[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
11 พฤษภาคม 2567 12:16:03 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กำเนิด "พญาครุฑ" และวรรณกรรมเรื่อง "กากี" ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)  (อ่าน 20336 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5478


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 10 ตุลาคม 2556 11:00:55 »

.


ตำนานแห่งกำเนิดอมตะจ้าวเวหา ‘พญาครุฑ’

พญาครุฑกระพือปีกโถมเข้าสู้เปลวเพลิงอันร้อนแรง
ไฟนั้นแผดเผาทำเอาจ้าวเวหาผละถอย ถึงอย่างไรต้องกระโจนเข้าต่อกรอุปสรรคนานา
เพื่อปลดตรวนพันธนาการแห่งคำสาปที่แม่ถูกตรึงตอกให้เป็นข้ารับใช้มารดาพญานาคไม่รู้กี่ร้อยชาติ
ทั้งที่ “พญาครุฑ” และ “พญานาค” ต่างมีสายเลือดเดียวกัน แต่คำสาปนั้นยิ่งโหมไฟแค้น
 ถึงขั้นว่าจุดจบของเรื่องต้องเป็นอริศัตรูกันทุกชาติไป...


ด้วยความแค้นตามตำนานเริ่มตั้งแต่พญาครุฑยังมิทันลืมตาเห็นมารดา ประสาท ทองอร่าม หรือครูมืด ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย เล่าถึงบิดาของทั้งคู่เป็นฤษีชื่อ พระกัศยป มีอิทธิฤทธิ์สูงส่ง ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ฤษีมีหลายวรรณะ มีทั้งที่มีภรรยาได้และไม่ได้ ในรายของ พระฤษีกัศยป สามารถมีภรรยาได้ โดยภรรยาคู่หนึ่งเป็นพี่น้องกันชื่อว่า พระนางวินตา และพระนางกัทรุ

เมื่อทั้งคู่ตั้งท้องพระฤษีกัศยปได้ให้ทั้งคู่ขอพรคนละข้อ ต่างฝ่ายต่างขอให้ลูกที่จะกำเนิดมามีฤทธิ์มากกว่าอีกฝ่าย หลังจากนั้น ๕๐๐ ปีผ่านไป พระนางวินตา ตกไข่ออกมาก่อน หลังจากนั้นพระนางกัทรุ ก็ตกไข่และโชคดีกว่าเมื่อลูกฟักตัวออกจากไข่ก่อน กำเนิดเป็น พญานาค พระนางวินตา เห็นดังนั้นจึงทุบไข่ตนที่ยังไม่พักตัวเต็มที่ให้แตกออกเป็น พระอรุณ ที่มีร่างส่วนบนแต่ไม่มีต้นขา ถ้ามองให้ใกล้ตัวเหมือนเด็กที่ยังไม่ถึงกำหนดคลอดแต่ต้องออกมาดูโลกก่อนกำหนด

จุดเริ่มต้นคำสาปบังเกิดขึ้นเมื่อ พระอรุณ แค้นใจพระนางวินตาผู้เป็นแม่ ที่ทำให้เกิดมาไม่มีส่วนล่าง จึงสาปให้นางต้องเป็นทาสรับใช้พระนางกัทรุ มารดาของพญานาคในอีก ๕๐๐ ปีถัดมา จนกว่าไข่ฟองที่ ๒ ฟักตัวเป็นพญาครุฑมาช่วยแม่ให้พ้นจากคำสาป

๕๐๐ ปีถัดมา เมื่อพญาครุฑถือกำเนิดมีลำแสงปรากฏขึ้นทั่วพื้นพิภพ จนเหล่าเทวดาเลื่อมใสศรัทธาอิทธิฤทธิ์พญาครุฑ เป็นผู้มีความยิ่งใหญ่ ศีรษะจนถึงจะงอยปากดั่งนกอินทรี มีร่างกายเป็นคน มีปีกที่ความใหญ่ประมาณไม่ได้ กระพือปีกทีบินได้เป็นร้อยโยชน์ ความแรงลมปีกสามารถทำให้น้ำในมหานทีสีทันดรแกว่งเป็นเจ็ดชั้น ทะลุไปถึงชั้นพญานาคอาศัยอยู่

