[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: เงาฝัน ที่ 22 มกราคม 2553 11:35:23



หัวข้อ: ๒๘ ธ.ค. "วันพระเจ้าตากสินมหาราช"
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 22 มกราคม 2553 11:35:23


(http://i-turr.com/wp-content/uploads/2008/12/untitled2.jpg)
ภาพจาก:http://i-turr.com/wp-content/uploads/2008/12/untitled2.jpg (http://i-turr.com/wp-content/uploads/2008/12/untitled2.jpg)

๒๘ ธ.ค. "วันพระเจ้าตากสินมหาราช"


เมื่อวาน-๒๘  ธันวาคม  เป็น  "วันพระเจ้าตากสินมหาราช"  ถ้าไม่มีพระองค์  ก็จะไม่มีประเทศไทย   และคนไทยในวันนี้  แต่ดูเหมือนว่าพระองค์จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่อาภัพ  พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ยิ่งใหญ่ขนาดไหน  คนไทยก็ดูคล้ายลืมกันไปขนาดนั้น  ขนาดพระราชประวัติ  ใครต้องการศึกษาให้ลึกซึ้ง  ต้องพึ่งหนังสือฝรั่งรวบรวมมากกว่าจะหาได้จากการขวนขวายนำเสนอของคนไทยกันเอง

     ไม่เชื่อก็ลองทดสอบดูก็ได้นี่ครับว่า  คนไทยมีความรู้-ความเข้าใจเกี่ยวกับ  "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตากสินมหาราช"  มากน้อยแค่ไหน...เอ้า..ลองตอบซิว่า  "วันที่  ๒๘  ธันวาคม  ที่เป็นวันพระเจ้าตากสินมหาราช  นั้น  มีความหมายถึงวันอะไร?"

     เป็นวันพระราชสมภพ,  เป็นวันเสด็จสวรรคต,  เป็นวันชนะศึก,  เป็นวันสถาปนากรุงธนบุรีพร้อมเสด็จขึ้นครองราชย์  หรือเป็นวันกู้ชาติสำเร็จ?

     อึกอักๆ  กันใช่มั้ยล่ะ  วันที่  ๒๘  ธันวาคม  คือ  หลังจากขับไล่พม่าพ้นไปจากแผ่นดินไทยแล้ว  ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี  เมื่อวันที่  ๒๘  ธันวาคม  พุทธศักราช  ๒๓๑๐  ก็ช่วยกันจำให้แม่นต่อจากนี้ไปนะครับ

     ส่วนวันพระราชสมภพ  คือ  ปีขาล  วันอาทิตย์ที่  ๗  เมษายน  พ.ศ.๒๒๗๗  ถ้านับถึงปีหน้า-ปีขาล  ๗  เมษายน  พ.ศ.๒๕๕๓  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตากสินมหาราช  ก็ทรงมีชาตกาลยาวนานครบ  ๒๗๖  ปี!

     บ้านเมืองช่วงนี้  มีแต่ปฏิบัติการหมาหอน  หมาเห่า  และหมากัดกัน  ไม่มีคุณค่า  และไม่มีสาระอะไรที่จะหยิบมาคุยกันให้เกิดสนิมอารมณ์  ฉะนั้น  วันนี้เรามาเรียนประวัติศาสตร์ไทยในอีกแง่มุมหนึ่งเกี่ยวกับ  "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตากสินมหาราช"  กันดีไหม?  ผมไม่ได้รวบรวมมาเองหรอก   หากแต่คัดลอกของ  "คุณอมรรัตน์  เทพกำปนาท"  กลุ่มประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  กระทรวงวัฒนธรรม  ที่เผยแพร่อยู่ในเว็บสนุกดอตคอม  เขามาให้ท่านอ่าน  ดังนี้

