหลวง เป็นตาเหลวที่มีขนาดใหญ่ มีขนาด ๖ แฉก หรือ ๘ แฉก มักใช้ในพิธีสืบชะตาเมือง สืบชะตาหลวง หรือสำหรับให้คน สัตว์ ลอดผ่าน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ได้ลอดผ่านตาเหลว เชื่อกันว่าสามารถขจัดสิ่งที่เป็นอัปมงคลต่างๆ

บางท้องถิ่นเรียกตาเหลวหลวงว่า ตาเหลวแรกนา ซึ่งจะใช้ในพิธีการแรกนาของชาวนา โดยการนำเฉลวไปปักไว้ที่นาของตนเองพร้อมทั้งจัดเครื่องบัตรพลีต่างๆ เพื่อบูชาแม่โพสพ

๒) ตาเหลว ๗ ชั้น ปกติจะใช้ตอกจำนวน ๔๒ เส้น สานขัดกันเป็นชั้นๆ จำนวน ๗ ชั้น เมื่อสานเสร็จแล้วสามารถกางออกได้ ถ้าสานผิดเวลากางออกตอกจะหลุดออกจากกัน

ตาเหลวชนิดนี้นิยมใช้กันมากทางล้านนาโดยมีความเชื่อว่า เมื่อผูกหรือแขวนไว้ที่ประตูบ้านเรือนจะสามารถกันภูต ผี ปิศาจ และสิ่งอัปมงคลต่างๆ ไม่ให้เข้ามาในเรือนหรือสถานที่นั้นๆ ได้ บ้านที่ไม่มีคนอยู่ถูกทิ้งไว้นานๆ เป็นแรมเดือนแรมปี ก็จะใช้ตาเหลวเจ็ดชั้นนี้แขวนไว้ที่ประตูเรือนเพื่อป้องกันสิ่งอัปมงคลต่างๆ เข้าบ้านเรือนนั่นเอง

๓) ตาเหลวคาเขียว ลักษณะเป็นตาเหลว ๗ ชั้น เพื่อเพิ่มให้มีพลังความเข้มขลังมากขึ้นไปอีก จึงเอาคาเขียวมาพันเข้ารอบๆ จึงเรียกว่า ตาเหลวคาเขียว ใช้ในพิธีกรรมพื้นเมือง เช่น พิธีสืบชะตา หรือผูกร้อยด้วยด้าย ๗ เส้น แขวนไว้ตรงประตูทางเข้าบ้านหรือหน้าบ้านเพื่อกัน ภูต ผี และสิ่งที่เป็นอัปมงคลต่างๆ เชื่อว่าหากใครได้ลอดผ่านก็สามารถขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากตัวได้ ตาเหลวคาเขียวมี ๒ ประเภท คือ
     ๓.๑)ตาเหลวคาเขียวขนาดเล็ก อาจจะมีขนาดตั้งแต่ ๒๐-๔๐ เซนติเมตร ใช้ติดหรือแขวนที่ประตูเรือน เพื่อกัน ภูต ปี ปิศาจ และสิ่งอัปมงคลต่างๆ เช่นเดียวกับตาเหลว ๗ ชั้น
     ๓.๒)ตาเหลวเขียวขนาดใหญ่ ช่องที่กึ่งกลางตัวตาเหลวสามารถลอดผ่านได้ ตาเหลวชนิดนี้มีลักษณะการใช้ในพิธีการหลักๆ ๑ ลักษณะด้วยกันคือ
           ๑.ใช้ในพิธีกรรมสำหรับตัดโรคาพยาธิ ความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนที่ตายเพื่อไม่ให้ตกทอดมาถึงคนในครอบครัวหรือคนอื่นๆ ให้สิ้นสูญไปกับผู้ตาย
           ๒.ใช้เพื่อสะกดหรือตัดวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้ว โดยมีความเชื่อว่าถ้าไม่ทำพิธีกรรมสะกดหรือตัดวิญญาณของผู้ตายๆ ก็อาจจะกลับมาเอาคนในครอบครัวหรือคนอื่นๆ ให้ตายตามไปด้วย ซึ่งวิญญาณดังกล่าวนี้โดยมากจะเป็นวิญญาณของผู้ที่ตายแบบไม่ปกติ เช่น วิญญาณของผู้ตายโหง ตายพราย  เป็นต้น  ตาเหลวคาเขียวขนาดใหญ่นี้ บุคคลที่เข้าพิธีจะต้องลอดผ่านช่องตรงกึ่งกลางของตาเหลวออกไป ลักษณะดังกล่าวนี้คล้ายๆ กับพิธีการทำหมากหย่าก่อนเผาศพสามีหรือภรรยาของชาวใต้

