[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
11 พฤษภาคม 2567 18:43:50 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ความเป็นมาของการเล่น "ว่าวไทย"  (อ่าน 1827 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5478


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 29 มีนาคม 2561 14:20:37 »


นายตำรวจกับเสมียนยืนถือว่าวจุฬาที่ชนะการแข่งขันว่าวพนัน ในสมัยรัชกาลที่ ๕

ว่าวไทย


คำว่า “ว่าว” ในภาษาไทย หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Kite” มีความหมายคล้ายกันคือเป็นเครื่องเล่นรูปต่างๆ มีไม้เบาๆ เป็นโครงแล้วปิดด้วยกระดาษหรือผ้าบางๆ ปล่อยให้ลอยตามลมขึ้นไปในอากาศ โดยมีสายเชือกหรือป่านยึดไว้

ว่าวเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์ทำขึ้นมา เป็นการละเล่นเพื่อความบันเทิงและอาจเพื่อประโยชน์อย่างอื่นมานานนับพันปีแล้ว โดยไม่ทราบต้นกำเนิดที่แน่ชัดว่าเริ่มมีครั้งแรก ณ ที่แห่งใด เพราะเป็นการละเล่นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ของคนทั่วไปเกือบทุกชาติ แต่นิยมเล่นกันมากในแถบเอเชีย

การเล่นว่าวของประเทศในภูมิภาคเอเชียมีมาแต่โบราณ และยังนิยมเล่นกันอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ เพื่อความบันเทิงและสนุกสนานเป็นอันดับแรก ซึ่งในแต่ละชาติมีจุดมุ่งหมายในการเล่นว่าวแตกต่างกันไป โดยมากมักจะเป็นด้านของความเชื่อทางศาสนา ประเพณีหรือการใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้วย แต่ต่อมาการใช้ประโยชน์ด้านนี้ค่อยๆ หายไป ทำให้การเล่นว่าวในปัจจุบันเป็นเพียงการละเล่น หรือกีฬาเพื่อความสนุกสนาน และเพื่อพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แม้ว่าบางชาติยังมีเรื่องราวของความเชื่อเก่าๆ แอบแฝงอยู่บ้าง ก็ไม่ถือเป็นเรื่องจริงจังเช่นในอดีต

ในประเทศไทย ว่าวเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยและรู้จักกันดีมาแต่เด็ก เพราะเป็นการละเล่นและกีฬาที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายทั่วไป เล่นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ราคาไม่แพง และสามารถทำเองได้จากวัสดุพื้นบ้าน แม้คนที่ไม่เคยเล่นเองก็คงจะเคยเห็นผู้อื่นเล่นกัน แต่น้อยคนนักที่จะทราบเรื่องราวความเป็นมาและความสำคัญของว่าวในด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ว่าการเล่นว่าวนับแต่โบราณมามิได้เป็นแต่เพียงการเล่นสนุกที่ปรากฏในวิถีชีวิตของคนไทยนับตั้งแต่ชาวบ้านจนถึงพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ยังเป็นพระราชพิธีในราชสำนักอีกด้วย รูปร่างลักษณะและวิธีการทำว่าว รวมทั้งการเล่นว่าวของไทยเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ทั้งในด้านการค้นคิด ประดิษฐ์รูปแบบของว่าว ทำให้เกิดลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของว่าวไทย ที่แตกต่างไปจากรูปลักษณ์ว่าวของชนชาติอื่นๆ

วิธีการทำว่าวและการเล่นว่าวของไทยนั้นต้องอาศัยความชำนาญและศิลปะที่เกิดจากประสบการณ์มาประกอบกับฝีมือที่ประณีตจึงจะทำให้ว่าวมีรูปร่างสวยงามและสามารถขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศได้ดี นอกจากรูปแบบและวิธีการทำว่าวที่ต่างไปจากว่าวของชาติอื่นแล้ว คนไทยยังมีวิธีการเล่นว่าวที่ไม่เหมือนชาติใดๆ ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นมรดกที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษไทยแต่โบราณ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษา




                     ความเป็นมาของการเล่นว่าวไทย

การเล่นว่าวของไทยนั้นเริ่มมาแต่เมื่อใดไม่สามารถหาหลักฐานที่แน่นอนได้ เนื่องจากตัวว่าวซึ่งทำจากไม้ไผ่ กระดาษ และป่านว่าวล้วนเป็นสิ่งที่เสียหายเสื่อมสลายได้รวดเร็วไม่คงทนเช่นศิลปโบราณวัตถุที่ทำด้วยไม้ หิน หรือโลหะ อีกทั้งเมื่อเลิกเล่นก็พังพอดี หรือทิ้งกันไปไม่ได้เก็บรักษากันไว้ แต่ตามหลักฐานที่ปรากฏ คนไทยรู้จักการเล่นว่าวมาตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัย  เมื่อ ๗๐๐ กว่าปีมาแล้ว เริ่มจากพงศาวดารเหนือกล่าวถึง พระร่วง (พระร่วง ในตำนานหรือพงศาวดารนั้น เราไม่อาจจะสรุปได้แน่ชัดว่า) ว่า โปรดทรงว่าว และในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เล่าถึงพระราชพิธีบุษยาภิเษกในเดือนยี่ว่า เป็นวันนักขัตฤกษ์ที่นางสนมกำนัล ได้ดูการชักว่าวหง่าวซึ่งมีเสียงไพเราะเสนาะโสตยิ่ง  ในสมัยอยุธยาการเล่นว่าวคงจะเป็นที่นิยมกันแพร่หลาย จนเลยเถิดไม่ระมัดระวัง จึงมีกฎมณเทียรบาลห้ามชักว่าวข้ามพระราชวัง หากละเมิดมีโทษถึงตัดมือ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งซึ่งโปรดการทรงว่าวมาก จนชาวต่างประเทศที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นได้บันทึกเรื่องราวนี้ไว้หลายท่าน เช่น เมอซิเออร์ เดอลา ลูแบร์ (M.de la Loubère) อัครราชทูตจากราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ประเทศฝรั่งเศส ที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเมื่อพุทธศักราช ๒๒๓๐ ได้เขียนไว้ในจดหมายเหตุการเดินทางของท่านว่า “ว่าวของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามปรากฏในท้องฟ้าทุกคืนตลอดระยะเวลา ๒ เดือนของฤดูหนาว และทรงแต่งตั้งขุนนางให้คอยผลัดเปลี่ยนเวรกันถือสายป่านไว้”  

บาทหลวงตาชาร์ด (Père Qui Tachard) บาทหลวงในคณะบาทหลวงเยซูอิตที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ส่งเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเช่นกัน ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับว่าวเพิ่มเติม คือ ว่าวเป็นกีฬาที่เล่นกันอยู่ทั่วไปในหมู่ชาวสยาม...ที่ทะเลชุบศรและที่เมืองลพบุรี ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จประทับอยู่นั้น ในเวลากลางคืนรอบพระราชนิเวศน์จะมีว่าวรูปต่าง  ลอยอยู่ ว่าวนี้ติดโคมส่องสว่างและลูกกระพรวนส่งเสียงดังกรุ๋งกริ๋ง


ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ว่าวมิได้ใช้เฉพาะเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น แต่มีการใช้ว่าวในการสงคราม คือตอนที่พระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมาเป็นกบฏ พระเพทราชาส่งกองทัพไปปราบตีเมืองไม่สำเร็จ ในครั้งที่สองแม่ทัพกรุงศรีอยุธยาคิดอุบายเผาเมือง อุบายหนึ่งนั้นใช้หม้อดินบรรจุดินดำผูกสายป่านว่าวจุฬาล่ามชนวนชักข้ามกำแพงเมืองเข้าไป แล้วจุดชนวนไหม้ไปถึงหม้อดินดำเกิดระเบิดตกไปไหม้บ้านเมือง ราษฎรระส่ำระสาย จึงเข้าตีเมืองได้สำเร็จ จากประวัติศาสตร์ตอนนี้ปรากฏชื่อ ว่าวจุฬา เป็นครั้งแรก
         การแข่งขันว่าวที่สนามหน้าพระราชวังดุสิต ปลายสมัยรัชกาลที่ ๕


ในหนังสือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ มีที่กล่าวถึงหน้าที่ของตำรวจสมัยกรุงศรีอยุธยา ในขณะที่พระมหากษัตริย์เสด็จไปทรงว่าว ณ สวนกระต่าย (ปัจจุบันคือบริเวณหลังพระวิหารพระมงคลบพิตร) นอกจากมีหน้าที่ถวายอารักขาแล้ว ยังเป็นผู้วิ่งรอกและคอยค้ำสายป่านว่าว ถ้าพานว่าวปักเป้าติดเข้ามานั้น ได้เอาบัญชีกราบทูลพระกรุณาตามชื่อทุกครั้ง ว่าวที่ทรงคงเป็นว่าวจุฬา เพราะคอยคว้าว่าวปักเป้าอยู่ นับเป็นครั้งแรกที่ปรากฏชื่อ ว่าวปักเป้า