     เนื่องในโอกาส  วันที่  ๒๘  ธันวาคม  ของทุกปี  เป็น  "วันพระเจ้าตากสินมหาราช"  วีรกษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชให้แก่แผ่นดินไทย  ดังนั้น  เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ  และพระปรีชาสามารถ  ตลอดจนการเสียสละอย่างใหญ่หลวงของพระองค์  จึงขอน้อมนำเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและแนวทางการแก้ไขในยุคกรุงธนบุรี  มานำเสนอเพื่อให้พวกเราปัจจุบันได้ทราบว่าในสมัยนั้น  มีวิธีการแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไปได้อย่างไร  เพราะไม่ว่ายุคใดสมัยไหน  ปัญหาเศรษฐกิจอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับปากท้องชาวบ้านนับเป็นเรื่องใหญ่  และสำคัญของบ้านเมืองเสมอ

     ตลอดระยะเวลา  ๑๕  ปี  ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  นับตั้งแต่ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี  ในปี  พ.ศ.๒๓๑๐  จนถึงปี  พ.ศ.๒๓๒๕  ที่เสด็จสวรรคต  พระองค์ต้องทรงตรากตรำกรำศึกมาโดยตลอด  นอกจากต้องรบกับพม่าเพื่อกอบกู้เอกราชในครั้งแรก  รวมถึงการทำศึกกับก๊กต่างๆ  ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่แล้ว  ยังต้องทำการรบกับพม่าที่ยกมาโจมตีอีกถึง  ๙  ครั้งใหญ่

     ในขณะเดียวกันก็ยังได้ทำสงครามขยายอาณาเขตอีกหลายครั้ง  เป็นผลให้ไทยมีประเทศราชหลายแห่งกลับคืนมาเหมือนสมัยอยุธยา  ซึ่งในช่วงแรกหลังจากการเสียกรุงครั้งที่  ๒  กล่าวได้ว่าเศรษฐกิจของบ้านเมืองอยู่ในภาวะตกต่ำเป็นอย่างยิ่ง  การทำไร่นาและการค้าขายกับต่างประเทศหยุดชะงักลงเกือบจะสิ้นเชิง  และแม้หลังการกอบกู้ชาติได้แล้ว  ความอดอยากและการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคก็เกิดขึ้นอยู่แทบจะตลอดรัชกาล  เนื่องจากมีปัจจัยและสิ่งแวดล้อมที่ต้องทำให้สิ้นเปลืองและกระทบกับสภาพเศรษฐกิจโดยส่วนรวมหลายอย่าง  อาทิ

     ๐ในช่วงก่อนกรุงแตก  พม่าได้ยกทัพมาปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นาน  ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำไร่ทำนา  หรือค้าขายได้ตามปกติ  ความขาดแคลนจึงเกิดขึ้นไปทั่ว

     ๐เมื่อครั้งทำศึกกับก๊กต่างๆ  รวมทั้งศึกพม่าและชาติอื่นๆ  ที่มีอีกหลายครั้ง  ทำให้ต้องใช้กำลังพลในการตระเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์  เช่น  การต่อเรือ  การระดมพลเพื่อฝึกปรือ  ฯลฯ  ซึ่งมีผลกระทบต่อกำลังการผลิตเป็นอย่างมาก

     ๐ในระยะแรกที่มีการสร้างเมืองหลวงใหม่  การสถาปนาเจ้านายต่างๆ  รวมไปถึงการปูนบำเหน็จความดีความชอบแก่ข้าราชการขุนนาง  ต้องใช้กำลังทรัพย์ไม่น้อย  ทำให้มีรายจ่ายมากขึ้น

     ๐ในรัชสมัยของพระองค์  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรีบฟื้นฟูและทำนุบำรุงพระศาสนา  ตลอดจนชำระสะสางคณะสงฆ์ให้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมวินัย  เพราะได้ทรุดโทรมลงมากในช่วงบ้านเมืองเกิดจลาจล  จึงจำเป็นต้องใช้พระราชทรัพย์เป็นอันมากเพื่อการดังกล่าว

     จากเหตุข้างต้น  เราจะเห็นได้ว่าสภาพเศรษฐกิจบ้านเมืองเวลานั้น  ถ้าพูดแบบสมัยนี้ก็ต้องว่า  ตกอยู่ภาวะวิกฤติอย่างยิ่ง  ด้วยเหตุนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  หรือพระเจ้ากรุงธนบุรี  จึงได้วางนโยบายที่จะผ่อนปรนความเดือดร้อนของราษฎร  หรือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญ  ดังนี้

