[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
09 พฤษภาคม 2567 08:27:20 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า:  [1] 2 3 ... 274
1  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: กฎ ว่าด้วยการเรียกสินไหมพินัยคดีความ : พระราชกำหนดเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ: 15 ชั่วโมงที่แล้ว


พระราชกำหนดเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา

กฎ ว่าด้วยการเรียกสินไหมพินัยคดีความ

​กฎให้แก่พระสุรัศวดี ซ้าย ขวา ใน นอก ให้กฎหมายบอกแก่ เจ้าพระยา และพระยา พระ หลวง เจ้าราชนิกุล ขุน หมื่น พัน ทนาย ฝ่ายทหาร พลเรือน ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ ผู้บรรดาได้พิจารณาความทั้งปวงจงทั่ว ด้วยมีพระราชกำหนดกฎหมายไปไว้สำหรับหัวเมือง เอก โท ตรี จัตวา ฝ่ายเหนือ ปักษ์ใต้ และแขวงจังหวัดดีทั้ง ๔ แต่ก่อนว่าราษฎรมีอรรถคดีมาร้องฟ้องหากล่าวโทษแก่กันด้วยเนื้อความข้อใด ๆ ก็ดี และตุลาการพิจารณาเปนสัจว่าฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลย แพ้ข้างหนึ่งก็ดี และแต่เกาะตัวคู่ความมาถึงตุลาการ และฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลยปรองดองยอมกันเสียมิว่าเนื้อความแก่กัน และช่วยกันผูกสินไหมพินัยก็ดี ​และยอมผูกสินไหมพินัยแต่ข้างเดียวก็ดี ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ และขุนแขวง หมื่นแขวง พันแขวง สิบ ร้อย อายัด และนายอำเภอทั้งปวงมิได้ปรับไหมเอาแต่ตามอำเภอใจเองหามิได้ ถ้าและเนื้อความแขวงจังหวัดดี ยอมบอกเรื่องราวเนื้อความซึ่งราษฎรร้องฟ้องยอมแก่กันนั้น ส่งเข้ามายังกรมพระนครบาล ๆ ส่งไปให้พระเกษม ๆ จึ่งปรับมาว่า เนื้อความราษฎรหากันเปนเนื้อความแต่เพียงนี้ ชอบจะลงเอาแต่เท่านั้นตามอัยการ ถ้าและเนื้อความหัวเมืองไซร้ และเนื้อความเมืองนนทบุรีให้ส่งไป กรมการเมืองธนบุรีปรับ ถ้าและเนื้อความเมืองธนบุรีให้ส่งไปให้กรมการเมืองนนทบุรีปรับ ถ้าเนื้อความเมืองสาครบุรีและเมืองสมุทปราการ เมืองพระประแดง ให้ส่งไปเมืองธนบุรีปรับ ถ้าเนื้อความเมืองแม่กลอง ให้ส่งไปให้กรมการเมืองราชบุรี ปรับ ถ้าเนื้อความเมืองราชบุรีส่งไปให้กรมการ​เมืองแม่กลองปรับ ถ้าเนื้อความเมืองสุพรรณบุรี ส่งไปให้กรมการเมืองนครชัยศรีปรับ ถ้าและเนื้อความเมืองนครชัยศรีส่งไปให้กรมการเมืองสุพรรณปรับ ถ้าเนื้อความเมืองสิงหบุรี ส่งไปให้กรมการเมืองสรรคบุรีปรับ ถ้าเนื้อความเมืองสรรคบุรีส่งไปให้กรมการเมืองสิงหบุรีปรับ ถ้าเนื้อความเมือง วิเศษชัยชาญ เมืองอ่างทอง ส่งไปให้กรมการเมืองลพบุรีปรับ ถ้าและเนื้อความเมืองลพบุรีส่งไปให้กรมการเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองอ่างทองปรับ ถ้าและเนื้อความเมืองอินทบุรีส่งไปให้กรมการเมืองพรหมบุรีปรับ ถ้าและเนื้อความเมืองพรหมบุรีส่งไปให้กรมการเมืองอินทบุรีปรับ ถ้าและเนื้อความเมืองชัยนาทบุรีส่งไปให้กรมการเมืองอุทัยธานีปรับ ถ้าและเนื้อความเมืองอุทัยธานีส่งไปให้กรมการเมืองชัยนาทบุรีปรับ และย่อมอาศัยแก่กันฉนี้ ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ แขวงนายอำเภอ จะได้บังคับ​บัญชา ลงเอาเงินสินไหมพินัยแก่ราษฎรแต่อำเภอใจเองหามิได้ และราษฎรไพร่พลเมืองทั้งปวงจึ่งอยู่เย็นเปนสุข และสืบไปทุกวันนี้ ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ และขุนแขวง หมื่นแขวง และนายอำเภอทั้งปวง ละอย่างละธรรมเนียมแต่ก่อนเสีย และบังคับบัญชาลงเอาเงินสินไหมพินัยแก่ราษฎรแต่อำเภอใจเอง ถ้าและจะปรับด้วยพระราชกฤษฎีกาและพระธรรมนูญ บรรดาจะเสียเงินสินไหมพินัยแต่ ๒ ตำลึง ๓ ตำลึง ๔ ตำลึง ๕ ตำลึง กรมการและแขวงผู้เปนตุลาการลงเอาเงินชั่ง ๑๐ ตำลึงบ้าง ชั่งหนึ่งบ้าง ๑๕ ตำลึงบ้าง ๑๔ ตำลึงบ้าง และลางบางแต่เกาะมาถึงศาล แล้วมิได้พิจารณาเนื้อความไปให้สำเร็จ และล่อลวงโจทก์ จำเลย แต่ให้ยอมกัน แล้วจึ่งลงเอาเงินสินไหมพินัยตามอำเภอใจเอง และราษฎรจึ่งได้ความเดือดร้อนยากแค้นฉบฉายเสียด้วยเหตุนี้ ทุกบ้านทุกตาบลนั้น แต่นี้ไปเมื่อหน้าถ้าและราษฎร​จะมีอรรถคดีสิ่งใด ๆ จะมาร้องฟ้องแก่ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ และแขวง นายอำเภอไซร้ อย่าให้โบยตีจำจองลงเอาเงินสินไหมพินัยแต่อำเภอใจเอง ถ้าและเนื้อความแขวงจังหวัดดีทั้ง ๔ ให้บอกเรื่องเนื้อความเข้ามายังกรมพระนครบาล ๆ ส่งไปให้พระเขษมปรับจงทุกคู่ ถ้าและเปนเนื้อความหัวเมืองไซร้ ให้ผลัดกันเอาไปเจรจาตามโบราณราชประเวณีแต่ก่อน และซึ่งเปนเนื้อความหัวเมืองระยะทางไกลกัน ๒ คืน ๓ คืน ๔ คืน ๕ คืนไซร้ จึ่งให้ว่ากล่าวกันแต่ในเมืองนั้นเอง แต่ให้ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง และ ขุนปลัด ขุนยกระบัตร และกรมการลุกนั่งพร้อมกัน จึ่งปรับด้วยพระราชกฤษฎีกาพระธรรมนูญ อนึ่งซึ่งตุลาการจะคุมเอาความราษฎรซึ่งแพ้และยอมกันนั้น ไปให้กรมการเมืองยื่นปรับไซร้ ให้เอาค่าปรับแต่หนึ่งบาทสองสลึง และค่าเชิงเดิรจะคุมไปนั้นแต่​สองสลึง และให้ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ และหัวเมือง และขุนแขวง หมื่นแขวง พันแขวง จังหวัดทั้งปวง ทำตามพระราชกำหนดกฎหมายให้นี้จงทุกประการ อย่าให้ผู้ใดๆทำให้ผิดด้วยเนื้อความ ซึ่งมีมาในพระราชกำหนดกฎหมายนี้แต่ข้อใดข้อหนึ่งได้ ถ้าและผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง ทำผิด ให้ขุนปลัด ขุนยกระบัตร บอกเนื้อความเข้าไปยังกรุงเทพพระมหานคร ถ้าและขุนปลัด ขุนยกระบัตรและกรมการทำผิด ให้ผู้รักษาเมืองบอกเนื้อความเข้าไปยังกรุงเทพพระมหานคร อย่าให้อำพรางกันไว้แต่ข้อใดข้อหนึ่งได้ ถ้าและผู้ใดรู้ว่าผู้นั้นทำผิดแล้วนิ่งเนื้อความเสียไซร้ จะเอาผู้นั้นเปนโทษจงหนักหนา และให้หมายบอกแก่ผู้รักษาเมือง ผู้รั้ง กรมการ แขวง นายอำเภอ กระทำตามกฎหมายนี้จงทุก ประการ ถ้าผู้ใดมิได้กระทำ ตามจะเอาตัวเปนโทษ ตามโทษานุโทษ

​กฏให้ไว้ณะวันศุกร เดือน ๑๒ ขึ้น ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๐๘๔ ปีขาล จัตวาศก. (พ.ศ.๒๒๖๕ รัชกาล สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ)


----------------------------
2  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๓ ตักการิยชาดก : นางกาลีกับลูกชายเศรษฐี เมื่อ: 15 ชั่วโมงที่แล้ว



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๓ ตักการิยชาดก
นางกาลีกับลูกชายเศรษฐี

          ในกาลก่อน กรุงพาราณสีได้มีหญิงแพศยาคนหนึ่งนามว่า กาลี น้องชายของนางชื่อว่า ตุณฑิละ
          ตุณฑิละเป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา ทั้งเป็นนักเลงเล่นการพนัน นางให้เงินเขา เขาก็เอาไปเล่นไปกินเสียหมด ถึงนางจะห้ามปรามเขาก็ไม่ฟัง วันหนึ่งเขาเล่นการพนันแพ้ ต้องจำนำผ้านุ่งจนต้องเอาเสื่อลำแพนนุ่งกลับบ้าน พวกสาวใช้นางต่างได้รับกำชับไว้ว่า เวลาตุณฑิละมาถึงไม่ต้องให้อะไร จับคอเขาไล่ออกไปเสีย พวกนั้นจึงพากันทำอย่างนั้น เขาไปยืนร้องไห้ใกล้ประตู ต่อมาลูกของเศรษฐีคนหนึ่งนำทรัพย์มาให้นางกาลี ครั้งละ ๑,๐๐๐ กหาปณะอยู่ประจำ เขาเห็นนายตุณฑิละก็ถามว่า “ตุณฑิละเอ๋ย ร้องไห้ทำไม”
          ตุณฑิละตอบว่า “นายจ๋า ผมแพ้การพนันครับ พวกสาวใช้เหล่านั้นมันพากันจับหักคอไล่ผมออกมา”
          เขาบอกว่า “ถ้าเช่นนั้นรอก่อน ฉันจะช่วยบอกพี่สาวของแกให้”
          แล้วก็ไปบอกนางว่า “น้องชายของเธอนุ่งเสื่อลำแพนยืนอยู่ที่ประตู ทำไมเธอถึงไม่ให้ผ้าผ่อนเขาบ้างล่ะ”
          นางตอบว่า “ฉันไม่ให้ล่ะ ถ้าคุณมีแก่ใจ คุณก็ให้เขาซิ”
          ก็ในเรือนของหญิงแพศยานั้นมีธรรมเนียมประพฤติติดต่อกันมาดังนี้ จากเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ เป็นมูลค่าของผ้าของหอมและดอกไม้ ชายที่พากันมานุ่งห่มในเรือนนั้นอยู่ตลอดคืน รุ่งขึ้นเมื่อจะไปก็ผลัดผ้านั้นไว้ สวมใส่เสื้อผ้าที่ตนนำมานั้นกลับบ้าน เหตุนั้นลูกชายเศรษฐีจึงนำเสื้อผ้าในเรือนนั้นที่ตนสวมใส่แล้วให้นายตุณฑิละสวมใส่ต่อ  ฝ่ายนางกาลีก็สั่งพวกสาวใช้ไว้ว่า พรุ่งนี้เวลาลูกชายเศรษฐีคนนี้จะไป พวกเจ้าจงช่วยกันแย่งเอาไว้ ลูกชายเศรษฐีนั้นออกมาก็กรูกันเข้าไปราวกับจะปล้น ช่วยกันดึงเอาผ้าไว้เสีย จนเขาต้องเปลือยกายจึงปล่อยว่า ทีนี้ไปได้ละพ่อหนุ่ม เขาต้องเดินออกมาทั้งเปลือยๆ ฉะนั้นคนพากันยิ้มทั่ว เขาละอายรำพึงรำพันว่า “เราทำตัวเองให้เดือดร้อนแท้ๆ เรานั่นแหละไม่สามารถรักษาปากของตนได้
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“จงพูดแต่พอดีเถิด อย่าพูดเลยเถิด เพราะพูดเลยเถิดเกิดโทษมากมาย”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
มุตฺวา ตปติ ปาปกํ
คำพูดชั่วย่อมพาตัวเดือดร้อน (๒๗/๒๗)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดยธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
3  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๒ มหิสชาดก : ลิงกับควาย เมื่อ: วานนี้



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๒ มหิสชาดก
ลิงกับควาย

         ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกระบืออยู่ในป่าหิมพานต์ พอเจริญวัยก็สมบูรณ์ด้วยกำลังแรง มีร่างกายใหญ่ท่องเที่ยวไปตามป่าทึบ เห็นโคนไม้อันผาสุกสำราญแห่งหนึ่ง เที่ยวหากินอิ่มแล้ว ในตอนกลางวันได้มายืนพักอยู่ที่ในโคนไม้นั้น ครั้งนั้นมีลิงโสนตัวหนึ่งลงจากต้นไม้ แล้วขึ้นไปบนหลังของกระบือนั้น ถ่ายอุจจาระปัสสาวะรด จับเขาทั้งสองโหนจับหางแกว่งไปแกว่งมา กระบือมิได้ใส่ในอนาจารของลิงนั้น เพราะประกอบด้วยบขันติ เมตตา และความเอ็นดู
          ครั้นวันหนึ่ง เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นไม้นั้นยืนอยู่ที่ลำต้นของต้นไม้นั้น กล่าวกะกระบือนั้นว่า “พระยากระบือ เพราะเหตุไรท่านจึงอดกลั้นการดูหมิ่นของลิงชั่วตัวนี้ ท่านจงทำโทษมันเสีย” แล้วกล่าวต่ออีกว่า “เพราะเหตุใดท่านจึงอดกลั้นทุกข์ต่อลิงผู้มีจิตกลับกลอก มักประทุษร้ายมิตรประหนึ่งเจ้าของผู้ให้ความใคร่ทั้งปวง ท่านจงขวิดมันด้วยเขา จงเหยียบเสียด้วยเท้า ถ้าไม่ห้ามปรามมันเสีย สัตว์ทั้งหลายที่โง่เขลาก็จะเบียดเบียนร่ำไป”
          กระบือได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า “ท่านรุกขเทวดา ถ้าเราเป็นผู้ยิ่งกว่าลิงตัวนี้ โดยชาติ โคตร และวัสสายุกาล เป็นต้น จักไม่อดกลั้นโทษของลิงตัวนี้ไซร้ มโนรถความปรารถนาของเราจักถึงความสำเร็จได้อย่างไร ก็ลิงตัวนี้เมื่อสำคัญแม้ผู้อื่นว่าเหมือนตัวเราจักกระทำอนาจารอย่างนี้ แต่นั้นมันจักกระทำอย่างนี้แก่กระบือดุร้ายเหล่าใด กระบือร้ายเหล่านั้นแหละจักฆ่ามันเสีย การที่กระบือตัวอื่นฆ่าลิงตัวนี้นั้น เราจักพ้นจากทุกข์และปาณาติบาต”
          ก็ต่อเมื่อล่วงไป ๒-๓ วัน กระบือได้ไปอยู่ในที่อื่น กระบือดุตัวหนึ่งได้มายืนอยู่ที่โคนต้นนั้น ลิงชั่วจึงขึ้นหลังกระบือดุตัวนั้น สำคัญว่ากระบือตัวนี้ก็คือกระบือตัวนั้นแหละ แล้วกระทำอนาจารอย่างนั้นนั่นแหละ ทันใดกระบือตัวนั้นสลัดลิงนั้นให้ตกลงบนพื้นดิน เอาเขาขวิดหัวใจ เอาเท้าทั้ง ๔ เหยียบให้ละเอียดเป็นจุณ
 

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งไม่พอใจ ทำให้ไม่ต้องสร้างเวรภัยให้เกิด”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ขนฺติ  หิตสุขาวหา
ความอดทนนำมาซึ่งประโยชน์สุข (ส.ม.)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดย ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
4  สุขใจในธรรม / ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ / พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๑ สุวรรณมิคชาดก : เนื้อติดบ่วงนายพราน เมื่อ: วานนี้



พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๘๑ สุวรรณมิคชาดก
เนื้อติดบ่วงนายพราน

          ในสมัยพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ที่เมืองพาราณสี มีพญาเนื้อตัวหนึ่งรูปร่างสวยงามนัก มีนางเนื้อสาวเป็นภรรยารูปร่างงามเช่นกัน ทั้ง ๒ มีบริวารที่อยู่ในปกครองนับ ๑๐,๐๐๐ ตัว
          อยู่มาวันหนึ่งพญาเนื้อเดินไปติดบ่วงของนายพราน พยายามดิ้นรนเท่าไหร่ก็ไม่หลุด ยิ่งดิ้นก็ยิ่งเข้าลึกจนถึงเอ็น ในที่สุดก็เข้าไปถึงกระดูก จนส่งเสียงให้บริวารรู้ว่าตนติดบ่วง หมู่เนื้อได้ยินเสียงร้องก็พากันหนีไป นางเนื้อไม่เห็นพญาเนื้อตามมาด้วย ก็คิดว่าผู้ที่ส่งเสียงร้องน่าจะเป็นพญาเนื้อ จึงรีบวิ่งไปหาน้ำตานองหน้า และกล่าวปลอบโยนว่าจะให้ความช่วยเหลือจะขอร้องให้นายพรานปล่อยตัวไปให้ได้
          ดังนั้น เมื่อนางมาถึง ก็อ้อนวอนขอให้นายพรานปล่อยตัวพญาเนื้อไป เพราะมีหน้าที่ดูแลบริวารนับ ๑๐,๐๐๐ ตัว ให้จับตนเองไปฆ่าแทน นายพรานฟังคำอ้อนวอนของเนื้อสาวก็รู้สึกสลดใจ สำนึกว่าแม้แต่สัตว์เดรัจฉาน ยังกล้าเสียสละชีวิตให้แก่กันได้ เราเป็นมนุษย์แท้ๆ กลับไร้จิตสำนึก จึงยอมปล่อยตัวพญาเนื้อให้กลับไปโดยสวัสดิภาพ พร้อมอวยพรให้มีความสุขในชีวิตคู่ ก่อนจะจากไปพญาเนื้อได้ตอบแทนนายพรานด้วยแก้วมณี ๑ ดวง ให้นายพรานนำแก้วมณีดวงนี้ไปสร้างเนื้อสร้างตัว และเลิกการเป็นนายพรานต่อไป
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“คู่รักที่จะเสียสละชึวิตให้แก่กันได้ หายาก”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
สุทุลฺลภิตฺถี ปุริสสฺ ยา หิตา
ภตฺติตฺถิยา  ทุลฺลโภ  โย  หิโต  จ ฯ

ภรรยาที่คอยช่วยเหลือสามี หาได้ยาก
สามีคอยช่วยเหลือภรรยา ก็หาได้ยาก (๒๗/๒๙๓๔)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดย ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม
5  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / พระราชกำหนดเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ: วานนี้


พระราชกำหนดเก่า ครั้งกรุงศรีอยุธยา

คำนำ

หนังสือที่พิมพ์ไว้ในสมุดเล่มนี้เป็นพระราชกำหนดเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา ในรัชชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระบ้าง ในรัชชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์บ้าง ในรัชชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทรบ้าง ต้นฉะบับเป็นสมุดไทยเขียนตัวรง มีอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ ราชบัณฑิตยสภาได้นำพระราชกำหนดเช่นนี้ออกพิมพ์ฉะบับ ๑ ใน พ.ศ.๒๔๖๙ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีผู้อ่านและใส่ใจมากนัก จนเมื่อสองสามเดือนนี้มีฝรั่งนาย ๑ สืบความรู้ในเรื่องตำนานการปกครองเมืองไทย เพื่อจะเอาไปเรียบเรียงพิมพ์เป็นสมุดในภาษาอังกฤษ พบสมุดที่ราชบัณฑิตยสภาพิมพ์นั้น อ่านไม่เข้าใจเพราะเป็นภาษาครั้งกรุงเก่า จึงนำไปขออ่านกับข้าพเจ้าที่บ้าน ข้าพเจ้าช่วยอ่านและแปลบางตอนที่เข้าใจยาก เห็นว่าหนังสือนั้นทำให้เกิดความใคร่รู้ถ้อยคำที่ใช้ในสมัยก่อนแปลกไปจากที่ใช้ในสมัยนี้ นอกจากที่เป็นประโยชน์ส่อให้เห็นทางการปกครองในสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังมีประโยชน์แก่ผู้ศึกษาภาษาไทยด้วย เหตุดังนี้จึงได้ให้ค้นต้นฉะบับพระราชกำหนดเช่นเดียวกันที่มีอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ และยังมิได้เคยนำออกพิมพ์ รวมได้ใหม่ในคราวนี้ ๑๐ ฉะบับ และรวมฉะบับที่เคยพิมพ์แล้วเข้าอีก ๑ จึงเป็น ๑๑ ฉะบับด้วยกัน การพิมพ์คราวนี้ พิมพ์ถ้อยคำตามต้นฉะบับทั้งนั้น แต่มิได้คงตัวสะกดไว้ตามเดิมทั้งหมด เพราะฉะบับเดิมเป็นลายมือเสมียนฝีมือดีก็จริงอยู่ แต่ไม่ใช่คนรู้หนังสือ คำคำเดียวเขียนไว้แปลกๆกันมีเป็นอันมาก ที่กล่าวนี้เป็นแต่เพียงถ้อยคำที่อ่านเข้าใจในเวลานี้ แต่มีคำเป็นหลายคำซึ่งอ่านไม่เข้าใจ เป็นต้นว่าในหน้า ๑๒ บันทัด ๓ มีคำว่า “อย่าให้ลงลออยู่ได้” และในหน้า ๒๔ บันทัดที่ ๖ มีคำว่า “ให้ทำแต่ในรัจสำหรับเมืองนั้นก่อน” ฉะนี้ ยังไม่เข้าใจว่า ลงลอ และ รัจ นั้นหมายความว่ากะไร จึงคงตัวสะกดไว้ตามฉะบับเดิม สำหรับจะได้สอบคนหรือสันนิษฐานกันต่อไป

เมื่อได้คัดต้นฉะบับเตรียมตามที่กล่าวมานี้แล้ว พระยาโทณวณิกมนตรี มาแจ้งความว่า ในงาน พระราชทานเพลิงศพ พระศิลปานุจิตรการ (ฉัตร อินทรเสน) ในเดือนมิถุนายนนี้ เจ้าภาพมอบให้พระยาโทณวณิกมนตรี มาขอหนังสือไปพิมพ์แจก ได้ให้พระยาโทณวณิกมนตรีดูต้นฉะบับที่เตรียมไว้ ก็เห็นว่าเป็นหนังสือควรพิมพ์ไว้โดยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น จึงรับพิมพ์หนังสือนี้ในงานศพครั้งนี้

กรรมการราชบัณฑิตยสภาขออนุโมทนาในกุศลจิตต์ ซึ่งเจ้าภาพงานศพพระศิลปานุจิตรการได้บำเพ็ญเป็นปฏิการฉลองคุณผู้เป็นบุรพการี ขอวิบากสุขจงสำเร็จแก่ผู้ถึงมรณะตามสมควรแก่คติอุปบัตินั้น ๆ เทอญ


                             
                              นายกราชบัณฑิตยสภา
                              วันที่ ๑๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๖

กฎ เรื่องร้องฟ้องความซับซ้อนกันหลายศาล

​กฏให้แก่พระสุรัศวดีซ้าย ขวา ใน นอก ให้กฎหมายบอกแก่ตุลาการและกรมมหาดไทย กลาโหม และกรมเมือง วัง คลัง และตำรวจ ทหารใน และสนมซ้าย ขวา มหาดเล็กชาวที่ นครบาล ขุนโรง ขุนศาล ผู้บรรดาเปนตุลาการได้พิจารณาความทุกหมู่ทุกกรม ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่าราษฎรทั้งปวงมีอรรถคดี ทำหนังสือร้องฟ้องหาความแก่กันณะโรงศาล สมภักนักการกรมใด ๆ เนื้อความเปนอาชญานครบาล ครั้นขุนโรงขุนศาลสมภักนักการผู้นั้นรับเอาหนังสือฟ้องแล้ว เอาว่ากล่าวบัตรหมายไปให้มูลนายอาณาประชาบาลข้างหนึ่งให้ส่งข้างจำเลยมาพิจารณาตามกระทรวง ​และครั้นตุลาการได้ตัวมาไถ่ถามสืบไป และเนื้อความพิรุธข้างหนึ่งเห็นจะแพ้ในสำนวนไซร้ คู่ความข้างหนึ่งด้วยมีเงินทอง ข้างหนึ่งยากแค้นหาเงินจะเสียค่าฤชาตุลาการมิได้ ก็ให้ตุลาการพิจารณาแต่ศาลเดียวตามเนื้อความกว่าจะสำเร็จ และข้างหนึ่งด้วยมีเงินทองเห็นเนื้อความตัวเพลี่ยงพล้ำพิรุธจะแพ้แก่ข้างหนึ่ง แล้วคิดอ่านเอาเท็จเปนจริงไปร้องฟ้องณะโรงศาลอื่น กล่าวโทษหาอุทธรณ์อาชญาแก่ตุลาการว่ากลบเกลื่อนเนื้อความเสียบ้าง และเขียนเอาแต่ชอบใจบ้าง และดัดสำนวนหัวข้อความเสียบ้าง พาโลว่าตุลาการโบยตีทำข่มเหงบ้าง และว่าเนื้อความตุลาการถามผู้นั้นมีผู้มาเสี้ยมสอนฝ่ายโจทก์ จำเลย เขียนเอาบ้าง คดีจะให้สำนวนยืดยาวค้างเกินไป และขุนโรง ขุนศาล สมภักนักการกรมอื่น นอกตุลาการเก่า ผู้จะรับหนังสือร้องฟ้องนั้น คิดว่าเปนกระทรวงของตัว กรมนั้นได้พิจารณา​ตามพระธรรมนูญ และกฎหมายแต่ก่อนแล้ว จึ่งรับเอาหนังสือร้องฟ้องผู้นั้นว่ากล่าวบัตรหมายเอาเอง ให้ส่งตุลาการเก่า และให้เบิกเอาสำนวนคู่ความมาพิจารณาตามเนื้อความข้างหนึ่ง คิดว่ามีเงินทองพอจะเสียหายได้แก่สมภักนักการ แล้วไปทำฎีกาทูลเกล้า ฯ ถวายกล่าวโทษตุลาการเก่า และเบิกเอาแต่คู่ความไปให้ตุลาการใหม่ผู้ได้รับสั่งพิจารณาให้ถาม ครั้นตุลาการใหม่ถามลูกความเสียค่าฤชาตุลาการซ้ำทวีขึ้นไปมากกว่าค่าฤชาณะโรงศาล คู่ความซึ่งเปนคนยากนั้นยอมเสียค่าฤชาซ้ำสองต่อสามต่อแก่ตุลาการใหม่ เสียซ้ำทวีขึ้นไปกว่าตุลาการเก่าอีกเล่า กว่าตุลาการใหม่จะพิจารณาให้เห็นเท็จจริง คู่ความได้ความยากแค้นเดือดร้อนหนักหนา และแต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าราษฎรผู้มีอรรถคดีร้องฟ้องว่ากล่าวแก่กันณะโรงศาล และสมภักนักการกรมใดๆและตุลาการณะโรงศาลสมภัก​นักการจะรับหนังสือร้องฟ้องราษฎรผู้นั้นว่ากล่าวตามกระทรวง ตามกฎหมายแต่ก่อนไซร้ ให้ตุลาการณะโรงศาลสมภักนักการได้พิจารณาเรียกทัณฑ์บล ฝ่ายโจทก์ จำเลย ไว้จงมั่นคงแล้วจึ่งให้ถามตามหนังสือร้องฟ้องแต่โดยยศ โดยธรรม แต่ตามสัจ ตามจริง อย่าให้กลับเอาจริงเปนเท็จ เอาความข้อแพ้กลับขึ้นเปนชนะ เอาความแพ้กลับขึ้นเปนเสมอบ้าง แต่ข้อหนึ่งกระทงหนึ่งได้ ถ้าและตุลาการณะโรงศาล สมภักนักการกรมนั้นได้พิจารณาไต่ถามตามหนังสือร้องฟ้องข้อใดกระทงใด โจทก์ จำเลย มิรับกัน และเนื้อความถึงพะยานข้อใดกระทงใด จำเลยรับแล้วให้การเปนประการใด แต่ตามข้อรับไซร้ ก็ให้ตุลาการผู้ไต่ถามเขียนเอาแต่ถ้อยคำโจทก์ จำเลย ให้มั่นคง แต่ตามสัจตามจริงอย่าให้เห็นแก่ฝ่ายโจทก์ จำเลยข้อหนึ่งกระทงหนึ่งได้ เมื่อคัดเนื้อความในสำนวนอ่านให้โจทก์​จำเลย ฟัง ถ้าโจทก์ จำเลย ว่าชอบด้วยถ้อยคำแล้ว ให้บันทึกศุภมาศวันคืนผู้มาลุกนั่งว่าอ่านให้ฟังรู้ได้ยินนั้นไว้ในถ้อยคำสำนวนให้มั่นคง และให้ผูกสำนวนถ้าหาตรามิได้ให้หยิกเล็บไว้เปนสำคัญคู่มือฉบับหนึ่ง ถ้าและโจทก์ จำเลยติดใจแก่ตุลาการ ไปร้องฟ้องณโรงศาลอื่นหาอุทธรณ์อาชญา กล่าวโทษตุลาการว่าเห็นแก่สินจ้างสินบล เห็นแก่ข้างหนึ่งและกลบเกลื่อนเนื้อความเสียบ้าง และเขียนเอาแต่ชอบใจบ้าง และลบสำนวนเสีย คัดสำนวนมิสิ้นของเนื้อความบ้าง และเมื่อถามมีผู้มาเสี้ยมสอนบ้าง เขียนเอาไซร้ อย่าเพ่อให้ตุลาการใหม่เบิกเอาสำนวนคู่ความมา ให้บัตรหมายโฉนดฎีกาไปให้สั่งแต่ตุลาการ และสมภักนักการผู้ได้ไต่ถามเก่า มาให้ตุลาการใหม่ถามตามอาชญาอุทธรณ์แก่ตุลาการเก่านั้นก่อน เมื่อตุลาการจะถามนั้นให้เรียกเอาทัณฑ์บลแก่คู่ความผู้โจทก์ และตุลาการ​เก่า ซึ่งต้องอาชญาอุทธรณ์เปนจำเลยนั้นให้มั่นคงก่อนจึ่งให้ถาม ครั้นตุลาการใหม่ถามตุลาการเก่าตามข้อหาอุทธรณ์ ซึ่งคู่ความติดใจตุลาการแต่ข้อหนึ่งสองข้อสามข้อจนถึงเก้าข้อสิบข้อนั้นตามเรื่องราว ถ้าพิจารณาเปนสัจว่าตุลาการเก่าทำล้ำเหลือเข้าด้วยฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลย พิจารณามิเปนยศเปนธรรม และตุลาการเก่าแพ้แต่ข้อหนึ่งไซร้ และ เนื้อความซึ่งหาอุทธรณ์แก่ตุลาการเก่าสี่ข้อห้าข้อนั้น มิได้ติดพันธ์พระราชทรัพย์ช้าง ม้า โค กระบือ ของหลวงหามิได้ไซร้ ก็ให้ตุลาการใหม่เอาเนื้อความเจรจาด้วยลูกขุนณะศาลหลวง ให้ลูกขุนณะศาลหลวงเอาเนื้อความเปนแพ้ด้วยให้สิ้นจงทุกข้อ แล้วให้เอาบรรดาศักดิตุลาการผู้สูงมาผู้เดียว ตั้งปรับไหมเอาตุลาการเก่าตามอัยการพระธรรมนูญ และให้ใช้ทุนค่าฤชาผู้ชนะให้สิ้นเชิง และคู่ความเดิมซึ่งหาแก่กันอยู่ตุลาการเท่านั้น ถ้าเปนกระทรวง​แพ่ง และฝ่ายจำเลยนั้นเปนกรมฝ่ายนอก ให้ส่งไปแพ่งเขษมพิจารณา ถ้าและตุลาการแพ่งเขษมแพ่งวัง เปนตุลาการเก่าต้องในอุทธรณ์อาชญาแล้ว ให้ส่งไปให้แพ่งคลังพิจารณาเอาพินัยจ่ายหญ้าช้างหลวงตามพระธรรมนูญ ถ้าและศาลราษฎร์ได้พิจารณา เปนความอุทธรณ์อาชญาเปนตุลาการเก่า ให้ส่งไปศาลอาชญาประชาเสพพิจารณา ถ้าศาลประชาเสพเปนตุลาการเก่าให้ส่งไปศาลราษฎร์พิจารณา ถ้าและเนื้อความเดิมหาความศาลขุนบุรินทร ก็ให้ส่งให้ศาลนครบาล วังเปนตุลาการเบิกเอาสำนวนและคู่ความไปพิจารณาไถ่ถามตามสัจตามจริง เอาพินัยจ่ายราชการ และซึ่งตุลาการใหม่เอาตุลาการเก่ามาพิจารณาไถ่ถามตามข้อเนื้อความซึ่งโจทก์หาอุทธรณ์นั้น ถ้าและโจทก์หาตุลาการเก่า แพ้ตุลาการเก่าไซร้ ให้ตุลาการใหม่ซักไซ้ไต่ถามคู่ความผู้เปนโจทก์นั้นให้แจ้งเนื้อความออกว่า ​ผู้นั้นเอาเท็จสับปลับมาหาตุลาการเก่ามั่นคงจริง ๆ ไซร้ ให้คู่ความซึ่งตุลาการใหม่ยังมิได้เบิกมานั้น คงอยู่แก่ตุลาการเก่าณศาลกรมนั้น จึงให้ตุลาการเก่าเอาเนื้อความซึ่งหาแก่กันมิได้เปนข้อพระราชทรัพย์ของหลวง ช้าง ม้า โค กระบือ ของหลวงนั้นเปนแพ้ด้วยให้สิ้น แล้วให้ใช้ทุนโจทก์ผู้ชนะ แล้วให้ปรับไหมเอาผู้แพ้ตามรูปความซึ่งหาแก่กันณตุลาการเก่าตามอัยการ ถ้าเนื้อความผู้หาผู้แพ้ติดพันธ์พระราชทรัพย์ ช้าง ม้า โค กระบือ ของหลวงให้ตุลาการผู้ได้พิจารณาเนื้อความนั้น คัดเอาเนื้อความจำเภาะข้อพระราชทรัพย์ ช้าง ม้า โค กระบือ ของหลวงนั้น ว่าแก่ลูกขุนณศาลหลวง ลูกขุนณศาลหลวงพิพากษาประการใดจึ่งให้กระทำตาม ถ้าและลูกความติดใจตุลาการณโรงศาล สมภักนักการมิร้องฟ้องตามกระทรวง ตามพระธรรมนูญ และไปทำฎีกาทูลเกล้า ฯ ถวายกล่าวโทษตุลาการ ​ณ โรงศาล สมภักนักการซึ่งได้พิจารณาเนื้อความข้อหนึ่งสองข้อสามข้อจนถึงเก้าข้อสิบข้อ ดุจหนึ่งกล่าวโทษตุลาการเก่าว่ามาแต่ภายหลังนั้น ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เอาตุลาการเก่ามาพิจารณาไถ่ถามไซร้ ถ้าตุลาการเปนขุนโรงขุนศาล หรือเจ้าพระยา พระ หลวง ขุน หมื่นผู้บรรดาขอเฝ้าฝ่าลออง ฯ ก็ให้คัดเอาข้อสำนวนเก่านั้นออกให้แจ้งแล้วให้กราบทูลพระกรุณา ฯ ให้แจ้งฝ่าลออง ฯ ถ้าและทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ประการใด จึงให้กระทำตาม ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตุลาการใหม่เอาตุลาการเก่าไปพิจารณาไถ่ถามตามข้อเนื้อความ ซึ่งคู่ความทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายไซร้ จึ่งให้ตุลาการใหม่ทำตาม ถ้าและตุลาการใหม่ผู้ถามนั้น พิจารณาไถ่ถามเปนสัจว่าตุลาการเก่าพิจารณาไถ่ถามมิเปนสัจ มิเปนยศเปนธรรม และเข้าด้วยฝ่ายโจทก์ จำเลย จริงแท้ไซร้ ก็ให้​ตุลาการใหม่เอาสำนวนกราบทูลพระกรุณา ฯ ถ้าทรงโปรดเกล้าประการใดไซร้ จึ่งให้ตุลาการใหม่ทำตาม ถ้าเนื้อความเปนแพ่ง อาชญา อุทธรณ์ นครบาล จะได้ว่าณโรงศาล สมภักนักการตามพระธรรมนูญ แต่ความหากล่าวโทษตุลาการเอาเนื้อความไปทำฎีกาทดเกล้า ฯ ถวาย และตุลาการไถ่ถามเปนสัจว่าตุลาการเก่าแพ้ไซร้ ให้เอาบรรดาศักดิผู้สูงนา ทั้งปรับไหมเอาตุลาการตามอัยการ และให้ใช้ทุนค่าฤชาผู้ชนะให้สิ้น และความนั้นให้ส่งไปศาลอื่นตามกระทรวงพระธรรมนูญได้พิจารณาให้แล้วจงฉับพลัน ตามพระราชกำหนดกฎหมาย ถ้าและตุลาการใหม่ถามตุลาการเก่าตามเรื่องราวเนื้อความอุทธรณ์อาชญาและโจทก์ทำฎีกาทูลเกล้า ฯ ถวายแพ้แก่ตุลาการไซร้ ให้ลงพระราชอาชญาโจทก์ผู้แพ้ตามโทษานุโทษ ให้เอาเนื้อความเดิมหาที่ตุลาการเก่า และมิได้มีเนื้อความติดพันธ์พระราชทรัพย์ ​ช้าง ม้า โค กระบือ ของหลวงเปนแพ้ด้วยให้สิ้นจงทุกข้อ ถ้าและเนื้อความในฟ้องซึ่งตุลาการเก่าพิจารณานั้นติดพันธ์พระราชทรัพย์ ช้าง ม้า โค กระบือ ของหลวงไซร้ ให้ตุลาการใหม่คัดข้อเนื้อความกราบทูลพระกรุณาแล้วแต่จะโปรด ถ้าและตุลาการใหม่พิจารณาเห็นแก่สินจ้างสินบลพิจารณามิเปนยศเปนธรรม เข้าด้วยฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลย มีผู้ร้องฟ้องว่ากล่าวเปนประการใด จะเอาตุลาการใหม่เปนโทษโดยโทษานุโทษ และตุลาการณโรงศาล และสมภักนักการกรมใด ๆ พิจารณาสืบไปก็ให้เอากฎอ่านประกาศให้ผู้บรรดาพิจารณาความฟังจงทั่ว และเรียกเอาทัณฑ์บลไว้ทั้งฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลยไว้จงมั่นคงจึ่งพิจารณาไต่ถามสืบไปตามเรื่องราวโจทก์หาแก่กัน และให้พระสุรัศวดีซ้าย ขวา ใน นอก ให้กฎหมายบอกแก่ตุลาการผู้ได้พิจารณาเนื้อความทุกกรมจงทั่วพระราชวังหลวง พระราชวังหน้า และหมาย​บอกแก่พระ หลวง เจ้าราชนิกูล ขุนหมื่น พัน ทนาย ให้บอกแก่บ่าวไพร่สมัครพรรคพวก สมกำลังให้ลอกเอากฎนี้ไว้จงทุกหมู่ ทุกกรม อย่าให้ลงลออยู่ได้ ถ้าและบอกมิทั่วจะเอาตัวผู้บอกนั้นเปนโทษจงหนัก ถ้าบอกทั่วแล้วและผู้ใดมิได้กระทำตามกฎ จะเอาผู้นั้นเปนโทษจงหนัก

