11 พฤศจิกายน 2567 02:22:44
ยินดีต้อนรับคุณ,
บุคคลทั่วไป
กรุณา
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
1 ชั่วโมง
1 วัน
1 สัปดาห์
1 เดือน
ตลอดกาล
เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
หน้าแรก
เวบบอร์ด
ช่วยเหลือ
ห้องเกม
ปฏิทิน
Tags
เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
ห้องสนทนา
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!
[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
สุขใจในธรรม
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
.:::
อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
:::.
หน้า: [
1
]
ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน
หัวข้อ: อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย (อ่าน 38240 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5746
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0
อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
«
เมื่อ:
23 สิงหาคม 2556 12:18:06 »
Tweet
.
หัวข้อนี้ คัดจาก
หนังสือประมวลธรรมบรรยาย
โดย พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
จัดพิมพ์โดย วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร
แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
อตฺตปวตฺติ
นมตฺถุ รตนตฺยสฺส อกฺขามิ ปวตฺตํ มมํ
สิสฺสานํ โพธนตฺถาย ตํ สุณาถสฺส สาธุกํ
จักกล่าวประวัติไว้เป็นที่ระลึกแก่สานุศิษย์ทั้งหลาย ผู้ต้องการอยากรู้ ด้วยในปีขาล พ.ศ. ๒๔๖๙ นี้ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ ตามจันทรคติ อายุของอัตตโนครบ ๗๐ ถ้วน นับเป็นวันได้ ๒๕,๕๕๐ วัน ควรเป็นที่ยินดีอย่างสูงสุด ถ้าจะคิดถึงชีวิตของสัตว์ ซึ่งเขารักเหมือนชีวิตของเรา แต่ถูกเราปล้นแย่งเอาร่างกาย ซึ่งเป็นของรักแห่งเขามาบำรุงชีวิตอันเป็นที่รักของเรา ก็น่าสังเวชสลดใจ ถ้าจะนับทั้งไข่ทั้งตัวเอามาบำรุงคนๆ เดียว ก็เห็นจะมากกว่าล้าน แต่จะทำอย่างไรได้ ถูกธรรมดาบังคับเสียแล้วก็ต้องทำไม่รู้ไม่เห็น ทำเซ่อๆ ยินดีว่าตนข้ามทางกันดารจวนจะถึงที่พักแล้วเท่านั้น เปรียบเหมือนนายเรือนำเรือของตนข้ามมหาสมุทรผ่านอุปสรรคตลอดไปได้ จนแลเห็นทิวไม้ฝั่งที่ตนประสงค์ นายเรือและคนโดยสารจะมีความยินดีสักปานใด แม้ผู้นำเรือคืออัตภาพผ่านอุปสรรคมาได้ถึง ๗๐ ปีนี้ก็เช่นนั้น คือแลเห็นฝั่งที่จะจอดอยู่แล้ว จะอยู่ไปได้อีกไม่กี่ปี คงจะรักษาคุณความดีที่ตนประพฤติมาแล้วนี้ตลอดวันตายได้ ไม่ใช่ยินดีต่อความแก่ความเฒ่า ยินดีต่อคุณความดีที่ตนได้ประพฤติมาแล้วต่างหาก จะไปยินดีต่อความแก่ความเฒ่าทำอะไรกัน ในการทำบุญนี้ได้ปรึกษากับพวกสัตบุรุษและพระเณรซึ่งเป็นลูกศิษย์ พระอมราภิรักขิต (ชัย) ผู้เป็นหัวหน้า บอกเล่ากันให้รู้ทั่วไปในพวกลูกศิษย์จะให้มีพระสวดมนต์ ๗๑ รูป พระเทศน์ ๑ รูป เป็น ๗๒ รูป ส่วนนี้ให้ได้อัฐบริขาร บาตร, ไตร, กระโถน, ขันน้ำ, สำรับคาวหวาน, พร้อม แต่ให้ได้จีวรแพรทั้งไตร และให้มีพระมาฉันอีก ๗๐๐ รูป ถวายของเป็นฉลาก คงจะใช้เงินไม่ต่ำกว่า ๘,๐๐๐ บาท จะต้องอาศัยสัตบุรุษเป็นกำลังจึงจะสำเร็จ
ส่วนอัตตโนเองต้องการจะแจกหนังสือเบ็ดเตล็ดที่ได้แต่งขึ้นไว้แล้วแก่ผู้ควรได้ ด้วยอำนาจบารมีธรรมหากให้เป็นไป จำเพาะได้
พระยาธนภารพิสิษฐ์ (เปา มิลินทสูต)
เป็นผู้อุปถัมภ์ มีศรัทธาอันแรงกล้า รับภาระในการพิมพ์หนังสือทุกเรื่องสุดแต่จะหาได้ บรรดาหนังสือที่อัตตโนแต่งเก็บมารวมพิมพ์จนสิ้น อย่างละ ๑,๐๐๐ ฉบับ สำเร็จทันความประสงค์ สิ้นทุนหลายพันบาท ทำให้อัตตโนปลื้มใจอย่างยิ่ง อัตตโนขออนุโมทนาขอให้พระยาธนภารพิสิษฐ์ ภิยโยยิ่งในสิ่งสุขสมบัติทั้งส่วนโลกีย์และโลกุตระที่ท่านปรารถนา จงให้สำเร็จทุกประการ ดังอัตตโนต้องการหนังสือมากมาย หลายหลวงสำเร็จไปได้ตามประสงค์ฉะนั้น การที่แต่งหนังสือได้มากมายอย่างนี้ ไม่ใช่แต่งด้วยหวังจะให้เขาสรรเสริญว่าเป็นจินตกวี แต่งด้วยการสงเคราะห์ลูกศิษย์ที่อยู่ในทิศต่างๆ ห่างๆ ไกลๆ อยากแต่จะนิมนต์ให้อัตตโนไปเทศน์ให้ฟัง อัตตโนไม่มีความสามารถจะไปได้ทั่วถึง จึงได้คิดแต่งเป็นหนังสือเทศน์แทนตัว แจกออกไปเป็นคราวๆ หลายปีก็เลยเกิดเป็นหลายเรื่องขึ้นเท่านั้นเอง ขอท่านทั้งหลายอย่างเล็งโทษ ว่าเป็นคนอวดดิบอวดดีเลย และก็คงจะมีผิดบ้างถูกบ้างเป็นธรรมดา ต้องอาศัยความเลือกฟั้นอีกชั้นหนึ่ง ขออภัยแก่ท่านทั้งหลายทั่วไป นิสัยของคนเราโดยมาก ถึงหนังสือนั้นเป็นหนังสือดีชี้ประโยชน์ถึงร้อยข้อ แต่พิรุธเสียข้อหนึ่ง ก็ต้องยกโทษเห็นว่าหนังสือนี้ใช้ไม่ได้เหมือนคนไปซื้อผ้า ถึงผ้านั้นเนื้อจะดีสีจะงามอย่างไรก็ตาม ถ้าเห็นขาดทะลุนิดหนึ่ง ก็ย่อมยกโทษนั้นแหละขึ้นกล่าวว่าผ้านี้ใช้ไม่ได้ ข้อนี้มักเป็นนิสัยของผู้ไม่ฉลาด ถ้าผู้ฉลาด การดูหนังสือตรวจหนังสือ ท่านถือเอาผู้หาแก่นไม้เป็นตัวอย่าง ถ้ารู้ว่าไม้ต้นนี้มีแก่น ถึงเปลือกหรือกระพี้จักห่อหุ้มอยู่สักเท่าไรก็ตามไม่เกลียดไม่ชัง สู้ถากทิ้งในสิ่งที่ตนไม่ต้องการนั้นเสีย ถือเอาแต่แก่น สิ่งที่ตนต้องการก็สำเร็จประโยชน์ได้
ต่อนี้ไปจะเล่าประวัติแต่เบื้องต้นมาให้ฟังพอเป็นสำเนา
เพื่อให้ลูกศิษย์ผู้ต้องการรู้ อัตตโนเกิดที่บ้านหนองไหล เป็นหมู่บ้านใหญ่ มีหลังคาเรือนไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ตั้งอยู่ทิศพายัพเฉียงเหนือ ห่างจากเมืองอุบลประมาณ ๔๐๐ เส้น บิดาชื่อสอน มารดาชื่อแก้ว อัตตโนเป็นบุตรหัวปี บิดามารดาบอกไว้ว่าเกิดปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ วันศุกร์ เวลา ๑๑ ทุ่มเศษ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกัน ๑๑ คน ตายเสียแต่ยังเล็ก ๔ คน ชาย ๒ หญิง ๒ ใหญ่เป็นเหย้าเป็นเรือนด้วยกัน ๗ คน ชาย ๔ หญิง ๓ ในทุกวันนี้หญิงตายไป ๒ คนแล้ว ยังคงเหลือคนเดียว ส่วนชายยังคงอยู่ด้วยกันทั้ง ๔ คน ส่วนบิดามารดาเป็นคนทำนาทำสวนเป็นอาชีพ อัตตโนได้อยู่ในความปกครองของบิดามารดาเพียง ๑๒ ปีเท่านั้น แต่รู้สึกว่ามีความสบาย บิดามารดาไม่พาอัตคัดขัดสนอะไรเลย แต่เป็นนิสัยของเด็กย่อมไม่รู้จักทุกข์
ครั้นย่างเข้าปีอายุ ๑๓ เป็นปีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เป็นธรรมเนียมต้องโกนผมไว้ทุกข์ทั่วพระราชอาณาจักร ประเทศลาวทั้งสิ้นบรรดาผู้หญิงไม่ว่าสาวหรือแก่ไว้ผมยาวทั้งสิ้น พอทราบประกาศว่าให้โกนผม พากันระงมไปด้วยเสียงร้องไห้ทั่วบ้านทั่วเมือง น่าสลดใจเสียดายผมเท่านั้น พากันอายศีรษะโล้น ต้องคลุมผ้าไว้เสมอ ส่วนอัตตโนชอบใจเห็นศีรษะโล้นเป็นงามดี บิดาถามว่าจะให้บวชเป็นสามเณรจะอดข้าวเย็นได้ไหม? เป็นที่พอใจรับว่าอดได้ เพราะเห็นสามเณรเป็นที่พอใจอยู่ก่อนแล้ว บิดามารดาจัดการนำไปบวชที่วัดบ้านหนองไหล เจ้าอธิการโสดา เป็นอุปัชฌายะ เรียนหนังสืออยู่กับพระเคนเป็นญาติกัน จำได้แต่เพียงว่าบวชเดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ จะเป็นขึ้นแรมเท่าไรจำไม่ได้ ครั้นถึงเดือน ๔ พระวัดสีทองในเมืองออกไปเยี่ยมโยมที่บ้าน พระองค์นั้นก็เป็นญาติกันอีก ท่านชวนให้เข้าไปเรียนหนังสือยู่วัดสีทองด้วยกันก็เต็มใจ โยมทั้งสองก็ยินดีด้วย เพราะท่านเทวธมฺมี (ม้าว) เจ้าอธิการวัดสีทอง เป็นสัทธิวิหาริกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในสมัยนั้น และเป็นญาติกับอัตตโนด้วย คือมารดาของท่านเทวธมฺมีเป็นพี่สาว มารดาของโยมผู้ชายของอัตตโนเป็นน้องสาว
ครั้นอัตตโนเข้าไปอยู่วัดสีทอง ถืออุปัชฌายะในสำนักท่านเทวธมฺมี อยู่ศึกษาเล่าเรียนท่องสวดมนต์จบตามหลักสูตรของวัด หนังสือที่เป็นสกภาษาชำนาญ เรียนหนังสือไทยอ่านออก เลขบวกลบคูณหารได้ เรียนบทมาลาคือไวยากรณ์ทุกวันนี้แต่ย่อๆ ไม่สู้ได้ความนัก เรียนลำบากมาก เพราะไม่เข้าใจความ เรียนไปอย่างนั้นเอง อาศัยแต่ท่องให้ขึ้นปากขึ้นใจไว้เท่านั้น แล้วท่านอุปัชฌายะให้เรียนแปลปาติโมกข์ เรียนจบแล้วไม่เข้าใจ กลับเรียนตั้งต้นไปใหม่เป็น ๒ จบ แต่เป็นสามเณรเล่าเรียนอยู่ได้ ๗ ปี อายุย่างเข้า ๑๙ กำลังเริ่มเรียนมูลกัจจาย แต่เผอิญต้องสึกไปตามโยม ด้วยโยมผู้ชายถูกเกณฑ์ไปทัพฮ่อ ไปทันกองทัพที่เมืองกาฬสินธุ์ มีผู้รับจ้างไปแทนโยม เสียเงินให้เขา ๒ ฮาง
*
มอบลูกจ้างแก่นายร้อย นายสิบแล้ว เขาอนุญาตให้กลับบ้าน ที่จะต้องไปตามนั้น เพราะเป็นเดือน ๘ กำลังทำนา โยมไปเสียแล้วไม่มีผู้ช่วยทำนา มีแต่น้องเล็กๆ ควายฝูงมีกว่า ๒๐ ตัวถ้าโยมผู้ชายไม่อยู่ อัตตโนก็ต้องสึกไปช่วยโยมผู้หญิงอยู่นั้นเอง
การที่อัตตโนสึก ท่านอุปัชฌายะเสียดายอย่างยิ่ง แต่จำเป็นต้องยอมอนุญาต ครั้นกลับจากไปทัพแล้ว อัตตโนก็ช่วยบิดามารดาทำนา แต่ไม่คิดจะบวชอีกเสียแล้ว ให้เพลินไปในทางหนุ่ม โยมก็ตามใจเสียด้วย อยู่ในเพศฆราวาสอีก ๓ ปี อัตตโนเพลินอยู่ด้วยความเล่น พอย่างเข้าปี ๒๒ เดือน ๖ ท่านอุปัชฌายะใช้คนมาหาโยม เร่งเอาตัวอัตตโนไปบวช ถ้าโยมส่งไม่ได้จะลงทัณฑกรรมแก่โยม แต่ความจริงอัตตโนตั้งใจจะบวชอยู่เสมอ ด้วยได้รับปากกับโยมผู้หญิงไว้ คือโยมผู้หญิงบอกว่า อัตตโนเป็นคนที่เลี้ยงยากที่สุด คือเป็นเด็กที่ดื้อที่ซนขี้ร้องไห้ ถ้าร้องไห้แล้วตั้งชั่วโมงก็ร้องอยู่ได้ โยมได้รับความเดือดร้อนอย่างสาหัส ถ้าไม่บวชให้เห็นจะไม่พ้นโทษ ต้องบวชให้โยม อัตตโนก็ได้รับว่าจะบวชให้เพียง ๓ ปีจะพอใจหรือไม่? โยมบอกว่าปีเดียวสองปีเท่าไรไม่ว่า ขอแต่ให้บวชเป็นแล้วกัน ที่รับสัญญากับโยมผู้หญิงไว้นี้ไม่ลืมเลย พอท่านอุปัชฌายะให้มาเร่งเอาตัวก็เต็มใจไปบวช แต่นั่นแหละเรื่องอาลโยในมาตุคามบีบหัวใจของอัตตโน ดูเหมือนความเศร้าโศกทับหัวใจไม่ใช่น้อย แต่ไม่ถึงร้องไห้ อัตตโนเป็นคนใจแข็งนับแต่อัตตโนจำได้ ตั้งต้นแต่อายุได้ ๑๕ ปี เป็นลำดับมาจนถึง ๗๐ นี้ อัตตโนยังไม่เคยร้องไห้เลย น้ำตาจะได้ไหลออกด้วยการร้องไห้ยังไม่เคยมีเลย
*
ฮาง
ชื่อเงินแท่งชนิดหนึ่งของเมืองฝ่ายเหนือ ฮางหนึ่ง น้ำหนักเงิน ๖ ตำลึง
๖ สลึง คิดเป็นเงินสยามประมาณราว ๒๕ บาท ๒ สลึง.
ครั้นถึง ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๒๐ ท่านให้การอุปสมบทเสร็จลงในเวลาเช้า ๔ โมง ๑๕ นาที ท่านเทวธมฺมี เป็นพระอุปัชฌายะ เจ้าอธิการสีโห วัดไชยมงคล เป็นกรรมวาจาจารย์ ครั้นอุปสมบทแล้ว ท่านกรรมวาจาจารย์ขอไปไว้วัดไชยมงคล เพื่อจะได้ช่วยกิจวัตรในวัดนั้น เพราะไม่มีตัวจะใช้ แต่วัดไชยกับวัดสีทองอยู่ใกล้กัน ห่างกันประมาณสัก ๑๐ เส้นเท่านั้น แต่ต้องมาเรียนหนังสือที่อุปัชฌายะ เพราะอาจารย์สอนไม่ได้ ในพรรษาต้นต้องท่องสวดมนต์ พอท่องสวดมนต์ได้แล้ว ก็ตั้งหน้าท่องสูตรมูลกัจจายตลอดปีจึงจบ พอย่างเข้าปีที่ ๒ ก็ลงมือเรียนมูลกัจจาย เรียนอยู่ ๒ ปี จบเพียงอาขยาต ท่านอุปัชฌายะบอกว่าเรียนมูลให้จบเสียก่อน จึงเข้าไปกรุงเทพฯ เผอิญในพรรษาที่ ๔ พระอุปัชฌายะอาพาธเป็นไข้เรื้อรังถึง ๔ เดือน บอกหนังสือไม่ได้เสียเวลาเปล่า ครั้นออกพรรษาแล้วพระอุปัชฌายะบอกว่า อยู่ที่นี่จะเสียเวลามากไป จะไปกรุงเทพฯ ก็เตรียมเถอะ การที่จะเข้ามาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ ปรารภมา ๒ แล้ว เมื่อท่านอุปัชฌายะเปิดโอกาสก็ดีใจ ฝ่ายบ้านเมืองเขาเตรียมจะเข้ามาส่งพระราชทรัพย์ เดือนอ้ายเขาจะยกออกจากเมืองอุบล เพี้ยมหาสงครามเป็นหัวหน้า และเป็นคนชอบกันกับอัตตโน พระอุปัชฌายะ ก็ฝากเขาด้วย
เวลาจะเข้ามากรุงเทพฯ ไปทำวัตรนมัสการ
ท่านอุปัชฌายะท่านให้โอวาทน่ายินดี ๓ ประการ
ข้อ ๑
สั่งว่า เมื่อไปถึงกรุงเทพฯ แล้วให้ไปนมัสการพระแก้ว มอบกายถวายชีวิตอธิษฐานตามประสงค์
ข้อ ๒
ว่าการเข้าไปอยู่บ้านใหญ่เมืองหลวง ให้สังเกตดูวัดใดเป็นวัดใหญ่มีพระเณรมาก เขาจะบอกว่าเป็นวัดไม่ดีไม่ควรอยู่ก็ตาม อย่าเชื่อ ให้ไปอยู่วัดนั้นแหละ เขามีอยู่ดีอยู่ในที่นั้นเขาจึงมาก ให้ไปเลือกเอา วัดใดมีพระเณรน้อยเขาจะชมว่าเป็นวัดดีควรอยู่ ก็อย่าเชื่อ มันมีชั่วอยู่ในที่นั้นมันจึงน้อย
ข้อ ๓
ว่าเมื่อเราจะไปอยู่กับท่านผู้ใด ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นที่พึ่งพาอาศัยเป็นเจ้าเป็นนายให้สังเกตดู ถ้านิสัยไม่ถูกกัน อย่าอยู่ จะมีความผิด ให้สังเกตดังนี้ ถ้าท่านประพฤติอย่างไร ท่านทำกิจสิ่งไรเป็นที่ไม่ชอบใจของเรา เราทำสิ่งไรประพฤติอย่างไร เป็นที่ไม่ชอบใจของท่าน ชื่อว่านิสัยไม่กินกัน รีบคิดไปอยู่ที่อื่น ถ้าท่านทำสิ่งไร ประพฤติสิ่งไรก็เป็นที่ชอบใจของเรา เราทำสิ่งไรประพฤติสิ่งไรก็เป็นที่ชอบใจท่าน อย่างนี้ชื่อว่านิสัยกินกัน อุตสาหะตั้งใจปฏิบัติอยู่ในสำนักท่านไป อาจจักสำเร็จความประสงค์ของเราทุกประการ
การเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ท่านอุปัชฌายะให้หนังสือ ๓ ฉบับ ถวายสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ฉบับ ๑ ถวายสมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์ ยังอยู่ในตำแหน่งพระพุทธโฆษาจารย์ฉบับ ๑ ถึงพระอ่อน วัดบุรณสิริมาตยาราม ซึ่งเป็นสัทธิงวิหาริกของท่าน ภายหลังได้เป็นพระอริยกวี เจ้าคณะเมืองอุบลฉบับ ๑ ให้เป็นผู้นำถวาย
ครั้นเข้ามาถึงกรุงเทพฯ แล้ว ได้พักอยู่ที่วัดบุรณสิริมาตยารามกับท่านอ่อนชั่วคราว ท่านอ่อนเป็นผู้จัดการ ส่วนอัตตโนกับสีโหน้องชายท่านเอาไปฝากปลัดผาวัดเทพศิรินทราวาส ปลัดผาก็เป็นสัทธิงวิหาริกของท่านเทวธมฺมีเหมือนกัน ถวายตัวเป็นอันเตวาสิกเจ้าคุณอริยมุนี (เอม) เจ้าอาวาส อีกองค์หนึ่งท่านอ่อนรับไว้ เข้ามาถึงกรุงเทพฯ เดือน ๓ เดือน ๔ ได้ไปอยู่วัดเทพศิรินทราวาส การเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ นับว่าเป็นโชคดี ประจวบกับสมัยมีงานพระเมรุพระนางสุนันทากุมารีรัตน์ ณ ท้องสนามหลวง มีพระเมรุใหญ่พระเมรุทอง มีเครื่องพระราชไทยทานและการละเล่นเต็มยศตามแบบโบราณราชประเพณี ถ้าผู้ไม่ได้เห็นก็น่าเสียดาย ต่อนั้นมานับว่าทรงยกเลิกงานใหญ่ในท้องหลวงก็ว่าได้ คงไม่ได้เห็นงานใหญ่เช่นนั้นต่อไปอีก
เมื่ออัตตโนได้อาศัยวัดเทพศิรินทราวาสอยู่เป็นสุข ในเวลานั้นยังเป็นวัดใหม่ พระสงฆ์พึ่งยกมาอยู่ได้ ๔ พรรษาเท่ากับพรรษาของอัตตโน ตกลงอัตตโนอุปสมบทปีพระสงฆ์ยกมาอยู่วัดเทพศิรินทราวาสนั้นเอง ในเวลานั้นปัจจัยทั้ง ๔ บริบูรณ์ ไม่ได้รับความอัตคัดขัดสนเลย ได้ตั้งหน้าเล่าเรียนโดยส่วนเดียว เจ้าอาวาสก็มีเมตตาสงเคราะห์โดยฐานะแห่งลูกศิษย์กับอาจารย์ สัตบุรุษจ้างอาจารย์ให้มาสอนธรรมบททีปนีอยู่ ๒ คน ตอนเช้าชื่ออาจารย์บุตรมาสอน ตอนเพลแล้วมหาดิดมาสอน มหาดิดองค์นี้ทราบว่าเป็นเปรียญอยู่วัดบวรนิเวศฯ ในเวลานั้นประมาณอายุอยู่ในระหว่าง ๖๐ เป็นผู้ใหญ่แล้วหนังสือดี เขาว่าท่านเสียจริตจึงต้องมาปลูกกุฏิอยู่ที่ใกล้บ้านน้องชายหลังวัดเทพศิรินทราวาส ใกล้วัดจางวางพ่วง ดูเหมือนว่าเป็นเปรียญ ๕ ประโยค เป็นพระอยู่บ้าน, อะไรท่านก็ดีทุกอย่าง เป็นแต่ท่านชอบเล่นหมากรุกเท่านั้น ส่วนอาจารย์บุตรนั้น ชอบเล่นหวย เงินเดือนที่บอกหนังสือได้ไม่พอใช้ หวยกินงอม ได้เรียนธรรมบทอยู่ในสำนักท่านทั้ง ๒ นี้ ปีหนึ่งได้ความรู้พอเป็นสะพาน มีผู้บอกเล่าว่า อาจารย์บุญบอกหนังสืออยู่ที่วัดกันมาตุยารามดีมาก จึงไปขอเรียนในสำนักอาจารย์บุญ ไปพักแรมอยู่วัดกันมาตุยารามบ้างเป็นคราวๆ ยังไม่เต็มปี เผอิญอาจารย์ถูกเลือกให้เข้าไปสอนในพุทธปรางค์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังทรงว่าการทหารมหาดเล็ก ทรงจัดบำรุงการศึกษาที่วัดพระแก้วให้มีอาจารย์บอกหนังสือ ๔ อาจารย์ ตามศาลารายชั้นนอก ๓ อาจารย์ อาจารย์บุญบอกอยู่ในพุทธปรางค์ ทรงจัดให้มีสำรับคาวหวานถวายพระนักเรียนเช้าเพลเป็นนิตย์
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 ตุลาคม 2556 12:24:11 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5746
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0
Re: อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
«
ตอบ #1 เมื่อ:
15 กันยายน 2556 13:55:31 »
.
อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(จันทร์ สิริจนฺโท)
อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร
ที่วัดเทพศิรินทราวาส อัตตโนกับมหาสิทธิ์ที่เป็นพระญาณวิจิตร์รับราชการอยู่ ณ หอพระสมุดทุกวันนี้ พากันเข้าไปเรียนในพุทธปรางค์ทุกวัน สู้ทนความลำบากอยู่ได้ปีหนึ่ง อยู่วัดเทพศิรินทราวาสได้ ๓ พรรษา อาจารย์เห็นความลำบากแนะนำให้ไปอยู่กับพระสาสนโสภณ (อ่อน) เมื่อท่านยังเป็นเปรียญอยู่วัดบุปผาราม พอปวารณาแล้วไม่ช้านัก พระอริยมุนี (เอม) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสเป็นอหิวาตกโรคถึงมรณภาพ พอจัดการทางวัดเรียบร้อยแล้ว เรียนท่านปลัดผาอาจารย์ขอลาไปอยู่วัดบุปผาราม ท่านก็เห็นชอบด้วย พระปลัดผานั้นเป็นผู้ควรเคารพอย่างยิ่ง ความเมตตาของท่านอุตสาหะนำอัตตโนไปฝากเจ้าคุณวิเชียรมุนี (เมตฺตคู) เจ้าอาวาสและมหาอ่อนด้วยตนเอง อัตตโนเป็นพระผู้ใหญ่ได้ ๗ พรรษาแล้วไปยู่วัดบุปผาราม เรียนหนังสือในสำนักมหาอ่อน ท่านบอกว่าแปลหนังสือก็พอสมควรแล้วเรียนมูลอีกเถอะ ก็ตั้งหน้าท่องสูตรมูลอีก ที่ท่องไว้แต่ก่อนลืมหมดแล้ว กว่าจะได้ลงมือเรียนตั้ง ๓ เดือน สูตรมูลเป็นของจำยาก ชอบลืมชอบสงสัย เว้นไม่ท่องสัก ๓ วัน จับท่องเข้าเกิดสงสัยบางแห่งขึ้นแล้ว เรียนมูลตั้งต้นแต่สนธิไปตลอดปีได้สนธิกับนามผูกหนึ่งเท่านั้น ส่วนคัมภีร์นั้นอาศัยฟังผู้อื่น ท่านมาเรียนได้รู้สึกว่ามีความรู้ขึ้นพอควร
เข้าปีที่ ๒ กระทรวงธรรมการประกาศว่า แล้งหน้าจะมีการสอบพระปริยัติธรรมให้ส่งบัญชีนักเรียน อาจารย์ให้เลิกเรียนมูล ให้ซ้อมประโยคธรรมบทก่อนแต่เข้าพรรษาตลอดออกพรรษาก็ไม่ได้กี่ประโยค แต่ลูกศิษย์ของท่านที่อยู่วัดบุปผาราม ท่านให้เข้าบัญชี ๓ องค์ เมื่อเข้าสอบได้ ๒ ตก ๑ ที่ได้คืออัตตโนกับราชเมธี (ท้วม) ยังเป็นสามเณร การแปลปริยัติธรรมคราวนี้แปลแต่ประโยค ๓ เท่านั้น จวนงานฉลองวัดราชประดิษฐ์ต้องเลิก งดการแปลประโยคสูงต่อไป เมื่อได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค อัตตโนได้ ๙ พรรษาแล้ว อายุเข้า ๓๐ แล้ว การเล่าเรียนของอัตตโนนับว่าสำเร็จลงเพียงนี้
ในระหว่าง ๕ ปีที่อัตตโนกำลังเล่าเรียนอยู่ น่ายินดีสมกับคำที่อัตตโนอธิษฐานไว้จำเพาะพระพักตร์พระแก้ว คือได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า
“ข้าพเจ้าตั้งใจจะเข้ามาเล่าเรียนเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ถ้าวาสนาสามารถจะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาได้ต่อไป การเล่าเรียนของข้าพเจ้าขอให้สะดวก อย่าให้มีอาพาธป่วยไข้จนถึงป่วยการการเล่าเรียน และขอให้ข้าพเจ้าประสบพบเห็นแต่ท่านที่เป็นนักปราชญ์ อาจจักแนะนำให้ข้าพเจ้ามีความรู้ความฉลาด ถ้าไม่มีวาสนาในทางบำรุงศาสนาแล้ว ความปรารถนาอธิษฐานนี้อย่าให้สำเร็จเลย”
ข้อที่ตั้งอธิษฐานไว้นี้นับว่าสำเร็จบริบูรณ์ แต่ความรู้จะให้เชี่ยวชาญไม่ได้อยู่เอง ด้วยมาจับเรียนหนังสืออายุย่างเข้า ๒๖ แล้ว รู้ได้เพียงนี้ก็นับว่าเป็นลาภอันสำคัญ แต่ที่จะเรียนต่อไปอีกหมดความอุตสาหะ คิดถึงตัวมาก เห็นว่าการแปลหนังสือพอรู้ผิดรู้ถูกได้แล้ว ตกลงเอาเป็นพอตั้งใจว่าต่อแต่ ๑๐ พรรษานี้ไป จะศึกษาทางวิปัสสนาธุระ เข้ามาเล่าเรียนอยู่กรุงเทพฯ ๖ พรรษา อยู่วัดเทพศิรินทราวาส ๓ พรรษา อยู่วัดบุปผาราม ๓ พรรษา คิดจะไม่รับราชการต่อไป ด้วยคิดเห็นว่าความสามารถของตนจะไม่ทันแก่สมัย จึงได้ทูลลาออกไปเมืองอุบล พระอุปัชฌายะเทวธมฺมียังอยู่ ได้ไปอุปัฏฐากพระอุปัชฌายะอยู่วัดสีทองพรรษาหนึ่ง เป็นพรรษาที่ ๑๑, พ.ศ. ๒๔๓๐ ปีกุน การที่ไปอยู่ปฏิบัติอุปัชฌายะ มีประโยชน์สำคัญ อยู่กับท่านแต่ก่อนท่านก็พูดธรรมสู่ฟังบ่อยๆ แต่ไม่เข้าใจเลย
ครั้นกลับไปจากกรุงเทพฯ ท่านแสดงอะไรให้ฟังเป็นที่จับใจทุกอย่าง จึงได้รู้สึกความลึกซึ้งของครูบาอาจารย์ เมื่อท่านเห็นว่าเรามีความรู้พอรับรองได้ ท่านก็ตั้งอกตั้งใจสอนจริงๆ คืนหนึ่งๆ แนะนำอยู่ได้ตั้ง ๔-๕ ชั่วโมง แทบทุกคืน เว้นแต่มีกิจไปที่อื่น ได้ความสว่างในธรรมปฏิบัติในสำนักอุปัชฌายะพอเป็นทางดำเนิน
พรรษาที่ ๑๒ ออกไปจำพรรษาที่บ้านหนองไหล ให้ปลูกกุฏิอยู่ที่ป่า มีพระเณรไปอยู่เรียนหนังสือด้วย ๗-๘ องค์ ถึงวันพระ ๘-๑๔-๑๕ ค่ำ ให้พวกญาติมาประชุม ฟังเทศน์รับอุโบสถเสมอ ในแล้งนี้เจ้านครจำปาศักดิ์ แต่งกรรมการมาขอพระธรรมยุติกาในสำนักอุปัชฌายะ ขอให้ไปตั้งคณะธรรมยุตที่เมืองนครจำปาศักดิ์ พระอุปัชฌายะสั่งให้เข้าไปหารือเรื่องจะให้ใครไปตั้งคณะธรรมยุตที่นครจำปาศักดิ์ ตกลงหาตัวไม่ได้ อัตตโนต้องรับภาระของพระอุปัชฌายะ ปลายปี พ.ศ. ๒๔๓๑ นั่นเอง ต้องลงไปอยู่เมืองนครจำปาศักดิ์ ในเวลานั้นพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) เป็นข้าหลวงประจำอยู่ที่นั่น พร้อมด้วยเจ้านครจำปาศักดิ์สร้างวัดให้ใหม่ ให้ชื่อว่าวัดมหามาตยาราม มีพระเณรไปเรียนหนังสือด้วย ๑๑-๑๒ องค์ จำพรรษที่วัดมหามาตยารามเป็นพรรษาที่ ๑๓
ส่วนพระยามหาอำมาตย์กับเจ้านครจำปาศักดิ์ พร้อมใจกันมีหนังสือเข้ามากราบบังคมทูล ขอให้อัตตโนเป็นเจ้าคณะสังฆปาโมกข์เมืองนครจำปาศักดิ์ อัตตโนไม่ทราบเลย ต่อออกพรรษาแล้วเดือนยี่ ได้รับท้องตราให้หาตัวอัตตโนเข้ามารับสัญญาบัตร ณ กรุงเทพฯ เมื่อได้รับท้องตราแล้ว ก็เป็นอันหมดปัญหา ส่วนลาภยศ อัตตโนไม่รังเกียจไม่เบื่อไม่หน่าย ได้อะไรเป็นอะไรก็ยินดีทั้งนั้น อัตตโนรังเกียจเบื่อหน่ายแต่ความรู้ความฉลาดของอัตตโนไม่เพียงพอเท่านั้น เดือน ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ออกจากเมืองนครจำปาศักดิ์ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๔๓๓ จึงถึงกรุงเทพฯ พักจำพรรษาอยู่วัดพิชัยญาติการามกับเจ้าคุณสาสนโสภณ (อ่อน) อาจารย์ เวลานั้นยังเป็นพระเมธาธรรมรส เป็นพรรษาที่ ๑๔ การเข้ามากรุงเทพฯ ครั้งที่ ๒ นี้ได้พาลูกศิษย์เข้ามาเล่าเรียน ภายหลังได้เป็นกำลังแก่การงานหลายคน นับว่าเป็นประโยชน์มาก
ครั้นถึง ณ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๓ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่พระครูวิจิตรธรรมภาณี เจ้าคณะใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ ตาลปัตรแฉกทองแผ่ลวดมีนิตยภัต ๘ บาท ถึงเดือน ๖ พ.ศ. ๒๔๓๔ กลับออกไป เมืองนครจำปาศักดิ์ เดือน ๘ จึงถึง เป็นพรรษาที่ ๑๕ จำพรรษาที่นครจำปาศักดิ์ พรรษาที่ ๑๖ ก็จำพรรษาที่นครจำปาศักดิ์ พรรษาที่ ๑๗ พ.ศ. ๒๔๓๖ ตรงกับ ร.ศ. ๑๑๒ ยกฝั่งแม่น้ำโขงตะวันออกให้แก่ฝรั่งเศส อัตตโนทูลลากลับมาจำพรรษาที่วัดสุปัฏน์ เมืองอุบล ฯ
พรรษาที่ ๑๘ พ.ศ. ๒๔๓๘ อัตตโนเข้ามาจำที่วัดพิชัยญาติการาม กรุงเทพฯ เข้ามาคราวนี้พาลูกศิษย์เข้ามาเล่าเรียนมาก การขึ้นล่องในสมัยนั้นเป็นการลำบากมาก เดินทางเกวียนตั้ง ๒ เดือน ๓ เดือน จึงถึง เสียเงินรัฐบาลมาก ต้องเกณฑ์จ้าง การเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ คราวนี้ถูกสมัยที่ทรงตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัย อัตตโนได้เป็นกรรมการในมหามกุฏราชวิทยาลัยด้วย
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ออกพรรษาแล้วสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดให้อัตตโนไปอยู่วัดเทพศิรินทราวาส เป็นผู้ช่วยหม่อมเจ้าพระศรีสุคตขัติยานุวัตร ท่านเป็นสมภาร พรรษายังไม่ถึง ๑๐ รับนิสสัยพระสงฆ์ยังไม่ได้ ให้อัตตโนไปเป็นผู้รับนิสสัยพระสงฆ์ และเป็นครูใหญ่ในโรงเรียนภาคมคธด้วย ในแล้งนี้มีแปลพระปริยัติธรรมในท้องสนามหลวงด้วย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส รับสั่งให้อัตตโนเข้าแปลประโยค ๔ กับเขาด้วย อัตตโนก็จำใจเข้าแปลกับเขา เผอิญถูกประโยคที่ง่ายได้ดูไว้บ้างแล้ว ถูกทีปนีผูก ๙ ขึ้นต้น “วงฺคีสตฺเถโรปิ ฯ” แปลได้อย่างดี อัตตโนได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยคในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้ ๑๘ พรรษาแล้ว ในพรรษาที่ ๑๙ นี้ได้ช่วยหม่อมเจ้าพระศรีสุคตฯ อยู่วัดเทพศิรินทราวาสตลอดพรรษา พอออกพรรษาแล้ว อัตตโนเห็นว่ากำลังร่างกายไม่พอแก่การงาน ถ้าขืนอยู่ไปคงเกิดโรค เพราะอาหารไม่มีรสเสียแล้ว อัตตโนไม่มีทางจะออกตัวได้อย่างไร เห็นแต่ทางลาสึกเป็นดีกว่าอย่างอื่น จึงได้ทูลลาสึก เดือน ๑๒ ออกไปเรียนวิปัสสนา อยู่กับเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถร (สิง) วัดปทุมวนาราม ถึงเดือนอ้าย ออกไปเขาคอกตั้งหน้าเจริญวิปัสสนา
ในระหว่างเดือนอ้ายนั้นนับว่าสมประสงค์ ตัดสินตนได้ คือยอมถวายตัวเป็นข้าพระรัตนตรัยอยู่ในศาสนาตลอดชีวิต ได้มีลิขิตเข้ามาถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรว่า ถวายพรหมจรรย์แล้ว ด้วยพระองค์ท่านคอยฟังข่าวอยู่ คือได้ทูลไว้ว่าจะออกไปหาวิเวกตรึกตรองก่อน เพราะพระองค์ท่านทรงพระเมตตามาก คอยจะทรงอุปการะอยู่ ครั้นตัดสินตนได้แล้วก็เดินรุกขมูลต่อไป ได้ออกไปเที่ยวอยู่ในแขวงเมืองนครราชสีมาตลอดแล้ง ยังเป็นห่วงพระโพธิวงศาจารย์ (อ้วน) ซึ่งยังเป็นเปรียญเป็นครูโรงเรียนวัดเทพศิรินทราวาสแทนตัวอัตตโนอยู่
เดือน ๖ พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้กลับเข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนามรามเป็นปีพรรษาที่ ๒๐ ในพรรษานี้ในงานเฉลิมพระชนม์พรรษา เดือน ๑๐ กลับได้รับพัดเปรียญ ๔ ประโยค และพัดพระครูคืนอีก คราวนี้เป็นพัดพุดตาน ตกลงเป็นอันไม่มีทางจะแก้ตัว ครั้นออกพรรษาแล้ว คิดการจะออกไปตั้งการศึกษาเล่าเรียนที่เมืองอุบลทั้งภาคหนังสือไทยและภาคมคธ เตรียมแบบแผนบริบูรณ์ ได้เปรียญ ๔ องค์เป็นกำลัง คือ พระมหาทา เปรียญเอก ๗ ประโยค มหาอ้วน เปรียญโทเทียบ ๕ ประโยค มหารัต เปรียญ ๔ ประโยค มหาล้อม เปรียญ ๔ ประโยค และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกไปตั้งตามความประสงค์ ครั้นไปถึงเมืองอุบลก็จัดการตั้งโรงเรียนหนังสือไทยและภาคมคธขึ้นที่วัดสุปัฏน์เมืองอุบล
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้รับราชูปถัมภ์ ๘๐๐ บาท ในเวลานั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ข้าหลวงต่างพระองค์ เป็นผู้ทรงช่วยอุปถัมภ์ และทรงตั้งโยมผู้ชายของอัตตโนให้เป็นหลวงสุโภรสุประการ ฝ่ายสังฆการี ณ เมืองอุบล ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ส่วนการศึกษาเล่าเรียนได้จัดตั้งวิธีสอบไล่จัดให้มีรางวัลตามสมควร ไปตั้งในระหว่างปีเดียว มีนักเรียนหนังสือไทยมากกว่า ๑๐๐ พระเณรที่เรียนมคธไม่ต่ำกว่า ๕๐ นับว่าคิดการสำเร็จก่อนมณฑลทั้งปวง
ในพรรษาที่ ๒๑ และพรรษาที่ ๒๒ จำพรรษาอยู่ที่วัดสุปัฏน์ เมืองอุบล ครั้นออกพรรษาแล้ว ย่างเข้าปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้รับพระหัตถเลขาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ดำเนินกระแสพระบรมราชโองการ ให้อัตตโนเข้ามากรุงเทพฯ อัตตโนได้เข้ามากรุงเทพฯ ตามกระแสพระบรมราชโองการ พักจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร พอมาถึงสัก ๑๐ วัน สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ นำอัตตโนเข้าเฝ้าไปรเวศ ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทมุขกระสันด้านตะวันออก ทรงพระราชปรารภถึงการศึกษาเล่าเรียนที่ออกไปจัดการตั้งโรงเรียนขึ้นได้นั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัยสมด้วยพระราชประสงค์ แล้วพระราชทานตรามณฑลอีสานให้เป็นผู้อำนวยการคณะมณฑล แต่ยังเป็นพระครูวิจิตรธรรมภาณี ออกพรรษาแล้วในงานฉัตรมงคล ณ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๒ อัตตโนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนตำแหน่งยศ เป็นพระราชาคณะที่พระญาณรักขิตเป็นปีพรรษาที่ ๒๓ เสร็จราชการแล้ว เดือนยี่ อัตตโนรีบออกไปเมืองอุบลจัดการวางระเบียบการคณะและการศึกษา พระมหาทา พระมหาอ้วน พระปลัดอ่ำ ๓ องค์นี้เป็นแม่แรงช่วยแยกกันไป เพราะมณฑลนี้ใหญ่มากมีจำนวนวัด ๒,๐๐๐ เศษ มีจำนวนพระและสามเณร ๓๐,๐๐๐ เศษ จัดการคราวแรกลำบาก เพราะยังไม่มีหลักฐาน สุดแต่เจ้าคณะมณฑลจะเห็นสมควรอย่างไร การจัดคณะให้เป็นหมวดเป็นแขวงไม่ใช่จัดได้ด้วยง่าย เพราะประเทศนั้นยังไม่เคยมีแบบมีแผน ต้องอาศัยทางราชการเป็นกำลังช่วยให้มีอำนาจ ส่วนการศึกษาให้ตั้งการศึกษาขึ้นทุกหัวเมือง บางแห่งขัดด้วยหานักเรียนไม่ได้ บางแห่งขัดด้วยหาครูผู้จะบอกหนังสือไทยไม่ได้ ถึงต้องจำหน่ายนักเรียนเมืองอุบลไปสอนตามหัวเมืองนั้นๆ หลายตำบล
การที่มีเจ้าคณะมณฑล ทรงตั้งคราวเดียวกันทุกมณฑล ต่างองค์ต่างออกไปจัดวางระเบียบการตามมณฑลของตนๆ แล้ว ทำรายงานส่งกระทรวง ต่อภายหลังจึงได้ทรงตั้งพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ วางแบบได้เป็นการสบายแล้ว อัตตโนได้ช่วยกันจัดการคณะมณฑลแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ตลอดต้นปี พ.ศ. ๒๔๔๓ จำพรรษาที่วัดสุปัฏน์ อุบลฯ เป็นปีพรรษาที่ ๒๔ กับพรรษาที่ ๒๕ ตกแล้งในปีนั้นก็ช่วยกันออกตรวจตลอดมณฑล ได้ไปตรวจแต่จำเพาะเมือง จะไปตามอำเภอเวลาไม่พอ
ย่างเข้า พ.ศ. ๒๔๔๕ อัตตโนต้องกลับเข้ามากรุงเทพฯ พักจำพรรษาที่วัดเทพศิรินทราวาส เป็นปีพรรษาที่ ๒๖ ด้วยในแล้งนี้มีงานพระเมรุท้องสนามหลวง ตั้งที่โบสถ์พระแก้ว วังหน้า พระศพกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นต้น หลายพระศพด้วยกัน เสร็จราชการแล้วย่างเข้าปี พ.ศ. ๒๔๔๖ เดือน ๖ กลับออกไปจัดการ และจำพรรษาที่วัดสุปัฏน์เมืองอุบล เป็นปีพรรษาที่ ๒๗ นับแต่ได้ ๔ พรรษามาถึง ๒๗ พรรษานี้ การขึ้นล่องกรุงเทพฯ กับอุบล เวลาขึ้นนับเป็น ๑ ล่องนับเป็น ๒ เป็นลำดับไปได้ ๑๐ เที่ยว และกำหนดในใจไว้ว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ นี้ออกพรรษาแล้วจะกลับเข้ามากรุงเทพฯ ทูลลาพักราชการมณฑลเพราะเหน็ดเหนื่อยมาก ส่วนการงานก็ตั้งฐานได้แล้ว และเห็นว่าลูกศิษย์ผู้จะรับมรดก ก็คงจะบำรุงการให้เป็นไปได้เพราะเหตุนี้
ออกพรรษาแล้ว ทูลลาเสด็จข้าหลวงต่างพระองค์เข้ามากรุงเทพฯ เป็นเที่ยวที่ ๑๑ พักที่วัดเทพศิรินทราวาส และได้ทูลลาออกจากตำแหน่งจากคณะมณฑล และทูลลาไปเที่ยวประเทศพม่า พักร่างกายให้สบายสักคราว ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามประสงค์ ได้ตราเดินทางถึงกงสุลประเทศพม่า ตรากรมท่า ตรามหาดไทย ตรมธรรมการ เป็น ๓ ฉบับ เตรียมการจะไปประเทศพม่า แต่ยังเป็นห่วงพระมหาอ้วนที่รั้งคอยอยู่ทางอุบล จึงได้จัดหาหนังสือแบบเล่าเรียนสิ่งไรยังบกพร่องได้แล้ว บรรทุกรถไฟออกไปโคราชจัดจ้างเกวียนส่งสิ่งของออกไปให้มหาอ้วนเสร็จแล้ว เบาใจสิ้นห่วง นับแต่อัตตโนออกไปจัดการศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่เมืองอุบล แต่ พ.ศ. ๒๔๔๐ มาถึง พ.ศ. ๒๔๔๖ เป็น ๖ ปี อายุอัตตโนได้ ๔๘ ปี พรรษาได้ ๒๗ อัตตโนได้ทูลลาพักราชการคิดจะไปเที่ยวตากอากาศ และหาวิเวกเจริญสมถะวิปัสสนา มุ่งกิจส่วนตนเป็นใหญ่ แต่ก็หาสำเร็จตามประสงค์ไม่ จะไปเที่ยวประเทศพม่าในแล้งนี้เกิดขัดข้อง เผอิญป่วยเท้าเดินไกลไม่ได้ อย่างพยายามทนลำบากวันหนึ่งก็เดินได้เพียง ๕๐ เส้น จึงปรึกษากับพระครูอุดมธีรคุณ (เงิน) ซึ่งยังเป็นพระอันดับเป็นปัจฉาสมณะ ในพรรษานี้ควรจะเข้าไปพักจำพรรษาที่เขาใหญ่เสียก่อน เมื่อเท้าหายออกพรรษาแล้วจึงไปพม่า ก็เป็นอันตกลงกัน พยามยามเดินแต่นครราชสีมาไปเขาใหญ่ เกือบเดือนจึงถึงบนเขาใหญ่ ไปพักอยู่บ้านสองพี่น้อง แต่เดือน ๔ ถึงเดือน ๖ อากาศไม่สบายลาพวกบ้านเขาเลื่อนลงมาอยู่บ้านท่าช้าง
ในต้นเดือน ๗ ให้ชาวบ้านเขาปลูกกุฏิให้บนเขาน้อยใกล้บ้านท่าช้าง คิดว่าจะเป็นที่สบาย ปลูกกุฏิแล้วได้อยู่ประมาณสัก ๑๐ วัน อัตตโนเป็นไข้ป่าจับอย่างสำคัญได้ ๓ วัน พูดเพ้อ คิดจะพูดอย่างหนึ่งกลายเป็นพูดอย่างอื่นไป ยาควินินก็หมด ไม่มียาพอแก้ไข้ จึงใช้ให้พระครูอุดมฯ รีบไปขึ้นรถไฟไปนครราชสีมา ซื้อยาควินิน เธอก็รีบไป ๒ คืนจึงกลับมาถึง หลวงประสิทธิ์บ้านอยู่ใกล้วัดเลียบคลองปลูเป็นคนชอบกัน ทราบว่าอัตตโนอาพาธ ก็รีบจ้างคน ๔ คน มาพร้อมด้วยพระครูอุดมฯ ให้มาหามเอาอัตตโนออกไปรักษาที่บ้าน
ครั้นได้ยาควินินมาแล้วก็ฉัน หายจับในวันนั้น รุ่งขึ้นเป็นเดือน ๗ แรม ๕ ค่ำ ชาวบ้านท่าช้างนั้นเอง ช่วยกันทำแคร่ป่าหามออกมาส่งรถไฟสถานีปากช่องวันยังค่ำจึงถึงรุ่งขึ้นแรม ๖ ค่ำ ขึ้นรถไฟไปลงภูเขาลาด ไปพักที่บ้านหลวงประสิทธิ์ แกยกเรือนให้หลังหนึ่งรักษาตัวอยู่ที่นั้น พอสบายหายโรคเดือน ๘ ขึ้น ๒ ค่ำ ได้รับท้องตราเสมาธรรมจักร ดำเนินกระแสพระบรมราชโองการให้นิมนต์อัตตโนเข้าไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ โดยเร็ว ให้ทันพระราชประสงค์ อัตตโนก็ไม่มีปัญหา เดือน ๘ ขึ้น ๘ ค่ำ ยกมาอยู่วัดบรมนิวาส มีกระบวนรถหลวง ๒ คันเทียมด้วยม้าเทศเป็นเกียรติยศ ขึ้นแต่หน้าวัดเทพศิรินทราวาสมาถึงทางรถไฟข้างสะพานยศเส หมดทางกันเพียงนั้น พระเถระที่มาส่งมีแต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสพระองค์เดียว เวลาบ่าย ๓ โมงมาถึงวัด ทรงสั่งเสียเสร็จแล้วก็เสด็จกลับ พระสงฆ์ในวัดบรมนิวาสเวลานั้นมีอยู่ ๑๓ รูป วินัยธร ชื่อ เพ็ชร เป็นผู้รั้ง ท่านทั้งหลายก็พากันแสดงความยินดี พวกทายกทายิกาก็พากันมาถวายดอกไม้ธูปเทียน แต่มีน้อยไม่ถึง ๑๐ คน ได้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิ์วัดนวิศิษฏ์ เป็นผู้ทรงรับรองเกื้อหนุน ทรงปวารณาด้วยปัจจัย ๔ และทรงรับสั่งให้นายเวรเผือก ข้าหลวงเก่าในพระองค์เป็นผู้ทำสำรับเช้าเพลถวายกว่าจะมีกำลังขึ้นได้ เป็นพระเดชพระคุณอย่างลึกซึ้ง ไม่มีความร้อนใจเลย
ครั้นใน พ.ศ. ๒๔๔๖ เป็นปีพรรษา ๒๗ ได้ทูลลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอีสาน ถึง พ.ศ. ๒๔๔๗ ปีมะโรง อายุ ๔๙ พรรษาที่ ๒๘ ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสนี้ นับแต่นั้นมาถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ นี้ได้ ๒๓ ปี อายุของอัตตโนย่างเข้า ๗๑ ปี แต่พรรษาคงได้ ๕๐ ถ้วน จะว่าอายุได้ ๗๐ ถ้วนก็ได้
บัดนี้ จะเล่าการงานและสุขทุกข์ ในเวลาที่ได้มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสในวัดนี้แล้วให้ฟังต่อไป เมื่อได้เป็นสมภารโดยจำใจจำเป็นแล้ว อัตตโนตั้งเจตนาใหม่ คิดจะดำเนินตามหลักพุทธจริยา ๓ ประการ คือ อตฺตตฺถจริยา ญาตตฺถจริยา โลกตฺถจริยา ส่วนอตฺตตฺถจริยานั้น ตั้งใจจะบำเพ็ญ ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญาให้เต็มรอบให้สมบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุข ญาตตฺถจริยานั้น คิดตั้งใจจะบำรุงพระสงฆ์สามเณรอุบาสกอุบาสิกา และผู้ที่รู้กันเห็นกัน อัตตโนถือว่าเป็นญาติ จะให้ได้รับความรู้ความฉลาดด้วยธรรมิกอุบายพอเป็นที่อุ่นใจแก่ตนได้ทั่วไป โลกตฺถจริยานั้น คิดตั้งใจจะบำรุงก่อสร้างถาวรวัตถุทั้งภายนอกและภายในให้โลกได้รับความสุขต่อไป ในการประพฤติจรรยา ๓ นั้น จะเล่าให้ฟังแต่อย่างที่สำคัญ ถ้าจะเล่าให้ละเอียดตลอดไปเห็นไม่สู้มีประโยชน์นัก จะเล่าเรื่องสถานที่ในวัดนี้ไว้ ให้ฟังสักนิดหน่อย น่าสลดใจ คราวหายนะ เมื่ออัตตโนมาอยู่วัดกำลังโทรม คณะหอเขียวมีกุฏิ ๕ หลัง พออาศัยอยู่ได้แต่ชำรุดทุกหลัง กุฏิใหญ่ พื้นชั้นล่างทรุดกระดานโก่งอาศัยไม่ได้ พื้นชั้นบนดีแต่อับ หน้าต่างเล็กซุมซู่ พระเณรอยู่ไม่ได้เป็นไข้ อัตตโนก็ออกอยู่ที่ระเบียงพอตลอดพรรษา ออกพรรษาอัตตโนไปปลูกกุฏิเล็กอยู่ต่างหาก คณะกลางที่รื้อสร้างโรงธรรมสวนะทุกวันนี้ มีกุฏิอยู่ ๖ หลัง พอพระเณรอาศัยอยู่ได้หลังเดียว ยังพออาศัยได้มากแต่คณะกุฏิ แต่ก็ชำรุดหลายหลัง หน้าวัดมีศาลาระเบียงรอบ ๓ หลัง ชำรุดทุกหลังใช้การไม่ได้ คณะสวนมีศาลา ๒ หลัง แต่ชำรุดอาศัยไม่ได้เหมือนกัน พระอุโบสถเชิงกลอนและช่อฟ้าตกลงมาหลายอัน ในพื้นพระอุโบสถทรุดเป็นแอ่งสองสามแห่ง ชุกชีพระประธานก็ทรุดเป็นแอ่งๆ เหมือนกัน ต้องปรับใหม่ทั้งนั้น ที่ปูหินหยาบโดยรอบในกำแพง หญ้าแห้วหมูขึ้นรอบแผ่นหินยาวกว่าฝ่ามือ ต้องรื้อปรับใหม่ยาปูนซีเมนต์โดยรอบ ที่วัดด้านตะวันออกและด้านใต้ด้านตะวันตก รกเป็นดงไม่มีทางเดินไปมาหากันได้ ดูเป็นที่รำคาญใจเสียนี่กระไร แต่อัตตโนสบายไม่รำคาญเห็นว่าเป็นคราวของธรรมดา ยังมีข้อรำคาญอยู่อย่างหนึ่ง ที่วัดไม่มีทางออก ต้องอาศัยเดินทางรถไฟลำบากมาก แต่อัตตโนพยายามพูดขอทางออกหลังวัดที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ๓ ปีจึงสำเร็จ เสียเงินมาก ที่ของหลวงยศเส ๒ เส้นเศษ แต่ถนนหลวงเข้าไปเขาเรียกเอาราคาวาละ ๒๐ บาท ในนั้นเข้าไปถึงวัดวาละ ๖ บาท แต่อย่างนั้นเขาก็ไม่ยอมให้ตัดตรงๆ คดไปคดมา เพราะเจ้าของเขาหวงที่ คิดเสียว่าพอเดินสะดวกได้เป็นแล้วกัน สัตบุรุษช่วยกันบริจาคทรัพย์ทั้งค่าซื้อที่ และค่าก่อสร้าง เสร็จเป็นถนนรถเดินได้ สิ้นเงิน ๑๐,๕๐๐ บาท ได้ถวายพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามให้เรียกว่า ถนนวัดนอก เขียนป้ายติดไว้ที่ปากตรอก มีพระราชประสงค์จะให้รักษาชื่อเดิมไว้ ด้วยวัดนี้เรียกว่า “วัดนอก” วัดบวรนิเวศเรียกว่า วัดใน เป็นคู่กันแต่เดิมแต่ไม่สำเร็จ ไม่มีใครเขายอมเรียก เขาเรียกแต่ “ถนนวัดบรมนิวาส” อัตตโนมาอยู่วัดนี้ได้ ๓ ปี แล้วจึงได้มีถนนหลังวัดเข้าออกได้ ถนนสายนี้เป็นเหตุให้ความเจริญแก่วัดขึ้นโดยลำดับ ในปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้สร้างถนนหลังวัดเสร็จแล้ว ปรารภจะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและวิหาร ซุ้มประตูศาลาน้ำ ซึ่งเป็นของสำคัญก่อน พอประจวบกับสมัยที่เจ้าจอมมารดาทับทิม มีประสงค์จะบำเพ็ญกุศลในคราวอายุครบ ๕๐ ปีบริบูรณ์ อาศัยเหตุนี้ท่านจึงได้ชักชวนบรรดาประยูรญาติช่วยจัดเป็นผ้าป่า รับกันคนละองค์ ต้องการเงินมาก ส่วนข้าวของถวายพระที่ถูกฉลาก ส่วนเงินรวมไว้ช่วยในการปฏิสังขรณ์โบสถ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ส่วนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงช่วยไม้ขอนสัก ๘ ต้น ยาวขนาด ๔ วา ส่วนโตแต่ ๙ กำขึ้นไปถึง ๑๒ กำมาในกระบวนผ้าป่าด้วย ช่างครึกครื้นเสียนี่กระไร ในคลองหน้าวัดยัดเยียดหาทางเรือไปมาไม่ได้ เต็มไปด้วยเรือผ้าป่า เวลาขนขึ้นหน้าวัดก็เต็มหน้าวัดไปหมด ทั้งการละเล่นเต้นรำดูก็น่าสนุกอยู่ ในงานผ้าป่าคราวนี้ได้ค่าปฏิสังขรณ์ ๕,๐๐๐ บาทเศษ ได้ขอนสัก ๘ ต้น นับว่ามีกำลังพอจะลงมือปฏิสังขรณ์โบสถ์ได้แล้ว
อัตตโนได้เข้าไปทูลเรี่ยไรพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระยุพราช ได้ทรงพระราชทานเงิน ๕,๐๐๐ บาท อัตตโนนับว่าเป็นผู้มั่งมี คือมีเงินตั้ง ๑๐,๐๐๐ บาท ได้ลงมือปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและปรับพื้นทั้งภายในและภายนอก และซุ้มประตูศาลาน้ำ ส่วนพระระเบียงได้แก้ไขแต่เพียงไม่ให้รั่ว และซ่อมพระพุทธรูปที่ชำรุดบ้างสิ้นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ส่วนโบสถ์วิหารเป็นที่สำราญตาขึ้นแล้ว มาอยู่ได้ ๔ ปี ได้ของสำคัญคือถนนกับโบสถ์ฯ การที่ได้มาอยู่เป็นเจ้าอาวาสได้อยู่สบายเพียง ๓ ปี ออกพรรษาแล้วก็ออกรุกขมูลเสมอ ส่วนการในวัดก็จัดให้มีโรงเรียนหนังสือไทย ให้พระในวัดสอนที่หอเขียวในระหว่าง ๓ ปี มีนักเรียนขึ้นประมาณ ๔๐ คนเศษ ภายหลังขอครูจากกระทรวงธรรมการมาสอนหมดธุระไป มีแต่โรงเรียนทางมคธอย่างเดียว
การก่อสร้างก็มีขึ้นบ้างในปีที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๕๐ เจ้าจอมมารดาทับทิมท่านเห็นอัตตโนไม่มีที่อยู่ ท่านรำคาญมีศรัทธาขอสร้างกุฏิสมภารให้ คือสร้างกุฏิปัทมราชนี้ให้ สิ้นเงิน ๙,๐๐๐ บาท ในพรรษานี้เดือน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ โยมผู้หญิงถึงแก่กรรม เดือน ๑๑ ขึ้น ๙ ค่ำ โยมผู้ชายถึงแก่กรรม โดยมผู้หญิงอายุได้ ๗๓ โยมผู้ชายอายุได้ ๗๗ นับว่าถึงแก่กรรมพร้อมกันก็ว่าได้ พระครูศีลวรคุณ สมภารวัดสิริจันทรนิมิตร์ เขาพระงามลพบุรี เมื่อยังเป็นปลัดอยู่ช่วยการมณฑล พระโพธิวงศาจารย์เมื่อยังเป็นพระศาสนดิลกเป็นผู้พยาบาลโยม เธอเป็นบุตรสุดท้อง เธอได้มีโทรเลขมาแจ้งความ อัตตโนได้ตอบไปว่าให้เก็บศพไว้คอย ออกพรรษาแล้วจะไป ครั้นออกพรรษาเสร็จการฉัตรมงคลแล้วก็ออกไป เดือน ๔ ทำศพโยมเสร็จ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๔๕๑ กลับเข้ามากรุงเทพฯ ในพรรษานี้ พระญาณวราภรณ์ เจ้าคณะมณฑลจันบุรีลาออก รับสั่งให้อัตตโนเป็นเจ้าคณะมณฑลจันทบุรีแทน
วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ รับสัญญาบัตรตำแหน่งเป็นเจ้าคณะมณฑลจันทบุรี ตกแล้งได้ออกไปตรวจตลอดมณฑล แต่ไม่มีการลำบากอะไร เพราะพระญาณวราภรณ์ได้ไปจัดการวางระเบียบไว้เรียบร้อยแล้ว คดีอะไรก็ไม่มีเรียบร้อยดี เดือน ๗ กลับเข้ามากรุงเทพเป็นปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เผอิญพระราชมุนี (ชม) เจ้าคณะมณฑลราชบุรีถึงมรณภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งว่า มณฑลราชบุรีเป็นมณฑลสำคัญเห็นสมควรแต่พระญาณรักขิตเท่านั้น ในปีนี้วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนตำแหน่งเป็นพระราชกวี ถึงวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลราชบุรี ออกพรรษาฉัตรมงคลแล้ว ออกไปตรวจมณฑลราชบุรีตลอดมณฑล ในมณฑลนี้เจ้าคณะมณฑลเก่าจัดการไว้ยังไม่สู้เรียบร้อย ออกจะมีขลุกขลักหลายเรื่อง อธิกรณ์ก็มีหลายคดี พระตามบึงบางยังมีอาการกระด้างกระเดื่องไม่เรียบร้อยเหมือนจันทบุรี ครั้นกลับเข้ามาในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ เผอิญพระสาสนโสภณ (อ่อน) เจ้าคณะมณฑลหัวเมืองกรุงเทพฯ ถึงมรณภาพลงอีก คราวนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นอีกว่าพระราชกวีพอจะรับจัดการกับพระรามัญนิกายให้เรียบร้อยได้
ณ วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้าคณะมณฑลหัวเมืองกรุงเทพฯ ยิ่งยุ่งหนักกว่ามณฑลราชบุรี ออกไปตรวจคราวนี้มีอธิกรณ์มากกว่า ๕ เรื่อง ออกจะเป็นพวกพระรามัญโดยมาก ได้ชำระเสร็จไปทุกเรื่อง ได้ออกไปตรวจใน ๓ มณฑลนี้ มณฑลละคราวเท่านั้นทั้ง ๓ มณฑล, ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ออกพรรษาแล้ววันที่ ๒๓ ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าสยามปิยมหาราชเสด็จสวรรคต ชาวพสกนิการ ระงมไปด้วยความโศกเศร้าทั่วพระราชอาณาจักร ไม่ได้พูดถึงการงานในหน้าที่ของตน เว้นแต่การจำเป็น ครั้น ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ นั้นเอง พระมงกุฎเกล้าเจ้าสยามเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบรัชทายาท ต่อมาการก็แปรไปตามสมัย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีสมเด็จพระสังฆราชต่อกัน ๒ พระองค์ คือ สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระสังฆราชมาก่อน ครั้นสิ้นพระชนม์แล้ว ทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์ ครั้นสมเด็จพระสังฆราช (สา) สิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไม่ทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราช แต่มอบหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ในรัชกาลโน้นถึงมีสมเด็จพระสังฆราชแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่วางอำนาจเด็ดขาดแก่สมเด็จพระสังฆราช เป็นแต่ให้สมเด็จพระสังฆราชอนุวัตรตาม การคณะการศาสนา การศึกษา เล่าเรียน ทรงเป็นพระราชธุระด้วยพระองค์ทั้งสิ้น สมเด็จพระสังฆราชเป็นแต่อนุวัตรตามพระราชประสงค์เท่านั้น
ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่สมเด็จพระสังฆราชา แล้วทรงมอบพระราชธุระฝ่ายพุทธจักรถวาย ให้ทรงชี้การเด็ดขาดทีเดียว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแต่ทรงอนุวัตรตามสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น ใน ๒ รัชกาลดำเนินการผิดกันอย่างนี้
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 ตุลาคม 2556 12:41:45 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5746
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0
Re: อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
«
ตอบ #2 เมื่อ:
14 ตุลาคม 2556 12:46:48 »
.
อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(จันทร์ สิริจนฺโท)
อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร
ครั้นถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าสยามแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเริ่มจัดการพระศาสนาทั้งการคณะและการศึกษาใหม่ ส่วนมณฑลหัวเมืองกรุงเทพฯ ทรงจัดให้รวมขึ้นอยู่ในคณะหนกลางกรุงเทพฯ อัตตโนก็ไม่ต้องว่าการคณะต่อไป ตอนนี้อัตตโนมีกำไรในทางสมถะวิปัสสนามาก พอตกแล้งแล้วออกเที่ยวเสมอ
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ นั่นเอง เจ้าจอมมารดาเลื่อนมีศรัทธาสร้างศาลาธรรมสวนะขึ้นที่คณะกลางชื่อศาลาอุรุพงศ์ ซึ่งอาศัยใช้อยู่ทุกวันนี้ ส่วนพระประธานในศาลานั้นเป็นพระศิลาแลงชลอมาจากวัดหลุมดินเก่า เมืองราชบุรี เป็นพระประธานในโบสถ์ แต่โบสถ์เก่าชำรุดหมดแล้ว ส่วนพระก็ตกลงมาอยู่ข้างล่างชำรุดทั้งองค์ คงได้ดีแต่พระเศียรเท่านั้น จ้างเจ๊กล่องถ่านบรรทุกเข้ามาให้ ปีชวดวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้ยกพระขึ้นแท่นในศาลาลำดับให้เป็นองค์ ใช้ปูนซีเมนต์ประสาน เร่งรีบจะให้เสร็จทันสมโภชฉลองในวันวิสาขบูชา เผอิญวันวิสาขะตกเดือน ๗ สำเร็จทันตามประสงค์ ได้ถวายพระนามว่าพระพิชิตมารมัธยมพุทธกาล การสมโภชพระประธานองค์นี้ มีปาฏิหาริย์ปรากฏแก่ประชุมชนเป็นอันมาก ในเวลาปัจจุสสมัยพระยืนรอบ สวดปฏิจจสมุปบาท เวลาสรงน้ำอบน้ำหอม มีแสงพระรัศมีช่วงโชติขึ้น ในศาลาเป็นสายคล้ายกับสายฟ้าแลบ ทำให้เกิดปีติแก่ประชุมชนน่าอัศจรรย์ ความเป็นจริง แต่ได้พระประธานองค์นี้มาการในวัดก็เจริญขึ้นทุกหน้าที่ การที่สร้างพระประธานนี้ได้คิดมา ๕ ปีแล้ว แต่แรกได้สร้างวัดเสน่หานุกูลที่ใกล้พระปฐมเจดีย์ คิดว่าจะสร้างโบสถ์หล่อพระประธานขึ้นที่นั้นให้ทันได้ฉลองในปีชวดนี้เหมือนกัน ตั้งใจว่าจักไปช่วยบำรุงพระปฐมเจดีย์ด้วย แต่ไม่สะดวกเกิดขัดๆ ข้องๆ จึงได้หลีกไปเสียทางอื่น
ครั้นถึงปีชวดได้สร้างพระประธานองค์ที่ศาลาธรรมสวนะนี้ขึ้น ก็คิดว่าสมประสงค์ แต่ยังรู้สึกในใจว่าน้อยนักไม่พอแก่ที่ได้คิดไว้ในเบื้องต้น ด้วยเหตุอะไรจึงได้คิดจะก่อสร้างที่ระลึกไว้ให้สำเร็จในปีชวดนี้ ด้วยในปีชวด พ.ศ. ๒๔๕๕ นี้ เป็นปีกึ่ง ๕,๐๐๐ แห่งพุทธกาล นับแต่วันตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทโธมา ควรเราผู้เป็นปัจฉิมสาวกจะสร้างเจติยสถานจารึกไว้เป็นที่ระลึกอย่างสำคัญสักชิ้นหนึ่ง อันนี้เป็นความคิดเดิมคิดมาได้ ๕ ปี
ครั้นฉลองสมโภชพระประธานในเดือน ๗ กลางเดือนเสร็จแล้ว ได้พาพระครูปลัดอ่ำออกไปเที่ยวแขวงเมืองลพบุรี เพราะเป็นตำบลมีถ้ำมีเขามาก จึงไปได้ถ้ำเขาบ่องาม ที่สร้างวัดสิริจันทรนิมิตร์อยู่บัดนี้ ว่างไม่มีพระสงฆ์ไปอาศัย และเป็นสถานที่ชอบใจเห็นเป็นมงคลสถาน ปากถ้ำนั้นเป็นเงื้อมเป็นปากมังกร ผินหน้าสู่ทิศตะวันออก เวลาบ่ายได้รับเงาภูเขาเย็นสบายดี เชื่อว่าในบริเวณตรงหน้ามังกรนี้ คงจะมีความเจริญสืบไปในเบื้องหน้า เวลานี้ก็เงียบสงัดดี ห่างหมู่บ้านประมาณ ๕๐ เส้น พอไปบิณฑบาตมาฉันได้ ก็ตกลงจับที่เป็นเจ้าของถ้ำทีเดียว พระครูปลัดเธอก็ชอบใจขอลาออกจากตำแหน่งพระครูปลัด ขอจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำนี้ อัตตโนก็ดีใจ คิดว่าออกพรรษาแล้วจะได้มาอยู่ด้วยกัน ส่วนอัตตโนกลับเข้ามาจำพรรษากรุงเทพฯ
เดือน ๑๑ ปวารณาแล้ว ได้รับจดหมายพระครูปลัดหารือมาว่า พระพุทธรูปเก่าซึ่งปรักหักพังเกลื่อนกลาดเป็นที่รำคาญมาก อยากจะเก็บรวมแล้วก่อเป็นพระกัจจายน์องค์เขื่องๆ ให้เป็นที่บรรจุพระที่ชำรุดจะเห็นอย่างไร อัตตโนคิดเห็นว่า พระกัจจายน์เป็นสาวก พระพุทธรูปเป็นพระพุทธเจ้าเห็นไม่เหมาะ พอเสร็จพระกฐินแล้ว เดือน ๑๒ ข้างขึ้นก็รีบออกไปปรึกษากัน ควรจะสร้างพระใหญ่ ส่วนพระกัจจายน์เอาไว้ทีหลังก็ตกลงกันจึงพากันเลือกหาที่ เห็นว่าถ้ำนี้เป็นศีรษะมังกร ภูเขานี้เป็นหางมังกร ควรจะสร้างเหนือคอมังกรนี้แหละ จะได้มีเดชานุภาพมาก มีหินก้อนใหญ่รับพระชาณุอยู่สองก้อน ทิศใต้ก้อนใหญ่ ทิศเหนือก้อนย่อมหน่อย แต่ก็พอกันไม่ให้ทรุดลงไปได้ วัดดูที่ก็พอจะได้ ๑๐ วาเศษ คิดว่าจะทำเพียงหน้าตัก ๑๐ วาเท่านั้น ครั้นลงมือทำกลายเป็น ๑๑ วา เพราะขยายออกตามก้อนหิน ครั้นตกลงกันแล้ว อัตตโนก็ตั้งเครื่องสักการะตั้งสัตยาธิษฐานว่า คิดจะทำการอย่างนี้ จะสะดวกหรือไม่ จะสำเร็จหรือไม่ ขอนิมิตต่อเทวนิกาย
ในคืนวันนั้นจวนสว่างนิมิตไปว่าได้ว่ายน้ำไปตามกระแสแม่น้ำตำบลหนึ่ง น้ำเชี่ยมเต็มทีแต่มีเสาสำหรับเกาะพักแรงไปเป็นระยะๆ ในที่สุดไปเจอะโรงทหารอยู่ริมน้ำว่ายแวะเข้าไปขออาศัยขึ้น ทหารก็ดีใจให้อนุญาต จึงขึ้นไปในสนามทหารเห็นเป็นถนนใหญ่เลยเดินเลยไป เป็นบ้านเป็นเมืองใหญ่โตในที่นั้นก็พอตื่นพอดี รำพึงถึงนิมิตจะอธิบายว่ากระไร ? ทำไมจึงมาเกี่ยวด้วยกองทหารแปลไม่ออก รู้แต่ว่าการคงสำเร็จตามประสงค์ เพราะไม่มีเหตุขัดข้องก็ดีใจ
ครั้นเดือน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ จะกลับเข้ามากรุงเทพฯ ได้ตั้งสัตยาธิษฐานอีก คราวนี้ขอเทวนิกายจงบันดาลให้เห็นการที่จัดสร้างพระใหญ่ตามนิมิตนั้น ถ้าจะสำเร็จข้าพเจ้าเข้าไปกรุงเทพฯ คราวนี้จะไปบอกบุญพวกสัตบุรุษให้ได้เงินอย่างน้อย ๕,๐๐ บาท ในภายใน ๕ วัน ๗ วัน จะเชื่อได้ว่าการจะสำเร็จเป็นแน่ จะได้เรียกลูกจ้างออกมาทำในเดือนนี้ให้สำเร็จเป็นพระกึ่งยุค เป็นเกียรติยศแก่พระพุทธศาสนา ถ้าจะไม่สำเร็จ ในภายใน ๕ วัน ๗ วันนี้ อย่าให้ได้เงินเลย แล้วกลับเข้ากรุงเทพฯ มาเล่าความประสงค์ให้สัตบุรุษฟัง เจ้าจอมมารดาเลื่อนมีศรัทธาช่วย ๒,๐๐๐ บาท แม่ชีอุบาสิกาเชื่อง อุบาสิกาชงให้คนละ ๑,๐๐ บาท เวลานั้นส่วนอัตตโนเองไวยาวัจกรเก็บไว้มีอยู่บ้าง ผู้อื่นช่วยอีกบ้างรวมเป็น ๑,๐๐๐ บาทเศษ ยังไม่ถึง ๕ วันมีเงินถึง ๕,๐๐๐ บาท สมกับตั้งสัตยาธิษฐานแล้วสิ้นความสงสัย จึงเรียกเจ๊กกวางตุ้งช่างไม้ ให้ไปผูกโยงโครง เจ๊กแต้จิ๋วเป็นช่างก่อออกไปพร้อมกัน
เดือน ๑๒ แรม ๑ ค่ำ พาเจ๊กออกไป แต่โครงเหมาเจ๊กกวางตุ้ง ๔,๐๐๐ บาทให้แล้วในกึ่งเดือน เดือนอ้ายขึ้น ๔ ค่ำ เวลาโมงเช้าก่อฤกษ์ นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ กำหนดร้อยหนึ่งขึ้นไป ชาวบ้านมาช่วยเลี้ยงพระมากกว่า ๕๐๐ การก่อเหมาเจ๊กแต้จิ๋ว ๖,๐๐๐ บาท ว่าให้ทันได้สมโภชเดือน ๔ เพ็ญ แต่ก็ไม่สำเร็จทำงาน ๓ เดือนไม่มีหยุดเลย ได้เหนือบั้นเอวขึ้นไปนิดหน่อย เงินค่าเหมา ๖,๐๐๐ บาทก็หมด ต้องเหมาให้ทำต่อขึ้นไปอีก ๕,๐๐๐ บาท ยังต้องเติมอีก ๓,๐๐๐ บาท สามปีจึงสำเร็จบริบูรณ์ แต่การฉลองสมโภช ต้องทำแต่ปีต้นตลอดมาทั้ง ๓ ปี ให้มีบ้องไฟใหญ่มาจุดบูชาสมโภชทุกบ้าน บ้านใดสามารถจะทำได้ในงานคราวหนึ่งก็ไม่ต่ำกว่า ๔๐ กระบอกทั้ง ๓ ปี ต่อนั้นมาให้เว้นบ้องไฟ ๒ ปี ปีที่ ๓ จึงให้มีบ้องไฟ เพราะเป็นการยากหามมาก็ลำบาก บ้านอยู่ไกล จึงได้เป็นธรรมเนียมมาจนทุกวันนี้
การสมโภชคราวหนึ่งได้มีมหาชนผู้มีศรัทธาบริจาคทรัพย์ไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ บาท การจึงสำเร็จ ถ้าจะว่าไปโดยความจริงการสร้างพระใหญ่นี้ เกี่ยวด้วยความเป็นเองโดยมากจึงสำเร็จได้ สิ้นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาทเศษ นับแต่แรกสร้างปีชวด พ.ศ. ๒๔๕๕ มาถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ ปีขาลนี้ได้ ๑๕ ปี ในปีขาลนี้ได้ลงมือปฏิสังขรณ์ใหม่ ผูกลวดเหล็กเทคอนกรีตขึ้นไป แต่พื้นดินตลอดถึงพระเศียร สิ้นปูนซีเมนต์ ๔๐๐ ถัง คราวนี้ได้ทำให้แข็งแรงและเรียบร้อยดีขึ้นกว่าเก่า ทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จสิ้นเงิน ๑๖,๐๐๐ บาท และได้สร้างพระกัจจายน์ด้วย สร้างวิหารพระกัจจายน์ด้วย พระกัจจายน์หน้าตัก ๑๑ ศอก สูง ๓ วา อยู่ข้างล่างเคียงพระอุโบสถ ทั้งพระกัจจายน์และวิหารสิ้นเงิน ๕,๐๐๐ บาท ในปีเดียวกันในเดือน ๔ ปีนี้ ทำการฉลองสมโภชเป็นการใหญ่
ในรัชกาลที่ ๖ อัตตโนมีความเจริญยิ่งด้วยลาภและยศ ทั้งการก่อสร้างในวัดบรมนิวาสและที่อื่นๆ คือวัดสิริจันทรนิมิตร์ เขาพระงาม และปฏิสังขรณ์โบสถ์และวิหารคดวัดบวรมงคล ๆ นี้สิ้นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาทเศษ และไปช่วยเขาสร้างมณฑปพระบาท ที่วัดกลางบ้านแป้ง อำเภอพรหม แขวงเมืองสิงห์ด้วย ส่วนในวัดบรมนิวาสจะบอกไว้แต่ของสำคัญ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษสิริพัฒน์ มีพระประสงค์จะทรงสร้างถาวรวัตถุไว้ในวัดนี้สักสิ่งหนึ่ง เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อัตตโนได้ถวายพระพรขอให้ทรงสร้างหอระฆังและตัวระฆัง หอให้สูงไม่ต่ำกว่า ๑๐ วา ระฆังไม่ให้ต่ำกว่า ๙ กำ ทรงเห็นชอบด้วย ทรงสร้างสำเร็จบริบูรณ์ ทั้งหอและตัวระฆังสิ้นเงิน ๕,๘๐๐ บาท สุ่น ทังสุภูติ อุบาสิกาเป็นผู้มีศรัทธากล้าแข็ง บริจาคทรัพย์รวม ๓๕,๐๐๐ บาท สร้างโรงเรียนสุ่นวิทยานุกูลขึ้นแล้วเสร็จบริบูรณ์เต็มที่ สำหรับให้พระสงฆ์สามเณรศึกษาพระปริยัติธรรม และเมื่อสร้างโรงเรียนนี้ขึ้นได้แล้ว ได้นำความสะดวกให้แก่พระสงฆ์สามเณรได้รับความผาสุก ในการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเป็นอันมาก นับว่าเป็นสิ่งสำคัญของวัดอย่างหนึ่ง และทั้งสุ่น ทังสุภูติ อุบาสิกา ยังได้ช่วยเหลือในการปฏิสังขรณ์ต่างๆ และอุดหนุนจุนเจือพระสงฆ์สามเณรในวัดนี้ที่ขาดแคลน ให้ได้รับปัจจัยทั้ง ๔ ตามสมควรอยู่เสมอมิได้ขาด นับว่าเป็นทายิกาที่อุปการคุณแก่พระสงฆ์และสามเณรในวัดนี้ผู้หนึ่ง
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 พฤศจิกายน 2556 13:07:59 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5746
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0
Re: อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
«
ตอบ #3 เมื่อ:
05 พฤศจิกายน 2556 11:11:03 »
.
อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(จันทร์ สิริจนฺโท)
อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร
ส่วนบรรดาศักดิ์ถึงปีขาล วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนตำแหน่งเป็นพระเทพโมลี ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พรรษาที่ ๓๙ ปลายปีถูกถอดลดยศออกจากตำแหน่งพระเทพโมลี จะเล่าเรื่องการถูกถอดไว้ให้ลูกศิษย์ฟังนิดหน่อยพอกันสงสัย คือในสมัยนั้นพึ่งเกิดมหาสงครามในประเทศยุโรปใหม่ๆ อัตตโนได้คิดแต่งหนังสือแทนจดหมายเหตุชี้โทษแห่งทุวิชาขึ้นเรื่องหนึ่งให้ชื่อว่า
“ธรรมวิจยานุศาสน์”
แจกในงานศพ ม.ร.ว.หญิงดวงใจ ปราโมช ณ อยุธยา ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ แต่หนังสือนั้นขัดข้องต่อรัฐประศาสโนบายของประเทศเป็นเหตุไม่ต้องด้วยพระราชนิยม เมื่อทรงทราบจึงมีพระบรมราชโองการรับสั่งให้ถอดจากสมณศักดิ์ ให้นำตัวไปกักไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ครั้นเมื่อพรรษาที่ ๔๐ ตรงกับวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ทรงพระราชทานอภัยให้อัตตโนพ้นจากโทษ แล้วทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานตำแหน่งสมณศักดิ์ ให้เป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี มีตำแหน่งเสมอกับพระราชาคณะชั้นเทพ ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๕ อัตตโนลาไปเที่ยวหาที่วิเวกเลยไปนมัสการพระธาตุจอมยองในอาณาเขตเมืองเชียงตุง ในเขตแดนอังกฤษ เผอิญติดฝนชุกจะกลับมาจำพรรษากรุงเทพฯ ไม่ทัน ต้องจำพรรษาอยู่บนเขาพระธาตุจอมยองตลอดไตรมาส เป็นปีพรรษาที่ ๔๖ ออกพรรษาแล้ว เจ้าฟ้าหลวงเมืองเชียงตุงจัดให้ข้าราชการมาอาราธนารับเข้าไปเมืองเชียงตุง การไปเมืองเชียงตุงจะเล่าให้ลูกศิษย์ฟังพอได้ใจความสักหน่อย การไปคราวนี้ได้ทูลลาแต่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าว่าจะไปเที่ยวทางเหนือ มิได้ลาทางราชการ ที่ไปนมัสการพระธาตุจอมยองเป็นความคิดใหม่ เพราะอยู่นอกพระราชอาณาเขต แต่อัตตโนระวังรักษาธุดงควัตรอย่างเต็มที่ไม่ให้ใครรู้ว่าเป็นพระมีฐานันดรศักดิ์ เพื่อจะรักษาพระราชเกียรติยศ แต่อย่างนั้นเจ้าฟ้าหลวงเมืองเชียงตุงยังทรงทราบ อัตตโนไปถึงเดือน ๗ พอเดือน ๘ ได้รับจดหมายของเจ้าฟ้าเชียงตุงซึ่งให้ข้าราชการนำมา ในจดหมายนั้นมีใจความว่าทรงยินดีที่ได้ทราบว่าอัตตโนเข้ามาในอาณาเขต บัดนี้พระองค์ท่านกับทั้งพระราชมารดาขออาราธนาเข้าไปจำพรรษาที่เมืองเชียงตุง เพื่อจะได้รับโอวาทดังนี้ อัตตโนได้ตอบไปว่าจวนเข้าพรรษาแล้ว ฝนชุกไปไม่ได้ ระยะทางก็ไกลถึง ๘ คืน จึงต้องจำพรรษาอยู่ที่นั่น ในพรรษานี้ได้เจริญสมถะวิปัสสนาอย่างพอใจ เป็นที่วิเวกสำราญจริง ครั้นออกพรรษาแล้วถึงเดือน ๑๒ ได้รับจดหมายเจ้าฟ้าเชียงตุง ให้ข้าราชการนำมาพร้อมด้วยพาหนะให้มารับทีเดียว เดือน ๑๒ ข้างแรมจึงได้ไปเมืองเชียงตุง พวกอัตตโนที่ไปด้วยกัน พระ ๓ รูป คฤหัสถ์ ๒ คน เป็น ๕ คนด้วยกัน เมืองยองอยู่ตรงตะวันออกของเมืองเชียงตุง ไปแม่น้ำโขงวันเดียวถึง ถ้าจะไปสิบสองปันนา ๒ วันถึงเขต ถ้าไปเชียงตุงต้อง ๙ วันจึงถึง ทางลำบากกันดารมีแม่น้ำลำคลองที่ข้ามไม่ต่ำกว่า ๖๐ ตำบล ไปตามระหว่างซอกเขาคดๆ เลี้ยวๆ ไปอย่างนั้นเอง ในระยะทาง ๙ วัน นั้นจะหาที่ราบเดินสบายสัก ๑๐๐ เส้นก็ไม่ค่อยจะมี ต้องขึ้นๆ ลงๆ กันร่ำไป แต่ที่พักและอาหารไม่ลำบาก เขาสั่งจัดไว้คอยรับทุกระยะ ต้องเทศน์ให้เขาฟังทุกระยะที่พักตลอดทาง จนถึงเมืองเชียงตุง น่ายินดีการที่เจ้าฟ้าหลวงเมืองเชียงตุงสั่งจัดการรับรอง พอจวนถึงเมืองมีข้าราชการ และพลเมืองตั้งเครื่องสักการะและพากันมาดูเต็มไปหมดทุกแห่งทุกหน ท่านจัดที่ให้พักวัดหัวโข่ง แปลว่าวัดหน้าสนามนั่นเอง อะไรก็ดีทุกอย่างเสียแต่หนาวอย่างเดียว หนาวจนต้องผิงไฟวันยังค่ำ พักอยู่ที่เมืองหลวงนั้น ๑๕ วัน ในเวลาพักอยู่นั้น ได้แสดงธรรมตามบ้านตามวัดและในวังเจ้าฟ้าหลวงด้วย แทบทุกวันทั้งหนาวๆ อย่างนั้นเอง เจ้าฟ้าหลวงและพระราชมารดา พระราชเทวี แสดงความเลื่อมใสมาก
เจ้าฟ้าหลวงเมืองเชียงตุง
องค์นี้ทรงพระนามว่า
“สมเด็จพระเชฏฐปรมบพิตร มหารัตนะโชติ ศิริสุธัมมสีหฬเมฆมณี ปวรเสฏฐาราชาภูมินทนรินทา เขมาธิปติราชเจ้า”
มีพระชนม์ก็จวนจะถึง ๕๐ เป็นคนมีศรัทธา สนใจในทางธรรมปฏิบัติมาก วันพระ ๘ ค่ำ ๑๔-๑๕ ค่ำ มีพระตำหนักวิเวกรักษาอารมณ์ พระราชมารดาก็ออกจะเข้าใจในทางสมถะมีอุคคหะปฏิภาคพอควร
ข้อสำคัญในเวลาที่ไปพักอยู่ที่เมืองเชียงตุง อัตตโนได้มีหนังสือถวายชี้แจงเรื่องการบำรุงพระศาสนา มีใจความว่า ต้องอาศัยพระราชาเป็นหลัก พระสงฆ์สามเณรในประเทศนี้ปฏิบัติยังบกพร่องในทางวินัยมาก ไม่ใช่พระเจ๊กพระญวนเป็นพระสำเร็จด้วยญัตติจตุตถกรรมและรักษาปาฏิโมกขสังวรศีลด้วยกัน ควรจะแก้ไขให้เหมือนเขา อย่างประเทศพม่า ลังกา สยาม เขมร เขาลงกันทั้งนั้น ที่อุจาดมากพระเณรไปทางใด สะพายดาบพกมีดกินอาหารไม่มีเวลา ไหว้พระสวดมนต์ก็ไม่มีหลัก ใครได้อย่างใดก็ไหว้ไปสวดไปอย่างนั้น เหล่านี้เป็นตัวอย่างบ้านเมืองเนื่องกันกับนานาประเทศแล้ว ควรจะทรงดำริจัดให้ทันเขาจะได้เต็มเกณฑ์ศาสนูปถัมภกจะเป็นพระราชกุศลอย่างสูงสุด ทรงรับสั่งว่าพระดำริอยู่เสมอ ขาดผู้เป็นหัวหน้าฝ่ายพระศาสนา ฝ่ายอาณาจักรจะทรงเป็นพระธุระเต็มที่ อัตตโนได้แนะนำให้ค่อยแก้ไขไปทีละน้อย ขอให้คัดพระเณรส่งเข้าไปศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ อัตตโนจะช่วยเป็นธุระสั่งสอน จะได้เป็นกำลังในการสั่งสอนต่อไป ทรงเห็นชอบด้วยทุกประการ จึงได้ทรงจัดให้พระเณรเข้ามาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ พร้อมกับอัตตโน ๖ รูป ภายหลังได้ส่งเพิ่มเข้าอีก ได้เป็นนักธรรมตรี นักธรรมโทขึ้นบ้างแล้ว นักธรรมตรีได้ออกไปช่วยการศึกษาองค์หนึ่งแล้วยังกำลังเรียนอยู่กรุงเทพฯ หลายองค์ ทุกวันนี้การปกครองคณะสงฆ์ก็ทรงจัดให้เข้าระเบียบได้แล้ว นับว่าก้าวหน้าขึ้นสู่ความเจริญทันสมัย เจ้าฟ้าหลวงองค์นี้นับว่าเป็นอัครศาสนูปถัมภก เมื่ออัตตโนลากลับกรุงเทพฯ ทรงอาลัย ทรงจัดพาหนะให้คนมาส่งถึงเมืองเชียงรายทั้งค่ารถเข้ามากรุงเทพฯ ทรงจัดถวายมาเสร็จเป็นพระเดชพระคุณมาก ส่วนอัตตโนไปเที่ยวคราวนี้ ก็นับว่าเป็นคุณประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนญาติคือผู้ที่ได้พบได้เห็น และเป็นประโยชน์ส่วนพุทธศาสนาตามกำลังความสามารถ เล่าให้ฟังไว้เพียงย่อๆ การไปเที่ยวเมืองเชียงตุง คือไปก็เป็นสุขมาก็เป็นสุขอยู่ที่ไหนก็เป็นสุข เพราะอัตตโนปฏิบัติถึงพระพุทธคุณบทว่า
“สุคโต”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครั้นอัตตโนกลับจากเชียงตุงมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนตำแหน่งเป็นพระโพธิวงศาจารย์เทียบที่พระราชาคณะชั้นธรรม ครั้นในปลาย พ.ศ. นั้น อัตตโนกำหนดการจะผูกพัทธสีมาที่วัดเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี ในเดือน ๔ เพ็ญ เวลานั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับอยู่ พระราชวังสนามจันทร์นครปฐม ทรงกำหนดเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสวนสนามปืนใหญ่ ที่กรมสนามปืนใหญ่จังหวัดลพบุรี กำหนดเสด็จข้างแรมเดือน๓ ครั้นได้ทรงทราบจากเจ้าพระยายมราชว่า อัตตโนจะมีการผูกพัทธสีมา ที่วัดเขาพระงาม ในเดือน ๔ เพ็ญ เป็นการใหญ่ จึงทรงรับสั่งกับเจ้าพระยายมราชว่าจะเสด็จไปทรงช่วยอัตตโน แล้วให้งดการกำหนดเดิมเสีย ทรงกำหนดเสด็จสนามปืนใหญ่ต่อ ณ วันเดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ให้เหมาะกับงานของอัตตโน ทรงประทับแรม ณ สนามปืนใหญ่ รุ่งขึ้นวันกลางเดือนเวลาบ่าย ๒ โมง เสด็จพระราชดำเนินไปที่วัดโดยกระบวนรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และเสวกามาตย์มีสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข และสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตและเจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ในกระบวนผู้ตามเสด็จมากพระองค์มากท่านด้วยกัน ส่วนราษฎรหญิงชายซึ่งมาในงานนั้นก็มากล้นหลามเต็มไปในบริเวณวัด และถนนหนทาง ตำรวจภูธรได้ต้อนออกพอเป็นช่องรถพระที่นั่งเดินได้เท่านั้น ครั้นรถพระที่นั่งถึงแล้ว ก็เสด็จเข้าไปประทับในพระอุโบสถ ทอดพระเนตรวิธีผูกพัทธสีมา แล้วทรงรับสั่งถึงการวัดและวิธีผูกพัทสีมา ทรงสำราญพระราชหฤทัย แล้วทรงพระราชทานเงินช่วยในงานนั้น ๒๐๐ บาท ทรงประทับอยู่พอสมควรแล้วเสด็จออกไปประทับ ณ ปะรำ ทรงจุดฝักแคทอดพระเนตรบ้องไฟใหญ่ ซึ่งเอาขึ้นร้านไว้ถวายให้ทอดพระเนตร ๔ กระบอก บ้องไฟขึ้นสูงพอได้ทอดพระเนตรแต่ ๒ กระบอก อีกกระบอก ๑ แตก อีกกระบอก ๑ ชนวนตายด้าน พอได้เวลารถไฟจะออกก็รีบเสด็จกลับ การที่เสด็จพระราชดำเนินไปในงานคราวนี้ อัตตโนถือว่าเป็นการพระราชทานเกียรติยศแก่อัตตโน เป็นมหามงคลอันสูงสุดสำหรับตัวของอัตตโน แม้ได้รับพระราชทานตำแหน่งยศก็มีความยินดีล้นเหลือ แต่ว่าความปลื้มหรือความเอิบอิ่มในใจ ก็ยังไม่เท่าได้รับเสด็จในงานสำคัญคราวนี้ เพราะเห็นว่าตำแหน่งยศจะทรงพระราชทานแก่ท่านผู้ใดก็ได้ ส่วนจะเสด็จในงานของเอกชนเช่นคราวนี้ เชื่อว่าแต่เสด็จครองราชย์อยู่ ๑๕ ปี คงจะมีแต่คราวเดียวเท่านี้ ข้อนี้เตือนให้อัตตโนระลึกถึงพระมหากรุณาอย่างล้นพ้น ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ยังทรงพระกรุณาตั้งพระครูปลัด (อ่ำ) เจ้าอาวาสนั้นให้เป็นพระครูศีลวรคุณ ตำแหน่งเจ้าอาวาส และทรงพระราชทานนามวัดเขาพระงามให้เรียกว่า
“วัดสิริจันทรนิมิต”
ต่อไป ก็ยิ่งเพิ่มความยินดีของอัตตโนให้มากขึ้นอีกหลายเท่า ครั้นถึงวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนตำแหน่งเป็นพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ที่เจ้าคณะรองอรัญญวาสี สิ้นรัชกาลที่ ๖ ในศกนี้ในรัชกาลที่ ๕ อัตตโนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์ ๓ ตำแหน่ง สัญญาบัตรตำแหน่งเจ้าคณะมณฑล ๔ มณฑล ในรัชกาลที่ ๖ ในระหว่าง ๑๕ ปี ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์ ๔ ตำแหน่ง รวม ๒ รัชกาลเป็น ๑๑ ตำแหน่ง เห็นจะเป็นเอตทัคคะในทางสัญญาบัตรได้คนหนึ่งกระมัง ? นับแต่ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ๒๓ พรรษา ในศกที่ทำบุญอายุครบ ๗๐ ปีนี้ คงเป็นอันจำพรรษาในวัดบรมนิวาสแต่ ๒๑ พรรษาไปจำพรรษาวัดบวรนิเวศวิหาร ๑ พรรษา และที่แขวงเมืองเชียงตุง ๑ พรรษา การที่เล่ามาให้ฟังตลอดเรื่อง ได้เล่าทางลาภและยศและกิจจานุกิจให้เห็นว่าอัตตโนมีความสุขสบาย เจริญด้วยลาภและยศโดยลำดับแต่อุปสมบทมาตลอดอายุได้ ๗๐ ปีบริบูรณ์
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 พฤศจิกายน 2556 19:21:33 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5746
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0
Re: อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
«
ตอบ #4 เมื่อ:
11 พฤศจิกายน 2556 19:33:01 »
.
อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(จันทร์ สิริจนฺโท)
อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร
ต่อนี้จะเล่า
อตฺตตฺถจริยา
ในทางธรรมปฏิบัติไว้สู่ฟังอีกโสดหนึ่ง คือในระหว่างอัตตโนมีอายุ ๓๐ ปีล่วงแล้ว อัตตโนมีความจับใจพระพุทธโอวาทข้อที่ว่า
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ
ตนแลเป็นที่พึ่งแก่ตน เมื่ออัตตโนยังไม่ฉลาด ก็ถือว่าร่างกายจิตใจนี้เองเป็นตน จึงได้ตั้งหน้าศึกษาเล่าเรียน พากเพียรรักษาตนให้ตั้งอยู่ในสุจริตทุกเมื่อ มีหิริโอตตัปปะประจำตัวอยู่เสมอ ครั้นภายหลังได้ศึกษาธรรมหนักขึ้น ได้อาศัยหนังสือสังขิตโตวาทของเจ้าคุณ
สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธฺสิริ)
วัดโสมนัส แสดงว่า “เปล่า ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครแก่ ไม่มีใครตาย นามรูป ธาตุ ขันธ์ อายตนะ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปต่างหาก” ดังนี้ ก็ตั้งใจปฏิบัติตาม แต่เกิดความลังเลไม่แน่ใจ เพราะผิดกับความเห็นเดิมไป แต่เดิมเห็นว่าร่างกายจิตใจเป็นตน คือนามรูป ธาตุ ขันธ์ อายตนะ นั่นเอง ครั้นมาพิเคราะห์ตามตำราของท่านว่าไม่ใช่ตนยิ่งเกิดความสงสัยใหญ่โตขึ้น แต่ก็คงเชื่อว่า นาม รูป ธาตุ ขันธ์ อายตนะ เป็น
อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺ
ตา อยู่ตามท่านนั้นเอง แต่ติดอนัตตาอยู่ประมาณ ๑๐ ปี เมื่อสังเกตดูผล คือความสงบราคะ โทสะ โมหะ ก็ไม่สู้จะมีอำนาจอะไรนัก ใจก็จางออกจากตำรา ยึดไตรสิกขา เชื่อแน่ว่า ท่านที่เดินตามไตรสิกขาได้สำเร็จมรรคผล นับด้วยแสนด้วยโกฏิเป็นอันมาก เราจะมายึดมั่นใน อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่เพียงเท่านี้ จะถือเอาว่าเป็นปัญญาก็ยังกระไรอยู่ จะเสียเวลามากไป แต่นั้นก็ตั้งหน้าเจริญสติ เพื่อจะให้เป็นองค์สัมมาสมาธิ แต่วิธีคุมใจเป็นของลำบากมาก เพราะเป็นผู้เกี่ยวอยู่ในหมู่ในคณะ พรักพร้อมอยู่ด้วยลาภและยศ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีเวลาปลีกออกหากายวิเวกได้บ้างบางสมัย เนื้อความในธรรมนิยามสูตรทำให้เกิดความฉลาดขึ้นมาก เหตุที่ท่านวางท่ากระเหย่งไว้ทำให้เกิดวิจิกิจฉาขึ้นมาก ที่แสดงว่าสังขารทั้งสิ้นไม่เที่ยง สังขารทั้งสิ้นเป็นทุกข์ ธรรมทั้งสิ้นเป็นอนัตตา ทำไมจึงไม่แสดงว่า สังขารทั้งสิ้นเป็นอนัตตา เกิดความสงสัยว่า สังขารกับธรรมนี้จะต่างกันอย่างไร? สังขารก็ชื่อว่าธรรม ส่วนธรรมนั้นจะต่างกับสังขารอย่างไร? คงได้ความตามนัย
อัคคัปปสาทสูตร
ที่ว่า
สงฺขตา วา อสงฺขตา วา วิราโค เตสํ อคฺคมกฺขายติ
สังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี ผู้รู้จริงย่อมกล่าวว่า วิราคธรรม ประเสริฐกว่าธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ดังนี้ คิดจัดเอาตามชอบใจ สงฺขตา วา คิดจัดเป็นสังขารโลก ได้แก่จิต เจตสิก รูป ๓ ประเภท เป็นอุปาทินนกสังขาร
อสงฺขตา วา
เป็นสังขารธรรม ได้แก่นิพพานกับบัญญัติธรรมทั้งสิ้น เป็นอนุปาทินนกสังขาร ที่ว่า
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา
นั้น ท่านหมายทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรมเป็นอนัตตา แต่มีวิเศษต่างกัน ส่วนสังขตธรรมนั้น อาจดับจากตัวได้ ตามนัยที่ว่า
เตสํ วูปสโม สุโข
ความเข้าไประงับสังขารเหล่านั้นเป็นสุข คือเป็นของไม่มีอยู่แต่เดิม จึงระงับดับได้ ส่วนอสังขตธรรมนั้น ชีวิตยังมีอยู่ดับไม่ได้ เพราะเป็นของมีอยู่แต่เดิม เป็นแต่อนัตตา คงเป็นธรรมอยู่ตามหน้าที่ คงได้ความว่า ตนเป็นธรรม ธรรมเป็นตน จึงเป็น
อตฺตทีปา ธมฺมทีปา อตฺตสรณา ธมฺมสรณา
ตรงกับ
วักกลิสูตร
ว่า โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ดังนี้
เมื่อปฏิบัติจนเห็นตัวเป็นธรรม เห็นธรรมเป็นตัวแล้ว ก็เห็นคุณเห็นประโยชน์ในร่างกายจิตใจทุกแผนกที่ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ก็ได้ความชัดเจนขึ้น แต่ก่อนเห็นร่างกายจิตใจนี้ เป็น อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา เป็น อสุจิ เป็น อสุภํ หาแก่นสารมิได้ เมื่อสังขารดับแล้ว อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อสุจิ อสุภํ ดับไปตามกันหมด ยังเหลืออยู่แต่ธรรมซึ่งเป็นของวิเศษ ให้เราไปพึ่งพาอาศัยอยู่เป็นสุขทุกวัน ร่างกายจิตใจนี้ กลายเป็นแก้วสารพัดนึกสำหรับตัวเราทั้งสิ้น จะจำแนกให้ดู คำที่ว่าร่างกายจิตใจนั้นได้แก่สกลกายทั้งสิ้น คือ ตา หู จมูก ปาก ทวารหนัก ทวารเบา มือ เท้า อวัยวะน้อยใหญ่ทั้งปวง ล้วนแต่เป็นสมบัติอันประเสริฐสำหรับตัวเราแต่ละอย่างๆ ล้วนแต่ของเป็นเอง สำเร็จมาด้วยปุญญาภิสังขารทั้งสิ้นจึงได้บริบูรณ์เช่นนี้ ถึงแม้เราจะเป็นคนฉลาด เป็นช่างวาด ช่างเขียน จะตกแต่งเพิ่มเติมให้ดีขึ้นไปอีกก็ไม่ได้ ได้มาอย่างไร ก็จะต้องอาศัยใช้สอยกันไปจนวันตาย แต่งได้แต่เพียงให้ประพฤติดีประพฤติชั่วเท่านั้นเอง ที่จะแต่งให้สูงให้ต่ำให้ดำให้ขาวให้มีอายุยืนไม่รู้จักตาย แต่งไม่ได้ ที่ว่าร่างกายจิตใจเป็นแก้วสารพัดนึกนั้น พึงพิเคราะห์ดู เรามีตานึกจะดูอะไรก็ดูได้ เรามีหูนึกจะฟังอะไรก็ฟังได้ เรามีจมูกนึกอยากจะรู้กลิ่นอะไรก็รู้ได้ เรามีปากมีลิ้นนึกอยากจะรู้รสอะไรก็รู้ได้ นึกอยากจะพูดอะไรก็พูดได้ นึกอยากจะกินอะไรก็กินได้ เรามีมือนึกอยากจะทำอะไรก็ทำได้ เรามีเท้านึกอยากจะเดินไปทางใดก็ไปได้ เรามีจิตมีใจนึกอยากจะน้อมนึกตรึกตรองอะไรก็ได้สมประสงค์ ผู้รู้ตนว่าเป็นของวิเศษอย่างนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ได้ความสุข คือใช้ตามหน้าที่ ไม่ให้วัตถุเหล่านั้นเป็นข้าศึกแก่ตน นิสัยของผู้ไม่ฉลาด ย่อมให้ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ซึ่งเป็นวัตถุภายในของตนเป็นข้าศึกแก่ตน คือเกิดปฏิฆะโทมนัส ยินดียินร้ายเพราะวัตถุของตน
นิสัยของผู้ฉลาด ย่อมไม่ให้วัตถุวิเศษของตนเป็นข้าศึกแก่ตน อารมณ์ที่ผ่านไปผ่านมาเลือกเอาแต่ส่วนที่เป็นประโยชน์ ส่วนที่จักเป็นโทษปล่อยให้ผ่านไปเสียไม่รับไม่เก็บเข้ามาไว้
คือหัดชำระวัตถุภายในนี้ให้ผ่องใสสมกับที่ว่าเป็นแก้วสารพัดนึกอยู่ทุกเมื่อ อาศัยความหัดบ่อยๆ สติก็แก่ขึ้นวัตถุภายในก็ปราศจากโทษ คือไม่เป็นข้าศึกแก่ตน ให้ความสุขแก่ตนทุกอิริยาบถ จึงสมกับพุทธโอวาทที่ทรงสั่งสอนไว้ว่า อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแก่ตน
ถ้าว่าโดยสมมติสกลกายนี้เองเป็นตน ถ้าว่าโดยสภาพสกลกายนี้เองเป็นธรรม ที่ว่า
อตฺตสรณา ธมฺมสรณา
ให้มีตนเป็นที่ระลึกให้มีธรรมเป็นที่ระลึกนี้ คือให้เห็นว่าตนเป็นธรรม ธรรมเป็นตน ความรู้ธรรมเป็นพุทธะ สกลกายที่ทรงคุณความดีไว้เป็นธรรม ความประพฤติให้คุณความดีมีขึ้นในตนเป็นสังฆะ ผู้ที่มีพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ในตนอย่างนี้ ชื่อว่าผู้ถึงไตรสรณาคมน์ในชาตินี้ ตลอดชาติก็ไม่มีทุกข์ ถ้ายังจะมีภพมีชาติต่อไปก็จักได้รับความสุขต่อไป ถ้าถึงพระไตรสรณาคมน์อย่างสูงก็สิ้นภพสิ้นชาติสำเร็จพระนิพพานทีเดียว ตัวของอัตตโนทุกวันนี้ได้สำเร็จแต่เพียงพระไตรสรณาคมน์เท่านั้น แต่ลักษณะของพระไตรสรณาคมน์นั้น มีต่ำมีสูงเป็นชั้นๆ คือชั้นศีล ชั้นสมาธิ ชั้นปัญญา ชั้นวิมุตติ ชั้นวิมุตติญาณทัสสนะ สุดแท้แต่วาสนาของใครจะถึงได้ในชั้นใด จะต้องได้รับผล คือ ความสุขตามชั้นตามภูมิของตนทั้งนั้น
เล่าความประพฤติธรรมไว้ให้ศิษยานุศิษย์ฟัง เพื่อให้พากันมีที่พึ่งอย่าเป็นคนลังเล ยึดให้มั่นคั้นให้ตาย
อย่างมงายเชื่อเกจิอาจารย์ที่สอนนอกรีตนอกทาง
ดังพวกที่สอนว่าให้ทาน รักษาศีล เจริญสมถะวิปัสสนาไหว้พระสวดมนต์ ประพฤติพรหมจรรย์ เว้นเมถุน เว้นข้าวค่ำ เหล่านี้เป็นกิเลสตัณหาทั้งนั้น การไม่ทำอะไรนั่นแลเป็นอันหมดกิเลสตัณหา สอนอย่างนี้เป็นลักษณะแห่งอกิริยทิฏฐิ ถือว่าความไม่ทำเป็นความบริสุทธิ์ เป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่าพากันหลงเชื่อ ถ้าใครหลงเชื่อจะพากันจนทั้งชาตินี้ชาติหน้า นิพพานเช่นนั้นเป็นนิพพานของอวิชชา อย่าพากันหลงใหลไปตามเขา ส่วนนิพพานของพระพุทธเจ้าเป็นพระนิพพานอันมั่งมี ที่เรียกว่านิพพานสมาบัติ คือ ทาน, ศีล, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา, อุเบกขา, และโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มีสติปัฏฐานเป็นต้น มีอัฏฐังคิกมรรคเป็นที่สุด เหล่านี้เป็นนิพพานสมบัติ ถ้าไม่มีสมบัติเหล่านี้จะถึงนิพพานของพระพุทธเจ้าไม่ได้เลย นิพพานของพระพุทธเจ้าเป็นนิพพานของวิชชา ให้ตรวจดูนิพพานสมบัติอย่างที่แสดงไว้นี้ มีในตนเต็มรอบหรือยัง ถ้าไม่เต็มรอบยังเป็นคนจนอยู่ไปนิพพานไม่ได้ เปรียบเหมือนคนจนจะไปทางรถทางเรือที่ไกลไม่ได้ เพราะจนไม่มีเงินให้ค่าจ้างค่าโดยสารเขา ถ้าตรวจในตัวเห็นว่านิพพานสมบัติมีในตัวเต็มรอบแล้วนับว่าเป็นคนมั่งมี อาจจักถึงพระนิพพานได้ เปรียบเหมือนคนที่มีเงินอยากไปทางใด ก็จ้างเขาไปสำเร็จทุกประการ พระนิพพานไม่ใช่สถานที่อันบุคคลผู้ไร้อริยทรัพย์จะไปได้ พวกมิจฉาทิฏฐิเหล่านั้นเป็นคนจน ก็ไปได้แต่นิพพานจนๆ คือนิพพานอนัตตา นิพพานอวิชชาเท่านั้น พวกเราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ต้องประพฤติตนให้มั่งมีเหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านบริบูรณ์ด้วยลาภ ด้วยยศด้วยการสรรเสริญและด้วยความสุข พระพุทธศาสนาตั้งมั่นถาวรมาได้กว่าสองพันปีนี้ ไม่ได้ตั้งมั่นถาวรมาด้วยความจนเลย ตั้งมั่นถาวรมาได้ด้วยความมั่งมีโดยแท้ แม้ตัวของอัตตโนผู้แนะนำท่านทั้งหลาย ก็หัดเดินตามจรรยาของพระพุทธเจ้า จึงบริบูรณ์ด้วยลาภและยศและความสรรเสริญกับความสุข เป็นผู้มั่งมีทั้งสมบัติภายนอกและสมบัติภายในตลอดจนอายุ ๗๐ ปี
อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
ณ บัดนี้ เมื่อท่านทั้งหลายได้อ่านประวัตินี้แล้ว พึงเพ่งดูจรรยาของอัตตโนที่ได้ประพฤติมาแล้ว ส่วนที่อัตตโนตั้งอกตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และประพฤติปฏิบัติให้ตรงต่อธรรมวินัย และปฏิบัติราชการตามหน้าที่ไม่ให้เสียหายจนเจริญด้วยยศฐานาศักดิ์ ส่วนธรรมวินัยก็ตั้งอกตั้งใจดำเนินสมถะและวิปัสสนาจนรู้จักสังขารและวิสังขาร หรืออุปาทินนกสังขาร และอนุปาทินนกสังขารโดยชัดใจได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง นับว่ามีสรณะโดยสิ้นสงสัย ส่วนนี้เป็น อตฺตตฺถจริยา ประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่ตน ที่ได้รักษาหมู่คณะแนะนำสั่งสอนให้พระสงฆ์สามเณรอุบาสกอุบาสิกา ได้ความฉลาดได้ที่พึ่งแก่ตน ฝ่ายพระสงฆ์ก็มีความเจริญด้วยลาภและยศ จะนับลูกศิษย์ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่วางใจได้ให้ฟัง
๑. พระโพธิวงศาจารย์ (อ้วน) เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา
๒. พระสาสนดิลก (เสน) เจ้าคณะมณฑลอุดร
๓. พระราชมุนี (สี) วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
๔. พระเมธาธรรมรส (เสาร์) เจ้าอาวาสวัดพิชัยญาติการาม
๕. พระปัญญาพิศาลเถระ (หนู) วัดปทุมวนาราม
๖. พระอมราภิรักขิต (ชัย) วัดบรมนิวาส
เป็นพระราชาคณะ ๖ รูป
ส่วนเป็นพระครู
๑. พระครูปลัดนิพัทธโพธิพงษ์ (ขำ) วัดบรมนิวาส
๒. พระครูอุดมธีรคุณ (เงิน) เจ้าอาวาสวัดสัตตนาถปริวัตร จังหวัดราชบุรี
๓. พระครูวาทีวรคุณ (เพ็ง) เจ้าคณะรองจังหวัดปราจีนบุรี
๔. พระครูศรีจันทรคุณ (ศรีจันทร์) วัดนรนารถสุนทริการาม
๕. พระครูศีลวรคุณ (อ่ำ) วัดสิริจันทรนิมิตร จังหวัดลพบุรี
๖. พระครูพิเศษสุตคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น
๗. พระครูสีลสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรมงคล
เป็นพระครู ๗ รูป ที่เป็นเปรียญแต่ ๓ ประโยคถึง ๖ ประโยคก็มีมากด้วยกัน ส่วนนี้เป็นบริษัทภายใน บริษัทภายนอกนั้นก็มีเป็นอันมาก และได้แนะนำให้ทำบุญภายนอก คือบริจาคทานและชักชวนให้ก่อสร้างถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนา คือ สร้างพระพุทธรูป สร้างหนังสือ สร้างกุฏิ สร้างศาลา สร้างโรงเรียน สร้างสระน้ำบ่อน้ำ ผู้มีมากให้ทำมากผู้มีน้อยให้ทำน้อย ต่างคนก็ต่างทำถาวรวัตถุตามความพอใจของตน เกิดปีติปราโมทย์ได้ความอุ่นใจในโภคทรัพย์อันตนฝังไว้ ส่วนบุญภายในก็ได้แนะนำสั่งสอนให้พากันผ่อนผัน โลภะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางชี้ให้รู้จักลักษณะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้มีพระไตรสรณาคมน์เป็นที่พึ่ง และการที่เทศน์สั่งสอนตลอดไปทั่วทุกหนทุกแห่ง ส่วนนี้เป็น ญาตตฺถจริยา ประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่ญาติ คือบรรดาคนที่ได้เห็นกันรู้จักกัน ชื่อว่าญาติทั้งสิ้น ส่วนที่อัตตโนได้ทำการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ซึ่งเป็นภายนอกมีการบำรุงวัดเป็นต้น ส่วนภายในคือได้แต่งหนังสือธรรมและหนังสือสุภาษิตของเก่าบ้าง ของแต่งขึ้นใหม่บ้าง ทั้งภาคไทยและภาคลาว ซึ่งพระยาธนภารพิสิษฐ์ (เปา มิลินทสูต) ได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นอย่างละ ๑,๐๐๐ ฉบับมากกว่า ๒๐ เรื่อง สำหรับแจกในงานทำบุญอายุครบ ๗๐ คราวนี้ แต่จะได้รับแจกจำเพาะผู้ที่นับถือและผู้รับช่วยทำบุญไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ บาทขึ้นไป เพราะเห็นว่าท่านจำพวกนี้เคารพนักถือจริง ได้หนังสือไปแล้วก็คงจะตรวจตรอง เหตุที่มีความเลื่อมใสอยู่แล้ว ส่วนที่สร้างถาวรวัตถุไว้นี้ เป็นส่วน
โลกตฺถจริยา
ประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่โลก การที่ประพฤติจรรยา ๓ ประการนั้นก็หมายจะตามเสด็จพระบรมศาสดาแต่คุณสมบัติต่างกัน ส่วนพระบรมครูท่านมีบุญใหญ่ จรรยาทั้ง ๓ ประการของพวกเราก็น้อยตามสมควรแก่คุณสมบัติของตน ลูกศิษย์ของเราพึงตั้งใจดำเนินตาม ความดีเหล่านี้เป็นของกลาง ใครจะเอาไปไหนไม่ได้ ใครเกิดขึ้นมาปฏิบัติได้ ก็จักได้รับผลคือความดีอยู่อย่างนี้ตลอดกัปตลอดกัลป์.
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 พฤศจิกายน 2556 13:08:20 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5746
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0
Re: อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
«
ตอบ #5 เมื่อ:
15 พฤศจิกายน 2556 13:24:48 »
.
อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
พุทธรัตนกถา
(ตอนที่ ๑)
โดย
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(จันทร์ สิริจนฺโท)
รตนตฺตยํ นมิตฺวา นวานมนุสิกฺขิตุํ
อทิมฺหิ สฺยามภาสาย สงฺเขเปเนว ภาสิตา
ยา จ ปุพฺพสิกฺขา ตสฺสา ว โถกํ วิตฺถารวณฺณนํ
กริสฺสํ ญาตุกามานํ ปณาเมน สุภํ ภเว.
ข้าพเจ้านอบน้อมนมัสการซึ่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว บุพพสิกขาอันใดที่ข้าพเจ้าภาสิต คือว่าแต่งไว้แล้ว เพื่อให้กุลบุตรทั้งหลายผู้เป็นคนใหม่ ให้ศึกษาตามในกาลเบื้องต้น ด้วยเป็นสยามภาษาโดยสังเขปย่อนัก ข้าพเจ้าจักกระทำการวรรณนาแห่งบุพพสิกขานั้นโดยพิสดารสักหน่อยหนึ่ง เพื่อกุลบุตรทั้งหลายผู้ใคร่จะรู้จะศึกษาในสิกขาบทบัญญัติ ปฏิบัติตามจะได้รู้ด้วย ข้าพเจ้านอบน้อมพระรัตนตรัย ขอความงามความสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าเถิด
คำว่า
บุพพสิกขา
นั้น ประสงค์เป็นชื่อคัมภีร์ เป็นของอันกุลบุตรจะพึงศึกษาแต่แรกก่อน จึงได้ชื่อว่า บุพพสิกขา เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวว่า ผู้จะอุปสมบทนั้น เมื่ออุปสมบทแล้วพึงศึกษาข้อทั้ง ๗ นี้ก่อน ก็ข้อทั้ง ๗ นั้นคือ รัตนัตตยบัพพะ ข้อว่าด้วยรัตนตรัย ๑ อาปัตตินานาทิปัพพะ ข้อว่าด้วยชื่อแห่งอาบัติเป็นต้น ๑ ปฏิปัตติมุขสิกขาปัพพะ ข้อว่าด้วยสิกขาบท เป็นปากเป็นทางแห่งความปฏิบัติโดยมาก ๑ กาลิกปัพพะ ข้อว่าด้วยกาลิก ๑ พินทวาธิฏฐานาทิปัพพะ ข้อว่าด้วยพิธีพินทุและอธิษฐานเป็นต้น ๑ วิชหนาทิปัพพะ ข้อว่าด้วยขาดอธิษฐานเป็นต้น ๑ อาปัตติเทสนาทิปัพพะ ข้อว่าด้วยแสดงอาบัติเป็นต้น ๑ เป็น ๗ ข้อดังนี้ จะว่าด้วยรัตนัตตยบัพพะข้อต้นก่อน คำว่า รตนตฺตยํ นั้น แปลว่า หมวดสามแห่งรัตนะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สามวัตถุนี้ชื่อว่ารัตนะ เพราะเป็นของประเสริฐกว่าวิญญาณกรัตนะและอวิญญาณกรัตนะ ซึ่งมีในไตรภพ อนึ่ง เพราะเป็นของทำความยินดีให้บังเกิดแก่โลกทั้งสาม
จะกล่าวด้วยพุทธรัตนะก่อน ถามว่าที่เรียกกันว่า
พุทธะ
ๆ นั้น อะไรเป็นพุทธะ ? แก้ว่าพุทธะนั้น ว่าโดยปรมัตถโวหารวิสุทธิขันธสันดาน คือกองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ ซึ่งเป็นของที่ต่อมาแต่ภพก่อน เป็นของบริสุทธิ์จากบาปธรรมอุปกิเลส คือไม่มีอกุศลเจตสิก เป็นแต่อพยากตเจตสิก ซึ่งบังเกิดแต่กุศลเจตสิกนั่นแหละ เป็นพระพุทธเจ้า ว่าโดยโลกิยโวหาร สัตว์พิเศษผู้หนึ่ง ใช่พรหม ใช่มาร ใช่เทพยดา ใช่อมนุษย์ เป็นมนุษยชาติ แต่เป็นมนุษย์อัศจรรย์ มีปัญญาฉลาดล่วงสมณะ เทพยดา มาร พรหม และทำสัตว์ให้บริสุทธิ์จากบาปธรรมอุปกิเลสได้ และสอนสัตว์อื่นให้ได้ความบริสุทธิ์สุขด้วย นั่นแหละเป็นพระพุทธเจ้า
ถามว่าพุทธะ ๆ นั้น แปลว่าอะไร? แก้ว่าแปลว่าผู้รู้เท่าซึ่งสังขารทั้งปวงด้วยตนเองและให้ผู้อื่นรู้เท่าสังขารด้วย เป็นผู้บานแล้วเต็มที่ ปุถุชนเช่นเราชื่อว่าเป็นคนเขลาไม่รู้เท่าสังขาร จึงต้องโศกเศร้าเมื่อเวลาสังขารนั้นวิบัติ ถามว่าอะไรเป็นสังขาร แก้ว่าสิ่งทั้งปวงที่เป็นของภายในและภายนอก กอบด้วยวิญญาณและหาวิญญาณมิได้ ที่มีขึ้นเป็นขึ้นด้วยเหตุภายในมีกรรมเป็นต้น ฤาด้วยเหตุภายนอกมีฤดูเป็นต้น นี้แหละชื่อว่าสังขาร รู้เท่าสังขารนั้นอย่างไร? รู้ความเป็นเองของสังขาร รู้เหตุที่ให้เกิดสังขาร รู้ที่ดับสังขาร รู้หนทางดำเนินไปยังที่ดับสังขาร นี่แลชื่อว่ารู้เท่าสังขาร
ท่านรู้ความเป็นเองของสังขารอย่างไร? พระองค์รู้ว่าสรรพสังขารทั้งปวงไม่เที่ยงแท้ ย่อมแปรปรวนไปต่าง ๆ มีแล้วหาไม่ เกิดแล้วดับไป สรรพธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนด้วยไม่อยู่ในอำนาจบังคับผู้ใด เพราะไม่เที่ยง เพราะไม่ใช่ตนนั้น เป็นแต่กองทุกข์ นี่แหละเป็นความจริงความเป็นเองของสังขาร พระองค์รู้กำหนดดังนี้ ด้วยปรีชาภิสมัย อย่างนี้แลชื่อว่ารู้ความเป็นเองแห่งสังขาร รู้เหตุที่ให้เกิดสังขารอย่างไร? พระองค์รู้ว่าตัณหาคือความดิ้นรนด้วยอยากได้นี้เอง เป็นผู้สร้างสังขารภายใน เพราะตัณหามีแล้วให้สัตว์กระทำกรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ที่จะตกแต่งสังขาร เป็นกองทุกข์ แล้วท่านมละตัณหานั้นเสียได้ ด้วยเป็นปหานาภิสมัย อย่างนี้แลชื่อว่ารู้เหตุที่ให้เกิดสังขาร รู้ที่ดับแห่งสังขารนั้นอย่างไร? พระองค์รู้ว่าพระนิพพาน เป็นที่ดับตัณหาที่ให้เกิดทุกข์ แล้วกระทำพระนิพพานให้แจ้งประจักษ์ขึ้นในพระหฤทัยด้วยสัจฉิกิริยาภิสมัย อย่างนี้แลชื่อว่าท่านรู้ที่ดับแห่งสังขาร
พระองค์รู้หนทางดำเนินไปยังที่ดับสังขารนั้นอย่างไร? พระองค์รู้ว่ามรรคประดับด้วยองค์แปดมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น ที่เกิดขึ้นแล้วกำหนดรู้ความทุกข์ มละตัณหาเห็นพระนิพพาน นี้แลเป็นหนทางให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ และพระองค์ทำมรรคนั้นให้มีให้เป็นให้เกิดขึ้นในพระหฤทัยด้วยภาวนาภิสมัย อย่างนี้แลชื่อว่าท่านรู้หนทางดำเนินไปยังที่ดับสังขาร พระองค์รู้ความรู้ ๔ อย่างนี้พร้อมกันในขณะจิตอันเดียว และได้ความบริสุทธิ์จนไม่ยินดี ถือว่าเรารู้เราเห็น แม้สังขารคือร่างกายของพระองค์จะวิบัติเป็นประการใด ๆ ก็ไม่เศร้าไม่โศกเสียใจเหมือนปุถุชน อย่างนี้แลชื่อว่าพระองค์รู้เท่าสังขารทั้งปวง
ถามว่าบุคคลที่ท่านเรียกกันว่าพุทธะนั้นมีกี่จำพวก? แก้ว่ามีอยู่ ๔ พวก คือ พหูสูตรจำพวก ๑ ท่านเรียกว่า
สุตพุทธะ
เพราะเป็นผู้รู้เท่าซึ่งความดีชั่วเป็นต้น ด้วยการสดับและเล่าเรียนปริยัติธรรม อริยสาวกอีกจำพวก ๑ ท่านเรียกว่า
สาวกพุทธะ
เพราะได้ฟังคำสอนแห่งพระพุทธเจ้าแล้ว และรู้เท่าสังขารตามเสด็จพระพุทธเจ้า ๑ พระสยัมภูพระผู้เป็นเองรู้เองสอนผู้อื่นไม่ได้ ดังคนใบ้ฝันเห็น จำพวก ๑ ท่านเรียกว่า
ปัจเจกพุทธะ
เพราะรู้เท่าสังขารแต่ลำพังตัวเอง พระผู้รู้เองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้ จำพวก ๑ ท่านเรียกว่า
สัพพัญญูพุทธะ
เพราะเป็นผู้รู้เท่าสังขารและธรรมทั้งปวง ที่ว่าด้วยพุทธะนี้ประสงค์เอาสัพพัญญูพุทธะอย่างเดียว
ถามว่าพระพุทธเจ้าของเรานี้พระองค์เกิดขึ้นในที่ไหน? แก้ว่าพระองค์เกิดขึ้นในมนุษย์พวกอริยกะในมัชฌิมประเทศ มัชฌิมประเทศนั้นแปลว่าประเทศเป็นท่ามกลาง เพราะว่าเป็นท่ามกลางที่มาเกิดแห่งพระพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้า อัครสาวกพุทธอุปัฏฐาก และพุทธบิดา พุทธมารดา และจักรพรรดิราช และดิตถิกรนักบวชผู้มีทิฏฐิวาทะต่าง ๆ ดังท่ามกลางแห่งสนาม เป็นที่มาประชุมแห่งชนทั้งปวงฉะนั้น มัชฌิมประเทศนั้นอยู่ในทิศตะวันตก แต่ประเทศสยามนี้ไป ประเทศสยาม ประเทศรามัญ ประเทศพม่า ประเทศลาว เป็นต้นเหล่านี้ชื่อว่าปัจจันตประเทศ มนุษย์เกิดในประเทศเหล่านี้ชื่อว่ามิลักขกมนุษย์ มนุษย์เกิดในมัชฌิมประเทศชื่อว่าอริยกะ แต่เดี๋ยวนี้เขาเรียกประเทศนั้นว่าฮินดูสถาน
ถามว่า พระพุทธเจ้าเกิดในมัชฌิมประเทศ เป็นชาวเมืองไหน เป็นชาติอะไร เป็นโคตรแซ่อะไร พระนามเดิมชื่อไร เป็นบุตรผู้ใด พระองค์มีบุตรภริยาฤาหาไม่? แก้ว่าพระองค์เป็นชาวเมืองกบิลพัสดุ์ในแขวงสักกะ พระองค์เป็นชาติกษัตริย์พวกสักกะ เป็นโคตมโคตร พระนามเดิมชื่อว่า
สิทธัตถะ
พระบิดาทรงพระนามว่า
สุทโธทนะ
