[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
02 พฤษภาคม 2567 16:13:01 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  1 ... 28 29 [30] 31 32 ... 51
581  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 03 พฤษภาคม 2561 10:18:38


ไขข้อข้องใจเรื่องสมาบัติ

สำหรับวันนี้ จะได้นำธรรมะเบ็ดเตล็ดมาแก้ความข้องใจสงสัย ในเรื่องบางสิ่งบางอย่าง มีเรื่องสมาบัติเป็นต้น หรืออานิสงส์ของสมาบัตินั้น มีอยู่หลายประการดังที่ท่านทั้งหลายได้ทราบแล้ว

แต่วันนี้ ก็ขอสรุปเอาแต่เพียงย่อๆ ว่า ถ้าผู้ที่เป็นปุถุชนยังไม่ได้บรรลุอริยมรรค อริยผล แต่ได้ฌานเสียก่อน เช่นรูปฌาน เมื่อได้รูปฌาน จุติในฌาน ฌานไม่เสื่อม จุติแล้วก็ไปบังเกิดในรูปพรหม ๑๖ ชั้น ตามกำลังของฌาน แต่ถ้าได้อรูปฌาน ๔ ประการ ฌานใดฌานหนึ่ง หากว่าฌานไม่เสื่อม จุติในฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดเป็นอรูปพรหม

สำหรับพระอริยบุคคล อย่างเช่นพระโสดาบัน พระโสดาบันที่ได้ฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน ถ้าพระโสดาบันที่ไม่ได้ฌาน ไม่ได้แม้แต่ปฐมฌาน เข้าผลสมาบัติก็ไม่ได้ เวลาจุติ ก็จุติจากโลกนี้ตามธรรมดาๆ เหมือนกับสามัญชน ถ้าอยู่ในลักษณะนี้ พระโสดาบันนั้น เมื่อจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในกามภูมิ อาจจะเป็นมนุสสภูมิ เทวภูมิก็ได้ แต่ถ้าพระโสดาบันที่ได้ฌาน จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

แม้พระสกทาคามีก็เหมือนกัน ถ้าพระสกทาคามีที่ไม่ได้ฌาน จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในกามาวจรภูมิ อาจจะเป็นมนุษย์ หรือฉกามาวจรสวรรค์ ชั้นใดชั้นหนึ่ง แล้วแต่กำลังบุญกุศลที่ตนได้สั่งสมอบรมไว้ แต่ถ้าพระสกทาคามีที่ได้ฌาน จุติในฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

สำหรับพระอนาคามี จะได้สมาบัติหรือไม่ได้สมาบัติก็ตาม จุติแล้วก็ต้องไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหม ๕ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง เช่น ชั้นอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา แล้วก็จะมีโอกาสได้บำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสุทธาวาสพรหมชั้นนั้นๆ บางองค์ก็ไปบรรลุในชั้นที่อุบัติขึ้น บางองค์ก็ต้องเลื่อนไปตามลำดับๆ จนถึงชั้นอกนิฏฐา จึงจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน

สำหรับพระอนาคามีนั้น เมื่อไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมแล้ว จะไม่กลับมาสู่กามาวจรภูมิอีกต่อไป ถึงแม้จะมีการจุติอยู่ก็ตาม พรหมอนาคามี ไม่เหมือนพรหมจำพวกอื่น(ที่เมื่อ)จุติแล้ว ยังมีโอกาสมาบังเกิดในกามาวจรภูมิได้อยู่ เช่น จะมาเกิดเป็นมนุษย์บ้าง ไปบังเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาบ้างได้อยู่ แต่สำหรับพรหมอนาคามีนี้ ไม่มาบังเกิดในกามาวจรภูมิอีก

เพราะเหตุไร เพราะพระอนาคามีนั้น ตัดกามราคะและโทสะได้หมดแล้ว ออกจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว ไม่กลับมาสู่ภพสู่กามภูมิอีก เมื่อไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมแล้ว ก็จะได้บำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสุทธาวาสพรหมนั่นเอง

ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยว่า พระอนาคามีที่ไม่ได้ฌานล่ะ จะไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมได้อย่างไร

ไปบังเกิดในสุทธาวาสได้อย่างนี้ คือ พระอนาคามีถึงจะได้ฌานหรือไม่ได้ฌานก็ตาม ก่อนที่ท่านจะมรณภาพนั้น แม้จะมรณภาพด้วยอาการเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดี หรือจะเกิดอุบัติเหตุ ถูกยิง ถูกแทง หรือตกเครื่องบิน หรือตกจากที่สูง หรือถูกยาพิษ อะไรทำนองนี้ หมายความว่า จะตายด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม

หากว่า มัคคสิทธิฌาณ ยังไม่เกิด ท่านจะไม่มรณภาพ เมื่อมัคคสิทธิฌาณเกิดขึ้นเสียก่อน ท่านจึงจะมรณภาพ เพราะว่า มัคคสิทธิฌาณนั่นแหละเป็นเหตุให้เกิดฌาน เมื่อฌานเกิดแล้วท่านจึงจะมรณภาพ จึงทำให้พระอนาคามีนี้สามารถไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมได้

ทีนี้ สำหรับพระอรหันต์ แม้จะได้ฌานเพียงแต่ขั้นปฐมฌานก็ตาม หรือจะได้ครบทั้งสมาบัติ ๘ ก็ตาม การเข้าฌานของพระอรหันต์นั้น เป็นเพียงสักว่ากิริยา คือเป็นเพียงสักว่าเข้าฌานออกฌานเท่านั้น

เพราะเหตุใด จึงเป็นเพียงสักว่ากิริยา

เพราะผลของฌานนั้น ไม่สามารถที่จะทำให้พระอรหันต์ไปเกิดในกามภพ รูปภพ หรืออรูปภพได้

เพราะเหตุไร

เพราะเมื่อท่านจุติจากอัตภาพนี้แล้ว ท่านก็เข้าสู่นิพพานเลย คือว่า การทำบุญทำทานของพระอรหันต์นั้น ถึงท่านจะทำบุญหมดทรัพย์เป็นล้านๆ ก็ตาม การทำบุญทำทานนั้น ก็เป็นเพียงสักว่ากิริยา ผลของการทำบุญทำทานนั้นไม่สามารถที่จะอำนวยให้ท่านไปเกิดในกามภพ เช่นว่า โลกมนุษย์ หรือว่าเทวโลกได้(อีกต่อไปแล้ว)

เพราะเหตุไร

เพราะว่าท่านพ้นแล้วจากภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ มีอย่างเดียวเท่านั้น คือพระนิพพานเป็นที่ได้ที่ถึง

เหตุนั้น แม้ (พระอรหันต์) จะทำบุญหมดทรัพย์เป็นล้านๆ ก็ตาม ก็เป็นเพียงสักว่ากิริยา คือการทำบุญสร้างสมคุณงามความดี แต่ถึงกระนั้นท่านก็ต้องทำบุญ เพราะว่า วิสัยของนักปราชญ์ ท่านย่อมเป็นผู้ฉลาด ถึงอย่างไรก็ตาม ท่านก็รู้แล้วว่าการทำบุญนี้ ก็สักแต่ว่าเป็นการทำบุญ ไม่สามารถที่จะนำไปเกิดในกามภพได้ หรือว่าการรักษาศีลนี้ ก็เป็นแต่เพียงการรักษาศีล หรือว่าการเข้าฌาน ก็เป็นแต่เพียงการเข้าฌาน เป็นแต่เพียงสักว่ากิริยา ไม่สามารถที่จะทำให้ไปบังเกิดในภพ ในภูมิอีกต่อไปได้ ท่านก็ต้องทำ

เพราะเหตุไร เพราะเพื่อพระศาสนา เพื่อสงเคราะห์แก่ ปัจฉิมภวิกชน คือท่านทำเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อสังคม ทำเพื่อพระศาสนา เพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้ที่เกิดขึ้นมาภายหลัง เหตุนั้น แม้ท่านรู้อยู่ ท่านก็ต้องทำ เมื่อท่านจุติจากอัตตภาพนี้แล้วก็เข้าสู่พระนิพพาน พ้นจากกามภพ รูปภพ อรูปภพทั้งหลายทั้งปวง

ทีนี้สมาบัติ คำว่า สมาบัติ กับคำว่า ฌาน นั้นเป็นอันเดียวกัน ฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี นิโรธสมาบัติก็ดี ก็แบ่งออกเป็นขั้นๆ คือว่า

ฌานนี้ก็แบ่งออกเป็น ๒ ขั้น คือ

๑. ฌานที่เป็นขั้นโลกิยะ

๒. ฌานที่เป็นขั้นโลกุตตระ

แยกกันได้อย่างไร แยกกันได้อย่างนี้คือ หากว่าฌานหรือสมาบัติของผู้ที่ได้นั้น หากผู้นั้นยังไม่ได้บรรลุอริยมรรค อริยผล แม้แต่ขั้นพระโสดาบันก็ยังไม่ได้บรรลุ แม้จะเข้าสมาบัติทั้ง ๘ ประการได้ สมาบัตินั้นก็ยังเป็นขั้นโลกิยะ เป็นขั้นธรรมดาอยู่

แต่ถ้าหากว่า ผู้ที่ได้ฌานนั้นได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล อย่างน้อยที่สุดก็ได้เป็นพระโสดาบัน ฌานที่ได้หรือสมาบัติ ๘ ที่ได้นั้นก็เป็นโลกุตตระ คือจะเป็นโลกิยะหรือโลกุตตระนั้นตามภูมิของจิต

ถ้ายังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเลย สมาบัติ ๘ ประการ หรือฌานใดฌานหนึ่งนั้น ก็ยังเป็นโลกิยะอยู่ แต่ถ้าได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันแล้ว ฌานนั้นก็เป็นโลกุตตระไป ขอให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้ด้วยว่าแยกกันตรงไหน (ระหว่าง) โลกิยฌานกับโลกุตตรฌาน แยกกันตามภูมิของจิต

สำหรับ ผลสมาบัติ นั้นเป็นโลกุตตระ เพราะการเข้าผลสมาบัติ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีพระนิพพานเป็นที่ได้ที่ถึง ผลสมาบัติจึงเป็นโลกุตตระ และนิโรธสมาบัติ ก็เป็นโลกุตตระ มีนิพพานเป็นอารมณ์ นิโรธสมาบัตินี้ก็ยิ่งละเอียด เพราะว่าปุถุชนทั่วไปตลอดถึงพระโสดาบัน พระสกทาคามีเข้าไม่ได้ เข้าได้แต่เฉพาะพระอนาคามีและพระอรหันต์ที่เป็นฌานลาภีบุคคลเท่านั้น นอกนั้นเข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ เหตุนั้น นิโรธสมาบัติก็จึงเป็นโลกุตตระด้วย

สำหรับการเข้าฌานสมาบัติก็ดี การเข้านิโรธสมาบัติก็ดี บางท่านอาจจะสงสัยว่าเป็นวิชชา หลวงพ่อคงใช้วิชชาแล้ว เพราะว่าเวลาจะเจริญกัมมัฏฐานทุกวันๆ นั้น ก็พากันสมาทานกัมมัฏฐานทุกวันๆ คงจะเป็นการเรียนวิชชา ใช่ เป็นวิชชาเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เรื่องวิชชาหรือไสยศาสตร์ อย่างที่ท่านทั้งหลายเข้าใจ

หมายความว่า ไม่ได้สำเร็จด้วยเวทมนต์กลคาถาใดๆ ไม่แฝงด้วยมารยาสาไถยใดๆ ทั้งสิ้น การสมาทานของเรานั้น เป็นแต่เพียงหลักการ หลักวิชาการเท่านั้น เป็นแต่เพียงรูปแบบ เป็นแต่เพียงว่าทำให้จิตใจเข้มแข็ง เกิดความอุตสาหะ เกิดความมั่นใจว่า เราได้มอบกายถวายชีวิตแก่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แก่ครูบาอาจารย์แล้ว

สรีระร่างกายของเราในขณะนี้ เพียงแต่ยืมท่านมา ยืมจากพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ยืมจากครูบาอาจารย์ (ยืม)มาสร้างสมอบรมคุณงามความดีเท่านั้น ที่จริงแล้วเรามอบถวายท่านหมดแล้ว เพื่อว่าจะได้มีกำลังจิตกำลังใจ และเพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจให้เกิดความอุตสาหะ

เช่นการเจริญเมตตาอย่างนี้ เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจให้เรามีเมตตาธรรมต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย การเจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ ให้เรานั้นมีความรักในผู้อื่น มีความสงสารต่อผู้อื่น ให้รู้จักสงสารกัน และช่วยเหลือกัน การเจริญอุเบกขาว่า กัมมัสสโกมหิ กัมมทายาโท (เป็นต้นนี้) ก็เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจว่า เราเกิดมานี้เพราะกรรม ทั้งกรรมดีกรรมชั่ว อาศัยกรรมเป็นสิ่งที่นำมาเกิด เราเกิดมานี้ก็ต้องรับมรดกของกรรม มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราต้องได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ ให้เราได้พิจารณาว่า คนเรานี้เกิดมาเพราะกรรม จากโลกนี้ไปก็เพราะกรรม จะได้ละกรรมชั่วเสีย กระทำแต่กรรมดีต่อไป เพื่อให้เป็นแบบอย่าง

ก็การที่เรากล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็เพื่อให้เกิดปีติ เกิดความเอิบอิ่มใจ เกิดความปราโมทย์ เกิดความตื้นตันใจว่า เราได้บูชาพระรัตนตรัยอย่างยอดเยี่ยม เราได้บูชาด้วยการประพฤติการปฏิบัติธรรม เป็นการบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์อย่างแท้จริง เราจะได้เกิดปีติในการประพฤติปฏิบัติธรรม

การเจริญธัมมานุสตินี้ ก็เพื่อให้เราได้พิจารณาว่า เราเกิดมานี้ ทางที่จะให้พ้นจากกามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารนั้น มีทางเดียวเท่านั้น คือการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน นอกจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการแล้ว ไม่มีหนทางที่จะถึงพระนิพพานได้

ส่วนการเจริญสังฆานุสติ คือระลึกถึงพระอริยะสาวก ๘๐ องค์ ตลอดถึงอรหันตสาวกทั้งหลายทั้งปวง ก็เพื่อให้เรานี้ได้ยึดถือไว้เป็นทิฏฐานุคติ คือเอาเป็นตัวอย่างในการบำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จะได้เกิดความพากเพียรอุตสาหะพยายาม ในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี เพื่อให้จิตใจของเราเข้มแข็งสามารถต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น

สำหรับการเจริญมรณสติ ก็เหมือนกัน อัทธุวัง เม ชีวิตัง ชีวิตของเราไม่แน่นอน เราต้องตายแน่ เพราะชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด ชีวิตไม่เที่ยง ความตายเที่ยง เป็นโชคดีที่เราได้มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ก็เพื่อจะให้เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจว่าเรานี้ แม้จะมีอายุยืนตั้ง ๑๐๐ ปี ก็ต้องตาย ทำอย่างไรๆ ก็ต้องตาย

แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเรา พระองค์ยังปรินิพพาน นับประสาอะไรกับเราที่เป็นปุถุชนแท้ๆ หรือเป็นกัลยาณชนแท้ๆ จะไม่ตายเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะเกิดความอุตสาหะ พยายามในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เพื่อบำเพ็ญบารมีก่อนที่ความตายจะมาถึงเรา นี่เพื่อให้เป็นความมั่นใจเท่านั้น

แต่สำหรับผู้มีธรรมเป็นเรือนใจแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องอธิษฐานก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสมาทานก็ได้ อันนี้เราทำเพื่อให้จิตใจของเราเกิดสมรรถภาพ เกิดความเข้มแข็ง ในการที่จะต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติเท่านั้น

เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของวิชชาหรือเป็นเรื่องไสยศาสตร์ ไม่ใช่เป็นเรื่องเวทมนต์กลคาถา ที่คนทั้งหลายเข้าใจ บางท่านอาจจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องสะกดจิต การเข้าสมาธิของบรรดาลูกเณรทั้งหลาย ตลอดถึงบรรดาแม่ชี อุบาสก อุบาสิกา ที่มาฝึกสมาธิ เป็นเรื่องสะกดจิต ใช่ เป็นการสะกดจิตเหมือนกัน

แต่ว่าไม่ได้สะกดจิตเหมือนดังที่คนทั้งหลายเข้าใจ แต่ว่าเราสะกดจิตแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย สมเด็จพ่อของพวกเรานั้นแหละเป็นอัจฉริยบุรุษ เป็นผู้เลิศในทางสะกดจิต เราลองคิดดูซิว่า ก่อนโน้น ตอนที่พระองค์ยังเป็นสิทธัตถกุมาร ครองราชสมบัติอยู่ถึง ๒๙ ปี จึงเสด็จออกทรงผนวช เมื่อทรงผนวชแล้วก็ยังใช้วิธีสะกดจิตอยู่ตั้ง ๖ ปี

สะกดจิตอย่างไร

การสะกดจิตของพระองค์นั้น พระองค์สามารถสะกดจิตของพระองค์เอง ให้หมดความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน วิธีการสะกดจิตของพระองค์นั้น สามารถทำให้จิตของปุถุชนนี้ดับไป จนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เพราะเหตุไร พระองค์จึงได้ตรัสรู้

เพราะพระองค์เป็นผู้เลิศในทางสะกดจิต จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

เหตุนั้น หลวงพ่อจึงได้นำเอาหลักการหรือวิธีการของสมเด็จพ่อมาแนะนำพร่ำสอนชี้แนะแนวทางให้ท่านทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติตาม คือสอนให้ท่านทั้งหลายสะกดจิตตัวเอง แต่ไม่ใช่หลวงพ่อสะกดจิตให้

ท่านทั้งหลายต้องสะกดจิตตัวเอง คือสะกดให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน มันดับไป สิ้นไป สูญไปจากจิตจากใจของท่านทั้งหลาย จิตใจของท่านทั้งหลายจะได้สะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง ได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมา

อีกอย่างหนึ่ง ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยขึ้นมาว่า ทำไมการเข้าสมาบัตินี้ เพียงแต่เข้าถึงขั้นปฐมฌานเท่านั้นทั้งๆ ที่หูของเราก็ยังได้ยินเสียงอยู่ ใจของเราก็ยังรู้อยู่ แต่ทำไมพอมีเสียงอะไรๆ ดังขึ้นมา จึงไม่ตกใจ จึงไม่สะดุ้ง จึงไม่ตื่น แม้มะพร้าวหรือกิ่งไม้มันร่วงลงมาถูกสังกะสีก็เฉย ใครจะปิดประตูหน้าต่างแรงๆ ก็เฉย

เขาจะยิงปืน จุดประทัดดังเปรี้ยงๆ ก็ยังเฉยอยู่ ทำไมมันยังเฉยอยู่ได้ ไม่ตื่น ไม่ตกใจ ไม่สะดุ้ง ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่า การเข้าฌานนั้นต้องพ้นจากพวกกามแล้ว พ้นจากนิวรณ์ทั้ง ๕ แล้ว ถึงแม้จะมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์อยู่ก็ตาม แต่จิตใจของเราไม่ไปเกาะเกี่ยวอยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์เลย

เมื่อใจไม่ไปเกาะเกี่ยวอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เพราะพ้นจากอำนาจของกามแล้ว เมื่อพ้นจากอำนาจของกามแล้ว แม้มีอะไรเกิดขึ้นจึงไม่ตกใจ จึงไม่สะดุ้ง

อีกอย่างหนึ่ง ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า ทำไมเวลาเข้าฌานเข้าถึงที่แล้วจึงไม่รู้สึก การเข้าฌานนั้นต้องพ้นจากพวกกาม ยิ่งถ้าเป็นขั้นผลสมาบัติหรือนิโรธสมาบัติแล้ว ก็ยิ่งพ้นจากขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อฌานนั้นพ้นจากขันธ์ ๕ แล้ว จะมารู้สิ่งภายนอกได้อย่างไร เพราะว่าฌานนั้นก็เป็นขันธวิมุติ คือพ้นจากขันธ์ ๕ เหมือนกัน ถ้ายังมีขันธ์เหลืออยู่แม้ขันธ์เดียว ก็เป็นผลสมาบัติหรือนิโรธสมาบัติไม่ได้ ถ้ายังข้ามพวกกามไม่ได้ก็ยังเป็นฌานไม่ได้

เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย การเข้าฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี นิโรธสมาบัติก็ดี เมื่อเข้าถึงที่แล้วจึงไม่มีความรู้สึก แต่จะบอกอีกอย่างหนึ่งว่า เวลาอยู่ในฌานนั้นรู้ไหม ตอบว่า “รู้” ก็ได้ “ไม่รู้” ก็ได้ เวลาอยู่ในฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี นิโรธสมาบัติก็ดี นี้พูดถึงว่าเข้าถึงที่แล้วนะ ถ้าเป็นฌานก็เข้าถึงจตุตถฌานแล้ว

ที่ตอบว่ารู้ ก็คือรู้ในอารมณ์ของฌาน แต่ว่าไม่รู้โลกีย์อย่างคนธรรมดาๆ อย่างนี้ แต่มันรู้อารมณ์ฌาน ถ้าอยู่ในผลสมาบัติ หรือนิโรธสมาบัติ ก็รู้ หมายความว่า รู้อารมณ์ของพระนิพพาน ไม่รู้อย่างคนธรรมดา คือคนธรรมดานั้นก็จะไม่รู้ ส่วนที่ว่ารู้นั้น หมายความว่า รู้อารมณ์เหนือพวกกาม รู้อารมณ์พระนิพพาน แต่ว่าคนทั้งหลายในโลกนี้จะเห็นว่าไม่รู้ แต่วิถีจิตของเขา (ผู้ได้ฌาน) นั้นรู้ คือรู้อารมณ์ของฌาน รู้อารมณ์ของพระนิพพาน

เราทั้งหลายลองคิดดูสิว่า อันนี้ยังเป็นขั้นฌาน ขั้นผลสมาบัติ หรือขั้นนิโรธสมาบัติ มันเป็นธรรมสูงสุดแล้ว เมื่อเราต้องการที่จะรู้อย่างคนธรรมดาๆ มันก็เป็นฌานไม่ได้ เป็นผลสมาบัติไม่ได้ เป็นนิโรธสมาบัติไม่ได้ เพียงแต่เป็นขั้นโลกีย์ตามธรรมดาๆ

ส่วนมากคนเราก็ยังไม่รู้กัน เราลองคิดดูว่า เวลานอนหลับอย่างนี้ การนอนหลับเป็นแต่เพียงจิตของเราลงสู่ภวังค์เท่านั้น ไม่ใช่จิตเข้าฌาน ขนาดจิตลงภวังค์เท่านั้นเราก็ยังไม่รู้ ยุงมากัดก็ยังไม่รู้ เฉยอยู่ตลอดเวลา จะมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใดเกิดขึ้น ก็ยังไม่รู้ ขั้นธรรมดาๆ ที่เป็นขั้นโลกีย์ก็ยังไม่รู้ นับประสาอะไรถึงขั้นสูงกว่านี้ ซึ่งเป็นฌานสมาบัติ หรือผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติแล้วเราจะไปรู้กัน

เรื่องสมาบัติเราคิดเอาเองไม่ได้ คาดคะเนเอาก็ไม่ได้ เดาเอาก็ไม่ได้ นอกจากจะทำได้เหมือนกัน เช่นว่าเห็นเขาเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง ๗๐ ชั่วโมง เราก็ต้องเข้าให้ได้เหมือนเขาจึงจะรู้กันได้ แต่ถึงกระนั้น การเข้าสมาบัติก็ยังไม่เหมือนกัน

เช่นว่า ผู้ที่เข้าสมาบัติได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง หรือ ๗๐ ชั่วโมงก็ตาม จะไม่เหมือนกัน มีความหยาบความละเอียดกว่ากัน เหตุนั้น เรื่องฌานนี้เราอยากจะรู้ว่ามันเป็นอย่างไร นั่ง ๑๒ ชั่วโมงเป็นอย่างไร ๒๔ ชั่วโมงเป็นอย่างไร ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง ๗๐ ชั่วโมงเป็นอย่างไร เราก็ต้องทำให้อยู่ในภูมิธรรมเดียวกัน อยู่ในขั้นเดียวกันจึงจะรู้ได้ หากว่าเราไม่สามารถทำได้อย่างนี้ ถึงอย่างไรๆ ก็ไม่รู้

ดังที่ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนปลากับเต่า เต่านั้นเป็นสัตว์สองถิ่น คือ อยู่ในน้ำก็ได้ อยู่บนบกก็ได้ แต่ปลานั้นเป็นสัตว์ถิ่นเดียว คือ อยู่แต่เฉพาะในน้ำเท่านั้น วันหนึ่งปลามีความประสงค์อยากจะทราบความเป็นไปบนบกนั้นว่า มีอะไรบ้าง จึงถามเต่าว่า เป็นอย่างไร บนบกมีการกระเพื่อมมั้ย มีการไหวมั้ย มีสาหร่ายมั้ย ปลาก็เอาแต่ของที่มีอยู่ในน้ำมาถามเต่า

เต่าก็ตอบว่า ไม่มีๆ เรื่อยไป ปลาก็เลยถามเป็นประโยคสุดท้ายว่า ถ้าเช่นนั้นอะไรบ้างมีอยู่บนบก เต่าก็เลยตอบว่า สิ่งใดที่ไม่มีอยู่ในน้ำ สิ่งนั้นมีอยู่บนบกทั้งหมด ท่านทั้งหลายก็ลองคิดดูสิว่า ปลามันจะหมดความสงสัยไหม อันนี้ก็เหมือนกัน พวกเราทั้งหลายก็เหมือนกัน

การเข้าสมาธิ ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง ๗๐ ชั่วโมง เป็นอย่างไร แม้บอกกันก็ไม่รู้เรื่อง หรือว่าการบรรลุเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร บอกกันไม่ได้เลย คือคิดตามไปดูด้วยก็ไม่ได้ คาดคะเนเอาก็ไม่ได้ เดาเอาก็ไม่ได้

เหตุนั้น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสไว้ว่า เป็นอจินไตย เรื่องที่ไม่ควรคิด มีอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. พุทธวิสัย คือ วิสัยของพระพุทธเจ้า การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างไรหนอ เราคิดตามไม่ได้ นอกจากว่า จะเป็นพระพุทธเจ้าประเภทเดียวกัน

๒. ฌานวิสัย คือวิสัยของผู้ได้ฌาน ว่าการเข้าฌานเป็นอย่างไรหนอ การเข้าสมาบัติเป็นอย่างไรหนอ เราคิดตามไม่ได้ เราเดาเอาก็ไม่ได้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิด

๓. กรรมวิบาก คือผลของกรรม เช่น เราเห็นคนทั้งหลาย ผู้นี้เขาทำกรรมอย่างไรหนอ เขาจึงมาเกิดในภพนี้ชาตินี้ ผลของกรรมที่เขารับอยู่ในขณะนี้ เป็นเพราะกรรมที่เขาทำไว้อย่างไรหนอ ที่เขาได้เป็นนั่น ได้เป็นนี่ก็ดี เขาได้รับความทุกข์ยากลำบากนานัปการก็ดี นี้เป็นผลของกรรม เขาทำกรรมอย่างไรไว้หนอในอดีตนั้น คิดไม่ได้ หรือว่าผู้ที่ทำกรรมอย่างนี้แล้ว ตายแล้วเขาจะเป็นอย่างไรหนอ เราคิดตามไม่ได้

๔. เรื่องโลก คือเรื่องความเป็นไปของโลก ตลอดถึงการมองเห็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวที่เป็นอยู่นี้ มันอยู่ได้อย่างไร โลกของเรานี้ตั้งอยู่ได้อย่างไร เราคิดอย่างไร มันก็ไม่หมดความสงสัย

เหตุนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เรื่องทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิด คือ ๑) พุทธวิสัย ๒) ฌานวิสัย ๓) เรื่องวิบากคือผลของกรรม ๔) เรื่องโลก เรื่องเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด ถ้าผู้ใดคิด พระองค์ตรัสว่า มีคติแห่งความฟุ้งซ่าน ความเป็นบ้า

พระองค์ยังตรัสไว้อีกว่า

เมื่อใดพุทธบริษัททั้งหลาย ยังพากันประพฤติมั่นอยู่ในศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอริยมรรรคมีองค์ ๘ ประการ หรือในสถานที่แห่งใดยังมีการสนทนาปราศัยกันเรื่องฌาน เรื่องสมาบัติ เรื่องสมถะ และวิปัสสนาอยู่ สถานที่นั้นๆ ก็ยังมีผู้ทรงศีลทรงธรรม ยังมีผู้ที่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลอยู่

ดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตราบใด ยังมีผู้เจริญสมถะอยู่ เจริญวิปัสสนาอยู่ และยังรักษาพระวินัยอยู่ หรือยังคลุกคลีกันด้วยการสนทนาเรื่องการปฏิบัติอยู่ พูดถึงการเข้าฌานบ้าง การออกจากฌานบ้าง พูดถึงการเข้าผลสมาบัติบ้าง พูดถึงการเข้านิโรธสมาบัติบ้าง สถานที่นั้นก็จะเจริญไปด้วยความสันติสุข คือมีความสงบเย็น มีความผาสุก

ดังที่ท่านทั้งหลายเห็นอยู่ทุกวันนี้ ความสุขที่ได้รับก็เกิดจากการประพฤติปฏิบัติธรรม

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง สมาบัติ มาแก้ข้อข้องใจของท่านทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.


พระราชปริยัตยากร
582  สุขใจในธรรม / ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน / Re: เป็นอยู่อย่างคนเหนือดวง เมื่อ: 26 เมษายน 2561 09:58:25


แบบอย่างคนดัง

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีโอกาสพาซูเปอร์สตาร์อย่างณเดชน์ คูกิมิยะ กราบสักการะสถานที่ประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสวนลุมพินีวัน ประเทศเนปาล และสถานที่ปรินิพพาน เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย เมื่อไปถึงทั้งคนไทยและคนเทศที่รู้จักหน้าค่าตาของดาราหนุ่มคนนี้ ก็มักเข้ามาขอบันทึกภาพคู่ ภาพหมู่ ภาพเดี่ยว หรือยกกล้องขึ้นถ่ายต่อหน้าต่อตากันอยู่เสมอ ซึ่งสิ่งที่สังเกตเห็นคือ ณเดชน์ก็มักตอบแทนด้วยความอ่อนน้อมแก่ผู้ที่เข้ามาขอถ่ายภาพหรือสนทนาด้วยเช่นกัน

ด้วยความเป็นดาราสายบุญของณเดชน์ จึงมีความปรารถนาว่า สักครั้งหนึ่งขอให้ได้เดินทางมาสู่ดินแดนของพระพุทธองค์เพื่อกราบไหว้สังเวชนียสถาน ตามมรดกธรรมพินัยกรรมของพระพุทธเจ้าที่ระบุไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ซึ่งเมื่อปีก่อน ณเดชน์ คุณแม่แก้ว คุณแม่พัตร พร้อมทั้งญาติธรรม เคยเดินทางมากราบสถานที่ตรัสรู้และแสดงปฐมเทศนาแล้ว จากนั้นจึงใช้เวลาวางแผนสับหลีกคิวงานแสดงที่แน่นตลอดเวลา จนผ่านพ้นมาอีกหนึ่งปีเต็ม ถึงมีโอกาสเดินทางมาในอีกสองสถานที่ที่เหลือ"

จากการเดินทางมาแดนพุทธภูมิทั้งสองครั้ง และผู้เขียนมีโอกาสได้นำคณะเข้าเฝ้าองค์พระศาสดาผ่านศาสนสถาน ทำให้เห็นอัธยาศัยและความเอาจริงเอาจังในการศึกษาธรรมะของพระเอกคนดังคนนี้ เพราะในเวลาที่บอกเล่าเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ณเดชน์จะตั้งใจฟังอย่างเอาจริงเอาจังระคนซาบซึ้งอยู่ตลอด เมื่อถึงเวลาสวดมนต์ก็ส่งเสียงดังอย่างไม่มีแผ่นเสียงตกร่อง บทนั่งสมาธิก็เต็มที่เต็มเวลา นอกจากนี้ยังมีการแสดงออกที่ชัดเจนว่าคุ้นเคยกับพระสงฆ์และวัดเป็นอย่างดี

เมื่อได้เห็นแม่แก้ว สุดารัตน์ คูกิมิยะ คอยเป็นสะพานบุญใหญ่ให้ใครต่อใครในคณะ แนะนำการสวดมนต์ ชักชวนกันร่วมบุญต่างๆ อย่างสุดกำลัง จึงทำให้ทราบขึ้นมาทันทีว่า เพราะอะไร ณเดชน์จึงกลายเป็นซุป"ตาร์ คนดังอย่างไม่มีตก"

คำตอบคือ "เพราะมีแม่ผู้ชี้ธรรมนำทางสร้างบุญดีนั่นเอง!!" เพราะแม่สอนให้กตัญญู ซึ่งความกตัญญูต่อบิดามารดา ครูบาอาจารย์ หรือผู้มีพระคุณ ด้วยใจรักห่วงใยอย่างแท้จริง ดูแลจนท่านมีความสุขกายสบายใจ คอยแบ่งเบาภาระไม่นำเรื่องเดือดร้อนมาให้ เป็นบุญที่ส่งผลให้เป็นที่รักของผู้คนได้ง่าย อยู่กับใครเขาก็เอ็นดู และมีคนคอยช่วยเหลือเกื้อหนุนอยู่เสมอ

เพราะแม่สอนให้สร้างความดี ด้วย "ทาน" คือ การให้ด้วยศรัทธา หรือ การสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยเมตตา ซึ่งจะส่งผลให้กายใจมีความผ่องใส ใครเห็นก็สัมผัสถึงความเย็นด้วยเมตตาได้เสมอ และที่สำคัญ "ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก" ตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้

สอนให้รักษา "ศีล" คือ การไม่เบียดเบียนใคร ด้วยการฆ่า การขโมย การผิดประเวณี การโกหก และการทำร้ายสติของตัวเอง ซึ่งจะส่งผลให้จิตใจปลอดโปร่ง เบาสบายไม่เก็บกด ไม่สะสมความทุกข์ ไปสู่สถานที่ใดผู้คนย่อมกล่าวขวัญถึงในทางดีงาม ให้ความเคารพเลื่อมใส และนิยมชมชอบ เพราะร้อยทั้งร้อยใครก็ชอบคนดี

สอนให้ "สวดมนต์" เพราะณเดชน์จะสวดมนต์บทสรรเสริญพระพุทธคุณ หรือ อิติปิโส... เกินอายุ 1 จบ ทุกวัน พร้อมพ่วง "พาหุง มหากา" และกลับจากอินเดียคราวนี้ ดูท่าว่าจะได้ [/b]"พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร"[/b] ไปเพิ่มอีก 1 บทต่อวันด้วย ซึ่งการสวดมนต์ ส่งผลให้พูดจาฉะฉาน มีสติในการพูดจา มีน้ำเสียงไพเราะ และมีพลังดึงดูดอย่างน่าสนใจ

สอนให้ "นั่งสมาธิ" เพื่อฝึกจิตใจ ทำให้คลื่นสมองสงบ สมองส่วนจิตสำนึกทำงานดีขึ้น รู้กาลเทศะ อ่อนน้อมถ่อมตน หน้าตาผ่องใส คิดได้ ลึกซึ้ง และดูฉลาดน่าชื่นชม

และสอนให้ [/b]"ใช้ชื่อเสียงนำทางสร้างบุญ"[/b] เผยแผ่เกียรติคุณของพระรัตนตรัย สรรเสริญผู้ทรงคุณงามความดีทั้งหลาย เป็นสื่อนำให้คนเข้าถึงธรรมะ ชักชวนสร้างสาธารณประโยชน์ที่มีผลกับคนหมู่มากอยู่เนืองๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นบุญกุศลมหาศาล ยังเป็นการสร้างแรงดึงดูดเพิ่มความเด่นดังให้เกิดเป็นกระแสชื่นชมอย่างกว้างขวางได้อย่างไม่ยากเย็น

คุณธรรมเหล่านี้ เผื่อใครจะลองนำไปปฏิบัติดูบ้าง จะได้กลายเป็นที่รักและมีชื่อเสียงเกียรติคุณงดงามกันให้ทันใช้กันในชาติปัจจุบัน



ใช้การงานสร้างบารมี

การสร้างบุญต้นทุนต่ำชนิดหนึ่ง ที่ทุกคนสามารถทำได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล ไม่ต้องใช้เงินมาก และอ้างไม่ได้ว่าไม่มีเวลา คือ การเลือกประกอบสัมมาชีพ ซึ่งเป็นหนทางแห่งอริยมรรค มีองค์ 8 ที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ โดยสัมมาชีพของพระพุทธองค์ คือ การประกอบอาชีพสุจริตที่ถูกด้วยกฎหมาย ชอบด้วยสังคม ใช้เลี้ยงชีพได้โดยไม่สร้างโทษให้แก่ใคร และเกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรมจนสามารถบรรลุมรรคผลนิพพาน

พระพุทธเจ้ายังทรงเน้นย้ำให้ชาวพุทธของพระองค์ละเว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิดจนกลายเป็นสะสมโทษสร้างบาปกรรมให้แก่ตน เช่น คดโกง หลอกลวง เอาเปรียบ สอพลอ บีบบังคับขู่เข็ญ ซึ่งรูปแบบของการโกงในอาชีพการงานนี้ นอกจากจะโกงกินเงิน ยักยอกทรัพย์สิน หรือขโมยลิขสิทธิ์ทางปัญญาแล้ว การโกงเวลา หรืออู้งานก็ถูกจับมัดรวมไว้ ในข้อหานี้ด้วย

คนที่ชอบโกงเวลางาน เช่น งานเข้า 9 โมง แต่ถึงที่ทำงาน 10 โมง หรือ ในเวลางานก็เอาแต่นั่งเล่นเกม ออนเฟซ ฯ เล่นไลน์ พอ 3 โมงกว่าๆ ก็หาข้ออ้างเลิกงานไปเที่ยวต่อ ทั้งที่จริงเวลาเลิกงาน คือ 5 โมงเย็น ทำผิดข้อตกลง ไม่ซื่อสัตย์ในสิ่งที่ได้ตกลงเอาไว้กับบริษัทหรือราชการ ซึ่งถ้าลองสังเกตดูอย่างจริงจัง จะพบว่าคนอู้งาน โกงเวลางาน มักจะไม่ค่อยได้รับความเจริญเท่าไหร่

ในขณะที่ผู้อุทิศเวลาให้กับการทำงาน ยอมลำบากทำงานเกินเวลาด้วยความเต็มใจ เพื่อให้งานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จลุล่วงด้วยดี มักจะเจริญในตำแหน่งหน้าที่ มั่งมีการเงิน และประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

เพราะนี่คือ "ผลบุญ" อันเกิดจากการประกอบสัมมาชีพที่ทำงานอย่างเต็มที่ เต็มเวลา เต็มความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม ซึ่งทุกอาชีพสามารถสร้างบุญแห่งความเจริญในลักษณะนี้ได้ เช่น ถ้าเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ก็สามารถสร้างบุญด้วยการพูดจาให้ไพเราะขึ้นกับผู้ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ พยายามทุ่มเททำงานเพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน เอาประโยชน์ของคนหมู่มากเป็นที่ตั้ง ไม่ละเลยความเดือดร้อนของใครๆ

ถ้าเป็นหมอรักษาผู้ป่วย ก็อาจมาเข้างานให้เร็วขึ้น พร้อมทั้งให้เวลาแก่คนไข้เพิ่มมากอีกสักนิด วินิฉัยโรคให้ละเอียดยิ่งขึ้นอีกสักหน่อย เพื่อความมีประสิทธิภาพ ให้การรักษาคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะคนไข้หลายคนเดินทางมารอคุณหมออยู่หลายชั่วโมง แต่คุณหมอกลับมีเวลาให้เพียง 5 นาที หรือน้อยกว่านั้น

ถ้าเป็นพ่อค้าแม่ขาย ก็อาจลงทุนใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ลงแรงล้างทำความสะอาดวัตถุดิบให้สะอาดปลอดภัย มีหลักประกันเพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ ทำทุกอย่างเหมือนกับของที่ตนสามารถบริโภคเองได้ ไม่เพียงสักแต่ว่าขายทำกำไร คุณภาพจะเป็นอย่างไรก็ไม่สนใจ

ถ้าเป็นพนักงานออฟฟิศ ก็สามารถสร้างบุญให้ตนได้ด้วยการตั้งใจทำงาน เลิกอู้ เลิกนินทา หยุดแทงข้างหลังเพื่อนร่วมงาน และไม่แอบทำอย่างอื่นนอกเวลางาน พยายามทุ่มเทเพื่อพัฒนาองค์กรของตัวเองให้ดีที่สุด เพราะการเติบโตของบริษัท คือ การพัฒนาศักยภาพการทำงานของเรา

"คนฉลาดมักใช้ความลำบากและอุปสรรคในการงานเพื่อฟูมฟักตัวและหัวใจให้แข็งแกร่ง ในขณะที่คนโง่จะวิ่งหนีปัญหา หลบลี้หนีงาน มุ่งแต่หาความสบายที่จะกลับมาทำลายตน"

และควรตระหนักว่า ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่ลงแรงไปเกินกว่าค่าจ้างหรือรายได้ที่ได้รับ นั่นไม่ใช่การขาดทุน และไม่ใช่ความสูญเปล่า เพราะส่วนเกินเหล่านั้นได้กลายสภาพไปอยู่ในรูปแบบของบุญที่จะเกื้อหนุนให้ชีวิตประสบความสำเร็จ มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานได้อย่างมั่นคงและยาวนาน


พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐
583  สุขใจในธรรม / เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ / Re: ธรรมะวันหยุด เมื่อ: 26 เมษายน 2561 09:42:32


ประโยชน์ที่บัณฑิตพึงได้

นักปราชญ์ท่านเรียกว่า บัณฑิต เพราะได้รับประโยชน์ทั้ง 2 คือ ประโยชน์ในชาติปัจจุบันและประโยชน์ในชาติหน้า

ประโยชน์ในปัจจุบัน หมายถึง ประโยชน์ในชาตินี้ เป็นประโยชน์ตราบเท่าที่เป็นอยู่หรือมีชีวิตอยู่ ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ

1.ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ มีความขยันในการศึกษาเล่าเรียน ในการประกอบอาชีพการงาน ที่สำคัญจะเป็นงานอะไรก็ตาม ถ้าไม่ผิดกฎหมายบ้านเมืองและ ศีลธรรมอันดีงาม และช่วยให้ดำรงชีพอยู่ได้แล้วก็น่าจะพอใจ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า "คนหมั่นย่อมหาทรัพย์ได้" และในการสร้างกุศล ความดี ก็ควรหมั่นสร้างความดีอันจะติดตามตนไปในภพหน้า เปรียบเหมือนผู้จะเดินทางไกลเตรียมเสบียงไปด้วยฉะนั้น ดังนั้น ผู้ขยันหมั่นเพียรในประการดังกล่าวมาจึงชื่อว่า ถึงพร้อมด้วยความหมั่น

2.ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รักษาทรัพย์ที่หามาได้จากน้ำพักน้ำแรง ทำทรัพย์ให้มีความปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ มีน้ำ ไฟ และโจรผู้ร้าย เป็นต้น ผู้ที่รักษาทรัพย์ที่หามาได้ไม่ให้เป็นอันตรายก็ดี รักษาการงานของตนไม่ให้เสื่อมเสียไปก็ดีได้ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยการรักษา

3.ความมีเพื่อนเป็นคนดี สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงลักษณะของเพื่อนที่ดี ว่ามี 4 ประการ คือ 1.เพื่อนมีอุปการะ 2.เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ 3.เพื่อนแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ 4.เพื่อนมีความรักใคร่ ว่าเป็นมิตรแท้ ควรคบ เพื่อนดังกล่าวมานี้ ย่อมนำไปสู่ความเจริญ

4.เป็นอยู่สมฐานะ หมายความว่า ดำรงชีวิตให้พอดีกับฐานะ ใช้ทรัพย์อย่างประหยัดพอเหมาะพอควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองหรือใช้ฟุ่มเฟือยเกินไป ดังคำกลอนที่ท่านสุนทรภู่ได้แต่งเป็นคติสอนใจว่า "มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าได้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน"

ส่วนประโยชน์ในชาติหน้า หมายถึง ประโยชน์ในภพหน้าอันจะติดตามผู้ทำไป ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ

1.ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น

2.ถึงพร้อมด้วยศีล คือ การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย ไม่มีโทษ

3.ถึงพร้อมด้วยการบริจาค คือ สละทรัพย์หรือสิ่งของให้เป็นสาธารณกุศลต่างๆ เช่น สร้างวัด โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น

4.ถึงพร้อมด้วยปัญญา คือ รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น

ท่านผู้มีปัญญา เมื่อได้ทราบประโยชน์ 2 อย่าง คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน นับได้ว่าไม่ขัดสนอับจนในชีวิต และประโยชน์ในชาติหน้า นับได้ว่าได้ตระเตรียมเสบียงในการ เดินทางคือกุศล ความดีไว้ก่อนที่จะเดินทางไป ย่อมทำชีวิตเป็นชีวิตที่ดี เป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า



พิจารณาก่อนลงมือทำ

ในการทำงานทุกชนิด มีถูกมีผิดเป็นธรรมดา อาจถูกต้อง แต่ผิดใจก็ไม่ใช่น้อย

เบื้องต้นสำหรับหลักใจคนทำงานก็คือ ผิด ถูก เป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ควรพิจารณาคือถูกผิดอย่างไร ซึ่งอาจจะใช้คำว่าประเมินผลเพื่อทบทวนการปฏิบัติว่าถูกตรงกับเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นหรือไม่

วิมังสา คือ การพิจารณาอย่างละเอียดและรอบคอบ เป็นหนึ่งในธรรมะ 4 ข้อ ที่เรียกว่า อิทธิบาท เป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะประสบความสำเร็จในทุกกิจการที่ดำริริเริ่ม ตั้งแต่งานเล็กน้อยกระทั่งเป็นงานด้านการพัฒนาระดับจิตใจ

วิมังสา เหมือนดวงตาที่คอยตรวจตราดูความเรียบร้อย เช่น เจ้าหน้าที่ผู้รักษาความปลอดภัย เมื่อเข้าเวรเข้ายาม ก็จะคอยเดินสำรวจสถานที่ที่รับผิดชอบ เพื่อมองหาสิ่งผิดปกติที่อาจจะเกิดมีขึ้น เป็นการป้องกันภัยให้แก่บุคคลและสถานที่นั้นๆ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดมีขึ้น

ในการศึกษาและการทำงานตามปกติก็เป็นไปในลักษณะนี้ คือนอกจากพอใจ แข็งใจ และตั้งใจทำแล้ว ก็ต้องมีความเข้าใจทำ คือพิจารณาโดยรอบคอบด้วย โดยคำนึงถึงผลได้ ผลเสีย ความคุ้มค่า ความเสี่ยง ประกอบการตัดสินใจ โดยมีแบบประเมินผล หรือการประเมินผลที่เป็นระบบ ทั้งนี้ ก็ต้องอาศัยสติปัญญามาบริหารจัดการ

