[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
12 พฤษภาคม 2567 18:29:40 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กบฏเจ้าอนุวงศ์ (พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๗๑)  (อ่าน 175 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5478


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 109.0.0.0 Chrome 109.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 01 เมษายน 2566 17:43:44 »


ภาพวาด เจ้าอนุวงศ์ขณะถูกควบคุมตัวไปกรุงเทพฯ

กบฏเจ้าอนุวงศ์ (พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๗๑)

กบฏเจ้าอนุ หรือกบฏเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.๒๓๖๙-๒๓๗๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการที่เจ้าอนุคิดจะนำลาวให้เป็นอิสระจากการเป็นประเทศราชของบไทย โดยอาศัยญวนเป็นกำลังสนับสนุน แต่การกระทำของเจ้าอนุล้มเหล้ว  เจ้าอนุถูกปราบและจับตัวได้

การกบฏของเจ้าอนุมีสาเหตุสำคัญ ๒ ประการ คือ ๑.นำลาวให้พ้นจากการเป็นประเทศราชของไทย  ๒.มีความขุ่นเคืองผู้นำไทยเป็นการส่วนตัว  สำหรับสาเหตุประการแรกนั้น แต่เดิมเจ้าอนุเป็นบุคคลที่ถือได้ว่า มีความจงรักภักดีต่อไทยตั้งแต่ก่อนขึ้นครองเวียงจันทน์ใน พ.ศ.๒๓๔๘ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นที่โปรดปรานของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ เช่น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) จนสามารถกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยให้ทรงแต่งตั้งเจ้าราชบุตร (โย่) บุตรของเจ้าอนุ ผู้มีความดีความชอบในการปราบกบฏสาเกียดโง้งเป็นเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ได้สำเร็จใน พ.ศ.๒๓๖๖ เหตุการณ์นี้คงจะทำให้เจ้าอนุเริ่มคิดถึงการเป็นอิสระ เพราะเวียงจันทน์มีอำนาจมากขึ้นจากการที่ได้ปกครองจำปาศักดิ์ด้วย ต่อมา ก็ได้มีเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า อำนาจของไทยไม่มั่นคง เพราะอาจถูกคุกคามจากอังกฤษซึ่งพยายามแผ่อิทธิพลเข้ามาในไทรบุรีประเทศราชของไทยทางหัวเมืองมลายู และให้ยอมรับการที่อังกฤษเช่าเกาะปีนัง (เกาะหมาก) ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๙ ด้วย  นอกจากนั้น อังกฤษยังเคยส่งทูตคือ จอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) เข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญากับไทยใน พ.ศ.๒๓๖๔ ด้วย แต่ไม่สำเร็จ  อนึ่ง ในช่วงชาวอังกฤษกำลังรบกับพม่า (พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๖๙) อังกฤษได้ส่งทูตคือ ร้อยเอก เฮนรี เบอร์นีย์ (Henry Burney) เข้ามาเจรจากับไทยอีก และเป็นที่เล่าลือกันโดยทั่วไปว่า อังกฤษอาจจะโจมตีไทยด้วย ถ้าไทยไม่ยอมทำสนธิสัญญากับอังกฤษในครั้งนี้

นอกจากที่อังกฤษอาจจะคุกคามไทยแล้ว เจ้าอนุยังได้ติดตามเหตุการณ์ในไทยและญวนอย่างใกล้ชิดและเข้าใจว่าอำนาจของไทยเสื่อมลง เพราะยอมให้ญวนเข้ามามีอิทธิพลในเขมร ซึ่งเป็นประเทศราชของไทยโดยที่ไทยไม่คัดค้านแต่อย่างใด เจ้าอนุจึงหวังพึ่งอำนาจของญวนซึ่งค่อยๆ เข้มแข็งขึ้น หลังจากการปราบกบฏไตเซิน (Tayson) ได้ใน พ.ศ.๒๓๔๕ ต่อมาใน พ.ศ.๒๓๖๗ เจ้าอนุได้ถวายบรรณาการแด่จักรพรรดิญวน ซึ่งทำให้เวียงจันทน์อยู่ในฐานะ “เมืองสองฝ่ายฟ้า” คือยอมเป็นประเทศราชทั้งของไทยและญวน พฤติกรรมของเจ้าอนุเช่นนี้ถือว่าเอาใจออกห่างจากไทยก็ได้