กฏให้ไว้ณะวันอังคาร เดือน ๘ ทุติยาสาฒแรม ๘ ค่ำ จุลศักราช ๑๐๘๒ ปีชวดโทศก. (พ.ศ.๒๒๖๓ รัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ)


----------------------------
6  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ในครัว / เค้กเนยสด (แบบครีมมิ่ง) หอม นุ่ม ชุ่มฉ่ำเนย : สูตร/วิธีทำ เมื่อ: 06 พฤษภาคม 2567 17:17:29

เค้กเนยสด หอม นุ่ม ชุ่มฉ่ำเนย : ต้นทุนค่อนข้างมาก เพราะใช้เนยสดแท้ ซึ่งมีราคาสูง



เค้กเนยสด (แบบครีมมิ่ง)

ส่วนผสม
แป้งเค้ก 270 กรัม
เนยสดชนิดเค็ม         240 กรัม
ผงฟู 1+½ ช้อนโต๊ะ
เกลือป่น ¼ ช้อนชา
ไข่ไก่ เบอร์ 1 6 ฟอง
น้ำตาลทรายละเอียด 1+½ ถ้วยตวง
วานิลลา 1+½ ช้อนชา


วิธีทำ
1. ร่อนแป้งเค้ก ผงฟู และเกลือเข้าด้วยกัน
2. ผสมกลิ่นวานิลลากับนมสด คนให้เข้ากัน พักไว้
3. ตีเนยสดกับน้ำตาลทรายจนขึ้นฟูขาวนวล (ใช้ความเร็วปานกลางของเครื่อง)
4. ใส่ไข่ไก่ทีละฟอง ตีพอเข้ากัน แล้วใส่ไข่ฟองต่อไป จนหมดไข่
5 เติมแป้งสลับกับนมสดจนส่วนผสมเข้ากันดี
6. เทใส่พิมพ์ฺเค้กเนยสดที่ทาเนยขาวรองกระดาษไข ประมาณ 3/4 ของพิมพ์
7. นำเข้าอบไฟ 180 ํc ประมาณ 30-40 นาที หรือจนสุก นำขนมออกจากพิมพ์ ทิ้งไว้ให้เย็น จึงตัดแบ่งเป็นชิ้นๆ



ตีเนยสดกับน้ำตาลทราย(ใช้ความเร็วปานกลางของเครื่อง)


ตีจนส่วนผสมขึ้นฟู สีออกขาวนวลๆ


ใส่ไข่ไก่ทีละฟอง


ตีพอเข้ากัน แล้วใส่ไข่ฟองต่อไป จนหมดไข่


เติมแป้งสลับกับนมสดจนส่วนผสมเข้ากันดี




เทใส่พิมพ์ฺเค้กเนยสดที่ทาเนยขาวรองกระดาษไข ประมาณ 3/4 ของพิมพ์


นำเข้าอบไฟ 180 ํc ประมาณ 30-40 นาที หรือจนสุก


พิมพ์เล็ก ขนมสุกก่อนพิมพ์ใหญ่  นำออกจากเตาอบ แล้วคว่ำขนมลงที่ตะแกรง


ลอกกระดาษไขรองขนมออก


หงายชิ้นขนมในตะแกรง พักให้เย็น






หั่นชิ้นตามขวาง ใส่ถุงพลาสติกใสแช่เย็นไว้รับประทานกับน้ำชา/กาแฟ

เค้กเนยสด เป็นเค้กที่มีส่วนผสมหลัก ได้แก่ เนยสด แป้ง น้ำตาล และไข่ไก่  
เป็นเค้กที่มีเนื้อนุ่ม ฉ่ำเนย รสชาติกลมกล่อม หอมเนยสด ซึ่งใช้เนยในปริมาณค่อนข้างมาก
เค้กสูตรนี้ขึ้นฟูด้วยการตีเนยกับน้ำตาล เพื่อเก็บอากาศลงไปในเนยสด จากนั้นใส่ไข่ไก่
ลงไปตีทีละฟอง จนส่วนผสมเนียนมีลักษณะเป็นครีมข้น ตามด้วยการค่อยๆใส่
ส่วนผสมของแห้งและเหลวสลับกัน ซึ่งได้แก่แป้งที่ร่อนไว้แล้วและนมสดผสมวานิลลา
ดังนั้น ขั้นตอนการผสมแป้งจึงต้องทำอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้สูญเสียอากาศภายในส่วนผสม


7  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / วัดนอกปากทะเล (ชม วิหารเรือสำเภา) ต.ปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เมื่อ: 04 พฤษภาคม 2567 18:17:14


เรือเภตรานิพพานัง วิหารเรือสำเภาขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านหันหน้าสู่ทะเล ศรัทธาน่าเลื่อมใส อดไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปสักการะ
วิหารนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๘ แล้วเสร็จปี พ.ศ.๒๕๖๑ (ใช้เวลาก่อสร้าง ๓ ปี งบประมาณก่อสร้างประมาณ ๒๑ ล้านบาท)



วัดนอกปากทะเล
ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

วัดนอกปากทะเล ตั้งอยู่ที่ถนนเส้นบ้านแหลม – หาดเจ้าสำราญ ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

ตำบลปากทะเล มีวัดอยู่สองวัด เป็นวัดที่มีความสำคัญต่อชุมชนมาแต่โบราณ ตั้งชื่อวัดตามหมู่บ้าน แต่ขยายความด้วยคำว่านอกและในให้ต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ที่ตั้งวัด  กล่าวคือ วัดปากทะเลนอกนั้น หมายถึงอยู่ด้านนอกติดกับทะเล  ส่วนวัดในปากทะเล หมายถึงอยู่ลึกในแผ่นดินเข้ามา  แต่ปัจจุบันวัดนอกกลับเข้ามาอยู่ข้างในลึกกว่าวัดในเข้ามาอีกเกือบกิโลเมตร  สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากว่าเมื่อประมาณร้อยกว่าปีที่ผ่านมา บริเวณที่ตั้งของวัดนอกปากทะเลถูกน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งจนเข้ามาถึงตัววัด พระสงฆ์และชาวบ้านจึงร่วมใจกันย้ายวัดมาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน นับแต่นั้นมา วัดนอกปากทะเลจึงอยู่ด้านใน  วัดในปากทะเลจึงอยู่ด้านนอกใกล้ทะเลมากกว่า

วัดนอกปากทะเล เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่บริเวณที่ราบชายฝั่งทะเล ในตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี  ประวัติ ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ก็ปรากกฎวัดนี้อยู่แล้ว กล่าวคือ เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาประทับเมืองเพชรบุรี ในจดหมายเหตุราชกิจรายวัน  มีข้อความว่า "…เวลาบ่ายเสด็จออกจากเมืองเพ็ชรบุรี มาประทับแรมตำบลบ้านแหลมประพาสวัดนอก"  ซึ่งน่าจะหมายถึง วัดนอกปากทะเลนี้เอง  ส่วนข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙  

วัดนอกปากทะเลมีสิ่งสำคัญในวัดได้แก่

- อุโบสถ ไม้สักขนาดความยาวสามห้อง ฝาเข้าไม้แบบปะกน ยกพื้นสูงให้พ้นน้ำ  โบสถ์ไม้นี้เป็นที่นิยมสำหรับวัดในแถบชายทะเลเพราะหาวัสดุง่าย ทนทานกว่าก่อด้วยปูนขาว ซึ่งถูกไอทะเลกัดกร่อนได้  ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางสมาธิ นามว่า หลวงพ่อเทพนฤมิตร และพระสาวก  

- ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารไม้ทรงไทย หลังคาชั้นเดียวมุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์ สีขาวสลับแดง ในส่วนสีแดง มุงเรียงเป็นตัวอักษรระบุปีสร้าง คือ ร.ศ.117 (พ.ศ.2443)  เครื่องลำยองไม้ประดับกระจก เดิมมีการตกแต่งหน้าบันด้วยแต่ชำรุดเกือบหมด ยังพอเห็นร่องรอยทางด้านทิศตะวันตกเป็นรูปราหูอมจันทร์ ฝาเป็นแบบฝาปะกน เจาะหน้าต่างสลับกับช่องแสงที่ใช้ไม้ระแนงตีเว้นร่อง

- หอระฆังเป็นอาคารไม้ทรงสูง สภาพชำรุดมากเหลือเฉพาะส่วนหลังคามุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์และเสาไม้จำนวน ๔ ต้น

- วิหารเภตรานิพพานัง เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐม และพระอุปคุต  มีลักษณะเป็นรูปเรือสำเภา ความกว้าง ๘ เมตร ยาว ๓๒ เมตร สูง ๓๘ เมตร  ตัววิหารเป็นที่รวบรวมศิลปะผสมผสานไทยและจีน หน้าต่างเป็นงานแกะสลักไม้ตะเคียน ภายในมีภาพเขียนลายรดน้ำ ลงรักปิดทอง ประดับอยู่ทั่วผนังวิหาร รอบวิหารรายล้อมด้วยประติมากรรมปูนปั้นจากวรรณกรรมเรื่องสังข์ทอง




อุโบสถวัดนอกปากทะเล ถ่ายภาพเสียไกล ในที่ร่มเงา เนื่องจากหลบแสงแดดแรงกล้ามาก


เรือเภตรานิพพานัง : แนวคิดการสร้างสื่อถึงความหมายประดุจว่าเป็นพาหนะในการนำพาพุทธศาสนิกชนข้ามวัฏสงสารไปสู่นิพพานด้วยการปฏิบัติธรรม


พระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐม และพระอุปคุต  ในวิหารเรือเภตรานิพพานัง เห็นได้ในระยะไกล
(ถ่ายภาพจากด้านนอกพระวิหาร - รู้สึกตัวว่าการแต่งกายไม่สุภาพที่จะก้าวล่วงเข้าไปในพระวิหาร เนื่องจากใส่กางเกงกระโปรงสั้นแค่เข่า



ด้านหน้าวิหารเรือเภตรานิพพานัง




ประติมากรรมงานปูนปั้นในวรรณคดีเรื่อง "สังข์ทอง" มีอยู่มากโดยรอบๆ พระวิหาร


ประติมากรรมรูปเด็กออกมาจากหอยสังข์


มีการสันนิษฐานว่า เรื่อง “สังข์ทอง” เป็นวรรณคดีที่มีเค้าโครงมาจากเรื่อง “สุวรรณสังขชาดก” มีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
และใช้ในการแสดงละคร ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบท
ละครนอกเรื่องสังข์ทอง มีตัวเอกในเรื่องคือ “พระสังข์”   เรื่องสังข์ทองแพร่หลายไปท้องที่ต่างๆ บางแห่งปรากฏเป็นภาพ
จิตรกรรมฝาผนัง เช่นที่วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

         สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานความเห็นเกี่ยวกับการแพร่กระจายเรื่องสังข์ทองไว้ว่า
“...นิทานเรื่องสังข์ทองนี้มีในคัมภีร์ปัญญาสชาดก เรียกว่าสุวัณณสังขชาดก ถึงเชื่อถือกันว่าเป็นเรื่องจริง  พวกชาวเมืองเหนือ
อ้างว่าเมืองทุ่งยั้ง (ปัจจุบันอยู่ในเขต ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์) เป็นเมืองท้าวสามนต์   ยังมีลานศิลาแลงแห่ง ๑  ว่าเป็น
สนามคลีของพระสังข์ อยู่ไม่ห่างวัดพระมหาธาตุนัก ที่ในวิหารหลวงวัดพระมหาธาตุ ฝาผนังก็เขียนเรื่องสังข์ทอง เป็นฝีมือช่าง
ครั้งกรุงเก่ายังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ทางหัวเมืองฝ่ายตะวันตกก็อ้างว่า เมืองตะกั่วป่า (ปัจจุบันอยู่ในเขต ต.ตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า
จ.พังงา เป็นเมืองท้าวสามนต์อีกแห่ง ๑ เรียกภูเขาลูก ๑ ว่าเขาขมังม้า อธิบายว่าเมืองพระสังข์ตีคลีชนะ ได้ขี่ม้าเหาะข้ามภูเขา
นั้นไปดังนี้…”


เสนาสนะ วัดนอกปากทะเล จ.เพชรบุรี


ด้านหลังรูปปั้้นปลาหมึก หน้าวิหารเรือสำเภา เป็นแหล่งทำนาเกลือของชาวบ้านแหลม จ.เพชรบุรี และเลยไปลิบๆ จะเห็นทะเลอันกว้างไกล


 
ที่มาข้อมูล
     - เว็บไซต์ กรมศิลปากร
     - เว็บไซต์ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
     - เว็บไซต์ องค์การบริหารส่วนตำบลปากทะเล
8  สุขใจในธรรม / ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4 / Re: คำพระสอน เมื่อ: 01 พฤษภาคม 2567 15:12:58

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน อำเภอเมืองนครราชสีมา
ขอขอบคุณเว็บไซต์ "พลังจิต" (ที่มาภาพประกอบ)

โอวาทของหลวงปู่เสาร์มีอยู่เพียงสั้นๆ ท่านพูดเป็นปริศนาขึ้นมาว่า
"เวลานี้จิตข้ามันไม่สงบ มีแต่ความคิด

พอถามว่า "จิตฟุ้งซ่านหรือไร? ท่านอาจารย์"  
ท่านจะตอบว่า "เอ้าถ้ามันเอาแต่นิ่งมันก็ไม่ก้าวหน้า            
 
ลองฟังดูซินักปฏิบัติทั้งหลาย เวลานี้จิตข้ามันไม่สงบ มีแต่ความคิด
จิตฟุ้งซ่านหรืออย่างไร เอ้าถ้ามันเอาแต่นิ่งมันก็ไม่ก้าวหน้า เอาไปนั่งคิดนอนคิด
ตีความหมายของโอวาทของครูบาอาจารย์ให้แตก ถ้าตีโอวาทของครูบาอาจารย์
ให้แตกแล้ว เราจะได้หลักในการปฏิบัติสมาธิภาวนาอย่างถูกต้อง
อันนี้เป็นโอวาทของหลวงปู่เสาร์ ฝากไว้สั้นๆ แต่เพียงนี้

ที่มา : ส่วนหนึ่งของธรรมเทศนา หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน อำเภอเมืองนครราชสีมา
"เอาตัวรู้ กำหนดรู้ที่จิต" https://www.youtube.com/

9  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / พริกแกงไทย เมื่อ: 29 เมษายน 2567 13:19:12


พริกแกงใต้ชนิดต่างๆ ในตลาดที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

พริกแกง

พริกแกง หรือ เครื่องแกง มีลักษณะเปียกข้น เป็นส่วนผสมการปรุงอาหารชนิดหนึ่งของอาหารไทยประเภทแกง ทำจากเครื่องเทศและสมุนไพรต่างๆ เช่น พริกสด พริกแห้ง พริกไทยดำ หัวหอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด กระชาย ขมิ้น และเครื่องเทศชนิดอื่นๆ ตามประเภทของการนำไปทำแกงในแต่ละภาคของประเทศไทย โดยบดส่วนผสมให้เข้ากัน อาจมีส่วนประกอบอื่น เช่น กะปิ เกลือ ถั่วเน่า ปลาร้าสับละเอียด

พริกแกงไทยมีความเข้มข้นของรสและกลิ่นอยู่ตรงกลางระหว่างเครื่องแกงผงสมุนไพรแบบอินเดียและเครื่องพริกตำของจีนที่มีรสที่โปร่งกว่า เช่น พริกแกงปักษ์ใต้ใส่ขมิ้นชัน พริกไทยดำ พริกแกงล้านนาบางอย่างใส่มะแขว่น มะข่วง ถั่วเน่า ในภาคตะวันออกที่มีพืชพันธุ์เฉพาะถิ่น เพิ่มหน่อเร่ว ลูกกระวานขาว หัวไพล ดอกผักชีไร่ และหัวขิงแห้งไป ส่วนภาคตะวันตก ใส่พริกพรานป่า หรือมะแขว่นป่าเม็ดโตเปลือกดำที่ให้รสชาติจัดจ้านเผ็ดร้อนเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น

แต่เดิมพริกแกงเรียกว่า พริกขิง เช่นปรากฏในหนังสือ แม่ครัวหัวป่าก์ ของ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ (พ.ศ.2451) ท่านผู้หญิงเปลี่ยนใช้คำนี้เรียกสิ่งที่ตำลงไปในครก เช่น พริกแห้ง กระเทียม หอม ตะไคร้ ข่า พริกไทย รากผักชี เยื่อเคยดี เกลือ ในหนังสือ ตำหรับสายเยาวภา (พ.ศ.2478) เล่าว่า "..ยังเครื่องปรุงอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่าพริกขิงผัด แต่ไม่มีขิงเลย ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมจึงเรียกกันเช่นนี้ และไม่ทราบว่าจะไปค้นที่ไหนได้ ข้าพเจ้าได้เรียนถามผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน ท่านก็ว่าไม่ทราบเหมือนกัน…" ส่วนหนังสือ ปะทานุกรม การทำของคาวหวานอย่างฝรั่งแลสยาม ก็ใช้คำ "เครื่องพริกขิง" ในลักษณะนี้เช่นกัน

ประเภทของพริกแกง
       - พริกแกงเขียวหวาน พริกแกงเผ็ด หรือ พริกแกงแดง ประกอบด้วยพริกแห้งเม็ดใหญ่ ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด รากผักชี หอม กระเทียม กะปิ และเครื่องเทศ ได้แก่ ลูกผักชี ยี่หร่า เมื่อมีการปรุงอาหารจะนำพริกแกงมาใส่กะทิ หากไม่ใส่กะทิจะเรียกว่า แกงป่า
       - พริกแกงคั่ว เหมือนกับพริกแกงเผ็ดทุกประการ แต่ไม่ใส่เครื่องเทศคือ ลูกผักชี ยี่หร่า พริกไทย หากใส่กุ้งแห้งหรือปลากรอบป่นลงไปโขลกกับพริกแกงด้วย จะเป็นอาหารประเภทแกงคั่วส้ม แกงหมูเทโพ แกงอ่อมมะระ หากนำพริกแกงนี้โขลกกระชาย ปลาอินทรีเค็มปิ้งเข้าไปจะเป็นแกงขี้เหล็ก นอกจากนั้นฉู่ฉี่ยังใช้พริกแกงคั่วนี้ด้วย
       - พริกแกงพะแนง เหมือนพริกแกงเผ็ดแต่เพิ่มถั่วลิสงคั่วเข้าไปด้วย
       - พริกแกงเขียวหวาน ส่วนผสมเช่นเดียวกับพริกแกงเผ็ด แต่ใช้พริกสดสีเขียวแทน ขณะที่พริกแกงเผ็ดจะใช้พริกแดงเป็นหลัก ได้แก่ พริกชี้ฟ้าเขียว พริกขี้หนูเม็ดใหญ่ หรือพริกขี้หนูสวน อาจมีใบพริก ผักชี โขลกเพิ่มเข้าไป
       - พริกแกงมัสมั่น ประกอบด้วยพริกแห้งเม็ดใหญ่โขลกกับสมุนไพร ได้แก่ ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด รากผักชี หอมแดงกระเทียม รวมถึงเครื่องเทศต่าง ๆ ได้แก่ พริกไทย ลูกผักชี ยี่หร่า กานพลู กระวาน ลูก จันทน์ อบเชย โดยจะคั่วสมุนไพรกับเครื่องเทศก่อนโขลก เช่น หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ รากผักชีก็ต้องนำไปคั่วในกระทะหรือย่างบนไฟอ่อนจนแห้งดี
       - พริกแกงกะหรี่ คล้ายพริกแกงมัสมั่นแต่ไม่ใส่รากผักชี พริกไทย กานพลู ลูกกระวาน ลูกจันทน์ และอบเชย แต่ใส่ผงกะหรี่และขิงด้วย
       - พริกแกงเลียง ประกอบด้วย พริกไทย กะปิ รากผักชี เกลือ และหอมแดง
       - พริกแกงส้ม/ แกงเหลือง คล้ายแกงเลียงแต่เพิ่มกระเทียมและพริกแห้ง ส่วนแกงเหลืองหรือภาคใต้เรียกแกงส้ม สีเหลืองมาจากการใส่ขมิ้น
       - พริกแกงน้ำยา คล้ายกับแกงคั่วคือ ใส่พริกแห้ง เกลือ ตะไคร้ ข่า หัวหอม กระเทียม กะปิ และกระชาย เครื่องแกงน้ำยาจะไม่ใส่ผิวมะกรูด รากผักชีและพริกไทย แต่จะใส่กระชายลงไปเป็นจำนวนมากเพื่อดับกลิ่นของเนื้อปลา

พริกแกงสำเร็จรูป
ปัจจุบันมีการผลิตน้ำพริกแกงจำหน่ายในรูปของน้ำพริกแกงปรุงสำเร็จพร้อมใช้งาน น้ำพริกแกงจัดเป็นอาหารกึ่งแห้งแบบหนึ่ง ซึ่งหมายถึงอาหารที่มีการลดค่าปริมาณน้ำอิสร ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 210 (พ.ศ.2543) จัดอยู่ใน "อาหารกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐาน" แบ่งเป็นประเภทเปียก (ความชื้นไม่เกินร้อยละ 40 โดยน้ำหนัก) และประเภทแห้ง (ความชื้นไม่เกินร้อยละ 9 โดยน้ำหนัก)
10  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ห้องสมุด / โขน : มหรสพสมโภช เมื่อ: 29 เมษายน 2567 12:46:44


โขน : มหรสพสมโภช

โขนเป็นเสมือนเครื่องราชูปโภคอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ไทย ในอดีตพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝึกหัดบรรดามหาดเล็กหลวงไว้เพื่อแสดงโขนในงานพิธีหลวงต่างๆ ทั้งในและนอกพระราชวัง โขนจึงเป็นของต้องห้ามสำหรับผู้อื่นที่จะแสดง แต่ในชั้นหลังปรากฏความนิยมว่าการฝึกหัดโขนนั้นทำให้ชายหนุ่มที่ได้ฝึกหัดแคล่วคล่องว่องไวในกระบวนรบ จึงมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้านาย ขุนนางผู้ใหญ่และเจ้าเมืองมีโขนในครอบครองได้เพราะเป็นประโยชน์ต่อราชการแผ่นดิน โอกาสที่แสดงโขนจึงกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม ดังมีหลักฐานต่อไปนี้

๑. มหกรรมบูชา ได้แก่การฉลองหรือสมโภชทางพระพุทธศาสนา เช่น ในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีโขนสมโภชพระบรมธาตุชัยนาท รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศมีโขนสมโภชพระพุทธบาทสระบุรี ครั้งสมโภชพระแก้วมรกตในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีโขน ๗ โรง เป็นโขนโรงใหญ่ ๒ โรง และโขนช่องระทา ๕ โรง ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชครั้งฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีโขนชุดหนุมานลักท้าวมหาชมพู ครั้งฉลองวัดพระเชตุพนฯ มีโขนชุดพิธีอุโมงค์ และมีโขนบนรถล้อเลื่อนในงานผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีโขนสมโภชพระแก้วมรกต ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีโขนฉลองผ้าป่าคราวเสด็จบางปะอิน เป็นต้น

๒. เนื่องในพระราชพิธี ในสมัยอยุธยารัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีออกสนามคือคเชนทรัศวสนานและมีมหรสพต่างๆ สมโภชและกล่าวถึงโขนเป็นการแสดงอย่างหนึ่งในนั้น โขนมีความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำนานละครอิเหนา ว่า...การเล่นแสดงตำนานเป็นส่วนหนึ่งในการพิธี เกิดเพิ่มเติมขึ้นโดยลำดับมาจนการเล่นแสดงตำนานกลายเป็นการที่มีเนือง  จึงเป็นเหตุให้ฝึกหัดโขนหลวงขึ้นไว้สำหรับเล่นในการพระราชพิธี และเอามหาดเล็กหลวงมาหัดเป็นโขนตามแบบแผนซึ่งมีอยู่ในตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก เพราะเป็นลูกผู้ดีฉลาดเฉลียวฝึกหัดเข้าใจง่าย ใครได้เลือกก็ยินดีเสมอ ได้รับความยกย่องอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงได้เป็นประเพณีสืบมาจนชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ในสมัยประชาธิปไตยยังคงมีการแสดงโขนในงานรัฐพิธีหลายครั้ง นายธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวไว้ในหนังสือโขนว่า “ดูประหนึ่งถือเป็นประเพณีที่ต้องจัดให้มีแสดงโขนเป็นประจำปี ณ ท้องสนามหลวง ปีละ ๓ คราว คือ ในวันมีงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในงานฉลองวันขึ้นปีใหม่ ในรัฐพิธีฉลองวันสงกรานต์” นอกจากนี้ยังมีการแสดงโขนรวมอยู่ในนาฏศิลป์ประเภทอื่นๆ ไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ณ ต่างประเทศ เป็นเสมือนทูตสันถวไมตรีกับนานาประเทศจนกระทั่งทุกวันนี้

๓. งานศพ จดหมายเหตุลาลูแบร์กล่าวว่า “โขนและระบำนั้นมักหากันไปเล่น ณ งานปลงศพ และบางทีก็หาไปเล่นในงานอื่นๆ บ้าง” แสดงว่ามีการแสดงโขนในงานศพมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยธนบุรีมีโขนในงานพระศพกรมขุนอินทรพิทักษ์เป็นโขนโรงใหญ่ ๒ โรง โขนช่องระทา ๗ โรง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชคราวงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดี พระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อเชิญพระบรมอัฐิออกสู่พระเมรุแล้ว มีการมหรสพครบทุกสิ่ง...โขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนวังหลวงและวังหน้า แล้วประสมโรงเล่นกลางแปลง เล่นเมื่อศึกทศกรรฐ์ยกทัพกับ ๑๐ ขุน ๑๐ รถ โขนวังหลวงเป็นทัพพระราม ยกไปแต่ทางพระบรมมหาราชวัง โขนวังหน้าเป็นทัพทศกรรฐ์ยกออกจากพระราชวังบวรฯ มาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา ถึงมีปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงกันดังสนั่นไป โคลงของกรมหมื่นศรีสุเรนทร์บันทึกไว้ว่า มีโขนโรงประชันกัน โรงหนึ่งเล่นชุดถวายแหวน อีกโรงหนึ่งเล่นชุดศึกอินทรชิต งานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีโขน งานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ งานพระศพพระองค์เจ้าดวงจันทร์ พระองค์เจ้าสำอาง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้วนมีโขนด้วยกันทั้งสิ้น ความนิยมเรื่องการแสดงโขนในงานศพยังคงอยู่กระทั่งปัจจุบัน

๔. งานบรมราชาภิเษกและอภิเษกสมรส ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวงานบรมราชาภิเษกครั้งหลัง ปีระกา พุทธศักราช ๒๔๑๖ “ในวัน ๑๓ - ๑๔ - ๑๕ ค่ำ มีโขน...” และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๔๕๔ “เวลาค้ำวันนี้มีมหรศพวิเศษโขนหลวงเฉพาะการบรมราชาภิเษกสมโภชเฉลิมพระเกียรติยศที่โรงโขนหลวง ณ สวนมิสกวัน” ส่วนงานอภิเษกสมรสปรากฏในบทละคร “การแสดงโขนและมหรสพต่างๆ ในงานพระเมรุทศกัณฐ์” เรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนงานอภิเษกบุษบากับจรกา กล่าวว่ามีการแสดงโขนในมหรสพสมโภชดังนี้


              พวกโขนเบิกโรงแล้วจับเรื่อง       สื่อเมืององคตพดหาง
              ตลกเล่นเจรจาเป็นท่าทาง   ทั้งสองข้างอ้างอวดฤทธี


ในเรื่องพระอภัยมณี กล่าวถึงโขนเป็นหนึ่งในมหรสพสมโภชตอนพระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี

๕. งานบันเทิงและบำรุงศิลปะ การแสดงโขนมีจุดประสงค์อย่างหนึ่งคือเพื่อความบันเทิง ในขณะเดียวกันเป็นการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไปด้วย เช่น โขนสมัครเล่นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ แสดงในงานเปิดโรงเรียนนายร้อย (ทหารบก) ชั้นมัธยม พุทธศักราช ๒๔๕๒ ระบุจุดประสงค์ในการแสดงว่า ...จะให้ผู้ที่คุ้นเคยชอบพอกันและที่เป็นคนชั้นเดียวกัน มีความรื่นเริงและเพื่อจะได้ไม่หลงลืมว่า ศิลปวิทยาการเล่นเต้นรำไม่จำจะต้องเป็นของฝรั่งจึงจะดูได้ ของโบราณของไทยเรามีอยู่ไม่ควรจะให้เสื่อมสูญไปเสีย...