๔) ตาเหลวแม่ม่าย ลักษณะคล้ายกงจักร ใช้ตอก ๖ เส้น สานหักขัดกันให้มีลักษณะเป็นตาหกเหลี่ยมอยู่ตรงกลาง มักใช้ในพิธีการแรกนา ทำขวัญข้าวหรือก่อนปลูกข้าวและก่อนข้าวตั้งรวง แขวนไว้เพื่อป้องกัน ภูต ผี มาทำร้ายแม่โพสพ กันหนู แมลง กันสิ่งอัปมงคลมารบกวนข้าว

๕) ตาเหลวหมาย ปกติใช้ตอกเพียง ๖ เส้น สานหักขัดกันให้มีลักษณะเป็นตาหกเหลี่ยมอยู่ตรงกลาง มักใช้ในพิธีการแรกนา ทำขวัญข้าวหรือก่อนปลูกข้าวและก่อนข้าวตั้งรวง แขวนไว้เพื่อป้องกัน ภูต ผี มาทำร้ายแม่โพสพ กันหนู แมลง กันสิ่งอัปมงคลมารบกวนข้าว

๕) ตาเหลวหมาย ปกติใช้ตอกเพียง ๖ เส้น สานหักขัดกัน เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการกำหนดเขตแดนการครอบครองพื้นที่ทำกิน เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของและห้ามบุคคลอื่นแย่งชิง


ที่มา - เฉลว : กฎ กติกา หรือมายาคติของบรรพชน  โดย จรัญ ทองวิไล นักภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา กรมศิลปากร,  นิตยสารกรมศิลปากร กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่

โปรดติดตามตอนต่อไป

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 กันยายน 2559 17:09:27 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5478


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 07 กันยายน 2559 14:24:02 »



ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

หากพิจารณาถึงคุณลักษณะของเฉลวที่ใช้กันอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ แล้วจะเห็นว่า เฉลว มีรูปแบบการใช้ที่หลากหลายตามคติความเชื่อและคตินิยมของคนในท้องถิ่นหรือภูมิภาคนั้นๆ คือ

๑.การใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงการบอกขาย
    การใช้เฉลวในลักษณะดังกล่าวนี้ผู้ใช้มิได้เพ่งถึงความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใช้ต้องการใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อแสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายบางสิ่งบางประการ ที่ต้องการสื่อให้สังคมได้รับรู้ การใช้เฉลวในลักษณะนี้จึงเป็นสิ่งที่บุคคลในสังคมท้องถิ่นนั้นๆ สามารถเข้าใจและรับรู้ร่วมกันได้ เช่น การบอกขายเรือน การใช้เฉลวเพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกการขายนี้เข้าใจว่าจะเป็นของเกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งต่อมาใช้เข่งปลาทูปักแทนเฉลวก็มี (เรียกกันว่า เฉลวเข่งปลาทู)

