.ข้อความและรูปภาพ "เครื่องถม" ๑.คัดและสแกนภาพจากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม ๑๑
๒.โดยได้รับอนุญาต จากศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์ พงศะบุตร กรรมการและเลขาธิการ โครงการสารานุกรมไทยฯ
ให้คัดและสแกนภาพเผยแพร่ในเว็บไซต์ สุขใจดอทคอม
เพื่อเป็นวิทยาทานแก่นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปผู้ใฝ่การเรียนรู้
ตามหนังสือที่ ส.๒๐/๒๕๕๖ ลง ๑๗ ม.ค.๕๖ จึงขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้
เครื่องถม ความหมายของเครื่องถม ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายของเครื่องถมว่า “ภาชนะหรือเครื่องประดับที่ทำโดยการใช้ผงยาถมผสมกับน้ำประสานทอง ถมลงบนลวดลายที่แกะสลักบนภาชนะหรือเครื่องประดับนั้น แล้วขัดผิวให้เป็นเงางาม”
จากคำอธิบายขั้นต้น อาจขยายความเพื่อให้เข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้
๑. เครื่องถมเป็นภาชนะ หรือเครื่องประดับที่นำมาใช้ประโยชน์ ทำด้วยโลหะเงิน หากเป็นภาชนะ ที่สำคัญได้แก่ ขันน้ำ พาน ถาด ช้อน หากเป็นเครื่องประดับ ที่สำคัญ ได้แก่ กำไล แหวน ต่างหู สร้อย เข็มกลัด
๒. มีการแกะสลักลวดลายบนผิวของโลหะที่เป็นภาชนะหรือเครื่องประดับ
๓. นำสารเคมีที่เรียกว่า “ผงยาถม” ผสมกับน้ำประสานทอง ใส่ลงไปในร่องที่แกะสลักเป็นลวดลายบนผิวของโลหะให้เต็มหมดทุกร่อง ผงยาถมทำจากการนำโลหะเงิน ทองแดง ดีบุก และผงกำมะถัน ผสมกันตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ แล้วนำไปเผาให้ละลาย เมื่อเย็นตัวลงก็นำมาบดให้เป็นผง ใส่ลงไปในร่องของโลหะ แล้วใช้ความร้อนอบให้ละลายติดกับโลหะ เกิดเป็นลวดลายสีดำบนพื้นของโลหะ เรียกวิธีการนี้ว่า “การถมดำ” หรือ “การถมยา”
๔. ขัดผิวของโลหะที่ใส่ผงยาถมไว้เรียบร้อยแล้ว ให้เรียบเป็นมันเงางาม เป็นอันเสร็จสิ้นวิธีการทำเครื่องถมเป็นสินค้าออกจำหน่ายได้
คำว่า “ถมนี้” นี้ นักวิชาการด้านภาษาอธิบายว่า เป็นคำไทยที่นำมาจากภาษาบาลีว่า “ถมฺภ” แปลว่า “ทำให้แน่น อัด ยัด ติด และทำให้เต็ม” เมื่อนำมาใช้เป็นคำไทย ได้ตัดตัว “ภ” ออกเพื่อให้อ่านออกเสียงได้ง่ายขึ้น ทำนองเดียวกับภาษาบาลีหลายคำที่นำมาใช้ในภาษาไทย
ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับกำเนิดของเครื่องถมในโลก
ในสารานุกรมฉบับพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ เอนไซโคลพีเดียบริแทนนิกา (encyclopedia Britannica) ซึ่งเป็นสารานุกรมที่มีชื่อเสียงมาก มีคำอธิบายเกี่ยวกับเครื่องถมที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า นีเอลโล (niello) ไว้ ซึ่งขอถอดความบางตอนพอเป็นสังเขปดังนี้
...นีเอลโล มาจากภาษาละตินว่า “นีเกลลุม” (nigellum) แปลว่า “ดำ” เป็นวิธีการผลิตลวดลายอย่างละเอียดประณีตบนผิวของโลหะที่ขัดให้เรียบ โดยการใช้โลหะผสมสีดำ ถมใส่ลงในร่องที่เซาะลงไปในเนื้อของโลหะนั้น วิธีการนีเอลโล มีอธิบายไว้ในหนังสือแต่งโดยนักเขียนคนสำคัญ ๔ คน คือ อีแรคลิอุส ชาวโรมัน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ธีโอฟีลุส นักบวช เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ หรือ ๑๘ เบนเวนูโต เชลลินี และจีออจิโอ วาซารี เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ การทำลวดลายนั้นใช้เครื่องมือที่มีคมสลักลงบนผิวเรียบของโลหะ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงิน แต่บางครั้งอาจเป็นทองคำ หรือแม้กระทั่งเป็นทองสัมฤทธิ์ก็ได้ ส่วนโลหะผสมที่ถมใส่ลงไปในร่องที่เซาะไว้ ประกอบด้วยเงิน ๒ ส่วน ทองแดง ๑/๓ ส่วน และตะกั่ว ๑/๖ ส่วน นำมาเผาให้ร้อนละลายในเตาเผาแล้วใส่ผงกำมะถันลงไปเล็กน้อย หลังจากนั้นปล่อยไว้ให้เย็นจึงนำมาป่นให้ละเอียด บรรจุลงในก้านของขนนกหรือขนเม่น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป เมื่อจะใส่สารผสมนี้ลงไปในร่องบนผิวของโลหะก่อนแล้วโรยผงโลหะผสมลงไปให้เต็มร่อง จากนั้นนำไปเผาให้ละลายเพื่อให้ผงโลหะผสมติดแน่นกับเนื้อโลหะ เมื่อเย็นลงก็นำโลหะนั้นไปขัดผิวให้เรียบ...
นอกจากนี้ในเอนไซโคลพีเดียบริแทนนิกายังกล่าวต่อไปว่า....มีตัวอย่างเครื่องถมสมัยโรมันแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์อังกฤษ ที่กรุงลอนดอน รวม ๒ ชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นรูปแม่ทัพชาวโรมันหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ สูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตร เครื่องแต่งกายและเสื้อเกราะที่สวมใส่อยู่มีบางส่วนทำด้วยเงิน และบางส่วนเป็นเครื่องถม สันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๖ อีกชิ้นหนึ่งเป็นกล่องใส่เครื่องสำอางของสตรี ทำด้วยเงินเช่นกัน ภายในกล่องมีสิ่งของต่าง ๆ ทำด้วยเครื่องถม สันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๙
หากถือตามหลักฐานที่กล่าวไว้ในหนังสือสารานุกรมดังกล่าวข้างต้นนี้ ก็อาจสันนิษฐานได้ว่าเครื่องถมมีกำเนิดขึ้นในทวีปยุโรป อย่างน้อยก็ในสมัยจักรวรรดิโรมันเมื่อราว ๑,๕๐๐–๒,๐๐๐ ปี มาแล้ว เพราะจักรวรรดิโรมันตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๕๑๖ และเสื่อมอำนาจลงเมื่อ พ.ศ.๑๐๑๙ หลังสมัยจักรวรรดิโรมันการทำเครื่องถมได้แพร่หลายไปในประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป โดยได้พบโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องถมในประเทศฝรั่งเศส เยอรมณี และรัสเซีย มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๗ นอกจากนี้การทำเครื่องถมยังแพร่หลายเข้ามาในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) หรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก (Eastern Roman) มีอำนาจปกครองดินแดนแถบนี้ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๒๐ นอกจากในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้แล้ว การทำเครื่องถมยังแพร่หลายเข้ามาในประเทศอินเดียด้วย ซึ่งยังคงมีการทำเครื่องถมอยู่จนทุกวันนี้
ประวัติของการทำเครื่องถมในประเทศไทยจากหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ของไทยมีการกล่าวถึงเครื่องถมเป็นครั้งแรก ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งทรงครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ.๑๙๙๑–๒๐๓๑ โดยในรัชกาลของพระองค์ได้ตรากฎหมายทำเนียบศักดินาข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือนเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ ตั้งบรรดาศักดิ์ข้าราชการจัดเป็นลำดับชั้นกันเป็น เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน ทนาย และมีข้อความในกฎหมายตอนหนึ่งว่า “ขุนนางศักดินา ๑๐,๐๐๐ กินเมืองกินเจียดเงินถมยาดำรองตะลุ่ม” คำว่า เงินถมยาดำ ที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายดังกล่าวแสดงว่า เครื่องถมคงมีใช้กันอยู่แล้วในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่ไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าเป็นเครื่องถมที่ทำขึ้นเองภายในประเทศ หรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่วนคำว่า เจียด นั้น ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ อธิบายว่า “เป็นภาชนะชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายตะลุ่ม มีฝาคล้ายรูปฝาชี เป็นเครื่องยศขุนนางโบราณ สำหรับใส่ของเช่นผ้า มักทำด้วยเงิน”
หลักฐานเอกสารเกี่ยวกับเครื่องถมของไทย มีปรากฏค่อนข้างชัดเจนในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑ ดยในหนังสือ เรื่อง ประวัติศิลปกรรมไทย ของ นายตรี อมาตยกุล พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ มีข้อความตอนหนึ่งว่า “....ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงส่งเครื่องถมไปเป็นบรรณาการแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส เป็นเครื่องถมลายดำอรหัน ซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุฝรั่งเศส ว่า เจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นผู้ออกแบบ....” (อรหัน เป็นชื่อสัตว์ในนิยาย มี ๒ เท้า มีปีกคล้ายนก หัวคล้ายหัวคน) นอกจากนี้ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๘ เรื่อง “จดหมายเหตุในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช” มีข้อความระบุว่า คณะทูตของไทยที่เดินทางไปเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ นั้น ได้เข้าเฝ้าพระสันตะปาปาที่กรุงโรม ประเทศอิตาลีด้วย โดยมีข้อความว่า “....ราชทูตเชิญพานแว่นฟ้าทองคำรับราชสาส์น ราชสาส์น...ม้วนบรรจุอยู่ในผอบทองคำลงยาราชาวดีอย่างใหญ่...ผอบนั้นตั้งอยู่ในหีบถมตะทอง หีบถมตะทองตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าทองคำ...”
คำว่า “เครื่องถมลายดำอรหัน” ก็ดี “หีบถมตะทอง” ก็ดี แสดงว่าในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีการทำเครื่องถมขึ้นในเมืองไทยแล้ว มิฉะนั้นคงไม่นำไปเป็นบรรณาการถวายแก่ประมุขในต่างประเทศอย่างแน่นอน ในหนังสือสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงเครื่องถมนครศรีธรรมราช ว่า “...สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจัดหาช่างถมฝีมือดีที่สุดของจังหวัด ส่งไปยังกรุงศรีอยุธยาเพื่อทำไม้กางเขนส่งไปถวายสันตะปาปาที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี และทำเครื่องถมเป็นเครื่องใช้ ไปบรรณาการพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส...” หากยึดถือหลักฐานตามเอกสารที่กล่าวมานี้ ก็แสดงว่ามีการทำเครื่องถมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยใช้ช่างที่มีฝีมือจากเมืองนครศรีธรรมราชมาผลิตในกรุงศรีอยุธยา (บน) เข็มกลัดถมฝีมือช่างยุโรป
(ล่าง) เจียดเงินถมยาดำเป็นเครื่องประกอบยศของขุนนางไทยสมัยโบราณ