     ประการแรก  ทรงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องความอดอยากและขาดแคลน  ด้วยการพระราชทานข้าวสารให้แก่บรรดาข้าราชการ  ทหาร  และพลเรือนทั้งไทย/จีน  คนละ  ๑  ถังต่อ  ๒๐  วัน  นอกจากนี้  ยังทรงแจกจ่ายอาหารเลี้ยงดูพลเรือนที่อดโซด้วย

     ประการที่สอง  ในช่วงแรกที่ทรงครองราชย์  และเพิ่งผ่านพ้นจากการจลาจลสงคราม  จึงยังไม่มีผู้ทำไร่ทำนาเพื่อเพิ่มผลผลิตให้พอเลี้ยงดูผู้คน  ทรงแก้ปัญหาด้วยการซื้อข้าวสารจากพ่อค้าสำเภาจีน  โดยยอมซื้อในราคาแพงเพื่อแจกจ่ายคนทั้งปวง  ซึ่งเมื่อข้าวขายได้ในราคาแพง  บรรดาพ่อค้าจีนจากที่ต่างๆ  ก็นำข้าวมาขายเพิ่มขึ้น  เกิดการแข่งการขาย  ข้าวจึงมีราคาถูกลงตามหลักดีมานด์-ซัพพลาย  ราษฎรก็ได้รับประโยชน์

     ประการที่สาม  โปรดให้ข้าราชการผู้ใหญ่และผู้น้อยทำนาปีละ  ๒  ครั้งในปี  พ.ศ.๒๓๑๑  เป็นการแก้ปัญหาความขาดแคลน  เพราะช่วงนั้นข้าวสารราคาสูงมาก  ทำให้ราษฎรเดือดร้อน

     ประการที่สี่  ปรากฏว่าในปี  พ.ศ.๒๓๑๑  นั้นเอง  ข้าวในยุ้งฉางและทรัพย์สินต่างๆ  เสียหายเป็นอันมาก  เนื่องจากมีกองทัพหนูมากัดกินเป็นจำนวนมาก  พระองค์จึงมีรับสั่งให้ข้าราชการและพลเรือนทั้งหลายจับหนูมาส่งกรมพระนครบาลทุกวัน  หนูจึงสงบหายไป

     ประการที่ห้า  ทรงให้มีการส่งเสริมการค้าขายกับต่างประเทศ  ซึ่งพ่อค้าที่มีบทบาทสำคัญในช่วงนั้นคงจะเป็นพ่อค้าจีน  ซึ่งการค้ากับต่างประเทศนี้ก็ได้ช่วยบรรเทาความขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคภายในบ้านเมืองได้ในระดับหนึ่ง

     ประการที่หก  การที่ทรงสามารถปราบปรามหัวเมืองต่างๆ  รวมทั้งประเทศราช  ทำให้มีฐานอำนาจทางการเมืองมั่นคง  ซึ่งมีผลต่อการเก็บภาษีอากร  ส่วย  และเครื่องราชบรรณาการมาเป็นรายได้  ได้อีกส่วนหนึ่ง

     ประการที่เจ็ด  ในช่วงพม่ายกมาล้อมกรุงศรีอยุธยานั้น  ปรากฏว่าราษฎรได้ฝังทรัพย์สินไว้ตามบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก  เมื่อเสร็จสงครามก็มีเจ้าของไปขุดบ้าง  ผู้อื่นไปขุดหาทรัพย์ที่เจ้าของตายแล้วบ้าง  ดังนั้น  ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้จัดเก็บภาษีแก่ผู้ที่ไปขุดหาทรัพย์เหล่านี้  โดยมีเจ้าหน้าที่ไปประจำอยู่ที่กรุงเก่า  และห้ามมิให้ผู้ใดขุดทรัพย์โดยพลการ  ซึ่งการเก็บภาษีผูกขาดเช่นนี้  เป็นการเพิ่มพูนรายได้แก่แผ่นดินไม่น้อย