๒.ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงว่า เป็นที่ตั้งด่านเก็บภาษี
    สมัยก่อนเรือที่บรรทุกสินค้าจากภายนอกเพื่อจะเข้ามาขายในเมืองหลวง จะต้องเสียภาษีค่าผ่านด่านคือเสียภาษีจังกอบ ซึ่งจะมีด่านเก็บภาษีจังกอบอยู่ตามลำน้ำสายหลักๆ ทั่วไปซึ่งเรียกกันว่า “ขนอน” หรือ “ด่านขนอน” คือ ด่านหรือสถานที่ที่เก็บภาษีจากสินค้าและผลิตผลที่เป็นสินค้าพื้นเมืองและสินค้าจากต่างประเทศนั่นเอง ดังปรากฏในโคลงนิราศนรินทร์ ความว่า
     มาด่านด่านบ่ร้อง      เรียกพัก พลเอย
     ตาหลิ่งตาเหลวปัก     ปิดไว้
     ตาเรียมหลั่งชลตัก     ตวงย่าน
     ไฟด่านดับแดไหม้      มอดม้วยฤามี

๓.ใช้บอกอาณาเขตการจับจองพื้นที่
    การจับจองพื้นที่เพื่อการทำเกษตรกรรมของชาวชนบทในสมัยก่อน มีการใช้เฉลวปักไว้เพื่อบอกอาณาเขตของสถานที่ที่ได้จับจองไว้ เช่น พื้นที่ที่เป็นที่นาก็จะปักเฉลวไว้ที่มุมนาทั้งสี่ด้าน ทราบว่าอาณาเขตพื้นที่นี้มีคนจับจองเป็นเจ้าของไว้แล้ว ซึ่งบุคคลทั่วไปเมื่อเห็นเฉลวที่ปักไว้ก็สามารถทราบได้ทันที
    การใช้เฉลวในลักษณะนี้ คล้ายๆ กับการใช้เครื่องหมายปักกำของชาวใต้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เพื่อแสดงเจตจำนงการหวงห้าม เช่น การนำไม้ปักกำไปปักไว้ที่หนองน้ำ ก็เพื่อบอกเจตจำนงว่าห้ามจับปลาในบริเวณนี้ หรือการนำปักกำไปปักไว้ที่สวนที่มีหญ้าเขียวชอุ่มก็เพื่อบอกเจตจำนงว่า ห้ามบุคคลมาตัดหญ้าหรือนำวัวควายเข้ามากินหญ้าในบริเวณนี้ เป็นต้น