การเป็นทาสรับใช้ของ พระนางวินตา และพระนางกัทรุหาได้จบลงแค่ตำนานเดียว ยังมีอีกตำนานเล่าว่า ทั้งคู่ทายถึงสีม้าของพระอาทิตย์ หากใครทายผิดต้องเป็นข้ารับใช้ตลอดไป พระนางวินตา ทายว่าสีขาว ส่วนพระนางกัทรุ ทายว่าสีดำ ซึ่งความเป็นจริงม้ามีลำตัวสีขาว แต่พอพระนางกัทรุ เห็นว่าจะแพ้ จึงให้พญานาคและบริวารแปลงกายเป็นขนม้าสีดำแทรกกลบขนสีขาว จนสุดท้ายมารดาของพญาครุฑต้องตกเป็นทาส

แต่บางตำนานเล่าถึงการทายสีม้าของพระอาทิตย์ว่าเป็นสีแดง โดยพระนางกัทรุ ทายว่าเป็นสีดำ พอเห็นจะแพ้ก็ให้พญานาคพ่นพิษใส่ม้าให้กลายเป็นสีแดง

ความกตัญญูของพญาครุฑ แม้มีอิทธิฤทธิ์มากแต่ด้วยคำสาปทำให้ต้องช่วยเหลือแม่อยู่เสมอครั้งหนึ่งพระนางกัทรุต้องการออกไปท่องเที่ยวนอกวิมานหิมพานต์ จำต้องข้ามมหานทีสีทันดร ซึ่งกว้างใหญ่ไพศาล มีเหล่าสัตว์ร้ายเต็มไปหมด นางจึงใช้ให้พระนางวินตา อุ้มตนข้ามไป เช่นเดียวกับพญาครุฑผู้เป็นบุตรต้องอุ้มพญานาคข้ามไปด้วย แต่ความกว้างใหญ่ไพศาลและแดดร้อนแรง ทำให้พญานาคที่อยู่แต่ในน้ำขาดความชุ่มชื่น จึงวิงวอนให้พระอาทิตย์บันดาลฝนลงมา

เหตุดังนั้นพญาครุฑจึงหาวิธีช่วยแม่ให้พ้นคำสาปพบว่าต้องนำน้ำอมฤต ที่ผ่านพิธีกวนเกษียรสมุทร สรรพสัตว์ทั้งเทวดา –อสูร ต้องช่วยกันกวน โดยพญานาคเป็นสายโยง อสูรอยู่ด้านหน้า เหล่าเทวดาอยู่ด้านหลัง ระหว่างกวนน้ำมีทั้งเรื่องดีและไม่ดีเกิดขึ้น และต้องกวนชั่วกัปชั่วกัลป์ เมื่อกวนเสร็จต้องนำน้ำมาแบ่งกันดื่มเพื่อความเป็นอมตะ ครั้นกวนเสร็จเทวดากลับบิดพลิ้วแบ่งให้แต่พวกตน จนยักษ์ราหูแอบไปขโมยน้ำอมฤตมาดื่ม ระหว่างนั้นพระ อาทิตย์กับพระจันทร์เห็นได้นำเรื่องไปฟ้องพระนารายณ์ จึงใช้จักรขว้างตัดร่างราหูเหลือครึ่งตัว พอราหูรู้ว่าใครนำเรื่องไปฟ้อง เลยจับพระจันทร์กับพระอาทิตย์กิน แต่ด้วยลำตัวมีแค่ครึ่งท่อน พอกินเข้าไปก็หลุดร่วงกลับมาในอากาศเช่นเดิม จนเป็นตำนานสุริยคราส

ระหว่างเข้าไปชิงน้ำอมฤตของพญาครุฑ ได้ต่อกรกับพระนารายณ์อยู่นานแต่ไม่มีผู้ใดแพ้หรือชนะ เมื่อพระนารายณ์รู้ว่าพญาครุฑต้องการนำน้ำวิเศษไปช่วยแม่หาใช่นำมาให้ตัวเอง จึงชื่นชมในความกตัญญูและมอบน้ำอมฤตให้เพื่อล้างคำสาปของมารดา แต่ก่อนจะจบลงพระนารายณ์ให้พรแก่พญาครุฑ ๑ ข้อเพื่อตอบแทน พญาครุฑได้ขอให้พวกตนเป็นอริศัตรูและจับพญานาคกินเป็นอาหารตลอดไป