สาเหตุประการที่ ๒ เกิดจากความผิดหวังของเจ้าอนุ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธคำกราบบังคมทูลของเจ้าอนุที่ขอชาวลาวที่เมืองสระบุรี ซึ่งถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยธนบุรี และขอพวกละครผู้หญิงไปประจำราชสำนักเวียงจันทน์ เมื่อครั้งที่เจ้าอนุมางานพระบรมศพสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๘  นอกจากนี้ยังโกรธเจ้าพระยาพรหมภักดี (ทองอิน) เจ้าเมืองนครราชสีมาที่พยายามแผ่อำนาจครอบครองจำปาศักดิ์ โดยขอยกทัพพม่าผ่านนครจำปาศักดิ์ และอ้างว่าจะไปกวาดต้อนพวกคนป่าคนดง แต่เจ้าราชบุตร (โย่) ไม่ยอม และยังร้องเรียนไปยังเจ้าอนุด้วย ทำให้เจ้าอนุโกรธมาก และคิดว่าจะต้องโจมตีไทยเป็นการแก้แค้นบ้าง

ด้วยเหตุนี้ เจ้าอนุจึงก่อการกบฏขึ้นในปลาย พ.ศ.๒๓๖๙ โดยมุ่งโจมตีไทย และตั้งใจว่าถ้าไม่สำเร็จก็จะกวาดต้อนผู้คน ทรัพย์สมบัติกลับไปเวียงจันทน์ การดำเนินงานแยกเป็น ๓ ทัพ คือ ๑.เจ้าอนุและเจ้าสุทธิสาร (โป้) บุตรคนโต คุมทัพหลวงและมีเจ้าราชวงศ์ (เง่า) เป็นทัพหน้า ยกทัพมุ่งสู่เมืองนครราชสีมา  ๒.เจ้าอุปราช (ติสสะ เป็นน้องชายต่างมารดาของเจ้าอนุ และไม่เห็นด้วยกับการกบฏในครั้งนี้ แต่กลัวถูกประหาร) ไปเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และขอนแก่น ให้ร่วมมือกับเวียงจันทน์ และให้กวาดต้อนผู้คนทรัพย์สินในบริเวณดังกล่าวส่งกลับไปเวียงจันทน์  ๓.เจ้าราชบุตร (โย่) ผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ยกทัพเข้ามาทางอุบล ศรีสะเกษ กวาดต้อนผู้คน ทรัพย์สิน ส่งไปยังเวียงจันทน์เช่นกัน เสร็จแล้วทั้ง ๒ ทัพยกไปสมทบกับเจ้าอนุที่นครราชสีมา

ฝ่ายเจ้าอนุก็ยกกองทัพซึ่งมีกำลังพลประมาณ ๘๐,๐๐๐ คน ออกจากเวียงจันทน์ในปลาย พ.ศ.๒๓๖๙ และเดินทัพถึงนครราชสีมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปีเดียวกันโดยอ้างกับเจ้าเมืองต่างๆ ว่า ทางกรุงเทพฯ เกณฑ์ให้ช่วยรบอังกฤษ เจ้าเมืองต่างๆ จึงยอมให้ทัพเจ้าอนุผ่าน พร้อมกับให้เสบียงอาหารด้วย (อันที่จริง ก่อนหน้านี้หลายเดือน เฮนรี เบอร์นีย์ สามารถเจรจาทำสนธิสัญญากับไทยได้สำเร็จ และเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปแล้ว  ส่วนสงครามอังกฤษ-พม่า ครั้งที่ ๑ ก็สิ้นสุดลงเกือบ ๑ ปีแล้ว)  ส่วนกองทัพเจ้าอุปราชและเจ้าราชบุตรก็ปฏิบัติการสำเร็จด้วยดีโดยมีอุปสรรคเพียงเล็กน้อย เพราะเจ้าเมืองกาฬสินธุ์และเจ้าเมืองเขมราฐไม่ยอมร่วมมือด้วย จึงถูกสังหาร ซึ่งทำให้เจ้าเมืองอื่นๆ กลัวเกรงและยอมร่วมมือกับลาว ปรากฏว่า มีผู้คนและทรัพย์สินถูกกวาดต้อนไปเวียงจันทน์เป็นจำนวนมาก

