[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 พฤษภาคม 2567 21:48:50 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  [1] 2 3 ... 275
1  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๙๐ กุททานชาดก : กุททาลมหาบัณฑิต เมื่อ: 4 ชั่วโมงที่แล้ว



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๙๐ กุททานชาดก
กุททาลมหาบัณฑิต

          พระจิตหัตถสารีบุตร เป็นเด็กที่เกิดในตระกูลผู้หนึ่งในนครสาวัตถี อยู่มาวันหนึ่งไถนาแล้ว ขากลับเข้าไปสู่วัด ได้โภชนะอาหารประณีตอร่อยมีรสสนิทจากบาตรพระเถระองค์หนึ่ง คิดว่า ถึงแม้เราจะกระทำงานต่างๆ ด้วยมือของตนตลอดคืนตลอดวันก็ยังไม่ได้อาหารอร่อยอย่างนี้ แม้เราก็สมควรจะเป็นสมณะ ดังนี้
          เขาบวชแล้วอยู่มาได้ประมาณครึ่งเดือน เมื่อไม่ใส่ใจโดยแยบคาย ตกไปในอำนาจกิเลส สึกไป พอลำบากไม่มีอาหารจะกิน ก็มาบวชอีก เรียนพระอภิธรรมด้วยอุบายนี้ สึกแล้วบวชถึง ๖ ครั้ง  ในความเป็นภิกษุครั้งทึ่ ๗ เป็นผู้ทรงพระอภิธรรม ๗ พระคัมภีร์ ได้บอกธรรมแก่ภิกษุเป็นอันมาก บำเพ็ญวิปัสสนา ได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว ครั้งนั้นภิกษุผู้เป็นสหายของท่านพากันเยาะเย้ยว่า อาวุโส จิตหัตถ์ เดี๋ยวนี้กิเลสทั้งหลายของเธอ ไม่เจริญเหมือนเมื่อก่อนดอกหรือ?
          ท่านตอบว่า “ผู้มีอายุ ตั้งแต่บัดนี้ไป ผมไม่เหมาะเพื่อความเป็นคฤหัสถ์”
          ก็เมื่อท่านบรรลุพระอรหัตถ์อย่างนี้แล้ว เกิดโจทย์กันขึ้นในธรรมสภาว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่ออุปนิสัยแห่งพระอรหันต์เห็นปานนี้มีอยู่ ท่านพระจิตหัตถสารีบุตรต้องสึกถึง ๖ ครั้ง  โอ! ความเป็นปุถุชนมีโทษมากดังนี้  พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า
          “ขึ้นชื่อว่าจิตของปุถุชนข่มได้ยากคอยไปติดด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ ลงติดเสียครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่อาจปลดเปลื้องได้โดยเร็ว การฝึกฝนจิตเห็นปานนี้เป็นความดี จิตที่ฝึกฝนดีแล้วเท่านั้น จะนำประโยชน์เกื้อกูลและความสุขมาให้” แล้วตรัสว่า “การฝึกฝนจิต ที่ข่มได้ยาก มีปกติตกไปตามอารมณ์ที่ปรารถนาเป็นการดี เพราะจิตที่ฝึกฝนแล้วย่อมนำสุขมาให้ ”
          มุ่งบรรพชา เสด็จออกทรงผนวชพร้อมด้วยพลนิกาย พวกเราจักทำอะไรกันในเมืองนี้ ดังนี้แล้ว บรรดาผู้อยู่ในพระนครทั้งนั้นต่างพากันเดินทางออกจากกรุงพาราณสี อันมีระยะทางประมาณได้ ๑๒ โยชน์ บริษัทก็ได้มีระยะทาง ๑๒ โยชน์ พระโพธิสัตว์พาบริษัทนั้นเข้าป่าหิมพานต์
          ในขณะนั้นอาสนะที่ประทับนั่งของท้าวสักกเทวราชสำแดงอาการร้อน ท้าวเธอทรงตรวจดูทอดพระเนตรเห็นว่า กุททาลบัณฑิตออกสู่มหาภิเนกษกรม แล้วทรงพระดำริว่า จักเป็นมหาสมาคม ควรที่ท่านจะได้สถานที่อยู่ แล้วตรัสเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรมา ตรัสสั่งว่า พ่อวิสสุกรรม กุททาลบัณฑิตกำลังออกสู่มหาภิเนกษกรม ท่านควรจะได้ที่อยู่ ท่านจงไปป่าหิมพานต์ เนรมิตอาศรมบถยาว ๓๐ โยชน์ กว้าง ๑๕ โยชน์ ณ ภูมิภาคอันราบรื่น
          วิสสุกรมเทพบุตร รับเทวบัญชรว่า “ข้าแต่เทพเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจะกระทำให้สำเร็จดังเทวบัญชา” แล้วไปทำตามนั้น 
          ฝ่ายวิสสุกรรมเทพบุตร เนรมิตบรรณศาลาในอาศรมบถแล้วก็ขับไล่ เนื้อ นก และอมนุษย์ที่มีเสียงชั่วร้ายไปเสี่ย แล้วเนรมิตหนทางเดินแคบๆ ตามทิสาภาคนั้นๆ เสร็จแล้ว เสด็จกลับไปยังวิมานอันเป็นสถานที่อยู่ของตนทันที
          ฝ่ายกุททาลบัณฑิตพาบริษัทเข้าสู่ป่าหิมพานต์ ลุถึงอาศรมบถที่ท้าวสักกะทรงประทาน ถือเอาเครื่องบริขารแห่งบรรพชิตที่วิสสุกรรมเทพบุตรเนรมิตไว้ให้ บวชตนเองก่อนให้บริษัทบวชทีหลัง จัดแจงแบ่งอาศรมบถให้อยู่กันตามสมควร มีพระราชาอีก ๗ พระองค์ สละราชสมบัติ ๗ พระนคร (ติดตามมาทรงผนวชด้วย) อาศรมบถ ๓๐ โยชน์ เต็มบริบูรณ์  กุททาลบัณฑิตทำบริกรรมในกสิณที่เหลือ เจริญพรหมวิหารธรรม บอกกรรมฐานแก่บริษัท บริษัททั้งปวงล้วนได้สมาบัติ เจริญพรหมวิหารแล้วพากันไปสู่พรหมโลกทั่วกัน ส่วนประชาชนที่บำรุงพระดาบสเหล่านั้น ก็ล้วนได้ไปสู่เทวโลก
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“เป็นคนควรฝึกหัดพัฒนาตนจนเอาดีให้ได้”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย
ชนะตนนั่นแหละประเสริฐที่สุด (๒๕/๒๔)

อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา
บัณฑิตย่อมฝึกตน (๓๕/๒๒)

อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ
มีตนที่ฝึกดีแล้วนั่นแหละ คือได้ที่พึ่งที่หาได้ยาก (๒๕/๓๑)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดยธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
2  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๙ วีณาถูณชาดก : ธิดาเศรษฐีกับชายค่อม เมื่อ: 4 ชั่วโมงที่แล้ว



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๙ วีณาถูณชาดก
ธิดาเศรษฐีกับชายค่อม

          ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลเศรษฐีในตำบลหนึ่ง เมื่อเจริญวัยแล้วก็มีครอบครัว ครั้นลูกชายเจริญวัยแล้วจึงได้สู่ขอธิดาของเศรษฐีกรุงพาราณสีมาให้เป็นภริยา กำหนดวันกันเรียบร้อยแล้ว ธิดาเศรษฐีเห็นเครื่องแต่งตัว เครื่องบูชาโค ที่เรือนของตน จึงถามพี่เลี้ยงว่า “สัตว์นี้ชื่ออะไร” พี่เลี้ยงตอบว่า “ชื่อโคอุสภราช”
          “สัตว์ตัวผู้หลังโหนกนูนเช่นนี้ประเสริฐอย่างไร จึงได้ทำบูชาถึงปานนี้”
          “นี่เป็นโคพันธุ์ดี มีความองอาจประดุจนักรบผู้สามารถเจ้าข้า จึงได้ยกย่องเป็นมงคลแก่ชีวิต”
          ธิดารับฟังพี่เลี้ยงแล้วก็จดจำไว้
          ธิดาเศรษฐีเห็นชายค่อมเดินอยู่ระหว่างถนน คิดว่าชายคนนี้คงเป็นชายที่มีบุญ จึงถือห่อของมีค่าหนีไปกับชายค่อมนั้น ฝ่ายเศรษฐีคิดว่าจะไปตามลูกสาวกลับ จึงนำบริวารออกตามหาไปยังกรุงพาราณสี
          ฝ่ายชายค่อมกับธิดาเศรษฐี ทั้งคู่นั้นเดินทางกันตลอดคืน ชายค่อมซึ่งถูกความหนาวเบียดเบียนตลอดคืนได้เกิดโรคลมกำเริบขึ้นในร่างกาย  ในเวลาอรุณขึ้น เกิดทุกขเวทนาสาหัส เขาจึงแวะลงจากทาง ทนทุกขเวทนา นอนขดตัวเหมือนตัวกุ้ง ฝ่ายธิดาเศรษฐีก็นั่งอยู่ที่ใกล้เท้าของเขา เศรษฐีเห็นธิดาเศรษฐีนั่งอยู่ที่ใกล้เท้าชายค่อม เขาจำได้จึงเข้าไปหา เมื่อจะสนทนากับธิดา เศรษฐีกล่าวว่า “เรื่องนี้เจ้าคิดคนเดียว บุรุษเตี้ยค่อมผู้โง่เขลานี้จะนำทางไปไม่ได้แน่ เจ้าไม่สมควรจะไปกับบุรุษเตี้ยค่อมผู้นี้เลย”
          ธิดาเศรษฐีฟังคำของเศรษฐีแล้วกล่าวว่า “ดิฉันเข้าใจว่าบุรุษค่อมเป็นผู้องอาจ จึงได้รักใคร่ บุรุษค่อมผู้นี้นอนตัวงออยู่ ดุจคันพิณที่มีสายขาดแล้ว ฉะนั้น”  เศรษฐีเกิดความสงสารในธิดา ทราบว่านางปลอมตัวหนีมา จึงให้อาบน้ำแต่งตัวขึ้นรถกลับไปยังเรือนของตน
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ใฝ่ดีจะมีแต่ความสุขความเจริญ ใฝ่ชั่วจะได้รับความลำบาก”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
อภิตฺถเรถ กลฺยาเณ ปาปา จิตฺตํ นิวารเย
ควรใฝ่หาความดี ยับยั้งใจไม่ให้ยินดีความชั่ว (๒๕/๒๖)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดยธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
3  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๘ ตินทุกชาดก : พญาวานรเจ้าปัญญา เมื่อ: 4 ชั่วโมงที่แล้ว



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๘ ตินทุกชาดก
พญาวานรเจ้าปัญญา

          ในอีดตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดเป็นวานร มีบริวารแปดหมื่นอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์
          ป่าหิมพานต์นั้นมีบ้านชายแดนแห่งหนึ่ง บางครั้งก็มีคนอยู่ บางครั้งก็ไม่มีคนอยู่ ในท่ามกลางหมู่บ้านนั้นมีต้นมะพลับต้นหนึ่ง กิ่งก้านและค่าคบบริบูรณ์ มีผลอร่อย  ฝูงลิงพากันมากินมะพลับนั้นในเวลาที่ไม่มีคนอยู่ ต่อมาถึงฤดูออกผลอีก บ้านนั้นได้กลับมาเป็นที่อยู่ของมนุษย์เรียงรายไปด้วยต้นอ้อ ประกอบไปด้วยประตู แม้ต้นไม้นั้นก็ออกผลกิ่งลู่น้อมลง ฝูงลิงคิดว่า เมื่อก่อนเรากินผลมะพลับที่บ้านโน้น บัดนี้มะพลับต้นนั้นมีผลหรือยังหนอ แล้วจะมีคนอยู่บ้านไหมหนอ
          ครั้นคิดดังนั้นแล้ว จึงส่งลิงไปตัวหนึ่ง โดยกล่าวว่าเจ้าจงไปสืบดูที ลิงนั้นไปสืบดูก็รู้ว่าไม้นั้นออกผล และบ้านมีผู้คนจับจองอยู่ จึงกลับมาบอกแก่พวกลิง พวกลิงได้ฟังว่าต้นไม้นั้นออกผล เกิดความพยายามว่าจักกินผลมะพลับอันโอชา จึงบอกความนั้นแก่พญาวานร
          พญาวานรถามว่า “บ้านมีคนอยู่หรือไม่”
          มันบอกว่า “มีจ้ะนาย”
          พญาวานรบอกว่า “ถ้าเช่นนั้นไม่ควรไป เพราะพวกมนุษย์มีเล่ห์กะเท่มาก”
          พวกลิงกล่าวว่า “เราจักกินตอนเที่ยงคืนในเวลาที่มนุษย์นอนหลับสนิท”
          ครั้นพญาวานรรับรู้แล้ว จึงลงจากป่าหิมพานต์ คอยเวลาที่พวกมนุษย์หลับสนิท นอนอยู่บนหลังแผ่นหินใหญ่ไม่ไกลหมู่บ้านนั้น ผู้คนหลับกันหมดแล้ว จึงพากันขึ้นไปกินผลไม้
          ชายคนหนึ่งออกจากเรือนจะไปถ่ายอุจจาระ เดินถึงกลางบ้านเห็นฝูงลิง จึงตะโกนบอกพวกเพื่อนบ้าน พวกเพื่อนบ้านจำนวนมากมายสอดธนูและลูกศร ถืออาวุธต่างๆ ทั้งก้อนดินและท่อนไม้ เป็นต้น พากันยืนล้อมต้นไม้ตอนรุ่งสว่างด้วยความหวังว่าจักจับฝูงลิงให้ได้
          ฝูงลิงแปดหมื่นตัวเห็นพวกมนุษย์ก็ตกใจกลัวตาย พากันไปหาพญาวานร รายงานเหตุการณ์ให้ทราบว่า พวกมนุษย์มีอาวุธครบมือมาล้อมพวกเราไว้หมดแล้ว
          พญาวานรได้ฟังคำของพวกลิงเหล่านั้นแล้วปลอบพวกลิงว่า “เจ้าอย่ากลัวเลย ขึ้นชื่อว่ามนุษย์มีการงานมาก แม้ตอนนี้ก็พึ่งมัชฌิมยาม บางทีเมื่อพวกมนุษย์ล้อมเราไว้พยายามจะฆ่า แต่ระหว่างนั้นพวกเขาก็อาจมีธุระยุ่งๆ ที่ต้องไปทำอยู่เหมือนกัน  ฉะนั้น จึงยังพอมีทางที่พวกเจ้าจะเด็ดผลมะพลับกินกันได้”
          พญาวานรปลอบฝูงลิงไว้อย่างนั้น เพราะว่าถ้าพวกมันไม่ได้การปลอบใจเช่นนี้ ทั้งหมดจะหัวใจแตกถึงแก่ความตาย จากนั้นพญาวานรปลอบฝูงวานรอย่างนี้แล้วกล่าวว่า “พวกเจ้านับลิงทั้งหมดดูที”
          เมื่อพวกมันนับก็ไม่เห็นวานรชื่อเสนกะ ซึ่งเป็นหลานพญาวาน จึงแจ้งว่าเสนกะไม่มา
          พญาวานรกล่าวว่า “หากเสนกะไม่มา พวกเจ้าไม่ต้องกลัว เสนกะนั้นจักทำความปลอดภัยให้แก่พวกเจ้าในบัดนี้”
          เสนกะหลับในเวลาที่ฝูงลิงมาก ภายหลังตื่นขึ้นไม่เห็นใครๆ จึงเดินตามรอยเท้ามา ครั้นเห็นพวกมนุษย์ จึงรู้ว่าภัยเกิดขึ้นแก่ฝูงลิงเสียแล้ว จึงไปหาหญิงแก่ซึ่งดามไฟกรอด้ายอยู่ท้ายเรือนแห่งหนึ่ง แล้วทำเป็นเด็กชาวบ้านเดินไปหา คว้าคบไฟดุ้นหนึ่งวิ่งไปจุดบ้านซึ่งตั้งอยู่เหนือลม พวกมนุษย์พากันผละพวกลิงไปดับไฟ ลิงทั้งหลายก็พากันหนีเก็บผลไม้ได้ตัวละผล เพื่อนำไปให้เสนกะ แล้วพากันหนีไป
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“อุบายช่วยให้รอดได้ในยามวิกฤต”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
โย จ อุปฺปติตํ อตฺถํ   ขิปปเมว นิโพธติ
มุจฺจเต สตฺตุสมฺพาธา  กุกฺกุโฏว วิฬาริยา ฯ

ผู้ที่รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ฉับพลัน  ย่อมพ้นจากการเบียดเบียนของศัตรูได้
เหมือนไก่พ้นจากเงื้อมมือของแมว (๒๗/๙๐๔)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดยธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
4  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๗ มหาปทุมชาดก : มหาปทุมกุมาร เมื่อ: 4 ชั่วโมงที่แล้ว