ตำนานพญาครุฑ มีความเกี่ยวโยงกับสถาบันกษัตริย์ตรงที่ระหว่างพระนารายณ์สัญญาเป็นมิตรกับพญาครุฑ ได้ให้คำมั่นว่าพระนารายณ์เสด็จไปที่ใดต้องมีพญาครุฑเป็นพาหนะ ขณะเดียวกันหากพระนารายณ์อยู่ที่ใดต้องมีพญาครุฑอยู่ด้วย โดยเห็นได้จากทุกครั้งที่ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่แห่งใด พาหนะต้องมีรูปธงครุฑเสมอ หรือหากทรงประทับ ณ แห่งใด ต้องชักธงครุฑขึ้นเหนือปราสาท ด้วยยึดถือตามแบบโบราณที่พระมหากษัตริย์เสมือนสมมุติเทพปางของพระนารายณ์ เพื่อขจัดทุกข์บำรุงสุขเหล่าอาณาประชาราษฎร์ ดั่งพระนารายณ์สิบปางเพื่อขจัดความวิบัติของโลก

ครุฑในงานศิลปะ ในนิตยสารศิลปากร ฉบับพฤศจิกายน–ธันวาคม ๒๕๕๔ บทความเรื่อง “ครุฑในงานช่างไทย” โดย ธวัชชัย ปุณณลิมปกุล เล่าถึงพัฒนาการออกแบบอย่างสรุปได้ว่า ครุฑยุคแรกสมัยทวารวดีและศิลปะขอม มีทั้งหน้าเป็นคนและหน้าเป็นนก ลำตัวช่วงบนเป็นคน ช่วงไหล่เล็ก ท้องป่องนูน ช่วงขาสั้น ลักษณะแบบร่างกายเด็ก มีเท้าเป็นนกมีแขนเป็นคน มีปีกด้านหลัง บางตัวอาจมีลำตัวเป็นนกดูคล้ายนกฮูกเกล้าผมและมีมงกุฎเรียบง่าย

ครุฑสมัยลพบุรี สุโขทัย อยุธยา หน้าจะเป็นนก ปีกด้านหลังหายไปกลายเป็นปีกขนาดเล็ก ใต้แขนคล้ายขนห้อยอยู่มากกว่าปีก ส่วนท้องที่ป่องหายไป มีเอวคอดรับกับไหล่ที่ขยายใหญ่ขึ้น และเพิ่มกล้ามเนื้อหน้าอกดูสง่างาม พร้อมกับสวมเครื่องแบบสวยงาม

 สมัยอยุธยาตอนปลายมีปีกเสริมบริเวณตะโพกเพิ่มขึ้น สวมเครื่องประดับสวยงาม ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นปีกที่ตะโพกจะยาวเรียวมากขึ้น แต่ถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ปีกที่ตะโพกหายไป ปีกใต้แขนกลับขยายใหญ่ขึ้น มือหงายโค้งในท่ารำชิดเข้าหาศีรษะ ครุฑแบบนี้ใช้จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงมีการเปลี่ยนแปลงให้แขนกางออกมากขึ้น ส่วนมือโค้งกางออกตามลำแขนห่างออกจากศีรษะเป็นรูปแบบที่นิยมใช้จนถึงปัจจุบัน.


หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับประจำวันพุธที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 พฤศจิกายน 2558 10:24:31 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
หมีงงในพงหญ้า
ยืนงงในดงตีน
ผู้ก่อตั้งเวบฯ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +62/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
United Kingdom United Kingdom

กระทู้: 7861


• Big Bear •

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 30.0.1599.69 Chrome 30.0.1599.69


ไม่มี ไม่ใช้ ไม่รู้
ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 10 ตุลาคม 2556 12:27:05 »

บทความข้างต้นกล่าวไว้ดังนี้

อ้างถึง

เมื่อพระนารายณ์รู้ว่าพญาครุฑต้องการนำน้ำวิเศษไปช่วยแม่หาใช่นำมาให้ตัวเอง จึงชื่นชมในความกตัญญูและมอบน้ำอมฤตให้เพื่อล้างคำสาปของมารดา แต่ก่อนจะจบลงพระนารายณ์ให้พรแก่พญาครุฑ ๑ ข้อเพื่อตอบแทน พญาครุฑได้ขอให้พวกตนเป็นอริศัตรูและจับพญานาคกินเป็นอาหารตลอดไป


แต่จากที่เพิ่งไปนิทรรศรัตนโกสินทร์ เคยอ่านเกี่ยวกับตำนานการกวนเกษียณสมุทร
แล้วก็เคยอ่านจากตำราเรียนของศิลปกรรมศาสตร์ (ม.ราชภัฏนว.) มีการกล่าวเกี่ยวกับครุฑไปในทิศทางเดียวกันว่า...