เมื่อเจ้าอนุยกกองทัพถึงนครราชสีมา เจ้าพระยาพรหมภักดี (ทองอิน) เจ้าเมืองนครราชสีมาไปราชการที่เมืองขุขันธ์ โดยมีปลัดเมืองและขุนนางเดินทางไปด้วยอีกจำนวนหนึ่ง ที่เมืองนครราชสีมาจึงมีพระยาพรหมยกกระบัตรอยู่รักษาเมืองและขุนนางผู้น้อย เจ้าอนุสั่งให้พระยาพรหมรวบรวมชาวเมืองทั้งชายหญิงให้เจ้าอนุเพื่อกวาดต้อนไปเวียงจันทน์ภายใน ๔ วัน นอกจากนี้ เจ้าอนุยังให้ทหารลาวออกค้นหาสมบัติ อาวุธ ตลอดจนมีดพร้าจากชาวเมืองด้วย ระหว่างนี้ เจ้าอนุก็ให้เจ้าราชวงศ์ (เง่า) ยกทัพหน้าลงไปสระบุรีเพื่อกวาดต้อนผู้คน

เมื่อเจ้าพระยาพรหมภักดีทราบเรื่องราวต่างๆ จึงปลอมตัวเป็นชาวบ้านลอบเดินทางกลับเมืองนครราชสีมา วางแผนการนัดแนะกับชาวเมืองให้ลุกฮือต่อสู้กับพวกลาว และให้พระยาปลัด (ต่อมาเป็น เจ้าพระยามหิศราธิบดี) ไปสวามิภักดิ์กับเจ้าอนุ เพื่อถ่วงเวลาการกวาดต้อนผู้คน และเพื่อให้เจ้าพระยาพรหมภักดีมีเวลานัดหมายกับชาวเมืองทั้งหลายที่ถูกกวาดต้อนแยกย้ายเป็นกลุ่มๆ ให้เรียบร้อยเสียก่อน โดยอ้างกับเจ้าอนุว่าขอเวลารวบรวมผู้คนให้ได้มากที่สุด และเตรียมการเดินทางให้พร้อม ซึ่งเจ้าอนุก็เชื่อ เพราะเห็นประโยชน์ที่จะได้มากกว่า

ชาวเมืองนครราชสีมาโดยเฉพาะหญิงสาวซึ่งมีคุณหญิงโม้ (ต่อมา เรียกเพี้ยนเป็นโม และได้รับแต่งตั้งเป็นท้าวสุรนารี) ภรรยาพระปลัดเป็นผู้นำได้แสร้างทำดีกับทหารของเจ้าอนุที่ควบคุมชาวเมือง เพื่อให้ทหารลาวไม่ระแวงและลดความเข้มงวด จนถึงกับสามารถขอมีดพร้า ปืน ติดตัวได้บ้าง โดยอ้างว่าเพื่อหาอาหารเลี้ยงชีพระหว่างถูกกวาดต้อนไปเวียงจันทน์  ดังนั้น ในคืนวันหนึ่งซึ่งเป็นวันนัดหมายที่ทุ่งสัมฤทธิ์ ชาวเมืองที่ถูกกวาดต้อนจึงลุกฮือขึ้นฆ่าฟันทหารลาวที่คุมมา แม้ว่าเจ้าอนุจะส่งกำลังทหารไปปราบก็ไม่สามารถเอาชนะได้ เจ้าอนุเห็นว่าคนไทยมีจิตใจฮึกเหิมไม่กลัวเกรงทหารลาว ประกอบกับเจ้าราชวงศ์ (เง่า) กลับจากการกวาดต้อนผู้คนที่สระบุรี ได้แจ้งกับเจ้าอนุว่า ทางกรุงเทพฯ ทราบเรื่องการกบฏของเจ้าอนุแล้วและกำลังส่งกองทัพขึ้นมาปราบ เจ้าอนุเกรงว่ากองทัพของตนจะถูกกระหนาบ จึงสั่งให้เผาเมืองนครราชสีมา ยุ้งฉางและค่าย แล้วยกทัพกลับไปในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๓๖๙ และไปตั้งค่ายเตรียมสู้รบกับกองทัพไทยที่หนองบัวลำภู