จะสังเกตว่าหน่วยงานใหญ่ เมื่อทำการใหญ่ๆ แต่ละครั้ง ก็จะตั้งทีมสำรวจความเป็นไปได้ และเกาะติดการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด แม้เมื่องานนั้นผ่านพ้นไปแล้วก็ยังต้องมีการทบทวนหลังการปฏิบัติ เพื่อเก็บเป็นข้อมูล ไว้สำหรับการดำเนินงานในคราวต่อไป

สิ่งที่ผิดพลาดบกพร่องก็จะอยู่ในฐานะเป็นบทเรียน หรือประสบการณ์ที่ดี รวมไปถึงการฝึกจิตอบรมใจ ก็ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ในแง่ของปริยัติให้ถูกต้องก่อน แล้วลงมือปฏิบัติตามขั้นตอน ด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสานี้

การปฏิบัติพระกรรมฐานทั่วไปจึงต้องมีการสอบอารมณ์จากอาจารย์กรรมฐานผู้เป็นกัลยาณมิตร เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติว่าถูกตรงตามทิศทางแห่งพระกรรมฐานแล้วหรือยัง

เมื่อผู้ปฏิบัติปรับอารมณ์ได้ถูกต้องแล้ว ก็ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งการเจริญพระกรรมฐานทุกประเภท ทั้งนี้ ก็เกิดจากการพิจารณาตรวจสอบจิตใจอย่างใกล้ชิดโดยมีสติสัมปชัญญะสนับสนุน

ขอเป็นกำลังใจไว้ในโอกาสนี้ว่า ก่อนตัดสินใจลงมือปฏิบัติงานใดๆ ให้ใคร่ครวญก่อน แม้นจะผิดพลาดบกพร่องประการใด ก็พิจารณาว่าเป็นประสบการณ์ อย่างน้อยก็ได้ชื่อว่า เข้าใจทำ



พระเจ้าปเสนทิโกศล

ความฝันอันเป็นที่มาของความเชื่อเรื่องพุทธทำนายและวรรณกรรมเกี่ยวกับพุทธทำนายนั้น ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เรื่องมหาสุบินชาดก หมายถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสุบินนิมิต 16 ประการ คือ

1.โคอุสุภราช 2.ต้นไม้ 3.แม่โค 4.โคสามัญ 5.ม้า 6.ถาดทองคำ 7.สุนัขจิ้งจอก 8.หม้อน้ำ 9.สระโบกขรณี 10.ข้าวสารที่หุงไม่สุก 11.แก่นจันทน์ 12.น้ำเต้าจมน้ำ 13.หินลอยน้ำ 14.เขียดกลืนกินงูเห่า 15.หงส์ทองแวดล้อมกา 16.เสือกลัวแพะ

ความฝันนี้ได้รับการขยายความออกไปอย่างพิสดาร ในหนังสืออธิบายพระไตรปิฎก เมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลก ความเชื่อเรื่องพุทธทำนายได้ถูกนำไปเผยแพร่ด้วย

พุทธทำนายจึงเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนในภูมิภาคนั้นๆและความเชื่อเรื่องพุทธทำนายก็แพร่หลายจนปรากฏว่า มีการเขียนวรรณกรรมคล้ายพุทธทำนายอีกหลายฉบับ นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมอื่นที่เรียบเรียงหรือแต่งขึ้นในปัจจุบันโดยนำเสนอคล้ายพุทธทำนาย โดยมุ่งทำนายโลกและชีวิตของมนุษย์ในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าผู้ปกครองและประชาชนไม่ยึดมั่นในหลักศีลธรรม มุ่งแต่จะเบียดเบียนกัน เป็นต้น โดยรวมของวรรณกรรมพุทธทำนายจึงเป็นการสั่งสอนศีลธรรมแก่พุทธศาสนิกชน

คืนหนึ่งพระเจ้าปเสนทิแห่งแคว้นโกศล บรรทมแล้วทรงสุบินนิมิตประหลาดถึง 16 ประการ สุบินเหล่านี้ทำให้ทรงเกรงกลัว กังวลพระทัยว่าจะมีเหตุร้ายกับพระองค์ พราหมณ์ปุโรหิตได้ทำนายว่า สุบินนิมิตแบบนี้จะนำเหตุร้ายมาสู่พระองค์ พระมเหสี และราชบัลลังก์จึงแนะนำให้ทำพิธีบูชายัญโดยนำสัตว์ต่างๆ มาฆ่า เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสะเดาะเคราะห์

พระนางมัลลิกาเทวี ซึ่งเป็นพระมเหสี ทราบเหตุการณ์ทั้งหมดจึงแนะนำให้พระเจ้าปเสนทิโกศล เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าก่อนที่จะทำตามคำแนะนำของปุโรหิตเหล่านั้น

พระพุทธเจ้า ทรงสดับความฝันทั้ง 16 อย่างแล้ว จึงทำนายว่าจะไม่มีอันตรายใดๆ แก่พระองค์ พระมเหสี และราชบัลลังก์ แต่ผลในทางร้ายจะเกิดขึ้นในอนาคตอันยาวไกล ถ้าผู้ปกครอง บ้านเมืองไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ประชาชนในปกครองขาดศีลธรรม ทำร้ายเบียดเบียนกัน ไม่ประกอบกุศลกรรม จะเกิดความวิปริตผิดธรรมชาติมากมาย

บ้านเมืองและประชาชนจะเดือดร้อน ไม่มีความสงบสุข


พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
584  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 20 เมษายน 2561 10:04:18



สมาบัติ ๘

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย ในเรื่อง สมาบัติ ๘ ประการ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย คำว่า ฌาน กับคำว่า สมาบัติ นั้น ต่างกันโดยพยัญชนะ แต่โดยเนื้อความคือสภาวะแล้วเป็นทำนองเดียวกัน

คำว่า ฌาน แปลว่า เพ่ง ดังเช่นเราเอาดินมาเป็นอารมณ์ เราก็เอาสติกับจิตของเราเข้าไปตั้งไว้ที่ดวงกสิณคือดินนั้นแล้วบริกรรมว่า ปฐวีๆ ดินๆ อย่างนี้ จนสำเร็จเป็นอัปปนาสมาธิได้ เรียกว่า ฌาน หรือเราเพ่งอาการพองอาการยุบก็ดี เพ่งเวทนา เพ่งจิตก็ดี จนสามารถทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เราเพ่งนั้น ก็จัดว่าเป็นฌาน

ฌานนั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือ

๑. อารัมมณูปนิชฌาน ได้แก่ ฌานที่เอาบัญญัติมาเป็นอารมณ์ เช่น กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูปกัมมัฏฐาน ๔

การที่เราเอาอารมณ์เหล่านี้มาบริกรรมมาภาวนา หากว่าได้ฌานขึ้นมาเพราะการบริกรรมดังกล่าวมานี้ เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน

๒. ลักขณูปนิชฌาน ได้แก่ ฌานที่เพ่งรูปนามเพ่งพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ เช่น พวกเราท่านทั้งหลายเพ่งอาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการถูก เพ่งเวทนาคือความสุข ความทุกข์ ความดีใจ ความเสียใจ ความเฉยๆ หรือเพ่งจิตคือความคิด เพ่งธรรมารมณ์ เหล่านี้เรียกว่า เพ่งรูป เพ่งนาม เพ่งพระไตรลักษณ์ ถ้าเราเพ่งหรือบริกรรมดังกล่าวมานี้จนสามารถทำจิตให้สงบเป็นอัปปนาสมาธิเป็นฌาน ฌานนั้นก็เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน

คำว่า สมาบัติ แปลว่า สมบัติ หมายถึง สมบัติของผู้ได้ฌาน

การเข้าอยู่ในฌานหรือเข้าสมาบัติ อุปมาเหมือนกับบุรุษผู้หลบความร้อนเข้าไปอยู่ในบ้านที่ตนสร้างไว้ดีแล้ว ผู้ที่จะเข้าสมาบัตินั้น โดยมาคิดว่า ความสุขที่เกิดขึ้นจากปริตตารมณ์ เป็นความสุขเล็กๆน้อยๆ สู้ความสุขในฌานไม่ได้ จึงหลีกออกจากหมู่ไปสู่ที่สงบแห่งใดแห่งหนึ่ง ยกจิตของตนขึ้นสู่อารมณ์กัมมัฏฐาน บริกรรมจนจิตสงบเป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เข้าสู่ฌานธรรม

ฌานธรรมนั้นมี ๘ ประการ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔

มีปัญหาอยู่ว่า จะสังเกตหรือทราบได้อย่างไรว่าเราได้ฌานหรือสมาบัติชั้นไหน ทราบได้อย่างนี้ คือ

ในส่วนของรูปฌาน ๔ หรือรูปสมาบัติ

๑. ปฐมฌาน เมื่อจิตเข้าถึงปฐมฌานจะข่มนิวรณ์ธรรมลงได้ นิวรณ์ แปลว่า ธรรมอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดีมีศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล พระนิพพาน เป็นต้น หรือกั้นศีล สมาธิ ปัญญา สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน ไม่ให้เข้าถึงตัวเรา นิวรณ์ธรรมนี้ เป็นอันตรายของปฐมฌานและของทุกๆฌานด้วย

นิวรณ์นั้นมีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑) กามฉันทะ พอใจในอารมณ์ เช่น พอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรืออารมณ์เหล่าใดที่เกิดขึ้นในขณะที่เจริญพระกัมมัฏฐาน จัดเป็นกามฉันทะ

๒) พยาบาท ไม่พอใจในอารมณ์ เช่น ไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ที่ไม่ดี ซึ่งเกิดขึ้นตอนปฏิบัติ หรืออารมณ์ใดๆก็ดี ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติ เราไม่พอใจ ไม่ชอบใจ จัดเป็นพยาบาท

๓) ถีนมิทธะ ความง่วงงุน ความหดหู่ ความท้อแท้ ความง่วงเหงาหาวนอน

๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญ เมื่อนึกถึงบาปหรือความชั่วที่ตนทำไว้ แต่บุญไม่ได้ทำ

๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย เช่น สงสัยในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สงสัยเรื่องโลกนี้โลกหน้า สงสัยเรื่องนรก สวรรค์ พระนิพพาน เป็นต้น

เราจะรู้ได้อย่างไร สังเกตได้อย่างไร ว่าเราเข้าถึงปฐมฌาน หรือการฝึกสมาธิอยู่ในขณะนี้ หรือการอธิษฐานจิตอยู่ในขณะนี้ เราได้ปฐมฌานหรือไม่นั้น เราพึงสังเกตดังนี้ คือ

ในขณะเข้าถึงปฐมฌานนั้น ยังจะมีบริกรรมอยู่ ยังมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ยังมีบริกรรมว่า พองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธ คำใดคำหนึ่งอยู่ เสียงก็ยังได้ยินอยู่ แต่ได้ยินไม่เต็มที่ ไม่ได้ยินเหมือนอย่างธรรมดาที่เราได้ยินอยู่ในขณะนี้ คือว่าเสียงนั้นลดน้อยลงไป หรือมีความรู้สึกว่าน้อยลงไป แต่ว่าในขณะนั้นจิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต จิตใจของเราจดจ่ออยู่เฉพาะบทพระกัมมัฏฐาน

สมมติว่าเรากำหนดอาการพองอาการยุบ จิตใจนั้นก็อยู่กับอาการพองอาการยุบ ไม่นึกถึงเรื่องอดีตอนาคต หากว่ามีเสียงอะไรเกิดขึ้นในขณะที่นั่งอยู่นั้นก็ไม่สะดุ้งตกใจ เขาจะมาจุดประทัดอยู่ข้างๆก็ตาม จิตใจของเราเฉยอยู่ ไม่มีการสะดุ้ง ไม่มีการตกใจ ไม่มีการฟุ้งซ่าน หรือว่าในขณะนั้นมีมะพร้าวร่วงลงมาก็ดี กิ่งไม้ร่วงลงมาถูกสังกะสีก็ดี ก็เฉยอยู่ ไม่มีการสะทกสะท้าน ไม่มีการตกใจ ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วก็แสดงว่าเข้าถึงปฐมฌานแล้ว

ถ้าหากว่าฌานไม่เสื่อม ย่อมมีอานิสงส์ดังนี้

ผู้ใดได้ปฐมฌานอย่างหยาบ ฌานไม่เสื่อม เวลาตายตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปฐมฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมปาริสัชชา ในรูปพรหมชั้นที่ ๑ มีอายุยืน ๑ ใน ๓ ของมหากัป

ผู้ได้ปฐมฌานอย่างกลาง ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปฐมฌานวิบากปฏิสนธิจิต เกิดเป็นพรหมปุโรหิตา ในรูปพรหมชั้นที่ ๒ มีอายุ ๑ ใน ๒ มหากัป

ผู้ใดได้ปฐมฌานอย่างประณีต ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปฐมฌานวิบากปฏิสนธิจิต เกิดเป็นมหาพรหม ในรูปพรหมชั้นที่ ๓ มีอายุยืน ๑ มหากัป

ถ้าเอาสมาธิขั้นปฐมฌานนี้มาเป็นเครื่องรองรับการเจริญวิปัสสนา ก็สามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน เร็วขึ้นกว่าธรรมดา

๒. ทุติยฌาน หรือ ทุติยสมาบัติที่สอง เมื่อได้ปฐมฌานและฝึกให้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ แล้ว ก็จะได้เจริญทุติยฌานต่อไป เมื่อเข้าถึงทุติยฌานแล้ว มีแต่เพ่งอารมณ์ จิตตั้งมั่นแน่วแน่กับอารมณ์ แต่ไม่ได้บริกรรมว่า พุทโธๆ หรือยุบหนอพองหนอเลย

เพราะเหตุไรจึงไม่ได้บริกรรม

สาเหตุที่ไม่ได้บริกรรมเพราะว่า ฌานที่ ๒ คือทุติยฌานนี้ละวิตกวิจารได้แล้ว เหลือแต่ปีติ สุข และเอกัคคตาเท่านั้น ปีติ ความอิ่มใจนั้นมี ๕ ประการ คือ

๑) ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย มีอาการน้ำตาไหล หรือขนลุกขนชัน เป็นต้น

๒) ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ มีอาการเกิดในจักษุทวารเหมือนกันกับสายฟ้าแลบหรือตีเหล็กไฟเป็นต้น

๓) โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นพักๆ มีอาการซู่ซ่าไปตามร่างกาย หรือเป็นดุจระลอกซัด เป็นต้น

๔) อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน ทำให้ใจฟู ตัวเบา ตัวลอย เป็นต้น

๕) ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน ทำให้ตัวเย็นซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย เป็นต้น

ปีตินั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตใจอิ่มเอิบ ชุ่มชื่น เป็นสุข สงบแน่วแน่อยู่กับอารมณ์พระกัมมัฏฐาน

เราจะสังเกตอย่างไรว่าถึงฌานที่ ๒ แล้ว เราสังเกตเอาง่ายๆ คือ ในขณะนั้นความรู้สึกของเราก็ยังมีอยู่นิดๆ เสียงก็ยังมีอยู่นิดๆ แต่ว่าเราไม่ได้บริกรรมหรือภาวนา เพราะว่าผ่านวิตกวิจารไปแล้วจึงไม่มีการบริกรรม แต่เมื่อได้บริกรรมขึ้นมาเมื่อใด แสดงว่าจิตของเราตกจากทุติยฌานลงมาปฐมฌาน คือเมื่อจิตของเราตกลงมาอยู่ที่ฌานที่หนึ่ง ก็จะได้ภาวนาว่า พุทโธๆ หรือพองหนอยุบหนอ อย่างนี้เรียกว่า จิตลงมาปฐมฌาน

ถ้าถึงทุติยฌานจะไม่มีบริกรรม แต่ว่าเราไม่ได้ตั้งใจหยุดบริกรรม หรือว่าเราไม่ได้คิดว่าเราจะหยุดบริกรรม แต่ว่าหยุดเองโดยธรรมชาติ เป็นไปตามอัตโนมัติ

อันตรายของทุติยฌาน คือ วิตก วิจาร หากวิตกวิจารเกิดขึ้นเมื่อไร ก็ได้บริกรรมบทพระกัมมัฏฐานเมื่อนั้น และแสดงว่าจิตนี้ตกจากทุติยฌานแล้ว เหตุนั้น พึงตั้งสติสัมปชัญญะไว้ให้ดี

เมื่อได้ทุติยฌานแล้ว ก็พยายามประคับประคองจิตไว้ในทุติยฌานนั้น และถ้าหากว่าฌานไม่เสื่อม ย่อมมีอานิสงส์ดังนี้

ผู้ได้ทุติยฌาน ถ้าหากว่าจุติด้วยอำนาจทุติยฌานกุศลอย่างต่ำคืออย่างหยาบ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดทุติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมปริตตาภา คือรูปพรหมชั้นที่ ๔ มีอายุยืนถึง ๒ มหากัป

ถ้าผู้ได้ทุติยฌานอย่างกลาง ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดทุติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมอัปปมาณาภา คือรูปพรหมชั้นที่ ๕ มีอายุยืนถึง ๔ มหากัป

ถ้าผู้ได้ทุติยฌานอย่างประณีต ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานนั้น ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดทุติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมอาภัสสรา คือรูปพรหมชั้นที่ ๖ มีอายุยืน ๘ มหากัป

ถ้าเอาสมาธิในขั้นทุติยฌานนี้มาเป็นพื้นฐานเครื่องรองรับการเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วกว่าสมาธิในฌานขั้นที่ ๑

๓. ตติยฌาน หรือ ตติยสมาบัติที่สาม เมื่อปฏิบัติได้ถึงฌานที่ ๓ นี้แล้ว ปีติ ๕ ประการดังกล่าวมาข้างต้นนั้นก็หมดไป เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงไม่มีแล้ว เมื่อมาถึงฌานนี้

เราจะนั่งสักกี่ชั่วโมง ความเจ็บปวดก็ไม่มี เพราะว่าเมื่อถึงฌานนี้ เหลือแต่ความสุขกับเอกัคคตาเท่านั้น ความสุขที่ได้รับในฌานธรรมนี้ จะหาความสุขใดที่เป็นโลกิยะมาเปรียบเทียบมิได้ หมายความว่า ความสุขในโลกิยะนั้น มีความสุขในฌานเป็นความสุขอันยอดเยี่ยม

ธรรมอันเป็นข้าศึกของฌานที่ ๓ คือ ปีติ ขณะใดที่มีอาการขนลุกขนชัน น้ำตาไหล มีอาการเสียวแปลบปลาบตามร่างกายเหมือนมีคลื่นกระทบฝั่ง หรือใจฟู ตัวเบาตัวลอย มีอาการซาบซ่านทั่วสรรพางค์กายเป็นต้น นั่นแสดงว่าจิตของเราตกจากฌานที่ ๓ มาถึงฌานที่ ๒ แล้ว

เมื่อถึงฌานที่ ๓ แล้ว เราจะสังเกตได้ง่ายๆ คือ จะมีอาการตึงหรือเครียดตามร่างกาย มือแข็ง แขนแข็ง ตัวแข็ง นิ้วมือนิ้วเท้าไม่สามารถกระดิกได้ การก้มเงยคู้เหยียดก็ไม่อาจที่จะทำได้ ไม่สามารถที่เหลียวซ้ายแลขวาได้ เพราะในขณะนั้น เหมือนกันกับเอาเหล็กแหลมๆ ไม้แหลมๆ ตอกลงที่ศีรษะไปตามตัวแล้วตรึงแน่นไว้กับพื้น ไม่สามารถที่จะขยับเขยื้อนได้

และในขณะนั้น ความรู้สึกก็ยังมีอยู่นิดๆ เสียงก็ยังมีอยู่นิดๆ เกือบจะว่าไม่มีในขณะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ขอให้เข้าใจเถิดว่าถึงฌานที่ ๓ แล้ว และเมื่อถึงฌานที่ ๓ แล้ว ก็ขอให้พยายามประคับประคองตั้งสติสัมปชัญญะรักษาไว้ให้ดี อย่าให้ต้องถอยออกจากฌานที่ ๓ จนกว่าจะฝึกชำนาญในวสีทั้ง ๕ ประการ เพื่อจะเป็นมรรคาไต่เต้าเข้าไปสู่จตุตถฌานที่ ๔ ต่อไป และผู้ที่ไม่เสื่อมจากฌานที่ ๓ ย่อมมีอานิสงส์ดังนี้ คือ

ถ้าผู้ได้ตติยฌานอย่างหยาบหรืออย่างต่ำ ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดตติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมปริตตสุภา ในตติยฌานภูมิ คือรูปพรหมชั้นที่ ๗ มีอายุยืน ๑๖ มหากัป

ผู้ที่ได้ตติยฌานอย่างกลาง ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดตติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมอัปปมาณสุภา ในตติยฌานภูมิ คือรูปพรหมชั้นที่ ๘ มีอายุยืน ๓๒ มหากัป

ผู้ที่ได้ตติยฌานอย่างประณีต ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานกุศลนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดตติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมสุภกิณหกา ในตติยฌานภูมิ คือ รูปพรหมชั้นที่ ๙ มีอายุยืน ๖๔ มหากัป

หากว่าเอาสมาธิในตติยฌานนี้มาเป็นพื้นฐานเครื่องรองรับการเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วกว่าสมาธิในฌานที่ ๒

๔. จตุตถฌาน หรือ จตุตถสมาบัติที่สี่ เมื่อถึงฌานที่ ๔ แล้ว จะละสุขได้ เหลือแต่เอกัคคตา และเกิดอุเปกขารมณ์เพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่ง

เราจะทราบได้อย่างไรว่าถึงฌานที่ ๔

เราสังเกตได้ด้วยหลัก ๒ ประการ คือ

๑) ความรู้สึกหมดไป

๒) ลมหายใจไม่มี

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ว่า ลมหายใจจะไม่มีในบุคคล ๗ จำพวก คือ เด็กอยู่ในครรภ์มารดา ๑ คนตาย ๑ คนดำน้ำ ๑ ผู้เข้าถึงจตุตถฌาน ๑ พรหมในอสัญญีภพ ๑ รูปพรหมอรูปพรหม ๑ พระอริยเจ้าผู้เข้านิโรธ ๑

เมื่อเข้าถึงจตุตถฌานแล้ว ความรู้สึกจะไม่มี ลมหายใจก็ไม่มี เราจะเอาสำลีมาไว้ที่ปลายจมูกก็ไม่ปลิว หากว่าจับดูตามร่างกายจะรู้สึกเหมือนกับจับคนที่ตายไปแล้วหลายชั่วโมง เย็นเหมือนจับน้ำแข็ง ถ้าท่านทั้งหลายทำได้ดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายถึงฌานที่ ๔ แล้ว

สภาวธรรมที่เป็นข้าศึกแก่จตุตฌาน คือ ลมอัสสาสะปัสสาสะ คือถ้าปรากฏว่าหายใจเข้าหายใจออกขณะใด ขณะนั้น แสดงว่าจิตของเราถอยออกจากจตุตถฌานแล้ว เหตุนั้น ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายพึงใช้สติสัมปชัญญะรักษาไว้ให้ดี ไม่ให้ถอยออกจากฌานที่ตนได้ และจตุตถฌานนี้มีอานิสงส์ดังนี้

ผู้ได้จตุตถฌานทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างประณีต หากฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ก็จะปฏิสนธิเป็นพรหมเวหัปผลา อันเป็นรูปพรหมชั้นที่ ๑๐ มีอายุยืน ๕๐๐ มหากัป

ผู้ได้จตุตถฌานที่เป็น พระอนาคามี ก็จะไปปฏิสนธิในขั้น สุทธาวาสภูมิ ๕ ชั้น ซึ่งมีอายุยืนตามลำดับ ดังนี้คือ

๑. ชั้นอวิหา มีอายุยืน ๑,๐๐๐ มหากัป

๒. ชั้นอตัปปา มีอายุยืน ๒,๐๐๐ มหากัป

๓. ชั้นสุทัสสา มีอายุยืน ๔,๐๐๐ มหากัป

๔. ชั้นสุทัสสี มีอายุยืน ๘,๐๐๐ มหากัป

๕. ชั้นอกนิษฐา มีอายุยืน ๑๖,๐๐๐ มหากัป

และอานิสงส์ที่จะได้พิเศษจากรูปฌานที่ ๔ คือ เป็นปัจจัยให้ได้บรรลุวิชชา ๓ ได้แก่

๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้

๒. จุตูปปาตญาณ ปัญญารู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นได้

๓. อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

นอกจากนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้อภิญญา ๖ คือ

๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้

๒. ทิพพโสตะ ได้หูทิพย์

๓. เจโตปริยญาณ รู้จักวาระจิตของผู้อื่น

๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้

๕. ทิพพจักขุ มีตาทิพย์

๖. อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

อนึ่ง ผู้ที่ได้จตุตถฌานนี้ ผิวพรรณจะผ่องใส หน้าตาอิ่มเอิบ หากว่าเอาสมาธิขั้นจตุตถฌานนี้มาเป็นพื้นฐานรองรับในการเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้นกว่าฌานที่ ๓

ต่อไปเป็นอรูปฌาน

ส่วน อรูปฌาน หรือ อรูปสมาบัติ เป็นฌานหรือสมาบัติที่เอาสิ่งที่ไม่มีรูปมาเป็นอารมณ์ เช่น เอาอากาศมาเป็นอารมณ์ เป็นต้น ทีนี้เราจะทำอย่างไร ในขณะที่เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ เราใช้ท้องพองท้องยุบเป็นอารมณ์ หากว่าเราเจริญอรูปฌานทั้ง ๔ นี้ เราจะทำอย่างไร เราทำได้อย่างนี้คือ

เมื่อเราทำสมาธิคือรูปฌาน ๔ ให้คล่องแคล่วชำนาญในวสีทั้ง ๕ ประการดีแล้ว ในขณะที่เจริญอรูปกัมมัฏฐานเราก็เพิกอาการพองอาการยุบนั้นออกไป ไม่กำหนดอาการพอง อาการยุบ ให้เห็นที่ท้องพองท้องยุบนั้นว่างเปล่า มีแต่อากาศอยู่เท่ากับที่เรากำหนดเมื่อก่อนแล้วก็เอาสติปักไว้ที่อากาศนั้น แล้วก็บริกรรมภาวนาว่า อากาโส อนันโตๆ อากาศไม่มีที่สุดๆ จนสามารถทำจิตใจให้สงบเป็นอัปปนาสมาธิ ก็แสดงว่าถึงอรูปฌานที่ ๑ แล้ว

ถ้าหากฌานไม่เสื่อม การตายในฌานนี้ก็จะไปเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๑ คืออากาสานัญจายตนพรหม มีอายุยืนถึง ๒๐,๐๐๐ มหากัป

เมื่อเราชำนาญในอรูปฌานที่ ๑ แล้ว ก็เจริญอรูปฌานที่ ๒ ต่อไป หลังจากที่เห็นโทษของอากาสานัญจายตนะว่ายังไม่ดีนัก ยังเป็นอรูปฌานชั้นต่ำ ยังใกล้ชิดกับรูปฌานอยู่ จึงจะละอากาศเสีย ไม่เอาอากาศมาบริกรรมเหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนเรารู้ว่าที่นี้เป็นอากาศ เราก็ทิ้งอากาศแล้วเอาสติมาจับเอาความรู้คือตัววิญญาณนั้นมาบริกรรมว่า วิญญาณัง อนันตังๆ วิญญาณไม่มีที่สุดๆ ร่ำไป จนสามารถทำจิตให้สงบเป็นอัปปนาสมาธิ

ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าจิตของเราเข้าถึงอรูปฌานที่ ๒ คือวิญญาณัญจายตนฌานแล้ว หากว่าฌานไม่เสื่อม ตายในฌานนี้ก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนพรหม มีอายุยืน ๔๐,๐๐๐ มหากัป

เมื่อชำนาญในอรูปฌานที่ ๒ แล้ว พิจารณาเห็นโทษของอรูปฌานที่ ๒ จึงได้ตั้งใจเจริญอรูปฌานที่ ๓ ต่อไป โดยที่มาสำเหนียกถือเอาความว่างเปล่า ความไม่มี ซึ่งเรียกว่า นัตถิภาวบัญญัติ มาบริกรรมมาภาวนาว่า นัตถิ กิญจิๆ นิดหนึ่งก็ไม่มี น้อยหนึ่งก็ไม่มี ร่ำไป จนสามารถทำจิตใจให้สงบเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นอุเปกขารมณ์

เมื่อทำได้ดังนี้ ก็แสดงว่าเราได้สำเร็จซึ่งอรูปฌานที่ ๓ แล้ว หากว่าฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ตายแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๓ คือชั้นอากิญจัญญายตนะอรูปพรหม มีอายุยืน ๖๐,๐๐๐ มหากัป

เมื่อชำนาญในอรูปฌานที่ ๓ แล้ว ไม่พอใจเพียงแค่อรูปฌานที่ ๓ นั้น จึงมาเจริญอรูปฌานที่ ๔ ต่อไป วิธีเจริญอรูปฌานที่ ๔ นี้ เราเอาอากิญจัญญายตนฌานนั้นมาเป็นอารมณ์ แล้วเพิกอากิญจัญญายตนฌานนั้นออกไป โดยบริกรรมหรือภาวนาว่า เอตัง สันตัง เอตัง ปณีตังๆ สงบหนอ ประณีตหนอๆ ร่ำไป จนสามารถทำจิตให้เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอุเปกขารมณ์

เมื่อทำได้อย่างนี้ แสดงว่าได้สำเร็จเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน คือ อรูปฌานที่ ๔ แล้ว เมื่อฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ตายแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม มีอายุยืน ๘๔,๐๐๐ มหากัป

ถ้าเอาสมาธิในอรูปฌานทั้ง ๔ นี้มาเป็นเครื่องรองรับในการเจริญวิปัสสนา ก็จะสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น เพราะว่าอรูปฌานทั้ง ๔ นี้ มีอารมณ์คล้ายกันกับวิปัสสนาภาวนา คือวิปัสสนาภาวนาท่านสอนให้ละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆทั้งหมด ทั้งที่เป็นรูป ทั้งที่เป็นนาม

สำหรับอรูปฌานทั้ง ๔ นี้ก็เหมือนกัน ท่านสอนให้ละรูปทิ้งไปให้หมด เอาแต่นามมาบริกรรม เอาอากาศเอาวิญญาณมาบริกรรม อากาศและวิญญาณที่เอามาบริกรรมนั้นก็จะละเอียดเข้าเรื่อยๆ จนถึงสภาวะที่ละเอียดประณีตที่สุด คือเอาวิญญาณเอาความรู้ที่ประณีตที่สุดเกือบจะว่าไม่มีในขณะนั้น เหตุนั้นเมื่ออารมณ์คล้ายคลึงกับวิปัสสนาจึงเป็นเหตุให้บรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อได้อรูปฌานที่ ๔ แล้ว มีอานิสงส์เป็นพิเศษ คือทำให้ได้สำเร็จปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ หมายความว่า เราได้เพียงรูปฌาน ๔ ก็เป็นปัจจัยให้ได้วิชชา ๓ อภิญญา ๖ เท่านั้น ไม่สามารถที่จะบรรลุปฏิสัมภิทา ๔ ได้ เมื่อใดเราได้ทั้งรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ รวมเป็นสมาบัติ ๘ เมื่อได้สมาบัติ ๘ ประการนี้ ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้ได้บรรลุปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ซึ่งได้แก่

๑. อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ คือสามารถที่จะอธิบายความของภาษิตย่อๆ หรือหัวข้อธรรมย่อๆ ให้พิสดารได้

๒. ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม คือ สามารถที่จะรวบรวมธรรมะที่ท่านกล่าวไว้โดยพิสดารมาสรุปให้เหลือสั้นๆลงได้ เหมือนกับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ตรัสไว้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ วิจิตรพิสดารมาก แต่เมื่อย่อลงให้สั้นๆแล้วก็ได้แก่ อัปปมาทธรรม ความไม่ประมาทเพียงประการเดียว ผู้ได้ธัมมปฏิสัมภิทาก็เหมือนกัน สามารถย่อธรรมะหรือคำพูดที่ท่านพูดโดยพิสดารให้สั้นๆ เข้าใจได้ง่าย

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในนิรุตติคือภาษา คำว่า แตกฉานในภาษา ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเราบรรลุแล้วเราสามารถจะพูดภาษาต่างประเทศได้ หรือภาษาอะไรต่อมิอะไรก็ได้ ไม่ได้หมายความอย่างนั้น คำว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในภาษานี้ หมายถึง รู้วิธีพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายๆ

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ หมายความว่า สามารถที่จะเทศน์ปฏิภาณโวหารได้ ยกภาษิตขึ้นมาก็สามารถที่จะเทศน์ได้แสดงได้ สามารถที่จะบรรยายได้ ปาฐกถาหรืออภิปรายได้

คนที่ปฏิภาณปฏิสัมภิทาไม่เกิด แม้จะบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ไม่สามารถที่จะเทศน์จะแสดงได้ ถ้าจะเทศน์ให้ผู้อื่นฟังก็ต้องอดตาหลับขับตานอนท่องบ่นสาธยายตั้ง ๙ คืน ๑๐ คืนจึงจะมาเทศน์ได้ เทศน์ไป ๓๐ นาทีก็หมดคำเทศน์แล้ว เพราะว่าไม่แตกฉานในปฏิภาณปฏิสัมภิทา แต่ถ้าผู้แตกฉานในปฏิภาณปฏิสัมภิทาแล้ว สามารถที่จะเทศน์ได้แสดงได้

ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ นี้จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อสำเร็จอรูปฌานที่ ๔ เสียก่อนจึงจะเกิดขึ้น

เมื่อท่านทั้งหลายได้สมาธิดังกล่าวมาตั้งแต่ขั้นปฐมฌานเป็นต้นไป ครูบาอาจารย์ท่านก็จะมาฝึกให้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ เสียก่อน สมมติว่าเราได้เพียงปฐมฌานก็นำมาฝึกแล้ว เช่นที่คณะแม่ชีฝึกกันอยู่ในขณะนี้ บางท่านก็อยู่ในขั้นปฐมฌาน บางท่านก็อยู่ในขั้นทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

ถึงจะได้ฌานใดก็ตาม ก็ต้องเอามาฝึกให้ชำนิชำนาญเสียก่อน หากว่าไม่ชำนาญแล้ว ก็ไม่สามารถใช้สมาธิได้ตามความประสงค์ เหตุนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกให้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ ประการ คือ

๑. อาวัชชนวสี ชำนาญคล่องแคล่วในการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือว่าชำนาญในการพิจารณาองค์ฌาน เช่น เรากำหนดอาการพองอาการยุบก็มีความคล่องแคล่วหรือว่องไว ยกจิตขึ้นสู่อาการพองอาการยุบ และก็บริกรรมว่าพองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธๆ ได้ทันที

๒. สมาปัชชนวสี ชำนาญในการเข้าฌานเข้าสมาธิ อยากเข้าสมาธิภายใน ๓๐ วินาทีก็เข้าได้ อยากเข้าภายใน ๑ นาทีก็เข้าได้ ๒ นาทีก็เข้าได้ หรือเราอธิษฐานจิตไว้ว่า เมื่อข้าพเจ้ากราบเป็นครั้งที่ ๓ แล้ว ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที ก็สามารถเข้าได้ โดยกราบลงไปครั้งที่ ๑ เรากำหนดว่า กราบหนอ กราบลงไปครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ กำหนดว่า กราบหนอๆ พอกราบเสร็จก็เข้าสมาธิไปได้เลย

หรือเราอธิษฐานว่า เมื่อข้าพเจ้าเดินจงกรมไปได้ ๗ ก้าว ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที เราก็กำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พอถึงก้าวที่ ๗ ก็เข้าสมาธิไปเลย หมายความว่า อยากเข้าเวลาไหนก็ได้ การเข้าสมาธิได้ตามต้องการนี้เรียกว่า สมาปัชชนวสี

๓. อธิษฐานวสี ชำนาญในการรักษาจิตไว้ไม่ให้ออกจากฌานก่อนเวลา สมมติว่าเราต้องการจะเข้าสมาธิ ๕ นาที ก็สามารถจะเข้าได้ครบ ๕ นาที ไม่ออกก่อนเวลา ถ้าออกก่อนเวลา เรียกว่ายังไม่ชำนาญในอธิษฐานวสี ถ้าเราอยากอยู่ในสมาธิ ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมงก็ดี ก็จะอยู่ได้ตามต้องการนั้นๆ ไม่ออกก่อนเวลา ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็เรียกว่าชำนาญในอธิษฐานวสี

๔. วุฏฐานวสี ชำนาญในการรักษาจิตไว้ไม่ให้เลยเวลาที่กำหนด สมมติว่าเรากำหนดจะเข้าสมาธิ ๕ นาที ก็ไม่ให้เลยไปแม้วินาทีหนึ่ง เราต้องการที่จะอยู่ ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง ก็อยู่ได้ครบพอดี ไม่ให้เลยเวลาไปแม้แต่นาทีเดียว ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าชำนาญในวุฏฐานวสี

๕. ปัจจเวกขณวสี ชำนาญในการพิจารณา คือชำนาญในการพิจารณาฌานที่ตนได้แล้ว ชำนาญในการเข้าการออก ตั้งแต่ฌานที่ ๑ จนถึงฌานที่ ๘ ตามลำดับๆ ถ้าเราได้ฌานทั้ง ๘ ก็ชำนาญในการพิจารณาฌานทั้ง ๘ พูดเอาง่ายๆว่า ชำนาญในการพิจารณาฌานของตน ได้ทั้งการเข้าการออก เรียกว่า ชำนาญในปัจจเวกขณวสี

นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อให้ท่านทั้งหลายฝึกสมาธิ ก็เพื่อให้ท่านชำนาญในการเข้าสมาธิออกสมาธิ เพื่อที่จะเข้าสมาธิได้ตามกำหนดกฎเกณฑ์ และอยู่ในฌานตามที่เรากำหนดไว้ เมื่อเราทั้งหลายชำนาญในวสีทั้ง ๕ นี้แล้ว เราก็สามารถใช้สมาธิใช้ฌานของเราได้ตามประสงค์

เอาละท่านทั้งหลายผู้พากเพียรภาวนา ธรรมะที่หลวงพ่อได้บรรยายมาในเรื่อง สมาบัติ ๘ ประการ ก็ได้ใช้เวลามาพอสมควร จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
585  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 05 เมษายน 2561 14:26:04


ฌาน - สมาบัติ

วันนี้ หลวงพ่อจะได้พูดเรื่อง ฌาน หรือ สมาบัติ

คำว่า ฌาน กับ สมาบัติ เป็นอันเดียวกัน คือ

คำว่า ฌาน ก็หมายถึง การเพ่ง คือเพ่งรูปนาม ที่เราทั้งหลายปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ เราเพ่งรูปนาม ขันธ์ห้า คืออาการพองอาการยุบเป็นต้น การเพ่งอย่างนี้เรียกว่า ฌาน

คำว่า สมาบัติ แปลว่า สมบัติของผู้ได้ฌาน ซึ่งหมายถึง ท่านผู้ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน การได้ฌานอย่างนี้เขาเรียกว่า สมาบัติ คือสมบัติของผู้ได้ฌาน

สำหรับ ฌาน ก็ดี สมาบัติ ก็ดี ที่ท่านทั้งหลายเริ่มตั้งแต่วันปฏิบัติมาจนถึงบัดนี้ หลวงพ่อขอทายหรือขอให้คำปฏิญญา หรือให้ความมั่นใจกับท่านทั้งหลายว่า ที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมา บางท่านก็ได้ฌาน บางท่านก็ได้มรรคได้ผล แต่จะได้มากได้น้อย ก็แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมมา

ครั้งแรก หลวงพ่อจะพูดเรื่องฌานเสียก่อน พระเจ้าพระสงฆ์ที่ประพฤติวุฏฐานวิธีก็ดี ลูกเณรก็ดี อุบาสกอุบาสิกา ลูกน้อยๆ ทั้งหลายที่ทำสมาธิก็ดี พูดโดยทั่วไปแล้ว ได้ฌานทุกคน หรือได้สมาบัติทุกคน แต่ว่าจะได้มากหรือได้น้อย แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมมา คือ ท่านทั้งหลาย การอยู่ในฌานนั้น บางท่านก็สามารถอยู่ในฌานได้นานๆ เป็น ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง จนถึง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง หรือ ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง ก็แล้วแต่ อำนาจของสติสมาธิที่เราได้สร้างสมอบรมมา

สำหรับฌานนี้ ส่วนมากผู้ปฏิบัติที่เป็นพระภิกษุนี้ก็ได้ฌานเหมือนกัน แต่เรารักษาอารมณ์ของฌานไม่ได้ อีกอย่างหนึ่ง ก็เพราะว่าฌานที่เราได้นั้น เราไม่สามารถที่จะอยู่ในฌานได้นานๆ บางท่านก็อาจอยู่ในฌาน ๑ นาที ๕ นาที ๑๐ นาที ๓๐ นาที ส่วนมากพระเราได้สมาธิได้ฌาน อย่างมากก็ ๔๕ นาที หลังจาก ๔๕ นาทีไป อีก ๑๕ นาที ต้องทนเอาเกือบตาย เจ็บที่โน้นปวดที่นี้ อะไรจิปาถะ เพราะจิตของเรามันออกจากฌานแล้ว เมื่อจิตออกจากฌานแล้วเราก็ปวด อาการปวดอาการเจ็บหรือเวทนามันเกิดขึ้นมา

เมื่อพูดถึงนี้ เราปฏิญญาตนได้เลยว่า เราได้ฌาน หรือไม่ได้ฌาน ถ้าหากว่าเรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปตามลำดับๆ ตั้งแต่นาทีที่ ๑ ไปตามลำดับๆ จนถึง ๔๕ นาที เราไม่ปวด ไม่เจ็บที่โน้น ไม่ปวดที่นี้ นั่งสมาธิเพลินไปๆ โน้นอีก ๑๕ นาที (จะครบ ๑ ชั่วโมง) จึงรู้สึกว่าเจ็บที่โน้นปวดที่นี้ อะไรจิปาถะ ลักษณะที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่าฌานของเรามันหมดอายุแล้ว หมดพลังแล้ว เราก็ต้องทนทุกข์ทรมาน

ครูบาอาจารย์บอกว่าให้เรานั่ง ตอนนี้เรานั่ง ๑ ชั่วโมง พยายามทำให้ได้ เราก็ตั้งอกตั้งใจจะทำให้ได้ ส่วนมากท่านทั้งหลายทำได้ถึง ๑ ชั่วโมง แต่ ๑ ชั่วโมงนี้ เราไม่ได้เต็มอัตรา เราอยู่ในสมาธิ ๒๐ นาทีบ้าง ๓๐ นาทีบ้าง ๔๕ นาทีบ้าง หรือว่า ๑ ชั่วโมงบ้าง แล้วแต่อำนาจของสมาธิเรา

ท่านทั้งหลาย เราจะทราบได้อย่างไรว่า เราได้สมาธิ หลวงพ่อว่า ได้สมาธิๆ เราจะทราบได้อย่างไรว่า เราได้สมาธิ ได้ฌาน ให้ท่านทั้งหลายจงสังเกต ในขณะที่กำหนด พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้น หรือเราว่า เจ็บหนอ ปวดหนอ คิดหนอ โกรธหนอ อยู่นั้น อะไรอย่างนี้ เรากำหนดไปๆ อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นก็จะละเอียดเข้าไปๆ จนสามารถจะควบคุมได้ ไม่คิดไปเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องสัมผัส ธรรมารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

คือเราไม่คิดเลย ไม่ได้คิดไปข้างหน้า เราไม่ได้คิดไปข้างหลัง เราไม่ได้คิดไปข้างซ้ายข้างขวา เราไม่ได้คิดขึ้นเบื้องบน เราไม่ได้คิดลงข้างล่าง แต่จิตใจของเรากำหนดพองหนอ ยุบหนอ อยู่ตลอดเวลา และอารมณ์ที่กำหนดอยู่นั้นก็ละเอียดเข้าไปๆ ความรู้สึกของเรามันละเอียดเข้าไปๆ เกือบจะไม่ได้ยินเสียง คือเสียงมันละเอียดลดลงไป ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่บุญวาสนาบารมีของท่าน

ขณะนั้น เรายังกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ อยู่ แต่เสียงก็ดี ความรู้สึกของเราก็ดี มันละเอียดเข้าไปๆ จนความรู้สึกของเรามันเหลืออยู่ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ และไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดที่โน้นที่นี้ เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปได้เรื่อยๆ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้สมาธิได้ฌานแล้ว ได้ขั้นปฐมฌานแล้ว

ท่านทั้งหลายอาจจะไม่เชื่อ อาจจะคิดว่าหลวงพ่อพูดปลอบใจ หลวงพ่อไม่ได้พูดปลอบใจ แต่พอที่จะสังเกตได้ ที่หลวงพ่อได้สอนพระกัมมัฏฐานมานานพอสมควร ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ มาจนถึงบัดนี้ มีผู้มาประพฤติปฏิบัติมากพอสมควร ส่วนมากพระเจ้าพระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ลูกเล็กเด็กแดงทั้งหลาย ที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ทำได้เหมือนกันทุกคน

แต่ว่าการอยู่ในอารมณ์ของฌานนั้น เราบังคับไม่ได้ บางทีชั่วโมงนี้สามารถอยู่ในสมาธิได้ แต่ช่วงหลังเราทำไม่ ได้ คือเราไม่สามารถที่จะบังคับมันได้ เวลาเกิดมันก็เกิดเองอัตโนมัติ เวลาจิตของเรามันสงบมันก็สงบไป เวลาคิดมันก็คิดไป แต่เรากำหนดได้ ความคิดมันก็หมดไป ไม่คิด จิตใจของเรามันตั้งอยู่กับอาการพองอาการยุบตลอดเวลา

ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้ปฐมฌานแล้ว ปฐมฌานนี้ ต้องมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา วิตกคือการตริ วิจารคือการตรอง คือยังมีวิตกวิจารอยู่ ยังได้ภาวนาอยู่ ยังได้กำหนดพองหนอยุบหนออยู่ แต่จิตของเราไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น จิตใจของเรามันหนักแน่นมั่นคง อยู่กับอารมณ์ของพระกัมมัฏฐานตลอดเวลา ถ้าท่านทั้งหลายทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้ปฐมฌาน คือฌานที่ ๑ แล้ว ถ้าเราได้ฌาน เราเอาอารมณ์ของฌานนี้มาเป็นบาทในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานเร็วขึ้น (หรือ) หากว่าเราจุติเพราะจิตดวงนี้ จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน คือจะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะอำนาจของฌานธรรมรักษาไว้

แต่หากว่า ถึงคราวที่เราจะดับชีวิตของเรา คือเราจะตาย ในขณะที่เราตาย เราตายในฌาน ฌานไม่เสื่อม ก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน แต่ถ้าหากว่าท่านทั้งหลาย ก่อนที่จิตของเราจะดับลงไป คือเราจะตายลงไป เราไม่ลืมอารมณ์ของพระกัมมัฏฐาน เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ ไปเรื่อยๆ เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ ไป จิตของเรามันดิ่งลงไป ดิ่งเข้าๆ