๔.ใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงว่าเป็นเขตหรือพื้นที่ต้องห้าม
    ในการประกอบพิธีพุทธาภิเษกนั้น ส่วนมากจะมีเฉลวผูกติดไว้กับรั้วราชวัติทั้ง ๔ ทิศ ซึ่งภายในรั้วราชวัตินั้น พระสงฆ์จะประกอบพิธีพุทธาภิเษก หรือนั่งปรกปลุกเสก จัดว่าเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ การปักเฉลวไว้ที่รั้วราชวัติทั้ง ๔ ทิศนั้น ก็เพื่อกันบุคคลภายนอกเข้าไปในขณะกระทำพิธีกรรมนั่นเอง อีกอย่างหนึ่งท่านว่า เพื่อกันภูต ผี ปิศาจ หรือสิ่งอัปมงคลต่างๆ
     การปักเฉลวเพื่อแสดงว่าเป็นพื้นที่หวงห้ามนี้ ปรากฏใช้ในชาวเขากลุ่มต่างๆ โดยมีธรรมเนียมการใช้เฉลวปักเป็นเครื่องหมายห้ามไม่ให้ผ่านเข้าไปด้วย เช่น พวกกะเหรี่ยงโปที่อาศัยอยู่แถบแม่สะเรียงนั้นมีธรรมเนียมการปักเฉลวไว้ในเวลานวดข้าว เพื่อเตือนให้ทราบและห้ามบุคคลผู้ใดเข้าไปเรียกหรือชวนพูดคุย เพราะการนวดข้าวเป็นงานที่สำคัญที่ต้องทำให้เสร็จไปโดยเร็วก่อนที่จะลงมือทำงานอย่างอื่นต่อไป ดังนั้นผู้ที่เข้าไปรบกวนการทำงาน จะต้องถูกลงโทษโดยการให้ช่วยนวดข้าว และอาจจะต้องเสียค่าปรับเป็นไก่หรือไข่ไก่อีกด้วย
     กลุ่มชนพื้นเมืองในลาวตอนเหนือ ทำเฉลวเป็นเครื่องหมายป้องกันสิ่งอัปมงคลและวิญญาณร้ายที่จะเข้ามาทำให้คนเจ็บป่วย ซึ่งก็มีทั้งแบบชั้นเดียว ปักไว้ตามทางเข้าบ้านหรือหลายแบบหลายขนาด ประกอบเป็นซุ้มประตูศักดิ์สิทธิ์บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน เช่น ซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านของชนเผ่า kho Pouly ทำเฉลวไว้เพื่อป้องกันสิ่งอัปมงคลและกันบุคคลภายนอกรุกล้ำเข้ามาในบริเวณพื้นที่ของตน
     ชาวเย้ามีความเชื่อว่า ป่าเป็นที่อยู่ของพวกภูต ผี ปิศาจ และวิญญาณร้ายต่างๆ ส่วนหมู่บ้านนั้นเป็นที่อยู่ของคนบ้านกับป่าจึงต้องแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด ประตูหมู่บ้านคือบริเวณที่แบ่งเขตบ้านกับป่า การปักเฉลวไว้ที่ประตูบ้านก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผีจากป่าเข้ามาในหมู่บ้านนั่นเอง
     ชาวล้านนาบางท้องถิ่นมีธรรมเนียมการปักเฉลวไว้ที่ประตูบ้านหรือที่บันได หากคนในครอบครัวต้องทิ้งบ้านไปนานหลายๆ เดือน จุดประสงค์เพื่อห้ามปรามบุคคลภายนอกไม่ให้เข้ามาในเรือนนั่นเอง อีกประการหนึ่งก็คงใช้กันภูต ผี ปิศาจและสิ่งที่เป็นอัปมงคลต่างๆ ด้วย
     ความเชื่อในลักษณะเดียวกันนี้ ยังพบได้ในกลุ่มชนชาวเขาอื่นๆ เช่น อาข่าและชาวเผ่าข่า โดยที่เป็นประเพณี และความเชื่อที่สืบทอดกันมายาวนาน ทั้งกรณีกระทบกับความผาสุกของทุกคนในหมู่บ้าน  ดังนั้น ชาวเขากลุ่มต่างๆ จึงถือเป็นประเพณีต้องทำตามข้อปฏิบัติที่จะละเลยไม่ได้ และเพื่อเป็นการห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาในบริเวณหมู่บ้านอย่างเด็ดขาด บางกลุ่มจึงใช้เลือดสัตว์เซ่นบูชาผีและอารักษ์ทาเฉลว แล้วนำไปปักไว้ที่ทางเข้าประตูบ้าน





ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

๕.การใช้เฉลวเพื่อการขับไล่ภูตผีและสะกดวิญญาณภูตผี
     ประเพณีชาวพายัพและชาวอีสานมีการใช้เฉลวในพิธีเกี่ยวกับคนตายด้วย โดยเมื่อเสร็จพิธีสวดศพ และจัดเคลื่อนศพไปป่าเร่ว ในขณะที่เคลื่อนขบวนไปนั้น ผู้ประกอบพิธีจะทิ้งเฉลวไปตามทางที่ขบวนเคลื่อนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงป่าเร่ว เพื่อปิดทางป้องกันมิให้วิญญาณของผู้ตายที่ติดตามร่างของตนไปนั้นกลับมาบ้าน เพราะเมื่อทำพิธีเผาหรือฝังแล้ว เมื่อวิญญาณหาร่างกายของตนไม่พบจะวนเวียนกลับมาบ้านอีก การทิ้งเฉลวลงตามทางจึงเป็นการป้องกันการกลับมารบกวนของวิญญาณ ในกรณีของการฝังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าวิญญาณของผู้ตายจะกลับไปเข้าในร่างกายไม่ได้อีก ผู้ทำพิธีจะวางเฉลวไว้เหนือหลุมศพอีกด้วย”

