[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
17 พฤษภาคม 2567 06:08:27 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 170 171 [172] 173 174 ... 275
3421  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / Re: สูตร มะเฟืองหยี...มีใครสักกี่คนที่ได้ชิม...กัดแล้วฟิน กินแล้วใช่! เมื่อ: 03 กันยายน 2558 15:00:08
.




เม็ดสีน้ำตาลรีๆ คือเม็ดมะเฟือง ส่วนนี้รสชาติเหมือนเม็ดแตงโมอบ เป็นส่วนที่ "อร่อยที่สุด"

ห่วงหน้าพะวงหลัง...ยังวนเวียนกับมะเฟืองหยี
เอาภาพมะเฟืองหยีมาให้ชม

จะเห็นว่า 'มะเฟืองหยี' ครั้งนี้ มีสีแดงเข้มจัด
เกิดจากการนำน้ำเชื่อมที่ใช้เชื่อมมะเฟืองจากคราวที่แล้ว
มาผสมในการเชื่อมครั้งหลังนี้ด้วย ทำให้เนื้อมะเฟืองมีสีแดง

การเชื่อมกล้วยน้ำว้าที่มีสีแดงก็เช่นเดียวกัน
จะเห็นว่ากล้วยที่แม่ค้าเชื่อมขาย มีสีแดงเข้มมากกว่าเราเชื่อมกินกันบ้าน
นั่นเพราะการใช้น้ำเชื่อมที่เหลือจากการเชื่อมครั้งที่แล้วๆ มาผสมลงไปด้วย
(ยิ่งเชื่อมนาน น้ำตาลยิ่งออกสีแดงเข้มขึ้นๆ)




3422  สุขใจในธรรม / เสียงธรรมเทศนา / ปล่อยวาง ว่างสบาย โดย หลวงปู่ชา สุภัทโธ (พระโพธิญาณเถร) เมื่อ: 31 สิงหาคม 2558 09:59:39
.


หลวงปู่ชา-ปล่อยวาง ว่างสบาย


ปล่อยวาง ว่างสบาย
หลวงปู่ชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร)
3423  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: บันทึกไว้ในแผ่นดิน เมื่อ: 30 สิงหาคม 2558 10:08:38

ภาพจาก : เว็บไซท์ encrypted-tbn3.gstatic.com

รัฐยะไข่ บ้านโรฮีนจา
คนไทยคุ้นเคยเรียก“ยะไข่” ชื่อในพงศาวดารสยามมานาน แต่ภาษาอังกฤษเขียนตามสำเนียงพม่าว่า “Rakhine” เมื่อเปิดฟังการออกเสียง ได้ยินว่า “ยะคาย”

(บทความพิเศษของนิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘ง ปัญหาประวัติศาสตร์ของชาว โรฮีนจา แห่งรัฐยะคาย (ยะไข่)

คำยะคาย เชื่อกันว่ามาจากภาษาบาลี “รากขะบุรี” ที่แปลว่า ดินแดนของรากษส ซึ่งอาจจะหมายถึงชนเผ่าดั้งเดิมที่สุด คือ นิกริโต

คำคุ้นเคยรองลงไปคือ “อาระกัน” หรือรัฐอาระกัน ชาวอังกฤษยุคอาณานิคม เรียกดินแดนนี้ว่า อาระกัน ตามสำเนียงโปรตุเกส ที่ถ่ายเสียงยะคายไปผิดๆ

ตำนานชาวยะไข่ เล่ากันว่า รัฐนี้รุ่งเรืองมาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ เมื่อเกือบห้าพันปีที่แล้ว มีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องกันมา ๒๒๗ องค์ และเพิ่งล่มสลายไปโดยกองทัพพระเจ้าปดุง กษัตริย์เมียนมา ใน ค.ศ.๑๗๘๔

เรื่องดินแดนที่ปกครองในแต่ละยุคตำนานเล่าไว้ต่างกัน บางยุคว่า ครอบครองไปถึงอังวะ แถบลุ่มแม่น้ำอิรวดี ถึงเมืองตานลยิล หรือเมืองสิเรียม จุดสบกันระหว่างแม่น้ำหงสากับแม่น้ำย่างกุ้ง

เคยเป็นเมืองท่าสำคัญของพ่อค้าโปรตุเกส ข้ามทะเลไปถึงภาคตะวันออกของรัฐเบงกอล

แต่เรื่องเล่าเหล่านี้ ไม่เคยมีเอกสารประวัติศาสตร์ฉบับใดรองรับยุคประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานทางโบราณคดีรองรับมั่นคง คือ ยุคธัญวดี และยุคทองของยะไข่ คือ “ยุคมลุคก อู”

แต่กระนั้นก็ยังมีเรื่องก่อให้เกิดข้อขัดแย้งสำคัญก็คือ ยุคต้นกำเนิดแห่งธัญวดีนั้น ราษฎรที่อาศัยอยู่...เป็นชนเผ่าใด ซึ่งโยงมาถึงปัญหาที่ถกเถียงกันถึงวันนี้...

คนเชื้อสายโรฮีนจาเชื่อว่า พวกเขาเป็นชนพื้นเมืองอยู่ที่ธัญวดีมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ นักวิชาการบางส่วนว่า ชาวโรฮีนจาเชื้อสายอินโด-อารยันปกครองและอยู่อาศัยในดินแดนนี้ นักวิชาการบางส่วนว่า ชาวโรฮีนจาสืบเชื้อสายชาวเปอร์เซีย

A.S.Nayaka เสนอไว้ในบทความว่า อาระกันโบราณ เป็นชาวอินโด-อารยัน จากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคา เข้าไปตั้งหลักแหล่งอาศัยในหุบเขากาลดาน โดยก่อนที่จะเคลื่อนย้ายไปอาระกัน ชาวอินโด-อารยันเหล่านี้ แต่งงานเป็นดองผสมผสานกับพวกเผ่ามองโกลอยด์ (ชนผิวเหลือง) ในอินเดียตะวันออก

นักโบราณคดีชาวอาระกัน ชื่อ U san shwe เสนอว่า พวกอินโด-อารยันที่มาอยู่ในอาระกันนั้น ไปจากริมฝั่งแม่น้ำคงคา ไปตั้งเมืองหลวงอยู่ที่ธัญวดี

Pamera Gutman เสนอความเห็นว่า แหล่งโบราณคดีที่เก่าที่สุดที่ทราบกันคือธัญวดี ตั้งลึกเข้าไปตามแม่น้ำ ห่างชายฝั่งทะเล ๙จ กิโลเมตร อยู่ในเส้นทางคมนาคมระหว่างเขตภูเขาสูงภาคเหนือกับอ่าวเบงกอล

ธัญวดี เป็นศูนย์กลางทางการค้าในยุคโบราณ วัดมหามุนี (พระมหามัยมุนี) น่าจะเป็นแหล่งจารึกแสวงธรรมอันสำคัญในเอเชียอาคเนย์ พระมหามุนี ถูกย้ายออกไปโดยกษัตริย์อาณาจักรข้างเคียง (พระเจ้าปดุง)

รูปแบบประติมานวิทยา แม้จะมีส่วนสัมพันธ์กับศิลปะยุคคุปตะ แต่ก็ไม่มีหลักฐานแสดงชี้ชัดถึงความโยงใยโดยตรงกับศิลปะตระกูลช่างอินเดีย

เป็นไปได้ว่า ช่างประติมากรรมท้องถิ่นจะสร้างสรรค์กันเองโดยตีความจากคัมภีร์ประติมานวิทยาของอินเดีย

การค้นพบทางโบราณคดีในยะไข่ แสดงถึงความสำคัญของยะไข่ที่มีบทบาทเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างอินเดียกับสุวรรณภูมิ

เมืองธัญวดี ร่วมสมัยกับศรีเกษตร ในลุ่มแม่น้ำอิรวดี แต่ธัญวดีอยู่ใกล้ทะเลมากกว่าศรีเกษตร จึงติดต่อสัมพันธ์กับอินเดียได้สะดวกมากกว่า

Kway Minn Htin เสนอเรื่องธัญวดีไว้ว่า ธัญวดี เป็นเพื่อนบ้านร่วมสมัยกับศรีเกษตร นอกจากมีความแตกต่าง ยังมีลักษณะร่วมกัน ตั้งแต่ลักษณะการก่อสร้างด้วยอิฐตามพื้นที่ภายนอก พื้นที่ภายในและกำแพงเมือง แผนผังเมือง และโครงสร้างอาคารของชาวพยู (ศรีเกษตร) และชาวยะไข่ คล้ายคลึงกัน

แต่เมืองสองเมืองนี้ มีความแตกต่างด้านภูมิอากาศ และขนาดของเมือง

เมืองยะไข่ในช่วงสหัสวรรษแรก ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งทะเล ในขณะเมืองของชาวพยู ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่แห้ง ในหุบเขาอิรวดี เมืองชาวยะไข่ตั้งด้านรับลมของเทือกเขาอาระกันกับโบมา จึงมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าถึงปีละ ๕๐๐ เซนติเมตรต่อปี

ขณะที่เมืองศรีเกษตร ตั้งอยู่ในด้านอับลม และมีปริมาณน้ำฝนเพียงปีละ ๙๐-๑๕๐ เซนติเมตรต่อปี

รัฐอาระกันหรือยะไข่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวยะไข่ บางส่วนเป็นชาวอินเดียและบังกลาเทศ ชาวยะไข่เป็นเชื้อสายเดียวกับชาวพม่า ภาษาที่ใช้พูดก็เป็นภาษาพม่า ส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา ส่วนน้อยนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่

ชาวยะไข่มุสลิมเหล่านี้เอง ที่เรียกว่า โรฮีนจา ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายจากชาวอินเดียมุสลิมในเบงกอล อยู่ทางตอนเหนือของยะไข่ ส่วนชาวยะไข่นับถือพุทธฯ อยู่กันมากทางภาคใต้

ปี พ.ศ.๒๕๒๓ มุสลิมจากรัฐยะไข่ หนีเข้าไปบังกลาเทศสองแสนคน รัฐบาลบังกลาเทศกล่าวหารัฐบาลพม่าผลักดันให้มุสลิมเหล่านั้นลี้ภัย เรียกร้องให้พม่ารับคืนไป แต่พม่าไม่ยอม อ้างว่าชาวมุสลิมเหล่านั้นลักลอบเข้าเมือง

เหตุการณ์ทำนองนี้ เกิดขึ้นอีกในปี ๒๕๓๔-๒๕๓๕ ชาวโรฮีนจา กล่าวหาว่าทหารพม่าทำทารุณกรรม...เป็นเหตุให้พวกเขาอีกสามแสนคนต้องหนีไปบังกลาเทศ

ปัญหานี้เรื้อรังมาจนถึงปีนี้ ปี ๒๕๕๘ ชาวโรฮีนจาอพยพไปประเทศอาเซียนมากขึ้นๆ รัฐบาลแต่ละประเทศพยายามแก้ไขปัญหา โดยวิธีประนีประนอม จนบัดนี้ ปัญหานี้ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ  
นสพ.ไทยรัฐ



เมืองโบราณอู่ทอง
ภาพจาก : เว็บไซท์ oknation.net

อู่ทอง ที่รอการฟื้นคืน
นักอ่านเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดี ที่ยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัย...ระหว่างเมืองออกแก้วของญวน และเมืองอู่ทองของไทย...เมืองใดมีอายุเก่าแก่ จนเป็น“ฟูนัน” ตามการสันนิษฐานและถกเถียงของผู้รู้หลายท่าน...มาเนิ่นนานนั้น

หากได้อ่านหนังสืออู่ทองที่รอการฟื้นคืน ผ่านรอยลูกปัด และพระพุทธศาสนาแรกเริ่ม ในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง-ท่าจีน จัดพิมพ์โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์กรมหาชน) และมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญญา

แล้วจะเกิดปัญญา ได้ข้อยุติว่า ออกแก้ว ก็คือออกแก้ว อู่ทอง ก็คืออู่ทอง

ในกรอบพื้นที่ที่จำกัด ขออนุญาตคัดย่อ บทนำของ...ศาสตราจารย์ผาสุข อินทราวุธ...บางตอน ดังต่อไปนี้

เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๖ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเมืองโบราณอู่ทอง ทรงเล่าเรื่องเมืองอู่ทองว่า อาจจะเป็นเมืองที่พระเจ้าอู่ทององค์ที่สร้างกรุงศรีอยุธยาเคยครองราชย์อยู่ก่อน

พ.ศ.๒๔๗๓ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ชักชวน ยอร์ช เซเดส์ ได้เข้าสำรวจขุดค้นศึกษาเมืองโบราณอู่ทอง เซเดส์สันนิษฐานว่า อู่ทองอาจเคยเป็นราชธานีของอาณาจักรทวารวดี ซึ่งมีที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ ลงความเห็นต่อมาว่า เมืองอู่ทองเก่าแก่ยิ่งเมืองโบราณสมัยทวารวดีอื่นๆ เช่น นครปฐมโบราณ และเมืองคูบัว

ศาสตราจารย์ พอล วิทลีย์ ลงความเห็นว่ารัฐ “จินหลิน” ในจดหมายเหตุจีนราชวงศ์เหลียง เป็นรัฐสุดท้ายที่ฟันมัน กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรฟูนัน ปราบได้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๙ นั้น น่าจะตั้งอยู่ที่เมืองอู่ทอง

คำ“จินหลิน” หมายถึงดินแดนแห่งทองหรือสุวรรณภูมิ เป็นรัฐที่ตั้งอยู่ห่างอาณาจักรฟูนันมาทางตะวันตกประมาณ ๒,๐๐๐ ลี้ (๘๐๐ กิโลเมตร) ซึ่งตรงกับบริเวณเมืองอู่ทอง

ข้อสันนิษฐานในบทความของศาสตราจารย์ ฌอง บัวเซลีเยร์...เมืองอู่ทองเป็นเมืองหลวงของรัฐทวารวดี เมืองอู่ทองเป็นเมืองเดียวที่พบจารึกกล่าวถึงพระนามของกษัตริย์ทวารวดี คือพระเจ้าหรรษวรมัน อันเป็นพระนามของกษัตริย์ที่ไม่รู้จักกันในราชวงศ์เจนละ

ในหัวข้อเรื่อง ทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับสถานที่ตั้งอาณาจักรฟูนัน ศาสตราจารย์ ฌอง บัวเซ–ลีเยร์ กล่าวว่า ราชธานีของอาณาจักรฟูนัน อาจจะอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเมืองอู่ทอง

ดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขง เป็นดินแดนที่ถูกปราบปราม เนื่องจากวัฒนธรรมแบบฟูนันที่เมืองออกแก้ว ไม่ได้สืบต่อลงไปในวัฒนธรรมแบบเจนละ แต่ขาดหายไป

เครื่องประดับทองแดง–ดีบุก–ลูกปัดจำนวนมาก และเครื่องปั้นดินเผาแบบต่างๆ ที่พบในเมืองออกแก้ว ไม่ปรากฏมีในอาณาจักรเจนละ

ตรงกันข้ามกับอาณาจักรทวารวดี ซึ่งเป็นผู้สืบต่อโดยตรงจากอาณาจักรฟูนัน มีการสืบต่อในการใช้โบราณวัตถุแบบเดียวกัน เครื่องปั้นดินเผาแบบเดียวกัน ลงไปจนถึงสมัยทวารวดี

ศาสตราจารย์ผาสุข อินทราวุธ บอกว่าผลการศึกษาและตีความจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากการสำรวจและขุดค้นประกอบกับหลักฐานด้านโบราณวัตถุโบราณสถานและหลักฐานด้านจารึก นำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า

รัฐทวารวดี ไม่ได้เจริญสืบต่อมาจากรัฐฟูนันตามที่เคยเข้าใจกัน หากแต่รัฐทวารวดีนั้นมีพัฒนาการสืบต่อมาจากชุมชนระดับหมู่บ้านในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (ยุคเหล็ก) ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย

ชุมชนดังกล่าวนี้มีความเจริญทางเทคโนโลยีหลายด้าน มีการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนร่วมสมัยในเวียดนามและจีนตอนใต้ ในขณะเดียวกันได้เริ่มติดต่อค้าขายกับกลุ่มประเทศทางตะวันตก โดยเฉพาะกับชาวอินเดีย

เมืองโบราณอู่ทองเป็นเมืองที่มีความเก่าแก่กว่าเมืองโบราณสมัยทวารวดีเมืองอื่น และเป็นเมืองที่มีบทบาททั้งด้านเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าสำคัญของรัฐทวารวดี และมีบทบาทเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนารุ่นแรกของรัฐทวารวดี

ส่วนเมืองท่าโบราณที่กลายเป็นศูนย์กลางของศาสนาพราหมณ์ คือเมืองออกแก้ว ในประเทศเวียดนามตอนใต้ซึ่งมีพัฒนาการมาจากเมืองท่าโบราณจนกลายเป็นเมืองท่าสำคัญของรัฐฟูนัน และเป็นเมืองที่ศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา

ในประเทศพม่ายังได้พบว่า เมืองเบะถาโน เมืองโบราณและศูนย์กลางการค้าสำคัญของรัฐปยู ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิรวดีตอนกลางของพม่า ได้กลายเป็นศูนย์กลางของศาสนาพราหมณ์ไวษณพนิกาย อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง (เบะถาโน แปลว่า เมืองของพระวิษณุ)

ศาสตราจารย์ผาสุข อินทราวุธ สรุปว่าข้อสมมติฐานอู่ทองเป็นเมืองหลวงรุ่นแรกของรัฐทวารวดีก็คือการพบแม่พิมพ์เหรียญรูปหม้อปูรณฆฏ สำหรับผลิตเหรียญที่มีจารึกและแม่พิมพ์รูปสังข์และรูปพระอาทิตย์กำลังขึ้น สำหรับผลิตเหรียญที่ไม่มีจารึก ทั้งยังได้พบชิ้นแร่เงิน วัตถุดิบในการผลิตเหรียญ ซึ่งเข้าใจว่านำมาจากรัฐฉานประเทศพม่า

หลักฐานเหล่านี้ช่วยชี้ให้เชื่อว่า เมืองอู่ทองเป็นเมืองหลวงรุ่นแรกของรัฐทวารวดี เด่นชัดยิ่งขึ้น.
นสพ.ไทยรัฐ



ภาพจาก : เว็บไซท์ siamintelligence.com

ตำนาน...ตำรวจหญิง

อนุสาวรีย์ตำรวจ ที่เคยอยู่หน้ากรมตำรวจ ที่ผมเขียนไปว่าอุ้มผู้หญิงนั้น พ.ต.อ.(พิเศษ) สมพร จารุมิลินท กรุณาบอกมาว่าไม่ใช่ผู้หญิงครับแต่ “อุ้มผู้ชาย”

คุณสมพรอยู่กรมตำรวจมานาน...จนรู้ว่าเดิมทีอนุสาวรีย์เป็นสีดำ แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีทอง ตามความชอบความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ย ของ อ.ต.ร.ท่านหนึ่ง

ตำรวจรุ่นเก่า ไหว้และปฏิญาณตัว จะทำหน้าที่อย่างซื่อตรงกับอนุสาวรีย์ทุกวัน วันเกษียณได้รูปหล่ออนุสาวรีย์ย่อส่วนมาไหว้ต่อที่บ้าน ถึงวันนี้ อนุสาวรีย์ก็ยังมีความหมายกับท่านอยู่

ผมไม่รู้ว่าเมืองไทยเรามีตำรวจหญิงเมื่อไหร่ ตำรวจหญิงมาขึ้นหน้าขึ้นมาเอาก็ตอนผมเป็นนักข่าว ราวปี ๒๕๑๙ สมัย พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ เป็น อ.ต.ร. มีตำรวจหญิงหน้าตาสะสวย เป็นประชาสัมพันธ์

นางหนึ่งสวยมากเก่งมาก ยิงปืนแม่นระดับเหรียญทอง ยูโดสายดำ บ้านอยู่สามพราน ตอนลงรถเมล์เดินกลับบ้าน ตอนสงกรานต์คนเล่นสาดน้ำ ไม่มีใครกล้าสาดน้ำเธอเลย เพราะรู้จักเธอดี

ผมพยายามค้นประวัติตำรวจเก่าสมัยอยุธยา ขุนแผนสะท้าน ปลัดซ้าย คู่กับขุนพิศฉลูแสน ปลัดขวา ศักดินา ๔๐๐ จากหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง แต่หาไม่เจอ

มาเจอ ประวัติตำรวจหญิง ในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานเรียกว่า “โขลน”


คำ “โขลน” แรกปรากฏในจารึกวัดศรีชุม สมัยสุโขทัย “โขลนลำพง” เป็นคำเรียกคนทำงานประจำเทวสถานสมัยอยุธยา ตำแหน่งโขลนปรากฏในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน และกฎมณเฑียรบาล

ในกฎหมายตราสามดวง เป็นนักพฤติชรานางสนองพระโอษฐ์ ตำแหน่งท้าวศรีสัจจา นา ๑,๐๐๐ ไร่ มีหน้าที่บังคับบัญชาจ่าโขลนทวาร ตรวจตราดูแลรักษาประตูวัง และเขตพระราชฐานชั้นใน

มีหญิงชาววังอยู่ในบังคับบัญชาตำแหน่งลดหลั่นกันไป นับแต่หลวงแม่เจ้า นา ๕๐๐ จ่าโขลน ๔ คน มีจ่าก้อนแก้ว จ่าก้อนทอง จ่าราชภักดี และจ่าศรีพนม นาคนละ ๔๐๐

นางชาวพระคลังและนางเสมียน นา ๓๐๐ นางราชยานแห่แหน นางใช้ประจำการ และนางทนายเรือน นา ๒๐๐

พนักงานกลางนา ๒๐๐ นาง โขลนและนางนายประตู นา ๘๐ นางเตี้ย นางค่อม นางเทย นางเผือก นา ๕๐ หญิงตักน้ำ หญิงหามวอ และหญิงตีนคลัง นา ๒๐

พวกโขลนและจ่าโขลน นอกจากดูแลรักษาประตูวัง ดูแลความสงบเรียบร้อยในวัง ยังมีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่พระสนม หากมีเหตุเจ็บป่วยหรือตาย ต้องกราบบังคมทูลโดยด่วน

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ.๒๔๑๕ มีการจัดราชการโขลนให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น โปรดให้ตรา พ.ร.บ.ฝ่ายใน ใช้บังคับบัญชาจ่าทนายเรือนโขลน พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายใน วางหลักเกณฑ์ราชการโขลนเป็นธรรมเนียมคล้ายโปลิศ

นอกจากดูแลความสงบเรียบร้อย เก็บขยะมูลฝอยแล้วยังต้องป้องกันผู้ร้ายและอัคคีภัย

เมื่อเสด็จกลับจากยุโรป โปรดให้เพิ่มอำนาจการบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายในให้มากขึ้น ทรงตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี เป็นอธิบดีกรมโขลน มีท้าวศรีสัจจาเป็นผู้ช่วยอธิบดี

ตำแหน่งอธิบดีโขลน ต่อมาเรียกว่าอธิบดีฝ่ายใน สังกัดกระทรวงวัง แต่ในทางปฏิบัติขึ้นตรงต่อพระองค์

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินีเสด็จไปประทับกับพระนัดดาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่เมืองบันดุง อินโดนีเซีย ปรากฏชื่อกรมโขลน สังกัดศาลาว่าการพระราชวัง

ปีต่อมา หลังประกาศ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๔๘๖ กรมโขลนก็ถูกยุบ

       ฯลฯ


นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันเสาร์ที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๘



พระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าธีบอ (ขวา) พระราชินีศุภยาลัต (กลาง)
และพระกนิษฐาของพระนางคือพระนางศุภยาคยี (ซ้าย)
ที่พระราชวังหลวง เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
ภาพจาก : เว็บไซท์ วิกิพีเดีย

ความเชื่อ
เห็ด (เมา) บาน อังคาร-เสาร์

พรานป่าหรือนักเดินป่า สั่งสอนสืบต่อกันมา เห็ดเมาในป่านั้นกินได้ แต่เห็ดเมาเดียวกัน บานในวันอังคารหรือวันเสาร์ ขืนไปเก็บกินอาจถึงตายได้

ความเชื่อของนักเดินป่า ไปในทางเดียวกับความเชื่อเดิมๆ ของคนโบราณ หากจะเลือกทำการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับของมีคมอย่าเลือกวันแข็ง คือวันอังคาร และวันเสาร์

ความเชื่อนี้ คนเกิดวันอังคาร เกิดวันเสาร์ ในกรุงมัณฑะเลย์ของพม่า สมัยพระเจ้ามินดง...จึงเคราะห์ร้าย

“พลูหลวง” เล่าไว้ในหนังสือ รหัสวิทยา พลังเร้นลับ (สำนักพิมพ์ ข้าวฟ่าง พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๔๓) ว่า เมื่อพระเจ้ามินดง หนีการคุกคามจากอังกฤษ ย้ายเมืองหลวงมาอยู่กรุงมัณฑะเลย์ ก็เริ่มสร้างพระราชวังใหม่

ในการก่อฤกษ์กำแพงเมือง ราชสำนักมีคำสั่งลับให้เลือกจับชายหญิงที่เกิดวันอังคารและวันเสาร์ ๕๒ คน เท่ากับจำนวนอายุของพระเจ้ามินดง มาทำอาถรรพ์ ด้วยการฝังทั้งเป็นใต้ปราสาท ใต้พระแท่นในพระที่นั่ง และตามมุมกำแพงเมือง

ชายที่ถูกเลือกต้องมีร่างกายบริสุทธิ์ ไม่มีรอยสักในตัวเป็นมลทิน ผู้หญิงนอกจากเป็นสาวสวยก็ต้องยังไม่เจาะหู

แต่การจะใช้ทหารไปเลือกจับซึ่งหน้า เอาคนมาจากบ้าน กว่าจะได้ครบ ๕๒ คน คงจะทำได้ยาก เพราะเมื่อข่าวแพร่ออกไป ผู้คนจะแตกตื่นหนี

จึงต้องใช้อุบาย หาละครมาเล่นกลางแจ้ง ล่อให้คนมาดู แล้วก็ล้อมจับเอาตามสบาย

คนเคราะห์ดี ชายที่มีรอยสัก หญิงที่เจาะหู ก็รอดตัวไป คนเคราะห์ร้าย คุณสมบัติตรงตามเป้าหมาย ก็ถูกเอาตัวไป

ความโหดร้ายทารุณของพม่าในครั้งนี้ ผลกรรมตามสนองกับพระเจ้ามินดงไม่ทัน แต่กลับตามสนองกับทายาทราชวงศ์

เมื่อพระเจ้าธีบอ พระเจ้าลูกเธอองค์หนึ่ง ขึ้นเสวยราชย์ คนแวดล้อมกษัตริย์องค์ใหม่ เกิดความหวาดระแวงพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่นจะชิงอำนาจ ก็ได้มีคำสั่งจับพระเจ้าลูกเธอ ๘๓ องค์ ไปขังไว้ท้ายพระราชวัง

๒-๓ องค์ หนีรอดไปทางภาคใต้ หลบซ่อนอยู่กับอังกฤษ ที่เหลือ ๘๐ องค์ รอวันประหาร

มีบันทึกเป็นทางการ (๒๐ ก.พ.๒๔๒๒)  พระเจ้าลูกเธอ ๘๐ องค์ ก็ถูกจับยัดเข้ากระสอบสีแดง แล้วเพชฌฆาต ก็เริ่มใช้ท่อนจันทน์ ประหารด้วยการทุบ ทีละองค์ๆ

การประหารเลือกเวลากลางวัน มีการจัดแสดงดนตรีประโคมเสียงดัง *

เรื่องที่ “พลูหลวง” ไม่ได้เขียน แต่คนไทยคงเคยได้อ่านจากพม่าเสียเมือง ของอาจารย์หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช…พระเจ้าธีบอ ถูกเชิญเสด็จไปทอดพระเนตรละคร มือหนึ่งพระนางสุภยลัต พระมเหสีถวายน้ำจัณฑ์ อีกมือให้สัญญาณดนตรี โหมประโคม กลบเสียงจากลานประหาร

การแสดงละคร การโหมประโคมดนตรี ประสานไปกับกิจกรรมการประหาร จำนวนคน ๘๐ คน ต้องใช้เวลาตลอดวัน

คนที่ถูกตายแล้ว ก็ถูกนำออกจากกระสอบโยนศพลงหลุม เมื่อทุกศพอยู่ในหลุมใหญ่ครบ ก็ใช้กระสอบทับ แล้วก็ใช้ดินกลบ

“การนำราษฎรผู้ไม่มีความผิด มาฝังทั้งเป็น ตามลัทธิไสยศาสตร์อันชั่วร้าย ย่อมสะท้อนถึงทายาทโดยตรง  เรื่องกรรมเรื่องเวรนั้น ไม่เคยละเว้นใคร “พลูหลวง” ทิ้งท้ายสำทับ

เรื่อง คนเกิดวันอังคาร เกิดวันเสาร์ ที่เคราะห์ร้าย ถูกจับไปฝังทั้งเป็น คนเกิดสองวันนี้ คงไม่ได้ก่อกรรมทำเวรกับใครในชาตินี้ แต่ก็มีความเชื่อว่า คงก่อกรรมทำเวรกับใครไว้ในชาติก่อน

ความเชื่อนี้ พิสูจน์ไม่ได้ คล้ายๆ กับความเชื่อเรื่องเห็ดเมาบานวันอังคาร วันเสาร์ กินแล้วอาจถึงตาย แต่ก็ไม่โหดร้ายเหมือนความเชื่อว่า ชีวิตมนุษย์ ช่วยส่งเสริมอำนาจบารมีให้ตัวเอง
       ฯลฯ


นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๘




ย่านตะแลงแกง
ลานประหาร...ย่านประจานผู้กระทำผิด

จากงานเขียนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า ตรงจุดที่ถนนศรีเพชญ์ตัดกับถนนป่าโทนในเกาะเมืองอยุธยาปัจจุบันเป็นสี่แยกเรียกว่า "ตะแลงแกง"

ที่มาของชื่อ "ตะแลงแกง" ศานติ ภักดีคำ อาจารย์แห่งภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เคยบอกไว้ในบทความตีพิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๓ (มกราคม ๒๕๔๖) ว่า มาจากภาษาเขมร "ตรแฬงแกง" อ่าน "ตรอแลงแกง" พจนานุกรมภาษาเขมรฉบับของพุทธศาสนบัณฑิตย์ กรุงพนมเปญ ให้ความหมายว่า "ที่มี ๔ หน้า หรือที่แยกเป็นสี่ (ชื่อปราสาท, วิหาร, หนทาง)"

บริเวณตะแลงแกงเป็นย่านสำคัญที่คนแต่ก่อนถือกันว่าเป็นกลางพระนคร มีถนนสายสำคัญและเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่ง

ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓ เรื่องกรุงเก่ากล่าวว่า "ในกรุงเทพมหานครมีถนนหลวงกว้างห้าวา สำหรับมีการแห่พระกถินหลวงนากหลวงตั้งพยุห์บาตรา สระขนานช้างม้าพระที่นั่งปตูไชย ชักจะเข้ใส่ ศภพระราชาขณะอธิการ"

เนื้อความตอนนี้ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) อธิบายไว้ในหนังสือ อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา กับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์ ฉบับชำระครั้งที่ ๒ และภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๐

สรุปว่า ถนนหลวงดังกล่าว (ในเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง บอกชื่อว่า มหารัถยา ปัจจุบันคือถนนศรีสรรเพชญ์) คือถนนใหญ่ตรงไปจากหน้าพระราชวัง ไปหักเลี้ยวที่มุมกำแพงพระราชวังด้านใต้แล้วเลี้ยวซ้ายตรงไปทางใต้ถึงประตูไชยที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

เป็นถนนที่เคยใช้แห่รับพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ กรุงฝรั่งเศส ถนนสายนี้ตามแผนที่เป็นถนนขวางอยู่กึ่งกลางพระนคร แต่เหนือไปใต้และมีถนนรีแต่ด้านตะวันออกตรงไปทางตะวันตกถึงหลังวังหลัง เป็นถนนสายรีที่อยู่กึ่งกลางพระนครเหมือนกัน ตรงที่ถนนสายนี้ผ่านกันเป็นทาง ๔ แพร่ง เรียกว่า ตะแลงแกง




ตรงสี่แยกตะแลงแกงนี้เอง มักถูกใช้เป็นที่ประหารหรือประจานผู้ที่กระทำผิด ดังมีบันทึกไว้ในเอกสารพงศาวดารและระบุลงโทษไว้ในกฎหมายสมัยอยุธยา เช่น ในกฎหมายพระไอยการลักษณะผัวเมีย กล่าวถึงโทษของหญิงมีชู้ว่า

"...ส่วนหญิงนั้นให้โกนศีศะเปน ตะแลงแกง เอาขึ้นขาหย่างประจาน แล้วให้ทเวนรอบตลาดแล้วให้ทวนด้วยลวดหนัง ๒๐ ที" หรือในกฎหมายพระไอยการลักขณโจรว่า "เอาบุตรภรรยาเปนคนน้ำร้อน แล้วให้ฆ่าโจรแลพวกโจรซึ่งลงมือ ตัดศีศะเศียบไว้นะตะแลงแกง..."

หรือแม้แต่วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน นางวันทองก็ถูกนำตัวมาประหารชีวิตที่ตะแลงแกงเช่นกัน

แต่นอกจากการลงโทษแล้ว ย่านตะแลงแกงยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง และเป็นที่ชุมชนมีย่านค้าขาย ดังเอกสารคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวถึงว่า "ถนนย่านตะแลงแกงมีร้านขายของสดเช้าเย็น ชื่อตลาดน่าคุก ๑ ถนนย่านน่าศาลพระกาฬ มีร้านชำขายศีศะในโครงในที่ปั่นฝ้ายชื่อตลาดศาลพระกาฬ ๑..."

ย่านตะแลงแกงมีสถานที่สำคัญๆ ได้แก่ หอกลอง คุก ที่ตั้งของคุกนี้พระยาโบราณฯ อธิบายว่า "...ห่างจากหอกลองเข้าไปด้านหลังมีวัดเรียกกันว่าวัดเกศ ต่อจากหลังวัดเกศไปเป็นคุก..." จึงเชื่อกันว่าน่าจะเป็นแถวๆ บริเวณที่ตั้งคุ้มขุนแผนในปัจจุบัน ศาล

"...ข้ากฟากถนนตะแลงแกงทางใต้ด้านตะวันตก มีศาล พระกาฬหลังคาเป็นซุ้มปรางค์ และมีศาลอยู่ต่อกันไปเข้าใจว่าจะเป็นศาลพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง ที่ตรงตะแลงแกงเห็นจะถือกันว่าเป็นกลางพระนคร..."

(คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ฯ: ๒๕๓๔) ที่ตั้งศาลทั้งสองแห่งยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่เชื่อกันว่าอยู่บริเวณใกล้ๆ กับหัวมุมตะแลงแกงฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ ตรงข้ามกับวัดเกศ และสนามจักรวรรดิและลานพระเมรุ

ย่านตะแลงแกงถือกันว่าเป็นย่านกลางพระนคร จึงมีการจัดตั้งสถานที่สำคัญเกี่ยวกับบ้านเมืองดังกล่าว โดยเฉพาะสนามหลวงที่ที่อาจเกี่ยวข้องกับ "ลานกลางบ้าน" ของชุมชนยุคก่อนที่ใช้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ประกอบพิธีกรรมของชุมชนหมู่บ้าน ที่อาจรวมไปถึงสี่แยกตะแลงแกง สถานที่ประหารกลางเมือง ทั้งวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างและหรือนัยว่าเป็นการเซ่นสรวงไปด้วยผสมปนเปกัน

สำหรับบริเวณที่เห็นว่าเป็นสี่แยกนี้แต่เดิมอาจเคยเป็นทางสามแพร่งหรือมีความสำคัญอะไรบางอย่าง จึงได้สืบต่อกลายมาเป็นย่านศูนย์กลางสำคัญของพระนครที่เรียกว่าตะแลงแกงแห่งนี้
...หนังสือพิมพ์ข่าวสด


http://upic.me/i/fc/0ixuz.jpg

ภาพจาก : เว็บไซท์ upic.me/i/fc/0ixuz.jpg

ปริศนาดาบโค้ง วงพระจันทร์

               ฯลฯ
ดูหนังจีนมาหลายเรื่อง เห็นอาวุธพิสดารแปลกตามากมายก็คิดว่าแบบอาวุธเกิดจากจินตนาการของนักเขียน

ลองอ่าน ราชกิจจานุเบกษา ประกาศในสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้วจะรู้ว่าไม่ใช่

เมื่อเดือนยี่ ปีชวด อัฐศก ๑๒๓๘ พระเทพผลู (ตำรวจ) ได้ความว่ามีอ้ายผู้ร้ายฟันจีนเล็กตาย ให้นายอำเภอกำนันไปสืบจับผู้ร้าย ได้ตัวผู้ร้ายมาคืออ้ายจีนซุนหยู แซ่เหลา อายุ ๓๒ ปี

อ้ายจีนซุนหยูให้การรับสารภาพว่าอาศัยอยู่ในสวนของอีสี ตำบลคลองสาน ฝั่งธนบุรี วันหนึ่งอีสีบอกอ้ายจีนซุนหยูว่า มีอ้ายผู้ร้ายมาฟันต้นทุเรียนเสียเป็นอันมาก ให้อ้ายจีนซุนหยูคอยจับตัวฟันฆ่าเสียให้ได้

ฝ่ายอ้ายจีนซุนหยู รับคำตามที่อีสีสั่ง  อีสีบอกว่า “เหลียนเหล็กมีคมของเรามีอยู่” ให้จีนซุนหยูถือไปสำหรับตัว

พอถึงเวลาพลบค่ำ อ้ายจีนซุนหยูก็ถือเหล็กมีคมออกจากบ้านสวนไปยืนยังที่มืด

ฝ่ายจีนเล็ก อายุ ๓๔ ปี เคราะห์หามยามร้าย ไปซื้อยาฝิ่น ได้ยาฝิ่นแล้ว พอเดินออกจากโรงยามาประมาณ ๙-๑๐ วา  ทันใดนั้น อ้ายจีนซุนหยูก็ตรงเข้าฟันจีนเล็กทีหนึ่ง โดยไม่ทันได้ต่อว่าหรือสอบถามอะไรทั้งสิ้น

ไม่รู้ว่าจีนเล็กเป็นคนมาฟันทุเรียนจริงหรือไม่

ฝ่ายจีนเล็กฉวยได้ผมเปียของอ้ายจีนซุนหยู กระหมวดพันไว้กับมือ พลางร้องเรียกให้ชาวบ้านช่วย ฝ่ายจีนซุนหยูก็เอาเหลียนฟันจีนเล็กอีกเป็นอันมาก จีนเล็กแม้ถูกฟันก็ยังไม่ยอมปล่อยผมเปีย

อ้ายจีนซุนหยูพอได้ยินเสียงจีนเล็กร้องเรียกชาวบ้าน กลัวว่าชาวบ้านจะมาแล้วตัวเองหนีไม่ได้ เพราะจีนเล็กคว้าผมเปียไว้แน่น ก็ตัดสินใจเอาเหลียนตัดผมตัวเองทิ้งเสีย  จากนั้น อ้ายจีนซุนหยู ก็วิ่งหนีไป

ผลปรากฏว่า จีนเล็กถูกฟันถึง ๔๗ แผล ไม่สามารถทนความเจ็บปวดได้ ก็ล้มขาดใจทันที

เรื่องถึงพระเทพผลูๆ สอบถามอีสี  อีสีให้การแบ่งรับว่า ใช้อ้ายจีนซุนหยูไปฟันแต่ต้นทุเรียน หาได้ให้ฟันจีนเล็กไม่

ลูกขุน ณ ศาลหลวง ขุนหลวงพระยาไกรสี เห็นพร้อมกันว่า อ้ายจีนซุนหยูบังอาจกระทำจีนเล็ก ซึ่งไม่เคยมีความผิดหรือเคยวิวาทสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาก่อน อ้ายจีนซุนหยูเป็นคนพาลสันดานหยาบ ไม่เกรงกลัวพระราชอาญา

ต้องด้วยบทพระอัยการให้ริบราชบาตร บุตร ภรรยา ทรัพย์สิ่งของเป็นของแผ่นดิน

กับให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๓ ยก ๙๐ ที แล้วเอาอ้ายจีนซุนหยูไปประหารชีวิตเสียตามบทพระอัยการ ที่วัดพลับพลาชัย อย่าให้คนดูเยี่ยงอย่างสืบไป

ส่วนอีสี ให้การว่า อ้ายจีนซุนหยูไปฟันแต่ต้นทุเรียนเล็ก ลูกขุนถือว่าเป็นใจให้กับอ้ายจีนซุนหยู ยังมีความผิด ขอให้อีสีเสียเบี้ยปลุกตัวจีนเล็ก ตามเกษียณอายุ ๓๔ ปี เป็นเงินตรา ๑๔ ตำลึง  โดยมอบให้จีนแตกผู้เป็นโจทก็เอาไปทำบุญให้จีนเล็ก และให้เฆี่ยนอีสี ๒๕ ที ให้เข็ดหลาบ

หลังการตัดสิน ปรากฏว่าอีสีป่วยตกเลือดตายในที่จองจำ จึงให้ผู้รับมรดกอีสีใช้เบี้ยปรับปลุกตัวแทน

ส่วนโทษนั้นก็เป็นอันแล้วกันไป

เรื่องทั้งหมดนี้ คุณอเนก นาวิกมูล เอารวมพิมพ์ไว้ในหนังสือสยามคดี ๒๔๒๐ (สำนักพิมพ์แสงดาว พ.ศ.๒๕๔๗) คุณอเนก ตั้งข้อสงสัย เหลียน มีคำแปลหรือไม่  หรือช่างเรียง เรียงพิมพ์ผิด หรือ เหลียนเป็นคำเดียวกับแหลน

เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็พบว่า “เหลียน” เป็นคำที่ถูกต้อง มีคำแปลว่า มีดรูปโค้งเล็กน้อย มีด้ามยาวสำหรับใช้หวดหญ้า  อ่านตรงนี้จึงได้รู้ว่า ดาบโค้งวงพระจันทร์ เป็นดาบของชาวบ้านธรรมดา แต่ก็เป็นดาบที่มีอานุภาพ อยู่ในมือจีนหยู ยังฟันจีนเล็กได้ถึง ๔๗ แผล
               ฯลฯ


ที่มา : คอลัมน์ชักธงรบ "ปริศนาดาบโค้ง วงพระจันทร์" น.๓ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพุธที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
3424  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / ผัดหน่อไม้สดกับหมูสามชั้น และเคล็ดลับการต้มหน่อไม้สด เมื่อ: 28 สิงหาคม 2558 15:44:46
.


ผัดหน่อไม้สดกับหมูสามชั้น

ส่วนผสม
- หน่อไม้ต้มหั่นชิ้นยาว 1 ถ้วย
- หมูสามชั้นหั่นตามขวาง ½ ถ้วย
- พริกขี้หนูจินดาสีแดง 10-15 เม็ด (พริกขี้หนูเม็ดใหญ่สีแดง)
- กระเทียมไทยแกะกลีบ 1 หัว
- ใบโหระพา
- พริกชี้ฟ้าเขียว-แดง หั่นแฉลบ
- กะปิใต้ ¼ ช้อนชา
- น้ำตาลทราย
- ซอสหอยนางรม
- น้ำปลาดี



วิธีทำ
1. โขลกพริกขี้หนูสีแดง กระเทียมไทย และกะปิ ให้เข้ากัน
2. ผัดเครื่องที่โขลกในน้ำมันให้หอม  ใส่หมูสามชั้นผัดพอสุก
2. ใส่หน่อไม้  พริกชี้ฟ้า ปรุงรสด้วยน้ำตาลทราย ซอสหอยนางรม น้ำปลา ชิมรสตามชอบ
3. ใส่ใบโหระพา ผัดให้เข้ากัน ตักใส่จานเสิร์ฟ



วิธีต้มหน่อไม้สดให้รสหอม และอ่อนนิ่ม (รับรองไม่ขม)
1. ปอกเปลือกหน่อไม้สด ตัดส่วนที่แก่หรือแข็งทิ้ง
2. หั่นเป็นชิ้นบาง ล้างน้ำเกลืออ่อนๆ ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
3. ตั้งกระทะให้ร้อน ใส่หน่อไม้ลงไปผัดโดยไม่ต้องใส่น้ำมัน จนอ่อนนิ่ม ถ้าเป็นเนื้อสัตว์เรียกวิธีนี้ว่าการรวน
    (เคล็ดลับที่น้อยคนจะรู้ วิธีนี้ทำให้หน่อไม้อ่อนนิ่ม หากนำไปต้มโดยไม่ผ่านการผัด หน่อไม้จะแข็ง)
4. ต้มน้ำใบหญ้านาง พอน้ำร้อนใส่หน่อไม้่ผัด รอให้น้ำเดือดใส่ใบเตยฉีกเคี่ยวไปด้วยกัน
    อุ่นเช้า-เย็น นำไปปรุงอาหารได้หลากหลาย เช่น ต้มจืด แกง ผัด จิ้มน้ำพริกกะปิ หรือทำซุปหน่อไม้













-------------------------


หน่อไม้ต้มใบหญ้านาง ใส่ใบเตยเพิ่มความหอมน่ารับประทาน
รอให้น้ำเดือด จึงฉีกใส่ใบเตยใส่
* พืชผักสมุนไพรที่มีกลิ่น/น้ำมันหอมระเหย เช่น ข่า ตะไคร้  ใบเตย ฯลฯ
ควรต้มให้น้ำเดือดจึงค่อยใส่ลงหม้อ/กระทะ บางครั้งการใส่ขณะน้ำยังเย็นแทนที่จะให้กลิ่นหอม กลับมีกลิ่นแปลกๆ
(น้ำหญ้านางทำโดยโขลกหรือปั่นใบหญ้านางให้ละเอียด ผสมน้ำสะอาด แล้วคั้นเอาแต่น้ำ)






ติดตามสูตรอาหารและเคล็ดลับการประกอบอาหารคาว-หวาน
ได้ที่  "สุขใจในครัว" สุขใจดอทคอม
3425  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / รอยบิ่นของพระพรหม (เอราวัณ) เมื่อ: 28 สิงหาคม 2558 14:53:03
.


ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ
ออกแบบตัวศาลโดยนายระวี ชมเสรี และ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล
องค์ท้าวมหาพรหมปั้นด้วยปูนพลาสเตอร์ปิดทอง
ออกแบบและปั้นโดยนายจิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร
และอัญเชิญพระพรหมมาประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณ
เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙
(วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี)


รอยบิ่นของพระพรหม

ศาลพระพรหม ที่สี่แยกราชประสงค์ ถูกสร้างขึ้นเพราะเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ต้องการสร้างโรงแรมเอราวัณขึ้นเพื่อใช้รองรับชาวต่างประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาดำเนินการสร้างโรงแรมแห่งนี้มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างเกี่ยวกับอุปสรรคและอุบัติเหตุนานาประการระหว่างการสร้างอย่างมากมาย

และก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมื่อเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้น คนไทยเราก็มักจะผูกโยงเรื่องราวเข้ากับอาถรรพ์และสิ่งเร้นลับต่างๆ มากกว่าที่จะมองหาข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติการ และโครงสร้างอื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่หนทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

เรื่องราวมันจึงคาราคาซังจิตใจของผู้คนอยู่อย่างนั้นมาจนกระทั่งถึงเรือน พ.ศ. ๒๔๙๙ ทางบริษัท สหโรงแรมไทย และการท่องเที่ยว จำกัด ผู้บริหารโรงแรมเอราวัณ จึงค่อยติดต่อ พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. นายแพทย์ใหญ่กองทัพเรือ ผู้มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการนั่งทางในที่สุดคนหนึ่งของช่วงสมัยนั้น ช่วยดำเนินการหาฤกษ์วันเปิดโรงแรมให้  

และก็เป็นเพราะเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้เกิดการสร้าง ศาลพระพรหม ที่โด่งดังที่สุดในโลกแห่งนี้ขึ้นมา

เรื่องของเรื่องมันเริ่มจากที่หลวงสุวิชานแพทย์ท่านท้วงติงขึ้นมาว่า ทางโรงแรมยังไม่เคยมีการทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้นเลยสักนิด

ฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ที่โรงแรมก็ไม่ถูกต้อง แล้วจะให้เจ้าที่เจ้าทางท่านพออกพอใจได้อย่างไร?

ซ้ำร้ายชื่อ “เอราวัณ” ของโรงแรมนั้นยังเป็นชื่อศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นชื่อช้างทรงของพระอินทร์ จึงจำเป็นต้องมีการบวงสรวงที่เหมาะสม และต้องขอพรให้พระพรหมช่วยขจัดอุปสรรคทั้งหลาย  ที่สำคัญคือต้องมีการสร้างศาลพระพรหมขึ้นทันทีเมื่อสร้างโรงแรมจนแล้วเสร็จ

จึงมีการสร้างศาลพระพรหมขึ้นมาอย่างที่เห็นๆ กันอยู่มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้เอง

ผมก็ไม่ทราบว่า ทำไมเมื่อเป็นเรื่องของเจ้าที่เจ้าทางแถวนั้นแล้ว หลวงสุวิชานแพทย์ท่านไปลากพระพรหมเข้ามามีเอี่ยวกับเรื่องนี้ได้ด้วยอีท่าไหน?  แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็ยังหลุดมาจากปากคำของหลวงฯ ท่านเดียวกันนี้อยู่ดีนั่นแหละ

เพราะท่านอ้างว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประทับอยู่ภายในรูปปั้น “พระพรหม” องค์นี้ ไม่ใช่องค์พระพรหมเองเสียหน่อย แต่เป็น “ท้าวเกศโร” ซึ่งเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของ “สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” พระอนุชาและกษัตริย์พระองค์ที่สองในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งหลวงสุวิชานแพทย์ให้ปากคำไว้ว่า พระองค์ได้ทรงไปทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของพระพรหมอยู่บนสวรรค์ หลังจากที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว

ผมไม่ทราบว่าจะไปตรวจสอบได้อย่างไรว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ในรูปพระพรหมที่หน้าโรงแรมเอราวัณนั้นเป็น ดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จึงอย่างที่หลวงสุวิชานแพทย์ท่านอ้างไว้จริงหรือเปล่า?

เพราะผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการนั่งทางในเหมือนกับหลวงฯ ท่าน  และแม้ว่ามนุษย์เราจะสามารถส่งจรวดไปถึงดาวพลูโต ที่สุดขอบระบบสุริยจักรวาลของเราได้แล้ว แต่ใครจำนวนมหาศาลก็ยังเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพรหมที่แยกราชประสงค์ท่านอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องทราบว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ภายในคือองค์พระปิ่นเกล้าฯ ไม่ใช่พระพรหม

ผมก็คงไม่จำเป็นต้องสนใจพิสูจน์ด้วยว่า ที่หลวงสุวิชานแพทย์ท่านอ้างไว้จะเป็นเรื่องชัวร์หรือมั่วนิ่มเหมือนกันกระมังครับ?

เพราะสิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ การทำความเข้าใจว่าทำไมหลวงสุวิชานแพทย์ท่านต้องอ้างเอาพระบารมีของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ มาใช้




พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระอนุชาของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔
ภาพจาก wikimedia.org

เป็นเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ในช่วงยุคเปลี่ยนผ่านจากสยามแบบดั้งเดิม มาสู่สยามแบบรัฐชาติสมัยใหม่ว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเป็นเจ้าหัวฝรั่งซ้ำยังเป็นฝรั่งเอียงข้างอเมริกันเสียด้วย   ก็เอียงข้างถึงขนาดทรงพระราชทานนามให้แก่พระราชโอรสพระองค์โตของพระองค์เองว่า พระองค์เจ้ายอร์ช วอชิงตัน ตามชื่อประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกันชนเลยทีเดียว (ต่อมาค่อยเปลี่ยนพระนามเป็น พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ ในภายหลัง)

ข้อมูลบางส่วนซึ่งตรวจสอบไม่ได้ชัดว่าจริงอย่างที่ว่ากันหรือเปล่า แต่ก็น่าสนใจพอที่จะนำมาพิจารณาในที่นี้ ก็คือข้อมูลที่อ้างว่า พื้นที่แยกราชประสงค์ในสมัยช่วงที่สร้างโรงแรมเอราวัณเสร็จใหม่ๆ นั้นมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สี่แยกอเมริกัน”  โดยมีคำอธิบายที่สี่แยกนี้ถูกเรียกชื่อเสียฮิปขนาดนั้น เป็นเพราะบริเวณนั้นเป็นศูนย์กลางการค้าและย่านแฟชั่นทันสมัย

แต่ก็อย่างที่บอกนั่นแหละครับว่า แทบไม่มีหลักฐานยืนยันเลยว่า “สี่แยกราชประสงค์” เคยถูกเรียกว่า “สี่แยกอเมริกัน” จริงอย่างที่ใครบางคนได้อ้างไว้ลอยๆ หรือเปล่า?

อย่างไรก็ตาม การกล่าวอ้างอย่างนี้ก็แสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของความเป็นย่านสมัยใหม่ ความทันสมัย อย่างเดียวกับที่คนในยุคหนึ่งใช้ สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เป็นไปคอนหรือภาพแสดงแทน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสอดคล้องที่บังเอิญหรือตั้งใจก็ตามที

ฝรั่งคนหนึ่งชื่อ เจ. อันโตนิโอ (J. Antonio) ได้เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ เมื่อเรือน พ.ศ. ๒๔๔๗ ตรงกับในช่วงปลายของสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เขียนหนังสือที่คงจะแปลออกมาง่ายๆ ว่าชื่อ “นำเที่ยวบางกอกและสยาม” (Guide to Bangkok and Siam)  ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่หนังสือทำนอง Lonely Planet ฉบับแรกที่ฝรั่งเขียนพาเที่ยวกรุงเทพฯ แต่ก็มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ในหนังสือฉบับนี้    นายอันโตนิโอบอกว่าบางกอกและสยามนั้นอยู่ “นอกเส้นทาง” (out of track) ของโลก ไม่ว่าเส้นทางที่ว่าจะเป็นเส้นทางการค้า เส้นทางท่องเที่ยวผจญภัย หรือจะเป็นเส้นทางอะไรก็ตามที  แต่นายอันโตนิโอก็บันทึกไว้ด้วยว่า บางกอกในฐานะศูนย์กลางอำนาจรัฐของสยาม กำลังขยายเมืองใหม่ขึ้นมาทางด้านทิศเหนือของเมืองเก่า ที่มีกำแพงเมืองล้อมรอบ ซึ่งหมายถึงเมืองที่มีพระบรมมหาราชวัง และวัดพระแก้วเป็นศูนย์กลางที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑

ลักษณะอย่างหนึ่งของเมืองใหม่ทางทิศเหนือนี้ ต่างจากเมืองเก่าก็คือมีการสร้างวังด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ซึ่งแปลกไปจากธรรมเนียมดั้งเดิมของสยาม ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งร่วมสมัยกับที่นายอันโตนิโอเข้ามาในบางกอก เป็นช่วงที่รัชกาลที่ ๕ โปรดให้สร้างวังสวนดุสิต หรือพระราชวังดุสิตในปัจจุบัน ที่มีพระที่นั่งทรงฝรั่งอย่าง พระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งอัมพรสถาน หรือพระที่นั่งที่มาแล้วเสร็จเอาในสมัยรัชกาลที่ ๖ อย่าง พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นสำคัญ

หลังสร้างวังสวนดุสิต รัชกาลที่ ๕ โปรดให้สร้างวังสวนสุนันทาเพิ่มเติม ในละแวกไม่ห่างกันนัก แถมยังโปรดให้ปลูกพระตำหนักพญาไท ในพื้นที่ท้องทุ่งที่ห่างไกลออกไปจากศูนย์กลางของเมืองในสมัยนั้น

และต่อมารัชกาลที่ ๖ ก็โปรดให้ขยายและสร้างเป็นพระราชวังพญาไท ปัจจุบันอยู่ภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ย่านราชวิถี ที่นี้มีการสร้างเมืองจำลองของรัชกาลที่ ๖ ที่ชื่อว่าเมืองดุสิตธานีอีกด้วย นี่ยังไม่ได้นับวังสร้างใหม่อีกหลายแห่ง เช่น วังสวนจิตรลดา เป็นต้น

พื้นที่บริเวณนี้จึงเป็นย่านสมัยใหม่ของบางกอก ที่เริ่มขยายตัวตั้งแต่ช่วงระหว่างสมัยรัชกาลที่ ๕-รัชกาลที่ ๖

และแยกราชประสงค์เองก็อยู่ท่ามกลางความเจริญของเมืองที่เริ่มขยายตัวขึ้นมาทางทิศเหนือของเมืองเก่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนั่นแหละครับ เพราะแยกราชประสงค์เกิดจากการตัดกันของถนนสองสายคือ ถนนราชดำริและถนนเพลินจิต

“ถนนราชดำริ” สร้างแล้วเสร็จเมื่อเรือน พ.ศ. ๒๔๔๕ ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ ๕ ที่โปรดให้ตัดถนนกว้างขวางกว่าที่พระนครเคยมี เนื่องจากถนนสายที่มีมาก่อนในกรุงเทพพระมหานคร เช่น ถนนเจริญกรุง แคบเกินไปจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง

จนทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ในยุคนั้นว่า ถนนเส้นนี้กว้างเกินความจำเป็น ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถนนราชดำริกว้างเกินความจำเป็นอย่างที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสมัยนั้นหรือเปล่า?

ส่วน “ถนนเพลินจิต” สร้างขึ้นในสมัยต่อมา คือรัชกาลที่ ๖ โดยสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ ก่อนที่จะได้รับการพระราชทานนามในปีถัดมาตรงกับเรือน พ.ศ.๒๔๖๔ ที่จุดตัดของถนนเพลินจิตและถนนราชดำริ คือแยกราชประสงค์นั้น ก็มีวังสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ อย่างวังเพ็ชรบูรณ์อยู่ด้วย ปัจจุบันคือพื้นที่บริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์นั่นเอง

การที่ พลเอกเผ่า ท่านอยากจะสร้างโรงแรมไว้รองรับแขกบ้านแขกเมืองนั้น ก็บ่งบอกอยู่ในตัวแล้วว่า พื้นที่ละแวกแยกราชประสงค์เป็นย่านสมัยใหม่อย่างไรในสมัยนั้น?  

การปรากฏตัวของพระพรหมขึ้นโดยกระชับเอาพื้นที่ชัยภูมิสำคัญของสี่แยก มาเป็นเคหสถานของตัวท่านเองที่สี่แยกราชประสงค์ต่างหาก ที่ดูแปลกตาสำรับพื้นที่ส่วนขยายของเมืองตามคอนเซ็ปต์ของรัฐชาติสมัยใหม่  

ซ้ำร้ายที่มักเข้าใจกันว่าพระพรหมรูปนี้สร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะดูจะเป็นเรื่องในศาสนาผีแบบไทยๆ เสียมากกว่า  

เพราะคนสั่งให้สร้าง อย่างหลวงสุวิชานแพทย์ ท่านบอกเอาไว้เองว่า ให้สร้างรูปพระพรหมไว้โดยที่มีวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของสมเด็จพระปิ่นเกล้าประทับอยู่ภายใน  

รูปพระพรหมนี้จึงควรจะสร้างขึ้นในความเชื่อแบบผี อิงเจ้า ที่นับถือศาสนาพุทธ แต่อยู่ในคราบของพราหมณ์  แถมยังแฝงอยู่ในวิถีเมืองสมัยใหม่ของไทยเสียอีกต่างหาก

และเมื่อเกิดเหตุระเบิดขึ้นที่กลางราชประสงค์เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ที่ผ่านมานั้น แรงระเบิดก็ทำได้เพียงแค่ทำให้รูปของพระพรหมมีรอยบิ่นไปนิดๆ  ผมไม่แน่ใจว่ารอยบิ่นที่เห็นอยู่นั้นเป็น “รอยบิ่นของความเชื่อ” หรือว่าเป็น “รอยบิ่นของความเป็นสมัยใหม่” ในกรุงเทพฯ แต่ก็เป็นรอยบิ่นที่เห็นได้อยู่ทั่วไปในปัจจุบัน  

อย่างน้อยที่สุด ผู้ก่อเหตุระเบิดที่กลางแยกราชประสงค์ในวันนั้น ก็เห็นถึงรอยบิ่นที่ว่านี้ด้วยเหมือนกัน



ที่มา : On History "รอยบิ่นของพระพรหม" โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ น.๘๒ ฉบับที่ ๑๘๒๘ ประจำวันที่ ๒๘ ส.ค.-๓ ก.ย.๕๘
3426  นั่งเล่นหลังสวน / เพลงไทยเดิม / Re: โน๊ตประกอบทำนองร้องและทำนองดนตรีไทย : เพลงแขกสาหร่าย เมื่อ: 28 สิงหาคม 2558 14:24:37
.

โน๊ตเพลงไทย : แขกสาหร่าย
(จะเข้)




โน๊ตเพลงนี้ เล่นกับเครื่องดนตรีไทย "จะเข้"
ซึ่งผู้โพสท์ พอเล่นได้งูๆ ปลาๆ  นอกจากโน๊ตกลางหรือโน๊ตสากลแล้ว
ก็มี "โน๊ตจะเข้"  ซึ่งท่านอาจารย์เขียนไว้ไม่กี่เพลง
อาจเนื่องจากมีคนสนใจเล่น "จะเข้" น้อยคน
มีบางเพลง เช่นเพลง "ลาวคำหอม" ทางดนตรี "จะเข้"
ท่านอาจารย์มอบโน๊ตต้นฉบับให้แล้วบอกว่า "เขียนให้เมื่อคืนนี้"  
ซึ่งนับเปฺ็นพระคุณอย่างสูง
และจะได้ทยอยนำโน๊ต "จะเข้" เผยแพร่ต่อไป



..ขอกราบขอบพระคุณ ท่านอาจารย์สมพล  อนุตตรังกูร  ครูผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ด้านดนตรีไทย
ที่อนุญาตให้นำทำนองดนตรีไทย ซึ่งท่านเป็นผู้ประพันธ์และเขียนด้วยลายมือของท่านเอง
เผยแพร่เป็นวิทยาทานใน www.sookjai.com
โดยวัตถุประสงค์ เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่า และช่วยกันอนุรักษ์ศิลปะการดนตรีไทย
ให้สืบทอดยาวนานตลอดไป  มา ณ ที่นี้ ด้วยความเคารพสูงยิ่ง.


แขกสาหร่าย ๒ ชั้น
3427  นั่งเล่นหลังสวน / เพลงไทยเดิม / Re: พระอาทิตย์ชิงดวง พร้อมโน๊ตเพลง เมื่อ: 28 สิงหาคม 2558 13:59:06
โน๊ตเพลงพระอาทิตย์ชิงดวง
(จะเข้)








..ขอกราบขอบพระคุณ ท่านอาจารย์สมพล  อนุตตรังกูร  ครูผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ด้านดนตรีไทย
ที่อนุญาตให้นำทำนองดนตรีไทย ซึ่งท่านเป็นผู้ประพันธ์และเขียนด้วยลายมือของท่านเอง
เผยแพร่เป็นวิทยาทานใน www.sookjai.com
โดยวัตถุประสงค์ เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่า และช่วยกันอนุรักษ์ศิลปะการดนตรีไทย
ให้สืบทอดยาวนานคงอยู่คู่วัฒนธรรมไทย มา ณ ที่นี้ ด้วยความเคารพสูงยิ่งค่ะ....
Kimleng
3428  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 27 สิงหาคม 2558 15:08:14
.


ภาพจาก : เว็บไซต์ bloggang.com
ปางประทานโอวาทปาติโมกข์ (จบ)

ผมเองไม่มีความรู้เรื่องศิวาราตรี ว่าพวกพราหมณ์ทำอะไรกัน แต่การจะเกณฑ์ให้พระอรหันต์ซึ่งหมดกิเลส ทรงอภิญญาแล้ว ยังต้องทำอะไรตามความเคยชินอยู่ ออกจะไม่สมเหตุสมผล น่าจะเรียกว่า "เดา" หรือ "เดาสุ่ม" มากกว่า เพราะพระอรหันต์เหล่านี้ใช่ว่าจะเป็นพราหมณ์หมดทุกรูปก็หาไม่

เมื่ออ้างนักสันนิษฐานคนที่หนึ่งแล้ว ไม่อ้างคนที่สองก็ดูกระไรอยู่ คนที่สองเขาสันนิษฐานดังนี้ครับ การประทานพระโอวาทครั้งนี้ นับเป็น "ปัจฉิมนิเทศ" พระธรรมทูตชุดแรก และ "ปฐมนิเทศ"พระธรรมทูตชุดที่สอง ท่านว่าอย่างนั้น

ชุดแรกคือจำนวน ๖๐ รูปที่ทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนาก่อนหน้านั้น ท่านเหล่านั้นได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าบางส่วน เพื่อกราบทูลรายงานผล พระองค์ทรงถือโอกาสสรุปและประทานคำแนะนำเพิ่มเติมในคราวนี้

ชุดที่สองคือชุดที่จะส่งไปในคราวนี้ ประทานพุทธโอวาทอันเป็นหลักการสำคัญในการเผยแผ่พระศาสนา สมบูรณ์แบบทีเดียว ขอให้ดูเนื้อหาพระ "โอวาทปาติโมกข์" จะเห็นว่าสมบูรณ์แบบอย่างไร

เนื้อหาโอวาทปาติโมกข์มีดังนี้
(๑) "ความอดทนคือความอดกลั้น เป็นธรรมเผากิเลสอย่างยิ่ง
(๒) นิพพาน ท่านผู้รู้กล่าวว่าเป็นธรรมสูงสุด
(๓) ผู้ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ไม่นับเป็นบรรพชิต
(๔) ผู้ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่นับเป็นสมณะ
(๕) การไม่ทำบาปทั้งปวง
(๖) การทำความดีให้พร้อม
(๗) การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
(๘) การไม่ว่าร้ายเขา
(๙) การไม่ทำร้ายเขา
(๑๐) การระมัดระวังในระเบียบข้อบังคับ
(๑๑) การรู้ประมาณในการบริโภค
(๑๒) การนั่งนอนในสถานที่สงัด
(๑๓) การฝึกสมาธิจิตอย่างสูงยิ่ง นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ทั้งหมดมี ๑๓ หัวข้อใหญ่ๆ แต่เมื่อสรุปแล้ว จะครอบคลุมทั้งด้านเป้าหมาย หลักการและวิธีการ ตลอดจนคุณสมบัติของผู้เผยแผ่พระศาสนา ขอให้ดูดังนี้
(๑) เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ทรงเน้นไปที่พระนิพพาน ความดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวล
(๒) หลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา ทรงชี้ว่าต้องไม่ทำชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตให้ผ่องแผ้ว นี้เป็นหลักการใหญ่ จะว่าไปแล้วก็คือหลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ และปัญญา) นั้นเอง
(๓) วิธีการเผยแผ่พระศาสนา ทรงเน้นไปที่การใช้สันติวิธี ไม่เบียดเบียนเขา ไม่ว่าร้ายเขา ให้ใช้ขันติธรรม และวิธีประสานประโยชน์
(๔) คุณสมบัติของผู้เผยแผ่ ทรงเน้นว่าพระภิกษุผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา พึงอยู่ง่าย กินง่าย ไม่เห็นแก่กิน เคร่งครัดในพระปาติโมกข์ (ศีลสำคัญ) ฝึกฝนตนเองในสมาธิชั้นสูงเสมอ

ข้อสันนิษฐานนี้ค่อยฟังเข้าทีหน่อย ฝากผู้รู้พิจารณาเอาก็แล้วกัน




ภาพจาก : เว็บไซต์ laksanathai.com
ปางห้ามพยาธิ หรือห้ามพระญาตินัยที่ ๑

มีเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ ๒ เหตุการณ์ ที่ทำให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางหนึ่ง อ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่เขียนไม่เหมือนกัน คือ ปางห้ามพยาธิ (อ่าน"ห้ามพะยาด") กับ ปางห้ามพระญาติ (อ่าน"ห้ามพระยาด") เอาเหตุการณ์ที่หนึ่งก่อน ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเวฬุวันเมืองราชคฤห์ ที่เมืองไพศาลี ได้เกิดข้าวยากหมากแพง ประชาชนล้มตายเพราะความอดอยากจำนวนมาก มิหนำซ้ำโรคห่า (อหิวาตกโรค) ก็เข้าคุกคาม ศพทิ้งเกลื่อนกลาด เมื่อภูมิภาคปฏิกูลด้วยศพมากมาย ภูตผีปีศาจก็เข้าเมืองมากินซากศพ และมนุษย์ที่ป่วยไข้ตายกันมากมาย

ว่ากันว่าเมืองไพศาลีต้องผจญกับภัยพิบัติ ๓ ประการพร้อมกันคือ ภัยเกิดจากความอดอยาก ภัยเกิดจากอหิวาตกโรค และภัยจากภูตผีปีศาจเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี ผู้ครองนครไพศาลี จึงส่งเจ้าชายมหาลิไปกราบทูลอัญเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชาวเมืองไพศาลี เพื่อให้พ้นจากภัยพิบัติทั้งสามประการนั้น พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา เสด็จออกจากเมืองราชคฤห์ พร้อมพระสาวกจำนวน ๕๐๐ รูป ไปยังเมืองไพศาลีทางเรือ

เสด็จถึงท่าเมืองไพศาลี ทันทีที่ทรงเหยียบพื้นปฐพีแห่งพระนครไพศาลี จ้องพระเนตรจับท้องฟ้า ทรงรำลึกถึงพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาแต่ปางก่อน ทันใดนั้นมหาเมฆก็ตั้งเค้าดังแผ่นผ้าสีครามผืนยาวเหยียดในด้านปัจฉิมทิศ แล้วเคลื่อนมาปกคลุมพระนครไพศาลี ส่งเสียงคำรามกระหึ่ม สายฟ้าแลบแปลบปลาบ แล้วห่าฝนก็กระหน่ำลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา เสมือนจะล้างพื้นดินที่สกปรกโสโครก ด้วยสิ่งปฏิกูลให้สะอาดหมดจด ต้อนรับพระพุทธองค์

จริงตามนั้น พอฝนซัดลงมามากมายเช่นนั้น ไม่ช้าน้ำฝนก็ไหลบ่านองพื้น พัดพาเอาซากศพมนุษย์และสัตว์ซึ่งนอนทับถมพื้นดินอยู่ไหลลงสู่ทะเลใหญ่โดยสิ้นเชิง พอฝนขาดเม็ด พื้นปฐพีก็สะอาดปราศจากสิ่งปฏิกูล ความอบอ้าวเร่าร้อนของอากาศก็สงบ บรรเทาโรคได้ถึงครึ่งด้วยพุทธานุภาพ

พระพุทธองค์รับสั่งให้พระอานนท์ สวดรัตนสูตร พระเถระเจ้ารับพระพุทธบัญชา อุ้มบาตรบรรจุน้ำมนต์จาริกรอบกำแพงเมืองไพศาลี พลางประพรมน้ำพุทธมนต์ไปด้วย ติดตามด้วยเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีและประชาชนจำนวนมาก ว่ากันว่าบรรดาภูตผีปีศาจทั้งหลายพอร่างกายถูกหยาดน้ำพุทธมนต์ต้องตัว ก็รู้สึกปวดแสบปวดร้อน วิ่งหนีกันจ้าละหวั่น

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดกษัตริย์ลิจฉวีและชาวเมือง เมื่อความร่มเย็นผาสุกลับมาสู่พระนครไพศาลีดังเดิมแล้วก็เสด็จนิวัติยังพระนครราชคฤห์ดังเดิม

พระพุทธรูปปางห้ามพยาธิ จึงสร้างขึ้นเพื่อจารึกเหตุการณ์ครั้งนี้ นี้ว่าตามข้อมูลกระแสหนึ่ง แต่อีกกระแสหนึ่งไม่ว่าอย่างนี้ ว่าอย่างไร ไว้คราวหน้าก็แล้วกันครับ

สำหรับคราวนี้ ขอตั้งข้อสังเกตสักเล็กน้อย ว่ากันว่าพระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระอานนท์สวดรัตนสูตร และพรมน้ำพุทธมนต์รอบเมืองไพศาลี ข้อมูลนี้น่าสนใจ น่าสนใจก็เพราะโยงเอาพระพุทธเจ้าไปเกี่ยวกับการทำน้ำมนต์ และประพรมน้ำมนต์

รัตนสูตรนั้นมีบันทึกอยู่ในขุททกนิกาย (นิกายสุดท้ายของพระไตรปิฎก) เนื้อหาพูดถึงพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ว่าประเสริฐกว่ารัตนะอื่นใดในโลก ข้อนี้ไม่แปลกประหลาดอันใด

ที่น่าประหลาดก็คือเกณฑ์ให้พระพุทธเจ้าทรงสั่งให้ทำน้ำมนต์และพรมน้ำมนต์ เมื่อเป็นเช่นนี้บอกได้เลยว่าพระสูตรนี้เพิ่มเข้ามาภายหลัง เพิ่มมาในยุคที่ชาวพุทธนิยมการสวดมนต์ป้องกันภัยหลังพุทธปรินิพพาน น่าจะเป็นประเทศศรีลังกาครับ

ที่แน่ๆ สมัยพุทธกาลไม่มีการทำน้ำพุทธมนต์ และการประพรมพุทธมนต์ แน่ยิ่งกว่าแช่แป้งครับ



ปางห้ามพยาธิ หรือห้ามพระญาตินัยที่ ๒
ทีนี้มาว่าถึงนัยที่ ๒ ห้ามพระญาติ หมายถึงห้ามญาติพี่น้อง ญาติพี่น้องหรือพระประยุรญาติของพระพุทธเจ้ากำลังจะฆ่าฟันกัน พระพุทธองค์จึงเสด็จไปห้าม

เรื่องมีอยู่ว่า ศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ตั้งเมืองอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี กษัตริย์ทั้งสองวงศ์มีอาชีพหลักคือการเกษตร จึงต้องเอาน้ำในแม่น้ำโรหิณีมาทำนา บางปีน้ำมีน้อยไม่เพียงพอ จึงต้องแย่งน้ำกัน ว่ากันว่าความกระทบกระทั่งเพราะเรื่องนี้มีเสมอมา แต่ไม่มีครั้งไหนใหญ่โตเหมือนครั้งที่กล่าวถึงนี้

คัมภีร์อรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) เล่าอย่างมีอารมณ์ว่า ทั้งสองฝ่ายเมื่อความโกรธครอบงำ ก็ด่าทอกัน ขุดโคตรบรรพบุรุษมาด่ากัน ฝ่ายศากยวงศ์ก็ด่าฝ่ายโกลิยวงศ์ว่า พวกลูกหลานขี้เรื้อน สมสู่กันในป่า ฝ่ายโกลิยวงศ์ก็ด่าตอบว่า ขี้เรื้อนสมสู่กันในป่ายังดีกว่าพวกสมสู่กันเองระหว่างพี่กับน้อง ยิ่งกว่าสุนัข