     ประการที่แปด  ทรงเอาผิดและลงโทษผู้ที่บ่อนทำลายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและเฉียบขาด  เช่น  ลงโทษประหารชีวิตผู้ที่ลักลอบทำเงินพด  หรือผู้ที่เบิกข้าวหลวงแล้วแทนที่จะไปแจกราษฎรกลับเอาไปให้ภรรยา  ก็ได้ลงอาญาเฆี่ยนตี  ๑๐๐  ที  และปรับข้าวเป็น  ๑๐  เท่า  ลดตำแหน่งลง  และเอาลูกเมียไปจองจำ  ต่อเมื่อมีศึกจึงค่อยไปทำราชการแก้ตัว  อย่างนี้เป็นต้น  การดำเนินการอย่างเฉียบขาดเช่นนี้  ทำให้คนกลัวและช่วยพยุงฐานะเศรษฐกิจได้บ้างส่วนหนึ่ง

     นอกจากนี้  ยังได้พัฒนาประเทศในแนวแปลกใหม่สำหรับสมัยนั้นด้วย  คือ  ทรงให้มีการตัดถนนในฤดูหนาวคราวว่างศึก  เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาของพ่อค้าประชาชน  ซึ่งตามธรรมดาเส้นทางคมนาคมสมัยเมื่อ  ๒๐๐  ปีมาแล้ว  มักจะเป็นทางน้ำทั้งสิ้น  นับว่าพระองค์ทรงมีแนวคิดพัฒนาประเทศทันสมัยทีเดียว

     อย่างไรก็ดี  แม้จะดำเนินการต่างๆ  เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างที่กล่าวมาแล้วก็ตาม  สภาพเศรษฐกิจในสมัยพระองค์ก็มิได้มีความเจริญเติบโตสมบูรณ์อย่างเต็มที่  ทั้งนี้  คงเป็นเพราะการศึกสงครามที่ยังมีอยู่แทบตลอดรัชกาลนั่นเอง  ซึ่งปัญหาความอดอยากนี้นับว่าเป็นปัญหาหนักทีเดียว  จนพระองค์ถึงกับทรงเคยเอ่ยพระโอษฐ์ด้วยความทุกข์พระราชหฤทัยว่า

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/220/7220/images/King-Taksin.jpg)
ภาพจาก: board.palungjit.com/f6/28-ธันวาค ...

     "...บุคคลผู้ใด  เป็นอาทิ  คือ  เทวดา  บุคคลผู้มีฤทธิ์มาประสิทธิ์  มากระทำ  ให้ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ขึ้น   ให้สัตว์โลกเป็นสุขได้  แม้ผู้นั้นจะปรารถนาพระพาหาแห่งเราข้างหนึ่ง  ก็อาจตัดบริจาคให้แก่ผู้นั้นได้  ความกรุณาเป็นสัตย์ฉะนี้..."

     จากพระราชปรารภข้างต้น  คงจะทำให้เราได้เห็นน้ำพระราชหฤทัยของพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น  ว่าทรงตั้งใจเสียสละเพื่อราษฎรเพียงใด  ตลอดรัชกาล  พระองค์ต้องทรงพระราชดำริทั้งเรื่องการรบข้าศึกศัตรู  เรื่องการฟื้นฟูและทำนุบำรุงบ้านเมือง  คิดถึงการแก้ปัญหาปากท้องราษฎร  แต่ละเรื่องนับเป็นภาระที่หนักยิ่ง  หากมิใช่เพราะพระปรีชาสามารถ  น้ำพระราชหฤทัยที่ห้าวหาญ  และความเสียสละของพระองค์ท่านแล้ว  คงยากที่เราจะมีวันนี้ได้



โดย เปลว สีเงิน
29 ธันวาคม 2552


 (:88:) : http://www.thaipost.net/news/291209/15684 (http://www.thaipost.net/news/291209/15684)


กราบสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช...
และขอบพระคุณที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ



หัวข้อ: Re: ๒๘ ธ.ค. "วันพระเจ้าตากสินมหาราช"
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 22 มกราคม 2553 16:54:43
อนุโมทนาครับ