๖.ใช้เฉลวในพิธีแรกนาและทำขวัญข้าว
     โดยทั่วไปก่อนที่จะลงมือทำนานั้น ชาวนาจะทำพิธีเชิญขวัญข้าวหรือพิธีแรกนาในบริเวณที่นาของตนเอง เพื่อเสี่ยงทายและขอต่อเจ้าหน้าที่และแม่โพสพ เพื่อให้ต้นข้าวเจริญงอกงามดี ไม่มีภัยพิบัติมารบกวนและให้ผลดี ความเชื่ออีกอย่างหนึ่งที่ชาวนาถือปฏิบัติสืบมาตั้งแต่โบราณคือ ความเชื่อเกี่ยวกับการทำขวัญข้าว มีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ข้าว เชื่อว่าการทำขวัญข้าวจะทำให้การทำนาในปีต่อไปจะได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย และข้าวที่เก็บเกี่ยวไว้ในยุ้งฉางก็จะมีพอกินตลอดปี ชาวนาจะทำตาเหลวหรือเฉลวขนาดใหญ่มาปักไว้พร้อมด้วยเครื่องสังเวยเรียกว่า “ตาเหลวแรกนา” หรือ “ตาเหลวหลวง” มีลักษณะเป็นเฉลวพิเศษที่ใช้ในพิธีแรกนา โดยเฉพาะตาเหลวชนิดนี้ทำขึ้นให้มีลักษณะคล้ายว่าวใหญ่ผูกติดกับไม้ไผ่ซึ่งจะตัดมาใช้ทั้งลำ ใช้เชือกเป็นโซ่ทำรูปปลาห้อยลงมาสองตัว รูปปลาอาจทำด้วยแผ่นไม้หรือไม้ไผ่สานก็ได้
     ตาเหลวชนิดนี้ เจ้าของนาจะติดตั้งขึ้นเป็นพิเศษในพิธีกรรมแรกนา โดยการกันเอาที่มุมคันนาด้านหัวนาเป็นปริมณฑลสี่เหลี่ยมจัตุรัสแล้วกั้นรั้วราชวัติกว้างยาวประมาณ ๑ เมตร ล้อมรอบอยู่ ๓ ด้าน ที่มุมทั้งสี่จะมีตาเหลวขนาดปกติตั้งอยู่พร้อมภาชนะสำหรับใส่เครื่องบัตรพลีไว้ด้วย บางสถานที่อาจจะไม่กระทำราชวัติก็ได้ เพียงแต่ปักส้อหล้อ (ส้อหล้อ คือ เครื่องจักสานที่ทำขึ้นเพื่อรองรับสิ่งอื่น อาจใช้รองรับหม้อน้ำดื่มหรือวางเครื่องบูชาอย่างในพิธีแรกนา) บรรจุเครื่องบัตรพลี ๕ ชุด เป็นปริมณฑลรอบแท่นบัตรพลีแทน
     ต่อจากนั้น ภายหลังเก็บเกี่ยวและข้นข้าวมายังลานนวดข้าวแล้ว เพื่อคุ้มครองข้าวเปลือกที่กองอยู่และยังไม่ได้ขนขึ้นยุ้งฉางนั้น ชาวนาจะทำเฉลวขนาดใหญ่เรียก “เฉลวหลวง” มาปักไว้ในทิศต่างๆ รอบกองข้าวเปลือก เพื่อกันคนและผีขโมยข้าวเปลือก
     ตาเหลวหลวงนี้บางครั้งก็จะใช้ในงานสืบชะตาบ้านชะตาเมือง สืบชะตาหลวงหรือใช้สำหรับให้คน สัตว์ ลอดผ่านเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ได้ลอดผ่านใต้เฉลว เชื่อกันว่าสามารถขจัดสิ่งชั่วร้ายและความอัปมงคลทั้งหลาย