อยู่ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ พระมารดาทรงพระนามว่า
สิริมหามายา
พระโอรสแห่งพระองค์ทรงพระนามว่า
ราหุล
พระเทวีแห่งพระองค์ทรงพระนามว่า
พิมพายโสธรา
ถามว่าพระองค์มีพระโอรสและพระมเหสีดังนี้ เหตุใดจึงเป็นพระพุทธเจ้าได้เล่า? แก้ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์เกิดเป็นสองครั้ง คือ
เกิดด้วยรูปกายครั้งหนึ่ง
เกิดด้วยนามกายอันบริสุทธิ์ครั้งหนึ่ง
ตั้งแต่ลงมาสู่พระครรภ์พระมารดาแล้วอยู่ในครรภ์ ๑๐ เดือน แล้วประสูติจากพระครรภ์ ณ ป่าลุมพินีวัน ที่ระหว่างเมืองเทวทหะกับเมืองกบิลพัสดุ์ มีพระกายพร้อมด้วยทวัตตึงสมหาปุริสลักขณะ ควรจะเป็นภาชนะรองพุทธคุณ ทรงพระนามชื่อว่าสิทธัตถะแล้ว อยู่เป็นพระกุมาร ๑๖ ปี แล้วพระบิดาให้เสวยสุขสมบัติอยู่ในปราสาททั้ง ๓ สมควรแก่ฤดูทั้ง ๓ ได้ ๑๓ ปี แล้วมละฆราวาสสมบัติออกทรงเพศเป็นบรรพชิต บำเพ็ญความเพียรแสวงหากิ่งกุศล ๖ ปี จนเสด็จทรงนั่ง ณ โคนไม้ชื่อ
อัสสัตถะ
ที่เรียกว่าโพธิ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราจนสำเร็จวิชชาสองเบื้องต้น และวิปัสสนาญาณเพียงโคตรภูญาณต่อกับโสดาปัตติมรรคในกาลเท่านี้ ชื่อว่าเกิดแล้วด้วยรูปกาย ยังเรียกว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ ตั้งแต่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล จนถึงอรหัตมรรคเกิดขึ้นชื่อว่าเกิดอยู่ด้วยนามกาย ตั้งแต่อรหัตผลความรู้เท่าสังขารเกิดขึ้นแล้วไป ชื่อว่าพระองค์เกิดด้วยนามกาย แต่ยังไม่ชื่อว่าผู้บานเต็มที่แล้ว ด้วยยังไม่ได้บำเพ็ญพุทธกิจ ตั้งแต่พระองค์ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ภิกษุ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระอัญญาโกณฑัญญัตเถระได้โสดาปัตติผล รู้เท่าสังขารโดยเอกเทศตามเสด็จพระองค์แล้วไป จนพระองค์ดับขันธ์ด้วยอนุปาทิเสสธาตุนิพพาน ณ ระหว่างไม้รังทั้งคู่ ในสวนสาลวันแห่งมัลลกษัตริย์ ชื่อว่าบานแล้วเต็มที่ เพราะบำเพ็ญพุทธกิจเสร็จแล้ว
ถามว่าอะไรรูปกาย อะไรนามกาย? แก้ว่ามหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ ชื่อว่ารูปกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๔ กองนี้ชื่อว่านามกาย ๆ ไม่เกิดพร้อมกันกับรูปกายดอกฤา? เกิดพร้อมกัน แต่ถ้าว่านามกายที่ให้เป็นพระพุทธเจ้า คือ อรหัตมรรค อรหัตผล ซึ่งเป็นพวกสังขารขันธ์ ที่ฆ่านามกายอันร้ายมีโลภเป็นต้น ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ด้วยกันนั้นยังไม่เกิด จึงยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า ต่ออรหัตมรรค อรหัตผลเกิดแล้วจึงเป็นพระพุทธเจ้า
เพราะเหตุนั้น จึงว่าพระพุทธเจ้าเกิดสองครั้ง
ถามว่าบิดามารดาบุตรภริยาและสุขสมบัติเป็นของรัก เหตุไฉนพระองค์จึงมละทิ้งเสียได้? แก้ว่าพระองค์มละทิ้งเสียได้ด้วยเหตุดังนี้ คือ พระองค์เห็นชราความแก่ พยาธิความเจ็บไข้ มรณะความตาย เป็นกองทุกข์ใหญ่ดังหนึ่งไฟเผาสัตว์อื่นและตัวท่านอยู่ แต่ผู้อื่นนั้น เห็นคนแก่ คนไข้เจ็บ คนตายแล้วเกลียดชัง ไม่รู้ว่าของสามอย่างนี้เป็นของสำหรับตัว พระองค์เห็นว่าของสามอย่างนี้เป็นของสำหรับสัตว์อื่น และสำหรับตัวท่าน จะเกลียดเหมือนอย่างคนอื่นเขาเกลียดก็ไม่ชอบ จะรักก็ไม่น่ารัก จะเฉยเสียว่าช่างเถิดเล่าก็ไม่ชอบกล พระองค์เห็นแล้วว่าชรา พยาธิ มรณะนี้เป็นภัยใหญ่หลวงน่ากลัว แต่จะหนีทางไหนก็ไม่พ้น ด้วยเป็นของสำหรับอยู่กับรูปกาย พระองค์จึงทรงอนุมานว่า ธรรมที่ไม่มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นที่หลีกหนีความแก่ ความเจ็บ ความตาย คงจะมีเป็นแน่ เหมือนกับมีไฟเป็นของร้อนแล้ว ก็มีน้ำเป็นของเย็นแก้ มีมืดแล้วก็มีแสงสว่างแก้ แล้วพระองค์ค้นหาว่า ความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย ว่านี่มาแต่ไหน เห็นว่ามาแต่ชาติความเกิด
ค้นต่อไปว่าชาติมาแต่ไหนก็ไม่เห็นชัดด้วยปัญญาเหมือนกับเห็นของสามอย่าง แต่ชาติ พระองค์จึงร้อนพระหฤทัยว่าจะอยู่ในสุขสมบัตินี้ จะหาธรรมที่เป็นที่หลีกหนีความทุกข์เหล่านี้ไม่ได้เป็นแน่ ด้วยเกลื่อนกล่นอยู่ด้วยบุตรภรรยา ทรัพย์สมบัติที่จะพาให้ลุ่มหลงและถมทุกข์ทวีขึ้น สิริสมบัตินี้เป็นที่คับแคบนัก แล้วทรงเห็นว่าบรรพชาเพศเป็นบรรพชิตอยู่แต่ผู้เดียวนั้น ไม่เกลื่อนกล่นด้วยเหตุที่จะให้เกิดความยินดียินร้าย พระองค์จึงมละสุขสมบัติออกทรงเพศเป็นบรรพชิต แสวงหาธรรมที่สิ้นทุกข์ทั้งปวง
ถามว่าพระองค์แสวงหาอย่างไร? แก้ว่าพระองค์แสวงหาด้วยอุบายต่าง ๆ จนถึงกลั้นลมหายใจอดอาหาร ก็ไม่ได้ธรรมวิเศษสิ่งใด ภายหลังพระองค์จึงทรงนึกได้ถึงอานาปานสติฌานที่พระองค์ได้เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่ครั้งหนึ่ง เป็นของอัศจรรย์ชอบกลนักหนา เห็นจะเป็นทางแห่งความตรัสรู้ได้ พระองค์จึงกลับเสวยอาหารแล้วเสด็จไปทรงนั่ง ณ โคนไม้อัสสัตถะ เจริญอานาปานสติ คือตั้งสติเฉพาะลมหายใจเข้าออกอย่างเดียวไม่ส่งจิตไปอื่น รำงับกามฉันท์ความใคร่ความพอใจ พยาบาทความปองร้าย ถีนมิทธะความง่วงเหงาหาวนอน อุทธัจจกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ วิจิกิจฉาความเคลือบแคลงเหล่านี้ ที่เป็นนิวรณ์เครื่องห้ามสมาธิเครื่องหมองใจเป็นของทำปัญญาให้เสียไป แล้วจึงได้ปฐมฌานมีลมหายใจอย่างเดียวเป็นอารมณ์ เป็นฌานกอปรด้วยองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา แรงกล้ากว่าเจตสิกธรรมอื่น แล้วพระองค์พยายามยิ่ง ๆ ขึ้นไปโดยลำดับ รำงับวิตกวิจารเป็นของหยาบเสีย เหลืออยู่แต่ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นทุติยฌาน, แล้วระงับปีติเป็นของหยาบเสีย เหลืออยู่แต่สุข เอกัคคตา เป็นตติยฌาน, แล้วมละสุขเป็นของหยาบเสีย เหลืออยู่แต่เอกัคคตากับอุเบกขาที่กล้า เป็นจตุตถฌาน, แล้วพระองค์ทำฌานทั้ง ๔ นั้นให้ชำนาญคล่องแคล่วด้วยการนึกและการเข้าเป็นต้น
ครั้นจิตใสบริสุทธิ์ละเอียดดีแล้วด้วยอำนาจจตุตถฌาน พระองค์จึงน้อมจิตไปเพื่อ
บุพเพนิวาสานุสสติญาณ
คือ ปัญญาที่ตามระลึกซึ่งขันธ์ที่ตนและสัตว์อื่นอยู่แล้วในภพในชาติก่อน ก็ระลึกได้ซึ่งชาติหลัง
ตั้งแต่ชาติหนึ่งจนถึงอเนกสังวัฏฏะวิวัฏฏะ
ดับความสงสัยว่าภพก่อนชาติก่อนจะมีหรือหาไม่นั้นก็สิ้น
เห็นชัดว่าภพก่อนชาติก่อนมีแน่แท้
แต่ถ้าว่าเห็นสังสารวัฏมีเบื้องต้น แม้บุคคลระลึกตามไปก็ไม่รู้ อันนี้เป็นวิชชาที่ต้น พระองค์ได้ในปฐมยาม
ครั้นมัชฌิมยามพระองค์จึงน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ คือ ปัญญาที่รู้ที่เห็นจุติปฏิสนธิแห่งสัตว์ พระองค์ก็ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายที่ประพฤติทุจริตทั้งสาม ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ จุติแล้วไปบังเกิดในอบายภูมิด้วยอกุศลกรรมนั้น และสัตว์ทั้งหลายที่ประพฤติสุจริตทั้งสาม ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ครั้นจุติแล้วไปบังเกิดในสุคติภูมิ ด้วยกุศลกรรมนั้น พระองค์เห็นชัดด้วยทิพพจักษุญาณดังนี้ ความสงสัยว่าสิ่งไรเป็นของแต่งให้สัตว์ได้ดีได้ชั่ว และความสงสัยว่าชาติมาแต่ไหนก็สิ้นด้วย เห็นชัดว่ากรรม คือบุญบาปเป็นของแต่งสัตว์ให้ดีให้ชั่ว ชาติมาแต่กรรมภพ อันนี้เป็นวิชชาที่สอง พระองค์ได้ยามกลาง
ครั้นวิชชาทั้งสองชำระทางปัญญาให้บริสุทธิ์แล้ว พระองค์น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ปัญญารู้ซึ่งธรรมเป็นเครื่องสิ้นอาสวะ ได้แก่มรรคผลและนิพพาน คือพระองค์ปรารภชรา พยาธิ มรณะ ซึ่งเป็นทุกข์ประหนึ่งว่าไฟเผาสัตว์ที่ได้เห็นแล้วแต่เดิมนั้นก่อน จึงค้นหาปัจจัยแห่งความทุกข์นั้นก็ได้เห็นว่า ชรา พยาธิ มรณะ นั้นมาแต่ชาติ ชาติมาแต่กรรมภพ คือ กุศล อกุศล ภพมาแต่อุปาทาน ความถือมั่น ๔ อย่าง คือ กาม ทิฏฐิ สีลพัตต์ อัตตวาท อุปาทาน ๔ อย่างมาแต่ตัณหา คือ ความดิ้นด้วยความอยาก ตัณหามาแต่เวทนา คือความเสวยรสอารมณ์เป็นสุขเป็นทุกข์และมัธยัสถ์ เวทนามาแต่ผัสสะ ความกระทบถูกต้อง คือทวารมีจักษุประสาทเป็นต้น และวิญญาณมีจักษุวิญญาณเป็นต้น และอารมณ์มีรูปเป็นต้น ถึงพร้อมกันเข้าเรียกว่า ผัสสะ ผัสสะมาแต่อายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะ ๖ มาแต่นามรูป สิ่งที่น้อมไปนึกอารมณ์ได้เป็นนาม สิ่งที่ฉิบหายวิบัติด้วยเย็นนักร้อนนักเป็นต้นเป็นรูป นามรูปมาแต่วิญญาณ คือปฏิสนธิจิต วิญญาณมาแต่สังขารของแต่งสัตว์ให้ดีให้ชั่ว คือกุศลและอกุศล สังขารมาแต่อวิชชา คือความไม่รู้แจ้งว่านี่ทุกข์ นี่เหตุให้เกิดทุกข์ นี่ที่ดับทุกข์ นี่หนทางให้ถึงที่ดับทุกข์ แล้วพระองค์เห็นว่าอวิชชากับตัณหาสองนี้ เป็นรากเง่าเค้ามูลแห่งสังสารวัฏ แล้วจึงเจริญวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้นไป เพื่อมละอวิชชาตัณหานั้น
เจริญวิปัสสนาอย่างไร? พระองค์จับอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ เหล่านี้ทีละสิ่ง ๆ ขึ้นพิจารณา นึกวินิจฉัยว่ามิใช่สัตว์มิใช่บุคคล มิใช่ตัวมิใช่ตนมิใช่เขามิใช่เรา เป็นสภาพอันหนึ่ง ๆ อาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น ดับไปแล้วเกิดขึ้น เมื่ออวิชชามีอยู่ ก็เป็นปัจจัยให้มีสังขาร สังขารมีอยู่ก็ให้เกิดวิญญาณ วิญญาณมีอยู่ก็ให้เกิดนามและรูป รูปมีอยู่ก็ให้เกิดอายตนะ อายตนะมีอยู่ก็ให้เกิดผัสสะ ผัสสะมีอยู่ก็ให้เกิดเวทนา เวทนามีอยู่ก็ให้เกิดตัณหา ตัณหามีอยู่ก็ให้เกิดอุปาทาน อุปาทานมีอยู่ก็ให้เกิดภพ ภพมีอยู่ก็ให้เกิดชาติ ชาติมีอยู่ก็ให้เกิดความทุกข์ คือ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นประหนึ่งว่าเพลิงเผาอยู่ ให้ร้อนทุกภพทุกชาติ นี้แหละธรรมอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้นดังนี้ หมุนเวียนไปในสังสารวัฏ จะว่าสิ่งไรเป็นเบื้องต้นเป็นท่ามกลางเป็นเบื้องปลายนั้นไม่ได้ จริงอยู่แต่กองทุกข์เท่านั้น เกิดขึ้นดับไป หมุนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ จะว่าสัตว์และบุคคลเสวยทุกข์นั้นไม่ได้ เพราะเป็นสภาพอันหนึ่ง ๆ อาศัยกันและกันเกิดขึ้นเท่านั้น แล้วพระองค์เห็นว่านี่แลเป็นความทุกข์ ทุกข์นี้จะพึงกำหนดรู้ได้แท้ แล้วพระองค์ได้กำหนดรู้ด้วยปรีชาภิสมัยดังนี้ แล้วพระองค์รู้ว่าอวิชชาตัณหาสองนี้แลเป็นมูลรากแห่งสังสารวัฏ เป็นเหตุให้เกิดกองทุกข์ดังว่ามา อวิชชาตัณหาจะพึงมละได้แท้ พระองค์มละเสียได้ด้วยปหานาภิสมัย พระองค์เห็นว่าดับอวิชชาตัณหาสองอย่างนี้ได้แล้ว สังขารวิญญาณนามรูปเป็นต้น ที่เป็นทุกข์ก็ดับสิ้น ธรรมที่ดับทุกข์นี้จะพึงเห็นชัดได้เป็นแท้ พระองค์เห็นธรรมที่ดับทุกข์ชัดได้ด้วยสัจฉิกิริยาภิสมัย พระองค์เห็นว่าปัญญาความเห็นอย่างนี้เป็นทางให้ถึงที่ดับทุกข์ ปัญญานี้เป็นของจะพึงให้มีให้เจริญขึ้นได้เป็นแท้ แล้วพระองค์ได้ทำให้มีให้เจริญขึ้นด้วยภาวนาภิสมัย อภิสมัยความกำหนดรู้ทุกข์ มละอวิชชา ตัณหา เห็นนิพพานชัด ความเป็นขึ้นแห่งมรรคจิตอย่างนี้เกิดขึ้นในขณะจิตอันเดียว ชื่อว่าเป็นมรรคเกิดขึ้น มรรคนี้เกิดขึ้นในกาลใด กาลนั้นอาสวะเครื่องดองในสันดานทั้งสาม คือกามาสวะ ภวาสวะ เป็นตัวตัณหา กับอวิชชาสวะก็สิ้นสูญ แล้วผลเกิดขึ้นรำงับซ้ำอีกครั้งหนึ่ง มรรคผลนี้แลชื่อว่าอาสวักขยญาณ ปัญญารู้ความสิ้นอาสวะเครื่องดองในสันดาน อาสวักขยญาณนี้ชื่อว่าวิชชาที่สาม พระองค์ได้ในเวลาจวนรุ่งวันวิสาขบุรณมี ดังกล่าวมานี้แลชื่อว่าพระองค์แสวงหาธรรมเป็นที่สิ้นความทุกข์
ถามว่าเหตุอันใดบันดาลให้พระองค์เห็น ชรา พยาธิ มรณะ เป็นทุกข์ ประหนึ่งว่าเพลิงเผาตนเองและสัตว์อื่น ให้ร้อนพระหฤทัยมละสุขสมบัติเสีย ออกแสวงหาธรรมที่สิ้นทุกข์ดังนี้ ชนอื่นทำไมเล่าจึงไม่เห็นอย่างพระองค์บ้าง ? แก้ว่าด้วยพระองค์เคยย่ำยีแยกขยายกระจายสังขาร เห็นความจริงสามประการ คือ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ อนัตตตา ความไม่ใช่ตัวตน ด้วยปัญญาและกุศลอื่น มีทานศีลเป็นต้น ซึ่งพระองค์ได้บำเพ็ญมาในภพก่อนมามากแล้ว จึงเป็นอุปนิสัยบันดาลให้พระองค์เห็นดังนี้ แล้วแสวงหาธรรมที่สิ้นทุกข์ ส่วนชนอื่นไม่ได้ปฏิบัติเหมือนอย่างพระองค์ จึงเห็นวัตถุแห่งความทุกข์ว่าเป็นวัตถุแห่งความสุขแล้ว และหลงอยู่ในวัตถุนั้น
ถามว่าในบุพพสิกขา ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณด้วยมละนิวรณ์ ๕ ตั้งจิตในสติปัฏฐาน ๔ เจริญโพชฌงค์ ๗ จึงเป็นพระพุทธเจ้า ในที่นี้ว่าตรัสรู้ได้ด้วยวิชชา ๓ จึงเป็นพระพุทธเจ้า ทำไมจึงไม่เหมือนกัน ? แก้ว่าเป็นแต่เทศนามุขดอก โดยอรรถคำทั้งปวงนั้นลงกันเหมือนกันดอก จะกล่าวให้ฟัง นิวรณ์ ๕ คือ กามฉันท์ ความใคร่ ความพอใจในกามคุณ ๑ พยาบาท ความปองร้าย ๑ ถีนมิทธิ ความง่วงเหงาหาวนอน ๑ อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ๑ วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลง ๑ ๕ อย่างนี้เรียกว่านิวรณ์ เพราะเป็นของกันกุศลธรรม มีสมาธิเป็นต้น มิให้เกิดขึ้นได้ เป็นของทำใจให้เศร้าหมอง เป็นของทำปัญญาให้เสียกำลังไป พระองค์มละนิวรณ์ ๕ นี้ด้วยวิกขัมภนปหาน คือข่มไว้ด้วยอานาปานสติฌานก่อนแล้ว เมื่อมรรคเกิดขึ้นฆ่าอวิชชาตัณหาซึ่งเป็นศีรษะแห่งกิเลส เป็นมูลรากแห่งสังสารวัฏตายขาดแล้ว นิวรณ์ ๕ ซึ่งเป็นกิเลสนับเนื่องในอวิชชาตัณหานั้นก็ตายขาดด้วยเป็นสมุจเฉทปหาน ด้วยเหตุนี้จึงว่ามละนิวรณ์ ๕ ด้วยสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนา ความตามเห็นซึ่งกายโดยความสิ้นไปความเสื่อมไป ๑ เวทนานุปัสสนา ความตามเห็นซึ่งเวทนาโดยความสิ้นไปความเสื่อมไป ๑ จิตตานุปัสสนา ความตามเห็นซึ่งจิตโดยความสิ้นไปเสื่อมไป ๑ ธัมมานุปัสสนา ความตามเห็นซึ่งธรรมโดยความสิ้นไปเสื่อมไป ๑ สี่นี้ชื่อว่าสติปัฏฐาน
สติปัฏฐาน
แปลว่า ธรรมชาติเข้าไปตั้งอยู่ในอารมณ์ คือ สติ หรือว่าสติเข้าไปตั้งอยู่ในอารมณ์ สติแปลว่าความระลึก สตินี้เป็นเจตสิกตัวเดียวไม่เป็นสอง เหตุใดจึงว่าสติปัฏฐาน ๔ เล่า ซึ่งกล่าวว่าสติปัฏฐาน ๔ นั้น ด้วยสามารถอารมณ์เป็นที่เข้าไปตั้งอยู่ในสติ อารมณ์แห่งสตินั้น ๔ คือ กาย ๑ เวทนา ๑ จิต ๑ ธรรม ๑ สติปรารภเอาเอกเทศแห่งกาย มีลมหายใจเป็นต้น หรือปรารภสกลกายมี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น เป็นอารมณ์ และเห็นความสิ้นความเสื่อมเกิดดับแห่งกาย หรือเห็นว่ากายเป็นของปฏิกูล หรือเห็นว่าเป็นสักว่าธาตุก็ดี หรือสักว่าเป็นแต่กายก็ดีดังนี้นั้น ชื่อว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปรารภเอาเวทนา ๓ คือ สุข ทุกข์ อุเบกขา อันใดอันหนึ่งเป็นอารมณ์แล้ว เห็นความสิ้นความเสื่อมเกิดดับแห่งเวทนา หรือเห็นว่าสักว่าเวทนาเท่านั้นก็ดีดังนี้นั้น ชื่อว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปรารภเอาจิตกอปรด้วยราคะความกำหนัด หรือจิตปราศจากราคะเป็นต้นอันใดอันหนึ่งเป็นอารมณ์ แล้วเห็นความสิ้นความเสื่อมเกิดดับแห่งจิต หรือเห็นว่าสักว่าจิตเท่านั้นก็ดีดังนี้นั้น ชื่อว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปรารภเอาธรรม คืออุปาทายรูปหรือสัญญา หรือสังขารขันธ์ที่พ้นจากกายเวทนาจิตอันใดอันหนึ่งเป็นอารมณ์ แล้วเห็นความสิ้นความเสื่อมเกิดดับแห่งธรรม หรือเห็นว่าเป็นแต่สักว่าธรรมเท่านั้นก็ดี ดังนี้นั้นชื่อว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ในองค์แห่งปฏิจจสมุปบาท ๑๒ มีอวิชชาเป็นต้น มีชรามรณะเป็นที่สุดนั้น อวิชชา สังขาร อายตนะ ผัสสะ ตัณหา อุปาทาน ภพ อุปาทายรูป ในรูปและสัญญา เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์ในนามหรือในอุบัติภพ และชาติชื่อว่าเป็นธรรม วิญญาณ ชื่อว่าเป็นจิต เวทนา ชื่อว่าเป็นเวทนา มหาภูตรูปในรูปหรือในอุบัติภพ และชาติชื่อว่าเป็นกาย เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเมื่อพระองค์จับองค์แห่งปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชาเป็นต้น ทีละสิ่งขึ้นพิจารณานึกวินิจฉัย ดังกล่าวมาแล้วในก่อน ชื่อว่าพระองค์ตั้งจิตเฉพาะด้วยดีในสติปัฏฐาน ๔
โพชฌงค์
แปลว่า องค์ว่าเหตุแห่งความตรัสรู้ความรู้เท่าสังขาร โพชฌงค์ ๗ นั้นคือ สติ ความระลึก ได้แก่สติปัฏฐานนั่นเอง ธรรมวิจยะ ความเลือก ความค้นซึ่งธรรมว่านี่กุศลนี่อกุศลเป็นต้น ก็ได้แก่ปัญญาที่ปรารภองค์แห่งปฏิจจสมุปบาท มีอวิชชาเป็นต้น และอารมณ์แห่งสติปัฏฐาน มีกายเป็นต้นเป็นอารมณ์แล้ว เห็นความสิ้นความเสื่อมแห่งอารมณ์นั้นเอง วิริยะ ความเป็นคนกล้า ได้แก่เพียรพยายามมละอกุศลมีนิวรณ์ ๕ เป็นต้น และทำกุศลมีสติปัญญาเป็นต้นให้เกิดขึ้นนั่นเอง ปีติความปลื้มใจในกุศลธรรม ที่ได้ด้วยสติและธรรมวิจยะนั่นเอง ปัสสัทธิ ความรำงับกายรำงับจิต ได้แก่ความไม่กระวนกระวายจิต เจตสิกในขณะกุศลธรรม มีสติปัญญา และสมาธิเป็นต้นเกิดขึ้นนั้นเอง สมาธิ ความตั้งจิตในอารมณ์อันเดียวได้แก่เอกัคคตา อัปปนาฌานทั้ง ๔ นั้นเอง อุเบกขา ความเพ่งโดยอุบัติได้แก่ความไม่ขวนขวาย ในที่จะตั้งจิตให้เป็นสมาธิอีก เป็นแต่เพ่งจิตถึงซึ่งความระงับอยู่แล้วเท่านั้นนั่นเอง ธรรม ๗ นี้แลชื่อว่าโพชฌงค์ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคดำเนินในวิชชา ๓ แล้วถึงความตรัสรู้ รู้เท่าสังขาร ก็ชื่อว่าพระองค์เจริญโพชฌงค์ ๗ ด้วย คำว่าเจริญโพชฌงค์ทั้ง ๗ นั้นเป็นคำกล่าวโดยนิรวเศษ กำหนดตามโพชฌงคนิยม แต่ถ้าว่าในขณะอรหัตมรรคอรหัตผล บังเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคนั้น พระองค์ถึงความตรัสรู้รู้เท่าสังขารนั้น โพชฌงค์มีแต่ ๖ เพราะปีติสัมโพชฌงค์ พระองค์มละเสียแล้วด้วยตติยฌาน
อนึ่ง กิจในพรหมจรรย์โดยสังเขปมีอยู่ ๒ คือ
ปหานและภาวนา
คำว่าพระผู้มีพระภาค มละนิวรณ์ ๕ นั้น เป็นคำแสดงปหานกิจว่าใช่แต่มละนิวรณ์ ๕ อย่างเดียวก็หาไม่ มละอาสวะ ๓ ด้วยวิกขัมภนปหานข่มไว้ด้วยวิชชา ๒ เบื้องต้น และด้วยสมุจเฉทปหาน มละขาดทีเดียวด้วยวิชชาที่ ๓, ด้วยคำว่าพระผู้มีพระภาคเจริญโพชฌงค์ ๗ นั้น เป็นคำแสดงภาวนากิจว่าใช่แต่เจริญโพชฌงค์ ๗ อย่างเดียวนั้นก็หาไม่ ทำวิชชา ๓ ให้เจริญด้วย คำว่าพระผู้มีพระภาคนั้นตั้งจิตในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น เป็นคำแสดงปฏิปทาข้อปฏิบัติซึ่งให้เกิดปหานะและภาวนา พระผู้มีพระภาคแสดงสติปัฏฐาน ๔ ไม่ยิ่งไม่หย่อนนั้น ตามจริตของบุคคล ก็แลบุคคลว่าโดยจริตสังเขปมีอยู่ ๒ จำพวก คือ ตัณหาจริต ๑ ทิฏฐิจริต ๑ ตัณหาจริตมีอีกเป็นสอง คือหยาบละเอียด ทิฏฐิจริตก็มีสอง คือหยาบละเอียด กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นสัปปายะ แก่คนเป็นตัณหาจริตหยาบ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นสัปปายะแก่คนเป็นตัณหาจริตละเอียด จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นสัปปายะแก่คนเป็นทิฏฐิจริตหยาบ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นสัปปายะแก่คนเป็นทิฏฐิจริตละเอียด ก็แลมละนิวรณ์ ๕ และตั้งจิตในสติปัฏฐาน ๔ และเจริญโพชฌงค์ ๗ สามนี้ละสิ่ง ๆ ในกาลเป็นบุรพภาค ย่อมมีย่อมเป็นในขณะจิตต่าง ๆ กันบ้าง แต่ในกาลเมื่อมรรคบังเกิดขึ้น ย่อมมีย่อมเป็นในขณะจิตอันเดียวกัน
ด้วยคำว่าพระผู้มีพระภาคมละนิวรณ์ ๕ ตั้งจิตในสติปัฏฐาน ๔ เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้ว และตรัสรู้สัมมาสัมโพธิดังนี้นั้น แสดงว่าพระผู้มีพระภาคเมื่อยังเป็นโพธิสัตว์อยู่นั้น กอปรด้วยทิฏฐิจริตละเอียด และตั้งจิตในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานโดยมากในกาลเป็นบุรพภาค เพราะกุศลธรรมและอกุศลธรรม ๒ นี้ โดยสังเขป ชื่อว่าธรรมเป็นอารมณ์แห่งธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็อกุศลธรรมยกนิวรณ์ ๕ ขึ้นเป็นตัวอย่าง ฝ่ายกุศลธรรมยกโพชฌงค์ ๗ ขึ้นเป็นตัวอย่าง อนึ่ง บุคคลมีปัญญามาก มักกอปรด้วยทิฏฐิจริตละเอียด ด้วยในวิชชาที่ ๓ กล่าวว่าพระผู้มีพระภาคกระทำองค์แห่งปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชาเป็นต้น เป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนาญาณนั้น แสดงว่าพระผู้มีพระภาค เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์อยู่นั้นกอปรด้วยโลกียปัญญามาก เป็นผู้ทิฏฐิจริตละเอียด และตั้งจิตในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานโดยมากในกาลบุรพภาค เพราะองค์ปฏิจจสมุปบาท มีอวิชชาเป็นต้น ชื่อว่าธรรมซึ่งเป็นอารมณ์แห่งธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอยู่โดยมาก
ซึ่งกล่าวมาทั้งนี้เพื่อจะให้รู้ว่าคำที่กล่าวว่าพระผู้มีพระภาค เกิดในมนุษย์อริยกะทั้งหลายในมัชฌิมประเทศ โดยชาติพระองค์เป็นกษัตริย์ โดยโคตรพระองค์เป็นโคตมโคตร เป็นบุตรสักยกษัตริย์ออกจากสักยตระกูล บวชแล้วพระองค์แสวงหากิ่งกุศลค้นคว้าสันติวรบท ส่วนธรรมรำงับทุกข์อันบวรประเสริฐ ไม่มีใครยิ่งกว่า พระองค์ได้มละนิวรณ์ ๕ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต เป็นของทำปัญญาให้เสียกำลัง พระองค์มีจิตตั้งเฉพาะในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ยังโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้เป็นให้เจริญขึ้นโดยความถ่องแท้ แล้วตรัสรู้สัมมาสัมโพธิธรรม เป็นเครื่องตรัสรู้ชอบเองประเสริฐไม่มีผู้ใดยิ่งกว่า ณ โคนโพธิอัสสัตถพฤกษ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราดังนี้แล
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 พฤศจิกายน 2556 13:28:14 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5746
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0
Re: อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
«
ตอบ #6 เมื่อ:
20 พฤศจิกายน 2556 13:50:48 »
.
อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
พุทธรัตนกถา
(ตอนที่ ๒)
โดย
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(จันทร์ สิริจนฺโท)
ถามว่าพระพุทธเจ้ามีคุณอย่างไร? แก้ว่าคุณพระพุทธเจ้ามากนักพ้นที่จะร่ำพรรณนาได้ ใหญ่หลวงดังพื้นฟ้าอากาศ คนเช่นเราจะพรรณนาคุณพระพุทธเจ้านั้นดังนกน้อยบินในอากาศ ไม่อาจพรรณนาให้สิ้นสุดได้ เพราะเหตุนั้น ปิงคิยพราหมณ์จึงได้กล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาค แก่พาวรีพราหมณ์ว่า เราหรือจะพึงรู้ปัญญาเวยยัติ ความว่องไวแห่งพระปัญญา ของพระสมณโคดมได้ ผู้ใดจะพึงรู้ความว่องไวแห่งพระปัญญาพระสมณโคดม ผู้นั้นพึงเป็นพระสมณโคดม คือจะต้องบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ ถึงสัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธเจ้าดังพระสมณโคดมนั้นจึงจะรู้ได้ ดังคนผู้จะวัดสอบสวนแผ่นดินหรืออากาศ ต้องไต่ไม้หรือเชือกประมาณเสมอเท่าแผ่นดินและอากาศนั้น จึงจะควรวัดประมาณให้เสมอได้
ด้วยเหตุดังนี้แลจึงว่าคุณพระพุทธเจ้าใหญ่หลวงมากนักพ้นที่จะพรรณนา แต่ตัดให้สั้นลงก็มีอยู่ ๓ คือปัญญาอย่างหนึ่ง ความบริสุทธิ์อย่างหนึ่ง พระกรุณาอย่างหนึ่งเท่านั้นแล เป็นประธานแห่งคุณทั้งปวง คุณทั้งปวงประชุมลงในคุณทั้ง ๓ นี้สิ้น ก็แลปัญญานั้น ได้แก่ความรู้เท่าสังขารดังกล่าวมาแล้ว คือ มรรคญาณซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัพพัญญุตญาณ กับญาณอันเศษมีจตุเวสารัชชญาณ ทศพลญาณ อนาวรณญาณเป็นต้น ที่เกิดแต่มรรคญาณให้สำเร็จคุณแก่สัตวโลก คือรู้ว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ สิ่งนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่สัตว์ สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ประกอบอุบายให้สัตว์มละเสีย สิ่งที่เป็นประโยชน์ประกอบอุบายให้สัตว์ทำให้เจริญขึ้นด้วยอนุศาสนี นี่แลชื่อว่าปัญญา ความบริสุทธิ์นั้นได้แก่มละกิเลสเครื่องหมองของจิตขาดกับทั้งวาสนา แม้โลกธรรม ๘ มาถึงเฉพาะหน้าไม่ยินดีไม่ยินร้าย พระหฤทัยใสบริสุทธิ์ นี่แลชื่อว่าความบริสุทธิ์ กรุณานั้นได้แก่ความเอ็นดูปรานีสัตว์ เห็นสัตว์ร้อนอยู่ด้วยเพลิงทุกข์เพลิงกิเลสว่ายอยู่ในทะเลใหญ่ คือ สังสารวัฏ จะให้สัตว์ดับเพลิงพ้นจากสังสารวัฏ ที่มีแก่พระองค์เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์อยู่และเมื่อตรัสรู้แล้ว นี่แลชื่อว่ากรุณา
ถ้าแลพระพุทธเจ้ามีแต่พระปัญญาอย่างเดียว ความบริสุทธิ์และกรุณาไม่มี พระองค์ก็จะไม่สอนสัตวโลก สัตวโลกเช่นเราก็จะไม่รู้กุศลอกุศล ทางสุคติทุคติ และศีล สมาธิ ปัญญาซึ่งเป็นทางพระนิพพาน หรือมีแต่ปัญญากับพระกรุณา หากจะสอนสัตว์บ้าง ก็จะน้อมไปตามใจรักตามใจชังและตามความเห็น เทศนาคำสอนก็จะไม่บริสุทธิ์ เพราะไม่มีความบริสุทธิ์ช่วยปัญญาและกรุณา อนึ่ง ถ้ามีแต่ความบริสุทธิ์กับพระกรุณา พระปัญญาไม่มีเล่าไซร้ ก็จะไม่อาจสั่งสอนสัตว์ได้
อนึ่ง ไม่มีพระกรุณา มีแต่พระปัญญากับความบริสุทธิ์ พระองค์ก็จะไม่คิดสั่งสอนสัตว์ จะเสวยแต่เอกีภาวสุขอยู่แต่ผู้เดียว หรือดับขันธปรินิพพานเสียโดยเร็วพลัน สัตว์เช่นเราก็จะไม่รู้จักกุศลาอกุศลทางสุคติทุคติ และทางศีลสมาธิปัญญา ทางพระนิพพาน rระกรุณาคุณของพระองค์เมื่อยังเป็นโพธิสัตว์อยู่นั้นดังนี้ พระองค์เป็นโพธิสัตว์อยู่มีอุปนิสัยควรแก่อรหัตผลสาวกบารมีญาณ แล้วได้ประสบพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มีพระทีปังกรเป็นต้น แม้หวังจะพ้นทุกข์แต่ผู้เดียว รับเทศนาแต่สำนักพระทีปังกรนั้น ก็จะสำเร็จอรหัตผลสาวกบารมีญาณ พ้นสังสารทุกข์แต่ตนผู้เดียวได้ หากพระองค์เห็นสัตว์ทั้งหลายร้อนอยู่ด้วยเพลิงทุกข์มีชาติเป็นต้น เพลิงกิเลสมีราคะเป็นต้น และว่ายอยู่ในทะเลใหญ่คือสังสารวัฏ พระองค์มีความปรานีจะดับเพลิงทุกข์เพลิงกิเลสแห่งสัตว์อื่นด้วย จะช่วยยกจากทะเลใหญ่ คือสังสารวัฏ จึงมละอรหัตผลที่ตนจะพึงได้ในสำนักพระพุทธเจ้านั้นเสีย น้อมจิตไปเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า แล้วบำเพ็ญบารมีพุทธการกธรรม คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา ขันติ วิริยะ สัจจะ เมตตา อธิษฐาน อุเบกขา ต้องเสวยทุกข์ในสังสารวัฏ เป็นอเนกทุกข์ในอเนกชาติ อันนี้ชื่อว่ากรุณาคุณ กรุณาคุณเป็นเหตุให้สำเร็จปัญญาคุณ บริสุทธิคุณแก่พระองค์ แล้วเกื้อกูลแก่สัตว์อื่นด้วย พระกรุณาคุณซึ่งมีแต่พระองค์ตรัสรู้แล้วไปนั้นเกื้อกูลแก่สัตว์อื่นฝ่ายเดียว และประกาศให้สัตว์อื่นรู้คุณพระรัตนตรัย เพราะเหตุนั้น จึงว่าคุณ ๓ ประการนี้ เป็นประธานแห่งคุณทั้งปวง คุณอื่นประชุมลงในคุณทั้ง ๓ นี้สิ้น
อนึ่ง พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกเป็นคุณแก่โลก ด้วยพระองค์ถึงพร้อมด้วยสัมปทา ๓ คือ เหตุสัมปทา ผลสัมปทา สัตตูปการสัมปทา เหตุสัมปทาที่ต้นมีเท่าไร? มี ๒ คือ มหากรุณาสมาโยค โพธิสัมภารสัมภรณะ มหากรุณาสมาโยคอย่างไร? ความที่พระองค์ประกอบพร้อมด้วยกรุณาปรานีสัตว์อันใหญ่หลวง ซึ่งมีมาแต่บาททูลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามทีปังกรนั้น มายั่งยืนในสันดานไม่คืนคลายทุกภพมาจนถึงปัจจุบันชาตินี้ นี่แลชื่อว่ามหากรุณาสมาโยค โพธิสัมภารสัมภรณะนั้นอย่างไร? ความที่ พระองค์เพิ่มพูนโพธิสมภารบารมีพุทธการกธรรม คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา ที่สัตว์อื่นยากจะกระทำได้สิ้นกาลนาน นับด้วยโกฏิแห่งกัปเป็นอันมากนั้น นี่แลชื่อว่าโพธิสัมภารสัมภรณะ ๒ สัมปทานี้เป็นคุณอันถึงพร้อมแห่งพระองค์เป็นเหตุเบื้องต้นให้สำเร็จผลสัมปทา สัตตูปการสัมปทาเบื้องปลาย จึงชื่อว่าเหตุสัมปทา ผลสัมปทามีเท่าไร? มี ๔ คือ ญาณสัมปทา ปหานสัมปทา อานุภาวสัมปทา รูปกายสัมปทา ญาณสัมปทานั้นอย่างไร? มัคคญาณ พระปัญญาความรู้เท่าสังขารในมรรคทั้ง ๔ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัพพัญญุตญาณ และญาณอื่น มีทศพลญาณ และอนาวรณญาณ จตุเวสารัชญาณเป็นต้น ซึ่งให้สำเร็จตามความสามารถในไญยธรรมทั้งปวงโดยสะดวก และประกอบอุบายเทศนาสอนสัตว์ไม่ขัดขวางครั่นคร้าม พระญาณเหล่านี้ชื่อว่าญาณสัมปทา
ปหานสัมปทานั้นอย่างไร? ความที่พระองค์มละกิเลสกับทั้งวาสนาขาดได้โดยส่วนอันเดียว ไม่ให้เกิดขึ้นได้อีกเป็นธรรมดา นี่แหละชื่อว่าปหานสัมปทา อานุภาวสัมปทานั้นอย่างไร? ความที่พระองค์เป็นอธิบดี เป็นใหญ่ในที่จะให้ความประสงค์สำเร็จตามความปรารถนา คือพระองค์เป็นอิสระในจิตจะแสดงฤทธิ์ประการใดได้ตามประสงค์ทุกประการ ดังนี้ชื่อว่าอานุภาวสัมปทา รูปกายสัมปทานั้นอย่างไร? ความที่พระองค์บริบูรณ์ด้วยพระกายอันประกอบด้วยทวัตติงสมหาปุริสลักขณะ และอสีตยานุพยัญชนะอันควรเป็นนัยนาภิเษกโสรจสรงจักษุแห่งสัตวโลกทั้งปวง อันนี้ชื่อว่ารูปกายสัมปทา ๔ สัมปทานี้เป็นคุณถึงพร้อมแห่งพระองค์สำเร็จมาแต่เหตุสัมปทา จึงชื่อว่าผลสัมปทา สัตตูปการสัมปทานั้นมีเท่าไร? มี ๒ คืออาสยะและปโยคะ อาสยะนั้นอย่างไร? ความที่พระองค์มีพระหฤทัยเยือกเย็นด้วยพระกรุณา หวังประโยชน์ในสัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นนิตย์ แม้สัตว์ที่ทำผิดดังเทวทัตเป็นต้น พระองค์ก็ทรงพระกรุณา นี่อย่างหนึ่ง อนึ่ง ความที่พระองค์เห็นสัตว์อื่นมีปัญญินทรีย์ยังไม่แก่รอบ พระองค์ทรงคอยท่ากาลอยู่กว่าอินทรีย์แห่งสัตว์จะแก่ควรแก่ตรัสรู้นั้น ๑ สองนี้ชื่ออาสยะ ปโยคะนั้นอย่างไร? ความที่พระองค์มีพระหฤทัยบริสุทธิ์ไม่เพ่งแก่อามิสมีลาภสักการะเป็นต้น ทรงแสดงธรรมด้วยญาณไตรมุข คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นทางพระนิพพาน ทรงเปิดเผยจำแนกซึ่งธรรมนั้น ๆ กระทำให้ตื้นขึ้นให้สัตว์อื่นที่มีอุปนิสัยตรัสรู้ตาม บรรลุโลกุตรผลนำตนพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ อันนี้ชื่อว่าปโยคะ อาสยะและปโยคะทั้งสองนี้ เป็นคุณถึงพร้อมแห่งพระองค์ เป็นอุปการะเกื้อกูลแก่สัตว์อื่นถ่ายเดียว จึงชื่อว่าสัตตูปการสัมปทา นี่แลพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกเป็นคุณแก่โลก ด้วยพระองค์พร้อมด้วยสัมปทา ๓ ดังกล่าวมานี่แล อนึ่ง อรหัตตาธิคุณแห่งพระพุทธเจ้าผู้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก เป็นคุณใหญ่เล่าลืออยู่ในโลกปรากฏแก่เทพยดาและมนุษย์มากกว่าคุณทั้งปวง เพราะเหตุนั้น ในบุพพสิกขาจึงได้ว่า ก็แลเกียรติศัพท์อันงามแห่งพระผู้มีพระภาคนั้น ไปในเบื้องบน ยิ่งฟุ้งไปดังนี้ว่า
อิติปิ โส ภควา อรหํ
ฯลฯ
ภควาติ
ดังนี้
บัดนี้จะแปลอธิบายในบทว่า
อรหํ
เป็นต้น ท่านประกอบบทไว้เป็นอนุสรณนัยอย่างสำหรับตามระลึกซึ่งคุณแห่งพระพุทธเจ้าดังนี้ว่า
โส ภควา อิติปิ อรหํ
ฯลฯ
โส ภควา อิติปิ ภควา
แปลว่า
โส ภควา
พระผู้มีพระภาคนั้น
อรหํ
ชื่อว่า
อรหํ อิติปิ
แม้เพราะเหตุดังนี้ แปลอย่างนี้ไปทุกบท จนถึงบทว่า
โส ภควา อิติปิ ภควา
อธิบายว่า
โส ภควา
พระผู้มีพระภาคนั้น
อรหํ
ชื่อว่า
อรหํ
เพราะเป็นผู้ไกลจากกิเลสอย่างหนึ่ง เพราะเป็นผู้ควรอย่างหนึ่ง แท้จริงพระผู้มีพระภาคนั้น ตั้งอยู่แล้วในที่ไกลด้วยดียิ่งนักจากกิเลสทั้งปวง เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอรหํ ผู้ไกลจากกิเลส กิเลสนั้น แปลว่า เครื่องหมองใจ ได้แก่ ความโกรธ ความโลภ ความหลง และมายา สาไถย เป็นต้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ทำน้ำจิตให้เศร้าหมองขุ่นมัว เป็นอกุศลจิต ซึ่งว่าพระองค์ไกลกิเลสนั้น ใช่ว่ากิเลสจะกลัวพระองค์หนีไปอยู่แห่งใดแห่งหนึ่งหรือพระองค์หนีกิเลสมานั้นก็หาไม่ เพราะกิเลสเป็นอรูปธรรมไม่มีรูปไม่มีตัว ซึ่งว่าพระองค์ไกลกิเลสนั้น คือไม่มีกิเลสเครื่องหมองใจในสันดาน เพราะสรรพกิเลสกับทั้งวาสนา พระองค์มละเสียแล้วด้วยมรรคญาณนั้น ๆ ก็วาสนานั้นแปลว่า ปรกติอันกิเลสอบรมอยู่ ได้แก่อาการแห่งกายวาจาของพระขีณาสพ ผู้ไม่มีกิเลสเหมือนอาการของคนมีกิเลส วาสนานี้พระสัพพัญญูพุทธเจ้าจำพวกเดียวมละได้ขาดพร้อมกับกิเลสด้วยอรหัตมรรค พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันต์ซึ่งเป็นสาวกมละวาสนาไม่ได้ มละได้แต่กิเลสอย่างเดียว เพราะเหตุนั้น พระสารีบุตรผู้อัครสาวก ในภพก่อนท่านเคยเกิดในกำเนิดวานร วาสนาอาการแห่งวานรติดมา แม้เป็นองค์อรหันต์แล้ว เมื่อเวลาดำเนินถึงที่ลุ่มบ่อท่านก็โดดโลดดังวานร อนึ่ง พระปิลินทวัจฉเถระ เมื่อท่านเป็นปุถุชนอยู่นั้นมักกล่าวว่า วสลิ ๆ เป็นคำหยาบโดยนิยมในมคธภาษา แม้ท่านเป็นอรหันตขีณาสพแล้ว ท่านก็ยังกล่าวอยู่ว่า วสลิ ๆ เพราะวาสนาพระอรหันตสาวกละไม่ได้ เพราะเหตุนั้น ความมละกิเลสแห่งพระพุทธเจ้า ไม่สาธารณ์ทั่วไปแก่พระปัจเจกพุทธะและพระอรหันตสาวก พระผู้มีพระภาคเพราะไกลจากกิเลสอย่างนี้ พระองค์มีพระหฤทัยอันบริสุทธิ์ใสสะอาดไม่หวาดหวั่นไหวในโลกธรรมทั้ง ๘ ลาภและมิใช่ลาภ ยศและมิใช่ยศ นินทา ปสังสา สุขทุกข์มาถึงเฉพาะพระองค์ พระองค์ไม่อนุโรธพิโรธยินดียินร้าย ย่อมเพิกเฉยประกอบด้วยฉฬังคุเบกขา แม้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ดีร้ายใด ๆ มากระทบจักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโนทวาร พระองค์ไม่โสมนัสโทมนัส ย่อมเพ่งโดยอุบัติด้วยญาณุเบกขา
อนึ่ง พระองค์มีพระหฤทัยดังแผ่นดิน แม้พระกายข้างหนึ่งทาด้วยจุณจันทน์สุคนธชาติของหอม พระกายข้างหนึ่งทาด้วยทุคนธชาติของเหม็นไม่สะอาด พระองค์ไม่ยินดียินร้ายในสุคนธชาติ และทุคนธชาตินั้น มีพระหฤทัยอันสม่ำเสมอดังนี้ เพราะพระองค์ไกลจากกิเลส, อนึ่ง พระผู้มีพระภาคนั้น ชื่อว่า อรหํ เพราะเป็นผู้ควร แท้จริงพระผู้มีพระภาคนั้นพระองค์ควรจะบัญญัติซึ่งสิกขาบทแก่สาวก และแสดงธรรมแก่สัตวโลก เพราะพระองค์เป็นผู้ไกลจากกิเลสแล้ว ไม่กระทำการบัญญัติซึ่งสิกขาบทและแสดงธรรมตามอำนาจกิเลส กระทำสิ่งที่เป็นธรรมและวินัยเป็นเบื้องหน้าแล้วทรงบัญญัติซึ่งสิกขาบทและแสดงธรรม, อนึ่ง พระองค์ควรในลาภยศและความสรรเสริญความสุข เพราะพระองค์ไม่มีความยินดี, อนึ่ง พระองค์ควรจะรับปัจจัยทั้ง ๔ มีจีวรเป็นต้น และบูชาพิเศษ อันเทพยดามนุษย์ทั้งหลายกระทำ เพราะพระองค์เป็นยอดทักขิเณยยบุคคล กระทำผลแห่งการทาน บูชาให้ไพบูลย์พิเศษขึ้น เพราะเหตุพระองค์เป็นผู้ควรการบูชาพิเศษนั้น เมื่อพระองค์เกิดขึ้นแล้วในโลก เทพยดามนุษย์ทั้งหลายผู้มีปัญญา จึงได้บูชาพระองค์ด้วยปัจจัย ๔ และเครื่องสักการบูชาวิเศษต่าง ๆ จนพระองค์ดับขันธปรินิพพานแล้ว โลกก็ยังได้ทำการบูชาพระองค์ถึงทุกวันนี้ เพราะเหตุนี้จึงว่า พระองค์เป็นผู้ควร
ในบุพพสิกขาแปลบท อรหํ ว่าผู้ควรก่อนนั้น ตามศัพทรูปแล้ว แปลว่าผู้ไกลกิเลสไว้เบื้องหน้า ในที่นี้แปลว่าผู้ไกลกิเลสก่อน ตามนัยในบาลี เพื่อจะแสดงว่าผู้ควรนั้น เพราะไกลจากกิเลส พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า สมฺมาสมฺพุทฺโธ นั้น เพราะพระองค์เป็นผู้ตรัสรู้ คือ รู้เท่าซึ่งธรรมทั้งปวงเองชอบ อธิบายทั้งปวงให้นักปราชญ์พึงรู้ดังบทว่า พุทโธ ดังกล่าวแล้วในบทก่อน แปลกแต่ที่นี้ มีบทว่า สัมมา ว่าธรรมทั้งปวงแทนสังขารทั้งปวงเท่านั้น สัมมา แปลว่า ชอบ แสดงว่า ความตรัสรู้ของพระองค์ชอบแท้ไม่วิปริต และบรรเทากิเลสาสวะได้ คำว่า สัม แปลว่า ลำพังตัวเองนั้น แสดงว่าพระองค์ตรัสรู้เองแต่ลำพัง ไม่มีผู้ใดในไตรภพเป็นครูสอน ก็ธรรมทั้งปวงที่พระองค์ตรัสรู้นั้น คือ อายตนะ วิญญาณกาย ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา ตัณหากาย วิตก วิจาร สิ่งละหก ๆ ขันธ์ ๕ กสิณ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ สัญญา ๑๐ อาการมีผมขนเป็นต้น อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ภพ ๘ ฌาน ๔ อัปปมัญญา ๔ อรูปสมาบัติ ๔ องค์ปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชาเป็นต้น มีชรามรณะเป็นที่สุด โดยอนุโลมปฏิโลม เหล่านี้ชื่อว่าธรรมทั้งปวง แทนสังขารทั้งปวง พระองค์รู้เท่าธรรมทั้งปวงนี้ คือว่าเป็นอภิญเญยธรรมจะพึงรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง จะพึงรู้ยิ่งอย่างไร ส่วนธรรมที่เป็นปริญเญยยะ จะพึงกำหนดรู้ คือ ทุกข์ ก็กำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ ส่วนธรรมที่เป็นปหาตัพพะจะพึงมละได้ คือสมุทัยก็มละได้ ส่วนธรรมที่เป็นสัจฉิกาตัพพะจะพึงกระทำให้แจ้งประจักษ์ คือนิโรธ ก็กระทำให้แจ้งประจักษ์ได้ ส่วนธรรมที่เป็นภาเวตัพพะจะพึงให้มีให้เจริญขึ้น คือ มรรคก็ให้มีให้เจริญขึ้นได้ อย่างนี้แลชื่อว่ารู้ยิ่ง จะประกอบในอายตนะอันเดียวคือ จักขุ พอเป็นนิทัศนะตัวอย่าง จักขุนี้เป็นของจะพึงกำหนดให้รู้ว่าเป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง เพราะไม่ใช่ตน จึงเป็นทุกข์ ตัณหาในภพก่อนซึ่งให้เกิดจักขุมานั้น เป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ตัณหานี้เป็นของจะพึงมละได้ ความไม่เป็นไปแห่งทุกข์และสมุทัยนั้น ชื่อว่านิโรธ นิโรธนี้เป็นของจะพึงกระทำให้แจ้งประจักษ์ได้ ความรู้ทุกข์สมุทัยนิโรธ นั้นชื่อว่ามรรค มรรคนี้จะพึงให้มีให้เจริญขึ้นได้ พระผู้มีพระภาคเจ้ารู้อย่างนี้แลชื่อว่ารู้ชอบ ไม่มีผู้ใดสอนพระองค์ พระองค์รู้เอง เพราะเหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า สัมมาสัมพุทโธ ผู้รู้เท่าซึ่งธรรมทั้งปวงลำพังตัว ให้นักปราชญ์พึงประกอบในอายตนะนอกนั้น และธรรมอันเศษดังนี้ทุก ๆ บทเถิด
ก็แลบทว่า อรหํ นั้น สำเร็จด้วยปหานะ การมละกิเลส บทว่าสัมมาสัมพุทโธนั้น สำเร็จด้วยภาวนา ความทำปัญญาให้เจริญขึ้น พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า วิชชาจรณสัมปันโน นั้น เพราะพระองค์ถึงพร้อมแล้วบริบูรณ์แล้วด้วยวิชชาและจรณะ วิชชา ๓ อย่างหนึ่ง ๘ อย่างหนึ่ง, ๓ นั้น คือ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปัญญาตามระลึกซึ่งขันธ์ที่ตนและสัตว์อื่นอยู่แล้วในภพก่อน ๑ จุตูปปาตญาณ ปัญญารู้เห็นจุติปฏิสนธิแห่งสัตว์ ๑ อาสวักขยญาณ ปัญญาตามรู้ในธรรมเป็นเครื่องสิ้นอาสวะ ๑ ๓ นี้ชื่อว่าวิชชา เพราะเป็นความรู้แจ้งแทงตลอดล่วงรู้ วิชชา ๓ นี้ได้กล่าวพิสดารแล้วในเบื้องหลัง วิชชา ๘ นั้น คือ วิปัสสนาญาณ ปัญญาเห็นกายนี้สักว่าเป็นธาตุ ๔ มีวิญญาณอาศัยอยู่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ๑ มโนมยิทธิ อิทธิสำเร็จด้วยใจ คือ ความนิฤมิตซึ่งรูปอื่นออกจากกายนี้ดังชักไส้หญ้าปล้อง ๑ อิทธิวิธี ส่วนฤทธิ์สำเร็จด้วยอธิษฐาน คือคนเดียวอธิษฐานให้เป็นคนมาก คนมากอธิษฐานให้เป็นคนเดียวเป็นต้น ๑ ทิพพโสตธาตุ โสตทิพย์ได้ยินเสียงมนุษย์และเสียงทิพย์ในที่ไกลหรือที่ใกล้ ๑ เจโตปริยญาณ รู้กำหนดจิตแห่งผู้อื่น รู้ว่าจิตประกอบด้วยราคะ และปราศจากราคะเป็นต้น ๑ กับวิชชา ๓ ดังกล่าวแล้วนั้นจึงเป็น ๘ นี้ชื่อว่าวิชชาเพราะเป็นความรู้วิเศษรู้ต่าง ๆ รู้แจ้งแทงตลอด วิชชา ๘ นี้มีที่มาน้อย วิชชา ๓ นั้นมีที่มามาก, จรณะมี ๑๕ คือ สีลสังวร
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 พฤศจิกายน 2556 14:20:30 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5746
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0
Re: อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
«
ตอบ #7 เมื่อ:
20 พฤศจิกายน 2556 14:17:04 »
.
อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
พุทธรัตนกถา
(จบ)
โดย
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(จันทร์ สิริจนฺโท)
ศีล คือ ความสำรวมกายวาจา ๑ อินทรียสังวร ความสำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖ มีจักขุนทรีย์เป็นต้น มิให้อวิชชาโทมนัสบาปธรรมเกิดขึ้นได้ ๑ โภชเนมัตตัญญุตา ความรู้ประมาณในโภชนะ ๑ ชาคริยานุโยค ความประกอบตามซึ่งความเพียร เป็นของแห่งคนผู้ตื่นอยู่ ๑, กับสัปปุริสธรรม ๗ คือ ศรัทธา ความเชื่อ หิริ ความละอายเพราะทุจริตบาปธรรม โอตตัปปะ ความสะดุ้งด้วยทุจริตบาปธรรม พาหุสัจจะ ความเป็นพหูสูต วิริยะ ความเพียร สติ ความระลึก ปัญญา ความรู้ทั่วถึง, กับฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ธรรมมีประเภท ๑๕ นี้ชื่อว่าจรณะ เพราะเป็นธรรมสำหรับที่บุคคลจะสัญจรดำเนินไปสู่ทิศที่ไม่เคยไป คือพระนิพพาน วิชชา ๓ และ ๘ ก็ดี และจรณะ ๑๕ นี้ ย่อมมีพร้อมบริบูรณ์ไม่บกพร่องในพระผู้มีพระภาค เพราะเหตุนั้นจึงทรงพระนามชื่อว่า วิชชาจรณสัมปันโน ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ วิชชาสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยวิชชาแห่งพระผู้มีพระภาคนั้น ย่อมกระทำสัพพัญญุตา ความเป็นผู้รู้ซึ่งสรรพเญยยธรรมทั้งปวง ไม่ขัดข้องให้บริบูรณ์ดำรงอยู่ จรณสัมปทา ความที่พระองค์ถึงพร้อมด้วยจรณะ ย่อมกระทำมหาการุณิกตา ความที่พระองค์มีกรุณาอันใหญ่หลวง ให้บริบูรณ์ดำรงอยู่ พระองค์นั้นย่อมรู้ซึ่งสิ่งที่เป็นประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์แห่งสรรพสัตว์ด้วยสัพพัญญุตา และเว้นเสียซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ประกอบสัตว์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วยมหาการุณิกตา ความกรุณาอันใหญ่หลวง ทั้งนี้เพราะพระองค์ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ เพราะเหตุนั้นสาวกของพระองค์จึงเป็นสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติแล้วดี ไม่เป็นทุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติแล้วชั่ว ดังสาวกแห่งครูผู้วิบัติจากวิชชาและจรณะ เป็นอัตตันตัปปะ ผู้ยังตนให้เร่าร้อนเปล่าเป็นต้น, พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า สุคโต นั้น เพราะพระองค์ไปแล้วสู่ที่อันดี คือพระนิพพาน อันเป็นอมฤตยสถาน
อนึ่ง พระองค์ทรงพระนามว่า สุคโต เพราะพระองค์ไปแล้วชอบ แท้จริงกิเลสใดซึ่งพระองค์มละแล้วด้วยโสดาปัตติมรรค พระองค์ไม่คืนมาสู่กิเลสนั้นอีก กิเลสใด ๆ ที่พระองค์มละแล้วด้วยสกทาคามิมรรค และอนาคามิมรรค หรืออรหัตมรรคก็ดี พระองค์ไม่กลับคืนมาสู่กิเลสนั้น ๆ อีก เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า สุคโต ผู้ไปแล้วชอบ อนึ่ง สุคโต แปลว่าเป็นผู้ไปแล้วดี แท้จริงพระผู้มีพระภาคไปเสียแล้วจากธรรมเหล่าใด ธรรมเหล่านั้นไม่คืนมาสู่พระองค์ได้อีก เมื่อพระองค์ถึงแล้วซึ่งที่อันใด ที่อันนั้นไม่กำเริบ ธรรมที่พระองค์ไปจากเสียนั้น คือ กิเลสที่พระองค์มละแล้วด้วยมรรคนั้น ๆ กิเลสนั้นไม่กลับคืนมาบังเกิดในพระหฤทัยได้อีก ที่พระองค์ถึงแล้วนั้น คือพระนิพพาน นิพพานอันเป็นอกุปปธรรมไม่กำเริบกลับคืน สราคาทิธรรมที่กอบด้วยราคะและกลับคืนเป็นชาติธรรมชราธรรมเป็นต้น พระองค์ไปเสียจากกิเลส ถึงแล้วซึ่งพระนิพพาน ด้วยเหตุนั้นจึงทรงพระนามชื่อว่า สุคโต ผู้ไปแล้วดี, พระผู้มีพระภาคทรงพระนามชื่อว่า โลกวิทู นั้น เพราะพระองค์เป็นผู้รู้แจ้งซึ่งโลกด้วยประการทั้งปวง แท้จริง พระผู้มีพระภาคนั้นรู้แจ้งแทงตลอดแล้วซึ่งขันธาทิโลก โดยสภาพความเป็นของตนแห่งโลกคือทุกข์ และรู้โดยสมุทัย เหตุเป็นแดนเกิดแห่งโลกคือตัณหา และรู้โดยนิโรธ ธรรมเป็นที่ดับแห่งโลกและสมุทัย คือพระนิพพาน และรู้โดยนิโรธุบาย ธรรมเป็นอุบายในความดับโลก คือมรรค พระองค์รู้ด้วยประการทั้งปวง ดังนี้
เพราะเหตุนั้น พระองค์ได้ตรัสแก่โรหิตัสสะเทวบุตรไว้ว่า ในที่สุดโลกใด สัตว์ย่อมไม่เกิดไม่แก่ไม่ตายย่อมไม่เคลื่อนไม่เข้าถึง เราตถาคตย่อมไม่กล่าวซึ่งที่สุดโลกนั้นว่าเป็นที่อันบุคคลจะพึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้ ด้วยการไปโดยปรกติ มีไปด้วยเท้าเป็นต้น ก็แลเราตถาคตย่อมไม่กล่าวว่า ยังไม่ถึงซึ่งที่สุดแห่งโลกและกระทำซึ่งที่สุดแห่งโลกได้ ก็แต่เราตถาคตย่อมบัญญัติซึ่งโลกและโลกสมุทัย เหตุเป็นแดนเกิดแห่งโลก และโลกิยนิโรธที่เป็นที่ดับโลกิยะ เป็นที่สุดโลกิยะ และโลกิยนิโรธคามินีปฏิปทา มรรคดำเนินไปถึงที่ดับโลก ๔ นี้ ในกเฬวรสรีรกายยาวประมาณวาหนึ่ง ประกอบด้วยสัญญานี้ และใช่จะบัญญัติในที่ ๆ อื่นก็หาไม่ พระผู้มีพระภาครู้โลกด้วยประการทั้งปวงดังนี้ เพราะเหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า โลกวิทูผู้รู้แจ้งซึ่งโลก นัยอันนี้ในสังขารโลก
อนึ่ง แม้ถึงสัตวโลก พระผู้มีพระภาคก็ย่อมรู้แจ้ง รู้แจ้งอย่างไร? พระองค์รู้แจ้งดังนี้ว่า สัตวโลก คือ เทพยดามนุษย์จำพวกนี้มีอาสยธรรมเป็นที่มานอนอยู่แห่งจิตดังนี้ คือ บางพวกเป็นสัสสตาสยะ บางพวกเป็นอุจเฉทาสยะ บางพวกเป็นอนุโลมิกขันตยาสยะ บางพวกเป็นยถาภูตญาณาสยะ และรู้ว่าสัตวโลกจำพวกนี้ มีอนุสัย คือ กิเลสนอนอยู่ในสันดาน ดังนี้ คือ เป็นราคานุสัยเป็นต้น และรู้ว่าสัตว์จำพวกนี้ประกอบด้วยสุจริตและทุจริต หรือจริตทั้ง ๖ แห่งสัตว์ก็ดี และรู้ว่าสัตว์ผู้นี้มีอธิมุติ คือ อัชฌาสัยต่ำช้าและประณีตดังนี้ก็ดี และรู้ว่าสัตว์ผู้นี้มีอินทรีย์ คือ ศรัทธาเป็นต้นอันคมกล้า ผู้นี้มีอินทรีย์อันอ่อนทราม ผู้นี้มีอาการอันดี คือเป็นวิวัฏฏาสยะ ผู้นี้มีอาการอันชั่ว คือเป็นวัฏฏาสยะ ผู้นี้จะพึงให้รู้ได้ด้วยง่ายเพราะมีศรัทธาและปัญญา ผู้นี้จะพึงให้รู้ได้ด้วยยากเพราะไม่มีศรัทธาและปัญญา ผู้นี้เป็นภัพพสัตว์ ควรจะตรัสรู้เพราะปราศจากอาวรณธรรมเครื่องกั้น คือกรรมและกิเลสและวิบาก ผู้นี้เป็นอภัพพสัตว์ เพราะประกอบด้วยอาวรณธรรมมีกรรมเป็นต้น พระองค์รู้แจ้งซึ่งสัตวโลกดังนี้แล จึงทรงพระนามชื่อว่าโลกวิทู ผู้รู้แจ้งซึ่งโลก อนึ่ง โลกโดยประเภทมี ๓ คือ สังขารโลก ได้แก่นามรูปเป็นต้น ๑ สัตวโลก ได้แก่เทพยดามนุษย์เป็นต้น ๑ โอกาสโลก คือ แผ่นดินอากาศเป็นต้น ๑ พระผู้มีพระภาคย่อมรู้โลกทั้ง ๓ นี้ว่าเป็นปลุชนธรรมมีความหลุดทลายหักพังไม่ยั่งยืนเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า โลกวิทู ผู้รู้แจ้งซึ่งโลก
พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า อนุตตโร นั้น เพราะไม่มีผู้ใดในไตรภพยิ่งกว่าพระองค์ด้วยคุณ แท้จริง พระผู้มีพระภาคนั้น ครอบงำเสียซึ่งโลกทั้งปวงด้วยคุณทั้งปวง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ และพระองค์ไม่มีผู้เสมอ พระองค์ย่อมเสมอด้วยพุทธเจ้าที่ไม่มีผู้ใดเสมอ พระองค์ไม่มีผู้เปรียบ ไม่มีบุคคลผู้เปรียบตอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้น เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า อนุตตโร เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า ให้บัณฑิตพึงสาธกด้วยอัคคัปปสาทสูตรเป็นต้น, พระนามว่า ปุริสทัมมาสารถี นั้น แปลว่าพระองค์เป็นผู้ทรมานซึ่งบุรุษที่ควรทรมาน, แท้จริง พระผู้มีพระภาคนั้น ย่อมทรมานซึ่งเทพยดา มนุษย์และอมนุษย์ ซึ่งเป็นบุรุษควรทรมานนั้นด้วยวินัยอุบายอันวิจิตรต่าง ๆ คือ สัตว์จำพวกใดชอบคำละเอียดไพเราะ พระองค์ก็ทรงทรมานด้วยคำละเอียด คือแสดงสุจริต ๓ มีกายสุจริตเป็นต้น ๑ และแสดงผลแห่งสุจริต ชื่อว่าเป็นคำละเอียดให้สัตว์นั้นยินดีประพฤติ, สัตว์จำพวกใดชอบคำหยาบ พระองค์ก็ทรงทรมานด้วยคำหยาบ คือประกาศทุจริต ๓ และผลแห่งทุจริตนั้น ให้สัตว์เกลียดกลัวมละเสีย สัตว์จำพวกใดชอบทั้งคำละเอียดคำหยาบ พระองค์ก็ทรงทรมานด้วยคำทั้งละเอียดทั้งหยาบ คือ ทรงชี้แจงซึ่งสุจริตทุจริต และผลแห่งสุจริตทุจริตนั้น ให้สัตว์มละเสียซึ่งพยศอันร้ายคือทุจริต ตั้งอยู่ในกุศลสุจริต สัตว์จำพวกใดไม่รับวินัยอุบายวิธีทรมานอันวิจิตรของพระองค์ ดังนี้ สัตว์จำพวกนั้นชื่อว่า อปุริสทัมโม มิใช่บุรุษควรทรมาน บุรุษไม่ควรทรมาน พระองค์ไม่ทรงทรมานบุรุษจำพวกนั้น ๆ ชื่อว่าอันพระผู้มีพระภาคฆ่าเสียแล้ว ด้วยไม่ทรงทรมานสั่งสอน บุรุษนั้นชื่อว่าตายจากกุศลธรรม และความสุขในโลกทั้ง ๒
พระผู้มีพระภาคฉลาดในการทรมานสัตวโลก ดังนายหัตถาจารย์อัสสาจารย์ ควาญช้าง ควาญม้า ผู้ฉลาดทรมานซึ่งคชสารและอัสดรซึ่งเป็นสัตว์ควรทรมาน ให้มละพยศอันร้ายดังนี้ พระองค์จึงทรงพระนามว่า ปุริสทัมมสารถี ผู้ทรมาน ซึ่งบุคคลควรทรมาน อนึ่ง อนุตตโร ปุริสทัมมสารถี สองนี้สองนี้เป็นพระนามเดียวกัน แปลว่าพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ทรมานซึ่งบุรุษที่ควรทรมานไม่มีใครยิ่งกว่า แท้จริง เหมือนอย่าง คชสาร และอัสดร นายหัตถาจารย์ อัสสาจารย์ ควาญผู้ฉลาดทรมานคล่องแคล่วแล้วด้วยดี นายควาญประสงค์จะให้แล่นไปในทิศใด ก็แล่นไปได้ยังทิศนั้นอย่างเดียวในวารหนึ่ง ส่วนบุรุษที่พระผู้มีพระภาคทรงทรมานแล้วนั้น แม้นั่งอยู่ด้วยบัลลังก์อันเดียวก็ย่อมแล่นไปได้สู่ทิศทั้ง ๘ คือ สมาบัติ ๘ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า อนุตตโร ปุริสทัมมสารถี
อนึ่งพระองค์ทรงทรมานเทพยดา มนุษย์ ซึ่งเป็นบุรุษควรทรมาน ด้วยอนุศาสนีปาฏิหาริย์ เป็นกระบวนทรมานไม่กดขี่ข่มเหงด้วยอาชญา ให้สัตว์เสวยทุกขเวทนา ดังควาญช้าง ควาญม้า และคนที่เป็นอิศราธิบดี ทรมานซึ่งคชสารและอัสดรและชนอยู่ในอำนาจแห่งตนด้วยคำด่าและอาชญา คือ จองจำและประหาร ด้วยเครื่องประหารต่าง ๆ แม้พระองค์ทรงทรมานสัตว์บางพวก ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์บ้าง ก็เป็นกระบวนข่มขี่ให้สิ้นพยศอันดุร้าย มานะดื้อกระด้างเสียก่อน แล้วก็ทรงทรมานด้วยอนุศาสนีปาฏิหาริย์ คือ ประทานเทศนาคำสอนให้สัตว์ปฏิบัติตาม มละพยศอันร้าย คือ ทุจริตสังกิเลสธรรมด้วยมรรคภาวนานั้น ๆ สัตว์นั้นไม่กลับคืนกอบด้วยทุจริตสังกิเลสธรรมซึ่งเป็นพยศอันร้ายอีก ดังคชสารและอัสดร นายควาญทรมานแล้วและกลับคืนมีพยศอันร้ายอีกบ้างในกาลบางที เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า อนุตตโร ปุริสทัมมสารถี ผู้ทรมานซึ่งบุรุษที่ควรทรมานไม่มีใครยิ่งกว่า
พระนามว่า สัตถา เทวมนุสสานัง แปลว่า พระองค์เป็นศาสดาผู้สอนของเทพยดามนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงพระผู้มีพระภาคย่อมสอนด้วยประโยชน์ ๓ คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ เป็นประโยชน์ในทิฏฐธรรมปัจจุบันนี้ และสัมปรายิกัตถะประโยชน์ในภพหน้า และปรมัตถประโยชน์ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน ตามควรแก่อัธยาศัยแห่งเวไนยสัตว์ พระองค์สอนด้วยทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์นั้น ดังพระองค์สอนทีฆชาณุโกฬิยบุตร และอุชยพราหมณ์ด้วยสัมปทา ๔ คือ อุฏฐานสัมปทา ความหมั่นประกอบกิจแสวงหาทรัพย์ และอารักขสัมปทา ความฉลาดป้องกันรักษาทรัพย์ มิให้ฉิบหายด้วยอันตราย และสมชีวิตา ความเลี้ยงชีพใช้ทรัพย์พอควรแก่กำลังทรัพย์ที่มีมากและน้อย และกัลยาณมิตตตา ความเป็นผู้เสพกัลยาณมิตรดังนี้ก็ดี และทรงชี้ให้รู้จักอบายมุขประตูที่จะให้เสื่อมทรัพย์ ๔ และทรงชี้แจงแจกอบายมุขให้สิงคาลมาณพคฤหบดีบุตรรู้จักเพื่อมละเว้นเสียดังนี้ ชื่อว่าสอนด้วยทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ และพระองค์สอนด้วยสัมปรายิกัตถประโยชน์นั้น ดังสอนทีฆชาณุโกฬิยบุตรเป็นต้นนั้น ด้วยสัมปทา ๔ คือ ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาสัมปทาฯ
อนึงพระองค์ทรงแสดงเมตเตยยตา เปตตเตยยตา สามัญญตา พรหมัญญตา อปจายนะ และแสดงญาติสังคหะ ปุตตทวารสังคหะ และบุญญกิริยาวัตถุ ๓ ทุจริตปหานะ สุจริตสมาทานเป็นต้น โดยนัยอันวิจิตรพลิกแพลงยักย้ายต่าง ๆ ซึ่งมีมาในสุตตันตประเทศนั้น ๆ ดังนี้ ชื่อว่าสอนด้วยสัมปรายิกัตถประโยชน์ พระองค์ทรงแสดงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญาและแสดงปฏิปทาต่าง ๆ ซึ่งเป็นอุปการแก่ไตรสิกขา ซึ่งเป็นทางที่สัตว์จะดำเนินถึงพระนิพพาน เป็นที่เกษมสถานสิ้นทุกข์ โดยอเนกนัยวิจิตรต่าง ๆ ซึ่งมีมาในคัมภีร์ปริยัติธรรมดังนี้นั้น ชื่อว่าทรงสอนด้วยปรมัตถประโยชน์ เพราะพระองค์สอนด้วยประโยชน์ ๓ ดังนี้ จึงมีพระนามว่า สัตถา เทวมนุสสานัง ก็แลพระองค์ทรงสอนด้วยทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์และสัมปรายิกัตถประโยชน์นั้นไม่มหัศจรรย์ยิ่งนัก ด้วยครูอื่นบางเหล่าอาจแสดงได้บ้างโดยเอกเทศ ซึ่งพระองค์ทรงสอนด้วยทางปรมัตถประโยชน์นั้น เป็นมหัศจรรย์ใหญ่ยิ่งนัก ด้วยครูอื่นไม่อาจแสดงได้แม้โดยเอกเทศ,
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคดังอาจารย์ผู้สอนอักขรสมัย ฝ่ายเวไนยสัตว์ซึ่งยังไม่สดับพุทธภาษิตไม่รู้จักประโยชน์ ๒ ก็ดี และประเภทกุศลและอกุศล และประเภทแห่งสังขารมีขันธ์เป็นต้น กอบด้วยวิปลาสสำคัญว่า สังขารเป็นของแท้เที่ยงเป็นสุข เป็นตัวตนสัตว์บุคคลและเป็นของงาม ดังกุมารน้อยที่ยังไม่ได้ศึกษาในอักขรสมัย แม้เห็นอักษรก็สำคัญว่าลวดลายวิจิตร ครั้นเวไนยสัตว์ได้สดับพุทธภาษิตเฉพาะพระพักตร์หรืออาศัยอุคคหปริปุจฉา และสดับเทศนาแต่พหูสูตรบุคคลแสดงสืบ ๆ มาแล้วอ่านออกและรู้ประเภทแห่งธรรมเป็นกุศลและอกุศล และรู้ประเภทแห่งสังขารมีนามรูปเป็นต้น แล้วแยกย้ายกองสังขารเป็นนามรูปหรือขันธ์ ๕ ขึ้นพิจารณาด้วยสัมมัสสนญาณ เห็นสามัญลักษณะในสังขารว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน หรือเห็นว่าเป็นของปฏิกูลไม่งาม มละวิปลาส ๓-๔ ได้ด้วยทังคปหานะขณะหนึ่งก็ดี หรือด้วยสมุจเฉทประหานมละขาดทีเดียวก็ดี ดังกุมารน้อยได้ศึกษาในอักขรสมัยในสำนักอาจารย์แล้วได้เห็นอักษรแล้วอ่านออกรู้ความ มละวิปลาสซึ่งเห็นว่าเป็นลวดลายนั้นได้
พระผู้มีพระภาคแม้ถึงพระองค์ดับขันธปรินิพพาน แล้วล่วงไป คำสอนซึ่งเป็นอนุศาสนีปาฏิหาริย์ยังประดิษฐานอยู่ เป็นคุณแก่เทพยดามนุษย์ในภายหลัง ก็ได้ชื่อว่าเป็นศาสดาผู้สอนของเทพยดาและมนุษย์ในภายหลังด้วย เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงพระนามว่า สัตถา เทวมนุสสานัง คำว่า เทวมนุสสานัง นั้น เป็นคำกล่าวด้วยสามารถกำหนดสัตว์อันอุกฤษฏ์ และกำหนดสัตว์ที่เป็นภัพพบุคคล ควรตรัสรู้จตุราริยมรรคาริยผลก็จริง ถึงกระนั้นพระผู้มีพระภาค ก็ได้ชื่อว่า เป็นศาสดาผู้สอนของอมนุษย์และเดรัจฉานบางเหล่าด้วย ด้วยพระองค์เป็นประธานให้อนุศาสนีคำสอนแก่อมนุษย์และเดรัจฉานเหล่านั้น ดังอาฬวกยักษ์และอปฬาลนาคราชเป็นต้น ซึ่งได้รับอนุศาสนีของพระองค์ ได้ประสาทหยั่งลงในรัตนตรัย มละพยศอันร้าย คือทุจริตเสียได้ พระนามว่า พุทโธ นั้น แปลว่าเป็นผู้ตรัสรู้คือรู้เท่าเญยยธรรมทั้งปวง อนึ่ง แปลว่าเป็นผู้บานแล้วถึงที่ด้วยตรัสรู้สัจจะของจริง ๔ ด้วยลำพังตนและให้สัตว์อื่นตรัสรู้ตามด้วย อธิบายทั้งปวงให้ปราชญ์พึงรู้ดังนัยหนหลังนั้นเถิด ในที่นี้แปลกแต่คำว่า เญยยธรรมแทนสังขารเท่านั้น พระนามว่า ภควา นั้น แปลว่าผู้มีพระภาคยะ ก็ภาคยะนั้นได้แก่กุศลธรรมมีทานศีลเป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมอันถึงซึ่งส่วนอันอุดมอย่างอุกฤษฏ์ และเป็นกุศลยังโลกิยสุขโลกุตรสุขให้บังเกิดขึ้น ภาคยะนั้นย่อมมีแก่พระองค์ เพราะเหตุนั้น พระองค์จึงทรงพระนามว่า ภควา,
อนึ่ง ภควา แปลว่าเป็นผู้แจกออก ก็แลพระผู้มีพระภาคนั้นย่อมแจกออก ซึ่งสรรพธรรมทั้งปวงโดยประเภทว่า เป็นกุศลและอกุศลและอัพยากฤตธรรมไม่ใช่กุศลและอกุศลเป็นต้น แล้วก็แจกกระจายขยายธรรมเหล่านั้นเป็นจิตเจตสิก แล้วก็จัดแจกเป็นภูมิ ๔ เป็นต้น เพื่อให้กุลบุตรรู้แจ้งชัดในธรรมมีกุศลเป็นต้นนั้น แล้วยักย้ายธรรมเหล่านั้นเป็นขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น เพื่อเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนาปัญญา และแจกสามัญลักษณะเครื่องหมายเป็นสามัญ ซึ่งมีทั่วไปในธรรมเหล่านั้น คือ อนิจจตา ความที่ธรรมเหล่านั้นเป็นของไม่เที่ยง ทุกขตา ความที่ธรรมเหล่านั้นเป็นทุกข์ อนัตตตา ความที่ธรรมเหล่านั้นเป็นของมิใช่ตน ๓ นี้ เป็นลักษณะแห่งวิปัสสนาปัญญา และประสงค์จะชี้ว่าในธรรมทั้งปวงเหล่านั้น ได้จริงอยู่ ๔ จึงทรงแจกสัจจะของจริงแห่งพระอริยเจ้า ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วประสงค์จะให้เห็นว่าเป็นทุกข์
ด้วยเหตุนี้ จึงทรงแจกอรรถแห่งสัจจะ ๔ นั้นว่า ธรรมมีขันธ์เป็นต้นนั้นเป็นทุกข์ ด้วยอรรถคือบีบคั้นสัตว์อย่างหนึ่ง ด้วยอรรถคือเป็นธรรมอันปัจจัยทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้น ประชุมพร้อมกันเข้าทำให้เป็นขึ้นอย่างหนึ่ง ด้วยอรรถคือยังสัตว์ให้เร่าร้อนพร้อมอย่างหนึ่ง ด้วยอรรถคือเป็นของแปรปรวนไม่ยั่งยืนอย่างหนึ่ง จึงเป็นทุกข์ ตัณหาเป็นสมุทัย เหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์นั้น ด้วยอรรถคือประมวลมาด้วยสามารถยังทุกข์ให้เกิดอย่างหนึ่ง ด้วยอรรถคือเป็นเหตุมอบให้ซึ่งทุกข์เป็นผลของตนอย่างหนึ่ง ด้วยอรรถคือประกอบสัตว์ไว้ด้วยทุกข์อย่างหนึ่ง ด้วยอรรถคือห้ามกันไว้ไม่ให้สัตว์ได้มรรคผลอย่างหนึ่ง จึงเป็นสมุทัย
พระนิพพานเป็นนิโรธที่ดับทุกข์ ด้วยอรรถคือสลัดเสียซึ่งอุปธิ ธรรมเป็นที่เข้าตั้งอยู่แห่งทุกข์ทั้งปวงอย่างหนึ่ง ด้วยอรรถคือวิเวกสงัดจากสังขารทั้งปวงอย่างหนึ่ง ด้วยอรรถคือเป็นธรรมอันปัจจัยสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ประชุมพร้อมกันกระทำให้เป็นขึ้นอย่างหนึ่ง ด้วยอรรถคือเป็นของไม่ตายเพราะเป็นของเที่ยงอย่างหนึ่ง จึงชื่อว่านิโรธสัมมาปฏิปทา ชื่อว่ามรรคว่าทาง ด้วยอรรถนำสัตว์ออกจากวัฏทุกข์อย่างหนึ่ง ด้วยอรรถคือเป็นเหตุยังสัตว์ให้ถึงซึ่งนิพพานอย่างหนึ่ง ด้วยอรรถคือเห็นซึ่งนิพพานเป็นธรรมอันสุขุมล่วงส่วนอย่างหนึ่ง ด้วยอรรถคือเป็นอธิบดีแห่งสัมปยุตธรรม ในการเห็นซึ่งนิพพานอย่างหนึ่ง จึงชื่อว่ามรรค พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกซึ่งธรรมทั้งหลายโดยนัยดังนี้เป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า ภควา คำว่า ภควา นี้ เป็นพระนามแห่งพระผู้มีพระภาคสำหรับกล่าวด้วยสามารถ ความเคารพในพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นศาสดาครูอันวิเศษและอุดมกว่าสัตว์ทั้งหลาย
อนึ่ง พระนามตั้งแต่ อรหัง จนถึง ภควา เหล่านี้ พระพุทธมารดา พระพุทธบิดา หรือพระญาติทั้งปวง หรือเทพยดาผู้วิเศษผู้ใดผู้หนึ่งก็ดี จักได้ถวายแก่พระองค์นั้นหาไม่ พระนามเหล่านี้เป็นเนมิตกนามมาแต่นิมิต คือคุณเกิดขึ้นพร้อมกันกับด้วยความบังเกิด ด้วยนามกายในอริยชาติ และทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตรแห่งพระองค์ พระนามเหล่านี้ บางพระนามเหมือนด้วยชื่อพระขีณาสพซึ่งเป็นสาวกก็มี แต่เนื้อความนั้นแปลกกัน ให้นักปราชญ์พึงรู้โดยความซึ่งกล่าวมาแล้วเถิด คุณซึ่งได้ในพระนามเหล่านี้ ว่าโดยย่อนั้น ๒ คือ อัตตหิตสัมบัติ ความถึงพร้อมบริบูรณ์ด้วยความเกื้อกูลแก่ตน ๑ ปรหิตปฏิบัติ ความปฏิบัติเกื้อกูลแก่สัตว์อื่น ๑ ด้วยบทว่า อรหัง ฯลฯ อนุตตโร เหล่านี้ประกาศอัตตหิตสมบัติคุณ เพราะบทเหล่านั้นแสดงญาณและปหานะซึ่งเป็นผลสัมปทา ด้วยบทว่า อนุตตโร ฯลฯ เทวมนุสานํ เหล่านี้ ประกาศปรหิตปฏิบัติคุณ เพราะบทเหล่านั้นแสดงสัตตูปการสัมปทา ด้วยบทว่า พุทโธ ภควา นี้ประกาศคุณทั้ง ๒ คือ อัตตหิตสมบัติและปรหิตสมบัติ เพราะบทเหล่านั้นแสดงญาณและโพธิสัมภารสัมภรณะ ซึ่งเป็นผลสัมปทา เหตุสัมปทา และแสดงสัตตูปการสัมปทา เมื่อเป็นเช่นนี้ด้วยบททั้งหลายเหล่านั้น ได้ชื่อว่าประกาศกรุณาสมาโยค และอานุภาวสมบัติ รูปกายสมบัติโดยสามารถ
อนึ่ง บทว่า อรหํ แสดงปหานะการมละกิเลส, บทว่า สัมมาสัมพุทโธ แสดงภาวนาความทำกุศลให้มีให้เป็นขึ้นด้วย เหตุนั้นพระนามทั้ง ๒ นี้ จึงเป็นพระนามใหญ่ของพระองค์ ได้ตรัสด้วยพระนามนี้ มีในสุตตันตประเทศนั้น ๆ โดยมาก อนึ่ง บทเหล่านี้เป็นเหตุต่อ ๆ กันดังนี้ เพราะพระองค์เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้ชอบ จึงเป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ เพราะพระองค์ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาจรณะ จึงเป็นผู้ไปแล้วดีได้ เพราะเป็นผู้ไปแล้วดี จึงเป็นผู้รู้แจ้งซึ่งโลกได้ เพราะเป็นผู้รู้แจ้งซึ่งโลก จึงเป็นผู้ทรมานซึ่งบุรุษควรทรมาน ไม่มีใครยิ่งกว่าได้ เพราะเป็นผู้ทรมานซึ่งบุรุษที่ควรทรมานไม่มีใครยิ่งกว่า จึงชื่อว่าเป็นผู้บานแล้วถึงที่ เพราะเป็นผู้บานแล้วถึงที่จึงชื่อว่า เป็นครูศาสดาผู้วิเศษแล้วด้วยคุณอุดมกว่าสัตว์ ควรเคารพของโลก
ถ้าจะเจริญพุทธานุสติ ระลึกถึงคุณแห่งพระพุทธเจ้าไซร้ ให้พึงระลึกดังนี้ว่า โส ภควา อิติปิ อรหัง พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงพระนามว่า อรหัง แม้เพราะเหตุนี้ไปทุก ๆ บท จนถึง โส ภควา อิติปิ ภควา พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงพระนามชื่อว่า ภควา แม้เพราะเหตุนี้ คำว่าแม้เพราะเหตุนี้นั้นเอง เอาคำแปลและอธิบายซึ่งกล่าวมาแล้วก่อนนั้น ให้ถือเอาอรรถคือเนื้อความขึ้นรำพึง ให้เห็นคุณพระพุทธเจ้าตามเนื้อความที่กล่าวมาแล้ว อย่าถือเอาพยัญชนะขึ้นบ่นบริกรรม ทำอย่างนี้จะไม่เห็นคุณพระพุทธเจ้า จะระลึกทุกบท ๆ ก็ได้ หรือบทใดบทหนึ่งตามถนัดก็ได้.
อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 พฤศจิกายน 2556 14:22:34 โดย กิมเล้ง
»
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 5746
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0
Re: อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
«
ตอบ #8 เมื่อ:
06 ธันวาคม 2556 15:10:31 »
.
อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
ธรรมรัตนกถา
โดย
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(จันทร์ สิริจนฺโท)
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม
สนฺทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก
ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ.
บัดนี้
จักพรรณนาพระธรรมรัตนกถาโดยวิธีเทศนานัย เป็นเครื่องบำรุงสติปัญญาแห่งพุทธบริษัท ด้วยพวกเราทั้งหลายย่อมรู้อยู่ด้วยกันว่า ตนเป็นสัตว์ตกอยู่ในวิสัยของชราพยาธิมรณะ ซึ่งเป็นต้นแห่งความทุกข์ทั้งปวง ความทุกข์ที่จะพึงพรรณนานั้นมากมายนัก จะนำมากล่าวแต่ความทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นแต่ของจำเป็น
ดังอาหารปริเยสิกทุกข์ ทุกข์เพราะแสวงหาอาหาร ด้วยว่าอาหารเป็นของสำหรับบำรุงร่างกายของสัตว์ ถ้าไม่มีอาหาร สัตว์ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ส่วนมนุษย์ย่อมบริโภคข้าวปลาแกงกับต่าง ๆ เป็นอาหาร ถ้าหาตรง ๆ ไม่ได้ต้องหาโดยทางอ้อม คือ ต้องแสวงหาเงินทองข้าวของต่าง ๆ ไปซื้อหาแลกเปลี่ยน จึงต้องเป็นทุกข์เพราะแสวงหา แม้ผ้าสำหรับนุ่งห่มปกปิดร่างกาย ก็เป็นของจำเป็นจะต้องแสวงหาอีกส่วนหนึ่ง เหย้าเรือน เคหะสถานฟูกเบาะเมาะหมอนก็เป็นของจำเป็นจะต้องแสวงหาอีกส่วนหนึ่ง เพราะมนุษย์เป็นสัตว์เนื้ออ่อน หนังบาง ทนแดดทนฝนไม่ไหว เภสัช ยาสำหรับบำบัดโรคอาพาธ ก็เป็นของจำเป็นจะต้องแสวงหาอีกส่วนหนึ่ง เพราะมนุษย์จะต้องมีโรคสำหรับตัวคนละอย่างสองอย่างอยู่เสมอ การแสวงหานั้นโดยทางตรงบ้างทางอ้อมบ้าง ทางตรงคือต้องทำเอง ทางอ้อมนั้นก็คือต้องหาทรัพย์เครื่องแลกเปลี่ยน การแสวงหาทรัพย์ก็ต้องทนลำบากอาบเหงื่อต่างน้ำ จึงชื่อว่าปัจจยปริเยสิกทุกข์ ยังทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่การเบียดเบียนซึ่งกันและกัน คือชั้นพระราชาก็เบียดเบียนกันในชั้นพระราชาด้วยกัน ชั้นมหาอำมาตย์ก็เบียดเบียนกันในชั้นมหาอำมาตย์ด้วยกัน ชั้นพ่อค้าเศรษฐีตลอดถึงชาวไร่ชาวนาและคนรับจ้างทำการ ถึงทาสกรรมกรเป็นที่สุด ก็ย่อมเบียดเบียนกันตามชั้นตามภูมิของตน ๆ ยังชั้นสูงเบียนชั้นต่ำ ๆ เบียนชั้นสูง มีข่มเหงฉ้อโกงฉกลักและจุดบ้านเผาเรือนแห่งกันและกันเป็นต้น เบียดเบียนกันในชั้นโภคทรัพย์บ้าง เบียดเบียนกันถึงชั้นชีวิตบ้าง ใช่จะเป็นแต่คนอื่นคนไกลโดยส่วนเดียว ถึงกันเองดังพ่อแม่ ผัวเมีย พี่น้อง ลูกหลาน บางพวกก็ยังต้องเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ดู ๆ น่าอิดหนาระอาใจเสียนี่เต็มที
ยังกองทุกข์อย่างสำคัญ คือต้องป่วยไข้เกิดโรคภัยต่าง ๆ นับอย่างไม่ถ้วน ในระหว่างเป็นเด็กก็เกิดโรคสำหรับเด็ก มีตานซางเป็นต้น เป็นผู้ใหญ่ก็เกิดโรคสำหรับผู้ใหญ่ มีกระษัยกร่อนริดสีดวงเป็นต้น เป็นคนแก่ก็เกิดโรคสำหรับคนแก่ มีตามัว หูตึง ปวดฟัน เป็นต้น พรรณนาไม่มีที่สิ้นสุด ยังกองทุกข์คือความแก่อีกส่วนหนึ่ง ธรรมดาของคนแก่กำลังเรี่ยวแรงน้อย จะลุก จะนั่ง จะกิน จะนอนแสนลำบาก เพราะทำกิจการงานใด ๆ ไม่สะดวก แต่ความอยากความหิวมันไม่รู้จักแก่ ใจมันไม่แก่ แส่หาความสุขร่ำไป เพราะเหตุนั้น จึงนับว่าเป็นกองทุกข์อันสำคัญส่วนหนึ่ง ยังกองทุกข์คือความตายอีกเล่า ก็น่าเบื่อเหลือเกิน บางจำพวกตายเสียแต่ยังอยู่ในครรภ์ บางพวกตายเสียแต่ยังเด็กยังหนุ่ม บางจำพวกตายเสียในระหว่างมัชฌิมวัย บางจำพวกตายเสียในระหว่างปัจฉิมวัย บางจำพวกถูกปู่ย่าตาทวดซึ่งเป็นที่รักตาย บางจำพวกถูกพ่อแม่ซึ่งเป็นที่รักตาย บางจำพวกถูกผัวเมียซึ่งเป็นที่รักตาย บางจำพวกถูกลูกหลานซึ่งเป็นที่รักตาย บางจำพวกถูกพี่น้องพวกพ้องมิตรสหายซึ่งเป็นที่รักตาย บางจำพวกถูกเจ้านายครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นที่พึ่งที่เคารพตาย จนถึงตัวเองตายเป็นที่สุด
ความตายอย่างที่พรรณนามานี้ ล้วนเป็นเหตุให้เกิดโสกะ คือความแห้งใจกรอบเกรียมใจ ปริเทวะ คือ ความบ่นพิรี้พิไรคร่ำครวญไปต่าง ๆ ทุกข์ คือความเหลืออดเหลือกลั้น โทมนัส คือ ความเศร้าใจ เสียใจ อุปายาส คือ ความคับแค้นอัดอั้นตันใจ เป็นตัวทุกข์ประจำตัวอยู่ด้วยกันทุกคน ยกเว้นแต่พระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้าผู้รู้เท่าเหตุ ผู้รู้เท่าผล พวกพาลชนแล้วจะได้พ้นจากกองทุกข์เหล่านี้หามิได้ เพราะเหตุนั้น พวกเราที่นับว่าเป็นพุทธบริษัทจะต้องศึกษาให้ฉลาดในธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แจ่มแจ้งชัดเจน แต่พระธรรมนั้นเป็นสภาพลึกซึ้งละเอียดเหลือเกิน ไม่เป็นวิสัยที่คนผู้มักง่ายจะพึงรู้ได้ ถ้าหากว่ารู้ได้จริงก็อาจจักระงับดับทุกข์ดังที่พรรณนามานั้นได้จริง แต่เป็นของรู้ได้ด้วยยาก ดังพระธรรมที่พุทธบริษัทสวดนมัสการพระธรรมคุณอยู่เสมอมี
