[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 08 สิงหาคม 2566 19:13:44



หัวข้อ: พระประวัติ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 สิงหาคม 2566 19:13:44
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/69635566862093_1111_Copy_.jpg)

พระประวัติ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวาสุกรี เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ประสูติเมื่อ ณ วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำ ปีจอ จุลศักราช ๑๑๕๒  ตรงกับวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๓๓  ทรงผนวชเป็นสามเณรแต่ในรัชชกาลที่ ๑ ทรงศึกษาในสำนักสมเด็จพระวันรัตวัดพระเชตุพน  องค์ที่แจ้งประวัติไว้ในคำนำหนังสือพระราชปุจฉาที่พิมพ์นั้น  เสด็จทรงผนวชอยู่วัดพระเชตุพนจนได้รับอุปสมบทเป็นพระภิกษุในรัชชกาลที่ ๒  เมื่อปีมะแม จุลศักราช ๑๑๗๓ พ.ศ.๒๓๕๔ และเสด็จประทับอยู่วัดพระเชตุพนต่อมาจนตลอดพระชนมายุ

มีเรื่องราวเล่าสืบกันมาว่า เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุได้สัก ๓ พรรษา สมเด็จพระวันรัตถึงมรณภาพ ยังไม่ทันจะได้โปรดให้ผู้ใดเป็นธิบดีสงฆ์ในวัดพระเชตุพน ประจวบเวลาพระราชทานพระกฐิน พระสงฆ์ในวัดพระเชตุพนจึงเตรียมจะอปโลกน์พระกฐินถวายพระราชาคณะที่รองลงมา ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จไปพระราชทานพระกฐินถึงวัดพระเชตุพน มีรับสั่งให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ แต่ยังไม่ได้รับกรม เป็นอธิบดีสงฆ์ครองวัดพระเชตุพน เข้าใจว่าเห็นจะทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะด้วยในเวลานั้น ประเพณีทรงตั้งเจ้านายที่ผนวชเป็นพระราชาคณะแต่ก่อนเป็นแต่พระราชทานพัดแฉกเท่านั้น ข้าพเจ้าเคยได้สดับมาจากสมเด็จพระสังฆราชวัดราชประดิษฐ์ฯ ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชยังประทับอยู่วัดราชาธิวาส วัน ๑ เสด็จเข้ามาถวายเทศน์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพัดแฉก รับว่าว่า “สี่ต้นบวชมานานแล้ว เป็นพระราชาคณะเสียเถิด” เท่านี้  เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงตั้งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เป็นพระราชาคณะก็เห็นจะทำนองเดียวกัน  คงทรงตั้งเมื่อวันเสด็จไปพระราชทานพระกฐิน พร้อมกับเมื่อรับสั่งให้ครองวัด และรับสั่งให้ครองกฐินในปีนั้นด้วยทีเดียว  กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ถวายพระพรว่า ไม่ได้เตรียมท่องอปโลกน์ไว้  มีรับสั่งว่า ไม่เป็นไร เมื่อไม่ได้ท่องไว้ให้องค์อื่นแทนก็ได้ จึงเลยเป็นธรรมเนียมในวัดพระเชตุพนตั้งแต่นั้นมา  พระราชาคณะผู้จะครองกฐินไม่ต้องว่าอุปโลกน์จนตราบเท่าทุกวันนี้

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ได้รับกรมครั้งแรกเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์ แต่จะสถาปนาเมื่อใดยังไม่ทราบ ปรากฏจดหมายเหตุตั้งกรมในรัชชกาลที่ ๒ สองคราว คราวแรกเมื่อปีระกา จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ.๒๓๕๖ ตั้งหลายพระองค์ มีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น อีกคราว ๑ เมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๑๗๘ พ.ศ.๒๓๕๙ ปรากฏพระนามแต่ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์พระองค์เดียว ข้าพเจ้าเข้าใจว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เห็นจะได้เป็นกรมหมื่นในคราวหลัง คือ เมื่อปีชวด จุลศักราช ๑๑๗๘ พ.ศ.๒๓๕๙ นี้

