[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 15 มิถุนายน 2560 17:09:23



หัวข้อ: ราชทูตสยามไปฝรั่งเศส ในสมัยรัชกาลที่ ๔
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 15 มิถุนายน 2560 17:09:23

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/98924661427736_b1.gif) 

.  ราชทูตสยามไปฝรั่งเศส ในสมัยรัชกาลที่ ๔  .

ในสมัยอยุธยานับตั้งแต่ออกพระวิสุทธิสุนทรหรือโกษาปาน ราชทูตสยามเดินทางไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส เมื่อพุทธศักราช ๒๒๒๘ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสดำเนินไปอย่างราบรื่นตลอดรัชสมัยจนกระทั่งมาสิ้นสุดลงในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา

ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์จึงได้มีการฟื้นฟูทางพระราชไมตรีกับฝรั่งเศสครั้งใหม่ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้คณะราชทูตสยามอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Empereur Napoléon III) เพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ในการส่งราชทูตไปครั้งนี้สืบเนื่องจากการที่เมื่อครั้งปีมะโรง พุทธศักราช ๒๓๙๘ สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เมอสิเยอร์ชาร์ลส์ เดอ มงติญี (Monsieur Charles de Montigny) กงสุลฝรั่งเศสประจำเซี่ยงไฮ้และหนิงโป เป็นผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มเดินทางมาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๓๙๙ ในคราวนั้นนอกจากจะมีการตกลงทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีจนเป็นผลสำเร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งกับราชทูตฝรั่งเศสถึงพระราชประสงค์ที่จะแต่งคณะราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับฝรั่งเศสเป็นการตอบแทน

เมื่อกลับถึงฝรั่งเศสเมอสิเยอร์ชาร์ล เดอ มงติญี ได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ มีรับสั่งให้รัฐบาลฝรั่งเศสแจ้งมาว่า หากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงแต่งราชทูตไปฝรั่งเศสก็ทรงยินดีที่จะให้เรือรบฝรั่งเศสมารับคณะราชทูตไป และให้กลับมาส่งเหมือนอย่างครั้งสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เคยรับออกพระวิสุทธสุนทร

เมื่อแจ้งดังนั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับฝรั่งเศส โปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) เป็นราชทูต เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (วร บุนนาค) เป็นอุปทูต พระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) เป็นตรีทูตและเป็นผู้จดบันทึกการเดินทาง และบาทหลวงหลุยส์ ลาร์โนดี (Louis Larnaodie) เป็นเลขานุการและล่ามในคณะ พร้อมผู้ช่วย และเจ้าพนักงานกำกับดูแลเครื่องราชบรรณาการ รวมจำนวนผู้เดินทาง ๒๗ คน  คณะราชทูตได้อัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ มีกระบวนแห่พระราชสาส์นจากพระบรมมหาราชวังไปลงเรือพระที่นั่งมณีเมขลา เพื่อนำไปส่งยังเรือรบฝรั่งเศสซึ่งทอดสมออยู่ที่นอกสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา โดยพลเรือโท ชาร์เน (Charnez) ผู้บัญชาการกองทัพเรือประจำทะเลจีนใต้ได้สั่งให้เตรียมเรือไว้สำหรับคณะทูตสยามตั้งแต่เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๔๐๔ เพื่อจะได้เดินทางถึงฝรั่งเศสในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่อากาศเริ่มหมดหนาว

คณะราชทูตสยามออกเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยเรือรบของฝรั่งเศสชื่อ “จีรงด์” (Gironde) เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๐๔ โดยเดินทางมุ่งไปยังสิงคโปร์ ผ่านศรีลังกา อียิปต์ และเข้าสู่ฝรั่งเศสที่เมืองตูลง (Toulon) ซึ่งเป็นเมืองท่าเรือทางทหารที่ยิ่งใหญ่ ณ ที่นี้ราชทูตสยามได้พบกับเมอสิเยอร์ชาร์ลส์ เดอ มงติญี คณะนายทหารเรือฝรั่งเศส และเจ้าหน้าที่ประจำเมืองตูลง ๓ คน มาต้อนรับและแนะนำเรื่องการเข้าเฝ้าให้ถูกต้องตามธรรมเนียมยุโรป พร้อมทั้งคอยอำนวยความสะดวกตลอดระยะเวลาการเดินทางในฝรั่งเศส  คณะราชทูตสยามเข้าพักที่โรงแรมเมืองตูลง ๒ คืน จากนั้นเดินทางโดยรถไฟต่อไปยังเมืองมาร์เซยย์ (Marseille) พักที่เมืองมาร์เซยย์อีก ๒ คืน จึงถึงกรุงปารีส คณะราชทูตสยามเดินทางถึงกรุงปารีสในช่วงเย็นของวันที่ ๑๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๐๔ มีกองทหารม้ามาคอยต้อนรับที่สถานีรถไฟการ์ เดอ ลียง การมาครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นแก่ชาวเมืองปารีสเป็นอย่างมาก มีการเตรียมรถ ๖ คัน ไว้รอรับคณะราชทูตสยาม และจัดขบวนแห่ไปยังโรงแรมที่พัก คณะราชทูตได้เข้าพักที่โรงแรมกรอง โอเต็ล ดู แบล เรสปีโร (hôtel Grand du Bel Respiro) ตั้งอยู่บนถนนแห่งจักรพรรดิ (ปัจจุบันคือถนนฟอร์ซ Forch) สองสามวันหลังจากที่คณะราชทูตสยามมาถึงปรุงปารีส วันที่ ๑๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๐๔ หนังสือพิมพ์เลอ โมนิเตอร์ อูนิแวร์เซล (Le Moniteur Universel) ได้เผยแพร่ภาพข่าวของคณะราชทูตสยามอย่างกว้างขวาง ผู้คนต่างพากันพูดถึงด้วยความสนใจและชื่นชมความงดงามของเครื่องราชบรรณาการจากประเทศสยาม

ครั้นวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๐๔ คณะราชทูตสยามนั่งรถไฟขบวนพิเศษไปยังสถานีฟงแตนโบล ณ ที่นั้นมีรถพระที่นั่งรอรับอยู่ เมื่อมาถึงที่ประตูเกียรติยศขบวนกองทหารม้ารักษาพระองค์ออกมาต้อนรับอย่างสมเกียรติ ทหารม้าสวมเกราะเหล็กรักษาพระองค์ยืนเรียงล้อมบันไดใหญ่ จากนั้นคณะราชทูตสยามได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการแด่สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ และสมเด็จพระจักรพรรดินีเออเฌนี เดอ มงติจู (Empress Eugénie de Montijou) ณ พระราชวัง ฟงแตนโบล (Palais de Fontainebleua) โดยเครื่องราชบรรณาการจากประเทศสยามประกอบไปด้วย พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหามงกุฎทองคำลงยาประดับเพชรทับทิมมรกต พระราชยานกง พระวอสีวิกากาญจน์ พระแสงราชศัสตรา พระกลด เครื่องทองต่างๆ ชุดพระสุธารสชาทองคำ พระธำมรงค์ทองคำ ตลับทองคำลงยา รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ อีกจำนวนมาก ทั้งสองพระองค์ทรงให้การต้อนรับด้วยสันถวไมตรี รายละเอียดในการเข้าเฝ้ามีปรากฏในจดหมายเหตุราชทูตไทยไปประเทศฝรั่งเศส ซึ่งพระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) ตรีทูต ได้บันทึกไว้ดังนี้