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงจัดแสดงโขนชุดนางลอยณ สวนจิตรลดารโหฐาน พุทธศักราช ๒๔๖๔ เพื่อเก็บเงินบำรุงเสือป่า

ในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ที่จะทรงอนุรักษ์การแสดงโขนให้คงอยู่เป็นสมบัติอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงโขนพระราชทานตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นต้นมาดังนี้ พุทธศักราช ๒๕๕๐ และพุทธศักราช ๒๕๕๒ ชุดพรหมาศ พุทธศักราช ๒๕๕๓ ชุดนางลอย พุทธศักราช ๒๕๕๔ ชุดศึกมัยราพณ์ และพุทธศักราช ๒๕๕๕ ชุดจองถนน ทั้งนี้มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ ปรับปรุงวิธีการแต่งหน้าโขนให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย

หน่วยงานของรัฐคือกรมศิลปากรมีหน้าที่จัดการแสดงโขนให้ประชาชนชมเป็นประจำ นับแต่ตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ในพุทธศักราช๒๔๗๗ และเปลี่ยนเป็นโรงเรียนนาฏศิลป ในพุทธศักราช ๒๔๘๘ นักเรียนได้มีส่วนร่วมแสดงโขนในงานสำคัญหลายครั้ง รายการที่กรมศิลปากรจัดแสดงให้ประชาชนชม เช่น ในพุทธศักราช ๒๔๙๐ แสดงชุดนางลอย ในพุทธศักราช ๒๔๙๕ แสดงชุดหนุมานอาสา เป็นต้น

การแสดงโขนสำหรับประชาชนยังมีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เช่นในปฏิทินการแสดงประจำปี ๒๕๕๖ ของกรมศิลปากรโดยสำนักการสังคีต กำหนดแสดงโขนชุดหนุมานชาญสมรและชุดอินทรชิตฤทธี ที่โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ และมีการแสดงโขนชุดนางลอย-ยกรบ ที่โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก สุพรรณบุรี เป็นต้น ทั้งนี้เป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะการแสดงโขนจะบรรจุอยู่ในรายการประจำปีตลอดมา

๖. งานรับรอง เมื่อมีอาคันตุกะจากต่างประเทศมาเยือนประเทศไทย โขนมักเป็นการแสดงที่ใช้ในการรับรองเสมอ เช่น พุทธศักราช ๒๕๐๕ แสดงโขนชุดหนุมานอาสา รับรอง ฯพณฯ พลเอกเนวิน ประธานสภาปฏิวัติแห่งสหภาพพม่า พุทธศักราช ๒๕๐๗ แสดงโขนชุดมัยราพณ์สะกดทัพถวายสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงและสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาแห่งเบลเยี่ยม เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ แสดงโขนชุดศรเหราพต รับรอง ฯพณฯ ฟรานซ์ โยนาส ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย เป็นต้น

นอกจากรับรองอาคันตุกะแล้วโขนยังใช้แสดงรับบุคคลสำคัญของชาติด้วย เพราะถือเป็นเครื่องหมายแสดงความยินดี ดังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช๒๔๔๐ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งมีกรมหมื่นปราบปรปักษ์ (พระยศขณะนั้น) กับเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์เป็นแม่งานจัดโขนกลางแปลงที่ท้องสนามหลวงสมโภช และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร โขนแสดงในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ จับตอนเสร็จศึกลงกา พระรามคืนนครอยุธยา พระชนนีเสด็จออกไปรับพระรามเข้าเมืองแล้วให้มีงานสมโภช หนังสือพิมพ์สยามไมตรีฉบับวันอังคารที่ ๘ และวันอังคารที่๑๕ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๖ รายงานว่างานโขนกลางแปลงนี้ใหญ่กว่างานอื่นๆ เท่าที่เคยมีมา มีผู้แสดงถึง ๘๐๐ คนเศษ เครื่องแต่งตัวทำขึ้นใหม่ทั้งหมด การตกแต่งสถานที่ทำเหมือนจริงทุกอย่าง เช่น

[...] ฝ่ายกรุงศรีอยุธยานั้น ทำเป็นปราสาทราชฐาน มีกำแพงเมือง มีประตู หอรบ ป้อม เสมา ธง เหมือนเมืองจริงๆ ถึงเวลาใครมีบทปีนต้นไม้ก็ปีนต้นไม้ขึ้นไปจริงๆ ถึงตอนที่พวกกะเหรี่ยงได้ยินเสียงเป่าเขาควาย ก็มีพวกกะเหรี่ยงออกมาจากช่องเขา ตอนพระรามจะยกเข้าเมือง พวกชาวเมืองมีความยินดี จัดให้ยกเอาโต๊ะตั้งเครื่องบูชาออกมาตั้งจริงๆ และในเมืองนั้นก็ได้ทำการรับเสด็จผูกผ้าแดงมีธงทิวเช่นที่นิยมปฏิบัติ

ในปัจจุบันอาจมีผู้เข้าใจว่าโขนแสดงแต่เฉพาะในงานศพ ที่จริงตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วเห็นว่ามีการแสดงโขนในหลายโอกาสอย่างกว้างขวาง กล่าวได้ว่าทุกคราวที่มีงานใหญ่และสำคัญจะมีโขนอยู่ด้วยเสมอ ควรนับว่าเป็นสิ่งที่อให้เกิดสวัสดิมงคล ประการหนึ่งเพราะจากต้นกำเนิดของโขนคือการชักนาคดึกดำบรรพ์ หรือการเล่นดึกดำบรรพ์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นมงคล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงกล่าวไว้ว่าการเล่นในพระราชพิธีอินทราภิเษกนี้ “ก็คือการเล่นแสดงตำนานในไสยศาสตร์เพื่อแสวงสวัสดิมงคล มาแต่มูลเหตุอันเดียวกันกับที่เล่นโขนเรื่องรามเกียรติ์...” ดังนั้นการแสดงโขนซึ่งเป็นตำนานของพระนารายณ์อวตารจึงไม่มีความอัปมงคลอันใด การแสดงโขนนั้นเกี่ยวกับการสมโภช แม้ในงานศพดังที่ปรากฏในงานพระเมรุตั้งแต่อดีตก็เรียกว่า “มหรสพสมโภช” เช่น คราวงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดี พระราชพงศาวดารกล่าวว่า “เครื่องมหรสพสมโภชเหมือนอย่างการพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า” ในเรื่องอิเหนา ตอนงานพระเมรุหมันหยา มีกลอนตอนกล่าวถึงการมหรสพในงานว่า “สมโภชพระศพเสร็จเจ็ดทิวา” การจัดงานเป็นการบูชาผู้ที่เคารพนับถือและรักใคร่ของคน ผู้ที่มีชีวิตอยู่ย่อมกระทำสิ่งที่ดีไม่ใช่สิ่งอัปมงคลให้แก่ผู้ตาย อีกประการหนึ่งผู้ประดิษฐ์ศิลปะใดๆ คงไม่มีจุดมุ่งหมายให้ศิลปะของตนเป็นสิ่งอัปมงคลอย่างแน่นอน ที่มีผู้รังเกียจว่าโขนแสดงในงานศพไม่บังควรนำมาแสดงในงานมงคลเป็นความคิดของคนชั้นหลังทั้งสิ้น


บทความ โขน : มหรสพสมโภช จากนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๕๖ ฉบับที่ ๖ ประจำเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๕๗
11  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง เมื่อ: 29 เมษายน 2567 11:41:47
              
คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง

(ต่อนี้ฉบับขาด ใช้ความฉบับคำให้การชาวกรุงเก่า)

๏ พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาเห็นนายทัพนายกองแตกพ่ายเข้ามาดังนั้น ก็ให้ปิดประตู ให้ทหารขึ้นรักษาน่าที่เชิงเทินมั่นไว้มิได้ออกรบ คราวนั้นพระยาพลเทพข้าราชการในกรุงศรีอยุทธยาเอาใจออกหาก ลอบส่งเครื่องสาตราวุธเสบียงอาหารให้แก่พม่า สัญญา​จะเปิดประตูคอยรับ พม่าเห็นได้ทีก็ระดมเข้าตีปล้นกรุงศรีอยุทธยา ทำลายเข้ามาทางประตูที่พระยาพลเทพนัดหมายไว้ ก็เข้าเมืองได้ทางประตูทิศตวันออกในเวลากลางคืน เมื่อณวัน ๓ ๙ฯ ๕ ค่ำจุลศักราช ๑๑๒๘ ไล่ฆ่าฟันผู้คนล้มตายลงเปนอันมาก เอาไฟเผาโรงร้านบ้านเรือนภายในพระนครศรีอยุทธยาเสียเปนอันมาก ขณะนั้นพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาแลพระมเหษีพระราชโอรสธิดา กับพระราชวงษานุวงษ์ ก็หนีกระจัดกระจายกันไป พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาเสด็จหนีไปซุ่มซ่อนอยู่ประมาณสิบเอ็ดสิบสองวันก็เสด็จสวรรคต ๚

๏ พวกพม่าก็ตามจับได้พระมเหษีแลพระโอรสธิดา พระราชวงษานุวงษ์แล้วให้กวาดต้อนผู้คนช้าง ม้า เก็บริบแก้วแหวนเงินทองไปยังกรุงอังวะเปนอันมาก ๚

๏ เมื่อใกล้จะเสียพระนครศรีอยุทธยานั้น เกิดลางร้ายต่างๆ คือ พระพุทธปฏิมากรใหญ่ที่วัดพนัญเชิงมีน้ำพระเนตรไหล พระพุทธปฏิมากรติโลกนารถ ซึ่งแกะด้วยไม้พระศรีมหาโพธิ์นั้น พระทรวงแยกออกเปนสองภาค พระพุทธปฏิมากรทองคำเท่าตัวคน แลพระพุทธสุรินทร์ซึ่งหล่อด้วยนากอันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ในพระราชวังนั้น มีพระฉวีเศร้าหมอง พระเนตรทั้งสองหลุดหล่นลงอยู่บนพระหัดถ์ มีกาสองตัวตีกัน ตัวหนึ่งบินโผลงตรงยอดเหมฉัตรเจดีย์ที่วัดพระธาตุ อกสวมลงตรงยอดพระเจดีย์เหมือนดังคนจับเสียบไว้ ​เทวรูปพระนเรศวรนั้นมีน้ำพระเนตรไหลแลเปล่งศัพทสำเนียงเสียงอันดัง อสนีบาตตกลงหลายครั้งหลายหน พระราชวงษานุวงษ์ข้าราชการก็ไม่ตั้งอย่ในสัจธรรม สำแดงเหตุที่จะเสียพระนครศรีอยุทธยาหลายอย่างหลายประการ ดังกล่าวมาแล้วในเบื้องต้นนั้น ๚

จบ

12  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง เมื่อ: 29 เมษายน 2567 11:39:40
              
คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง

๏ ครั้นอยู่มาพระยารายาผู้เปนเจ้าเมืองไทร ได้ช้างเล็บรอบตัวหนึ่งเอาเข้ามาถวายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมเอกทัศราชาอันยิ่งใหญ่ พระองค์ก็ดีพระไทย ก็ปูนบำเหน็จรางวัลเงินทองผ้าผ่อนแพรพรรณแลเครื่องอุปโภคบริโภคนานา ประทานให้แก่พระยารายาเจ้าเมืองไทร แล้วพระองค์ให้นามตามที่ชื่อบรม​ฉัททันต์ มหันตพงษ์ มงกุฎกุญชร ยังมีเนียมตัวหนึ่งมาเข้าพะเนียดในกรุง พระองค์เสด็จไปจับได้แล้วพระองค์ยินดี จึ่งให้ชื่อบรมคชา แล้วมีนายสำเภาพ่อค้า ชื่ออลังคปูนี เอาสิงโตตัวหนึ่งมาถวาย กับนกกะจอกเทศตัวหนึ่ง แก่พระบรมเอกทัศราชาอันเปนใหญ่ พระองค์ก็ให้ประทานรางวัลเงินทองสิ่งของต่าง ๆ แก่อลังคปูนีอันมีน้ำใจสวามิภักดิ อันพระญาติวงษาแลเสนาอำมาตย์ทั้งปวงก็อยู่เย็นเปนศุขทุกราตรี ทั้งเศรษฐีคหบดีแลพ่อค้าพานิชมาต่างประเทศซื้อง่ายขายดี ทั้งสำเภาแขกแลฝรั่งอังกฤษจีนจามอะรัมมนี แลสุรัดพ่อค้ามาขาย จอดสำเภาเรียงรายอยู่ที่น่าท่านั้นเปนอันมากมายหนักหนา ทั้งอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงก็เกษมศุขทั้งกรุงศรีอยุทธยา ๚

๏ ครั้นถึงปีมเมียจัตวาศกเข้า ยังมีมอญใหม่มันคิดร้ายเปนขบถ มันคุมพวกกันเข้าแล้วก็ยกมาทางเขานางบวชแดนเมืองนครนายก แล้วมันตีบ้านเล็กบ้านน้อยแดนเมืองนครนายก ครั้นพระองค์แจ้งเหตุจึ่งมีพระโองการให้พระยาเพ็ชรบุรี แลพระยากาญจนบุรียกทัพไปทางดงพระยาไฟ ก็รบกันกับมอญใหม่ที่ทุ่งพิหารแดง เหล่ามอญใหม่นั้นล้มตายหนีไปสิ้น อันพระยาเพ็ชรบุรีแลพระยากาญจนบุรีนั้น ครั้นปราบมอญแล้วกลับเข้ามาสู่กรุง จึ่งเข้าไปเฝ้าถวายบังคมทูลฉลอง พระองค์ก็ประทานรางวัลทั้งสองเสนา ให้ทั้งเงินทองเสื้อผ้าแพรพรรณครบครัน อันเหล่าทหารเกณฑ์อาสาไปรบนั้น พระองค์ก็ประทานรางวัลให้ทั่วหน้า บ้างก็ได้เลื่อนที่ขึ้นไปต่าง ๆ ตามที่มีความชอบ ๚

​๏ แล้วพระองค์เสด็จขึ้นไปนมัสการปัถวีแล (พระเจดีย์ที่เขา) พนมโยง จึ่งมีพระโองการตรัสแก่เสนาบดีผู้ใหญ่ ให้กะเกณฑ์เปนกระบวนทัพช้าง จะโพนช้างขึ้นไปนมัสการพระปัถวี เสนาผู้ใหญ่รับพระโองการแล้ว จึ่งไปกะเกณฑ์ให้บาดหมายไปแก่พระกำแพงแลพระยาราชวังเมือง ให้เรียกช้างม้าให้จัดแจงตามกระบวนทัพช้างให้ครบครัน แล้วจึ่งกะเกณฑ์ผู้คนแลทหารเปนอันมาก ๚

๏ อันช้างพระที่นั่งเอกแต่บรรดามีชื่อ คือเจ้าพระยาไชยานุภาพ ปราบไตรจักร ศรีไชยศักดิ จักรมหิมา มงคลจักรพาฬ วิมานจักรพรรดิ สวัสดิพิไชย ไตรภพนาศ แก้วจักรรัตน มัธยมเทศ กุญชรราชา บวรนาเคนทร์ เหล่าช้างพระที่นั่งเอกสิบสองช้างนี้ ผูกเครื่องทองประดับฝรั่งเศส มีภู่ห้อยหน้าแลข่ายทอง ผ้าปกหลังกรองเชิงประดับสี่เท้าแลทองรัดงา บ้างก็คลุมข่ายทอง บ้างผูกเครื่องกำมะหยี่ปักทองขวางดาวทองต่าง ๆ แลภู่ห้อยข่ายทองปกหน้าผ้าปกหลังแลเครื่องต่างๆ กันตามที่ทางเปนชั้นเปนหลั่นๆ กันมาซ้ายขวาตามที่ แล้วจึ่งถึงช้างดั้งช้างกันระวางนอกระวางในซ้ายขวาน่าหลัง แลสารเพรียวน้อยใหญ่ตามมีชื่อ เหล่าที่นั่งรองคือ หัศดินพิไชย ไอยราพต โจมจักรพาฬ พิมานไชย คเชนทรรัตน สวัสดิกุญชร รจนนาเคนทร์ กเรนทรฤทธี ศรีอาทิตย์ พิศณุจักร สระสงสาร บานชมพู ณรามวิชิต ฤทธิ์รามวิไชย ชลเทศอุไทย ไชยเทศอุทิศ พลภิฤทธิประศักดิ พลภิรักษ์ประเสริฐ สุรราชสังหร ศรราชสังหาร พรหมพาหะ พรหมพาหน พรหมดล พรหมเดช พิศณุศักดิ ​พิศณุสิทธิ พิศณุฤทธิ พิศณุราช มโนนฤมิตร วิจิตรเจษฎา อันที่นั่งรองเหล่านี้สามสิบสองข้าง ผูกที่นั่งประสาทแลที่นั่งกระโจม แลที่นั่งพุดตาล บ้างก็ผูกพระที่นั่งเขน แลที่นั่งโถง ผูกพระที่นั่งต่างๆ เปนอันมากแล้ว จึ่งถึงระวางสารเพรียวซ้ายขวามีชื่อคือ พลายพิไชยนาเคนทร์ คเซนทรมหิมา รัตนากุญชร บวรไอยรา คเชนทรหัศดิน กรินทราชา มังคลารัตนาศน์ ราชไกรสร สกลโกลา มหาคชสาร สังหารคชสีห์ มณีจักรพาฬ สวัสดิคเชนทร์ กเรนทรราชา บวรวายุกุล สุนทรเดช โจมไตรภพ จบไตรจักร ภูธรจำนง บรรยงก์ไอยรา ฦๅประศักดิ์ รักษ์ธานี ฤทธิไกรสร กำจรจักรพาฬ กฤษณจักรี ตรีสุรนาถ กุญชรไชย ไกรสรเดช บำรุงภูบาล สารภูธร พรหมกฤษณ พรหมสรรค์ พรหมพรรณ พรหมภักตร์ พิศณุรักษ์ พัศณรงค์ พิศณุพงศ์ พิศณุพาน มโนรศจำนง ทรงสุริยากษัตร สรรพประสิทธิ์ ฤทธิประไลย พลภิฤทธิชำนัน พลภิฤทธิชำนาญ มารประไลย ไฟภัทกัลป เรืองฤทธิกำจร บวรธานี สงคเชนทร ชะนะจำบัง โลรัตนาศ ชาติคช สุริยาภิรมย์ ชมพูฉัตร อันช้างมีชื่อเหล่านี้ ห้าสิบสี่ช้างด้วยกัน เปนเกณฑ์ช้างระวางเพรียว มีวอทองบ้าง สัปรคับทองบ้าง บ้างก็ใส่เขนแลแพนหางนกยูง มีธงหลังช้างแลศัสตราอาวุธตามตำแหน่ง มีหมอแลควาญแต่งตัวเครื่องโพน ประกวดกันต่างๆ ตามที่ตามตำแหน่ง แห่แหนไปซ้ายขวาน่าหลังเปนอันมาก แล้วจึ่งถึงทัพหลังพระที่นั่งรอง เกณฑ์เหล่าช้างพังผูกพระที่นั่ง เกณฑ์มีชื่อคือระวางใหญ่ซ้ายขวาเหล่านี้คือ เทพลิลา ​เทพลิลาศ หงษ์ลิลา หงษาลิลาศ สุริยรางชาง สุรางคราเชนทร์ สมบัติไอสูรย์ สมบูรณ์ไอสวรรย์ อนงค์ศรีสวรรค์ อนันตศรีสวัสดิ อนิลบรรยงก์ อนงคบรรยิง อนันตสรเศก อเนกสุรศักดิ อนันตไกรกรุง อดุงไกรเกริก พิจิตรใจดล พิมลจินดา พิมลศรีสถาน พิมานศรีสถิตย์ พิพิธสมบัติ พิพัฒน์สมบูรณ์ พิสูรสมภาร พิศาลสมภูล อันช้างพังพระที่นั่งเอกมีชื่อยี่สิบสองช้างเหล่านี้ ผูกพระที่นั่งกูบทองประคับบ้าง พระที่นั่งกูบทองทึบบ้าง ที่นั่งกูบลายรดน้ำบ้าง หลังคากูบนั้นต่างๆ แล้วแห่ไปข้างซ้ายข้างขวา แล้วจึ่งถึงที่นั่งทรงที่นั่งรองระวางเพรียว เกณฑ์ช้างพังมีชื่อคือ อนงคเคจร บวรราเชนทร์ เหมบรรยงก์ อนงครางชาง พิพัฒน์โกสุมภ์ กรรพุมบุษบา มณีรัตนมาลา บุษบาสวรรค์ ทิศาบรรยงก์ อนงคนารี วิศาลอับศร กินรปักษี ราชสุรางค์ สรรพางค์พิมล สกลโกสุมภ์ กรรพุมรัศมี เทพประพา เทพาประศร คเชนทรสำอาง ราชางพิมล อันที่นั่งรองช้างพังยี่สิบแปดช้างเหล่านี้ ผูกกูบทองบ้างสัปรคับทองบ้างต่างๆ กัน

๏ ครั้นกะเกณฑ์แล้ว อรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่จึ่งเข้ามากราบทูลฉลอง ฝ่ายสมเด็จพระเอกทัศราชา จึ่งแต่งองค์ทรงพระภูษาพระมาลาป่าเปนเครื่องโพน แล้วเสด็จทรงคชสารที่นั่งเอกอันมีชื่อ คือ เจ้าพระยาไชยานุภาพ อันประดับประดาด้วยเครื่องฝรั่งเศส กำมะหยี่แดงปักทองขวางมีภู่ห้อยหน้า ผ้าปกหลังแลข่ายทองกองเชิงประดับสี่เท้าแลทองรัดงา แล้วทรงพระแสงอังกุศขอทองนาคราชประดับ แล้วนายทรงบาศเปนควาญนั่งท้ายพระที่นั่งประนมมือไปตามที่ตาม​ตำแหน่ง แล้วบรรดามุขเสนาอำมาตย์ทั้งนั้น แต่งตัวเครื่องโพนตามที่ตามทางตามตำแหน่ง จึ่งขึ้นขี่ช้างดั้งช้างกันซ้ายขวาน่าหลัง เกณฑ์เหล่าช้างระวางนอกระวางใน ห้อมล้อมช้างพระที่นั่งไปตามกระบวนแห่ทั้งช้างพลายช้างพัง เปนช้าง ๑๐๕๐ ด้วยกัน พระกำแพง พระยาราชวังเมือง ได้ดูแลตรวจตราว่ากล่าวเหล่าช้างทั้งสิ้น พระราชบุตรบุตรี พระอรรคมเหษี ทรงช้างพระที่นั่งพังกูบทองประดับกระจก เหล่าพระสนมกำนัลทั้งปวงนั้นขี่ช้างกูบทองบ้าง กูบลายรดน้ำบ้าง บ้างก็ขึ้นบนสัปรคับบ้าง บรรดาพระสนมกำนัลทั้งปวงนั้นขี่ช้างพังตามเสด็จไปเปนอันมาก พร้อมด้วยจัตุรงคเสนามุขอำมาตย์ ราษฎรทั้งปวงแห่แหนไปซ้ายขวาน่าหลังสะพรั่งพร้อม ก็เสด็จไป มีที่ประทับร้อนแลที่ประทับแรมไพร เสด็จไปถึงเขาปัถวี ที่พลับพลาใหญ่แล้ว พระองค์เสด็จขึ้นไปนมัสการพระ พร้อมด้วยเสนาบดีแลมหาดเล็ก ทั้งองค์อรรคมเหษี ทั้งพระราชบุตรบุตรี แลพระสนมกำนัลในนารีสพรึบพร้อมเปนอันมาก แล้วพระองค์ก็เสด็จอยู่ที่ลานพระ จึ่งตั้งเครื่องบูชามืน้ำมันหอมดอกไม้ ธูปเทียนชวาลาตามถวายมากมายหนักหนา พระองค์ก็ทำสักการบูชาโปรยปรายเข้าตอกดอกไม้ถวาย แล้วจึ่งทำมโหรีปี่พาทย์อยู่ครื้นเครง แล้วพระองค์ก็ประทานรางวัลแก่เหล่ามโหรีเปนอันมาก แล้วก็ปรายเงินให้แก่อาณาราษฎร์ แล้วจึ่งเลี้ยงพระสงฆ์เจ็ดราตรี ถวายไทยทานสิ่งของครบครัน แล้วให้เล่น​การมหรศพเจ็ดราตรี ครั้นแล้วก็เสด็จกลับเข้ายังกรุงไกรเข้าในพระราชฐาน พระองค์ก็ปรนิบัติตามราชประเพณีเยี่ยงอย่างมาแต่บุราณ ๚

๏ ครั้นถึงเพ็ญเดือนสิบเอ็ดออกพระวรรษา พระองค์เสด็จทรงประทีปเสด็จอยู่บนเรือขนาน แล้วถวายธูปเทียนดอกไม้แลกะทงกระดาษตามเทียนแลเรือต่าง ๆ เปนอันมาก แล้วพระองค์อุทิศถวายพระพุทธบาทในนมทานที แล้วก็ลอยกะทงอุทิศส่งไปเปนอันมากเต็มไปทั้งแม่น้ำ แล้วจุดดอกไม้เพลิงที่ริมคงคาต่างๆ เปนอันมาก ๚

๏ อนึ่งชื่อพิธีอาสุชมาศ เอาเรือที่นั่งกิ่งสองลำ พระองค์ลำหนึ่ง พระมเหษีลำหนึ่ง ออกพายแข่งกัน แล้วบรรดาเรือขุนนางตามบันดาศักดิ มีเครื่องอุปโภคต่างๆ ตามที่ตามตำแหน่ง แล้วก็ออกพายแข่งกัน ครั้นวันสิบสี่ค่ำสิบห้าค่ำ แลแรมค่ำหนึ่ง เพลาค่ำแล้วทรงพระภูษาขาว ทรงพระมหามงกุฎสังวาลอาภรณ์ทำด้วยเงิน แล้วเสด็จทรงเรือพระที่นั่งกิ่งโถง เสด็จยืนไปบนเตียงลาแล้ว จึ่งเรือนำเรือตามนั้นตามเทียนตลอดลำ พายแห่ไปรอบกรุง แล้วเลี้ยงขนมเบื้องแผ่นใหญ่ศอกหนึ่ง แล้วเสด็จลงเรือที่นั่งทรงผ้ากฐินพร้อมฝ่ายน่าฝ่ายในเสด็จทรงพาย แลเรือตามทั้งปวงนั้นใส่โคมสิ้นทุกลำ พายแห่ไปถวายราชาคณะอารามหลวง ทั้งนอกกรุงแลในกรุงทั้งบกทั้งเรือซึ่งอยู่แขวงเหนือแขวงใต้ หัวเมืองเอกแลเมืองโทนั้น แต่องค์พระกฐินแลไตรจีวรแลเครื่องอัฐบริขาร ส่งให้ไปกับเจ้าเมือง แลผู้รั้งกรมการ แลผู้รักษาเมืองผู้รั้งตามธรรม​เนียมสองวัดบ้าง สามวัดบ้าง ห้าวัดบ้าง เปนกฐินหลวงเบ็ดเสร็จร้อยเศษ แล้วพระองค์ก็เสด็จเข้าในพระราชวัง ๚

๏ ครั้นอยู่เย็นเปนศุขช้านานมา พระองค์จึ่งเสด็จขึ้นไปลพบุรี เปนกระบวนพยุหบาตราเรือ เสนาจึ่งกะเกณฑ์เรือที่นั่งแลเรือครบครัน ครั้นแล้วพระองค์ก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งทองขวานฟ้า แลพร้อมด้วยมุขอำมาตย์ราชเสนาทั้งปวงเปนอันมาก เหล่าเสนามนตรีแลมหาดเล็กทั้งปวงนั้นถือเครื่องราชอุปโภค แลเกณฑ์ถือพระแสงต่างๆ ครบครันกันเปนอันมาก บ้างก็ลงเรือที่นั่งทรงบ้างก็มาลงที่นั่งรอง บ้างก็มาลงเรือดั้งเรือกันนั้นเปนอันมาก แล้วก็พายแห่แหนไปเปนซ้ายขวากันเปนคู่ ๆ อันเหล่าเรือแห่น่าแลเรือนำเรือรองนั้นห้อมล้อมแห่แหนไปเปนอันมาก ประทับร้อนแรมไป จนถึงลพบุรี ครั้นถึงแล้วพระองค์เสด็จเข้าไปในพระราชวังลพบุรี อันชื่อดุสิตมหาปราสาท อันมีพระที่นั่งเรียกว่าจันทรพิศาล พระองค์เสด็จชมสวนซ้ายขวา แลสวนแก้วอันมีพรรณดอกโกสุมภฺปทุมะปทุมาแลอุบลจงกลนีอันมีสีต่างๆ แลกลิ่นนั้นก็ต่างกัน ที่ในสระแก้วนั้นมีพรรณมัจฉาก็งาม ต่างๆ พรรณดอกไม้ก็มีต่างๆ มีกลิ่นนั้นก็ต่างกัน พระองค์ก็เสด็จประพาศชมสวนทั้งซ้ายขวา พร้อมด้วยพระอรรคมเหษี แลพระราชบุตรบุตรี แลกำนัลนารีเปนอันมาก ครั้นชมแล้วก็เสด็จไปชมทเลชุบศร พระองค์ทรงม้าพระที่นั่งเอก อันชื่อพระยาอาชาไนยไชยชาติราชพาหนะ ผูกเครื่องเบาะแลอานแลเครื่องทั้งปวง อันประดับประดาด้วยมหาเนาวรัตนอันงามประเสริฐ อันเหล่าเสนามหาดเล็กแลขอเฝ้าทั้งปวงนั้น บ้างก็ถือเครื่องราชอุปโภค​แลถือพระแสงต่าง ๆ แล้วก็ขี่ม้าห้อมล้อมตามเสด็จสพรึบพร้อมเปนอันมาก อันพระมเหษีแลพระราชบุตรบุตรีนั้นก็ทรงพระวอประดับทองบ้าง พระวอทองบ้าง อันพระสนมแลกำนัลทั้งปวงนั้น ก็ขี่วอสีสักลาดต่างๆ ตามเสด็จไปเปนพระประเทียบไพร ข้างในนั้นก็แห่แหนไปพร้อมด้วยรี้พลโยธาเปนอันมาก ครั้นถึงพร้อมด้วยพระราชบุตรบุตรีพระสนมนารีนั้น ก็ชี้ชมปลาในทเลชุบศรแล้ว พระองค์เสด็จพระดำเนินไปตามขอบสระชมพฤกษาสารตระการต่างๆ บ้างมีผลแลดอกออกช่อมีสีต่างๆ มีกลิ่นหอมต่างๆ ลางนางนารีก็เด็ดพุ่มพวงดวงดอกมาลามาแซมเกล้าแล้ว ก็พากันชื่นเริงบรรเทิงใจไปสิ้น แล้วพระองค์ก็เสด็จไปธารทองแดง ประทับร้อนอยู่ที่พลับพลาใต้ร่มไม้อันมีดอก ให้ไขท่อน้ำในสระออกมาตามท่อธารทองแดงอันเย็นสอาดสอ้าน อันเหล่ามหาดเล็กแลเสนาบดีทั้งปวงนั้น พระองค์สั่งให้ลงไปเล่นน้ำแล้วสาวพวนพนันกันที่ในน้ำ ที่สาวขึ้นไปได้ พระองค์ประทานรางวัล ที่สาวขึ้นไปได้แล้วก็หลุดมือลอยน้ำลงมา ก็พากันสรวลอื้ออึงไปทั้งธารน้ำ ทั้งพระองค์แลเสนาอำมาตย์ทั้งปวงพากันชื่นเริงไปทั้งสิ้น ครั้นแล้วก็เสด็จกลับเข้าสู่พระราชวัง ๚

๏ ครั้นอยู่มาจุลศักราชได้ ๑๑๒๕ ปีมะแมเบญจศก จึ่งมีกำมะลอชากุทองชา เจ้าเมืองทวายเข้ามาถวายตัวเปนข้า เข้ามาพึ่งอยู่ใต้ฝ่าพระบาทในขัณฑเสมากรุงใหญ่ พระองค์ก็ทรงพระเมตตาแก่สัตว์จึ่งรับไว้ในกรุงศรีอยุทธยา อันพระบรมเอกทัศนั้นพระองค์มาได้ครองพิพัฒน์กรุงศรี ในเมื่อเวลานาทีเมื่อกาลกลีจะถึง​พระนคร จึ่งเกิดวิบัตินานาเพราะกรรมเวราสังหาร ทั้งอายุพระสาสนาแลพระนครจักสิ้นสุดสถาวรจึ่งเปนไป ก็พอพระมาได้ครองภาราในเมื่อจะสิ้นชตากรุงไกร ก็มามีวิบัติให้เปนไป จึ่งเกิดเหตุเภทไภยบัดนี้ แต่พระมหินทรราชามาจนบัดนี้ นับได้ถึงสองร้อยปีมา ทั้งโภชนาอาหารก็บริบูรณ์ มีความสนุกสบายมาจนบัดนี้ อันการฝึกฝนณรงค์สงครามทั้งปวงนั้นเสื่อมไป ทั้งผู้ดีเข็ญใจแลอาณาราษฎรทั้งปวงมีแต่จะเล่นเพลิดเพลินไปด้วยการเล่นเปนศุขสนุกสบายไม่มีทุกข์สิ่งหนึ่งสิ่งใด มีแต่การจะเล่นนานา ทั้งสมณะชีพราหมณ์เปนศุข บ้างก็มาสรรเสริญพระคุณที่พระองค์มีพระกรุณากับสัตว์ทั้งปวง บ้างก็ยอกรอัญชลีสรรเสริญพระคุณแล้วกราบกราน บ้างก็เสพย์สุราแลยาเมาต่างๆ สารพัดจะสนุกทุกสิ่งอัน ฝ่ายพระองค์ก็ทรงพระกรุณากับอาณาราษฎร์ทั้งปวง แผ่เมตตาไปทั่วสารพัดสัตวทั้งปวง มีแต่สนุกสบายทุกราตรี เปนนิจสินมิได้ขาด ๚

๏ ครั้นเมื่อศักราชได้ ๑๑๒๐ ปีวอกฉศก พม่ายกทัพมาทางเชียงใหม่ทางหนึ่ง ทางทวายทางหนึ่ง เสนาที่เปนแม่ทัพใหญ่ยกมาข้างทางเชียงใหม่นั้นคุมทหารอาสามาเปนคนละสองหมื่น อันนายทัพข้างเชียงใหม่นั้นชื่อกะแรงแมงจอเปนสึกแก ที่เปนนายทัพนั้นชื่อจอกองจอสู มีทัพรายนั้นเปนอันมาก อันทัพข้างทางทวายนั้น ก็คุมพวกอาสามาเปนอันมาก ชื่อมหานรทาเปนแม่ทัพใหญ่ สึกแกนั้นชื่อสีทะธรรมรัต ที่เปนนายทัพรายนั้นชื่อยางู อันทัพรายนั้นหลายทัพ แต่ล้วนคนเกณฑ์อาสาที่มานั้นเปนคนสี่หมื่น ยกมา​ทางบกทางเรือเปนอันมาก แม่ทัพข้างทวายนั้นจึ่งให้หนังสือมากับนายด่านข้างมฤท ครั้นนายด่านแจ้งเหตุแล้ว จึ่งเอาความเข้ามาแจ้งแก่เจ้าเมืองมฤท ในเรื่องราวหนังสือนั้นว่า กรุงไทยมิได้อยู่ในธรรม ทำให้ผิดบุราณแต่ก่อนมา อันว่าตัวเจ้าเมืองทวายอันชื่อว่าอูทองชากำมะลอชานั้นเปนข้าข้างเมืองบุรรัตนะอังวะ ที่ทวายมาถวายตัวเปนข้าข้างเมืองอยุทธยานี้เห็นต้องตำราอยู่แล้วฤๅ ไม่สืบสาวดูให้รู้ว่าข้าคนใคร รับไว้ให้ผิดประเพณี อันทวายนี้เปนแต่เมืองน้อย จักพลอยเอาเมืองอยุทธยากรุงศรีมาต่อทานด้วยทหารเราในครั้งนี้ ใครดีจะได้เห็นกัน อันทัพใหญ่ฝ่ายข้างพม่าก็ยกเข้ามาในแดน ฝ่ายเจ้าเมืองมฤทนั้นรู้แจ้งเหตุแล้ว ก็ให้ม้าเร็วเร่งรีบเข้ามา แจ้งความแก่มหาเสนาบดีผู้ใหญ่ ส่วนมหาเสนาบดีผู้ใหญ่แจ้งเหตุแล้ว จึ่งเอาไปกราบทูลฉลองกับพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศราชา ฝ่ายเจ้าเมืองระแหงนั้นก็เอาหนังสือมากราบทูลกับลอองธุลีฝ่าพระบาท พระองค์ครั้นทราบดังนั้นแล้ว จึ่งมีพระโองการให้หาเสนาบดีผู้ใหญ่ ให้เร่งกะเกณฑ์ผู้คนแม่ทัพแม่กอง อันเหล่าขุนนางผู้ใหญ่จึ่งเข้ากราบทูลขออาสาที่จะรบพม่าฉลองพระเดชพระคุณที่มีมาเปนอันมาก คือ พระยานครราชสีมา พระยาเดโชชาติอำมาตยนุชิต พระยาพิพัฒน์โกษา พระยายมราชธิบดีศรีโลกทัณฑาธร พระยาราชภักดี พระยาราชรองเมือง พระกำแพง พระศรีสะวะภาคย์ หลวงทรงพล หลวงเทพราชา ขุนนางสิบสองคนนี้กับเหล่าทหารทั้งปวงเปนอันมาก เข้าไปทูลขออาสาที่จะออกรบพม่าฉลองพระเดช​พระคุณ พระองค์จึ่งประทานบำเหน็จรางวัลเงินทองเสื้อผ้า แลสิ่งของเครื่องแต่งตัวตามตำแหน่งให้ครบตัวกันทั้งสิ้น แล้วประทานชื่อเสียงเลื่อนที่เลื่อนทางตามตำแหน่งแม่ทัพแม่กอง บรรดาทหารอาสานั้นก็ประทานครบตัวกันทั้งไพร่แลนาย แล้วจึ่งพระจันทราชา พระแพทยพงษา พระธน พระอำมาตย์ ขุนศรีคชกรรม์ หมื่นพรหม หมื่นวาสุเทพ หอกนั้นเจ็ดคน อันขุนนางสิบสี่คนนี้ ทัพหนึ่งคุมพลพันหนึ่ง ทั้งสิบสี่ทัพเปนคนหมื่นหนึ่งกับสี่พันด้วยกัน แล้วจึ่งให้พระยานครศรีธรรมราชเปนแม่ทัพยกไป ตั้งอยู่มฤทตะนาว แล้วจึ่งเกณฑ์คนแลทหารเพิ่มขึ้นอิก จึ่งให้เหล่าขุนนางแลมหาดเล็ก คือ พระยาธรมา จมื่นสารเพธภักดี จมื่นศรีเสาวรักษ์ จมื่นไวยวรนารถ จมื่นเสมอใจราช จ่าเรศ จ่ารง จ่ายง จ่ายวด นายกวด นายขัน นายจันมีชื่อ ขุนนางสิบสองนี้เกณฑ์ให้เปนนายทัพสิบสองทัพ ทัพหนึ่งคนพันหนึ่ง ทั้งสิบสองทัพนั้นเปนคนหมื่นกับสองพัน ทั้งยกรบัตรแลเกียกกาย ทั้งปีกซ้ายแลปีกขวา ทั้งเสือป่าแลแมวเซา ทั้งทัพหนุนแลทัพรอง ทั้งทัพน่าแลทัพหลัง ทั้งช้างม้าผู้คนแลทหารอันถือสาตราอาวุธหอกดาบ แลปืนน้อยปืนใหญ่นกสับคาบชุด แลเขนงเต้าชะนวนครบตัวกันทั้งสิ้นแล้ว จึ่งให้พระยามหาเสนาเปนแม่ทัพยกไปตั้งอยู่ยังนครสวรรค์ แล้วจึ่งเกณฑ์ขุนนางแลทหารอันมีชื่อขึ้นอิกคือ สนิท เสน่ห์ เล่ห์อาวุธ สุจินดา ไชยขรรค์ พลพ่าย พลพัน อันทหารมืชื่อเจ็ดคนนี้เกณฑ์ให้เปนนายทัพ มีทัพช้างแลทัพม้า ทหารโยธาถืออาวุธครบตัวกันทั้งสิ้นแล้ว จึ่ง​มีทัพส่งลำเลียงเปนอันมากแล้ว จึ่งเกณฑ์พระยากระลาโหมเปนแม่ทัพ ยกไปตั้งรับอยู่ทางท่ากระดานแล้ว จึ่งตั้งทัพรายไว้ตามทาง ซึ่งตั้งรับไว้ทุกตำบล ทัพหนึ่งคนสามร้อยสี่ร้อยบ้าง ห้าร้อยบ้าง พันหนึ่งบ้าง ตั้งจุกช่องทุกตำบลหนทาง แล้วจึ่งเกณฑ์ทหารอันมีชื่ออิกสิบห้าคนคือ ขุนทิพโอสถ ขุนกุมารประสิทธิ ขุนกุมารแพทย์ ขุนสุเมรุมาศ ขุนวิเศษ ขุนพัศดี ขุนองค์ ขุนพัด ขุนโค ขุนเทพสมบัติ ขุนทิพสมบัติ ขุนวิสูตร ขุนธารกำนัน ขุนนรา ขุนนรินทร์ อ้นกล่าวทหารสิบห้าคนนี้ คุมคนทัพหนึ่งคนพันหนึ่ง ตั้งเปนทัพสิบห้าทัพ เปนพลรบหมื่นกับห้าพันด้วยกัน มีทัพช้างทัพม้าแลปืนน้อยปืนใหญ่ แลสาตราอาวุธครบตัวกันเปนอันมากแล้ว จึ่งให้พระยาจักรีเปนแม่ทัพ ยกไปตั้งรับอยู่ที่เมืองราชพรี แล้วจึ่งกะเกณฑ์เพิ่มพลรบแลทหาร แลขุนนางอันมีชื่อขึ้นอิกคือ มหาเทพ มหามนตรี ราชรินทร์ อินทรเดชะ หลวงราชรักษา หลวงเถกิง หลวงรักษาสมบัติ หลวงสุนทร หลวงหฤไทย หลวงราโชเวียงคำ แสนกล้า แสนหาญ แสนท้าว นายทัพสิบห้าคนนี้ คุมคนทัพพลรบพันหนึ่ง สิบห้าทัพเปนคนหมื่นหนึ่งกับห้าพัน จึ่งให้พระยามหาอำมาตย์เปนแม่ทัพ ยกไปตั้งรับไว้ที่เมืองไชยนาท ฝ่ายข้างกรุงจึ่งจัดแจงแต่งบ้านเมืองแลค่ายคูประตูหอรบมั่นคงทั้งนอกเมืองแลในเมือง จึ่งให้ขึ้นน่าที่แลเชิงเทิน ทหารขึ้นรักษาน่าที่มีสาตราอาวุธครบตัวกัน แล้วจึ่งเอาปืนใหญ่ขึ้นจุกช่องเสมาไว้ทั้งรอบกรุง เหล่าทหารรักษาช่องเสมาอันหนึ่งมีคนรักษาอยู่สิบคนทั้งกลางวันกลาง​คืน แล้วเชิญเทวดา คือ พระเสื้อเมือง ทรงเมือง ทั้งเทวดารักษาพระสาสนาแลพระไพรเจ้าป่าทั้งหลาย แล้วให้มีงานการบวงสรวงเครื่องกระยาสังเวยครบครันเปนอันมาก ให้มาช่วยอภิบาลรักษาบ้านเมืองไว้ ๚

