ป่าของโทโทโร่ ท้องทะเลของโปเนียว ธรรมชาติที่เคลื่อนไหวและมีตัวตนในผลงาน จิบลิ

(1/1)

มดเอ๊ก:
Tweet



ป่าของโทโทโร่ ท้องทะเลของโปเนียว ธรรมชาติที่เคลื่อนไหวและมีตัวตนในผลงานสตูดิโอจิบลิ



งานของสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) มักจะมีธรรมชาติเป็นหนึ่งในแกนสำคัญของเรื่อง เราอาจจะเห็นการกลับไปสู่พื้นที่ชนบทและการก้าวไปสู่ดินแดนเหนือธรรมชาติในโทโทโร่ เห็นความขัดแย้งของเมืองและมนุษย์กับโลกรอบๆ ในเจ้าหญิงโมโนโนเกะ เห็นท้องทะเลที่ทรงอำนาจและไม่ใยดีในโปเนียว และธรรมชาติอันแปลกประหลาดเหล่านี้แหละที่ดึงเรากลับเข้าไปสู่ความฝัน และจินตนาการที่มีต่อธรรมชาติ

เราทั้งรัก ทั้งยำเกรง ทั้งแข่งขัน และยอมแพ้ให้กับธรรมชาติ

ธรรมชาติในงานของ มิยาซากิ ฮายาโอะ เป็นธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน งานที่ดูจะแสนน่ารักและสีสันสดใส จริงๆ แล้ว กลับไม่ได้ไร้เดียงสาแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งที่ดูจะทำให้งานของมิยาซากิมีความเป็นผู้ใหญ่และสัมผัสหัวใจผู้ใหญ่อย่างเราๆ คือการที่นอกจากจะเล่าเรื่องที่ดูเป็นนิทานปรัมปราแล้ว มิยาซากิยังตั้งใจสร้างตัวตนของธรรมชาติให้มีความซับซ้อน ทำให้เราได้กลับไปเห็น ไปรู้สึกถึงปฏิสัมพันธ์อันซับซ้อนกับธรรมชาติอีกครั้ง

งานของมิยาซากิ—คือนอกจากว่าแกจะอยากเล่าถึงธรรมชาติ อยากจะสร้างสไตล์งานที่ฉีกออกจากภาพธรรมชาติที่สะอาดสะอ้านและแบนราบแบบดิสนีย์แล้ว ทัศนคติที่บรรจุอยู่ในเรื่อง ความคิด ความเชื่อ และมุมมองที่มีจิตวิญญาณก็ดูจะเวรี่ญี่ปุ่น สะท้อนถึงมุมมองแบบญี่ปุ่นต่อธรรมชาติ ทั้งโหยหา ทั้งเคารพ ทั้งยำเกรง ทั้งหมดนี้เองจึงอาจเป็นจุดที่สัมผัสกับความรู้สึกบางอย่างของเรา ที่เราเองก็อาจจะเป็นแค่มนุษย์ตัวเล็กๆ ที่ไปเห็น และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ได้กลับไปเป็นจุดหนึ่งของระบบที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา



ธรรมชาติที่ไม่ไร้เดียงสา

นั่นสิ อะไรคือความพิเศษของภาพแทนหรือตัวตนของธรรมชาติในงานของจิบลิ ย้อนไปตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของสตูดิโอเอง หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของมิยาซากิคือการทำอนิเมชั่นที่แตกต่างไปจากดิสนีย์และอนิเมะ อันเป็นสไตล์อินเมชั่นกระแสหลักของญี่ปุ่น—หรือกระทั่งของโลกนี้ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นแบบนั้นมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 ที่เกิดจิบลิขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากสไตล์และเรื่องแล้ว มิยาซากิยังมีความเห็นว่า ภาพธรรมชาติในการ์ตูนดิสนีย์นั้นมีความไร้เดียงสาเกินไปหน่อย ธรรมชาติในดิสนีย์ออกจะ ‘สะอาด’ ใสซื่อ ตกเป็นรองมนุษย์ ธรรมชาติไม่ได้ฟังก์ชั่น ธรรมชาติเป็นเพียงแค่ฉาก มิยาซากิอธิบายว่า เขาเห็นว่าธรรมชาติมีความงดงามและเปี่ยมความหมายกับเรามากกว่านั้น ธรรมชาติสำหรับเขาไม่ว่าจะเป็นสภาวะอากาศ กาลเวลา แสงแดด ต้นไม้ใบหญ้า ทุกๆ อย่างล้วนเปี่ยมไปด้วยความหมาย ดังนั้นแกเลยบอกว่า ทางสตูดิโอจึงพยายามเล่าถึงทุกแง่มุมของธรรมชาติในผลงานสตูดิโอ