“มองติคนีกับขุนนางกรมวังนำราชทูตเชิญพระบรมราชสาส์นและพระบวรราชสาส์น กับทูตานุทูตเข้าไปถึงท้องพระโรงที่เสด็จออก แล้วคลานตามลำดับเข้าไปถึงหน้าพระที่นั่ง ราชทูตก็วางพานพระราชสาส์นลง ห่างกับที่สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอเสด็จออกประทับอยู่นั้นประมาณ ๘ ศอก ทูตานุทูตพร้อมกันถวายบังคมครั้งหนึ่งแล้วหมอบอยู่ ราชทูตอ่านทูลเบิกถวายพระราชสาส์น เครื่องมงคลราชบรรณาการเป็นคำไทยก่อน แล้วบาทหลวงลุยวิศลอนนาดี ล่าม อ่านแปลเป็นคำฝรั่งเศสถวาย จบแล้วทูตานุทูตพร้อมกันถวายบังคมอีกครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอมีรับสั่งตอบว่าขอบพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ที่ได้รับทูตและขุนนางเรือรบซึ่งเข้าไปกรุงเทพมหานครโดยความยินดี แล้วสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามแต่งทูตานุทูตให้เชิญพระราชสาส์นเครื่องมงคลราชบรรณาการมาเจริญทางพระราชไมตรีอีกนั้น ขอบพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามเป็นอันมาก แต่ก่อนกรุงฝรั่งเศสกับกรุงสยามอยู่ไกลกัน เดี๋ยวนี้ฝรั่งเศสตีได้เมืองไซ่ง่อนเขตแดนญวนเป็นของฝรั่งเศส แผ่นดินก็ใกล้กันกับกรุงสยาม คอเวอนแมนต์ทั้งสองฝ่ายมีธุระการงานสิ่งใดจะได้ปรึกษาหารือกัน พระราชไมตรีก็จะได้สนิทกันมากทวีขึ้นไป ขอให้สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ ทรงพระชนมายุยืนยาวให้มาก พระราชไมตรีทั้งสองพระนครจะได้ถาวรวัฒนาสืบไปภายหน้าชั่วฟ้าและดิน ทูตถวายบังคมพร้อมกันอีกครั้งหนึ่ง แล้วราชทูตเชิญพานพระราชสาส์นเข้าไปถวายสมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอ ทรงรับต่อพระหัตถ์แล้วส่งพระราชสาส์นให้มินิศเตอทูวแนล ผู้สำเร็จราชการต่างประเทศ ราชทูตคลายถอยออกมาถึงที่เฝ้า ทูตานุทูตถวายบังคมอีกครั้งหนึ่ง ขุนนางบอกว่าจะเสด็จขึ้น ทูตานุทูตพร้อมกันถวายบังคมคลานถอยหลังออกมา แล้วมีรับสั่งให้ทูตานุทูตยืนขึ้นทุกคน สมเด็จพระเจ้าแอมเปอเรอและแอมเปรศพระมเหสี พระเจ้าลูกยาเธอเนโปเลียน เสด็จมาไต่ถามทุกข์สุขถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามทั้งสองพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่และทูตานุทูต...”



(http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/11/K8555445/K8555445-3.jpg)
ึคณะราชทูตสยามได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการแด่สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓
และสมเด็จพระจักพรรดินีเออเฌนี เดอ มงติจู (Empress Eugénie de Montijou)
ณ พระราชวังฟงแตนโบล (palais de Fontainebleau)
ภาพจาก : site topicstock.pantip.com

ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ และสมเด็จพระจักรพรรดินี เสด็จออกรับราชทูตสยาม ณ ห้องเต้นรำพระราชวังฟงแตนโบลนั้น ฌอง เลออง เจโรม (Jean Léon Gérôme) จิตรกรชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงด้านเขียนภาพเหมือนได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าร่วมในงานต้อนรับราชทูตสยามด้วย จากนั้นคณะกรรมการจัดทำหอศิลป์ทางประวัติศาสตร์ (Des Beaux Arts) แห่งพระราชวังฟงแตนโบล ได้มอบหมายให้เจโรมเขียนภาพงานต้อนรับคณะราชทูตสยาม ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓  เจโรมใช้เวลาราว ๒ ปี ในการศึกษาค้นคว้ารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการรับราชทูตครั้งนี้ ต้นปีพุทธศักราช ๒๔๐๖ เขาจึงเริ่มถ่ายทอดบันทึกสัมพันธภาพระหว่างสยามกับฝรั่งเศสไว้เป็นภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๑๒๘ x ๒๖๐ เซนติเมตร  โดยเขาพยายามรักษาความสมจริงของเหตุการณ์และเลือกที่จะเขียนภาพ ในขณะที่ท่านราชทูตคือ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดีกำลังทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาส์น ภาพเขียนนี้สำเร็จในพุทธศักราช ๒๔๐๗ มีชื่อว่า “การต้อนรับคณะราชทูตสยาม ณ พระราชวังฟงแตนโบล” (Réception des ambassadeurs siamois au palais de Fontainebleau) โดยเจโรมได้ลงลายมือชื่อและวันที่เป็นตัวเลขโรมันไว้ที่ด้านล่างขวาของภาพว่า “J.L. GEROME/MDCCCLxIV” ภาพเขียนชิ้นสำคัญ ผลงานของเจโรม เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแวร์ซายส์ ต่อมาได้มีการสำเนาภาพดังกล่าวนี้มาที่ประเทศสยาม เมื่อพระสยามธุรานุรักษ์ (เมอสิเยอร์เดอ เกรฮอง) กงสุลสยามประจำกรุงปารีส ได้มอบให้ฌอง มาริอุส ฟูเก (Jean Marius Fougué) จิตรกรชาวฝรั่งเศสเขียนภาพสำเนาจากภาพเขียนสีน้ำมันผลงานของเจโรมส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงปลายรัชกาล ราวพุทธศักราช ๒๔๐๘ ดังมีหลักฐานปรากฏในจดหมายโต้ตอบระหว่างกงสุลสยามประจำกรุงปารีสกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม และวันที่ ๑๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๐๘ และสันนิษฐานว่าฟูเกเป็นผู้นำผลงานของเขามาถวายด้วยตนเอง เพราะต่อมาได้เข้ารับราชการในราชสำนักสยามอยู่ระยะเวลาหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “ขุนจิตรกรรมโสภณ” จิตรกรประจำพระองค์ ปัจจุบันภาพเขียนดังกล่าว ซึ่งเป็นผลงานของฟูเกมีปรากฏอยู่ที่ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

การที่คณะราชทูตสยามอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระจักพรรดินโปเลียนที่ ๓ ในครั้งนั้นเป็นที่กล่าวขานกันมาก ดังปรากฏภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ของฝรั่งเศส “อิลูสทราซิยง” (L’ Illustration) ฉบับวันที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๐๔ (คริสต์ศักราช ๑๘๖๑) ได้นำเสนอข่าวสารของคณะราชทูตจากดินแดนตะวันออกอย่างละเอียด พร้อมทั้งมีภาพประกอบเป็นภาพวาดลายเส้นบรรยายภาพว่า “สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศสเสด็จออกรับคณะราชทูตสยาม ณ พระราชวังฟงแตนโบล” ข้อความทั้งหลายตลอดจนภาพประกอบเหล่านี้นับเป็นหลักฐานที่มีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ อันแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองได้อย่างแจ่มชัด

ในช่วงเวลาประมาณสองเดือนครึ่งที่คณะราชทูตสยามพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เมอสิเยอร์ชาร์ลส์ เดอ มงติญี เป็นผู้คอยดูแลอยู่ตลอดไม่ว่าจะไปที่ใด ได้พาคณะราชทูตสยามไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีชื่อเสียงของฝรั่งเศสหลายแห่ง เช่น พระราชวังแวร์ซายส์ ที่ฝังพระศพสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนโบนาปาร์ต สุสานทหารนิรนาม อู่ต่อเรือที่เมืองบอร์โดซ์ และเลอ อาฟวร์ และไปที่ค่ายทหารที่เมืองชาล็อง ซึ่งในเวลานั้นมีการตรวจพลสวนสนามทหารจำนวน ๕๐,๐๐๐ คน ตามสถานที่ต่างๆ ทีคณะราชทูตได้ไปเยือนจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งพลเรือนและทหารให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ บรรดาประชาชนชาวฝรั่งเศสรวมทั้งสื่อมวนต่างให้ความสนใจอย่างยิ่ง เป็นไปทำนองเดียวกันกับที่คณะราชทูตสยามไปเยือนฝรั่งเศส ครั้งสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เพียงแต่ระยะเวลาห่างกัน ๑๗๐ ปี และอยู่ในสังคมที่แตกต่างกันเท่านั้น