๏ ฝ่ายมหานรทากะยานั้นมาผู้คนมากด้วยกัน ฝ่ายทางท่ากะดานกาญจนบุรีนั้นมิได้ยกมา ยกทัพมาแต่ทางทวายแลทางมฤท ทัพน่าต่อทัพน่านั้นได้รบพุ่งกันเปนอันมาก ฝ่ายพม่าแลไทยก็ล้มตายเจ็บปวดด้วยกันทั้งสองข้าง ท่อยทีท่อยระอาฝีมือกันอยู่ทั้งสองฝ่าย แต่รบกันอยู่นั้นถึงสิบห้าวัน อันทัพข้างไทยนั้นมิได้ปรกติ แต่เรรวนอยู่ทั้งสิ้น ฝ่ายพม่าก็รู้ไป พม่าจึ่งคิดอ่านกันแล้ว จึ่งยกทัพช้างทัพม้าผู้คนทหารเกณฑ์รบเปนอันมาก แล้วดากันเข้าตีค่ายเปนอันมาก ฝ่ายข้างไทยไม่สู้ได้ ก็ถอยยกกลับมาประจบกับทัพเมืองราชพรีแล้วตั้งอยู่ที่นั้น ฝ่ายไทยที่ยกไปทางเชียงใหม่นั้น ก็ได้รบพุ่งกันกับพม่าเปนอันมาก ทัพไทยกับพม่าแต่รบกันอยู่นั้นนานสามสี่วันแล้ว จึ่งหมื่นมหาดเล็ก หมื่นเด็กชาย หมื่นธิเบศร์ภูบาล หมื่นธิเบศร์ หลวงกลาโหม หลวงจ่าแสน หลวงพระกฤษณ์ หลวงพิพิธไอสวรรย์ หลวงไกร ขุนคชภักดี ขุนศรีวัง ไกรโกษา เกษตรรักษา พิไชยบุรินทร์ พระอาลักษณ์ หมื่นรจนามาศ หมื่นจง เกณฑ์ทหารมีชื่อทั้งสิบเจ็ดคนด้วยกันกับทหารเปนอันมากออกไปรบ บ้างก็รำดาบ​รำเขนแลกระบี่กระบองรบอยู่ทั้งสองข้าง ฝ่ายทัพปีกซ้ายปีกขวาทัพข้างพม่านั้นไล่รุกเข้ามา ข้างไทยไม่ต้านทานได้ กลับหลีกหนีเข้าในค่ายได้บ้าง ที่เข้าไม่ทันก็ตายบ้าง ที่ตายนั้นเจ็ดคน พม่าตัดเอาหัวไปได้ ข้างทัพไทยก็เรรวนกันอยู่ไปมา จึ่งถอยมาตั้งประจบกับทัพเมืองนครไชยนาท พม่าก็รุกร้นเข้ามาตั้งค่ายรับอยู่ที่เมือง ครั้นทราบว่าถอยทัพมา จึ่งมีพระโองการว่า มันไม่เปนใจรบ ควรจะให้ฆ่าเสียทั้งเจ็ดชั่วโคตร แต่ว่าเปนแต่ครั้งหนึ่งครั้งเดียวก็จะยกโทษไว้ก่อน ถ้าแม้นไปเบื้องน่าถ้าแตกมาอิก จะฆ่าเสียทั้งเจ็ดชั่วโคตร แล้วจึ่งมีรับสั่งให้ไปถึงแม่ทัพแล้ว จึ่งให้ปืนใหญ่ออกไปอิกสามบอก แล้วให้กิติศัพท์นั้นฦๅไปว่าฬ่อเอาพม่าเข้ามา ครั้นใกล้แล้วจึ่งจะฆ่าให้สิ้น ให้ความนี้ฦๅไป ทัพข้างราชพรีนั้นแต่รบกับพม่าก็ล้มตายลงด้วยกันทั้งสองฝ่ายเปนอันมาก แต่รบกันอยู่หลายวันมา ข้างไทยนั้นจึ่งตรวจเหล่าช้างกับทั้งคนขี่นั้น ก็กินเกินประมาณไปนัก ก็รบพุ่งฟั่นเฟือนไป ก็ล้มตายเปนอันมาก ทัพข้างราชพรีนั้นก็ถอยเข้ามากรุง ทัพพม่าช้างราชพรี แลเพ็ชรพรีนั้นก็ยกรุกเข้ามาถึงกรุง ฝ่ายแม่ทัพข้างมหานรทานั้นก็ยกมาตั้งอยู่ที่สีกุกเปนมั่นแล้ว บรรดาทัพทั้งนั้นก็เข้ามาล้อมกรุงอยู่เปนอันมาก ฝ่ายทัพข้างราชพรีนั้นก็ยกรุกเข้ามาถึงกรุง แม่ทัพข้างพม่าที่มาทางเชียงใหม่มันก็มาตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่โพธิ์สามต้นไกลกับเมืองสามหลัก บรรดาทัพทั้งนั้นก็ยกมาล้อมกรุงไว้รอบ ทัพใหญ่ตั้งอยู่สีกุกทิศตวันตกเฉียงใต้เมือง อันแม่ทัพนั้นชื่อมหานรทา ค่ายหนึ่งทิศตวันออกเฉียงเหนือเมืองนั้นค่ายพะเนียด ​ทิศตวันออกเมืองนั้นค่ายหัวรอ ทิศตวันออกเฉียงใต้นั้นชื่อคลองสวนพลู อันตวันออกเฉียงใต้นั้นค่ายบ้านปลาเห็ดนั้น ทิศใต้เมืองค่ายวัดธนทารามนั้นตวันตกเฉียงเหนือเมือง ค่ายวัดวรเชษฐตวันตกเมือง ค่ายบ้านป้อมตวันตกเมือง ค่ายภูเขาทองตวันตกเฉียงเหนือเมือง ค่ายวัดน่าพระเมรุทิศเหนือเมือง ค่ายโพธิ์สามต้นทิศเหนือเมืองไกลทางสามหลัก ค่ายวัดวรโพธิทิศตวันออกเมือง ค่ายวัดการ้องทิศเหนือเมือง ค่ายวัดป่าไผ่ทิศเหนือเมือง ค่ายวัดลอดช่องทิศตวันตกเมือง ค่ายบ้านระจัน ทั้งสิ้นเปนสิบแปดค่ายด้วยกันตั้งอยู่รอบกรุง ที่แม่น้ำนั้นทำตะพานใหญ่ ๚

๏ ฝ่ายข้างกรุงนั้นขึ้นน่าที่เชิงเทินรักษาบ้านเมืองตรวจตราน่าที่ทั้งกลางวันกลางคืน น่าที่ผู้ใดรักษาน่าที่ผู้นั้น แล้วจึ่งขุนนางเจ๊กทั้งสี่คน คือ หลวงโชฎึก หลวงท่องสื่อ หลวงเนาวโชติ หลวงเล่ายา ทั้งสี่คนกับพวกเจ๊กเปนอันมาก จึ่งอาสาออกไปตีค่ายสวนพลู ได้รบพุ่งกันเปนอันมาก ฝ่ายฝรั่งมีชื่อคือ กรุงพานิช ฤทธิสำแดง วิสูตรสาคร อังตน กับเหล่าฝรั่งเปนอันมากนั้นอาสาออกตีค่ายบ้านปลาเห็ด ก็ได้รบพุ่งกันเปนอันมาก บ้างล้มตายทั้งสองฝ่าย แล้วจึ่งเหล่าพวกโจรออกอาสาคือ หมื่นหาญกำบัง นายด้วงไวยราพ นายจันเสือเตี้ย นายมากสีหนวด พวกโจรใหญ่สี่คนกับพวกโจรทั้งปวง พระหมื่นศรีเสาวรักษ์เปนแม่ทัพ กับเหล่าอาทมาตแลสมกำลังทั้งปวง พระหมื่นศรีเสาวรักษ์เปนแม่ทัพ กับเหล่าอาทมาตแลสมกำลังทั้งปวง ออกมาอาสาตีค่ายป่าไผ่ ได้รบกันกับพม่าเปนอันมาก ฝ่ายพม่าก็ล้มตายเจ็บป่วยเปนอันมาก ข้างไทยก็ล้มตายเจ็บป่วย​ทั้งสองฝ่าย แล้วจึ่งขุนนางแขกออกอาสา คือ หลวงศรียศ หลวงราชพิมล ขุนศรีวรขันธ์ ขุนราชนิทาน กับพวกแขกเทศ แขกจาม แขกมลายู แขกชวา บรรดาพวกแขกทั้งปวงเปนอันมาก จึ่งตั้งพระจุฬาเปนแม่ทัพยกออกไปตีค่ายบ้านป้อม ฝ่ายแม่ทัพแขก ข้างพม่าชื่อเนโมยกุงนรัดเปนแม่ทัพ ได้รบกันกับพระจุฬาบ้าง ก็ล้มตายเจ็บป่วยด้วยกันทั้งสองฝ่าย เหล่าพวกมอญขุนนางมีชื่อคือ หลวงเถกิง พระบำเรอภักดิ พระยาเกียรติ พระยาพระราม กับเหล่ามอญบ้านสามโคก บ้านป่าปลา บ้านหัวรอ กับพวกมอญทั้งปวงออกอาสา ได้รบกันเปนอันมาก แล้ว จึ่งเหล่าลาว ขุนนางมีชื่อ คือ แสนกล้า แสนหาญ แสนท้าว เวียงคำ กับพวกลาวกองหาญทั้งปวงเปนอันมาก ออกอาสาตีค่ายพม่าได้รบพุ่งกัน แล้วจึ่งเกณฑ์ให้พระยาพลเทพรักษาประตู ให้ตรวจตราบ้านเมืองเปนสิทธิขาด แล้วจึ่งเกณฑ์ขุนสุรินทรสงคราม ขุนฟองพินิจ ขุนอนุรักษ์มนตรี พระยากาญจนบุรี ขุนนางห้าคนนี้คุมทัพห้าทัพ แล้วจึ่งเกณฑ์พระยาเพ็ชรบุรีเปนแม่ทัพ แล้วจึ่งยกทัพทั้งทัพบกทัพเรือ ขุนนางคนหนึ่งคุมเรือยี่สิบลำ ขุนนางห้าคนเปนเรือรบร้อยหนึ่ง มีปืนใหญ่ตั้งหัวเรือลำหนึ่งบอกหนึ่ง ปืนขานกยางสองบอก มีอาวุธครบตัวกันแล้ว จึ่งให้ขุนนางยกทัพหนุนไปอิกคือ พระอไภยสุรินทร์ พระพิเรนทรราชา พระพิเรนทร พระพิเรนทรเทพ พระพลภักดี พระอินทรอไภย หลวงกระ จึ่งให้พระยาตากสินเปนแม่ทัพยกไป ทั้งทัพบกทัพเรือเปนแปดทัพด้วยกัน เปนเรือแปดร้อย เรือลำหนึ่ง​มีปืนใหญ่สามบอก บอกหนึ่งฝรั่งอยู่ข้างปืนใหญ่ เรือลำหนึ่งสามคนมีอาวุธครบตัวกันทั้งสิ้น แล้วจึ่งให้อินทรเทพ ราชรองเมือง หมื่นเทพทวาร ขุนงำเมืองธำมรง พระยาตะนาว พระยาไชยา ให้ยกทั้งทัพบกทัพเรือแปดทัพ อันทัพหนึ่งคนพันหนึ่ง ทัพหนึ่งมีเรือยี่สิบลำ ทั้งแปดทัพ เปนเรือรบร้อยหกสิบลำ คนแปดพันด้วยกัน เรือลำหนึ่งมีปืนใหญ่สามบอก ปืนขานกยางสามบอก มีอาวุธครบมือกันทั้งสิ้น แล้วมีทัพช้างทัพม้ายกทั้งทางบกทางเรือ แล้วพระยาพระคลังเปนแม่ทัพยกไปไล่ตีรบพุ่งกันเปนอันมาก ฝ่ายพม่าตั้งค่ายอยู่ทั้งสี่ทิศกรุง จึ่งยกมาตีทัพเหล่านี้ จึ่งออกตีทั้งสี่ด้าน ฝ่ายทิศเหนือนั้นคือพระยาเพ็ชรบุรีออกตีเปนทัพน่า กับพระยาตากสินด้วยกัน ทัพเรือข้างพม่านั้น ก็ยกทัพตีเข้ามา พระยาเพ็ชรบุรีจึ่งลงหลักไว้สู้รบพม่า ได้รบกันเปนอันมาก ฝ่ายพม่าก็ล้มตายเปนหนักหนา ข้างพม่าจึ่งยกทัพหนุนกันเข้ามาอิกเปนอันมาก จึ่งฆ่าพระยาเพ็ชรบุรีตาย พระยาตากนั้นก็หนีได้ ๚

13  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง เมื่อ: 29 เมษายน 2567 11:33:35
              
คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง

๏ ฝ่ายข้างสมเด็จพระพันวรรษาใหญ่นั้นก็ประชวรหนักลง เสด็จสู่สวรรคาไลยไปเปนสองพระองค์ด้วยกัน พระเอกทัศแลพระอุทุมพร​ราชาทั้งสองพระองค์ก็ทรงพระกรรแสงพิลาปร่ำไรถึงสมเด็จพระชนนีแลพระบิดา ทั้งพระราชบุตรแลพระราชธิดา ทั้งพระญาติวงษาทั้งปวง แลพระสนมกำนัลสาวสรรค์ทั้งปวง ทั้งเสนาบดีแลราชตระกูลเปนอันมาก ก็พากันโศกาอาดูรดังอื้ออึงครื้นเครงไปทั้งปราสาทศรี แล้วจึ่งสรงน้ำกุหลาบน้ำบุปผาเทศน้ำหอมต่าง ๆ ครั้นสรงแล้วจึ่งประดับประดาเครื่องทั้งปวงประดุจดั่งสมเด็จพระบิดา แล้วจึ่งเชิญมาใส่ในพระโกษฐทองสองชั้น แล้วจึ่งตั้งบนพระแท่นประดับแว่นฟ้าตั้งไว้ฝ่ายซ้ายพระบิดา แล้วสดับปกรณ์แลสวดฉันท์แลทำการทั้งปวงประดุจดั่งสมเด็จพระบิดา แล้วพระองค์จึ่งมีรับสั่งให้ปลงพระบรมศพพระบิดาแลพระชนนี อันบรรดาพระญาติวงษ์ทั้งปวงแลพระสนมกำนัลนารี แลพระยาประเทศราช แลราชนิกูล แลเสนาบดีน้อยใหญ่ แลเศรษฐีคหบดีทั้งสิ้น ให้แต่งตัวด้วยเครื่องขาวทุกสิ่งอันให้ครบตัวกันทั้งสิ้น บรรดาคนเกณฑ์แห่ทั้งปวงนั้น ก็ให้แต่งเครื่องขาวใส่ลำพอกถือพัดไปซ้ายขวาเปนอันมาก แล้วมีฆ้องกลองแตรสังข์แลแตรงอนแลพิณพาทย์ตีแห่ไปดั่งครื้นเครงไปทั้งพระราชวัง น่าพิณพาทย์นั้นเครื่องไทยทานทั้งปวงเปนอันมาก แล้วจึ่งเชิญพระมหาพิไชยราชรถทั้งสองเข้ามาเทียบแล้ว แลจึ่งเชิญพระโกษฐทองทั้งสองนั้นขึ้นสู่พระราชรถทั้งสองแล้ว จึ่งเทียมด้วยม้าสี่คู่ ม้านั้นผูกประกอบรูปราชสีห์กรวมตัวม้าลงให้งามแล้ว จึ่งมีนายสารถีขับรถแต่งตัวอย่างเทวดาข้างละสี่คน อันรถที่นำน่านั้นสมเด็จพระสังฆราชาอ่านพระอภิธรรม ถัดมาถึงรถเหล่าพระญาติวงษ์ถือจงกลปรายเข้าตอกดอกไม้ ถัดนั้นไปรถ​พระญาติวงษาถือผ้ากาสา มีปลอกทองประดับเปนเปลาะๆ ห่างกัน ประมาณสามวา แล้วถือซองหมากทองโยงไปน่า ถัดนั้นมาถึงรถพระบรมศพ ถัดมารถใส่ท่อนจันทน์แลกฤษณากระลำพักบิดทอง รูปเทวดาถือกฤษณากระลำพัก ท่อนจันทน์นั้นถือชูไปบนรถด้วยกัน จึ่งมีรูปสัตว์ ๑๐ อย่าง ๆ ละคู่เปน ๒๐ ตัว มีรูปช้างสอง ม้าสอง คชสีห์ราชสีห์สอง สิงโตสอง มังกรสอง ทักกะธอสอง นรสิงห์สอง เหมสอง หงษ์สอง แลรูปภาพทั้งนี้สูง ๔ ศอก มรฎปบนหลังสำหรับใส่ธูปน้ำมันพิมเสนแลเครื่องหอมต่างๆ มีคนชักรถพระบรมศพแซงไปซ้ายขวาแต่งตัวอย่างเทวดา ใส่กำไลต้นแขนแลกำไลมือ ใส่สังวาลทับทรวงใส่เทริดแล้ว เข้าชักรถพระบรมศพไปซ้ายขวาเปนอันมาก ชักด้วยเชือกหุ้มสักหลาดแดงไปสี่แถว รถนั้นชักไปบนเรือก สองข้างทางประดับด้วยราชวัตรแลฉัตรธงเบญจรงค์, ทอง, นาก, เงิน ฝ่ายน่าหลังฝ่ายซ้ายขวา มีเครื่องสูงกระบวนพยุหบาตราอย่างใหญ่ แลมีผู้ถือเครื่องราชาบริโภคครบครัน แล้วจึ่งถึงเกณฑ์แห่เสด็จขุนหลวง จึ่งมีเสนาบดีน้อยใหญ่นั้นแต่งตัวนุ่งขาวใส่เสื้อครุยขาวใส่ลำพอกขาวถือพัดแล้วเดินแห่ไปซ้ายขวา แล้วจึ่งถึงเหล่าปโรหิตราชครูถือพัดแห่ไปซ้ายขวา แล้วจึ่งถึงเหล่าราชนิกูลถือพัดแห่ไปซ้ายขวาเปนอันมาก แล้วจึ่งถึงเหล่าคนตีกลองชนะแลกลองโยนแตรสังข์แลแตรงอนนั้นก็เปนอันมาก แล้วซ้ายขวานั้นมีมหาดเล็กถือดาบทองแห่ไปซ้ายขวาเปนอันมาก แล้วจึ่งมีตำรวจในตำรวจนอกนั้นพนมมือเดินแห่ไปซ้ายขวา แล้วถึงหัวหมื่นมหาดเล็ก​นั้นพนมมือเดินแห่ไปซ้ายขวา แล้วจึ่งมาถึงมหาดเล็กเกณฑ์ถือพระสุพรรณศรีแลพระสุพรรณราช แลพระเต้าครอบทองแลพานทองแลเครื่องทองทั้งปวงต่าง ๆ นั้นก็เปนอันมาก แล้วเกณฑ์มหาดเล็กเหล่าถือพระแสงปืนแลพระแสงหอกแลพระแสงง้าวแลพระแสงกั้นหยั่น แลพระแสงประดับพลอยแลพระแสงดาบฝักทอง แลพระแสงต่างๆ เปนอันมากเดินแห่เสด็จไปซ้ายขวา แล้วมีมหาดเล็กแลนอกใน แลมหาดไทยถือกระสุนเดินแห่ไปซ้ายขวา ดูสูงต่ำดูห้ามแหนไปตามทางเสด็จทั้งซ้ายขวา ครั้นพร้อมแล้วพระองค์จึ่งแต่งองค์ทรงเครื่องประดับประดาทั้งปวงล้วนเครื่องขาว แล้วเสด็จขึ้นสู่พระเสลี่ยงทองประดับกระจก มีพระกลดขาว ยอดทองรบายทอง คันก็หุ้มทองประดับ มหาดเล็กลี่คนเดินกั้นไปซ้ายขวา มีพระบุตรีแต่งองค์ทรงเครื่องประดับประดาด้วยสร้อยสนิมพิมพาภรณ์เปนอันงาม นั่งบนพระเสลี่ยงสองหลัง ๆ ละสององค์เปนสี่ แห่แหนตามกระบวนหยุหบาตรา ไปฝ่ายหลังพระบรมศพสมเด็จพระบิดาแลพระชนนี แล้วจึ่งพระญาติวงษ์พระสนมกำนัลในทั้งปวงก็ตามเสด็จไปเปนอันมาก อันเหล่ามหาดเล็กแลมหาเศรษฐีคหะบดีทั้งปวง แลอำมาตย์น้อยใหญ่ทั้งปวง พร้อมกันตามเสด็จไปฝ่ายหลังกระบวนพยุหบาตรา แล้วจึ่งทำลายกำแพงวัง หว่างประตูมงคลสุนทรแลประตูพรหมสุคตต่อกัน ครั้นถึงพระเมรุใหญ่ที่ท้องสนามหลวงแล้ว จึ่งชักรถพระบรมศพทั้งสองนั้นเข้าในเมรุทิศเมรุแทรกทั้งแปดทิศแล้ว จึ่งทักษิณเวียน​พระเมรุใหญ่ได้สามรอบแล้ว จึ่งเชิญพระโกษฐทั้งสองนั้นเข้าตั้งในพระเมรุใหญ่ตามอย่างธรรมเนียม จึ่งไว้ พระบรมศพ ๗ ราตรีแล้ว จึ่งนิมนต์พระสังฆราช พระพิมล แลพระราชาคณะ คือ พระเทพมุนี มหาพรหมมุนี พระเทพเมาฬี พระธรรมอุดม พระอุบาฬี พระพุทธโฆษา พระมงคลเทพมุนี พระธรรมกถึก พระวินัยธร พระวินัยธรรม พระนาค แลพระสังฆราชาหัวเมือง แลพระสงฆ์ทั้งนอกกรุงแลในกรุงเปนอันมาก ก็เข้ามาสดัปกรณ์ทั้งเจ็ดวัน แล้วก็ถวายไตรจีวร แลเครื่องไทยทาน งเค็ด แลเตียบแลต้นกัลปพฤกษ์อันมีสิ่งของทั้งปวงต่าง ๆ นา ๆ ครบครันแล้ว มีต้นกัลปพฤกษ์แขวนเงินใส่ในลูกมะนาวต้นหนึ่งใส่เงินสามชั่งมีทั้งแปดทิศพระเมรุ ทิ้งทานวันละ ๘ ต้นทั้ง ๗ วัน เปนเงินร้อยหกสิบกับแปดชั่ง แล้วพระองค์จึ่งให้ทานผ้าผ่อนแลสิ่งของทั้งปวงต่าง ๆ เปนอันมาก แล้วจึ่งให้มีการมหรศพการเล่นต่าง ๆ เหล่าไพร่พลเมืองทั้งกรุงก็มารับทานเงินเข้าของต่างๆ ครั้นสำเร็จแล้วก็พากันไปดูงานที่ท่านให้แต่งไว้ต่างๆ นา ๆ แลเครื่องแต่งพระบรมศพทั้งปวงอันงามมีรูปสัตว์นา ๆ อันประดับประดาพระเมรุอันสูงใหญ่ มีรทาดอกไม้เพลิงแลดอกไม้ต่าง ๆ ตั้งรายรอบพระเมรุเปนอันมาก ครั้นเห็นที่ตกแต่งพระศพด้วยเครื่องนา ๆ บ้างก็มาโศกาอาดูรภูลโศกคิดถึงสมเด็จพระบรมราชา แล้วก็พากันครื้นเครงไปด้วยงานการเล่นทั้งปวง อันประกอบไปด้วยเสียงดุริยางคดนตรี มีงานมหรศพครบเจ็ดราตรี พระองค์จึ่งมีพระโองการตรัสสั่งให้ถวายพระเพลิงสมเด็จพระราชบิดาแลพระ​พันปีหลวงอันประเสริฐทั้งสองพระองค์ สมเด็จพระบรมเอกทัศแลพระอนุชาธิราช แลพระราชบุตรีแลพระสนมสาวสรรค์กำนัลทั้งซ้ายขวา แลพระญาติวงษ์ก็ห้อมล้อมพระบรมศพอยู่ จึ่งรับสั่งให้ถวายพระเพลิงด้วยไฟฟ้า แล้วจึ่งเอาท่อนกฤษณากระลำพักแลท่อนจันทน์อันปิดทอง บรรดาเครื่องหอมทั้งปวงนั้นใส่ในใต้พระโกษฐทองทั้งสอง แล้วจึ่งจุดเพลิงไฟฟ้า แล้วจึ่งสาดด้วยน้ำหอมแลน้ำดอกไม้เทศแลน้ำกุหลาบ แลน้ำหอมทั้งปวงต่าง ๆ อันมีกลิ่นหอมฟุ้งขจรตระหลบไปทั้งพระเมรุทอง ฝ่ายองค์บรมเอกทัศราชา แลพระอุทุมพรราชา ทั้งสองพระองค์ทรงพระกรรแสงพิลาปร่ำไร พระไทยคนึงถึงพระบิตุเรศพระชนนี ทั้งพระราชบุตรแลพระราชธิดา พระสนมสาวสรรค์ก็มากรรแสงไห้พิลาปร่ำไรไปสิ้น กษัตรประเทศราชทั้งปวงนั้นก็ห้อมล้อมอยู่รอบพระเพลิง แล้วจึ่งปรายเข้าตอกดอกไม้บูชาถวายบังคมอยู่สลอน ทั้งอำมาตย์ราชเสนาบดีใหญ่น้อย ทั้งราชนิกูลเศรษฐีคหะบดีทั้งปวงก็นั่งห้อมล้อมพระเมรุทองอยู่แล้ว ก็มาโศกาอาดูรร่ำรักพระบรมราชาอยู่อึงคนึงไปทั้งในพระเมรุหลวง ครั้นเพลิงสิ้นเสร็จสรรพ จึ่งให้ดับด้วยน้ำหอมแลน้ำกุหลาบ แล้วจึ่งแจงพระรูปทั้งสองพระรูป พระสังฆราชาแลราชาคณะทั้งปวงก็เข้ามาสดัปกรณ์พระอัฐิทั้งสองพระองค์ อันใส่ในผะอบทองทั้งสองพระองค์ ครั้นแล้วจึ่งเชิญพระอัฐิทั้งสองพระองค์นั้นใส่ในผะอบทองทั้งวอง จึ่งเชิญขึ้นสู่เสลี่ยงทองทั้งสองแล้ว แห่ออกไปตามทางออกประตูมนาภิรมย์ แล้วจึ่งตีฆ้องกลองแตรลำโพงแลแตรงอนแลกลองชนะ ​กลองโยนแลพิณพาทย์ ตั้งกระบวนมหาพยุหบาตรา จึ่งให้กั้นราชวัตรฉัตรธงไปตามมรรคา อันอาณาประชาราษฎรนั้น ก็โปรยปรายเข้าตอกดอกไม้ต่างๆ แล้วจึ่งแห่แหนไปจนถึงริมคงคา แล้วจึ่งเชิญผะอบทองอันใส่พระอัฐิทั้งสองพระองค์ขึ้นเรือพระที่นั่งกิ่งแก้วจักรรัตนเปนสองลำเปนน่าหลังกันไป จึ่งมีเครื่องสูงต่างๆ บนเรือพระอัฐนั้นตั้งเปนชั้น ๆ เปนหลั่น ๆ ตามที่ แล้วพระเอกทัศนั้นทรงเรือพระที่นั่งเอกไชย มหาดเล็กนั้นกั้นพระกลดขาวข้างพระองค์ ซ้าย ๔ คัน ขวา ๔ คันเปน ๘ คัน พระอุทุมพรอนุชานั้นทรงเรือพระที่นั่งทองขวานฟ้าเปนน่าหลังกันตามที่ แต่บรรดาเรือเกณฑ์แห่เรือนำ แลเรือรองแห่ไปซ้ายขวาน่าหลังกันตามตำแหน่งตามที่ เรือพระที่นั่งครุธพระที่นั่งหงษ์เปนซ้ายขวากันแล้วจึ่งถึงเรือนาคเหรา นาควาสุกรี แล้วจึ่งถึงเรือมังกรมหรรณพ มังกรจบสายสินธุ์ แล้วจึ่งถึงโตมหรรณพ โตจบภพไตร แล้วจึ่งถึงโตจบสายสินธุ์ แล้วจึ่งถึง เหินหาว หลาวทอง สิงหรัตนาศน์ สิงหาศน์นาวา นรสิงห์วิสุทธิสายสินธุ์ นรสิงห์ถวิลอากาศ แล้วจึ่งถึงไกรสรมุขมณฑป ไกรสรมุขนาวา อังมสระพิมาน นพเศกฬ่อหา จึ่งถึงเรือดั้งซ้ายขวานำรอง แลเรือคชสีห์ราชสีห์ เรือม้าเลียงผาเรือเสือแลเรือเกณฑ์รูปสัตว์ต่างๆ แลเรือดั้งเรือกันแห่ไปซ้ายขวา บรรดาเครื่องสูงราชอุปโภคทั้งปวง คือสัปทนแลฉัตรขาว อภิรุมชุมสายพัดโบกจามรทานตวันบังสูรย์บังแทรกแลเครื่องสูงนา ๆ ทั้งนั้น เหล่ามหาดเล็กเกณฑ์ถือขี่เรือพระที่นั่งทรงบ้าง พระที่นั่งรองบ้าง พายแห่ห้อมล้อมไปน่าหลัง​บรรดาเครื่องทอง พระสุพรรณศรี แลพระสุพรรณราช พระเต้าน้ำครอบทองนั้น มหาดเล็กถือลงเรือทรงข้างพระองค์ อันเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งปวงเปนอันมากนั้น มหาดเล็กเกณฑ์หุ้มแพรถือ ขี่เรือที่นั่งรองไปซ้ายขวาเปนอันมาก บรรดามหาดเล็กเกณฑ์ถือพระแสงประดับต่าง ๆ นั้น ลงเรือที่นั่งทรงริมพระที่นั่งเรียกว่ารายตีนตอง อันเกณฑ์มหาดเล็กถือพระแสงทั้งปวงเปนอันมากนั้นขี่ที่นั่งรอง แล้วพายแห่ไปซ้ายขวาน่าหลังนั้นเปนอันมาก อันพระราชบุตรพระราชธิดานั้น ลงเรือศรีสักลาดไปหลังพระที่นั่ง อันเหล่าพระสนมกำนัลลงขี่เรือศรีผ้าแดงตามเสด็จไปท้ายพระที่นั่ง อันเจ้าพระยาจักรีแลพระยากระลาโหมนั้น มีพานทองแลเจียดกระบี่ซ้ายขวา แลสัปทนปักน่าเรือตามตำแหน่ง แล้วขี่เรือคชสีห์แลราชสีห์ มีกูบก้านแย่งแล้วพายซ้ายขวาแห่ไป อันพระยายมราชาธิบดีศรีโลกทัณฑาธร ขี่เรือนรสิงห์ มีพานทองแลเจียดกระบี่สัปทนตามตำแหน่งบันดาศักดิ์จัตุสดมภ์ทั้ง ๔ นำน่าเสด็จดูน้ำลึกแลตื้น บรรดาอำมาตย์ราชเสนาบดีทั้งปวงนั้น ขี่เรือดั้งแลเรือกันมีเครื่องอุปโภคตามตำแหน่ง แล้วพายแห่ไปซ้ายขวาน่าหลัง บรรดา เหล่ามหาดเล็กขอเฝ้าทั้งปวงนั้น ขี่เรือตามเสด็จหลังกระบวนแห่ อันนายเพชฌฆาฏนั้นขี่เรือเสือแล้วดาบแดงไปน่าเรือ ตามเสด็จไปหลังพยุหบาตรา ตามตำแหน่ง อันเหล่าเกณฑ์ผ้พายนั้น บ้างก็โห่ร้องพายแห่ไป ๚