ครับว่ากันแรงขนาดนี้ จึงปะทุอารมณ์ขึ้นมาถึงกับต้องออกมาสู้รบกัน

ก่อนอื่นขอเล่าเรื่องเบื้องหลังสักเล็กน้อย ว่ากันว่าพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระเจ้าโอกกากราช บรรพบุรุษแห่งศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ ถูกสั่งให้ไปสร้างบ้านเมืองใหม่ เพราะได้ออกปากยกราชสมบัติให้พระราชโอรสที่ประสูติกับพระมเหสีองค์รองแล้ว

ทั้งหมดได้สร้างเมืองขึ้นใหม่ ตามคำแนะนำของกบิลฤๅษี แล้วก็อภิเษกสมรสกันเองระหว่างพี่น้อง ยกเว้นพระพี่นางซึ่งได้แยกตัวออกไปอยู่ที่อื่น เมื่อสร้างเมืองเสร็จก็กลับมา กราบทูลพระเจ้าโอกกากราชทรงทราบ พระองค์ทรงเปล่งอุทานว่า สกฺกา วต เม ปุตฺตา = บุตรของเราองอาจจริงหนอ ตั้งแต่นั้นเมืองนี้จึงมีชื่อว่า "กบิลพัสดุ์" (แปลว่าเมืองที่สร้างบนพื้นที่ที่กบิลฤๅษีแนะนำ) กษัตริย์เหล่านี้จึงมีชื่อเรียกว่า "ศากยะ" (แปลว่าผู้กล้าหาญ)

กล่าวถึงพระพี่นางผู้แยกตัวออกไป ต่อมาได้ป่วยเป็นโรคเรื้อน ได้พบอดีตพระราชาเมืองหนึ่งซึ่งเคยเป็นโรคเรื้อนและได้หายแล้ว อดีตพระราชาพระองค์นั้นทรงแนะนำให้เสวยผลกระเบา โรคได้หายขาด ทั้งสองได้อภิเษกสมรสกัน "สร้างบ้านแปงเมือง" ต่อมา ได้ตั้ง "โกลิยวงศ์" (แปลว่าวงศ์ต้นกระเบา) สืบมา

คำด่าที่ทั้งสองฝ่ายขุดมาด่ากัน เป็นภูมิหลังของทั้งสองฝ่ายดังกล่าวมา ด้วยประการฉะนี้แล

พระพุทธองค์ทรงทราบว่าญาติพี่น้องกำลังจะประหัตประหารกันเพราะเรื่องน้ำ จึงเสด็จไปห้าม พระพุทธดำรัสที่ทำให้พวกเขายินยอม อรรถกถาบันทึกไว้ดังนี้ครับ
พุทธ "มหาบพิตรทั้งหลาย พวกท่านจะสู้รบกันเพราะเหตุใด"
กษัตริย์ "เพราะเหตุนี้ (เรื่องน้ำ) พระเจ้าข้า"
พุทธ "มหาบพิตรทั้งหลาย พวกท่านเห็นอย่างไร ระหว่างน้ำกับโลหิตที่จะไหลหลั่งออกมาเพราะการรบพุ่งกันนี้ อย่างไหนมีค่ามากกว่ากัน"
กษัตริย์ "โลหิตมีค่ามากกว่า น้ำมีค่าเล็กน้อย พระเจ้าข้า"
พุทธ "ถ้าเช่นนั้นพวกท่านจะเอาสิ่งที่มีค่ามหาศาลไปแลกกับสิ่งมีค่าเล็กน้อยทำไมเล่า"

รายละเอียดคงจะเจรจากันยาวและใช้เวลานาน แต่สาระคงมีตามที่ท่านสรุปมาให้ฟังนี้

กษัตริย์ทั้งสองวงศ์เมื่อได้รับประทานพระโอวาทจากพระพุทธองค์ก็ยินยอมสงบศึก ตกลงแบ่งน้ำกันคนละครึ่ง ยกทัพกลับเข้าเมือง

ว่ากันว่าพระพุทธรูปปาง "ห้ามพระญาติ" สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนี้ เขียน "ห้ามพระญาติ" อันหมายถึง พระประยุรญาติทั้งสองฝ่าย มิใช่พยาธิ (โรคร้าย) แต่อย่างใด




ภาพจาก : เว็บไซต์ manager.co.th
ปางโปรดพุทธบิดา (๑)

ทราบกันแล้วว่าพระพุทธบิดาทรงพระนามว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระองค์ไม่มีพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสออกผนวชแม้แต่น้อย จึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะ "ดึง" พระราชโอรสไว้ได้ เช่น สร้างปราสาทสามฤดูที่ "หะรูหะรา" ให้อยู่ ปรนเปรอด้วยรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสธัมมารมณ์สารพัด แต่ยิ่งทำก็ยิ่งเร่งให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นความจริงของสรรพสิ่งมากยิ่งขึ้น

ในที่สุดก็เสด็จออกผนวช สละเสียสิ้นซึ่งกามวิสัยทั้งปวง แสวงหาโมกษธรรม (ทางหลุดพ้น) เพื่อช่วยพระองค์เองให้พ้นทุกข์ แล้วจะได้ช่วยสรรพสัตว์อื่นให้พ้นทุกข์ด้วย

พระเจ้าสุทโธทนะนั้นแทบพระทัยจะสลาย เมื่อทราบว่าพระราชโอรสทิ้งพระนครไปโดยไม่มีวี่แววว่าจะหวนกลับมา ในพุทธประวัติที่เราเรียนไม่พูดถึงว่าหลังจากพระราชกุมารเสด็จออกผนวชแล้วพระราชบิดาทรงทำอะไรบ้าง แต่ในฉบับอื่น (หมายถึงของฝ่ายมหายาน) เล่าไว้ว่าพระองค์ทรงส่งคนไปสืบดูว่าพระราชกุมารอยู่ที่ไหน ทำอะไรบ้าง เรียกว่าทรงรับทราบความเป็นไปของพระราชโอรสทุกระยะ ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระเจ้าสุทโธทนะแม้จะไม่ยินดีที่พระราชโอรสออกผนวช แต่เมื่อทรงทราบว่าพระมหาสัตว์ได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดที่ทรงปรารถนาแล้ว และเสด็จไปประทับ ณ พระเวฬุวันเมืองราชคฤห์ก็อดดีพระทัยไม่ได้ จัดคณะทูตคณะหนึ่งไปทูลอันเชิญเสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระองค์และพระประยุรญาติ

คณะทูตอันประกอบด้วยมหาอำมาตย์และบริวาร ๘ นาย ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังธรรมแล้วต่างก็เลื่อมใส ทูลขอบวชเป็นสาวกพระพุทธองค์ เลยลืมสัญญาที่ให้ไว้กับพระเจ้าสุทโธทนะ

เมื่อคณะทูตคณะที่หนึ่งหายจ้อย พระองค์ก็ส่งคณะที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า ที่หก ที่เจ็ด ที่แปด มาตามลำดับ จะเห็นว่าทรงอยากพบ "พระลูกชาย" ปานใด แต่ก็ช่างกระไร ทูตทุกคณะที่ไปไม่มีใครกลับมาเลยสักคน บวชเป็นพระแล้วก็ลืมสัญญาหมด มัน "เจ๊กอั่ก" น้อยไปหรือ

คราวนี้ทรงส่งมหาอำมาตย์ซึ่งเป็นสหชาต (เกิดพร้อมกัน) กับเจ้าชายสิทธัตถะ นามว่า กาฬุทายี กำชับกำชาให้นำ "พระลูกชาย" มาให้ได้ กาฬุทายีทูลขอลาอุปสมบทด้วย แต่จะไม่ลืมอัญเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าเป็นอันขาด

เมื่อรับเป็นมั่นเหมาะแล้ว กาฬุทายีก็เดินทางไปยังเมืองราชคฤห์ เข้าเฝ้า ณ พระเวฬุวัน ได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตแล้วทูลขออุปสมบท หลังจากบวชแล้วเมื่อสิ้นเหมันตฤดูย่างเข้าคิมหันตฤดู พระกาฬุทายีคำนึงว่าฤดูนี้ประชาชนเพิ่งเสร็จงานเก็บเกี่ยว มรรคาไปสู่พระนครกบิลพัสดุ์สะดวกสบาย สองข้างทางมีพฤกษาเรียงรายอยู่น่ารื่นรมย์ สมควรที่อัญเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสู่เมืองกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระพุทธบิดาและบรรดาพระประยุรญาติทั้งปวง

จึงเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลอาราธนาให้เสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์ ว่ากันว่าพระกาฬุทายีได้ประพันธ์คาถา (โศลก) บรรยายสภาพของมรรคาจากราชคฤห์สู่กบิลพัสดุ์ ซึ่งมีความยาว ๖๐ โยชน์ รวม ๖๐ คาถาด้วยกัน

พระพุทธองค์ทรงรับคำอาราธนา ตรัสบอกกาฬุทายีว่า ให้แจ้งแก่พระสงฆ์ทั้งปวงว่าพระบรมศาสดาจะเสด็จไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายก็ตระเตรียมอัฐบริขารของตนเพื่อโดยเสด็จพระบรมครูไปยังเมืองมาตุภูมิของพระองค์

เสด็จถึงเมืองกบิลพัสดุ์ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม (ป่าไทรย้อย) นอกเมือง บรรดาพระญาติวงศ์ทั้งหลาย ทั้งหนุ่มและแก่ ต่างก็มาเฝ้า บางพวกที่มีทิฐิว่าตนอาวุโสกว่าก็กระด้างกระเดื่องไม่ประณมหัตถ์นมัสการ บางพวกก็นมัสการด้วยความเคารพ และทำในใจว่าตนกำลังไหว้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเพียบพร้อมไปด้วยพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ ไม่ได้ถือตนว่าเป็นผู้อาวุโสกว่าแต่อย่างใด

พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นอหังการมมังการของพระประยุรญาติบางเหล่า จึงทรงสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์เหาะลอยขึ้นในนภากาศ ปรากฏประหนึ่งให้ละอองธุลีพระบาทหล่นลงยังเศียรเกล้าของพระประยุรญาติทั้งหลาย ด้วยพุทธานุภาพเป็นมหัศจรรย์



ปางโปรดพุทธบิดา (๒)
พระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดา ประณมหัตถ์เหนือพระเศียรกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ประสูติใหม่ได้ ๑ วัน หม่อมฉันให้พี่เลี้ยงนำมาเพื่อไหว้อสิตดาบส (กาลเทวิลดาบส) พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏ ขึ้นไปบนชฎาของดาบส ครั้งนั้นหม่อมฉันถวายบังคมพระองค์เป็นครั้งปฐม

ต่อมาเมื่องานพระราชพิธีวัปปมงคล (แรกนาขวัญ) พระพี่เลี้ยงนำพระองค์ไปประทับใต้ต้นหว้า เมื่อพระอาทิตย์บ่ายคล้อยไปแล้ว เงาไม้ก็มิคล้อยไปตามตะวัน หม่อมฉันเห็นเป็นอัศจรรย์ ได้ถวายบังคมเป็นครั้งที่สอง คราครั้งนี้หม่อมฉันขอถวายบังคมเป็นครั้งที่สาม

บรรดาพระประยุรญาติที่กระด้างกระเดื่องในเบื้องต้นต่างก็พากันลดทิฐิมานะ ก้มกราบถวายบังคมทั่วหน้ากัน พระสุคตเจ้าเสด็จลงจากนภากาศประทับบนพระพุทธอาสน์ท่ามกลางเหล่าศากยวงศ์ทั้งปวง

ขณะนั้นเมฆได้ตั้งเค้า บันดาลหยาดฝนเม็ดหยาบสีแดงเรื่อตกลงมา ประหลาดว่าเม็ดสีแดงเรื่ออันเรียกว่าฝนโบกขรพรรษนั้น ใครไม่ประสงค์จะให้ร่างกายเปียก ก็ไม่เปียก ใครประสงค์จะให้เปียก จึงเปียก

เป็นที่มหัศจรรย์อย่างยิ่งแล

ภิกษุทั้งหลายเห็นเหตุการณ์มหัศจรรย์นั้นแล้ว ก็ประชุมสนทนากันด้วยความสงสัยว่าทำไมหนอฝนประหลาดนี้จึงเกิดขึ้นได้ ไม่เคยพบเคยเห็นเลย

พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง จึงเสด็จมาตรัสแก้ข้อกังขาของพวกเธอว่า "ภิกษุทั้งหลาย ใช่ว่าฝนโบกขรพรรษนี้จะตกเฉพาะครั้งนี้เท่านั้น ในอดีตกาล เมื่อตถาคตยังเป็นพระโพธิสัตว์ ฝนนี้ก็เคยตกมาแล้วเช่นกัน" แล้วทรงเล่าเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ให้ภิกษุสงฆ์ฟัง

พระสงฆ์ไทยได้นำเอามหาเวสสันดรชาดกมาเทศน์ให้ญาติโยมฟังในเทศกาลวันออกพรรษาเป็นประเพณีสืบมาจนบัดนี้ (ปัจจุบันนี้อาจเลือนหายไปบ้าง แต่ก็ยังคงมีอยู่) เป็นการปลูกฝังจริยธรรม โดยเฉพาะด้านการให้ทาน สอนให้คนไทยเป็นผู้ใจบุญสุนทาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดำเนินตามรอยพระเวสสันดรโพธิสัตว์

แต่ไหนแต่ไรมาก็ไม่มีใครคิดสงสัยเหมือนคนสมัยนี้ เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป นิสัยสันดานคนเปลี่ยนไปด้วย แต่ก่อนเห็นว่าการให้ทาน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว ทำอะไรมุ่งประโยชน์แก่ส่วนรวมมากที่สุด ให้เพื่อให้ มิใช่ให้เพื่อจะเอา เป็นการดี แต่ปัจจุบันคนที่ให้เพื่อหวังผล ให้เพื่อจะได้จะเอามีมากขึ้น เลยไม่เชื่อว่าคนประเภทที่คิดจะให้ ให้...ให้...อย่างเดียว แบบพระเวชสันดรนั้นมีจริง

ถึงจะยอมรับว่ามี ก็กลับเห็นว่าคนอย่างพระเวชสันดรนั้นใช้ไม่ได้ เป็นคนใจจืดใจดำให้ได้กระทั่งลูกเมียเป็นทาน บางรายไปไกลกว่านั้น กล่าวว่าไม่ควรนำเอาเรื่องพระเวสสันดรมาสอนเด็ก จะทำให้เด็กเห็นแก่ตัวเปล่าๆ

เออแน่ะ คนที่เห็นแก่ตัวกลับไปหาว่าคนไม่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ตัวไปได้ ประหลาดแท้ ผมใคร่ขอนำเรื่องนี้มาถกแถลงกับท่านผู้อ่าน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ผิดถูกอย่างไรขอน้อมรับไว้เพียงผู้เดียว เพราะเป็นทรรศนะส่วนตัว

ก่อนอื่นขอให้ย้อนรำลึกสักนิดว่า
๑.เราอย่าเอาความรู้สึกของปุถุชนอย่างเราๆ ไปตัดสินการกระทำของพระโพธิสัตว์ (พระเวสสันดร)
๒.อย่าลืมว่าเหตุการณ์ในคัมภีร์มิได้เกิดขึ้นในยุคสังคมบริโภค ยุคที่ผู้คน "คลั่งวัตถุ" เป็นบ้าเป็นหลังอย่างปัจจุบัน "บริบท" ทางสังคมย่อมแตกต่างจากปัจจุบันนี้มาก
๓.อย่าลืมว่าการกระทำทั้งหมดเป็นการกระทำของ "พระโพธิสัตว์" ผู้มีจุดมุ่งหมายแตกต่างไปจากปุถุชนทั่วไป



ปางโปรดพุทธบิดา (๓)
พระเวสสันดร ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ตั้งปณิธานเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าถามว่า ตรัสรู้ไปทำไม ตอบว่า เพื่อจะได้ช่วยสรรพสัตว์ผู้ตกอยู่ห้วงแห่งความทุกข์ในสังสารวัฏ

พูดให้สั้นก็คือ เพื่อช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นจากเกิดแก่เจ็บตายอันเป็นสุดยอดแห่งความทุกข์

จากจุดนี้เป็นจุดแรก จะเห็นได้ว่า พระเวสสันดรไม่เห็นแก่ตัว ตรงกันข้ามกลับเป็นคนมีจิตใจกว้างขวาง เห็นแก่ประโยชน์ของคนอื่นอย่างยิ่ง

เพราะท่านต้องการช่วยคนทั้งโลกให้พ้นทุกข์

และการจะช่วยได้สำเร็จก็ต้องได้บรรลุโพธิญาณคือตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก่อน การบำเพ็ญบารมีเป็นขั้นตอนของการเตรียมพร้อมเพื่อบรรลุทานอันอุกฤษฏ์ เป็นหนึ่งในธรรมที่ต้องบำเพ็ญเพื่อให้ได้โพธิญาณนั้น

ถ้าไม่บริจาคลูกเมีย บารมีก็ไม่สมบูรณ์ ไม่มีทางได้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นพระโพธิสัตว์จึงบริจาคลูกเมียให้เป็นทาน

เมื่อบริจาคลูกเมียเป็นทานแล้ว ได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็สามารถช่วยได้ มิใช่เฉพาะลูกเมียของท่าน หากได้ช่วยเหลือคนทั้งโลก

การกระทำอย่างนี้แทนที่จะเป็นการเห็นแก่ประโยชน์ตน กลับเป็นการเห็นแก่โลกทั้งโลก เพราะหลังจากนั้นพระเวสสันดรได้เป็นพระพุทธเจ้าได้ประกาศสัจธรรม ช่วยปลดเปลื้องสัตว์โลกจากทุกข์มากต่อมาก และได้ฝากคำสั่งสอนเป็นประทีปส่องทางชีวิตของชาวโลกทั้งปวงมาตราบเท่าทุกวันนี้

ได้นำข้อกล่าวหาว่าพระเวสสันดรเห็นแก่ตัวถึงขนาดบริจาคลูกเมียเป็นทาน เป็นคนไม่เข้าท่า ไม่เอาไหน มากล่าวในคราวก่อน พร้อมได้อธิบายว่าเป็นความเข้าใจผิด

ผิดตั้งแต่เอาเหตุผลของปุถุชนไปตัดสินการกระทำของพระโพธิสัตว์ ถึงจะเป็นปุถุชนก็มิใช่ปุถุชนธรรมดา หากเป็นปุถุชนผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อเป้าหมายอันสูงส่ง

ผิดเพราะบริบททางสังคมมันเปลี่ยนแปลงไป ค่านิยมคนเปลี่ยนไปด้วย เห็นง่ายๆ แม้กระทั่งความคิดว่า ใครเห็นแก่ตัว ใครไม่เห็นแก่ตัว เกณฑ์ตัดสินก็แตกต่างกันแล้ว

การบริจาคลูกเมียเป็นทานเพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้แล้วจะได้ช่วยสั่งสอนสัตว์ให้ปลดเปลื้องอวิชชา ได้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอันเป็นยอดแห่งความทุกข์ เป็นจุดหมายของพระโพธิสัตว์

การกระทำอย่างนี้วิญญูชนเห็นว่าเป็นความเสียสละอันยิ่งใหญ่ เป็นการกระทำที่หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งมวลพาลชน (คนตรงข้ามกับวิญญูชน) กลับมองว่านี่คือความเห็นแก่ตัวร้ายกาจ

เพราะฉะนั้น ความไม่เห็นแก่ตัว (ในสายตาของอริยะ) ก็คือความเห็นแก่ตัว (ในสายตาปุถุชน) ได้แล



ปางโปรดพุทธบิดา (จบ)
ในเรื่องพระเวสสันดรนี้ ถ้าพระเวสสันดรไม่บริจาคช้างปัจจัยนาคเป็นทานก็ไม่ต้องถูกผลักดันออกจากเมือง ปกครองบ้านเมืองเป็นสุขตามอัตภาพ ไม่มีโอกาสได้บริจาคลูกเมียเป็นทาน ท่านก็ช่วยเหลือได้เฉพาะลูกเมียของท่านและประชาชนของท่าน สิ้นพระชนม์แล้วก็จมหายไปตามกาลเวลา

อย่างนี้จะเรียกว่า พระเวสสันดรเห็นแก่ตน เห็นแก่ลูกเมียของตนและบ้านเมืองของตนก็สมควรอยู่

แต่นี่มิได้เป็นเช่นนั้นเลย จะหาว่าท่านเป็นคนเห็นแก่ตนได้อย่างไร

อนึ่ง ทุกขั้นตอนของการกระทำ พระโพธิสัตว์ทำด้วยปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบและเปี่ยมด้วยความรักต่อลูกเมียทั้งสิ้น เช่น
๑.ทรงชี้แจงให้ลูกทั้งสองเข้าใจว่า การกระทำของพ่อมิใช่เพราะไม่รักลูก หากทำด้วยความรักลูกสุดชีวิต เพราะมุ่งหวังโพธิญาณ ต้องการช่วยโลกทั้งมวล จึงต้องบริจาคลูกเป็นทานและท้ายสุดลูกทั้งสองก็เข้าใจเจตนาของพ่อ จึงยินยอมเป็น "สำเภาทอง" เพื่อนำส่งพ่อให้ "ข้ามฟาก" ในที่สุด

การบริจาคทานของพระเวสสันดรเป็นการบริจาคที่บริสุทธิ์ ทั้งผู้ให้ (พ่อ) และผู้ถูกให้ (ลูกทั้งสอง) ศรัทธาในจุดมุ่งหมายอันสูงสุดนั้นและยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย

๒.นอกจากนี้ พระเวสสันดรได้วางแผนให้ลูกทั้งสองกลับไปหา "ปู่" อย่างผู้มีปัญญาเห็นการณ์ไกลที่ท่านตั้งค่าไถ่ตัวลูกทั้งสองไว้สูงลิ่ว (ชาลีค่าตัวทองพันลิ่ม กัณหาทองร้อยลิ่ม ทาสทาสีและของมีค่าอื่นๆ อย่างละร้อย) ก็เพราะเล็งเห็นว่าคนที่มีทรัพย์มากมายจะไถ่ลูกได้ก็มีแต่พระเจ้ากรุงสีพี พระราชบิดาของตนเท่านั้น

ชูชกก็เป็นคนโลภ อยากได้เงินมากๆ ก็ต้องพาสองกุมารไปกรุงสีพีแน่นอน ซึ่งก็เป็นจริงตามคาด

๓.พอให้ลูกเป็นทาน ปุบปับก็ปรากฏพราหมณ์เฒ่าแต่งตัวดี ท่าทางภูมิฐาน โผล่มาจากไหนไม่ทันสังเกต ออกปากขอพระชายา พระโพธิสัตว์นึกในใจอยู่แล้วคงมิใช่คนธรรมดา จึงออกปากยกให้โดยไม่ลังเล ทันทีที่หลั่งน้ำบนหัตถ์พราหมณ์เฒ่า พราหมณ์เฒ่าก็กลายร่างเป็นพระอินทร์ กล่าวอนุโมทนาในทานอันอุกฤษฏ์ครั้งนี้และขอให้บรรลุโพธิญาณสมความมุ่งหมาย

จริงดังสังหรณ์ใจ ในที่สุดพระอินทร์ก็มาช่วยเป็น "สำเภาทอง" ส่งพระโพธิสัตว์ข้ามฝั่งอีกคน ดุจสองกุมารกุมารี

ถ้าถาม ทำไมคนสมัยนี้มองไม่เห็นความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ความกรุณาอันยิ่งใหญ่ ของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ที่มีต่อชาวโลก กลับมองเป็นการเห็นแก่ตัว เอาตัวรอดคนเดียวอะไรไปโน่น

คำตอบก็คงจะเป็นว่า เพราะใช้มาตรฐานคนละอย่าง มีวิธีคิดคนละอย่างก็ได้ อาจมที่เหม็นร้ายกาจนั้น ถึงจะมีเทวดามาบอกว่ามันเหม็น หนอนอ้วนที่ดำผุดดำว่ายอยู่นั้น มันคงไม่เห็นด้วย

เพราะมันหอมหวานจะตายไป หนอนว่าอย่างนั้น



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
3429  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: ชีวิต-ผลงาน ครู 'เหม เวชกร' เมื่อ: 24 สิงหาคม 2558 15:04:00
.

ภาพพาหุง
โดย ครูเหม  เวชกร

บทที่ ๑ ผะจญมาร
พาหุํ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ

ใจความว่า องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่บนรัตนบัลลังก์ใต้ควงไม้มหาโพธิ์
ทรมานเสียซึ่งพระยาวสวัสดิมาราธิราชกับทั้งเสนามารให้ปราชัยพ่ายแพ้
แล้วพระองค์ก็ได้ตรัสรู้แก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ
เรื่องความพิสดารอยู่ในปฐมสมโพธิบริเฉทมารวิชัยโน้นฯ


๑.พระพุทธองค์ทรงเข้าสมาธิ ณ โพธิบัลลังค์ในเย็นวันวิสาขะ ที่จะตรัสรู้


๒.พญามาราธิราชกรีฑาพลมาประชิดขับไล่ มิให้ประทับ ณ โพธิบัลลังก์


๓.แม่พระธรณีผลุดขึ้นมาช่วยพระพุทธองค์ พลางบิดเกศเกล้าโมลี


๔.เกิดเป็นมหาสมุทรนทีธาร พญามารไพร่พลก็ปราชัยแก่พระบารมี


บทที่ ๒ ผะจญอาฬวกะยักษ์
มาราติเรกมภิยุชฺฌิตสพฺพรตฺตึ

ใจความว่า พญาอาลวีราชผู้ครองเมืองอาลวินคร เสด็จยกพลไปประพาสล่าเนื้อ
พระอินทร์นิมิตเป็นกวางทองวิ่งผ่านหน้าพลไป บรมกษัตริย์ก็ให้ล้อมกวางนั้้นไว้
กวางหนีจากที่ล้อมได้ พญาก็ทรงม้าพระที่นั่งตามไปแต่พระองค์เดียว
จนถึงวิมานใต้ต้นไทร อันเป็นแดนอาฬวกยักษ์ๆ ก็จับพญาได้จะกินเป็นอาหาร
พญาให้ปฏิญาณแก่ยักษ์ว่า ถ้าท่านให้เรากลับไปเมือง เราจะส่งคนกับสำรับ
เข้ามาให้ท่านบริโภคทุกวัน ยักษ์ก็ปล่อยพญาๆ ก็ทรงม้ากลับมาเมืองฯ

เมื่อพญาอาลวีกลับมาถึงเมืองจึงให้ถอดนักโทษออก แล้วให้แบกสำรับไปส่งอาฬวกยักษ์
วันละคนจนหมดสิ้น ภายหลังพญาจึงสั่งให้นำทารกไปส่งยักษ์ ส่วนสตรีผู้มีครรภ์
ก็พากันหนีไปอยู่ประเทศอื่น ทารกทั้งเมืองไม่มี พญาจึงสั่งให้เอาพระราชบุตร
ผู้ชื่ออาลวีกุมาร เตรียมไปให้ยักษ์ในวันรุ่งขึ้น ราตรีวันน้ัน พระพุทธเจ้าเห็นอุปนิสัย
อาฬวกยักษ์กับอาลวีกุมารผู้จะถึงแก่มรรคผล ก็เสด็จเข้าไปเทศนา ณ วิมาน
ฝูงนางเทพปริจาริกา ก็เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกัน พอสาตาคิรยักษ์และเหมวตายักษ์
เหาะมาตรงวิมานก็มิอาจเหาะไปได้ ตกลงมาจากอากาศ ก็เข้าไปถวายนมัสการพระพุทธเจ้าฯ

เมื่อสมเด็จพระพุทธองค์เสด็จอยู่ในวิมาน ฝ่ายคันธัพยักษ์ผู้รักษาประตูก็ไปบอกอาฬวกยักษ์
ยังที่ยักขสมาคม ทั้งเหมวตายักษ์และสาตาคิริยักษ์ก็มาถึงที่นั่นด้วย ต่างบอกความแก่อาฬวกยักษ์
ว่า พระสัพพัญญูเสด็จอยู่ในวิมาน ท่านอาฬวกยักษ์ก็โกรธ ยืนขึ้นสำแดงฤทธิ์ถีบยอดเขาไกรลาส
หักทำลายแล้วร้องเรียกยักษ์บริษัทยกพลมาล้อมวิมาน ยังห่าฝนอาวุธ ๗ ประการ ให้ตกลง
ด้วยอำนาจผ้าโพก อาวุธกลายเป็นดอกไม้บูชาพระพุทธเจ้า อาฬวกยักษ์แพ้ฤทธิ์แล้วพระองค์
เทศนาโปรดยักษ์บรรลุพระโสดาบัน เมื่อบุรุษพาอาลวีกุมารมาถึงยักษ์ๆ ก็อุ้มกุมารไว้ด้วยเมตตาจิต
แล้วพระพุทธองค์ก็พายักษ์และกุมารมาเมืองอาลวี พญาไปรับนอกประตูเมืองฯ

  

๑.พระเจ้ากรุงอาฬวีประพาสป่า หลงทางเข้าไปในแดนอาฬวกะยักษ์


๒.เมื่อยักษ์ขู่จะฆ่า ก็ทรงขอถ่ายชีวิต โดยส่งนักโทษไปให้ยักษ์กินทุกวัน


๓. พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนั้นจึงเสด็จพุทธดำเนินไปปราบยักษ์


๔.ทรงสำแดงธรรมโปรด จนยักษ์เลื่อมใสศรัทธา ถวายคารวะอภิวาท


บทที่ ๓ ผะจญช้างนาฬาคีรี
นาฬาคิรึ คชวรํ อติมตฺตภูตํ

ใจความว่า พระเทวทัตคิดจะฆ่าพระพุทธเจ้า พญาอชาตศัตรูขอให้
เอาเหล้ากรอกช้างนาฬาคิรี แล้วปล่อยไปในถนนที่พระพุทธเจ้าพร้อมกับ
พระภิกษุสงฆ์เที่ยวบิณฑบาต พระพุทธเจ้าทรงทรมานช้างนาฬาคิรี
ให้หายเมาเหล้าแล้วตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์



๑.พระเทวทัตต์ผลักศิลาฆ่าพระพุทธองค์ไม่สำเร็จ
แต่เสก็ดหินถูกพระบาทห้อเลือด


๒.อุบาสกทูลห้ามมิให้เสด็จโปรดสัตว์
ว่าเทวทัตต์จะให้ช้างร้ายฆ่า แต่ไม่ทรงฟัง


๓.พระอานนท์ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา
ขวางหน้าช้างนาฬาคีรีมิให้แทงพระพุทธองค์


๔.ทรงแผ่พระเมตตาบารมี ช้างนาฬาคีรีซึ่งถูกมอมเหล้่า
ก็สร่างเมาทันที


บทที่ ๔  ผะจญโจรองคุลิมาล
อุกฺขิตฺตขคฺคมหิหตฺถสุทารุณนฺตํ

ใจความว่า ภรรยาปุโรหิตเมืองสาวัตถี คลอดบุตรในราตรีวันนั้น
อาวุธลุกเป็นเพลิงไปสิ้นทั้งเมือง พญาปัสเสนทิโกศลทอดพระเนตรเห็นพระแสง
อันวางไว้ข้างที่สิริไสยาสน์ปรากฏเป็นเพลิง  ดังนั้้นจึงตกพระทัย
ครั้้นรุ่งเช้าตรัสถามปุโรหิตๆ ก็กราบทูลว่า บุตรข้าพระองค์คลอดในเพลาวันนี้
จะเป็นโจรจึงปรากฏเป็นมหัศจรรย์ดังนี้ ขอพระองค์จงประหารชีวิตบุตรข้าพระเจ้าเสีย
พญาก็ตรัสสั่งให้เลี้ยงกุมารไว้มิได้ฆ่า ครั้นกุมารเติบใหญ่ขึ้นบิดาก็ให้ชื่อว่า อหิงสกกุมาร
แล้วให้ไปเรียนศิลปะศาสตร์ ในสำนักทิศาปาโมกข์ ณ เมืองตักสิลา ฯ



๑.พระพุทธองค์เสด็จไปโปรดโจรองคุลิมาล ชาวบ้านทูลทัดทาน ก็ไม่ทรงฟัง


๒.องคุลิมาลตะโกนก้องให้หยุด พระพุทธองค์ตรัสว่าเราหยุดแล้ว ท่านสิยังไม่หยุด


๓.ทรงแสดงธรรมกลับใจองคุลิมาล ประทานอุปสมบท แล้วพระสุคตก็เสด็จกลับวัด


๔.หญิงมีครรภ์ จำพระองคุลิมาลได้ ตกใจกลัวจนเจ็บครรภ์ ท่านยืนให้พรให้คลอดง่าย


บทที่ ๕ ผะจญนางงาม
กตฺวาน กฏฺฐมุทรํ อิว คพฺภินียา

ใจความว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จอยู่วัดพระเชตุพนใกล้เมืองสาวัตถี
ครั้งนั้นลาภสักการะเกิดในพระศาสนามาก พวกเศรษฐีจึงให้นางจินจมาณวิกาทำอุบาย
เที่ยวเข้าออกในวัดพระเชตุพนเนืองๆ แล้วเอาท่อนไม้ผูกท้องเข้าในผ้านุ่งไปยืนอยู่ในที่บริษัท
เมื่อเพลพระพุทธเจ้าสำแดงพระธรรมเทศนา  ร้องว่า ท่านกระทำให้เรามีครรภ์แล้ว
ไฉนจึงไม่ปลูกเรือนที่ประสูติให้เราเล่า พระอินทร์กับเทพยดาทั้ง ๔ องค์ ก็นิมิตเป็นหนู
มากัดเชือกซึ่งผูกท่อนไม้ให้ขาดออก แผ่นดินก็ให้ช่องสูบนางจินจมานวิกาลงไปไหม้
อยู่ในอเวจีนรก พระพุทธองค์ก็ทรงเทศนาเรื่องมหาปทุมชาดกโดยพิสดารฯ



๑.เดียรถีย์ขอให้นางจิญจมาณวิกาแสร้งใส่ความพระพุทธองค์ นางก็รับคำ


๒.ทุกเวลาเย็นนางทำทีค้างวัดเชตวัน รุ่งเช้าทำออกจากวัด มหาชนต่างสงสัย


๓.ไปชี้หน้าว่าตนมีครรภ์กับพระพุทธองค์ พระอินทร์แปลงเป็นหนูกัดไม้ค้ำครรภ์


๔.พอกลแตกนางก็วิ่งหนี พระธรณีก็สูบนางลงไปหมกไหม้ในนรกอเวจี


บทที่ ๖  ผะจญอาจารย์กษัตริย์
สจฺจํ วิหาย มติสจฺจกวาทเกตุํ

ใจความว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จอยู่ในกุฎาคารเสนาสนป่ามหาวันใกล้เมืองเวสาลี
ครั้งนั้น สัจกนิครนถ์บุตรอยู่ในเมืองนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ ตั้งตนเป็นนักปราชญ์ทรงไว้ซึ่งความรู้มาก
ทำพืดเหล็กรัดท้องกลัววิชชาจะทำลายท้องแตก วันหนึ่งเที่ยวไปพบพระอิสสชิเถระผู้บิณฑบาต
ในละแวกบ้าน ก็ถามปัญหาพระผู้เป็นเจ้า แล้วเข้ามาชวนพญาลิจฉวีทั้ง ๕๐๐ พระองค์
เสด็จออกจากป่ามหาวัน จึงถามปัญหาพระสัพพัญญู  ขณะนั้นพระอินทร์นิมิตเป็นยักษ์ถือค้อน
มาลอยอยู่บนอากาศ ตรงศีรษะสัจกนิครนถ์ๆ ได้ฟังธรรมเทศนาในสำนักพระพุทธเจ้า
ก็ละมิจฉาทิฏฐิเสียได้ ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ฯ



๑.สัจจกะนิครนถ์อาจารย์กษัตริย์ลิจฉวีพบพระอัสสชิ จึงลองประคารม


๒.แล้วไปทูลกษัตริย์ลิจฉวีว่า ตนจะโต้วาทะกับพระพุทธองค์ให้จำนนทีเดียว


๓.ถูกพระพุทธองค์ทรงซักถามถึงอนัตตา สิ้นภูมิปัญญาของสัจจกะ เหงื่อไหลโทรมหน้า


๔.กลับบังเกิดศรัทธาเลื่อมใสในศาสนา ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระพุทธองค์

(คัดโดยคงตัวสะกดเดิม)
3430  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: ดับคนดัง - วินาทีสังหารบุคคลสำคัญของโลก เมื่อ: 24 สิงหาคม 2558 14:05:33
.