ว่าวนอกจากจะเล่นเพื่อความสนุกแล้วยังมีความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีในราชสำนัก ดังในตำราพระราชพิธีเก่ากล่าวถึงไว้ดังนี้ “ให้ชีพ่อพราหมณ์เชิญพระอิศวร พระนารายณ์มาตั้งยังที่ แล้วให้เจ้าพนักงานเตรียมว่าวมาเตรียมไว้ในโรงราชพิธี ครั้นได้ฤกษ์ดีให้ประโคมปี่พาทย์ฆ้องไชย เชิญเสด็จออกทรงชักว่าว พราหมณ์ เจ้าพนักงานเอาว่าวถวายให้ทรงชักตามบุราณประเพณีเพื่อทรงพระเจริญแล”  และในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมีการกล่าวถึงว่า ในเดือนอ้ายมีพระราชพิธีคลิม (ในเอกสารบางเล่มเรียกพระราชพิธีแคลง) คือ พิธีชักว่าวเรียกลม

ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การเล่นว่าวยังคงเป็นการละเล่นและกีฬาที่นิยมกันอยู่แพร่หลาย ในตำนานวังหน้ากล่าวไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ พระอนุชาธิราช ทรงโปรดการทรงว่าวมากดังมีคำกล่าวคล้องจองกันว่า “วังหลวงทรงจุฬาวังหน้าทรงปักเป้า”  ซึ่งการเล่นว่าวจุฬาและปักเป้า ต่อมาในสมัยหลังๆ เป็นการเล่นว่าวพนันกัน คือ ฝ่ายจุฬาฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายปักเป้าฝ่ายหนึ่ง โดยต่างฝ่ายต่างโฉบกัน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งตกตามกติกาที่ตั้งไว้ก็จะเป็นฝ่ายชนะ การเล่นว่าวและการเล่นว่าวพนัน ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เล่นอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดกีฬาว่าวเป็นอันมาก เพราะเป็นกีฬาที่สนุกสนานครึกครื้นถึงกับโปรดเกล้าฯ ให้เล่นว่าวถวายหน้าพระที่นั่งหลายครั้ง

การเล่นว่าวพนันครั้งสำคัญของว่าวจุฬาและปักเป้าคือ การเล่นถวายหน้าพระที่นั่งใน พุทธศักราช ๒๔๔๘ ณ สนามพระราชวังดุสิต โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรางวัลเป็นพวงมาลัยเปียสะพายแล่งมีอุบะห้อย พวงมาลัยสรวมคอมีอุบะห้อยและพวงมาลัยสรวมคอไม่มีอุบะ  สำหรับผู้ชนะที่หนึ่ง ที่สองและที่สามตามลำดับ ในการเล่นว่าวหน้าพระที่นั่งครั้งนั้นดูจะครึกครื้นมากเป็นพิเศษ เพราะมีพิณพาทย์พระราชทานมาประกอบการเล่นว่าวถึง ๒ วง คือ ทางฝ่ายว่าวจุฬาวงหนึ่ง ฝ่ายว่าวปักเป้าวงหนึ่ง วงพิณพาทย์ทั้งสองวงนี้จะทำเพลงเชิดฉิ่ง เมื่อว่าวทั้งสองกำลังต่อสู้กันติดพันกัน และจะทำเพลงต่าง ๆ เพื่อเป็นการบอกอากัปกิริยาของว่าวที่กำลังต่อสู้กันอยู่ ซึ่งนับว่าการเล่นว่าวพนันหน้าพระที่นั่งครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นยุคทองของการเล่นว่าวไทย

หลังจากการเล่นว่าวหน้าพระที่นั่งครั้งนั้นแล้ว พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยมาก จากนั้นทรงเห็นชอบให้มีการแข่งขันว่าวพนัน จุฬาและปักเป้า ในคราวฉลองสมโภชการตั้งกรมของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลยนฤมล ในการแข่งขันครั้งนี้ได้มอบหมายให้พระยาอนุชิตชาญไชย เป็นนายสนามและโปรดเกล้าฯ ให้ตรากติกาสำหรับการเล่นว่าวขึ้น เรียกว่า กติกาเล่นว่าวที่สวนดุสิต ในการตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลยนฤมล รัตนโกสินทร์ศก๓๘๑๒๔๑๓ ทั้งนี้เพื่อให้การแข่งขันยุติธรรมและสนุกสนานยิ่งขึ้น



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เป็นองค์ประธานการแข่งขันว่าวพนัน
ณ สนามพระราชวังดุสิต