(ตอนนี้ฉบับขาด ใช้ความในคำให้การชาวกรุงเก่า)
​๏ ครั้นต่อมาพระเจ้าอุทุมพรราชาจึ่งให้สร้างวัดขึ้นวัด ๑ พระราชทานนามว่า วัดอุทุมพรารามเสร็จแล้ว ให้นิมนต์พระธรรมเจดีย์มาเปนเจ้าอาวาศ แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์ซ่อมมณฑปพระพุทธบาทที่ซุดโซมลงรักปิดทองขึ้นใหม่ฉลองเสร็จแล้ว เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท ครั้นเสด็จกลับพระนครก็สละราชสมบัติออกทรงผนวช พระเจ้าอุทุมพรราชาอยู่ในราชสมบัติไต้ ๓ เดือน เมื่อออกทรงผนวชนั้น วัน ๖ ๙ฯ ๑๒ ค่ำ ๑๒ จุลศักราช ๑๑๐๒ ปี ๚

๏ ข้าราชการทั้งปวงจึ่งเชิญเจ้าฟ้าเอกทัศขึ้นครองราชสมบัติ ก่อนที่เจ้าฟ้าเอกทัศจะขึ้นครองราชสมบัตินั้น เกิดนิมิตรอัศจรรย์ ลมพายุพัดต้นมะเดื่อซึ่งอยู่ทางทิศตวันออกแห่งพระราชวังหัก ยอดมะเดื่อที่หักนั้นหันมาทางพระราชมณเฑียร ข้าราชการทั้งปวงเห็นอัศจรรย์ดังนั้น ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูล เจ้าฟ้าเอกทัศจึ่งรับสั่งว่า นิมิตรซึ่งเกิดขึ้นนี้เปนมงคล พวกเจ้าทั้งหลายจงนำไม้มะเดื่อนั้นมาทำเปนแท่นเถิด ข้าราชการทั้งปวงก็ไปตั้งพิธีบวงสรวง มีมหรศพสมโภช แล้วตัดไม้มะเดื่อนั้นมาทำเปนพระแท่น เมื่อสำเร็จแล้วจึ่งจัดการราชาภิเศก ให้เจ้าฟ้าเอกทัศทรงเครื่องสำหรับกษัตรเสร็จแล้วเชิญขึ้นประทับเหนือพระแท่นไม้มะเดื่อ ครั้นได้ฤกษ์แล้วปโรหิตอาจารย์ก็โอมอ่านคาถาไชยมงคล พวกพราหมณ์ก็เป่าสังข์ทักษิณาวัฎ ชาวประโคมก็ประโคมเครื่องดุริยางคดนตรี ​พระอาลักษณ์จึ่งเชิญพระสุพรรณบัตรประดับพลอยรอบ ๓ ชั้น ซึ่งจาฤกพระนามอ่านถวาย มีใจความว่า อาเปกขศรีสุรเดชบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศิริขัง ปัจจังมหาจักรวรรดิ สรทยาธิบดี ศิริสัจติรัสหังสจักรวาฬธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดี ทะหะริมายะนะทะปธานาธิบดี ศิริวิบุลย์คุณอกนิฐถจิตรุจีตรีภูวนารถ ตรังคติพรหมเทวา เทพภูมินทราธิราช รัตนากาศสมมุติวงษ์ องค์เอกาทศรฐ วิสูตรโสตรบรมติโลกนารถ อาทิวิไชยสมทรทโรมันท อนันตคุณวิบุลย์สุนทรธรรมมิกราชเดโชชาติ โลกนารถวริสสาธิราชชาติพิเชษฐ เดชทศพลญาณสมันตมหันตพิชิตมาร วสุริยาธิบดีขัตติยวงษ์องค์รามาธิบดี ตรีภูวนารถธิปัจจโลกเชษฐวิสุทธิ์ มกุฎรัตนโลกเมาฬี ศรีประทุมาสุริยวงษ์ องค์ปัจจุพุทธางกูร ดังนี้ เสร็จแล้วเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ในพานทองประดับพลอย ๓ ชั้นเสร็จแล้วก็ทูลเกล้าฯ ถวายตามพระราชประเพณี ครั้นแล้วเอานามกรุงทวาราวดีซึ่งจาฤกลงในพระสุพรรณบัตรอ่านถวาย มีใจความว่า กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุทธยา มหาดิลกบวรรัตนราชธานีบุรีรมย์ แล้วพระราชวงษานุวงษ์ข้าราชการทั้งปวงก็ถวายตัวใหม่ทั้งสิ้น เจ้าฟ้าเอกทัศให้หล่อพระพุทธรูปเท่าพระองค์ แล้วทรงออกพระราชบัญญัติการใช้เครื่องชั่งเครื่องตวงเครื่องวัดต่างๆ ทั้งเงินบาทเงินสลึงเงินเฟื้องให้เที่ยงตรงตามราชประเพณี แล้วทรงพระกรุณาโปรดให้ยกเลิกภาษีอากรต่างๆ ในภายใน ๓ ปี แลโปรดให้ปล่อยนักโทษในเรือนจำ ครั้นพระพุทธรูปเท่าพระองค์สำเร็จแล้ว ก็ทรงบริจาค​พระราชทรัพย์ทำการฉลอง แล้วให้เชิญไปไว้กับพระศรีสรรเพ็ชญ์ในพระวิหารในพระราชวัง แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์สร้างพระอาราม ๒ พระอาราม พระราชทานนาม ว่า วัดลมุด ๑ วัดครุธาวาศ ๑ ๚


(เข้าความฉบับหลวง)
๏ อนึ่งพระองค์เลี้ยงพระสงฆ์เช้าเพล มีเทศนาแลสวดมนต์แผ่ผลเมตตามิได้ขาดเปนนิจอัตรา อันเงินการบุญตักเข้าบาตรก็ตักอยู่อัตรา เกณฑ์จังหันนิจภัตก็ส่งอยู่อัตราทุกอารามมิได้ขาด แลเกณฑ์บุญที่ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่สลักหักพังทุกอารามทั้งปวงทั้งนอกกรุงแลในกรุง แลเกณฑ์ค่าผ้าไตรจีวรที่ภิกขุสงฆ์อันอักกะดก แลมีจีวรคร่ำคร่าก็ถวายมิได้ขาด ทั้งสังเค็ดแลการกฐินทั้งในกรุงนอกกรุงแลทั้งหัวเมืองก็มีทุกปี แล้วย้งเกณฑ์เทียนพระวรรษาแลเครื่องบริขารครบครันก็มิได้ขาด เปนนิจทุกปี แล้วยังสมโภชพระศรีสรรเพ็ชญ์แลพระหัวเมืองก็ทุกปีมิได้ขาด ยังเกณฑ์ค่าโคเกวียน แลสมโภชพระพุทธบาทก็ทุกปี อันเงินเหล่านี้ทั้งสิ้นสริเบ็ดเสร็จปีหนึ่งเปนเงินพันหนึ่งกับห้าร้อยชั่ง ยังเข้าเกณฑ์บุญนั้นปีหนึ่งเข้าหมื่นหนึ่งกับห้าพัน ๚

๏ ครั้นถึงเดือนแปดปฐมาสาธวันเพ็ญสิบห้าค่ำนั้น พระองค์ก็บวชนาคหลวงทั้งภิกขุแลสามเณรปีหนึ่ง สามสิบองค์บ้าง สี่สิบองค์บ้าง ทุกปีมิได้ขาด ครั้นมีสูรย์แลจันทร์อังคาธ พระองค์ทรงแจก​เงินทองเสื้อผ้าสารพัดต่าง ๆ ก็เปนอันมาก แล้วพระองค์มีรับสั่งให้ตั้งศาลาฉ้อทานทั้งสี่ทิศกรุงก็ทุกปีมิได้ขาด ๚

๏ ครั้นถึงเพ็ญเดือนสิบสองพระองค์ให้ทำจุลกฐิน แลเครื่องเข้าตอกดอกไม้ธูปเทียนฉัตรธงทั้งปวงเปนอันมาก แห่ไปถวายพระทุกอารามนั้นก็มิได้ขาดปี ๚

๏ ครั้นถึงเดือนสี่พระองค์เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท ตั้งเปนกระบวนพยุหบาตราแห่ไป ครั้นถึงแล้วพระองค์จึ่งให้มีการสมโภช มีการมหรศพมีโขนหนังทั้งระบำเทพทอง มีลครแลหุ่นสารพัดต่าง ๆ แล้วจึ่งตั้งรทาดอกไม้เพลิง หว่างช่องรทาดอกไม้นั้น มีโขนหนังมงครุ่มผาลาระบำเทพทอง แลหกคเมนสามต่อไต่ลวดรำแพนลวดบนปลายเสา แล้วพระองค์เลี้ยงพระสงฆ์ห้าร้อยองค์ ฉันถ้วนเจ็ดวันแล้ว จึ่งถวายจีวรสังเค็ดแล้ว พระองค์จึ่งแจกทานแก่อาณาประชาราษฎรให้เงินทองเสื้อผ้าสิ่งของครามครัน ให้แก่อาณาราษฎรที่มารับพระราชทานทั้งหญิงทั้งชายก็ชื่นชมยนดื ยอกรอัญชลีเหนือเกล้าเกษา ถวายพระพรอยู่เซงแช่ แล้วก็พากันดูงานการมหรศพต่างๆ เปรมปรีดิ์ทั้งเด็กผู้ใหญ่ ครั้นเพลาค่ำก็จุดดอกไม้เพลิงรุ่งเรืองโอภาษประหลาดแก่ตา หญิงชายก็พากันมาดูดอกไม้ต่าง ๆ ก็ชื่นเริงบรรเทิงใจ แล้วพระองค์เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท เกณฑ์แห่แหนซ้ายขวาเปนอันดับกันเปนหลั่น ๆ กันไป เปนพระประเทียบทั้งพระองค์แลมเหษีแลพระราชบุตรบุตรีแห่เปนที่ ๆ ​ขึ้นไป ครั้นถึงแล้วพระองค์ก็เสด็จพระดำเนินเข้าไปในพระมณฑป จึ่งถวายธูปเทียนทองแลเครื่องบูชาเข้าตอกดอกบุบผาอันมีกลิ่นต่าง ๆ นา ๆ แล้วโปรยปรายถวายบูชาพร้อมด้วยพระราชบุตรบุตรีแลพระอรรคมเหษี แลพระสนมกำนัล ก็อภิวันท์สพรึบพร้อมบังคมนมัสการ ครั้นแล้วพระองค์จึ่งโปรยปรายเงินทองให้เปนทาน แล้วก็ทิ้งทานต้นกัลปพฤกษ์วันละ ๘ ต้น ต้นหนึ่งเปนเงินสิบชั่ง ให้ทิ้งทานทั้งเจ็ดวัน แล้วก็เสด็จกลับมาอยู่ที่พลับพลา ครั้นมีการมหรศพสมโภชแล้ว เสด็จขึ้นไปนมัสการอยู่ครบเจ็ดวันแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปชมธารเกษม เสด็จทรงรถพระที่นั่งโถง อันพระมเหษีแลพระราชบุตรบุตรีนั้นทรงรถต่างๆ กัน เหล่าพระกำนัลแลพระสนมสาวสรรค์กัลยาทั้งปวงนั้นก็ขี่รถต่าง ๆ กันแล้ว แห่แหนไปในไพรสณฑ์ ครั้นถึงจึ่งเสด็จลงจากราชรถ ก็เสด็จพระดำเนินไปตามลำธารน้ำ อันเหล่าพระกำนัลนารีก็มีมโนรื่นเริงใจ แล้วก็ชี้ให้ชมธารแลศิลากรวดทราย อันมีสีแดงแลขาว บ้างก็เปนสีเขียวดังมรกฎอันดี ที่ดำนั้นดังสีปีกแมลงทับมีสีนั้นต่างๆ อันหว่างช่องศิลาในน้ำนั้นมีมัจฉาชาติว่ายเวียนเลี้ยวลอดไปตามช่องศิลาเปนคู่ ๆ ยิ่งดูยิ่งเพลินใจ บนเนินคิรีมีภูผาเปนช่อช้อยลงมาต่าง ๆ บ้างก็เปนภู่กลีบห้อยย้อยลงมา บ้างก็มีน้ำพุดุดั้นไหลมาตามช่องศิลา อันพฤกษาสารที่บนคิรีมีดอกแลออกช่อมีสีต่างๆ งามล้วนดอกแลต้นไม้นั้นก็งามต่าง ๆ นา ๆ อันเชิงเขา​พนมโยง นั้นมีพลอยเพ็ชรแลทับทิมมรกฎแลพลอยนิลต่าง ๆ ล้วนพลอยแตกสลายด้วยสดายุรบกับทศกรรฐ์ที่ตำบลอันนั้นจึ่งแตกอยู่จนเท่าบัดนี้ เหล่าปักษาปักษีก็มีต่าง ๆ นา ๆ มีเสียงไพเราะเพราะสนั่น เหล่าวานรนั้นก็โลดอยู่ไปมาบนค่าคบพฤกษาลำเนาธาร เหล่าพาฬมฤคราชนั้นก็มีต่างๆ อันลำเนาป่าแลท่าน้ำนั้นเปนที่อาไศรยแก่ฤๅษีสิทธิวิทยาธรชาวลับแล แลภิกขุสงฆ์อันถือธุดงค์ แลพระปริยัติวิปัสนา ก็ได้อาไศรยทำความเพียรอยู่นั้นก็มีมาก ครั้นพระองค์ชมท่าธารแล้วก็เสด็จกลับพร้อมด้วยมหาดเล็กแลขอเฝ้า ทั้งเหล่าจัตุรงคโยธาเสนามาตยาแห่แหนเสด็จกลับเข้าสู่กรุงพระนคร แล้วว่าราชการงานกรุงตามเยี่ยงอย่างแต่ก่อนมา ครั้นถึงสามยามเศษตีสิบทุ่มแล้วประธมตื่น บ้วนพระโอษฐสรงพระภักตร์แล้วก็เสด็จเข้าที่นั่งพระธรรม รักษาข้างพระปริยัติแลคันถธุระ ครั้นเพลารุ่งเช้าเสด็จเข้านมัสการบูชาพระ แล้วถวายธูปเทียนแลเข้าตอกดอกไม้ ครั้นนมัสการพระแล้ว เวลาโมงหนึ่งเสด็จออกท้องพระโรง เหล่ากำนัลนารี (ขันที) ตามเสด็จไปพร้อมพรั่ง เหล่า​เสนามนตรีแลราชบัณฑิตย์ทั้งปวง ก็ถวายบังคมแล้วอ่านเรื่องราวความกราบทูลฉลอง แล้วพระองค์จึ่งตรัสตราสินว่าราชการการกรุงตามผิดแลชอบ ตามกฎพระไอยการเยี่ยงอย่างมาแต่ก่อน ครั้นแล้วก็เสด็จเข้ามาเรียกเครื่องพระสุพรรณภาชน์เข้าสู่ที่เสวย พรั่งพร้อมแวดล้อมไปด้วยพระกำนัลนารีเฝ้าที่เสวย ครั้นสรรพเสร็จก็เสด็จจงกรมบริกรรม ครั้นแล้วก็เข้าที่ประธมกลางวัน พร้อมด้วยนางนารีนั่งอยู่งานพัดวี บ้างอยู่งานนวด ครั้นประธมตื่นแล้วทรงเขียนพระอักษรเกณฑ์บุญ ครั้นเพลาบ่ายสามโมงเศษเข้าสรง พร้อมด้วยนางสนมกำนัลอันเกณฑ์เฝ้าที่สรง แลนางเกณฑ์ถวายผ้าชุบสรง แลถวายพระภูษาผ้ารัตกัมพล แลนางถวายเครื่องพระสุคนธรศต่างๆ ครั้นเข้าที่สรงแล้วเสด็จเข้าที่เสวยเพลาเย็น พร้อมด้วยนางพนักงานเฝ้าที่เสวย บ้างก็นั่งอยู่งานโบกพัดอยู่ตามที่ตามพนักงาน ครั้นเวลายามเศษแล้ว ทรงฟังนายเวรมหาดเล็กอ่านตรวจรายชื่อมหาดเล็กนอนเวร แล้วนางกำนัลเกณฑ์ทำมโหรีบ้างก็ขับรำทำเพลงเกณฑ์นางบำเรอ แล้วก็เข้าที่ประธม อันราชกิจนี้ตามประเพณีกษัตรมิได้ขาดวัน ๚


------------------------------------
เขาพนมโยงอยู่ชายทุ่งในแขวงสระบุรี ข้างใต้หมู่เขาพระฉาย ไม่ใช่ที่หมู่เขาพระพุทธบาท ความเห็นจะหมายว่าเสด็จพระบาทแล้ว เสด็จเข้าพนมโยงในทางที่จะเสด็จพระฉาย
ความต่อนี้กล่าวด้วยพระราชานุกิจ
14  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง เมื่อ: 29 เมษายน 2567 11:31:52
              
คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง

๏ ครั้นอยู่มาเมื่อจุลศักราชได้ ๑๑๑๐ ปีในปีมะโรงสัมฤทธิศกนั้น เจ้าเมืองมัตตมะทั้งผัวเมีย กับผู้คนบ่าวไพร่ทั้งปวงเปนอันมาก ทั้งเจ้าเมืองทวายด้วยกัน ทั้งบ่าวไพร่ผู้คนหนีมาจากเมืองมัตตมะแลเมืองทวาย เข้ามาในแดนกรุงศรีอยุทธยา ข้างด่านทางพระเจดีย์สามองค์ นายด่านชื่อขุนนรา ขุนลคร จึ่งพาเอาตัว​เจ้าเมืองมัตตมะ, เจ้าเมืองทวาย ทั้งสองนายเข้ามาแจ้งกับเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ซักไซ้ไต่ถามจึ่งแจ้งความว่า ตัวข้าพเจ้าผู้เปนเจ้าเมืองมัตตมะนี้ ชื่อแมงนราจอสู เมียชื่อนางแมงสันเปนมอญ เรียกชื่อภาษามอญนั้นนายเม้ยมิฉาน อันเจ้าเมืองทวายนั้นชื่อแมงแลกแอชอยคอง หนีมาจากเมืองทวายแลเมืองมัตตมะ จะมาพึ่งโพธิสมภารพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ตัวข้าพเจ้าผัวเมียกับผู้คนสมกำลังบ่าวไพร่ทั้งปวงด้วยกันทั้งสิ้น จักขอเข้ามาอยู่ใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท อันเจ้าเมืองทวายก็ให้การตามความที่มีมาทั้งสิ้น แล้วให้การว่าพระเจ้าอังวะตั้งให้ข้าพเจ้ามาเปนเจ้าเมืองมัตตมะ เปนผู้รักษาแดนมัตตมะแลแดนทวาย บัดนี้มอญชื่อพระยากรมช้าง พระเจ้าอังวะตั้งลงมาให้เปนเจ้าเมืองหงษาวดี คิดกบฎต่อพระเจ้าอังวะ แล้วต่อสู้รบกันเปนอันมาก ข้าพเจ้าจะยกทัพไปช่วยพระเจ้าอังวะ จึ่งเกณฑ์ผู้คนเมืองมัตตมะ ขุนนางเมืองมัตตมะจึ่งเปนกบฏ แล้วไล่จับตัวข้าพเจ้าจักฆ่าเสีย ข้าพเจ้าจึ่งหนีเข้ามาแดนเมืองทวาย จึ่งไปพบเจ้าเมืองทวายเข้าที่เมืองกะลิอ่อง ข้าพเจ้ากับเจ้าเมืองทวายจึ่งคิดอ่านกันแล้ว ก็เกณฑ์ผู้คนชาวเมืองกะลิอ่องจะขึ้นไปช่วยเจ้าอังวะ ชาวเมืองกะลิอ่องจึ่งแขงเมืองเอาแล้วไล่ข้าพเจ้าจักฆ่าเสีย ข้าพเจ้าจึ่งหนีเข้ามาพึ่งโพธิสมภาร จักอยู่ใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาไปจนตราบเท่าวันตาย แล้วแมงนราจอสูให้การว่าข้าพเจ้าไปเรียกสมิงทอนั้น ๆ ว่าขานท้าทายมาดั่งนี้ ฝ่ายกรมช้างคิดครั่นคร้ามกลัวทาง​สมิงธอจะขึ้นมา จึ่งให้ไปปลอบโยนมาแต่โดยดี แล้วจึ่งเอานางกุ้งผู้เปนลูกสาวนั้นยกให้เปนเมีย แล้วจึ่งมอบราชสมบัติให้แก่สมิงธอกรมช้าง จึ่งทำการราชาภิเศกให้สมิงธอครอบครองกรุงหงษาวดี ในปีนั้นจึ่งตั้งนางกุ้งให้เปนที่มเหษี ครั้นสมิงธอได้ครองเมืองหงษาวดีก็มีบุญญาธิการยิ่งนัก จึ่งได้ช้างด่างกระดำตัวหนึ่ง จึ่งให้ชื่อรัตนาฉัททันต์ ครั้นอยู่มาสมิงธอ จึ่งให้ราชสาสนไปถึงพระเจ้าหงษ์ดำอันเปนเจ้าเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่นั้น ก็กลัวบุญญาอานุภาพสมิงธอ จึ่งยกลูกสาวอันชื่อนางเทพลิลานั้นให้เปนเมียสมิงธอ สมิงธอจึ่งตั้งนางเทพลิลาอันเปนลูกสาวพระเจ้าเชียงใหม่นั้นให้เปนที่มเหษี อันนางกุ้งลูกสาวกรมช้างนั้น ให้เปนที่มเหษีขวา อันสมิงธอนั้นรักใคร่ลุ่มหลงไปแต่ฝ่ายนางเทพลิลา มิได้ทำนุบำรุงนางกุ้งที่เปนมเหษีขวา ฝ่ายกรมช้างผู้เปนพ่อตานั้นก็น้อยใจ ว่าสมิงธอนี้ไม่รักใคร่ลูกสาว กรมช้างจึ่งคิดอ่านทำการทั้งปวง ครั้นอยู่มากรมช้างจึ่งบอกข่าวช้างเผือก ว่ามีช้างเผือกผู้ตัวหนึ่ง อยู่ในป่าแดนเมืองตองอู มีรูปอันงามยิ่งนัก สมิงธอครั้นแจ้งข่าวช้างเผือก จึ่งยกทัพไปตามช้างเผือกที่ในป่า ครั้นสมิงธอไปตามช้างเผือก พระยากรมช้างจึ่งซ่องสุมผู้คนแล้วจึ่งปิดประตูเมืองให้ขึ้นน่าที่เชิงเทิน จึ่งเกณฑ์ทัพแล้วยกไปรบพุ่งสมิงธอ สมิงธอนั้นสู้รบต้านทานพระยากรมช้างมิได้ จึ่งพาเอานางเทพลิลาผู้เปนมเหษีนั้นไปส่งเสียเชียงใหม่แล้วจึ่งยกทัพกลับมาสู้รบกันกับพระยากรมช้าง สมิงธอรบพุ่งต้านทานพระยากรมช้างมิได้ ก็แตกหนี จึ่งเข้ามาพึ่งโพธิสมภารพระเจ้า​กรุงศรีอยุทธยา ครั้นแมงนราจอสูให้การดั่งนั้น เจ้าพระยาพระหลวงจดหมายเอาคำที่ให้การนั้นเข้าไปทูลฉลองกับพระบรมราชา พระบรมราชาครั้นทราบจึ่งตรัสว่า อ้ายสมิงธอนี้มันเปนชาติกวย เมื่อครั้งมันได้นั่งเมืองหงษานั้น มันให้มาขอลูกสาวเรา ใจมันกำเริบ มันไม่คิดถึงตัวมันว่าใช่เชื้อกษัตร มันจองหองมาขอลูกสาวเรา จึ่งมีพระราชโองการตรัสสั่งให้เอาตัวใส่คุกไว้ แล้วให้จำจองตัวมันไว้ เจ้าพระยากรมท่าจึ่งเอาตัวสมิงธอนั้นมาใส่คุกไว้ แล้วจำจองไว้ตามรับสั่ง อันสมิงธอนั้นเปนคนดีมีความรู้ฝ่ายข้างวิปัสนาธุระแผ่เมตตาดีนัก ผลที่สมิงธอแผ่เมตตานั้น อันผู้คุมแลนายคุกก็มีเมตตาแล้วมิได้จำจอง ก็ลดลาไว้ให้อยู่ดีดี แล้วเลี้ยงดูให้กินอยู่ก็บริบูรณ์มิได้ลำบากยากใจ ครั้นกิติศัพท์นั้นรู้ไปถึงเจ้ากรมหมื่นจิตรสุนทรผู้เปนพระราชบุตร ว่าสมิงธอนี้เปนคนดีมีวิชาความรู้ดียิ่งนัก จึ่งมาเรียนความรู้ แล้วจึ่งทำนุบำรุงเลี้ยงดูให้กินอยู่มิให้อนาทรร้อนใจ แล้วจึ่งทูลเบี่ยงบ่ายแก้ไขให้สมิงธอได้ออกจากคุก ครั้นอยู่มาพระยากรมช้าง ซึ่งเปนเจ้าเมืองหงษาวดีรู้ไปว่าสมิงธอหนีเข้าไปอยู่ในเมืองกรุงศรีอยุทธยา จึ่งให้เสนาถือหนังสือเข้ามากราบทูลกับพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ว่าอย่าให้กรุงศรีอยุทธยารับตัวสมิงธอไว้ มันเปนคนไม่ตรง อกตัญญู ให้พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาส่งตัวมันมาจะฆ่ามันเสีย พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาก็มิได้ส่งตัวสมิงธอไป จึ่งฝากสำเภาจีนส่งไปเสียเมืองจีนเมื่อครั้งจุลศักราช ๑๑๑๘ ปีชวดอัฐศก เมื่อพระบรมราชาจักใกล้สวรรคต ส่วนเจ้าสำเภาจีนรับเอาตัวสมิงธอ​ไปสำเภาแล้ว จึ่งปล่อยเสียที่กลางทางแล้ว สมิงธอจึ่งตรงไปเข้าแดนเมืองเชียงใหม่ ไปหานางเทพลิลาอันเปนลูกเจ้าเมืองเชียงใหม่ผู้เปนบิดา แล้วจึ่งให้ทูลขอกองทัพจักไปรบเมืองหงษา พระเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็มิได้เกณฑ์ทัพตามใจนางเทพลิลาทูลขอ ครั้นสมิงธอให้นางเทพลิลาทูลขอกองทัพไม่ได้ดั่งใจ จึ่งลักเอานางเทพลิลาได้แล้วก็พาหนีมาจากเมืองเชียงใหม่ กับผู้คนสมกำลังเปนอันมาก ครั้นมาถึงกลางทางจึ่งมาพบมางลองยกทัพออกไปรบเมืองหงษา มางลองจึ่งจับเอาตัวสมิงธอได้แล้วก็ส่งขึ้นไปเมืองอังวะ ครั้นมางลองได้เมืองหงษาแล้ว มางลองจึ่งยกทัพมารบกรุงไทย เมื่อครั้งจุลศักราชได้ ๑๑๒๒ ปีมะโรงโทศก ๚

๏ อันพระบรมราชานั้นพระองค์มีเมตตาแก่สัตว์ ทั้งตั้งอยู่ในยุติธรรม ถ้าใครชอบพระองค์ก็ตอบรางวัล ถ้าใครผิดก็ให้ลงทัณฑ์โทษา ที่ควรเลี้ยงพระองค์ก็เลี้ยงตามศักดิ์ ที่ควรฆ่าก็ฆ่าให้บรรไลย จนพระราชบุตรแลพระราชธิดาพระองค์ก็มิได้ว่า อันพระราชอาญาของพระองค์นี้ดั่งขวานไชยของรามสูร จนแต่พระมหาอุปราช ที่พระองค์รักใคร่เสน่หา ครั้นไม่อยู่ในยุติธรรมแล้ว พระองค์ก็มิได้ว่า พระองค์ก็สังหารให้ถึงแก่พิราไลย ยังพระราชบุตรสององค์พระองค์ก็ปลงชีวิตรให้ถึงแก่ความตาย แล้วพระองค์จึ่งจัดตั้งเจ้าฟ้าดอกเดื่อเปนที่พระมหาอุปราชแทนที่ ด้วยเดิมทีเมื่อแรกจะมีพระครรภ์เจ้าฟ้าดอกเดื่อนั้น พระองค์ก็ทรงพระสุบินนิมิตรฝันว่าพระองค์ได้ดอกมะเดื่อ พระองค์ทรงทำนายทายฝันพระองค์เอง ​อันว่าดอกมะเดื่อนี้ไม่มี หายากนัก ก็มาได้ดอกมะเดื่อนี้เปนลาภใหญ่ดีหนักหนา เปนที่ยิ่งอยู่ในโลก พระองค์จึ่งคิดจะให้ครอบครองราชสมบัติสืบไป จึ่งตั้งเจ้าฟ้าดอกเดื่อให้เปนที่มหาอุปราช เพื่อเหตุว่าทรงพระสุบินนิมิตรดั่งนี้ จึ่งตั้งให้เปนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล อยู่วังจันทร์เกษม ได้ครองกึ่งพิภพพารา พระบิดาจึ่งสมมุตินามเรียกพระอุทุมพร เมื่อครั้งจุลศักราชได้ ๑๑๑๙ ปีฉลูนพศก พระอุทุมพรได้เปนที่มหาอุปราช รององค์สมเด็จพระบิดา ๆ ให้ว่าราชการกึ่งพิภพ อันพระบรมราชานั้น ได้เสวยราชสมบัติมาช้านานหนักหนา แต่เปนที่มหาอุปราชมาก็ช้านานได้ถึงยี่สิบปี พระชนมได้เจ็ดสิบพระวรรษา เมื่อกาลจะมาถึงที่ ด้วยพระองค์เปนอธิบดีได้เปนใหญ่อยู่ในพิภพแลนคร จึ่งมีวิปริตด้วยเทพสังหรต่าง ๆ อันกลาบาตนั้นก็ตกลงมาที่ในเมือง ทั้งฟ้าก็แดงดูดั่งแสงเพลิง อันน้ำที่ในแม่น้ำนั้นก็บันดาลให้เดือดแดงเปนสีเลือด ธุมเกตุก็ตกถูกปราสาท ทั้งอินท์ธนูลำภูกันดาวหางก็ขึ้นมา ทั้งคลองช้างเผือกก็ขวางขึ้นมาตามอากาศ ทั้งกรีกาลกะลาจักรก็ขึ้นมา ทั้งดาวก็เข้าในพระจันทร ทั้งพระอาทิตย์ก็ให้มืดเย็นเยือกไปทั่วทุกทิศ ทั้งพระจันทร์ก็แดงเหมือนแสงเพลิง ก็พากันเงียบเหงาเศร้าใจไปด้วยกันทั้งสมณะแลชีพราหมณ์ ทั้งเสนาประชาราษฎรชายหญิงแลเด็กใหญ่เฒ่าแก่ ทั้งกรุงแลขอบขัณฑเสมาของพระองค์ทั้งสิ้น ด้วยนิมิตรที่พระองค์จะนิพาน พระองค์นั้นวันเสาร์ได้เสวยราชสมบัติมาช้านาน แต่เมื่อครั้งจุลศักราชได้ ๑๐๙๓ ปีชวดจัตวาศก พระ​ชนมายุได้ ๕๑ ปี อยู่ในราชสมบัติได้ ๒๗ ปี เปน ๗๘ ปี จึ่งสวรรคต เมื่อปีสวรรคตนั้นจุลศักราชได้ ๑๑๒๐ ปีขาลสัมฤทธิศก เดือนเก้าแรมหกค่ำวันพุฒ เพลาได้ยามเศษ ๚