เมื่อทางกรุงเพทฯ ทราบข่าวการกบฏของเจ้าอนุในปลายเดือนกุมภาพันธ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ผู้คนเตรียมการป้องกันพระนครทั้งจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ ในขณะเดียวกันก็โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ยกกองทัพขึ้นไปสระบุรีในต้นเดือนมีนาคม จะเห็นได้ชัดว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงคาดคิดมาก่อนว่าเจ้าอนุจะเป็นกบฏ จึงพิโรธเจ้าอนุมาก และโปรดเกล้าฯ ให้เตรียมกองทัพเพื่อปราบเจ้าอนุให้ได้

นอกจากกองทัพหลวงที่มีสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงเป็นแม่ทัพแล้ว ยังมีกองทัพที่เกณฑ์จากหัวเมืองเหนือให้ยกไปปราบกองทัพเจ้าราชวงศ์ที่ถอยไปอยู่ที่หล่มสัก และมีกองทัพจากหัวเมืองตะวันออกและเขมรยกขึ้นไปเพื่อโจมตีนครจำปาศักดิ์ด้วย ส่วนกองทัพที่โปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์จากหัวเมืองฝ่ายใต้ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้มีหนังสือขึ้นมากราบบังคมทูลว่า ร้อยเอก เฮนรี เบอร์นีย์ ยังอยู่ที่เกาะปีนังพร้อมเรือรบ ๔-๕ ลำ เกรงว่าจะมีอันตรายกับหัวเมืองฝ่ายใต้ จึงขอพระราชานุญาตไม่ยกกำลังขึ้นมาเพื่อจะได้ติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนแม่ทัพจากกรุงเทพฯ มีทั้งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสุรินทร์พิทักษ์ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ ต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์) เจ้าพระยาอภัยภูธร สมุหนายกและพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ ต้นสกุล สิงหเสนี ต่อมาคือเจ้าพระยาบดินทรเดชา) เป็นแม่ทัพที่เด่นที่สุดในการปราบกบฏครั้งนี้  อย่างไรก็ดี ในการปราบเจ้าอนุ ทหารไทยจำนวนมากต้องเสียชีวิตเพราะป่วยไข้ รวมทั้งเจ้าพระยาอภัยภูธรด้วย

แม้ว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพจะทรงยกกองทัพออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม แต่กองทัพก็ยังอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อม ต้องไปตั้งค่ายรออยู่ที่พระพุทธบาทระยะหนึ่ง จนขึ้นปีใหม่เป็น พ.ศ.๒๓๗๐จึงได้ยกทัพขึ้นไปนครราชสีมา จากนั้นในต้นเดือนพฤษภาคม จึงให้ทัพหน้าไปตีกองทัพลาวที่ค่ายหนองบัวลำภูแตก เจ้าอนุทราบข่าวก็เสียขวัญ ทิ้งทหารกลับไปเวียงจันทน์ อ้างว่าไปเตรียมการสู้รบ แต่แล้วกลับพาภรรยาและบุตรหนีไปพึ่งญวน

กองทัพไทยอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีพระยาราชสุภาวดีเป็นแม่ทัพรบชนะกองทัพลาวตั้งแต่เมืองพิมาย ยโสธร อุบล ไปจนถึงนครจำปาศักดิ์  จากนั้น ก็ยกทัพไปนครพนมเพื่อสมทบกับกองทัพหลวงเตรียมโจมตีเวียงจันทน์ ระหว่างนี้ เจ้าอุปราช (ติสสะ) ได้ยอมจำนนต่อพระยาราชสุภาวดีแล้ว