๗.ใช้เฉลวปักไว้ที่หม้อยาสมุนไพร
     การนำเฉลวมาปักไว้ที่หม้อยาสมุนไพรของหมอพื้นบ้านนั้น มีคติความเชื่อที่หลากหลาย แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า ส่วนมากก็จะเป็นไปในทำนองเดียวกันคือ
        ๗.๑ เชื่อว่าเป็นการห้ามคนธรรพ์ วิทยาธร หรือภูตผีข้ามหม้อยา ซึ่งจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพไป
        ๗.๒ เพื่อกันคนเปิดดูหม้อยา ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ยาเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ (หมอพื้นบ้านมักจะหวงวิชาของตัวเอง การนำเฉลวมาปักที่หม้อยาก็เพื่อกันไม่ให้เปิดหม้อยาแล้วล่วงรู้ถึงตัวยาที่ตัวเองประกอบขึ้นนั่นเอง)
        ๗.๓ เชื่อว่าหม้อยาที่ไม่ลงคาถาอาคมหรือปักเฉลวกันไว้ เมื่อถือหม้อยานั้นผ่านบ้านหมอคนอื่น จะทำให้สรรพคุณทางตัวยาเสื่อมคุณภาพ
        ๗.๔ เพื่อกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวกับหม้อยา เช่น การใส่อะไรลงไปในหม้อยา ตลอดถึงการจับต้องเคลื่อนย้ายหม้อยา หม้อยาที่มีเฉลวปักไว้ย่อมเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการห้ามปรามซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจได้
        ๗.๕ เฉลวนั้น ท่านว่าเป็นเสมือนตัวแทนของหมอยา เพราะหมอยานอกจากจะให้เครื่องยาแล้ว ก็ยังบริกรรมปลุกเสกเครื่องยาเหล่านั้นด้วย การปักเฉลวไว้ที่หม้อยาเป็นการกำกับคาถาอาคมที่เสกยาให้อยู่ที่หม้อยานั่นเอง อีกอย่างท่านว่าเป็นการให้กำลังใจให้ผู้เจ็บป่วย เพราะเมื่อผู้ป่วยมีกำลังใจดีแล้ว โรคาพยาธิก็อาจจะระงับได้เร็วกว่าปกติ

๘.ใช้เฉลวปิดหน้าเพื่อประจานความผิด
     โบราณใช้เฉลวปิดหน้าประจานความผิดเพื่อไม่ให้บุคคลอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ซึ่งผู้ที่ถูกเอาเฉลวปิดหน้าแล้วนำออกประจานให้สาธารณชนได้รับรู้รับทราบนั้น ถือว่าเป็นผู้ที่ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ดังปรากฏในหนังสือกฎหมายตราสามดวง บทพระไอยการลักษณะผัวเมีย มาตรา ๖ กล่าวโทษลักษณะหญิงมีชู้ว่า “หญิงใดดุจดังอำแดงอูนี้ก็ดี ผัวรู้ด้วยประการใดๆ  พิจารณาเป็นสัจไซร้ ท่านให้ผจานหญิงและชายนั้นด้วยไถ ส่วนหญิงอันร้ายให้เอาเฉลวปะหน้าทัดดอกชบาแดงทั้งสองหู ร้อยดอกชบาแดงเป็นมาลัยใส่ศีรษะและคอ แล้วให้เอาหญิงนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง ชายชู้เทียมแอกข้างหนึ่ง ผจานด้วยไถ ๓ วัน ถ้าแลชายผู้ผัวนั้นยังรักเมียอยู่ มิให้ผจานไซร้ ท่านให้เอาชายผู้ผัวนั้นเข้าเทียมแอกข้างหนึ่ง หญิงอยู่ข้างหนึ่ง อย่าให้ปรับไหมชายชู้นั้นเลย”
     ในวรรณกรรมภาคใต้ เรื่อง “พระวรวงศ์คำกาพย์” ตอนหนึ่งกล่าวถึงนางกาไวยว่า ถูกทำโทษโดยการเอากะหลิว (เฉลว) ปะหน้าทัดและสวมมาลัยดอกชบาแล้วเอาเข้าเทียมแอกเพื่อประจาน ก่อนที่จะถูกฝังทั้งเป็นเหลือเพียงคอแล้วถูกไถด้วยไถจนถึงแก่ความตาย ดังประพันธ์ว่า
     สานกะหลิว สามชั้น     รัดเกล้าสุวรรณ     ปะหน้าเทวี
     แล้วเอาน้ำมัน           ยางใส่ส่าดี          ทาหัวเทวี
     เอานุ่นซัดลง    
     แล้วสูเอาฆ้อง            ตีไปหม่องๆ          ป่าวร้องประจาน
     ให้มันว่าไป              ทุกแดนสถาน       ร้องทุกหน้าร้าน
     หน้าบ้านทุกแห่ง