๏ เมื่อจุลศักราชได้ ๑๑๒๐ ปีขาลสัมฤทธิศก วันพุฒเดือนหกแรมห้าค่ำ พระบรมราชาสวรรคตแล้ว พระอุทุมพรราชาได้ว่าราชการกรุงทั้งปวง จึ่งคิดอ่านกันกับพระเชษฐาธิราช ที่จะแต่งการพระบรมศพสมเด็จพระบิดา จึ่งมีรับสั่งให้เรียกบรรดาพระญาติวงษ์ทั้งปวงมาเปนอันมาก ฝ่ายพระญาติวงษ์น้อยใหญ่ทั้งสิ้น ก็เข้ามาถวายบังคมพร้อมกันแล้ว มีพระโองการรับสั่งให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ตามประเพณีตามอย่างแต่ก่อนมา บรรดาพระราชตระกูลแลเสนาอำมาตย์น้อยใหญ่เปนอันมาก ก็ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนมา ฝ่ายกุมารทั้งสามนั้นคือ กรมจิตรสุนทร, กรมสุนทรเทพ, กรมเสพย์ภักดี, กุมารทั้งสามนั้น พระโองการให้ไปเรียกก็มิได้มาตามรับสั่ง ขัดรับสั่งแล้วซ่องสุมผู้คนแลสาตราวุธเปนอันมาก มิได้ปรกติตามที่ตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนมา ฝ่ายพระสังฆราชนั้นมีเมตตาแก่สัตว์ทั้งปวงกลัวจะเกิดเหตุจะมีอันตรายแก่สัตว์ทั้งปวง จึ่งไปเรียกกุมารทั้งสามพระองค์มา ฝ่ายกุมารทั้งสามองค์นั้น ก็เข้ามาตามพระสังฆราช จึ่งเข้าไปกราบพระศพแลกราบพระอุทุมพรราชาแล้ว ก็ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามประเพณี ​ตามอย่างธรรมเนียมแก่ก่อนมา แล้วก็คืนมายังบ้านหลวงอันเปนที่อยู่แต่ก่อน ก็มิได้ปรกติ มิได้เลิกทัพที่ซ่องสุมผู้คนแลสาตราวุธทั้งปวงนั้น แลเสนาบดีก็ให้ผู้คนไปสอดแนมดูแล ก็เห็นผู้คนแลสาตราวุธครบตัวกันซ่องสุมอยู่เปนอันมาก ครั้นคนที่ไปดูนั้นเห็นแล้วจึ่งเอาความมาแจ้งเหตุแก่เสนาบดีผู้ใหญ่ ฝ่ายเสนาบดีผู้ใหญ่จึ่งปฤกษาโทษตามอย่างธรรมเนียมกฎพระไอยการ ก็เห็นว่าโทษผิดเปนอันมากโทษนี้ถึงตาย ครั้นปฤกษาพร้อมกันสิ้นแล้ว บรรดาเสนาบดีน้อยใหญ่ทั้งปวง จึ่งใส่ในกฎพระไอยการ จึ่งทำเรื่องราวกราบทูล ครั้นทำเรื่องราวแล้ว เสนาบดีทั้งปวงพร้อมกันเข้าไปกราบทูลฉลองแก่สมเด็จพระอุทุมพรราชา ครั้นพระอุทุมพรราชาทรงทราบแล้ว จึ่งมีพระโองการตรัสให้ทำตามบทพระไอยการตามโทษ ครั้นมีพระโองการตรัสออกมาแล้ว ฝ่ายเสนาบดีผู้ใหญ่จึ่งจดหมายพระโองการมาตามมีรับสั่ง แล้วจึ่งให้อำมาตย์ผู้น้อยคุมผู้คนไปเรียกสามกุมาร ๆ ครั้นอำมาตย์ไปเรียกก็ยกผู้คนตามมา มีสาตราวุธเปนอันมาก ครั้นมาถึงประตูพระราชวังแล้ว ฝ่ายผู้คนที่รักษาประตูพระราชวังนั้นจึ่งออกห้ามปราม มิให้ผู้คนทั้งปวงนั้นเข้าไป บรรดาผู้คนทั้งปวงที่ตามสามกุมารมานั้น ก็หยุดอยู่ที่นั้น มิได้ตามไปในพระราชวัง ฝ่ายกุมารทั้งสามองค์นั้น ก็เข้าไปในพระราชวังทั้งสามองค์ ฝ่ายเสนาบดีทั้งนั้นจึ่งจับกุมารทั้งสามนั้นล้างเสียให้ถึงแก่ความพิราไลยตามกฎพระไอยการที่มีมาตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน ตามมีพระโองการรับสั่งมา ครั้นสิ้นเสี้ยนศัตรูแล้ว พระ​อุทุมพรราชากับพระเชษฐาธิราชนั้น ก็คิดอ่านกับที่จะทำการพระบรมศพ แล้วพระองค์จึ่งมีพระโองการให้มีตราพระราชสีห์ไปทุกประเทศราช ให้ชุมนุมกษัตรทั้งปวงทุกหัวเมืองขึ้น บรรดาหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งสิ้น ให้มาปลงพระบรมศพสมเด็จพระบิดาแล้ว จึ่งเอาน้ำหอมแลน้ำดอกไม้เทศแลน้ำกุหลาบน้ำหอมต่าง ๆ เปนอันมากมาแล้ว พระอุทุมพรราชา พระเอกทัศ ทั้งสองพระองค์ก็ทรงพระกรรแสงร่ำไร ด้วยคิดถึงพระคุณสมเด็จพระบิดา ก็เศร้าโศกร่ำไรทั้งสองพระองค์ พระราชบุตรกับพระธิดาทั้งพระญาติวงษาทั้งปวง แลพระสนมกำนัลทั้งปวงเปนอันมาก กับข้าหลวงน้อยใหญ่ แลราชนิกูลน้อยใหญ่ประเทศราชทั้งปวง เศรษฐีคหะบดีก็พร้อมกันร้องไห้อื้ออึงไปในปราสาท ด้วยความรักพระบรมราชาทั้งสิ้น ครั้นสรงน้ำหอมแล้ว จึ่งทรงสุคนธรศแลกระแจะจวงจันทน์ทั้งปวงแล้ว ทรงสนับเพลาเชิงงอนทองชั้นใน แล้วทรงพระภูษาพื้นขาวปักทองชั้นนอก แล้วจึ่งทรงเครื่องต้นแลเครื่องทรง แล้วจึ่งทรงฉลองพระองค์อย่างใหญ่กรองทอง สังเวียนหยักแลชายไหวชายแครง ตาบทิศแลตาบน่าแลสังวาลประดับเพ็ชร จึ่งทรงทองต้นพระกรแลปลายพระกรประดับเพ็ชร แล้วจึ่งทรงพระมหาชฎาเดินหนมียอดห้ายอด แล้วจึ่งประดับเพ็ชรอยู่เพลิงทั้งสิบนิ้วพระหัดถ์แลสิบนิ้วพระบาท แล้วจึ่งเอาไม้ง่ามหุ้มทองนั้นค้ำพระหณุ เรียกว่าไม้กาจับหลัก จึ่งประนมกรเข้าแล้ว เอาซองหมากทองปากประดับใส่ในพระหัดถ์แล้ว เอาพระภูษาเนื้ออ่อนเข้าพันเปนอันมาก ครั้นได้ที่แล้วจึ่งเอาผ้าชาวเนื้อดีสี่เหลี่ยมเข้าห่อ เรียกว่าผ้าห่อเมี่ยง​ตามอย่างธรรมเนียมมาแล้ว จึ่งเชิญเข้าพระโกษฐลองในทองหนักสิบสองชั่ง แล้วจึ่งใส่ในพระโกษฐทองใหญ่เปนเฟื่องกลีบจงกลประดับพลอย มียอดเก้ายอด เชิงนั้นมีครุธแลสิงห์อัดทองหนักยี่สิบห้าชั่ง แล้วเชิญพระโกษฐนั้นขึ้นบนเตียงหุ้มทองแล้ว จึ่งเอาเตียงที่รองพระโกษฐนั้นขึ้นบนพระแท่นแว่นฟ้า แล้วจึ่งกั้นราชวัตรตาข่ายปะวะหล่ำแดง อันทำด้วยแก้ว มีเครื่องสูงต่างๆ แล้วจึ่งเชิญพระพุทธรูปมาตั้งที่สูง จึ่งตั้งเครื่องราชบริโภคนานา ตั้งพานพระสุพรรณบัตร ถมยาใส่บนพานทองประดับสองชั้น แล้วจึ่งตั้งพานพระสำอาง พระสุพรรณศรี แลพระสุพรรณราช แลพระเต้าครอบทอง แลพระคนทีทอง แลพานทองประดับ แลเครื่องอุปโภคบริโภคนานา ตั้งเปนชั้นหลั่นกันมาตามที่ซ้ายขวา เปนอันดับกันมาเปนอันมาก แล้วจึ่งตั้งมยุรฉัตรซ้ายขวา มียอดหุ้มทองแลรบายทอง แลคันหุ้มทองประดับ ตั้งแปดคันทั้งแปดทิศ แลมีบังพระสูรย์แลอภิรุม แลบังแทรกจามรทานตวันแลพัดโบก สารพัดเครื่องสูงนานาตั้งซ้ายขวา เปนชั้นหลั่นกันมาตามที่ตามทาง แล้วจึ่งปูลาดพระสุจนี่ยี่ภู่ จึ่งตั้งพระแท่นแว่นฟ้า ในพระยี่ภู่เข้ามา แล้วจึ่งปูลาดที่บรรธม แล้วตั้งพระเขนยกำมะหยี่ปักทองอันงามแล้ว จึ่งตั้งฝ่ายซ้ายขวาสำหรับสองพระองค์ จะนั่งอยู่ตามที่กษัตราธิบดี แล้วจึ่งกะเกณฑ์ให้พระสนมกำนัลทั้งปวงมานั่งห้อมล้อมพระบรมศพ แล้วก็ร้องไห้เปนเวลานาทีเปนอันมาก แล้วมีนางขับรำเกณฑ์ทำมโหรีกำนัลนารีน้อย ๆ งาม ๆ ดั่งกินรกินรีมานั่งห้อมล้อมขับรำทำเพลง​อยู่เปนอันมาก แล้วจึ่งให้ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์แลมโหรีพิณพาทย์อยู่ทุกเวลา พระองค์จึ่งให้ตั้งที่อาศนพระสงฆ์ แล้วจึ่งให้ธรรมโฆสิตซึ่งเปนพนักงานสังฆการี ให้นิมนต์พระสังฆราชเปนต้นตามตำแหน่งเปนประธานแก่พระสงฆ์ทั้งนอกกรุงแลในกรุง แลบรรดาพระสงฆ์หัวเมืองเปนอันมาก เพลาค่ำให้เข้ามาสดับปกรณ์แล้วสวดพระอภิธรรม ครั้นเวลาเช้าถวายพรพระแล้วฉัน ครั้นเพลาเพนให้มีเทศนา แล้วถวายไทยทานไตรจีวรแลเครื่องเตียบเครื่องสังเค็ดครบครัน ทั้งต้นกัลปพฤกษ์อันมีสิ่งของต่างๆ ครบครัน วันหนึ่งเปนพระสงฆ์ร้อยหนึ่งทุกวันมิได้ขาด แล้วจึ่งตั้งโรงงานการเล่นมหรศพทั้งปวง ให้มีโขนหนังละครหุ่นแลมอญรำระบำเทพทองทั้งมงครุ่มผาลาคุลาตีไม้ สารพัดมีงานการเล่นต่าง ๆ นา ๆ แล้วทั้งสองพระองค์จึ่งแจกเสื้อผ้าเงินทองสารพัดสิ่งของนา ๆ ครบครัน ให้ทานแก่อาณาประชาราษฎรทั้งปวง ทั้งหญิงชายเด็กน้อยใหญ่เฒ่าแก่ ก็แตกกันมารับพระราชทานเปนอันมาก พระองค์ก็ให้ด้วยมีน้ำพระไทยศรัทธายินดี อาณาประชาราษฎรก็ชื่นชมยินดีแล้วยอกรอัญชลีเหนือเกล้าเกษา ถวายพระพรทั้งสองพระองค์ บ้างก็มาโศกาอาดูรร่ำไรคิดถึงพระบรมราชา แล้วก็พากันไปดูงานเล่นทั้งปวงอันมีต่าง ๆ ทั้งเด็กแลผู้ใหญ่ก็พากันรื่นเริงไปทั้งกรุงศรีอยุทธยา ทั้งสองพระองค์จึ่งมีรับสั่งให้ตั้งพระเมรุทองที่ท้องสนามหลวง แล้วตั้งพระเมรุใหญ่สูงแล้วปิดทองประดับกระจก ยกเปนลวดลายต่างๆ แล้วมีเพดานรองสามชั้นเปนหลั่นๆ ลงมาตาม​ที่ จึ่งมีพระเมรุใหญ่ สูงสุดยอดพระสเดานั้น ๔๕ วา ฝานั้นแผงหุ้มผ้าปิดกระดาษปูพื้นแดงเขียนเปนชั้นนาค ชั้นครุธ ชั้นอสูร แลชั้นเทวดา แลชั้นอินทรชั้นพรหมตามอย่างเขาพระสุเมรุ ฝาข้างในเขียนเปนดอกสุมณฑาทองแลมณฑาเงินแกมกัน แลเครื่องพระเมรุนั้นมีบันแลมุข ๑๑ ชั้น เครื่องบนจำหลักปิดทองประดับกระจก ขุนสุเมรุทิพราชเปนนายช่างอำนวยการ พระเมรุใหญ่นั้นมีประตู ๔ ทิศ ตั้งรูปกินรรูปอสูรทั้ง ๔ ประตู พระเมรุใหญ่นั้นปิดทองทึบจนเชิงเสา กลางพระเมรุทองก่อเปนแท่นรับเชิงตะกอน อันเสาเชิงตะกอนนั้นก็ปิดทองประดับกระจกเปนที่ตั้งพระบรมโกษฐ แล้วจึ่งมีเมรุทิศ ๔ เมรุแทรก ๔ เปนแปดทิศ ปิดทองกระจกเปนลวดลายต่าง ๆ แล้วจึ่งมีรูปเทวดาแลรูปวิทยาธรรูปคนธรรพ์ แลครุธกินร ทั้งรูปคชสีห์ราชสีห์แลเหมหงษ์ แลรูปนรสิงห์แลสิงโต ทั้งรูปมังกรเหรานาคา แลรูปทักกะธอ รูปช้างม้าแลเลียงผา สารพัดรูปสัตว์ทั้งปวงต่าง ๆ นา ๆ ครบครัน ตั้งรอบพระเมรุเปนชั้นกันตามที่ แล้วจึ่งกั้นราชวัตรสามชั้น ราชวัตินั้นก็ปิดทองปิดนากปิดเงิน แล้วตีเรือกเปนทางเดิน ที่สำหรับจะเชิญพระบรมศพมา ริมทางนั้นจึ่งตั้งต้นไม้กระถางอันมีดอกต่าง ๆ แล้วประดับประดาด้วยฉัตรแลธงงามไสว ครั้นแล้วพระองค์ก็เสด็จเข้าในพระราชวัง ๚
15  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง เมื่อ: 29 เมษายน 2567 11:26:47
              
คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง

(ต่อนี้ฉบับขาด ใช้ความฉบับคำให้การชาวกรุงเก่า)

๏ ให้พระราชวงษานุวงษ์ เจ้าประเทศราช แลข้าราชการทั้งปวง แต่งตัวเต็มยศเข้าเฝ้าอยู่ตามถานานุศักดิ พระมหาธรรมราชาจึ่งรับสั่งให้เบิกทูตลังกาเข้ามาในพระนครตามระยะทางที่ตกแต่งไว้ เมื่อทูตลังกาไปถึงขบวนใด ๆ เช่นขบวนจตุรงคเสนา ขบวนเหล่านั้นก็ทำความเคารพตามธรรมเนียม ไปถึงพวกดนตรี ๆ ก็ประโคมขับร้อง ไปถึงข้าราชการเจ้ากระทรวงเจ้าน่าที่ต่าง ๆ ก็ทำปฏิสันฐารต้อนรับแสดงความปราไสต่อกัน จนกระทั่งถึงที่ประทับพระที่นั่งมหา​ปราสาทข้างน่า ทูตลังกาจึ่งถวายพระราชสาสนแลเครื่องราชบรรณาการ ในพระราชสาสนมีใจความว่า ข้าพระองค์ผู้เปนพระอนุชาผ่านพิภพสิงหฬทวีป ขอโอนเศียรเกล้าถวายบังคมมายังพระเชษฐาธิราช พระเจ้ามหาธรรมราชา ผู้ผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุทธยา ด้วยข้าพระองค์ได้ทราบพระเกียรติยศเกียรติคุณของพระเชษฐาธิราช ว่าทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนัตตยาธิคุณ แผ่เผื่อเกื้อหนุนแก่สมณชีพราหมณาจารย์ถ้วนหน้า บำรุงพระพุทธสาสนาเปนสาสนูปถัมภก โปรดให้หมู่สงฆ์เล่าเรียนพระไตรปิฎกเปนนิตยกาล แลคัดลอกจดจานแบบแผนพระไตรปิฎกไว้ พระคุณเหล่านี้เปนเครื่องจูงใจข้าพระองค์ซึ่งอยู่ห่างต่างประเทศ ให้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายบังคมชมพระบารมี อนึ่งข้าพระองค์ก็มีจิตรยินดีเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา แต่ในลังกาทวีปมีแบบแผนพระปริยัติธรรมขาดบกพร่องเคลื่อนคลาศ ทั้งภิกษุสงฆ์ที่เฉลียวฉลาดอาจจะรอบรู้ในพระไตรปิฎกก็ไม่มี โดยเหตุนี้ข้าพระองค์ขอพระบารมีพระเชษฐาธิราชเจ้า โปรดพระราชทานซึ่งภิกษุสงฆ์ที่รอบรู้พระปริยัติสาสนา เพื่อได้สั่งสอนชาวลังกาที่เลื่อมใส เปนอายุพระพุทธสาสนาสืบไปสิ้นกาลนานเทอญ ๚

๏ เมื่อพระมหาธรรมราชาทรงทราบพระราชสาสนแล้ว จึ่งมีพระราช ปฏิสัณฐารถามถึงพระเจ้ากรุงลังกา แลพระมเหษี พระราชโอรส เสนามาตย์ข้าราชการ เข้าปลาอาหาร บ้านเมืองชนบท ว่าเรียบร้อยเปนศุขสำราญอยู่ฤๅอย่างไร ราชทูตก็กราบทูลว่าเจริญศุขอยู่ทุกประการ ครั้นสมควรเวลาแล้วเสด็จขึ้น ราชทูตก็ออกไปพักอยู่ที่สถานทูต ๚

​๏ พระมหาธรรมราชาจึ่งให้ข้าราชการผู้ใหญ่เข้ามาเฝ้าพร้อม แล้วรับสั่งว่า บัดนี้พระเจ้ากรุงลังกามีราชสาสนเข้ามาขอพระภิกษุที่ชำนาญในพระไตรปิฎก ท่านทั้งปวงจงเลือกคัดพระภิกษุที่ชำนาญในพระไตรปิฎก กับพระปฏิมากรเปนธรรมบรรณาการส่งไปถวายพระเจ้ากรุงลังกา ข้าราชการรับพระราชโองการแล้ว ก็เลือกคัดได้พระราชาคณะ ๒ รูป คือ พระอุบาฬี ๑ พระอริยมุนี ๑ กับพระสงฆ์อิก ๕๐ รูป แลพระปฏิมากร พระยืนห้ามสมุท กับพระปฏิมากรอื่นอิก ๑๐ องค์ แลพระไตรปิฎกกับเครื่องบรรณาการอื่นๆ อิกเปนอันมาก ครั้นจัดเสร็จแล้วจึ่งกราบทูลพระมหาธรรมราชา ๆ จึ่งทรงตั้งให้ข้าราชการที่เฉลียวฉลาด ๓ คน คือ พระสุนทร ๑ พระสุธรรมไมตรี ๑ กุมมรไทย ๑ เปนราชทูต, อุปทูต, ตรีทูต, กำกับไปกับอำมาตย์ราชทูตเมืองลังกา ครั้นสำเภาแล่นออกไปในมหาสมุท ก็บังเกิดเปนแสงแดงโตประมาณเท่าผลหมากตรงศีศะเรือ พวกกับตันแลต้นหนเห็นแล้วก็สดุ้งตกใจ ด้วยเคยสังเกตว่าอากาศชนิดนี้เคยเกิดลมอันร้ายแรง จึ่งสั่งให้พวกในสำเภากินเข้าปลาอาหารซึ่งจะอิ่มทนได้หลาย ๆ วัน แลให้นุ่งห่มผ้าน้ำมันเตรียมพร้อมทุกตัวคน ขณะนั้นพระอุบาฬีกับพระอริยมุนี แลพระสงฆ์ทั้งปวง จึ่งให้เชิญพระพุทธปฏิมากรห้ามสมุทมาประดิษฐานที่ศีศะเรือสำเภา แล้วพากันนั่งเรียงแถวทั้งซ้ายขวาพระปฏิมากร เจริญพระพุทธมนต์เปนปรกติอยู่ ไม่ช้าก็เกิดลมสลาตันกล้าขึ้นกล้าขึ้นทุกที กระทั่งเปนสีแดงไปทั่วอากาศ พัดตรงมาที่เรือ พวกมนุษย์ในเรือก็พากันร้องไห้​รักตัวเปนอันมาก ด้วยอำนาจพระพุทธปฏิมากรห้ามสมุท แลอำนาจพระพุทธมนต์แลศีลาธิคุณแห่งพระผู้เปนเจ้าเหล่านั้น พอลมสลาตันพัดมาถึงเรือก็หลีกเปนช่องเลยไป ลูกคลื่นใหญ่ ๆ มาใกล้เรือก็หายไป พวกกับตันแลต้นหนเห็นอัศจรรย์ดังนั้นก็พากันยินดี จึ่งให้จดวันคืนที่เกิดลมสลาตันไว้ แลพากันสรรเสริญคุณพระรัตนไตรยเปนอันมาก แล้วพากันทำสักการบูชา ครั้นสำเภาไปถึงกรุงลังกาแล้ว ราชทูตลังกาก็พากันเข้าไปกราบทูลพระเจ้ากรุงลังกาว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระพุทธปฏิมากรแลพระไตรปิฎก กับพระสงฆ์มาอิกหลายรูป แล้วกราบทูลความที่เกิดคลื่นลมร้ายแรงขึ้น แลพระสงฆ์ได้พากันตั้งพิธีเจริญพระพุทธมนต์ แลคลื่นลมหายไป ถวายพระเจ้ากรุงลังกาทุกประการ พระเจ้ากรุงลังกาก็ทรงยินดีเปนอันมาก รับสั่งให้ลาดปูพรมเจียม แลดาดผ้าขาวตั้งแต่พระราชวัง กระทั่งถึงท่าเรือ ให้ประดับประดาวิจิตรงดงาม แล้วให้แห่แหนพระพุทธปฏิมากรแลพระไตรปิฎก กับพระสงฆ์ทั้งปวงเข้าไปในพระราชวัง แล้วนิมนต์ให้พระสงฆ์ทั้งปวงนั่งบนอาศน ทรงทำปฏิสันฐารถามถึงศุขทุกข์ไพร่บ้านพลเมืองข้างกรุงศรีอยุทธยาตามพระราชประเพณี แสดงความยินดีต่อพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยา ซึ่งได้มีพระไทยเอื้อเฟื้อเปนอันมาก แล้วให้สร้างปราสาทเชิญพระปฏิมากรแลพระไตรปิฎกประดิษฐานไว้ ฝ่ายพระสงฆ์ทั้งปวง​นั้นพระเจ้ากรุงลังกาก็ให้สร้างอารามถวาย แลทรงอุปถัมภ์ค้ำชูมิให้เดือดร้อน ชาวบ้านชาวเมืองทั้งปวงก็พากันเลื่อมใสในพระพุทธสาสนา ให้บุตรแลทาษบวชเปนภิกษุสามเณรรวม ๕๐๐ เศษ ฝ่ายพระอุบาฬี พระอริยมุนี ก็ตั้งใจสั่งสอนภิกษุสามเณรให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมมิได้ขาด ครั้นนานมาเห็นว่าพระปริยัติธรรมแพร่หลาย มีศิษย์ที่เชี่ยวชาญมากแล้ว จึ่งเข้าไปถวายพระพรกับพระเจ้ากรุงลังกาว่า จะขอถวายพระพรลากลับพระนครศรีอยุทธยา พระเจ้ากรุงลังกาก็ให้ทำการสมโภช แล้วจัดไทยธรรมถวายเปนอันมาก ให้พวกสำเภารับมาส่งยังกรุงศรีอยุทธยา ครั้นพระอุบาฬีกับพระอริยมุนีมาถึงกรุงศรีอยุทธยาแล้ว จึ่งเข้าไปเฝ้าพระมหาธรรมราชา ทูลความตั้งแต่ไปสำเภาถูกลมสลาตัน ตลอดกระทั่งได้สั่งสอนให้ภิกษุสามเณรเล่าเรียนพระปริยัติธรรม แล้วทูลลาพระเจ้ากรุงลังกากลับ ถวายพระมหาธรรมราชาทุกประการ พระมหาธรรมราชาก็ทรงยินดีเปนอันมาก ๚

๏ แลพระมหาธรรมราชานั้นมีพระราชศรัทธามาก ให้สร้างพระอารามใหญ่ถึง ๗ พระอาราม ดือ วัดคูหาสระ ๑ วัดกุฏิดาว ๑ วัดวรเสลา ๑ วัดราชบุรณะ ๑ วัดวรโพธิ์ ๑ วัดพระปรางค์ ๑ วัดปราไทย ๑ สร้างพระนอนใหญ่ขึ้นองค์ ๑ พระราชทานนามว่า พระนอนจักรศรี เสร็จแล้วบริจาคพระราชทรัพย์ บำเพ็ญพระราชกุศลเปนการฉลองเปนอันมาก แลทรงพระกรุณาโปรดห้ามมิให้ใครฆ่าสัตว์ในบริเวณพระนครศรีอยุทธยา ข้างทิศเหนือ,ทิศใต้,ทิศตวันตก,​ทิศตวันออก, ข้างละโยชน์ๆ ในกาลนั้นมีบ่อทองเกิดขึ้นที่บางตะพาน มีผู้ร่อนทองเข้ามาถวาย บางตะพานจึ่งเปนส่วยทองแต่นั้นมา ๚

๏ แลพระมหาธรรมราชานั้น ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบริจาคแก้วแหวนเงินทองพระราชทานแก่ยาจกวรรณิพกเปนอันมาก แลให้ทำฉลากมีนามพระมเหษี พระราชโอรส พระราชธิดา พระสนม ช้าง ม้า รถ เครื่องทรง แล้วทรงแจกจ่าย ใครได้ฉลากอย่างไร ให้นำมาขึ้น พระราชทานค่าไถ่ถอนตามสมควรมากแลน้อย ๚

๏ พระมหาธรรมราชาพระราชทานพระราชทรัพย์ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่ชำรุดซุดโซมปีละร้อย พระราชทานผ้าไตรเพื่อกฐินกิจปีละร้อยไตร แลพระราชทานพระราชทรัพย์สำหรับมีมหรศพสมโภชพระพุทธรูป ๔ พระองค์ คือ พระพุทธรูปสุรินทร์องค์ ๑ พระพุทธรูปที่เมืองนครศรีธรรมราชองค์ ๑ พระพุทธรูปที่เมืองพิศณุโลกองค์ ๑ พระพุทธรูปสำหรับกรุงศรีอยุทธยาองค์ ๑ องค์ละ ๕๐ ทุกๆ ปีมิได้ขาด พระราชทานทรัพย์ปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทอิกปีละร้อย แลให้นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ฉันเช้าทุกๆ วันมิได้ขาด เวลามีสุริยุปราคา จันทรุปราคา ก็พระราชทานเสื้อ ผ้า เงินเฟื้อง เงินสลึง เข้าปลาอาหาร แก่พวกยาจกวรรณิพกคนเจ็บไข้แลทารกเปนต้น ถึงเวลาเข้าพรรษาก็ทรงสมาทานอุโบสถศีลเดือนละ ๘ ครั้ง บรรดาพระราชวงษานุวงษ์แลมหาดเล็กทั้งปวงนั้น เมื่ออายุครบอุปสมบทก็ทรงเปนพระธุระในการจัดให้อุปสมบท ถ้ายังมิได้อุปสมบทแล้วก็ยังไม่ให้รับราชการ ๚

​๏ ต่อมาพระมหาธรรมราชาทรงพระดำริห์ว่า พระพุทธบาทที่เขาสุวรรณบรรพตนั้น มีวัดวาอารามที่พระมหากษัตรแต่ก่อนให้สร้างขึ้นชำรุดซุดโซมมาก จึ่งให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งสิ้น แลมณฑปพระพุทธบาทนั้นให้ลงรักปิดทอง ข้างในมณฑปให้แผ่เงินปูเต็มตลอดพื้น ฝาผนังให้ประดับกระจกงดงาม บนเพดานแลชื่อนั้นก็ให้ลงรักปิดทองฉลุเปนกนกช่อห้อย แขวนโคมแก้วโคมระย้าสีต่างๆ ที่รอยพระพุทธบาทนั้น ให้บุทองคำเปนลายบัวหงายประดับรอบ แล้วให้เอาทองคำมาจำลองเปนรอยพระพุทธบาทประดับพลอยทับทิมสวมครอบลงข้างบนพระพุทธบาท ประตูสำหรับเข้าออกนั้นให้ประดับด้วยมุกเปนลวดลาย กันสาดครอบมณฑปนั้นให้มุงกระเบื้องแล้วด้วยดีบุกทั้งสิ้น ตามลวดลายมณฑปนั้นให้ลงรักปิดทองเปนพื้น ระเบียงรอบมณฑปแลพื้นระเบียงให้ประดับปูลาดตัวอิฐดีบุกทั้งสิ้น แล้วให้ก่อพระเจดีย์ศิลาอ่อนสูงประมาณ ๒ ศอก ห่างกันประมาณคืบ ๑ ฤๅกำมา ๑ รอบกำแพงแก้ว แล้วให้ก่อกำแพงแก้วแล้วด้วยอิฐดีบุกรอบลานพระพุทธบาท มีด้านกว้างแลด้านยาวพ้นออกไปจากมณฑปด้านละ ๒๐ วา แล้วลงรักปิดทอง ทำเปนกอบัว ใบบัว ดอกบัว บุทองแดงประดับ ลงรักปิดทอง พาดตามกำแพงรอบ แล้วขุดอุโมงค์ในกำแพงแก้วกว้างยาว ๑๕ วา ๑ ศอกเท่ากันแล้วก่อด้วยอิฐสร้างพระพุทธรูปประดับมุกไว้องค์ ๑ แลก่อตึกภัณฑาคารสำหรับเก็บสิ่งของที่คนนำมาบูชาพระพุทธบาท จัดให้มีเจ้าพนักงานรักษา เกณฑ์ให้ราษฎรตำบลบ้านขุนโขลนเปนส่วยขี้ผึ้งน้ำมันสำหรับจุดบูชา​พระพุทธบาท แลให้สร้างบันไดที่จะขี้นลงทางทิศใต้ทาง ๑ ทิศตวันตกทาง ๑ ที่เชิงเขาพระพุทธบาทนั้นให้สร้างอารามขึ้นอาราม  ๑ ให้พระครูมหามงคลเทพมุนี ๑ พระครูรองพระวินัย ๑ อยู่ประจำรักษาพระอาราม แลตั้งให้เจ้าพนักงานรักษาพระอารามส่งของขบฉัน ดูแลซ่อมแซมมิให้ชำรุดซุดโซมได้ เวลาเดือน ๔ พระมหาธรรมราชาเสด็จไปนมัสการกับด้วยพระราชวงษ์แลเสนาข้าราชการเปนอันมากทุก ๆ ปี ประทับอยู่ที่พระพุทธบาท ๗ ราตรี ให้มีมหรศพสมโภช แลทรงบริจาค เสื้อ ผ้า เงินบาท เงินสลึง เงินเฟื้อง เข้าปลาอาหารพระราชทานแก่ยาจกวรรณิพกถ้วนทั้ง ๗ วันแล้วจึ่งเสด็จกลับดังนี้มิได้ขาด ๚

๏ ต่อแต่พระพุทธบาทไปทางลำแม่น้ำทิศเหนือมีภูเขาอยู่แห่ง ๑ ชื่อเขาปถวี เขาปถวีนั้นมิเพิงผาชะโงกเงื้อมออกไปเหมือนงูแผ่แม่เบี้ย ในเงื้อมเขานั้นมีพระฉายหันพระภักตร์ไปข้างทิศบุรพาปรากฎอยู่ สีผ้าทรงพระฉายนั้นยังสดใสอยู่มิได้เศร้าหมอง ที่พระฉายนั้นไม่มีมณฑปที่จะกันแดดแลฝน เพราะว่าฝนตกไม่ถูก น้ำฝนไหลอ้อมไปทางอื่น พระมหากษัตรแต่โบราณได้สร้างพระมณฑปขึ้นหลายครั้งก็หาคงอยู่ไม่ มีคำเล่ากันว่าพระอินทรแลเทวดามาทำลายเสีย สร้างได้แต่ศาลาสำหรับคนขึ้นนมัสการพักอาไศรย กับบันไดสำหรับขึ้นลงเท่านั้น เมื่อถึงฤดูเดือน ๔ พระมหากษัตรแต่ก่อนๆ ย่อมพาราชบริพารเสด็จขึ้นไปนมัสการ มีการสมโภชแลบำเพ็ญพระราชกุศลเสมอ ๆ เปนประเพณี พระมหาธรรมราชานี้ก็ได้เสด็จไปนมัสการอยู่เสมอ ๆ เหมือนกัน ๚

​๏ ครั้ง ๑ ฝนแล้ง ราษฎรทำนาไม่ได้ผล ทั้งผลไม้แลผักปลาก็กันดาร พระเจ้ามหาธรรมราชาจึ่งรับสั่งให้นิมนต์พระอาจารย์อรัญญวาสีอริยวงษ์มหคุหา (คือสมเด็จพระอริยวงษาคตญาณ) กับพระอาจารย์คามวาสีพระพิมลธรรมมาแล้ว จึ่งรับสังว่า บัดนี้เกิดไภยคือฝนแล้ง ราษฎรพากันอดอยาก ท่านอาจารย์ทั้ง ๒ จะคิดประการใด จึ่งจะให้ฝนตกได้ พระอาจารย์ทั้ง ๒ ก็รับอาสาว่า ถึงวันนั้นคืนนั้นจะทำให้ฝนตกให้ได้ แล้วพระอาจารย์ทั้ง ๒ นั้นก็ไม่กลับไปยังพระอาราม อาไศรยอยู่ในพระราชวัง ตั้งบริกรรมทางอาโปกสิณ แลเจริญพระพุทธมนต์ขอฝน ด้วยอำนาจสมาธิแลพระพุทธมนต์ของพระผู้เปนเจ้าทั้ง ๒ นั้น พอถึงกำหนดวันสัญญา ก็เกิดมหาเมฆตั้งขึ้นทั้ง ๘ ทิศ ฝนตกลงเปนอันมาก แต่นั้นมาถ้าเกิดความไข้เจ็บขึ้นชุกชุมในบ้านเมืองแล้ว พระเจ้ามหาธรรมราชาก็ให้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์เข้ามาเจริญพระพุทธมนต์ มีสัตตปริตแลภาณวารเปนต้น ในที่ประชุมพระราชวงษานุวงษ์แลข้าราชการทั้งปวง แลให้ยิงปืนอาฏานามหามงคล ๑๐ นัดบ้าง ๑๕ นัดบ้าง ครั้นรุ่งเช้าก็ให้เลี้ยงดูพระภิกษุสงฆ์ด้วยอาหารอันประณีต ๚

๏ พระเจ้ามหาธรรมราชานี้ทรงเลื่อมใสในคุณพระรัตนไตรยยิ่งนัก โปรดให้นิมนต์พระภิกษุมารับพระราชทานอาหารบิณฑบาตในพระราชวังวันละร้อยรูปเปนนิตย์ ทรงบำรุงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เปนศุขด้วยพระกรุณาดุจดังว่าบิดาอันกรุณาต่อบุตร พระเจ้ามหาธรรมราชานี้มิได้ทำศึกกับประเทศใดเลย มีแต่ให้ทำไมตรีกับนานาประเทศ​อย่างเดียว บ้านเมืองจึ่งอยู่เย็นเปนศุขปราศจากศึกสงครามแลโจรผู้ร้าย จนบ้านเรือนของราษฎรทั้งหลายไม่ต้องล้อมรั้วลงสลักลิ่มแลกลอน ๚


(เข้าความฉบับหลวง)

๏ อันพระบรมราชา (ตามฉบับคำให้การชาวกรุงเก่าว่า พระมหาธรรมราชา) นั้นได้ครอบครองขัณฑเสมาอยู่เย็นเปนศุขมาช้านาน ลางทีพระองค์ก็เสด็จไปชมตำหนักที่บางอ้อ ทั้งพระนครหลวงก็เสด็จไป จึ่งเสด็จลงทรงเรือพระที่นั่งครุธ แล้วไปชมทเลออกไปจนถึงปากน้ำพระประแดง ชมทเลทรายทั้งมีกรวดสีต่างๆ อันงามแล้วก็เสด็จกลับมากรุง ๚

๏ ครั้นถึงน่านวดเข้าก็เสด็จไปนวดเข้าที่หานตราแลสารคู ก็เล่นเปนการสนุกหนักหนา ครั้นนวดเข้าแล้วจึ่งเอาใส่ในรันแทะบ้าง ใส่ในล้อบ้าง จึ่งเหล่าพระราชบุตรแลธิดาทั้งพระสนมกำนัลพร้อมกันแล้ว ก็ชักเข้ามาในวังแล้วจึ่งทำฉัตรเข้าไปถวายพระทุกอาราม แล้วทำเข้ายาคูไปถวายพระสงฆ์ทุกอาราม อันนี้ก็เปนนิจสินทุกปีมิได้ขาด เปนสรรพการที่อันจะเล่นต่าง ๆ ทั้งช้างกับเสือสู้กันพระองค์ก็เล่น พระองค์ให้ทานนั้นก็ต่าง ๆ นา ๆ ทั้งเข้าสุนักข์แลเข้าปลา พระองค์ให้เปนทาน ๚