นอกเหนือจากความสัมพันธ์ทางด้านการทูตแล้ว ในด้านการเผยแผ่ศาสนาก็ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง มิชชันนารีมีเสรีภาพเต็มที่ในการเผยแผ่คริสต์ศาสนาในราชอาณาจักรสยาม บาทหลวงลาร์โนดี มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในประเทศสยามมานานกว่า ๑๒ ปี และเป็นล่ามในคณะราชทูตชุดนี้ ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ ความว่า  

“การมาเยือนของคณะทูตสยามในครั้งนี้เป็นผลดีแก่คณะมิสชันนารียิ่งคือทำให้ชื่อเสียงของคณะมิสชันนารีดีขึ้น และทำให้รัฐบาลสยามยอมรับที่จะให้ความคุ้มครองคณะมิสชันนารี ไม่โดยระลึกถึงความช่วยเหลือที่ได้รับก็เป็นเพราะตระหนักถึงฐานะที่สูงของคณะสงฆ์ฝรั่งเศส...”

ครั้นถึงวันที่ ๒๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๐๔ คณะราชทูตสยามลงเรืออัสโมเด ณ เมืองมาร์เซยย์ เพื่อเดินทางไปยังเมืองชิวิตาเวกเกีย (Civitavecchia) และเดินทางต่อไปยังกรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา ต่อมาในวันที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๐๔ เรือฝรั่งเศสเดินทางไปถึงเมืองอเล็กซานเดรีย คณะราชทูตสยามเดินทางโดยเรือยูโรเปแอ็ง (Européen) และถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๐๔ หลังจากการเดินทางอย่างยาวนานตลอด ๑๐ เดือนที่ผ่านมา คณะราชทูตได้กลับมาสู่ดินแดนมาตุภูมิพร้อมเครื่องราชบรรณาการและสิ่งของที่ซื้อมา  ในการนี้ สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลฌิยง ดอนเนอร์ (Légion d’honneur) ชั้นที่ ๑ แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลฌิยงดอนเนอร์ ชั้นที่ ๒ แด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลฌิยงดอนเนอร์ ให้แก่บาทหลวงลาร์โนดี

นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ประเทศไทยและฝรั่งเศสหันกลับมาฟื้นฟูทางพระราชไมตรีกันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ห่างเหินไปนานเกือบ ๒๐๐ ปี แต่กระนั้นความพยายามทั้งมวลของฝรั่งเศสก็มิได้ทำให้สัมพันธภาพระหว่างสยามและฝรั่งเศสก้าวหน้าไปแต่อย่างใดเลย ยังคงอยู่ในสภาวะสับสนและคลุมเครืออันเนื่องมาจากเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับญวนและโคชินไชนา ฝ่ายราชสำนักสยามได้ติดตามแผนการของฝรั่งเศสในเรื่องการเข้าครอบครองญวน ซึ่งเป็นอริของสยามมานับศตวรรษ รวมถึงนโยบายของฝรั่งเศสในกัมพูชาด้วยความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/61094913093580_b2.gif)
ซ้าย เมอสิเยอร์ชาร์ลส์ เดอ มงติญี (Monsieur Charles de Montigny)
ขวา พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) ราชทูต

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/16814451581901_b3.gif)
วอสีวิกา

ที่มา : ราชทูตสยามไปฝรั่งเศส ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดย นันทพร บรรลือสินธุ์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, นิตยสารศิลปากร