ในขณะเดียวกัน เราก็เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือก่อนจะตายนั้นล่ะ เห็นอารมณ์ของพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ดับปั๊บลงไป ถ้ามันดับลงไปลักษณะดังนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายตายด้วยอำนาจของมัคคญาณ ผลญาณ คือจิตของเรามันดับลงไปด้วยอำนาจมัคคญาณ

ถ้าจิตของเรามันดับลงไปด้วยอำนาจของอริยมรรคอริยผลอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าเราสามารถปิดประตูอบายภูมิได้ ตายแล้วไม่ได้ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน วันหนึ่งข้างหน้าหรือชาติต่อๆ ไป หากเรามีโอกาสที่จะได้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เข้าสู่พระนิพพานในวันข้างหน้า อันนี้เป็นลักษณะของฌานที่ ๑

ฌานที่ ๒ ทิ้งวิตก ทิ้งวิจาร เหลือแต่ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อเราปฏิบัติมาจนถึงฌานที่ ๒ นี้แล้ว อารมณ์ของฌานที่ ๒ เราจะสังเกตได้ง่ายๆ ฌานที่ ๒ กับฌานที่ ๑ ไม่เหมือนกัน ฌานที่ ๑ ยังมีคำบริกรรม พองหนอ ยุบหนออยู่ แต่ฌานที่ ๒ คือทุติยฌานนี้ จะไม่มีการบริกรรม

เมื่อก่อนเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ แต่พอมาถึงฌานที่ ๒ นี้แล้ว เราไม่ได้ว่า เรานั่งเฉยอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ภาวนาพองหนอ ยุบหนอ ถ้าหากว่าในขณะใดเรายังกำหนด พองหนอ ยุบหนอ แสดงว่าฌานที่ ๒ นั้นมันเสื่อมลงไปแล้ว ลงถึงฌานที่ ๑ แล้ว แต่เรากำหนดไปๆ จิตของเราก็ขึ้นสู่ฌานที่ ๒ อีก เมื่อถึงฌานที่ ๒ จิตใจของเราก็หนักแน่นมั่นคงแล้ว ก็ไม่บริกรรม พองหนอ ยุบหนอ นี่ไม่ได้ว่าเลย จิตใจหยุดนิ่งอยู่ในอารมณ์พระกัมมัฏฐาน

เมื่อถึงฌานนี้แล้ว ความรู้สึกของเราก็ยังมีอยู่ เสียงก็ยังมีอยู่ แต่มันมีอยู่ประมาณสัก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ คือมันละเอียดไปแล้ว เสียงก็ดี ความรู้สึกของเราก็ดี เหลืออยู่ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าท่านทั้งหลายทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านถึงฌานที่ ๒ แล้ว ถ้าว่าฌานที่ ๒ นี้ไม่เสื่อม เวลาจุติในฌาน ก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

หากว่าเอาจิตดวงนี้มาเป็นพื้นฐานรองรับการเจริญวิปัสสนาภาวนา เราก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรค อริยผลเร็วขึ้น นี้เป็นลักษณะของฌานที่ ๒ นี้ ถ้าหากว่าเราได้สร้างสมอบรมบารมีมาพอสมควรแล้ว ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้ปีนี้หรือปีต่อไป หรือถึงวันสุดท้ายก่อนที่เราทั้งหลายจะจากโลกนี้ ท่านทั้งหลายคงเคยตายแล้วก็มี ผู้ไม่เคยตายก็มี

สมมติว่า ตอนที่จิตใจของเรามันจะดับจากโลกนี้ไป เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ ดังที่เราทั้งหลายเห็นปู่ย่าตายายของเรา ลูกๆ ก็อยู่ใกล้ๆ หลานๆ ก็อยู่ใกล้ๆ อย่าลืมเด้อ อย่าลืมพุทโธเด้อ อย่าลืม พองหนอ ยุบหนอเด้อ เตือนอยู่ตลอดเวลา หากว่า ในขณะนั้น คนเรามันไม่มีที่พึ่งแล้ว ผัวเมียก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ ลูกๆ หลานๆ ก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ หาอะไรๆ ที่จะเป็นที่พึ่งของเราหาไม่ได้ เหลือแต่บุญที่เราสร้างสมอบรมไว้ เราก็ตั้งจิตตั้งใจ พุทโธๆ ไป บางทีก็ลูกๆ หลานๆ พี่ๆ น้องๆ ผู้เป็นผัวเป็นเมีย ก็ช่วยกำหนด พุทโธๆ หรือพองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ

ในขณะที่จิตของเรามันจะดับปั๊บลงไป หากว่ามันดับด้วยอำนาจของฌาน ดับแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน แต่ว่าถ้าจิตของเรามันดับด้วยอำนาจของมัคคญาณผลญาณ ก่อนที่จิตของเราจะดับ มีพระไตรลักษณ์เกิดขึ้น คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็กำหนดพระไตรลักษณ์นั้น

และในขณะที่กำหนดพระไตรลักษณ์นั้น มัคคญาณผลญาณเกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา ดับปั๊บลงไป ก็แสดงว่าจิตของเรามันตายในมรรค หรือว่าดับด้วยอำนาจของมัคคญาณผลญาณ ถ้าจิตของเราดับด้วยลักษณะอย่างนี้ ก็แสดงว่าเราตายด้วยอำนาจมัคคญาณผลญาณ เราไม่ได้ตายอยู่ในโลกีย์ จิตของเรามันพ้นจากโลกีย์แล้วไปสู่โลกุตตระ สามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วไม่ได้ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไม่ได้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มีพระนิพพานเป็นที่ได้ที่ถึง

หากว่าบุญวาสนาบารมีของเราได้สร้างสมอบรมมา มีพอสมควร เกิดภพใหม่ชาติใหม่ก็มีโอกาสจะได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี่เป็นลักษณะของฌานที่ ๒ เมื่อฌานที่ ๒ แก่กล้าแล้ว ก็จะส่งให้ฌานที่ ๓

ท่านทั้งหลายจะรู้ได้อย่างไรว่า ฌานที่ ๓ นั้นมันเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร เพราะเราไม่ได้เรียนมา อีกอย่างหนึ่ง เราไม่ได้รู้ชื่อของมัน คือฌานที่ ๓ มันเป็นอย่างไร เราก็ไม่ได้รู้ แต่เรารู้สภาวะของการอยู่ในฌาน แต่เราเองไม่รู้ความหมายของมัน เหมือนกันกับเราไม่เคยบริโภคผลไม้ต่างๆ สมมติว่า ทุเรียน หรือแอปเปิ้ล น้อยหน่า อะไรทำนองนี้ เราไม่รู้ชื่อของมัน แต่เราก็บริโภครสชาติของมันเราก็รู้ว่า (รส) มันเป็นอย่างนี้ๆ แต่เราไม่รู้จักชื่อของมัน ข้อนี้ ฉันใด

การที่จิตของเรามันจะถึงฌานที่ ๓ นี้ หมายความว่า จิตของเราเข้าถึงฌานที่ ๓ แล้ว เมื่อก่อนโน้น เรานั่งไม่ตรง เมื่อถึงฌานที่ ๓ นี้นั่งตรง เราจะก้มก็ไม่ได้ เราจะเงยก็ไม่ได้ เราจะมองซ้ายแลขวา ก็มองไม่ได้ เราจะกระดิกนิ้วมือนิ้วเท้าก็ไม่ได้ ตัวของเรานั่งตรงตลอดเวลา เหมือนกันกับเอาไม้แหลมๆ หรือเหล็กแหลมๆ มาตอกลงที่ศีรษะของเราไปตรึงให้แน่นกับพื้น เรากระดุกกระดิกไม่ได้

อาการเช่นนี้เกิดขึ้นมา ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า จะทุรนทุราย เหมือนกันกับใจจะหลุดจะขาดอะไรลักษณะนี้ ไม่มี นั่งสมาธิได้สบายๆ ตอนนี้ได้เสวยสุข เป็นสุขในฌาน สุขในฌานนี้ถือว่า เป็นสุขขั้นสูงสุดยอดในทางโลกิยะ

เมื่อก่อนเคยปวดโน้นปวดนี้ เมื่อมาถึงนี้ ไม่ปวดแล้ว และความรู้สึกก็ดี เสียงที่ได้ยินก็ดี จะเหลือประมาณสัก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เกือบจะหมดแล้ว ถ้าหากท่านทั้งหลายสามารถทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านถึงฌานที่ ๓ แล้ว ถ้าหากว่าฌานที่ ๓ ไม่เสื่อม เราจุติในฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

อีกอย่างหนึ่ง หากว่าก่อนที่เราจะตาย เราได้กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ ในขณะนั้น จิตของเรามันเห็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ดับวูบลงไป ขาดความรู้สึกลงไป ถ้าในลักษณะดังนี้ แสดงว่าเราตายด้วยอำนาจของมัคคญาณผลญาณ คือว่าตายในมรรคตายในผล ถ้าจุติในลักษณะดังนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้ปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วจะไม่บังเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน อย่างน้อยเราก็ไปบังเกิดในพรหมโลก เมื่อมีโอกาสมีเวลาได้กลับมายังโลกนี้ หรือได้เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่พรหมโลกนู้น ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถึงฝั่งคือพระนิพพาน อันนี้เป็นลักษณะของฌานที่ ๓

เมื่อฌานที่ ๓ แก่กล้าสมบูรณ์แล้ว ก็จะส่งให้ฌานที่ ๔ ท่านทั้งหลาย เราจะทราบได้อย่างไรว่า เราได้ฌานที่ ๔ลักษณะของฌานที่ ๔ มันเป็นอย่างไร มันเกิดขึ้นแก่เรานั้นอย่างไร เราจะสังเกตได้ง่ายๆ ดังนี้ คือเมื่อเราถึงฌานที่ ๔ แล้ว จะไม่มีลมหายใจ คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนั้น มันไม่มี มีพระบาลีกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า

บุคคล ๔ ประเภท จะไม่มีลมหายใจ คือ

๑. คนตายก็จะไม่มีลมหายใจ

๒. เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาก็จะไม่มีลมหายใจ

๓. บุคคลผู้ดำน้ำก็จะไม่มีลมหายใจ

๔. ผู้เข้าถึงจตุตถฌานคือฌานที่ ๔ ก็ไม่มีลมหายใจ

บุคคล ๔ ประเภทนี้ เรียกว่า ไม่มีลมหายใจ ถ้าหากว่าเราได้สมาธิหรือว่าได้ฌานอย่างนี้ ก็แสดงว่า ท่านทั้งหลายถึงจตุตถฌานแล้ว หากว่าเอาฌานนี้มาเป็นบาทรับรองในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น อีกอย่าง หากว่าเราตายในฌาน ฌานไม่เสื่อม เราตายในฌาน ตายแล้วก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

อีกอย่างหนึ่ง ก่อนที่เราจะดับจิต จิตของเราจะดับไปจากโลกนี้ เราไม่ลืมกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอๆ หรือ พุทโธๆ สัมมาอรหังๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง เรากำหนดไปเรื่อยๆ กำหนดจนพระไตรลักษณ์ปรากฏ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏ เมื่อปรากฏแล้ว จิตของเราเข้าไปยึดแล้วก็ดับลงไป ก็แสดงว่าเราตายด้วยอำนาจอริยมรรคอริยผล จุติแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เรามีพระนิพพานเป็นที่ได้เป็นที่ถึง

หากว่ามีบุญวาสนาบารมี เราก็จะได้เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่โน้น อยู่ในพรหมโลก บางทีก็สามารถที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เข้าสู่พระนิพพานในพรหมโลกชั้นนั้นๆ แต่บางท่านบารมียังไม่แก่กล้า อาจจะจุติลงมายังโลกมนุษย์ แล้วก็ได้เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อ ก็จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นพระอรหันต์ อันนี้เป็นลักษณะของฌานที่ ๔

ท่านทั้งหลาย อำนาจของฌานทั้ง ๔ ประการ นี้มีพลัง มีอานุภาพ ที่จะให้เราผู้ฝักใฝ่ในการเจริญพระกัมมัฏฐาน คือวิปัสสนากัมมัฏฐาน อานิสงส์ของฌานทั้ง ๔ ประการนี้ สามารถที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกเราทั้งหลายได้สำเร็จอริยมรรคอริยผล ถึงฝั่งคือพระนิพพาน ตามบุญวาสนาบารมีที่เราทั้งหลายได้สร้างสมอบรมไว้

เมื่อเราได้ฌานอย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย หากว่าเคยสร้างสมอบรมบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอภิญญาจิต เช่นว่า แสดงฤทธิ์ได้ หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ สามารถทำอาสวะให้หมดไปสิ้นไปจากขันธสันดาน อภิญญาทั้ง ๖ ประการ วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สามารถที่จะเกิดขึ้นแก่เราผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน

และสามารถที่จะได้วิชชา ๓ คือระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นว่า ผู้นี้เขามาจากไหน เขามาเกิดในที่นี้ และเมื่อตายแล้วเขาไปเกิดในที่ไหน และก็สามารถทำอาสวะให้หมดไปจากขันธสันดาน วิชชา ๓ ประการนี้ สามารถที่จะเกิดขึ้นในขันธสันดานของเราได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หมายความว่า ผู้นั้นได้เคยสร้างสมอบรมบารมีมาก่อน เช่น เมื่อก่อนโน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้นได้ทำบุญทำทานอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ และก็ปรารถนาหรือตั้งใจ ดังที่เราทั้งหลายตั้งอธิษฐานจิตอยู่ทุกวันนี้ว่า

สาธุ ด้วยอานุภาพนี้ ด้วยอำนาจของการให้ทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา ขอจงได้เป็นพลวปัจจัยให้ข้าพเจ้าได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน

เราได้ตั้งจิตตั้งใจไว้อย่างนี้ แต่ภพก่อนชาติก่อน ได้ตั้งใจไว้อย่างนี้ เมื่อถึงโอกาสได้เวลา เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เราได้มาบวชในพระพุทธศาสนา เราได้โอกาสเจริญพระกัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะให้ได้บรรลุวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ และอภิญญา ๖ ประการ ตามบุญวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมไว้

แต่อำนาจของฌานทั้ง ๔ ประการนี้ คือ อำนาจของปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานนี้ ไม่สามารถที่จะทำให้ได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือความแตกฉานในอรรถ ในธรรม ในภาษา และปฏิภาณ ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ประการนี้ ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้น แก่เราผู้ได้สำเร็จเพียงขั้นจตุตถฌาน

เมื่อใด เราได้เจริญพระกัมมัฏฐานต่อจนได้อรูปฌาน ๔ คืออากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เมื่อเราได้ทั้งรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ฌานทั้ง ๘ ประการนี้ มีอำนาจ มีพลัง มีอานุภาพ สามารถที่จะทำให้เราได้สำเร็จปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้

ท่านทั้งหลาย เมื่อเราท่านทั้งหลายได้สร้างสมอบรมบารมีสมบูรณ์แล้ว อานิสงส์ของฌานทำให้เราไปบังเกิดในพรหมโลก บางท่านก็สามารถที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในพรหมโลกชั้นนั้นๆ แล้วแต่บุญวาสนาบารมี แต่บางท่านอาจจุติมาเกิดในโลกมนุษย์บ้าง ในเทวโลกบ้าง แต่ว่าจะไม่ไปบังเกิดในอบายภูมิ

คือหมายความว่า ถ้าพรหมหมดบุญแล้ว ก็จะมาเกิดในโลกนี้ ไม่จมไปสู่อบายภูมิ ไม่ไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เพราะอะไร เพราะกำลังฌานรักษาไว้ ไม่ให้เราไปสู่อบายภูมิได้ นี่เป็นอานิสงส์ของฌาน

ผู้ได้ฌานดังกล่าวมาแล้วข้างต้น หากว่าฌานสมบูรณ์แล้ว อานิสงส์ของฌานนี้จะสามารถรักษาไว้ถึง ๗ วัน ๗ คืน ไม่ตาย เพราะสมาธิหรือฌานนี้สามารถที่จะอยู่ได้ ๗ วัน ไม่เป็นอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต

เพราะว่า อาหารที่บริโภคเข้าไปแล้ว เกิดขึ้นเป็นโอชะ หล่อเลี้ยงร่างกายไว้ไม่ให้ตาย เมื่อถึงเวลาก็ออกจากฌาน และผู้ที่ได้ฌานดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จะเกิดเลือดฝาดหล่อเลี้ยงร่างกายไว้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีฉวีวรรณผุดผ่อง คนที่ได้ฌานนั้น หน้าตาอิ่มเอิบ เบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เศร้าๆ โศกๆ เรามองดูก็น่าดู น่าชม น่ารัก น่านับถือ น่าบูชา เพราะเหตุไร เพราะอำนาจของฌานที่รักษาไว้ อันนี้เป็นลักษณะของฌาน

สรุปแล้วว่า ผู้ที่ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌานแล้ว หากว่าไปเกิดในภพใดภพหนึ่ง ก็ไม่ต้องไปสู่อบายภูมิ คือไม่เกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน เพราะอำนาจของฌานรักษาไว้

เมื่อเราได้สร้างสมอบรมบารมีจนสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณ ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตามบุญญาวาสนาบารมี ที่เราท่านทั้งหลายได้สร้างสมอบรมมา

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ฌาน-สมาบัติ มาโสรจสรงองค์ศรัทธาของท่านทั้งหลาย เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
586  สุขใจในธรรม / ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน / คติจากอนิจจัง : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) เมื่อ: 30 มีนาคม 2561 11:16:23



คติจากอนิจจัง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

... รวมความทั้งหมดนี้ เมื่อพระพุทธศาสนาสูญสิ้นไป ก็ดี ถาวรวัตถุสูญสิ้นไป ก็ดี  มหาอาณาจักรน้อยใหญ่สูญสิ้นทำลายไป ก็ดี ก็ได้คติธรรมตามหลักอนิจจัง ที่เป็นไตรลักษณ์ หลักอนิจจังนั้นให้คติ ๒ อย่างในทางธรรมะ

คติที่ ๑ ก็คือว่า ทำให้เราปลงธรรมสังเวช  การปลงธรรมสังเวช ก็คือ เป็นเครื่องกระตุ้นเตือนภายในใจของเราให้คิดได้  ให้คิดได้ คือให้เห็นคติธรรมดาของสังขารที่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมสลาย และสูญสิ้นไป ถ้าเรารู้เข้าใจคติธรรมดาอย่างนี้แล้ว ใจเราก็จะได้ไม่เศร้าโศกเสียใจ มีใจผ่องใสเบิกบานอยู่ได้ เราไปเห็นสถานที่ทางพุทธศาสนาที่เคยรุ่งเรืองอยู่นานถึง ๑,๗๐๐ ปี ยิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่ทำไมเดี๋ยวนี้สูญสิ้นไป เหลือแต่ซาก บางแห่งซากก็ไม่มีเหลือ อย่างวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล ซากก็หาไม่ได้ วัดบุพพารามที่นางวิสาขาสร้างขึ้น ก็ถูกแม่นํ้าอจิรวดีพัดพาไปหมด ไม่มีเหลือเลยแม้แต่ซาก ถ้าใจของเราไม่รู้เท่าทันไตรลักษณ์ เราก็อาจจะเศร้าโศกมัวหมองก็ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อรู้ธรรมดาของสังขาร ร่องรอยพระพุทธศาสนาในมหาสมุทรแถบอินโดนีเซีย อย่างนี้แล้ว ถึงจะมองเห็นความเกิดขึ้นเสื่อมสูญไป ใจเราก็ผ่องใสเบิกบานอยู่ได้ เป็นอิสระ อันนี้ก็เป็นการปรับใจภายใน ทำใจได้ดี นี้เป็นประการหนึ่งต่อไป

คติที่ ๒ ก็คือว่า เป็นเครื่องเตือนใจให้ได้คิด โดยเป็นบทเรียนให้ไม่ประมาท เพราะสิ่งอย่างนี้ หรือความเสื่อมความสูญสิ้นนั้นไม่ควรให้เกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่ควรให้เกิดขึ้นอีก และไม่ควรให้เกิดขึ้นโดยง่าย คือ ไม่ควรปล่อยหรือไม่ควรยอมให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่เกิดขึ้นมาในอดีต แล้วเป็นเหตุแห่งความเสื่อม สิ่งนั้นเราควรหลีกเลี่ยง สิ่งใดเป็นเหตุแห่งความเจริญ เราก็ช่วยกันสร้างสรรค์ต่อไป

นี่เป็นคติของความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าเมื่อสอน มักสอนทั้ง ๒ อย่างนี้ คือ สอนข้อที่หนึ่ง เพื่อให้ใจของเราเป็นอิสระอยู่ได้ ผ่องใสเบิกบาน ไม่เศร้าโศก และก็สอน  ข้อที่สอง เพื่อให้บทเรียนที่จะทำให้เกิดความไม่ประมาท โดยแสดงออกมาเป็นการกระทำที่จะปรับปรุงภายนอกให้มันดี ให้มันเจริญงอกงามต่อไปด้วย บางทีเราได้อันเดียว พวกหนึ่ง ได้แต่ปรับใจภายใน ทำใจไม่ให้เศร้าโศก แล้วก็ไม่ปรับปรุงข้างนอก เกิดความประมาท ก็ปล่อยปละละเลย ก็เสื่อมอีก มีแต่เสื่อมเรื่อยไปจนสูญหมด ส่วนอีกบางพวก ก็เอาแต่ไม่ประมาท จะต้องแก้ไขปรับปรุง โดยที่ในใจก็อาจจะเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น ต้องให้ได้ทั้ง ๒ อย่าง เมื่อชาวพุทธปฏิบัติธรรมไม่ครบ พุทธศาสนาเองก็จะเสื่อม  หนึ่ง ใจต้องเป็นอิสระ ผ่องใส เบิกบานเสมอ  สอง ต้องได้ความไม่ประมาท ที่จะกระทำการเพื่อหลีกเลี่ยงความเสื่อม และสร้างความดีงาม ความเจริญก้าวหน้าสืบต่อไป นี้ก็เป็นคติที่ได้จากเรื่องสังเวชนียสถาน ที่ผ่านมา ก็เข้ากับคติคำว่า สังเวช ที่อาตมาภาพได้กล่าวมาแล้วว่า สังเวช นั้นแปลว่า กระตุ้นใจให้ได้ความคิด คิดอะไร
- คิดรู้เท่าทันความจริง ปลงใจวางใจได้ อย่างหนึ่ง
- คิดที่จะไม่ประมาท ที่จะเร่งป้องกันและแก้ไขปรับปรุง ให้มีแต่ความเจริญงอกงามมั่นคง และความดีงาม อย่างหนึ่ง นี่ อินเดียก็ผ่านไปแล้ว ความเสื่อม ความพินาศสูญสิ้นก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นบทธรรม และบทสอนธรรมอันยิ่งใหญ่

พระพุทธศาสนาก็อยู่ในประเทศไทย ในโลกเขาก็ยังถือว่าพุทธศาสนานี้เจริญรุ่งเรืองในประเทศไทย ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนา ก็นับว่าเรามีโชคดีที่เป็นที่รองรับเป็นแหล่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา แม้ว่าบ้านเมืองของเรา

พุทธศาสนาบางครั้งจะเจริญบ้างเสื่อมบ้าง เป็นคติธรรมดา แต่เราก็ต้องพยายามช่วยกันรักษาไว้สืบต่อไป เราจะเห็นว่า บางคราวพุทธศาสนาในเมืองเสื่อมไป แต่พระในป่าก็ยังช่วยรักษาพุทธศาสนาไว้ แต่ก็ต้องเตือนพระในป่าท่านเหมือนกันว่า ต้องเอาธุระกับการส่วนรวมด้วย อย่าถือคติไม่ยุ่งไม่เกี่ยว และต้องสอน ต้องชักจูงชาวบ้านให้มีทัศนคติทางธรรมที่ถูกต้อง เอากิจเอาการของส่วนรวม อะไรเข้ามากระทบกระเทือนพระศาสนา ก็ต้องขวนขวายป้องกันแก้ไข พระพุทธศาสนาจึงจะรักษาอยู่ได้ด้วยดี  เป็นอันว่า พุทธศาสนาในเมืองไทยนี้ ก็ให้เราช่วยกันรักษาไว้ แต่การที่จะรักษาด้วยดีนั้นเราก็ต้องเรียนคติที่ได้รับจากอดีต มีบทเรียนมาช่วยด้วย

ความรู้ในอดีตนั่นแหละจะมาช่วยเรา อาตมภาพกล่าวไว้อย่างหนึ่งแล้ว ก็ขอกล่าวเคยพูดไว้ที่หนึ่งว่า การที่จะเข้าใจพุทธศาสนาให้ได้ดีนั้น ไม่ใช่เพราะเรียนหลักคำสอนเท่านั้น จะต้องรู้เหตุการณ์ความเป็นมาด้วย อันนั้นจะช่วยให้เราเข้าใจได้ดีขึ้น เพราะว่าการที่จะเข้าใจคำสอนที่เป็นตัวการหลักของพระพุทธศาสนานั้น องค์ประกอบอย่างหนึ่งก็คือเราจะต้องมีการตีความ คนเรานี้อ่านอะไรก็ตาม เรียนอะไรก็ตาม เราจะมีการตีความด้วย ทีนี้ การตีความนั้น ก็มักจะอาศัยภูมิหลัง คือความรู้ในเหตุการณ์ความเป็นมาของเราเข้าไปประกอบ ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อเราไปอินเดีย เรามีภูมิหลัง มีประสบการณ์ของเรา เราไปพบคนอินเดีย เราก็ตีความตามภูมิหลังของเรา ชาวอินเดียโคลงหัว เรานึกว่าเขาปฏิเสธ นี่ก็คือตีความตามภูมิหลังประสบการณ์ที่เรามี แต่อินเดียเขาโคลงหัว หมายความว่า เขารับใช่ไหม มันตรงข้าม เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้เหตุการณ์ความเป็นไป ภูมิหลังวัฒนธรรมของอินเดียด้วย เราจึงจะเข้าใจถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ความหมายทางคำสอนก็ต้องเรียนด้วย ต้องประกอบกันทั้งคู่ ไม่เช่นนั้นการตีความก็อาจจะผิด เช่นอย่างในเรื่องพระผู้ที่ตีความไปตามเหตุการณ์ หรือตามประสบการณ์ ถ้าถามว่าความหมายของ สมณะคืออะไร สมณะในพุทธศาสนาคืออะไร สมณะมีความหมายว่าอะไร ถ้าเราไม่มีหลัก ก็อาจจะยุ่ง ภาพของความเป็นสมณะอยู่ที่ไหน พวกหนึ่งอาจจะมองว่า พระ ได้แก่ผู้มีฤทธิ์ มีปาฏิหาริย์ อยู่ที่ขลัง อย่างนี้ก็มี หมายถึงว่า ถ้าเป็นพระ เป็นนักบวช ก็ต้องเป็นผู้มีฤทธิ์ มีปาฏิหาริย์ พวกนี้ก็จะหวังฤทธิ์ หวังปาฏิหาริย์จากพระ ทีนี้ บางคนในสมัยปัจจุบัน อาจจะมองพระเป็นนักเรี่ยไรก็ได้ ถ้าเห็นพระก็ว่า นักเรี่ยไรมาแล้ว มีหวังจะเสียเงินอีกแล้ว


ที่มา : จากหนังสือ ตามทางพุทธกิจ หน้า ๑๕๒ - ๑๕๗ ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
587  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 30 มีนาคม 2561 09:25:51



สมาบัติ

การเข้าอยู่ใน ฌาน หรือการเข้าอยู่ใน ผล หรือการเข้าอยู่ใน นิโรธ เรียกว่า สมาบัติ

การเข้าสมาบัติ อุปมาเหมือนกันกับหลบความร้อนเข้าไปอยู่ในบ้านที่ตนสร้างไว้ดีแล้ว หรืออุปมาเหมือน อาบน้ำเย็นๆ

สมาบัตินั้น มีอยู่ ๓ ประการ คือ

๑. ฌานสมาบัติ การเข้าอยู่ในฌาน ผู้จะเข้าฌานสมาบัติ ต้องเป็นผู้เจริญสมถกัมมัฏฐาน มีบัญญัติเป็นอารมณ์ และได้ฌานตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป จนถึงจตุตถฌาน

ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ที่ทำฌานได้มีอยู่ ๓๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูปกัมมัฏฐาน ๔ รวมกัมมัฏฐานทั้ง ๓๐ ประการนี้ สามารถทำฌานได้ เพราะเป็นกัมมัฏฐานที่ปรากฏชัด อันจิตและเจตสิกสามารถแอบสนิทตั้งอยู่ได้นาน

อีก ๑๐ ประการนอกจากนี้ ทำได้เพียงอุปจารสมาธิ อุปจารฌานเท่านั้น ไม่สามารถทำได้ถึงอัปปนาสมาธิถึงฌานได้ เพราะกัมมัฏฐานทั้ง ๑๐ ประการนั้น เป็นกัมมัฏฐานที่ละเอียดสุขุมคัมภีรภาพ อันจิตและเจตสิกไม่สามารถแอบสนิทตั้งอยู่ได้นาน

สำหรับกัมมัฏฐานทั้ง ๓๐ ประการ ที่ทำฌานได้นั้น ก็ยังมีอานุภาพต่างๆ กัน คือ

กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ ทำให้ได้ถึงจตุตถฌาน(จตุกกนัย)

อุเบกขาพรหมวิหาร ได้เฉพาะจตุตถฌานอย่างเดียว

เมตตา กรุณา มุทิตา ทั้ง ๓ ประการนี้ ทำได้ถึงตติยฌาน (ตามจตุกกนัย มีองค์ ๒ คือ สุขและเอกัคคตา)

อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ ทำให้ได้เพียงปฐมฌาน

ผู้ได้ฌาน เมื่อจะเข้าสมาบัตินั้น โดยมาคิดเห็นความทุกข์ยากลำบากที่จะต้องรับรู้ปริตตารมณ์ คืออารมณ์เล็กๆ น้อยๆ สู้มหัคคตารมณ์ คืออารมณ์ในฌานไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงนำเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง อันถูกกับอัธยาศัยของตนขึ้นมาบริกรรม จนเกิดอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต เป็นอุปจารสมาธิ ได้ถึงอัปปนาสมาธิ มีองค์ฌานประกอบ ข่มนิวรณ์ธรรมเสียได้ เป็นไปตามฌานชวนวิถี คือบริกรรมแล้วขึ้นสู่อนุโลม จากอนุโลมขึ้นสู่โคตรภูฌาน ข้ามโคตรกาม ถึงฌาน แล้วแน่วแน่อยู่ในพระกัมมัฏฐาน

ตัวอย่าง การกำหนดอาการพองอาการยุบ โดยภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธๆ เพ่งนิ่งอยู่กับอาการพอง อาการยุบ จนดับอารมณ์ทั้งปวงเสียได้ ใจก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยินเสียง ไม่มีง่วง ลืมจากอารมณ์ทั้งปวงเสียสิ้น มีแต่อิ่มใจอยู่ในฌานสุข แน่แน่วอยู่อย่างนั้น การเพ่งไม่ยอมปล่อยวางอยู่เช่นนี้ ชื่อว่า ฌานสมาบัติ การเข้าอยู่ในฌาน เป็นสันติสุขอยู่ในโลกนี้โดยแท้

ส่วนอรูปกัมมัฏฐาน ๔ นั้น ย่อมทำให้อรูปฌานเกิดขึ้นได้

จึงเป็นอันว่า ในกัมมัฏฐานทั้ง ๓๐ ประการ ที่ให้ได้ฌานนั้น กัมมัฏฐาน ๒๖ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ พรหมวิหาร ๔ ให้สำเร็จรูปฌาน ส่วนอรูปกัมมัฏฐาน ๔ นั้น ให้สำเร็จเฉพาะอรูปฌาน

ทั้งรูปฌานและอรูปฌานนี้ เป็นโลกิยฌาน โลกิยสมาบัติ มีอยู่ ๘ ประการ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ซึ่งแยกออกแล้ว ก็เป็น ๒ ประเภท คือ

๑) อารัมมณูปนิชฌาน การเข้าไปเพ่งบัญญัติ ๔๐ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งจนได้ฌาน

๒) ลักขณูปนิชฌาน คือฌานที่เพ่งรูปนาม เพ่งพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนดังท่านทั้งหลายปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ ถ้าได้ฌานเพราะการเพ่งรูปนาม เพ่งพระไตรลักษณ์อย่างนี้ เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน

ฌานที่บุคคลได้แล้วนั้น เมื่อจะจุติจากโลกนี้ไป ฌานไม่เสื่อม จุติด้วยอำนาจฌาน ก็จะไปบังเกิดในพรหมโลก ดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นตามกำลังของฌาน หมดอำนาจของฌานเมื่อไรแล้ว ก็จุติจากพรหมโลก มาเกิดในเทวโลกหรือมนุษยโลก อย่างใดอย่างหนึ่งตามอำนาจของบุญกรรมที่สั่งสมอบรมไว้

พรหมสิ้นบุญ จุติจากพรหมโลกในชาติที่ ๑ นี้ จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิเป็นอันขาด เพราะอานิสงส์ของฌานยังรักษาไว้อยู่ แต่เมื่อมาเกิดในมนุษย์ หรือเกิดในเทวโลกแล้ว มีความประมาท ทำบาปทำกรรมต่อไปอีก หรือบาปกรรมเก่าให้ผล จึงจะไปสู่อบายภูมิในชาติต่อๆ ไป

เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้เข้าใจว่า แม้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา หากทำบาปทำกรรมแล้ว ก็ไม่พ้นจากอบายภูมิได้ ยกเว้นพระอนาคามีเสีย ผู้ไปเกิดในพรหมโลก จุติจากพรหมโลกแล้ว เว้นชาติที่ ๑ หรือชาติที่ ๒ ที่ ๓ แล้ว ก็ยังมีโอกาสไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานได้อยู่ หากว่าเกิดความประมาท

เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราทั้งหลาย ผู้มีความมุ่งหวังตั้งใจ อยากจะพ้นจากอบายภูมิ เหมือนดังโจรที่ไม่ต้องการจะไปอยู่ในเรือนจำ ติดคุก ติดตะราง อยากมีความสุข อยากมีอิสระด้วยกัน ฉะนั้น

สรรพสัตว์ทั้งหลายก็เหมือนกันทุกตัวตน ไม่ต้องการที่จะไปตกนรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราจึงได้สละความสุขทุกอย่างทางเนื้อหนัง ต้องข่มจิตข่มใจเจริญวิปัสสนาภาวนา เพราะเหตุว่า หนทางที่จะปิดประตูอบายภูมิได้นั้น มีหนทางเดียว คือได้แก่ การเจริญพระวิปัสสนาภาวนา จนได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันขึ้นไปแล้ว จึงจะสามารถปิดประตูอบายภูมิได้

๒. ผลสมาบัติ คือการเข้าอยู่ในอารมณ์ของพระนิพพาน ที่ได้จากอริยมัคคญาณที่เกิดขึ้นแล้ว ผลสมาบัตินี้ ปุถุชนทั่วไปเข้าไม่ได้ แม้ว่าจะได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ แล้วก็ดี ก็ไม่อาจที่จะเข้าผลสมาบัติได้ เข้าได้เฉพาะพระอริยบุคคลเท่านั้น

พระอริยบุคคลผู้ที่เข้าผลสมาบัติได้นั้น ก็เข้าได้เฉพาะผลของตนเท่านั้น เช่น

ผู้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว จะมาเข้าผลสมาบัติของพระอนาคามีก็ไม่ได้ พระอนาคามีจะเข้าผลสมาบัติของพระสกทาคามีก็ไม่ได้ พระสกทาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระอนาคามีก็ไม่ได้ พระสกทาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระโสดาบันก็ไม่ได้ หรือ พระโสดาบันจะไปเข้าผลสมาบัติของพระสกทาคามีก็ไม่ได้ พระอนาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระอรหันต์ก็ไม่ได้

เพราะผลสมาบัติเป็นของใครของมัน เข้าของกันไม่ได้ อุปมาเหมือนกับพระราชาของเทวดาทั้งหลาย ย่อมมีทิพยสมบัติอันเป็นของส่วนพระองค์ เทวดาองค์อื่นนั้นไม่มีสิทธิ์ ไม่มีอำนาจใดๆ จะมาเสวยทิพยสมบัติของเทวราชานั้นได้ ข้อนี้ฉันใด แม้ผลสมาบัติก็เหมือนกันฉันนั้น เข้าได้เฉพาะของตนเอง เข้าของคนอื่นไม่ได้

การเข้าผลสมาบัตินั้น ความสุขที่ได้รับเป็นโลกุตตรสุข คือเป็นสุขที่พ้นจากกามโลก รูปโลก อรูปโลก เป็นความสุขที่พ้นจากโลกิยะทั้งหลายทั้งปวง เป็นความสุขที่เรียกว่า นิรามิสสุข ความสุขที่ไม่อิงอามิส เป็นความสุขที่อิงเนกขัมมะ

ท่านทั้งหลาย การที่เราจะถึงพระนิพพานนั้น ไม่ใช่ว่าตายแล้วจะไปถึงพระนิพพาน เราต้องถึงกันเดี๋ยวนี้เสียก่อน คือในภพนี้ชาตินี้ก็ต้องประพฤติปฏิบัติให้บรรลุอริยมรรคอริยผลเสียก่อน การบรรลุอริยมรรคอริยผลก็หมายความว่า จิตของเราเข้าสู่กระแสของพระนิพพานแล้ว เห็นพระนิพพาน ๑ ขณะจิตบ้าง ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง

คือจิตของเราเข้าถึงกระแสพระนิพพานแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ ๑ ขณะจิต หมายเอาเฉพาะมัคคจิต ถ้ารวมผลจิต ก็เข้าถึงพระนิพพาน ๓ ขณะจิตบ้าง ๔ ขณะจิตบ้าง อย่างนี้ชื่อว่า จิตของเราเข้าถึงโลกุตตรภูมิแล้ว

การที่จะเข้าผลสมาบัตินั้น โดยที่พระอริยเจ้ามาพิจารณาเห็นว่าความสุขในชั้นโลกิยะนี้ เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ สู้ความสุขในชั้นโลกุตตระไม่ได้ เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว ก็ยกเอา รูป นาม พระไตรลักษณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นมาเป็นตัวกำหนด จนสติสัมปชัญญะทันปัจจุบันรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นตามลำดับๆ ตั้งแต่อุทยัพพยญาณที่ ๔ ขึ้นไปถึงอนุโลมญาณแล้วผ่านโวทาน ดับอารมณ์โลกิยะ ถึงผลสมาบัติ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์

การเข้าสมาบัติโดยพิจารณารูปนาม เกิดวิปัสสนาญาณตามลำดับ จนถึงผลสมาบัตินั้น มัคคจิตเกิดไม่ได้ หมายความว่า แม้จะได้อัปปนาสมาธิเพราะอำนาจของวิปัสสนาดังกล่าวแล้วก็ตาม อัปปนาสมาธินั้นจะไม่เกิดในลำดับมัคควิถีเป็นอันขาด อัปปนาสมาธิที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นในลำดับผลชวนวิถี คือเกิดในลำดับแห่งผล เมื่อเข้าถึงที่แล้วก็เป็นผลสมาบัติ เหตุที่มัคคจิตไม่เกิดขึ้นนั้น เพราะว่าอัชฌาสัยน้อมไปในผลสมาบัติแล้ว

การเข้าผลสมาบัตินั้น เป็นทิฏฐธัมมสุขวิหาร เป็นบรมสุขในปัจจุบันนี้โดยแท้ เป็นพระนิพพานอันสืบเนื่องมาแต่อารมณ์ของผลจิต

อนึ่ง พระอริยเจ้า เมื่อแรกได้บรรลุอริยมรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ตั้งอยู่ในปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา อริยผลที่ต่อเนื่องมาในมัคควิถีก็เป็นปฐมฌานด้วย และเมื่อเข้าสมาธิ ผลจิตอันมีพระนิพพานเป็นอารมณ์นั้นก็เป็นปฐมฌานเช่นเดียวกัน

หากว่าอริยมรรคที่ได้นั้นประกอบด้วยทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน อันใดอันหนึ่ง เมื่อเข้าสู่ผลสมาธิ ก็เข้าด้วยฌานนั้นๆ (องค์ฌาน เมื่อแสดงตามปัญจกนัย : ทุติยฌานมีองค์ ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา, ตติยฌานมีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา, จตุตถฌานมีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา, ปัญจมฌาน มีองค์ ๒ คือ เอกัคคตา อุเบกขา)

สภาวะที่ตั้งอยู่ในผลสมาบัติ คือ ไม่เอาใจใส่ในนิมิตทั้งปวง ได้แต่พระนิพพานเป็นอารมณ์นั้น ตั้งอยู่ด้วยหลัก ๓ ประการ คือ

๑) ไม่เอา รูป นาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์

๒) กำหนดเวลาเข้า และกำหนดเวลาออก

๓) เมื่อยังไม่หมดเวลาที่กำหนดไว้ ก็ยังอยู่ในผลสมาบัติ จนกว่าจะหมดเวลา

ในการที่จะออกจากผลสมาบัตินั้น เมื่อจะออกจากผลสมาบัติ จิตก็จะได้ อารมณ์ นิมิต รูปนาม อันใดอันหนึ่ง มีกรรมนิมิต เป็นต้น ซึ่งเป็นอารมณ์แห่งภวังคจิต อันติดมาแต่แรกปฏิสนธิในปัจจุบันภพนี้ เมื่อจิตไปยึดเอาอารมณ์นิมิตนั้นแล้ว ก็จะพรากจากอารมณ์ของพระนิพพาน ถอยมาสู่อารมณ์ปัจจุบัน เหมือนในขณะนี้

การเข้าผลสมาบัตินั้น ก็คือการเข้าอยู่ในอารมณ์ของพระนิพพาน ซึ่งผู้ปฏิบัติได้บรรลุแล้ว เห็นแล้ว ซึ่งในขณะนั้น ผลจิตจะเกิดขึ้นติดต่อกัน โดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ดังนั้น ผลจิตจึงได้เกิดขึ้นในหลายลำดับ

ผลจิตนี้ บางทีเกิดขึ้นในลำดับแห่งมรรคก็มี หมายความว่า ในขณะที่บรรลุมรรคผลนิพพานนั้น มัคควิถีย่อมเกิดขึ้นตามลำดับ คือ บริกรรม อุปจาระ อนุโลม โคตรภู แล้วมัคคจิตก็จะเกิดขึ้น หลังจากนั้น ไม่มีอะไรมาคั่นในระหว่างกลาง ผลจิตก็จะเกิดขึ้นทันที ผลจิตดวงนี้ เรียกว่า เกิดขึ้นในลำดับแห่งมรรค

อีกอย่างหนึ่ง ผลจิตเกิดขึ้นในลำดับแห่งผลก็มี หมายความว่า เมื่อผลจิตเกิดขึ้นต่อจากมัคคจิต โดยไม่มีระหว่างคั่นแล้ว ถ้าเป็นมันทบุคคล ผลจิตก็จะเกิดขึ้นอีกหนึ่งขณะ ถ้าเป็นติกขบุคคล ผลจิตก็จะเกิดขึ้นต่อไปอีก ๒ ขณะ ผลจิตที่เกิดขึ้นต่อจากผลจิตดวงแรก ที่ต่อจากมัคคจิตนั้น ชื่อว่า ผลจิตเกิดขึ้นในลำดับแห่งผล คือผลในดวงหลังๆ เกิดในลำดับแห่งผลดวงก่อนๆ

บางที ผลจิตเกิดขึ้นในลำดับแห่งโคตรภูก็มี อันนี้หมายถึงการเข้าผลสมาบัตินั่นเอง หมายความว่า เมื่อต้องการจะเข้าผลสมาบัติ ก็ตั้งใจกำหนดรูปนาม จนเห็นพระไตรลักษณ์ เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นตามลำดับๆ ผลจิตดวงแรกนั้นก็เกิดในลำดับแห่งโคตรภู ซึ่งเป็นอนันตรปัจจัยมาจากอนุโลมจิต อนุโลมจิตของพระอรหันต์ ก็เป็นอนันตรปัจจัยแก่ผลสมาบัติของพระอรหันต์ อนุโลมจิตของพระเสขบุคคลก็เป็นอนันตรปัจจัยแก่ผลสมาบัติของพระเสขบุคคล (อนันตรปัจจัย แปลว่า ธรรมที่ช่วยอุดหนุนโดยไม่มีระหว่างคั่น อนึ่ง คำว่า โคตรภู ในผลสมาบัติวิถีนั้นไม่เรียกชื่ออย่างนั้น คงมีแต่ชื่อว่า อนุโลม เหมือนกันทั้งหมด)

บางที ภวังคจิตเกิดในลำดับแห่งผลก็มี หมายความว่า หลังจากที่ผลจิตเกิดขึ้นครบกำหนด ๒ หรือ ๓ ขณะจิตในมัคควิถี หรือหลังจากเข้าผลสมาบัติครบตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ ผลจิตที่เกิดติดต่อกันมา ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายแล้วดับลง ต่อจากนั้นภวังคจิตก็จะเกิดขึ้นต่อกันทันที คือออกจากผลสมาบัติแล้วจิตก็จะลงสู่ภวังค์ อย่างนี้เรียกว่า ภวังคจิตเกิดในลำดับแห่งผล

บางที ผลจิตเกิดในลำดับแห่งเนวสัญญานาสัญญายตนะก็มี อันนี้หมายถึงผลจิตที่เกิดขึ้น อยู่ในนิโรธสมาบัติวิถี คือเมื่อจะเข้านิโรธสมาบัติ ต้องเข้าฌานสลับกับเจริญวิปัสสนา ตั้งแต่ขั้นปฐมฌานเป็นต้นมาตามลำดับจนถึงฌานขั้นสุดท้าย คือเนวสัญญานาสัญญายตนะ

เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ จะเกิดขึ้นเพียง ๒ ขณะจิต แล้วต่อจากนั้นก็จะเป็นนิโรธสมาบัติ เมื่อจะออกจากนิโรธสมาบัติ ก็เกิดผลจิตขึ้น ๑ ขณะ แล้วจิตจึงลงสู่ภวังค์ ผลจิตที่เกิดขึ้นภายหลังเนวสัญญานาสัญญายตนะอย่างนี้ เรียกว่า ผลจิตเกิดในลำดับแห่งเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะว่านิโรธสมาบัติที่เกิดขึ้นในระหว่างกลางนั้น เป็นการดับจิตและเจตสิกไปหมด จึงไม่นับว่ามีจิตอื่นคั่นในระหว่าง

๓. นิโรธสมาบัติ คือการเข้าอยู่ในความดับจิต และดับเจตสิก หมายถึงการเข้าฌานตามลำดับ ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้น