ถ้าสรุปอย่างคร่าวๆ งานของมิยาซากิดูจะเริ่มจากจุดยืนที่มีความเป็นปรัชญา เริ่มจากมุมมองและจุดยืนของมนุษย์ที่แสนจะเข้าใจและเคารพต่อธรรมชาติ



ศักดิ์สิทธิ์และทรงพลัง—ความบริสุทธิ์แต่ไม่ไร้เดียงสาของธรรมชาติ

จริงๆ ไม่เชิงแค่มุมมองของญี่ปุ่น ในโลกตะวันออก กระทั่งโลกทั้งใบนี้ในยุคโบราณเอง เราก็ดูจะยำเกรงและมองธรรมชาติในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอ แต่ด้วยการเข้ามาของโลกสมัยใหม่ ของเมือง และของอารยธรรมมนุษย์ที่ทำให้เราถูกตัดขาด และบางครั้งก็รู้สึกว่าเรานี่ใหญ่โตและสามารถเอาชนะธรรมชาติได้

เรื่องราวมหัศจรรย์ในงานของมิยาซากิมักจะพูดถึงการกลับไปสู่ธรรมชาติ พื้นที่ธรรมชาติในงานของจิบลิมักเป็นภาพของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นพื้นที่โดดเดี่ยว และพ้นจากการเอื้อมถึงของเงื้อมมือมนุษย์ ภาพของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นมักมีนัยของการเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นพื้นที่ของภูตพรายและทวยเทพที่เต็มไปด้วยพลังและจังหวะของตัวเอง เราอาจจะยังพอจำความรู้สึกเมื่อตัวละครสำรวจไปจนถึงดินแดนลึกลับที่เราเข้าไม่ถึง เรารู้สึกขนลุก และหลงใหลไปกับภาพของธรรมชาติที่แสนตระการตาเหล่านั้น

ความเท่ของธรรมชาติในงานของจิบลิ คือ ภาพธรรมชาติที่บริสุทธิ์—แม้พ้นจากเงื้อมมือของมนุษย์ แต่ไม่ไร้เดียงสา ไม่มีลักษณะที่ ‘เชื่อง’ หรือ ‘สะอาด’ ลองนึกถึงภาพของเจ้าโทโทโร่ที่แม้ว่ามันจะหน้าตาน่ารัก แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่แน่ใจว่าดินแดนของธรรมชาตินั้นจะเป็นมิตรกับเราไหม บางครั้งโทโทโร่ก็ดูทรงพลังเกินกว่าที่เราจะรับมือได้ บางครั้งในความน่ารักนั้นกลับแฝงไว้ด้วยความดุร้าย เข้าใจไม่ได้บางอย่าง ในทำนองเดียวกับความไม่ปราณีของท้องทะเลจากเรื่องโปเนียว หรือธรรมชาติเรื่องอื่นๆ ที่ประกอบปนเปขึ้นทั้งด้วยความงดงามอารี แต่ก็มีความป่าเถื่อน รุนแรง และเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงแฝงอยู่ในที




หลายครั้งที่เราพอสังเกตได้จากความสัมพันธ์และความปรารถนาของเราที่มีต่อธรรมชาติ คือการได้เข้าไปเห็นความยิ่งใหญ่ เห็นระบบบางอย่างที่หายไปจากโลกสมัยใหม่ของมนุษย์ เป็นระบบนิเวศของธรรมชาติที่แน่ล่ะว่าเต็มไปด้วย ‘ความเป็นธรรมชาติ’ ไม่ว่าจะเป็นความไร้ระเบียบ อันตราย เหนือการควบคุม เหนือกาลเวลา ในขณะเดียวกันมีความกลมเกลียวและมีสันติสุข ภาพของธรรมชาติในงานของจิบลินอกจากจะทำให้เราได้กลับไปสู่ธรรมชาติอีกครั้ง แต่เราได้รับรู้ถึงความเล็กกระจ้อยร่อยของเรา และเราก็ได้กลับไปเป็นจุดเล็กๆ ภายใต้ระเบียบจักรวาลที่ใหญ่กว่าตัวเราอีกครั้ง


ทั้งหมดนี้ก็อาจจะเป็นสิ่งสะท้อนถึงมิติทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นร่วมสมัย จากผลกระทบและการตั้งคำถามจากสงครามโลกครั้งที่ 2 การก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็ต้องรับกับธรรมชาติอันรุนแรงเช่นสึนามิ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เราอาจจะพอจับสังเกตได้ไม่ว่าจะจากดินแดนภูตภูเขา อาณาจักรลอยฟ้า เรื่องราวของเครื่องบินรบ หรือเด็กหญิงจากท้องทะเล

 จาก https://thematter.co/social/only_human_in_nature_world_of_studio_ghibli/99548

จาก http://www.tairomdham.net/index.php/topic,16254.0.html

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