อันวาร์ ซาดัต อดีตประธานาธิบดีอียิปต์
เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ

ดับคนดัง - วันสังหาร
อันวาร์ ซาดัต แห่งอียิปต์

กลางนครหลวงอียิปต์ นครเก่าแก่และรุ่งเรืองที่สุด

วันที่ ๖ ตุลาคม ๑๙๘๑ เวลาเกือบบ่ายโมง แสงแดดแผดกล้าร้อนแรงไปทั่ว มีพิธีสวนสนามของเหล่าทหารหาญนับหมื่น เนื่องในวันครบรอบปีที่ ๘ แห่งการยุติสงครามบ้าเลือด ระหว่างอียิปต์กับอิสราเอล ที่ยืดเยื้อติดต่อกันมานานถึง ๓๐ ปี

ผู้เป็นประธานในพิธีอันเกริกเกียรติท่ามกลางประชาชนนับหมื่นคนในครั้งนี้ก็คือ ประธานาธิบดีอันวาร์ ซาตัด บุรุษเหล็กแห่งอียิปต์ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการยุติสงครามกับอิสราเอล เป็นการสร้างสันติภาพให้แก่ตะวันออกกลาง จนกระทั่งได้รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพโลก

ขณะที่พิธีสวนสนามกำลังดำเนินการไปได้เล็กน้อย ประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ กำลังยืนทำความเคารพแถวทหารที่เดินสวนสนามผ่านหน้าไป โดยมี ออสนี มูบารัค รองประธานาธิบดี และ อบู กาซาร่า รัฐมนตรีมหาดไทย ยืนกระหนาบข้างพร้อมด้วย พลเอก อับเดล รับนาบี ฮาเฟซ เสนาธิการทหารอียิปต์ และผู้ช่วยของประธานาธิบดี รวมทั้งรัฐมนตรีกลาโหม และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งของอียิปต์ และทูตานุทูตต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก

แล้วนาทีสุดสยองก็อุบัติขึ้นอย่างไม่มีใครคาดฝัน นายทหารหน่วยคอมมานโด ๖ คน หัวหน้าใหญ่ยศพันตรี มีผู้ช่วยยศร้อยโท ๒ คน พลทหารอีก ๔ คน นั่งรถจี๊ปเคลื่อนมากับขบวนพาเหรด ขณะที่ผ่านหน้าปะรำพิธีของซาดัต รถจี๊ปคันนั้นก็หยุด และจอดลง ทหารคนหนึ่งโดดลงมาเปิดกระโปรงรถดูคล้ายๆ ว่ารถเกิดเสีย แต่ขณะเดียวกันนั้น ทหารอีก ๓ คน ที่นั่งมาด้วยกลายเป็นเพชฌฆาต ขว้างระเบิด ๓ ลูกใส่ปะรำพิธี เสียงระเบิดดังกึกก้องสนั่นหวั่นไหว พร้อมกันนั้น กลุ่มเพชฌฆาตทั้งหมดก็กระโดดลงจากรถจี๊ปพร้อมกับสาดกระสุนจากปืนกลมืออย่างหูดับตับไหม้ เป้าหมายคือร่างสูงของประธานาธิบดีและทุกๆ คนที่นั่งเป็นแขกในพิธี

เสียงปืนรัวขึ้นอย่างถี่ยิบ พร้อมกับเสียงตะโกนก้องจากกลุ่มมือปืน “อียิปต์จงเจริญ ซาดัต ขี้ข้าต่างชาติ จงพินาศ”

ท่ามกลางเสียงห่ากระสุน ร่างของท่านประธานาธิบดีก็ล้มคว่ำลงจมกองเลือดบนพื้นปะรำพิธี พร้อมด้วยคณะเสนาธิการทหาร ร่างโชกเลือดอีกหลายคน ทุกคนที่เคราะห์ร้าย ถูกหามขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปส่งโรงพยาบาลทหารมาตี ในกรุงไคโรเป็นการด่วน

ที่โรงพยาบาล ร่างประธานาธิบดีถูกนำเข้าห้องผ่าตัดด่วน เพื่อช่วยชีวิตอย่างสุดความสามารถ มีการให้เลือดและปั๊มหัวใจให้ทำงาน แต่ก็ไร้ผล

ประธานาธิบดี อันวาร์ ซาดัต ผู้ใฝ่สันติภาพของอียิปต์ เสียชีวิตด้วยกระสุนปืน เจาะเข้าที่อกด้านซ้าย ๒ รูใหญ่ กระสุนอีกนัดหนึ่งเจาะเข้าที่ลำคอ เหนือกระดูกไหปลาร้าด้านขวา หัวเข่าขวา และด้านหลังสะโพกจนยับเยิน

ผู้ที่เคราะห์ร้ายเสียชีวิตร่วมกับประธานาธิบดีเป็นคนใกล้ชิดกับซาดัต มีถึง ๙ ศพ และบาดเจ็บสาหัสอีก ๒๒ คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตนั้น มี พลเอก อับเดล รับนาบี ฮาเฟซ เสานาธิการทหารอียิปต์ และผู้ช่วยของประธานาธิบดี ๒ คน ส่วนนอกนั้นล้วนแต่เป็นบุคคลสำคัญระดับชาติทั้งของอียิปต์และต่างประเทศ ที่มาร่วมพิธีสำคัญครั้งนี้ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น มือปืนในเครื่องแบบที่ปฏิบัติการสุดโหดครั้งนี้ ถูกหน่วยรักษาความปลอดภัยประจำตัว อันวาร์ ซาดัต ยิงคว่ำไปถึง ๓ คน คนแรกคือ พันตรี หัวหน้าโดนกระสุนหลายนัดเข้าที่สำคัญ ตายคาที่กับลูกน้องอีกหนึ่งคน ส่วนที่เหลืออีก ๓ คน ถูกจับได้ทั้งหมด

หลังจากนาทีสยองผ่านไป กระทรวงมหาดไทย ประกาศภาวะฉุกเฉินไม่ให้ชาวอียิปต์ร่วมชุมนุมหรือเดินขบวน ทั้งนี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของอียิปต์ แต่ฝูงคนนับหมื่นออกไปที่ทำเนียบรัฐบาล ตำรวจทหารพร้อมอาวุธถูกส่งไปรักษาการณ์ตามสี่แยกทั่วๆไปของกรุงไคโร ประชาชนนับหมื่นร่วมไปแสดงความเสียใจในมรณกรรมของผู้นำของเขา

ขณะเดียวกัน บรรดาผู้นำทางทหารของสหรัฐฯ เปิดประชุมฉุกเฉิน กองทัพเรืองที่ ๖ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เตรียมพร้อม

รองประธานาธิบดีออสนี มูบารัค ประกาศจะก้าวเดินตามรอยเลือดของซาดัต โดยออกโทรทัศน์พบประชาชน แจ้งข่าวการเสียชีวิตของซาดัตว่าเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า ผู้นำอียิปต์ทุกคนพร้อมอุทิศเลือดเนื้อ กาย ใจ และวิญญาณ เพื่อปกป้องรักษารัฐธรรมนูญ และยังผูกพันอยู่กับสนธิสัญญา ข้อตกลงต่างๆ กับนานาประเทศ

ขณะเดียวกัน รัฐสภาอียิปต์ก็แต่งตั้ง ซูพี อาบูทาเล็บ ประธานรัฐสภาเข้ารักษาการณ์เป็นประธานาธิบดี ๖๐ วัน เป็นการชั่วคราว



http://f.ptcdn.info/022/012/000/1384212735-800pxSadat-o.jpg

     อัลวาร์ ซาดัต และ จิมมี่ คาร์เตอร์

ข่าวการถูกสังหารโหดเหี้ยมของประธานาธิบดีอียิปต์แพร่สะพัดกระจายไปทั่วโลก ผู้นำนานาประเทศต่างกล่าวสดุดีและเสียดายซาดัตอย่างยิ่ง ประธานาธิบดีเรแกน แห่งสหรัฐฯ กล่าวอย่างซึมเศร้าว่า ได้สูญเสียมิตรที่ดีอย่างซาดัตไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง นายกเบนาเฮม เบกิ้น ของอิสราเอล ประกาศสดุดีเกียรติคุณของซาดัต และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ดำเนินการต่างๆ ตามเจตจำนงของซาดัดก่อนตาย

ทางมอสโกกล่าวว่า การตายของซาดัต เนื่องมาจากซาดัตเจรจาสงบศึกกับยิวผู้รุกราน และเป็นการไปร่วมมือกับสหรัฐฯ

ที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย ซึ่งกำลังประชุมเครือจักรภพ เมื่อได้รับข่าวการตายของซาดัต ทำให้ทุกคนตกตะลึง ตกใจในวิธีการสังหารอย่างโหดเหี้ยมและแผนชั่วที่ใช้ฆ่าผู้นำประเทศ ต่างเร่งส่งสาส์นแสดงความเสียใจไปยังรัฐบาลอียิปต์

ทางด้านอาหรับหัวรุนแรง กลุ่มประเทศที่เกลียดชังซาดัต ต่างพากันยินดีปรีดา มีการร้องรำทำเพลงไปตามถนน พวกองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ในลิเบีย และที่อื่นๆ บรรดาหัวหน้ากลุ่มอาหรับรุนแรง ต่างสมน้ำหน้าซาดัต บอกว่าคนทรยศใช้หนี้ชีวิตไปแล้ว ถือเป็นบทเรียนเตือนใจคนอาหรับทั้งหลาย

พิธีศพของประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่แห่งอียิปต์ ถูกกำหนดขึ้นอย่างสมเกียรติ ในวันเสาร์ที่ ๑๐ ตุลาคม ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ โดยรองประธานาธิบดีมูบารัค เป็นผู้กำหนดขึ้น ส่วนรัฐบาลไทย ส่ง พลเอก เสริม ณ นคร รองนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น เป็นตัวแทนรัฐบาลไปร่วมพิธีครั้งนี้ พร้อมกันได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แสดงความสลดพระราชหฤทัยไปพระราชทานแก่ มาดามซาดัต และรัฐบาลอียิปต์ด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนที่ซาดัตจะถูกสังหาร สหรัฐฯ ทุ่มเงินกว่า ๕๐๐ ล้านบาท เพื่อปกปักรักษาชีวิตของซาดัต  นสพ.วอชิงตันโพสต์ เผยว่า เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์หุ้มเกราะมาให้ใช้ และ ซี.ไอ.เอของสหรัฐฯ จะเป็นหูเป็นตาคอยสอดแนมรายงานความเคลื่อนไหวต่างๆ ต่อแผนการร้ายที่มุ่งสังหารเอาชีวิตซาดัต ทั้งที่อยู่ในประเทศ และขณะเดินทางไปยังต่างประเทศ เครื่องบินพิเศษ ซึ่งมีอุปกรณ์ประดุจหูทิพย์ ตาทิพย์ จะจับตารายงานดูความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ ยืนยันว่า ซาดัตได้รับการคุ้มกันในขั้นที่เรียกว่า ดีที่สุดในโลกคนหนึ่ง

แต่พวกอาหรับหัวรุนแรงทั้งหลาย ซึ่งจงเกลียดจงชัง อันวาร์ ซาดัต มากที่ยอมทำสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล ผู้รุกรานและรุกรบขับเคี่ยวกันมาถึง ๓๐ ปี หาได้สิ้นความพยายามที่จะสังหารซาดัตไม่ แม้ว่าแผนการร้ายต่างๆ ในการสังหารซาดัต ถูกทำลายครั้งแล้วครั้งเล่า อีกทั้งการปกป้องรักษาชีวิตของซาดัตจะเข้มงวดสักปานใด กลุ่มเพชฌฆาตก็เปลี่ยนแผนทำงานและทำให้สำเร็จจนได้

แม้ว่าวันนั้น วันที่ซาดัตถูกสังหาร ซาดัตจะใส่เสื้อเกราะป้องกันตัวก่อนเกิดเหตุ และมีหน่วย รปภ.มีอาวุธครบมือรายล้อมรอบด้าน แต่แผนสังหารที่แนบเนียนของกลุ่มมือเพชฌฆาตก็ดำเนินไปได้ โดยคนร้ายทำทีว่ารถจี๊ปเสีย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ จนขาดความระมัดระวัง และกลุ่มทหารจากรถกระโดดลงมาอย่างรวดเร็ว ขว้างระเบิดถึง ๓ ลูกเข้าใส่ พร้อมด้วยการยิงด้วยปืนออโตเมติคอันร้ายแรงอย่างหูดับตับไหม้ จนเกราะอ่อนของซาดัตไม่อาจป้องกันได้ อีกทั้งหน่วย รปภ.ตอบโต้ช้าไป โดยเฉพาะเครื่องแบบของซาดัตเป็นสีเขียวสดใส เป็นเป้าหมายเด่น เห็นได้ชัดแต่ไกล จึงเป็นจุดตายที่ดีที่สุดของกลุ่มเพชฌฆาต

สาเหตุที่ซาดัตถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมครั้งนี้ นอกจากจะมีปมสำคัญมาจากพวกอาหรับหัวรุนแรงที่จงเกลียดจงชังซาดัตแล้ว ก็ยังมีผู้ไม่ปักใจเชื่อว่าจะมีเบื้องหลังเป็นอย่างอื่นเป็นสาเหตุอีก ความคิดของพวกอาหรับหัวรุนแรงพวกนี้ถือว่าผู้ที่ยอมก้มหัวให้ยิว ถือว่าเป็นศัตรูของอาหรับทั้งมวล กระทั่งมอสโก รัสเซีย ก็ถือว่าซาดัตเป็นศัตรู โดยประกาศออกทางวิทยุว่า ซาดัตตายเพราะไปเจรจาสงบศึกกับยิว และหันไปร่วมมือกับสหรัฐฯ นั่นเอง

ในบรรดารัฐบุรุษวงการเมืองโลกที่โด่งดังในยุคนั้น นอกจาก จิมมี่ คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือ เบรสเนฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว ซาดัตก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เขามีข่าวปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วโลกอยู่เสมอ เขาได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะที่เป็นผู้ตัดสินใจอย่างเฉลียวฉลาดในทางการเมืองและการทหาร ตลอดจนการเจรจาสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในตะวันออกกลาง



   

ซาดัต มีชื่อเต็มว่า อันวาร์ เอล ซาดัต เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ ที่บ้านมิต อาบู คอม ในดินแดนสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำไนล์ เขาเกิดจากตระกูลที่ไม่สูงส่ง พ่อเป็นเสมียนชั้นผู้น้อยในโรงพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนแม่มีเชื้อสายซูดาน ที่อพยพมาอยู่อียิปต์

พ.ศ.๒๔๙๘ ซาดัตได้เข้าโรงเรียนนายร้อยทหารของอียิปต์ และเขาได้พบกับ อับเดล กามาล นัสเซอร์ วีรบุรุษแห่งอียิปต์ ผู้ซึ่งต่อมาได้ทำการรัฐประหารล้มกษัตริย์ฟารุค และได้ประกาศตนเป็นประธานาธิบดี และเปลี่ยนการปกครองประเทศอียิปต์เป็นระบอบสาธารณรัฐ

ซาดัตเข้าสู่การเมืองโดยเหตุผลักดัน ๒ ประการ คือ การคอร์รัปชั่นของบรรดาข้าราชการซึ่งเป็นบริวารของกษัตริย์ฟารุค และการที่อียิปต์ต้องตกเป็นเมืองในอาณัติของอังกฤษ

ครั้งแรก ซาดัตถูกจับเข้าคุกโดยตำรวจลับของฟารุค แต่ก็ติดคุกอยู่ได้ปีกับเจ็ดเดือนเท่านั้น ซาดัตก็ทำการแหกคุกหนีออกมาได้ แต่ก็ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ตลอดเวลา  โดยทำงานเป็นคนขับรถบรรทุกบ้าง สุดแต่โอกาสจะอำนวย เพื่อมีชีวิตรอดไปวันๆ เป็นแม้กระทั่งบ๋อยโรงแรม จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง และเคราะห์กรรมยังไม่สิ้น ซาดัตถูกจับอีกครั้งในข้อหาที่ร้ายแรง คือ พยายามลอบสังหารนักการเมืองที่สนับสนุนอังกฤษ แต่ครั้งนี้ติดคุกเพียง ๒ ปีครึ่ง ก็ได้รับการปลดปล่อยและกลับเข้ารับราชการในกองทัพบกอียิปต์ ด้วยยศเท่าเดิม คือ พันโท

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๙๓ นัสเซอร์ทำการรัฐประหารสำเร็จ ล้มกษัตริย์ฟารุคได้ และเปลี่ยนการปกครองอียิปต์เป็นระบอบสาธารณรัฐ นัสเซอร์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซาดัตได้เลื่อนยศเป็นพันเอก และได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานาธิบดีจนกระทั่งนัสเซอร์ตายเมื่อปี ๒๕๑๓ ซาดัตจึงก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี

ทันทีที่ได้รับตำแหน่ง ก็มีกลุ่มนักการเมืองบางกลุ่ม ต้องการทดสอบลองของทันที ด้วยการทำรัฐประหารโค่นล้มซาดัต เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ แต่ก็ถูกซาดัตจับได้หมด มีการกวาดล้างครั้งใหญ่สำหรับนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในจำนวนนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรวมอยู่ด้วย

เมื่อกวาดล้างศัตรูแล้ว ซาดัตก็เปลี่ยนนโยบายการเมืองระหว่างประเทศใหม่ โดยหันมาสนับสนุนและเป็นมิตรกับอเมริกา หลังจากที่ความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองต้องขาดสะบั้นลงในสมัยของนัสเซอร์ เมื่อปี ๒๕๑๐ เวลาเดียวกัน ซาดัตสั่งให้รัสเซียถอนทหาร ตลอดจนที่ปรึกษาทางการทหารออกไปเสียจากอียิปต์จนหมดสิ้น สาเหตุมาจากรัสเซียเอาเปรียบอียิปต์มาก

ยิ่งกว่านั้น ซาดัตยังได้ผูกสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดสนิทสนมเป็นอย่างมากกับเศรษฐีน้ำมันซาอุดิอาราเบีย จนได้รับเงินสนับสนุนในการทำสงคราม เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ ซึ่งสงครามครั้งนี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าทางประวัติศาสตร์ของตะวันออกกลางโดยสิ้นเชิง โดยอียิปต์ได้ดินแดนคืนจากการยึดครองของอิสราเอลเป็นจำนวนมาก ซาดัตได้กลายเป็นวีรบุรุษของโลกอาหรับทันที เพราะเป็นครั้งแรกที่อาหรับชนะยิวในสงครามอันศักดิ์สิทธิ์ ชัยชนะของอียิปต์ครั้งนี้ ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างชาติมหาอำนาจ จนทำให้หวั่นไปว่า จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๓ แต่ในที่สุดก็มีการออมชอมกันระหว่างอียิปต์กับซีเรีย ได้ดินแดนบางส่วนคืน

แต่แล้ว ชาวโลกต้องตกตะลึงจากข่าวใหญ่คือ ซาดัตตัดสินใจไปเยือนกรุงเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล เพื่อเจรจาสันติภาพ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐ การกระทำของซาดัตครั้งนี้ ทำให้โลกของคนอาหรับทั้งมวลมีปฏิกิริยาต่อเขาอย่างรุนแรง ถึงกับประณามว่า “คนทรยศ” ซาดัตต้องใช้หนี้ครั้งนี้ด้วยชีวิต แต่ขณะเดียวกันการกระทำของซาดัตได้เป็นที่กล่าวขวัญมากที่สุดไปทั่วโลก เขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุรุษหมายเลข ๑ แห่งปี และยังได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพของโลก ในปีนั้นด้วย

เพราะการกระทำอย่างห้าวหาญของซาดัตในครั้งนี้ ทำให้ชาวอาหรับหัวรุนแรงผู้เคร่งศาสนาและชิงชังชาวยิวทั้งมวลหาทางสังหารเขา เพื่อชนใช้หนี้ทรยศให้จงได้ ท่ามกลางการทุ่มเทเงินทอง เงินลงขัน เพื่อปกป้องอารักขาชีวิตซาดัตอย่างมหาศาล ที่สหรัฐฯ ผู้เป็นตัวการให้ซาดัตจับมือทำสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล ทุ่มมาให้ถึง ๕๐๐ ล้านบาท

แต่วาระสุดท้ายของเขาก็มาถึงจนได้ ประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่แห่งอียิปต์ อันวาร์ ซาดัต ถูกกลุ่มเพชฌฆาตในคราบทหาร สาดกระสุนปืนใส่จนสิ้นชีวิต เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๒๔ เขามีชีวิตยืนยาวบนเวทีการต่อสู้มาอย่างทรหดถึง ๖๒ ปีเต็ม

ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสืบมา คือ ออสนี มูบารัค รองประธานาธิบดี ผู้ประกาศเดินตามรอยเลือดของเขานั่นเอง



ที่มา : คอลัมน์ บันทึกวันวาร โดย สังคีต จันทนะโพธิ นิตยสารสกุลไทย
3431  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / สูตร มะเฟืองหยี...มีใครสักกี่คนที่ได้ชิม...กัดแล้วฟิน กินแล้วใช่! เมื่อ: 21 สิงหาคม 2558 12:20:40
.





จะมีใครสักกี่คนที่ได้ชิม
...กัดแล้วฟิน กินแล้วใช่...อร่อยลืมโลก !
'มะเฟืองหยี'  ผลไม้ที่ให้ฟรียังไม่มีใครเอา

มะเฟืองหยี

ส่วนผสม
- มะเฟืองแก่จัด 3 กิโลกรัม
- น้ำตาลทรายขาว 1 กิโลกรัม
- น้ำมะนาว 2 ผล


วิธีทำ
1. เตรียมน้ำเกลือ (เค็มปานกลาง) :  โดย ละลายเกลือเม็ดในน้ำสะอาด คะเนให้น้ำพอเพียงกับการแช่มะเฟือง
2. ฝานขอบกลีบมะเฟืองออกทิ้ง (ส่วนนี้แข็ง) แล้วหั่นมะเฟืองตามขวางของผล ขนาดกว้างประมาณครึ่งเซนติเมตร
    นำไปหมักในน้ำเกลือทิ้งไว้ข้ามคืน (กรณีนี้ทำตอนเย็น หรือทิ้งไว้ประมาณ 10 ชั่วโมง)
3. ช้อนชิ้นมะเฟืองพักไว้ให้สะเด็ดน้ำเชื่อม นำไปเกลี่ยในตะแกรงโปร่งผึ่งลม 1 วัน
4. ใส่มะเฟืองในหม้อ ใส่น้ำตาลทราย บีบน้ำมะนาวใส่ 2 ผล
    ยกขึ้นตั้งไฟกลาง เคี่ยวทิ้งไว้จนชิ้นมะเฟืองออกสีน้ำตาลใสเป็นเงา (เคี่ยวโดยไม่ต้องคน ปล่อยให้น้ำตาลละลายไปเอง)  
5. ตักชิ้นมะเฟืองใส่ตะแกรงโปร่ง พักทิ้งไว้จนสะเด็ดน้ำเชื่อม
6. นำชิ้นมะเฟืองไปตากแดดจัด 3  วัน หรือจนแห้ง เก็บใส่กล่องพลาสติก



เพื่อความชัวร์ในเรื่องสัดส่วน จึงต้องชั่งกิโล


ฝานขอบกลีบมะเฟืองทิ้ง ส่วนนี้แข็ง


แช่น้ำเกลือเค็มปานกลาง ทิ้งค้างคืน
(ทำช่วงใกล้ค่ำ)


รุ่งเช้าช้อนแต่ชิ้นมะเฟือง ใส่ตะแกรงโปร่งๆ ผึ่งลม 1 วัน


แล้วนำใส่หม้อ บีบน้ำมะนาวใส่ 2 ผล ให้รสกลมกล่อม
(มะเฟืองที่ใช้ทำเป็นมะเฟืองหวาน ถ้าใช้มะเฟืองเปรี้ยวไม่ต้องใส่น้ำมะนาว)


ใส่น้ำตาลทราย (ไม่ต้องใส่น้ำผสม) ตั้งไฟปานกลาง และไม่ต้องคน


ปล่อยทิ้งไว้ จะมีน้ำจากมะเฟืองจะออกมา เคี่ยวต่อไปเรื่อยๆ
จนกว่าชิ้นมะเฟืองจะเป็นมันเงาใส


ใช้ได้แล้ว ตักชิ้นมะเฟืองใส่ตะแกรงโปร่ง จนสะเด็ดน้ำตาล


รุ่งเช้านำไปเกลี่ยในตะแกรงโปร่งตากแดด 3 วัน หรือจนกว่ามะเฟืองแห้ง
(กรณีตาก 3 วันนี้ - ตากในมุ้งลวดพลาสติกกันแมลง และฝุ่นละออง)


เก็บใส่ถุงพลาสติกใส หรือกล่องมีฝาปิดมิดชิด เก็บไว้รับประทานทิ้งไว้ได้เป็นเดือนๆ
(แต่! ไม่เกิน 2-3 วัน ก็น่าจะกินหมด 3 กิโล)



3432  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: 'ผู้สละโลก' นวนิยายอิงประวัติพุทธสาวก โดย วศิน อินทสระ เมื่อ: 20 สิงหาคม 2558 13:15:32



       ผู้สละโลก
       เรื่อง พระสารีบุตร
       ๕ มอบตนให้แก่ธรรม

ตอนบ่ายวันที่พระสารีบุตรบรรลุอรหัตผลนั่นเอง พระศาสดารับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ทรงประทานตำแหน่งอัครสาวกแก่ท่านทั้งสอง คือให้พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย แล้วทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ คือพระโอวาทอันเป็นหลักสำคัญมีนัยดังนี้

“๑.ความอดทนอันเป็นตบะอย่างยิ่งนั้น คือความอดกลั้นต่ออารมณ์อันยั่วยวนให้ โลภ โกรธ หลง ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวสรรเสริญพระนิพพานว่าเป็นบรมธรรม ผู้ที่ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ไม่สมควรเป็นบรรพชิตหรือสมณะ
๒.การไม่ทำบาปทั้งปวง๑ การสร้างกุศลให้พรั่งพร้อม๑ การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว๑  ๓ ประการนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
๓.การไม่กล่าวร้ายแก่ใครๆ การไม่เบียดเบียนเข่นฆ่าใครๆ การสำรวมระวังด้วยดีในระเบียบวินัย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร การอยู่ในที่สงัด การประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรทางจิต ทั้ง ๖ ประการนี้ก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”

ดูก่อนภราดา! คนส่วนมาเข้าใจว่า เรื่องที่จะต้องอดทนคือเรื่องอันไม่เป็นที่พอใจหรืออนิฏฐารมณ์เท่านั้น แต่ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลผู้ต้องการความดีให้แก่ชีวิต จะต้องอดทนทั้ง ๒ อย่าง คือทั้งอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา บุคคลที่อดทนต่ออารมณ์อันไม่น่าปรารถนาได้ เช่น อดทนต่อคำด่าว่าเสียดเสียได้ นับว่าน่าสรรเสริญ แต่ผู้ที่อดทนต่ออารมณ์ที่น่าปรารถนา เช่น ลาภ ยศ และเสียงสรรเสริญได้ คือไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจยั่วยวนของสิ่งเหล่านั้น ยิ่งน่าสรรเสริญขึ้นไปอีก เพราะทำได้ยากกว่า อารมณ์อันไม่น่าปรารถนาทำคนให้เสียได้เหมือนกันถ้าไม่อดทนพอ แต่ถ้าเขามีความอดทนต่ออารมณ์นั้นเพียงพอ มันก็จะกลายเป็นยาขมที่ช่วยทำลายโรคได้ คือก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตได้ ส่วนอารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าเพลิดเพลิน ยั่วยวนใจ ได้ทำให้มนุษย์ผู้หลงใหลเสียคนมามากต่อมากแล้ว เพราะอดกลั้นได้ยาก มนุษย์ผู้นั้นจะกลับตัวเป็นคนดีได้อีกทีหนึ่งก็ต่อเมื่ออารมณ์หรือสภาพแวดล้อมอันยั่วยวนใจนั้นได้สูญสิ้นไปแล้ว และเขาได้กระทบกระทั่งกับอนิฏฐารมณ์อย่างจัง เหมือนเผชิญหน้ากับควายป่าที่ดุร้าย ตัวอย่างผู้มีอำนาจ เมื่อสูญเสียอำนาจแล้วจึงได้รู้จักสัจธรรม

บรรดาสิ่งยั่วยวนใจทั้งหลาย อำนาจนับเป็นสิ่งยั่วยวนใจที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งซึ่งใครมีเข้าแล้วมักหลงใหลมัวเมาอยู่ในอำนาจนั้น จนปัญญาจักษุมืดมนลง ให้เห็นดำเป็นขาว เห็นผิดเป็นชอบ แล้วประกอบกรรมหนักด้วยอำนาจที่มีอยู่นั้น จนต้องประสบชะตากรรม มีวิบากอันเผ็ดร้อน เมื่อนั้นแหละจึงจะรู้สึกตัว แต่มักสายเสียแล้ว เรื่องทำนองนี้มีตัวอย่างให้เห็นอยู่เนืองๆ อำนาจอาจทำให้คนที่เคยดีเสียไปได้ ไม่ต้องกล่าวถึงคนที่ชั่วอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้ระวัง ต้องมีตีติกขาขันติ ดังกล่าวมา

ความงามของสตรีเป็นสิ่งยั่วยวนใจสำหรับบุรุษอย่างยิ่งประการหนึ่ง บุรุษผู้ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความงามของสตรีจึงเป็นบุรุษอาชาไนย หาได้ยาก คนเช่นนั้น แม้เทวดาก็ชม พรหมก็สรรเสริญ ความงามของสตรีได้เคยฆ่าบุรุษผู้ทรงศักดิ์มามากต่อมากแล้ว

ดูก่อนท่านผู้แสวงสัจจะ! ความอดทนนั้นเป็นอาภรณ์ของนักพรต เป็นตบะของผู้ต้องการบำเพ็ญตบะ แม้นักพรตผู้เริงแรงด้วยตบะ มีชื่อกระฉ่อนก็เคยพ่ายแพ้ต่อความงามและความยั่วยวนของสตรีมามากนักแล้วเช่นกัน ทางปลอดภัยแท้จริงของนักพรตก็คือไม่คุ้นเคยด้วย, ชักสะพานเสีย คือไม่สนิทสนมด้วยสตรี

ดูก่อนภราดา! ในตอนที่ ๓  แห่งพระโอวาทปาฏิโมกข์นั้น ดูเหมือนพระบรมศาสดาจะทรงมุ่งแสดงคุณสมบัติของผู้เผยแพร่พระพุทธศาสนาว่า ต้องไม่ก้าวร้าว, ไม่เบียดเบียน, มีระเบียบวินัยดี ไม่เห็นแก่ปากท้อง แสวงหาความสงบ และทำความเพียรทางจิตคือสมถะวิปัสสนาอยู่เสมอ ไม่ทอดธุระในอธิจิตตสิกขา

คุณสมบัติดังกล่าวมาผู้เผยแผ่ศาสนาควรคำนึงอยู่เป็นนิตย์และควรบำเพ็ญให้เกิดขึ้นในตน  อนึ่ง ผู้มีหน้าที่เผยแผ่ศาสนา ไม่ควรคิดแต่จะเผยแผ่ศาสนาหรือหลักธรรมให้แก่ผู้อื่นอย่างเดียว แต่ควรเผยแผ่ศาสนาให้แก่ตนเองด้วย คือไม่ควรมุ่งแต่สอนผู้อื่นเท่านั้น แต่ควรสอนตนเองให้ได้ด้วย วาจาที่พูดออกมาจึงจะไม่เป็นที่เย้ยหยันของใครๆ สิ่งที่สอนมีลักษณะที่เรียกว่า “บานออกมาจากข้างใน” คือมีความจริงใจ – ใจมีความรู้สึกอย่างที่พูดนั้นจริงๆ

มีนักเผยแผ่ศาสนาอยู่ไม่น้อย ที่สนใจฝึกฝนแต่วาทศิลป์ กิริยาท่าทางที่พูด ความหนักเบาของน้ำเสียง แต่การอบรมตนให้มีคุณธรรมสูงยิ่งๆ ขึ้นไป ให้มีความหนักแน่นมั่นคงนั้น พวกเขามักละเลยเสีย อันที่จริง การทำได้อย่างที่สอนนั่นแหละคือยอดแห่งพุทธวิธีในการสอน บางทีไม่ต้องพูดด้วยซ้ำไป หรือพูดน้อย แต่ได้ผลมาก


ในพุทธกาลมีพระเถระรูปหนึ่ง ใครๆ เรียกท่านว่า “เอกอุทาน” แปลว่าเทศน์สอนอยู่เรื่องเดียว ท่านประจำอยู่ในป่า ท่านเทศน์ทีไร ทั้งมนุษย์และเทวดาก็สาธุการกันสนั่นหวั่นไหว ต่อมามีพระธรรมกถึกผู้มีชื่อเสียงมาก เรียนมาก รู้มาก มีศิษย์มาก ไปพัก ณ สำนักของพระเอกอุทานเถระ ถึงวันอุโบสถท่านนิมนต์ให้พระธรรมกถึกนั้นเทศน์ พระธรรมกถึกเทศนาอย่างวิจิตรพิสดาร พอจบลง ไม่มีใครสักคนเดียวที่สาธุการ เงียบกันไปหมดทั้งเทวดาและมนุษย์ ทั้งนี้เพราะพระธรรมกถึกนั้นพูดได้อย่างเดียว ส่วนพระเอกอุทานท่านทำได้อย่างที่ท่านพูด เรียกว่า “บานออกมาจากข้างใน” ให้รู้สึกซาบซึ้งกินใจผู้ฟังยิ่งนัก พูดน้อยแต่ได้ผลมาก

แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าสิ่งใดที่ตนทำไม่ได้แล้วจะให้เลิกพูดเลิกสอนสิ่งนั้นเสีย, ควรพูดและควรสอนอยู่นั่นเอง เป็นทำนองว่านำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายมาบอกเล่าเปิดเผยให้รู้กัน ท่านที่มีอุปนิสัยดี มีอินทรีย์แก่กล้า เมื่อฟังแล้ว อาจทำได้อย่างพระอริยเจ้านั้น ตัวอย่างเคยมีมาแล้ว พระกลุ่มหนึ่งประมาณ ๖๐ รูป เรียนกรรมฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วเดินทางเข้าไปในป่าบำเพ็ญเพียรอยู่ ได้อุบาสิกาคนหนึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ภิกาถวายอาหาร ได้บอกกรรมฐานคือกายคตาสติภาวนา พิจารณากาย ซึ่งมีอาการ ๓๑๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นอาทิให้เห็นว่าไม่งาม โสโครก อุบาสิกาเรียนกรรมฐานแล้วไปพิจารณาได้สำเร็จอนาคามิผล เป็นพระอนาคามีอริยบุคคลขั้นที่ ๓ ในขณะที่ภิกษุผู้บอกกรรมฐานยังมิได้สำเร็จอะไรเลย

ขอย้อนกล่าวถึงเรื่องที่พระศาสดาทรงแต่งตั้งพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกต่อไป ครั้งนั้น เมื่อพระศาสดาทรงประทานตำแหน่งอัครสาวกแก่ท่านทั้งสองแล้ว ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียนพระพุทธองค์ว่า ทรงประทานตำแหน่งโดยเห็นแก่หน้า (มุโขโลกนะ) ไม่เป็นธรรม. ความจริงแล้วควรประทานตำแหน่งอัครสาวกแก่พระอัญญาโกณฑัญญะกับอีกรูปใดรูปหนึ่งในกลุ่มปัญจวัคคีย์ เพราะท่านเหล่านั้นบวชก่อนและได้บรรลุธรรมก่อน ถ้าไม่ประทานแก่ภิกษุปัญวัคคีย์ก็ควรประทานแก่ภิกษุกลุ่ม ๕๕ รูปมีพระยสะเป็นประมุข หรือมิฉะนั้นก็แก่ภิกษุกลุ่มภัทรวัคคีย์ผู้สำเร็จมรรคผล ณ ไร่ฝ้าย ถ้าไม่ประทานแก่พวกภัทรวัคคีย์ก็ควรประทานแก่ภิกษุบุราณชฎิล ๓ พี่น้อง มีท่านอุรุเวลกัสสปเป็นต้น แต่พระศาสดาหาทรงทำอย่างนั้นไม่ ทรงเห็นแก่หน้าประทานตำแหน่งอัครสาวกแก่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะผู้บวชใหม่เพียงไม่ถึงเดือน

ภราดา! ภิกษุผู้ติเตียนไม่รู้ความจริงที่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของท่านเหล่านั้นมีพระปัญจวัคคีย์เป็นต้น ไม่รู้มโนปณิธานของแต่ละท่านว่า ได้บำเพ็ญบารมีมาอย่างไร ประสงค์สิ่งใดสูงสุดในชีวิตของตน

พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายตำหนิติเตียนพระองค์เช่นนั้นจึงตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย! เราหาได้ให้ตำแหน่งเพราะเห็นแก่หน้าไม่ แต่เราได้ให้ตำแหน่งที่ทุกคนปรารถนาแล้ว เขาได้รับตำแหน่งที่เขาเคยทำบุญแล้วปรารถนาไว้นั่นเอง

“ภิกษุทั้งหลาย! ในศาสนาแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี นับถอยหลังจากนี้ไป ๙๑ กัปป์ โกณฑัญญะเกิดเป็นกุฎุมพีผู้หนึ่ง ชื่อจุลกาลได้ปลูกไร่ข้าวสาลีไว้มาก วันหนึ่งได้ฉีกข้าวสาลีที่กำลังท้องต้นหนึ่งแล้วชิมดู รู้สึกรสอร่อย จึงขอแรงเพื่อนบ้านให้ช่วยกันฉีกรวงข้าวสาลีที่กำลังท้องนั้น ให้เคี่ยวด้วยน้ำนมจนข้นแล้วปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด แล้วถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้นเป็นประมุข แล้วตั้งความปรารถนาขอบรรลุธรรมก่อนผู้อื่นในอนาคตกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาว่า ‘ของจงเป็นอย่างนั้นเถิด’ เมื่อถึงหน้าข้าวเม่าได้ถวายทานอันเลิศด้วยข้าวเม่า หน้าเก็บเกี่ยวก็ได้ถวายทานในฤดูกาลเก็บเกี่ยว ยิ่งเขาทำบุญมากทรัพย์สมบัติของเขายิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นๆ อย่างน่าอัศจรรย์

“ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมย่อมคุ้มครองรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ ข้อนี้เป็นอานิสงส์แห่งการประพฤติธรรม, ตั้งอยู่ในธรรม  อนึ่งผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมไม่ไปทุคติ ไม่ตกต่ำ"