เมื่อออกจากปฐมฌานแล้ว ก็พิจารณาปฐมฌานจิตและเจตสิกที่ดับไปแล้ว โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจึงเข้าทุติยฌาน ออกมาก็พิจารณาทุติยฌานจิตและเจตสิกที่ดับไปแล้ว โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจึงเข้าตติยฌาน ออกมาก็พิจารณาตติยฌานจิตและเจตสิกที่ดับไปแล้ว โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำอย่างนี้เรื่อยๆ ไปทุกๆ ฌาน จนกระทั่งถึงอากิญจัญญายตนฌาน

เมื่อออกจากอากิญจัญญายตนฌานแล้ว ไม่ต้องเจริญวิปัสสนา คือไม่ต้องพิจารณาให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ต้องทำบุพพกิจ ๔ ประการ คือ

๑) อธิษฐานว่า บริขารทั้งหลายทั้งปวง อย่าได้เป็นอันตรายไป ด้วยอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

๒) อธิษฐานว่า ถ้าในระหว่างที่อยู่ในนิโรธสมาบัตินี้ ถ้ามีประชุมสงฆ์ สงฆ์ต้องการตัว ก็ให้ออกจากสมาบัติเถิด

๓) อธิษฐานว่า ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะรับสั่งหา ก็ให้ออกจากสมาบัติเถิด

บุพพกิจข้อ ๓ นี้ ในปัจจุบันนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องทำ เพราะพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานไปแล้ว

๔) ต้องพิจารณาอายุสังขารของตน ถ้าอายุสังขารจะเป็นไปไม่ได้เกิน ๗ วัน ไม่ควรเข้านิโรธสมาบัติ

ในบุพพกิจทั้ง ๔ ข้อนี้ ๓ ข้อต้นไม่ต้องทำก็ได้ แต่ข้อ ๔ ผู้เข้านิโรธที่อยู่ในมนุสสภูมิต้องทำ ถ้าอยู่ในรูปภูมิ ไม่ต้องทำบุพพกิจก่อนเลยก็ได้

หลังจากทำบุพพกิจเสร็จแล้วก็เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็เกิดขึ้น ๒ ขณะ โดยมีวิถีจิตเกิดดังนี้ คือ บริกรรม อุปจาระ อนุโลม โคตรภู แล้วเนวสัญญานาสัญญายตนะก็เกิดขึ้น ๒ ขณะ ต่อจากนั้น จิตเจตสิก จิตตชรูป (รูปที่เกิดจากมีจิตเป็นเหตุให้เกิด) ก็ดับลง เป็นอันว่าสำเร็จการเข้านิโรธสมาบัติทุกประการ

ในมนุสสภูมินี้ สามารถที่จะเข้าอยู่ในนิโรธสมาบัติได้ถึง ๗ วัน โดยไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต เพราะอาหารที่บริโภคเข้าไปแล้ว เกิดเป็นโอชะหล่อเลี้ยงร่างกายไว้ ส่วนในรูปภูมิ สามารถเข้าได้โดยไม่จำกัด และเมื่อออกจากนิโรธ ผลจิตย่อมเกิดขึ้นก่อน ๑ ขณะ

ต่อจากนั้นก็จะได้อารมณ์นิมิตรูปนามอันใดอันหนึ่ง มีกรรมนิมิตเป็นต้น ซึ่งเป็นอารมณ์ของภวังคจิต ที่ติดมาแต่แรกปฏิสนธิในปัจจุบันภพนี้ เมื่อจิตยึดเอาอารมณ์นิมิตนั้นแล้ว ก็จะพรากออกจากอารมณ์ของพระนิพพาน ถอยมาสู่อารมณ์ปัจจุบัน คือหมายความว่า เมื่อจะออกจากนิโรธสมาบัติ ก็เกิดผลจิตขึ้น ๑ ขณะ แล้วจิตก็ลงสู่ภวังค์ เปลี่ยนจากอารมณ์พระนิพพาน มาเป็นอารมณ์ของภวังค์ มีกรรมนิมิตอารมณ์ เป็นต้น

การเข้านิโรธสมาบัตินี้ เข้าได้เฉพาะพระอนาคามีและพระอรหันต์ที่เป็นฌานลาภีบุคคลเท่านั้น คือต้องได้สมาบัติ ๘ ด้วย ถ้าเป็นพระอนาคามี หรือพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ ที่ไม่ได้ฌาน ไม่ได้สมาบัติมาก่อน ก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ สมาบัติหรือฌานนี้ ได้ด้วยการเคยเจริญสมถกัมมัฏฐานมาก่อน หรือเกิดขึ้นมาพร้อมตอนได้บรรลุมรรคผล ก็ใช้ได้เหมือนกัน

ผู้ที่จะเข้านิโรธสมาบัติ ต้องประกอบด้วยปัญญาวสีสามารถชำนาญใน สัมปทา ๔ คือ

๑) มีกำลังในวิปัสสนา และมีกำลังในสมถะ

๒) ระงับไตรพิธสังขาร คือ กายสังขาร ระงับลมหายใจเข้าออก วจีสังขาร ระงับวิตกวิจาร จิตตสังขาร ระงับสัญญาเวทนา เสียได้

๓) ประพฤติเป็นไปในโสฬสญาณ คือต้องผ่านญาณ ๑๖ มาแล้ว จนได้เป็นพระอนาคามี หรือพระอรหันต์

๔) ประพฤติเป็นไปใน นวานุปุพพวิหารสมาบัติ คือต้องได้สมาบัติ ๘ มาแล้ว จึงจะขึ้นสู่สมาบัติที่ ๙ ซึ่งเรียกว่า สัญญาเวทยิตนิโรธได้

การเข้าสู่สมาบัตินั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของ ผีเข้าเจ้าทรง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการสะกดจิต ไม่ใช่เป็นการนอนหลับ และในขณะที่เข้าอยู่ในสมาบัตินั้น จะเป็นฌานสมาบัติก็ตาม ผลสมาบัติก็ตาม นิโรธสมาบัติก็ตาม ไม่ใช่ว่า จิตลงสู่ภวังค์ หรืออยู่ในภวังค์

ส่วนมากนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายเข้าใจผิดว่า การเข้าฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี หรือนิโรธสมาบัติก็ดี ก็คือจิตเข้าสู่ภวังค์ ถ้าเข้าใจดังนี้ ชื่อว่าเข้าใจผิด เพราะการที่คนทั้งหลายนอนหลับสนิท จึงชื่อว่า จิตลงสู่ภวังค์ ถ้าจิตขึ้นจากภวังค์ก็เรียกว่า ตื่น ถ้าว่าการเข้าสมาบัติก็คือจิตเข้าสู่ภวังค์แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติให้เหน็ดเหนื่อย เพราะว่าตั้งแต่เราปฏิสนธิมาจนถึงบัดนี้ เรานอนทุกวันทุกคืน จิตก็เข้าสู่ภวังค์ทุกวัน ทุกคืนอยู่แล้ว

สรุปว่า การเข้าฌานสมาบัติ ก็คือ การที่จิตประกอบด้วยองค์ฌาน มีพระกัมมัฏฐานที่ตนใช้บริกรรมเป็นอารมณ์

การเข้าผลสมาบัติ ก็คือ การที่จิตประกอบไปด้วยองค์ฌาน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

การเข้านิโรธสมาบัติ ก็คือ การที่จิต เจตสิก และจิตตชรูป (รูปที่เกิดจากจิต) ดับลง เป็นสภาพที่ปราศจากรูปนามโดยแท้ เป็นการเข้าสู่พระนิพพานในปัจจุบันนี้เลยทีเดียว ต่างจากผลสมาบัติ คือผลสมาบัตินั้นเป็นเพียงจิต คือผลจิต มีพระนิพพานเป็นอารมณ์เท่านั้น

อนึ่ง ในการเข้าฌานสมาบัติ นั้น จิตที่ประกอบด้วยองค์ฌานมี วิตก วิจาร เป็นต้น เป็นกุศลชาติ เป็นกุศลจิต เป็นตัวกรรมที่สามารถให้เกิดผลได้ แต่การเข้าผลสมาบัติ จิตคือผลจิตประกอบด้วยองค์ฌานมี วิตก วิจาร เป็นต้นนั้น เป็นวิปากชาติ เป็นวิปากจิต เป็นตัวผลของกรรมที่ได้รับผลมาจากได้บรรลุถึงมัคคจิต จึงมิได้เป็นตัวส่งผลที่จะให้ไปเกิดในภพภูมิใดๆ ตัวผลจิตเองเป็นผลที่ได้รับเท่านั้น

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะ ในเรื่อง สมาบัติ มา ก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.

พระราชปริยัตยากร
588  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 28 มีนาคม 2561 13:02:39



สมาธิ (๒) - ต่อ

เหตุนั้น เมื่อเราฝึกสมาธิ เราจะจับที่ต้นลม หรือที่สุดลมก็ได้ เราทำอยู่อย่างนี้ร่ำไป ผลสุดท้ายก็จะทำให้จิตใจของเราเป็นสมาธิ สามารถทำสมาธิได้ตามความต้องการของเรา

ทีนี้ประโยชน์ของสมาธิที่เราได้ฝึกนั้น มีประโยชน์หลายสิ่งหลายประการ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และจะรู้สึกแปลกใจ ครั้งแรกๆ ก็จะเกิดความแปลกใจอยู่ ธรรมดา คือจิตใจของเรานั้นจะเกิดอาการดิ้นรนนานัปการ คือเมื่อก่อนโน้น เราปล่อยใจให้เป็นไปตามธรรมชาติ คิดเรื่องอดีตอนาคต ร้อยแปดพันประการ

แต่ขณะที่เรามาฝึกสมาธินี้ เราตั้งใจฝึกจิตของเราให้อยู่กับอาการพองอาการยุบ อยู่กับลมหายใจเข้าหายใจออก เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของเราก็จะเกิดความดิ้นรน พยายามจะออกไปภายนอกร่างกาย เมื่อได้ยินเสียงภายนอก จิตก็จะไปเกาะอยู่กับเสียงนั้น หรือเมื่อเราเห็นรูป จิตก็จะออกไปเกาะอยู่กับรูปนั้น ทำให้กระวนกระวาย ไม่สามารถจะสงบได้ง่ายๆ บางครั้งอาจทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ หรือเกียจคร้านขึ้นมาก็มี บางทีก็ทำให้เกิดความผิดหวังขึ้นมา

ถ้าเราพยายามอดทนและปฏิบัติไปเรื่อยๆ อย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง เช้าและเย็น เป็นเวลาสัก ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๓๐ นาทีบ้าง ดังที่เราทั้งหลายเคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ก็จะทำให้สามารถเพิ่มพูนสมาธิจิตให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อการประพฤติปฏิบัติดำเนินไปได้เป็นเวลานานพอสมควร จะทำให้เกิดความชำนาญ มีผลทำให้เกิดความสงบทางจิตใจ และมีพลังจิตสูงขึ้นตามลำดับๆ

ข้อสำคัญคือ อย่าลืมว่า ถ้าการปฏิบัตินี้ปราศจากสติสัมปชัญญะคอยควบคุมกำกับแล้ว จะปราศจากความตั้งใจที่แน่วแน่ จะไม่สามารถทำให้เกิดสมาธิจิตได้เลย สมาธิเป็นธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว คือทุกคนเกิดขึ้นมาแล้ว มีสมาธิด้วยกันทุกคน แต่จะมีมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่ที่พื้นเพ และสิ่งแวดล้อม ถ้ามีพื้นเพดีและสิ่งแวดล้อมดี ก็จะทำให้จิตใจของเรามีสมาธิได้ง่าย

สมมติว่า ภายในครอบครัวของเรานี้ ครอบครัวของเราไม่ค่อยทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่ค่อยผิดเถียงกัน อะไรๆ เกิดขึ้นก็ลงเอยกันด้วยดี เข้าใจกันได้ดี อันนี้เรียกว่า พื้นเพของเราดี อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติจิตใจของเราก็เป็นธรรมชาติที่เยือกเย็นสุขุมลึกซึ้งอยู่แล้ว ประกอบกับสิ่งแวดล้อมคือ บรรดาญาติมิตร ครอบครัวของเราทุกคนล้วนแต่สนใจในเรื่องการทำสมาธิ ภายในบ้านของเราทุกคนสนใจเรื่องการประพฤติปฏิบัติ ในวัดของเราสนใจในการประพฤติปฏิบัติ อย่างที่วัดของเรา หรือบ้านของเรานี้ เรียกว่า สิ่งแวดล้อมดี พื้นเพบางอย่างในครอบครัวอาจจะไม่ดี แต่สิ่งแวดล้อมดี ถ้าสิ่งแวดล้อมดีอย่างเดียว แต่ภายในครอบครัวพื้นเพไม่ดี ก็ไม่สามารถทำสมาธิได้ตามความต้องการ แต่ถ้าว่าพื้นเพดี แต่สิ่งแวดล้อมไม่ดี ก็ไม่สามารถทำสมาธิได้ตามความต้องการเช่นกัน

เมื่อเราประกอบกันทั้งสองอย่าง คือพื้นเพดีด้วย สิ่งแวดล้อมดีด้วย ก็พลอยให้การทำสมาธิมีผลที่ดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสมาธิที่ได้ก็เป็นสมาธิที่ถูกต้อง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายสิ่งหลายประการ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

สมาธินี้ นอกจากจะใช้ในการรักษาโรคแล้ว ยังเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดพลังเกิดอานุภาพ คือ เกิดวิชชา เกิดปฏิสัมภิทา เกิดอภิญญาได้ เช่น

๑. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือระลึกชาติหนหลังได้ ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาระลึกชาติหนหลังได้

๒. จุตูปปาตญาณ ปัญญารู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นได้

๓. อาสวักขยญาน ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

นี้ผลก็เกิดจากสมาธิ ถ้าเราไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจะทำวิชชาทั้ง ๓ ประการนี้ให้เกิดขึ้นได้เลย หรือคนที่แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา ก็เกิดขึ้นจากสมาธิ

ถ้าคนไม่ได้สมาธิถึง ๘ ขั้น หรือสมาบัติ ๘ จะไม่สามารถทำปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ให้เกิดขึ้นได้เลย เพียงเราได้รูปสมาบัติ ๔ คือได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ก็ไม่สามารถจะทำให้เกิดสมาบัติ ­๘ ได้ ปฏิสัมภิทา ๔ จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเราได้สมาบัติ ๘ คือได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔

เมื่อทำได้ดังนี้แล้ว สามารถจะทำให้เกิดปฏิสัมภิทา ๔ ได้ ส่วนคนที่ได้อภิญญา ๖ เช่นว่า มีหูทิพย์ ตาทิพย์ แสดงฤทธิ์ได้ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป ก็เกิดจากสมาธิ ถ้าเราไม่มีสมาธิแล้ว อภิญญาจิตทั้ง ๖ ประการก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้เลย

สรุปความว่า สมาธินี้มีประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต มีประโยชน์ตั้งแต่ขั้นต่ำที่สุดจนถึงขั้นสูงที่สุด

ขั้นต่ำ ก็สามารถใช้ในการประกอบการงาน สามารถใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ให้หายไปได้

ขั้นกลาง ก็สามารถทำให้จิตใจสงบสุข ปราศจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ เมื่อจุติเพราะจิตดวงนี้ ก็สามารถไปบังเกิดในพรหมโลกได้ ตามกำลังของสมาธิ

ขั้นสูง สามารถทำให้เกิดปัญญา สามารถนำไปทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากขันธสันดาน สามารถได้บรรลุอริยมรรค อริยผล เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็เพราะอาศัยสมาธิเป็นพื้นฐาน อบรมบ่มปัญญาให้เกิดขึ้นจนสามารถได้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพราะอาศัยสมาธิ เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายอย่าได้ประมาท พยายามทำให้สมาธิเกิดขึ้นมาในขันธสันดานของตน

ขอให้ภูมิใจดีใจว่า เราเกิดมาในภพนี้ชาตินี้ เป็นโชคดีของเราแล้วหนอ ที่พื้นเพและสิ่งแวดล้อมภายในบ้านของเราดีครบหมดทุกอย่าง มีโอกาสได้บำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล มีโอกาสได้ฝึกสมาธิ มีครูบาอาจารย์เป็นผู้ช่วยแนะนำ ชี้แนะแนวทางให้ในการประพฤติปฏิบัติ ไม่เสียชาติเกิด ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา แล้วยังได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรมขั้นสูง

ขอให้เราได้นึกถึงคุณงามความดีของเราอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา จะได้เกิดความอุตสาหะในการบำเพ็ญคุณงามความดีในการฝึกสมาธิ

เอาล่ะท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำธรรมะเรื่องสมาธิ มาบรรยาย เพื่อประกอบการปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายในวันนี้ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.


พระราชปริยัตยากร
589  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 28 มีนาคม 2561 13:00:46



สมาธิ (๑)

ท่านผู้ใจบุญทั้งหลาย วันนี้ ตามกำหนดการของพวกเรา ก็ถือว่าเริ่มฝึกสมาธิต่อไปอีก จนกว่าจะครบกำหนด หรือจนกว่าจะหมดความสามารถหรือกำลังสมาธิ

คือผู้ที่ทำสมาธิได้แล้ว ๓๐ นาที ก็จะได้เริ่มฝึกสมาธิเป็น ๑ ชั่วโมง ผู้ที่ทำได้ ๑ ชั่วโมงแล้ว ก็จะได้ฝึกเป็น ๒ ชั่วโมง ผู้ที่ทำได้ ๒ ชั่วโมงแล้ว จะได้ฝึกเป็น ๓ ชั่วโมง ผู้ที่ทำได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว ก็จะได้ฝึกเป็น ๖ ชั่วโมงผู้ที่ฝึกได้ ๖ ชั่วโมงแล้ว ก็จะได้ฝึกเป็น ๑๒ ชั่วโมง ผู้ที่ฝึกได้ ๑๒ ชั่วโมงแล้ว ก็จะได้ฝึกเป็น ๒๔ ชั่วโมง

วันพระนี้ ถือว่าเราทำได้มากกว่า ๒๔ ชั่วโมง วันพระก่อนมีรายการธรรมเทศนา เลยไม่ได้ฝึก ฉะนั้น วันนี้พวกเราทั้งหลายก็เริ่มฝึกสมาธิต่อไปอีก ก่อนอื่นที่จะได้ฝึกสมาธินั้น ก็ขอปรับความเข้าใจของบรรดาท่านทั้งหลายดังนี้

การฝึกสมาธิ มีธรรมะที่จะต้องประกอบกัน ส่วนใหญ่ๆ นั้นมี ๓ ประการ คือ ๑) จิต ๒) สติ ๓) สมาธิ

จิตกับสติ ก็เป็นคนละอันไม่ใช่อันเดียวกัน จิตกับสมาธิ ก็เป็นคนละอันไม่ใช่อันเดียวกัน คือสภาวะต่างกัน ธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ คือ ทั้งจิตก็ดี ทั้งสติก็ดี ทั้งสมาธิก็ดี เป็นคนละอัน ไม่ใช่อันเดียวกัน

ขอให้เราทั้งหลายเข้าใจ อย่าคิดว่า เอ สติตามระลึกได้นี้ก็เป็นจิต สมาธิคือความตั้งใจมั่นก็เป็นจิต ที่จริงไม่ใช่ เพราะ สติกับสมาธินั้นเป็นตัวเจตสิก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นประกอบกับจิตเท่านั้น แต่ไม่ใช่จิต คือจิตนั้นเป็นสภาวะที่น้อมไปในอารมณ์ น้อมไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์

จิต เป็นสภาวะที่คิดอารมณ์ ทั้งดี ทั้งชั่ว

สติ มีหน้าที่ปกครองจิต มีหน้าที่ข่มจิต มีหน้าที่บังคับจิต มีหน้าที่อุปถัมภ์จิต มีหน้าที่เชิดชูจิต มีหน้าที่ยกย่องจิต

สมาธิ มีหน้าที่ทำจิตใจให้สงบ ทำจิตใจให้ตั้งมั่น สมาธินี้ หมายถึงธรรมชาติที่สงบ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว แล้วประกอบอยู่กับจิตตลอดเวลา

แต่ทำไมจึงไม่ช่วยในการจำ คือบางครั้ง แทนที่เราจะจำได้ดี เช่นว่า การที่เราท่องหนังสือ แทนที่เราจะท่องได้ดี หรือสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาแล้วแทนที่จะจำได้ดี จะคิดได้ดี แต่กลับจำไม่ดี หรือจำไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะอะไร

เพราะว่าจิตซึ่งเป็นธรรมชาติรับรู้อารมณ์ ถูกแต่งเติมเสริมแต่งให้เป็นไปตามลักษณะต่างๆ ของสิ่งที่เข้ามามีอิทธิพลครอบงำเหนือจิตใจ ถ้าจะชี้ชัดให้เข้าใจง่ายๆ ให้เปรียบเทียบเหมือนดัง น้ำบริสุทธิ์ เมื่อถูกแต่งเติมด้วยการนำสีมาใส่ น้ำบริสุทธิ์นั้นก็จะกลายเป็น น้ำสี ตามที่ถูกแต่งเติม ดังนั้น จิตที่คิดจะรับรู้อารมณ์ จึงเหมือนดังน้ำที่ถูกใส่สีตลอดเวลา ยากที่จะแสดงสภาพที่บริสุทธิ์ออกมาให้เห็นได้

แต่ถ้าเราพยายามไม่ผสมสีลงในน้ำนั้นอีก และในขณะเดียวกัน ก็พยายามกลั่นกรองน้ำเก่าให้บริสุทธิ์เช่น เดิม หรือมีสีน้อยลงไป น้ำนั้นก็จะสามารถกลับมาบริสุทธิ์ดังเดิม หรือมีความขุ่นมัวสกปรกน้อยลงได้ เมื่อความขุ่นมัวสกปรกน้อยลง สภาพความบริสุทธิ์เดิมของน้ำก็จะค่อยๆ ปรากฏตัวชัดขึ้น

จิตของคนเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อพยายามปรุงแต่งจิตของเราให้น้อยลง พยายามไม่ปล่อยให้สิ่งภายนอกมามีอิทธิพลครอบงำจิตเราให้มากนัก ให้จิตเรารับแต่สภาพ เช่นว่า เห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็นรูป ได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยินเสียง ได้รสก็สักแต่ว่าได้รส ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ได้สัมผัสก็สักแต่ว่าได้สัมผัส คือให้รับก็สักแต่ว่ารับอารมณ์ รู้สึกก็สักแต่ว่ารู้สึก ไม่ปรุงแต่งต่อไปให้มากกว่านั้น คือไม่ปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกชอบ ไม่ปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง หรือลุ่มหลงยึดติดอยู่กับสิ่งเหล่านั้น

เมื่อทำได้เช่นนี้ จิตย่อมไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์เหล่านั้น จิตจะตั้งมั่นด้วยมีความรู้อยู่ตลอดเวลาว่า อะไรกำลังเกิดขึ้น สมาธิที่ประกอบกับจิตจะมีโอกาสออกมาแสดงบทบาทในทางที่เป็นประโยชน์ และใช้งานได้อย่างดี ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ธรรมชาติของจิตนั้นคือ ความคิด ขอให้ท่านทั้งหลายจำไว้ดังนี้

ดังนั้น เมื่อคนเราประกอบไปด้วยกายกับใจ จึงทำให้คนเราต้องคิดไปตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา แต่โดยปกติ คนเรานั้นมักปล่อยให้ตนเองคิดไปตามความเคยชินของจิต นั่นคือมักคิดไปถึงเรื่องที่ผ่านเลยมาแล้วในอดีตบ้าง และคิดถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงซึ่งเรียกว่าอนาคตบ้าง การที่จิตไปอยู่กับอารมณ์ที่เป็นอดีตอนาคต เรียกว่า จิตถูกปรุงแต่ง

ดังนั้น สมาธิที่ประกอบกับจิตซึ่งคิดถึงเรื่องอดีตและเรื่องอนาคต ก็จะติดอยู่กับเรื่องที่เป็นอดีตหรืออนาคตนั้น ซึ่งเรื่องที่เป็นอดีตหรืออนาคตนั้น จะปรุงแต่งจิตของเราให้เกิดความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบกับเรื่องนั้นๆ ผลที่ตามมาคือความฟุ้งซ่าน คนที่คิดฟุ้งซ่านนานาประการนั่งอยู่ ๕ นาที หรือว่า เดินอยู่ ๕ นาที ก็คิดไปแล้วร้อยแปดพันประการ

เพราะอะไร เพราะว่าเราปล่อยจิตของเราให้นึกถึงแต่เรื่องอดีตบ้าง นึกถึงแต่เรื่องอนาคตบ้าง เมื่อเรานึกถึงแต่เรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้วก็ดี หรือเรานึกถึงเรื่องอนาคตที่ยังไม่มาถึงก็ดี ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน คิดมากกลุ้มใจ หนักๆ เข้าก็นอนไม่หลับ ทานอาหารไม่ได้ ทำให้เกิดโรคความดันสูง ทำให้เกิดโรคประสาทได้ ความฟุ้งซ่านจะเกิด เมื่อเรานึกถึงเรื่องอดีตเรื่องอนาคต ความฟุ้งซ่านก็จะเกิดขึ้นทันที ถ้าเราไม่พยายามตั้งสติและ มีสมาธิอยู่กับปัจจุบัน

อาจกล่าวได้ว่า ความฟุ้งซ่านเป็นทั้งสาเหตุ เป็นทั้งผลอันเนื่องมาจากการที่เราไม่มีสมาธิอยู่ในปัจจุบัน เช่นในขณะปัจจุบัน เรากำลังเรียนหนังสืออยู่ในห้องเรียนหนังสือ และปัจจุบันเรากำลังอ่านหนังสืออยู่ แต่ว่าในขณะเดียวกันเราขาดสติขาดสมาธิ ปล่อยให้จิตเราคิดไปถึงเรื่องอดีต ฟุ้งเฟ้อไปถึงเรื่องอนาคต ที่เรียกว่าฝันกลางวัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน

สมมติว่า เราเป็นนักเรียน ฟังครูผู้สอนก็ไม่รู้เรื่อง ครูพูดอะไร สอนอะไรมาบ้าง หรือเรากำลังทำอะไรอยู่ ก็ไม่รู้เรื่อง หรือว่าในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ สมมติว่า ท่านทั้งหลายฟังหลวงพ่อบรรยายธรรมะเรื่องสมาธิอยู่ในขณะนี้ หากว่าเรามัวแต่คิดถึงเรื่องอดีต คิดถึงเรื่องอนาคต ก็จะกำหนดจดจำไม่ได้เลยว่า หลวงพ่อพูดเรื่องอะไร หรือพูดอย่างไร เราก็จำไม่ได้ หรือไม่รู้ความหมายของธรรมะที่บรรยาย ไม่รู้ความหมายของธรรมะที่เทศน์ เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ไม่สามารถจำสิ่งเหล่านั้นได้ดี ทั้งนี้เพราะคุณภาพของจิตเราถูกบั่นทอนด้วยเรื่องอดีตเรื่องอนาคตเสียแล้ว

สมมติว่า เราอ่านหนังสือจนจบบท จบเล่ม แต่ไม่รู้ว่าอ่านเรื่องอะไร ตาอยู่ที่ตัวหนังสือ แต่ใจไปอยู่ที่ไหน ใจไปอยู่ที่อื่นแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้เราอ่านหนังสือจบแล้วก็ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ความหมาย จำไม่ได้ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าสมาธิที่จะสามารถช่วยให้เกิดความจำได้ดีนั้น คือสมาธิจิตที่อยู่กับปัจจุบันคือในขณะนี้ เรียกได้ว่า ทันปัจจุบัน หรือว่าในขณะที่เราอ่านหนังสือ จิตของเราก็อยู่กับตัวหนังสือ นี้เรียกว่าปัจจุบัน

ในขณะที่ฟังหลวงพ่อบรรยายธรรม หลวงพ่อเทศน์ จิตใจของเราก็จะจดจ่ออยู่กับพระธรรมที่หลวงพ่อบรรยายที่เรียกว่า ปัจจุบัน เมื่อจิตของเรามีสมาธิ ตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันแล้ว ก็สามารถที่จะกำหนดจดจำอะไรได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวดี เพราะว่าโดยปกติ สมาธิประกอบอยู่กับจิตของเราอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่เราไม่พยายามทำสิ่งดีซึ่งมีอยู่แล้วให้ดียิ่งๆ ขึ้น ในทางตรงกันข้าม ยังพลอยบั่นทอนพลานุภาพให้ลดน้อยถอยลงด้วยการปล่อยให้จิตของเราฟุ้งซ่านไปในเรื่องอดีตและเรื่องอนาคตเสียอีก

เหตุนั้น ต่อไปนี้ เราควรจะหันมาฝึกจิตของเราให้อยู่กับเรื่องปัจจุบัน ที่เรียกว่า ฝึกสมาธิ เช่นพวกเราทั้งหลายจะเริ่มฝึกกันในวันนี้ต่อไป

เพราะว่าการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในเรื่องซึ่งเรากำลังกระทำอยู่ในปัจจุบัน ในขณะนี้ วินาทีนี้ และเดี๋ยวนี้ มีสติอยู่ตลอดเวลา จิตย่อมมีพลานุภาพ ทำให้ความจำของเราดียิ่งขึ้น สิ่งที่ตามมาในขณะที่จิตมีสมาธิอยู่กับเรื่องปัจจุบันคือ สติ เมื่อสติกับสมาธิมีความสมดุลกัน สิ่งที่ตามมาก็คือปัญญาจะเกิดขึ้น ดังคำพูดที่เราพูดกันเสมอว่า สติปัญญา

เมื่อสติปัญญาจะเกิด ก็ต้องอาศัยสมาธิเสียก่อน เมื่อมีสมาธิเป็นปึกแผ่นแน่นหนา มีสมาธิเป็นพื้นฐานแล้วก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นก็สามารถจำแนกความผิดชอบชั่วดีได้ รู้ว่าอะไรควรทำอะไร ไม่ควรทำ ความชั่วจะเกิดขึ้นไม่ได้ ความดีย่อมเกิดขึ้นได้ฝ่ายเดียว

ในขณะที่เรามีสมาธิดี มีสมาธิเป็นพื้นฐานเครื่องรองรับ ทำให้สติปัญญาเกิดขึ้นมา เมื่อสติปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว ความชั่วก็ไม่มีโอกาสจะไหลเข้าไปในขันธสันดานของเรา มีแต่คุณงามความดีคือ ศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น ไหลเข้าไปในขันธสันดานของเรา นี้ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิ

เราจะสังเกตได้อย่างไรว่า จิตของเราเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ หรือลักษณะของจิตที่เป็นสมาธินั้นเป็นอย่างไร ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธินั้นมีอยู่ ๔ ประการ บรรดาลูกๆ ทั้งหลายจำไว้นะ บางทีปัญหานี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้เราได้รับความรู้ความฉลาด หรือได้สิ่งที่เราต้องการขึ้นมาก็เป็นไปได้

บรรดาลูกๆ ทั้งหลายก็ลองคิดดูว่า บางสิ่งบางอย่างเราไม่นึก ไม่ฝึก แต่ตอบปัญหาหลวงพ่อได้เพียงนิดเดียว ก็ได้สร้อยทองคำหนักเป็นสองสลึงหรือเป็นบาทก็มี บางคนตอบปัญหาที่หลวงพ่อถามบางสิ่งบางประการได้ ก็ได้หัวใจหลวงพ่อไปครองก็มี เหตุนั้น การฟังธรรมะ ต้องฟังให้เป็นฟังแล้วจำไว้ หรือว่าหากมีโอกาสมีเวลา จะได้นำเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์

ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธินั้นมีอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. แข็งแรงดี มีพลังมาก เหมือนกระแสน้ำที่ถูกควบคุมให้ไหลพุ่งไปในทิศทางเดียวกันและพร้อมกัน ย่อมมีกำลังมากกว่าที่ปล่อยให้กำลังน้ำไหลกระจัดกระจายไปตามธรรมชาติของมัน ธรรมดาของน้ำนี้ ถ้าเราบังคับให้มันไหลพุ่งไปในทางเดียวกันนี้ กระแสของน้ำจะมีพลังมาก มีอานุภาพมาก สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้

อย่างเช่นไฟฟ้าที่พวกเราทั้งหลายใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เขาก็เอาพลังน้ำที่พุ่งลงไปนั้นเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ก็ผลิตไฟฟ้ามาใช้อยู่ในทุกวันนี้ ทีนี้น้ำนั้น ถ้าเราปล่อยให้ไหลบ่าไปตามธรรมชาติของมัน เหมือนกับคลองที่ข้างวัดของเรานี้ ก็ไม่มีกำลังมาก เอามาใช้ประโยชน์อะไรก็ไม่ได้เท่าที่ควร

หรือเหมือนกันกับไฟฉาย ไฟฉายนี้ถ้าว่าเราไม่ใส่กรวยปรับแสง เราใส่หัวเทียนเข้าไปแล้วเปิดสวิทซ์ก็จะสว่างเหมือนกัน แต่สว่างไม่ได้มาก ถ้าเราเอากรวยปรับแสงเข้าไป แต่ว่าเรายังไม่ได้ปรับแสงสว่างให้เพิ่มขึ้นจะไม่มีพลังมาก แต่ถ้าเราปรับปุ่มวิทยาศาสตร์ที่เขามีไว้ให้เราปรับแสงสว่างของไฟฟ้านั้น เราปรับเข้าไปตามลำดับๆ เมื่อปรับได้ถึงที่แล้ว ไฟฉายของเราก็มีแสงสว่างมาก สามารถส่องดูสถานที่ไกลๆ ได้ ข้อนี้ ฉันใด

จิตใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราปล่อยให้คิดไปแต่เรื่องอดีตอนาคตไป ร้อยแปดพันประการ จิตใจของเราก็ไม่มีพลังไม่มีอำนาจ แต่ถ้าเราคุมกระแสจิตของเราให้เหลือเป็นความคิดเดียว ยิ่งถ้าเรารวมให้เหลือน้อยได้เท่าไร จิตก็จะยิ่งมีพลังมาก

๒. ราบเรียบ สงบซึ้ง เหมือนกันกับกระแสน้ำในบึงที่สงบนิ่ง ไม่มีสิ่งใดมารบกวนให้เคลื่อนไหวได้

๓. ใสกระจ่าง ชัดเจน เหมือนน้ำที่บริสุทธิ์ ถึงแม้จะมีฝุ่นละอองอยู่บ้าง เมื่อตกตะกอนหมดแล้ว สภาพความบริสุทธิ์ย่อมกลับมาแสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง

๔. นุ่มนวล ควรแก่การใช้งาน เพราะไม่เครียด ไม่กระด้าง ไม่วุ่นวาย ไม่ขุ่นมัว ไม่สับสน ไม่เร่าร้อน ไม่กระวนกระวาย ไม่ฟุ้งซ่าน

ทีนี้ มาว่าถึงความมุ่งหมายและประโยชน์ของสมาธิว่า เพราะเหตุไรจึงพากันฝึกสมาธิ หรือเพราะเหตุไร จึงพากันเจริญสมถกัมมัฏฐานทำจิตใจให้เป็นสมาธิ เพราะเหตุไรจึงเจริญวิปัสสนาภาวนา มีความมุ่งหมายอย่างไร หรือประโยชน์ที่เกิดจากการมีสมาธิมีอย่างไร

จุดมุ่งหมายหลักในการฝึกสมาธิก็คือ

ต้องการประโยชน์อย่างสูงสุด โดยมีพระนิพพานเป็นที่สุด มีพระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทาง

คือการฝึกสมาธิครั้งแรกเราก็ต้องเตรียมจิตให้พร้อมน้อมไปสู่การเกิดของปัญญา พิจารณาสิ่งต่างๆ ให้รู้แจ้งเห็นจริงตามธรรมชาติที่มีที่เป็น เป็นการที่จิตน้อมกลับไปสู่สภาพเดิม

อะไรเป็นสภาพเดิมของจิต

สภาพเดิมของจิตก็คือความบริสุทธิ์นั่นแหละ เป็นสภาพดั้งเดิมของจิต เมื่อจิตของเราบริสุทธิ์แล้ว จิตก็จะสะอาด สว่าง สงบ และเมื่อนั้นเราก็จะได้รับความสุขแท้จริง ซึ่งเป็นความสุขอันเกิดจากการที่จิตเกิดความสงบ ร่มเย็น เบา และปลอดโปร่ง

จุดมุ่งหมายหรือประโยชน์ที่นำมาใช้ในปัจจุบันคือเมื่อเราฝึกสมาธิได้แล้ว ก็นำสมาธิมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ที่เกิดจากสมาธิก็มีอยู่หลายอย่าง ดังนี้ คือ

๑. เพื่อช่วยทำให้จิตใจได้ผ่อนคลายจากความตึงเครียด เกิดความสงบ หายความกระวนกระวาย ยั้งหยุดจากความวิตกกังวล ทำให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ได้รับการพักผ่อน ทำให้ใจสบาย และมีความสุข เมื่อส่วนใจรู้สึกสบายและมีความสุขก็จะส่งผลให้ส่วนกายได้รับความสุขตามไปด้วย เช่น ในเวลาที่จำเป็นต้องรอคอย หรือไม่มีอะไรจะทำ เวลาเราทั้งหลายไปกับรถโดยสารอย่างนี้ หรือไปกับรถประจำทาง ในขณะที่รถเกิดติด

ถ้าเราปล่อยจิตให้คิดฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ เราก็อาจจะเกิดความรู้สึกโกรธ หรือเกิดอาการเครียดขึ้นมา แต่ถ้าเราหันมากำหนดลมหายใจเข้าออก เช่น หายใจเข้าเรานับ หนึ่ง หายใจออกเรานับ สอง หรือ หายใจเข้าภาวนา พุทโธ หายใจออกภาวนา พุทโธ อย่างนี้เป็นต้น สลับกันเรื่อยไปเราจะไม่เกิดความเครียด หรือจะไม่เกิดความชอบ หรือจะไม่เกิดความชังกับสิ่งใดๆ ทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราไม่ได้เอาใจของเราไปจดจ่อกับสิ่งภายนอกที่กำลังวุ่นวายสับสนอยู่ในขณะนั้น หรือจะใช้วิธีที่ปฏิบัติสลับแทรกไปในขณะที่เราต้องทำงานด้วยการใช้สมองอย่างหนัก

เช่นบางครั้ง เราอ่านหนังสืออย่างนี้ เราเอามาใช้ในเวลาอ่านหนังสือได้ สมมติว่า เราอ่านหนังสือไปได้สักสอง สามหน้า หรือสี่หน้าอย่างนี้ เราหยุดเสียก่อน หยุดทำจิตใจของเราให้เป็นสมาธิ โดยขณะนั้น เราหยุดเรื่องการอ่านหนังสือเสียโดยที่เรามาภาวนา พุทโธๆ หรือว่าหายใจเข้านับ หนึ่ง หายใจออกนับ สอง หรือท้องพองขึ้นมาภาวนาว่า พุท ท้องยุบลงภาวนาว่า โธ หรือท้องพองขึ้นมาภาวนาว่า พองหนอ ท้องยุบลงมาภาวนาว่า ยุบหนอ อย่างนี้สัก ๓ นาที หรือ ๕ นาที เราค่อยอ่านหนังสือใหม่

การอ่านหนังสือของเราจะมีประสิทธิภาพ ทำให้จำได้ง่ายและไม่เกิดความตึงเครียดไม่ทำให้ปวดศีรษะหรือเวลาเราท่องหนังสือก็เหมือนกัน เมื่อเราท่องหนังสือไป เราใช้เวลาท่องหนังสืออยู่ ๑๕ นาที หรือ ๒๐ นาที หรือ ๓๐ นาทีประมาณนี้ แต่ละครั้งๆ ท่องหนังสือนี้ไม่เกิน ๓๐ นาที

เมื่อเราท่องหนังสือครบ ๓๐ นาที เราตั้งอกตั้งใจท่องหนังสือจริงๆ ไม่คิดเรื่องอดีต ไม่คิดเรื่องอนาคต เมื่อเราท่องหนังสือครบ ๓๐ นาที แล้ว เราทวนตั้งแต่ต้นถึงปลาย จำได้แม่นยำแล้วก็พักเสียก่อน ปล่อยวางการท่องหนังสือนั้น หันมาทำจิตใจให้เป็นสมาธิ โดยหายใจเข้าจะภาวนาว่า พุทโธ หายใจออกจะภาวนาว่า พุทโธ ก็ได้

หรือท้องพองขึ้นมากำหนด พุทโธ ท้องยุบลงไปกำหนด พุทโธ ท้องพองขึ้นมากำหนด พองหนอ ท้องยุบลงไปกำหนด ยุบหนอ ก็ได้ ทำจิตใจให้เป็นสมาธิสัก ๕ นาที ครบกำหนดแล้ว หลังจากนั้นก็ท่องหนังสือต่อไปอีก ๓๐ นาที เราปฏิบัติสลับกันไปอยู่อย่างนี้ จะทำให้การท่องหนังสือนั้นจำได้ง่าย จะไม่เกิดความตึงเครียด จะไม่เกิดอาการปวดศีรษะ นี้ทำให้มีประสิทธิภาพในการท่องหนังสือหรือการทำงานทุกอย่าง

เราอาจจะใช้เวลานิดๆ หน่อยๆ หยุดพัก เวลาเราปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สลับกันไปกับการอ่านหนังสือ การท่องหนังสือ ถ้าทำได้เช่นนี้ จะทำให้สมองและจิตของเราได้รับการพักผ่อน ไม่เกิดการตึงเครียด ไม่ปวดศีรษะ ไม่กลุ้มใจ ไม่เกิดโรคประสาท ไม่เกิดความดันสูง

๒. ประโยชน์ของสมาธิที่จะต้องนำมาใช้ในปัจจุบันก็เพื่อช่วยส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การศึกษา การเล่าเรียนและการกระทำกิจต่างๆ ทำให้มีจิตใจจดจ่ออยู่กับการกระทำนั้นๆ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวกไม่เลื่อนลอย ช่วยให้การกระทำทุกอย่างนั้นถูกต้อง ทำให้คำพูดทุกอย่างนั้น ถูกต้องไม่ผิดพลาด ไม่พลั้งเผลอและทำให้ความคิดทุกสิ่งอย่าง เป็นไปอย่างมีระเบียบและมีประสิทธิภาพ

คนที่มีจิตไม่เป็นสมาธิ ความคิดนั้นย่อมไม่เป็นระเบียบ ไม่ราบเรียบ บางทีคิดเรื่องนี้ยังไม่จบก็ไปคิดเรื่องอื่นแล้ว คิดเรื่องนั้นยังไม่จบก็ไปคิดเรื่องโน้นแล้ว อะไรร้อยแปดพันประการ นี่เขาเรียกว่า ความคิดไม่มีระเบียบ ไม่มีระบบ เมื่อความคิดไม่มีระบบและไม่มีระเบียบ ความคิดนั้นก็ไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อมีปัญหาอะไร เกิด ความเคลือบแคลงสงสัย ก็ไม่สามารถที่จะขบคิดปัญหาได้

แต่เมื่อใดเรามีสมาธิเป็นเครื่องควบคุมจิต ความคิดของเราย่อมมีระบบ หรือว่าความคิดของเราย่อมมีระเบียบตามที่เราคิดไว้ ที่เราวาดภาพไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความคิดของเราก็มีประสิทธิภาพ การทำงานก็จะได้รับผลดี การงานเป็นไปด้วยความรอบคอบ ไม่ผิดพลาด และป้องกันอุบัติเหตุได้ผลดี

เช่นเราขับรถอย่างนี้ ถ้าจิตของเรามีสมาธิดี ไม่พลั้งเผลอ การขับรถก็ปลอดภัย เพราะเมื่อจิตมีสมาธิแล้ว แสงสว่างของจิตก็จะเกิดขึ้นมา จิตของเราก็จะมีกำลัง สามารถที่จะช่วยส่งเสริมการงานทุกอย่างให้สำเร็จลุล่วงไปโดยดี ได้ผลดี หรือมีประสิทธิภาพดียิ่งๆ ขึ้นไป

๓. ประโยชน์ของสมาธิที่เราจะต้องได้ในปัจจุบัน ก็เพื่อช่วยเสริมสุขภาพร่างกาย แก้ไขโรคภัยไข้เจ็บได้ พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสว่า บุคคลประกอบไปด้วย ๒ ส่วน คือ ๑) ส่วนกาย ๒) ส่วนจิตใจ ร่างกายและจิตใจ ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและกัน และมีอิทธิพลต่อกัน

กล่าวคือ เมื่อส่วนของร่างกายไม่ผ่องใส จิตใจของเราก็จะอ่อนแอ ขุ่นมัวไปด้วย เมื่อส่วนจิตใจขุ่นมัวเศร้าหมอง หรือขาดกำลังใจ ก็ยิ่งจะทำให้การกระทบกระเทือนโรคทางกายให้ทรุดหนักลงไปอีก แม้ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติก็ตาม แต่พอได้ประสบเรื่องราวที่ทำให้จิตใจของเราเศร้าโศกเสียใจหรือผิดหวังอย่างแรง ก็อาจทำให้ต้องเป็นไข้ล้มป่วยลงไปก็ได้

ส่วนผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งสมบูรณ์ ถึงจะมีความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เจ็บป่วยไม่สบายเฉพาะร่างกายเท่านั้น ส่วนจิตใจนั้นไม่พลอยต้องป่วยไปด้วย คือป่วยแต่ร่างกาย แต่จิตใจไม่ป่วย พร้อมกันนั้น ก็ใช้ใจที่สบายและเข้มแข็งนั้น มาช่วยสร้างกำลังใจและส่งอิทธิพล บรรเทาหรือผ่อนเบาโรคภัยไข้เจ็บทางกายนั้น ทำให้โรคทางกายนั้นหายง่าย หายไว หายเร็วขึ้นด้วย

ท่านทั้งหลายคงจะสังเกตเวลาหลวงพ่อเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างนี้ นี่ไม่ใช่ว่าสร้างอนุสาวรีย์ให้หลวงพ่อเองนะ ขออย่าเข้าใจอย่างนี้ และก็ไม่ได้หักดอกไม้บูชาตัวเองและก็ไม่ใช่ว่าเป็นการเชิดชูตัวเอง ขอให้บรรดาครูบาอาจารย์ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้ทราบไว้ด้วย อันนี้ยกขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้รำลึกถึงว่ามันเป็นจริงหรือไม่

เวลาที่หลวงพ่อเจ็บไข้ได้ป่วย เช่นว่า ในปีที่ผ่านมา เลือดกำเดาออกอย่างแรง ต้องเข้าโรงพยาบาล ถึงแม้การป่วยหนักถึงขนาดนั้นก็คล้ายๆ กับว่าเราไม่ได้ป่วยอะไร มันอยู่เฉยๆ ญาติโยมไปมาหาสู่ ไปเยี่ยมไข้ได้ป่วย ก็เฉยๆ อยู่ เหมือนกับว่าหลวงพ่อไม่ได้ป่วยอะไร ใครไปหาก็พูดคุยด้วย หลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด มาหาก็พูดคุยด้วย บรรดาลูกศิษย์ลูกหาไปหาก็พูดคุยกัน เหมือนกับไม่ได้เป็นอะไร