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๗ มหาปทุมชาดก
มหาปทุมกุมาร

          ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในครรภ์พระอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัต พระนามว่า ปทุมกุมาร ครั้นเจริญวัยแล้วไปเรียนศิลปวิทยาทั้งปวงสำเร็จแล้วกลับมา
          ในเวลาต่อมาพระชนนีของพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ พระราชาก็ได้แต่งตั้งหญิงอื่นเป็นอัครมเหสี แล้วพระราชทานตำแหน่งอุปราชแก่พระโอรส ขณะนั้นพระราชาเสด็จไปปราบปัจจันตประเทศ ทรงรับสั่งกะพระอัครมเหสีว่า “น้องรัก! เธอจงอยู่รอพี่อยู่ที่นี่จนกว่าพี่จะกลับมา”
          “หม่อมฉันจะไม่อยู่ที่นี่ จะขอโดยเสด็จด้วย”
          “เธอจงอย่ากระวนกระวาย อยู่ที่นี่จนกว่าพี่จะมา พี่จะสั่งให้ปทุมกุมารมิให้ลืมกิจการที่ควรกระทำแก่เธอ” แล้วก็ทรงกระทำตามที่ตรัส
          พระราชาเสด็จไปขับไล่ปัจจามิตร ทำชนบทให้สงบราบคาบ แล้วเสด็จกลับมาตั้งค่ายพักอยู่นอกพระนคร ปทุมกุมารทราบว่าพระชนกเสด็จมา จึงเตรียมพิธีต้อนรับ แล้วไปที่ตำหนักพระอัครมเหสีแต่เพียงผู้เดียว พระอัครมเหสีเมื่อเห็นปทุมกุมารก็เกิดหลงรัก
          เมื่อปทุมกุมารถวายบังคมแล้วก็ทูลถามพระนางว่า “พระแม่เจ้าประสงค์สิ่งใด หม่อมฉันจะทำถวายให้”
          ทันใดนั้นพระนางลุกขึ้นจูงมือปทุมกุมารตรัสว่า “เธอจงขึ้นบนพระแท่นที่บรรทมเถิด เราทั้งสองจักรื่นรมย์ด้วยความยินดีในกิเลสชั่วเวลาที่พระราชายังไม่เสด็จมา”
           “ข้าแต่พระแม่เจ้า เสด็จแม่เป็นแม่ของหม่อมฉัน ยังมีพระสวามีอยู่ด้วย ขึ้นชื่อว่าหญิงที่มีผู้หวงแหน หม่อมฉันไม่เคยทำลายอินทรีย์แลดูด้วยอำนาจกิเลสเลย หม่อมฉันจะทำกรรมที่เศร้าหมองถึงเพียงนี้กับพระนางอย่างไรได้”
          นางตรัสถึง ๓ ครั้ง ปทุมกุมารไม่ปรารถนา แล้วทูลถามอีกครั้งว่า “เจ้าจะไม่ทำตามที่เราขอหรือ”
          “หม่อมฉันทำไม่ได้”
          “ถ้าเช่นนั้นเราจะกราบทูลเรื่องนี้แด่พระราชา แล้วให้ตัดศีรษะของท่านเสีย”
          “จงทำตามชอบของพระแม่เจ้าเถิด” แล้วเดินหลีกออกไป ไม่สนใจถ้อยคำของพระนาง
          พระนางรู้สึกวิตกกังวลใจว่าปทุมกุมารจะนำความไปทูลพระราชา ถ้าเป็นเช่นนั้นนางคงไม่รอดแน่ พระนางจึงคิดว่าจะไม่เสวยกระยาหาร นุ่งห่มผ้าเศร้าหมอง แสดงรอยเล็บที่สรีระ แล้วเรียกหญิงสาวใช้มาให้สัญญาว่า ถ้าพระราชาตรัสถามว่าพระเทวีเสด็จไปไหน ท่านทั้งหลายจงทูลว่าเป็นไข้
          เมื่อพระราชาเสด็จกลับมาจึงตรัสถามว่า “พระเทวีไปไหน” ทรงสดับว่าเป็นไข้
          จึงเสด็จเข้าห้องบรรทมถามพระนางว่าไม่สบายหรืออยู่ ๒ ครั้ง ๒ ครา พระนางก็ไม่ตอบ พระราชาตรัสถามซ้ำอีก พระนางจึงทูลความเท็จว่า “บรรดาหญิงที่มีสามีแล้วไม่มีใครเป็นเหมือนหม่อมฉัน พระองค์ทรงแต่งตั้งใครรักษาพระนครแล้วเสด็จไป”
          “ตั้งเจ้าปทุมกุมารโอรสของเรา” พระราชาตอบ
          พระนางทูลความเท็จต่อไปอีกว่า “ปทุมกุมารมายังที่ห้องของหม่อมฉัน แม้หม่อมฉันจะกล่าวว่า แน่ะ พ่อเจ้าอย่าทำอย่างนี้ ฉันเป็นแม่ของเจ้า แต่ปทุมกุมารกล่าวว่า นอกจากเรา คนอื่นชื่อว่าเป็นพระราชาไม่มี เราจะรื่นรมย์ด้วยกันความยินดีแห่งกิเลส แล้วจับมวยผมหม่อมฉันทิ้งไปมา ถ้าไม่ทำตามคำขอก็ทุบตี”
          พระราชาไม่ทรงพิจารณาก่อน สั่งให้ทหารไปจับปทุมกุมารมามัดไว้ ด้วยทรงพระพิโรธ
          เมื่อปทุมกุมารถูกมัดมือไพล่หลัง เอาโซ่คล้องคอ กระทำราวนักโทษประหาร ทุบตีพลาง ลากจูงไปพลาง เขาก็คิดได้ว่านี่เป็นการกระทำของเทวี จึงเดินบ่นว่า “เราไม่ได้ประทุษร้ายพระราชา เราไม่ผิด”
          ชาวเมืองพากันร่ำไห้คร่ำครวญเมื่อรู้ว่าพระราชารับสั่งให้ฆ่าพระมหาปทุมกุมาร
          ขณะนั้นพวกทหารนำพระกุมารไปให้แด่พระราชา พระราชาทอดพระเนตรแล้วไม่อาจข่มพิโรธได้ จึงรับสั่งว่า “กุมารนี้ไม่ใช่พระราชาเลย ทำท่าทีเป็นพระราชา เป็นโอรสของเราทำผิดในพระอัครมเหสี พวกท่านจงจับกุมารนี้ทิ้งในเหวให้ถึงความพินาศเสีย”
          ปทุมกุมารอ้อนวอนร้องขอชีวิตแก่พระชนก และยังขอพระองค์อย่าได้เชื่อคำของผู้หญิง จะทำให้พระองค์พินาศ แต่พระราชาไม่ทรงฟังคำขอนั้น
          พวกผู้ใหญ่ทั้งหมดมีกษัตริย์มหาศาล อำมาตย์ราชเสวก อีกทั้งนางสนมนับหมื่นคน กราบทูลขอชีวิตพระโอรส และขอพระองค์อย่าได้เชื่อคำของผู้หญิง ไม่ทรงพิจารณาก่อนวิสัยพระราชา ต้องใคร่ครวญก่อนจึงกระทำ
          แม้อำมาตย์ราชเสวกทั้งหลาย จะพากันกราบทูลด้วยเหตุต่างๆ ก็ไม่อาจให้พระราชาเชื่อถ้อยคำของตนได้ ฝ่ายพระราชาทรงบังคับให้อำมาตย์จับปทุมกุมารนั้นทื้งลงในเหว
          เมื่อพระราชามีพระราชโองการอย่างนี้แล้ว นางสนมต่างร่ำไห้คร่ำครวญ ชาวพระนครทั้งสิ้นพากันรำพันถึงพระมหาปทุมกุมาร เมื่อมหาชนคร่ำครวญอยู่นั้น พระราชาจึงรับสั่งจับปทุมกุมารเอาพระบาทขึ้นเบื้องบน เอาพระเศียรลงเบื้องล่าง แล้วให้โยนไปในเหว
          ทันใดนั้นด้วยอานุภาพเมตตาภาวนาของปทุมกุมาร เทวดาที่สถิต ณ ภูเขา ได้รองรับพระกุมารไว้แล้วพาไปประทับ ณ เชิงเขาที่อยู่ของพญานาค  พญานาคได้พาไปสู่นาคพิภพ แบ่งสมบัติของตนให้ครึ่งหนึ่ง ปทุมกุมารอยู่นาคพิภพได้หนึ่งปีก็กลับมาแดนมนุษย์
          เมื่อถึงแดนมนุษย์ เข้าป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤๅษี ยังฌานและอภิญญาให้เกิด มีผลไม้เป็นอาหาร อาศัยอยู่ที่นั่น
          ครั้งนั้น นายพรานชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งไปถึงที่นั่น จำปทุมกุมารได้ จึงไต่ถามพระฤๅษีว่า “ท่านคือมหาปทุมกุมารมิใช่หรือ”
          พระฤๅษีตอบ “ถูกแล้ว สหาย”
          นายพรานได้นมัสการ แล้วอยู่ที่นั่นสองสามวันแล้วกลับไปยังเมืองพาราณสี เข้าเฝ้ากราบทูลพระราชา พระราชาทรงทราบเรื่องแล้ว ทรงรับสั่งว่าจะเสด็จไป ณ ที่นั้น แวดล้อมไปด้วยอำมาตย์ ตั้งค่ายพักพลอยู่ที่ชายป่า เสด็จไปบรรณศาลา ทอดพระเนตรเห็นพระฤๅษีก็เสด็จเข้าไปไหว้ ประทับนั่งแล้วก็ได้สนทนากัน
          พระราชาตรัสถามพระฤาษีว่า “ทำไมยังมีชีวิตอยู่ ทั้งที่ถูกโยนลงเหวมาแล้ว”
          เมื่อพระฤๅษีทูลว่า “มีพญานาคช่วยเอาไว้”
          จึงตรัสชักชวนให้กลับพระราชวัง แต่ฤาษีปฏิเสธ จึงทูลว่า “บุรุษกลืนกินเบ็ดแล้วปลดเบ็ดที่เปื้อนโลหิตออกได้แล้ว พึงมีความสุขฉันใด อาตมภาพมองเห็นด้วยตนเอง ฉันนั้น”
          เจ้ากล่าวอะไรหนอว่าเป็นเบ็ด เจ้ากล่าวอะไรหนอว่าเบ็ดเปื้อนโลหิต เจ้ากล่าวอะไรหนอว่าปลดออกได้  เราถามเล้ว ขอเจ้าจงบอกความข้อนั้นแก่เรา”
          ฤๅษีทูลว่า “มหาบพิตร อาตมภาพกล่าวกามคุณว่าเป็นเบ็ด กล่าวช้างและม้าว่าติดเปื้อนโลหิต กล่าวถึงการสละได้ว่าปลดออกได้ ขอมหาบพิตรจงทราบอย่างนี้เถิด”
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“พระราชา ผู้นำ ต้องทรงธรรม ประเทศและประชาชน จึงจะร่มเย็นเป็นสุขและสร้างสรรค์”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
อกฺโกธนสฺส  วิชิเต  ฐิตธมฺมสฺส  ราชิโน
สุขํ  มนุสฺสา  อาเสถ  สีตจฺฉายาย  สํฆเร

ในแว่นแคว้นของราชาผู้มีเมตตา  มีธรรมมั่นคง ประชาชนจะนอนเป็นสุข
เหมือนนอนอยู่ในบ้านของตัว ในร่มเงาอันเย็นสบาย (๒๘/๕๐)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดยธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
5  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / ปลาพิกุลทอง แดดเดียว ของอร่อยบ้านเพ ระยอง เมื่อ: วานนี้




ปลาพิกุลทอง แดดเดียว

ปลาพิกุลทอง (ชื่อเรียกของชาวบ้าน อำเภอบ้านเพ จังหวัดระยอง)  เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายปลาทู หรือปลาข้างเหลือง
รูปร่างกลมป้อม หางแข็ง นัยน์ตาโต ปากเล็ก คอดหางเรียว ครีบหูยาวเรียวปลายแหลม ชาวบ้านนำมาทำเป็นปลาเค็มแดดเดียว  เนื้อมาก
รสชาติอร่อย เนื้อปลามัน นุ่ม ขนาดใหญ่กว่าปลาทู ราคาถูกมาก ประมาณตัวละ 15 บาท
6  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: คนร้ายมักชอบร้าย ราคี - โคลงโลกนิติ : คาถาสุภาษิตจากคัมภีร์โบราณ เมื่อ: วานนี้

ขอขอบคุณเว็บไซต์ attooktee.files.wordpress.com (ที่มาภาพประกอบ)

คนร้ายมักชอบร้าย      ราคี
สอนสั่งสิ่งความดี          บ่ได้
ดุจเกลือทอดนที ศูนย์เปล่า
เสพที่ชั่วเชือนไซร้   ทราบแจ้งใจมัน ฯ
   

           อธิบายความ
             นิสัยของคนเลว คนชั่ว มักประพฤติแต่สิ่งเลวทรามให้ตัวเองมัวหมอง
             การจะสั่งสอนให้เป็นคนดีนั้น ยากแสนยาก
             เหมือนกับการเทเกลือลงไปในแม่น้ำ มีแต่ความศูนย์เปล่า ไม่เกิดประโยชน์อันใด
             เพราะคนประเภทนี้ชอบทำชั่วหรือทำบาปจนเป็นนิสัยหรือสันดาน
 

ขอเชิญร่วมอธิบายความตามโคลงโลกนิติ เพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา
และแก้ไขสิ่งที่ผู้โพสต์อาจตีความคลาดเคลื่อน  เผยแพร่แก่ผู้สนใจต่อไป


650ๅ
7  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / Re: การจัดดอกไม้ คืออะไร? เมื่อ: วานนี้


ภาพระบายสีน้ำ

ลักษณะการปักดอกไม้ตามธรรมชาติ
        ธรรมชาติจะมีให้เราเห็นกันมากมาย แต่เราจะสังเกตได้ว่าลักษณะของการเกิดของธรรมชาติจะมีอยู่ด้วยกัน ๒ ลักษณะ เช่นเดียวกับการปักดอกไม้ในภาชนะได้แก่
        ๑. Radial Vegetaiva Style หมายถึง การแตกกระจายของเส้นหลายๆ เส้นออกจากจุดศูนย์รวมจุดเดียวกัน โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการแตกกิ่งก้านของพุ่มไม้ ต้นข้าว กอตะไคร้ กอหญ้า หรือต้นไม้ขนาดเล็กชนิดต่างๆ ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ เส้นทุกเส้นที่ใช้ปัก แบบ Radial จะต้องไม่ไขว้กันไปมา ดอกที่นำมาจัดในลักษณะนี้จะมีอิสระของตัวเอง ก้านดอกไม้จะคว่ำหรือหงายขึ้นอยู่กับลักษณะของดอกไม้เอง มีมิติหรือความสูงต่ำในกลุ่มอย่างเด่นชัด
        ๒. Parallel Vegetative Style คือการปักให้มีเส้นขนานกัน จุดปลายของเส้นแต่ละเส้นจะไม่สัมผัสกันเลย ฉะนั้นในหนึ่งภาชนะย่อมจะต้องมีจุดกำหนดหลายจุด การปักแบบนี้เป็นการจำลองภาพของการเกิดของต้นไม้ในป่า เช่น ป่าสน ป่าสัก ต้นกกธูป ต้นกกชนิดต่างๆ เป็นต้น    การปักแบบ Parallel นี้จะตัดเป็นกลุ่มคู่ขนาน ประกอบไปด้วยกลุ่มดอกไม้สองฝั่งจะมีช่องว่างระหว่างกลุ่ม และข้อสำคัญจะต้องปิดฐานอย่างมิดชิด การปักแบบ Parallel โดยปกติจะนิยมจัดในภาชนะที่มีปากกว้างและเตี้ย ดอกไม้ ใบไม้จะมีเส้นก้านที่เป็นแนวตรง ฐานจะถูกปิดมิดชิด มีจังหวะและความสม่ำเสมอในการปัก และมีระดับความสูงที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัด

องค์ประกอบในการจัดดอกไม้
       Elements หรือ องค์ประกอบเป็นเสมือนรูปธรรม ที่สามารถจับต้องได้ไม่ว่าจะด้วยการมองและการสัมผัสด้วยมือ ประกอบไปด้วย
        ๑. Line เส้น จะมีอยู่ด้วยกัน ๒ ลักษณะ คือ
            ๑.๑ Static Line เส้นตรง มีความเข้มแข็งมีพลังและมองดูแล้วเหมือนมีจุดมุ่งหมายที่เด่นชัด จึงมักจะถูกนำมาเป็นโครงร่างของการจัดดอกไม้ เช่น ใช้เป็นตัวกำหนดความสูง และความกว้างของการจัดดอกไม้
            ๑.๒ Dynamic Line เส้นไม่ตรง เป็นเส้นที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา จึงนับได้ว่าเป็นเส้นที่มีชีวิตชีวา ฉะนั้นจึงนิยมนำเอา Dynamic Line มาใช้เป็นตัวนำสายตาและความรู้สึกให้เข้าสู่รูปทรงการจัด
        ๒. Form รูปทรงของการจัดดอกไม้จะมีด้วยกัน ๒ ลักษณะ คือ
            ๒.๑ รูปทรงปิด คือลักษณะดอกไม้ที่มีช่องว่างระหว่างกลีบดอกน้อยมาก เช่น คาร์เนชั่น กุหลาบ เป็นต้น
            ๒.๒ รูปทรงเปิด คือลักษณะของดอกไม้ที่มีช่องว่างระหว่างกลีบมาก เช่น ดอกลิลลี่ เฮลิโคเนีย เป็นต้น
        ๓. Color สี สี่ที่ใช้ในการจัดดอกไม้ก็จะเป็นสีที่ใช้ในงานศิลปะทุกๆ แขนงที่ได้มาจากวงจรสี ซึ่งมีทั้งหมด ๑๒ สี ได้แก่
            สีขั้นที่ ๑ ได้แก่ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน
            สีขั้นที่ ๒ ได้แก่ สีส้ม สีเขียว และสีม่วง
            สีขั้นที่ ๓ ได้แก่ สีม่วงแดง สีม่วงน้ำเงิน สีเขียวน้ำเงิน สีเหลืองเขียว สีส้มเหลือง และสีส้มแดง
        การนำสีมาใช้นั้นมีด้วยกันหลายลักษณะ ดังต่อไปนี้
            ๓.๑ Monochromatic Color สีโทนเดียว คือสีที่เกิดจากการผสมของสีกลางซึ่งได้แก่ สีเทาหรือสีดำ สีตัวใดตัวหนึ่งมาผสมกับสีในวงจรสีตัวใดตัวหนึ่ง เช่น สีขาวผสมกับสีเหลือง ก็จะทำให้สีเหลืองค่อยๆ มีความจางลงเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นสีขาว เมื่อเรานำสีนี้มาใช้ในการจัดดอกไม้หนึ่งแจกัน เราก็จะได้ดอกไม้ และวัสดุตกแต่งที่มีสีเหลืองสว่างไล่ไปจนกระทั่งดอกไม้เหล่านั้นกลายเป็นสีขาว เป็นต้น สีลักษณะนี้จะทำให้เกิดความกลมกลืนมากที่สุด ง่ายต่อการจัด และทำให้เกิดความสบายตามากที่สุด Monochromatic Color จึงเป็นสีที่นิยมจัดกันมากที่สุด
            ๓.๒ Analogous Color คือสีที่อยู่ติดกันสามสีในวงจรสี เช่น สีแดง สีส้มแดง และสีส้ม เป็นต้น จัดอยู่ในประเภทสีกลมกลืนที่ทำให้จัดดอกไม้ได้อย่างสวยงามได้ง่าย อาจเรียกสีลักษณะนี้ว่า “สีตระกูลเดียวกัน”
            ๓.๓ Complementary Color คือสีที่อยู่ตรงข้างกันอย่างแท้จริงในวงจรสี เช่น สีแดงอยู่ตรงข้ามกับสีเขียว นับว่าเป็นสีที่นิยมจัดอีกสีหนึ่ง เนื่องจากเป็นสีที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันที่เด่นชัด เมื่อมองแล้วจะทำให้รู้สึกสะดุดตามากที่สุด
            ๓.๔ Split Complementary Color คือสีที่อยู่ข้างๆ ของสีตรงข้าม หรือจะเรียกว่า “สีตัววาย” ก็ได้ เช่น สีม่วง สีส้มเหลือง และสีเขียวเหลือง เป็นต้น
            ๓.๕ Triadic Color คือสีสามมุมที่อยู่ในวงจรสี เช่น สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน เป็นต้น  Triadic Color เป็นอีกสีหนึ่งที่จะทำให้เกิดความตื่นเต้นและน่าสนใจ
        ๔. Texture ผิวสัมผัส ต้องการให้มีผิวสัมผัสที่ดี จะต้องมีความแตกต่างกันจนสามารถสัมผัสได้ด้วยสายตาและความรู้สึก เช่น ขรุขระ นุ่มนวลคล้ายกำมะหยี่ เกลี้ยงเกลา เป็นมันวาว มีความนูนหรือมีความแหลมคม ราบเรียบ เป็นต้น เราต้องพยายามหาวัสดุต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน เพื่อส่งเสริมให้มีความขัดแย้งในชิ้นงานมากที่สุด และข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือพยายามหาวัสดุที่แตกต่างกันทั้งในเรื่องของสี ผิวสัมผัส และความสูงต่ำมาจัดวางไว้ใกล้ๆ กัน
        ๕. Space ช่องว่างในรูปทรงการจัด ประกอบไปด้วยช่องว่างปิดและช่องว่างเปิด
            ๕.๑ ช่องว่างปิด คือลักษณะการจัดดอกไม้ที่มีช่องว่างระหว่างทรงที่จัดน้อยมาก ทำให้มองผ่านได้ยาก โดยเฉพาะรูปทรงพื้นฐานที่อยู่ในลักษณะทรงเรขาคณิต เช่น ทรงกลม ทรงพระจันทร์เสี้ยว ทรงตัวที ทรงตัวเอส ทรงสามเหลี่ยม เป็นต้น
            ๕.๒ ช่องว่างเปิด ลักษณะการจัดดอกไม้ที่มีช่องว่างระหว่างการจัดมาก สามารถมองผ่านได้ง่าย

หลักการจัดดอกไม้
        หลักการจัดดอกไม้ เป็นหลักการทางทฤษฎีศิลปะ เป็นเรื่องราวต่างๆ ที่สร้างผลงานให้ออกมาดูสวยงาม ทำให้ผู้ดูเกิดความประทับใจ เข้าใจในความคิดของผู้จัด และมองดูไม่ขัดตา ซึ่งหลักการเหล่านี้จะเป็นตัวเชื่อมความประทับใจระหว่างผลงานกับผู้ดู
        Principles จะมีสภาพเป็นนามธรรมไม่สามารถจับต้องได้ ผลงานที่ออกมาจะประสบผลสำเร็จหรือไม่จะต้องประกอบไปด้วยประสบการณ์ และความคิดสร้างสรรค์ของผู้จัดเองด้วย นอกจากนี้การจัดดอกไม้ให้สวยงามจะต้องประกอบไปด้วย
        ๑. Composition ความโดดเด่นเป็นเอกเทศในแต่ละกลุ่มของดอกไม้จะต้องมีความเด่นชัด โดยการแบ่งด้วยกรรมวิธีต่างๆ เช่น แบ่งด้วยกลุ่มสี แบ่งด้วยลักษณะของผิวสัมผัส เป็นต้น
        ๒. Unity คือการผสมผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของดอกไม้ วัสดุต่างๆ รวมทั้งภาชนะที่ใช้จัดด้วย
        ๓. Proportion สัดส่วนที่เหมาะสมในการจัด โดยจะคำนึงถึงสถานที่จัดวางโอกาสที่ใช้งานวัสดุที่นำมาจัด และที่สำคัญคือความต้องการของผู้จัดและผู้ให้จัด
        ๔. Accent ความแปลกใหม่ในการจัด เช่น การใช้นกเกาะในกระเช้าดอกไม้ การใส่ตุ๊กตาในกระเช้าวันเกิด เป็นต้น
        ๕. Balance ความสมดุลในการจัด ประกอบไปด้วย
            ๕.๑ Symmetrical Balance คือความสมดุลอย่างแท้จริง จะมีรูปทรงด้านเท่าทั้งซ้ายและขวา ประกอบไปด้วยวัสดุที่เหมือนกันทั้งความสูง ขนาดของดอก สี ชนิดของวัสดุและดอกไม้
            ๕.๒ Asymmetrical Balance คือความสมดุลอย่างไม่แท้จริง สามารถวัดได้ด้วยความรู้สึกแต่ไม่สามารถวัดได้ด้วยวัสดุ ประกอบไปด้วย ๒ ลักษณะ คือ
                  ๕.๒.๑ Actual Balance คือเท่ากันด้านรูปทรงแต่แตกต่างด้านวัสดุ
                  ๕.๒.๒ Visual Balance คือไม่เท่ากันทางรูปทรงแต่เท่ากันทางความรู้สึก
        ๖. Harmony ความกลมกลืน คือการเลือกวัสดุต่างๆ มาใช้ในการจัดโดยคำนึงถึงสี และผิวสัมผัสของดอกไม้และวัสดุต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความกลมกลืนไปด้วยกันได้ทั้งชิ้นงาน
        ๗. Rhythm จังหวะ คือการปักดอกไม้ให้มีความต่อเนื่องกันไป ทำให้สามารถท้าสายตาเข้าสู้ชิ้นงานที่จัดได้อย่างต่อเนื่อง



800-28
ขอขอบคุณ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฎเพชรบูรณ์ (ที่มาข้อมูล)
8  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / หลวงพ่อดำศักดิ์สิทธิ์ วัดช้างใหญ่ ต.ช้างใหญ่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ: 17 พฤษภาคม 2567 17:51:57

หลวงพ่อดำ พระประธานในอุโบสถวัดช้างใหญ่


หลวงพ่อดำ วัดช้างใหญ่ ต.ช้างใหญ่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา


พลายคชศักดิ์ วัดช้างใหญ่

วัดช้างใหญ่
ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


วัดช้างใหญ่ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ห่างจากศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ประมาณ ๑ กิโลเมตร

วัดช้างใหญ่ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๙ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๐ เป็นวัดเก่าแก่สร้างก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดเสาธงหิน เพราะมีเสาธงเก่าแก่ตั้งอยู่ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดช้างเฉย แล้วจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดช้างใหญ่" เพราะเคยเป็นที่ตั้งของเพนียดคล้องช้างสำหรับฝึกช้างป่า และเป็นที่อยู่ของช้างป่าจำนวนมาก

ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ หลวงพ่อทอง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น หลวงพ่อดำศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ เชื่อกันว่า หลวงพ่อสามารถหยั่งถึงจิตใจของผู้ที่เข้าไปสักการะได้ โดยจะรู้ว่ามีความสุขหรือทุกข์โดยสังเกตจากสีหน้าของหลวงพ่อ
...วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (ที่มาข้อมูล)


อุโบสถวัดช้างใหญ่






จิตรกรรมผนังอุโบสถ วัดช้างใหญ่


"พญานาคสีดำ" จัดอยู่ใน "ตระกูลกัณหาโคตะมะ" เป็นตระกูลนาคที่มีผิวกาย หรือเกล็ดเป็น "สีดำนิลกาฬมหิธร"
ถือกำเนิดแบบสังเสทชะ คือ เกิดจากเหงื่อไคล และสิ่งหมักหมมต่างๆ หรือ แบบอัณฑชะคือเกิดจากไข่







พระอินทร์ประทับนั่งเหนือช้างเอราวัณสามเศียร (ซ้ายมือ) ท้าวเวสสุวรรณ ศิลปโบราณ (ขวามือ)




850
9  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / ไก่ซิลกี้ ไก่สวยขาม ขนนุ่มฟู เมื่อ: 17 พฤษภาคม 2567 16:48:38



ไก่ซิลกี้ กับลูกน้อย

ไก่ซิลกี้


ไก่ซิลกี้ เป็นไก่ที่มีลักษณะของขนที่สวยงาม นุ่มฟู เปรียบเสมือนผ้าหรือไหม เพราะคำว่า Silkie มาจากคำว่า Silk ที่แปลว่าเส้นไหม

ที่มาของไก่สวยงามอย่างไก่ซิลกี้ ไม่ได้ถูกระบุไว้ชัดเจน แต่เท่าที่มีข้อมูลบันทึกไว้ ไก่ซิลกี้เป็นไก่สายพันธุ์โบราณของเอเชียตะวันออก โดยทีต้นกำเนิดจากประเทศจีน เพราะมีการเรียกไก่ซิลกี้ว่า Chinese Silk Chicken ในช่วงศตวรรษที่ ๑๓ มีการกล่าวถึงไก่ซิลกี้บันทึกของ Marco Polo

นิสัยของไก่ซิลกี้ เป็นไก่ที่นิ่ง สงบ เป็นมิตรกับคน เด็กๆ สามารถเลี้ยงได้ เพราะไก่ซิลกี้ค่อนข้างเชื่อง จับได้ และบินไม่สูงมาก จึงเหมาะกับการเลี้ยงไว้ที่สวนหลังบ้านที่มีรั้วไม้ระแนงเตี้ยๆ กั้นได้

อาหารในการเลี้ยงไก่ซิลกี้ก็จะมี รำข้าว ปลาป่น ข้าวโพด หากต้องการให้ขนไก่สวยงาม ควรเน้นเป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูงอย่างหนอนนก หรือแมลง และเสริมด้วยผักผลไม้บ้าง ไก่ซิลกี้ถือเป็นสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่ไม่เยอะ สามารถเลี้ยงแบบปล่อยไว้หลังบ้าน หรือเลี้ยงในกรงเหมือนไก่ไทยอื่นๆ ได้ แต่ควรทำเป็นตาข่ายถี่ เพื่อป้องกันจากสัตว์อื่น ในส่วนของการทำความสะอาด และอาบน้ำ ไก่ซิลกี้ สามารถอาบน้ำได้เหมือนแมวและสุนัข แต่หากมีการเปื้อนฝุ่นเล็กน้อย สามารถใช้หวีหรือแปรง แปรงออกเหมือนแปรงขนแมวได้เลย

วิธีอาบน้ำไก่ซิลกี้ : หากะละมังเล็กๆ มาตั้ง วางไก่ซิลกี้ลงไป แล้วเปิดน้ำอาบเบื้องต้นให้ขนหมาดๆ หลังจากนั้นนำแชมพูอาบน้ำสุนัข หยดลงบนขน แล้วชะโลมไปเรื่อยๆ ให้เกิดฟอง อย่าให้แชมพูเข้าตา ล้างออกด้วยน้ำสะอาด หากแดดดีๆ สามารถตากแดดให้แห้งได้ แต่หากไม่ค่อยมีแดดในวันนั้น ใช้ไดร์เป่าผมเป่าให้แห้ง

ใครที่กำลังมองหาสัตรว์เลี้ยงสุดน่ารัก เลี้ยงง่าย และไม่เหมือนใคร ลองเลือกเลี้ยงไก่สวยงามอย่างไก่ซิลกี้ เป็นไก่ที่เลี้ยงง่าย ฉีกกฎความเป็นไก่หลายๆ อย่าง ทั้งเป็นมิตรต่อเด็ก จับได้ อุ้มได้ อยู่นิ่ง บินไม่สูง และที่เห็นขนฟูฟ่อง จริงๆ แล้วสามารถอยู่ในอากาศแบบเมืองไทยได้สบาย แต่สำหรับมือใหม่ ก่อนจะซื้อนอกจากได้ข้อมูลไก่ซิลกี้จากบทความนี้ไปแล้ว ให้ลองปรึกษาเจ้าของฟาร์มเพิ่มเติม และที่สำคัญ…ถามใจตัวเองว่ารักไก่ซิลกี้จริงๆ หรือเปล่า

ไก่ซิลกี้ ราคา : ลูกไก่ซิลกี้อายุ ๑ เดือน ราคาจะอยู่ที่ ๑,๐๐๐ บาท  ส่วนไก่อายุ ๓-๔ เดือน ราคาจะอยู่ที่ ๒,๕๐๐-๓,๐๐๐ บาท




บริเวณหัวของไก่ซิลกี้จะมีลักษณะเป็นก้อนขนฟูๆ โดยขนไก่ซิลกี้ดั้งเดิมจะเป็นมีสีดำ สีขาว และสีเทา จะงอยปากสั้น
เป็นสีเทาเข้มหรือสีน้ำเงิน ดวงตากลมสีดำขลับ ตุ้มหูสีฟ้าน้ำทะเล ลำตัวกว้าง หลังสั้น มีนิ้ว ๕ นิ้ว   ซึ่งโดยปกติแล้ว
ไก่จะมี ๔ นิ้ว ขาสั้น และกว้างกว่าปกติ บริเวณเท้ามีขน มีหนัง และกระดูกสีดำ ลักษณะขนไก่ซิลกี้ก็แตกต่างจากไก่
สายพันธุ์อื่นคือ แผงขนไก่ซิลกี้ไม่มีจุดเชื่อมของขนเหมือนไก่พันธุ์อื่น ทำให้ขนไก่ซิลกี้มีลักษณะฟูนุ่มเหมือนขนแมว  







บ้านหลังน้อยๆ พื้นที่สำหรับไก่วางไข่และฟักไข่


ไก่แจ้ เพศผู้ เลี้ยงรวมกับไก่ซิลกี้





ขอขอบคุณเว็บไซต์ https://shopee.co.th/ (ที่มาข้อมูล)
10  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๖ มูสิกชาดก : หนูกับสุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ เมื่อ: 16 พฤษภาคม 2567 15:38:58



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๖ มูสิกชาดก
หนูกับสุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์

          ในอดีตกาลเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์กำเนิดเป็นหนู มีร่างกายอ้วนท้วนเหมือนลูกสุกรอ่อน มีหนูหลายตัวเป็นบริวาร 
          ครั้งหนึ่ง หมาจิ้งจอกตัวหนึ่งหวังจะลวงกินหนูเหล่านี้ จึงแหงนหน้าจ้องดวงอาทิตย์ ยืนเท้าเดียว พระโพธิสัตว์เห็นก็เข้าใจว่าเป็นผู้ทรงศีล เข้าไปถามชื่อ มันตอบว่า “เราชื่อธรรมกะ”
         “ท่านมายืนเท้าเดียวเพราะเหตุใด”
         “ถ้าเหยียบสี่เท้าแผ่นดินคงไม่อาจทนเราไหว ที่ต้องอ้าปากเพราะกินลมอย่างเดียวไม่กินอย่างอื่น ที่ต้องจ้องดวงอาทิตย์ก็เพราะเรานอบน้อมพระอาทิตย์”
          แต่นี้ก็เป็นวิธีที่จะลวงกินหนูของมัน หนูจึงมีจำนวนลดลงตามลำดับ  แต่ก่อนพวกเราต้องเบียดเสียดกันอยู่ เดี๋ยวนี้ดูหลวมๆ ไป พวกหนูสงสัยจึงนำมาเล่าให้พระโพธิสัตว์ฟัง
          พระโพธิสัตว์ก็คิดว่าเพราะเหตุใดหนอ จึงคิดว่าต้องพิสูจน์เรื่องนี้ จึงคอยสังเกตหมาจิ้งจอกในเวลาที่ปรนนิบัติหมาจิ้งจอก ให้พวกหนูออกหน้า ตนอยู่หลังเพื่อน พลันนั้นมีเสือมา สุนัขจิ้งจอกเห็นจึงรีบมาสะกัด พระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า
          “เจ้าสุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ การบำเพ็ญพรตของเจ้านี้มิใช่การปฏิบัติในศีลธรรม แต่เจ้าแอบอ้างเอาธรรมเป็นธงขึ้นไว้เพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น”
          กล่าวจบพญาหนูก็กระโดดขึ้นเกาะคอมัน กัดที่ซอกคอใต้คางจนถึงแก่ความตาย ฝูงหนูพากันกัดกินหมาจิ้งจอกเสียงดังมูมมาม พวกหนูก็อยู่กันอย่างมีความสุขตลอดมา
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“อย่าหลงเชื่อคนที่มีพฤติกรรมเอาธรรมบังหน้า””

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
น  ฆาสเหตูปิ  กเรยฺย  ปาปํ
ไม่ควรทำบาปเพราะเห็นแก่กิน (๒๗/๒๕๕)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดยธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
11  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๕ ราโชวาทชาดก : คุณสมบัติของผู้นำ เมื่อ: 16 พฤษภาคม 2567 15:36:22



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๕ ราโชวาทชาดก
คุณสมบัติของผู้นำ

         เมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี ได้มีชายคนหนึ่งมาจากตระกูลพราหมณ์ ศึกษาศิลปศาสตร์สำเร็จแล้วก็ออกบวชเป็นฤๅษี ตั้งอาศรมอยู่ในป่าหิมพานต์ สำเร็จอภิญญาและสมาบัติ
          อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาทรงอยากทราบว่าพระองค์เป็นพระราชาที่ดีหรือไม่ ประชาชนกล่าวถึงพระองค์ในแง่ดีร้ายอย่างไร จึงปลอมพระองค์เสด็จประพาสต้นปะปนไปกับประชาชนทั้งในเมืองและนอกเมือง ปรากฏว่าทรงได้ยินแต่เสียงสรรเสริญพระองค์ ไม่ได้ยินเสียงนินทาว่าร้ายเลย จากนั้นก็เสด็จเข้าไปในป่าหิมพานต์เพื่อจะดูว่าพระฤๅษีกล่าวถึงตนอย่างไรบ้าง
          เมื่อไปถึงอาศรามแล้ว ก็ได้รับการต้อนรับจากฤๅษีอย่างดีเยี่ยม ได้ทูลให้เสวยผลไม้และให้ดื่มน้ำเย็น
          พระราชาตรัสถามว่า ทำไมผลไม้ในป่าหิมพานนต์ จึงหวานอร่อยเหลือเกิน”
          พระฤๅษีทูลว่า “ที่เป็นดังนี้ เพราะบ้านเมืองมีราชาครองราชโดยธรรม”
          พระราชาตรัสถามว่า “ถ้ากษัตริย์ไม่ดำรงธรรม ผลไม้จะไม่หวานเช่นนั้นหรือ”
          พระฤๅษีทูลว่า “ใช่” ทั้งทูลด้วยว่า “แม้รัฐทั้งสิ้น ก็จะวุ่นวายไปหมด”
          พระราชาไม่ได้ตรัสบอกสถานะของพระองค์ต่อพระฤๅษี แล้วก็ทูลลากลับพระนคร ไปทดลองครองราชโดยไม่เป็นธรรม แล้วก็กลับมาหาฤๅษีอีกครั้งหนึ่ง ได้ทรงตรัสกับพระฤาษีว่า “ทำไมผลไม้ไม่หวานอร่อยเหมือนเดิม”
          พระฤๅษีทูลว่า “นี่คงเป็นเพราะพระราชาไม่ทรงเป็นธรรมแน่”
          ครั้นทูลดังนั้นแล้ว ก็ทูลในแง่คิดว่า “ถ้าเมื่อโคทั้งหลายว่ายข้ามแม่น้ำไป โคหัวหน้าฝูงว่ายคด เมื่อโคผู้นำฝูงว่ายคดอย่างนี้ โคทั้งหมดก็ย่อมว่ายคดไปตามกัน
          ในมนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้เป็นใหญ่ประพฤติไม่เป็นธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ประพฤติไม่เป็นธรรมโดยแท้ ถ้าพระราชาผู้เป็นใหญ่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม รัฐก็ย่อมอยู่เป็นทุกข์ทั่วกัน
          ถ้าเมื่อโคทั้งหลายว่ายข้ามแม่น้ำไปโคหัวหน้าฝูงว่ายข้ามไปตรง เมื่อโคหัวหน้าฝูงว่ายข้ามไปตรงอย่างนั้น โคทั้งหมดก็ย่อมว่ายข้ามไปตรงตามกัน
          ในหมู่มนุษย์ทั้งหลายก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติเป็นธรรม ประชาชนนอกนี้ก็ย่อมประพฤติเป็นธรรมโดยแท้ ถ้าพระราชาเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม รัฐก็ย่อมอยู่เป็นสุขทั่วกัน
พระราชาทรงสดับธรรมของพระโพธิสัตว์ จึงให้รู้ว่าพระองค์เป็นพระราชา แล้วตรัสว่า “ท่านผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพเจ้าเองกระทำผลนิโครธสุกให้หวาน แล้วได้ทำให้ขม บัดนี้จักกระทำให้หวานต่อไป” แล้วทรงไหว้พระโพธิสัตว์ เสด็จกลับพระนคร ครองราชสมบัติโดยธรรม ได้ทรงกระทำสรรพสิ่งทั้งปวงให้กลับเป็นปกติตามเดิม
 

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ถ้าผู้นำปกครองโดยธรรมประชาชนก็อยู่ดีผาสุก”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
สพฺพํ รฏฺฐํ สุขํ โหติ ราชา เจ โหติ ธมฺมิโก
พระราชาปกครองด้วยธรรม ราษฎรทั้งปวงก็เป็นสุข (๒๗/๑๕๒)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดยธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
12  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๔ วิฆาสาทชาดก : นกแก้วโพธิสัตว์ เมื่อ: 16 พฤษภาคม 2567 15:35:14



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๔ วิฆาสาทชาดก
นกแก้วโพธิสัตว์

          ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดเป็นท้าวสักกะ ในครั้งนั้น พี่น้อง ๗ คนในหมู่บ้านกาสิกคาม เกิดเห็นโทษในกามทั้งหลาย พากันออกบวชเป็นฤาษีอยู่ท่ามกลางป่า แต่ไม่ทำความเพียรใดๆ เลย เป็นผู้มากไปทางร่างกายแข็งแรง เที่ยวเล่นกีฬานานัปการ
          ท้าวสักกะเทวราชทรงดำริว่า “เราจักให้ภิกษุเหล่านี้สลดใจ” แล้วทรงปลอมพระองค์เป็นนกแก้ว เสด็จมาถึงที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้น แอบอยู่ที่ต้นไม้ต้นหนึ่ง จึงได้กล่าวว่า “เหล่าชนผู้กินเดน มีชีวิตอยู่อย่างสบายดีจริงหนอ ทั้งในปัจจุบันก็น่าสรรเสริญ ทั้งในสัมปรายภพ ก็จะเกิดเป็นเทวดาหรือ”
          ต่อมาฤๅษีตนหนึ่งได้ยินคำของนกแก้วนั้นแล้ว จึงเรียกคนที่เหลือมา แล้วจึงได้กล่าวว่า “ท่านบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อนกแก้วพูดอยู่ ท่านทั้งหลายก็ไม่สงบใจฟัง ท่านพี่น้องร่วมท้องทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงฟังคำนี้ นกแก้วนี้กำลังสรรเสริญเราทีเดียว”
          นกแก้วกล่าวว่า “ท่านผู้กินซากศพทั้งหลาย ข้าพเจ้าสรรเสริญท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้า ท่านทั้งหลายมักเป็นผู้กินของเหลือ แต่ท่านทั้งหลายไม่เป็นผู้กินเดน”
           “ของที่เหลือของราชสีห์ เสือโคร่งและสัตว์ร้ายทั้งหลายมีอยู่ ท่านทั้งหลายเลี้ยงชีพด้วยอาหารที่เหลือนั้นนั่นเอง พวกเราสำคัญว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้กินเดนเป็นปกติ”
          ดาบสทั้งหลายได้ฟังคำนั้นแล้วจึงกล่าวว่า “ถ้าหากพวกเราไม่เป็นผู้กินเดนไซร้ ถ้าอย่างนั้นท่านตำหนิใครล่ะ ใครเป็นผู้กินเดน” นกแก้วนั้นเมื่อจะบอกข้อความนั้นแก่ดาบสเหล่านั้น จึงได้กล่าวว่า “ชนเหล่าใดให้ทานแก่สมณะพราหมณ์และวณิพกอื่นแล้ว จึงบริโภคส่วนที่เหลือ ชนเหล่านั้นเป็นผู้กินเดน”
          ดาบสได้ฟังก็คิดได้ว่าสิ่งที่นกแก้วพูดนั้นก็ถูกแล้ว จึงคิดจะประพฤติตัวใหม่ให้เหมาะสมกับเป็นผู้ทรงศีล
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“เป็นคนควรประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสม”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
กมฺมุนา  โหติ  พฺราหฺมโณ
คนจะประเสริฐ ก็เพราะการกระทำและความประพฤติ (๑๓/๗๐๗)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดยธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
13  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / กากาติชาดก เมื่อ: 16 พฤษภาคม 2567 15:18:05


กากาติชาดก

วาติ จายํ ตโต คนฺโธติ อิทํ สตฺถา เชตวเน วิหรนฺโต เอกํ อุกฺกณฺฐิฺตภิกฺขุํ อารพฺภ กเถสิ ฯ

เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงพระปรารภภิกษุกระสันรูปหนึ่งให้เป็นเหตุ ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า วาติ จายํ ตโต คนฺโธ เป็นต้น

ตทา หิ สตฺถา ก็ในกาลครั้งนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาตรัสถามภิกษุรูปนั้นว่า ได้ยินว่าเธอกระสันหรือภิกษุ เมื่อเธอกราบทูลรับว่า จริงพระเจ้าข้า ตรัสถามซ้ำอีกว่ากระสันเพราะเหตุอะไร เธอกราบทูลว่าด้วยอำนาจกิเลสพระเจ้าข้าฯ  จึงตรัสว่า ภิกษุ ธรรมดามาตุคามใครๆ รักษาไว้ไม่ได้ ไม่อาจรักษาให้เป็นปรกติอยู่ได้ แต่พวกโบราณกบัณฑิตในกาลก่อน แม้ให้มาตุคามขึ้นอยู่บนวิมานคือต้นสิมพลีที่ท่ามกลางมหาสมุทรก็ยังไม่อาจรักษาไว้ได้ แล้วทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้

อตีเต พาราณสิยํ พฺรหฺมทตฺเต รชฺชํ กาเรนฺเต ฯลฯ  ในอดีตกาลครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี มีพระโพธิสัตว์อุบัติในคัพโภทรพระอัครมเหสีแห่งท้าวเธอ พอทรงเจริญวัยพระราชบิดาเสด็จทิวงคตล่วงลับไปจึงได้ดำรงราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ พระอัครมเหสีของพระองค์ ทรงพระนามว่ากากาติ มีพระรูปงดงามดังเทพอัปสร

ในเรื่องนี้ มีเนื้อความสังเขปดังนี้ แต่เรื่องพิสดารจักมีแจ้งในกุณาลชาดกฯ  ตทา ปเนโก สุปณฺณราชา ก็ในกาลครั้งนั้นยังมีพญาสุบรรณตนหนึ่ง ซึ่งจำแลงเพศเป็นมนุษย์มาเล่นสกากับพระเจ้าพาราณสี พอมีจิตปฏิพัทธ์ในพระอัครมเหสีอันมีพระนามว่ากากาติ ก็ลักพาไปสู่สุบรรณพิภพอภิรมย์อยู่ด้วยพระนางฯ  ฝ่ายพระราชาเมื่อไม่ได้ทัศนาเห็นพระเทวีจึงตรัสสั่งคนฟ้อนอันมีนามว่านฏะกุเวรให้เที่ยวค้นหาพระเทวีฯ  นฏะกุเวรสงสัยพญาสุบรรณ คิดจะจับให้ได้ตัวจริง จึงแอบนอนอยู่ ณ ป่าตะไคร้น้ำในสระแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่มาเล่นของพญาสุบรรณ  เวลาพญาสุบรรณมาเล่นในสระนั้นแล้วจะกลับไปจึงเข้าแอบนั่งในระวางปีกไปกับพญาสุบรรณ ครั้นถึงสุบรรณพิภพก็หนีออกจากระวางปีก แอบอภิรมย์กับพระราชเทวี แล้วเข้านั่งซ่อนตัวในระวางปีกของพญาสุบรรณกลับมาอีก ในเวลาพญาสุบรรณเล่นสกากับพระราชาก็ถือพิณของตนไปสู่บ่อนสกา ยืนในพระราชสำนักขับคาถาเป็นปฐมว่า


            วาติ จายํ ตโต คนฺโธ      ยตฺถ เม วสตี ปิยา
            ทูเร อิโต หิ กากาติยตฺถ เม นิรโต มโน ฯ

            ความว่า หญิงที่รักของเราไปอยู่ที่ใด กลิ่นยังฟุ้งมาแต่ที่นั้นจนถึงนี่

มีอธิบายว่า พญาสุบรรณบริบูรณ์ด้วยทิพยสมบัติดังเทพดา ของหอมเครื่องไล้ทาก็เป็นทิพย์มีกลิ่นหอมตรลบ ถึงพระราชเทวีตกไปในสำนักของพญาสุบรรณก็ได้ไล้ทาของหอมที่เป็นทิพย์เหมือนกัน เมื่อได้ถึงตัวกับนฎะกุเวรกลิ่นหอมนั้นก็ติดกายเขามา เขาจึงขับคาถาแสดงความประสงค์ว่ากลิ่นของหอมอันเป็นทิพย์ที่กายของพระราชเทวีติดตัวเขามาถึงบ่อนสกานี้ ฯ ใจเรายินดีนักแล้วในนางใด นางนั้นชื่อว่ากากาติไปอยู่ไกลแต่ที่นี้ไป ดังนี้

ตํ สุตฺวา สุปณฺณราชา เมื่อพญาสุบรรณได้สดับดังนั้นจึงกล่าวประพันธทุติยคาถาว่า


            กถํ สมุทฺทมตริ    กถํ อติ เกปุกํ
            กถํ สตฺต สมุทฺทานิ  กถํ สิมฺพลิมารุหิ ฯ  

            ความว่า  ท่านข้ามทะเลนี้ไปได้อย่างไร  ท่านข้ามแม่น้ำเกปุกะไปได้อย่างไร
                       ท่านข้ามสมุทรทั้งเจ็ดไปได้อย่างไร  ท่านขึ้นต้นสิมพลีไปได้อย่างไร

อธิบายว่า ต่อทะเลชมพูทวีปนี้ไปมีแม่น้ำชื่อว่าเกปุกะอยู่ข้างหน้า แล้วมีภูเขาใหญ่ๆ มีมหาสมุทรสลับไปถึงเจ็ดชั้นจึงจะถึงต้นสิมพลีซึ่งเป็นสุบรรณวิมาน เหตุดังนี้เมื่อพญาสุบรรณได้ฟังเพลงขับพรรณนาเหตุการณ์ เข้าใจว่าเขาได้ไปถึงวิมานของตนแล้วกลับมา จึงผูกความถามเป็นคาถาที่สองนั้น

ตํ สุตฺวา นฏกุเวโร เมื่อนฏะกุเวรได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวประพันธตติยาคาถาว่า


            ตยา สมุทฺทมตรึ    ตยา อตริ เกปุกํ
            ตยา สตฺต สมุทฺทานิ   ตยา สิมฺพลิมารุหึ ฯ

            ความว่า ข้าเจ้าได้ข้ามทะเลนี้ไปกับท่าน ข้าเจ้าได้ข้ามแม่น้ำเกปุกะไปกับท่าน ข้าเจ้าได้ข้ามมหาสมุทรทั้งเจ็ดไปกับท่าน ข้าเจ้าได้ขึ้นต้นสิมพลีไปกับท่านดังนี้

ตโต สุปณฺณราชา ลำดับนั้นพญาสุบรรณได้กล่าวจตุตถคาถาว่า


            ธิรตฺถุ มํ มหากายํ  ธิรตฺถุ มํ อเจตนํ  
            ยตฺถ ชายายหํ ชารํ   อาวหามิ วหามิ วา ฯ

ความว่า น่าเกลียด กายใหญ่นี้หาประโยชน์มิได้ น่าชัง กายใหญ่นี้ไม่มีเจตนา คือใหญ่โตเกินไปจนไม่รู้สึกของเบาของหนัก แต่เราต้องนำมา
นำไปซึ่งชู้ของเมีย จึงน่าติเตียนร่างกายใหญ่อันไม่มีประโยชน์ดังนี้

พญาสุบรรณจึงพาพระราชเทวีกลับมาถวายพระเจ้าพาราณสีคืน แล้วกลับไปสู่ภพของตนมิได้มาอีก

สตฺถา อิมํ ธมฺมเทสนํ อาหริตฺวา เมื่อพระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศจตุราริยสัจประชุมชาดก เมื่อจบอริยสัจลง อุกกัณฐิตภิกษุได้ดำรงในโสดาปัตติผล นฏะกุเวรในกาลนั้นได้มาเป็นอุกกัณฐิตภิกษุในกาลนี้ ส่วนพระราชาได้มาเป็นเรานี้แล.