“แม้ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ เขาถวายมหาทาน ๗ วัน แล้วหมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระศาสดาพระองค์นั้น แล้วตั้งความปรารถนาเพื่อบรรลุธรรมอันเลิศก่อนผู้อื่น

“ภิกษุทั้งหลาย! อัญญาโกณฑัญญะได้รับผลที่ตนปรารถนาแล้ว ณ บัดนี้”

ภราดา! พระตถาคตเจ้าทรงยืนยันอย่างมั่นคงอยู่เสมอว่า “ธรรมนั่นแหละย่อมคุ้มครองรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมนำความสุขมาให้” แต่ศาสนิกจำนวนไม่น้อยไม่ไว้ใจธรรม คลางแคลงสงสัยในธรรมว่าจะให้ความสุขจริงหรือ? ประพฤติแล้วได้อะไร? ความจริงเมื่อเขาประพฤติธรรมก็ได้ธรรมนั่นเอง เมื่อได้ธรรมแล้วการได้อย่างอื่นก็ตามมา ธรรมนั่นแหละเป็นผู้อำนวยสิ่งต่างๆ ให้  ถ้าเขาเสื่อมจากธรรมก็จะเสื่อมหมดทุกอย่าง บุคคลที่ทำหน้าที่ของตนดีที่สุดชื่อว่าได้ประพฤติธรรม แต่ต้องเป็นหน้าที่อันประกอบด้วยธรรม หน้าที่อันประกอบด้วยธรรมนั่นและจะอำนวย ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขสวัสดีให้แก่เขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า มนุษย์เรามีหน้าที่หลายอย่าง คนที่ดีที่สุดคือผู้ที่ทำหน้าที่ของตนได้ดีที่สุด ครบถ้วนที่สุดและถูกต้องที่สุด ผู้ปกครองหรือผู้นำมวลชนจะต้องปกครองโดยธรรม

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า พระเจ้าจักรพรรดิเป็นผู้ทรงธรรม ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามขึ้นว่า ก็อะไรเล่าเป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดินั้น พระตถาคตเจ้าตรัสตอบว่า ‘ธรรม’ อย่างไรเล่าเป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดินั้น ดูก่อนภิกษุ, พระเจ้าจักรพรรดิเป็นธรรมราชา ย่อมทรงอาศัยธรรม สักการะธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา มีธรรมเป็นใหญ่ ย่อมทรงดำเนินกิจการต่างๆ ไปโดยธรรม  ดูก่อนภิกษุ, แม้เราตถาคตก็เป็นผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา เราต้องอาศัยธรรม เคารพธรรม ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา และมีธรรม เป็นใหญ่ดังนี้

จึงพอกล่าวได้ว่าผู้เป็นใหญ่สูงสุดในโลกทั้งปวงคือธรรม บุคคลผู้เป็นใหญ่จะยิ่งใหญ่อยู่ได้ก็เฉพาะเมื่อดำรงตนอยู่ในธรรม อยู่ในร่มเงาของธรรม ทำหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทนหรือเป็นเครื่องมือแห่งธรรม ให้งานทุกสายเป็นทางเดินแห่งธรรม บุคคลผู้ยอมมอบตนให้แก่ธรรม ให้ธรรมเป็นผู้นำทางชีวิตย่อมไม่เสื่อม มีแต่ความเจริญ

พระจอมมุนี ตรัสไว้ว่า “บุคคลจะเป็นผู้เจริญก็รู้ได้ง่าย จะเป็นผู้เสื่อมก็รู้ได้ง่าย คือผู้รักธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้ชังธรรมเป็นผู้เสื่อม”

ภราดา! ด้วยเหตุนี้ จึงควรทำงานและดำเนินชีวิตเพื่อเอาใจธรรม ไม่ใช่เพื่อเอาใจคนทั้งหลายซึ่งมีใจต่างกัน ถูกใจคนหนึ่ง ไม่ถูกใจอีกคนหนึ่ง ถูกใจกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ถูกใจอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ธรรมมีใจเดียวคือความถูกต้อง เรามุ่งเอาธรรมาธิปไตยเป็นทางดำเนินชีวิต

เมื่อได้มอบตนให้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของธรรมแล้วก็ไม่ต้องวิตกทุกข์ร้อนอะไรทั้งหมด ต้องการสิ่งใดธรรมจะเป็นผู้มอบให้, ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่ได้มาโดยธรรมอันมอบให้แล้ว จะเป็นสิ่งสงบเย็นไม่เร่าร้อนเหมือนลาภยศสรรเสริญสุขที่ได้มาโดยอธรรม

อะไรคือที่พึ่งอันแท้จริงของบุคคลผู้เวียนว่ายอยู่ในทะเลแห่งความทะยานอยากนี้? ธรรมอย่างไรเล่า พระพุทธองค์ตรัสว่า “จงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิดอย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย” และทรงชี้บอกว่า “ธรรมคือความไม่กังวล ไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละคือที่พึ่ง (ของใจ) หาใช่อย่างอื่นไม่ ภิกษุทั้งหลาย! คนเขลายึดมั่นอยู่ว่า ‘นั่นบุตรของเรา นั่นทรัพย์ของเรา จึงต้องเดือดร้อนอยู่ร่ำไป ตามความเป็นจริงแล้วตนของตนยังไม่มี บุตรและทรัพย์จะมีที่ไหนเล่า’"

ท่านผู้แสวงสัจจะ! คนยิ่งมีความยึดถือมากก็ยิ่งมีความกลัวมาก ไม่มีอะไรจะกลัวเฉพาะหน้า ก็กลัวอนาคต กลัวเสียจนหาความสุขความสงบให้แก่ชีวิตในปัจจุบันไม่ได้ แม้บัณฑิตจะบอกธรรมพร่ำสอนอยู่ว่า “จงทำปัจจุบันให้ดีที่สุดเถิด อนาคตจะจัดตัวมันเอง” ก็ตาม เขาก็หารับฟังไม่ หาว่าคนบอกเป็นคนเขลา ไม่รู้จักเตรียมการเพื่ออนาคต คนพวกนั้น พออนาคตที่เขาหวังไว้มาถึงเข้าจริง เขาก็คงหาความสงบสุขให้แก่ชีวิตไม่ได้อยู่นั่นเอง เพราะมันตกมาเป็นปัจจุบันเสียแล้ว เขาคงแบกก้อนหินแห่งชีวิตคือความหนักอกหนักใจวิ่งฝ่ากองไฟคือความทะยานอยากไปสู่ภูเขาแห่งความว่างเปล่า เพราะ ‘มันไม่มีอะไร’ แต่เพราะเขาสำคัญมั่นหมายว่า ‘มันมี’ จึงแบกต่อไป และต่อไปพร้อมกับร้องว่า “ร้อน หนัก-ร้อน หนัก” อย่างนี้เรื่อยไป

ท่านผู้แสวงสัจจะ! ความจริงอันน่าพิศวงมีอยู่ว่า ความสงบเยือกเย็นของดวงจิตเพราะความเป็นผู้ “ไม่ต้องการอะไร” นั้นมีค่ายิ่งกว่าสมบัติบรมจักร์แห่งกษัตราธิราช หรือมหาจักรพรรดิผู้เร่าร้อนอยู่ด้วยความปรารถนาอันไม่มีที่สิ้นสุด มิฉะนั้นแล้ว ไฉนเล่าพระบรมครูของพวกเราจึงทรงสละสมบัติบรมจักร์ เพื่อแสวงหาความสงบเย็นให้แก่ดวงจิต เมื่อพระองค์ประสบความสำเร็จในทางนี้แล้วก็กลายเป็นที่พึ่งที่บูชาของโลกมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ตัวอย่างที่เกี่ยวกับพระพุทธองค์นี้ชี้ให้เห็นความจริงอีกประการหนึ่งว่าผู้นำโลกที่แท้จริง คือผู้นำทางจิตหรือวิญญาณหาใช่ผู้มีอำนาจราชศักดิ์แต่ประการใดไม่


บันทึกทางวิชาการท้ายบทที่ ๕

๑.ขันติ ๓ อย่าง ๑ ธีติขันติ=อดทนต่อหนาวร้อน หิว กระหาย ความลำบาก ตรากตรำ  ๒ อธิวาสนขันติ=อดทนต่อทุกขเวทนา ความเจ็บป่วย  ๓ ตีติกขาขันติ=อดทนต่ออารมณ์ยั่วยวนใจ
๒.อาชาไนย หมายถึงบุคคลหรือสัตว์ที่ได้รับการฝึกดีแล้ว
๓.จักกวัตติสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ หน้า ๑๓๘ ข้อ ๔๕๓
๔.ภาราภวสูตร พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ หน้า ๓๔๖ ข้อ ๓๐๓
๕.พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ หน้า ๒๓ ข้อ ๑๕

3433  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / Re: บันทึกปรากฎการณ์จากสังคมโลก เมื่อ: 18 สิงหาคม 2558 16:32:00







วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและป่าไม้ของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รูปภาพ
บรรดาสัตว์น้ำแปลกๆ ที่สำรวจพบใต้ท้องทะเลลึก เมื่อปีที่แล้ว


ปักเป้ามีคู่
ปลาปักเป้าสายพันธุ์หนึ่ง กำลังเกี้ยวพาราสีกันอยู่ มันเป็นปลาสายพันธุ์หนึ่ง
ที่วิทยาลัยสิ่งแวดล้อมวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ กล่าวว่ามันเป็นสายพันธุ์ที่หายากพันธุ์หนึ่ง.


ลูกอีกัวน่า
กล่องเลี้ยงลูกอีกัวน่า ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของคอสตาริกาตรวจพบยึดเอาไว้
มีลูกอีกัวน่าอยู่ถึง 81 ตัว ซึ่งจะนำไปปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป.


ภูเขาไฟระเบิด
ภูเขาไฟ “จิ้งจอก” บนเกาะอิซาเบลา หมู่เกาะกาลาปากอส ของเอกวาดอร์
จู่ๆก็ระเบิดพ่นเถ้าถ่านออกมา หลังจากสงบเงียบมานาน 33 ปี แต่ไม่ได้
ก่อความเดือดร้อนให้กับใคร กิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การท่องเที่ยวหมู่เกาะ
กาลาปากอสอันมีชื่อเสียงของโลกคงดำเนินไปตามปกติ.


ลิงตกยาก
เจ้า “แซนดร้า” ลิงอุรังอุตังอายุ 28 ปี ซึ่งถูกเลี้ยงอยู่ในสวนสัตว์ที่กรุงบัวโนสไอเรส
มาตั้ง 20 ปี มีโชค ศาลสั่งให้มีสิทธิไปอยู่ในที่อยู่ใหม่ ที่มีสภาพดีกว่านี้.


นกยุคเมื่อ 115 ล้านปี
ศิลปินวาดภาพของนกสมัยดึกดำบรรพ์ เมื่อ 115 ล้านปีก่อน
ที่เพิ่งขุดพบซากโบราณของมันบางส่วน ที่บราซิล.


นกแสนรู้
อตินา โคต ชอบเลี้ยงนกคนหนึ่ง ที่แคนาดา ชอบปล่อยให้ “เจ้าบีคเกอร์” อายุ 6 ปี
เกาะอยู่ที่ไหล่ใกล้ๆ กับรอยสัก โดยช่างสักชื่อดัง ในเมืองโตรอนโต
เธอเล่าว่า “นกก็เป็นสัตว์ที่น่าเลี้ยงตัวหนึ่ง แต่ควรจะมีเวลาให้กับมันอย่างพอเพียง”.


คางคกพันธุ์ใหม่
คางคกพันธุ์ใหม่เพิ่งค้นพบที่เมืองเซอรา เดอ มาร์ ของบราซิล เป็นสายพันธุ์หนึ่ง
ที่พบทั้งหมดรวม 6 พันธุ์ที่พบ มีขนาดตัวตั้งแต่ 0.6 มิลลิเมตร จนถึง 1 เซนติเมตร


กำลังกรึ่ม
ชิมแปนซี ตัวหนึ่งนั่งอยู่บนคาคบไม้ ในสวน “โลลา ญา โบโนโบ” ที่กรุงกินชาซา ประเทศคองโก
การศึกษาพวกมันพบว่า ลิงพวกนี้ชอบหาแหล่งหมักเหล้าตามธรรมชาติบนต้นไม้กินเพื่อความเพลิดเพลิน.


แร่เหล็ก
คนงานขนแร่เหล็กมากองไว้รอ บนท่าเรือเมืองเทียนจิน อันเป็นเมืองท่าใหญ่ของจีนแห่งหนึ่ง
เพื่อเตรียมจะขนลงเรือส่งไปเป็นสินค้าออก จีนมีสินค้าแร่เหล็กอยู่มากมายถึงกับมีผู้ขนไปเก็บ
ตามโกดังเอกชน.


ร้านขายขนมโดนัทที่นครชิคาโกได้ปฏิวัติการผลิตเสียใหม่ โดยให้มีไขมันเหลืออยู่ในสินค้า
น้อยกว่าสมัยก่อน แต่ฝ่ายบริหารของคณะประธานาธิบดีบารัค โอบามา ต้องการจะรวบรัด
ให้หมดไปเสียเลย โดยได้แจ้งว่า การที่คนเรากินไขมันเข้าไปวันละ 1 กรัม
ถ้ากินให้เหลือน้อยกว่านั้นได้ จะป้องกันให้คนเป็นโรคหัวใจวายน้อยลงไป 20,000 คน
และทำให้คนไม่ตายลงปีละ 7,000 คน.


หมีขั้วโลก
หมีขาวขั้วโลกกำลังกัดกินจะงอยปากโลมา บนเกาะน้ำแข็ง ในเขตหมู่เกาะของนอร์เวย์
ยามใดที่อากาศดีขึ้น จะเห็นหมีขั้วโลกออกมาหาอาหารแปลกๆ กิน.


ที่มา (ข้อมูล-ภาพ) : ไทยรัฐออนไลน์
35/35  n.2 jn.17

3434  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: รวมภาพเก่าหาดูยาก : ภาพเก่าเล่าเรื่อง เมื่อ: 18 สิงหาคม 2558 15:41:43
ชุดภาพประวัติศาสตร์ของเมืองลพบุรี
(ต่อ)






































































มีต่อ

3435  วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ / เรื่องราว จากนอกโลก / Re: เรื่องนอกโลก "ปรากฏการณ์เกี่ยวกับระบบสุริยจักรวาล" เมื่อ: 18 สิงหาคม 2558 15:00:01
.


ภาพที่หาดูได้ยาก
องค์การอวกาศสหรัฐฯ เปิดเผยภาพด้านหลังของดวงจันทร์ ที่คนบนโลก
ไม่มีโอกาสได้เห็นง่ายๆ เนื่องจากดวงจันทร์หันหลังให้อยู่เสมอ แต่ภาพนี้
ถ่ายในขณะดวงอาทิตย์ส่องไปกระทบจากยานอวกาศซึ่งอยู่ห่างออกไป
ในระยะ 1,609,000 กม.


ผิวพื้นดาวหาง
องค์การอวกาศสหรัฐฯ เปิดเผยภาพที่ได้เก็บไว้ อันเป็นภาพพื้นผิวของดาวหาง
“จุรีมอฟเอรัสซิเมนโก” ถ่ายจากยานอวกาศ “ฟิแล แลนเดอร์” (ซ้าย)
ขณะที่ถูกปล่อยลงจอดบนดาวหาง ในระยะห่างจากพื้นเพียง 3 กม.
ส่วนภาพ (ขวา) เป็นภาพของดวงอาทิตย์


อาหารมื้ออวกาศ
องค์การอวกาศสหรัฐฯ เปิดเผยภาพถ่ายบนสถานีอวกาศระหว่างประเทศ
เป็นภาพผักกาดหอมซึ่งปลูกอยู่ในสวนครัวอวกาศบนสถานี ซึ่งเป็นการ
เตรียมหาอาหารไว้สำหรับมนุษย์อวกาศรุ่นต่อไปที่จะต้องเดินทางในอวกาศ
เป็นระยะทางไกลๆ แรมวันแรมเดือน


พ้นสุริยจักรวาล
ภาพวาดขององค์การอวกาศสหรัฐฯ  แสดงให้เห็นยานอวกาศสำรวจ “วอยเอเจอร์”
ซึ่งมีอายุ 36 ปีแล้ว เดินทางทะยานออกไปไกลถึงอาณาบริเวณปั่นป่วนของอวกาศ
ที่เต็มไปด้วยอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าแถบรอบๆ ดวงอาทิตย์ อันเป็นดินแดนใหม่
นอกสุริยจักรวาล  มันยังคงส่งรายงานต่างๆมาให้ได้อย่างไม่ขาดสาย.


มนุษย์อวกาศพันเอกคริส แฮดฟิลด์ ขององค์การอวกาศแคนาดา
ถ่ายภาพอาณาบริเวณตะวันออกกลาง ขณะอยู่บนสถานีอวกาศ
ระหว่างประเทศ ในวงโคจรรอบโลก มองเห็นคาบสมุทรไซนายและแม่น้ำไนล์.


เคียวริออส ซิที่
องค์การอวกาศสหรัฐฯ แจกจ่ายภาพถ่ายตนเองของยานอวกาศ
เคียวริออสซิที่ ที่กำลังปฏิบัติงานทดลองทางวิทยาศาสตร์อยู่บนดาวอังคาร


ค่อยสงบ
องค์การอวกาศสหรัฐฯเปิดเผยภาพถ่ายดวงอาทิตย์ เห็นรังสีที่พวยพุ่งออกมา
ค่อยหดสั้นลง ภาพถ่ายด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต สังเกตเห็นเมฆอนุภาค
ลอยอยู่เหนือพื้น ก่อนจะสลายไป.


ฝาแฝดโลก
องค์การอวกาศสหรัฐฯแสดงภาพวาดตามความคิดของดาวเคราะห์ “Kepler–62f”
ดาวบริวารของดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง ที่เล็กและเย็นกว่าดวงอาทิตย์ ตัวดาวบริวาร
มีขนาดโตกว่าโลกร้อยละ 40 และมีสภาพพอที่จะพักอาศัยอยู่กันได้ปีหนึ่ง
กินเวลา 267 วัน แต่อยู่ไกลจากโลกในราว 1,200 ปีแสง.


หลุมบ่อดาวพุธ
สมัยนี้มนุษย์สามารถ จะเห็นหลุมบ่อบนพื้นผิวดาวพุธ ดังในภาพขององค์การอวกาศสหรัฐฯ
เปิดเผยหลุมบ่อตรงกลางมีชื่อว่า “โดนาไลติส” มีฝุ่นละอองสีแดงสดอยู่ตรงก้น ตัดกับสีพื้น
สีน้ำเงินของภูมิประเทศโดยรอบ.


ภูเขาไฟบนโลก
มนุษย์อวกาศบนสถานีอวกาศในวงโคจรรอบโลก ถ่ายภาพภูเขาไฟ ทาทา ซาบายา (กลาง)
ภูเขาไฟที่แคว้นอัลติปลาโน ของโบลิเวีย ซึ่งยอดสูงจากระดับน้ำทะเล 5,430 เมตร.


ดาวพฤหัสบดีกับดาวหาง
องค์การอวกาศสหรัฐฯ เผยแพร่ภาพประกอบกันของเศษซาก ที่ถ่ายโดยยานอวกาศ
กล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล ภาพดาวพฤหัสบดีกับดาวหางชูเมคเกอร์ ดาวหางดวงนี้
ถูกพบว่าเป็นดาวหางที่มากลายเป็นดาวบริวารของดาวเคราะห์ดวงแรก แทนที่
จะเป็นดวงอาทิตย์อย่างเคย อย่างไรก็ดี ดาวหางโดนแรงดึงดูดอันมหาศาลฉีกทำลาย
ออกเป็นชิ้นๆ และเศษซากของดาวหางกลับตกลงไปบนดาวพฤหัสบดี รวม 21 ชิ้นด้วยกัน
ส่วนที่เห็นเป็นจุดดำๆบนดาวเคราะห์ เป็นเงาของดวงจันทร์ “ไอโอ”.


ดาวหางจรัสแสง
องค์การอวกาศสหรัฐฯ แจกภาพถ่ายดาวหาง “ไอเอสโอเอ็น” ซึ่งยานอวกาศกล้องโทรทรรศน์
ฮับเบิลถ่ายไว้ ขณะที่โคจรเข้าไปใกล้ทางโคจรดาวพฤหัสบดีห่าง 394 ล้าน กม.


เนบูลา โอเรียน
องค์การอวกาศสหรัฐฯเผยแพร่ภาพถ่ายกลุ่มดาวและก๊าซโอเรียน ที่ยานอวกาศสปิตเซอร์ สเปซ เทเลสโคป
ขององค์การอวกาศสหรัฐฯ และยานอวกาศเฮอร์เชล ขององค์การอวกาศยุโรป ถ่ายด้วยแสงอินฟราเรด
มองเห็นดาวที่กำลังเพิ่งเกิดใหม่ 2 ดวงอยู่เบื้องหลัง.


ทะเลดำจากอวกาศ
ภาพถ่ายดาวเทียมของบริเวณทะเลดำ ซึ่งอยู่ทางใต้ตะวันออกของทวีปยุโรป มีขอบเขตติดกับยุโรป
อนาโตเลีย และคอเคซัส เชื่อมต่อกับมหาสมุทรแอตแลนติกได้ทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
และทะเลเอเจียน และทางช่องแคบต่างๆ ช่องแคบเหล่านี้ได้กั้นแบ่งยุโรปตะวันออกกับเอเชียตะวันตก.


องค์การอวกาศสหรัฐฯ เปิดเผยภาพดาวมฤตยู พร้อมด้วยดวงจันทร์ “เอเรียล” บริวาร
(เห็นเป็นจุดกลมขาวๆ) ถ่ายโดยยานอวกาศกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล ทีมนักวิทยาศาสตร์
ยังได้พบว่าดาวเคราะห์ดวงนี้ยังมีก้อนหินอวกาศก้อนหนึ่งตามติดอยู่อย่างใกล้ชิด
วารสารวิทยาศาสตร์ก็เคยรายงานว่า ดาวพฤหัสบดีก็มีก้อนหินอวกาศตามติดเป็นฝูง
ประมาณ 6,000 ก้อน จำนวนมากที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ด้วยกัน.


.

ดาวเสาร์
ยานอวกาศ “แคสซินี่” ถ่ายภาพดาวเสาร์ พร้อมด้วยวงแหวนเอฟ.
อยู่ถัดจากวงแหวนวงใหญ่ วงแหวนเหล่านี้ ล้วนเป็นอนุภาคน้ำแข็ง
โดยดวงจันทร์ดวงเล็กๆ 2 ดวง เข้าใจว่า เกิดจากการเบียดชนกันเองติดมาด้วย.



ลูกล้อยานดาวอังคาร
องค์การอวกาศสหรัฐฯ เผยแพร่ภาพถ่ายของยานโรเวอร์ซึ่งตระเวนอยู่บนดาวอังคาร
มาจนทุกวันนี้ เป็นภาพที่กล้องของยานถ่ายรูปลูกล้อของตนเอง



ดวงจันทร์ดาวเสาร์
องค์การอวกาศสหรัฐฯเผยแพร่ภาพถ่ายผิวพื้นของดวงจันทร์ “ไดโอเน”
ของดาวเสาร์มีความน่าดูต่างจากดวงจันทร์อื่นๆ พื้นผิวดูจะเต็มไปด้วย
เส้นสายเต็มไปหมด ผิดจากตำหนิซึ่งเป็นหลุมบ่อ ตามที่พบตามดวงจันทร์
ดวงอื่นๆ ดวงจันทร์ดวงนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 1,123 กม.
ภาพนี้ยานอวกาศ “แคสซินี” ใช้กล้องถ่ายมุมแคบถ่ายไว้.


ดวงจันทร์ “ไดโอเน่”
องค์การอวกาศสหรัฐฯ เผยแพร่รูปดวงจันทร์ “ไดโอเน่” ของดาวเสาร์
กำลังลอยเด่นอยู่เหนือริมขอบวงแหวน ภาพนี้ถ่ายจากระยะห่าง
จากดวงจันทร์ 73,000 กม.


กาแล็กซี่ก้นหอย
ยานอวกาศกล้องโทรทรรศน์ “ฮับเบิล” ถ่ายภาพกาแล็กซี่ทรงก้นหอย
อยู่ไกลจากโลกเป็นระยะทาง 100 ล้านปีแสง.


สถานีอวกาศกับอาทิตย์
ภาพถ่ายสถานีอวกาศระหว่างประเทศ ขณะที่ดวงอาทิตย์โคจรผ่านไปทางด้านหลัง มองเห็นแค่เป็นจุดดำๆ.


ดาวเทียมวัดความชื้น
องค์การอวกาศสหรัฐฯเผยแพร่ภาพดาวเทียมวัดความชุ่มชื้น ที่เพิ่งถูกส่งขึ้น
เพื่อทำแผนที่ความชุ่มชื้นของแผ่นดิน ให้รู้ว่าตรงไหนยังเป็นน้ำแข็ง และตรงไหนกำลังละลายแล้ว


กาแล็กซี่
ยานอวกาศกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลของสหรัฐฯ ถ่ายภาพ กาแล็กซี่ก้นหอย “เมสเซียร์”
ในกลุ่มดาว “ลิโอ” ไกลจากโลกเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 35 ล้านปีแสง.


โลกกับดวงจันทร์
องค์การอวกาศสหรัฐฯ เปิดเผยภาพถ่ายโลกกับดวงจันทร์ขณะโคจรผ่านดวงอาทิตย์ด้วยกัน
เห็นขอบของโลกใกล้กับขอบกรอบรูป ดูขมุกขมัว เนื่องจากถูกชั้นบรรยากาศ
ของโลกบดบังแสงอยู่ ผิดกับทางด้านซ้ายของภาพ เห็นขอบของดวงจันทร์ได้คมชัด
เนื่องจากดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศอย่างโลก


ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์
วารสารวิทยาศาสตร์ “ธรรมชาติ” ของสหรัฐฯ เผยแพร่ภาพการกระจายของกลุ่มแก๊ส
ที่เกิดขึ้นจากการระเบิดของกลุ่มดาวกลุ่มหนึ่ง ทำให้แก๊สกระเด็นกระจายออกไป
เป็นระยะไกลถึง 650,000 ปีแสง กลุ่มดาวกลุ่มที่สุกใสที่สุดในจักรวาลของเรา
ได้ดูดแก๊สด้วยแรงดึงดูดของตัวเอง ไม่ใช่เกิดจากการรวมตัวกันของระบบดาว
อย่างที่เคยเชื่อกันมาแต่ก่อน นักวิจัยได้บอกเอาไว้เมื่อปลายเดือนก่อนว่า
กลุ่มดาวได้ดูดเอาแก๊สไปใช้ ในการก่อกำเนิดดวงอาทิตย์ออกมาปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ดวง.


จันทรคราส
ดวงจันทร์กำลังถูกจับคราสในจันทรคราสชนิดเต็มดวง ไม่เห็นในเมืองไทย
มีดวงโตเป็นพิเศษ ถ่ายที่เมืองทางใต้ของฝรั่งเศส เห็นได้เฉพาะที่อเมริกา
ยุโรป แอฟริกา และเอเชียตะวันตก กับแปซิฟิกซีกตะวันออก.


ดาวอังคารมีน้ำ
ภาพถ่ายของยานอวกาศจากวงโคจรรอบดาวอังคาร บริเวณผิวพื้นที่เป็นหน้าผาสูงชัน
ถือได้ว่าเป็นภาพหลักฐานภาพแรกของน้ำทะเล ซึ่งไหลบ่าท่วมท้นพื้นผิวดาวอังคาร
ในช่วงฤดูร้อน รายงานเผยว่ายังมีภาพที่แสดงให้เห็นวี่แววของเกลือ ที่เกิดขึ้น
เมื่อตอนมีน้ำไหลเข้ามาในร่องน้ำแคบๆ ลงสู่หน้าผา ที่ยาวเกือบตลอดบริเวณ
แถบเส้นศูนย์สูตรของดาวอังคาร


ดาวหางแปลก
องค์กรอวกาศยุโรปเปิดเผยภาพของดาวหาง “จูรียูมอฟ–เกราซิเมนโก”
รูปร่างราวกับ “เป็ดยาง” เกิดจากการที่วัตถุ 2 สิ่ง โคจรด้วยความเร็วต่ำ
มากระแทกติดกันเมื่อหลายพันล้านปีก่อน ทำให้นักวิทยาศาสตร์
ต้องเกาศีรษะด้วยความประหลาดใจมาตั้งแต่พบดาวหางรูปดวงนี้ ตั้งแต่เมื่อปีก่อน


ดาวแคระ “เซเรส”
องค์การอวกาศสหรัฐฯ เปิดเผยภาพดาวแคระ “เซเรส” ถ่ายจากยานอวกาศ “ดอว์น”
ในระยะห่าง 13.600 กม. ยานออกเดินทางมาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว เป็นระยะทาง
4.9 พันล้าน กม. กำหนดจะเดินทางไปเข้าวงโคจรรอบๆ ดาวเซเรส ภายในปีหน้านี้



องค์การอวกาศสหรัฐฯ เปิดเผยภาพถ่ายพื้นผิวดาวอังคาร บริเวณที่ภาพยนตร์ฮอลลีวูด
เรื่อง “ดาวอังคาร” ลอกแบบมาสร้างฉาก เป็นบริเวณที่มีชื่อเรียกว่า “อซิดาเลีย แพลนิเตีย”
ทั้งในเรื่องภาพยนตร์ และโครงการขององค์การ ต่างเลือกให้เป็นที่ลงของยานอวกาศ
ที่มนุษย์อวกาศออกเดินทางจากโลก.

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
n. oct.15
3436  สุขใจในธรรม / พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม / Re: พระสูตรน่าสนใจ : ข้อคิดจากคอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ เมื่อ: 16 สิงหาคม 2558 12:47:02
.


ปางโปรด ภาติกชฎิล (๑)  

ภาติกชฎิล แปลว่าชฎิลที่เป็นพี่น้องกัน ๓ คน คือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ ทั้งสามนี้ตั้งสำนักอยู่ตามคุ้งน้ำ แห่งแม่น้ำเนรัญชรา ถัดกันตามลำดับ

ชฎิลผู้พี่ใหญ่ ตั้งสำนักอยู่คุ้งน้ำ ตำบลอุรุเวลา พร้อมบริวาร ๕๐๐ คน คนพี่รอง ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำ ตำบลนที พร้อมบริวาร ๓๐๐ คน ส่วนน้องเล็ก ตั้งอาศรมอยู่ที่คุ้งน้ำตำบลคยา พร้อมบริวาร ๒๐๐ คน

รวมเป็นจำนวน (ไม่นับเจ้าสำนักทั้งสาม) ๑,๐๐๐ คนพอดี

ท่านเหล่านี้เป็นใคร ทำอะไรอยู่ ณ ริมน้ำแห่งนี้ ท่านเหล่านี้เป็นนักบวชเกล้าผม ไม่ยอมตัดผม จะใช้วิธีมุ่นผมเป็นชฎา จึงเรียกว่า "ชฎิล" (แปลตามศัพท์ว่าไว้ผมดุจชฎา) ท่านเหล่านี้ถือลัทธิบูชาไฟ

พูดแค่นี้คนไทยก็คงงง คงคิดว่าวันๆ ไม่ต้องทำอะไร นั่งยกมือไหว้ไฟตลอดหรืออย่างไร เพราะคำว่า "บูชา" ก็น่าจะส่อความในทำนองนั้น

แท้ที่จริงแล้ว การบูชาไฟ ของพวกพราหมณ์นั้นเป็นพิธีกรรมที่ถือศักดิ์สิทธิ์มาก เพราะพวกเขาเชื่อกันว่า การนำเครื่องบูชา หรือเครื่องสังเวยมาถวายเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ โดยผ่านตัวแทนพวกเขาจะได้รับความโปรดปราน และรางวัลจากเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่นั้น

พวกเขาจะเอาเครื่องสังเวยมาเผาไฟ (ทำนองเดียวกับชาวจีนเผากงเต๊กกระมังครับ) เชื่อกันว่ามีเทพองค์หนึ่งคือ "อัคนีเทพ" จะกลืนกินเครื่องสังเวยนั้น แล้วก็จะลอยลิ่วขึ้นไปบนสวรรค์ไปป้อนเครื่องสังเวยนั้นเข้าปากพระปชาบดี (เป็นชื่อหนึ่งของพระพรหม) และเทพองค์อื่นๆ บนสรวงสวรรค์

ดุจดังแม่นกป้อนอาหาร ลูกนกนั้นแล

เมื่อพระปชาบดี และเทพทั้งหลายได้รับการ "ป้อนอาหาร" ผ่านอัคนีเทพบ่อยๆ เทพเหล่านั้นก็จะเมตตาปรานีมนุษย์ทั้งหลายผู้ทำการเซ่นสรวง ก็จะประทานรางวัลให้ตามความเชื่อของพวกเขา

เรื่องความเชื่อครับ เราไม่เชื่ออย่าดูหมิ่น ชฎิลเหล่านี้ถือปฏิบัติอย่างนี้อย่างเคร่งครัดบำเพ็ญพรตอย่างเข้มงวดเสมอมา เข้าใจว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ สั่งสอนประชาชนชาวมคธรัฐอันมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระมหากษัตริย์มานานปี ทุกกึ่งเดือน พระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองจะไปฟังธรรมจากชฎิลเหล่านี้เป็นประจำ

ในช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้ พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่ามีพระอรหันตสาวกถึง ๖๐ รูป มากพอที่จะส่งไปประกาศพระศาสนาแล้ว จึงทรงส่งท่านเหล่านี้แยกย้ายกันไปยังแว่นแคว้นต่างๆ พระพุทธดำรัสที่ตรัสตอนส่งพระสาวกเหล่านี้ไปน่าสนใจมาก มีดังนี้ครับ

"ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งเป็นของทิพย์ ทั้งเป็นของมนุษย์ พวกเธอก็พ้นแล้วเช่นเดียวกัน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่คนจำนวนมาก เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พวกเธออย่าไปทางเดียวกันสองรูป พวกเธอจงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น ท่าม กลางและที่สุดจงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง พร้อมอรรถะ (ความ) และพยัญชนะ (คำ) เหล่าสัตว์ที่มีธุลีในดวงตาน้อย (คือมีอุปนิสัยพอจะเข้าใจได้) ถ้าไม่ได้ฟังธรรม จะเสื่อมจากประโยชน์ที่พึงได้ เราตถาคตเอง ก็จะไปยังตำบลอุรุเวลา เสนานิคม"

ขอตั้งข้อสังเกตไว้สั้นๆ ก่อนกล่าวอะไรต่อไป พุทธโอวาทตอนนี้ ถือว่าเป็น "อุดม การณ์" ของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว พระองค์ทรงประกาศว่า
(๑) ก่อนจะไปสอนใครตนเองต้องพัฒนาตนเองให้พร้อมก่อน ในกรณีนี้ พระพุทธองค์และสาวกทั้งหลาย ได้บรรลุอรหัตผล ถึงจุดหมายสูงสุดแล้ว
(๒) พระพุทธศาสนาเน้นว่า เมื่อตนเองพร้อมแล้ว ก็ให้ออกไปทำประโยชน์แก่สังคม มิได้สอนปลีกตัวเสวยวิเวกเพียงลำพัง

เมื่อรู้ดังนี้แล้ว จะได้ไม่กล่าวหาผิดๆ ว่าพระพุทธศาสนาสอนคนให้ "เอาตัวรอด" เฉพาะตน ไม่สนใจสังคมดังที่บางคนมักเข้าใจผิดกัน

เมื่อพระสงฆ์สาวกต่างแยกย้ายกันไปตามชนบทคาม นิคมต่างๆ พระพุทธองค์เสด็จดำเนินไปพระองค์เดียว จุดมุ่งหมายคือชฎิลสามพี่น้องดังกล่าวข้างต้น



ปางโปรด ภาติกชฎิล (๒)

ระหว่างทางพระพุทธเจ้าพบภัททวัคคีย์ เด็กหนุ่มเจ้าสำราญ ๓๐ คน ชาวแคว้นโกศลกำลังตามล่าโสเภณีนางหนึ่ง ที่ "เชิด" ทรัพย์สมบัติของพวกเขาไปหมด

ไม่เล่าเดี๋ยวความไม่ต่อเนื่อง ขอเล่า นิดหน่อย ภัททวัคคีย์ (ตามศัพท์แปลว่า พวกที่เจริญ แต่ตามบริบทน่าจะหมายถึง พวกหนุ่มเจ้าสำราญมากกว่า) ๓๐ คน เป็นเพื่อนกิน เพื่อนเที่ยวกัน วันหนึ่งนัดกันไป "ปิกนิก" นอกเมือง ต่างก็พา "แฟน" ของตนไปด้วย หนึ่งในจำนวนนั้นยังไม่มีคู่หมั้น คู่หมาย จึงไปจ้างนางโสเภณี สมัยนี้เรียกว่า escort มานางหนึ่ง

เมื่อทั้งหมดเปลื้องพัสตราภรณ์ลงเล่นน้ำกันอยู่ นางเอสคอร์ตก็ขโมยทรัพย์สินของพวกเขาหนีไป เมื่อรู้ตัวก็ตามล่าเป็น การใหญ่ พวกเขาสวนทางกับพระพุทธองค์ จึงถามว่า "สมณะ เห็นสตรีนางหนึ่งผ่านมาทางนี้ไหม"

พระพุทธเจ้าตรัสประโยคสั้นๆ ทำให้พวกเขาถึงกับชะงัก ตรัสว่า "ประโยชน์อะไรที่มาตามหาสตรี ทำไมไม่ตามหาตนให้พบเล่า"