๙.ใช้เฉลวเป็นวัตถุมงคลหรือเครื่องราง เพื่อการคุ้มครองป้องกันตัว
     พระเกจิอาจารย์สมัยโบราณได้นำรูปแบบเฉลวมาประดิษฐ์เป็นแบบยันต์ซึ่งเรียกกันว่า “ยันต์เฉลวเพชร” ลงในวัตถุมงคลประเภทต่างๆ เช่น เหรียญผ้ายันต์ เสื้อยันต์ พระปิดตา หรือตะกรุด เป็นต้น  ต่อจากนั้นก็ได้ประจุพลังความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ลงในวัตถุมงคลเหล่านั้น เพื่อให้เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ พุทธบริษัทผู้มีความเคารพเลื่อมใสใช้พกพาติดตัวเป็นเครื่องรางเพื่อป้องกันอุปัทวะอันตรายและสิ่งอัปมงคลต่างๆ ตัวอย่างเช่น การใช้ยันต์เฉลวเพชรประทับหลังพระปิดตาเกลอเดี่ยวของหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จังหวัดนครปฐม ซึ่งพุทธคุณที่ปรากฏในพระปิดตาหลวงพ่อทาก็คือ คงกระพัน เมตตา และแคล้วคลาด



ภาพจาก : นิตยสารศิลปากร ฉบับที่ ๓ พ.ค.- มิ.ย.๕๙

๑๐.ใช้ปัดรังควานและป้องกันโรคระบาดต่างๆ
     ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ผลิตเงินพดด้วงเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่างๆ อาทิ เงินพดด้วงตราเฉลว เป็นพดด้วงเงินมีราคาเดียว คือ ชนิดราคาหนึ่งบาท ประทับตราเฉลวอยู่ด้านบน ด้านหน้าไม่มีตราประทับ ปรากฏความว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เกิดโรคอหิวาต์ระบาดไปทั่วทั้งเมืองหลวงในพุทธศักราช ๒๓๙๒ มีผู้คนล้มตายราวสี่หมื่นคนรวมทั้งพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ด้วย  ศพลอยเป็นแพตามแม่น้ำลำคลองหลายแห่ง   พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๓ ว่า เมื่อเดือน ๗ แรม ๑ ค่ำ เกิดความไข้ป่วงทั้งแผ่นดิน ไข้นั้นเป็นมาแต่ประเทศฝ่ายทะเล เป็นมาแต่เมืองฝ่ายตะวันตกขึ้นมาก่อน ไข้นั้นเป็นขึ้นมาถึงกรุงเทพมหานคร เป็นขึ้นไปจนถึงเมืองฝ่ายเหนือ เสียพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์องค์ ๑ พระองค์เจ้าจินดาองค์ ๑ พระราชธิดา พระองค์เจ้าพวงแก้วองค์ ๑ เสนาบดี เจ้าพระยาบดินทร์เดชา ๑  พระองค์โปรดให้บำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการใหญ่และนิมนต์พระสงฆ์ให้สวดมนต์ขับไล่ความเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วโปรดให้ประชาชนถือศีลสร้างกุศล หลังจากนั้นจึงมีฝนตกลงมาห่าใหญ่ช่วยชำระสิ่งสกปรกให้หมดไป ไม่นานความไข้ก็หายไป จึงเชื่อกันว่าโปรดให้ผลิตพดด้วงตราเฉลวขึ้นและแจกให้ประชาชนไว้เพื่อป้องกันโรคระบาด