ที่มา : กากาติชาดก (นิบาตชาดก เล่ม ๓) กากีคำกลอนและลิลิตกากี กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช ๒๕๖๓
14  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: กฎ เรื่องการรับฟ้องกล่าวโทษตุลาการฯ - พระราชกำหนดเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ: 15 พฤษภาคม 2567 19:40:18


พระราชกำหนดเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา

กฎ เรื่องการรับฟ้องกล่าวโทษตุลาการผู้พิจารณาความไม่เที่ยง

​กฎให้แก่พระสุรัศวดีซ้าย ขวา ใน นอก ให้กฎหมายบอกแก่ข้าทูลถออง ฯ ฝ่ายทหารพลเรือน และขุนโรงขุนศาล แต่บรรดาพิจารณาเนื้อความอาณาประชาราษฎรทั้งปวง ด้วยมีพระราชกำหนดกฎหมายไว้แต่ก่อนว่าอาณาประชาราษฎรจะมาร้องฟ้องกล่าวโทษแก่กัน และผู้พิจารณาตุลาการจะไถ่ ถามโจทก์จำเลยนั้น ว่าเสมียนผู้คุมถามความว่ามิได้ทำตามธรรมเนียมความไซร้ ให้ว่าแก่ผู้พิจารณาผู้กำกับให้ตัดสินให้ตามข้อเนื้อความ ถ้าพ้นที่ผู้พิจารณาผู้กำกับจะตัดสินมิได้ไซร้ ก็ให้ไปว่าแก่ลูกขุนตัดสินให้ตามข้อเนื้อความให้สำเร็จ ถ้าโจทก์จำเลยมิได้ว่ากล่าวแก่ผู้พิจารณา ไปร้องฟ้อง​หาอุทธรณ์แต่เสมียนผู้คุม และมิได้กล่าวโทษผู้พิจารณาผู้กำกับ และจะบัตรหมายมาให้ส่งแต่เสมียน ผู้คุมนั้นอย่าให้ส่ง ถ้าเปนเนื้อความหัวเมือง ถ้ากรมการทำผิดให้ฟ้องแก่ ปลัด ยกระบัตร ปลัด ยกระบัตร ทำผิดให้ฟ้องแก่ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง ถ้ และมิได้กล่าวโทษผู้รักษาเมือง ปลัด ยกระบัตร ด้วยไซร้ ถ้ามีตราออกไปให้ส่งคู่ความมานั้น อย่าให้ส่งเข้ามา และสืบมาทุกวันนี้ ผู้พิจารณาและตุลาการทั้งปวงละพระราชกำหนดกฎหมายเสีย ผู้มีชื่อจึ่งร้องฟ้องหาอาชญา อุทธรณ์ณะกรุง ฯ กล่าวโทษแต่เสมียนผู้คุม นายพะธำมรงค์ มิได้กล่าวเข้ามาร้องฟ้องอุทธรณ์กล่าวโทษแต่เสมียนผู้คุมนายพะธำมรงค์ มิได้กล่าวโทษผู้รักษาเมือง ปลัดยกระบัตรและกรมการหามิได้ และกลับฟ้องให้บัตรหมายเอาเสมียน ผู้คุม ภูดาษ พะธำมรงค์ ​และให้มีตราไปให้ส่งขุนศาล ภูดาษ ธำมรงค์ ณะหัวเมืองเข้ามาพิจารณาณะกรุง ๆ ตามข้ออาชญาอุทธรณ์ ก็เอามาพิจารณาไม่สำเร็จ ทำหน่วงเหนี่ยวเนื้อความไว้ และเนื้อความเดิมที่เปนข้อใหญ่นั้น ก็พลอยเริศร้างค้างช้าสูญไปก็มีบ้าง ลางทีเห็นว่าจะทำกลบเกลื่อนมิได้ ก็คิดอ่านให้ร้องฟ้องหาอุทธรณ์ต่อไปถึง ๒ ศาล ๓ ศาลก็มีบ้าง เปนอันมาก เพราะเหตุฉนี้คนชั่วซึ่งเบียดเบียนอาณาประชาราษฎรนั้น เห็นเนื้อความของตัวพิรุธเพลี่ยงพล้ำลงแล้ว ก็คิดอ่านหาอาชญา อุทธรณ์ กล่าวโทษแก่เสมียนผู้คุมบ้าง ลางทีกล่าวโทษแต่เสมียนผู้คุมบ้าง ลางทีกล่าวโทษแต่ขุนศาล ภูดาษ นายพะธำมรงค์บ้าง คิดแต่จะให้เนื้อความเริศร้างค้างสูญไป แต่จะไม่ให้ได้ความผิดของตัวเลย และอาณาประชาราษฎรซึ่งมิรู้สำนวน และหาทรัพย์มิได้นั้น ได้ความเดือดร้อนนัก ครั้นจะให้สืบเอาตัวผู้กระทำผิดนั้นเปนโทษ ​ตามบทพระอัยการนั้นด้วย ผู้เข้ามารับราชการต่อมาทุกวันนี้เปนคนไม่รู้บ้าง ได้รู้บ้าง และยังไม่ทั่วกัน และสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทุกวันนี้ ทรงพระกรุณาแก่อาณาประชาราษฎร เพื่อจะบำรุงมิให้พระราชกำหนดกฎหมายฟั่นเฟือนไปได้ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งแก่ ออกญาธรมาธิบดี ศรีรัตนมนเทียรบาล ให้แต่งพระราชกำหนดกฎหมายแจกชำระไว้ แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าอาณาประชาราษฎรจะร้องฟ้องกล่าวโทษแก่กันด้วยเนื้อความประการใด ๆ ก็ดี ผู้พิจารณาตุลาการจะพิจารณาไถ่ถามโจทก์จำเลย สักขีพยานณะกรุง ฯ นั้น ถ้าโจทก์ จำเลย เห็นว่าเสมียน ผู้คุม ภูดาษ นายพะธำมรงค์ ถามความผิดด้วยพระราชกำหนด กฎหมายให้โจทก์ จำเลย ว่าแก่ผู้พิจารณาผู้กำกับให้ตัดสินให้ ถ้าพ้นที่ผู้พิจารณาผู้กำกับตัดสินมิได้ ก็ให้พากันไปให้ลูกขุนปรึกษาตัดสิ้นให้ตามข้อเนื้อ​ความสืบไป ถ้าเปนเนื้อความหัวเมือง ถ้าภูดาษนายพะธำมรงค์ทำผิดให้ว่าแก่ขุนศาล ขุนศาลทำผิดให้ฟ้องแก่ปลัด ยกระบัตร และกรมการซึ่งมิได้ต้องในฟ้อง ถ้าและปลัด ยกระบัตร กรมการ มิรับฟ้อง จึ่งให้ฟ้องแก่ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง ถ้าและผู้รักษาเมือง ผู้รั้งมิรับ และผู้รักษาเมือง ปลัด ยกระบัตร กรมการ ทำผิดด้วยแล้ว จึ่งให้เข้ามาฟ้องณะกรุง ฯ ตามพระราชกำหนดกฎหมายแต่ก่อน ถ้าผู้ใดมิฟังจะมาร้องฟ้องหาอาชญา อุทธรณ์ เสมียน ผู้คุม พะธำมรงค์ ซึ่งได้พิจารณาว่าความ และมิได้กล่าวโทษผู้พิจารณา ผู้กำกับ และผู้มีชื่ออยู่หัวเมืองเข้ามาร้องฟ้องณะกรุง ฯ หาอาชญา อุทธรณ์ กรมการหัวเมือง มิได้กล่าวโทษผู้รักษาเมือง ปลัด ยกระบัตร ไซร้ อย่าให้รับฟ้องไว้ว่ากล่าวเปนอันขาดทีเดียว ให้ผู้รับฟ้องนั้นสลักหลังส่งฟ้องคืนให้แก่ผู้ฟ้องว่ากล่าวตามพระราชกำหนดกฎหมาย และให้​ข้าทูลลออง ฯ ฝ่ายทหาร พลเรือน และขุนโรงขุนศาล ผู้บรรดาได้พิจารณาเนื้อความณะกรุง ฯ และผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการณะหัวเมืองทั้งปวง ทำตามพระราชกำหนดกฎหมายให้นี้จงทุกประการ ถ้าผู้ใดมิได้ทำตามพระราชกำหนดกฎหมายแต่ข้อหนึ่งข้อใดไซร้ จะเอาตัวผู้นั้นเปนโทษตามโทษานุโทษ

กฎให้ไว้ณะวันศุกรเดือน ๑๑ ขึ้น ๗ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๔ ปีมะเมีย จัตวาศก (พ.ศ.๒๓๐๕ รัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร)

----------------------------​
15  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: กฎ เรื่องการรับฟ้องต่าง ๆ - พระราชกำหนดเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ: 15 พฤษภาคม 2567 19:39:08


พระราชกำหนดเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา

กฎ เรื่องการรับฟ้องต่าง ๆ

​กฎให้แก่พระสุรัศวดีซ้าย ขวา ใน นอก ให้กฎหมายบอกตุลาการ มหาดไทย กลาโหม กรมเมือง กรมวัง คลัง นา กรมตำรวจในซ้ายขวา ตำรวจนอกซ้าย ขวา กรมทหารในซ้าย ขวา มหาดเล็กชาวที่ กรมพระนครบาล และขุนโรง ขุนศาล ผู้บรรดาเปนตุลาการได้พิจารณาเนื้อความทุกหมู่ ทุกกรม ด้วย ฯ ทรง ฯ สั่งว่าให้มีพระธรรมนูญไว้แต่ก่อนว่าราษฎรทั้งปวงมีอรรถคดี จะทำหนังสือร้องฟ้องแก่สมภักนักการ ขุนโรงขุนศาลกรมใด ๆ และรับหนังสือร้องฟ้องไว้และหมายไปให้มูลนายพระยาบาลส่งผู้ต้องคดีมาพิจารณาไต่ถามต่อกัน และลักตีกันไม่ตายกลางวันาและฟันแทงกันกลางวัน ขุน (ฉะบับลบ ๒-๓ คำ) พิจารณาเนื้อความ ถ้าจำเลยเปนสมใน ขุนศาลสามศาล​นี้ได้พิจารณา กรมพระคลังราชการ ขุนพินิจจัย ราชปลัดนั่งศาลได้พิจารณาเนื้อความฝรั่งอังกฤษ วิลันดา จีน ยวน ยี่ปุ่น แขกบรเทศ มลายู กรมนาขุนโภชธากร ราชปลัดนั่งศาลได้พิจารณาเนื้อความแพ่ง อาชญานา ขุนศรีราชบุตรได้พิจารณาเนื้อความมฤดก และศาลแพ่งกลาง ขุนราชสุภา ศาลเขษมขุนสุภาเทพ ขุนศาลสองศาลนี้ได้พิจารณาเนื้อความแพ่งจำเลยเปนสมนอก และกรมเทพอาชญานั้นขุนพรหมเกวี ได้พิจารณาเนื้อความกระทำคุณไสยแก่กัน เปนฉมบจักกละ และกรมสารพากรใน ขุนวิสูตรโกษาพิจารณานายระวางกำนันพันที่เชิงเรือน สมภักษรขนอนตลาด ซึ่งวิวาทแก่กัน และกรมสารพากรนอก ขุนศรีสาคร ได้พิจารณาเสนากำนันเบาะแส และเบียดบังอากร ขนอนตลาด คู่สัดแส และกรมธรรมการได้พิจารณาเนื้อความพระสงฆ์เถรเณรผู้เข้ารูปชีทำผิดด้วยพระ​วินัย และกรมพระคลังมหาสมบัติได้พิจารณาพระราชทรัพย์ในพระคลังหลวง มีผู้เอาไปทำลายเสีย และมีผู้เบียดบังไว้เปนอาณาประโยชน์ กรมพระสัสดีได้พิจารณาหมู่ไพร่หลวงสังกัดพรรค์ และเลวทาส เลวไทย และบันลูกหมู่แก่กัน และพระธรรมนูญทั้งนี้มีอยู่สำหรับราชการแผ่นดินสืบมา ให้ผู้รับฟ้องรับคำกฎหมายของราษฎรผู้มีคดีเอาฟ้องและคำกฎนั้น ไปว่าแก่ลูกขุนณะศาลา ลูกขุนณะศาลหลวง ถ้าเนื้อความข้อใหญ่ให้กราบทูลพระกรุณา ถ้าข้อเบามิพอที่จะเอากราบทูลพระกรุณา ให้บังคับให้ขุนราชพินิจจัย ผู้ถือพระธรรมนูญใส่ด้วยพระธรรมนูญ ถ้าเปนเนื้อความกระทรวงใดให้เจ้ากระทรวงนั้น พิจารณาเอาพินัยจ่ายราชการ ฝ่ายข้างขุนโรงขุนศาลได้ตั้งตัวทำราชการสดวก ครั้นสืบมาผู้มีคดี กฎหมายร้องฟ้องตามกระทรวงบ้าง หามิได้บ้าง เอาเนื้อความไปฟ้องให้กราบทูลเจ้าฝ่ายหน้าฝ่ายหลัง สมเด็จ​พระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ๆ รับเอาฟ้องไว้มิได้ส่งฟ้องนั้นใส่ด้วยพระธรรมนูญให้พิจารณาตามกระทรวงหามิได้ และข้าหลวงเอาฟ้องนั้นไว้พิจารณาความรับสั่งให้ว่าเปนเนื้อความผู้เถ้าผู้แก่บ้าง เนื้อความขาเดียวบ้าง ให้สืบดูให้รู้จักจริงและเท็จบ้าง ครั้นถามมิรับเอาสอบผู้ฟ้องเปนข้ออ้างข้อต่อ สืบสอบพะยานดุจหนึ่งเนื้อความมีคู่บ้าง ลางทีส่งฟ้องไปให้ตำรวจในตำรวจนอก ทหารใน และข้าทูลลออง ฯ นอกนั้น ให้เอาตัวผู้มีชื่อมาพิจารณาตามฟ้อง มิต้องด้วยพระธรรมนูญก็มีบ้าง ลางทีลูกความซึ่งตุลาการพิจารณาอยู่นั้น ไปฟ้องหาอุทธรณ์ตุลาการ และมีรับสั่งให้เอาสำนวนยอมใบสัจไปสืบสาวดู และเนื้อความนั้นค้างช้าไปก็มีบ้าง และกฎพระธรรมนูญสำหรับแผ่นดินนั้นก็ฟั่นเฟือนไป และขุนโรงขุนศาลซึ่งเปนเจ้ากระทรวงได้พิจารณาเนื้อ​ความตามพระธรรมนูญเอาพินัยจ่ายราชการนั้นน้อยลง ส่วนราชการงานโยธาซึ่งเปนพนักงานขุนโรงขุนศาลนั้นลุน้อย เพราะเหตุฉนี้ขุนโรงขุนศาลจึงได้ความยากจนตั้งตัวทำราชการไปมิได้ และครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งให้มีพระราชกำหนดกฎหมายไว้ว่า แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ห้ามอย่าให้ข้าหลวงเจ้าต่างกรมรับเอาฟ้องอาญาประชาราษฎรซึ่งหาแก่กันนั้น กราบทูลเจ้าต่างกรม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เปนอันขาดทีเดียว ต่อเมื่อใดมีผู้เอาเนื้อความมาฟ้องว่ามีผู้กระทำผิดคิดมิชอบ เบียดบังพระราชทรัพย์เปนเนื้อความข้อใหญ่ จึ่งเอาฟ้องกราบทูลเจ้าต่างกรม และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ และให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ รับเอาฟ้องกราบทูลพระกรุณา ฯ แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่ง อนึ่งถ้าข้าหลวง​ในกรมมีกิจวิวาทแก่กัน และข้าทูลลออง และไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน และข้าหลวงเจ้าต่างกรมอื่น ๆ จะทำหนังสือฟ้องให้กราบทูลเจ้าต่างกรมหาความแก่ผู้วิวาทนั้นไซร้ ให้ส่งฟ้องไปให้ขุนราชพินิจจัยผู้ถือพระธรรมนูญ ให้ใส่ด้วยพระธรรมนูญก่อน ถ้าเปนกระทรวงใดให้ส่งไปให้เจ้ากระทรวงพิจารณาโจทย์ จำเลย ตามพระธรรมนูญ อนึ่งถ้ามิได้ร้องฟ้องให้กราบทูลพระกรุณา ถ้ามิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งจำเภาะให้ผู้ใดพิจารณาหามิได้ ให้ผู้รับสั่งส่งฟ้องนั้นให้ใส่ด้วยพระธรรมนูญก่อน ถ้าเปนกระทรวงใดจึ่งให้ส่งให้เจ้ากระทรวงพิจารณา ถ้าเปนเนื้อความข้อใหญ่มีพระราชโองการตรัสจำเภาะให้ผู้ใดพิจารณา เปนเนื้อความมีคู่นั้น ให้ตุลาการผู้รับเอาฟ้องใส่พระธรรมนูญก่อน ให้รู้ว่าเปนกระทรวงใดแล้วให้หมายไปให้เจ้ากระทรวงมานั่ง กำกับพิจารณาด้วย ถ้าพิจารณาเปนสัจปรับไหม​เปนพินัยหลวงมากน้อยเท่าใดนั้นให้ส่งพระคลังมหาสมบัติ อนึ่งซึ่งผู้มีชื่อฟ้องลูกขุนณะศาลา ลูกขุนณะศาลหลวงนั้น ให้ปรึกษาดูรูปความถ้าเปนเนื้อความเบาอยู่ ก็ให้เอาฟ้องนั้นใส่ด้วยพระธรรมนูญส่งให้พิจารณาตามกระทรวงตามพระธรรมนูญ ตามพระราชกำหนดกฎหมายสำหรับแผ่นดิน อย่าให้แปลกกระทรวงล่วงกรมได้ อนึ่งเจ้ากรม ปลัดกรม นายเวร ปลัดเวร ขอเฝ้ากรมฝ่ายใน และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมใด ๆ ยอมพิจารณาเนื้อความมีคู่มิต้องด้วยกฎ แต่นี้สืบไปเมื่อหน้าอย่าให้เจ้ากรม ปลัดกรม นายเวร ปลัดเวร ขอเฝ้ากรมฝ่ายใน และข้าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมใด ๆ พิจารณาเนื้อความนั้นหาผู้บังคับบัญชามิได้ ครั้นโจทก์ จำเลย ติดใจแก่กันด้วยข้อเนื้อความขัดสนอยู่ แล้วว่ากล่าวมิสิ้นข้อเนื้อความ และโจทก์ จำเลย ยอมติดใจ​ในตุลาการว่าตัดบทเนื้อความมิสิ้นกระทง และโจทก์ จำเลย ยอมร้องฟ้องให้กราบทูลพระกรุณา ฟ้องลูกขุนณะศาลา ทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายกล่าวโทษตุลาการ และคู่ความเปนเนื้อความทบท้าวไปมาถึง ๓ ศาล ๔ ศาล ให้เคืองฝ่าลออง ฯ ราษฎรเสียพัศดุทองเงินได้ความเดือดร้อนเพราะคบหากันแต่อำเภอใจ ถ้าข้าทูลลออง ฯ ราษฎรมีอรรถคดีร้องฟ้องด้วยกิจสุขทุกข์แก่กันเปนเนื้อความแพ่ง อาชญา อุทธรณ์ นครบาล และมฤดกแพทยา และถวายกรมทัณฑ์ ทรัพย์มฤดกให้เรียกลูกหนี้ด้วยความประการใด ๆ จะให้เจ้ากรม ปลัดกรม นายเวร ปลัดเวร ขอเฝ้า ข้าทูลลออง ฯ ข้างหน้าข้างใน และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ และข้าพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ กรมใด ๆ และฟ้องหาความนั้นก็ดี ถ้าผู้ฟ้องนั้นเปนข้าหลวง และข้าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระเจ้า​ลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ ฟ้องให้กราบทูลพระกรุณา เปนเนื้อความข้อใหญ่จึ่งให้รับเอาฟ้องนั้นกราบทูล แล้วให้กราบทูลพระกรุณาตามจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่ง ให้พิจารณาตามรับสั่ง ถ้าและติดใจตุลาการก็ให้แต่งมหาดเล็กนายเวร ขอเฝ้าไปนั่งกำกับพิจารณาด้วย ถ้าและผู้ฟ้องนั้นมิได้เปนข้าหลวงฝ่ายใน และมิได้เปนข้าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ ก็อย่ารับเอาหนังสือฟ้องกราบทูล และให้ผู้ฟ้องนั้นไปฟ้องตามกระทรวง และฟ้องแก่มูลนายตามอาณาประชาราษฎร และฟ้องลูกขุนณะศาลา ลูกขุนณะศาลหลวง ตามพระราชกำหนดกฎหมายแต่ก่อน อนึ่งข้าเจ้าต่างกรมฝ่ายหน้าฝ่ายใน ถือหนังสือปิดตราในกรมออกไปราชการณะหัวเมืองใด ๆ ลอบไปทำกรรโชก ข่มเหง ฉ้อ ตระบัดเอาพัศดุทองเงินอาณาประชาราษฎร ไพร่พลเมืองได้​ความเดือดร้อนให้เคืองใต้ลออง ฯ เนือง ๆ แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าข้าเจ้าต่างกรม ฝ่ายหน้าฝ่ายใน จะถือหนังสือปิดตราในกรม ออกไปเอากิจราชการสิ่งใด ๆ ก็ดี อย่าให้รับเอาฟ้องของราษฎรมาพิจารณาเรียกเอาฤชาตุลาการ ให้ได้ความเดือดร้อนดุจดังแต่ก่อนนั้น และให้ข้าทูลลออง ฯ และข้าหลวงเจ้าต่างกรมฝ่ายหน้าฝ่ายหลัง และข้าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ และพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ สมในสมนอก และอาณาประชาราษฎรทั้งปวง ทำตามพระราชกำหนดกฎหมายให้นจงทุกประการ ถ้าผู้ใดมิได้ทำตามพระราชกำหนดกฎหมายข้อใดข้อหนึ่งไซร้ จะเอาตัวเปนโทษตามโทษานุโทษ ให้เจ้าพระยานคร และหลวงปลัด กรมการ ทำตามกฎนี้จงทุกประการ แล้วให้บอกแก่หัวเมืองขึ้นแก่เมืองนคร ให้ทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้จงทั่ว

​กฎให้ไว้ณะวันอาทิตย์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๒ ปีมะโรงโทศก. (พ.ศ.๒๓๐๓ รัชกาล สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร)

----------------------------
16  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: กฎ เรื่องการรับฟ้องตามพระธรรมนูญ - พระราชกำหนดเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ: 15 พฤษภาคม 2567 19:37:40


พระราชกำหนดเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา

กฎ เรื่องการรับฟ้องตามพระธรรมนูญ

​​​​กฏให้แก่พระสุรัศวดี ซ้าย ขวา ใน นอก ให้กฎหมายบอกเจ้าพระยา และพระยา พระ หลวง เจ้าราชนิกุล ขุน หมื่น พัน ทนาย ฝ่ายทหาร พลเรือน บรรดาพิจารณาความ เจ้ากรม ปลัดกรม มหาดเล็กขอเฝ้า ข้าหลวงเจ้าต่างกรมฝ่ายหน้า ฝ่ายหลัง และข้าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอทั้งปวงจงทั่ว ด้วยมีพระธรรมนูญไว้สำหรับขุนโรง ขุนศาล ธรรมเนียมให้พิจารณาเนื้อความตามกระทรวง เอาพินัยจ่ายราชการสำหรับแผ่นดินสืบมาแต่ก่อนนั้น และกรมมหาดไทยมีปลัดนั่งศาลคนหนึ่ง ขุนบุรินทรนั่งศาลหลวงได้พิจารณาเนื้อความอุทธรณ์ และขุนเทพอาชญานั่งศาลราษฎร์ ได้พิจารณาเนื้อความอาชญาตุลาการ และขุนอาชญาจักรนั่งศาล​สำรวจ ให้พิจารณาแปลกคารมหลาย มีขี้ฉ้อหมอความ มิได้เปนญาติพี่น้องว่าเปนญาติพี่น้องเข้ากฎหมายร้องฟ้องหาความแก่ราษฎร และกลาโหม ขุนประชาเสพ ราชปลัดนั่งศาล ได้พิจารณาเนื้อความอาชญานอกซึ่งมิได้เปนสมภักนักการ ทำข่มเหงผู้มีชื่อ และในกรมพระนครบาล ขุนงำเมือง ปลัดนั่งศาลได้พิจารณาความโจรผู้ร้ายปล้นสดมภ์ เปนโทษมหันตโทษ กรมวังนั้นมีปลัดนั่งศาลสามคน ขุนอินทรอาชญา ได้พิจารณาเนื้อความอาชญาวัง และขุนพรหมสุภา ได้พิจารณาเนื้อความนครบาลวัง และขุนเทพสุภา ได้พิจารณาเนื้อความแพ่งวัง ถ้าจำเลยเปนสมในขุนศาลสามศาลนี้ได้พิจารณา และกรมพระคลังราชการนั้น ขุนพินิจจัย ราชปลัดนั่งศาล ได้พิจารณาเนื้อความฝรั่งอังกฤษวิลันดา จีน ยวน ยี่ปุ่น แขกบรเทศ มลายู และกรมนา ​ขุนโภชถากร ราชปลัดนั่งศาล ได้พิจารณาเนื้อความแพ่งอาชญานา และขุนศรีราชบุตรนั้นได้พิจารณาเนื้อความมฤดก และศาลแพ่งกลาง ขุนราชสุภา ขุนสุภาชัย และแพ่งเกษม ขุนสุภาเทพ ขุนสุภาภาร ได้พิจารณาเนื้อความจำเลยเปนสมนอก และกรมแพทยานั้น ขุนพรหมเกวี ได้พิจารณากระทำคุณกระทำไสยแก่กัน เปนฉมบจักกละ และกรมสารพากรใน ขุนวิสูตรโกษา ได้พิจารณานายระวางกำนัน พันที่ เชิงเรือน สมภักษร ขนอนตลาด ชิงที่วิวาทแก่กัน และกรมสารพากรนอก ขุนศรีสาคร ได้พิจารณาเสนา กำนัน เบาะแสและเบียดบังขนอนตลาด ดูสัจ แส กรมธรรมการ ได้พิจารณาเนื้อความพระสงฆเถร เณร ทำผิดด้วยกิจพระวินัย และพระคลังมหาสมบัติได้พิจารณาเนื้อความพระราชทรัพย์ในท้องพระคลังหลวง และมีผู้เอาไปทำลายเสีย และมีผู้เบียดบังไว้เป็นอาณา​ประโยชน์ และกรมสัสดีได้พิจารณาหมู่ไพร่หลวง ไพร่สม สังกัด พรรค และเลวทาสเลวไทย และปันลูกหมู่แก่กัน และพระธรรมนูญกระทรวงความทั้งนี้มีอยู่สำหรับราชการแผ่นดินสืบมา ให้ผู้รับฟ้อง ผู้รับคำกฎของราษฎรผู้มีคดี เอาฟ้องและคำกฎนั้นไปว่าแก่ลูกขุนณะศาลาลูกขุนณะศาลหลวง ถ้าเปนเนื้อความข้อใหญ่ให้กราบทูลพระกรุณา ถ้าเปนเนื้อความเบา มิพอที่จะเอากราบทูลพระกรุณา ก็ให้บังคับให้ขุนราชพินิจจัย ผู้ถือพระธรรมนูญใส่พระธรรมนูญ เปนเนื้อความกระทรวงใดให้ส่งให้เจ้ากระทรวงพิจารณาเอาพินัยจ่ายราชการ ฝ่ายข้างขุนโรงขุนศาล จึ่งจะได้ตั้งตัวทำราชการสดวก และครั้นสืบมาผู้มีคดีกฎหมายร้องฟ้องตามกระทรวงบ้าง หามิได้บ้าง และเอาเนื้อความไปฟ้องให้กราบทูล ฝ่ายหน้าฝ่ายหลังและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้า​หลานเธอ รับเอาฟ้องไว้แล้วมิได้ส่งไปใส่ด้วยพระธรรมนูญให้พิจารณาตามกระทรวงหามิได้ และข้าหลวงรับเอาฟ้องไว้พิจารณาว่ามีรับสั่งให้ว่าเปนเนื้อความผู้เถ้าผู้แก่บ้าง เปนเนื้อความข้างเดียวบ้าง ให้สืบดูให้รู้จักจริง และเท็จบ้าง ครั้นถามมิรับเอา สอบผู้ฟ้องเปนข้อต่อข้ออ้างสืบสอบถึงพะยานดุจหนึ่งเนื้อความมีคู่ก็มีบ้าง ลางทีส่งฟ้องไปให้ตำรวจในตำรวจนอกและข้าทูลลออง ฯ นอกนั้นให้เอาตัวผู้มีชื่อมาพิจารณาตามฟ้อง มิต้องด้วยพระธรรมนูญก็มีบ้าง ลางทีลูกความซึ่งตุลาการพิจารณานั้นไปฟ้องหาอุทธรณ์ตุลาการ และว่ามีรับสั่งให้เรียกเอา สำนวนยอมใบสัจไปสืบสวนดู แล้วเนื้อความนั้นค้างช้าไปก็มีบ้าง และกฎพระธรรมนูญสำหรับแผ่นดินนั้นก็ฟั่นเฟือนไป และขุนโรงขุนศาลเจ้ากระทรวงได้พิจารณาความตาม พระธรรมนูญเอา พินัย จ่ายราชการนั้นน้อยลง และส่วนราชการงานโยธา ​ซึ่งเปนพนักงานขุนโรงขุนศาลได้จ่ายนั้นยืนอยู่ เพราะเหตุฉนี้ขุนโรงขุนศาลจึ่งได้ความยากจนตั้งตัวทำราชการมิได้ และครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งให้มีพระราชกำหนดกฎหมายไว้แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ห้ามอย่าให้ข้าหลวงเจ้าต่างกรมรับเอาฟ้องของอาณาประชาราษฎรซึ่งหาความแก่กันนั้น กราบทูลเจ้าต่างกรม และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระเจ้าลูกเธอ หลานเธอ เปนอันขาดทีเดียว ต่อเมื่อใดมีผู้เอาเนื้อความมาว่า มีผู้กระทำผิดคิดมิชอบเบียดบังพระราชทรัพย์เปนเนื้อความข้อใหญ่ จึงให้เอากราบทูลเจ้าต่างกรม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ รับเอาฟ้องกราบทูลแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ อนึ่งถ้าและข้าหลวงในกรมจะมีคดีวิวาทแก่ข้าทูลลออง ๆ และไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินและข้าหลวงเจ้าต่างกรมๆ อื่น จะ​ทำหนังสือฟ้องให้กราบทูลเจ้าต่างกรม หาความข้อวิวาทนั้นไซร้ ก็ให้ส่งฟ้องนั้นไปให้แก่ขุนราชพินิจจัย ผู้ถือพระธรรมนูญให้ใส่ด้วยพระธรรมนูญก่อน ถ้าเปนกระทรวงใดให้ส่งไปให้เจ้ากระทรวงพิจารณา ตามโจทก์ตามจำเลย ตามพระธรรมนูญ อนึ่งถ้ามีผู้ร้องฟ้องให้กราบทูลพระกรุณา ถ้ามิได้ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งจำเภาะให้ผู้ใดพิจารณาหามิได้ ก็ให้ผู้รับสั่งส่งฟ้องนั้นไปใส่ด้วยพระธรรมนูญ ถ้าเปนกระทรวงใดจึ่งส่งไปให้เจ้ากระทรวงพิจารณา ถ้าเปนเนื้อความข้อใหญ่ มีพระราชโองการตรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งจำเภาะให้ผู้ใดพิจารณาเปนเนื้อความมีคู่นั้น ก็ให้ตุลาการเอาฟ้องนั้นใส่ด้วยพระธรรมนูญเปนกระทรวงใด แล้วจึ่งให้หมายไปเอาเจ้ากระทรวงมานั่งกำกับด้วย ถ้าพิจารณาเปนสัจปรับไหมเปนพินัยหลวงมากน้อยเท่าใดนั้น ให้ส่งพระคลังมหาสมบัติ อนึ่งซึ่งผู้มีชื่อฟ้องถูกขุนณะ​ศาลาลูกขุนณะศาลหลวงนั้น ให้ลูกขุนปรึกษาดูรูปความนั้นก่อน ถ้าเปนเนื้อความเบาอยู่ ก็ให้เอาฟ้องใส่ด้วยพระธรรมนูญส่งให้พิจารณาตามกระทรวงตามพระธรรมนูญ พระราชกำหนดกฎหมายสำหรับแผ่นดิน อย่าให้แปลกกระทรวงล่วงกรมได้ และให้ข้าทูลลออง ฯ และข้าหลวงเจ้าต่างกรมฝ่ายหน้าฝ่ายหลัง และข้าหลวงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ และพระเจ้าลูกเธอ หลานเธอ และสมใน สมนอก และอาณาประชาราษฎรทั้งปวง กระทำตามพระราชกำหนดกฎหมายให้ไว้จงทุกประการ ถ้าผู้ใดมิได้กระทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้แต่ข้อใดข้อหนึ่งไซร้ จะเอาตัวเปนโทษตามโทษานุโทษ