เวลาแพทย์เวลาหมอมาตรวจเช็คร่างกาย ก็พูดธรรมดา เขาถามว่าเป็นอย่างไรหลวงพ่อ ก็ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร ธรรมดา เพราะมันธรรมดาจริงๆ คือร่างกายนั้น มันก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง สำหรับจิตใจมันก็เป็นอีกส่วนหนึ่งเหมือนกัน แต่แยกกันอยู่ นี่แหละญาติโยมทั้งหลาย ถ้าว่าจิตใจของเราเป็นสมาธิ จิตใจของเราก็เข้มแข็ง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เจ็บไข้ได้ป่วยแต่ร่างกาย สำหรับจิตใจของเราไม่เจ็บไข้ได้ป่วยด้วย แล้วก็นอกจากนี้ ยังสามารถทำจิตใจที่เป็นสมาธินั้นรักษาโรคภัยไข้เจ็บของเราให้เบาบางลงไป หรือทุเลาลงไปและให้หายเร็วขึ้น

หลวงพ่อเลือดกำเดาออกอย่างหนัก แต่นอนพักที่โรงพยาบาลเพียงสองคืนเท่านั้นก็ออกมาได้ นี่เป็นเพราะว่าจิตใจของเรานั้นได้ฝึกฝนอบรมมาแล้ว ญาติโยมทุกท่านก็เหมือนกัน คนใดที่มีสมาธิแล้ว สามารถนำเอาสมาธิของตนมาใช้ มันก็ได้ประโยชน์มีประสิทธิภาพ สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ เช่นว่า โรคประสาทอย่างนี้

คนที่เป็นโรคประสาทนี้จะมาบอกว่า ตนได้สมาธินั้น ขัดกันทั้งเพ คือเหตุผลไม่ตรงกัน คนที่ได้สมาธินั้นจะเกิดโรคประสาทได้อย่างไร เกิดไม่ได้ คนที่เป็นความดันสูง แต่บอกว่าตนสามารถนั่งสมาธิได้ถึง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง เป็นไปไม่ได้ ขัดต่อหลักการ ขัดต่อวิธีการ

เพราะว่าคนที่ฝึกสมาธิ ที่ได้สมาธิแล้ว จะไม่มีความดันสูง เพราะว่าถ้าความดันสูงเกิดขึ้นมา ถ้าจิตมีสมาธิอยู่ ความดันมันเกิดขึ้นไม่ได้ หรือว่าหากมีบ้างเป็นบางครั้งบางคราวเพราะการทำงาน เครียดกับการงานมาตลอดทั้งวัน เราก็นั่งสมาธิ ทำสมาธิ ความดันนั้นก็ลดลงไป

เหตุนั้น จิตใจที่เป็นสมาธิ จึงสามารถรักษาความดันสูงได้ รักษาโรคประสาทได้ รักษาโรคกระเพาะอาหารได้ เพราะเหตุใด จึงสามารถรักษาโรคกระเพาะอาหารได้ เพราะโรคกระเพาะอาหารนี้เกิดจากความคิด คนคิดมากเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระเพาะอาหารเกิดอาการเกร็งตัวขึ้นมา ทำให้ลำไส้เกิดความเกร็งตัวขึ้นมา เมื่อมันเกิดความเกร็งตัวขึ้นมา ก็เป็นโรคลำไส้ได้ เป็นโรคกระเพาะอาหารได้ แต่คนที่มีสมาธินี้ โรคกระเพาะอาหารไม่มี โรคลำไส้ไม่มี

ญาติโยมทั้งหลายทดลองคิดย้อนหลัง จากอดีตถึงปัจจุบันที่ผ่านมา หลวงพ่อได้มาอยู่กับญาติโยมทั้งหลาย หลวงพ่อบางครั้งไม่ฉันเลย ไม่ฉันตั้ง ๗ วัน นี่เฉยๆ ไม่ได้ฉันข้าวปลาอาหารเลย ทำไมไม่เกิดโรคกระเพาะอาหาร ทำไมไม่เกิดโรคลำไส้ แพทย์เขาบอกว่าโรคกระเพาะนี้ เกิดเพราะฉันอาหารน้อย เกิดเพราะฉันอาหารไม่เป็นเวลา มันก็จริงตามกับแพทย์เขาบอกอยู่

แต่ถ้าเรามีสมาธิแล้ว ๗ วันเราไม่ฉันไม่เป็นไร ๑๕ วันไม่ฉันยังไม่เป็นไร เดือนหนึ่งไม่ฉันยังอยู่ได้ ๓ เดือนไม่ฉันก็ยังอยู่ได้ ไม่เกิดโรคลำไส้ ไม่เกิดโรคกระเพาะอาหาร ที่พูดนี้ไม่ใช่ว่ายืมตำรับตำรามาพูด หรือไม่ใช่เรายืมคำของครูบาอาจารย์ที่เล่าสู่มาพูด แต่ว่าได้ทดลองมาด้วยตนเอง จิตใจของเราที่เป็นสมาธินี้แหละสามารถรักษาโรคได้ รักษาโรคกระเพาะได้ รักษาโรคลำไส้ได้ รักษาโรคความดันสูงได้ รักษาโรคประสาทได้

เหตุนั้น ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้เข้าใจเถิดว่า ที่เราบอกว่า เราฝึกสมาธิได้ ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง แต่มีข่าวเกรียวกราวที่โน้นที่นี้ ที่อยุธยาเขามียาดี ที่พิจิตรเขามียาดี ที่อุทัยฯ มียาดี ที่สกลนคร นครพนม เขามียาดี ก็เฮโลกันไปเสียสะตุ้งสตังค์ ของดีที่ตนมีอยู่ใช้ไม่ได้ ของดีที่ตนมีอยู่ไม่นำมาใช้ประโยชน์

เราจะฝึกทำไม เมื่อฝึกสมาธิให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของเราแล้ว เวลาจำเป็นที่จะต้องใช้ เราไม่ใช้ มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เวลาลูกผัวญาติพี่น้องล้มป่วย ล้มหายตายจากไป เรากลับมาร้องไห้โฮจนแทบจะหมดน้ำตา ตาแดงตาบวม คนที่ได้สมาธิ คนที่ประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อพลัดพรากจากของรักของชอบใจ แต่มาร้องห่มร้องไห้ มันก็เสียเกียรติของนักปฏิบัติ เสียภูมิของผู้ปฏิบัติธรรม

เหตุนั้น หลวงพ่อขอกระซิบครั้งหนึ่งว่า สมาธิที่ฝึกไปแล้ว ขอให้นำมาใช้ คนที่มีของดีแล้ว ก็ขอให้ฉลาดใช้ มันก็ได้ผลประโยชน์ คนที่มีของดีอยู่แล้วไม่รู้จักใช้ ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็วกเข้ามาอีกว่า คนที่สมาธิดีแล้ว เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เจ็บไข้ได้ป่วยแต่ร่างกาย แต่จิตใจไม่ป่วยด้วย มิหนำซ้ำ นำจิตใจที่เป็นสมาธินั้นมาช่วยรักษาโรคทางกายนั้นให้หายเร็วขึ้น ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวด

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมได้อย่างที่กล่าวมานี้ ต้องเป็นผู้ที่ได้ฝึกสมาธิมาพอสมควรทีเดียว และในปัจจุบัน ดังที่เราได้ทราบกันดีว่า เรื่องสมาธินั้น ยังใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วย สำหรับผู้ที่มีจิตใจผ่องใสเบิกบานอยู่แล้ว พลังของสมาธิก็ยังช่วยทำให้ร่างกายของเราเอิบอิ่ม ผิวพรรณผ่องใส สุขภาพร่างกายดี มีภูมิต้านทานโรค ไม่เจ็บป่วยง่าย เราทั้งหลายนึกดูว่า เราออกไปสอนกัมมัฏฐานในภาคฤดูหนาว มันหนาวเหน็บจริงๆ เดือน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ นี่มันหนาวจริงๆ

แต่ทำไมคนที่ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ไม่เป็นหวัดกัน ไม่เป็นไข้หวัด ตามปกติทุกวันนี้เราเป็นหวัดกันเมื่อวัน ๑๕ ค่ำที่ผ่านมา น้ำค้างลงมานิดเดียวเท่านั้น ไข้หวัดกันทั้งบ้าน จับไข้กันเกือบทั้งวัด เพราะเหตุใดจึงเป็นอย่างนี้ เพราะว่าจิตใจขาดสมาธิ จิตใจไม่เข้มแข็งพอ แต่ถ้าจิตใจเข้มแข็งพอแล้ว จะไม่เป็นอย่างนี้

ในภาคฤดูหนาวเราไปสอนกัมมัฏฐาน ไปฝึกกัมมัฏฐานให้กับลูกศิษย์ลูกหาให้ญาติโยม มันหนาวเหน็บจริงๆ ตื่นแต่เช้าตั้งแต่ตี ๓ ครึ่ง บางวันก็ตื่นตั้งแต่ตี ๓ กว่าจะได้นอนก็ ๕ ทุ่ม ๖ ทุ่มจึงจะได้นอน แต่เราไม่เป็นไข้หวัดกัน ก็เพราะอำนาจของจิตที่เป็นสมาธิช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ให้เบาบางลง หรือว่าให้หายไป

ในปัจจุบันได้พิสูจน์เป็นที่แน่นอนแล้วว่า โรคทางกายหลายโรค ก็เป็นเรื่องกายสัมผัส คือเกิดจากความแปรปรวนของจิตใจ เช่น เป็นคนมักโกรธหรือเป็นคนชอบวิตกกังวล ความโกรธและความวิตกกังวลนั้นจะทำให้ใจ และสมองเกิดอาการตึงเครียด จึงทำให้เกิดโรคปวดศีรษะ หรือโรคแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

แต่เมื่อปรับปรุงคุณภาพจิตใจให้ดีขึ้นแล้ว ไม่เป็นคนมักโกรธ หรือชอบวิตกกังวล คิดมากจนเกินขอบเขต เป็นคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส มีสมาธิมีสติอยู่ในเรื่องปัจจุบัน ไม่คำนึงถึงเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ไม่เพ้อฝันถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ถ้าอดคิดไม่ได้จริงๆ ก็คิดเพียงเพื่อนำสิ่งที่ผ่านเลยไปแล้วมาเป็นครู สิ่งที่ไม่ดีก็เลิกละเสีย สิ่งที่ดีก็ทำต่อไป หรือเรื่องของอนาคต ก็คิดเพียงเพื่อเป็นจุดมุ่งหมายให้เราเดินไปและเป็นกำลังใจให้เราก้าวเดินไป และจะสำเร็จหรือไม่ ปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคต

แต่ว่าให้คำนึงถึงเรื่องที่เป็นปัจจุบันนี้ว่า เราเป็นใคร มีหน้าที่อะไร และเราได้ปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ อย่างสมบูรณ์แล้วหรือยัง เราปฏิบัติอย่างสุดความสามารถของเราที่มีอยู่แล้วหรือยัง เมื่อปัจจุบันดีอนาคตก็ดีเอง คิดเพียงเท่านี้ และลงมือปฏิบัติทันที จิตใจของเราจะมีสมาธิอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น ไม่วิตกไม่กังวล ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เกิดความรู้สึกชอบ ไม่เกิดความรู้สึกชัง อันจะทำให้เราต้องปรุงแต่ง หรือฟุ้งซ่านมากขึ้นไปอีก

วิธีฝึกสมาธิที่เราทั้งหลายทำอยู่ทุกวันนี้ ก็พอจะเป็นแบบอย่างในการฝึกได้ดีแล้ว แต่ขอย้ำอีกครั้งหนึ่ง การฝึกสมาธินี้ หรือการฝึกจิต อาจทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่เราทำกันอยู่นี้ เรากำหนดลมหายใจเข้าออก ซึ่งเรียกว่า อานาปานสติ แต่อานาปานสตินี้ เราใช้อยู่ ๓ วิธี คือ

วิธีที่ ๑ เอาต้นลมมาบริกรรม ต้นลมนั้นหายใจเข้า หายใจออก เราหายใจเข้าภาวนา พุทโธ หายใจออกภาวนาพุทโธ นี้กำหนดต้นลม หายใจเข้ากำหนดว่า รู้หนอ หายใจออกกำหนดว่า รู้หนอ ใช้การนับก็ได้ แบบต้นลม

วิธีที่ ๒ เอากลางลมมาบริกรรม กลางลมก็อยู่ที่หัวใจของเรา อยู่ที่ทรวงอกของเรา แต่กลางลมนี้ละเอียดมาก ส่วนมากไม่นิยมการปฏิบัติ เพราะถ้าผู้ที่ไม่มีปัญญาจริงๆ ไม่สามารถที่จะกำหนดได้

วิธีที่ ๓ เราเอาที่สุดลมมาบริกรรม ที่สุดลมคือ ท้องพอง ท้องยุบ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เพราะเหตุใด จึงหันมาใช้ท้องพองท้องยุบ อันเป็นที่สุดลมนี้ เพราะว่า ท้องพองท้องยุบนี้ เมื่อเรากำหนดไปเท่าไรๆ ยิ่งชัดยิ่งขึ้น จิตและเจตสิกของเราก็สามารถตั้งอยู่แนบสนิทได้นาน สามารถทำสมาธิได้ง่าย

590  สุขใจในธรรม / ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน / Re: เป็นอยู่อย่างคนเหนือดวง เมื่อ: 23 มีนาคม 2561 14:41:57


สติในความสุขสบาย

เมื่อไม่กี่วันก่อนได้อ่านงานวิจัยของ Julie Lythcott-Haims นักเขียนและอดีตผู้นำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ที่วิจัยจนได้ข้อสรุปว่า "การเลี้ยงลูกให้เขาประสบความสำเร็จ คือ ต้องให้เขาทำงานบ้านตั้งแต่ยังเล็ก ไม่ควรปล่อยให้ขี้เกียจตั้งแต่เด็ก แต่ต้องไม่ใช่การบังคับหรือบงการจนเกินพอดี"

เพราะเด็กกำลังอยู่ในวัยเรียนรู้ที่เปิดกว้างรับทุกสิ่งอย่างเร็วรวด ดังนั้นการฝึกให้ทำอะไรด้วยตัวเองจึงเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาวิชาชีวิต ในขณะที่ปัจจุบันพ่อแม่ มีเวลาอยู่กับลูกน้อยลงด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ จึงมักเลี้ยงดูแบบเอาอกเอาใจอย่างเต็มที่ ประคบประหงมดูแลอย่างดี เมื่อเจอหน้า ด้วยกลัวลูกไม่รัก แต่การปล่อยให้เด็กสบายทุกอย่าง ตามใจสารพัด ใช้เงินจ้างคนรับใช้ดูแลแม้กระทั่งอาบน้ำหรือล้างก้น จนเติบโต ก็อาจไม่แน่ว่าจะดี

หลายครอบครัวเศรษฐีในปัจจุบัน ที่ใช้เงินซื้อความสุข เลี้ยงลูกแบบตามใจ มักประสบปัญหาพาครอบครัวล่มจมหรือทำสังคมมีปัญหาอยู่บ่อยครั้ง เช่น ทายาท ตระกูลเบียร์ของโคลัมเบีย "อังเดรส ซานโต โดมิงโก" ขับรถชนคนแล้วหนีลอยนวล จนโดน คนประณามทั้งประเทศ, จีนา ไรน์ฮาร์ต เศรษฐินีรวยที่สุดของออสเตรเลียมักจะออกสื่อยอมรับบ่อยๆ ว่า "เซ็งที่สุดในความไม่เอาถ่านของลูกๆ ตัวเอง", "เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์" ฆาตกรกินคนผู้โด่งดังของสหรัฐอเมริกา ก็เกิดในตระกูลอันมั่งคั่งร่ำรวย หรือ หนุ่มสาว ลูกเศรษฐีใหญ่ในนครเซี่ยงไฮ้ ที่ชอบจัดปาร์ตี้ มั่วเซ็กซ์และยาเสพติดจนกลายเป็นปัญหาระดับชาติ

ซึ่งนักจิตวิทยาหลายท่านได้ให้ความเห็นสำหรับกรณีลูกคนรวยที่สร้างปัญหาแก่สังคมเอาไว้ว่า "ลูกเศรษฐีหลายคนที่ถูกเลี้ยงด้วยเงิน มักจะมีปัญหาขาดความอบอุ่นตั้งแต่เด็ก ซึ่งนั่นคือรากฐานของปัญหาที่เขาเหล่านี้ต้องการบางสิ่งมาเติมเต็ม"

ดังนั้นความสุขสบายจึงอาจไม่ได้เป็น ทุกอย่างของชีวิต เพราะโทษที่ควรรู้เท่าทันของความสบาย คือ

1.ทำลายความมุ่งมั่นให้พังพินาศ คือ พอคิดจะทำอะไร เมื่อไปเจอความยากลำบากสักหน่อย ก็ท้อถอย สูญสิ้นความกล้าที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่อไป เพราะคิดว่าถึงจะไม่ทำ ความสุขสบายก็ยังคงรออยู่ จึงกลายเป็นว่าความสุขสบายจะกลืนกินปณิธานไปจนหมดสิ้นไม่มีเหลือ

2.กายใจไม่พัฒนา เพราะความสบายจะทำให้หยุดการขวนขวาย ไม่สานต่อการเรียนรู้ ไม่เพิ่มพูนการพัฒนาให้เก่งและดีขึ้น ในขณะที่โลกกำลังหมุนไป ถ้าหยุดนิ่งอยู่กับที่ก็เท่ากับถอยหลังลงคลอง

3.เปิดประตูรับความขี้เกียจ เมื่อสุขสบายก็มักจะถูกความขี้เกียจควบคุมจิตใจได้ง่าย เมื่อความขี้เกียจเข้าครอบครองใจ ความเสื่อมถอยแห่งสมบัติพัสถานก็จะเกิดขึ้น ทรัพย์สินเงินทองที่มีก็ย่อมสูญสิ้นไป จนเข้าตำราธุรกิจครอบครัวอยู่ไม่เกิน 3 ชั่วคน

4.ความสุขสบายทำให้ยึดติดง่าย พอเกิดอาการยึดติด ความเห็นแก่ตัวก็เกาะกินพื้นที่ในจิตใจ หวงแหนทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่แบ่งปัน คิดเข้าข้างตัวเองเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวอย่างปราศจากเหตุผลและวุฒิภาวะ เพราะกลัว จะต้องสูญเสียความสุขสบายที่มีไป

5.มองไม่เห็นว่าแท้จริงโลกนี้มีปัญหา มองไม่เห็นความทุกข์ มองไม่เห็นว่าปลายสุดของความสุขสบายคือความพลัดพรากและสูญเสีย จึงทำให้ไม่เห็นคุณค่าของการปฏิบัติธรรมหรือการทำความดี และเมื่อไม่ปฏิบัติธรรม โอกาสที่จะพ้นทุกข์จึงไม่มี ซึ่งนับว่าเสียโอกาสอย่างยิ่งในการได้เกิดเป็นมนุษย์และได้พบกับพระพุทธศาสนา

เพราะพิษของความสบายเหล่านี้ มหาเศรษฐีระดับโลกหลายคน เช่น บิล เกตส์ เศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก, วอร์เรน บัฟเฟตต์ เศรษฐีอันดับรองลงมา หรือเฉินหลง ดาราดัง ฮอลลีวู้ด จึงเลือกที่จะยกเงินเกือบทั้งหมดของชีวิตให้กับองค์กรการกุศลแทนที่จะมอบ ให้กับลูกๆ ของตัวเอง

และถ้าความสุขสบายแบบเนื้อหนังทางโลกเป็นของดีจริง เจ้าชายสิทธัตถะคงไม่ละทิ้งอำนาจกษัตริย์ ไม่ทิ้งพระราชวัง 3 ฤดู ทิ้งนางสนมกำนัลกว่าสี่หมื่น และทิ้งพระมเหสีที่งดงามระดับนางงาม ผลัดเปลี่ยนเป็นผ้าห่อศพคลุมตัว กินอาหารตามมีตามได้ บากบั่นแสวงหาความหลุดพ้นอย่างทรมานกว่า 6 ปี จนสามารถบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ณ โคนต้นพระศรีมหาโพธิก้าวขึ้นสู่ความเป็นบรมครูผู้เป็นมหาศาสดาเอกของโลกได้อย่างยิ่งใหญ่ในที่สุด

มาถึงปัจจุบัน อาจไม่จำเป็นต้องสลัดต้นทุนความสบายจนหมดสิ้น เพียงแต่ให้ตระหนักไว้ว่า "อุปสรรคและความลำบากคือยาดีที่ทำให้แข็งแกร่ง ส่วนความสบายคือภัยร้ายที่อาจฉกกัดคนด้อยปัญญาอยู่เสมอ" จึงไม่ควรใช้ชีวิตอย่างประมาทเพลิดเพลินจนเกินไป เพราะความสุขสบายที่ไม่ประกอบ ด้วยธรรมย่อมจะกลับกลายเป็นความร้าย มาทำลายตัวในที่สุด
591  สุขใจในธรรม / เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ / Re: ธรรมะวันหยุด เมื่อ: 23 มีนาคม 2561 14:20:32



พ้นภัยเพราะสัจจะ

ความจริงใจ พูดจริง ทำจริง ความซื่อตรง ความตั้งใจอย่างมุ่งมั่นในสิ่งที่ตนปรารถนา สะสมความดีอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุด เรียกว่า สัจบารมี การตั้งสัจจะมี 2 วิธี

1.ตั้งสัจอธิษฐานใจ มีความตั้งใจแน่วแน่ในการ ทำ พูด คิด ในสิ่งดีที่ตนปรารถนา โดยทั่วไปนิยมตั้งสัจอธิษฐาน ต่อจากไหว้พระสวดมนต์ประจำวัน หรือได้ทำบุญแล้ว จะมีคำลงท้ายหลังถวายทานหรือทำบุญต่างๆ เช่น ขอผลบุญนี้เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าสิ้นอาสวะกิเลส บรรลุพระนิพพานเถิด

ตัวอย่าง เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากพระนคร ถึงริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ขณะที่ประทับนั่งบนหลังม้า กัณฐกะ ทรงอธิษฐานว่า "หากอาตมา จะข้ามห้วงโอฆสงสาร บรรลุถึงพระนิพพาน ในอนาคตกาลแน่แล้ว ขอให้ม้ากัณฐกะ จงพาอาตมาข้ามแม่น้ำอโนมานทีโดยสวัสดีเถิด" แล้วทรงม้ากัณฐกะข้ามแม่น้ำไปได้โดยปลอดภัย ทรงอธิษฐานเพศบรรพชา ณ ที่นั้น

2.ตั้งสัจจะด้วยการเปล่งวาจาให้ผู้อื่นได้ยิน เป็นพยานว่าตนได้ตั้งสัจจะไว้อย่างนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้อื่น และให้เกิดความละอายแก่ใจของตน

ครั้งหนึ่ง เกิดไฟป่าไหม้มาล้อมรอบรังนกที่อาศัยอยู่ในป่า ซึ่งเป็นรังของนกคุ่มผัวเมีย มีลูกตัวเล็กๆ อาศัยอยู่ด้วย เมื่อไฟป่าได้ลุกลามมาใกล้ นกทั้งหลายพากันบินหนีไป รวมทั้งนกคุ่มที่เป็นพ่อแม่ด้วย ปล่อยให้ ลูกนกคุ่มที่ยังเดินและบินไม่ได้รอความตายอยู่ในรัง ลูกนกคุ่มนั้นจึงได้การกล่าวสัจวาจาโดยอ้างถึงคุณธรรมที่ได้กระทำมาในอดีตชาติ อ้างถึงคุณของพระพุทธเจ้า รวมทั้งความจริงที่เกี่ยวกับตัวเอง คือมีปีกแต่ยังบินไม่ได้ มีเท้าแต่ยังเดินหนีไม่ได้ แล้วจึงอธิษฐานในใจว่า ขอให้อำนาจแห่งความจริงต่างๆ ที่ตนได้กล่าวไว้จงให้เกิดผลคือ ขอให้ไฟป่าที่กำลังลุกลามเข้ามาใกล้รอบตัวได้ ดับลง เมื่อลูกนกตั้งสัจจะแล้วเปลวไฟอันลุกโพลงมาใกล้จึงสงบลง ประหนึ่งเปลวไฟที่ตกลงถึงน้ำแล้วดับไป ฉะนั้น

คุณของการมีสัจจะ
- เป็นคนหนักแน่นมั่นคง
- มีความเจริญก้าวหน้า
- การงานที่ทำนั้นได้ผลดีพิเศษ
- มีคนยอมรับนับถือ และยำเกรง
- ครอบครัวมีความมั่นคง
- ทำดีได้โดยไม่ท้อถอย

โทษของการขาดสัจจะ
- เป็นคนเหลวไหล ไร้สาระ
- ชีวิตตกต่ำ มีแต่ความล้มเหลว
- คนเหยียดหยาม ไม่ยอมรับนับถือ
- หาความเจริญได้ยาก
- หาความสุขในครอบครัวได้ยาก

ผู้ที่สามารถรักษาสัจจะได้จนเป็นนิสัย เท่ากับได้มีโอกาสสะสมสัจบารมีของตนให้มากขึ้นโดยลำดับ จนมีพลังแสดงผลให้ได้ทันตาเห็น



พยาบาท

พยาบาท ได้แก่ เจตนาเป็นเหตุปองร้าย คิดกระทำให้ผู้อื่นประสบความพินาศ หมายความว่า การยังประโยชน์สุขของผู้อื่นให้ถึงความพินาศไป การมุ่งร้ายต่อผู้อื่น คิดที่จะทำลายประโยชน์ และความสุขของผู้อื่น หาวิธีการที่ทำให้ผู้อื่นเกิดความพินาศเสียหาย หรือนึกสาปแช่งให้ได้รับอันตรายต่างๆ ด้วยอำนาจของความโกรธแค้นที่เกิดขึ้นในใจ เช่น ให้ทรัพย์สมบัติของเขาเสื่อมเสียไปก็ดี ให้ชีวิตของเขาทำลายไปก็ดี เป็นลักษณะของพยาบาท

ความคิดปองร้ายของผู้มุ่งจะทำร้ายชีวิตของสัตว์อื่น ตั้งแต่มดและยุง ไปจนถึงมนุษย์ว่า ขอให้สัตว์เหล่านี้จงพินาศ จงวิบัติ ทำอย่างไรหนอ สัตว์เหล่านี้ พึงพินาศ พึงวิบัติ ไม่พึงเจริญรุ่งเรือง ไม่พึงมีชีวิตอยู่ได้นาน

ส่วนความโกรธที่ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น เป็นเพียงกรรมเท่านั้น แม้ความโกรธที่มีสัตว์อื่นเป็นเหตุเกิดขึ้น ไม่ล่วงละเมิดความผิด ตราบใดที่ยังไม่คิดปองร้ายเขาว่า ทำอย่างไรหนอ ผู้นี้จะพึงพินาศตายไป

พยาบาท จะสำเร็จเป็นทางแห่งความชั่วได้ ต้องประกอบด้วยองค์ 2 คือ

1.มีสัตว์อื่น
2.คิดจะให้สัตว์นั้นถึงความพินาศ

การพยาบาทปองร้าย จะเป็นบาปมาก เพราะว่ามีองค์ประกอบที่แสดงออกไปสมบูรณ์ คือ
- ผู้ที่ถูกปองร้ายมีคุณมาก
- ผู้ปองร้ายมีกิเลสรุนแรง
- เพราะถึงความเป็นกรรมชั่ว
- เพราะความพยายามรุนแรง

การทำบาปที่ครบองค์ประกอบ 2 ประการนี้ จัดว่าเป็นความชั่วที่สมบูรณ์ ถ้าผลของการทำบาป คือ การคิดพยาบาทส่งผล เมื่อสิ้นชีวิตลงจะไปเกิดในอบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย หรือ เดรัจฉาน เรียกว่า บาปให้ผลในขณะเกิด

ถ้าตอนสิ้นชีวิตนึกถึงบุญ บุญนำเกิดเป็นมนุษย์ ผลของบาปที่ทำไว้นี้ก็จะตามมาให้ผลอีก ทำให้ได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัส ได้รับอารมณ์ ที่ไม่ดีไม่งาม ทำให้อายุสั้น เกิดโรคภัยเบียดเบียน จะตายด้วยการถูกประหาร มีผิวพรรณที่หยาบกร้าน เรียกว่า บาปให้ผลในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

ความพยาบาทนั้น นอกจากจะทำลายประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้ว ยังทำลายตัวเองอีกด้วย

เป็นเหตุนำทุกข์อันตรายมาสู่ตนและคนอื่น ฉะนั้น จึงควรมีเมตตากรุณา รักใคร่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันดีกว่า เพื่อให้โลกของเราอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และพึ่งพาอาศัยกันได้ต่อไป


พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
592  สุขใจในธรรม / บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม / Re: บทสวด ทำวัตรสวดมนต์ เมื่อ: 23 มีนาคม 2561 14:05:55



บทสวดทำวัตรเย็น
  คำบูชาพระรัตนตรัย

โย โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ,
พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น พระองค์ใด, เป็นพระอรหันต์, ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์สิ้นเชิง, ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง;

ส๎วากขาโต เยนะ ภะคะวะตา ธัมโม,
พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ใด, ตรัสไว้ดีแล้ว;

สุปะฎิปันโน ยัสสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,
พระสงฆ์สาวก ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ใด, ปฏิบัติดีแล้ว;

ตัมมะยัง ภะคะวันตัง สะธัมมัง สะสังฆัง, อิเมหิ สักกาเรหิ ยะถาระหัง อาโรปิเตหิ อะภิปูชะยามะ,
ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอบูชาอย่างยิ่งซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น, พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์, ด้วยเครื่องสักการะทั้งหลายเหล่านี้, อันยกขึ้นตามสมควรแล้วอย่างไร;

สาธุ โน ภันเต ภะคะวา สุจิระปะรินิพพุโตปิ,
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ, พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ปรินิพพานนานแล้ว ทรงสร้างคุณอันสำเร็จประโยชน์ไว้แก่พวกข้าพเจ้าทั้งหลาย;

ปัจฉิมาชะนะตานุกัมปะมานะสา,
ทรงมีพระหฤทัยอนุเคราะห์แก่พวกข้าพเจ้า, อันเป็นชนรุ่นหลัง;

อิเม สักกาเร ทุคคะตะปัณณาการะภูเต ปะฏิคคัณ๎หาตุ,
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงรับเครื่องสักการะ, อันเป็นบรรณาการของคนยากทั้งหลายเหล่านี้;

อัม๎หากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ,
เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ตลอดกาลนาน เทอญฯ

-----------------------

  คำนมัสการพระรัตนตรัย

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา,
พระผู้มีพระภาคเจ้า, เป็นพระอรหันต์, ดับเพลิงกิเลสเพลิงทุกข์สิ้นเชิง, ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง;

พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ.
ข้าพเจ้าอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า, ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน; (กราบ)

ส๎วากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม,
พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า, ตรัสไว้ดีแล้ว;

ธัมมัง นะมัสสามิ.
ข้าพเจ้านมัสการพระธรรม; (กราบ)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า, ปฏิบัติดีแล้ว;

สังฆัง นะมามิ.
ข้าพเจ้านอบน้อมพระสงฆ์; (กราบ)

-----------------------

  ปุพพภาคะนมะการ

(นำ) หันทะ มะยัง พุทธัสสะ ภะคะวะโต ปุพพะภาคะนะมะการัญเจวะ พุทธานุสสะตินะยัญจะ กะโรมะ เส.

(บางแห่งนำว่า) ยะมัม๎หะ โข มะยัง ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา อะระหันตัง สัมมาสัมพุทธัง, ยัง ภะคะวันตัง อุททิสสะ ปัพพะชิตา, ยัส๎มึ ภะคะวะติ พรัห๎มะจะริยัง จะรามะ, ตัมมะยัง ภะคะวันตัง สะธัมมัง สะสังฆัง ยะถาระหัง อาโรปิเตหิ สักกาเรหิ อะภิปูชะยิต๎วา อะภิวาทะนัง กะริม๎หา, หันทะทานิ มะยัง ตัง ภะคะวันตัง วาจายะ อะภิคายิตุง, ปุพพะ-ภาคะนะมะการัญเจวะ พุทธานุสสะตินะยัญจะ กะโรมะ เสฯ

(รับ) นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
อะระหะโต ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส
สัมมาสัมพุทธัสสะ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
อะระหะโต ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส
สัมมาสัมพุทธัสสะ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
อะระหะโต ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส
สัมมาสัมพุทธัสสะ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

-----------------------



บทสวดทำวัตรเย็น

  พุทธานุสสติ

ตัง โข ปะนะ ภะคะวันตัง เอวัง กัล๎ยาโณ กิตติสัทโท อัพภุคคะโต  ก็กิตติศัพท์อันงามของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น,ได้ฟุ้งไปแล้วอย่างนี้ว่า
อิติปิ โส ภะคะวา เพราะเหตุอย่างนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
อะระหัง เป็นผู้ไกลจากกิเลส
สัมมาสัมพุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
วิชชาจะระณะสัมปันโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
สุคะโต เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี
โลกะวิทู เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
สัตถา เทวะมะนุสสานัง เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พุทโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม
ภะคะวาติ เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้.
-----------------------



  พุทธาภิคีติ

(นำ) หันทะ มะยัง พุทธาภิคีติง กะโรมะ เส.

(รับ) พุทธะวาระหันตะวะระตาทิคุณาภิยุตโต,
พระพุทธเจ้าประกอบด้วยคุณ มีความประเสริฐแห่งอรหันตคุณ เป็นต้น;

สุทธาภิญาณะกะรุณาหิ สะมาคะตัตโต,
มีพระองค์อันประกอบด้วยพระญาณ และพระกรุณาอันบริสุทธิ์;

โพเธสิ โย สุชะนะตัง กะมะลังวะ สูโร,
พระองค์ใด ทรงกระทำชนที่ดีให้เบิกบาน ดุจอาทิตย์ทำบัวให้บาน;

วันทามะหัง ตะมะระณัง สิระสา ชิเนนทัง,
ข้าพเจ้าไหว้พระชินสีห์ ผู้ไม่มีกิเลสพระองค์นั้น ด้วยเศียรเกล้า;

พุทโธ โย สัพพะปาณีนัง สะระณัง เขมะมุตตะมัง,
พระพุทธเจ้าพระองค์ใด เป็นสรณะอันเกษมสูงสุดของสัตว์ทั้งหลาย;

ปะฐะมานุสสะติฏฐานัง วันทามิ ตัง สิเรนะหัง,
ข้าพเจ้าไหว้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น, อันเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกองค์ที่หนึ่ง ด้วยเศียรเกล้า;

พุทธัสสาหัส๎มิ ทาโส (ญ. ทาสี) วะ พุทโธ เม สามิกิสสะโร,
ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า, พระพุทธเจ้าเป็นนาย มีอิสระเหนือข้าพเจ้า;

พุทโธ ทุกขัสสะ ฆาตา จะ วิธาตา จะ หิตัสสะ เม,
พระพุทธเจ้าเป็นเครื่องกำจัดทุกข์ และทรงไว้ซึ่งประโยชน์แก่ข้าพเจ้า;

พุทธัสสาหัง นิยยาเทมิ สะรีรัญชีวิตัญจิทัง,
ข้าพเจ้ามอบกายถวายชีวิตนี้แด่พระพุทธเจ้า;

วันทันโตหัง (ญ. วันทันตีหัง) จะริสสามิ พุทธัสเสวะ สุโพธิตัง,
ข้าพเจ้าผู้ไหว้อยู่จักประพฤติตาม, ซึ่งความตรัสรู้ดีของพระพุทธเจ้า;

นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง พุทโธ เม สะระณัง วะรัง,
สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี, พระพุทธเจ้าเป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า;

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ วัฑเฒยยัง สัตถุ สาสะเน,
ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้, ข้าพเจ้าพึงเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา;

พุทธัง เม วันทะมาเนนะ (ญ. วันทะมานายะ) ยัง ปุญญัง ปะสุตัง อิธะ,
ข้าพเจ้าผู้ไหว้อยู่ซึ่งพระพุทธเจ้า, ได้ขวนขวายบุญใดในบัดนี้;

สัพเพปิ อันตะรายา เม มาเหสุง ตัสสะ เตชะสา,
อันตรายทั้งปวงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า, ด้วยเดชแห่งบุญนั้น;

(กราบหมอบลงว่า)

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา,
ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี;

พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง,
กรรมน่าติเตียนอันใด ที่ข้าพเจ้ากระทำแล้วในพระพุทธเจ้า;

พุทโธ ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง,
ขอพระพุทธเจ้าจงงดซึ่งโทษล่วงเกินอันนั้น;

กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ,
เพื่อการสำรวมระวังในพระพุทธเจ้าในกาลต่อไป,

-----------------------



  ธัมมานุสสติ

(นำ) หันทะ มะยัง ธัมมานุสสะตินะยัง กะโรมะ เส.

(รับ) ส๎วากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม
   
พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว

สันทิฏฐิโก   
เป็นธรรมที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง

อะกาลิโก   
เป็นธรรมที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล

เอหิปัสสิโก   
เป็นธรรมที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด

โอปะนะยิโก   
เป็นธรรมที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ   
เป็นธรรมที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้.
-----------------------



  ธัมมาภิคีติ

(นำ) หันทะ มะยัง ธัมมาภิคีติง กะโรมะ เส.

(รับ) ส๎วากขาตะตาทิคุณะโยคะวะเสนะ เสยโย,
พระธรรม เป็นธรรมที่ประเสริฐเพราะประกอบด้วยคุณ คือความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเป็นต้น;

โย มัคคะปากะปะริยัตติวิโมกขะเภโท,
เป็นธรรมอันจำแนกเป็นมรรค ผล ปริยัติและนิพพาน;

ธัมโม กุโลกะปะตะนา ตะทะธาริธารี,
เป็นธรรมทรงไว้ซึ่งผู้ทรงธรรม จากการตกไปสู่โลกที่ชั่ว;

วันทามะหัง ตะมะหะรัง วะระธัมมะเมตัง,
ข้าพเจ้าไหว้พระธรรมอันประเสริฐนั้น อันเป็นเครื่องขจัดเสียซึ่งความมืด;

ธัมโม โย สัพพะปาณีนัง สะระณัง เขมะมุตตะมัง,
พระธรรมใด เป็นสรณะอันเกษมสูงสุดของสัตว์ทั้งหลาย;

ทุติยานุสสะติฏฐานัง วันทามิ ตัง สิเรนะหัง,
ข้าพเจ้าไหว้พระธรรมนั้น, อันเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกองค์ที่สอง ด้วยเศียรเกล้า;

ธัมมัสสาหัส๎มิ ทาโส (ญ. ทาสี) วะ ธัมโม เม สามิกิสสะโร,
ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระธรรม, พระธรรมเป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า;

ธัมโม ทุกขัสสะ ฆาตา จะ วิธาตา จะ หิตัสสะ เม,
พระธรรมเป็นเครื่องกำจัดทุกข์, และทรงไว้ซึ่งประโยชน์แก่ข้าพเจ้า;

ธัมมัสสาหัง นิยยาเทมิ สะรีรัญชีวิตัญจิทัง,
ข้าพเจ้ามอบกายถวายชีวิตนี้แด่พระธรรม;

วันทันโตหัง (ญ. วันทันตีหัง) จะริสสามิ ธัมมัสเสวะ สุธัมมะตัง,
ข้าพเจ้าผู้ไหว้อยู่จักประพฤติตาม, ซึ่งความเป็นธรรมดีของพระธรรม;

นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง ธัมโม เม สะระณัง วะรัง,
สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี,พระธรรมเป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า;

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ วัฑเฒยยัง สัตถุ สาสะเน,
ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้, ข้าพเจ้าพึงเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา;

ธัมมัง เม วันทะมาเนนะ (ญ. วันทะมานายะ) ยัง ปุญญัง ปะสุตัง อิธะ,
ข้าพเจ้าผู้ไหว้อยู่ซึ่งพระธรรม, ได้ขวนขวายบุญใดในบัดนี้;

สัพเพปิ อันตะรายา เม มาเหสุง ตัสสะ เตชะสา,
อันตรายทั้งปวงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า, ด้วยเดชแห่งบุญนั้น;

(กราบหมอบลงว่า)

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา,

ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี;

ธัมเม กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง,
กรรมน่าติเตียนอันใด ที่ข้าพเจ้ากระทำแล้วในพระธรรม;

ธัมโม ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง,
ขอพระธรรมจงงดซึ่งโทษล่วงเกินอันนั้น;

กาลันตะเร สังวะริตุง วะ ธัมเม,
เพื่อการสำรวมระวังในพระธรรมในกาลต่อไป.
-----------------------




  สังฆานุสสติ

(นำ) หันทะ มะยัง สังฆานุสสะตินะยัง กะโรมะ เส.

(รับ) สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว;

อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว;

ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว;

สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติสมควรแล้ว;

ยะทิทัง,  ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ

จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา คู่แห่งบุรุษสี่คู่, นับเรียงตัวบุรุษได้แปดบุรุษ;

เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ,  นั่นแหละ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า;

อาหุเนยโย,  เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา;

ปาหุเนยโย,  เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ;

ทักขิเณยโย,  เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน;

อัญชะลิกะระณีโย,  เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี;  

อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ,  เป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้.


-----------------------

  สังฆาภิคีติ

(นำ) หันทะ มะยัง สังฆาภิคีติง กะโรมะ เส.

(รับ) สัทธัมมะโช สุปะฏิปัตติคุณาทิยุตโต,

พระสงฆ์ที่เกิดโดยพระสัทธรรม ประกอบด้วยคุณมีความปฏิบัติดีเป็นต้น;

โยฎฐัพพิโธ อะริยะปุคคะละสังฆะเสฏโฐ,
เป็นหมู่แห่งพระอริยบุคคลอันประเสริฐแปดจำพวก;

สีลาทิธัมมะปะวะราสะยะกายะจิตโต,
มีกายและจิตอันอาศัยธรรมมีศีลเป็นต้น อันบวร;

วันทามะหัง ตะมะริยานะคะณัง สุสุทธัง,
ข้าพเจ้าไหว้หมู่แห่งพระอริยเจ้าเหล่านั้น อันบริสุทธิ์ด้วยดี;

สังโฆ โย สัพพะปาณีนัง สะระณัง เขมะมุตตะมัง,
พระสงฆ์หมู่ใด เป็นสรณะอันเกษมสูงสุดของสัตว์ทั้งหลาย;

ตะติยานุสสะติฏฐานัง วันทามิ ตัง สิเรนะหัง,
ข้าพเจ้าไหว้พระสงฆ์หมู่นั้น อันเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกองค์ที่สาม ด้วยเศียรเกล้า;

สังฆัสสาหัส๎มิ ทาโส (ญ. ทาสี) วะ สังโฆ เม สามิกิสสะโร,
ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระสงฆ์ พระสงฆ์เป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า;

สังโฆ ทุกขัสสะ ฆาตา จะ วิธาตา จะ หิตัสสะ เม,
พระสงฆ์เป็นเครื่องกำจัดทุกข์และทรงไว้ซึ่งประโยชน์แก่ข้าพเจ้า;

สังฆัสสาหัง นิยยาเทมิ สะรีรัญชีวิตัญจิทัง,
ข้าพเจ้ามอบกายถวายชีวิตนี้ แด่พระสงฆ์;

วันทันโตหัง (ญ. วันทันตีหัง) จะริสสามิ สังฆัสโสปะฏิปันนะตัง,
ข้าพเจ้าผู้ไหว้อยู่จักประพฤติตาม ซึ่งความปฏิบัติดีของพระสงฆ์;

นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง สังโฆ เม สะระณัง วะรัง,
สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นสรณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า;

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ วัฑเฒยยัง สัตถุ สาสะเน,
ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ ข้าพเจ้าพึงเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา;

สังฆัง เม วันทะมาเนนะ (ญ. วันทะมานายะ) ยัง ปุญญัง ปะสุตัง อิธะ,
ข้าพเจ้าผู้ไหว้อยู่ซึ่งพระสงฆ์ ได้ขวนขวายบุญใด ในบัดนี้;

สัพเพปิ อันตะรายา เม มาเหสุง ตัสสะ เตชะสา,
อันตรายทั้งปวงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า ด้วยเดชแห่งบุญนั้น;

(กราบหมอบลงว่า)

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา,
ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี;

สังเฆ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง,
กรรมน่าติเตียนอันใด ที่ข้าพเจ้ากระทำแล้วในพระสงฆ์;

สังโฆ ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง,
ขอพระสงฆ์จงงดซึ่งโทษล่วงเกินอันนั้น;

กาลันตะเร สังวะริตุง วะ สังเฆ,
เพื่อการสำรวมระวังในพระสงฆ์ในกาลต่อไป.