อ้างถึง

ฝ่ายเทวดานั้นไม่อาจเอาชนะได้ โดยเมื่อพระอินทร์ใช้วัชระโจมตีครุฑนั้น ครุฑไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่น้อย แต่ครุฑก็จำได้ว่าวัชระเป็นอาวุธที่พระอิศวรประทานให้แก่พระอินทร์ จึงสลัดขนของตนให้หล่นลงไปเส้นหนึ่งเพื่อแสดงความเคารพต่อวัชระและรักษาเกียรติของพระอินทร์ผู้ป็นหัวหน้าของเหล่าเทพ ด้านพระวิษณุหรือพระนารายณ์ก็ได้ออกมาขวางครุฑไว้และสู้รบพญาครุฑด้วยเช่นกัน แต่ต่างฝ่ายต่างไม่อาจเอาชนะกันได้ ทั้งสองจึงทำความตกลงยุติศึกต่อกัน โดยพระวิษณุให้พรแก่ครุฑว่าจะให้ครุฑเป็นอมตะและให้อยู่ตำแหน่งสูงกว่าพระองค์ ส่วนครุฑก็ถวายสัญญาว่าจะเป็นพาหนะของพระวิษณุ และเป็นธงครุฑพ่าห์สำหรับปักอยู่บนรถศึกของพระวิษณุอันเป็นที่สูงกว่า


จึงขอเพิ่มข้อมูลอีกด้าน เพราะพรเรื่องให้ความเป็นอมตะ กับอาศัยอยู่สูงกว่าได้ผ่านตามาบ่อยๆ
และในอีกด้านเช่นกัน เมื่อครุฑรู้ความจึงผูกใจเจ็บอาฆาตนาคจึงจะผลาญนาคเสียให้สิ้นไป หาได้มาจากพรให้ได้เป็นอริศัตรู
เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในอีกด้านหนึ่งจากหลายตำราที่เคยได้อ่านมาและมีเนื้อหาสอดคล้องกัน




บันทึกการเข้า

B l a c k B e a r : T h e D i a r y
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5478


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 17 ตุลาคม 2556 11:09:49 »

.



ครุฑ (Garuda) ในหนังสือราชการไทย


หลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกกล่าวว่า อันสยามนามประเทืองว่าเมืองไทยนี้ นำครุฑมาใช้เป็นตราประจำแผ่นดิน หรือพระราชลัญจกร ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยนำแบบอย่างการใช้ตรามาจากประเทศจีน

 จดหมายเหตุลาลูแบร์บันทึกว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น พระมหากษัตริย์มีตราประจำพระองค์ ในจดหมายเหตุไม่ได้ระบุว่าตราเป็นรูปอะไร แต่สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็น ตราครุฑพ่าห์ คือ รูปพระนารายณ์ทรงครุฑ

 ทั้งนี้เพื่อให้เข้ากับคตินิยมที่ถือเอาองค์พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีบุญบารมีเทียบเท่าพระนารายณ์ผู้ทรงครุฑเป็นพาหนะ

 ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ใช้รูปครุฑยุดนาค หรือครุฑจับนาค เป็นพระราชสัญลักษณ์แทนพระบรมภิไธย ฉิม

ถึงรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมนริศรานุวัตติวงศ์ทรงเขียนตราครุฑถวายใหม่ ไม่ต้องมีพระนารายณ์และยกนาคออกเสีย มือที่กางอยู่ก็ให้ฟ้อนรำตามแบบครุฑเขมร ดัดแปลงลายกนกเป็นเปลวไฟ

มาสมัยรัชการที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้พระเทวาภินิมมิตต์ (ฉาย ภินิมมิตต์) เป็นผู้เขียนถวาย โดยยังคงใช้ตราครุฑเพียงแต่เพิ่มพระปรมาภิไธยตามขอบพระราชลัญจกร และเปลี่ยนพระปรมาภิไธยที่ขอบพระราชลัญจกรให้ตรงตามรัชกาล และให้ยึดถือเป็นแบบอย่างต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. ๒๕๒๖ กำหนดแบบของตราครุฑบนหนังสือราชการ ๒ แบบคือ