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม
เป็นต้นนั้น พุทธบริษัทมักถือเอาเนื้อความแตกต่างแก่งแย่งกันอยู่เสมอ บางพวกเห็นไปว่า พระธรรมคุณที่สวดกันอยู่นี้ ท่านแสดงคุณแห่งพระโลกุตรธรรมต่างหาก ที่ไหนพวกเราจะรู้จะเห็นได้ บางพวกก็เห็นไปว่า ท่านแสดงทั้งโลกียธรรมและโลกุตรธรรม บางพวกก็เห็นไปว่าบท
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม
นั้น ท่านแสดงทั้งโลกียธรรมโลกุตรธรรม ส่วน ๕ บทเบื้องปลายแต่
สนฺทิฏฐิโก
ไป ท่านแสดงโลกุตรธรรมโดยส่วนเดียว เพราะความเห็นแตกต่างกันอย่างนี้ จึงต้องวิวาทกันกับผู้ซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกันกับด้วยตน อีกประการหนึ่ง พวกเราเคยได้ยินได้ฟังพระธรรมกถึกท่านแสดงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ อยู่เสมอไม่ใช่หรือ ครั้นเทศน์พระพุทธคุณท่านก็นำเอาพระธรรมคุณมาแสดง ดังที่ท่านแสดงบท “
อรหัง
” ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ไกลกิเลส เป็นผู้ควรแก่สักการะของโลก เป็นผู้ควรแต่งตั้งพุทธบัญญัติทั้งปวง เป็นผู้ควรที่พวกเราจะทำตามโอวาทของพระองค์ เพราะพระองค์บริบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิชชา วิมุตติ ดังนี้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิชชา วิมุตติ ก็เป็นองค์แห่งพระธรรมอยู่แล้ว ครั้นเทศน์พระธรรมคุณ ท่านก็นำเอาพระพุทธคุณมาแสดง ดังที่ท่านแสดงบทว่า
“สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม”
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงดีแล้วดังนี้ คำที่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมดีแล้วก็เป็นอันแสดงพระพุทธคุณอยู่เอง
ครั้นแสดงพระสังฆคุณ ท่านก็นำเอาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ มาแสดง ดังบทว่า
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
พระสงฆ์ผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เป็นอันแสดงพระพุทธคุณอยู่เอง ที่ว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว คือดีกาย ดีวาจา ดีน้ำใจ ได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญา ก็คือแสดงพระธรรมคุณนั้นเอง ถ้าผู้ฟังยังเข้าใจว่าพระพุทธคุณต่างหาก พระธรรมคุณต่างหาก พระสังฆคุณต่างหากจากกันไปไกลกันอยู่ เมื่อเห็นเช่นนั้นก็ชื่อว่า ยังไม่รู้จักคุณพระรัตนตรัยโดยประจักขสิทธิ ยังเป็นอนุมานสิทธิอยู่ จะนับว่าเป็นเขมสรณคมน์ยังไม่ได้ คือจะเป็นที่พึ่งอันประเสริฐแก่ตนยังไม่ได้ อาศัยเหตุที่กล่าวมานี้ การที่แสดงพระธรรมรัตนกถาต่อไปนี้ พึงเข้าใจว่าแสดงทั้ง ๓ รัตนะไปด้วยกัน มีเนื้อความตามพยัญชนะมคธพากย์ว่า
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว และพระธรรมนั้นเป็น
สนฺทิฏฺฐิโก
มีผลที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นด้วยตน อกาลิโก มีผลที่ผู้ปฏิบัติจะพึงได้พึงถึง ไม่ต้องอ้างกาล อ้างเวลา
เอหิปสฺสิโก
มีผลที่ผู้ปฏิบัติจะพึงอวดเขาได้ว่า ท่านจงมาดูเถิดประเสริฐจริง โอปนยิโก มีผลที่ผู้ปฏิบัติจะพึงน้อมมาสู่ตนได้ คือเทียบให้เห็นที่ตนได้
ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ
มีผลอันผู้รู้ทั้งหลายจะพึงรู้แจ้งแทงตลอดจำเพาะที่ตน คือไม่ไปรู้ที่ตัวผู้อื่น มีเนื้อความโดยย่อเพียงเท่านี้ มิได้แสดงว่าเป็นโลกียธรรมหรือโลกุตรธรรม เราต้องเข้าใจว่าพระธรรมทั้งสิ้นเป็นของกลาง ส่วนพระพุทธเจ้านั้นเล่า เราทั้งหลายก็เข้าใจด้วยกันว่า พระองค์เป็นผู้บรรลุโลกุตรธรรมแล้ว
ถ้าอย่างนั้น พระธรรมที่พระองค์ตรัสดีแล้ว ก็คงเป็นอมตธรรมเป็นโลกุตรธรรมทั้งสิ้น ที่จะเป็นโลกียธรรมอยู่นั้น ก็เป็นด้วยพวกเรายังเป็นโลกียสัตว์อยู่ ถ้าตัวของเรายังเป็นโลกียชนอยู่เพียงใด พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงดีอยู่แล้ว จะเป็นพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ก็ตาม จะเป็นพระปริยัติสัทธรรม พระปฏิบัติสัทธรรม พระปฏิเวธสัทธรรมก็ตาม จะเป็นมรรคธรรมก็ตาม ผลธรรม นิพพานธรรมก็ตาม ก็คงเป็นโลกียธรรมอยู่เพียงนั้น ถึงแม้จะเป็นโลกียธรรมอยู่เพียงชั้นใด ก็คงเป็นสวากขาตธรรมอยู่เพียงชั้นนั้น และเป็นสันทิฏฐิกธรรม เป็นอกาลิกธรรม เป็นเอหิปัสสิกธรรม เป็นโอปนยิกธรรม เป็นปัจจัตตังเวทิตัพพธรรม อยู่เพียงชั้นนั้น คือผู้ปฏิบัติตามพุทธโอวาทได้เพียงชั้นใด ก็อาจจักเห็นผลได้เพียงชั้นนั้น ตามชั้นตามภูมิของตน อย่าว่าแต่ผู้ฟังโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วปฏิบัติตาม และได้เห็นผลด้วยตนเลย ถึงผู้ไม่เคยได้ยินได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเลย เป็นแต่เห็นโทษในการเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สมบัติของผู้อื่นเป็นต้น งดเว้นเสียซึ่งทุจริตคือความประพฤติชั่วทั้งปวง ตั้งใจประพฤติดีด้วยกายวาจาใจ คือทำแต่กิจการงานที่หาโทษมิได้ มีการรับจ้างหรือทำไร่นาค้าขายโดยสุจริตเป็นต้น ผู้นั้นก็อาจจักเห็นผลด้วยตน เป็นสันทิฏฐิโกได้เหมือนกัน และได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติถูกต้องตามสวากขาตธรรมเหมือนกัน เพราะพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของกลาง ผู้รู้ปฏิบัติถูกปฏิบัติดีตามโอวาทคำสั่งสอนของพระองค์ก็ได้ดี ผู้ไม่รู้แต่หากปฏิบัติถูกปฏิบัติดีก็ได้ดีเหมือนกัน คือความดีในโลกมีที่สิ้นสุดเพียงใด ความชั่วในโลกมีที่สิ้นสุดเพียงใด ก็ไม่เหนือคำสอนของพระพุทธเจ้าไปได้ คืออยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น ส่วนโลกุตรธรรมนั้นจะขีดหมายไว้ภายนอก ดังตำราที่ชี้ไว้ว่า มรรคธรรม ผลธรรม มีลักษณะอาการอย่างนั้น ๆ นิพพานธรรม มีลักษณะอาการอย่างนั้น ๆ ข้อปฏิบัติจะให้ถึงมรรคผลนิพพานคือประพฤติอย่างนั้น ๆ ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น จะเป็นโลกุตรธรรมก็หามิได้ ต่อเมื่อใดผู้ประพฤติปฏิบัติตามโอวาทคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยกายวาจาใจ ยังศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ ให้เต็มตามที่แล้ว เกิดญาณคือความรู้ เกิดทัสสนะคือความเห็นในสกลกายนี้ว่าเต็มไปด้วยสมมุติสัจจะ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น และเต็มไปด้วยปรมัตถสัจจะ มีนาม รูป ธาตุ ขันธ์ อายตนะ เป็นต้น และเต็มไปด้วยอริยสัจ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ชักจิตขึ้นสู่วิถีโลกุตรธรรมได้ เมื่อนั้นแลจึงจะรู้จะเห็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ว่าเป็นโลกุตรธรรมทั้งสิ้น
ต่อนี้ไปจะอธิบายในบทว่า ในสกลกายนี้เต็มไปด้วยอริยสัจ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพื่อเป็นความดำริตริตรองของผู้อ่านผู้ฟังไว้แผนกหนึ่ง เพราะเป็นสัจจะสำคัญควรรู้ควรเห็น เป็นทางโลกุตระยิ่งกว่าสัจจะอื่น ๆ ในพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร พระผู้พระภาคเจ้าทรงแสดงมรรคก่อน มรรคนั้นแยกเป็น ๒ คือ มรรคชั่วอย่างหนึ่ง มรรคเป็นกลางอย่างหนึ่ง มรรคชั่วแยกเป็น ๒ คือกามสุขัลลิกานุโยคอย่างหนึ่ง อัตตกิลมถานุโยคอย่างหนึ่ง ชื่อว่ากุมัคคมิจฉาปฏิปทาทางชั่วทางผิด ผิดนั้นคือผิดทางกลาง ผิดจากทางโลกุตรธรรมเท่านั้น ถ้าจะย่นเอาแต่ใจความพอสมควรแก่ผู้เพ่งต่อโลกุตรธรรมจะพึงเข้าใจไว้ กามสุขัลลิกานุโยคนั้น ได้แก่ความติดกามอิฏฐารมณ์ คือสุขเวทนา อัตตกิลมถานุโยคนั้น ได้แก่ความติดกามอนิฏฐารมณ์ คือทุกขเวทนา
มรรคเป็นกลางนั้นมีทางเดียวแต่ประดับด้วยองค์ ๘ ชื่อว่า มัชฌิมาปฏิปทาทางกลาง ตรงไปสู่โลกุตรธรรม ไม่แวะเวียนไปสู่ทางลามกทั้ง ๒ นั้นได้ จึงเป็นอริยมรรคา เป็นทางดำเนินแห่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย แต่ไม่ใช่ทางเดินไปด้วยเท้า แม้แต่ใจก็ไม่ได้เดิน คือสกลกายนี้เป็นมรรค ๆ คือสกลกายนี้ ต้องประดับด้วยองคคุณทั้ง ๘ ประการ คือ
สมฺมาทิฏฺฐิ
ความเห็นชอบ
สมฺมาสงฺกปฺโป
ความดำริชอบ
สมฺมาวาจา
วิรัติเจตนาวาจาชอบ สมฺมากมฺมนฺโต วิรัตเจตนากรรมชอบ
สมฺมาอาชีโว
ชีวิตโวทานธรรมชอบ
สมฺมาวายาโม
เพียรชอบ
สมฺมาสติ
ตั้งสติชอบ
สมฺมาสมาธิ
ตั้งจิตไว้ให้เสมอชอบ องคคุณทั้ง ๘ ประการนี้ เป็นพยานเครื่องหมายของมรรค คือสกลกายนี้ต้องประดับด้วยองคคุณทั้ง ๘ ประการนี้ แต่สกลกายนี้ถึงประดับด้วยองคคุณทั้ง ๘ ประการเช่นนั้นแล้วก็ต้องแบ่งเป็น ๒ คือเป็นโลกียมรรคอย่างหนึ่ง โลกุตรมรรคอย่างหนึ่ง จะเป็นโลกียมรรคก็เป็นด้วยวิถีจิต จะเป็นโลกุตรมรรคก็เป็นด้วยวิถีจิต ถ้าจิตยังเพิกอุปธิกิเลสไม่ได้ คือยังไม่รู้เท่าสังขาร สมุทัยยังไม่ดับลงได้ มรรคคือสกลกายที่ประดับด้วยองคคุณทั้ง ๘ นั้น ก็เป็นแต่สุจริตธรรมในโลกเท่านั้น จึงชื่อว่าโลกียมรรค ถ้าจิตเพิกอุปธิกิเลสได้แล้ว คือรู้เท่าสังขารทั้งหลายแล้ว สมุทัยดับลงได้แล้ว มรรคคือสกลกายที่ประดับด้วยองคคุณทั้ง ๘ นั้น ก็เป็นอริยมรรค เป็นอริยธรรม เป็นโลกุตรธรรมขึ้นทีเดียว จึงชื่อว่าโลกุตรมรรค
เมื่อพระองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงมรรคอันประกอบด้วยองคคุณ ๘ ประการมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น ว่าเป็นมรรคกลางตรงต่อพระนิพพานฉะนี้แล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจ ๔ ประการ ทรงอ้างญาณจักษุปรีชาความรู้แจ้ง แสงสว่างได้บังเกิดขึ้นแล้วแก่พระองค์ ให้เหล่าเบญจวัคคีย์ได้สดับว่าอันนี้ทุกข์ คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นต้น อันนี้สมุทัย คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อันนี้นิโรธ คือ ความดับตัณหา อันนี้มรรค คือ
สมฺมาทิฏฺฐิ สมฺมาสงฺกปฺโป
เป็นต้น ทุกข์คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ เป็นต้น เป็นสัจจะของจริงอาการหนึ่ง สมุทัย คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นสัจจะของจริงอาการหนึ่ง นิโรธคือความที่แห่งตัณหานั้นดับลง เป็นความดับแห่งทุกข์ เป็นสัจจะของจริงอาการหนึ่ง มรรคคือสกลกายที่ประดับด้วยองคคุณทั้ง ๘ ประการ เป็นปฏิปทาเพื่อความดับทุกข์ เป็นสัจจะของจริงอาการหนึ่ง อันนี้เป็นส่วนสัจจญาณในญาณทัสสนะของพระองค์
ทุกข์นั้นเป็นปริญเญยยธรรม เป็นของควรกำหนดรู้ สมุทัยนั้นเป็นปหาตัพพธรรม เป็นของพึงละเสีย นิโรธนั้นเป็นสัจฉิกาตัพพธรรม เป็นของพึงทำให้แจ้งให้ใส มรรคนั้นเป็นภาเวตัพพธรรม เป็นของพึงทำให้เกิดให้มี อันนี้เป็นส่วนกิจญาณ ในญาณทัสสนะของพระองค์ ทุกข์ซึ่งเป็นของควรกำหนดรู้นั้น เราได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยซึ่งเป็นของพึงละเสียนั้น เราได้ละเสียแล้ว นิโรธซึ่งเป็นของพึงทำให้แจ้งให้ใสนั้น เราได้ทำให้แจ้งให้ใสแล้ว มรรคซึ่งเป็นของพึงทำให้เกิดให้มีนั้น เราได้ทำให้เกิดให้มีแล้ว อันนี้เป็นส่วนกตญาณ ในญาณทัสสนะของพระองค์ ในสัจจะทั้ง ๔ เป็นปริวัฏเวียนไปในสัจจะละสาม ๆ มีอาการ ๑๒ จึงมีนามว่าพระธรรมจักร มีใจความโดยย่อเพียงเท่านี้ ส่วนเนื้อความพิสดารตามสุตตันตนัย ย่อมขึ้นปากขึ้นใจชำนาญอยู่ด้วยกันโดยมากแล้ว
ในหนังสือเล่มนี้จะอธิบายโดยทางวิปัสสนานัยในสัจจะของจริงทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคนั้น ให้เอาสกลกายนี้ตั้งเป็นหลักเป็นประธาน แล้วกำหนดดูทุกขสัจจะ คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ให้ตรงตามนัยในปฏิจจสมุปบาท ตั้งต้นแต่อวิชชา สังขาร ตลอดถึงชรามรณะ ซึ่งเป็นปัจจุบันอันประจำอยู่ในสกลกายนี้ ดังลำต้นกิ่งก้านเปลือกใบช่อผลแห่งรุกขชาติมีมะม่วงขนุนเป็นต้น อันมีประจำอยู่ในเมล็ด หรืออยู่ในลำต้นที่ยังอ่อน คือเมล็ดหรือลำต้นที่ยังอ่อนอยู่นั้นย่อมมีกิ่งก้านเปลือกใบช่อผลประจำอยู่พร้อมเป็นธรรมดา แม้สกลกายนี้ก็มีอวิชชา สังขาร ตลอดถึงชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ประจำอยู่ ตั้งต้นแต่ปฐมปฏิสนธิวิญญาณมาทีเดียว เป็นธรรมดาอยู่อย่างนั้น อวิชชา สังขาร ตลอดถึง ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ซึ่งเป็นปัจจุบันมีประจำอยู่ในสกลกายนี้ทุกเมื่อ เป็นอาการแห่งทุกขอริยสัจจะที่ ๑ แล้วเอาสกลกายนี้ตั้งเป็นหลักเป็นประธาน ตรวจดูสมุทัยที่ว่ากามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานั้นให้เข้าใจ ตัณหานั้นเป็นของดูยาก ต้องดูหน้าตาของสมุทัยให้ชัดเสียก่อน เพราะเป็นของพอดูเข้าใจง่าย แต่มีมากประเภทนัก ไม่มีที่สิ้นสุด จะยกมาแสดงแต่พอเป็นทางตรึกตรองแห่งผู้ต้องการจะรู้เท่านั้น ตัวสมุทัยควรจะรู้ตามอาการของปฏิจจสมุปบาท คืออวิชชาความไม่รู้ เป็นตัวสมุทัยประเภทหนึ่ง สังขารธรรมชาติที่ปรุงแต่งทั้งหลาย เป็นตัวสมุทัยประเภทหนึ่ง วิญญาณความรู้วิเศษ เป็นสมุทัยประเภทหนึ่ง นามรูปเป็นสมุทัยประเภทหนึ่ง อายตนะ ๖ คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ใจ เป็นสมุทัยประเภทหนึ่ง ผัสสะความกระทบถูกต้อง เป็นสมุทัยประเภทหนึ่ง เวทนาความรู้แจ้งอารมณ์ เป็นสมุทัยประเภทหนึ่ง ตัณหาความปรารถนา เป็นสมุทัยประเภทหนึ่ง อุปาทานความยึดถือ เป็นสมุทัยประเภทหนึ่ง ภพความเป็นความมี เป็นสมุทัยประเภทหนึ่ง ชาติความเกิด เป็นสมุทัยประเภทหนึ่ง ชรามรณะความแก่ความตาย เป็นสมุทัยประเภทหนึ่ง
อาการแห่งสมุทัยทั้ง ๑๒ ประเภทนั้น ถ้าความเห็นยังแตกต่างเป็นคนละอย่างคนละอัน เป็นอดีตบ้าง เป็นอนาคตบ้าง เป็นปัจจุบันบ้าง เป็นอารมณ์แห่งกามตัณหา อาการแห่งสมุทัยทั้ง ๑๒ ประเภทนั้น ถ้าความเห็นรวมอยู่ที่ตน มีอาการสักว่ามีแต่รูปเป็นตัวรูปสัญญา เป็นอารมณ์แห่งภวตัณหา อาการแห่งสมุทัยทั้ง ๑๒ ประเภทนั้น ถ้าความเห็นรวมอยู่ที่ตน มีอาการละเอียดสักว่ามีแต่นามเป็นตัวนามสัญญา เป็นอารมณ์แห่งวิภวตัณหา ในภวตัณหา วิภวตัณหา ๒ ประเภท ท่านมักแสดงว่าเป็นประเภทแห่งรูปฌานและอรูปฌานโดยมาก เพราะเป็นที่สังเกตง่าย แต่ความจริงมิได้จำกัดแต่เพียงฌานเท่านั้นที่จะรู้ว่าอาการ ๑๒ มีอวิชชาเป็นต้น ว่าเป็นสมุทัยนั้น ต้องเห็นด้วยวิปัสสนานัย คือเห็นเป็นอดีตอนาคตปัจจุบัน และมีอาการไปอาการมา ดังเห็นว่าอวิชชา สังขาร วิญญาณ ภพ ชาติ เป็นอดีต นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน เป็นปัจจุบัน ที่เห็นว่าอาการทั้ง ๑๒ มีอวิชชาเป็นต้นมาเกิดขึ้นแล้วมีอยู่แล้วในเรา อย่างนี้ชื่อว่าเห็นเป็นอาการมา ที่เห็นไปว่าเราจักไปถึงอาการเหล่านั้น ดังเห็นว่าเราจักไปถึงความแก่ความตายเป็นต้น อย่างนี้ชื่อว่าอาการไป ในอาการทั้ง ๑๒ นั้น ถ้าเห็นแตกต่างเป็นคนละอย่างคนละอัน สิ่งที่ชอบใจก็อยากได้ สิ่งที่ไม่ชอบใจก็อยากเสีย เป็นลักษณะแห่งกามตัณหา
อาการทั้ง ๑๒ นั้น ถ้าเห็นเป็นแต่รูปแต่นาม รูปที่ชอบใจก็อยากได้ รูปที่ไม่ชอบใจก็อยากเสีย นามที่ชอบใจก็อยากได้ นามที่ไม่ชอบใจก็อยากเสีย ความปรารถนาแต่รูป เป็นรูปตัณหา ความปรารถนาแต่นาม เป็นนามตัณหา รูปตัณหานั้นท่านให้ชื่อว่าภวตัณหา นามตัณหานั้นท่านให้ชื่อว่าวิภวตัณหา เพราะเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของไปได้มาได้ จึงเป็นที่ตั้งแห่งความปรารถนา พึงเข้าใจลักษณะแห่งสมุทัยเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นพร้อมด้วยประการฉะนี้
องค์ปฏิจจสมุปบาทซึ่งเห็นเป็นส่วนอดีตอนาคตปัจจุบันและมีอาการไปอาการมาอยู่นั้นแล เป็นลักษณะแห่งสมุทัย อริยสัจจะที่ ๒ ส่วนนิโรธนั้นท่านแสดงแต่ว่าความดับตัณหา คือ เป็นสมุทัยนั้นเอง ชื่อว่านิโรธ ในนิโรธวารแห่งปฏิจจสมุปบาทก็แสดงอย่างนั้น จึงได้ความว่าอวิชชาดับ สังขาร วิญญาณ นามรูป ตลอดถึงชรามรณะก็ดับตามกันไปหมด ดังนี้ แต่อาการดับนั้น ถ้าตามโลกนิยมอยู่ทุกวันนี้เป็น ๓ เงื่อน ๆ หนึ่งดังประทีปธูปเทียนและพืชพรรณผลไม้ดับ คือดับไปสูญไปหายไปไม่มีในที่นั้น เป็นลักษณะอันหนึ่ง อีกเงื่อนหนึ่งดับไปสูญไปหายไปแต่ยังอยู่ ดังเด็กชายเด็กหญิง ดับไปสูญไปหายไปจากชายหนุ่มหญิงสาว แต่เด็กชายเด็กหญิงนั้นก็ยังอยู่ คือเป็นหนุ่มเป็นสาวนั้นเอง หรือดังชายหนุ่มหญิงสาวดับไปสูญไปหายไปจากชายแก่หญิงแก่ อาการดับอย่างนี้ก็มีมาก ดังอิฐปูนดับไปจากฝาผนังและกำแพง หรือดินเหนียวดับไปจากแผ่นอิฐหิน หรือหอยดับไปจากปูนขาวเป็นตัวอย่าง เป็นลักษณะอันหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งดับของไม่มีอยู่แต่เดิม แต่ก็คงอยู่อย่างเดิมคือดับแต่สัญญา ดังกำแพงแก้วตามสัญญาของพวกเราโดยมากซึ่งสำคัญว่าแก้วนั้น จะเป็นสีเขียวขาวดำแดงประการใดก็ตาม คงจะมีสีเลื่อม ๆ ใส ๆ เมื่อได้ยินแต่เขาเล่าให้ฟังว่าเขาก่อกำแพงแก้วรอบโบสถ์รอบวิหาร ก็คงเข้าใจว่าเขาก่อกำแพงด้วยแก้ว ครั้นไปเห็นเข้าด้วยตา หาเป็นแก้วดังตนสำคัญไม่ เป็นอิฐเป็นปูนธรรมดานี้เอง แต่กำแพงเตี้ย ๆ ชนิดนั้น เขาสมมติกันว่ากำแพงแก้ว ความที่เข้าใจว่าเขาก่อกำแพงด้วยแก้วก็ดับไป แต่กำแพงแก้วนั้นก็ยังอยู่ อาการดับแต่ไม่สูญไม่หายไปไหนอย่างนี้เป็นลักษณะอันหนึ่ง ซึ่งว่าตัณหาเป็นชาติสมุทัยดับไปโดยไม่เหลือ นิยมตามที่มาว่าทุกขนิโรธนั้นก็คือดับยังเหลืออยู่ ดังกำแพงแก้วเช่นเดียวกัน อาการดับอย่างนี้ เป็นลักษณะแห่งทุกขนิโรธ อริยสัจจะที่ ๓
ส่วนมรรคนั้นได้แก่ปัญญาที่เห็นอวิชชา สังขาร นามรูป ตลอดถึงชรามรณะซึ่งเป็นปัจจุบัน มีพร้อมอยู่ที่สกลกายนี้ ดังลำต้นกิ่งก้านเปลือกใบช่อผลของมะม่วงขนุน อันมีพร้อมอยู่ในเมล็ดฉะนั้น และเห็นอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป ตลอดถึงชรามรณะ ซึ่งเป็นอดีตอนาคตปัจจุบัน และมีอาการไปอาการมาเป็นตัวสมมติ สัญญาอดีตเป็นชาติสมุทัยแท้ และเห็นอวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป ตลอดถึงชรามรณะดับลงโดยไม่เหลือ คือรู้เท่าสมมติรู้เท่าสังขารด้วยกำลังญาณทัสสนะ ตัววิปัสสนาญาณ อวิชชากลับตัวเป็น
สมฺมาทิฏฺฐิ
ไป สังขารกลับตัวเป็น
สมฺมาสงฺกปฺโป
ไป เมื่ออวิชชาสังขารตลอดถึงชรามรณะดับลงโดยไม่เหลือจากสกลกายแล้ว ทีนั้นสกลกายก็ประดับด้วยองคคุณทั้ง ๘ ประการ มี สมฺมาทิฏฺฐิ เป็นต้น มี สมฺมาสมาธิ เป็นที่สุด สกลกายนั้นจึงได้นามว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นลักษณะแห่งมรรคอริยสัจจะที่ ๔
แต่ในปฏิจจสมุปบาท ท่านแสดงแต่อริยสัจ ๒ ประเภท คือสมุทัยวารกับนิโรธวารเท่านั้น เพราะทุกข์ท่านหมายสภาพ คือสกลกายนี้เอง ส่วนมรรคท่านหมายวิสุทธิมรรค คือตัววิปัสสนาญาณ องค์ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ก็คือแสดงอาการของสกลกายนี้ ถึงแม้พระอริยมรรคทั้ง ๘ ก็คือแสดงอาการสกลกายนี้ ถึงพระอริยสัจทั้ง ๔ ก็ไม่ใช่อื่น คือแสดงอาการของสกลกายนี้เอง ผู้ที่เพ่งโทษของสกลกายนี้แรงไป เห็นเป็นแต่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นเป็นแต่อสุจิอสุภังไปส่วนเดียว ก็ชื่อว่าเป็นผู้หนักในอาการของสัญญาเกินไป เมื่ออนัตตสัญญาปกปิดสกลกายเสียหมดแล้ว จะเห็นมรรคผลนิพพานในที่ไหน มรรคก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ท่านแสดงว่าเป็นภาเวตัพพธรรม เป็นธรรมพึงทำให้เกิดให้มี ผลก็คือนิโรธ ธรรมเป็นธรรมพึงทำให้แจ้งให้ใส ดังนี้
ความจริง พระผู้พระภาคเจ้าทรงแสดงว่า
สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาn สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา
ดังนี้ ที่แปลว่า ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตานั้น ก็ทรงแสดงสังขารธรรมแท้ทีเดียว ก็ถ้าหากว่าโยคาพจรกุลบุตร มาเห็นสกลกายนี้เป็นแต่สังขารธรรมโดยส่วนเดียว ก็จะไปแสวงหาธรรมที่เป็นวิสังขารในที่ไหนเล่า? แท้ที่จริงที่ท่านแสดงว่าให้ถอนอัตตสัญญาเสีย จึงจะเป็นอันละสักกายทิฏฐิได้ดังนี้ บางทีท่านจะให้ถอนสัญญาอุปาทาน ที่ยึดมั่นถือมั่นว่าสังขารธรรมเป็นตัวตนดอกกระมัง? ที่เห็นธรรมซึ่งเป็นวิสังขารเป็นตัวตน จะตรงต่อพุทธภาษิตว่า
“อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ”
ก็อาจจักเป็นได้ แต่ความรู้ความเห็นในธรรมของพระอาจารย์ทั้งหลายย่อมแตกต่างกัน บางพวกเห็นพระอนิจจัง พระทุกขัง พระอนัตตา เป็นมรรค คือเป็นภาเวตัพพธรรม จึงทำให้เกิดให้มีอยู่เสมอและสั่งสอนผู้ปฏิบัติตาม ให้ทำพระอนิจจัง พระทุกขัง พระอนัตตา ให้เกิดให้มีอยู่เสมอ บางพวกเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นปหาตัพพธรรม เป็นธรรมพึงกำหนดรู้ แล้วพึงละเสีย ให้เจริญมรรคภาวนาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดให้มีขึ้น คือเห็นว่าศีล สมาธิ ปัญญา เป็นภาเวตัพพธรรม ส่วนตนก็ทำศีล สมาธิ ปัญญาให้เกิดให้มีอยู่เสมอ และสั่งสอนผู้ปฏิบัติตามให้ทำศีล สมาธิ ปัญญาให้เกิดให้มีอยู่เสมอ ในความเห็นของพระอาจารย์ทั้ง ๒ จำพวกนั้น จะหาความผิดในท่านจำพวกใดเป็นอันไม่ได้ แต่พวกเราจะต้องการของจริงต้องใช้ปัญญา เมื่อเห็นสมควรแก่ตนด้วยประการใด ก็จงปฏิบัติให้เต็มศรัทธาของตนด้วยประการนั้นเถิด อย่าให้เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา
เพราะปฏิจจสมุปบาทพระประกาศควรเฉลียว อวิชชาดับตัวเดียวเกิดแก่ตายวายตามกัน ไม่เชื่อพระจะเชื่อใครหรือชอบตายก็จนใจ เรือเราถูกน้ำไหลขวางเรือไว้ทำไมกัน ให้รีบถ่อให้รีบพาย ตลาดจะวายสายบัวจะเน่า กลอนเก่าของนักปราชญ์อย่าประมาทรีบตรึกตรอง ทางหนียังพอปองใยจะล่วงตายตามกัน
แสดงพระจตุราริยสัจ โดยประเภทแห่งปฏิจจสมุปบาทนัยก็สมควรแก่กาลสมัยเท่านี้.
อัตตประวัติ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) และธรรมบรรยาย
บันทึกการเข้า
กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [
1
]
ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
กระโดดไป:
เลือกหัวข้อ:
-----------------------------
จากใจถึงใจ
-----------------------------
=> หน้าบ้าน สุขใจ
===> สุขใจ ป่าวประกาศ (ข้อความจากทีมงาน)
===> สุขใจ เสนอแนะ (ข้อความจากสมาชิก)
===> สุขใจ ให้ละเลง (มุมทดสอบบอร์ด)
-----------------------------
สุขใจในธรรม
-----------------------------
=> พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
===> พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
===> ประวิติพระอรหันต์ พระสาวก ในสมัยพุทธกาล
===> ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
===> นิทาน - ชาดก
=====> ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
=> ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
===> ธรรมะจากพระอาจารย์
===> เกร็ดครูบาอาจารย์
=> ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4
=> สมถภาวนา - อภิญญาจิต
=> จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
=> เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
===> เอกสารธรรม
===> เสียงธรรมเทศนา
=====> ธรรมะจาก สมเด็จโต
=====> ธรรมะจาก หลวงปู่มั่น
=====> เสียงบทสวดมนต์
=====> เพลงสวดมนต์
=====> เพลงเพื่อจิตสำนึก แด่บุพการี
=====> ธรรมะ มิวสิค (เพลงธรรมทั่วไป)
===> ห้อง วีดีโอ
=> เกร็ดศาสนา
=> กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
=> ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
=> บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม
=> พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม
===> พุทธวัจนะ ในธรรมบท
===> พุทธศาสนสุภาษิต
===> คำทำนายภัยพิบัติที่จะเกิด
===> รวมข่าวภัยพิบัติ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน
===> รู้ เพื่อ รอด (การเตรียมการ)
=> ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม
===> ฐานข้อมูล มูลนิธิต่าง ๆ ในประเทศไทย (Donation Exchange Center)
-----------------------------
วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ
-----------------------------
=> วิทยาศาสตร์ - จักรวาล - การค้นพบ
===> เรื่องราว จากนอกโลก
=====> ประสบการณ์เกี่ยวกับ UFO
=====> หลักฐาน และ การพิสูจน์ยูเอฟโอ
=====> คลิปวีดีโอ ยูเอฟโอ
=> ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม
=> เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ
===> ร้อยภูติ พันวิญญาณ
=====> ประสบการณ์ ผี ๆ
=======> เรื่องเล่าในรั้วมหาลัย
=====> ประวัติ ต้นกำเนิด ตำนานผี
===> ดูดวง ทำนายทายทัก
===> ไดอะล็อก คือ ดอกอะไร - พลังไดอะล็อก (Dialogue)
===> กระบวนการ NEW AGE
=> เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
-----------------------------
นั่งเล่นหลังสวน
-----------------------------
=> สุขใจ จิบกาแฟ
=> สุขใจ ร้านน้ำชา
=> สุขใจ ห้องสมุด
===> สุขใจ หนังสือแนะนำ
===> สุขใจ คลังความรู้ลวงโลก
===> สยาม ในอดีต
=> สุขใจ ใต้เงาไม้
=> สุขใจ ตลาดสด
=> สุขใจ อนามัย
=> สุขใจ ไปเที่ยว
=> สุขใจ ในครัว
===> เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว
=> สุขใจ ไปรษณีย์
=> สุขใจ สวนสนุก
===> ลานกว้าง (มุมดูคลิป)
===> เวที จำอวด (จำอวดหน้าม่าน)
===> หนังกลางแปลง (ดูหนัง รีวิวหนัง)
===> หน้าเวที (มุมฟังเพลง)
=====> เพลงไทยเดิม
===> แผงลอยริมทาง (รวมคลิปโฆษณาโดน ๆ)
คุณ
ไม่สามารถ
ตั้งกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
ตอบกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แนบไฟล์ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความได้
BBCode
เปิดใช้งาน
Smilies
เปิดใช้งาน
[img]
เปิดใช้งาน
HTML
เปิดใช้งาน
หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ
เริ่มโดย
ตอบ
อ่าน
กระทู้ล่าสุด
ลักษณะแห่งพระปรมัตถธรรม พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
ธรรมะจากพระอาจารย์
เงาฝัน
3
3830
16 กุมภาพันธ์ 2554 19:58:03
โดย
หมีงงในพงหญ้า
ฮือฮา 5 อาทิตย์ 5 จันทร์ 5 อังคาร ปรากฏการณ์ FWD Mail ลวงโลก
สุขใจ คลังความรู้ลวงโลก
หมีงงในพงหญ้า
1
3072
17 มกราคม 2555 01:03:31
โดย
หมีงงในพงหญ้า
♥ เพลง จันทร์ : บรรเลงดนตรีไทย ♥ ♥ ♥
เพลงไทยเดิม
Kimleng
0
2108
03 พฤศจิกายน 2555 12:53:49
โดย
Kimleng
มงคล ๓๘ โดย ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
Maintenence
0
1795
04 พฤศจิกายน 2559 11:42:34
โดย
Maintenence
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธัมมปัญโญ) วัดศรีโคมคำ ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ
0
931
30 มิถุนายน 2563 14:22:41
โดย
ใบบุญ
กำลังโหลด...