-----------------------



ที่มา .watpitch.com
593  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 23 มีนาคม 2561 13:55:22



การฝึกสมาธิ (๒)

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย คืนที่ผ่านมาหรือราตรีที่ผ่านมา หลวงพ่อได้พูดถึงเรื่องสมาธิ ว่าสมาธินั้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ

สำหรับ ขณิกสมาธิ คือสมาธิในขั้นบริกรรม เช่นเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ การกำหนดอย่างนี้เรียกว่า เป็นสมาธิในขั้นบริกรรมสมาธิ

สำหรับ อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่เฉียดฌานเข้าไป ใกล้ฌานเข้าไป จวนๆ จะถึงฌาน แต่ยังไม่ถึงฌาน เราจะสังเกตเวลาเรานั่งสมาธิ เรานั่งไปๆ จิตของเราละเอียดเข้าๆ แล้วก็ถอยออกมา แทนที่จะขาดความรู้สึกยังไม่ขาด คืนไป มันไหลเข้าไปๆ ความรู้สึกของเรามันก็น้อยเข้าไปๆ แล้วก็ถอย ถอยกลับมา คล้ายๆ กับเราเข้าฌาน

คล้ายๆ กับเราเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานไป แล้วก็ถอยกลับมา แล้วก็ไปอีก แล้วก็ถอยกลับมา ตั้งอยู่ในลักษณะอย่างนี้ เรียกว่าเป็นสมาธิที่เฉียดฌานเข้าไป ใกล้ฌานเข้าไป จวนๆ จะถึงฌาน แต่ยังไม่ได้ถึงฌาน แค่จวนๆ จะดับแต่ยังไม่ดับ อันนี้เรียกว่าอุปจารสมาธิ

สำหรับ อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิถึงจุดอันแน่นิ่ง จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว เช่น เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ จิตของเราก็อยู่กับอาการพองอาการยุบ ไม่คิดไปเรื่องอดีต อนาคต ข้างหน้าข้างหลัง ไม่วิ่งไปหารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ใดๆ หรืออารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

แต่จิตของเราหยุดนิ่งอยู่กับอารมณ์พระกัมมัฏฐาน เช่น เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ จิตของเราก็หยุดอยู่ในอารมณ์พระกัมมัฏฐานนั้นๆ เรียกว่าอัปปนาสมาธิ

อัปปนาสมาธิ นี้ก็เป็นขั้นๆ ไม่ใช่ว่าอยู่ในขั้นเดียว คือ อัปปนาสมาธินั้น พูดให้รวบๆ ก็ได้แก่

๑. อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นปฐมฌาน

๒. อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นทุติยฌาน

๓. อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นตติยฌาน

๔. อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นจตุตถฌาน

ถ้าพิสดารก็สมาธิอยู่ในขั้น ปัญจมฌาน เป็นขั้นๆ และประเภทที่สอง (อัปปนาสมาธิ) ที่เป็นอรูปฌาน หรืออรูปสมาธิ คือ

๑. อากาสานัญจายตนฌาน อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นอรูปฌานที่ ๑

๒. วิญญาณัญจายตนฌาน อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นอรูปฌานที่ ๒

๓. อากิญจัญญายตนฌาน อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นอรูปฌานที่ ๓

๔. เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นอรูปฌานที่ ๔

นี่เป็นขั้นๆ อยู่อย่างนี้ท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าเรียกอัปปนาสมาธิแล้วจะเป็นสมาธิรวดเดียว อย่างเดียว ไม่ใช่

เพราะเหตุไร

เพราะว่า อัปปนาสมาธิแต่ละขั้นๆ นั้นไม่เหมือนกัน อานุภาพก็ไม่เหมือนกัน อานิสงส์ก็ไม่เหมือนกัน

แต่สำหรับวันนี้ หลวงพ่อจะไม่ได้กล่าวให้พิสดาร แต่จะแนะแนวทางอีกประการหนึ่ง คือ

ท่านทั้งหลาย การที่เราจะฝึกสมาธิดังที่ท่านทั้งหลายเคยฝึกมาแล้ว หรือขณะที่ท่านทั้งหลายกำลังฝึกอยู่ สมาธิที่จะนำมาฝึกนั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะฝึกเอาเลย มันเป็นไปไม่ได้หรอกท่านทั้งหลาย คืออย่างน้อยๆ เราก็ต้องปฏิบัติกัมมัฏฐานมา อาจจะ ๓ วัน หรือ ๔ วัน แล้วแต่เหตุปัจจัย เมื่อใดเราปฏิบัติไปๆ อัปปนาสมาธิเกิดขึ้น เพียงแต่ขั้นปฐมฌานอย่างเดียวก็ได้ หรือเป็นสมาธิขั้นแรกก็ได้

เมื่อจิตใจของเราตั้งมั่นเป็นสมาธิ คือได้สมาธิหรือได้ฌาน เราก็นำมาฝึกให้ชำนาญในวสี คือชำนาญในการเข้า ชำนาญในการออก ชำนาญในการอธิษฐาน ชำนาญในการรักษาจิตไว้ไม่ให้เข้าก่อนเวลา รักษาสมาธิไว้ไม่ให้เลยเวลาไป ฉลาดในการพิจารณาองค์ฌานนั้นๆ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ แล้วเอาไปฝึกเลยไม่ได้

ส่วนมากลักษณะอย่างนี้จะเกิดขึ้นสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ๆ พอปฏิบัติแล้วก็อยากให้ฝึกสมาธิทันที เป็นไปไม่ได้ท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าครูบาอาจารย์ปฏิเสธ แต่อยู่ที่เหตุปัจจัยของผู้ที่จะรับฝึก

เมื่อใดเราบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานจนสามารถทำจิตใจให้สงบอยู่ในขั้นอัปปนาสมาธิสมบูรณ์แล้ว หลังจากนั้นครูบาอาจารย์ก็จะฝึกให้ วิธีฝึกก็คือ ฝึกให้ชำนิชำนาญในวสีทั้ง ๕ ประการ ดังท่านทั้งหลายก็เคยศึกษามาแล้ว แต่หลวงพ่อจะไม่กล่าวถึงอีก วิธีฝึกนั้น ครูบาอาจารย์ต้องเป็นผู้ฉลาดในการฝึก ครั้งแรกเราเตือนให้ผู้ปฏิบัติทั้งหลายทราบว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อาจารย์หรือหลวงพ่อจะได้ฝึกสมาธิให้แล้วนะ

แต่การฝึกสมาธินี้ ไม่ใช่ว่าเป็นการทำลายหรือเป็นการอวดอุตตริมนุสสธรรม ไม่ใช่ทำในเรื่องอกุศลอะไร ก็พูดให้เขาเข้าใจแล้วก็เริ่มฝึก ให้เขาอธิษฐานเสียก่อน เช่นให้ว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๕ นาที เกรงว่ามันจะไม่ได้เราก็ให้อธิษฐานว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที

หลังจากนั้นก็ให้ผู้ปฏิบัติกำหนด พองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อย พอถึง ๕ นาที เราเตือนว่า ได้เวลาแล้ว ฟังให้ดีนะ ในขณะที่ได้เวลาแล้ว ก็ให้ผู้ปฏิบัติน่ะคลายออกจากสมาธิ ลืมตาขึ้นมา แต่ถ้าว่ายังไม่คลายออกจากสมาธิ คือสมาธิมาก มันเลยเวลาไป อาจารย์ต้องกำหนดให้ อยากออกหนอๆ แล้วก็ ออกหนอๆ ไป

เสร็จแล้วก็ให้เข้าอีก ๕ นาที สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที ฝึกให้ชำนิชำนาญไปเสียก่อน จนสามารถเข้าได้ออกได้ภายใน ๕ นาที สามารถเข้าได้ภายใน ๑ นาที สามารถจะเข้าออกได้ภายใน ๕ นาที ให้ชำนาญเป็นขั้นๆ ไป

เมื่อเราชำนาญในขั้นนี้แล้ว ต่อไปอธิษฐานจิตว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๐ นาที ขณะนั้นเราจับเวลาไว้นะ จับเวลาไว้ พอดีครบ ๑๐ นาทีแล้วก็ ได้เวลาแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะกำหนดจิตออกจากสมาธิ อยากออกหนอๆ แล้วก็ ออกหนอๆ ตามลำดับๆ มา

ถ้าหากว่า ๑๐ นาทีนี้ยังออกไม่ได้ คือมันเลยเวลาไป เราก็ต้องช่วยด้วย กำหนดว่า อยากออกหนอๆ แล้วก็ ออกหนอๆ มา ครบ ๑๐ นาที ฝึกอยู่อย่างนี้ มิใช่ว่าวันเดียวก็เอาละใช้ได้ ต้องฝึกให้ชำนิชำนาญ ถ้าไม่ชำนาญก็ฝึกอยู่นี้ ๑๐ นาทีก็ฝึกอยู่อย่างนี้ ๕ นาทีก็ฝึกอยู่อย่างนี้ จนชำนาญ เข้าได้ออกได้ๆ ตามเจตนารมณ์ แล้ววันต่อๆ ไป เราก็จึงฝึก ๑๐ นาที

เมื่อฝึก ๑๐ นาทีชำนิชำนาญแล้ว เข้าได้ออกได้ๆ ไม่ก่อนเวลาและก็ไม่หลังเวลา ออกก่อนก็ไม่ได้ ออกหลังก็ไม่ได้ ต้องให้ออกให้ทันเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อฝึกชำนิชำนาญอย่างนี้แล้วก็ฝึก ๑๕ นาที สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๕ นาที เราก็กำหนดเหมือนเดิม พองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ จนถึง ๑๕ นาที

พอถึง ๑๕ นาที ก็จะออกจากสมาธิ คลายตัวออก อยากออกหนอๆ ออกหนอๆ ไป คือเคลื่อนมือเบื้องขวาไปวางที่บนเข่าขวา เสร็จแล้วก็ให้เอามือข้างซ้ายออกว่า อยากออกหนอๆ ออกหนอๆ แล้วเลื่อนมือไปวางที่เข่าซ้าย

หลังจากนั้นก็กำหนดเอาเท้าออก อยากออกหนอๆ ออกหนอๆ ไป เหยียดขาขวาออกไปๆ เสร็จแล้วก็กำหนดเท้าซ้าย ขาซ้าย อยากออกหนอๆ แล้วก็ ออกหนอๆ ไปจนวางได้ที่ หลังจากนั้นก็กำหนด อยากลืมตาหนอๆ แล้วกำหนดว่า ลืมตาหนอๆ ค่อยๆ ลืมตาขึ้นๆ เมื่อลืมตาแล้ว ดูว่ามันยังไม่ได้ที่ ให้กำหนดตามแข้งตามขา กำหนดนวดแข้งนวดขาให้

แต่ในขณะที่นวดอยู่นั้น อย่าเพิ่งไปกำหนดนะว่า รู้หนอๆ หรือว่า ปวดหนอๆ ถ้าเรากำหนดอย่างนี้ มันเข้าอีกนะ เข้าสมาธิไปอีก คือสมาธิมันยังมากอยู่ ยังมียังสูงอยู่ มันก็จะเข้าอีก เหตุนั้น ในลักษณะอย่างนี้อย่าไปกำหนด ให้ออกไปตามที่กำหนดไว้ ออกแล้วก็แล้วไป อย่าไปกำหนดอีก เมื่อกำหนด ๑๕ นาทีได้แล้ว เรานั่งอธิษฐานใหม่ ตั้งใจใหม่ อธิษฐานใหม่ว่า ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๕ นาที

เราฝึกอยู่อย่างนี้ กลับไปกลับมา จนสามารถเข้าได้ออกได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อชำนิชำนาญแล้วก็ฝึกขั้น ๒๐ นาที ว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๒๐ นาที ลักษณะทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกันดังกล่าวมาแล้ว คือเหมือนเดิม

สำคัญนะการออก คือออกก่อนเวลาก็ไม่ได้ ออกเลยเวลาก็ไม่ได้ ต้องให้เข้าได้ออกได้ตามที่กำหนดไว้ทุกอย่างทุกประการ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ เรียกว่า ชำนาญในวสี คือ ชำนาญในการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ชำนาญในการนึก ชำนาญในการเข้า ชำนาญในการออก ชำนาญในการอธิษฐาน ชำนาญในการพิจารณา

เมื่อชำนาญได้อย่างนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้ เรียกว่าชำนาญแล้ว เมื่อได้ ๒๐ นาทีแล้ว ฝึกให้ครบ ๓๐ นาที ทุกอย่างเหมือนเดิม ให้ครบ ๓๐ นาที เมื่อครบ ๓๐ นาทีแล้ว วันนั้นเพียง ๓๐ นาทีเท่านั้นนะ ๓๐ นาทีนี้ เราอาจจะใช้เวลาฝึก ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วันก็แล้วแต่

ถ้าหากว่ายังไม่ชำนาญในการเข้าการออกอยู่อย่างนี้ ก็ฝึกร่ำไปจนกว่าจะชำนิชำนาญทุกอย่าง ที่ฝึกอย่างนี้ก็เพื่อให้ชำนาญ คือสามารถที่จะใช้สมาธิ สามารถที่จะเข้าสมาธิตามเจตนารมณ์ทุกประการ และก็พร้อมที่จะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม

ถ้าเราไม่ชำนาญอย่างนี้ บางทีเราอยู่ตามกุฏิก็ดี หรือศาลาก็ดี หรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งก็ดี เราเข้าไปๆ มันเลยเวลาไป เช่นว่า เวลาที่มันเลยไปนั้น เราจะไปทำธุระอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไปทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง จะไปสวดมาติกา ไปเจริญพระพุทธมนต์ หรือจะไปเทศน์ที่โน้นที่นี้ เราเข้าสมาธิอยู่ ไม่ออกตามเวลา ก็เสียการเสียงาน

เด็กๆ เมื่อก่อนโน้นมาฝึกอยู่ที่นี่ เวลาเขาไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ตอนนี้แหละ ตอนเกี่ยวข้าว ไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายแล้วก็ว่า วันนี้เรามานั่งสมาธิด้วยกัน ไปนั่งสมาธิ ตอนนั้นก็ปล่อยควายไว้ ปล่อยวัวไว้ ก็พากันนั่งสมาธิ คิดว่าจะเข้าสมาธินิดเดียว คราวเดียว

แวบเดียวเท่านั้น ที่ไหนได้ท่านทั้งหลาย สมาธิที่ไม่ฝึกให้ชำนิชำนาญ เลยเวลาไป บางคนก็ ๑ ชั่วโมง บางคนก็ ๒ ชั่วโมง รู้สึกตัวขึ้นมา วัวของเราหายไปไหน ควายของเราหายไปไหน ตามหาวัวควาย วัวควายไปกินข้าวเขาหมดแล้ว ตกลงเป็นได้รับโทษอีก เขาต้องปรับไหม เพราะข้าวเขาถูกวัวกินถูกควายกิน ถูกปรับไหมใส่โทษ เพราะฉะนั้น ต้องฝึก

หรือบางครั้ง เราอยู่ที่วัดของเรา อยู่ในกุฏิของเรา เราเข้าสมาธิไป ในขณะที่เข้าสมาธิไปบังเอิญไฟไหม้กุฏิของเรา หรือที่ตูบกัมมัฏฐาน (กุฏิกัมมัฏฐาน) ของเรา แต่ว่าเรายังไม่ได้ออกจากสมาธิ คือสมาธิยังไม่คลายตัว ไม่ได้ออกมาเลย ก็ถูกไฟไหม้ตายเท่านั้น ถ้าเราไม่อธิษฐานจิต มันเป็นนะ ถ้าเราอธิษฐานจิต ไม่เป็นไร เพราะฉะนั้น เราจึงต้องให้ชำนิชำนาญดังนี้

เมื่อเราชำนิชำนาญแล้ว วันหลังก็ฝึกให้เข้าภายใน ๑ ชั่วโมง จนชำนิชำนาญ ๑ ชั่วโมงนี้ เข้าได้ออกได้ๆ ชำนาญแล้วท่านทั้งหลาย ทำชำนาญแล้วอย่างนี้แล้ว วันหลัง เราจะฝึกต่อทีนี้ เราก็เพิ่มเป็น ๒ ชั่วโมง พอดีเดินจงกรมเสร็จแล้วก็มานั่งอธิษฐานว่า ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๒ ชั่วโมง หลักการปฏิบัติเหมือนกันทุกอย่าง แต่ว่าต้องทำให้ได้ตามเวลา คือสามารถเข้าได้ การเข้านี้ บางท่านก็ใช้เวลามาฝึกครั้งนี้ บางคนก็ใช้เวลา ๒ นาที หรือ ๓ นาทีจึงเข้าได้ บางคนก็เข้าได้ภายใน ๑ นาที บางคนยังไม่ถึง ๑ นาทีเลย มันเข้าไปก่อน คือสมาธิมันมีมาก ก็เข้าไปก่อน เพราะฉะนั้น เราต้องให้ชำนาญ

และก็ถึงเวลา ๑ ชั่วโมงแล้ว จะออกจากสมาธิ แต่เราจับเวลา มันออกไม่ได้ ยังไม่ออกเลย เราก็กำหนดให้ดังกล่าวมาแล้วว่า อยากออกหนอๆ ออกหนอๆ มาเรื่อย แต่ถ้ามันออกก่อนเวลาก็ไม่เอา ไม่ให้ลุก ถึงรู้สึกตัวขึ้นมาก็ไม่ลุก นั่งอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ให้กระดุกกระดิก ถ้ากระดุกกระดิกแล้วก็ถือว่า ทำไม่ถูก ทำไม่ได้

เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย เมื่อชำนิชำนาญแล้ว วันหลังก็ค่อยเพิ่มเข้าไป ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๓ ชั่วโมง ทีนี้เพิ่มเป็น ๓ ชั่วโมง หลักการทุกสิ่งทุกอย่างก็เหมือนกัน แต่เวลาเข้าเวลาออกก็ต้องให้ตรงเวลา โดยเฉพาะเวลาออกนั้น ออกให้ตรงเวลา ถ้าออกไม่ตรงเวลาก็ฝึกไปอย่างนั้นแหละ จนตรงเวลา

เมื่อครบ ๓ ชั่วโมงแล้ว ให้พักทีนี้ ให้พัก ๓ วัน จำให้ดีนะ หากเข้าสมาธิได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว วันหลังให้หยุด ไม่ฝึก ให้พักอยู่ ๒–๓ วัน ช่วงที่พักนี้ เลี้ยงไว้ ให้เลี้ยงอารมณ์ไว้ หากว่าจะไปที่โน้นจะไปที่นี้ ก็ต้องประคับประคองสติของเราให้ดี อย่าให้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปด้วยอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ถ้าจะเข้าสมาธิ (ช่วงพัก) ตอนนี้ ก็เข้าได้ ๕ นาที ๑๐ นาที ๑๕ นาที ๒๐ นาที เข้าอยู่ในขั้นนี้ ไม่ให้ถึงชั่วโมง อย่าเพิ่งให้ถึงชั่วโมง หรือหากจำเป็นที่จะให้ถึงชั่วโมง ก็ให้ถึงได้ แต่ว่าไม่ให้เลย ๒ ชั่วโมง หากว่าอยู่ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้เข้าได้ แต่ไม่ให้เลยถึง ๒ ชั่วโมง เพราะว่าวันหลังเราจะฝึกอยู่แล้ว ดังนี้ก็เรียกว่าเราเลี้ยงอารมณ์ไว้

เมื่อครบ เมื่อทำได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว วันหลังจะทำต่อ คือหมายความว่า เราพัก ๒ วันแล้ว วันหลังจะทำต่อ ก็ให้อธิษฐานจิตใหม่เหมือนดังกล่าวมาแล้ว ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๖ ชั่วโมง ทีนี้เอา ๖ ชั่วโมงแล้วนะ การเข้าการอธิษฐานทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกัน แต่เมื่อครบ ๖ ชั่วโมงแล้วยังไม่ออกจากสมาธิ เราก็ช่วยกำหนดให้ อยากออกหนอๆ เหมือนที่กล่าวมานั่นแหละ ฝึกขั้นนี้ก็เหมือนกัน

การเข้า การออก ท่านทั้งหลายอย่าให้ออกก่อนเวลา และก็อย่าให้เกินเวลาไป จนชำนิชำนาญ เมื่อชำนิชำนาญได้อย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย ต่อไปเราจะฝึกให้สูงขึ้นไป ครั้งนี้นะให้พักนะ ให้พักอยู่ ๕ วัน ขั้นที่ ๖ ชั่วโมงนี้ ให้พักอยู่ ๕ วัน ภายใน ๕ วันนี้ เราเลี้ยงอารมณ์ไว้ให้เข้าสมาธิไปตามปกติธรรมดา

เมื่อครบแล้ว จะฝึก ๑๒ ชั่วโมง อธิษฐานจิตเหมือนที่กล่าวมาแล้ว ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๒ ชั่วโมง เมื่อถึง ๑๒ ชั่วโมงแล้ว ยังไม่ออกจากสมาธิออกจากฌาน เราก็ช่วยกำหนดให้ออก ให้ได้ออกทันเวลา

ถ้าว่าทำไม่ได้ ยังไม่ครบกำหนด ออกก่อนเวลาบ้าง เลยเวลาบ้าง หลังจากพักอยู่ ๗ วัน ขั้นนี้ก็พัก ๗ วันนะ ได้แต่เลี้ยงอารมณ์ไว้ จะเข้าใหม่ทีนี้ ก็ต้องเข้า ๑๒ ชั่วโมง เพราะขั้นนี้ยังไม่เรียบร้อย ขั้นนี้ยังไม่สามารถทำได้ สำหรับขั้นที่ผ่านๆ มาก็เหมือนกัน ๒ ชั่วโมงก็ดี ๓ ชั่วโมงก็ดี และก็ ๖ ชั่วโมงก็ดี

ถ้าเราทำแล้วยังไม่ได้ตามที่กำหนดไว้ เราก็ฝึกใหม่ ฝึกชำนิชำนาญแล้วจึงฝึกขั้น ๑๒ ชั่วโมง ฝึก ๑๒ ชั่วโมงแล้ว เข้าไม่ได้ออกไม่ได้ตามเจตนารมณ์ ตามที่เราฝึก ตามที่เราต้องการ ก็ให้ฝึกครบ ๗ วัน แล้วก็เข้า ๑๒ ชั่วโมงอีก ยังไม่ชำนิชำนาญการเข้า ครบ ๗ วันแล้วก็ฝึกอีก ให้เข้าอีกจนชำนิชำนาญ เข้าได้ออกได้ตามเจตนารมณ์ครบ ๑๒ ชั่วโมงแล้ว เราจะฝึกต่อ

คือเราพักอยู่ ๗ วันแล้วเราจะฝึกต่อ การอธิษฐานจิตเหมือนเดิม ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๒๔ ชั่วโมง แล้วก็นั่งสมาธิไป การกำหนด การปฏิบัติ เหมือนกันทุกอย่าง ต่างแต่ว่าให้ได้ครบ ๒๔ ชั่วโมง เมื่อถึง ๒๔ ชั่วโมงแล้ว ยังไม่ออก (ตามเวลา) เราก็ต้องกำหนดออกให้ อยากออกหนอๆ เสียก่อน ถ้าว่ามันออกก่อน ก็ไม่ได้ เลยเวลาไปก็ไม่ได้ ฝึกอยู่อย่างนั้นให้ชำนิชำนาญ

นี่หลักการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หลวงพ่อไปฝึกมาจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณ พระธรรมธีรราชมหามุนี วัดมหาธาตุฯ ท่านแนะวิธีให้ สอนให้ หลวงพ่อก็นำมาใช้จนตราบเท่าทุกวันนี้

ถามว่า ทีนี้สามารถเข้าได้ออกได้ ๗ วัน ไม่ใช่ของธรรมดานะ ถ้าฝึกให้ชำนิชำนาญแล้วทำได้ ๗ วันนี้ ตามหลักวิชาการที่ท่านแนะนำให้ แต่หลวงพ่อฝึกลูกศิษย์ลูกหาอย่างมากก็ ๓๐ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมงแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าหมดความสามารถแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น

เมื่อว่าถึง อานิสงส์ ที่ท่านทั้งหลายจะได้นั้น คือ

๑) กามฉันทะ พอใจใฝ่หากามคุณ

๒) พยาบาท ไม่พอใจ แค้นเคืองคิดร้ายเขา

๓) ถีนมิทธะ ความท้อแท้ ง่วงเหงา หดหู่ ซึมเซา กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง

๔) อุทธัจจกุกกุจจะ คิดมาก ฟุ้งซ่านรำคาญใจ

๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในข้อวัตรปฏิบัติ

นิวรณธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ สามารถที่จะข่มไว้ไม่ให้เกิดขึ้นมากลุ้มรุมจิตใจของเราได้ ในขณะที่อยู่ในสมาธิ หรืออยู่ในสมาธิของเราไม่เสื่อม

สิ่งที่เกิดขึ้นมาทดแทนก็คือความสุข อยู่ที่ไหนๆ ก็มีความสุข ยืนอยู่ก็มีความสุข เดินไปเดินมาก็มีความสุข ทานอาหารฉันอาหารอยู่ก็มีความสุข นอนอยู่ก็มีความสุข มีแต่สุขกับสุข ถ้าอยู่ในขั้นนี้ ถือว่าเป็นความสุขในฌาน ความสุขขั้นโลกิยะนี้ เป็นความสุขชั้นสูงสุดยอดในทางสมถะ เมื่อสมาธิของเราหรือฌานของเราแก่กล้าแล้วจึงค่อยยกขึ้นสู่วิปัสสนา เพื่อทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน

สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า สมาธินั้น หรือฌานนั้น มี ๒ ประการ คือ

๑. อัปปนาสมาธิ ญานที่เกิดขึ้นในลำดับของฌานชวนวิถี อัปปนาสมาธิที่ได้นั้นเป็นฌาน เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ตามลำดับ สมาธิขั้นนี้ยังไม่สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปได้ ต่อเมื่อปฏิบัติวิปัสสนา อย่างน้อยยังขั้นปฐมมรรคให้เกิดขึ้นก่อนแล้วนั่นแหละ จึงจะสามารถทำลายกิเลสได้

๒. อัปปนาสมาธิ ที่เกิดในลำดับของมัคควิถี ก็เป็นมรรคเป็นผล ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของมัคควิถี สมาธินั้นก็เป็นมรรคเป็นผล ถ้าว่าเกิดขึ้นได้ครั้งหนึ่ง ก็ถือว่าได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล

ถ้าเกิดในลำดับของมัคควิถีครั้งที่ ๒ สมาธิที่ได้นั้นก็เป็นสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับมัคควิถีครั้งที่ ๓ อัปปนาสมาธิที่ได้นั้นก็เป็นอนาคามิมรรค อนาคามิผล ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดครั้งที่ ๔ อัปปนาสมาธินั้นก็เป็นอรหัตตมรรค อรหัตตผล นี่อานิสงส์ที่ได้จากการเกิดของอัปปนาสมาธิมีอย่างนี้ ท่านทั้งหลาย

สรุปแล้วว่า อัปปนาสมาธิ นี้เกิดขึ้นในลำดับของ ๒ วิถี คือ ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของฌานชวนวิถี อัปปนาสมาธินั้นก็เป็นฌาน เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

ถ้า อัปปนาสมาธิ เกิดขึ้นในลำดับของ มัคควิถี อัปปนาสมาธินั้นก็เป็นมรรค เป็นผล เป็นโลกุตตระ หรือว่าถึงขั้นโลกุตตระ ขั้นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ ตามลำดับๆ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นหลักวิชาการที่ท่านทั้งหลายจะนำไปใช้เพื่อตัวเองด้วย และเพื่อสังคม ลูกศิษย์ลูกหา พระสงฆ์องค์เณร อุบาสกอุบาสิกา ที่มีปสาทะศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส อยากประพฤติปฏิบัติ

เมื่อเขาต้องการประพฤติปฏิบัติ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายอนุเคราะห์เขาช่วยเหลือเขา ตามโอกาสตามเวลาที่มีอยู่ เราอย่าไปนอนหลับทับสิทธิ์ ดาบมีอยู่ในมือก็ใช้ดาบนั้นให้เป็น อาวุธมีอยู่ในมือใช้อาวุธนั้นให้เป็น สิ่งใดเป็นของที่ดีเป็นมงคลมีอยู่ในตัวของเรา ก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ดังนี้ เพื่อเราด้วยและเพื่อสังคมด้วย

นอกจากนี้ หากว่าท่านทั้งหลายมีความเคลือบแคลงใจ สงสัย ยังไม่เข้าใจ โอกาสหน้ามีอยู่ ก็ขอนิมนต์ท่านทั้งหลาย ขอเชิญท่านทั้งหลายได้มาไต่ถามความสงสัยทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นให้หมดไป

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะมา ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร
594  สุขใจในธรรม / เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ / Re: ธรรมะวันหยุด เมื่อ: 15 มีนาคม 2561 09:46:19


ฝึกตน

คําสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่า พระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาประกาศแสดงสัจธรรม ธรรมที่เป็นจริงตามธรรมดา

การเรียนรู้หลักธรรมเพื่อฝึกให้รู้ถูก กำจัดความรู้ผิด ให้รู้ความจริงของบุคคล เป็นประโยชน์อย่างสำคัญ เปรียบเหมือนประทานกระจกเงาแก่บุคคลให้ส่องดูตัวเอง ให้เห็นว่าเป็นอย่างไรแล้วแก้ตนเองให้ดีนั่นเอง

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้แสดงสัจธรรม ทรงฝึกให้รู้จักผิด รู้จักชอบ และให้ปฏิบัติชอบตามเป็นจริง ตั้งแต่ชั้นต่ำจนถึงชั้นสูงสุด มีผู้ได้รับการฝึกจากพระองค์ได้บรรลุถึงคุณธรรมตามภูมิปัญญาความสามารถ ไม่มีศาสดาอื่นจะฝึกได้เสมอเหมือน จึงได้พระคุณนามว่า อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ ผู้ฝึกคนที่ควรฝึกอย่างยอดเยี่ยม

ส่วนผู้ไม่ยอมรับการฝึกจากพระองค์ ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากพระองค์ ชื่อว่าเป็นผู้ถูกฆ่าเสียจากคำสั่งสอนของพระองค์ ที่เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่ความผิดของพระองค์ ไม่ใช่ความผิดของธรรมที่ทรงแสดง ไม่ใช่ความผิดของปัญญาที่ทุกคนมีอยู่ แต่เป็นความผิดของตนเอง เปรียบเหมือนพระอาทิตย์ส่องแสงสว่างให้ปรากฏในโลก เพื่อประโยชน์แก่ผู้มีดวงตาให้ได้เห็นรูป เมื่อบุคคลมีดวงตาอยู่ มีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์อยู่ มีรูปอยู่ แต่หลับตาเสีย ไม่ลืมตาขึ้นดู ก็ไม่เห็นรูป จะโทษดวงตาก็ไม่ถูก จะโทษพระอาทิตย์ก็ไม่ถูก จะโทษรูปก็ไม่ถูก ต้องโทษตนเองอย่างเดียว

ผู้ได้รับการฝึกจากพระองค์ ได้รู้เห็นจริงแล้ว ได้แสดงคำสรรเสริญด้วยคำเปรียบเทียบว่า เหมือนหงายของที่คว่ำ เหมือนเปิดของที่ปิดไว้ เหมือนบอกทางแก่ผู้หลงทาง เหมือนส่องไฟในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักได้เห็นรูป ฉะนั้น

บุคคลจะปฏิบัติตนให้ดีได้ ก็เพราะการฝึกอบรมจิต เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้อบรมฝึกหัดจิต ข่มจิต ดังพระพุทธภาษิตว่า

การฝึกจิตที่ข่มได้ยาก เร็ว มักตกไปในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามความใคร่เป็นการดี จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้

การฝึกจิตต้องพิจารณาดูอาการของจิตให้รู้ว่าเป็นอย่างไรก่อน เมื่อเห็นว่า จิตเกี่ยวเกาะในวัตถุกาม จนถึงมุ่งให้ได้ฝ่ายเดียว ไม่เลือกว่าผิดหรือถูก ก็พิจารณาให้เห็นว่าเป็นโทษทั้งแก่ตนและคนอื่น ควรเจริญจาคะเจตนา คิดปล่อยวางไม่ติดพัน เมื่อเห็นว่าจิตมีอาการคิดมุ่งทำชั่วและพูดชั่ว ก็พิจารณาให้เห็นว่าเป็นโทษทั้งแก่ตนและคนอื่น ตั้งใจงดเว้นไม่คิดก้าวล่วง

ผู้รักตนต้องการเป็นคนดีทั้งในปัจจุบันและอนาคต สมควรฝึกตนให้รู้ธรรมะ ฝึกให้พิจารณารู้เนื้อความแห่งธรรม ฝึกให้พิจารณาดูตนสอบกับธรรมและอรรถ ให้รู้ว่าเป็นอย่างไร เมื่อฝึกตนให้ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ย่อมถือเอาสารประโยชน์จากการฝึกปฏิบัติได้ ชีวิตคือความเป็นอยู่ของตน จะเป็นชีวิตที่ดี และจะเป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า



พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
595  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 15 มีนาคม 2561 09:40:52



การฝึกสมาธิ (๑)

วันนี้ถือว่าเป็นวันคำรบ ๔ ของการปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติผ่านมา ๓ ราตรี การปฏิบัติอยู่ ๓ ราตรีที่ผ่านมาก็เหมือนกันกับเราสำรวจว่า

ตั้งแต่เราบวชมาในพระพุทธศาสนานี้ ตั้งแต่วันเริ่มต้นถึงวันนี้ เรามีความบกพร่องอย่างไร ที่ผ่านมานี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับกายและวาจาของเราสมบูรณ์แล้วหรือไม่ หรือขาดตกบกพร่องอยู่อย่างไร เราสำรวจ เมื่อสำรวจแล้วก็จะรู้ทันทีว่า การปฏิบัติเกี่ยวกับกายและวาจาซึ่งถือว่าเป็นศีล มันบกพร่องอยู่ตรงนี้ๆ เมื่อเราสำรวจครบทุกอย่างทุกประการ ก็จะตั้งอกตั้งใจทำให้ความบกพร่องนั้นให้สมบูรณ์ เรียกว่า มานัตต์ คือขึ้นมานัตต์

การขึ้นมานัตต์ ก็คือการขัดเกลาหรือทำสิ่งที่มันบกพร่องไปนั้นให้ดีขึ้นให้สมบูรณ์ขึ้น ถือว่าเป็นการขัดเกลา คือขัดให้มันหมดมลทิน มลทินเหล่าใดที่มีในทางกาย มีทางวาจา เราก็จะได้ขัดมลทินนั้นให้หมดไป เพื่อว่าจะให้กาย วาจา ใจ บริสุทธิ์และสะอาด

ถ้าว่าผู้ใดเอาใจใส่ในการขัดในการเกลา กาย วาจา และใจของเราก็บริสุทธิ์มาก ถ้าใครขัดใครเกลาไม่สมบูรณ์ กายและวาจาของเราเปอร์เซ็นต์ที่จะบริสุทธิ์สะอาดก็มีน้อย แต่ก็ขออัพภานได้เหมือนกัน เพราะถ้าว่าตามหลักของศีลก็ถือว่าเราสามารถที่จะขออัพภานกันได้ แต่ว่าความบริสุทธิ์ของเรา ความสะอาดของเรานั้น ส่วนมากจะไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร

เหมือนกันกับเราขัดแก้ว แก้วของเรามันขัดแล้ว มันก็สวยอยู่งามอยู่ แต่ยังไม่ถึงที่ ต้องขัดแล้วขัดอีก ขัดแล้วขัดอีก ๒ ครั้ง หรือ ๓ ครั้ง แก้วของเราก็สะอาดงดงามน่าใช้น่าดู หรือว่าภาชนะต่างๆ เราเอาใจใส่ในการขัด การเกลา การถู ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ก็สะอาดน่าดูน่าใช้ ข้อนี้ฉันใด

การประพฤติวุฏฐานวิธีคือมานัตต์นี้ก็เหมือนกัน เมื่อใดเราพยายามขัด พยายามเกลากายและวาจาของเรา ขัดแล้วขัดอีก เกลาแล้วเกลาอีก ผลสุดท้ายเราก็จะเป็นผู้มีกายอันบริสุทธิ์ มีวาจาอันบริสุทธิ์ ไม่ต้องวิปฏิสาร ไม่เดือดร้อน เป็นผู้องอาจกล้าหาญในท่ามกลางพุทธบริษัท

เหตุนั้น เราจึงใช้วิธีขัดเกลา การขัดเกลา หรือการขัดการเกลานี้ ในทางพระวินัยได้ทรงประทานไว้ ให้ใช้เวลาขัดเวลาเกลาอยู่เป็นเวลา ๖ วัน หรือ ๖ ราตรี

เพราะเหตุไรจึงทำแบบนี้

เพราะว่าการขัดการเกลาของที่สกปรก หรือของไม่ดีไม่สะอาด ถ้าเป็นวัตถุอย่างมากก็จะใช้เวลาขัดเวลาเกลาอยู่ ๖ วัน วัตถุนั้นก็สะอาดได้ น่าดูน่าชมได้ ข้อนี้ฉันใด กายวาจาของเราก็เหมือนกัน เราใช้เวลาขัดเวลาเกลาอยู่เป็นเวลา ๖ วัน หรือ ๖ ราตรี ก็ถือว่ากายของเราบริสุทธิ์ วาจาของเราบริสุทธิ์ สมควรแก่อัพภานกรรม

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายผู้มีความมุ่งหวังที่จะทำให้กายและวาจาของเราบริสุทธิ์ ก็พยายามเอาจิตเอาใจใส่ ในการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์

คือการเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือว่าอยากเดินหนอๆ กำหนดอาการพอง อาการยุบ พองหนอ ยุบหนอ กำหนดเวทนา สุขหนอ ทุกข์หนอ เฉยหนอ กำหนดจิตว่า คิดหนอๆ ตลอดทั้งกำหนดทางตา เห็นหนอ ได้ยินหนอ กลิ่นหนอ รสหนอ สัมผัสหนอ ถูกหนอ เจ็บหนอ อะไรทำนองนี้ เพื่อเป็นการขัด อันนี้นะเป็นเครื่องขัด เราใช้อันนี้ เราใช้บทกัมมัฏฐานนี้แหละขัด

เอาอะไรไปขัด

เอาสติไปขัด

ไปขัดที่ไหน

ไปขัดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ หรือไปขัดที่อาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการยืน เวทนา ความคิดของเรา นี่คือเอาสติไปขัด มิใช่ว่าเอาอย่างอื่นไปขัด เอาสติของเราไปขัด

เพราะเหตุไรจึงขัด

เพราะว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานั้น เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่สกปรก

สกปรกเพราะอะไร

สกปรกเพราะโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา สภาวะดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นสภาวะที่ทำให้กายวาจาของเราสกปรก เป็นสภาวะที่ทำให้เกิดความลามก เพราะฉะนั้นเราจึงขัดจึงเกลา

เมื่อใดเราขัดแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดถึงใจของเราก็บริสุทธิ์ สะอาด ผ่องใส เหตุนั้น การขัดการเกลาของเราจึงจำเป็นต้องมีกุศโลบาย รู้วิธีขัด รู้วิธีเกลา คือขัดด้วยสติ ขัดด้วยสัมปชัญญะ ขัดด้วยปัญญา เมื่อเราทำได้อย่างนี้แล้ว กาย วาจา และจิตใจของเราก็บริสุทธิ์ สะอาด ผ่องใส สมควรแก่การอัพภานกรรม

เพราะฉะนั้น หลวงพ่อขอพูดเพียงย่อๆ ขอให้ท่านไปคิดเอาไปพิจารณาเอา

ตามปกติ วันขึ้นมานัตต์ทุกปีที่ผ่านมา หรือทุกจุดที่มีการปฏิบัติธรรม จะมีการฝึกสมาธิ คือถึงวันนี้จะมีการฝึกสมาธิ ที่ไหนๆ ก็ฝึกสมาธิอย่างนี้เป็นร่ำไป

เพราะเหตุไรจึงฝึกสมาธิ

เพราะเราต่างก็ต้องการให้ความคิดของเรามีระบบ การฝึกสมาธินี้ คือการที่ทำให้จิตใจของเรามีระบบ คือทำให้ความคิดของเรามีระบบ พวกเราส่วนมากจะเป็นพระ เป็นเณร ปะขาว แม่ชี ญาติโยมชาวบ้าน อุบาสก อุบาสิกา ส่วนมากความคิดของพวกเรานั้น ไม่มีระบบ คิดอะไรเรื่อยเปื่อยไป อะไรจิปาถะ ร้อยแปดพันประการ

เพราะความคิดที่ไม่มีระบบนี่แหละ จึงทำให้คนเรานั้นเสียสติได้ เป็นบ้าได้ คนที่มีความคิดไม่มีระบบ บางทีหนักๆ เข้าทานอาหารไม่เอร็ดอร่อย นอนก็นอนไม่หลับ หลับก็ครึ่งๆ กลางๆ หลับๆ ตื่นๆ สิ่งที่ไม่ควรคิดก็คิด สิ่งที่คิดอยู่แล้วก็คิดมากขึ้นไป เพราะว่าคิดไม่มีระบบ

สาเหตุที่พวกเราทั้งหลายใช้ความคิดที่ไม่มีระบบนี่แหละ จึงมีการฝึกสมาธิ คือฝึกให้ความคิดของเรามีระบบ ถ้าความคิดของเรามีระบบแล้ว เราอยากคิดก็คิดได้ เลิกคิดก็เลิกคิดได้ ไม่เป็นโรคประสาท ไม่กลุ้มใจ เพราะฉะนั้นจึงมีการฝึกสมาธิ

การฝึกสมาธิ ก็คือการรวมความคิดหลายๆ ความคิดให้เหลือความคิดเดียว คือจิตใจของเราตามปกตินั้นไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มันจะคิดร้อยแปดพันประการ คิดไปเรื่อยเปื่อย บางทีมันก็คิดไปเรื่องรูป คิดไปเรื่องเสียง คิดไปเรื่องกลิ่น คิดไปในเรื่องรส คิดไปในเรื่องสัมผัส คือมันคิดไปตามอารมณ์ที่มากระทบ

อารมณ์ใดๆ ที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตของเราก็วิ่งไปตามกระแสของอารมณ์ เมื่อจิตของเราวิ่งไปตามกระแสของอารมณ์แล้ว ความคิดของเราก็ไม่มีระบบ คิดมาก บางทีก็เป็นประสาท เป็นบ้า เพราะเหตุนั้นเราจึงฝึกสมาธิ คือการรวมกระแสจิตหลายๆ ความคิดนั้นให้เหลือความคิดเดียว

จิตที่ฝึกดีแล้ว ฝึกฝนอบรมดีแล้ว ย่อมเป็นจิตที่มีอำนาจมีพลัง มีอานุภาพมีสมรรถนะสูง ก็เหมือนกันกับท่อนไม้หรือท่อนกล้วย ถ้าเราปล่อยให้ไหลไปตามกระแสน้ำ มันก็ไหลได้อยู่ แต่ว่ามันไม่มีกำลัง การลอยของท่อนไม้ท่อนกล้วยนั้นมันก็เอื่อยๆ ไป มันไม่เร็ว

แต่ถ้าเราปรับที่ที่จะต้องให้มันลงแล้ว เราปรับได้ที่ ท่อนไม้ก็ดีท่อนกล้วยก็ดี เราปรับให้ไหลลงตรงนี้ๆ น้ำมากๆ ที่เอ่อล้นไป ให้มันไหลลงที่เดียว เมื่อมันลงที่เดียว ต้นกล้วยมันก็ไหลเร็วขึ้น ท่อนไม้ก็ไหลเร็วขึ้น ข้อนี้ฉันใด

เมื่อเราใช้สติสัมปชัญญะ ใช้ปัญญาฝึกจิตฝึกใจของเราให้มันเหลือความคิดเดียว ให้จิตของเรามันไหลไปทางเดียว ไม่ให้มันไหลไปตามรูป ตามเสียง ตามกลิ่น ตามรส ตามสัมผัส ธรรมารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อจิตของเรามันไหลไปแนวเดียวแล้ว ก็มีพลัง มีอานุภาพ และมีสมรรถนะสูง

อุปมาเหมือนกันกับเราปรับไฟฉาย ถ้าเรามีไฟฉายอยู่นะ หากว่าเราไม่ปรับแสง มันก็สว่างอยู่เหมือนกัน แต่มันสว่างไม่มาก แต่ถ้าเราปรับแสงให้ดีแล้ว โดยเราปรับปุ่มวิทยาศาสตร์ ปรับเข้าไปๆ ผลสุดท้ายแสงสว่างนั้นก็รวมแสงอยู่ในจุดเดียวกันเข้า เราสามารถรวมแสงให้เหลือจุดเดียว เมื่อเราสามารถรวมแสงให้อยู่ในจุดเดียว เหมือนกันกับแสงเลเซอร์นะ แสงเลเซอร์ก็คือการรวมแสงทั้งหลายทั้งปวงให้มันเหลือจุดเดียว เมื่อแสงเหลืออยู่จุดเดียว ก็สามารถไปผ่าตัดนิ่ว ไปผ่าตัดโน่นไปผ่าตัดนี่ ไม่ต้องใช้มีดในการผ่าตัด เอาแสงที่เขารวมแล้วไปผ่าตัด ก็สามารถทำลายนิ่ว ไต ทำลายส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำลายสิ่งที่ไม่ดีให้หมดไป ข้อนี้ฉันใด

ใจของเราก็เหมือนกัน เมื่อเรารวมกระแสจิตของเราจนเหลือความคิดเดียว ความคิดนั้นก็เป็นความคิดที่มีอานุภาพ มีพลัง มีสมรรถนะสูง สามารถที่จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมได้

เหมือนกันกับพวกเราทั้งหลายได้เล่าเรียนมา เรื่อง อภิญญาจิต เรื่อง ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้ จุตูปปาตญาณ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไปหมดไปจากขันธสันดาน หรือว่า อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ ทิพพโสตอภิญญา มีหูทิพย์ ทิพพจักขุอภิญญา มีตาทิพย์ เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตของผู้อื่น หรือปฏิสัมภิทา ๔ แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา

เพราะเหตุใดเรื่องอย่างนี้จึงเกิดขึ้น

เพราะเหตุไรคนเราจึงระลึกชาติแต่หนหลังได้

เพราะเหตุไรคนทั้งหลายจึงรู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่นได้ ตลอดถึงของตนเอง

เพราะเหตุไรคนเราจึงมีตาทิพย์ มีหูทิพย์ รู้วาระจิตของบุคคลอื่นได้

ก็เพราะว่าพวกเราใช้กรรมวิธีปรับความคิดของเราให้เหลือความคิดเดียว ดังที่พวกเราทั้งหลายได้เคยศึกษาเล่าเรียนมา

ระบบการปรับจิตของเราให้เหลือความคิดเดียวนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานไว้ถึง ๘ ประการ เรียกว่า สมาบัติ ๘ คือท่านให้ปรับด้วยอำนาจของปฐมฌาน ปรับด้วยอำนาจของทุติยฌาน ปรับด้วยอำนาจของตติยฌาน ปรับด้วยอำนาจของจตุตถฌาน คือใช้สมาธิเป็นขั้นๆ คือปรับเป็นขั้นๆ ต่อๆ กันขึ้นไป

เมื่อปรับขั้นรูปธรรมแล้วยังไม่พอ ยังปรับขั้นนามธรรมด้วย ดังที่เราเคยเรียนมาคือ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มาปรับจนทำให้ร่างกายทั้งหลายนั้นมีกำลัง มีอานุภาพ มีสมรรถนะสูง

เมื่อสามารถรวมกระแสจิตได้ตามหลักทั้ง ๘ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จิตของเราก็จะมีพลัง มีอานุภาพ มีสมรรถนะสูง สามารถทำให้เกิดอภิญญาจิต ระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น มีหูทิพย์ มีตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา

ก็เพราะอำนาจจิตใจที่ฝึกฝนอบรมแล้ว จึงมีพลัง มีอานุภาพ สามารถทำให้เกิดอภิญญาจิต ดังที่หลวงพ่อได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คนที่คิดมีระบบดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำจิตใจของตนให้เป็นสมาธิ หนักแน่น ทำให้เกิดอภิญญาจิตดังกล่าวมาแล้ว

ในขั้นเบื้องต้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงใช้วิธีรวมกระแสจิตมาแล้ว ได้ทรงฝึกมาก่อนแล้ว จนได้เกิดวิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา ดังกล่าวมาแล้ว กำลังของสมาธินี้ มิใช่ว่าเราจะเอาไปใช้เพียงแต่ทำให้เกิดอภิญญาจิตดังกล่าวมาแล้วข้างต้นก็หาไม่

เมื่อใดเรารู้หลักการวิธีการในการรวมกระแสจิตของตนให้สมบูรณ์จนได้อภิญญาจิตแล้ว เราก็สามารถนำจิตที่รวมนี้ไปใช้ในการที่จะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ที่เรียกว่า การเจริญวิปัสสนา

การเจริญวิปัสสนานั้นก็คือ เบื้องต้นเรารวมกระแสจิตจนมีพลังจนมีอำนาจ เมื่อรวมกระแสจิตสมบูรณ์แล้ว กระแสจิตอันนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เรียกว่า วิปัสสนาปัญญา

เมื่อวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว ปัญญาขั้นนี้ก็จะทำหน้าที่ทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ให้หมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน ตามกำลังที่เราได้ฝึกจิตมาดีแล้ว

เพราะเหตุอย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม หลวงพ่อจึงชี้แนะให้มีการฝึกสมาธิ สมาธิที่ฝึกนั้น ก็ต้องการประโยชน์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายอย่าคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล สำหรับการฝึกสมาธิ ทุกสิ่งทุกอย่างท่านทั้งหลายก็ศึกษามาแล้ว

สำหรับท่านผู้เจริญพระกัมมัฏฐานใหม่ๆ เราต้องการการกำหนด เรากำหนดเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างที่กำหนดผ่านมาแล้วนั้น ครูบาอาจารย์ให้กำหนดอาการพอง อาการยุบ ขวาย่าง ซ้ายย่าง กำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรม กำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ท่านทั้งหลายเอาบททั้งหลายเหล่านี้แหละนำไปฝึกสมาธิ ไปทำจิตให้เป็นสมาธิ

หากว่าท่านต้องการให้เกิดสมาธิเร็ว ให้เกิดฌานเร็ว ท่านทั้งหลายก็เอาจิตของเรานี้ กำหนดที่จิตของเรา ตั้งสติไว้ที่ใต้ราวนมข้างซ้ายต่ำลงไปสัก ๓ นิ้ว หรือ ๒ นิ้ว กำหนด คิดหนอๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าเราเอาจิตไปบริกรรมอย่างนี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิเร็วและก็ได้ฌานเร็ว

สำหรับผู้ที่เคยเข้าสมาธิมาแล้ว เข้าสมาธิ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง เป็นต้น หากว่าท่านทั้งหลายต้องการที่จะอุ่นเครื่องให้จิตใจของเรามีระบบกว่าที่เป็นอยู่นี้ ท่านทั้งหลายจะนั่งสมาธิตามที่ท่านทั้งหลายเคยปฏิบัติมาก็ได้ แต่ต้องให้ผ่านครูฝึกคือแม่ชีเสียก่อน การปฏิบัติในครั้งนี้ หลวงพ่อได้มอบให้คุณแม่สว่าง และคุณแม่ชีเนียม และแม่ชีผู้ช่วยได้ช่วยดูแล

แต่เจตนาจริงๆ ของหลวงพ่อนั้น ต้องการอยากให้ท่านเจริญวิปัสสนา เพราะท่านทั้งหลายได้เคยเจริญสมาธิมาแล้ว เคยเข้าสมาธิมาแล้ว เคยฝึกมาแล้ว ต้องการอยากให้การปฏิบัติมันก้าวหน้าไปกว่านี้ ไม่อยากให้นั่งอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นของไม่ดี เป็นของดี แต่ว่าของดีที่ได้อยู่ในขณะนี้ถือว่าเป็นของดีที่ยังประกันไม่ได้ ยังรับประกันไม่ได้ว่า ของดีที่มีอยู่ในขณะนี้ ที่ได้อยู่นี้ เราจะสามารถนำไปใช้จนถึงโลกุตตระหรือไม่

บางทีสมาธิของเราไม่ดี สมาธิของเราไม่สมบูรณ์ กิเลสตัณหามันยังมีอยู่ ยังไม่หมด (ผู้ได้) สมาธิขั้นนี้ ก็ยังจะไปเกิดอบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานได้ (ผู้ได้) สมาธิขั้นนี้ ยังสามารถที่จะฆ่าพ่อฆ่าแม่ได้ และยังสามารถที่จะทำบาปทำกรรมอื่นๆ อีกได้

เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย เมื่อรู้แล้วว่าเรามีสมาธิ ก็รักษาสมาธิไว้ อย่าให้เสื่อม ใช้ให้เป็นประโยชน์เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่อย่าไปใช้ทางทำลายผู้อื่น อย่าไปใช้ในทางสะกดลาภ เมื่อสมาธิที่เรามีอยู่นี้ แม้ว่าสมาธินี้มีอำนาจมีอานุภาพ จนสามารถระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น มีหูทิพย์ มีตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่นได้ก็จริงอยู่ ท่านทั้งหลาย อภิญญาจิตนี้ยังไม่สามารถปิดประตูอบายภูมิได้

เหตุนั้น ถ้าหากว่าเป็นไปได้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติให้ก้าวหน้าไปกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ วิธีปฏิบัติก็ใช้สมาธิหรือใช้ฌานทั้งหลายที่ท่านทั้งหลายได้อยู่นั่นแหละ เรามากำหนดบทพระกัมมัฏฐานตามที่ครูบาอาจารย์สอนให้ เช่นว่า กำหนด พองหนอ ยุบหนอ นั่นแหละ แล้วก็ตั้งสติกำหนดพองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ ตามที่เคยปฏิบัติมา จนกว่าจะนั่งหลับไป หรือว่านอนหลับไป หรือว่าจนกว่าจะส่งจิตส่งใจให้เกิดความรู้สึก

หากว่ามันอยากนอนก็ปล่อยให้มันนอนไป หน้าที่ของเราพยายามจำให้ได้ว่า เราจะนอนหลับไปตอนไหน หรือว่ามันจะขาดความรู้สึกไปตอนท้องพองหรือท้องยุบ ตอนหายใจเข้า หรือหายใจออก ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามจำสภาวะให้ได้ ในขณะที่เราทำกัมมัฏฐานอยู่นี้ บางทีมันง่วง อยากนอน ก็ปล่อยให้นอนไป แต่ว่าพยายามจำให้ได้ว่า เราจะนอนหลับไปหรือนั่งหลับไปตอนไหน ตอนท้องพองหรือท้องยุบ ขอให้จำให้ได้

หากว่าเราทำได้อย่างนี้ ท่านทั้งหลาย จิตใจของเราก็จะเกิดความสุขขึ้นมาแทนที่ มีการสว่าง สงบ จิตใจร่าเริงเบิกบาน โลภ โกรธ หลง ก็จะเบาบางลงไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ก็จะเบาบางไป จิตใจของเราก็จะเกิดความสะอาด สว่าง สงบเย็นขึ้นมา เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ก็ขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง การฝึกสมาธิโดยย่อ มาบรรยายถวายความรู้ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ท้ายที่สุดนี้ ด้วยอำนาจบารมีธรรม ขอให้ท่านทั้งหลายได้อยู่ในบวรพระพุทธศาสนาเป็นนิตย์ สถิตมั่นในพระสัทธรรม นำตนให้พ้นจากทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผลนิพพาน ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.