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เมื่อยังเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเห็นจะได้เป็นอาจารย์เจ้านายหลายพระองค์ มีเนื้อความปรากฏในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ว่า เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น ได้ทรงศึกษาอักขรวิธีและพระพุทธวจนะและวิชาการคดีโลกอื่นๆ ในสำนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ เจ้านายพระองค์อื่นที่ได้ทรงศึกษาก็คงจะมีอีก  ในรัชชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชอยู่ในเวลานั้น ทรงเคารพนับถือกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ มากทั้ง ๒ พระองค์  เห็นจะเมื่อคราวปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ในรัชชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รวมวัดในกรุงเทพฯ จัดขึ้นเป็นคณะกลางอีกคณะ ๑ ให้ขึ้นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงบังคับบัญชาเสมอพระราชาคณะ และมีเรื่องซึ่งครั้ง ๑ เป็นความลับรู้กันแต่ในพระราชวงศ์ว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวชอยู่ ได้เคยทรงปรึกษาปรารภกันว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ถ้าราชสมบัติได้แก่เจ้านายบางองค์ บางทีจะถูกเบียดเบียฬได้รับความเดือดร้อน ทรงพระดำริเห็นพร้อมกันว่า ควรจะสร้างวัดเล็กๆ ไว้ในเรือกในสวนสักแห่ง ๑ ถ้าถึงเวลาคับแค้นเมื่อใดจะเสด็จออกไปอยู่เสียที่วัดนั้นให้ห่างไกล อย่าให้เป็นที่กีดขวางแก่ราชการบ้านเมือง  ทรงพระดำริพร้อมกันเป็นความลับอย่างนี้  กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ จึงทรงไปสร้างวัดชิโนรสขึ้นในคลองมอญ  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไปทรงสร้างวัดนอกซึ่งพระราชทานนามว่า วัดบรมนิวาศ เมื่อภายหลัง แต่ชตาเมืองไทยไม่ทรุดโทรมอย่างพระวิตก เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต  ราชสมบัติได้แก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสถาปนาพระเกียรติยศกรมหมื่นนุชิตชิโนรสขึ้นเป็นสมเด็จ มีเนื้อความตามพระบรมราชโองการ ประกาศเลื่อนกรม เมื่อ ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๑๓ พ.ศ.๒๓๙๔ ว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯลฯ  พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร มหินทรายุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน  ได้ประดิษฐานดำรงมาเป็นมหานครอันใหญ่เป็นที่สุขเกษมสมบูรณ์ด้วยสรรพโภคัยมไหสุริยสมบัติ เพียบพูนด้วยชนคณานิกรบรรพสัตว์ คือบุรุษรัตนราชวงศานุวงศ์  เสนามาตย์ราชมนตรีกระวีชาติราชปุโรหิต เป็นที่ไปมาค้าขายแห่งนานาประเทศพานิชวิจิตรด้วยวิกัยภัณฑ์สรรพพัสดุล้วนวิเศษเป็นที่รื่นเริงบันเทิงจิตแห่งชาวนานาประเทศคามนิคมชนบทปรากฏด้วยมหาชนอันเจริญขึ้นด้วยความฉลาดในหัตถกรรมต่างๆ และชำนาญในการช่างสรรพกิจทุกประการ  เจริญขึ้นด้วยหมู่นิกรโยธาทวยหาญ เป็นประเทศที่ประดิษฐานพระบวรพุทธศาสนา ประดับด้วยเรือนพระปฏิมา อุโบสถาคาร เสนาสน์วิจิตรด้วยสุวรรรหิรัญมาศ เป็นที่เจริญความเลื่อมใสแห่งมหาชน ซึ่งเป็นมาได้ดังนี้ สำเร็จด้วยอำนาจบุญบารมีพระเดชานุภาพวิริยปรีชาวิจารณกิจ แห่งสมเด็จบรมนารถบพิตรซึ่งทรงสถิตเป็นประถม แห่งสมเด็จบรมนารถบพิตรซึ่งทรงสถิตย์เป็นประถม คือองค์สมเด็จพระบรมไอยกาธิราช ที่ได้ทรงนามตามประกาศด้วยพระนามแห่งพระมโหทิศปฏิมาว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นเดิมมา ส่วนกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเล่าก็เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น และได้ทรงผนวชรับธุระฝ่ายพระบวรพุทธศาสนามาช้านาน ทรงพระปรีชาญาณฉลาดรอบรู้ในพุทธศาสตร์ ราชศาสตร์ แบบอย่างโบราณราชประเพณีต่างๆ และในทางปฏิสันถารปราศรัยแล้วมีพระหฤทัยโอบอ้อมอารี เป็นที่สนิทเสน่หาแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ทั่วไป และได้เป็นครูอาจารย์ครุฐานิยบุทคลแห่งราชสกุลวงศ์และมหาชนเป็นอันมาก ควรที่จะเป็นประธานาธิบดี มีอิสสริยยศยิ่งกว่าบรรดาคณานิกรสงฆ์คามวาสี อรัญวาสีปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวง เมื่อบุรุษรัตนอันล้ำเลิศประเสริฐดังนี้มีอยู่ ก็มิได้ควรที่จะยกย่องพระราชาคณะองค์ใดองค์หนึ่ง แม้ถึงจะมีสติปัญญาวิทยาคุณ ที่มีตระกูลเป็นอย่างอื่น ให้มีอิสสริยยศฐานานุศักดิ์ยิ่งกว่า จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสีหนาทดำรัสสั่งให้สถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรสเป็นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงษ์ บรมพงศาธิบดี จักรีบรมนารถ ปฐมพันธุมหาราชวรางกูร ปรเมนทรนเรนทร์สูรสัมมานาภิสักกาโรดมสถาน อริยสมศีลาจารพิเศษมหาวิมล มงคลธรรมเจดีย์ยุตมุตวาทีสุวิรมนุญ อดุลยคุณคณาธาร มโหฬารเมตยาภิธยาศรัย ไตรปิฎกกลาโกศล เบญจปดลเศวตฉัตรสิริรัตโนปลักษณ มหาสมณุตมาภิเษกาภิษิต ปรมุกกฤษฐสมณศักดิธำรง มหาสงฆปรินายก พุทธศาสนดิลกโลกุตมหาบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ ไวยัติญาณมหากระวีพุทธาทิศรีรัตนตรัยคุณารักษ์ เอกอรรคมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาทิโลกยปดิพัทธพุทธบริสัษยเนตร สมณคณินทราธิเบศร์สกลพุทธจักโรปการกิจสฤษดิศุภการ มหาปาโมกษประธานวโรดม บรมนารถบพิตร เสด็จสถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง กรุงเทพฯมหานคร อมรรัตนโกสินทร มหินทรายุธยา มหาดิลก ภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน ทฤฆายุศมศิริสวัสดิ”  ดังนี้   กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ประชวรสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ ณ วันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนอ้าย ปีฉลู เบญจศก พ.ศ.๒๓๙๖ พระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา พระราชทานเพลิงพระศพที่พระเมรุท้องสนามหลวงแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เชิญพระอัฏฐิประดิษฐานไว้ที่พระตำหนัก ณ วัดพระเชตุพนฯ และให้มีตำแหน่งฐานานุกรมสำหรับประจำรักษาพระอัฏฐิแต่นั้นมา ถึงเวลาเข้าพระวัสสา เสด็จไปถวายพุ่มวัดพระเชตุพนฯ ย่อมเสด็จไปถวายพุ่มพระอัฏฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ด้วย   และเมื่อวันเสด็จพระราชทานพระกฐินวัดพระเชตุพนฯ ก็โปรดให้เชิญพระอัฏฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ มาในพระอุโบสถ ทรงทอดผ้าไตรปีสำหรับฐานานุกรมสดับปกรณ์พระอัฏฐิทุกปีมา  ประเพณีที่ทรงเคารพบูชาต่อพระอัฏฐิกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ดังกล่าวมานี้ มีตลอดรัชชกาลที่ ๔ มาในรัชชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงปฏิบัติตามแบบอย่างสืบมา จนตราบเท่าทุกวันนี้