เจ้าของว่าวปักเป้าที่ชนะการแข่งขันว่าวพนัน
ในการฉลองสมโภชการตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลยนฤมล พ.ศ.๒๔๔๘



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตรากติกาการเล่นว่าวขึ้น
ในคราวฉลองสมโภชการตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลยนฤมล พ.ศ.๒๔๔๘


ในพุทธศักราช ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรารภถึงการแข่งขันว่าวเมื่อคราวสมโภชตั้งกรมว่า สนุกสนานครึกครื้นมาก จึงมีพระราชประสงค์ให้จัดการแข่งขันว่าวพนันชิงถ้วยทองของหลวงขึ้น โดยมอบหมายให้พระยาสีหราชฤทธิไกร (ทองคำ สีหอุไร) เป็นนายสนาม พระยาเวียงในนฤบาล (เจ็ก เกตุทัต) เป็นผู้ช่วยจัดการในสนามว่าวทั่วไป และมอบหมายให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพพิมพ์ข้อบังคับการเล่นว่าวขึ้นเป็นเล่ม แจกจ่ายแก่นักเล่นว่าว โปรดเกล้าฯ เรียกข้อบังคับนี้ว่า กติกาเล่นว่าว ที่สนามสวนดุสิต รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๕

ในการแข่งขันชิงถ้วยทองนี้ พระองค์เสด็จฯ เป็นองค์ประธานพร้อมทอดพระเนตรการแข่งขัน และพระราชทานรางวัลในการแข่งขันด้วยพระองค์เอง ซึ่งถ้วยทองนี้จะพระราชทานแก่ฝ่ายว่าวจุฬาตัวชนะยอดเยี่ยม ๑ ถ้วย และว่าวปักเป้าตัวเก่งที่สุด ๑ ถ้วย แต่ต้องชนะติดกัน ๓ ปี ซ้อน จึงจะพระราชทานถ้วยทองนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ นอกจากรางวัลถ้วยทองแล้ว ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดรางวัลเป็นผ้าแพรห้อยปักดิ้นเลื่อม เป็นอักษรพระนาม จ.ป.ร. มี ๓ สี ๓ ชั้นรางวัล พระราชทานแก่ว่าวจุฬาตัวเก่ง และรางวัลเป็นผ้าแพรปักดิ้นเลื่อมเป็นอักษร จ.ป.ร. รูปกลมดอกจัน ๓ สี ๓ ชั้นรางวัล พระราชทานแก่ว่าวปักเป้า ติดตัวว่าวตามลำดับชั้น ซึ่งในการแข่งขันแต่ละครั้งมีผู้มาลงทะเบียนแข่งขันเป็นจำนวนมาก ประชาชนที่มาเข้าชมล้นหลาม มีทั้งชาวกรุง ชาวชนบท และต่างเมือง หลังจากการเล่นว่าวในครั้งนี้แล้ว การเล่นว่าวก็มีเล่นกันเรื่อยมาทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับว่าคนไทยได้รับความสนุกสนานจากการเล่นว่าว จนถือเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่มีการแข่งขันกันอย่างเป็นทางการเสมอมา

ส่วนสนามที่ใช้เล่นว่าวกันในกรุงเทพฯ แห่งแรก คือ หน้าโรงหวยแถวสามยอดในปัจจุบัน เมื่อเล่นไปนานๆ เข้ามีการสร้างบ้านเรือนในบริเวณนั้นมากขึ้น ไม่สะดวกจึงย้ายที่เล่นกันเรื่อยไป หลังจากนั้นจึงมาเล่นกันที่ท้องสนามหลวง หรือ “ทุ่งพระเมรุ” โดยในพุทธศักราช ๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อกำแพงด้านเหนือของพระราชวังบวรออกให้หมด แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกต้นมะขามไว้รอบๆ สนาม และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เล่นว่าวที่สนามหลวงได้ตั้งแต่ปี ๒๔๔๒ และเล่นกันสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนในต่างจังหวัดนิยมเล่นกันตามที่โล่งกว้าง หรือตามท้องนาทั่วไป