     ๑. ขนาดตัวครุฑสูง ๓ เซนติเมตร

     ๒. ขนาดตัวครุฑสูง ๑.๕ เซนติเมตร

ในวงกลมสองวงล้อมครุฑ ระหว่างวงนอกและวงในมีอักษรไทยชื่อกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรมหรือจังหวัด ส่วนราชการใดที่มีการติดต่อกับต่างประเทศ จะให้มีชื่อภาษาต่างประเทศเพิ่มก็ได้ ให้อักษรไทยอยู่ขอบบนอักษรโรมันอยู่ขอบล่าง

คติไทยถือ ครุฑ เป็นพญาแห่งนก กำเนิดเป็นเทพองค์หนึ่งที่ทรงมหิทธานุภาพยิ่ง แต่ยอมเป็นเทพพาหนะให้พระนารายณ์ ได้รับประทานพรให้เป็นอมตะ  มีรูปเป็นครึ่งนกอินทรีย์ขนาดใหญ่ อานุภาพมากมาย พละกำลังมหาศาล แข็งแรง บินได้รวดเร็ว ทั้งสติปัญญายังเฉียบแหลม เฉลียวฉลาด อ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ น่าสรรเสริญ ด้วยฤทธานุภาพและเทพสมบัติดังนี้ ครุฑจึงมาเป็นตราประจำแผ่นดิน



ข้อมูล : หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด


ภาพจาก : โรงแรมคุ้มภูคำ  จังหวัดเชียงใหม่

ตราบสิ้นดินฟ้าพระเมรุมาศ        แสนชาติอย่าได้ร่วมภิรมย์ขวัญ
กว่าจะสิ้นศิวโมกข์ทางธรรม์  สั่งเสร็จระเห็จหันไปฉิมพลี

บทร้อยกรอง เรื่อง กากี  
ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 พฤศจิกายน 2558 10:30:50 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5478


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 23 ตุลาคม 2556 17:45:21 »

.

ภาพวาด"กากี"  โดย ครูเหม เวชกร

เรื่องกากี

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ เคยจัดทำเพลงเสภาเรื่องกากีตอนลอยแพไว้ชุดหนึ่ง ได้เรียบเรียงขึ้นจากแถบบันทึกเสียงกรมศิลปากร เริ่มตั้งแต่เช้าวันหนึ่ง ท้าวพรหมทัตเปิดหน้าต่างออกมาเห็นกากีซึ่งถูกพญาครุฑนำมาทิ้งไว้หน้าพระลาน ก็กล่าวเยาะเย้ยซ้ำเติมนาง แล้วสั่งให้จับนางไปลอยแพโดยไม่ยอมฟังคำวิงวอนใดๆ ของนางเลย มีแถบบันทึกเสียงอีกม้วนหนึ่งเป็นละครเสภาเรื่องกากี เริ่มตั้งแต่พญาครุฑมาเล่นสกากับท้าวพรหมทัตตามกำหนด หลังจากคนธรรพ์ได้ลอบไปพบกับกากีที่วิมานฉิมพลีแล้ว คนธรรพ์ได้ขับเพลงและบรรเลงเพลงพิณประสานเสียงครวญถึงกากีในเชิงชู้ ทั้งยังระบุสถานที่ว่าเป็นวิมานยอดงิ้วของตน พญาครุฑโกรธรีบกลับวิมานฉิมพลีแล้วนำกากีมาทิ้งไว้หน้าพระลานกรุงพาราณสีจนถึงลอยแพกากี สำหรับละครเสภาเรื่องกากีนี้ มีความยาวมากจึงนำเฉพาะบทร้องเพลงแขกลพบุรีมาแทรกไว้ตอนที่กากีอยู่บนแพกำลังลอยไป ซึ่งเป็นบทที่กากีได้ครวญถึงความหลัง เมื่อครั้งยังเป็นมเหสีท้าวพรหมทัตอยู่ในกรุงพาราณสี