๏ ครั้นอยู่มาเมื่อจุลศักราช ๑๐๙๗ ปีรกาสัปตศก พระองค์ให้แต่งพระราชสาสนแลเครื่องบรรณาการทั้งปวง อันเครื่องบรรณาการนั้น คือ พานทองสองชั้นกลีบบัว มีเครื่องทองประดับ พระเจ้าครอบ​ทอง พระสุพรรณศรีทอง แลเครื่องทองทั้งปวงเปนอันมาก มีทั้งกำมะหยี่แลแพรม้วนทั้งปวงเปนอันมาก กับเรือพระที่นั่งกิ่งลำหนึ่ง จึ่งให้พระยายมราชเปนอุปทูต พระธนเปนราชทูต พระสุธรรมไมตรีเปนตรีทูต ถือพระราชสาสน อันพระราชสาสนนั้นเขียนใส่ในพระสุพรรณบัตรแผ่นทองใส่ในกลักงา แล้วจึ่งใส่ในถุงแผ่นทอง มีตรามหาโองการประทับ อันตราประทับนั้นนารายน์ขี่ครุธใช้ไปเมืองอังวะกับสำเนา อันสำเนานั้นตีตราพระราชสีห์ จึ่งให้อุปทูต, ราชทูต, ตรีทูต สามนายนี้เปนผู้ใหญ่ ถือพระราชสาสนแล้วคุมเครื่องบรรณาการกับผู้คนเปนอันมาก ไปเมืองรัตนบุระอังวะ ครั้นถึงทูตจึ่งให้เข้าไปแจ้งกับมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ ๆ จึ่งเข้าไปกราบทูลกับพระเจ้าอังวะ พระเจ้าอังวะจึ่งมีพระราชโองการให้แต่งรับแขกเมืองตามอย่างธรรมเนียม อรรคมหาเสนาบดีรับสั่งแล้วก็ออกมา จึ่งปลูกจวนแลหอรับพระราชสาสนทั้งที่อยู่ครบครัน อันที่แขกเมืองอยู่นั้นทิศตวันออกแห่งกรุงอังวะ แล้วตกแต่งเลี้ยงดูบริบูรณ์ครบครัน พระเจ้าอังวะจึ่งมีรับสั่งให้รับราชทูตทั้งสามนายเข้าไป ฝ่ายอรรคมหาเสนาบดีจึ่งนำราชทูตทั้งสามนายเข้าไป แล้วจึ่งให้ยั้งอยู่ที่ศาลหลวง แล้วจึ่งให้ล่ามแปลสำเนาพระราชสาสน ครั้นแล้วจึ่งนำราชทูตแลราชสาสน ทั้งเครื่องบรรณาการเข้าไปในพระราชวัง พระเจ้าอังวะจึ่งแต่งองค์ทรงเครื่องแล้วก็เสด็จออกแขกเมืองตามอย่างธรรมเนียม ทั้งเสนาบดีก็แต่งเครื่องอุปโภคตามชั้น เปนหลั่นกันลงมาตามที่ตามฐาน ทั้งรี้พลแลทหารช้างม้ารถคชสารอาชา ​ก็ตกแต่งไว้เปนทัพไว้ทั้งซ้ายขวาน่าหลังครบครัน ดูครื้นเครงเปนสง่างามหนักหนา ครั้นทูตเข้าไปถึงที่เฝ้าแล้ว จึ่งกราบถวายบังคมสามท่า แล้วเสนาจึ่งอ่านทูลถวายเครื่องบรรณาการทั้งปวง ครั้นแล้วทูตจึ่งกราบถวายบังคมแล้วก็เอาพระราชสาสนนั้นอ่านถวาย อันลักษณในพระราชสาสนนั้นว่า สมเด็จพระเจ้ารัตนบุรอังวะนี้ตั้งอยู่ในปัญจศีลแลอุโบสถศีล แล้วตั้งอยู่ในธรรมสิบประการ มีพระไทยศรัทธาสร้างพระพุทธรูปพระสถูปพระเจดีย์เปนอันมาก ทั้งพระธรรมพระสงฆ์ก็บริบูรณ์ มีอานุภาพเปนอันยิ่ง แล้วมีเมตตาแก่สัตว์ครอบครองอาณาประชาราษฎรก็อยู่เย็นเปนศุข ทั้งเมืองรัตนบุระอังวะนี้ก็เปนเมืองต้นสาสนา ทั้งพระสาสนาก็รุ่งเรืองแจ่มใส อันพระเกียรติพระยศทั้งนี้ก็เลื่องฦๅไปถึงเมืองกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาครั้นทราบดังนี้ก็มีพระไทยรักใคร่เมตตายิ่งนัก ด้วยว่าเปนกรุงสัมมาทิษฐิด้วยกันจึ่งให้ราชสาสนแลบรรณาการขึ้นมา เปนทางพระราชไมตรี เพื่อจะใคร่เปนทองแผ่นเดียวกัน ด้วยสองกรุงนี้เปนกรุงใหญ่กว่ากรุงทั้งปวง แล้วจะได้ช่วยกันทำนุบำรุงพระสาสนา จะได้เปนเพดานทองกั้นกางในโลกพิภพทั้งสองกรุง จะได้เปนสพานเงินสพานทองแผ่นเดียวกันทั้งสองกรุง แลอาณาประชาราษฎรทั้งปวงก็จะได้มาค้าขายถึงกันสืบไปตราบเท่าจนสิ้นพระสาสนา ส่วนพระเจ้ารัตนะบุรอังวะ ครั้นแจ้งพระไทยที่ในลักษณพระราชสาสนที่มีมาดั่งนี้ ก็มีพระไทยยินดีชื่นชมยิ่งนัก ก็ทรงพระเมตตาถึงกัน จึ่งแต่ง​พระราชสาสนแลบรรณาการตอบมา อันเครื่องบรรณาการที่แต่งตอบมานั้น คือพานทองประดับ คนโทน้ำครอบทอง ผะอบเมี่ยงทอง ขันทอง กะโถนทอง กับเครื่องกระยาทั้งปวงต่างๆ กับพระภูษายกลายกงจักรมีริมแดง ทั้งผ้าทรงพระมเหษีก็ให้มา อันผ้าลายนั้นมีลายโต ๆ ต่าง ๆ กันเปนอันมาก กับเรือสารพิมานลำทรงลำ ๑ เรือลอกาลำหนึ่ง กับน้ำมันดินแลดินสอศิลา กับสิ่งของนอกนั้นเปนอันมาก จึ่งให้แมงนันทจอแทงเปนราชทูตถือพระราชสาสน แล้วคุมเครื่องบรรณาการทั้งปวงมา ครั้นถึงกรุงศรีอยุทธยา เจ้าพระยากรมท่าจึ่งให้แต่งรับแขกเมือง แล้วเลี้ยงดูตามอย่างธรรมเนียม จึ่งให้ล่ามแปลสำเนาพระราชสาสนแล้ว จึ่งนำทูตทั้งสองนายกับราชสาสนแลเครื่องบรรณาการเข้าไปเฝ้า พระองค์จึ่งเสด็จออกแขกเมือง ราชทูตจึ่งถวายบังคมสามท่า แล้วเสนาจึ่งอ่านเครื่องบรรณาการทั้งปวงถวาย แล้วทูตจึ่งอ่านพระราชสาสนถวาย อันลักษณในพระราชสาสนพระเจ้ารัตนะบุระอังวะ ให้มาถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยานั้นว่า เรานี้ขอบใจ ด้วยพระเจ้ากรุงศรีอยุทธยามีเมตตาแก่เรายิ่งนัก จึ่งให้ราชสาสนมาถึงเราด้วยมีความเมตตาต่อกัน จึ่งมาก่อนเราก็คิดอยู่ว่าจักให้ราชสาสนลงไปถึงท่านผู้ทำนุบำรุงพระสาสนาอันรุ่งเรืองแจ่มใส อันเปนปิ่นอยู่ในภพโลกนี้ ก็พอท่านมีเมตตามาก่อน เราจึ่งยินดีหนักหนาที่ท่านให้มาจะเปนทองแผ่นเดียวกันนี้ ทีนี้เราทั้งสองจะได้เปนพระราชไมตรีต่อกัน จะได้เปนสพานเงินสพานทองไปมาค้าขายถึงกัน อันสัมมาทิษฐิสองกรุงนี้ จักได้เปนเพดานทอง​กั้นกางอยู่ในพิภพทั้งสองกรุง จักได้เปนที่พึ่งแห่งสมณชีพราหมณาจารย์ทั้งปวง จะได้ทำนุบำรุงพระสาสนาทั้งสองกรุงจะได้รุ่งเรืองแจ่มใส ทั้งอาณาราษฎรทั้งปวงก็จักได้อยู่เย็นเปนศุข ๚

๏ ส่วนพระบรมราชา ครั้นแจ้งที่ในลักษณพระราชสาสนทั้งสิ้น ก็ทรงพระยินดียิ่งนัก จึ่งประทานบำเหน็จรางวัลกับราชทูตทั้งสองคน ทั้งเงินทองเสื้อผ้าต่าง ๆ ทั้งสิ่งของก็ประทานเปนอันมาก แต่บรรดาพม่าที่มาทั้งสิ้นก็ประทานบำเหน็จรางวัลให้ครบตัวกันทั้งบ่าวนาย แล้วเลี้ยงดูให้กันวันละสามเวลา มิได้อนาทรสิ่งหนึ่งสิ่งใด ครั้นเมื่อทูตทั้งสองทูลลากลับ ก็แต่งบรรณาการให้ไปเปนอันมาก ครั้งนั้นกรุงรัตนบุรอังวะกับกรุงศรีอยุทธยาไปมาถึงกันเปนหลายครั้ง ๚

๏ ครั้นอยู่มาเมื่อครั้งจุลลักราช ๑๑๑๐ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จึ่งมีสมิงธอคนหนึ่งเปนชาติกวย มีบุญญาธิการยิ่งนัก ได้ราชสมบัติในกรุงหงษาวดี จึ่งคิดอ่านให้อำมาตย์มาทูลขอพระราชธิดาเมืองกรุงศรีอยุทธยา ครั้นพระบรมราชาแจ้งเหตุทรงพระโกรธ จึ่งตรัสว่า มันเปนแต่ชาติกวย มันมาขอลูกสาวกู ครั้นทรงพระโกรธดั่งนั้นแล้ว ก็มิได้ว่าขานประการใด ๚
16  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ไปเที่ยว / วัดเชิงเลน ต.ราชคราม อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ: 26 เมษายน 2567 10:47:02

พระประธานอุโบสถวัดเชิงเลน : พระพุทธมหารัตนมงคลศรีอริยเมตตา
ประธานมหามงคลญาณ
วัดเชิงเลน ต.ราชคราม อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา




วัดเชิงเลน
ตำบลราชคราม อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดเชิงเลน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในหมู่บ้านราชคราม หมู่ที่ ๔ ตำบลราชคราม อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ประมาณ ๒๙ ไร่ ๓ งาน ๘๐ ตารางวา

ที่ตั้งเดิมของวัดตั้งอยู่ที่คลองโรงช้าง ชื่อว่า วัดสระแก้วป่าใหญ่ หรือ วัดสระแก้ว ต่อมา พ.ศ.๒๓๗๐ ได้อพยพย้ายชุมชน และมาสร้างเสนาสนะขึ้นใหม่ ณ ที่ตั้งปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ดินชายเลนตื้นเขินห่างจากที่ตั้งเดิมประมาณ ๒ กิโลเมตร ใช้ชื่อว่า วัดชายเลน หรือ วัดตีนเลน ตามสภาพที่ตั้งของวัดอยู่ริมน้ำ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในราวประมาณปี พ.ศ.๒๓๗๕ ทางวัดได้จัดสอนพระปริยัติธรรมตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ หลวงพ่อแก้ว พระพุทธรูปโบราณ อายุราว ๓๐๐ ปี พระประธานประจำอุโบสถ ภาพจิตรกรรมและประติมากรรมฝาผนังพระอุโบสถ พระพุทธรูปศิลปะแบบจีนปางประทับยืน และพระธาตุเจดีย์ประธานที่ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ



หลวงพ่อแก้ว เนื้อสัมฤทธิ์ อายุประมาณ ๓๐๐ ปี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด


มณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และหลวงพ่อแก้ว พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์


ภาพจิตรกรรมและประติมากรรมฝาผนังพระอุโบสถ วัดเชิงเลน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา




สัตว์หิมพานต์ ประติมากรรมฝาผนังโดยรอบพระอุโบสถ




พลแบกฐานอุโบสถ อันประกอบด้วย ยักษ์แบก กระบี่แบก และเทวดาแบก
(คำว่า "พลแบก"  มักหมายถึงไพร่พล เช่น ยักษ์ ลิง อยู่ในท่าแบกฐานอาคารสิ่งก่อสร้าง)



พลแบก (เทวดาและหนุมาน) สถาปัตยกรรมไทยประเพณีที่เป็นสื่อสัญลักษณ์ตามคติจักรวาล


ตัวมอม สัตว์ในอุดมคติหรือในจินตนาการ มักปรากฏอยู่ในลักษณะของงานประติมากรรมประดับตามวัด
บริเวณราวบันไดอุโบสถ-วิหาร เครื่องบนเครื่องหลังคา หน้าบัน ซุ้มประตู ต้นเสา ฯลฯ พบมากในวัดทางภาคเหนือ
มอมหน้าประตูโบสถ์ของวัดเชิงเลน ถูกปิดไปครึ่งตัวด้วยแผ่นไม้ปูหญ้าเทียมยกระดับสูงจากพื้น ที่สร้างขึ้นชั่วคราว
เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมงานผูกพัทธสีมา ปิดทองฝังลูกนิมิต เมื่อประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
(นับเวลาเดือนกว่าที่มอมยังไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวันค่ะ)


ตัวมอม
ตามความเชื่อลัทธิพราหมณ์ ตัวมอมเป็นสัตว์ที่มีอิทธิฤทธิ์มาก แข็งแรง อวตารลงมาเพื่อช่วยเหลือมนุษย์



หน้าพระอุโบสถ วัดเชิงเลน


พัทธสีมา วัดเชิงเลน






ราวบันไดนาค ทางขึ้นวิหารหลวงพ่อแก้ว




ด้านหลังของวัดได้แก่แม่น้ำเจ้าพระยา มีร้านอาหารให้บริการแก่นักท่องเที่ยวเป็นแนวยาว และมีแพให้ลงไปนั่งรับประทาน

ภาพถ่าย ณ วันที่ 24 เมษายน 2567



จิตรกรรมภายในอุโบสถ วัดเชิงเลน (ภาพจากเฟชบุ๊ก วัดเชิงเลน)


จิตรกรรมภายในอุโบสถ วัดเชิงเลน (ภาพจากเฟชบุ๊ก วัดเชิงเลน)



17  นั่งเล่นหลังสวน / เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว / ความรู้เรื่อง "ขนมปลากริม" เมื่อ: 25 เมษายน 2567 16:46:57

ขนมปลากริม (ซื้อโดยให้แม่ค้าใส่แป้งแยกสี) เส้นคดๆ งอๆ...ยาวๆ สั้นๆ บอกไม่ถูก
เส้นใสเหมือนกับใช้แป้งมันหรือแป้งท้าวยายม่อม เส้นปลากริมสมัยก่อนเส้นของแป้งจะขุ่นไม่ใส ยาว ตรง เหนียว นุ่ม

(นี่คือความรู้ของคนที่ผ่านโลกมานาน คนเกิดมานานมากมักได้พบเห็นอะไรๆ แบบโบราณๆ...ภูมิใจมาก!)

ความรู้เรื่อง "ขนมปลากริม"

ปลากริม เป็นของหวานที่นิยมรับประทานคู่กับขนมไข่เต่า เครื่องปรุงประกอบด้วย น้ำกะทิ น้ำตาล แป้งข้าวเจ้า แป้งท้าวยายม่อม หรือแป้งมันสำปะหลัง น้ำปูนใส
วิธีทำ ผสมแป้งข้าวเจ้ากับแป้งท้าวยายม่อมหรือแป้งมันสำปะหลังและน้ำปูนใส นวดให้เข้ากัน จากนั้นนำไปต้มกับน้ำปูนใสอีกครั้งหนึ่งพอแป้งสุกๆ ดิบๆ ก็นำมานวดให้เข้ากันอีกที แล้วปั้นเป็นตัวยาวๆ คล้ายลอดช่อง  ละลายน้ำตาล น้ำกะทิ น้ำปูนใส แล้วนำมาตั้งไฟ เคี่ยวจนเดือด จากนั้นจึงนำแป้งที่ปั้นแล้วใส่ลงไป เคี่ยวไปจนแป้งสุก และน้ำกะทิแตกมัน รสชาติจะออกไปทางหวานมัน รับประทานกับขนมไข่เต่าซึ่งมีรสชาติออกไปทางเค็มมัน  คนสมัยโบราณเรียกขนมปลากริมไข่เต่านี้ว่า “ขนมแชงมา” แม่ค้ามักนำขนมปลากริมและขนมไข่เต่าใส่หม้อดินหาบไปขายในที่ต่างๆ ในบางท้องถิ่น เช่น จังหวัดเพชรบุรี นิยมใส่หอมแดงลงไปในขนมปลากริมด้วย...(ที่มาข้อมูล "ปลากริม" สารานุกรมวัฒนธรรมไทย มูลนิธิธนาคารไทยพาณิชย์ พิมพ์/เผยแพร่)

ย้อนวัยสมัยยังเป็นเด็ก เคยเห็นแต่ขนมปลากริมแป้งสองสี เส้นยาวหัวตัดท้ายตัด (ไม่แหลมเหมือนปัจจุบัน) อยู่ในหม้อสองใบคือสีน้ำตาลอ่อนกับสีขาว ไม่เคยได้เห็นขนมปลากริมไข่เต่า ซึ่งข้อมูลในเว็บไซต์หรือเพจต่างๆ ในปัจจุบันนำเผยแพร่เกือบจะเป็นข้อมูลเดียวกัน
 
แม่ค้าขนมปลากริมสมัยก่อนจะนำขนมชนิดนี้ใส่ลงในหม้อสองใบ อาจเป็นหม้อดิน หม้อเคลือบ หรือหม้ออะลูมิเนียมก็แล้วแต่ มีฝาปิดหม้อกันฝุ่นเรียบร้อย เดินหาบขายไปตามย่านชุมชน

หม้อใบหนึ่งเป็นปลากริมหวาน สีน้ำตาลอ่อน ลักษณะเส้นปลากริมยาวประมาณสองนิ้ว ใส่ผสมมาในน้ำเชื่อมสีน้ำตาลอ่อนที่เคี่ยวโดยใช้น้ำตาลปึก หรือน้ำตาลมะพร้าว  ในหม้ออีกใบหนึ่งเป็นปลากริมสีขาว มีเส้นปลากริมที่ใส่ผสมมาในน้ำกะทิผสมเกลือ มีรสชาติมันเค็ม ลักษณะน้ำกะทิข้นนิดๆ (อาจต้มกะทิให้สุกกันบูด โดยผสมแป้งข้าวเจ้าลงไปเล็กน้อยเพื่อกันไม่ให้กะทิแตกมัน)  เวลาสั่งซื้อแม่ค้าจะตักปลากริมหวานสีน้ำตาลใส่ก้นถ้วย ตามด้วยเส้นปลากริมมัน น้ำข้นขาวโปะด้านบน เวลากินก็คนให้เข้ากัน  จะได้รสชาติปลากริมที่มีเส้นเหนียวนุ่มหนึบ รสชาติ หวาน มัน เค็ม

วิธีการทำเส้น เขาจะนำแป้งที่นวดจนนุ่มเหนียวจนได้ที่แล้ว ผสมน้ำให้ได้แป้งค่อนข้างข้น ตักใส่ภาชนะโลหะ มีที่กดบีบเส้น อย่างที่เขาใช้โรยเส้นขนมจีนในปัจจุบัน (แต่เจาะรูใหญ่กว่า) บีบลงในหม้อน้ำเดือด โดยกดแป้งแล้วหยุดกดเมื่อได้แป้งยาวตามความต้องการ ส่วนมากเส้นปลากริมจะมีความยาวประมาณ 2.5 นิ้ว  ทำเช่นนี้เป็นระยะๆ พอแป้งสุกแล้วจะลอยขึ้นมา นำกระชอนใส่เส้นไปผ่านน้ำเย็นจัด แล้วใส่ลงในหม้อน้ำตาลเคี่ยว และหม้อน้ำกะทิ  เขาไม่ได้ปั้นเส้นทีละเส้นแล้วบีบหัวท้ายให้แหลม เหมือนเส้นบัวเกี้ยที่กินกับน้ำเชื่อมใส่น้ำแข็งอย่างในปัจจุบัน  โดยสรุปแล้ว กรรมวิธีการทำเส้นใกล้เคียงกับการทำเส้นลอดช่องแป้งสีเขียวๆ นั่นเอง

18  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: กำเนิดนางกากี : สำนวน-โวหาร-สุภาษิต และคำพังเพย เมื่อ: 25 เมษายน 2567 15:00:00

ภาพวาด นางกากี ฝีมือครูเหม เวชกร

๏ นางรำจวนครวญคะนึงถึงดาวบส   อันทรงพรตอำไพอยู่ไพรสณฑ์
ลูกเกิดในพุ่มพวงดวงอุบล       เสาวคนธ์สร้อยสุวรรณกรรณิการ์
พระเด็ดได้เลี้ยงไว้ในอาวาส   แสนสวาสดิลูกน้อยเสน่หา
จึ่งให้นามกากีศรีสุดา       ถนอมมาจนรุ่นจำเริญใจ
อยู่วันหนึ่งพรหมทัตขัตติเยศ   สดับเหตุมีจิตให้พิสมัย
จึ่งเสด็จออกสู่ศาลาลัย       บังคมไทขอข้าไปในธานี
อภิเษกให้เป็นเอกอนงค์นาฏ   แสนสวาดิแนบน้องประคองฉวี
ร่วมสรงร่วมเสวยทุกราตรี       ร่วมที่ปัจถรณ์ที่นอนนาง ฯ

ที่มา กากี คำกลอนสุภาพ ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน)

  เรื่องราวของนางกากี ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องกากี  มีความเป็นไปที่อยู่เหนือวิสัยของมนุษย์ปุถุชน
กวีได้ผูกเรื่องราวชาติกำเนิดและประวัติของนางไม่เหมือนสามัญมนุษย์ กล่าวคือ นางเกิดในดอกบัว
ฤาษีเก็บเอามาเลี้ยงไว้ นอกจากโฉมงามหานางใดไหนเปรียบปานมิได้แล้ว  นางยังมีกลิ่นกายหอม
ประหลาด ชายใดได้เห็นโฉมและเข้าใกล้ มักติดกลิ่นนางจนโงหัวไม่ขึ้น  โชคชะตากากีถูกกำหนด
ให้เป็นมเหสีของท้าวพรหมทัต แห่งนครพาราณสี ...เรื่องราวของนางกากีจบลง ตรงท้าวพรหมทัต
หักใจฆ่านางไม่ลง สั่งให้คนจับนางลอยแพไปออกทะเล
]
19  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ จิบกาแฟ / Re: โรคระบาดสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ : Did you know? เมื่อ: 25 เมษายน 2567 14:11:52


โรคระบาดสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔

           สมัยอยุธยาแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ (สมเด็จหน่อพุทธางกูร) เกิดไข้ทรพิษระบาด ครั้งนั้นทำให้ประชาชนทั้งในและนอกพระนครติดไข้ทรพิษล้มตายเป็นจำนวนมาก การเกิดโรคระบาดครั้งนั้นถือว่าหนักหนาสาหัสมาก ชาวบ้านเชื่อว่าการระบาดของโรคเกิดจากน้ำมือของผีห่า เพราะการแพทย์สมัยนั้นยังไม่ทันสมัย คงมีการรักษาด้วยสมุนไพรกันไปตามอาการ บางคนอาการหนักมากก็เสียชีวิตลง และเหตุการณ์โรคระบาดในครั้งนั้นทำให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ ทรงประชวรด้วยไข้ทรพิษ ถึงแม้ว่าหมอหลวงจะถวายพระโอสถรักษาอย่างสุดความสามารถ และมีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ พระองค์ก็เสด็จสวรรคตในที่สุด

ขอขอบคุณ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร (ที่มาข้อมูล-ภาพประกอบ)
20  นั่งเล่นหลังสวน / สุขใจ ใต้เงาไม้ / Re: คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง เมื่อ: 23 เมษายน 2567 14:23:12
               
คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง

๏ ครั้นต่อมาพระขวัญราชโอรสพระราเมศวรมีพระชนม์ได้ ๑๔ ปี คิดร้ายต่อพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ตั้งซ่องสุมผู้คนไว้เปนอันมาก กิติศัพท์ทราบไปถึงพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ๆ จึงรับสั่งให้เชิญพระขวัญเข้ามาเฝ้าในพระราชวัง แล้วรับสั่งถามว่า เจ้าตั้งซ่องสุมผู้คนจะคิดร้ายต่อเราจริงฤๅ พระขวัญรับว่าการที่ตั้งซ่องสุมผู้คนนั้นจริง แต่ไม่ได้ประสงค์จะทำร้ายต่อพระองค์ ประสงค์จะป้องกันบ้านเมือง พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีทรงพระราชดำริห์เห็นอาการพิรุธ จึ่งทรงปฤกษากับข้าราชการทั้งปวง ๆ จึ่งยกบทพระไอยการขึ้นพิพากษาว่า ผู้ที่ตั้งซ่องสุมผู้คนจะประทุษร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดินนั้น ชอบให้เอาตัวไปประหารชีวิตรเสีย พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีก็รับสั่งให้เอาตัวพระขวัญไปสำเร็จโทษเสียตามประเพณี ๚

​๏ พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีมีพระราชโอรสด้วยพระมเหษีใหญ่ ๓ องค์ องค์ที่ ๑ พระนามว่า สุรินทกุมาร องค์ที่ ๒ พระนามว่า วรราชกุมาร องค์ที่ ๓ พระนามว่า อนุชากุมาร ๆ นี้กล้าหาญดุร้ายมาก วันหนึ่งรับสั่งให้พวกมหาดเล็กเด็ก ๆ ด้วยกันว่ายข้ามแม่น้ำ พวกมหาดเล็กเกรงอาญาก็พากันว่ายไป ที่มีกำลังน้อยจมตายบ้างก็มี กิติศัพท์ทราบถึงพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี ๆ ทรงพระพิโรธ รับสั่งให้เอาอนุชากุมารไปสำเร็จโทษเสียดังเด็กที่จมน้ำตายนั้น ๚

๏ แลพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีมีราชบุตรอันเกิดด้วยพระสนมอิก ๓ พระองค์ นามว่า เจ้ากุมารอินทร์องค์ ๑ เจ้ากิ่งองค์ ๑ เจ้าติ่งองค์ ๑ ๚

๏ ครั้นต่อมาพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีให้สร้างมณฑปพระพุทธบาทมียอดสูง ๒๕ ศอก หุ้มทองแดงลงรักปิดทอง แล้วให้สร้างวัดขึ้นที่ตำบลโพธิ์ช้างล้ม ๒ วัด พระราชทานนามว่า พระอารามบรมกษัตรวัด ๑ ทุพิยารามวัด ๑ ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์ ๑ ลงรักปิดทองให้งดงาม พระราชทานนามว่า สุขวัญโพธิเพ็ชรเจดีย์ แล้วให้เอาโลหะทั้ง ๕ มาสร้างพระปฏิมากรองค์ ๑ สูง ๑๖ ศอก พระราชทานนามว่า สยัมภูทุตกามาลี ๚

๏ ในปีนั้นเจ้าเมืองกาญจนบุรีจับได้ช้างเผือกพังช้าง ๑ ช้างเผือกพลายช้าง ๑ นำมาถวาย จึงพระราชทานนามช้างเผือกพังว่า อินทไอยรา พระราชทานนามช้างเผือกพลายว่า บรมจักรบุปผาทันต์ ๚

​๏ พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีนี้มีบุญญาภินิหารแลอิทธิฤทธิ ชำนาญในทางเวทมนต์กายสิทธิมาก เวลากลางคืนก็ทรงกำบังพระกายเสด็จประพาศฟังกิจศุขทุกข์ของราษฎร แลทรงตรวจตราโจรผู้ร้ายมิได้ขาด ทรงชุบเลี้ยงคนที่มีเวทมนต์ให้เปนมหาดเล็กใกล้ชิดพระองค์ รับสั่งใช้ให้กำบังกายออกตรวจโจรผู้ร้ายในราตรี ถ้าทรงทราบว่าใครมีเวทมนต์ดีแล้ว ให้มหาดเล็กลอบไปทำร้ายในเวลาหลับ ผู้ใดไม่เปนอันตรายก็ให้พามาเลี้ยงไว้เปนข้าราชการ ผู้ใดที่โอ่อวดทดลองไม่ได้จริงก็ให้ลงพระราชอาญา พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีนี้ทรงปืนแม่นหาผู้เสมอยาก นกกาบินร้องมาในเวลากลางคืนก็ยิงถูก เต่าปลามัจฉาชาติในน้ำแต่พอแลเห็นเงาก็ยิงถูก แลทรงชำนาญในทางโหราสาตร รู้คำนวณฤกษ์ยามชตาบ้านเมือง ได้ทรงพยากรณ์กาลอนาคตเปนพระราชนิพนธ์ไว้ดังนี้ว่า น้ำในแม่น้ำแลคลองทั้งปวงจะแดงเปนโลหิต เมฆแลท้องฟ้าจะแดงเปนแสงไฟ แผ่นดินจะไหวโดยมาก ยักษ์แลผีป่าจะเข้าเมือง เสื้อเมืองทรงเมืองจะหลีกเลี่ยง ฤดูหนาวจะเปนฤดูร้อน โรคไภยจะเบียดเบียนสัตว์แลมนุษย์ทั้งปวง โอชาว่านยาแลผลไม้จะถอยรศ เทพยดาที่รักษาพระสาสนาจะรักษาแต่คนพาล พวกที่อยู่ในศีลในธรรมจะถอยยศ มิตรจะกลับเปนศัตรู เมียจะคิดทรยศต่อผัว คนต่ำตระกูลจะทำคนตระกูลสูงให้เสื่อมถอย ศิษย์จะสู้ครู พวกพาลจะมีอำนาจ พวกปราชญ์จะตกต่ำ น้ำเต้าจะจม กระเบื้องจะลอย ผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน มนุษย์จะมีอายุสั้นพลันตาย จะเกิดเข้ายากหมากแพง ​ฝูงมนุษย์จะอดอยาก ผีแลเปรตจะปนอยู่กับคน สมณชีพราหมณ์จะร้อนใจ จะเกิดโจรผู้ร้ายแย่งชิงกันชุกชุม ที่ลุ่มจะกลับดอน ที่ดอนจะกลับลุ่ม พระพุทธสาสนาจะเศร้าหมอง คนที่สนุกเฮฮาจะได้ครองสมบัติ คนต่างชาติต่างภาษาจะเข้ามาเปนเจ้านายดังนี้ ๚

(เข้าความฉบับหลวง)

๏ อันพระสุริเยนทราธิบดีเมื่อครั้งนั้น มีทหารคนดีสองคน ชื่อพานศรเพลิงคน ๑ ดำเกิงณรงค์คน ๑ เปนเกณฑ์สำหรับได้อยู่ข้างที่พระองค์ มีวิชาการเชี่ยวชาญชำนาญนักหนา ทั้งอยู่คงกะพันแลล่องหนทั้งอึดใจก็ได้ ทั้งรู้วิชาปืนก็หลักแหลม อันแยบคายปืนกลนี้ดีนักหนา รู้จักที่จึ่งยิงได้ดังใจหมาย ได้ยินแต่เสียงสำเนียงมาก็ยกปืนขึ้นยิงแล้วไม่รู้ผิด ถึงจะแอบจะบังอยู่ให้มิดก็ยิงถูกได้ดังใจ ที่ในว่าไว้นั้น จนแต่จรเข้อยู่ที่ในน้ำก็ยิงให้ตายอยู่กับที่ก็ได้ ยิงให้ว่ายวิ่งอยู่บนน้ำก็ได้ ยิงให้จมไปก็ได้ อันในแผ่นดินพระสุริเยนทราธิบดี อันสองคนนี้เปนยอดทหาร กับเหล่าชาญณรงค์องครักษ์ของพระองค์มีอยู่สองร้อย เปนทหารสำหรับรักษาข้างพระองค์ ครั้นอยู่มาครั้งหนึ่ง จึ่งอ้ายธรรมเถียรบัณฑิต มันทำจริตกิริยาอาการมาให้เหมือนพระขวัญ คือตรัสน้อยใจที่พระองค์ลงโทษ ฝ่ายอาณาประชาราษฎรทั้งปวงนั้น เลื่องฦๅกันว่าพระขวัญนี้มีบุญญาธิการนักหนา ถึงฆ่าเสียแล้วก็ไม่ตาย เพราะเหตุฉนี้อ้ายธรรมเถียรมันจึ่งทำมาให้แทนที่ มันจึ่งติดไฝที่แก้มแล้ว ทำ​เปนพูดจาพาทีให้เหมือน ว่าตัวนี้เปนผู้มีบุญ อันคนในแว่นแคว้นแดนประสักนั้นจงรักภักดีแล้วเข้าอุดหนุนเข้าเกลี้ยกล่อม บ้างก็ยอมลงทุน บ้างก็อุดหนุนตกแต่งให้ทั้งเครื่องอุปโภคต่าง ๆ นา ๆ ด้วยสัญญาว่าองค์ตรัสน้อย แต่เกลี้ยกล่อมได้คนสองพัน จึ่งซ่องสุมพลไว้พระนครหลวง จนแต่หลวงเทพราชาที่รักษาวังอยู่ที่พระนครหลวงนั้น ก็เอาเครื่องสูงเกณฑ์แห่มาได้ครบครัน กับขุนศรีคชกรรม์กองช้างที่อยู่ป่าอรัญญิกนั้น ก็เอาพลายมงคลรัตนาศน์ไปกำนัน ช่างพากันไปด้วยคนร้าย อันอ้ายธรรมเถียรนั้นมันคิดผิดผลที่มันจักตาย แต่งตัวขึ้นขี่ช้างแล้ว แห่แหนมาด้วยอภิรุมชุมสายเปนอันมาก เมื่อยกทัพมากลางทางที่คนรู้ก็ไปเข้าด้วย ลางคนแต่มือเปล่าก็เข้ามาหา ลางคนก็ได้แต่พร้าวิ่งตามไป แล้วจึ่งข้ามศาลาเดิมบ้านทานทุน แล้วจึ่งยกมาตามถนนใหญ่ ครั้นถึงรอจึ่งหยุดพลไว้ ฝ่ายขุนนางข้างในครั้นรู้ก็เข้าไปทูลกับพระองค์ว่า ราชศัตรูเข้ามาถึงรอแล้ว ยังหยุดพลไว้ที่ตำบลอันนั้น ครั้นพระองค์ทราบเหตุก็เสด็จออกมาโดยพลัน พระองค์จึ่งเสด็จขึ้นอยู่บนป้อมมหาไชย จึ่งตรัสห้ามพลทั้งนั้น ว่าใครอย่าออกรบพุ่ง ไว้นักงานกู ตามทีให้มันเข้ามา ครั้นประจุพระแสงปืนแล้ว พระองค์เสด็จขึ้นยืนอยู่ต่อสู้ อันเหล่าราชศัตรูทั้งนั้น ก็กรูกันข้ามมาตามตะพานใหญ่ จึ่งทรงยิงด้วยพระแสงมหาไชย ก็ถูกอกธรรมเถียรเข้ากระเด็นตกลงไปทันที อันผู้คนทั้งนั้นก็กระจัดพลัดพราย บ้างล้มตายบ้างวิ่งหนี ชาวกรุงจึ่งไล่ตามตีก็จับตัวได้ บ้างวิ่งหนีซุกซนไป ที่เปน​ไพร่ก็ไม่ตาย แต่ตัวนายจึ่งฆ่าเสียให้ถึงแก่มรณา อันพระสุริเยนทราธิบดีนั้นองอาจมีอำนาจนักหนา ทั้งทรงทศพิธราชธรรมมิได้เที่ยวรบพุ่งบ้านเมืองใด จนถึงพระยาสามนต์อันเปนใหญ่อยู่ในกรุงศรีสัตนาคนหุต ก็เลื่องฦๅชาไปว่าพระองค์นี้ตั้งอยู่ในธรรม ทั้งมีฤทธิวิทยาแลอาคม ทั้งพระเดชเดชาก็กล้าหาญนักหนา จึ่งแต่งพระราชธิดา มีพระนามเรียกพระตรัสนายกัลยาณีมาถวาย อันพระบุตรีนั้นมีโฉมประโลมโสภางามนักหนา พระชันษานั้นได้สิบห้าปี กับพระราชสาสนแลเครื่องบรรณาการเปนอันมาก มาถวายด้วยใจจงรักภักดี ทั้งมีสวามิภักดิสมัคสมาคม จักเปนที่พึ่งโพธิสมภารสืบไปเบื้องน่า ครั้นมาถึงจึ่งถวายพระราชธิดา ทั้งเครื่องบรรณาการแลราชสาสน อันพระองค์นั้นก็ทรงยินดีปรีดา จึ่งแต่งรับพระธิดาแล้วตั้งไว้เปนที่มเหษีตามที่ตามเมืองน้อยใหญ่ พระองค์ก็ประพฤติตามโดยดีตามสวัสดีอันเปนธรรมอันดี แต่บรรดาพระยาแสนท้าวเหล่าลาวเมืองล้านช้างซึ่งมาเปนการพระราชไมตรีนั้น แต่บรรดาอำมาตย์ราชเสนาที่มาทั้งสิ้น แลไพร่พลทั้งนั้น ทั้งเหล่าผู้คนข้าไททั้งหญิงชาย อันเปนบริวารของพระบุตรีทั้งสิ้น พระองค์ก็ประทานบำเหน็จรางวัลทั้งเงินทองเสื้อผ้าแลสิ่งของทั้งปวงเปนอันมาก ประทานให้ครบตัวกันทั้งสิ้น แล้วจึ่งตอบเครื่องบรรณาการโดยราชประเพณี ให้ไปกับพระเจ้าล้านช้างเปนอันมาก อันพระราชบุตรีนั้นพระองค์ปลูกตำหนัก แลเรือนหลวงให้อยู่ตามถิ่นตามฐาน จึ่งเรียกว่าเจ้าตำหนักใหม่ อันบรรดาสมัคพรรคพวกผู้คนข้าไทของพระบุตรีทั้งสิ้น พระองค์ให้​ถิ่นฐานเย่าเรือน ทั้งวัวควายไร่นาแลเรือกสวน อันที่บ้านนั้นเรียกว่าม่วงหวาน ครั้งนั้นพระเกียรติยศปรากฎฟุ้งเฟื่องเลื่องฦๅไปทุกประเทศเขตรขัณฑ์ ก็ชื่นชมพระสมภารของพระองค์ยิ่งนัก อันพระสุริเยนทราธิบดีนั้น พระองค์พอพระไทยเล่นกาพย์โคลงฉันท์ ทั้งพระราชนิพนธ์ของพระองค์ก็ดี จึ่งมีมหาดเล็กคนหนึ่งเปนนักปราชญ์ช่างทำกาพย์โคลงฉันท์ดีนัก พระองค์โปรดปรานแล้ว พระราชทานชื่อเสียงเรียกว่าศรีปราชญ์ เปนผู้สำหรับได้ทำโคลงหลวง ครั้นอยู่มาศรีปราชญ์นั้น ทำโคลงให้กันกับพระสนมข้างใน ครั้นพระองค์ทราบก็ทรงพระโกรธ แต่ไม่ลงโทษทัณฑ์ จึ่งส่งไปไว้เมืองนคร ศรีปราชญ์จึ่งต้องไปอยู่เมืองนครตามรับสั่ง ศรีปราชญ์จึ่งไปทำโคลงให้กันกับภรรยาน้อยเจ้าเมืองนคร ครั้นเจ้าเมืองนครรู้ไปว่าศรีปราชญ์นี้ ทำโคลงให้กันกับเมียน้อยของตัวนั้น จึ่งขึ้งโกรธแล้วจึ่งเอาตัวศรีปราชญ์ไปฆ่าเสีย เมื่อจักฆ่าศรีปราชญ์นั้น ศรีปราชญ์จึ่งว่าเรานี้เปนนักปราชญ์หลวง แล้วก็เปนลูกครูบาอาจารย์ แต่องค์พระมหากษัตรยังไม่ฆ่าเราให้ถึงแก่ความตาย ผู้นี้เปนเจ้าเมืองนคร จักมาฆ่าเราให้ตาย เราก็จักต้องตายด้วยดาบเจ้าเมืองนคร สืบไปเบื้องน่าขอให้ดาบนี้คืนสนองเถิด ครั้นศรีปราชญ์แช่งไว้ดังนั้นแล้ว ศรีปราชญ์ก็ตายด้วยดาบเจ้าเมืองนคร ที่ศรีปราชญ์แช่งไว้นั้นเปนคำโคลงเขียนลงกับแผ่นดินให้เปนทิพพยาน ​ครั้นอยู่มาพระองค์มีรับสั่งให้เรียกหาตัวศรีปราชญ์ก็ไม่ได้ดังประสงค์ เสนาจึ่งกราบทูลว่าพระยานครฆ่าเสีย อันว่าตัวศรีปราชญ์นั้นบัดนี้ถึงแก่ความตายแล้ว พระองค์จึ่งตรัสถามเสนาว่า ศรีปราชญ์นี้มีโทษประการใดจึ่งฆ่ามันเสีย เสนาจึ่งทูลว่า ศรีปราชญ์ทำโคลงให้กับภรรยาน้อยเจ้าเมืองนคร ครั้นเจ้าเมืองนครรู้ก็โกรธจึ่งฆ่าศรีปราชญ์เสีย พระองค์ก็ทรงพระโกรธแล้วจึ่งตรัสว่า ศรีปราชญ์นี้เปนนักปราชญ์ แล้วก็เปนคนสำหรับเล่นกาพย์โคลงกับกู โทษมันแต่เพียงนี้ แต่กูยังไม่ฆ่ามันให้ตาย อ้ายเจ้าเมืองนครมันไม่เกรงกู มันฆ่าศรีปราชญ์เสียให้ตายมันทำได้ จึ่งมีรับสั่งกับเสนาให้เร่งออกไป แล้วให้เอาดาบเจ้าเมืองนครที่ฆ่าศรีปราชญ์เสียนั้น ฆ่าเจ้าเมืองนครเสียให้ตาย เสนาก็ถวายบังคมลาแล้ว จึ่งออกไปเมืองนคร ครั้นถึงจึ่งเอาดาบที่เจ้าเมืองนครฆ่าศรีปราชญ์เสียนั้น ฆ่าเจ้าเมืองนครเสียตามมีรับสั่ง อันเจ้าเมืองนครนั้นถึงแก่ความตายด้วยพระราชอาญา อันพระสุริเยนทราธิบดีนั้น ได้เสวยราชสมบัติมาช้านาน อันชาวกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น แลทั้งอาณาประชาราษฎรทั้งปวงก็อยู่เปนศุขทั้งสิ้น อันพระสุริเยนทราธิบดีนั้นวันอังคารได้เสวยราชสมบัติมาแต่เมื่อจุลศักราชได้ ๑๐๖๒ ปีมเสงโทศก พระชนม์ได้ ๔๙ ปี อยู่ในราชสมบัติได้ ๗ ปี เปน ๕๖ ปีสวรรคต เมื่อศักราชได้ ๑๐๖๙ ปี ๚