ประชาชนมาชมการแข่งขันว่าว

ปัจจุบัน สภาพในเมืองหลวงหรือตัวเมืองในจังหวัดอื่นๆ มีชุมชนแออัด สิ่งก่อสร้าง อาคารและสายไฟต่าง  เป็นสิ่งกีดขวางการเล่นว่าวหรือแข่งขันว่าว จะหาสถานที่โล่งบริเวณกว้างที่จะชุมนุมเล่นว่าวนั้นหายาก เด็กๆ จึงไม่ค่อยได้เล่นว่าวเหมือนดังแต่ก่อน ส่วนว่าวพนันนั้นก็หาตัวผู้คว้าว่าวที่ชำนาญจริงๆ ยาก และสภาพเศรษฐกิจทำให้คนต้องดิ้นรนทำมาหากิน ไม่มีจิตใจที่จะคิดสนุกสนานไปชมการเล่นว่าวได้ดังแต่ก่อน จึงทำให้วงการกีฬาว่าวซบเซาไปทุกที แต่เป็นที่น่ายินดี ในพุทธศักราช ๒๕๒๖ ได้มีหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนร่วมมือกันฟื้นฟูกีฬาว่าวขึ้น โดยจัดงาน “มหกรรมว่าวไทย” เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๒๖ บริเวณท้องสนามหลวง มีการประกวดว่าวชนิดต่างๆ ทั้งว่าวแผง ว่าวประเภทสวยงาม ความคิด และตลกขบขัน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน ในงานนี้มีการแข่งขันว่าวจุฬาและปักเป้าด้วย

ในพุทธศักราช ๒๕๒๗ กรุงเทพมหานคร ได้จัด “งานประเพณีว่าวไทย ๒๕๒๗” ณ บริเวณท้องสนามหลวง โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ในงานนี้นอกจากมีการแสดงกีฬาไทยประเภทต่างๆ แล้ว จุดสำคัญคือการประกวดว่าวภาพ และการแข่งขันว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ตลอดจนมีนิทรรศการว่าวในสมัยรัชกาลที่ ๕ ให้ประชาชนชมด้วย ในพุทธศักราช ๒๕๒๙ กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้จัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “ว่าวไทย” ขึ้น ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์ศิลปะการประดิษฐ์ว่าวและการเล่นว่าวของไทย ในปัจจุบันมีการจัดการแข่งขันว่าวจุฬาและปักเป้าขึ้นเป็นประเพณีของกีฬาไทย โดยใช้ชื่อว่า “งานประเพณีกีฬาไทย” จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง จัดการแข่งขันกีฬาของไทย อาทิ ตะกร้อ หมากรุก กระบี่กระบอง และ การแข่งขันว่าวจุฬาและปักเป้า จัดโดยสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนอื่นๆ ร่วมกัน การเล่นว่าวและการแข่งขันว่าวนี้ ถือเป็นกีฬาเก่าแก่ของไทยที่มีคุณค่าทั้งในด้านฝึกให้ผู้เล่นได้ใช้ความพยายาม ไหวพริบ การสังเกต การตัดสินใจ อยู่ตลอดเวลา ด้านสุขภาพคือเป็นการออกกำลังกายและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ทั้งการเล่นว่าวไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมและศิลปะพื้นบ้าน คือการเล่นว่าวและการทำว่าวให้คงอยู่ต่อไปอีก
   



พระยาภิรมย์ภักดี (ชม เศรษฐบุตร) กับว่าวปักเป้า
ที่ชนะการแข่งขันว่าวพนัน ในสมัยรัชกาลที่ ๕



พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร)
บุตรของพระยาภิรมย์ภักดี (ชม เศรษฐบุตร) ผู้เรียบเรียง
หนังสือ ตำนานว่าวพนัน กับตำราทำและวิธีการชักว่าว



เจ้าของว่าว นำว่าวเข้าร่วมแข่งขัน


ประชาชนมาชมการแข่งขันว่าวอย่างล้นหลามทั้งชาวพระนครในเมือง
และต่างเมือง ที่สนามหน้าพระราชวังสวนดุสิต



ประชาชนมาชมการแข่งขันว่าวที่สนามหน้าพระราชวังสวนดุสิต


การแข่งขันว่าว ณ สนามว่าวพนัน ในสมัยรัชกาลที่ ๕


เจ้าของว่าวจุฬา เตรียมว่าวเข้าแข่งขัน


เจ้าของว่าวปักเป้าเตรียมว่าวเข้าแข่งขัน


เจ้าของว่าวจุฬาที่ชนะการแข่งขัน


เจ้าของว่าวปักเป้าที่ชนะการแข่งขันว่าวพนัน ในสมัยรัชกาลที่ ๕


เจ้าของว่าวปักเป้าที่ชนะการแข่งขันว่าวพนัน ในสมัยรัชกาลที่ ๕

นิตยสารศิลปากร • ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๒

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 มีนาคม 2561 14:47:30 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.506 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 01 พฤษภาคม 2567 22:26:53