มีคำถามว่า เหตุใดเมืองนครศรีธรรมราชจึงมีความสำคัญในการผลิตเครื่องถมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และการทำเครื่องถมเป็นศิลปะที่คนไทยคิดขึ้นเอง หรือรับมาจากชนชาติอื่น คำถามทั้ง ๒ ข้อนี้ มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกัน โดยมีผู้ให้ข้อสันนิษฐานไว้ ๓ แนวทางด้วยกัน คือ แนวทางแรกสันนิษฐานว่า การทำเครื่องถมเป็นศิลปะที่ไทยคิดขึ้นเอง แนวทางที่สองสันนิษฐานว่า ไทยรับศิลปะการทำเครื่องถมมาจากอินเดีย และแนวทางที่สามสันนิษฐานว่า ไทยรับศิลปะการทำเครื่องถมมาจากชนชาติอื่นๆ นอกจากอินเดีย เช่น ชาวเปอร์เซีย (เป็นชื่อโบราณของชาวอิหร่านในปัจจุบัน) ชาวกรีก ชาวโปรตุเกส
ข้อสันนิษฐานในแนวทางแรกที่เสนอว่า เครื่องถมเป็นศิลปะที่ไทยคิดขึ้นเองนั้น มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด ถ้าหากพิจารณาจากหลักฐานในหนังสือเอนไซโคลพิเดียบริแทนนิกา ที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น เพราะทั้งโบราณวัตถุที่ค้นพบ และหนังสือโบราณที่กล่าวถึงวิธีการทำเครื่องถม แสดงอย่างชัดเจนว่าเครื่องถมมีกำเนิดในทวีปยุโป อย่างน้อยในสมัยที่จักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจเมื่อ ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ดังนั้น การทำเครื่องถมของไทยจึงน่าจะเป็นการใช้ศิลปะของไทยในด้านการตกแต่งลวดลาย และการประดิษฐ์เป็นภาชนะหรือเครื่องตกแต่งให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น หรืออาจพัฒนาวิธีการทำเครื่องถมให้มีความหลากหลายและมีคุณภาพดีขึ้น
ส่วนข้อสันนิษฐานว่า ไทยรับศิลปะการทำเครื่องถมมาจากอินเดีย หรือจากชนชาติอื่นนั้น มีความเกี่ยวข้องกับการที่ไทยมีการติดต่อค้าขายกับชนชาติต่างๆ ในสมัยอยุธยา จึงอาจได้รับเอาศิลปะการทำเครื่องถมมาด้วย โดยเฉพาะชาวอินเดียได้นำอิทธิพลทางด้านศิลปวัฒนธรรม มาเผยแพร่ในดินแดนคาบสมุทรอินโดจีนตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นอาณาจักร และแว่นแคว้นต่างๆ ก่อนสมัยสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา การทำเครื่องถมที่เมืองนครศรีธรรมราชจึงอาจได้รับศิลปะจากชาวอินเดียด้วยก็ได้ ส่วนชาวเปอร์เซียและชาวโปรตุเกสก็เดินทางมาค้าขายกับไทยในสมัยอยุธยา โดยชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เดินเรือมาค้าขายติดต่อกับไทย ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (ครองราชย์ พ.ศ.๒๐๓๔ – ๒๐๗๒) และได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานีการค้าที่เมืองนครศรีธรรมราชด้วย จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนการที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางการทำเครื่องถมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สำหรับข้อสันนิษฐานที่ว่าไทยอาจได้รับวิธีการทำเครื่องถมจากชาวกรีก อาศัยเหตุผลที่ว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพ่อค้าชาวกรีกชื่อ คอนสแตนติน ฟอลคอน เดินทางมาไทย และได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ชื่อ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ ซึ่งได้รับการกล่าวถึงในตอนแรกว่า เป็นผู้ออกแบบเครื่องถมเป็นรูปอรหัน