ในบทสุดท้ายจำนวน ๖ คำกลอนของชุดแรก ต้นแบบได้ขับเสภาตลอด ผู้เขียนตัดไว้ ๔ คำหลัง ใช้ขับร้องและบรรเลงเพลงโล้ชั้นเดียว ตามบทมโหรีเรื่องกากีซึ่งมีมาแต่โบราณ และครั้งหนึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุบทร้องเรื่องกากีบทนี้ไว้ในหลักสูตรด้วย และได้เพิ่มเพลงโหมโรง “วา” ตัด พร้อมนำประวัติและผลงานของพระยาพระคลัง (หน) ผู้ประพันธ์กากีคำกลอน กับเนื้อเรื่องกากีที่ผู้ใช้นามว่า “มาลัย” เขียนไว้ในนิตยสารสกุลไทย ซึ่งได้แทรกบทวิเคราะห์วิจารณ์ไว้อย่างน่าฟัง ทำให้รู้เรื่องราวของกากีได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ต่อมาได้พบบทมโหรีตับนางนาคกับตับแขกมอญ เป็นตอนที่พญาครุฑมาเล่นสกากับท้าวพรหมทัตตามกำหนด ท้าวพรหมทัตให้สัญญาณแก่คนธรรพ์ขับบรรเลงเพลงพิณ กล่าวกลอนเสียดสีพญาครุฑเรื่องกากีจนทั้งสองก็ได้โต้ตอบกัน จนพญาครุฑโกรธรีบกลับไปวิมานฉิมพลีแล้วนำกากีมาทิ้งไว้หน้าพระลานกรุงพาราณสีดังกล่าวแล้ว จึงนำมาเพิ่มไว้ตอนแรกของตอนลอยแพ และเพิ่มเพลงแผละซึ่งเป็นเพลงประจำพญาครุฑ ตอนพญาครุฑนำกากีกลับมากรุงพาราณสีไว้ด้วย นับว่าเพลงตับเรื่องกากีตอนลอยแพนี้ยาวมาก หากจะตัดตอนขับร้องและบรรเลงตอนใดตอนหนึ่งก็ได้ ทุกตอนมีความไพเราะน่าฟังทั้งสิ้น
...นายสมพล  อนุตตรังกูร

ประวัติและงานวรรณกรรมเจ้าพระยาพระคลัง (หน)

เจ้าพระยาพระคลัง เป็นกวีเอกคนสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ นามเดิมว่า หน เป็นบุตรเจ้าพระยาบดินทร์สุรินทร์ฤาชัย (บุญมี) กับท่านผู้หญิงเจริญ

ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ได้รับราชการในสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสรวิชิต นายด่านเมืองอุทัยธานี และได้แต่งวรรณคดี ๒ เรื่อง คือ ลิลิตเพชรมงกุฎและเรื่องอิเหนาคำฉันท์ ในตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี บ้านเมืองระส่ำระสายเกิดการจลาจล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และกำลังยกกองกองทัพไปตีเขมร ทรงทราบข่าวจลาจลในพระนครจึงรีบยกทัพกลับ หลวงสรวิชิต ซึ่งมีความจงรักภักดีได้แต่งคนนำหนังสือลับแจ้งกิจราชการในพระนครไปถวายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกถึงด่านพระจารึก และได้ออกไปรับเสด็จถึงทุ่งแสนแสบ กราบทูลข้อราชการต่างๆ ให้ทรงทราบ แล้วเชิญเสด็จนำทัพเข้ามายังพระนคร

ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว ทรงพระราชดำริว่า หลวงสรวิชิตมีความดีความชอบหลายประการ และจงรักภักดีในพระองค์มาช้านาน ได้โดยเสด็จการพระราชสงครามมาแต่ก่อน กับเป็นผู้มีความรู้ในทางอักษรศาสตร์และวรรณคดีอย่างกว้างขวาง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระยาพิพัฒน์โกษา ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีจตุสดมภ์กรมท่า มีหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชากิจการทางหัวเมืองชายทะเลทั้งหมด

• งานทางวรรณคดี
นอกจากจะเป็นนักรบผู้สามารถและเป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ในแผ่นดินแล้ว เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีฝีปากเอกคนหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น งานประพันธ์ของท่านมีสำนวนโวหารไพเราะจับใจ มีทุกประเภททั้ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ตลอดจนร้อยแก้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นผู้อำนวยการแปลพงศาวดารจีน เรื่องสามก๊ก ออกเป็นบทประพันธ์ร้อยแก้วซึ่งมีผู้รู้จักกันแพร่หลาย ว่ามีสำนวนโวหารไพเราะและได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ ๖ ว่าเป็นยอดของความเรียงร้อยแก้วที่เป็นเรื่องนิทาน

• วรรณกรรมของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เท่าที่ทราบมีดังนี้
เรื่องที่แต่งในสมัยกรุงธนบุรี
     ๑. ลิลิตมงกุฎเพชร
     ๒. อิเหนาคำฉันท์
เรื่องที่แต่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือ
     ๑. สามก๊ก
     ๒. ราชาธิราช
     ๓. กากีคำกลอน
     ๔. ร่ายยาวมหาชาติกัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี
     ๕. ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง
     ๖. ลิลิตศรีวิชัยชาดก
     ๗. กลอนและร่ายจารึกเรื่องสร้างภูเขาทองที่วัดราชคฤห์
     ๘. ลิลิตศรีวิชัยชาดก
     ๙. สมบัติอมรินทร์คำกลอน

เจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีบุตรธิดาหลายคน ที่มีชื่อเสียงคือ เจ้าจอมพุ่มในรัชกาลที่ ๒ เจ้าจอมมารดานิ่ม พระมารดาสมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร (มั่ง) ในรัชกาลที่ ๒ นายเกด และนายพัด ซึ่งเป็นกวีเหมือนท่านบิดา และเป็นครูพิณพาทย์ด้วย

เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ถึงอสัญกรรมเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๔๗ ในรัชกาลที่ ๑



ภาพจาก : www.skn.ac.th
 
เรื่องกากี

เรื่องราวของกากี สืบเนื่องมาจากเรื่องชาดกโบราณ กวีหลายท่านได้นำมาประพันธ์เป็นบทร้อยกรองที่ไพเราะเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุด คือ กากีกลอนสุภาพของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งประพันธ์ไว้ถึงแค่กากีถูกลอยแพ ต่อจากนั้น นายโชติ มณีรัตน์ ได้ประพันธ์ต่อไปจนจบ เมื่อนาฏกุเวรนำกากีกลับพาราณสีอีกครั้ง

เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้เริ่มบอกเล่าเรื่องราวของกากีว่า นางเป็นมเหสีของท้าวบรมพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสี พร้อมทั้งบรรยายรูปโฉมนางไว้ดังนี้
     องค์อัคเรศวิไลลักษณ์              
     ประไพพักตร์งามเพียงอัปสรสวรรค์
     ชื่อกากีศรีวิลาศดั่งดวงจันทร์        
     เนื้อนั้นหอมฟุ้งจรุงใจ

     เสมอเหมือนกลิ่นทิพย์มณฑาทอง  
     ผู้ใดต้องสัมผัสพิสมัย
     กลิ่นกายติดชายผู้นั้นไป            
     ก็นับได้ถึงเจ็ดทิวาวาร

เป็นอันว่า กากีนอกจากจะมีรูปกายงามราวกับนางฟ้าแล้ว ยังมีกลิ่นกายที่หอมเป็นเสน่ห์พิเศษอีกอย่างหนึ่ง เพราะกลิ่นกายของนางจะหอมติดกายชายผู้ได้แตะต้องสัมผัสนางไปนานถึงเจ็ดวัน จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าท้าวพรหมทัตจะรักและหวงแหนมเหสีนางนี้ขนาดไหน และชีวิตรักของทั้งสองก็คงจะราบรื่นเป็นไปด้วยดี ถ้าเพียงแต่ท่านท้าวจะไม่โปรดการทรงสกาเป็นชีวิตจิตใจ เนื่องเพราะผู้เป็นคู่เล่นสกาของท้าวพรหมทัตก็คือ พระยาครุฑเวนไตย ซึ่งแปลงร่างมาในลักษณะมานพรูปงาม

แล้ววันหนึ่งก็เกิดเหตุขึ้น ด้วยท่านท้าวทรงเพลินเล่นสกาจนบ่ายคล้อย ไม่ได้เข้าตำหนักในไปหากากี นางจึงถามสาเหตุจากเหล่าข้าหลวงนางกำนัลก็ได้คำตอบว่า
     ว่าภูบาลสำราญราชหฤทัย          
     ด้วยได้ทรงสกากับมานพ
     ชายนั้นโฉมวิไลประไพพักตร์      
     แหลมหลักเชิงเล่นก็เจนจบ
     ทั้งกิริยาคมสันครันครบ              
     อันชายในพิภพนี้ไม่มีปาน

ได้ฟังบรรยายจากเหล่านางกำนัลแบบนี้ ทำให้นางกากีนึกอยากเห็นมานพนั้นกับตา จึงมายืนหลบริมบานประตูลอบมองดู แล้วทันทีที่นางกับพระยาครุฑในร่างหนุ่มน้อยรูปงามได้สบตากันเท่านั้น ต่างก็เกิดอาการ
                                    