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นกวีหนังสือไทยอย่างวิเศษที่สุดพระองค์หนึ่ง หนังสือเรื่องต่างๆ ที่ทรงนิพนธ์ไว้ สอบได้บัญชีดังนี้ คือ
            ๑. สรรพสิทธิคำฉันท์
            ๒. สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย แต่งต่อพระราชนิพนธ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ทรงค้างไว้จนจบ
            ๓. กฤษณาสอนน้องคำฉันท์
            ๔. ฉันท์ดุษฏีสังเวยกล่อมช้างพัง
            ๕. กาพย์ขับไม้กล่อมช้างพัง
            ๖. ฉันท์มาตราพฤติ
            ๗. ฉันท์วรรณพฤติ
            ๘. ลิลิตตะเลงพ่าย
            ๙. ลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐินสถลมารคและชลมารค
            ๑๐. โคลงยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ดั้นบาทกุญชรและวิวิธมาลี
            ๑๑. ร่ายทำขวัญนาค
            ๑๒. มหาชาติ ๑๑ กัณฑ์

นอกจากนี้ยังมีโคลงฉันท์เบ็ดเตล็ด เช่น โคลงฤๅษีดัดตน โคลงกลบท เป็นต้น ซึ่งทรงรับแต่งพร้อมกับคนอื่นๆ

มีข้อควรสังเกตอย่าง ๑ ว่า กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ไม่ได้ทรงนิพนธ์หนังสือเป็นกลอนแปดเลยสักเรื่องเดียว ไม่ใช่ทรงไม่ได้  ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ที่ไม่ทรงกลอนแปดนั้น เพราะกลอนแปดมักแต่งในทางสังวาสและบทละคร จึงทรงรังเกียจประการ ๑  อีกประการ ๑ จะเป็นเพราะเมื่อในรัชชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ในสมัยเมื่อกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่องต่างๆ นั้น กวีที่เชี่ยวชาญกระบวนแต่งกลอนแปดมีมาก คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และสุนทรภู่ เป็นต้น  กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ จะทรงพระดำริเห็นว่ากระบวนแต่งกลอนแปดจะสู้กวีที่มีอยู่ในเวลานั้นยาก จึงไม่ทรงเสียทีเดียวเหมือนอย่างหนังสือมหาชาติกัณฑ์มหาพนซึ่งไม่ทรงแต่งสู้พระเทพโมฬี (กลิ่น) ฉะนั้น



ที่มา : "พระประวัติ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส" พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
         บริษัท แพร่พิทยา บริษัท โอเดียนสโตร์ กรุงเทพฯ พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.๒๔๙๖
         (การสะกดคำ - คัดตามต้นฉบับ)