๏ ครั้นพระสุริเยนทราธิบดีสวรรคตแล้ว พระราชโอรสาอันชื่อพระสุรินทรกุมาร อันเปนพระเชษฐานั้น ได้ผ่านพิภพธานี​สืบไป ในเมื่อจุลศักราชได้ ๑๐๖๙ ปีชวดนพศก จึ่งทำราชาภิเศกตามประเพณี จึ่งถวายนามเรียกว่าพระภูมินทราชาก็เรียก พระบรรยงก์รัตนาศน์ก็เรียก ทรงเบ็ดก็เรียก อันพระมเหษีนั้นพระนามเรียกเจ้าท้าวทองสุก จึ่งมีพระราชบุตรแลพระราชธิดาในเจ้าท้าวทองสุกนั้นหกองค์ พระราชโอรสองค์ใหญ่นั้น พระนามเรียกเจ้าฟ้านเรนทร์ ถัดมาชื่อเจ้าฟ้าอไภย แล้วถัดมาชื่อเจ้าฟ้าปรเมศร์ ถัดมาชื่อเจ้าฟ้า ถัดพระกุมาร ๔ องค์ยังพระราชธิดาอิกสององค์ องค์หนึ่งพระนามเรียกเจ้าฟ้าเทพ พระธิดาสุดพระครรภ์นั้น ชื่อเจ้าฟ้าประทุม ในพระครรภ์เจ้าท้าวทองสุกนั้น ทั้งพระราชบุตรีเปนหกองค์ด้วยกัน แล้วมีในพระสนมเอกนั้นองค์หนึ่ง พระนามเรียกพระองค์เชษฐาเปนกุมาร ยังพระราชนัดดาชื่อหม่อมเจ้าเพชหึงกุมาร ยังบุตรี ๔ องค์นั้น ชื่อหม่อมเจ้าฝรั่ง ๑ หม่อมเจ้าปุก ๑ หม่อมเจ้าหงษ์ ๑ หม่อมเจ้าอิง ๑ อันพระราชนัดดาทั้งกุมารแลบุตรีทั้งสิ้น ๔ องค์ด้วยกัน ทั้งพระราชบุตรแลพระราชธิดา ทั้งพระนัดดาสิ้นทั้งเจ้าฟ้าพระองค์เจ้าทั้งสิ้น เปน ๑๑ องค์ด้วยกัน พระองค์จึ่งตั้งพระอนุชา อันชื่อพระวรราชกุมารนั้น ให้เปนที่พระมหาอุปราช อันเจ้าฟ้านเรศร์เชษฐานั้น พระมหาอุปราชขอมาเลี้ยงไว้เปนพระราชโอรส อันสมเด็จพระบิดานั้นเสน่หาในพระราชโอรสสองพระองค์ยิ่งนัก พระองค์หมายจะให้ครอบครองราชสมบัติแทนที่ พระองค์จึ่งสร้างวัดมเหยงค์อารามหนึ่ง จึ่งสร้างพระพุทธไสยาศน์พระองค์ใหญ่ที่ป่าโมกองค์ ๑ ยาวได้เส้นห้าวา ครั้นอยู่มาเมื่อครั้ง​จุลศักราชได้ ๑๐๗๖ ปีมแมฉศก ญวนใหญ่จึ่งยกทัพมาหนักหนา อันตัวนายที่เปนใหญ่มานั้นชื่อนักพระแก้วฟ้า มารบเมืองเขมร กษัตรเมืองเขมรจึ่งหนีเข้ามาพึ่งพระเดชในกรุง อันที่ชื่อนักเสด็จนั้นเปนผู้ผ่านธานี ทั้งหกนางผู้เปนมเหษี อันนักองค์เอกนั้นเปนอนุชา นักพระศรีธรรมราชานั้นเปนที่มหาอุปราช อันพระโอรสในมเหษีนั้นชื่อพระรามาธิบดีองค์ ๑ พระศรีไชยเชษฐองค์ ๑ ชื่อพระสุวรรณกุมารองค์ ๑ นักพระองค์อิ่มองค์ ๑ นักพระองค์ทององค์ ๑ นักพระอุไทยองค์ ๑ กุมารของบุตรี ๒ องค์ คือพระสุภากษัตรีองค์ ๑ พระศรีสุดาองค์ ๑ ทั้งบุตรแลธิดาเปน ๘ องค์ด้วยกัน ยังหลานสององค์คือนักองค์ปาน นักองค์ตน อันนี้เหล่ากษัตร ยังเสนาสองคือ ฟ้าทลหะนั้นฝ่ายขวา ฝ่ายซ้ายนั้นฝ่ายกลาโหมเปนต้น บรรดาอำมาตย์ทั้งปวงน้อยใหญ่เปนหลายคน กับพลห้าร้อยปลาย กับช้างเผือกพังตัว ๑ ชื่อบรมรัตนากาศไกรลาศคิรีวงษ์ อันช้างเผือกพังตัวนี้ นักเสด็จก็พาเอามาแล้ว จึ่งถวายกับพระเจ้าภูมินทราชา แล้วตัวนักเสด็จกับพี่น้องลูกหลานทั้งสิ้น ก็เข้ามาพึ่งโพธิสมภารอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระองค์ก็ทรงพระเมตตาแล้วสงสารกับนักเสด็จยิ่งนัก ๚

๏ ครั้นต่อมาพระเจ้าภูมินทราชาทรงพระประชวร มีพระอาการหนัก เจ้าฟ้าอไภยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์จึ่งปฤกษากันว่า พระบิดาเราทรงพระประชวรมีพระอาการหนัก เห็นจะทรงพระชนม์อยู่ไม่นาน ถ้าพระองค์เสด็จสวรรคตแล้วราชสมบัติจะไปตกอยู่กับพระมหาอุปราช ควร​เราซึ่งเปนราชโอรสจะซ่องสุมผู้คนไว้ให้มาก เวลาพระบิดาสวรรคตแล้วจะได้ต่อสู้รักษาราชสมบัติไว้ มิให้ตกไปเปนของพระมหาอุปราช แลถึงในเวลานี้ก็ควรจะเกียจกันอย่าให้พระมหาอุปราชเข้าเฝ้าเยี่ยมเยือนทราบพระอาการได้ เมื่อปฤกษาเห็นพร้อมกันดังนี้แล้ว ก็ตั้งซ่องสุมผู้คนช้างม้าเปนกำลังไว้เปนอันมาก แลอ้างรับสั่งห้ามมิให้ใครเข้าเฝ้าเยี่ยมเยือนพระอาการของพระเจ้าภูมินทราชาได้ ถึงพระมหาอุปราชก็ให้เข้าเฝ้าเยี่ยมเยือนพระอาการได้แต่เปนบางคราว พระเจ้าภูมินทราชาทรงพระประชวรหนักลงก็เสด็จสวรรคต เมื่อพระเจ้าภูมินทราชาได้เสวยราชย์พระชนม์ได้ ๓๐ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๒๔ พรรษา ครั้นพระชนม์ได้ ๕๔ พรรษาก็เสด็จสวรรคต เมื่อจุลศักราช ๑๐๙๓ ปี ๚

๏ เจ้าฟ้าอไภยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ก็ปิดความมิให้แพร่งพรายให้ใครรู้ว่าพระราชบิดาเสด็จสวรรคต ให้ตระเตรียมเครื่องสาตราวุธแลผู้คนตั้งมั่นอยู่ในพระราชวัง ๚

๏ ฝ่ายพระมหาอุปราชทรงสังเกตได้ระแคะระคายว่าเจ้าฟ้าอไภยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์เกียจกันจะเอาราชสมบัติ เห็นว่าจะเกิดเปนข้าศึกกันเปนแน่แล้ว จึ่งเกลี้ยกล่อมพระเจ้ากรุงกัมพูชาแลคนอื่นๆ ได้เปนอันมาก ตั้งมั่นอยู่ยังมิได้ทำการรบพุ่งประการใด เพราะไม่ทรงทราบว่าพระเชษฐาธิราชสวรรคต ครั้นจะลงมือรบพุ่งในเวลานั้นกลัวจะเปนคิดกบฏต่อพระเชษฐาธิราช ฝ่ายเจ้าฟ้าอไภยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ก็ให้เอาปืนใหญ่น้อยระดมยิงเอาพระมหาอุปราช ๆ ให้สืบว่าพระเชษฐาธิราชมีพระอาการเปนประการใด ก็ยังไม่ได้ความ จึ่งให้ตั้ง​สงบไว้มิได้ทำการสู้รบโต้ตอบ เปนแต่ให้ปูนบำเหน็จรางวัลให้ผู้คนที่ถูกเจ็บป่วยเพื่อจะรักษาน้ำใจไว้ เมื่อข้าราชการทั้งหลายทราบว่าจะเกิดสงครามในเมืองเปนแน่ ก็พากันไปเข้ากับพระมหาอุปราชเปนอันมาก เพราะเห็นว่าพระไทยโอบอ้อมอารี ในขณะนั้นมีผู้เขียนหนังสือลับบอกข่าวที่พระเจ้าภูมินทราชาเสด็จสวรรคตแล้ว ผูกติดกับช้างต้นพระเกษยเดชปล่อยไปจากพระราชวัง เพื่อจะให้พระมหาอุปราชทรงทราบความจริง ด้วยอำนาจบุญญาภินิหารของพระมหาอุปราช ช้างนั้นก็ข้ามน้ำตรงไปยังสำนักพระมหาอุปราช เหมือนดังมีคนขี่ขับไป พวกข้าราชการในพระมหาอุปราชเห็นดังนั้นก็พากันจับ เห็นหนังสือผูกติดกับช้างดังนั้น ก็นำไปถวายพระมหาอุปราช ในเวลานั้นม้าทรงของพระมหาอุปราชตัว ๑ หลุดพลัดออกจากโรง เที่ยวเตะถีบขบกัดหญิงชายเปนอลหม่าน พวกชาวเมืองกลัวม้านั้นเปนกำลัง พากันโจทย์อื้ออึงไปว่า พระมหาอุปราชให้ทหารหายตัวขี่ม้าเที่ยวปราบปรามข้าศึก กิติศัพท์ทราบไปถึงเจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าปรเมศร์แลไพร่พลของเจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าปรเมศร์ ต่างก็พากันย่อท้อตกใจกลัวเปนอันมาก ๚

๏ ในขณะนั้นมหามนตรีจางวางแลพระยาธรมาเสนาบดีกรมวัง กับนายสุจินดามหาดเล็กเชิญพระแสง ๓ คน จึ่งเขียนหนังสือลับมีใจความว่า พระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้วแต่เวลาปฐมยาม เจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าปรเมศร์ คิดการลับจะทำร้ายพระองค์ บรรดาข้าราชการพากันเบื่อหน่ายเอาใจออกหาก แลย่อท้อเกรงพระบารมีพระองค์เปนอันมาก ​ขอให้พระองค์ยกกองทัพเข้ามาเถิด ข้าพระองค์ทั้ง ๓ จะคอยรับเสด็จ ครั้นเขียนแล้วก็ส่งให้คนสนิทลอบไปถวายพระมหาอุปราช ๆ ได้ทราบความดังนั้นก็ทรงยินดี เวลาย่ำรุ่งก็ตระเตรียมไพร่พลเปนอันมาก ยกเข้ามายังพระราชวัง เจ้าฟ้าอไภย เจ้าฟ้าปรเมศร์ทราบว่าพระมหาอุปราชยกเข้ามาแล้ว ก็เอาพระแสงชื่อพระยากำแจกที่กำจัดไภย เปนของตั้งแต่ครั้งพระยาแกรก กับพระธำมรงค์ค่าควรเมืองแลแก้วแหวนเงินทองภูษาอาภรณ์ของดี ๆ มีราคา ทั้งเสบียงอาหารเปนอันมากให้คนขนลงบรรทุกเรือ พาข้าราชการที่สนิทชิดใช้หนีไปยังตำบลบ้านตาลาน ๚

๏ ในขณะนั้น ข้าราชการทั้งปวงจึงยกพระมหาอุปราชขึ้นเปนพระเจ้าแผ่นดิน ถวายพระนามว่า พระมหาธรรมราชา เมื่อพระมหาธรรมราชาได้เสวยราชย์แล้วทรงทราบว่า เจ้าฟ้าอไภย เจ้าฟ้าปรเมศร์เอาพระธำมรงค์กับพระแสงสำหรับพระนครแลพาข้าราชการไปมาก จึ่งให้อำมาตย์คุมพลทหารออกเที่ยวตามจับ เจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าปรเมศร์ทราบว่าพระมหาธรรมราชาให้คนออกเที่ยวตามจับ จึ่งเก็บเอาสิ่งของแต่พอกำลังแล้วให้ล่มเรือจมน้ำเสีย พระธำมรงค์กับพระแสงก็จมอยู่ในน้ำกับเรือนั้น แล้วก็พากันหนีซุกซ่อนกระจัดกระจายไป เจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าปรเมศร์ ได้นายบุญคงมหาดเล็กตามไปด้วยคน ๑ เที่ยวหนีซุกซ่อนอยู่ในป่า ครั้นหลายวันเข้า เสบียงอาหารก็หมดลง นายบุญคงเปนคนกตัญญูสัตย์ซื่อต่อเจ้านายของตน ก็อุสาหะเที่ยวแสวงหาอาหารมาถวาย พวกอำมาตย์ของพระมหาธรรมราชาที่เที่ยว​ติดตามไปพบนายบุญคงในกลางป่า สงไสยจึ่งจับมาเฆี่ยนถาม นายบุญคงได้ความเจ็บปวดเปนสาหัสทนไม่ได้ ก็รับเปนสัตย์ พวกอำมาตย์จึ่งให้นำไปจับเจ้าฟ้าอไภย เจ้าฟ้าปรเมศร์ได้ทั้ง ๒ องค์นำมาถวายพระมหาธรรมราชา ๆ จึงรับสั่งให้เอาเจ้าฟ้าอไภยเจ้าฟ้าปรเมศร์ไปสำเร็จโทษเสีย พวกพ้องของเจ้าฟ้าอไภย เจ้าฟ้าปรเมศร์ ซึ่งหนีซุกซ่อนไปในทิศต่างๆ ที่ตามจับได้ก็ให้ประหารชีวิตรเสียสิ้น แต่นายบุญคงนั้นทรงพระกรุณาโปรดให้เลี้ยงไว้ ด้วยรับสั่งว่าเปนคนซื่อสัตย์กตัญญูต่อเจ้านาย ๚

๏ พระมหาธรรมราชานี้มีพระมเหษี ๓ องค์ พระมเหษีใหญ่มีพระนามว่า กรมหลวงอไภยนุชิต พระมเหษีที่ ๒ พระนามว่า กรมหลวงพิจิตรมนตรี พระมเหษีที่ ๓ พระนามว่า อินทสุชาเทวี กรมหลวงอไภยนุชิตมีพระราชโอรสธิดา ๗ พระองค์ คือ ๑ เจ้าฟ้าชายนราธิเบศร์ ๒ เจ้าฟ้าหญิงบรม ๓ เจ้าฟ้าหญิงธิดา ๔ เจ้าฟ้าหญิงรัศมี ๕ เจ้าฟ้าหญิงสุริยวงษ์ ๖. เจ้าฟ้าหญิงอินทรประชาวดี ๗. เจ้าฟ้าหญิงสุริยา กรมหลวงพิจิตรมนตรีมีพระราชโอรส ๒ พระองค์ พระนามว่า เจ้าฟ้าเอกทัศพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าอุทุมพรพระองค์ ๑ มีพระราชธิดา ๖ พระองค์ พระนามว่าเจ้าฟ้าศรีประชาพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าสุริยบุรพาพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าสัตรีพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าอินทวดีพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าจันทร์พระองค์ ๑ เจ้าฟ้านุ่มพระองค์ ๑ อินทสุชาวดีมีพระราชโอรสองค์ ๑ พระนามว่าเจ้าฟ้าอัมพร มีพระราชธิดา ๒ องค์ พระนามว่า ​เจ้าฟ้ากุณฑลองค์ ๑ เจ้าฟ้ามงกุฎองค์ ๑ พระมหาธรรมราชามีพระราชโอรสเกิดแต่นางนักสนมอีกเปนอันมากรวมทั้งสิ้น ๑๐๘ องค์

๏ ครั้นต่อมาพระมหาธรรมราชาทรงตั้งเจ้าฟ้านราธิเบศร์เปนพระมหาอุปราช พระราชทานเจ้าฟ้านุ่มเปนพระมเหษี แต่เจ้าฟ้านุ่มไม่มีพระโอรสธิดา ๚

๏ แต่ก่อนเมื่อยังไม่ได้เปนพระมหาอุปราชนั้น เจ้าฟ้านราธิเบศร์ มีเจ้าหญิงมิตร เจ้าหญิงชื่น เจ้าชายฉัตร เกิดแต่หม่อมเหญก มีเจ้าชายสีสังข์เกิดแต่หม่อมจัน มีเจ้าหญิงดาราเกิดแต่หม่อมเจ้าหญิงสร้อย มีเจ้าชายมิ่งเกิดแต่หม่อมด่วน มีเจ้าหญิงชี เจ้าหญิงชาติ เกิดแต่หม่อมสุ่น รวม ๘ องค์ ๚

๏ ในปีนั้น เจ้าฟ้านักกายฟ้าเจ้าเขมรนำช้างเผือกพังมาถวายพระมหาธรรมราชาช้าง ๑ พระมหาธรรมราชาพระราชทานนามว่า วิไชยหัศดี เจ้าฟ้านักพระอุไทยพระเจ้ากรุงกัมพูชาให้นำช้างเผือกพลายมาถวายช้าง ๑ พระราชทานนามว่า พระบรมราชไทยศวร ช้างเผือกตัวนี้มีข้างเบื้องซ้ายขาวมากกว่าข้างเบื้องขวา พระยานครศรีธรรมราชจับได้ช้างเผือกช้าง ๑ มาถวาย พระราชทานนามว่า บรมคชลักษณสุประดิษฐ เจ้าเมืองเพ็ชรบุรีจับได้ช้างเผือกช้าง ๑ มาถวาย พระราชทานนามว่า บรมนาเคนทร กรมการจับช้างเผือกเข้าพเนียดเมืองนครไชยศรีได้ ๔ ช้างมาถวาย พระราชทานนามว่า ​บรมคชช้าง ๑ บรมพิไชยช้าง ๑ บรมจักรช้าง ๑ จอมพลสำเนียงช้าง ๑ แล้วให้มีการมหรศพสมโภชเปนอันมาก ๚

๏ ครั้นลุศักราช ๑๐๙๕ ปี พระมหาอุปราชทิวงคต พระมหาธรรมราชาจึงทรงตั้งเจ้าฟ้าอุทุมพรเปนพระมหาอุปราช พระราชทานเจ้าท้าวต่อยธิดาของพระมหาอุปราชที่ทิวงคตให้เปนพระมเหษี ๚

(เข้าความฉบับหลวง)

๏ ครั้นอยู่มาเมื่อครั้งจุลศักราชได้ ๑๐๙๖ ปีเถาะฉศก จึ่งพระเจ้าลังกาอันได้ครองเมืองศิริวัฒนบุรี จึ่งมีพระประสงค์ที่จะบำรุงพระสาสนาในเมืองสิริวัฒนบุรีอันเศร้าหมองไป จึ่งให้แต่งพระราชสาสนใส่ในแผ่นสุพรรณบัตรเปนสำเนา จึ่งให้การะอำมาตย์เปนอุปทูต ศิริวัฒนอำมาตย์เปนราชทูต อันเครื่องบรรณาการนั้น คือสังข์ทักขิณาวัฏปากเลี่ยมทอง กับเครื่องบรรณาการทั้งปวงเปนอันมาก จึ่งให้อุปทูตราชทูตถือพระราชสาสน ทั้งคุมเครื่องบรรณาการทั้งปวงกับผู้คนเปนอันมาก ลงสำเภาแล้วใช้ใบเข้ามากรุงศรีอยุทธยา เปนทางพระราชไมตรี ครั้นสำเภาเข้ามาจอดแล้ว อุปทูตราชทูต จึ่งเข้าแจ้งความกับอรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ คือเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ฝ่ายกรมท่า ส่วนเสนาผู้ใหญ่ครั้นแจ้งความแล้ว ก็เข้าไปกราบทูลฉลองกับพระมหาบรมราชา พระองค์จึ่งมีรับสั่งให้เบิกราชทูตเข้ามาในพระราชวังใหญ่ เสนาผู้ใหญ่รับพระราชโองการแล้วก็ออกมา จึ่งสั่งกับกรมเมืองให้ตกแต่งบ้านเมืองให้งามให้​สอาด กรมเมืองจึ่งให้นครบาลไปป่าวร้องให้ทำทางแล้ว ให้พ่อค้าทั้งปวงมาตั้งร้านรวงค้าขายกัน ทั้งผ้าผ่อนแพรพรรณต่าง ๆ นา ๆ ทั้งเครื่องสิ่งของดี ๆ ครบครัน แล้วให้มานั่งค้าขายกันที่ตามถนนหนทางที่แขกเมืองจะเข้ามาเฝ้า แล้วให้เอาช้างลงน้ำทุกประตูเมือง ตามทางแขกเมืองที่จะมานั้น ครั้นตกแต่งบ้านเมืองแล้ว ส่วนเจ้าพระยากรมท่านั้น จึ่งปลูกโรงรับแขกเมืองตามที่ตามทาง แล้วก็เลี้ยงดูตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนมา แล้วพระยากรมท่าให้ราชมนู, เทพมนู, นำแขกเมืองลังกาเข้ามา ครั้นแขกเมืองเข้ามาแล้ว จึ่งรับแขกเมืองยั้งไว้บนศาลหลวง แล้วจึ่งให้ล่ามแปลสำเนาพระราชสาสนที่มาทั้งสิ้น ๚

๏ พระองค์เสด็จออกนั่งแขกเมืองนานาประเทศตามอย่างธรรมเนียมที่มีในนี้ อันน่าฉานซ้ายขวานั้น ตั้งเสวตรฉัตรอันคันนั้นหุ้มทองประดับ อันยอดแลกำภูขอบระบายนั้นทอง จึ่งตั้งตรงน่าฉานซ้าย ๔ คัน ขวา ๔ คัน แล้วรองมาจึ่งมยุรฉัตรข้างซ้าย ๔ แถว ขวา ๔ แถว แต่บรรดาเครื่องสูงนั้นคือจามร บังสูรย์ อภิรุม พัชนี อันเครื่องสูงเหล่านี้ล้วนทองประดับทั้งสิ้น จึ่งตั้งตรงน่าฉานซ้าย ๔ แถว ขวา ๔ แถว อันน่าเครื่องสูงนั้นจึ่งตั้งเตียงทองประดับกระจกแล้วปูสุจนี่ทั้งซ้ายขวา สำหรับตั้งพานพระราชสาสน อันพานที่รองพระราชสาสนนั้น พานทองประดับ อันที่พระมหาอุปราชเสด็จนั่งนั้น ตั้งเครื่องมหาอุปโภคพานทอง ประดับใส่พระศรีแลพานพระศรี แล้วพระเต้าครอบทองประดับ แลพระสุพรรณศรีประดับ แล้วรอง​พระมหาอุปราชมา จึ่งถึงที่ลูกหลวงเอก คือเจ้าฟ้าเสด็จนั่งซ้ายขวา ตั้งเครื่องมหาอุปโภคนั้นลดลงมากับพระมหาอุปราช แล้วจึ่งที่ลูกหลวงโท คือพระองค์เจ้าต่างกรม อันเครื่องอุปโภคนั้นลดลงมากับเจ้าฟ้า แล้วจึ่งพระราชวงษาแลราชนิกูล คือพระพิเรนทรเทพ พระเทพวรชุน พระอไภยสุรินทร์ พระอินทรอไภย แล้วจึ่งถึงที่อรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ คือที่เจ้าพระยามหาอุปราชแล้ว เจ้าพระยาจักรี กลาโหม ที่อรรคมหาเสนาบดีผู้ใหญ่จึ่งนั่งซ้ายขวากัน แล้วถึงพระยามหาเสนา พระยามหาอำมาตย์ซ้ายขวา สองคนนี้รองเจ้าพระยาลงมา แล้วจึ่งพระยาอไภยราชา พระยาอไภยมนตรีเปนซ้ายขวากัน แล้วจึ่งจัตุสดมภ์ทั้งสี่ คือกรมเมือง พระยายมราช กรมวัง พระยาธรมา กรมคลัง พระยาราชภักดี กรมนา พระยาพลเทพ แล้วจึ่งพระยารัตนาธิเบศร์ พระยาธิเบศร์บริรักษ์ สองคนนี้นั่งที่ซ้ายขวากัน แล้วจึ่งพระยาราชสงคราม พระยาเดโชนั่งซ้ายขวากัน แล้วจึ่งพระมหาเทพ พระมหามนตรี ราชรินทร์ อินทรเดชะ อันสี่คนนี้กรมวัง ทั้งสี่ที่หัวหมื่นตำรวจใน ก็นั่งตามตำแหน่งเปนซ้ายขวากัน แล้วพระเทพโยธา พระสมบัติธิบาล พระพิพัฒน์ พระอำมาตย์ พระบำเรอภักดิ พระชำนิ พระกำแพง พระยาราชวังเมือง สองคนนี้กรมช้าง พระศรีเสาวภักดิ หลวงทรงพล อันสองคนนี้กรมม้า นั่งเฝ้าซ้ายขวากันตามที่ตามทาง ยังเหล่ามหาปโรหิตราชครู คือพระครูพิราม พระครูมโหสถ พระครูวิเชต พระครูมเหธร พระครูสังฆาราม พระครูกฤษณา ​พระกฤษณราช อันมหาปโรหิตทั้งแปดคนนี้ก็นั่งเฝ้าอยู่เปนซ้ายขวากันตามที่ แต่บรรดาเจ้าพระยา แลพระยา แลราชนิกูล พระ หลวง ขุน หมื่น ทั้งขุนนางพราหมณ์ ขุนนางแขก ขุนนางฝรั่ง ขุนนางเจ๊ก ขุนนางมอญ ขุนนางลาว แลทั้งเศรษฐีคหบดีทั้งปวง นั่งเฝ้าตามที่ตามตำแหน่ง ซ้าย ๘ แถว ขวา ๘ แถว เบ็ดเสร็จเปนมุขอำมาตย์ ๔๐๐ อันเจ้าพระยานั้นตั้งเครื่องอุปโภคพานทองเจียดทองเครื่องทั้งปวง เปนชั้นเปนหลั่นกันลงมาตามที่ อันพระหลวงขุนหมื่นนั้นมิได้มีเครื่องบริโภค อันน่าพระลานน่าฉานนั้นตั้งกองโยนร้อยหนึ่ง ฆ้องแตรสำหรับรับเสด็จส่งเสด็จ อันน่าพระลานซ้ายขวานั้นมีทหารข้างละ ๑๐๐ ใส่หมวกทองใส่เสื้อเสนากุฎ สัพสรรพอาวุธครบมือกันทั้งสิ้น อันข้างปราสาทซ้ายขวานั้น มีได้โกลาอานบังสำหรับผูกช้างต้น ช้างเผือกแลช้างเนียม อันเครื่องช้างนั้นทองประดับฝรั่งเศส มีข่ายทองปักน่า ภู่ผ้าปักหลัง กรองเชิงประดับ ๔ เท้า อันเครื่องกินนั้นแต่ของทองเงินมีฝาใส่หญ้ากล้วยอ้อย แล้วมีสัปทนแส้กะตักคันเงิน มีเครื่องกินรองกระยาหารเงิน ๚

๏ อันเหล่าช้างจลุงรายซ้าย ๘ เชือก ขวา ๘ เชือกนั้นตกแต่งประดับประดาเปนหลั่นกันตามที่ อันม้าต้นซ้ายขวาน่าฉานนั้น ผูกอานพระมหาเนาวรัตน อันเครื่องกินนั้นมีตะคองน้ำทอง มีถาดเงินรองหญ้าถั่วเข้า แล้วมีสัปทนแลไม้เตือนคันเงิน อันเหล่าม้าที่นั่งรองซ้าย ๘ ขวา ๘ นั้น ผูกเครื่องทองรองเปนหลั่นกันตามที่ ๚

​๏ อันฝ่ายข้างบนพระที่นั่งนั้น มีเครื่องราชาอุปโภค มีพานพระขันหมาก ๒ ชั้นเชิงครุธถมราชาวดีประดับตั้งซ้าย ๔ ขวา ๔ แล้วมีพระสุพรรณศรี ทั้งพระสุพรรณราช พระคันทีทองประดับพระเต้าครอบทองประดับ จึ่งตั้งซ้าย ๔ แถว ขวา ๔ แถว แล้วจึ่งตั้งเครื่องเบญจกุกกุภัณฑ์ทั้ง ๕ คือพระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์ ธารพระกร ฉลองพระบาท ทั้งเครื่องมหาพิไชยสงครามทั้ง ๕ คือ พระมาลา ศร พระแสงง้าว พระแสงหอก พระแสงขอ เปน ๕ สิ่งด้วยกัน จึ่งตั้งซ้ายขวา แล้วจึ่งหัวหมื่นมหาดเล็ก เกณฑ์นั่งหลังเครื่องสูง น่าราชบัลลังก์นั้น คือจมื่นสารเพธภักดี จมื่นศรีเสาวรักษ์ จมื่นไวยวรนารถ จมื่นเสมอใจราช อันสี่คนนี้เปนนายมหาดเล็กทั้งสิ้น แล้วจึ่งบำเรอภักดิ หมื่นจง อันสองคนนี้เปนปลัดวัง รองหัวหมื่นมหาดเล็กลงมา จึ่งนั่งซ้ายขวากัน ๚

หน้า:  [1] 2 3 ... 274
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.49 วินาที กับ 26 คำสั่ง

Google visited last this page 01 พฤษภาคม 2567 20:16:37