กฎให้ไว้ณะวันอังคารเดือนอ้ายแรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๑๖ ปีจอฉอศก (พ.ศ.๒๒๙๗ รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ)

----------------------------
17  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: กฎ เรื่องให้จับกุมคนวิวาททำร้ายกันในที่ต่างๆ - พระราชกำหนดเก่า ครั้งกรุงศรีฯ เมื่อ: 15 พฤษภาคม 2567 19:36:16


พระราชกำหนดเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา

กฎ เรื่องให้จับกุมคนวิวาททำร้ายกันในที่ต่างๆ

​​​กฎให้แก่เจ้าพระยา และพระยา พระ หลวง เจ้าราชนิกุล ขุน หมื่น พัน ทนาย ฝ่ายทหารพลเรือน ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวงจงรู้ทั่ว ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่าถ้าเจ้าพระยา และพระยา พระ หลวง เจ้าราชนิกุล ขุน หมื่น ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ ไปในสถานทางบกทางเรือแห่งใด พบคนมีชื่อคุมพวกเกิดวิวาทตีด่าฆ่าฟันกันเปนอันมาก ให้หยุดอยู่ ให้บ่าวไพร่สมกำลังซึ่งไปด้วยนั้น ให้จับเอาตัวพวกทั้งสองข้างให้ได้จงสิ้น ถ้าเหลือกำลังให้บอกชาวบ้านชาวเรือ ให้ช่วยกันจับเอาตัวจงได้ เพื่อว่ามิให้อาณาประชาราษฎรไพร่พลเมืองทำจลาจลในแผ่นดิน ถ้าหัวเมืองให้ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง ปลัดยกระบัตร ​กรมการ เอาตัวถามให้รู้เหตุว่าวิวาทกันด้วยเนื้อความสิ่งใด แล้วให้บอกหนังสือส่งตัวเข้ามายังลูกขุนณะศาลา ถ้าในกรุง ๆ จับส่งกรมพระนครบาล ให้สืบเอาพวกเพื่อนจงสิ้น มาลงโทษโดยอาชญาหลวง ถ้าผู้ใดมิได้เปนใจแก่ราชการแผ่นดินไม่จับกุม จะเอาตัวเปนโทษตามโทษานุโทษ และให้พระสุรัศวดีซ้าย ขวา ใน นอก ให้หมายบอกจงทั่ว

กฎให้ไว้ณะวันพุธเดือน ๗ แรม ๗ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๑๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก (พ.ศ.๒๒๙๑ รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ)

----------------------------
18  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re:กฎ เรื่องเจ้าหมู่มูลนายเบิกคู่ความไปใช้ราชการ - พระราชกำหนดเก่า ครั้งกรุงศรีฯ เมื่อ: 15 พฤษภาคม 2567 19:34:43


พระราชกำหนดเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา

กฎ เรื่องเจ้าหมู่มูลนายเบิกคู่ความไปใช้ราชการ

​​กฎให้แก่ พระสุรัศวดี ซ้าย ขวา ใน นอก ให้กฎหมายบอกแก่ ข้าทูลลออง ฯ ฝ่ายทหารพลเรือน และข้าเจ้าต่างกรมทั้งปวงจงทั่ว ด้วยขุนอุทัย ขุนลคร ขุนเสนา แขวง ฟ้องให้กราบทูลพระกรุณา และขุนลคร ขุนอุทัย ขุนเสนา และหมื่น พัน แขวง ทั้งปวงนั้น มีการพนักงานต้องทำ และเสียส่วยในอัตรานอกอัตราแต่ละปีเปนอันมาก และแขวงรับราชการได้ทำการตามพนักงานทั้งนั้น อาศัยแต่วานราษฎรชาวบ้านและลูกอำเภอมาช่วยทำการ ได้เสียส่วยในอัตรานอกอัตรา และซื้อสิ่งของทำการนั้น ก็อาศัยได้แต่พิจารณาความของราษฎรตามกระทรวง ตามมีพระธรรมนูญสำหรับแผ่นดินมาแต่ก่อน ได้พินัยจ่ายราชการ จึ่งได้ทำการทั้งปวงสดวก และ​สืบมาทุกวันนี้ และราษฎรไพร่พลเมืองในท้องที่อำเภอแขวงนั้น ก็ร่วงโรยกว่าแต่ก่อน และบาญชีมังคังชิงเรือนมากนั้น มีตราคุ้มห้าม ได้เฉลี่ยวานใช้ราชการหามิได้ และบ้านสมสังกัดพรรค์ ซึ่งมิได้มีตราคุ้มห้าม ได้เฉลี่ยวานใช้ราชการนั้นมีเรือนอยู่แต่ ๙ เรือน ๑๐ เรือน ๑๕ เรือนบ้าง น้อยมิพอด้วยราชการ ประการหนึ่งราษฎรอยู่ในอำเภอนั้นมีคดีเนื้อความมาร้องฟ้อง กฎหมาย พระธรรมนูญ แขวง จะได้พิจารณาเอาพินัยจ่ายราชการนั้น ครั้นแขวงเกาะมายังมิได้ทันถาม ได้ถามถึงเทียบ และชี้พิจารณาถึงเดิรเผชิญถึงสำนวนมาชี้ขาดบ้าง ฝ่ายข้างลูกความนั้น เห็นว่าเนื้อความของตัวพิรุธบุบช้ำลง แล้วลอบไปคิดอ่านให้มีหมายรับสั่งเบิกเอาตัวไปบ้าง ลางครั้งนั้น หมายไปแต่ว่าให้หาเปนการเร็ว ครั้นแขวงเข้าไปหา ผู้รับสั่งให้เกาะหน่วงเหนี่ยวไว้ว่า ลูกความนั้นเปนข้าหลวง มีรับสั่งให้ส่งตัวไปจะใช้​ทำการบ้าง ข้างแขวงกลัวก็ส่งลูกความให้ และเนื้อความเริดร้างค้างสูญเสีย เพราะด้วยกระทำฉนี้เปนอันมาก แขวงเปนคนต่ำจะติดตามว่ากล่าวคืนเอาเนื้อความมาพิจารณาสืบไป เอาพินัยจ่ายราชการนั้นมิได้ด้วยเหตุฉนี้ แขวงจะตั้งตัวทำราชการขัดสนหนักหนา จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ สั่งว่า ส่วยหญ้าช้างสพสารซึ่งสารพากรได้เรียกเปนหลวงนั้น พระราชทานให้ยกเสีย และส่วยสัดอัตราพนักงาน ขุนเพ็ชรดา ขุนเทพนารายณ์ แพ่งเขษมได้เรียกจ่ายราชการตามธรรมเนียมแต่ก่อนนั้น ก็ให้การลงเสี่ยกึ่งหนึ่งบ้าง สองส่วนบ้าง และซึ่งผู้มีชื่อถือตราคุ้มห้าม ทำส่วย เข้า ปลา ชัน น้ำมัน ภาย กระดาษ ขี้ผึ้ง และรักษาไม้ฤษีเลี้ยงกระบือชักรถนั้น ก็ให้เฉลี่ยเอาใช้ราชการบ้างตามมีการหนักและเบาแล้ว ครั้งนี้จึงทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้า ฯ สั่ง ให้มีพระราชกำหนดกฎหมายไว้ แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ​ถ้าราษฎรมีชื่ออยู่ในท้องอำเภอแขวง มีอรรถคดีร้องฟ้องกฎหมาย ให้แขวงพิจารณาต้องด้วยกฎพระธรรมนูญ เปนกระทรวงแขวงได้ว่ากล่าวนั้น แล้วก็ให้แขวงพิจารณาสืบไปให้สำเร็จ เอาพินัยจ่ายราชการ ถ้าและมีหมายรับสั่งไปให้หาแขวงไปกิจราชการสิ่งใดก็ดี อย่าให้มีหมายไปแก่แขวงดุจหนึ่งแต่ก่อนนั้น ให้มีหมายไปแก่กรมนครบาลซึ่งเปนนายแขวงนั้นให้ส่ง ถ้าหมายกิจราชการให้บอกข้อราชการไปให้แจ้ง ถ้าหมายเบิกคู่ความนั้นให้มีกำหนดปีเดือนวันคืนขึ้นแรมไปว่า จะเบิกไปทำการสิ่งนั้น ๆ แต่ใน ๙ วัน ๑๐ วันและ ๑๕ วัน แล้วจะส่งตัวคืนมาให้แขวงพิจารณาเนื้อความสืบไป และให้มีตรา เจ้ากรม ปลัดกรม สมุหบาญชี ผู้ใดผู้หนึ่งมาเปนสำคัญไปด้วย และให้เจ้ากรม ปลัดกรม พระนครบาล สืบสาวดู ถ้าเนื้อความนั้นยังมิถึงใบสัจปรับเปนสินไหมพินัยหามิได้ และมีหมายมาเบิก​เอาไปทำราชการจริงเปนมั่นคง จึ่งให้สลักหมายนั้นบอกไปให้แขวงส่งลูกความให้ตามมีหมายเบิกนั้น และปิดตราขุนงำเมืองราชปลัดประทับหลังหมายไปเปนสำคัญจงทุกครั้ง ครั้นถึงกำหนดกฎหมายว่าจะส่งลูกความคืนให้พิจารณานั้น ถ้าและลูกความซึ่งเบิกไปนั้นยังทำการมิสำเร็จก็ดี ไปราชการยังมีกลับมาถึงก็ดี ให้ผู้มาเบิกนั้นมาบอกทุเลาแก่เจ้ากรม ปลัดกรม พระนครบาล ให้เจ้ากรม ปลัดกรม ๆ พระนครบาล แต่งไปสืบถามชันสูตร์ดูการ ถ้าเห็นการนั้นเร็วอยู่จะเร่งทำให้แล้วแต่ใน ๙ วัน ๑๐ วัน ๑๕ วันอีก ก็ให้งดไว้ ให้ทำการนั้นสืบไป ถ้าและการนั้นช้าถึงเดือนหนึ่งแล้วมิสำเร็จไซ้ร ก็ให้ส่งตัวลูกความมาว่าเนื้อความไปก่อน และซึ่งจะเบิกไปราชการนั้นให้พิจารณาดูข้อราชการนั้นเปนการจำเภาะตัวผู้นั้นจะไป ผู้อื่นจะไปเห็นมิได้ เปนการจำเภาะตัวผู้นั้นจะไป และทางจะไปมาช้าพ้นพระราชกำหนดเดือนหนึ่งขึ้นไป อย่าให้ส่งตัว​ไป ให้ตุลาการเอาตัวไปพิจารณาให้เร่งรัดว่ากล่าวเนื้อความให้สำเร็จแต่ในสามเดือนตามกฎ อนึ่งผู้เปนตุลาการได้พิจารณาเนื้อความ ใช่ว่าแต่แขวงหามิได้ และมหาดเล็ก ชาวที่ ตำรวจใน กรมวัง ข้าทูลลอองฯ ฝ่ายทหารพลเรือน ขุนโรงขุนศาลซึ่งเปนพนักงานได้พิจารณาเนื้อความรับสั่งและโจรผู้ร้ายและเนื้อความมีคู่ และผู้พิจารณา ๆ เลขหมู่ไพรหลวงทั้งปวงนั้น ก็มีอยู่เปนอันมาก ถ้าจะมีบัตรหมายไปเอาผู้มีคดีซึ่งต้องพิจารณาทั้งปวง ไปทำราชการสิ่งใด ๆ ไซร้ ก็ให้กระทำตามเรื่องราวเนื้อความซึ่งกล่าวไว้ในกฎจงทุกหมู่ทุกกรม และหมายเบิกนั้นก็ให้ปิดตรา เจ้ากรม ปลัดกรม สมุหบาญชี เจ้าหมู่ ซึ่งเปนนายนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งไปด้วยเปนสำคัญจงทุกครั้ง และกรมฝ่ายในซึ่งหาเจ้ากรม ปลัดกรม มิได้ ก็ให้ปิดตราสนม ซ้าย ขวา ถ้าจะบอกอรรถแปรค้นไป​ก็ดี หมายบอกนั้นให้ปิดตราสำคัญจงทุกใบ และเนื้อความขึ้นแก่ศาลกรมมหาดไทย กรมกลาโหม กรมคลัง นา กรมนครบาล และบรรดาซึ่งมีสมุหบาญชีนั้น ให้หมายไปสมุหบาญชีให้ว่าแก่เจ้ากรม ปลัดกรม ให้เจ้ากรม ปลัดกรม ปรึกษาว่ากล่าวให้ ถ้าเจ้ากรม กรมใดหาสมุหบาญชีไม่ จะบัตรหมายไปถึงมูลนายและผู้พิจารณาขุนศาลเองไซร้ ก็ให้มูลนายผู้พิจารณาขุนศาลว่ากล่าว คงทำตามเรื่องราวเนื้อความซึ่งกล่าวไว้นี้ ให้มีหมายมาเบิกเนื้อความณะศาลแขวงไปนั้นจงทุกประการ ถ้าและกรมใด ผู้ใด เอาคู่ความผู้พิจารณาไปนั้นมิได้กระทำตามพระราชกำหนดกฎหมายไว้นี้ และจะทำประเวประวิงหน่วงเหนี่ยวความไว้ให้ช้าพ้นพระราชกำหนดกฎหมายเบิกและทุเลาเหมือนครั้งหลังนั้น จะคิดอ่านกันแอบอิงมาเบิกเอาไปแต่จะให้พ้นจากพิจารณา ทำให้ผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายซึ่งให้ไว้นี้แต่​ข้อใดข้อหนึ่งไซร้ จะเอาเนื้อความผู้ซึ่งให้มีหมายมาเบิกเอาตัวไปนั้นเปนแพ้ ถ้าเลขพิจารณาจะให้เอาเลขพิจารณาเปนสัจ ส่งเข้าหมู่ แล้วจะให้ปรับโทษเอาสินไหมพินัยแก่เจ้าความผู้ให้มาเบิกผู้มีคดีเนื้อความไปนั้นด้วยตามรูปความ และให้พระสุรัศวดี ซ้าย ขวา ใน นอก ให้กฎหมายบอกแก่ข้าทูลลอองฯ ทั้งปวง และข้าหลวงฝ่ายหน้า ฝ่ายหลัง และเจ้าต่างกรมจงทั่วทุกหมู่ทุกกรมอย่าให้ขาดได้ ถ้าและกฎหมายบอกมิทั่ว จะเอาพระสุรัศวดีซ้าย ขวา เปน โทษ ถ้าแจกทั่วแล้วผู้ใดมิได้กระทำตามกฎหมายให้ไว้นี้ จะเอาผู้นั้นเปนโทษตามกฎ

กฎให้ไว้ณะวันศุกร เดือนแปดแรม ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๐๖ ปีชวด ฉอศก. (พ.ศ.๒๒๘๗ รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ)

----------------------------
19  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: กฎ เรื่องการพิศูจน์เล็บในสำนวนความ - พระราชกำหนดเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ: 15 พฤษภาคม 2567 19:32:46


พระราชกำหนดเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา

กฎ เรื่องการพิศูจน์เล็บในสำนวนความ

​กฎให้แก่พระสุรัศวดี ซ้าย ขวา ใน นอก ให้กฎหมายบอกเจ้าพระยา และพระยา พระ หลวง เมือง เจ้าราชนิกุล ขุน หมื่น พัน ทนาย และ ตำรวจในซ้าย ขวา ตำรวจนอกซ้าย ขวา กรมวัง กรมล้อมวังซ้าย ขวา กรมมหาดเล็กชาวที่ และกรมพระสนมซ้าย ขวา ฝ่ายทหาร พลเรือน และผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการแขวง จังหวัด นายบ้าน นายอำเภอ ณะหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา ปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ และแขวงจังหวัดทั้ง ๔ และผู้มีบรรดาศักดิพิจารณาเนื้อความทั้งปวงจงทั่ว ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า และสุภาตุลาการพิจารณาความมีคู่ทั้งปวงแต่ก่อนนั้น ครั้นถามโจทก์จำเลยเปนสำนวนต่อกันแล้วยอมผูกสำนวน​ให้แต่โจทก์จำเลยศูจน์เล็บไว้ต่อกัน ครั้นโจทก์จำเลยเห็นถ้อยคำของตัวพิรุธในสำนวนข้อใดข้อหนึ่ง ครั้นตุลาการจะพิจารณาสืบไป ย่อมติดใจว่าแปลกเล็บ และว่าเสมียนผู้คุมดัดแปลงสำนวนเสีย และผู้พิจารณาทั้งปวงจะได้ว่ากล่าวแก่ผู้พิพากษาว่าเข้าด้วยโจทก์ จำเลย ติดใจว่าแปลกเล็บนั้นเนื้อความจะได้พิจารณานั้นศูจน์ยาวไป แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าและผู้มีอรรถคดีจะร้องฟ้องว่ากล่าวโทษแก่กันณะโรงศาล กรมใด ๆ ก็ดี และตุลาการถามโจทก์จำเลยเปนสำนวนต่อกันแล้วคัดเทียบออก จะเอาสำนวนนั้นผูกให้โจทก์ จำเลย ศูจน์เล็บไว้ให้ตุลาการปิดตราประจำเล็บไว้ด้วย ถ้าและจะเอาโจทก์จำเลยออกมาพิจารณาสืบไปนั้น ฝ่ายโจทก์ติดใจว่าแปลกเล็บ ฝ่ายจำเลยว่าชอบด้วยเล็บ และผู้พิจารณาว่าชอบด้วยดวงตราแล้ว อย่าให้ฟัง ให้ผู้พิจารณาตัดเล็บและดวงตราประจำไว้นั้นรักษา​ไว้จงดีอย่าให้ทุบต่อยเสีย และให้เร่งพิจารณาว่ากล่าวสืบไป ถึงว่าฝ่ายโจทก์ จำเลย ซึ่งติดใจว่าแปลกเล็บนั้น จะต้องฟ้องกล่าวโทษตุลาการและลูกความก็ดี จะได้เอาเล็บและดวงตราซึ่งตัดออกไว้นั้น จะได้ชันสูตรกับดวงตราซึ่งปิดตราประจำเล็บไว้นั้น ให้ผู้พิจารณาเร่งพิจารณาว่ากล่าวให้สำเร็จ อย่าให้ค้างช้าอยู่พ้นพระราชกำหนดกฎหมาย และให้พระสุรัศวดี หมายบอกแก่ผู้พิจารณาในกรุง ฯ นอกกรุง ฯ และแขวงจังหวัด และผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ ให้ทำตามกฎนี้

กฎให้ไว้ณะวันอาทิตย์เดือน ๑๒ แรม ๗ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๐๑ ปีมะแมเอกศก (พ.ศ.๒๒๘๒ รัชกาล สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ)

----------------------------
20  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ตลาดสด / Re: การจัดดอกไม้ คืออะไร? เมื่อ: 14 พฤษภาคม 2567 19:26:46

ภาพระบายสีน้ำ

การเตรียมการจัดดอกไม้และการดูแลหลังการจัดดอกไม้
       ๑. การแช่ Floral Foam ให้นำน้ำใส่ภาชนะปากกว้างปริมาณมากๆ วางก้อน Floral Foam ลงบนน้ำให้น้ำค่อยๆ ซึมผ่านขึ้นมา ห้ามกดให้จมน้ำหรือห้ามนำน้ำมาราดบนก้าน Floral Foam เด็ดขาด เพราะน้ำจะไปอุดตันช่องระบายอากาศ ทำให้น้ำซึมผ่านเข้าไปข้างในได้ยาก การแช่ Floral Foam ควรแช่อย่างน้อย ๒ ชั่วโมง เพื่อให้ดูดซึมน้ำได้อย่างเต็มที่ และเพื่อให้เกลือที่ผสมอยู่ไหลออกมา หรือทางที่ดีควรแช่ค้างคืนไว้ก็ได้ เกลือที่ผสมอยู่ในก้อน Floral Foam จะมีลักษณะเป็นน้ำมีสีน้ำตาลแดงมีผลทำให้ก้านดอกไม้เน่าเร็ว และทำให้น้ำที่แช่ Floral Foam มีกลิ่นเหม็นเร็วขึ้น
        ๒. การบรรจุ Floral Foam ลงในภาชนะ ถ้าเป็นภาชนะประเภทตะกร้าควรมีการรองรับน้ำให้เรียบร้อย แต่ไม่ว่าภาชนะจะเป็นตะกร้าหรือแจกันก็ตาม จะต้องเปิดช่องไว้สำหรับเติมน้ำและจะต้องบรรจุให้สูงกว่าปากภาชนะประมาณ ๒ – ๓ เซนติเมตร หรือถ้าต้องการปักดอกไม้ปริมาณมากๆ ให้บรรจุให้สูงกว่าที่กำหนดก็ได้ นอกจากนั้นควรปาดเหลี่ยม Floral Foam บริเวณปากภาชนะออก เพื่อเปิดพื้นที่ในการปักให้มากขึ้น และเพื่อเพิ่มความสะดวกในการปิดฐานของการจัดได้ง่ายขึ้น การบรรจุ Floral Foam ถ้าต้องการให้มีความปลอดภัยต่อการแตกกระจายในขณะจัดและปลอดภัยต่อการเคลื่อนย้าย ควรหุ้มด้วยลวดตาข่ายให้แน่นหนา เมื่อบรรจุเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรเปิดน้ำใส่ให้เต็มและเทน้ำทิ้ง เพื่อเป็นการล้างเกลือและเศษของ Floral Foam เติมน้ำลงไปใหม่ เป็นอันพร้อมที่จะจัดดอกไม้ได้
        ๓. การตัดก้านดอกไม้ ต้องตัดก้านด้วยมีดคมๆ ให้เฉียงมากๆ โดยใช้มือซ้ายจับก้านหงายขึ้น มือขวาจับมีด หัวแม่มือขวาจะเป็นตัวประคองก้านดอกไม้ไว้ตลอดเวลา การตัดก้านด้วยมีด จะทำให้ก้านดอกไม้ไม่ช้ำ สามารถดูดน้ำได้เต็มที่ และนอกจากนี้ยังสามารถบังคับองศาของการตัดได้อย่างที่เราต้องการการตัดก้านให้เฉียงมากๆ จะมีผลดีต่อการดูดน้ำของดอกไม้และยังสามารถทำให้ Floral Foam แตกได้ยาก การตัดก้านดอกไม้ ควรตัดบริเวณก้านที่เป็นส่วนหน้าของดอกไม้ และเวลาปักจะต้องหันหน้าของดอกไม้ขึ้นไปหากลางภาชนะ ซึ่งเท่ากับทำให้ดอกไม้หันหน้าขึ้นไปรับแสงอาทิตย์ การทำลักษณะนี้จะทำให้สภาพการปักดอกไม้มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด
        ๔. การดูแลรักษาหลังการจัดดอกไม้สด จะต้องหมั่นเติมน้ำทุกวัน เพราะในแต่ละวันดอกไม้ต้องการน้ำสำหรับนำไปสร้างความเจริญเติบโตให้กับดอก ก้าน และใบ นอกจากนี้ถ้าต้องการให้ดอกไม้มีความคงทนมากขึ้นให้เปลี่ยนน้ำทุกๆ ๓ วัน และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนน้ำควรดึงดอกไม้ขึ้นมาตัดก้าน และปักลงไปใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดเอาเซลล์ที่ตายแล้วทิ้งไป ดอกไม้ก็จะสามารถดูดน้ำได้ดีขึ้น

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดดอกไม้
        วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้กับการจัดดอกไม้ ควรเลือกให้เหมาะสม สะดวกต่อการใช้งานและการเก็บรักษา
        ๑. มีด จะแยกเป็นมีดตัดดอกไม้และมีดตัด Floral Foam ไม่ควรจะใช้มีดตัดดอกไม้มาตัด Floral Foam เพราะจะทำให้เสียคมได้ง่าย
        ๒. กรรไกร จะแยกเป็นกรรไกร หรือคีมตัดลวด กรรไกรตัดกระดาษ กรรไกรตัดริบบิ้น และกรรไกรตัดดอกไม้และกิ่งไม้ กรรไกรเหล่านี้ควรแยกประเภทให้แน่นอน แต่ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรใช้กรรไกรตัดก้านดอกไม้ เพราะกรรไกรมีคมที่หนา เวลาตัดก้านดอกไม้คมของกรรไกรจะบีบก้านดอกไม้ทำให้เกิดความช้ำ ดอกไม้จะดูดน้ำได้ไม่เต็มที่ มีผลทำให้ดอกไม้ไม่ทน
        ๓. คีมบิดลวด ควรมีปากกว้างพอสมควร
        ๔. แป้นสก็อตเทป ควรมีความใหญ่ และมีน้ำหนักพอสมควรเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการใช้งาน ส่วนสก็อตเทปควรเลือกชนิดที่ทนต่อการเปียกน้ำให้มากที่สุด
        ๕. ภาชนะเติมน้ำดอกไม้ ควรมีปากแคบ และยาว
        ๖. ภาชนะแช่ดอกไม้ ควรมีทั้งทรงสูงและทรงเตี้ย ปากกว้าง สามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย และจะต้องเก็บได้สะดวก
        ๗. แป้นหมุน ใช้สำหรับรองรับภาชนะที่ใช้จัดดอกไม้ ทำให้สะดวกต่อการจัดและการตรวจเช็คผลงาน
        ๘. ฟลอร่าเทป ควรเลือกสีให้เหมาะสำหรับก้านดอกไม้ แต่ถ้าต้องการใช้สำหรับตกแต่งอาจเลือกสีที่มีความแตกต่างก็ได้ เช่น สีแดง สีเหลือง สีชมพู สีขาว เป็นต้น นอกจากนี้ควรเลือกฟลอร่าเทปที่เป็นของแท้ ซึ่งจะสังเกตได้จากความเหนียวในขณะพันก้านดอกไม้
        ๙. ลวด มีทั้งชนิดเป็นขด และชนิดดึงยืดเป็นเส้นตรงที่ตัดสำเร็จมาเรียบร้อยแล้ว มีหลายขนาด สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมกับการใช้งาน
        ๑๐. กระดาษและพลาสติก สามารถเลือกขนาดความกว้างคุณภาพสีและลวดลายตามต้องการ
        ๑๑. ภาชนะสำหรับแช่ Floral Foam ควรมีที่เฉพาะสามารถถ่ายน้ำได้สะดวกและกักเก็บน้ำได้อย่างดี อาจใช้อ่างที่น้ำมีปุ่มกักหรือถ่ายน้ำออกได้ แต่ต้องระมัดระวังการอุดตันของท่อน้ำด้วย
        ๑๒. ตู้แช่ดอกไม้ จะต้องมีขนาดและอุณหภูมิที่เหมาะสมกับดอกไม้
        ๑๓. ลวดตาข่ายหรือลวดกรงไก่ มีทั้งตาหกเหลี่ยม และสี่เหลี่ยม ปัจจุบันมีชนิดที่เป็นพลาสติกด้วย
        ๑๔. คีมปลิดหนามและใบกุหลาบ สามารถทำงานได้รวดเร็ว แต่มีข้อเสียคือ ทำให้ก้านกุหลาบหักง่ายและถลอกไม่สวยงาม เราอาจเปลี่ยนมาใช้มีดปลิดหนามและใบแทนก็ได้
        ๑๕. แจกัน ควรเลือกชนิดที่มีการเคลือบภายในเพื่อสะดวกต่อการล้างทำความสะอาด และยังป้องกันไม่ให้เกิดการตกค้างของเชื้อแบคทีเรีย ควรเลือกชนิดที่ตั้งได้อย่างมั่นคงและมีปากกว้าง เพื่อจะได้เพิ่มความสะดวกต่อการจัดดอกไม้
        ๑๖. ตะกร้า มีหลายขนาด หลายแบบให้เลือกปัจจุบันนี้มีการนำเอาวัสดุต่างๆ มาใช้ในการผลิตตะกร้าทำให้เราสามารถเลือกซื้อได้ตามความต้องการและความเหมาะสมในการจัด แต่ทางที่ดีควรเลือกตะกร้าชนิดที่มีหูหิ้ว เพื่อสะดวกต่อการขนส่งให้กับลูกค้า
        ๑๗. Floral Foam ใช้สำหรับปักดอกไม้ ใบไม้ มีหลายชนิดให้เลือก ชนิดที่ใช้กับดอกไม้สดจะเรียกกว่า “Oasis” ส่วนชนิดที่ใช้กับดอกไม้แห้งหรือดอกไม้ประดิษฐ์เรียกว่า “Sahara


ลักษณะของดอกไม้
        ดอกไม้ที่เราเลือกซื้อมาใช้นั้นจะมีให้เลือกมากมายหลายชนิด หลากหลายรูปแบบ แต่สำหรับนักจัดดอกไม้จะแบ่งลักษณะดอกไม้ออกเป็น ๔ รูปแบบด้วยกัน ได้แก่
        ๑. Line Flowers คือ ดอกไม้ ใบไม้ที่มีลักษณะเป็นแนว หรือเป็นเส้น ซึ่งดอกไม้ ใบไม้ เหล่านี้จะเป็นดอกใบ หรือกลุ่มช่อดอกที่เรียงขึ้นไปตามความยาวของก้านดอก เช่น กลาดิโอลัส กกธูป ซ่อนกลิ่น ลีอาทรีส เดฟีเนี่ยม แบกราส สติลกราส เป็นต้น   ด้วยลักษณะของความเป็นเส้นที่เด่นชัดของ Line Flowers นี้เอง จึงมักถูกนำมาจัดวางให้เป็นตัวกำหนดโครงร่างของรูปทรงการจัดดอกไม้ในภาชนะต่างๆ โดยเฉพาะกำหนดความสูงและความกว้างของรูปทรง นอกจากนี้ยังมีเส้นที่เด่นชัดมากๆ สามารถที่จะนำมาปักให้เป็นตัวนำสายตาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
        ๒. Form Flowers คือ ดอกไม้ ใบไม้ที่มีรูปทรงที่เด่นชัดมีกลีบไม่มาก ไม่มีความซับซ้อนในรูปทรงมากจนเกินไป เช่น ดอกหน้าวัว ดอกลิลลี่ ดอกแคทรียา ใบไม้ตระกูลพิโลเดนดรอน เป็นต้น  ลักษณะที่เด่นชัดของรูปทรงของดอกไม้ ใบไม้ ประเภทนี้จึงมักถูกนำมาปักให้เป็นจุดเด่นหรือ Focal Point ในการจัดดอกไม้ลงในภาชนะ
        ๓. Mass Flowers คือ ดอกไม้เดี่ยวที่มีกลีบซ้อนมากๆ และจะมองดูมีน้ำหนัก เช่น เยอร์บีร่า คาร์เนชั่น กุหลาบ เป็นต้น  ดอกไม้ประเภทนี้จะมีมากในท้องตลาด เป็นดอกไม้ที่ทำหน้าที่ในการเติมเต็มให้กับการจัดดอกไม้  สามารถสร้างความสมดุลและความแตกต่างในชิ้นงาน แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างให้เกิดความกลมกลืนให้กับชิ้นงานที่จัดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย  นอกจากนี้ในบางโอกาสที่เราไม่สามารถจัดหาดอกไม้ประเภท Form Flowers มาใช้ได้นั้น เราสามารถ Mass Flowers มาใช้แทนได้โดยการจับรวมกลุ่มในลักษณะของ Clustering ซึ่งหมายถึงการรวมกลุ่มของสิ่งเล็กๆ ให้เกิดพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดความเด่นชัดในตัวเองมากขึ้น
        ๔. Filler Flowers คือ ดอกไม้ ใบไม้ ที่ใช้แต่งเติมหรือเสริมแซมเข้าไปในแจกันที่เราจัดขึ้นมา เพื่อให้เกิดความนุ่มนวลของสีและผิวสัมผัส ดอกไม้ ใบไม้ ประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นดอกเล็กๆ ฝอยๆ เช่น ยิปโซฟิลล่า สร้อยทอง แคสเปียร์ เล็บครุฑผักชี หลิวทอง ใบโปร่งฟ้า ปริกแคระ แว็กซ์ เป็นต้น เนื่องจากลักษณะของดอกไม้ ใบไม้ประเภทนี้จะมีลักษณะเล็กๆ เมื่อใช้ปริมาณมากจนเกินไปจะทำให้เกิดความรกรุงรัง เราสามารถที่จะนำดอกไม้ใบไม้ประเภทนี้มาปักให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันก็จะสามารถเพิ่มความเด่นชัดและลดความรุงรังได้เป็นอย่างดี  ปัญหาของนักจัดดอกไม้ที่มักพบกันอยู่เสมอคือ ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะนำดอกไม้ประเภทใดมาใช้ในการจัดแจกันสักหนึ่งแจกัน บางท่านอาจเคยได้ยินคำว่า “นักจัดดอกไม้ที่ดี มีอะไรก็ต้องจัดได้” แต่ถ้านักจัดดอกไม้ที่ดีมีโอกาสที่จะเลือกดอกไม้ที่จะนำมาใช้จัด ควรเลือกดอกไม้ให้ครบทั้งสี่ประเภท มาใช้ในการจัดแจกันหนึ่งแจกัน ซึ่งจะทำให้สามารถจัดดอกไม้ได้อย่างลงตัวง่ายขึ้น




800-28
ขอขอบคุณ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฎเพชรบูรณ์ (ที่มาข้อมูล)
หน้า:  [1] 2 3 ... 275
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.415 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้