     ลักษณะดังกล่าวนี้ เช่นเดียวกับการสร้างเงินตรานะโมของเมืองนครศรีธรรมราช ตามตำนานเล่าว่าพระยาศรีธรรมโศกราช ซึ่งเดิมเป็นพราหมณ์ชาวอินเดีย ชื่อว่า พราหมณ์มาลี ได้อพยพมาจากอินเดียหนีข้ามเขาสกมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและมาตั้งมั่นอยู่ที่บ้านน้ำรอบ แต่เนื่องจากภูมิประเทศบ้านน้ำรอบอยู่ในระหว่างภูเขาห้วยธารป่าดง ประกอบทั้งผู้อพยพเป็นพวกอยู่ใกล้ทะเล ครั้นมาอยู่ในที่ๆ ผิดอากาศก็เกิดไข้ห่าขึ้นในหมู่พวกอพยพ ต้องย้ายไปทางฝั่งทะเลตะวันออก พบหาดทรายแก้วจึงได้ตั้งมั่นลงที่นั้น แม้จะเกิดไข้ห่าขึ้นอีกก็มิได้รื้อถอนอพยพอีก ต่อมาพระยาศรีธรรมโศกราชจึงปรึกษาด้วยมหาเถรผู้เป็นอาจารย์และอธิบดีพราหมณ์ให้หาอุบายป้องกันโรคห่าซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ ให้หายขาด พระมหาเถรและอธิบดีพราหมณ์จึงเห็นพ้องกันประกอบพิธีทำเงินตรานโมขึ้นแล้วนำไปกระทำพิธีอาถรรพ์เวท ฝังไว้ที่ประตูเมืองทั้ง ๙ และตามใบเสมากำแพงเมืองโดยรอบทั้ง ๔ ทิศ ทั้งยังโปรยปรายเงินตรานโมและพรมน้ำมนต์ไปทั่วนคร ที่เหลือก็แจกให้ประชาชนทั่วไป นับแต่นั้นมาไข้ห่าก็มิได้เกิดขึ้นอีกเลย
     สำหรับไข้ห่านั้นถือเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรง การระบาดแต่ละครั้งจะก่อความเสียหายต่อชีวิตของสมาชิกในชุมชนอย่างรวดเร็วและรุนแรง ในแต่ละคราวจะมีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก หมอพื้นบ้านทั่วไปก็ไม่สามารถช่วยชีวิตผู้เจ็บป่วยได้ วิธีที่จะสู้กับโรคนี้ได้คือการอพยพหนีจากแหล่งระบาดไปอยู่ที่อื่น ชาวบ้านเรียกการระบาดของโรคนี้ว่า “ห่าลง” หรือ “บาดลง” แต่หมอพื้นบ้านส่วนใหญ่จะเรียกว่า “ไข้ยมบน” เพราะหมายความถึงว่า ความเจ็บป่วยที่มาจากพระยายมผู้เป็นเทพแห่งความหายนั่นเอง"



ที่มา - เฉลว : กฎ กติกา หรือมายาคติของบรรพชน  โดย จรัญ ทองวิไล นักภาษาโบราณ หอสมุดแห่งชาติกาญจนาภิเษก สงขลา กรมศิลปากร,  นิตยสารกรมศิลปากร กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 กันยายน 2559 14:27:13 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.546 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้