ที่ไทยส่งไปเป็นบรรณาการแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานที่ว่า ไทยได้รับเอาศิลปะการทำเครื่องถมมาจากอินเดียนั้น น่าจะมีน้ำหนักมากที่สุด ส่วนข้อสันนิษฐานว่า ไทยได้รับเอาศิลปะการทำเครื่องถมมาจากชนชาติอื่น ๆ นอกจากอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเปอร์เซีย กรีก หรือโปรตุเกส นั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้าให้แน่ชัดต่อไป เพราะยังมีข้อโต้แย้งได้อีกมาก(บน) พานถมดำที่ทำในสมัยอยุธยา
(ล่าง) ขันถมตะทองที่ทำในสมัยรัตนโกสินทร์โดยช่างถมจากนครศรีธรรมราช
การทำเครื่องถมในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อทรงสร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานีแล้ว ได้มีการทำเครื่องถมโดยนำช่างถมจากกรุงศรีอยุธยามาดำเนินการผลิต ทั้งนี้ มีการกล่าวไว้ในหนังสือ สาส์นสมเด็จ (หนังสือรวบรวมลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๗ – ๒๔๘๖ ซึ่งโรงพิมพ์คุรุสภาได้จัดพิมพ์เป็นชุด รวม ๒๖ เล่ม เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕) มีข้อความตอนหนึ่งว่า “เครื่องถมไทยของเก่าที่เป็นฝีมือช่างครั้งกรุงศรีอยุธยามาทำขึ้นในรัชกาลที่ ๑ เช่นพานพระศรี ที่อยู่ในตู้เครื่องถมของหลวงเป็นต้น...เครื่องถมที่ทำในกรุงเทพฯ ครั้งรัชกาลที่ ๑ ยังทำดีมาก ฝีมือน่าจะมาทรามลงเมื่อรัชกาลที่ ๒ เป็นหัวต่อที่เครื่องถมเมืองนครฯ จะเฟื่องฟู...”ข้อความข้างต้นนี้แสดงว่า การทำเครื่องถมในรัชกาลที่ ๑ มีฝีมือดี แต่มาเสื่อมลงในรัชกาลที่ ๒ เมื่อช่างถมที่เมืองนครศรีธรรมราชมีฝีมือดีกว่า และช่างถมในกรุงเทพฯ สู้ไม่ได้
การที่ช่างถมเมืองนครศรีธรรมราชมีชื่อเสียงมากจนเครื่องถมของเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า “ถมนคร” เป็นที่นิยมกันทั่วไป ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นต้นมานั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีข้อสังเกตไว้ ๒ ประการ (หนังสือสาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๘) คือ
ประการที่ ๑ เป็นเพราะช่างถมเมืองนครฯ ได้รับการกวดขันในด้านฝีมือจากเจ้าพระยานคร (น้อย) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
ส่วนช่างฝีมือในกรุงเทพฯ ไม่มีผู้ใดควบคุมดูแลจึงทำตามใจตนเอง
ประการที่ ๒ “ถมนคร” มีงานชิ้นใหญ่ ๆ ที่สำคัญ ก็เพราะเจ้าพระยานคร (น้อย) เป็นผู้มีเงินทุนสั่งให้ทำ ส่วนพวกร้านย่อยๆ ที่บ้านพานถมในกรุงเทพฯ
ทำได้แต่เครื่องถมชิ้นเล็ก ๆ เพราะไม่มีเงินทุนและไม่มีโอกาส “ถมนคร” ชิ้นใหญ่ ๆ ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึง เป็นเครื่องราชูปโภคที่เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชทำถวายในรัชกาลที่ ๓ – ๕ รวม ๕ สิ่ง คือ
๑.พระราชยาน หรือ พระเสลี่ยง ซึ่งมีกระจังพระราชยานเป็นถมทอง เจ้าพระยานคร (น้อย) ทำถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
๒.พระแท่นเสด็จออกขุนนาง เจ้าพระยานคร(น้อย) ทำถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
๓.พนักเรือพระที่นั่งกราบ (คือ เรือพระที่นั่งซึ่งพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปในที่ไกล ๆ อย่างลำลอง ไม่เป็นพระราชพิธี) เจ้าพระยานคร (น้อยกลาง) บุตรของเจ้าพระยานคร (น้อย)
ทำถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระที่นั่งภัทรบิฐ ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง
๔.พระเก้าอี้ที่ใช้เป็นพระที่นั่งภัทรบิฐ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง เจ้าพระยานคร (น้อยกลาง)
ทำถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
๕.พระแท่นพุดตาน ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) ขณะดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจัดทำถวาย โดยนำช่างทองของพระยาเพชรพิชัย (จีน)
ไปจากกรุงเทพฯ พระแท่นพุดตานถมเป็นพระแท่นราชบัลลังก์ที่มีความงดงามมากองค์หนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์โถฝาปริกแบบถมจุฑาธุช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
ราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง จัดทำขึ้น
เครื่องถมมจุฑาธุช
(บนและล่างซ้าย) ที่ด้านหลังของลาย
จะเป็นพื้นเรียบ เครื่องถมโบราณหรือถมนคร
(ล่างขวา)ที่ด้านหลังจะมีลวดลาย
การจัดตั้งโรงเรียนช่างถมที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และในกรุงเทพ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้จัดการศึกษาขึ้นในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๑ นั้น ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นประธานอำนวยการศึกษาและการพระศาสนา ในหัวเมืองมณฑลกรุงเทพฯ และในมณฑลหัวเมืองตลอดพระราชอาณาจักร กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสได้ทรงเลือก พระสิริธรรมมุนี(ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช) ซึ่งช่างนครศรีธรรมราช เรียกว่า “เจ้าคุณวัดท่าโพธิ์” ขึ้นถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการศึกษาและการพระศาสนา มณฑลนครศรีธรรมราชกับมณฑลปัตตานี พระสิริธรรมมุนีได้วางรากฐานการศึกษาให้แก่ชาวนครศรีธรรมราช มิใช่เฉพาะแต่วิชาสามัญเท่านั้นยังตั้งโรงเรียนสอนวิชาช่างถมขึ้นในวัดท่าโพธิ์ด้วย เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งตรงกับในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กิจการของโรงเรียนได้ดำเนินมาหลายปี จนในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการได้รับโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนของรัฐ ต่อมาได้เจริญเติบโตขึ้นเป็น “โรงเรียนช่างโลหะรูปพรรณ” ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะเป็น “วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช” โดยมีสาขางานศิลปหัตถกรรมโลหะรูปพรรณและเครื่องประดับอัญมณี ซึ่งมีการสอนวิชางานเครื่องถมบรรจุอยู่ในหลักสูตร ทั้งระดับประโยควิชาชีพ (ปวช.) และระดับประโยควิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีการศึกษา ๒๕๕๑ มีนักศึกษาทั้ง ๒ ระดับ จำนวน ๘๖ คน นักเรียนที่จบสาขานี้บางส่วนประกอบอาชีพช่างโลหะรูปพรรณอยู่ในท้องถิ่นของตนเอง บางส่วนเข้ามาเป็นช่างที่กรุงเทพฯ และบางส่วนเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง ที่กรุงเทพเครื่องถมเงินมีลวดลายสีเงินตัดกับพื้นที่ถมยาดำ
(ล่างบน-ซ้าย)เครื่องถมเงินของมูลนิธิศิลปาชีพฯ
(ขวา) ผอบถมเงินของมูลนิธิศิลปาชีพฯ