พระราชปริยัตยากร
596  สุขใจในธรรม / ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม / ขาดแคลนหนัก!! วัดดอนจั่นเลี้ยงเด็กกำพร้า กว่า 700 ชีวิต เมื่อ: 09 มีนาคม 2561 13:36:44




ขาดแคลนหนัก!!
วัดดอนจั่นเลี้ยงเด็กกำพร้า กว่า 700 ชีวิต


พระประชานาถมุนี เจ้าอาวาสวัดดอนจั่น เป็นผู้ก่อตั้งโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็กกำพร้า เด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส โครงการนี้ ได้จัดขึ้นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2528 มาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 34 ปี ซึ่งรับเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิต หย่าร้าง ติดคุก ติดยาเสพติด อยู่กับตายาย ชราภาพยากจน

ซึ่งทางวัดให้การศึกษาตั้งแต่ เตรียมอนุบาล-อนุบาล-ประถม-มัธยม-อาชีวศึกษา-อุดมศึกษา กิน นอน เรียน อยู่ที่วัด โดยวัดเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการเลี้ยงดูเด็กทั้งหมด

ขณะนี้ทางวัดต้องการมุ้งครอบ เพราะต้องใช้ประมาณ 700 กว่าหลัง และต้องการแผ่นวีว่า เพื่อจะใช้ทำเตียงนอนให้กับเด็กๆ รวมไปถึงเครื่องอุปโภค-บริโภค ข้าวสารอาหารแห้ง และของใช้ที่จำเป็น ฯลฯ

เชิญร่วมกันบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง ของใช้ที่จำเป็น เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ การบริจาคของท่าน คือโอกาสยิ่งใหญ่และชีวิตใหม่ของเด็กๆ

สิ่งของหลายอย่างอาจไม่มีค่า หรือไม่มีประโยชน์สำหรับเรา แต่อาจจะมีค่ามากมายกับอีกหลายชีวิต ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญบริจาคสิ่งของ สามารถบริจาคได้ที่วัดดอนจั่น ม.2 ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ติดต่อสอบถาม 053-240184






















597  สุขใจในธรรม / ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน / Re: เป็นอยู่อย่างคนเหนือดวง เมื่อ: 09 มีนาคม 2561 12:46:32



"พุทธแท้" แบบใหม่ในอินเดีย

ถ้าใครมีโอกาสเดินทางไปสู่ประเทศอินเดีย เมื่อสัญจรผ่านตามสี่แยกต่างๆ สิ่งที่มักปรากฏสู่สายตาของผู้มาเยือนอยู่เสมอคือ "อนุสาวรีย์เชิดชูคุณธรรม" รูปปั้นบุคคลผู้สร้างคุณประโยชน์แก่ชุมชนหรือประเทศชาติ เพียงจากเมืองหนึ่งสู่อีกเมืองหนึ่ง อาจปรากฏรูปเคารพของบุคคลที่แตกต่างกันให้เห็นนับ 10 อนุสาวรีย์ ซึ่งแต่ละอนุสาวรีย์ก็มักจารจารึกประวัติกันยาวเหยียดชนิดอ่านกันจนตาลาย

แต่ในบรรดารูปปั้นบุคคลสำคัญเหล่านั้น ถ้านับอย่างจริงจัง จะพบว่ามีเพียง 3 คน ที่ถูกจัดให้เป็น "เทพเจ้าเดินดิน" ผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดียยุคใหม่หลังได้รับเอกราชคืน และมีการสร้างรูปเคารพให้อนุชนรุ่นหลังได้บูชาเอาไว้มากที่สุด

3 บุคคลนี้ คือ มหาตมะ คานธี ผู้นำการทวงคืนอิสรภาพกลับสู่อินเดีย ด้วยอหิงสาวิธี จนได้รับการยกย่องเป็น "บิดาแห่งประชาชาติของอินเดีย", ศรี ยวาหระลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ ผู้เป็น "บิดาแห่งประชาธิป ไตยของอินเดีย"

และ ดร.อัมเบดการ์ หรือชื่อเต็มว่า บาบาสาเหบ พิมเรา รามจิ อัมเบดการ์ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรมคนแรกของอินเดีย ผู้เป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อมาได้ถูกยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย" นอกจากนี้ ดร.อัมเบดการ์ ยังถือเป็น "วีรบุรุษผู้นำพระพุทธศาสนากลับคืน สู่ประเทศอินเดีย" อีกครั้ง จากการนำผู้คนจำนวน 5 แสน ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ที่เมืองนาคปูร์ ใน ปี พ.ศ.2499

สำหรับมหาตมะ คานธี และศรียวาหระลาล เนห์รู คนไทยที่นิยม "ความรู้รอบตัว" เป็นอันมากคงเคยได้ยินชื่อเสียงเกียรติคุณกันโดยทั่วไปแล้ว ส่วน ดร. อัมเบดการ์ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เคยข้ามแดนมาเหยียบถิ่นอินเดียก็มักไม่รู้ว่าอนุสาวรีย์ของคนร่างใหญ่ ใส่สูทพอดีตัว สวมแว่นตาหนา มือข้างหนึ่งถือตำรา อีกข้างหนึ่งชี้ไปข้างหน้า ก็คือรูปเหมือนของท่าน

ดร.อัมเบดการ์ คือ จัณฑาล ที่ต่ำต้อย แต่สามารถต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการและความอยุติธรรมตลอดชีวิต จนพลิกชะตาขึ้นเป็นหนึ่งในรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดีย ทั้งยังจุดประกายความหวังแก่คนวรรณะต่ำหรือคนนอกวรรณะที่ถูกกดขี่ข่มเหงมาโดยตลอด ให้พบทางสว่างด้วยการถอนตัวออกจากศาสนาฮินดูที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น สู่พระพุทธศาสนาที่ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ ไม่ปิดกั้นใคร มองคนทุกคนเสมอกันในความเป็นมนุษย์ และมีหลักธรรมที่นำพาออกจากทุกข์ได้จริง

หลังจาก ดร.อัมเบดการ์ เสียชีวิต ในปี พ.ศ.2499 คลื่นแห่งมหาชนผู้เชื่อถือใน ดร.อัมเบดการ์ อีกจำนวนมาก ยังรักษาธรรมเนียมการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่ ดร.อัมเบดการ์ เคยเริ่มเอาไว้ จากรุ่นสู่รุ่น จนชาวพุทธในอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดก็มีผู้เปลี่ยนศาสนาหันมานับถือพุทธ จำนวนหลายหมื่นคน ที่เมืองนาคปูร์และเมืองมุมไบ ในวันคริสต์มาส (25 ธ.ค. 60) ที่ผ่านมา

สิ่งที่น่าสนใจในพิธีประกาศตนของชาวพุทธใหม่เหล่านี้คือ ทุกคนตั้งใจเปลี่ยนศาสนาด้วยหัวใจ เปล่งวาจาถึงไตรสรณคมน์อย่างกึกก้องกังวาน เพราะทุกคนได้เรียนรู้หลักธรรมะมาอย่างเข้าใจก่อนจะเปลี่ยนศาสนา ทุกคนเชื่อและรักในพระพุทธเจ้า การประกาศตนจึงเสมือนเป็นการแสดงความพร้อม ว่านับแต่บัดนี้เป็นต้นไปจะขอมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอันสูงสุด จะรักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัดจนตลอดชีวิต และจะปฏิบัติตามคำสั่งสอน คือ ทาน ศีล ภาวนา เพื่ออิสรภาพสูงสุด คือพระนิพพาน ซึ่งนี่แตกต่างจากการประกาศความเป็นพุทธมามกะของคนไทย หรือของเด็กนักเรียนไทยในหลายแห่ง ที่แม้จะขึ้นป้ายใหญ่โตโก้หรู แต่เด็กบางคนที่มาร่วมงานยังแทบไม่รู้เลยว่างานนี้แตกต่างอย่างไรกับการไปรับศีล 5 ที่วัดก่อนถวายสังฆทาน

ชาวพุทธใหม่เหล่านี้แม้จะไม่มีวัดพุทธหรือพระสงฆ์ในพื้นที่ ต้องข้ามรัฐข้ามเมืองไปนิมนต์พระสงฆ์ที่ห่างไปกว่า 100 กิโลเมตร เพื่อมาให้ศีล แต่นั่นก็มิได้ทำให้เขาเหล่านี้มีศรัทธาต่อพระรัตนตรัยน้อยลง กลับขวนขวายปฏิบัติในธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อสร้างที่พึ่งให้แก่ตนจนตลอดชีวิต ศีลทุกข้อพยายามรักษาจนตัวตาย และเมื่อมีโอกาสได้พบพระสงฆ์องค์สามเณรก็เบิกบานมีศรัทธาอย่างเต็มเปี่ยม อุปัฏฐากดูแลเป็นอย่างดี แม้ชาวบ้านหลายคนอาจไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง แต่กลับร่ำรวยศรัทธา เปี่ยมล้นไปด้วยหัวใจอบอุ่นของชาวพุทธที่มั่นคงต่อธรรมคำสั่งสอนของพระศาสดาเป็นอย่างดี

แล้วพวกเราคนไทยที่เป็นชาวพุทธมาโดยตลอด นอนกอดสมบัติอันประเสริฐมาตั้งแต่ยังมิรู้ความ มีวัดมีพระให้กราบไหว้ทำบุญอยู่ทุกหมู่บ้าน มีพระไตรปิฎกให้สืบค้นเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส สามารถจะประกาศตนว่าเป็น "พุทธแท้" ที่รักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัดหรือยัง? เพราะเพียงแค่อ่านตำราไม่กี่เล่ม ใช้วาทะแหลมคมเชือดเฉือนผู้อื่นได้ไม่กี่คำ หรือยกตนข่มท่านทั้งที่รู้มากกว่าคนอื่นไม่เท่าไหร่ นี่ยังคงห่างไกลคำว่า "พุทธแท้" อีกมากมายนัก

หรือต้องรอให้พระพุทธศาสนาเลือนหายไป แล้วต้องกระหายหลักธรรมเหมือนชาวอินเดียทุกวันนี้ จึงค่อยเริ่มหันมาสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจังเสียที



รู้ตัวเมื่อสายไป

สํานักข่าว Daily Mail ของประเทศอังกฤษ ได้ออกสัมภาษณ์คนอายุเกิน 60 ปี เป็นจำนวนมาก ด้วยคำถามว่า "ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา รู้สึกเสียดายอะไรมากที่สุด และหากย้อนเวลากลับไปได้จะแก้ไขอย่างไร" ซึ่งคำตอบของคนส่วนใหญ่ที่ปรากฏออกมาเรียงตามลำดับได้ดังนี้

1.ถ้าย้อนเวลากลับได้ จะเชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่และดูแลท่านให้มากกว่านี้ เพราะพ่อแม่คือผู้ที่รู้จักเราดี หวังดีต่อเรา พร้อมยืนเคียงข้างเราอยู่เสมอ และให้ความรักเราไม่เคยเปลี่ยน เมื่อเราได้เติบโตขึ้นจึงทำให้เรารับรู้ว่าสิ่งที่พ่อแม่พูดนั้น ควรค่าแก่การเชื่อฟังอย่างยิ่ง

2.จะทำสิ่งที่อยากทำ เพราะเสียดายเวลาและโอกาสที่เคยผ่านมา ตอนมีกำลังวังชากลับไม่กล้าทำ ไม่กล้าตัดสินใจ มัวแต่ห่วงกังวล ลังเล กลัวล้มเหลว ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง พอถึงอายุ 60 จึงตระหนักว่า ความล้มเหลวหนักที่สุดของมนุษย์ คือ "การไม่ลงมือทำ"

3.จะพูดคำว่ารักให้มากขึ้น และจะไม่ใช้วาจาทำร้ายจิตใจคนที่รักอีกโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นกับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่น้อง ลูกหลาน หรือสามีภรรยา เพราะบางทีหลงนึกไปเองว่า เราทำอะไรให้ตั้งมากมาย ควรจะรู้ได้จากการกระทำ แต่ตราบใดที่เราไม่พูดคำว่ารักและห่วงใยออกมาให้ชัดเจน ก็ยังดูเหมือนคนใจแข็ง ไม่ยอมเปิดใจ คนรอบข้างก็จะขาดความมั่นใจ และยิ่งการใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ มันอาจต้องทำให้เสียใจไปตลอดชีวิตทั้งผู้พูดและผู้ฟัง

4.จะเปลี่ยนงานหากงานที่ทำมันบั่นทอนจิตใจ งานหนักเกินไป ถูกเอาเปรียบมากเกินไป โดนบีบคั้นมากเกินไป หรือเกิดปัญหาอื่นๆ ที่ให้ความสุขในชีวิตหายไป คนวัยเกิน 60 บอกว่า นึกไม่ออกว่าทำไมไม่หางานใหม่ทำ ทำไมต้องทนอยู่แบบนั้นจนเกษียณ ทั้งที่เปลี่ยนงานแล้วจะมีความสุขขึ้น ถึงแม้การเงินอาจจะมั่นคงน้อยลงก็ตาม แต่ที่สุดป้ายหมายของที่ชีวิตก็คือความสุข ไม่ใช่ปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างทรมาน

5.จะไม่ยอมเสียเวลาไปกับการกังวลเรื่องต่างๆ อีกต่อไป เพราะมีแต่ความเครียด กังวล คิดมาก จนทำให้ชีวิตสูญเสียโอกาสและสิ่งดีไปมากมาย และการคิดกังวลสารพัดก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลยนอกจากเสียเวลา บั่นทอนสุขภาพ ที่สำคัญทุกเรื่องก็มักจบลงได้ด้วยตัวของมัน โดยที่ความกังวลของเราไม่ได้ทำให้เรื่องดีขึ้นหรือแย่ไปกว่าเดิม

เหล่านี้คือสิ่งที่ "รู้ตัวเมื่อสาย" ของคนเป็นอันมากหลังจากมีอายุพ้นวัยทำงาน ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะเพียงชาวอังกฤษเท่านั้น แต่น่าจะเป็นทั่วทั้งโลก โดยเหตุผลอันดับ 1 ที่คนส่วนใหญ่เลือกตอบ สะท้อนให้เห็นถึงความผิดหวัง ความเสียดาย ของการไม่รักษาสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ดังนั้น ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา จึงเชิดชูความกตัญญู การเคารพบุพการี และการตอบแทนคุณพ่อแม่ไว้อย่างสูง จนยกให้เป็นยอดแห่งมงคล พร้อมทั้งสอนวิธีปฏิบัติต่อพ่อแม่ไว้อย่างน้อย 5 ประการ คือ คอยดูแลเอาใจใส่ อย่ามัวแต่ห่วงเรื่องตัวเอง แล้วทิ้งพ่อแม่ไว้อย่างไม่เหลียวแล, ประพฤติตัวให้เป็นคนดี, สร้างความภาคภูมิใจให้สมกับที่สืบทอดตระกูล, ทำงานแทน และชักชวนเข้าหาการปฏิบัติธรรม

และด้วยความที่พ่อแม่ลูก คือ "คน" มีความคิดจิตใจและความรู้สึกแตกต่างกัน ก็ย่อมมีกระทบกันเป็นของธรรมดา แต่หน้าที่ของผู้เป็นลูกไม่ใช่การเถียงคอเป็นเอ็น ตอบโต้ หรือโมโหเกรี้ยวกราดใส่ เพราะนั่นเป็นการเสียความดี เสียคุณธรรม เสียบุญเกื้อหนุนตนเองจนทำให้หาความเจริญไม่เจอ และที่สำคัญ คือ ต้องเสียใจเมื่อสายเกินไป

หลักการของพระพุทธศาสนา เน้นให้ทรงไว้ซึ่งความดีอยู่ทุกขณะใน ทาน ศีล ภาวนา พร้อมทั้งกล่าวถึงหน้าที่ที่ควรมีปฏิสัมพันธ์ต่อโลก ทั้งการปฏิบัติต่อพ่อแม่พี่น้อง สามีภรรยา ลูกหลาน ญาติมิตร และบริวาร เพื่อไม่ทำชีวิตให้สูญเปล่า และเกิดความรู้สึกเสียใจในภายหลัง

ชาวพุทธถ้าสามารถสร้างชีวิตให้มีธรรมะได้ ความเสียใจและคำว่ารู้ตัวเมื่อสาย จะไม่เกิดขึ้นแม้แต่ประการเดียว เช่น คำตอบประการที่ 2 ของคนทั่วไปในยามแก่เฒ่า คือ ความเสียดายโอกาสในชีวิต เพราะความกลัว ความลังเล ไม่กล้าตัดสินใจ แต่นิยามของชาวพุทธ คือ ทุกคนสามารถเป็นผู้ที่ปราศจากความกลัวเกรงต่อสิ่งใดได้ เพียงทรงไว้ซึ่งความดีใน ทาน ศีล ภาวนา เพราะสิ่งนี้เรียกว่าบุญ บุญจะกลายเป็นความมั่งคง และสร้างความมั่นใจ ทำให้ไม่หวั่นไหวต่อแรงสั่นสะเทือน หรือย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ พร้อมทั้งผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องยากเย็นเพียงไร จะร้อยคนพลาด หมื่นคนไม่สำเร็จ ก็มิได้หมายความว่าคนมีบุญจะต้องพลอยกระทำไม่สำเร็จตามไปด้วย

การพยายามรักษาความดีไว้ทุกลมหายใจนี่เอง ที่จะช่วยไม่ให้เราต้องเสียใจในภายหลังอีกตลอดไป



บุพเพสร้างได้

นับแต่ในอดีตสิ่งที่สาววัยรุ่นชาวชมพูทวีปมักบนบานศาลกล่าวกับเทพเจ้ามากที่สุด คือ การขอให้พบเจอคู่ครองที่ดีมีฐานะเสมอกัน และมีลูกคนแรกเป็นเพศชาย เพราะในวัฒนธรรมอินเดีย ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อแต่งงานแล้วย่อมไม่สามารถแต่งงานได้อีกตลอดชีวิต ซึ่งผิดกับผู้ชาย ที่สามารถแต่งงานใหม่กี่ครั้งก็ได้ ตราบเท่าที่ยังมีเรี่ยวแรงจะเลี้ยงดูภรรยา ยิ่งถ้าฝ่ายหญิงไม่สามารถคลอดบุตรให้แก่ตระกูลได้ ก็เท่ากับเป็นการสร้างเหตุผลในการหย่าร้างแก่ฝ่ายชายอย่างเต็มประตู

แม้ในสมัยพุทธกาลก็มีบุคคลที่โด่งดังอย่าง นางสุชาดา แห่งตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ผู้ถวายข้าวมธุปายาสรสเลิศ อันเป็นอาหารมื้อก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเจตนาของนางสุชาดานั้น มิได้ตั้งใจทำอาหารถวายพระมหาบุรุษ แต่ต้องการถวายเทพเจ้าเพื่อแก้บน ตามที่ตนได้เคยบนบานเอาไว้เมื่อครั้งยังเป็นเด็กสาวแรกรุ่น ว่าขอให้ได้พบเจอคู่ครองที่มีฐานะเสมอกันและได้ลูกคนแรกเป็นผู้ชาย

เพราะผู้หญิงอินเดียคาดหวังต่อความสุขชั่วชีวิตของตนและลูกที่จะเกิดขึ้นมาอย่างที่สุด แต่กระนั้นก็ตาม แม้ว่าจะพิถีพิถันในการเลือกคู่ครองขนาดไหน ก็ยังคงพลาดพลั้งจนถึงกับต้องเลิกร้างกันไปเป็นจำนวนมากในสังคมอินเดีย ซึ่งการหย่าร้างเป็นทางเลือกสุดท้ายในการยุติความสัมพันธ์ของคนที่เคยรักกันได้อย่างยากเย็น โดยปัญหาการหย่าร้างก็มิได้เพิ่งมีในยุคนี้ แต่มีมาทุกยุคทุกสมัยและมีอยู่ไปทั่วทุกพื้นที่ในโลก

โดยสาเหตุของคนที่เลิกร้างกันไป ส่วนใหญ่เป็นเรื่องพื้นๆ ที่ตื้นเขิน แต่กลับแก้ไขได้อย่างยากเย็น นั่นคือ "การทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด" เพราะอัตตาของคนเราจะบีบให้รู้สึกว่าตัวเองดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรอีก คนอื่นต่างหากที่ต้องเปลี่ยนให้เหมือนกับที่เราคิด จึงไปเข้าตำราโบราณที่ว่า "โทษคนอื่นเท่าภูเขา โทษตัวเราเท่าเส้นขน" พอไม่มีการปรับตัวเข้าหากันก็เกิดอาการอัตตาปะทะอัตตา สุดท้ายจึงมีแต่พังพินาศลูกเดียว

พระพุทธเจ้าจึงแนะนำวิธีการอยู่ครองคู่กันอย่างยั่งยืนไว้ว่า ประการแรก ต้องมีสัจจะ คือให้ความจริงใจต่อกัน พอมีเรื่องเกิดขึ้น ควรพูดคุยกันให้รู้เรื่องก่อน อย่าเอาแต่ใช้อารมณ์ ประเภทน้อยใจไม่พูดด้วยไป 3 วัน กว่าจะได้คุยกันรู้เรื่อง คนง้อก็เบื่อ คนงอนก็เหนื่อย ไม่มีอะไรดีขึ้น นอกจากเสียเวลาไปโดยมิใช่เหตุ และยังเป็นการสร้างความแตกร้าวให้เกิดขึ้นในระยะยาวอีกด้วย วันไหนอีกฝ่ายเบื่อ จะง้อ วันนั้นก็เป็นอันบ้านแตกกัน

ประการที่สอง ต้องมี ทมะ คือ การข่มใจตัวเอง ไม่ให้ออกงิ้ว แสดงความเกรี้ยวกราด พาลใส่สารพัด จนเสียอาการ ถ้าเห็นสิ่งใดไม่ถูกต้อง ควรค่อยๆ หาทางพูดคุยกันดีๆ ด้วยเหตุและผล มองผลของการบันดาลโทสะใส่กันให้ยาวไกล อย่าเพิ่งไปต่อว่าให้กัน จนจุดชนวนทิฐิมานะของอีกฝ่ายขึ้นมาทะเลาะกัน จากเรื่องเล็กก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในที่สุด

ประการที่สาม ต้องมีขันติ คือ ความอดทนในการใช้ชีวิตร่วมกัน ถนอมน้ำใจกัน เพราะชีวิตคู่เป็นการยอมรับใครอีกคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จะทำอะไรจึงต้องคิดถึงคนที่อยู่ด้วยกันเสมอ ต้องตระหนักไว้ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวอีกแล้ว ยิ่งหลายครอบครัวก็อาจมิได้แต่งกับคนรักเราเพียงคนเดียว แต่อาจต้องแต่งกับครอบครัว คือ พ่อ แม่ ญาติ พี่น้องของเขาด้วย จึงต้องเพิ่มความอดทนให้มากเป็นพิเศษถึงจะอยู่กันยืด

ประการสุดท้าย ต้องมีจาคะ คือ ความเสียสละให้แก่กัน ถ้าเห็นสิ่งใดที่พอเสียสละให้กันได้ ก็ควรเร่งทำ และถ้าเห็นบางสิ่งที่เราไม่ชอบใจในตัวเขา ถ้าเสียสละด้วยการให้อภัยได้ก็ควรกระทำ หรือถ้าความดีใดที่มีอยู่ในตัวเราแล้วเป็นสิ่งดีกับเขา ก็ควรพยายามทำให้มากเข้าไว้ แล้วจะสามารถอยู่ด้วยกันอย่างมั่นคง

เพราะชีวิตคู่นั้น ในช่วงแรกรักหวานซึ้ง จะเป็นช่วงที่ต่างฝ่ายต่างนำเสนอในสิ่งที่ดีของตน ส่วนข้อบกพร่องจะเก็บซ่อนเอาไว้ ดังนั้นในเมื่อเริ่มต้นด้วยการนำเสนอแต่สิ่งดีจนอีกฝ่ายเคยชิน พออยู่กันไปนานๆ ข้อบกพร่องย่อมปรากฏขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พอถึงตอนนั้นก็ต้องอาศัยธรรมะเข้าช่วยประคับประคองกันไว้ คือต้องมีความจริงใจต่อกัน มีความข่มกลั้น มีความอดทน และมีความเสียสละต่อกัน ซึ่งถ้าทำได้ชีวิตคู่ก็จะยืนยงคงมั่น

ยิ่งถ้าสามารถชักชวนกันปฏิบัติธรรมได้ ด้วยการพากันให้ทาน รักษาศีล สวดมนต์ เจริญจิตตภาวนา ร่วมกันอยู่เนืองๆ ฉุดดึงกันทำบุญทุกอย่าง ก็ยิ่งเป็นการสร้างแรงดึงดูดที่เหนือแรงดึงดูดทั้งปวง อันจะช่วยยึดเหนี่ยวกันไว้อย่างแน่นแฟ้น ยิ่งนานก็ยิ่งแนบสนิทส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จูงมือสู่ความเจริญด้วยกัน เช่นนี้นับเป็นความสัมพันธ์อันดีงามที่สุด ผูกพันกลมเกลียวกันที่สุด ตราบจนไปถึงสุดทางด้วยกัน คือ พระนิพพาน



ที่สุดแห่งรัก

ในประเทศอินเดียมีอนุสรณ์สถานแห่งความรักที่ถูกบรรจงสร้างขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยสีขาวสว่างไสวดุจไข่มุกเมื่อต้องแสง ทั้งยังประกอบด้วยตำนานรักเลื่องชื่อ ร่ำลือถึงความผูกพันอันเป็นนิรันดร์ จนทำให้สถานที่แห่งนี้ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบัน เป็นสถานที่ที่ใครต่อใครอยากจะไปเห็นด้วยตาสักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งสถาปัตยกรรมแห่งความรักนี้ มีชื่อว่า "ทัชมาฮาล" สุสานของพระนางมุมตัส มาฮาล มเหสีของพระเจ้าชาห์ จาฮาน กษัตริย์องค์ที่สี่ในราชวงศ์โมกุล ทัชมาฮาล คือ ประจักษ์พยานความรักล้ำลึกที่กษัตริย์พระองค์นี้มีต่อหญิงอันเป็นที่รักยิ่งของตน

แต่หลังม่านความยิ่งใหญ่ขาวบริสุทธิ์ของทัชมาฮาล กลับซ่อนไว้ซึ่งความจริงที่แสนเจ็บปวดและกลิ่นคาวเลือดของประชาชนเป็นอันมาก เพราะการก่อสร้างสัญลักษณ์ความรักอันใหญ่โตนี้ ได้กะเกณฑ์แรงงานและขูดรีดเงินภาษีจากราษฎรเพื่อนำเงินมาใช้ในการก่อสร้างจำนวนมหาศาล ช่างฝีมือเป็นจำนวนมากที่แกะสลักหินต้องตาบอดเนื่องจากถูกบังคับให้ทำงานกลางแดดจัดเป็นเวลานาน คนงานมากมายต้องล้มตายเพราะถูกบังคับให้ทำงานหนักอย่างทารุณ เมื่อสร้างทัชมาฮาลสำเร็จ สถาปนิกผู้ออกแบบก็ถูกสั่งฆ่า เพื่อป้องกันมิให้ไปสร้างสิ่งก่อสร้างสวยงามที่อื่นอีกต่อไป

"ความรักที่ชโลมด้วยความสูญเสียนี้ จึงไม่ควรจะเป็นความรักที่สูงส่งสวยงาม"

ขณะที่ตำนานรักอีกบทของมหาราชอีกพระองค์ในแผ่นดินอินเดีย คือ พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์โมริยะ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ที่ขยายอาณาเขตแผ่พระราชอำนาจออกไปได้อย่างกว้างขวางมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติอินเดีย พระองค์ได้ก่อสร้างสิ่งอันเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักให้แก่พระนางอันเป็นที่รักยิ่งกว่ายอดดวงใจของตัวเองเช่นกัน โดยมหาสถานตำนานรักแห่งนี้มีชื่อว่า "มหาสถูปสาญจี" ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่รัฐมัธยมประเทศ ตอนกลางของประเทศอินเดีย

ในสมัยที่พระเจ้าอโศกมหาราช ยังเป็นเพียงมหาอุปราช ที่ถูกพระราชบิดาส่งไปปกครองเมืองอุชเชนี กลับได้พบรักกับพระนางเวทิสา ซึ่งเป็นเพียงหญิงชาวบ้าน ลูกสาวของพ่อค้าในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง โดยที่ครั้งแรกพระนางก็ไม่ทราบว่าเจ้าชายอโศกเป็นใคร แต่ก็มอบความรักที่ใสบริสุทธิ์ให้แก่กัน จนนำไปสู่การอภิเษกสมรสเมื่ออายุ 18 ปี จากนั้นทั้งสองพระองค์ได้ครองคู่กัน ช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นกำลังใจให้กันและกันอยู่ไม่ห่าง จนพระนางเวทิสาให้กำเนิดพระโอรส 1 พระองค์ และพระธิดา 1 พระองค์ (ซึ่งในกาลต่อมาทั้งพระโอรสและพระธิดานี้ ได้ออกบวชจนกลายเป็นพระอรหันต์องค์สำคัญแห่งยุคทั้งคู่) เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชได้ขึ้นปกครองราชอาณาจักรสืบต่อจากพระบิดา จำต้องย้ายจากเมืองอุชเชนีไปอยู่ที่เมืองหลวง คือ ปาฏลีบุตร ทั้งคู่ก็ยังรักกันไม่เสื่อมคลาย

แต่ขึ้นชื่อว่าชีวิต ย่อมหาความเที่ยงแท้แน่นอนอันใดมิได้ ในเวลาไม่นานพระนางเวทิสาก็จากพระองค์ไปอย่างไม่มีวันกลับ จึงนำความโศกสลดวิปโยคมาสู่มหาราชผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้เป็นอย่างมาก พระองค์จึงมีดำริให้จัดสร้าง "พระมหาสถูปสาญจี" ขึ้นในบริเวณที่ทรงอภิเษกกับพระนางเวทิสา พระสถูปเจดีย์แห่งนี้ มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุพระอัครสาวก และพระธาตุของพระอรหันต์อีก 10 องค์ ไว้ในส่วนต่างๆ เพื่อให้ผู้คนได้กราบไหว้บูชาเป็นบุญกุศลสืบไป โดยพระเจ้าอโศกมุ่งหวังให้ผลบุญอันเกิดแต่การสร้างเจดีย์นี้ สำเร็จแก่พระนางอันเป็นที่รักของพระองค์

ความรักของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น เป็นไปเพื่อการเกื้อกูลต่อพระนางเวทิสา และประชาชนคนหมู่มากที่มีโอกาสได้กราบไหว้บูชาพระเจดีย์ในพระพุทธศาสนา ทุกครั้งที่ผู้คนได้เห็นพระเจดีย์นี้ ย่อมจะสูดได้ถึงกลิ่นอายรักบริสุทธิ์งดงามที่พระเจ้าอโศกมีต่อนางแก้วของพระองค์ พระมหาสถูปสาญจีแห่งนี้ ยังเป็นเพียงพระเจดีย์เดียว ใน 84,000 แห่ง ของพระองค์ ที่รอดพ้นจากการถูกทำลาย และอยู่คู่ดินฟ้ามากว่า 2,300 ปี จนถึงทุกวันนี้

ความรักที่งดงาม คือ ความรักที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดี เกื้อกูลต่อบุคคลอันเป็นที่รักและคนหมู่มาก ซึ่งความรักในรูปแบบนี้จะมีได้ก็ต่อเมื่อได้ลองศึกษาและปฏิบัติธรรม จนเมื่อธรรมะผลิดอกออกผล จะทำให้เราได้เห็นโลกในอีกมุมหนึ่งที่แตกต่างไป ซึ่งเป็นแง่มุมที่เต็มไปด้วยความสุขอันลึกซึ้ง ไม่มีการทำลายล้างเพื่อรัก มีแต่ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในชีวิต และเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ใครๆ โดยส่วนเดียว ซึ่งลักษณะแบบนี้ต่างหาก จึงจะเรียกว่าเป็น "ที่สุดแห่งรัก" อย่างแท้จริง



พระเฉลิมชาติ ชาติวโร
พระธรรมทูตเชิงลึกแดนพุทธภูมิ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ๙๘๐


598  สุขใจในธรรม / เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ / Re: ธรรมะวันหยุด เมื่อ: 09 มีนาคม 2561 10:57:44



ผลิดอกออกผล

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสุบินนิมิตเห็นต้นไม้นานาชนิดยังไม่ทันโตเต็มที่ผลิดอกออกผลมากมาย ทำให้กิ่งก้านที่ยังไม่แข็งแรงเต็มที่ทนรับน้ำหนักไม่ไหวต้องโน้มกิ่งลงถึงดิน

พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า ในสมัยที่พระองค์ยังมีพระชนม์อยู่จะไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้นต่อชีวิตของพระองค์ พระมเหสี และราชสมบัติ แต่ในอนาคตเมื่อมนุษย์ขาดศีลธรรมและเข้าสู่ยุคเสื่อม เยาวชนซึ่งยังอยู่ในวัยเรียน หรือวัยรุ่นที่ยังไม่สมควรมีครอบครัว จะมีความกระสันใฝ่ในตัณหาราคะ ยินดีและหลงใหลในรูปสวยๆ เสียงไพเราะ กลิ่นหอมๆ รสดีๆ สัมผัสที่ถูกใจ มีความอยากในกามารมณ์จึงจับคู่มั่วสุมกันอย่างอิสระไม่สนใจประเพณีอันดีงาม หรือหน้าที่ของเยาวชน บางคนมั่วสุมกัน ไม่มีความละอาย แสดงความรักในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย พากันเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องเท่ เป็นแฟชั่นที่ต้องแสดงออก

เมื่อตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ ไม่มีการเตรียมพร้อม จึงหาทางทำแท้งฆ่าลูกในท้องของตัวเอง บางคนทำแท้งไม่ได้เพราะท้องแก่มากแล้ว จึงปล่อยให้ลูกออกมา เป็นภาระของพ่อแม่ต้องเลี้ยงดู หรือต้องปล่อยทิ้งให้อยู่ตามลำพัง กลายเป็นเด็กเร่ร่อนจรจัด ขาดความรัก ความอบอุ่น ขาดการศึกษา ไม่มีที่พึ่งพาอาศัย ไม่มีที่อยู่ ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น อดบ้าง อิ่มบ้าง น่าเวทนาและเป็นปัญหาสังคมอยู่ในขณะนี้ ปัญหาที่เห็นเด่นชัด และสร้างความหนักใจแก่ ผู้ปกครองอย่างแสนสาหัส คือลูกๆ ชายหญิงหมกมุ่น มัวเมากามารมณ์จนเกินไป

ปัจจุบันกระแสมั่วกามของเยาวชนได้กลายเป็นค่านิยมอีกแนวหนึ่งเรียบร้อยแล้ว วัยรุ่นยุคนี้ ที่ปะปนอยู่ในกระแสอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า กางเกง ดารา นักร้อง ภาพยนตร์ ที่เป็นกระแสหลัก และกระแสต่อเนื่องซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่า เมื่อไหร่จะเลือนหายไป

ค่านิยมที่ไม่ดีทำให้เด็กจำนวนหนึ่งต้องแข่งกันคิดหารูปแบบชีวิตที่คิดว่าแปลกใหม่และเท่มาอวดกัน พฤติกรรมเหล่านี้ซับซ้อนมากขึ้นจนผู้ใหญ่ตามไม่ทัน เช่น เมื่อหลายเดือนก่อนเด็กนักเรียนชาย-หญิง คู่หนึ่ง กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.3 ตัดสินใจไปเช่าห้องอยู่ด้วยกันกับเพื่อนชาย โดยที่พ่อแม่ไม่รู้ เพราะพ่อแม่ทำงานอยู่ที่หนึ่ง ส่วนลูกต้องเรียนหนังสือ เลยฝากไว้กับญาติ นานๆ จึงจะมาเยี่ยมลูกสักครั้ง ไม่มีเวลาอยู่ใกล้ชิดลูก และอบรมสั่งสอนให้รู้อะไรควรไม่ควร

อีกตัวอย่าง โรงเรียนแห่งหนึ่งกลางเมืองหลวง มีเด็กผู้หญิงมัธยมกลุ่มหนึ่งพากันขึ้นบัญชีนักเรียนผู้ชาย แล้วให้คะแนนความหล่อ หาโอกาสไปมีอะไรด้วย ใครทำได้จะได้รับการยกย่อง จากเพื่อนในกลุ่มว่ามีฝีมือ เก่งมาก ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม



ผูกน้ำใจคน

การที่คนเรามีใจไม่ตระหนี่ รู้จักโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เป็นคนใจแคบ มีใจกว้างขวาง สามารถบริจาคสิ่งของของตนเป็นทาน เผื่อแผ่ให้ผู้อื่นได้รับความสุข ความสะดวกสบาย การให้เช่นนี้ย่อมช่วยสมานไมตรีจิต สร้างมิตรภาพ ทำให้ประสบผลที่ตนเองจะพึงเห็นได้หลายประการ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก คนเป็นอันมากย่อมคบหาเขา เกียรติยศและบริวารยศย่อมเจริญ ผู้ไม่ตระหนี่เป็นผู้องอาจ ไม่เก้อเขินเข้าสู่สมาคม

การผูกน้ำใจคน ไม่จำเป็นจะต้องให้สิ่งของมากมาย จะให้อะไรหรือจะช่วยเหลือใคร ควรช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ เท่านี้ก็เห็นน้ำใจแล้ว

การพูดจาอ่อนหวาน ไพเราะดีงาม สามารถเสริมสร้างไมตรีจิต ส่วนวาจาเป็นพิษ หรือวาจาหยาบคาย อาจทำให้เสียมิตรได้

คนจะผูกน้ำใจคน ต้องพูดจาไพเราะอ่อนหวาน ฟังแล้วสบายหูสบายใจ ถ้าพูดหยาบคายต่อกัน นอกจากจะเสียมิตรแล้ว อาจเสียทรัพย์ด้วย บางครั้งพูดไม่ดีอาจถูกทำร้ายร่างกาย ถึงกับเสียชีวิตได้ ส่วนคำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน สามารถผูกน้ำใจคนไว้ได้ การพูดจึงต้องระวังว่า พูดไปแล้วจะทำลายมิตรหรือไม่ ถ้าเป็นไปในทางทำลายไม่ควรพูด แต่ถ้าเป็นการสร้างสรรค์ให้เกิดมิตรภาพจึงควรพูด

ดังนั้น ก่อนพูดควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา เอาตัวเราเป็นเครื่องเปรียบเทียบว่าคำพูดเช่นนี้ ถ้าเราเป็นผู้ฟังจะพอใจไหม ถ้าเราไม่ชอบเขาคงไม่ชอบเหมือนกัน

ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ต้องเป็นคนสร้างประโยชน์ ทำตัวให้เป็นประโยชน์ จะอยู่ที่ไหนก็ทำตัวให้เป็นประโยชน์ที่นั่น จะอยู่กับใครก็ทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่เขาที่นั่น อย่างนี้แล้วย่อมมีคนต้องการ เพราะคนที่ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นที่ต้องการทั้งนั้น

ประโยชน์ หมายถึง สิ่งที่ต้องการ ถ้าไม่มีประโยชน์มักไม่มีใครต้องการ การผูกน้ำใจคนต้องทำตนให้เป็นคนมีประโยชน์ จึงจะเป็นที่ต้องการของคนหมู่มาก

การวางตนเหมาะสม คือ เราอยู่ในสถานะอย่างไรก็วางตนให้เหมาะสม เป็นเจ้านายก็เป็นเจ้านายที่เหมาะสม ให้ลูกน้องเคารพนับถือ เป็นลูกน้องก็เป็นลูกน้องที่เหมาะสม มีความเคารพนับถือเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา ทำให้ผู้บังคับบัญชามีเมตตากรุณา มีไมตรีจิตตอบ เป็นพ่อก็เหมาะสมที่เป็นพ่อ เป็นแม่ก็เหมาะสมที่เป็นแม่ เป็นเพื่อนก็เหมาะสมที่เป็นเพื่อน ทำได้อย่างนี้จึงมีคนรัก มีมิตรมาก ไม่มีคนรังเกียจ เพราะวางตัวได้เหมาะสม ไม่มีข้อน่าตำหนิ

ถ้าเราวางตัวเหมาะสมก็จะผูกน้ำใจคนไว้ได้ แต่ถ้าวางตัวไม่เหมาะสม เช่น เป็นเจ้านาย วางตัวไม่เหมาะสม เอาแต่อำนาจ ไม่มีเมตตากรุณา เป็นลูกน้องก็อวดดีกับเจ้านาย อย่างนี้ก็ไม่ได้รับความร่วมมือแน่