"ตัวตนเราก็เห็นๆ อยู่ ทำไม สมณะท่านบอกให้ตามหาให้พบ" พวกเขาฉุกคิด จึงทูลถามไป พระองค์จึงทรงแสดงธรรมให้ฟัง ทรงแสดงอนุบุพพิกถา ตามด้วยอริยสัจให้ฟัง ภัททวัคคีย์บรรลุโสดาปัตติผล ทูลขอบวชเป็นสาวกของพระองค์ พระ พุทธองค์ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้แล้วทรงส่งไปประกาศพระศาสนา

ในตำนานไม่พูดถึงภรรยาของพวกเขา ๒๙ คน ว่าไปไหน หลังจากสามีบวชพระแล้วเข้าใจว่าคงกลับภูมิลำเนาของตน

จากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จไปถึงตำบลอุรุเวลาตามลำดับ เสด็จไปยังอาศรมของชฎิลผู้พี่นาม อุรุเวลกัสสปะ เวลาค่ำพอดี ขอพักอาศัยค้างคืนด้วย อุรุเวลกัสสปะทำท่าอิดเอื้อน ไม่เต็มใจให้พัก อ้างไม่มีที่พัก พระพุทธองค์ทรงชี้ไปที่โรงไฟว่า ขอพัก ณ โรงไฟก็ได้ ถ้าไม่รังเกียจ

อุรุเวลกัสสปะกล่าวว่า อย่าพักที่นั่นเลย มีนาคราช (งูใหญ่) อยู่ จะเป็นอันตรายเปล่าๆ พระพุทธองค์ทรงยืนยันจะพักที่นั่น อุรุเวลกัสสปะจึงอนุญาต นึกว่าเดี๋ยวก็รู้สึก

พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปประทับข้างใน ดำรงพระสติมั่นต่อกรรมฐานภาวนา ฝ่ายพญานาคเห็นมีคนเข้ามาก็โกรธ พ่นพิษตลบไป พระพุทธองค์ทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ให้เกิดควันฟุ้งตลบ ไปสัมผัสผิวกายพญา นาค พญานาคยิ่งโกรธมากขึ้น พ่นพิษเป็นเพลิงพุ่งขึ้น พระพุทธองค์ทรงเข้าเตโชกสิณสมาบัติ บันดาลเพลิงลุกโชติช่วง ดังหนึ่งจะเผาผลาญโรงไฟให้เป็นจุณวิจุณในบัดดล

เหล่าชฎิลเห็นควันและเปลวเพลิงพุ่งขึ้น โชตนาการเช่นนั้น ก็พากันมายืนมุงดู ต่างก็กล่าวด้วยความสลดใจว่า "สมณะหนุ่ม รูปงามนั้น คงถูกพญานาคกำจัดเสียแล้ว น่าเสียดายที่มาสิ้นชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น"

ครั้นรุ่งเช้า พวกชฎิลก็เข้าไปในโรงไฟ มองไม่เห็นพญานาค เห็นแต่ "สมณะหนุ่มรูปงาม" ของพวกเขานั่งสงบอยู่ สายตาก็มองหาว่าพญานาคอยู่ที่ไหน พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพวกเขาคิดอะไร จึงทรงเปิดฝาบาตร แสดงพญานาคที่พระองค์ทรงใช้อิทธิฤทธิ์ย่อขนาดเล็กนิดใส่ในบาตรให้พวกเขาดู

เมื่อเห็นพญานาคตัวใหญ่ กลายเป็นงูเล็ก ขด "มะก้องด้อง" อยู่ในบาตรสมณะหนุ่มรูปงาม ก็อัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง ต่างก็เปล่งอุทานว่า สมณะท่านมีอิทธิฤทธิ์ยิ่งใหญ่แท้ ข้าแต่สมณะ นิมนต์ท่านอยู่ที่อาศรมของข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด ข้าพเจ้าทั้งหลายจะถวายภัตตาหารเป็นนิตย์

น่าสังเกตว่า ถึงจะยอมรับว่าพระพุทธเจ้ามีอิทธิฤทธิ์มากกว่าตน แต่ก็ยังไม่ยอมรับว่าพระองค์เป็นอรหันต์เหมือนพวกตน มีทิฐิมานะถือตนว่าพวกเขาเท่านั้นเป็นพระอรหันต์

พระพุทธองค์จึงเสด็จไปประทับ ณ พนาสณฑ์ตำบลหนึ่ง ใกล้อาศรมของอุรุเวล กัสสปะ ครั้นถึงรัตติกาล ท้าวจาตุมมหาราชทั้ง ๔ ก็ลงมาถวายบังคมพระพุทธองค์ ส่องแสงสว่างไปทั่วสี่ทิศ รุ่งเช้าอุรุเวลกัสสปะเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ถามว่า เมื่อคืนมีแสงสว่างทั่วสี่ทิศ เกิดอะไรขึ้น พระพุทธองค์ตรัสว่า ท้าวจาตุมมหาราชทั้งสี่มาไหว้พระองค์

คืนวันต่อๆ มา ท้าวสักกเทวราช สหัมบดีพรหม ก็มาเฝ้าตามลำดับ อุรุเวลกัสสปะ เมื่อทราบเช่นนั้น ก็นึกอัศจรรย์ใจว่า สมณะหนุ่มรูปนี้มีอานุภาพยิ่งใหญ่กว่าพระอินทร์ และพรหมเชียวหนอ แต่ช่างเถอะ สมณะหนุ่มนี้มิได้เป็นอรหันต์เช่นเดียวกับเรา



ปางโปรด ภาติกชฎิล (๓)

อีกไม่กี่วันข้างหน้า เป็นกำหนดวันมหายัญญลาภของพวกชฎิล ถึงวันนี้พวกชาวเมืองราชคฤห์จะนำลาภสักการะเป็นจำนวนมากมาถวายและฟังธรรมจากหัวหน้าชฎิล อุรุเวลกัสสปะ นึกว่าถ้าสมณะหนุ่มอยู่กับเรา เธอก็จะได้ส่วนแบ่งจากลาภสักการะด้วย ไฉนหนอ จะให้เธอจากไปเสียก่อนวันงานจะมาถึง

พระพุทธองค์ทรงทราบวาระจิตของอุรุเวลกัสสปะ พอถึงวันมหายัญญลาภ พระองค์เสด็จออกไปยังอุตตรกุรุทวีป ทรงยับยั้งอยู่จนล่วงเลยวันที่กำหนดแล้ว จึงเสด็จกลับมา อุรุเวลชฎิลถามว่าพระองค์หายไปไหน จึงตรัสบอกตามความจริง อุรุเวลกัสสปะนึกอัศจรรย์ใจว่า สมณะหนุ่มนี้มีฤทธิ์มากจริงๆ แต่ถึงอย่างไรก็มิได้เป็นพระอรหันต์เช่นเรา

เรียกว่าทิฐิมานะยังไม่ลด ว่าอย่างนั้นเถอะ พระพุทธองค์ต้องทรมานให้หายพยศให้ได้ จึงจะทรงแสดงธรรมให้ฟัง

วันหนึ่งเหล่าชฎิลจะผ่าฟืน ก่อไฟทำพิธีบูชาไฟ พระพุทธองค์ทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ให้พวกเขาไม่อาจผ่าฟืนได้ พยายามอย่างไรๆ ก็ผ่าไม่ได้ อุรุเวลกัสสปะจึงกล่าวกับพระพุทธองค์ว่า ไม่ทราบว่าเพราะอะไรวันนี้พวกตนจึงผ่าฟืนไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลองพยายามอีกครั้งซิ ครั้นพวกเขาผ่าอีกครั้ง ก็สำเร็จ

ครั้งที่สอง พวกเขาจะก่อไฟ ก็ก่อไม่สำเร็จ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสขึ้นเท่านั้นไฟก็ลุกโชนขึ้นทันที โดยมิทันจุด ครั้นทำยัญพิธีเสร็จแล้ว จะดับก็ไม่สามารถดับได้ จนกว่าพระพุทธองค์จะรับสั่งให้ไฟดับ

ครั้งที่สาม พวกชฎิลลงไปดำผุดดำว่ายในน้ำ (คงทำพิธีกรรมตามความเชื่อของตน) รู้สึกหนาวมาก ขึ้นมาแล้วประสงค์จะผิงไฟ ทันใดก็ปรากฏกองไฟลุกโชน ณ ทุกจุดที่พวกเขาขึ้นจากน้ำ พวกเขาจึงนึกว่า นี้คงเป็นสมณะหนุ่มบันดาลแน่นอน เธอช่างมีอิทธิฤทธิ์มากจริงๆ แต่ถึงจะมีฤทธิ์มาก ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา ว่าเข้านั่น

ครั้งที่สี่ วันหนึ่งเกิดฝนตกอย่างหนัก กระแสน้ำหลากมาท่วมบริเวณโดยรอบ รวมถึงตำบลที่พระพุทธองค์ประทับด้วย พวกชฎิลพากันหนีไปอยู่บนที่ดอน รุ่งเช้าขึ้นมา นึกถึง "สมณะหนุ่ม" ขึ้นมาได้ พากันลงเรือมายังตำบลนั้น เพื่อดู และแล้วพวกเขาก็อัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเห็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงยืนจงกรมไปมาอยู่นั้น เป็นโพลงมีน้ำล้อมรอบดุจดังมีกำแพงกั้นไว้ พระพุทธองค์จึงเสด็จเหาะขึ้นจากภูมิภาคขึ้นไปนภากาศ ลอยไปลงสู่เรือของชฎิล สร้างความประหลาดมหัศจรรย์แก่พวกเขาเป็นทวีตรีคูณ



http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Bod.jpg

ปางโปรดอัครสาวก (๑)
พระพุทธเจ้าประทับยืน ปางประทานอภัย ขนาบด้วยพระอัครสาวก
คือ พระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร ขนาด ๑.๐๓ x ๒.๙๒ เมตร
ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ภาพจาก : เว็บไซท์ dhammajak.net  

เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ จนมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะแล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็ได้สร้างวัดพระเวฬุวันถวายไว้ในพระพุทธ ศาสนา วัดพระเวฬุวันนับเป็นวัดแห่งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เมืองราชคฤห์ พระนครหลวงแห่งแคว้นมคธ จึงเป็นศูนย์พระพุทธศาสนาแห่งแรกเช่นเดียวกัน

ความจริงพระเจ้าพิมพิสารเคยพบพระพุทธองค์แล้ว เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จออกผนวชใหม่ๆ เสด็จมาถึงเมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทูลอัญเชิญสละเพศนักพรตไปครองราชสมบัติร่วมกับพระองค์ ทรงสัญญาว่าจะแบ่งอาณาจักรให้ครอบครองครึ่งหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่ออกบวชนี้ประสงค์สัมมาสัมโพธิญาณ มิได้หวังความยิ่งใหญ่ทางโลก พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงขอว่า ถ้าเช่นนั้น หลังจากที่ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะแล้ว ให้เสด็จมาโปรดเป็นคนแรกเถิด พระพุทธองค์ทรงรับด้วยดุษณีภาพ การเสด็จมาเมืองราชคฤห์นี้ จะว่าเพื่อเปลื้องสัญญานั้นก็ได้ และบัดนี้ก็ได้ทรงทำภารกิจนี้เสร็จสิ้นแล้ว

ในช่วงเวลาดังกล่าว พระอัสสชิ น้องสุดท้องของปัญจวัคคีย์ ได้ทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จมาประทับที่เมืองราชคฤห์ ตั้งใจจะไปเฝ้าเพื่อรายงานผลการไปปฏิบัติงานยังต่างเมืองให้ทรงทราบ เช้าวันหนึ่งท่านออกบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์

ขอตัดภาพไปยังสองสหายนามว่า อุปติสสะ กับ โกลิตะ ก่อน อุปติสสะเป็นบุตรของนายบ้านอุปติสสคาม บิดาไม่ปรากฏชื่อ มารดานามว่านางสารี ส่วนโกลิตะเป็นบุตรของนางโมคคัลลีภรรยาของนายบ้านโกลิตคาม เนื่องจากหมู่บ้านทั้งสองอยู่ไม่ห่างไกลกัน และตระกูลทั้งสองก็ทัดเทียมกัน ทั้งมีความสนิทคุ้นเคย กันดี บุตรของทั้งสองตระกูลจึงเป็นเพื่อนรักใคร่กัน ไปมาหาสู่กันอย่างสนิทสนม

วันหนึ่ง สองสหายขึ้นไปดูมหรสพบนเขา แทนที่จะมีความสนุกสนานเพลิดเพลินดังแต่ก่อน กลับมีความสลดสังเวชใจ มองเห็นความไร้แก่นสารของการมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน พอรู้ว่าต่างคนต่างก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน จึงตกลงกัน ว่าจะไปแสวงหา "โมกษธรรม" (ทางพ้นทุกข์)

สองสหายไปฝากตนศึกษาและปฏิบัติอยู่กับอาจารย์ สัญชัย เวลัฏฐบุตร สำนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงโด่งดังสำนักหนึ่งในจำนวน 6 สำนักในขณะนั้น อันเป็นที่รู้จักกันในนาม "ครูทั้งหก" (สำนักครูทั้งหกคือ ปูรณะ กัสสปะ, มักขลิ โคสาละ, ปกุธะ กัจจายนะ, อชิตะ เกสกัมพล, นิครนถ์ นาฏบุตร และสัญชัย เวลัฏฐบุตร)

พรหมชาลสูตร ทีฆนิกาย กล่าวว่า สัญชัย เวลัฏฐบุตร สอนลัทธิ "อมราวิกเขปิกา" แปลว่าความเห็นไม่แน่นอน (จับไม่อยู่) ดุจปลาไหล คือ มีทรรศนะไม่แน่นอน ไม่ยืนยันแง่ใดแง่หนึ่งอย่างแน่ชัด เพราะกลัวจะผูกมัดกับความคิดเห็นนั้นๆ บางท่านกล่าวว่า อมราวิกเขปิกา ก็คือ ลัทธิปรัชญาที่สมัยนี้เรียกว่า สเก็ปติกส์ (skepticism) นั้นเอง ผมไม่ได้เรียนปรัชญา จึงขอเดาเอาตามประสาผมว่า คือลัทธิที่สงสัยมันเรื่อยไป ไม่ยอมรับแม้กระทั่งทฤษฎีที่ตกลงกันแล้ว เช่น (สมมติ) สองบวกสองทำไมต้องเป็นสี่ เป็นห้าเป็นหกไม่ได้หรือ อะไรทำนองนี้

พวกนี้คิดในอีกมุมหนึ่ง น่าจะเป็นพวกเหลวไหล เอาแน่อะไรไม่ได้ แต่มองอีกด้านหนึ่งพวกนี้น่าจะเป็นนักคิดที่มีเหตุผล และวิธีคิดที่หลากหลายทีเดียว มิได้คับแคบ ผูกติดหรือเชื่อฝังหัวในทรรศนะหนึ่งทรรศนะใดอย่างงมงาย ไม่รู้สิครับ ก็บอกแล้วว่าผมมิใช่นักปรัชญา

ทั้งสองหนุ่มไปศึกษาอยู่ที่สำนักนี้จนจบความรู้ของครู ก็เห็นว่ามิใช่ทางพ้นทุกข์ที่แท้จริง พูดสำนวนอาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ก็เป็นการสอนวิธีตีฝีปาก เสียมากกว่าวิธีดับทุกข์ ว่าอย่างนั้นเถอะ จึงตกลงกันเงียบๆ สองคนว่า จะไปหาแนวทางใหม่ ที่ดีกว่า ใครพบก่อนกันก็ให้บอกอีกฝ่ายหนึ่งด้วย


ปางโปรดอัครสาวก (๒)

อุปติสสะกำลังเดินอยู่ในเมือง สายตาก็ไปสัมผัสกับอากัปกิริยาอันสงบของสมณะรูปหนึ่ง รู้สึกประทับใจ ขณะนั้นท่านเดินบิณฑบาตอยู่ อยากจะเข้าไปสนทนาธรรมกับท่าน เกรงว่าจะไม่เหมาะสม จึงเดินตามไปห่างๆ เมื่อท่านได้ภัตตาหารเพียงพอแก่อัตภาพแล้ว หลีกไปยังสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อฉันภัตตาหาร อุปติสสะจึงรีบเข้าไปหาท่าน จัดตั้งอาสนะถวาย นั่งปรนนิบัติถวายน้ำใช้น้ำฉัน ครั้นเสร็จภัตกิจแล้ว อุปติสสะจึงกล่าวกับท่านว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ใบหน้าท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณท่านก็บริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบรรพชาอยู่ในสำนักท่านผู้ใด ใครเป็นครูอาจารย์ของท่าน ท่านเล่าเรียนธรรม จากผู้ใด"

พระอัสสชิกล่าวตอบว่า "ดูก่อนปริพาชก พระสมณะศากยบุตร ผู้ออกบวชจากศากยวงศ์ พระองค์นั้น เป็นศาสดาของเรา เราเป็นสาวกของพระองค์"

อุปติสสะ กล่าวว่า "ข้าแต่ผู้เจริญ ขอท่านโปรดแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กระผมฟังด้วยเถิด"

พระเถระแสดงธรรมข้อใดให้อุปติสสะฟัง ต่อคราวหน้าครับ

เมื่ออุปติสสะ ขอให้แสดงธรรมให้ฟัง พระอัสสชิกล่าวถ่อมตนว่า ท่านเพิ่งอุปสมบทไม่นาน ไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารได้ ครั้นอุปติสสะบอกว่าขอให้แสดงโดยย่อก็ได้

พระเถระจึงกล่าวคาถา อันแสดงถึง "หัวใจ" แห่งอริยสัจสี่มี ใจความว่า
     เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต (อาห)
     เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ
     ธรรม (สิ่ง) เหล่าใด เกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
     และความดับเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะ อย่างนี้

คาถานี้ แสดงหลักอริยสัจโดยย่อนั่นเอง อริยสัจพูดถึงทุกข์และเหตุเกิดทุกข์ การจะดับทุกข์ได้ ก็ต้องดับที่ต้นเหตุ อริยสัจเน้นถึงวิธีดับทุกข์ หรือวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแห่งปัญหา

น่าสังเกตว่า เมื่อพระสมณทูตเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างแดน ท่านจะเทศนาเน้นไปที่ "แก่น" แห่งอริยสัจนี้เสมอ

เมื่อครั้งพระโสณะและพระอุตตระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิ (อันเข้าใจกันว่า ศูนย์กลางก็คือจังหวัดนครปฐมในปัจจุบันนี้) ท่านก็คงเทศนาสั่งสอนในเรื่องนี้เป็นหลัก ดังปรากฏว่ามีผู้ค้นพบคาถาพระอัสสชิ จารึกเป็นหลักฐาน รวมกับโบราณวัตถุอื่นๆ เช่น ธรรมจักร กวางหมอบ ด้วย

คาถาพระอัสสชินี้ ขึ้นต้นด้วยคำว่า "เยธัมมา" คนจึงเรียกว่า "คาถาเยธัมมา"

นอกจากที่นครปฐมแล้ว ยังค้นพบในที่อื่นอีก แสดงว่าคนสมัยก่อนถือว่าคาถานี้เป็นคาถาแสดง "หัวใจ" ของพระพุทธศาสนา ในสมัยต่อมาเท่านั้นที่เปลี่ยนมาใช้คาถาโอวาทปาติโมกข์แทน (โอวาทปาติโมกข์คือ การไม่ทำชั่ว การทำความดีให้พร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว)

อุปติสสะได้ฟังเท่านี้ก็พลันเกิด "ดวงตาเห็นธรรม" (ธรรมจักษุ) ทันที จึงเรียนถามท่านว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ เวลานี้พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่ไหน"

พระเถระตอบว่า "เวลานี้พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร"

อุปติสสะจึงกราบลาพระอัสสชิ อาจารย์ผู้ให้แสงสว่างในทางธรรมของตน รีบไปหาโกลิตะผู้สหาย กล่าวคาถานั้นให้โกลิตะฟัง โกลิตะก็เกิดดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกัน

ทั้งสองจึงชวนกัน ไปชวนอาจารย์สัญชัย เพื่อไปเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ชวนผิดคนเสียแล้วครับ สัญชัยเป็นถึงอาจารย์ใหญ่ เจ้าของลัทธิที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น มีหรือจะยอมไปเป็นลูกศิษย์คนอื่นอีก ศิษย์ทั้งสองหวังดี แต่เป็นความหวังดีที่ยากจะรับได้ ลองฟังบทสนทนาของศิษย์อาจารย์ดูก็แล้วกันครับ

ศิษย์ "อาจารย์ครับ บัดนี้พระสัมมา สัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกแล้ว เราทั้งสามไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เพื่อฟังธรรมกันเถิด"



ปางโปรด อัครสาวก (๓)

อาจารย์ "ไยเธอทั้งสองมาดเช่นนี้กับเรา เราเป็นอาจารย์ใหญ่ เจ้าสำนักที่มีชื่อเสียง ยังจะต้องไปเป็นศิษย์ใครอีกหรือ"

ศิษย์ "ท่านอาจารย์ครับ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ธรรมะที่ทรงแสดงก็เป็นนิยยานิกธรรม (สามารถนำคนออกจากทุกข์) จริงๆ เรามาไปกันเถิด"

อาจารย์ "เราไม่ไป เธอทั้งสองอยากไป ก็ตามใจเถิด"

ศิษย์ "ท่านอาจารย์ครับ ใครๆ ได้ทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว ก็พากันไปฟังธรรม ไปบวชเป็นสาวกของพระองค์กันมากแล้ว ท่านอาจารย์จะอยู่อย่างไร"

อาจารย์ "เราขอถามอะไรสักอย่าง"
ศิษย์ "อะไรครับ อาจารย์"
อาจารย์ "ในโลกนี้ คนโง่กับคนฉลาดอย่างไหนมากกว่ากัน"
ศิษย์ "คนโง่ครับ ท่านอาจารย์ คนฉลาดมีจำนวนน้อย"

อาจารย์ "คนโง่จำนวนมากนั้นเขาจะมาสู่สำนักเราเอง ส่วนคนฉลาดๆ อย่างเธอทั้งสองก็จะไปยังสำนักพระสมณโคดม เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าเราจะไม่มีศิษย์ เธอทั้งสองอยากไปเป็นศิษย์พระสมณโคดมก็ไปเถิด ไม่ต้องห่วงเรา"

อย่ามาชวนเสียให้ยาก เอาช้างมาฉุดข้าก็ไม่ไป ว่าอย่างนั้นเถอะ ชะชะ เป็นอาจารย์อยู่ดีๆ จะมาชวนให้ไปเป็นศิษย์คนอื่น ไม่เตะเอาก็บุญแล้ว สัญชัยอาจคิดอย่างนี้ก็ได้

เมื่ออาจารย์ไม่ไปด้วย ศิษย์ทั้งสองจึงอำลาอาจารย์เดินทางไปยังพระเวฬุวันวิหาร ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับท่ามกลางภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ทอดพระเนตรเห็นทั้งสองเดินมาแต่ไกล จึงทรงชี้พระดรรชนี ตรัสกับภิกษุสงฆ์ว่า "ภิกษุทั้งหลาย สองคนนั้นจะเป็นคู่แห่งอัครสาวกของเรา"

น่าสังเกตว่า ทั้งสองยังไม่ได้บวชเลย พระพุทธองค์จะตั้งให้เป็นอัครสาวกแล้ว ด้วยเหตุดังฤๅ ได้คิดหาคำตอบกันคราวหน้าครับ

เมื่อทั้งสองท่านได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าแล้ว อุปติสสมาณพ ได้นามเรียกขานกันในหมู่เพื่อนพรหมจรรย์ว่า สารีบุตร โกลิตมาณพ ได้ชื่อว่า โมคคัลลานะ

บวชได้ ๗ วันพระโมคคัลลานะ บำเพ็ญเพียรอยู่ที่ตำบลกัลลวาลมุตตคาม ถูกความง่วงครอบงำไม่สามารถขจัดให้หายไปได้ พระพุทธองค์เสด็จไปตรัสบอกวิธีแก้ง่วง ๘ ประการให้ท่านปฏิบัติ (มีอะไรบ้าง เคยเขียนไว้ในที่อื่นแล้ว จะไม่ขอพูดในที่นี้) ท่านโมคคัลลานะปฏิบัติตามที่ทรงแนะนำ สามารถขจัดความง่วงได้ และได้บรรลุพระอรหัต

อีก ๗ วันต่อมา พระสารีบุตรกำลังถวายงานพัดพระพุทธองค์ ขณะประทับแสดงธรรมแก่ปริพาชกเล็บยาว หลานชายท่าน ถวายงานพัดไป ส่งใจพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนาไปด้วย เมื่อทรงแสดงธรรมจบลงก็ได้บรรลุพระอรหัต ในขณะที่ผู้ฟังพระธรรมเทศนาโดยตรงคือปริพาชกเล็บยาวไม่ได้บรรลุ



ปางโปรด อัครสาวก (จบ)

สถานที่ท่านบรรลุพระอรหัตคือ ถ้ำสุกรขาตา (ถ้ำหมูขุด หรือที่เรียกในปัจจุบันนี้ว่าถ้ำคางหมู) อยู่เชิงเขาคิชฌกูฏ ปัจจุบันนี้ใครไปนมัสการพระมูลคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกูฏ ก็จะผ่านถ้ำคางหมูก่อน และมักจะแวะนนัสการเสมอ เพราะเป็นปูชนียสถานที่สำคัญเช่นเดียวกัน

ที่ไม่ควรลืมก็คือ วันที่ท่านพระสารีบุตรบรรลุพระอรหัต เป็นเช้าวันเพ็ญเดือน ๓ เป็นวันที่พระพุทธองค์ประทานโอวาทปาติโมกข์แก่ที่ประชุมสงฆ์ "จาตุรงคสันนิบาต" พอดี ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้เป็นวันมาฆบูชา ดังที่ทราบกันดีแล้ว

จากนั้นพระพุทธองค์ก็ประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา และเบื้องซ้าย พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา เลิศกว่าผู้อื่นในทางมีปัญญามาก พระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเลิศกว่าผู้อื่นในทางมีฤทธิ์มาก

ปริศนาที่ตั้งไว้ในสัปดาห์ก่อนโน้นว่า เพราะเหตุไรพระพุทธองค์จึงทรงแต่งตั้งท่านทั้งสองเป็นอัครสาวก ทั้งๆ ที่อายุพรรษาน้อยกว่าพระเถระรูปอื่นๆ จะว่าไปแล้วทรง "ทำท่า" จะตั้งตั้งแต่วินาทีแรกที่ทอดพระเนตรเห็นสองท่านเดินเข้าวัดมาด้วยซ้ำ มิเป็น "มุโขโลกนะ" (เห็นแก่หน้า) ดอกหรือ

คำตอบที่พระอรรถกถาจารย์ให้ไว้ ก็คือ พระองค์ทรงแต่งตั้งให้ทั้งสองท่านเป็นอัครสาวก เพราะทั้งสองท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้แล้วในพุทธกาลก่อนๆ นานมาแล้ว พูดง่ายๆ ว่าตั้งตามความปรารถนาของทั้งสองท่าน ถึงจะฟังทะแม่งๆ ก็รับฟังไว้ก็แล้วกันครับ

ถ้าจะให้ผมเดา (พูดให้โก้ว่าสันนิษฐาน) ผมก็เดาว่าพระพุทธองค์กำลังจะเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหมู่พราหมณ์ พระองค์ต้องการ "มือ" มาช่วยทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งสองท่านนี้เหมาะกับงานนี้พอดี จึงทรงแต่งตั้ง ให้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย ทั้งสองท่านมีคุณสมบัติดังนี้ครับ
๑.เกิดในวรรณะพราหมณ์ มีความเชี่ยวชาญในไตรเพทของพวกพราหมณ์เป็นอย่างดี เมื่อมาเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแล้ว ย่อมจะสามารถโต้ตอบหักล้างแนวความคิดความเชื่อของพวกพราหมณ์ได้อย่างดี
๒.เป็นบัณฑิตทางปรัชญา จบปรัชญาสาขา "อมราวิกเขปิกา" จากสำนักอาจารย์สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปรัชญาสำนักนี้เน้นวาทะ การโต้ตอบด้วยปฏิภาณ จึงเป็น "เครื่องมือ" อย่างดี ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พระพุทธองค์ทรงมองเห็นแล้วว่า ทั้งสองท่านมีความสามารถที่สาวกรูปอื่นๆ ไม่มี จึงทรงสถาปนาทั้งสองท่านในตำแหน่งอัครสาวกดังกล่าว

ทั้งหมดนี้เดาเอาครับ ย่อมมีสิทธิ์ผิดได้ (และดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นด้วย)




ภาพจาก : เว็บไซต์ bloggang.com
ปางประทานโอวาทปาติโมกข์ (๑)

เดิมเขียนว่า "ปาฏิโมกข์" ปัจจุบัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้เขียน "ปาติโมกข์" ตัว ฏ เป็น ต นี้ถือเป็นธรรมดา เป็น ด ก็ธรรมดา อย่าง ถนน "ปฏิพัทธ์" เป็นถนน "ประดิพัทธ์" นั้นแล

ได้บอกไว้ว่า พระสารีบุตรบรรลุพระอรหัตในเช้าวันเพ็ญที่พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะพอดี (ต่อมากำหนดให้เป็นวัน วันมาฆบูชา) การบรรลุธรรมของพระสารีบุตร สัมพันธ์กับเหตุการณ์วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเช่นนี้ทำให้จดจำได้ง่ายดี

วันนั้น พระสาวกทั้งหลายคงเดินทางมุ่งหน้ามายังพระเวฬุวันเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าหลังจากเดินทางไปเผยแพร่พระศาสนายังต่างเมือง ท่านเหล่านั้นคงมิได้นัดหมายกันจริงตามที่มีผู้สันนิษฐานกัน เมื่อองค์ประกอบทั้ง ๔ ประการมาบรรจบกันเข้า ทำให้เห็นเป็นอัศจรรย์คือ
๑. พระสาวกของพระพุทธเจ้ามาประชุมกันที่พระเวฬุวันจำนวน ๑,๒๕๐ รูป โดยมิได้นัดหมายกันมาก่อน
๒. ท่านเหล่านั้นล้วนเป็น เอหิภิกขุ (พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง)
๓. ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา
๔. วันนั้นเป็นวันพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะพอดี

การประชุมใหญ่ของพระสาวก อันประกอบด้วยเหตุการณ์สำคัญทั้ง ๔ นี้ เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าเป็นนิมิตหมายอันดี จึงประทานโอวาทปาติโมกข์ (คำสอนที่เป็นหลักสำคัญ) ให้พระสงฆ์สาวกเหล่านั้น

มีคำถามว่า จำนวน ๑,๒๕๐ มาจากไหน บางท่านบอกว่า ความจริงมิได้มาจากไหนดอก เอาแค่ภาติกชฎิลกับบริวาร ก็พันกับสามรูปแล้ว รวมกับพระอัครสาวกและบริวาร๕๐๐ ก็เกินแล้ว ทั้งนี้ไม่รวมถึงพระอรหันต์ ๖๐ รูป ที่ทรงส่งไปก่อนหน้านี้แล้ว ท่านเหล่านี้แหละ เมื่อปฏิบัติภารกิจลุล่วงแล้ว บางส่วนได้กลับมาเพื่อกราบทูลถวายรายงานหรือเพื่อขอประทานพระโอวาทเพิ่มเติม

ถามว่า ทำไมท่านเหล่านี้จึงจำเพาะเจาะจงมาเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันเวลาดังกล่าวนี้ นักสันนิษฐานบางท่านกล่าวว่า เพราะความเคยชิน ว่าอย่างนั้น ถามว่าเคยชินอะไร ท่านบอกว่าพระสาวกเหล่านี้เป็นพราหมณ์มาก่อน และวันที่พระจันทร์เต็มดวงในเดือนนี้เป็นวันที่เขาทำพิธีที่เรียกว่า ศิวาราตรี ครั้นท่านเหล่านี้ได้มาบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่มีโอกาสทำพิธีอะไรของพวกพราหมณ์เหมือนเมื่อครั้งก่อนแล้ว จึงพากันมาเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน ว่าอย่างนั้น



ที่มา คอลัมน์ "ฟ้าสางเมื่อใกล้ค่ำ" โดย ศาสตราจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด
3437  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / Re: วัฒนธรรมร่วมอาเซียน เมื่อ: 16 สิงหาคม 2558 10:59:41
.

วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน กราบไหว้

กราบไหว้เป็นวัฒนธรรมฮินดูชมพูทวีป (อินเดีย) เมื่อหลายพันปีมาแล้ว เป็นที่รับรู้ทั่วโลก แล้วแพร่หลายถึงบ้านเมืองในอุษาคเนย์

อัญชลิ เป็นคำบาลี-สันสกฤต หมายถึงการไหว้ (ด้วยมือทั้งสองอันประนม)

มีในบทสวดมนต์ตอนสังฆคุณว่า อัญชลีกรณีโย แปลว่า (พระสงฆ์) เป็นผู้ควรได้รับการประนมมือไหว้
          

พระสงฆ์สาวกกำลังพนมมือไหว้พระพุทธเจ้า รูปสลักหิน ราว พ.ศ. ๕๐๐-๗๐๐
ฝีมือช่างอินเดียแบบคันธารราฐ (อยู่ในปากีสถาน) แสดงการไหว้มีกำเนิดเก่าสุดในอินเดีย
(ปัจจุบันเก็บไว้ที่ The Metropolitan Museum of Art ภาพจาก http://www.metmuseum.org)

อินเดียถึงอุษาคเนย์
ไหว้ คืออัญชลีในศาสนาพราหมณ์-พุทธ เมื่ออาศัยเรือพ่อค้าจากชมพูทวีปมาถึงอุษาคเนย์ ราวเรือน พ.ศ. ๑๐๐๐ ก็แพร่หลายสู่ตระกูลคนชั้นนำพื้นเมือง

ซึ่งมีทั้งตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ไทย-ลาว, และอื่นๆ ที่ตั้งหลักแหล่งอยู่เคล้าคละปะปนกันทั่วไป ไม่แยกเชื้อชาติ (เพราะไม่มีจริงในโลก และยุคนั้นไม่มีรัฐชาติ)

ทุกตระกูลรับประเพณีการไหว้จากศาสนาพราหมณ์-พุทธ ในคราวเดียวกัน ไม่มีกลุ่มนี้รับก่อน กลุ่มนั้นรับหลัง (ถ้าจะเคยมี ก็ไม่มีหลักฐาน)

เครื่องมือการเมือง
ตระกูลคนชั้นนำพื้นเมืองยกย่องศาสนาพราหมณ์-พุทธ เป็นเครื่องมือทางการเมืองการปกครองให้บ้านเมืองยุคนั้นเติบโตขึ้นเป็นรัฐ

วัฒนธรรมการไหว้อัญชลี ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการปกครองด้วย เพื่อควบคุมอย่างเคร่งครัดต่อผู้อยู่ใต้อำนาจ เช่น ขุนนาง, ข้าราชการ, ฯลฯ โดยกำหนดให้มีแบบแผนการไหว้กราบและหมอบกราบคนชั้นนำซึ่งมีอำนาจเหนือกว่า

คนชั้นนำไทยไม่เกิน ๑๐๐ ปีมานี้ กำหนดประเพณีประดิษฐ์คิดสร้างใหม่ ให้การไหว้มีช่วงชั้นต่างๆ ด้วยระดับก้มหัวและประนมมือสูงแค่ไหนๆ เพื่อให้ยอมจำนนต่อผู้มีอำนาจเหนือ

แล้วทำให้แพร่หลายไปสู่ระดับล่าง ก็โดยผ่านระบบโรงเรียนทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนให้มีประกวดกิริยามารยาท ว่าใครจะยอมจำนนได้เนียนกว่ากัน


ไหว้เพื่อการตลาด
ปัจจุบันการไหว้เป็นจุดขายสำคัญในตลาดท่องเที่ยว

จึงไม่ว่าชาติไหนๆในสังกัดพราหมณ์-พุทธ ที่เคยรับการไหว้จากแขกอินเดียมาด้วยกัน ก็พากันไหว้เพื่อการตลาดทั้งนั้น เพราะขายได้ขายดี



แตงโม พุดทะมาลา สุดาวัน บัณฑิตสาวชาวลาว ก้มกราบแม่ที่เป็นอัมพาต
(เป็นภาพโด่งดังในลาว แล้วสื่อไทยนำมาเผยแพร่ต่อ)


ชาวเขมรไหว้ขบวนพระศพนโรดมสีหนุ เมื่อตุลาคม ๒๐๑๒
(ภาพจาก http://www.news.com.au)


นักบวชฮินดูประนมมือไหว้ ที่เกาะบาหลีอินโดนีเซีย
(ภาพจาก http://www.masterfile.com)


เด็กหญิงเวียดนาม ยกมือไหว้เคารพศพนายพล Vo Nguyen Giap
ที่กรุงฮานอย เวียดนาม เมื่อตุลาคม ๒๐๑๓ (ภาพจาก http://www.vietnambreakingnews.com)


เด็กพม่ายกมือไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ภาพถ่ายโดย Martin Hürlimann)


กลุ่มชาวพม่ายกมือสักการะเจดีย์ชเวดากอง (ภาพจาก วิกิพีเดีย ภาษาอังกฤษ)


ชาวมอญในพิธีไหว้ผี /เลี้ยงผี ที่กาญจนบุรี (ภาพจาก บางกอกโพสต์)


ชาวมอญในพิธีไหว้ผี /เลี้ยงผี ที่กาญจนบุรี (ภาพจาก บางกอกโพสต์)


ชาวจีนประนมมือไหว้ อธิษฐานและแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิต
จากเหตุเรือล่มในแม่น้ำแยงซี เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๐๑๕ (ภาพจาก รอยเตอร์ส)


ชาวลื้อสิบสองปันนา ยกมือไหว้แสดงความเคารพทักทายนักท่องเที่ยว
(ภาพแนวส่งเสริมการท่องเที่ยว ภาพจาก https://kimedia.wordpress.com)


ชาวญี่ปุ่นยกมือไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดอาซากุสะ โตเกียว (ภาพจาก http://www.windsorstar.com)

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๓๑) กราบไหว้" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน ตัวอักษร

ตัวอักษร
อุษาคเนย์รับอักษรอินเดียใต้ หลังจากนั้นพัฒนาเป็นอักษรพื้นเมือง เรียกชื่อสมมุติว่า อักษรทวารวดี

ในที่สุดก็วิวัฒนาการแยกตามท้องถิ่นเป็นอักษรมอญ, อักษรเขมร, อักษรกวิ ท้ายสุดเป็นอักษรไทย

จากอินเดียใต้ ถึงอุษาคเนย์
อักษรพราหมี แต่ในไทยนิยมเรียกชื่อว่าอักษรปัลลวะ แพร่จากอินเดียเข้ามาถึงดินแดนอุษาคเนย์เป็นรุ่นแรกๆ เมื่อราวหลัง พ.ศ. ๙๐๐

[อักษรปัลลวะได้ชื่อตามนามราชวงศ์ปัลลวะที่มีอำนาจครองดินแดนภาคใต้ของอินเดียสมัยนั้น]

อักษรชนิดนี้จะมีวิวัฒนาการต่อไปเป็นรูปอักษรที่มีลักษณะเฉพาะตัว คือ อักษรทวารวดี, อักษรมอญ, อักษรเขมร ในที่สุดก็วิวัฒนาการเป็นอักษรไทย

อักษรปัลลวะ ภาษามคธ
ภาษาและวรรณกรรมรุ่นแรกๆ จากอินเดีย ที่พบในดินแดนประเทศไทยอาจมีหลายเรื่อง

แต่เรื่องสำคัญและพบหลายชิ้นบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป คือ คาถา เย ธัมมา ที่หมายถึงคาถาหัวใจพุทธศาสนา แต่งเป็นร้อยกรองประเภทฉันท์ ใช้สวดในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา

ต่อมาราวหลัง พ.ศ. ๑๐๐๐ อักษรปัลลาวะจากอินเดียใต้ ก็มีวิวัฒนาการเป็นอักษรท้องถิ่น เรียก อักษรทวารวดี ซึ่งเสมือนกึ่งทางพัฒนาการระหว่างอักษรปัลลวะ กับอักษรท้องถิ่นของอุษาคเนย์อย่างแท้จริง ได้แก่

อักษรเขมร (ในกัมพูชาสมัยก่อนเมืองพระนคร) อักษรมอญ (ในรัฐทวารวดี-หริภุญชัย) และอักษรกวิ (ในคาบสมุทรและหมู่เกาะ) เป็นต้น

อักษรเขมร (หลัง พ.ศ. ๑๔๐๐-๑๖๐๐)
อักษรเขมร เป็นอักษรที่มีวิวัฒนาการมาจากอักษรทวารวดี ในบริเวณบ้านเมืองและรัฐสองฝั่งแม่น้ำโขง สมัยก่อนเมืองพระนคร แล้วเป็นอักษรท้องถิ่นของอาณาจักรกัมพูชาสมัยเมืองพระนคร ราวหลัง พ.ศ. ๑๔๐๐

ความแพร่หลายของอักษรเขมรเท่าที่พบในปัจจุบัน ครอบคลุมทั้งบริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยากับลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่เขตเวียงจันในลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในไทย จนถึงเขมรและภาคใต้ของเวียดนาม

อักษรมอญ (หลัง พ.ศ. ๑๖๐๐)
อักษรมอญเป็นอักษรที่วิวัฒนาการจากอักษรทวารวดี พบในจารึกของรัฐหริภุญชัย ราวหลัง พ.ศ. ๑๖๐๐ โดยเฉพาะบริเวณเมืองหริภุญชัยกับบ้านเมืองใกล้เคียง เช่น เวียงมโน (จ.เชียงใหม่) และเวียงเถาะ (จ.เชียงใหม่)

อักษรมอญส่งอิทธิพลต่ออักษรธรรมล้านนา (ที่ใช้ในภาคเหนือของไทย) รวมทั้งอักษรธรรมล้านช้าง (ที่ใช้ในลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย โดยรับผ่านทางอักษรธรรมล้านนา) รูปอักษรมอญบางรูปน่าจะส่งอิทธิพลต่ออักษรไทยด้วย

อักษรกวิ (หลัง พ.ศ. ๑๗๐๐)
อักษรกวิ เป็นอักษรที่มีวิวัฒนาการมาจากอักษรรุ่นแรกของอุษาคเนย์บริเวณคาบสมุทรและหมู่เกาะ มีใช้แพร่หลายบริเวณเกาะชวา สุมาตรา และ ฯลฯ

รูปอักษรกวิไม่มีบ่าอักษร อักษรบางตัวจึงมีคล้ายคลึงกับอักษรมอญ แต่บางตัวก็มีรูปแบบต่างไป

อักษรไทยในอุษาคเนย์
เริ่มจากอักษรของชมพูทวีป ส่งแบบแผนให้เกิดอักษรทวารวดี จนมีพัฒนาการเป็นอักษรเขมร อักษรมอญ อักษรกวิ

ในที่สุดก็ส่งแบบแผนอีกทอดหนึ่งให้มีอักษรไทย (ได้ต้นแบบจากอักษรเขมร)





(ซ้าย) ตราประทับดินเผา สัญลักษณ์ทางศาสนา-การเมือง มีจารึกอักษรปัลลวะ
และรูปวัวหมอบ หงส์ ตรีศูล จักร พบที่เมืองจันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
(ขวา) ตัวอักษรจารึก คาถา เย ธัมมา บนแผ่นอิฐ พบที่เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี


(ซ้าย) อักษรเขมร ราวหลัง พ.ศ. ๑๔๐๐ พบที่ปราสาททัพเสียม ๒ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว
(ขวา) จารึกวัดเสมาเมือง อักษรกวิ ราวหลัง พ.ศ. ๑๔๐๐ พบที่ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช


อักษรมอญ ราวหลัง พ.ศ. ๑๖๐๐ จารึกวัดดอนแก้ว อ. เมือง จ. ลำพูน

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๓๒) อักษร" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ



วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน ลายกระหนก

ลายที่เรียกกันเองว่า “ลายประจำชาติ” ในอาเซียน ล้วนได้ต้นแบบจากลายกระหนกของอินเดีย (หรืออินโด-เปอร์เซีย) ที่แสดงลักษณะแตกต่างทางชนชั้นอย่างเข้มข้นของยุคนั้น
 
ราว พ.ศ.๑๐๐๐ เป็นต้นไป ผู้คนกลุ่มหนึ่งในบ้านเมืองบริเวณสุวรรณภูมิและอุษาคเนย์ มีการติดต่อทางทะเลสมุทร แล้วค้าขายแลกเปลี่ยนสิ่งของสินค้ากับอินเดียและลังกา
 
เริ่มรับศาสนา และรับลายกระหนกจากอินเดียเป็นต้นแบบ แล้วเริ่มทำเลียนแบบ จึงสมมุติเรียกงานช่างนั้นว่าแบบทวารวดี (แต่มักนิยมเรียกศิลปะทวารวดี)

 
ลายกระหนก
กระหนก หมายถึงเส้นสายลวดลายต่างๆ จากอินเดีย ที่แพร่เข้ามาโดยผูกติดกับศาสนาพราหมณ์และพุทธ ถึงดินแดนสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์โดยรวม ไม่จำเพาะเจาะจงบริเวณหนึ่งใด
 
เมื่อฝึกฝนเลียนแบบลายกระหนกจนชำนิชำนาญ จึงมีพัฒนาการเป็นลักษณะเฉพาะท้องถิ่นสุวรรณภูมิ
 
กระทั่งเป็นรัฐชาติ มีชื่อชาติภาษา และประเทศชาติ เลยพากันสมมุติเรียกชื่อเส้นสายต่างๆ กันตามชื่อเหล่านั้นว่า ลายมอญ, ลายเขมร, ลายลาว, ฯลฯ จนถึงลายไทย
 
แท้จริงแล้วล้วนเป็นลายกระหนกจากอินเดียโบราณอย่างเดียวกัน ถ้าจะแยกย่อยให้ต่างกันก็ผิดความจริง เว้นเสียแต่บังคับให้แตกต่างตามการเมืองยุคล่าอาณานิคม
 
 
ลายไทย
คนทั่วไปเข้าใจตรงกันว่า กนก คือ ลายไทย เลยเรียกปนกันทั้งลายไทย-ลายกนก-(ลาย)กนกไทย คำว่า กนก เขียนเป็น กระหนก ก็ได้
 
มีบางคนบางพวกคลุ้มคลั่งมากเกินเหตุ เลยทึกทักว่าลายกนกไทยเป็นงาน สร้างสรรค์ของไทยโดย “ช่างไทย” แท้ๆ งดงามอ่อนช้อยกว่าใครในโลก
 
แต่ ไม่จริง—ไม่จริง—และไม่จริง
 
ลายกนก-ลายกระหนก-ลายไทย ได้ต้นแบบจาก “ครู” แขกชมพูทวีป หรือแขกอินเดียสมัยคุปตะและหลังคุปตะ ราวหลัง พ.ศ.๘๐๐-๑๒๐๐ (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือกระหนกในดินแดนไทย โดย ศ.ดร. สันติ เล็กสุขุม สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗ หน้า ๒๒)
 
ลายกระหนกอินเดียแพร่หลายมากับศาสนาทั้งพราหมณ์และพุทธ สู่ดินแดนสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์คราวเดียวกัน ไม่ต้องไปหลงทางหาตรงไหนก่อน-หลัง เสียเวลาเปล่าๆ
 
เพราะมีต้นแบบพ่อแม่เดียวกัน คือลายกนกชมพูทวีปอินเดีย ในแง่ตัวลายจึงไม่มีอะไรต่างกัน เว้นเสียแต่พบอยู่ในเขตประเทศไหน? ก็สมมุติเรียกว่าลายของดินแดนนั้น
 
ถ้าอยู่ผิดที่ผิดทางก็บอกไม่ได้หรอกว่าลายใครเป็นลายใคร เพราะเป็นกระหนกเดียวกัน เช่น เอาลายไทยไปวางในเขมร, เอาลายเขมรไปวางในลาว, เอาลายลาวไปวางในพม่า, เอาลายพม่าไปวางในมอญ, เอาลายมอญมาวางในไทย ฯลฯ
 
จะต่างกันก็แต่ “ลายมือ” เพราะแม้คนกลุ่มเดียวกัน แต่ต่างคนต่างเขียนลายก็ได้ลายต่างกันในรายละเอียด
 
ลายดั้งเดิม ก่อนรับกระหนกอินเดีย
ก่อนรับกระหนกจากอินเดีย ช่างเขียนสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์วาดรูปลวดลายธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (หรือเบสิค) อย่างแข็งแรงแล้ว
 
มีหลักฐานเป็นลายเส้นบนหน้าผา, ผนังถ้ำ, โขดหิน, ฯลฯ เป็นภาพเขียนดึกดำบรรพ์ มีอายุเก่าแก่มากกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว พบทั่วไปในดินแดนไทยตั้งแต่ภาคเหนือ, ภาคอีสาน, ภาคกลาง, ภาคใต้ แล้วพบกระจายอยู่ในดินแดนเพื่อนบ้านโดยรอบด้วย
 
ทุกแห่งที่พบล้วนเป็นภาพเขียนศักดิ์สิทธิ์ เกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อในศาสนาผีพื้นเมืองดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ แล้วสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชนยุคนั้น บริเวณนั้น ตั้งแต่ก่อนรับศาสนาพราหมณ์-พุทธ และก่อนรับลายกระหนกจากอินเดีย
 
บริเวณโดยรอบของหน้าผา, ถ้ำ, โขดหิน, ฯลฯ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (เทียบเท่าโบสถ์, วิหารสมัยหลัง) ใช้ทำพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เช่น ขอฝน, ฯลฯ
 
คนเขียนลายเส้นเป็นรูปต่างๆ เหล่านั้น เช่น คน, สัตว์, ฯลฯ ได้รับยกย่องเป็นบุคคลพิเศษ (ที่ยุคต่อไปจะเรียกว่าช่าง) มีอำนาจระดับหมอผี หมายถึงผู้มีวิชามากกว่าคนอื่นในท้องถิ่นชุมชนนั้น
 
ทั้งหมดล้วนเป็นหลักฐานมั่นคง ว่าคนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว มีประสบการณ์ชำนาญและความสามารถระดับสูงแล้วในทางวาดรูป เขียนภาพ ทั้งเหมือนจริงและเหนือจริงเป็นเส้นสัญลักษณ์ ยุคก่อนรับลายกระหนกจากอินเดีย
 
งานช่างอื่นๆ ก็ไม่ต่างจากงานช่างเขียน ไม่ว่าช่างฟ้อน ช่างขับ รวมถึงช่างดีดสีตีเป่า ซึ่งรู้จักทั่วไปทุกวันนี้ว่างานดนตรีและนาฏศิลป์ ล้วนมีรากเหง้าร่วมกันมาแต่ยุค ดึกดำบรรพ์


ลายเส้นคัดลอกทั้งหมดนี้ จากหนังสือ “กระหนกในดินแดนไทย”
โดย ศ. ดร. สันติ เล็กสุขุม



กระหนก สลักหิน ศิลปะอินเดียแบบคุปตะ ราวหลัง พ.ศ.๘๐๐


กระหนก สลักหิน ศิลปะจาม ราวหลัง พ.ศ.๑๐๐๐


กระหนก ปูนปั้น ศิลปะทวารวดี
ถ้ำฝาโถ เขางู จ.ราชบุรี ราวหลัง พ.ศ.๑๐๐๐


กระหนก สลักหิน ศิลปะชวา ราวหลัง พ.ศ.๑๔๐๐


กระหนก สลักหิน ศิลปะเขมรแบบบาปวน ปราสาทหลังกลาง
ปราสาทเมืองต่ำ จ.บุรีรัมย์ ราวหลัง พ.ศ.๑๕๐๐


กระหนก ปูนปั้น ศิลปะพม่าเมืองพุกาม
(ลายคล้ายกระหนกประดับศิขรของวิหารแบบพุกาม) ราวหลัง พ.ศ.๑๖๐๐


กระหนก ปูนปั้น ศิลปะอยุธยา หน้าบันหน้าต่างอุโบสถวัดมเหยงคณ์
พระนครศรีอยุธยา พระเจ้าท้ายสระบูรณะ พ.ศ.๒๒๕๔


กระหนกสามตัวหางหงส์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ จาก “สมุดตำราลายไทย”
ที่พระเทวาภินิมมิต เรียบเรียงขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๖


ลายไทยบนธนบัตรชนิดราคา ๑๐ บาท
ออกใช้วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๓

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๓๕) ลายกนก" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ น.๘๓ ฉบับที่ ๑๘๒๘ ประจำวันที่ ๒๘ ส.ค.-๓ ก.ย.๕๘


วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน อิสลาม

คนอาเซียนในอุษาคเนย์ รับศาสนาอิสลามตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ.๑๗๐๐
 
นับแต่นี้ไปในอุษาคเนย์จะเริ่มแตกต่างทางความเชื่อ แล้วมีพัฒนาการต่างกันไปทั้งทางสังคมและวัฒนธรรม
 
อิสลามถึงอุษาคเนย์
ศาสนาอิสลามเข้าถึงอุษาคเนย์ มีรายละเอียดในบทความวิชาการเรื่อง สังเขปประวัติศาสตร์มลายูปัตตานี ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ในหนังสือมลายูศึกษา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๕๐ หน้า๓๓-๓๗) จะคัดมาโดยสรุป ต่อไปนี้
 
ก่อนหน้าที่จะหันมานับถือศาสนาอิสลาม คนอุษาคเนย์ดินแดนมลายูและหมู่เกาะ นับถือศาสนาพื้นเมืองมาก่อน แม้ว่าจะฉาบหน้าด้วยศาสนาฮินดู-พุทธอันเป็นศาสนาของราชสำนักและชนชั้นสูง
 
พ่อค้าชาวอาหรับ-เปอร์เซียผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามหรือมุสลิมเดินทางเข้ามาสู่รัฐมลายูตั้งแต่หลัง พ.ศ.๑๑๐๐

ต่อมาหลัง พ.ศ.๑๕๐๐ ได้พบหินสลักหลุมศพภาษาอาหรับในไทรบุรี หลุมศพมุสลิมนี้อาจเป็นชาวมลายูหรือพ่อค้าอาหรับ-เปอร์เซียก็ได้
 
ครั้นหลัง พ.ศ.๑๗๐๐ ก็มีหลักฐานการเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามของรัฐชายฝั่งเป็นแห่งแรกที่สุมาตรา (เมืองปะไซ หรือสมุทระ = สุมาตรา) อันเป็นรัฐมลายู
 
ในศตวรรษต่อมามะละกา (รัฐมลายู) ซึ่งเริ่มเจริญรุ่งเรืองทางการค้าก็เปลี่ยนเป็นอิสลาม จากนั้นศาสนาอิสลามก็แพร่หลายไปทั่วคาบสมุทรและหมู่เกาะต่างๆ (ที่เป็นอินโดนีเซียปัจจุบัน) จนถึงหลัง พ.ศ.๒๒๐๐ ก็ยังขยายต่อไปในภูมิภาคนี้

 

[จากหนังสือ ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่ม ๑ ดี.จี.อี. ฮอลล์ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ)
มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.๒๕๔๙ หน้า ๒๑๐]


มาจากอินเดีย
ผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลามในระยะแรกน่าจะได้รับอิทธิพลของนิกายซูฟีซึ่งแพร่เข้ามาในอินเดียก่อน
 
แม้ตำราคำสอนของอิสลามที่ผลิตในอุษาคเนย์ระยะแรกๆ ก็มองเห็นอิทธิพลของซูฟีได้ชัดเจน
 
รวมทั้งประเพณีบางอย่างของมุสลิมในภูมิภาคนี้ก็เป็นประเพณีที่แพร่หลายในหมู่ผู้ปฏิบัติของซูฟี
 
 มาจากจีน
ศาสนาอิสลามที่แพร่เข้าสู่ปัตตานี ไม่ได้แพร่มาจากมะละกาดังที่กล่าวไว้ใน Sejarah Melayu (ประวัติศาสตร์มลายู อันเป็นตำนานของมะละกา)
 
แต่แพร่ลงมาจากจีน (เช่นเดียวกับจามปา) ซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นเอกลักษณ์ที่ต่างจากมะละกา
 
อิสลาม ศาสนามวลชน
• ศาสนาอิสลามเป็น “ศาสนามวลชน” (เช่นเดียวกับพระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์) นั่นก็คือต้องอาศัยความศรัทธาของประชาชนผู้นับถือจึงสามารถดำรงอยู่ได้
• กระแสความเชื่อที่ค่อนข้างมั่นคงในบรรดาชาวพุทธและชาวมุสลิมที่เหมือนกันคือความเชื่อในศาสนาพื้นเมือง
 
แม้ว่าศาสนาใหม่ซึ่งเข้ามาสู่ดินแดนแถบนี้พร้อมกันช่วงประมาณหลัง พ.ศ.๑๗๐๐ จะเป็น “ศาสนามวลชน” ซึ่งกระทบต่อววิถีชีวิตของประชาชนมากกว่าเดิม ศาสนาพื้นเมืองก็มิได้ถูกละทิ้งไปโดยสิ้นเชิง แต่กลับแฝงตัวกลมกลืนอยู่ในศาสนาใหม่อย่างแยกออกจากกันไม่ได้
 
๓. ผู้สอนศาสนาอิสลามได้เผยแผ่ศาสนาใหม่ในหมู่ประชาชนทั่วไปก่อน และมีชุมชนมุสลิมเกิดขึ้นแล้วก่อนที่กษัตริย์ของรัฐมลายูจะยอมเปลี่ยนศาสนา
  


http://www.sujitwongthes.com/wp-content/uploads/2015/09/culture3818-09-58-4.jpg

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๓๘) อิสลาม " โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ น.๘๓ ฉบับที่ ๑๘๒๘ ประจำวันที่ ๑๘-๒๔ ก.ย.๕๘



วัฒนธรรมร่วมอาเซียน
ตอน ประเพณี ๑๒ เดือน

ประเพณี ๑๒ เดือน
ลอยกระทง มีครั้งแรก สมัย ร.๓
 
ลอยกระทงที่ทำสืบเนื่องถึงทุกวันนี้ เป็นประเพณีสร้างใหม่สมัย ร.๓ ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์
 
แล้วสร้างคำอธิบายใหม่โดยอ้างอิงย้อนหลังถึงยุคสุโขทัย ๓ เรื่อง ดังนี้
๑. นางนพมาศ ริเริ่มประดิษฐ์กระทงทำจากใบตอง (กล้วย) ก่อนหน้านั้นไม่มี
๒. พระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ทรงลอยกระทงครั้งแรก ก่อนหน้านั้นไม่มี
๓. ลอยกระทง เนื่องในศาสนาพุทธ เพื่ออุทิศบูชาพระพุทธบาทซึ่งประดิษฐานยัง นัมมทานที
 
แต่หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีไม่สนับสนุนคำอธิบายทั้ง ๓ เรื่องนั้น [รายละเอียดมีในหนังสือ ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทง สมัยสุโขทัย (สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ) สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๓๐] จะสรุปมาดังนี้
 
๑. นางนพมาศเป็นหนังสือมีนิยายแต่งใหม่สมัย ร.๓ เป็นคู่มือลูกสาวผู้ดีที่ถวายตัวเข้ารับราชการในวัง เป็นสนมนางบำเรอ
๒. ลอยกระทง สมัยกรุงเทพฯ สืบจากลอยโคมในน้ำไหลสมัยอยุธยา ซึ่งมีพัฒนาการจากพิธีกรรมขอขมาน้ำและดินยุคดึกดำบรรพ์
๓. ลอยกระทง มีรากเหง้าเนื่องในศาสนาผี
 
ขอขมาธรรมชาติในศาสนาผี
ลอยกระทงเป็นประเพณีประจำฤดูกาลสืบเนื่องจากพิธีกรรมในศาสนาผี เพื่อขอขมาเจ้าแม่ที่สิงอยู่ในน้ำและดิน (ก็คือขอขมาธรรมชาติ) ปีละครั้ง
 
เหตุที่ต้องขอขมาก็เพราะคนเราได้ล่วงเกินและดื่มกินข้าวปลาอาหารเลี้ยงชีวิตตลอดปีจากน้ำและดิน
 
เจ้าแม่ คือ ผีน้ำ ผีดิน ที่สิงอยู่ในน้ำและดิน บางทีเรียกว่าผีเชื้อ แต่คนบางกลุ่มออกเสียงเป็นผีเสื้อ (คำว่าเชื้อ ออกเสียงเป็น เสื้อ)
 
มีร่องรอยอยู่ในคำสอนของพวกไทดำ (ในเวียดนาม) ว่า “กินข้าวอย่าลืมเสื้อนา กินปลาอย่าลืมเสือน้ำ”
 
“กินข้าว อย่าลืมเสื้อนา” หมายความว่าเมื่อกินข้าวอย่าลืมผีเจ้าแม่ที่สิงอยู่ในท้องนา ซึ่งปลูกข้าวเติบโตออกรวงมีเมล็ดให้คนกิน
 
“กินปลา อย่าลืมเสื้อน้ำ” หมายความว่าเมื่อกินปลาก็อย่าลืมผีเจ้าแม่ที่สิงอยู่ในน้ำ

 

พิธีกรรมขอขมาธรรมชาติ เจ้าแม่ของน้ำและดิน เป็นแบบแผนศักดิ์สิทธิ์
มีในราชสำนักกัมพูชา ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.๑๗๕๐ หรือก่อนยุคสุโขทัย
ลายเส้นจำลองจากภาพสลักที่ปราสาทบายน (ฝีมือ ธัชชัย ยอดพิชัย)

กัมพูชามีนานแล้ว
พิธีกรรมขอขมาธรรมชาติในศาสนาผี มีในราชสำนักกัมพูชามาก่อนนานแล้ว ก่อนยุคสุโขทัย
 
หลักฐานอยู่ในภาพสลักปราสาทบายน ราว พ.ศ.๑๗๕๐ เป็นรูปเจ้านาย, ขุนนาง, และนางใน ฯลฯ ลงเรือทำพิธีกรรมขอขมา มีภาชนะอย่างหนึ่งคล้ายกระทงบรรจุเครื่องเซ่น
 
ฤดูกาล
ลอยกระทง เป็นประเพณีคาบเกี่ยวระหว่างเดือน ๑๒ (สิ้นฤดูกาลเก่า) กับเดือนอ้าย (ขึ้นฤดูกาลใหม่)
 
ดังนั้น ลอยกระทงจะว่าเป็นประเพณีสิ้นฤดูกาลเก่าก็ได้ หรือจะว่าขึ้นฤดูกาลใหม่ก็ได้ เพราะเปลี่ยนปีนักษัตร (ชวด, ฉลู, ขาล, เถาะ ฯลฯ) ในช่วงเวลานี้
 
จะเทียบว่าปีเก่า, ปีใหม่ ก็ได้ แต่ไม่ควรยึดถือจริงจังว่าปีเก่า, ปีใหม่ เพราะเป็นคำในวัฒนธรรมสังคมสมัยใหม่ตามแบบแผนตะวันตก ซึ่งไม่มีในสังคมตะวันออกยุคก่อนๆ
 
ฤดูกาลเก่ากับฤดูกาลใหม่ ไม่แบ่งเป็นเส้นตรงตายตัวเหมือนขีดด้วยไม้บรรทัด
 
แต่เป็นที่รับรู้จากความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของน้ำ ตั้งแต่เดือนสิบเอ็ด เดือนสิบสอง ต่อเนื่องถึงเดือนอ้าย เดือนยี่ (เดือนที่หนึ่ง เดือนที่สอง) ดังมีกลอนเพลงของชาวบ้านดั้งเดิมร้องเล่นทั่วไปว่า
เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง     เดือนสิบสองน้ำทรง
เดือนอ้ายเดือนยี่         น้ำก็รี่ไหลลง

 

ภาพสลักขอขมาธรรมชาติ บนผนังระเบียงด้านนอก
บริเวณมุมผนังด้านทิศใต้มุมตะวันออกของปราสาทบายน
(ถ่ายภาพโดย วรรณิภา สุเนต์ตา)


สมุดไทยดำเรื่องนางนพมาศ ฉบับเจ้าพระยารัตนบดินทร์ มอบให้หอพระสมุดวชิรญาณ
ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ รับสั่งว่าเป็นลายพระหัตถ์ ร.๓


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : มติชนสุดสัปดาห์ "วัฒนธรรมร่วมอาเซียน (๓๘) ลอยกระทง มีครั้งแรก สมัย ร.๓" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ  ประจำวันที่ ๙-๑๕ ก.ย.๕๘
3438  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / สูตร แกงเปรอะหน่อไม้ใบหญ้านาง : สูตรลับตามแบบโบราณ เมื่อ: 15 สิงหาคม 2558 13:54:26
.






 
แกงเปรอะหน่อไม้ใบหญ้านาง
บางคนเรียกว่า "แกงลาวหน่อไม้"

ส่วนผสม
- หน่อไม้สด 1 กิโลกรัม
- หญ้านางคั้นน้ำ  3 ถ้วย
- ข้าวโพดหวาน 2 ฝัก ฝานเอาแต่เมล็ด
- ชะอมเด็ดใบ ½ ถ้วย
- ใบแมงลัก
- ปลาทูหอม 2 ตัว (ปลาทูเค็มหอม)
- ตะไคร้ 2 ต้น
- หอมแดง 70 กรัม
- กระชาย 70 กรัม
- พริกขี้หนูสด 25-30 เม็ด
- พริกเม็ดใหญ่สด 8 - 10 เม็ด
- กะปิ 1 ช้อนชา


การทำเครื่องแกง
1. หั่นตะไคร้ กระชาย หอมแดง นำไปคั่วรวมกับ พริกขี้หนูสด และพริกเม็ดใหญ่สด จนสุกหอม
2. โขลกเครื่องแกงให้ละเอียด แกะเอาแต่เนื้อปลาทูหอมและกะปิ โขลกรวมกับเครื่องแกงให้เข้ากัน    

* ที่ไหนๆ ไม่มีใครเขานำเครื่องแกงไปคั่ว แล้วใส่เนื้อปลาทูเค็มหอม...ไม่เชื่อลองทำดูจะติดใจ

วิธีทำแกงเปรอะ
1. ปอกเปลือกหน่อไม้ ล้างให้สะอาด ขูดหรือสับหยาบ ใส่เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ
    หมักเกลือไว้ประมาณครึ่ีงชั่วโมง แล้วบีบเอาน้ำออกจากหน่อไม้จนสะเด็ดน้ำ
2. ต้มน้ำคั้นใบหญ้านาง พอเดือดใส่หน่อไม้เคี่ยวประมาณ 15 นาที
3. นำเครื่องแกงที่โขลกแล้ว ใส่ในหม้อหน่อไม้+น้ำหญ้านาง เคี่ยวไฟกลางต่อไปอีก 30 นาที
4. ใส่ข้าวโพดหวาน  พอข้าวโพดสุกใส่ใบชะอม และใบแมงลัก




ติดตามสูตรอาหารและเคล็ดลับการประกอบอาหารคาว-หวาน มากมายกว่า 200 สูตร
ได้ที่  "สุขใจในครัว" สุขใจดอทคอม
www.sookjai.com
3439  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: 'กามนิต' วรรณกรรมอิงอาศัยหลักพุทธศาสนาและพระสูตรต่างๆ เป็นโครงเรื่อง เมื่อ: 11 สิงหาคม 2558 15:17:20
.

ฉันอาจเห็นพระพักตร์พระพุทธเจ้าแล้ว แต่จำได้รางๆ คล้ายเห็นในน้ำไหล

๔๔ พินัยกรรมวิสิฏฐี

พระปัจฉิมพุทธพจน์ที่ฉันได้ยินกับหูจริง ๆ เมื่ออยู่ในมนุษยโลกเป็นดั่งที่เล่าแล้วนั้น

กำลังร่างกายที่ฉันจะทรงชีพอยู่ต่อไป เป็นอันหมดเสียแล้ว ความไข้เข้ามาสู่ตนหนักลงจนเพียบไม่รู้สึกสติ ฉันได้เห็นหน้าคนที่มารุมรอบตัวฉันเป็นเงา ๆ คล้ายในความฝัน ที่จำเค้าได้แน่นอน คือหน้าเมทินีซึ่งประจำอยู่เสมอ ครั้นแล้วก็มืดวูบไปหมด และในทันใดนั้น ดูเหมือนมีน้ำเย็นชุ่มมาชโลมให้พิษไข้ที่ร้อนแรงจางหายไป เหมือนดั่งเดินทางมายืนอยู่ริมขอบสระภายใต้แสงแดดที่แผดจัด แล้วรู้สึกว่าตนเองว่าเป็นดอกบัวภายในน้ำอันเย็นฉ่ำ ได้รับความชุ่มชื่นตลอดถึงก้าน และในคราวเดียวกัน น้ำหนักที่มีอยู่ข้างบนค่อยเบาลงทุกที เห็นดอกบัวสีแดงขนาดใหญ่ลอยอยู่เหนือตน ที่ริมขอบดอกบัวเห็นแววหน้าอันงามของเธอกำลังชะโงกลงมาดู ครั้นแล้วฉันก็ลอยขึ้นมาเหนือน้ำได้อย่างสบาย เมื่อตื่นขึ้นก็เห็นมาอยู่ใกล้เธอ ในสวรรค์สุขาวดี
กามนิต- "ขอความเจริญจงมีแก่หล่อนเถิด ที่ความรักของหล่อนชักนำให้ขึ้นมาอยู่บนนี้ได้ ถ้าหล่อนไม่ตามขึ้นมาด้วย ป่านนี้ฉันจะไปอยู่ในภพไหนอีกต่อไปก็ทราบไม่ได้ จริงอยู่ ในเวลานี้เรายังไม่รู้ว่าจะสามารถช่วยตัวเองให้พ้นภัยในคราวที่โลกานุโลกถึงกาลประลัยได้อย่างไร แต่กระนั้น ถ้อยคำที่หล่อนกล่าวมาแล้ว ทำให้ฉันเชื่อมั่นในใจ เพราะดูหล่อนมิได้มีความวิตกหวาดสะดุ้งต่อสิ่งที่จะถึงการประลัยไปอยู่แล้วแม้แต่น้อย เปรียบเหมือนแสงแดดอยู่ในกลางพายุจะสะเทือนด้วยก็หาไม่"

"ผู้เคยพบเหตุการณ์ที่ใหญ่กว่า ย่อมไม่มีความหวั่นสะเทือนแม้แต่น้อย เหตุการณ์ครั้งนี้คือสกลจักรวาลจะต้องถึงปางประลัยไป แม้ดูเป็นใหญ่เหลือประมาณ ถ้าเปรียบกับเหตุการณ์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเข้าปรินิพพาน ก็นับว่าเล็กน้อย เพราะบรรดาที่เราเห็นอยู่โดยรอบนี้เป็นแต่อาการที่เปลี่ยนไปตามธรรมดาเท่านั้น แล้วชีพทั้งหลายเหล่านี้ก็จะเข้าสู่แดนแห่งความเกิดอีก ท้าวมหาพรหมที่เห็นอยู่โน่นกำลังเป็นบ้าพยายามต้านทานต่อสิ่งที่ต้านทานไม่ได้ และบางทีจะมองดูเราด้วยความริษยา ที่เห็นเรายังส่องแสงอยู่เรื่อย ๆ ไม่มีลดลง ท้าวมหาพรหมนี้ ซึ่งเผอิญมาสิ้นบุณย์ เมื่อถึงการประลัยแล้ว คงจะไปเกิดใหม่ในภูมิต่ำลง และมีผู้ประณิธานจะได้จุติมาเป็นท้าวมหาพรหมต่อไป บุคคลจะไปสู่ภพใดก็ด้วยประณิธานอันแน่วแน่ ประกอบด้วยกรรมเป็นเครื่องชักนำไป โดยสรุปสิ่งทั้งหลายก็ย่อมเป็นไปตามสภาพของมัน ไม่ดีไม่ชั่ว เกิดมาจากธาตุเดียวกัน ฉันจึ่งว่าเป็นสิ่งเล็กน้อย และเพราะด้วยเหตุเดียวกันนี้ ฉันไม่เห็นเป็นของน่าตกใจกลัวอย่างไร ซ้ำจะเป็นที่น่ายินดีที่เผอิญได้มีชีวิตอยู่เห็นในระวางกาลประลัย เพราะถ้าหลงไปว่าพรหมโลกเป็นอนันตะไม่มีเขตสุดแล้ว ก็จะเลยไม่มีญาณความหยั่งรู้สิ่งไรที่เลิศกว่า"

"เช่นนั้น หล่อนก็รู้สึกสิ่งซึ่งเลิศกว่าพรหมโลกนี้อย่างนั้นหรือ?"