กองทัพไทยรบชนะกองทัพของเจ้าอนุได้โดยตลอด สุดท้ายสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เสด็จฯ ยกทัพหลวงไปตั้งที่บ้านพันพร้าว (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดหนองคาย) ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำโขงตรงข้ามกับเวียงจันทน์ ในกลางเดือนพฤษภาคม  สมเด็จพระบวรเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงส่งกองทัพบางส่วนไปโจมตีเวียงจันทน์ แต่ปรากฏว่าเจ้าอนุทิ้งเวียงจันทน์ไปเมื่อ ๕ วันก่อนแล้ว ทัพไทยจึงยึดเวียงจันทน์ได้โดยไม่ต้องสู้รบ โปรดเกล้าฯให้รื้อกำแพงเมือง ตัดต้นไม้ที่มีผล และกวาดต้อนผู้คนซึ่งส่วนใหญ่หลบหนีไปก่อนแล้ว ก่อนจะเสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ไว้ที่ค่ายบ้านพันพร้าว จารึกเรื่องราวการกบฏของเจ้าอนุไว้ด้วย ให้เรียกชื่อว่าเจดีย์ปราบเวียง และให้พระยาราชสุภาวดีอยู่จัดการปกครอง รวบรวมผู้คนในลาวให้เรียบร้อยก่อน

เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเสด็จฯ กลับถึงกรุงเทพฯ ในเดือนกรกฎาคม ทรงรายงานราชการทัพและความดีความชอบของพระยาราชสุภาวดีต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายก แทนเจ้าพระยาอภัยภูธรที่ถึงแก่อสัญกรรม ส่วนเจ้าพระยาราชสุภาวดีเมื่อจัดการปกครองหัวเมืองลาวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๗๐ พร้อมด้วยเจ้าอุปราช (ติสสะ) และชาวลาวอีกจำนวนหนึ่ง

เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดีกราบบังคมทูลรายงานต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระองค์ไม่ทรงพอพระทัยด้วยเหตุว่า เจ้าอนุอาจกลับมาซ่องสุมผู้คนมายึดเวียงจันทน์ได้อีก และญวนก็จะถือโอกาสแทรกแซงโดยให้การสนับสนุนเจ้าอนุ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีกลับไปทำลายเวียงจันทน์

เจ้าพระยาราชสุภาวดีเดินทางไปเวียงจันทน์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๓๗๑ แล้วไปตั้งมั่นรวบรวมผู้คนที่หนองบัวลำภู และส่งกำลังบางส่วนขึ้นไปประจำที่บ้านพันพร้าวเพื่อดูเหตุการณ์ที่เวียงจันทน์ ปรากฏว่า ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ข้าหลวงญวนได้นำเจ้าอนุ เจ้าราชวงศ์กลับเวียงจันทน์ และรายงานให้ขุนนางฝ่ายไทยทราบว่า “อนุทำความผิดไปหาญวน ญวนเหมือนมารดา กรุงเทพฯ เหมือนบิดาๆ โกรธบุตร มารดาต้องพามาขอโทษ...” และยังกล่าวอีกว่า เจ้าอนุได้ถวายบรรณาการแด่จักรพรรดิญวน ๓ ปีต่อครั้ง ดังนั้น ญวนจึงต้องเกี่ยวข้องด้วย

ระหว่างที่คอยเจ้าพระยาราชสุภาวดีเดินทางไปเวียงจันทน์เพื่อจัดการเรื่องนี้ ในต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๑ เจ้าอนุกลับฉวยโอกาสโจมตีขุนนางและทหารไทย ซึ่งมีจำนวนเพียง ๓๑๐ คน ปรากฏว่า มีผู้หนีรอดข้ามแม่น้ำโขงได้เพียง ๔๕ คน เจ้าอนุสั่งให้ทหารติดตามมาที่บ้านพันพร้าว เจ้าพระยาราชสุภาวดีซึ่งอยู่ที่นั้นเห็นว่าไทยมีกำลังน้อยกว่า จึงถอยมาที่เมืองยโสธรซึ่งมีกำลังผู้คนและอาหารบริบูรณ์กว่า เพื่อรวบรวมผู้คนไว้ปราบเจ้าอนุต่อไป เจ้าอนุจึงให้ทหารของตนรื้อเจดีย์ปราบเวียงทิ้ง