ถ้าธรรมะเหล่านี้มีอยู่ในบุคคลใด บุคคลนั้นก็จะมีคนรักคนชอบ มีมิตรมากมาย ไม่มีศัตรู การที่คนเราจะดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข สามารถสร้างความเจริญให้ตนเองและประเทศชาติ ควรอบรมบ่มนิสัยให้มีธรรมะเหล่านี้ไว้ประจำตัวประจำใจ เพื่อเป็นเครื่องมือผูกน้ำใจคนทั้งหลายให้มาเป็นมิตร



ผู้ฉลาดครองเรือน

ผู้ที่เกิดมาแล้ว ดำเนินชีวิตเป็นไปด้วยปัญญาที่มีติดตัว ตั้งแต่เกิดก็ดี ด้วยการศึกษากำหนดจดจำจากบิดามารดา ครูอาจารย์ก็ดี ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองด้วยอุบายที่แยบคาย แล้วมองเห็นเหตุที่เป็นข้อเปรียบเทียบพอเป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิต 3 ประการ คือ

ประการที่ 1 มองเห็นความหมดสิ้นไปแห่งยาสำหรับหยอดตา อันธรรมดาน้ำยาสำหรับใช้หยอดบำบัดโรคตาที่บรรจุไว้ในหลอดหรือขวดขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม ถ้านำมาหยอดทีละหยดๆ นานไปน้ำยานั้นก็หมดสิ้นไป เพราะไม่มีน้ำยาใหม่มาเพิ่มเติม ข้อนี้ฉันใด ทรัพย์สินสิ่งของเงินทองเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีอยู่ หากบริโภคใช้สอยไปอย่างฟุ่มเฟือย ไม่แสวงหามาเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็ย่อมถึงความหมดสิ้นไปได้เหมือนกัน ดังนั้น เมื่อจะใช้จ่ายทรัพย์สินสิ่งของเงินทอง ก็ให้สำนึกถึงยาสำหรับหยอดเป็นเครื่องเตือนใจ

ประการที่ 2 มองเห็นการก่อขึ้นแห่งปลวกทั้งหลาย ปลวกนั้นเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ อาศัยความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน คาบเอาดินมาทำที่อยู่อาศัยให้ใหญ่โตมั่นคงแข็งแรงได้ ฉันใด บุคคลที่เกิดมาในโลกนี้ทุกคน จะอยู่โดดเดี่ยวคนเดียวไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความสมานสามัคคีพร้อมเพรียงกัน แต่ละคนต่างก็มุ่งหน้าประกอบกิจทำการงานตามหน้าที่ของตนด้วยความหมั่นขยันในการประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีวิตแล้ว ทรัพย์สิน เงินทอง วิชาความรู้ที่ยังไม่เกิด ก็จะเกิดมีขึ้น ที่เกิดมีอยู่แล้ว ก็จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น

หน้าที่การงานก็จะถึงความงอกงามไพบูลย์ ด้วยการรักษาความหมั่นขยันให้คงที่ ไม่ให้ย่อหย่อน รักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ป้องกันไม่ให้เป็นอันตราย รักษาหน้าที่การงานไม่ให้เสื่อมเสียไป แต่ละคนต่างก็มีเพื่อนร่วมคิดร่วมใจเป็นคนดีมีความซื่อสัตย์สุจริต ดำรงชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่ายพอเหมาะพอควร เมื่อพื้นฐานชีวิตของตนมีความมั่นคงแล้ว ก็เป็นเหตุอุดหนุนให้สังคมรวมถึงประเทศชาติ มีความมั่นคงไปด้วยเหมือนกัน

ประการที่ 3 มองเห็นการประมวลมาแห่งผึ้งทั้งหลาย ผึ้งเป็นสัตว์ปีกตัวเล็กๆ อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่มีความสมานสามัคคีพร้อมเพรียงกัน มีความสามารถในการทำรัง ทำน้ำหวาน ผึ้งแต่ละตัวโผบินไปคาบเอาเกสรและละอองดอกไม้มาทำรังและน้ำหวาน เมื่อมีอันตรายก็พร้อมใจกันต่อสู้ป้องกัน เพราะความสามัคคีนั่นเอง

ทุกคนที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าแต่ละคนมุ่งประกอบกิจทำการงานตามหน้าที่ของตน ตามกำลังความสามารถ ด้วยความพอใจรักการงาน มีความเพียรพยายามอย่างอาจหาญไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มีใจจดจ่อต่องานที่ทำนั้น ไม่ทอดทิ้งหน้าที่ หมั่นพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งที่ทำนั้น สามารถทำสิ่งเล็กให้ใหญ่ ทำสิ่งที่ใหญ่ให้เล็ก ทำสิ่งที่ยากให้ง่าย ทำสิ่งที่ง่ายให้เรียบร้อยยิ่งขึ้นได้

ผู้ฉลาดอาศัยเหตุข้อเปรียบเทียบดังกล่าวมาเป็นแนวทางอยู่ปกครองเรือน แสวงหาทรัพย์ได้มาแล้ว ก็มีความดีใจว่าทรัพย์ของเรามี เมื่อได้จับจ่ายใช้สอยทรัพย์นั้นบริโภคพอเหมาะพอควรแก่ฐานะและรายได้ก็ให้เกิดสุข ใช้จ่ายทรัพย์นั้นจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่ผลิตได้ในประเทศ ก็เป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตมีทุนหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ ทรัพย์ไม่รั่วไหลออกไปนอกประเทศ

ประเทศชาติก็จะได้พัฒนาให้เจริญรุ่งเรือง ประชาชน ก็จะมีรายได้เพิ่มพูนมีความมั่งคั่งสมบูรณ์



ผู้ประเสริฐ

บุคคลและสัตว์ทั้งหลายที่มีชีวิตในโลกนี้ ต่างมีความรักร่างกายของตนยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ถึงจะมีความรักสิ่งอื่นๆ สักเพียงใดก็ตาม ก็ไม่เท่ากับความรักตน สมด้วยพระพุทธภาษิตว่า ความรักเสมอด้วยรักตน ไม่มี

การที่บุคคลมีความรักต่อคน สัตว์และสิ่งของ ก็เพราะว่าคน สัตว์และสิ่งของนั้นๆ อำนวยประโยชน์สุขให้แก่ตน ถ้าหากคน สัตว์และสิ่งของที่ตนรักนั้น ไม่อำนวยประโยชน์สุข กลับทำความทุกข์เดือดร้อนให้เกิดแก่ตน ก็หมดความรักทันที จึงสรุปความได้ว่า การที่บุคคลมีความรักต่อคน สัตว์และสิ่งของนั้นๆ แท้ที่จริงก็คือความรักตน ต้องการให้ตนได้รับความสุขนั่นเอง

บางคนถึงแม้จะมีความรักตน แต่มีความเข้าใจผิด ไม่รู้เท่าทันเหตุผลตามความเป็นจริง เมื่อตนได้รับความทุกข์เดือดร้อน ความทรมานอย่างหนัก อันเกิดจากการครองชีพบีบคั้นบ้าง เกิดจากถูกโรคร้ายเบียดเบียนบ้าง เกิดจากการพลาดหวังบ้าง เพราะเหตุที่เขามีความรักตน ไม่ต้องการให้ตนได้รับความทุกข์เดือดร้อนที่ปรากฏอยู่นั้น หรือไม่ต้องการให้ผู้ใดดูหมิ่นในความพลาดหวังของตน หรือไม่ต้องการให้ตนต้องประสบกับความเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ และเกิดความละอายในความพลาดหวังนั้น จึงหาวิธีออกอย่างผิดๆ ด้วยการทำลายชีวิตของตน เพื่อจะหนีให้พ้นไปจากผลที่ตนไม่ปรารถนานั้น เพื่อหวังไปแสวงหาความสุขเอาใหม่ในภพต่อไป หรือประพฤติตนไปในทางที่เสื่อมเสียด้วยวิธีต่างๆ มีการดื่มสุราเพื่อดับความทุกข์ เป็นต้น

การที่เขาทำไปเช่นนั้น ก็เพราะไม่มีปัญญายั้งคิดพิจารณาหาเหตุผล ไม่มีความอดทนพอที่จะต่อสู้กับอุปสรรคนั้นๆ ให้สิ้นสุดลงได้ โดยมีความเข้าใจว่าเป็นวิธีออกที่ดีที่สุดแล้วที่เขาต้องการให้ตนที่เขารัก หลุดพ้นไปจากความทุกข์เดือดร้อนซึ่งปรากฏอยู่เฉพาะหน้าได้

การแสดงความรักตนด้วยวิธีการเช่นนี้ เป็นการกระทำของคนผู้ไม่ฉลาด ไม่มีปัญญายั้งคิด เป็นคนไม่มีความอดทน ผู้ฉลาดทั้งหลายไม่สรรเสริญว่าเป็นคนรักตนที่แท้จริง ย่อมติเตียนว่าเป็นคนเลว เป็นคนสิ้นคิด มีสติไม่สมบูรณ์

ส่วนคนดีทั้งหลายย่อมแสดงความรักตน ด้วยการปฏิบัติตนให้ละเว้นความชั่ว บำเพ็ญความดี เมื่อมีความทุกข์เดือดร้อนเกิดขึ้น ก็ใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรองหาเหตุผล แก้ไขเหตุการณ์นั้นๆ ให้หมดสิ้นไป หรือใช้ความอดทนต่อสู้ในทางถูกที่ชอบ ประคับประคองตนให้ปลอดภัยมีความสุขตลอดไป

เมื่อทุกคนต่างก็มีความรักตน ต้องการให้ตนได้รับความสุขความเจริญ ปราศจากโรคภัย อุปสรรคอันตรายทั้งหลาย ไม่ต้องการให้ผู้ใดมาเบียดเบียนตนให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อน ยิ่งถ้าจะมาทำลายชีวิต ก็จำเป็นต้องต่อสู้ป้องกัน หรือดิ้นรนหลีกหนีจนสุดความสามารถ

ผู้มีความรักตน ต้องการให้ตนพ้นจากความทุกข์ มีความสุขความเจริญ ควรจะปฏิบัติตามปฏิปทาของบุคคลผู้ประเสริฐ ด้วยการทำตนให้เป็นผู้มีความเจริญด้วยวัฒนธรรมอันดีงาม ละเว้นจากความชั่วทั้งหลาย ไม่ทำลายชีวิต และเบียดเบียนทรมานสรรพสัตว์ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อน ควรมีเมตตาแผ่ไปในสรรพสัตว์ ผลแห่งความดีที่ได้บำเพ็ญไว้แล้วนั้น จะอำนวยให้ได้รับความสุขความเจริญ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความทุกข์ มีแต่ความสุขกายสุขใจ


พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
599  สุขใจในธรรม / ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก / Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ เมื่อ: 08 มีนาคม 2561 11:48:22



อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ

ท่านนักปฏิบัติธรรมทุกท่าน สำหรับเมื่อวานนี้ ได้บรรยายธรรมะเรื่องอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วก็มีคำพูดค้างไว้ว่า การที่จะเห็นอริยสัจทั้ง ๔ นั้น ต้องปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ

เหตุนั้น วันนี้จึงจะได้นำเรื่อง อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ มาบรรยายถวายความรู้ และเป็นเครื่องประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ในทางพระพุทธศาสนาของเรา พระบรมศาสดาทรงสอนทางดำเนินชีวิตไว้ ๘ ประการ คือ มรรค ๘ แปลว่า ทาง หมายถึง ทางปฏิบัติหรือทางดำเนินชีวิต

มรรค ๘ นี้ มีชื่อเรียกได้หลายอย่าง เช่น

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา แปลว่า ปฏิปทาอันยังผู้ปฏิบัติให้ถึงความพ้นทุกข์ หมายความว่า เป็นทางสายเดียวที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุถึงนิพพาน หรือบรรลุถึงนิโรธ อันเป็นความดับทุกข์อย่างสนิท พระพุทธเจ้าทรงบรรลุพระนิพพานก็ด้วยทางสายนี้ พระอรหันต์ทั้งหลายก็ปฏิบัติตามทางสายนี้ จึงได้บรรลุถึงนิพพาน

อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง หมายความว่า ทางปฏิบัติของบรรดาเจ้าลัทธิอื่นๆ เมื่อว่าโดยย่อแล้วมี ๒ แบบ คือ แบบกามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตนให้มัวเมาอยู่ในกาม ๑ และ อัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ได้รับความลำบากเกินไป ๑

พวกแรกหย่อนยานเกินไป พวกหลังตึงเกินไป ส่วนมรรค ๘ นั้น เป็นข้อปฏิบัติพอเหมาะ ไม่ตึงเกินไป และไม่หย่อนเกินไป จึงเรียกว่า ทางสายกลาง

อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า อัฎฐังคิกมรรค แปลว่า มรรคมีองค์ ๘ หมายความว่า เป็นข้อปฏิบัติรวมกันทั้ง ๘ ข้อ คือการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เราจะเลือกปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งนั้นไม่ได้ ต้องปฏิบัติรวมกันทั้ง ๘ ข้อ ควบคู่กันไปจึงจะเป็นเหตุให้ได้บรรลุถึงพระนิพพาน

อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า อริยมรรค แปลว่า ทางอันประเสริฐ ทางของพระอริยะ ทางไปสู่ความเป็นอริยชน คือข้อปฏิบัติทั้ง ๘ ข้อนี้ ผู้ใดปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ จิตใจของผู้นั้นก็จะหมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เปลี่ยนสภาพจากปุถุชนคนกิเลสหนามาเป็นอริยชน คือคนประเสริฐ เช่น อย่างพระพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลาย

มรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจทั้ง ๔ ประการ ดังที่ได้บรรยายไปแล้ว

๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือดำริในการที่จะออกจากกาม ๑ ดำริในอันไม่พยาบาท ๑ ดำริในอันไม่เบียดเบียนผู้อื่นและสัตว์อื่นให้ได้รับความลำบาก ๑ ความดำริทั้ง ๓ ประการนี้ เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริต ๔ ได้แก่ เว้นจากการพูดโกหก เราพูดแต่คำสัตย์คำจริง เว้นจากการพูดส่อเสียดยุยงให้ผู้อื่นทะเลาะวิวาทกันแตกร้าวสามัคคีกัน เราพูดแต่ถ้อยคำที่สมานสามัคคีระหว่างหมู่คณะ ชักจูงให้หมู่คณะมีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เว้นจากการพูดถ้อยคำที่หยาบช้า เป็นคำที่แช่งชักหักกระดูก ทำให้ผู้ฟังไม่พอใจ ทำให้ผู้ฟังเจ็บใจ เราพูดแต่วาจาที่ไพเราะอ่อนหวาน ชวนให้ดูดดื่มไว้ในจิตในใจของผู้ฟัง เราเว้นจากการพูดถ้อยคำที่หาสารประโยชน์มิได้ พูดแต่ถ้อยคำที่ประกอบไปด้วยประโยชน์

๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ คือเว้นจากกายทุจริต ๓ คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เราตั้งอยู่ในเมตตาความรักใคร่ เอ็นดู ปรานีสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เราตั้งอยู่ในสัมมาชีพ เลี้ยงชีวิตให้ถูกตามกฎหมายบ้านเมือง และศีลธรรมอันดีงามของพระศาสนา เราเป็นผู้ประกอบไปด้วยสทารสันโดษ ยินดีเฉพาะในสามีภรรยาของตนเท่านั้น

๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากการเลี้ยงชีวิตที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง และศีลธรรมอันดีงาม

๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือเพียรในที่ ๔ สถาน ได้แก่ เพียรในสัมมัปปธานทั้ง ๔ คือ สังวรปธาน เพียรระวังบาป อันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา ปหานปธาน เพียรละบาปคือความโลภโกรธหลงที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หมดไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดานของเรา

ภาวนาปธาน เพียรพยายามอบรมสั่งสม บุญกุศล เป็นต้นว่า ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังเทศน์ เจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาเป็นต้น ให้เกิดให้มีขึ้นในขันธสันดานของตน อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาคุณงามความดีที่ตนได้บำเพ็ญมาแล้วให้ดำรงอยู่ ให้คงอยู่ เพียรรักษาศีล สมาธิ ปัญญา สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน ให้อยู่กับตัวของเรา

๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ ได้แก่ ระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน พิจารณาร่างกายของตนเองและบุคคลอื่น ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก ให้เห็นว่ากายนี้ก็สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ให้เห็นกายในกาย จนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยึดมั่นในร่างกายด้วยอุปาทานจิต

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการพิจารณาเวทนา ที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง ทั้ง ๕ ประการนี้ว่า เวทนานี้ก็สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จนเกิดความเบื่อหน่ายเวทนา ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือพิจารณาเห็นจิตในจิตว่า จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น จนเกิดความเบื่อหน่าย จิตไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือพิจารณาตามเห็นธรรม ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ที่บังเกิดกับใจ จนเกิดความเบื่อหน่ายในธรรมเหล่านั้น ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน

๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ได้แก่ การเจริญฌานทั้ง ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเนื้อหาสาระในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการโดยย่อ ถ้าจะบรรยายโดยพิสดารแล้วต้องบรรยายวันละข้อ อย่างน้อยก็ ๘ วันจึงจะจบ เพราะวิจิตรพิสดารกว้างขวางมาก จึงกล่าวโดยย่อ และที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาสาระในด้านปริยัติ แต่ในด้านปฏิบัติแล้วไม่ใช่อย่างนั้น

เวลามาประพฤติปฏิบัติ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เราเอาละเอียดเข้าไป มีปัญหาอยู่ว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ทำงานอย่างไร ใครเป็นผู้ทำงาน และบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้อย่างไร เราต้องศึกษาให้เข้าใจ

คือการทำงานของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนั้น มรรคสัจเป็นผู้ทำงาน ทำอย่างนี้คือ นำเอาทุกขสัจ คือรูปนามขันธ์ ๕ มาเป็นทางเดิน เช่นที่เราทั้งหลายกำหนด อาการพอง อาการยุบ อาการขวาย่าง ซ้ายย่าง กำหนดเวทนาทั้งที่เป็นสุข ทั้งที่เป็นทุกข์ ทั้งที่ดีใจ ทั้งที่เสียใจ ทั้งที่เฉยๆ กำหนดจิตที่คิดโน้นคิดนี้อยู่ตลอดเวลา กำหนดธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจ นี้เรียกว่าเรากำหนดรูปนามขันธ์ ๕ มัคคสัจทั้ง ๘ นั้นเป็นผู้เดินทาง

พร้อมกันนั้น ก็จะละสมุทัยคือตัณหาไปด้วย ละได้สิ้นเชิงเมื่อไร ทุกข์ก็ดับไปหมด ชื่อว่านิโรธสัจ ยกตัวอย่างเช่น เราอ้าปากพูดนี้เป็นตัวทุกขสัจแล้ว สติรู้ทันคือเราได้กำหนดเป็นมรรคสัจ หมายความว่าก่อนจะพูดนั้น เรากำหนดเสียก่อนว่าอยากพูดหนอๆ การที่มีสติรู้ทันอย่างนี้ เรากำหนดเสียก่อนแล้วจึงพูดอย่างนี้เป็นมรรคสัจ

ทีนี้หากว่าเราไม่ได้กำหนด เราพูดไปตามธรรมชาติ พอดีอยากพูดก็พูดเลยทีเดียว ขาดสติสัมปชัญญะ เป็นตัวสมุทัยสัจคือตัณหา ถ้าในขณะพูด เราตั้งสติกำหนด เว้นโมหะตัวเผลอ คือไม่เผลอไม่สะเพร่า ไม่หลงลืม เรามีสติระลึกรู้ทันเสียก่อนแล้วจึงพูด เป็นสัมมาวาจาพูดชอบ

เมื่อยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว ทำการใดๆ ก็ดี เรามีสติกำหนดรู้ทันอยู่ทุกขณะ เป็นมรรคสัจ แต่ถ้าว่าเราไม่มีสติกำหนด เวลาเดินก็เดินไปตามธรรมชาติ จะนั่ง จะยืน จะนอน คู้ก็ดี เหยียดก็ดี หรือว่าเคลื่อนไหวทำงานใดๆ ก็ดี เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โมหะตัวเผลอก็เกิดขึ้นมา พร้อมกันกับสมุทัยคือตัณหาก็เกิดขึ้น ก็เป็นตัวสมุทัยสัจ

เหตุนั้น ท่านกล่าวไว้ว่า จะยืนก็ดี เดินก็ดี นั่งก็ดี จะคู้ เหยียด เคลื่อนไหวใดๆ ก็ดี เรามีสติกำหนด ในขณะที่เรามีสติกำหนดอยู่นั้น โมหะตัวเผลอเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อโมหะตัวเผลอเกิดขึ้นไม่ได้ สมุทัยคือตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ก็จัดเป็นสัมมากัมมันตะ คือทำการงานชอบ

เมื่อขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะรู้รส ขณะรู้สัมผัส ขณะนึกคิด ขณะบริโภคอาหาร ขณะนุ่งห่ม เป็นต้น เรามีสติรู้ทัน เป็นมรรคสัจ พร้อมกับละสมุทัย คือความอยากเห็น อยากได้ยิน อยากรู้กลิ่น อยากรู้รส อยากรู้สัมผัส อยากนึกคิด อยากบริโภคอาหาร อยากนุ่งห่ม เป็นต้น เว้นโมหะตัวเผลอ เป็นสัมมาอาชีวะ คือเป็นอยู่ชอบ หมายความว่า ถ้าเราไม่ได้กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ก็เป็นตัวสมุทัยคือตัณหา แต่ถ้าเรามีสติกำหนดอยู่ทุกขณะ มีสติรู้ทัน ก็เป็นสัมมาอาชีวะ เป็นอยู่ชอบ

องค์มรรคทั้ง ๓ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ นี้จัดเป็นศีล เพราะเว้นโมหะ คือตัวเผลอ ตัวหลง เป็นต้น

สติรู้ทันทุกขณะนั้นเป็นสัมมาสติระลึกชอบ ถ้ารู้ไม่ทันเป็นสมุทัยคือตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ วิริยะความเพียร ตั้งสติรู้ทันบ่อยๆ เป็นสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ หมายความว่า เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เรารู้ทันอยู่ทุกขณะ เป็นสัมมาวายามะเพียรชอบ ถ้ารู้ไม่ทัน คือเราไม่กำหนด ปล่อยไปตามธรรมชาติ ก็เป็นตัวสมุทัยคือตัณหาเหตุให้เกิดทุกข์

สมาธิมั่นคง ไม่เผอเรอ เป็นสัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ คือในขณะใดที่เรามีสติ กำหนดในขณะนั้น เรียกว่าเรามีสมาธิ คือสมาธิมันเกิดพร้อม สมาธิขั้นนี้เราเรียกว่า ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ แต่ถ้าหากว่าเราไม่ได้กำหนดสมาธิก็ไม่เกิด เหตุนั้น ขณะใดที่เราได้กำหนด ก็แสดงว่าสมาธิของเรามีอยู่ ไม่เผอเรอ จัดเป็นสัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ

องค์มรรคทั้ง ๓ นี้คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้จัดเป็นสมาธิ เพราะมีสติกำหนดระลึกรู้ทันไม่เผลอ

ปัญญาอันเห็นรูปนามเกิดดับนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ วิตกรู้พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจังไม่เที่ยงต้องดับไป ทุกขังทนอยู่ไม่ได้ ทนได้ยากต้องดับไป อนัตตาไม่ใช่ตน ไม่มีอำนาจอันใดที่จะบังคับบัญชา บังคับไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วต้องดับไป การเห็นพระไตรลักษณ์ทั้ง ๓ อย่างอย่างใดอย่างหนึ่งติดอยู่กับรูปนามนั้นตลอดเวลา เป็นสัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

ธรรมะด้านปริยัติกับด้านปฏิบัตินี้ไกลกัน สัมมาสังกัปปะในด้านปริยัติท่านอธิบายว่า เราดำริในการออกจากกาม ในการไม่พยาบาท ในการไม่เบียดเบียน เป็นสัมมาสังกัปปะดำริชอบ

แต่เมื่อมาถึงเวลาปฏิบัติแล้ว หมายเอาละเอียดกว่านั้น คือหมายความว่า ในขณะที่เรามีสติรู้ทันในการกำหนดรูปนามอยู่ตลอดเวลา การกำหนดรูปนามของเราได้ปัจจุบันดี เมื่อกำหนดทันปัจจุบันดีแล้ว ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเห็นรูปนามเป็นพระไตรลักษณ์อย่างนี้ เป็นสัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

องค์มรรคทั้ง ๒ คือ สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดเป็นปัญญา เพราะกำหนดทันปัจจุบันจนเห็นพระไตรลักษณ์ การเห็นรูปนามดับไปๆ กับพระไตรลักษณ์พร้อมๆ กันเช่นนั้น จนสิ้นอาสวะอันเป็นตัวสมุทัยเมื่อใด เมื่อนั้นทุกข์จะดับไปหมดไม่เหลือให้เห็นในขันธสันดาน เรียกว่านิโรธสัจย่อมสมบูรณ์แล้วแก่พระอริยเจ้าอย่างแน่นอน ในด้านปฏิบัติถือเอาเนื้อความเท่านั้น

ก็พอสรุปได้ว่า หากว่าเรามีสติ กำหนดทันปัจจุบัน เรากำหนดอาการขวาย่างซ้ายย่างก็ดี กำหนดอาการพองอาการยุบก็ดี กำหนดเวทนา จิต ธรรม ก็ดี เรามีสติกำหนดรู้ทันปัจจุบันธรรม ก็ชื่อว่ากำหนดถูกอริยมรรคทั้ง ๘ ประการ คือหากว่าเรามีสติรู้ทันขณะใด ขณะนั้น อริยมรรคทั้ง ๘ ประการ ก็เกิดขึ้นพร้อมกัน

เมื่อใด อริยมรรค ๘ นี้สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็แสดงว่ากำลังของวิปัสสนาญาณของเราแก่เต็มที่ เมื่อวิปัสสนาญาณแก่เต็มที่ ก็จะเข้าสู่มัคควิถีทันที เมื่อเข้าสู่มัคควิถีในวินาทีใด วินาทีนั้นก็เป็นอันว่า เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ขั้น โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล จนถึงขึ้นอรหัตมรรค อรหัตผล

อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ในแง่การปฏิบัตินี้นิดเดียวเท่านั้น เหตุนั้นก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย จงใช้สติสัมปชัญญะ พยายามกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม อย่าขี้เกียจ อย่าเบื่อหน่าย อย่าท้อใจ ต่อสภาวธรรมที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้

เพราะสภาวธรรมของวิปัสสนา ไม่เหมือนกันกับสภาวะของสมถะ สมถะนั้น ยิ่งปฏิบัติไปยิ่งสงบไปๆ ตามลำดับ จนได้ฌาน เข้าสู่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เพียงแต่ได้ปฐมฌาน ความทุกข์ความอะไรก็หมดไป ยิ่งไปถึงขั้นจตุตถฌานแล้ว ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ไม่มาปรากฏเลย เพราะเมื่อเข้าถึงจตุตถฌานแล้ว ความรู้สึกก็หมดไป ลมหายใจหมดไป ร่างกายหยุดทำงานชั่วขณะ เมื่อเป็นเช่นนั้น ความสุขก็เกิดขึ้นมาแทนที่ ความทุกข์ไม่มีปรากฏ ด้านสมถะเป็นอย่างนี้ ยิ่งปฏิบัติยิ่งมีความสุข

แต่ด้านการปฏิบัติวิปัสสนา ไม่เหมือนกันอย่างนี้ คือการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ เราต้องเห็นรูปนาม เห็นทุกข์ เห็นโทษของรูปนาม ต้องเห็นรูปนามเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อรูปนามแสดงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขึ้นมาแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะมีแต่ความทุกข์ อะไรเกิดขึ้นมาทางร่างกาย ก็มีแต่ทุกข์ เกิดขึ้นมาทางจิตใจก็มีแต่ทุกข์ วันทั้งวันคืนทั้งคืน เราจะหาความสุขสัก ๕ นาทีก็หายาก แทบจะว่าไม่มีความสุขเลย

เพราะยิ่งใช้สติกำหนดทันปัจจุบันมากเท่าไรๆ ยิ่งเห็นแต่ทุกข์แต่โทษของรูปนาม เห็นแต่ความดับไปของรูปนาม เห็นรูปนามนั้นเป็นของน่ากลัว จนเบื่อหน่ายในรูปนาม เกิดความอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากรูปนาม ไม่มีความสุขเลย

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากว่าท่านทั้งหลายไม่ท้อใจ เป็นนักปฏิบัติใจสิงห์ ตายก็ยอมตาย หากว่าไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูงสุดแล้ว จะไม่ยอมหยุดการปฏิบัติเป็นอันขาด ถึงว่าเนื้อและเลือดมันจะเหือดแห้งไปก็ตามที มันเหลืออยู่แต่เอ็นกับกระดูกนี้ เราก็จะปฏิบัติร่ำไป จะไม่เลิกละการประพฤติปฏิบัติ เมื่อเราตั้งปณิธานจิตอย่างนี้แล้ว ก็สามารถที่จะบรรลุธรรมได้

มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่ในสำนักนี้ เวลาปฏิบัติมีแต่ทุกข์แต่โทษ เกือบจะว่าเอาชีวิตไม่รอด จนไปหาพึ่งพระพึ่งเณร ก็พึ่งไม่ได้ พระเณรเป็นสิบๆ มาล้อมก็ไม่สามารถที่จะให้มีความสุขได้ ไม่อาจที่จะระงับความกลัวได้ ไปนอนอยู่ที่ไหนๆ ทั้งกลางวันกลางคืนก็มีแต่ความกลัวมีแต่ความทุกข์ จะไปห้องน้ำก็ไม่กล้าไป จะเดินไปในบริเวณวัด จากกุฏินี้ไปหากุฏินั้น ห่างกัน ๒-๓ หลังเท่านั้น กลางวันแท้ๆ ก็ยังกลัวไม่กล้าไป มันเป็นถึงขนาดนี้

สภาวะของวิปัสสนา ความทุกข์อะไรๆ มันโหมเข้ามาหมด ปรากฏชัดทั้งนั้น หากว่าใจไม่สู้จริงๆ แล้วไม่สามารถที่จะผ่านพ้นไปได้ และพระรูปนั้น ท่านก็ตั้งปณิธานจิต เพราะตอนนั้นนั่งไม่ได้แล้ว มีแต่เดินอย่างเดียว เหตุไรจึงนั่งไม่ได้ เพราะว่าเวลานั่งมันมีความกลัว สภาวะมันเกิดขึ้นมาเหมือนกับว่าแมลงผึ้งหรือว่าต่อแตนออกจากรังของมันแล้วก็โหมมาทิ่มมาแทงที่ร่างกายของเรา

มีแต่ทุกข์แต่โทษอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่สามารถนั่งได้ และเมื่อนั่งไป เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวก็เย็น เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่สามารถที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดไปได้ เมื่อนั่งไม่ได้ จะทำอย่างไรจึงจะปฏิบัติต่อไปได้ เพราะว่าไปหาครูบาอาจารย์ท่านก็แนะนำ พูดให้ฟังอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เป็นที่พอใจ ไม่ถึงอกถึงใจ คิดว่าทำไมหนอครูบาอาจารย์จึงแก้อารมณ์ของเราไม่ได้

ผลสุดท้าย ท่านก็ตั้งปณิธานจิตอธิษฐาน เมื่อตั้งปณิธานจิตนั้นก็คิดว่า คำสัจจะที่ตั้งลงไปนั้น จะเป็นของที่ไม่แน่นอน จึงอธิษฐานเอาแผ่นดินทั้งแผ่นว่า

สาธุ ข้าพเจ้าขออธิษฐานแผ่นดินทั้งแผ่นนี้ให้แข็งเหมือนเพชร เมื่อใดแผ่นดินทั้งแผ่นที่แข็งเหมือนเพชรนี้ ไม่ละลายเป็นน้ำไป ข้าพเจ้าจะไม่หยุดการปฏิบัติเป็นอันขาด ถึงตายก็ยอมตาย ร่างกายและจิตใจทั้งหมดนี้ เรามอบถวายแก่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มอบถวายแก่ครูบาอาจารย์หมดแล้ว ขณะนี้ เราเพียงแต่ยืมท่านมาใช้เท่านั้น ยืมมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเพื่อแลกเอาบุญเอากุศล แลกเอาโลกุตรธรรมเท่านั้น เหตุนั้นถึงเมื่อมันจะตายก็ยอมตาย

พอดีตั้งปณิธานจิตอย่างนี้ ท่านทั้งหลาย แทนที่สิ่งที่เป็นอยู่ทั้งหลายมันจะหยุดไป กลับไม่หยุดเสียแล้ว โหมเข้ามาๆ มีอะไรๆ ในโลกนี้ คิดว่ามันโหมเข้ามาหมด ท่านก็ตั้งว่า ร่างกายและจิตใจทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้ามอบถวายพระรัตนตรัยครูบาอาจารย์หมดแล้ว จะตายในนาทีนี้ ชั่วโมงนี้ก็ยอมตาย ยอมเสียสละชีวิต เมื่อยอมเสียสละชีวิตแล้ว มันก็หมดปัญหา เมื่อปลงภาระแล้ว ไม่กลัวแล้วความตาย

เมื่อไม่กลัวความตาย ก็เกิดความอุตสาหะพยายาม เกิดความกล้าหาญขึ้นมา ไม่ท้อใจ เมื่อสภาวะใดๆ เกิดขึ้นมาก็ยิ้มได้สู้ได้ ทำให้การปฏิบัติของท่านดำเนินไปตามลำดับๆ ผลสุดท้ายก็สามารถปฏิบัติถึงจุดหมายปลายทาง

นี้แลท่านทั้งหลาย อุทาหรณ์ที่นำมาบรรยายให้ฟังนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นเพียงเรื่องที่สร้างขึ้น เป็นเรื่องจริง มีตัวตนบุคคลจริงๆ เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายได้อุตสาหะพยายามประพฤติปฏิบัติร่ำไป จนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง คือได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วนั่นแหละจึงจะหยุดได้ ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ตราบใด ก็ยังขึ้นชื่อว่ายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เราจะประมาทไม่ได้ ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า

ภิกฺขุ วิสฺสาสมาปาทิ อปฺปตฺโต อาสวกฺขยํ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เมื่อใด ยังไม่ได้บรรลุถึงความสิ้นอาสวะกิเลส อย่าพึ่งนอนใจ ดังนี้

แต่ถ้าไม่ได้ไม่ถึงที่สุดอย่างไร ก็ขอให้ได้ปฐมมรรคก็ยังดี เพราะว่าสามารถปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่ได้บรรยายธรรมะ เรื่องอริยมรรค ๘ ประการ มานี้ ก็สมควรแก่เวลา.


พระราชปริยัตยากร
600  สุขใจในธรรม / เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ / Re: ธรรมะวันหยุด เมื่อ: 26 กุมภาพันธ์ 2561 11:20:55


ประโยชน์ในปัจจุบัน

บุคคลผู้หวังจะก่อร่างสร้างตัว ปรับปรุงตนให้เป็นคนมีฐานะ มั่นคงเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบันทันตาเห็น เป็นคนที่มีวิชาความรู้ เป็นคนมีเกียรติยศชื่อเสียง เป็นคนมีความสุขความเจริญตามปรารถนาต้องอาศัยหลักธรรมอันเป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์ในปัจจุบันเป็นหลักประพฤติปฏิบัติ จึงจะสำเร็จผลได้ ซึ่งหลักธรรมที่ว่านั้นคือ ธรรมอันเป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์ในปัจจุบัน มี 4 ประการ

ประการที่ 1 ความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร คือ บรรดาภารกิจหน้าที่การงาน การศึกษาเล่าเรียน การประกอบอาชีพทุกชนิด จำต้องอาศัยความขยันหมั่นเพียร ความบากบั่น ความพยายามเข้าสนับสนุนจิตใจของบุคคลให้อาจหาญ ไม่ย่อท้อ

ประการที่ 2 ความถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ บรรดาภารกิจหน้าที่การงานก็ดี วิชาความรู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาแล้วก็ดี ทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรก็ดี คนผู้เป็นเจ้าของต้องคอยเอาใจใส่ดูแลรักษาไว้ให้ดี อย่าให้เสื่อมสูญเสียหายไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร โดยให้รู้จักค่าของวิชาความรู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาและทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร

ประการที่ 3 ความมีมิตรสหายที่ดีงาม คือ คนเราแม้จะมีคุณธรรมสองประการดังกล่าวมา คือมีความขยันหมั่นเพียรประกอบภารกิจหน้าที่การงานดี ศึกษาเล่าเรียนดี มีความเอาใจใส่ดูแลรักษาภารกิจหน้าที่การงานและวิชาความรู้ ไม่ให้เสื่อมสูญหายไป บำเพ็ญไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ถ้าขาดคุณธรรมประการที่สาม คือไม่รู้จักคบหาสมาคมกับมิตรสหายที่ดี เพราะคนเป็นจำนวนไม่น้อยต้องเสียคนเพราะเพื่อน และต้องเสียใจเพราะเพื่อน การคบหามิตรสหายเป็นภารกิจสำคัญของมนุษย์ ผู้ใดไม่มีมิตรสหายเสียเลยแสดงว่าเป็นคนใจแคบ มีมิตรสหายไม่ดีก็พาเสียคน เสียความประพฤติ ถ้ามีสหายที่ดีก็พาให้เจริญรุ่งเรืองได้ พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า บรรดาเหตุปัจจัยในภายนอกทุกชนิดที่จะทำให้คนเสื่อมเสียได้ ก็ไม่มีอะไรเท่าเทียมกับการคบมิตรที่เลว เพราะการคบคนเลวเป็นมิตร เขาอาจชักนำไปในทางเสียหายได้นานาประการ

ประการที่ 4 ความเป็นคนมีความอยู่พอเหมาะพอดี คือ คนเราถึงจะมีอะไรๆ ทุกประการตามที่กล่าวมาแล้ว คือ มีความขยันหมั่นเพียร รู้จักรักษาดี มีมิตรสหายดีก็ล้วนแต่เป็นคนดีๆ ทั้งนั้น แต่ตนเองวางตัวไม่เหมาะแก่ภาวะที่ตนเป็นและฐานะที่ตนมี ก็เป็นคนเอาดีไม่ได้

เพราะฉะนั้น บุคคลผู้หวังจะได้รับประโยชน์ในปัจจุบัน มีความสุขความเจริญต่อไปในภายหน้า พึงยึดถือหลักธรรมอันเป็นเหตุให้สำเร็จประโยชน์ในปัจจุบัน 4 ประการดังกล่าวมาแล้ว คือ ความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร ความถึงพร้อมด้วยการดูแลรักษา ความมีมิตรสหายที่ดีงาม ความเป็นคนมีความเป็นอยู่พอเหมาะพอดี รวมข้อธรรม 4 ประการ เป็นหลักแห่งการประพฤติดีประพฤติชอบสำหรับตน

เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ในสิ่งที่ตนมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ



ประโยชน์ที่บัณฑิตพึงได้

นักปราชญ์ท่านเรียกว่า บัณฑิต เพราะได้รับประโยชน์ทั้ง 2 คือ ประโยชน์ในชาติปัจจุบันและประโยชน์ในชาติหน้า

ประโยชน์ในปัจจุบัน หมายถึง ประโยชน์ในชาตินี้ เป็นประโยชน์ตราบเท่าที่เป็นอยู่หรือมีชีวิตอยู่ ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ

1.ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือ มีความขยันในการศึกษาเล่าเรียน ในการประกอบอาชีพการงาน ที่สำคัญจะเป็นงานอะไรก็ตาม ถ้าไม่ผิดกฎหมายบ้านเมืองและ ศีลธรรมอันดีงาม และช่วยให้ดำรงชีพอยู่ได้แล้ว ก็น่าจะพอใจ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ว่า "คนหมั่นย่อมหาทรัพย์ได้" และในการสร้างกุศล ความดี ก็ควรหมั่นสร้างความดีอันจะติดตามตนไปในภพหน้า เปรียบเหมือนผู้จะเดินทางไกลเตรียมเสบียงไปด้วย ฉะนั้น ดังนั้น ผู้ขยันหมั่นเพียรในประการดังกล่าวมาจึงชื่อว่า ถึงพร้อมด้วยความหมั่น

2.ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รักษาทรัพย์ที่หามาได้จากน้ำพักน้ำแรง ทำทรัพย์ให้มีความปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ มีน้ำ ไฟ และโจรผู้ร้าย เป็นต้น ผู้ที่รักษาทรัพย์ที่หามาได้ไม่ให้เป็นอันตรายก็ดี รักษาการงานของตนไม่ให้เสื่อมเสียไปก็ดีได้ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยการรักษา

3.ความมีเพื่อนเป็นคนดี สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงลักษณะของเพื่อนที่ดี ว่ามี 4 ประการ คือ 1.เพื่อนมีอุปการะ 2.เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ 3.เพื่อนแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ 4.เพื่อนมีความรักใคร่ ว่าเป็นมิตรแท้ ควรคบ เพื่อนดังกล่าวมานี้ ย่อมนำไปสู่ความเจริญ

4.เป็นอยู่สมฐานะ หมายความว่า ดำรงชีวิตให้พอดีกับฐานะ ใช้ทรัพย์อย่างประหยัดพอเหมาะพอควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองหรือใช้ฟุ่มเฟือยเกินไป ดังคำกลอนที่ท่านสุนทรภู่ได้แต่งเป็นคติสอนใจว่า "มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าได้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน"

ส่วนประโยชน์ในชาติหน้า หมายถึง ประโยชน์ในภพหน้าอันจะติดตามผู้ทำไป ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ

1.ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น

2.ถึงพร้อมด้วยศีล คือ การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย ไม่มีโทษ

3.ถึงพร้อมด้วยการบริจาค คือ สละทรัพย์หรือสิ่งของให้เป็นสาธารณกุศลต่างๆ เช่น สร้างวัด โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น

4.ถึงพร้อมด้วยปัญญา คือ รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น

ท่านผู้มีปัญญา เมื่อได้ทราบประโยชน์ 2 อย่าง คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน นับได้ว่าไม่ขัดสนอับจนในชีวิต และประโยชน์ในชาติหน้า นับได้ว่าได้ตระเตรียมเสบียงในการ เดินทางคือกุศล ความดีไว้ก่อนที่จะเดินทางไป ย่อมทำชีวิตเป็นชีวิตที่ดี เป็นชีวิตที่ประเสริฐ เป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่า



เปรียบความโกรธเช่นงูพิษ

งูพิษเป็นสัตว์มีพิษ ร้ายแรงและไม่ร้ายแรง เป็นสัตว์ที่น่ากลัวจำพวกหนึ่ง คนเห็นงูจึงต้องวิ่งหนี เพราะกลัวถูกกัด หากถูกกัดแก้ไม่หาย อาจถึงตายได้

งูพิษเราสามารถเอาชนะ หรือพอระวังได้ ส่วนคนที่มีพิษ คือความโกรธน่ากลัวมาก ความโกรธเกิดจากเหตุหลายประการ เช่นถูกด่า ถูกนินทา ถูกกล่าวร้าย ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทำลายทรัพย์สิน ถูกชนะโดยไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม และถูกรังแก เป็นต้น

ความโกรธเมื่อเกิดแล้ว ย่อมแสดงอาการทำร้ายคนอื่น ด่าว่าคนอื่นด้วยคำหยาบคาย ทำลายสิ่งของ ในขณะโกรธ สติกับปัญญาหายไปหมด ขาดความรอบคอบ ขาดความยับยั้ง

เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ต้องรีบดับด้วยธรรม อย่าให้ความโกรธพ่นพิษออกมาทางปาก ทางมือ ทางเท้า คนอยู่ร่วมกันจะเดือดร้อน ธรรมเครื่องดับความโกรธมีมากมาย ขอยกตัวอย่าง 3 ประการ คือ

ความอดทน ได้แก่ การระงับยับยั้งความโกรธ ที่เกิดจากการถูกด่า ถูกนินทา ถูกเขาทำร้าย ถูกเขาชนะ ถูกเขาขโมยสิ่งของไป ระงับยับยั้งกายวาจา ให้ตั้งอยู่ปกติ ไม่ทำร้ายตอบ ไม่กล่าวร้ายตอบ เป็นการห้ามปรามเหตุร้ายไม่ให้เกิดขึ้น

โยนิโสมนสิการ ได้แก่ การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย เมื่อถูกเขาทำร้าย พูดร้าย พึงทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายว่า เมื่อวันก่อน เดือนก่อน เราเคยทำร้าย พูดร้ายต่อเขาไว้ มาวันนี้ เดือนนี้ จึงต้องประสบบ้าง อย่าโกรธเขาเลย

ทำจิตเหมือนแผ่นดิน ทำจิตเหมือนน้ำ แผ่นดินนั้น ใครๆ เอาสิ่งสกปรกรดลงก็ไม่โกรธ เอาของหอมรดลงก็ไม่ยินดี น้ำก็เช่นเดียวกัน ใครๆ เอาน้ำไปชำระสิ่งสกปรก น้ำก็ไม่โกรธ เอาของหอมประพรมน้ำก็ไม่ยินดี

เมตตา ได้แก่ ความรัก ความปรารถนาดี ความเอื้ออารีต่อคนอื่นสัตว์อื่น ผู้มาทำร้ายเรา ผู้มาด่าเรา แผ่เมตตาไปโดยเจาะจงว่า ขอจงมีความสุข อย่ามีความทุกข์ จงประสบสิ่งอันน่าปรารถนา เรียกว่า เมตตาที่แผ่ไปโดยเจาะจง เป็นเมตตาที่แผ่ไปในวงแคบ

ส่วนเมตตาที่แผ่ไปโดยไม่เจาะจง คือ แผ่ไปในคนและสัตว์ทั่วไป ทั้งที่เรารัก ทั้งที่เราเกลียด ทั้งที่เป็นศัตรูต่อเราว่า ขอสัตว์ทั้งหลาย จงอย่ามีเวรต่อกันและกัน จงอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงอย่ามีทุกข์กายทุกข์ใจ จงบริหารให้เป็นสุขเถิด เรียกว่า เมตตาที่แผ่ไปไม่เจาะจง เมตตาที่แผ่ไปในวงกว้าง

ผู้มีเมตตาประจำจิต ความโกรธย่อมเบาบางหมดไป เมตตาจึงเป็นเหมือนน้ำเครื่องชำระพิษคือความโกรธออกจากจิตใจ เมื่อใจปราศจากพิษคือความโกรธแล้ว ย่อมเยือกเย็น

งูเป็นสัตว์มีพิษ แต่ก็มียาแก้ได้ ส่วนคนมีพิษคือความโกรธอันเป็นพิษภายใน ต้องอาศัยธรรมเครื่องขับไล่พิษคือความโกรธ 3 ประการ คือ ความอดทน การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย และแผ่ความรักความปรารถนาดี

จะทำให้เป็นผู้มีจิตใจปราศจากพิษคือความโกรธ มีความสุขกาย สบายใจ


พระศรีศาสนโมลี (สุทธิวัฒน์ ภูริญาโณ ป.ธ.9) วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
หน้า:  1 ... 28 29 [30] 31 32 ... 51
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.929 วินาที กับ 27 คำสั่ง

Google visited last this page 14 มีนาคม 2567 08:39:06