ในปีเดียวกับที่พระสิริธรรมมุนีเปิดโรงเรียนสอนวิชาช่างถมขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งสนใจศิลปหัตถกรรมเครื่องถมนครศรีธรรมราช ได้เปิดแผนกช่างถมขึ้นเป็นแผนกหนึ่งใน “โรงเรียนเพาะช่าง” ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และใช้คำว่า”ถมนคร” เป็นแนวทางในการสอน โดยให้ ขุนประณีตถมกิจ (หยุย จิตตะกิตติ) ซึ่งเป็นช่างถมอยู่ที่บ้านพานถมเป็นครูผู้สอน ร่วมกับ ขุนประดิษฐ์ถมการ (รื่น ทัพวัฒน์) วิชาที่สอนเรียกว่า “วิชารูปพรรณและถม” ประกอบด้วยการขึ้นรูปสลักลายและการถม
ใน พ.ศ.๒๔๖๑-๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย มาทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง พระองค์ได้ทรงดัดแปลงการทำถมโดยนำวิธีเขียนต้นฉบับเป็นลวดลายต่างๆ แล้วนำมาถ่ายเป็นกระจกเปียก หรือแผ่นฟิล์มแบบเนกะทิฟให้เป็นภาพ เพื่อใช้ถ่ายลงแผ่นเงินโดยวิธีเดียวกับซิลก์สกรีน (Silk screen) แล้วนำแผ่นเงินไปกัดกรดตามวิธีทำบล็อกโลหะ ส่วนที่กรดกัดลึกลงไปก็จะนำยาถมมาถมเป็นพื้นดำ ส่วนที่ไม่ถูกกรดกัดจะเป็นลวดลายที่เนื้อเงิน วิธีการทำลวดลายบนชิ้นรูปพรรณแบบนี้ทำได้รวดเร็วกว่าการทำเครื่องถมแบบเดิม ที่ต้องใช้ของมีคมสลักลวดลายลงบนเนื้อเงิน เครื่องถมที่ทำด้วยวิธีการปรับปรุงใหม่นี้เรียกกันว่า ถมจุฑาธุช
ปัจจุบันโรงเรียนเพาะช่างซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง” มีการสอนวิชาการทำเครื่องถมเป็นวิชาเอกในแผนกเครื่องโลหะและรูปพรรณอัญมณี สอนการทำเครื่องถมแบบโบราณ คือ ทำด้วยมือล้วนๆ และเครื่องถมจุฑาธุชซึ่งใช้บล็อกแม่พิมพ์แทนการเขียนลวดลายและสลักลายด้วยมือ(ซ้าย) พระกัณฑ์
(ขวา-บน) กรอบรูป
(ขวา-ล่าง) กล่องพระโอสถมวน
การจำแนกประเภทเครื่องถมไทย เครื่องถมไทยแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ ถมเงิน ถมตะทอง และถมทอง
• ถมเงิน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ถมดำ เป็นเครื่องถมที่เก่าแก่ที่สุด โดยการถมผงยาถมลงบนพื้นของภาชนะหรือเครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน ซึ่งได้สลักหรือแกะลวดลายให้เป็นร่องไว้ เมื่อถมเสร็จตามขั้นตอนต่างๆ แล้ว พื้นที่ถมยาจะขึ้นเป็นสีดำมันตัดกับลวดลายสีโลหะเงินบนภาชนะหรือเครื่องประดับนั้น
• ถมตะทอง เป็นเครื่องถมเงิน แต่มีการนำน้ำปรอทที่มีทองคำบริสุทธิ์ละลายผสมอยู่ไป “ตะ” (คือ แต้ม แตะ ทา) ทับลงบนลวดลายที่เป็นเส้นเงิน เฉพาะตรงที่ต้องการให้เป็นสีทองเท่านั้น จะได้ลวดลายสีทองสลับสีเงิน การถมตะทองเป็นของทำยากเพราะต้องทำด้วยฝีมือประณีต และความชำนาญอย่างสูงของช่าง ถมตะทองจึงมีความวิจิตรงดงามมาก
• ถมทอง เป็นเครื่องถมเงิน แต่ใช้น้ำปรอทที่มีทองคำทาบนลวดลายทั้งหมด ไม่เลือกทาเป็นแห่ง อย่างถมตะทอง เนื่องจากเกิดความนิยมให้มีลายทองมากๆ ทำให้เครื่องภาชนะหรือเครื่องประดับนั้นมีลวดลายสีทองทั้งหมดบนพื้นดำ พระกรัณฑ์ถมตะทอง ผลงานชิ้นสำคัญของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
(บน-ซ้าย/ขวา)กล่องพระศรี และกระเป๋าราตรี ผลิตภัณฑ์ถมตะทองของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ
(ล่าง-ซ้าย/ขวา) เครื่องถมทองของหอประวัติและพิพิธภัณฑ์ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์