พฤติกรรมของเจ้าอนุที่โจมตีไทยครั้งนี้ ข้าหลวงญวนไม่พอใจจึงทิ้งเจ้าอนุไป แต่กระนั้นจักรพรรดิมินหม่าง (Minh-Mang พ.ศ.๒๓๖๓-๒๓๘๕) ก็ยังส่งทูตมายังกรุงเทพฯ ในเดือนกันยายน เพื่อขอโทษแทนเจ้าอนุ ซ้ำยังกล่าวโทษทหารไทยด้วยว่า เป็นฝ่ายก่อเหตุ

ฝ่ายเจ้าอนุให้เจ้าราชวงศ์ยกทัพติดตามเจ้าพระยาราชสุภาวดี ขณะนั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีมีกำลังมากขึ้น จึงยกทัพขึ้นไปตั้งรับ และได้เกิดการต่อสู้ที่สำคัญขึ้นเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๗๑ ใกล้ๆ กับเมืองอุดร  เจ้าพระยาราชสุภาวดีถูกแทงแต่บาดแผลไม่ฉกรรจ์ จึงได้สู้รบกับพวกทหารลาวต่อไป จนทหารลาวต้องล่าถอย ฝ่ายเจ้าราชวงศ์ก็ถอยกลับไปเวียงจันทน์ และแจ้งแก่เจ้าอนุว่า ทหารไทยสู้รบเข้มแข็งมาก เจ้าอนุไม่คิดสู้และหลบหนีจากเวียงจันทน์ไปอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม  กองทัพหน้าของไทยไปถึงเวียงจันทน์และยึดเมืองได้โดยไม่มีการต่อสู้ ทัพไทยติดตามจับเจ้าอนุแต่ไม่ทัน คงจับได้แต่เพียงภรรยาและบุตรหลานบางคนของเจ้าอนุ และคุมตัวส่งมาให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีที่บ้านพันพร้าว

เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดียกกองกำลังข้ามไปเวียงจันทน์ ก็สั่งให้รื้อกำแพงเมือง บ้านเรือนให้หมด เหลือไว้แต่เพียงวัด และให้กวาดต้อนชาวเมืองมารวมไว้ที่บ้านพันพร้าวเพื่อส่งลงมากรุงเทพฯ ต่อไป  ขณะเดียวกันก็ส่งทหารออกติดตามจับเจ้าอนุ ถึงปลายเดือนพฤศจิกายน เจ้าน้อยแห่งเมืองพวนบุตรเขยของเจ้าอนุได้ส่งคนมาแจ้งแก่เจ้าพระยาราชสุภาวดีว่า เจ้าอนุไปหลบซ่อนอยู่ใกล้ๆ กับเมืองพวน เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงส่งกำลังคนขึ้นไปจับเจ้าอนุกับภรรยาและบุตรได้ แล้วคุมตัวมาส่งให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีที่เวียงจันทน์เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม หลังจากเจ้าพระยาราชสุภาวดีกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานบำเหน็จเลื่อนเจ้าพระยาราชสุภาวดีเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา เพื่อเป็นการตอบแทนความดีความชอบ

เจ้าอนุและครอบครัวถูกควบคุมตัวลงมาถึงกรุงเทพฯ ในกลางเดือนมกราคม พ.ศ.๒๓๗๑ เจ้าอนุถูกจับใส่กรงประจานอยู่ได้ ๗-๘ วันก็ป่วยตาย ขณะมีอายุ ๖๐ ปี ส่วนบุตรหลานของเจ้าอนุที่จับมาได้ก็ไม่ได้มีการประหารชีวิตแต่อย่างใด ความล้มเหลวของเจ้าอนุในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่เข้มแข็งของเจ้าอนุนั่นเอง

หลังกบฏเจ้าอนุ ลาวยังคงจงรักภักดีต่อไปเรื่อยมา มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยจึงเสียลาวให้แก่ฝรั่งเศส



ที่มา - กบฏเจ้าอนุ; กบฏเจ้าอนุวงศ์ (พ.ศ.๒๓๖๙-๒๓๗๑) สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน จัดพิมพ์เผยแพร่

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.414 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 01 พฤษภาคม 2567 13:06:30