"พรหมโลกนี้ กำลังจะสิ้นไปเธอก็เห็นอยู่ แต่มีแห่งหนึ่งไม่มีความสิ้นไป ไม่มีเบื้องต้นและเขตสุด ซึ่งพระบรมศาสดาเคยตรัสว่ามีอายตนะ (แดน) อันหนึ่ง ไม่ใช่ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ใช่นามธรรมมีอารมณ์ยึด ไม่ใช่โลกนี้โลกหน้า ไม่ตั้งอยู่ในทิศไหน ตำบลไร ไม่ใช่เมืองแก้ววิเศษรุ่งเรืองไพศาล ไม่ใช่ ที่ไป ที่มา ที่เคลื่อนที่หยุด ไม่มีที่ยึดเกาะเกี่ยว ไม่มีเกิด ไม่มีตาย แต่เป็นที่สุดแห่งทุกข์ เรียกว่าพระนิพพาน เป็นของลึกซึ้ง นึกเห็นเอาด้วยยาก นึกรู้ตามด้วยยาก คาดคะเนเอาไม่ได้ เป็นของประณีตละเอียด เพราะรำงับสังขารทั้งปวง เพราะสลัดคืนกิเลสทั้งปวง เพราะสิ้นความแส่อยาก จึ่งเป็นที่สงบเงียบ เป็นที่ดับเย็นสนิท บัณฑิตก็พึงทราบได้เอง"

"ดูก่อนเจ้าผู้เป็นที่น่าชื่นใจ เป็นผู้มีความบริสุทธิ์ จงช่วยฉันด้วย เราทั้งสองจะได้ลอยเด่นขึ้นอีก เพื่อไปสู่แดนแห่งศานตินั้น"

"พระบรมศาสดาเคยตรัสว่า ที่ว่าเราจะลอยเด่นขึ้นอีกนั้น ไม่เป็นความจริงแห่งแดนนั้น ที่ว่าเราจะไม่ลอยเด่นขึ้นอีกนั้น ก็ไม่เป็นความจริงฉันเดียวกัน ท่านจะสมมุติบัญญัติสิ่งใดที่ท่านทำขึ้นหลากๆ ยุ่งเหยิงอย่างไรๆ และสามารถจะจับถือได้ ย่อมไม่เป็นความจริงแห่งแดนนั้น"

"อ้าว! แล้วมีประโยชน์อะไรแก่ฉัน ในสิ่งซึ่งฉันจับถือเอาไม่ได้?"
"ขอในสิ่งที่จับถือได้ จะมีค่าควรกับยื่นมือออกไปรับหรือ?"
"วาสิฏฐี ฉันเชื่อแน่ว่าในชาติใดชาติหนึ่งฉันคงได้ฆ่าพราหมณ์ หรือกระทำอกุศลอุกฉกรรจ์ที่คล้ายคลึงอนันตริยกรรม ผลนั้นจึ่งตามสนองอย่างรุนแรงไปถึงในถนนน้อย ในกรุงราชคฤห์ เพราะถ้าฉันไม่ประสบภัยตายไปในปัจจุบันทันด่วน ณ ที่ตรงนั้น ฉันก็คงได้ไปเฝ้าแทบบาทพระพุทธเจ้าแล้ว และคงจะได้เฝ้าอยู่อย่างเดียวกับหล่อน ในเวลาที่เสด็จเข้าปรินิพพาน แล้วจะได้มีใจสงบเหมือนกับหล่อนในบัดนี้ มาเถิดวาสิฏฐี ในขณะที่เรายังมีสติสัมปชัญญะอยู่นี้ ขอหล่อนเห็นแก่ความรักซึ่งมีแก่ฉัน จงอธิบายพุทธลักษณะให้ฉันเห็นขึ้นในใจให้ถี่ถ้วนถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อฉันจะได้ชมพระลักษณะซึ่งฉันไม่มีโอกาสได้เห็นเมื่อครั้งอยู่ในมนุษยโลก จะได้ช่วยให้ฉันได้รับศานติสุข"

"ยินดี ที่จะพรรณนาให้เธอฟัง" แล้วาสิฏฐีก็จาระไนพุทธลักษณะโดยละเอียดถี่ถ้วน

กามนิตตอบด้วยยังมีความไม่พอใจอยู่มากว่า "มีประโยชน์อะไรที่บอกมา? เพราะเท่าที่รำพันให้ฟังทั้งหมดไม่ผิดแม้แต่นิดเดียวกับรูปพระภิกษุชรา ที่ฉันร่วมแรมคืนอยู่ด้วยในห้องโถงชายปั้นหม้อ ณ กรุงราชคฤห์ ที่ฉันเล่าให้หล่อนฟังแล้ว และซึ่งฉันได้เข้าใจว่าเป็นผู้ไม่รู้อะไร แต่บัดนี้รู้สึกว่า ที่พระภิกษุชราองค์นั้นกล่าวไว้ เป็นความจริงทุกประการ แต่ช่างเถิด วาสิฏฐี ไม่ต้องชี้แจงอีกต่อไปดอก เป็นแต่ขอให้หล่อนนึกเพ่งเห็นนิมิตขึ้นมาในมนัสของตนเอง ซึ่งภาพพระพุทธเจ้า จนเด่นชัดเท่ากับได้อยู่เฉพาะพระพักตร์ และอาศัยที่เรามีฉันทฤทธิ์ร่วมกันในวิถีฌาน ฉันก็อาจมีส่วนเห็นด้วยพร้อมกันไปกับหล่อน"

วาสิฏฐี ยินดีตามที่ขอ แล้วก็สำรวมจิตแน่วแน่ ประมวลอารมณ์ให้เป็นหนึ่ง นึกหน่วงถึงพระรูปพระพุทธเจ้าตามที่ตนเคยเห็นในขณะที่จวนเสด็จเข้าพระปรินิพพาน
"เธอเห็นพระรูปหรือยัง?"
"ยัง วาสิฏฐี"

วาสิฏฐีคิดว่า "จำเราต้องให้รูปนิมิตที่เกิดในดวงจิตนี้ สมานกับชีวรูปอื่นรวมกันให้สนิทเสียก่อน" นางมองไปในอากาศธาตุซึ่งหาเขตไม่ได้โดยรอบ ในที่ซึ่งพรหมโลกกำลังอยู่ในอาการจะแตกทลายไป

อันว่านายช่างหล่อผู้สามารถยอดเยี่ยม จัดทำแม่พิมพ์มหาเทวรูปอันทรงสง่าสำเร็จแล้ว แต่มารู้สึกว่ามีโลหธาตุที่จะหล่อไม่เพียงพอแก่แม่พิมพ์นั้น เที่ยวมองหาโลหธาตุที่มีอยู่ในโรงของตน พบวัตถุที่กระจายเกลื่อนอยู่รอบตัว มีเทวรูปน้อยๆ และรูปอื่นต่างๆ ที่เป็นโลหธาตุ ซึ่งตนได้ทำมาแล้วทั้งหมด ก็เอามารวมเข้าในเบ้าหลอมด้วยความพอใจ เพื่อสามารถหล่อรูปทิพย์ให้ได้บริสุทธิ์เลิศเพียงรูปเดียว ดั่งนี้มีอุปมาฉันใด วาสิฏฐีมองหาในอากาศอันหาเขตมิได้อยู่รอบตัว แล้วเอาบรรดาสิ่งที่เหลือจากรัศมีอันกำลังอ่อนแสงและรูปพรรณสัณฐานต่างๆ ในพรหมโลก ซึ่งกำลังจะสลายไป เข้ามาไว้ในดวงจิตด้วยอำนาจมโนมยฤทธิ์ รวมลงเบ้า คือห้องมนัสของนางหลอมลงสู่แม่พิมพ์ ก็เกิดรูปสมบัติครบถ้วนมหาบุรุษลักษณะมีสิริมหิมา แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะที่จะเข้าพระปรินิพพาน ก็มีอุปไมยฉันเดียวกัน ปรากฏแจ่มจ้าดั่งเดือนเพ็ญเด่นอยู่กลางโพยม  และขณะที่ได้เห็นพระรูปนี้อยู่เฉพาะหน้าแล้ว วาสิฏฐีบังเกิดความรู้ สิ้นความกระหายอันหมักหมม และความทุกข์อาลัย แล้วเพ่งดิ่วแน่วแต่จะให้กามนิตเห็นพระรูปโฉมนั้นด้วย

ครั้นแล้วกามนิตก็พูดขึ้นว่า "ฉันเริ่มจะเห็นพระรูปขึ้นบ้างแล้ว จงรวมกำลังใจให้มั่น ให้พระรูปเปล่งรัศมีให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น"

วาสิฏฐีก็เบ่งอำนาจแห่งฤทธิวิธี นำเอารูปท้าวมหาพรหมที่เหลืออยู่สู่เบ้าหลอมเข้าแม่พิมพ์ คือ ห้องมนัสอีก เพิ่มประกอบพระสรีระรูปให้ชัดเจนที่สุด

ขณะนั้นกามนิตก็พูดขึ้นว่า "เดี๋ยวนี้ฉันเห็นชัดขึ้นแล้ว

ส่วนวาสิฏฐีรู้สึกประจักษ์แก่ฌาน เป็นพระพุทธเจ้าอย่างที่ทรงไสยาสน์จะเสด็จปรินิพพาน ทรงชำเลืองเห็น และทอดพระเนตรเพ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วตรัสกะนางว่า "มาแล้วหรือ? บทโอวาทที่ให้ไว้ระลึกแจ้งจบแล้วหรือ?"

กราบทูลสนองในวิถีจิตว่า-
"จบแล้ว พระเจ้าข้า"
"ดีแล้ว วาสิฏฐี หนทางอันไกลที่ต้องเดินทรมานกายมา ไม่ทำให้เหนื่อยบ้างหรือ? ยังต้องการให้ตถาคตช่วยเหลืออยู่อีกหรือไม่?"
"พอความต้องการแล้ว พระเจ้าข้า"
"ดีแล้ว ตัวท่านยังยึดถือตนอยู่หรือเปล่า?"
"ข้าพระองค์รู้แจ้งซึ่งตนแล้ว พระเจ้าข้า เหมือนผู้ลอกกาบกล้วยออก จะไม่พบแก่นต้นกล้วยนั้นฉันใด ข้าพระองค์ก็ได้เรียนรู้แจ้งซึ่งตนว่าเป็นสภาพแปรปรวนไม่คงที่ถาวรเพราะหาแก่นสารมิได้ แล้วข้าพระองค์ก็ย่อมละความอาลัยยึดถือดื้อดึงเสีย ด้วยความหยั่งทราบเท่าที่เป็นจริงว่า “นี้ไม่ใช่ของเรา นี้ไม่ใช่อาตมันของเรา มีแต่มายาเท่านั้น"

"ดีแล้ว บัดนี้ท่านยังยึดถืออยู่แต่พระธรรมอย่างเดียวหรือ?"
"ข้าแต่พระองค์ พระธรรมเป็นเครื่องนำให้ข้าพระองค์ไปสู่จุดที่หมาย เปรียบเหมือนผู้ที่ข้ามลำธารโดยอาศัยแพเป็นเครื่องข้าม ครั้นเมื่อถึงฝั่งที่หมายแล้วก็ไม่ข้องแวะแพนั้นต่อไป หรือไม่ลากเอาแพนั้นขึ้นไปด้วย เพราะฉะนั้นในบัดนี้ได้ปล่อยอะไรๆ ทั้งสิ้นจนพระธรรมนั้นแล้ว ไม่ได้เกาะเกี่ยวอะไรอีกต่อไป"

"ดีแล้ว เมื่อไม่เกาะเกี่ยวในสิ่งไร ปราศจากความพัวพันในสิ่งไรๆ มีสติรู้ตัวอยู่เสมอว่ามีแต่มโนธาตุ นั่นเป็นเพียงเป็นคู่สำหรับญาณ คือ ความรู้อันแจ่มใสและสำหรับสติโดยเฉพาะ ทั้งไม่อาศัยเกาะเกี่ยวอะไรๆ ในภพเลย ดั่งนี้ท่านก็จะขึ้นไปสู่ที่อันเป็นแดนแห่งศานติอย่างตถาคตได้"

ขณะนั้น กามนิตพูดขึ้นว่า "บัดนี้ ฉันอาจเห็นพระพักตร์พระพุทธเจ้าแล้ว แต่จำได้รางๆ คล้ายเห็นในน้ำไหล"

วาสิฏฐี ก็เบ่งอำนาจมโนมหิทธิไปในอากาศอันว่างเปล่าจนสุดสามารถอีก

กามนิตสังเกตเห็นวาสิฏฐี บัดใจก็อันตรธานวับไป แต่ก็อันตรธานเหมือนดั่งผู้กำลังจะตาย ได้ทำพินัยกรรมเป็นมฤดกไว้ให้ กล่าวคือ วาสิฏฐีได้มอบพระรูปโฉมซึ่งเหมือนดั่งองค์พระพุทธเจ้าให้ไว้แก่กามนิตอยู่ในท่ามกลางแห่งความว่างเปล่า ซึ่งบัดนี้กามนิตเห็นได้ชัดเจนและจำได้

"อ้อ! พระภิกษุชราที่อาตมาได้แรมคืนร่วมอยู่ด้วยในกรุงราชคฤห์ และดูหมิ่นว่าโง่เซอะ คือ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง อาตมานี้ช่างเขลาเสียจริง ๆ จะมีใครโง่เขลาเหมือนอย่างอาตมานี้บ้างไหมหนอ? สิ่งที่อาตมาปรารถนาคือความสุขอันสูงสุดเพื่อความหลุดพ้นนั้น ก็มีอยู่ในญาณแห่งอาตมาแล้วนับได้หลายอสงไขยกัลป์”

ครั้นแล้ว พระรูปพระพุทธเจ้าก็เข้ามาใกล้มโนวิถีกามนิตเด่นขึ้นทุกที ดูประหนึ่งว่าเป็นเมฆเลื่อนลอยเข้ามา แล้วหุ้มกายกามนิต เป็นดั่งหมอกที่มีรัศมีรุ่งเรืองใสกระจ่างฉะนั้น



๔๕ กลางคืนและรุ่งเช้าในสกลจักรวาล

อันว่าในห้องโถง ที่ประชุมเลี้ยงดูกัน เมื่อดับโคมไฟต่างๆ หมดแล้ว ก็เหลือแต่โคมเล็กอยู่ดวงเดียวริบหรี่อยู่มุมห้องหน้ารูปบูชา ดั่งนี้ฉันใด กามนิตก็เหลืออยู่ทีหลังเพื่อนริบหรี่แต่ผู้เดียวในท่ามกลางวิศวราตรี คือกาละอันเป็นราตรีไปหมด

อันรูปธรรมกามนิตมีตารกธาตุแห่งความเหมือนในองค์พระพุทธเจ้าห่อหุ้มอยู่แล้ว นามธรรมก็มีความตรึกในองค์พระพุทธเจ้าเข้าไปซึมซาบอยู่ นี้แหละเป็นเสมือนน้ำมันที่หล่อเลี้ยงไฟในโคมน้อยไว้มิให้ดับ

ถ้อยคำที่ตนได้เคยสนทนาอยู่กับพระบรมศาสดาในห้องโถงช่างหม้อกรุงราชคฤห์ ได้กลับมาปรากฏโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่ต้นจนอวสาน ประโยคต่อประโยคและคำต่อคำ เมื่อหวนระลึกถ้อยคำเหล่านี้ได้ตลอดแล้ว ก็เริ่มทวนต้นไปใหม่ ในข้อความที่ระลึกได้เป็นประโยคๆ ไปนั้น ประโยคหนึ่งๆ เป็นเสมือนทวารต้นทางที่จะเข้าวิถีใหม่แห่งธรรมรส ซึ่งเข้าไปตรองเห็นแล้ว ก็ล่วงเข้าอีกทวารหนึ่ง แล้วก็ผ่านอีกทวารหนึ่ง เป็นลำดับติดต่อกันไป พลางกามนิตตรวจค้นตามระยะวิถีแห่งความตรึกนึก จนไม่มีสิ่งไรเหลืออยู่ นอกจากความมืดตื้อซึ่งล้อมอยู่รอบตน

ขณะที่ดวงจิตเป็นไปอยู่อย่างนี้ ทั้งมีความเพ่งพินิจหน่วงองค์พระพุทธเจ้าเข้าไว้เป็นอารมณ์จนหมดสิ้น ไม่มีอารมณ์อะไรอื่นเหลืออยู่ ประกอบทั้งรูปธรรมก็นำเอาตารกธาตุที่อยู่รอบตน เข้าไปรวมเนื้ออยู่ด้วยทวีขึ้นจนสิ่งที่เหลืออยู่โปร่งบางไปหมด ครั้นแล้ว ความมือแห่งวิศวราตรีก็ปรากฏมีเป็นสีน้ำเงินอันงาม แล้วก็เข้มขึ้นทุกที
เป็นดั่งนี้ กามนิตจึ่งนึกว่า-
"ออกไปในที่นั้น เป็นความมืดอันกว้างขวางมหึมาหนาแน่นแห่งวิศวราตรี แต่ก็จะต้องมีคราวถึงกำหนด เป็นความรุ่งเช้า เกิดมีท้าวมหาพรหมขึ้นใหม่ ถ้าว่าความตรึกนึกและมโนธาตุของเราเพ่งเล็งไปทางที่จะจุติเป็นท้าวมหาพรหม ซึ่งมีหน้าที่รังสฤษฏ์สกลโลกขึ้น ก็คงจะไม่มีใครจะดีไปกว่าเรา เพราะในขณะจะสิ้นกัลป์กำลังถึงการประลัยอยู่นี้ สิ่งทั้งปวงก็ย่อยยับดับตามกันหมด คงเหลือแต่ท้าวมหาพรหมประจำหน้าที่มีความรู้สึกได้ดีพร้อม อยู่ในท่ามกลางวิศวโลกานุโลกแต่ผู้เดียว จริงอยู่ ถ้าเราปรารถนาก็ย่อมจะทำได้ในทันที กล่าวคือรังสฤษฏ์สิ่งทั้งปวงให้กลับมีชีวิตขึ้น แล้วจัดให้อยู่ตามตำแหน่งในโลกานุโลกที่ปรากฏใหม่ แต่ก็มีอยู่อย่างเดียวที่เรารังสฤษฏ์หาได้ไม่ คือไม่สามารถชุบวาสิฏฐีขึ้นมาได้อีก วาสิฏฐีได้สิ้นชาติสิ้นภพไปแล้ว ล่วงไปในลักษณะซึ่งไม่มีเชื้อเกิดเหลืออยู่เลย ถึงพระเป็นเจ้ามหานุภาพองค์ใดองค์หนึ่งหรือเทวดา มาร พรหม จะค้นหาก็ไม่พบร่องรอย เมื่อไม่มีวาสิฏฐีผู้งามเลิศและดีเลิศแล้ว จะมีผลดีอะไรในความเกิดมีชีวิตอยู่? มีประโยชน์อะไรด้วยชีวิตของท้าวมหาพรหม ที่ต้องล่วงไปเหมือนกัน? อะไรคือความเป็นชั่วคราว? และอะไรคือความคงที่?"
"ไม่ต้องคิดอย่างอื่น ความคงที่นั้นมี และทางไปสู่ความคงที่นั้นก็มี""พราหมณ์ชราผู้หนึ่งเป็นวนะปรัสถ์ ถือความมักน้อยสันโดษอยู่ในป่า ได้เคยสอนเราว่า ในบริเวณรอบหัวใจ มีเส้นโลหิตอันละเอียดห้อมล้อมอยู่นับด้วยร้อย สำหรับอาตมันจะได้ส่งความคิดความรู้สึกแล่นไปตลอดกาย แต่มีเส้นหนึ่งขึ้นไปสู่กระหม่อมศีรษะ นั้นแหละเป็นทางที่อาตมันออกจากร่าง โลกานุโลกก็อย่างเดียวกัน ย่อมมีวิธีนับด้วยร้อยด้วยพันด้วยแสน ผ่านไปในแดนทุกข์ สั้นบ้าง ยาวบ้าง และแผ่ซ่านไปจบภวานุภพ แต่ก็มีวิถีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น ที่ออกจากภพเหล่านี้ไปได้อย่างแท้เที่ยง นี้คือวิถีไปสู่แดนความคงที่ไม่มีเครื่องกีดขวางอีกแล้ว ในขณะนี้เรากำลังดำเนินเข้าสู่ทางนั้น และจะไปจนถึงที่สุด"

แล้วกามนิตก็ยึดเอาพระพุทธนิมิตไว้ในมโนธาตุแน่นแฟ้น มุ่งแต่วิถีที่จะไปสู่ความสิ้นแห่งทุกข์ ขณะนั้นวิศวราตรีที่ใสเห็นได้ตลอดก็มืดแน่หนักเข้าทุกที

ครั้นเมื่อมืดอับทึบถึงที่สุด ก็บังเกิดสยัมภูองค์ใหม่ฉายแสงแปลบขึ้นมา คือ ท้าวมหาพรหม ผู้จะส่องความสว่าง และถนอมสกลจักรวาลนับได้แสน ให้คงสืบปวัตยการไปตลอดอีกกัลป์หนึ่ง

และในขณะนั้น ท้าวมหาพรหมก็บันดาลสิ่งทั้งปวงให้มีชีวิตขึ้น

"ดูก่อนสรรพชีพ ซึ่งได้พักอยู่ตลอดคืนหนึ่งของพรหมโลก ในความว่างเปล่าจงตื่นเถิด แล้วเข้าประจำตำแหน่งตามอำนาจกำลังที่เราเฉลี่ยแก่ตน รับความบันเทิงไปชั่ววันหนึ่งของพรหมโลก"

ครั้นแล้วชีพและโลกานุโลก ก็ผุดขึ้นจากมหันธการความมืดแห่งความว่างเปล่า ดุจลูกลอยลมโผล่สลอนขึ้นมาในกลางหาว เป็นดาวต่อดาว ชีพต่อชีพ ส่งเสียงแซ่ซ้องยินดีกึกก้องตลบนภากาศว่า-

"ข้าแต่ท้าวปรเมษฐ์ พระองค์ตรัสเรียกพวกข้าพเจ้าทั้งหลาย ให้อุบัติในสกลจักรวาลที่สร้างใหม่ และเริ่มเป็นวันใหม่ เพื่อให้พวกข้าพเจ้าได้รับความชื่นบานในพรหมโลก จากส่วนความบันเทิงสุขที่พระองค์มีอยู่รุ่งเรืองฉายมาให้"

เมื่อกามนิตได้เห็นและได้ยินเสียงสำรวลร่าครึกครื้นรื่นเริงโดยตลอดไป ก็บังเกิดความสังเวชใจ

"ชีพและโลกานุโลก และดาวเทพ และแม้ถึงท้าวมหาพรหมเอง ต่างแซ่ซ้องยินดีปรีดาต้อนรับวันใหม่แห่งพรหมโลก เพราะอะไร? ก็เพราะไม่รู้แจ้งซึ่งความจริง"

อันความสมเพชโลก ทวยเทพและท้าวมหาพรหมนี้เองเป็นทางให้ประทานมานะความสำคัญตน และภวราคความติดใจเกิดที่ยังเหลือเป็นเศษอยู่ หมดสิ้นไป และบัดนี้ก็มารำพึงว่า-

"ระวางวันหนึ่งของพรหมนี้ ย่อมมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัส และประกาศพระธรรมคือสัจจะและทวยเทพที่เราเห็นอยู่รอบข้างเหล่านี้ก็อาจได้ยินสัจจะอันส่องทางวิสุทธิแห่งตนๆ เป็นอุปนิสัยแล้ว ถ้ามาระลึกได้ว่าในเวลารุ่งเช้าแห่งวันในพรหมโลกได้เห็นผู้หนึ่งออกไปพ้นชาติภพแล้ว นั่นจะเป็นอุทาหรณ์แห่งสัจธรรมที่ตนได้ยินมาสำแดงผลประจักษ์แก่ตน และเมื่อโจษกันว่า "ผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในท่ามกลางพวกเราหรือจะเรียกว่าส่วนหนึ่งแห่งเราก็ได้ ได้ล่วงหน้าไปในวิถีที่เป็นทางวิมุตติแล้ว" ก็จะเป็นเหตุนำเขาเหล่านั้นเข้าสู่วิถีถูกด้วย เพราะฉะนั้นเราจักช่วยนำทางเขาทั้งหมด จะไม่เอาตัวรอดแต่ผู้เดียว เพราะตามความจริงไม่มีใครช่วยตนเองได้ โดยตนเองมิได้ช่วยเหลือผู้อื่น"

ในเวลาไม่ช้า ดาวเทพบางองค์ก็เริ่มสังเกตเห็นว่ามีดาวเทพอยู่องค์หนึ่ง ท่ามกลางพวกตนหาได้ส่องแสงรุ่งเรืองสว่างขึ้นโดยลำดับไม่ กลับมีลักษณะตรงกันข้ามคือหรี่มัวลงไป

เหล่าดาวเทพจึ่งร้องเตือนว่า-

"ท่านผู้เป็นภราดา ท่านพึงหันไปเพ่งท้าวมหาพรหม เพื่อได้รับแสงให้เกิดความสว่างรุ่งเรืองยิ่งขึ้น เพราะท่านก็ผู้หนึ่งเป็นภราดาในหมู่เรา อันท้าวมหาพรหมได้เรียกให้มาร่วมเสวยความบันเทิงสุข ด้วยอาศัยรัศมีท้าวเธอฉายส่องมาให้"

แม้ทวยเทพร้องบอกมาเช่นนี้ กามนิตจะได้เอาใจใส่หรือได้ฟังก็หาไม่

ทวยเทพคงจ้องดู เห็นดาวกามนิตยังหรี่แสงลงเสมอ ก็เกิดความวิตก ร้องทุกข์ต่อท้าวมหาพรหมว่า-

"ข้าแต่ท้าวสุรเชษฐ์ ผู้เป็นแสงสว่างและเป็นผู้ถนอมเหล่าพวกข้าพเจ้า ได้โปรดเถิดพระเจ้าข้า ดาวดวงนี้ไม่มีความสามารถจะส่องรัศมี มีแต่จะลดน้อยถอยแสงลงไป ขอประทานแสงสว่างจากพระองค์ เพื่อให้ฟื้นขึ้นจะได้ร่วมความบันเทิงสุขภายในรัศมีอันรุ่งเรืองของพระองค์"

ครั้นแล้ว ท้าวจัตุรพักตร์มหาพรหมผู้เต็มเปี่ยมด้วยพรหมวิหาร ก็เพ่งพระเนตรในพระพักตร์ด้านที่แปรไปทางกามนิต ส่งมหานุภาพให้ฟื้นกำลังขึ้น

แต่แสงของกามนิตยังคงปรากฏว่าลดน้อยลงทุกที ท้าวมหาพรหมทรงสมเพช ในเหตุที่ว่าดาวดวงนี้ไม่ยอมรับรัศมีที่พระองค์ฉายไปประทาน แม้แต่ดวงอาทิตย์ตั้งแสน ซึ่งล้วนได้รับแสงไปจากพระองค์ก็ยังยินดีปรีดา ไม่เหมือนกับดาวดวงนี้ พระองค์จึ่งประมวลเอาแสงทิพย์ที่มีอยู่ในสกลจักรวาล อันเป็นแสงมีอำนาจพอที่เผาผลาญโลกานุโลกได้ตั้งพันให้เป็นเถ้าถ่านในพริบตา ส่องพุ่งตรงไปที่กามนิต

แต่แสงของกามนิตก็คงหรี่ลดลงอยู่เรื่อย ประหนึ่งว่าใกล้ความดับอยู่แล้ว

ท้าวมหาพรมทรงปริวิตก ว่า

"ดาวนี้ดวงเดียวที่พ้นอำนาจเราไปได้ เช่นนั้นเป็นอันว่าเรามิได้ทรงสรรพศักดิ์แท้จริงเสียแล้ว เราไม่แจ้งว่าดาวดวงนั้นจะไปทางไหนด้วย เช่นนั้นเป็นอันว่า เรามิได้เป็นสัพพัญญู เพราะดาวเทพดวงนั้นจะมิได้ดับไปเหมือนความดับคือความตาย ที่มีแก่ชีพอื่นทั้งหลาย ซึ่งแล้วไปเกิดใหม่ตามกรรมปรุงแต่งไว้ ดาวดวงนั้นไม่ยินดีรับแสงของเราเพราะเห็นความสว่างในวิถีไหนหนอ? เช่นนั้นคงมีความสว่างที่รุ่งเรืองกว่าเราอยู่ในวิถีตรงข้ามจากเรา เราควรจะถือเอาทางนั้นด้วย ดีหรือไม่หนอ?"

และในขณะเดียวกันนี้ ชีวาตมันแห่งเหล่าดาวเทพก็บังเกิดปริวิตกเช่นเดียวกันว่า-

“ดาวดวงนี้ถอยห่างจากอำนาจท้าวมหาพรหม เช่นนั้นเป็นอันว่า ท้าวมหาพรหมมิได้ทรงสรรพศักดิ์ แสงอะไรหนอที่ส่องนำทางดาวดวงนั้น จนปรากฏว่าดาวนั้นไม่ไยดีต่อรัศมีท้าวมหาพรหม? ถ้าเช่นนั้นต้องมีแสงอื่นอีกแห่งหนึ่งที่รุ่งเรืองดีกว่าแสงซึ่งเราได้รับความบันเทิงสุขอยู่ ณ บัดนี้ และอยู่ในวิถีทางที่ตรงข้ามจากเรา เราควรจะไปทางนั้นดีหรือไม่หนอ?

ฝ่ายท้าวมหาพรหม ทรงรำพึงว่า

"เราตกลงใจแล้ว ถ้ากระไร เราพึงรวมรัศมีแห่งเรา ซึ่งซ่านไปทั่ววิศวากาศ คืนมาสู่เรา แล้วให้จักรวาลเหล่านี้ทั้งหมดถึงแก่ประลัย เป็นกลางคืนๆ หนึ่งของพรหมโลกและเมื่อรวบรวมรัศมีมาอยู่ในเราแห่งเดียวหมดแล้ว จักได้แผ่รัศมีนั้นตรงไปที่ดาวเทพดวงนั้นโดยเฉพาะ เพื่อรั้งให้กลับคืนมาอยู่ใหม่ในพรหมโลกจงได้"

ครั้นแล้ว ท้าวมหาพรหมก็ทรงเรียกเอาบรรดารัศมีที่แผ่ไปทั่ววิศวากาศ โลกานุโลกก็ถึงระยะการประลัย เข้าสู่ความมืดแห่งพรหมราตรีกาลอีกคำรบหนึ่ง และท้าวมหาพรหมก็รวบรวมรัศมีให้มาอยู่ในที่แห่งเดียว ฉายพุ่งไปที่กามนิต อันเป็นแสงอำนาจพอที่จะให้สกลโลกนับด้วยแสนโกฏิลุกเป็นไฟ แล้วให้รัศมีนั้นกลับคืนมาสู่พระองค์ และแผ่ปล่อยไปในวิศวากาศขึ้นเป็นคำรบใหม่

ถึงตอนนี้ ท้าวมหาพรหมควรทอดพระเนตรดาวกามนิตสุกสว่างขึ้น กลับเห็นแสงริบหรี่หนักลงเรื่อยไปจนดับวูบไม่มีเหลือ

ระวางกลางวิศวากาศอันหาเขตกำหนดมิได้ สกลจักรวาลานุจักรวาล เกิดขึ้นแล้วชั่วแล่นหนึ่งก็ประลัยลาญ เกิดเป็นวันใหม่ของพรหมโลกเป็นวันหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าหนึ่งกัลป ส่วนกามนิตมักถือเอาซึ่งสัญจาริกเป็นบุณยวัตร ก็ดับรอบจริมจิตสิ้นเชื้อไปเอง เหมือนแสงไฟในโคมที่ดับเพราะหมดน้ำมันที่หล่อเลี้ยงไส้ไว้จนหยาดสุดท้าย ฉะนั้นแล


อิติ
ศฺรีกามนีตสูตฺรํ  สํปูรณมฺ
กามนิตสูตรบริบูรณ์โดยประสงค์แล


จบบริบูรณ์




ธรรมดาทั้งหลายจึ่งเป็นอนัตตา มันเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป

kimleng  วาดภาพประกอบเรื่อง
โดยใช้ปากกาลูกลื่นสีดำ + ดินสอดำ
3440  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / Re: บันทึกปรากฎการณ์จากสังคมโลก เมื่อ: 10 สิงหาคม 2558 16:26:22


เสี่ยงสูญพันธุ์
ทางการรัฐควีนส์แลนด์ ของออสเตรเลีย ได้ประกาศว่าหมีโคอาล่าทั่วทั้งภาคเหนือ
ของประเทศอาจจะสูญพันธุ์ลงได้ ด้วยสาเหตุตั้งแต่การขยายเขตเมือง ถูกรถชน
และโดนสุนัขเลี้ยงไล่กัดเอา


ชาวพื้นเมืองในชุดชนเผ่าของฟิลิปปินส์คนหนึ่ง ยืนอยู่กลางนาขั้นบันได ที่เมืองมาโยเยา
ทางภาคเหนือของประเทศ ภูมิประเทศบริเวณนั้น ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก
สืบเนื่องมาจากการรักษาประเพณี ของการทำนาขั้นบันได ซึ่งคิดทำขึ้นสืบต่อมาเนิ่นนาน
เป็นเวลาตั้งเกือบ 2,000 ปีแล้ว


ซากดึกดำบรรพ์
นักวิจัยฝรั่งเศสเปิด เผยซากดึกดำบรรพ์ของ “เท้าเล็ก” อัน เป็นซากดึกดำบรรพ์
ของเท้ามนุษย์และลิงคล้ายมนุษย์ร่วมกัน ขุดพบที่ถ้ำใกล้นครโจฮันเนสเบิร์ก
สมัยเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว.


กบพันธุ์ใหม่
คณะนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอินโดอเมริกา สำรวจพบกบพันธุ์ใหม่ ในเขตป่าสงวน
ของเมืองมินโด ประเทศเอกวาดอร์


แพนด้าแดง
หมีแพนด้าแดง ที่สวนสัตว์แห่งหนึ่ง ทางภาค ตะวันตกของฝรั่งเศส ปรากฏตัวออกมาเคี้ยว
กัดกินต้นไผ่ อันเป็นอาหารโปรด ของมัน.


อินเดียพเนจร
ชนเผ่าชาวอินเดียคงคาเลี้ยงแกะพเนจร จิบชาไปด้วย ขณะที่ทำอาหารเช้าสำหรับครอบครัว
ที่ค่ายเมืองศิกรี เขตฟาริดาบัด ทางใต้กรุงนิวเดลี ลงมา 50กม. เกือบจะทั้งปีที่พวกเขา
จะต้องคอยต้อนฝูงแกะ 2,500 ตัว ไปคอยหาแหล่งหญ้าแห่งใหม่ อาศัยขายลูกแกะตัวผู้
กับขนแกะเป็นอาชีพ ในขณะที่ผู้ชายเป็นคนต้อนแกะไปกินหญ้าและรีดนม ส่วนผู้หญิง
ก็จะปรุงอาหารสำหรับครอบครัว รวมทั้งปั่นเนย เดินทางจากที่ตั้งค่ายแห่งหนึ่ง ไปยัง
ที่ข้างหน้าทั้งปี จะแวะหยุดพักเมื่อพบแหล่งนํ้าเพื่ออาบนํ้าและซักเสื้อผ้า จะเดินทางกลับบ้าน
ที่ในแคว้นราชสถานปีละครั้งเท่านั้น ในช่วง 6 เดือน พวกเขาจะหารายได้ประมาณ 133,056 บาท.


กิ้งก่าพันธุ์ใหม่
นักวิทยาศาสตร์เอกวาดอร์เปิดเผยกิ้งก่าพันธุ์ใหม่ เป็นสัตว์เลี้อยคลานขนาดเล็ก
มีกระโดงสันหลังเป็นรอยหยักคล้ายกับมังกรในนิยาย หากแต่ไม่มีปีกหรือพ่นไฟได้เท่านั้น.


คางคกสายพันธุ์ใหม่
คางคกสายพันธุ์ใหม่ พบใกล้เมืองแฟรงก์เฟิร์ต และโอเดอร์ ของเยอรมนี


องค์การสงเคราะห์สัตว์ ที่เมืองออเรนจ์ เคาน์ตี้ รัฐแคลิฟอร์เนีย เปิดเผยรูปของห่านป่าตัวหนึ่ง
ซึ่งโดนยิงด้วยธนู ลูกธนูเสียบติดคออยู่ พนักงานต้องพยายามเข้าไปตีสนิทกับมันอยู่เป็นเวลาตั้งหลายวัน
กว่าที่มันจะเชื่อใจ ให้เข้าถึงตัว เอาตัวมารักษา ถอดลูกธนูออกให้ สัตวแพทย์กล่าวว่าเคราะห์ดีว่า
ลูกธนูไม่ถูกอวัยวะสำคัญ ทำให้มันหายเร็วกลับแข็งแรงดีอย่างเก่า.


ชาวเผ่าอินเดียน ยาโนมามิ แสดงระบำพื้นเมืองที่หมู่บ้านของตน ในแถบลุ่มน้ำอเมซอน
อันห่างไกล ของเวเนซุเอลา.


ฉลามเล็ก
ศูนย์วิทยาศาสตร์การประมงอาคเนย์ แห่งองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา
เปิดเผยภาพปลาฉลามเล็ก ยาวแค่ 5.5 นิ้ว ตกได้ในอ่าวเม็กซิโก ตั้งแต่ พ.ศ.2553 ร่วมกับปลาต่างๆ
แต่ไม่มีใครรู้จัก จึงเก็บแช่ไว้ในตู้เย็นมานานตั้ง 3 ปี ถึงมีผู้พบว่ามันคือปลาฉลามเล็ก มีซอกเล็กเหมือนกระเป๋า
อยู่ติดกับครีบหน้า 2 ข้าง นับเป็นตัวที่ 2 ที่เพิ่งเคยเห็นกัน ส่วนตัวแรกพบในน่านน้ำนอกฝั่งเปรู เมื่อ 36 ปีมาแล้ว


ไข่ไดโนเสาร์
ขุดพบตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ของไข่ไดโนเสาร์ ในสถานที่ก่อสร้างแห่งหนึ่ง ที่มณฑกวางตง ก่อนหน้านี้ก็เคย
มีการขุดพบไข่ไดโนเสาร์มาก่อนหลายฟองแล้ว นับเป็นแหล่งค้นพบไข่ไดโนเสาร์มาอยู่ร่วมกันมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง.


ปลาคอดขั้วโลก
องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศอเมริกัน เปิดเผยภาพปลาคอดตัวเมีย
ที่กำลังมีไข่อยู่เต็มท้อง จับพบที่ขั้วโลก เจ้าหน้าที่เตรียมที่จะรีดไข่ เพื่อเอามาเพาะเลี้ยง
ในห้องทดลอง หาความรู้ในปลาสีเงินพวกนี้ที่บอบบางและหายาก.


ปลาใต้ทะเลลึก
นักชีววิทยาของศูนย์ประมงอาคเนย์ ของสหรัฐฯ อุ้มปลา “โอปาห์” ซึ่งเป็นปลาทะเลลึก เพิ่งจะทราบว่า
มันเป็นปลาเลือดอุ่นชนิดแรกที่มีเครื่องทำให้มีเลือดอุ่น ไหลเวียนสร้างความอบอุ่นไปทั่วตัว
ทำให้มันกลายเป็นปลานักล่าจอมพลังแห่งโลกมหาสมุทรลึกๆ ที่หนาวจับขั้วหัวใจ.


แมลงต่างด้าว
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแมลง ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติโคลัมเบีย แสดงตัวอย่างผีเสื้อที่ชาวไร่ชาวนา
เรียกกันว่า “ผีเสื้อต่างด้าว” แมลงเหล่านี้กินแต่ใบโคคาเป็นอาหาร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำ
ให้ใช้มันในการกำจัดการปลูกต้นโคคา ซึ่งถูกใช้ในการผลิตโคเคน.


ที่มา (ข้อมูล-ภาพ) : ไทยรัฐออนไลน์
35/35  n.2 mr.21
หน้า:  1 ... 170 171 [172] 173 174 ... 275
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.295 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 17 เมษายน 2567 16:14:44