     .. ประหนึ่งว่าศรแผลงแย้งยิงกัน
     ต่างประหวัดหัททัยให้ไหวหวาบ    
     เพลิงราคซ่านซาบเสียวกระสัน
     สองจิตสองคิดประจวบกัน          
     นางป่วนปั่นรันทดระทวยกาย
     มิอาจยืนขืนจิตดำรงตน            
     ก็เลี้ยวองค์จรจรัลผันผาย
     สู่อาสน์ไสยาสพรรณราย  
     กรก่ายพักตราคะนึงครวญ

แม้กากีจะมีจิตหวั่นไหวไปกับรูปโฉมมานพแปลงแต่แรกเห็น แต่นอกจากนี้แล้วในเวลานั้นนางก็ไม่ได้กระทำสิ่งใดที่ทรยศต่อท้าวพรหมทัตเลย  ผู้ที่เป็นตัวการใหญ่ก่อเรื่องพิศวาสผิดศีลข้อสามก็คือ พระยาครุฑ ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็น วิหคกึ่งเทพ

เพราะหลังจากเลิกเล่นสกาในเย็นนั้นแล้ว พระยาครุฑก็หาที่ลับตาคนกลับคืนสู่รูปแท้ของตน จากนั้นสำแดงเดชกางปีกบังแสงอาทิตย์ พร้อมกับก่อกวนให้เกิดพายุปั่นป่วน ทำเอากรุงพาราณสีวุ่นวายโกลาหลไปทั่ว แล้ววิหคกึ่งเทพผู้ไม่สนใจใยดีว่าอะไรคือความดีความชั่ว ก็ทะยานเข้าหน้าต่างห้องบรรทมของกากี พลางเข้านั่งชิดนางที่กำลังนอนนิ่งและบอกว่าตนคือมานพผู้ได้สบตากับนางนั่นเอง  จะมาพานางไปเป็นคู่ครอง  คำกลอนในตอนนี้ไม่ได้บอกรายละเอียดเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดของกากีไว้ เพียงบอกแต่ว่านางไม่ได้หนีหรือร้องขอความช่วยเหลือ ทั้งยังได้โต้บ่ายเบี่ยงคำเกี้ยวของครุฑหนุ่มด้วยมารยาหญิง ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดข้อคิดขึ้นต่างๆ นานา มีบ้างว่านางพอใจในมานพที่พบเห็นก็เลยเต็มใจเล่นชู้กับพระยาครุฑ จึงไม่หนีหรือร้องเมื่อมีชายแปลกหน้าบุกรุกเข้ามาในห้องนอน  แต่ผู้เขียนกลับสันนิษฐานว่าในสถานการณ์วิปริตผิดปกติเช่นนั้น แถมยังมีตัวประหลาดครึ่งคนครึ่งนกปากงองุ้มโผล่พรวดเข้ามาในห้อง คนที่สามารถอยู่นิ่งเฉยในเหตุการณ์แบบนี้ได้โดยไม่หมดสติไปเสียก่อนมีเพียง ๒ ประเภท คือ
๑. เป็นคนกล้าหาญหนักแน่นเข้มแข็ง ซึ่งข้อนี้ตัดทิ้งไปได้เลย เพราะกากีไม่ใช่คนประเภทนี้แน่
๒. กำลังตกใจกลัวแบบกึ่งช็อก จนทำอะไรไม่ถูก คิดว่ากากีคงเป็นแบบหลังนี่มากกว่า เหตุผลก็คือ ไม่มีผู้หญิงคนไหนไม่ตกใจกลัวเมื่อเจอสัตว์ประหลาดเข้าอย่างจังหน้าแบบนั้น

แล้วที่พญาครุฑบอกกับนางว่าเป็นมานพคนนั้น ในสถานการณ์ตอนนั้นคิดว่ากากีจะเชื่อชายปากงองุ้มแปลกหน้าแค่ไหน และที่ว่าทำไมนางไม่ร้องเรียกให้คนช่วย ทั้งยังพูดต่อปากคำด้วยมารหญิง กิริยาเหล่านี้ของนาง คิดว่าน่าจะมองได้อีกแง่หนึ่งว่า นางมีเจตนาถ่วงเวลาเพื่อรอคอยให้ผู้คนมาอารักขาคุ้มครอง ทั้งเกรงว่าการร้องโวยวายอาจทำให้ตัวประหลาดตรงหน้าเกิดโมโหทำร้ายเอาก็เป็นได้  ซึ่งก็น่าแปลกนะที่นางกากีอุตส่าห์ต่อปากต่อคำกับพระยาครุฑตั้งหลายประโยค  แต่กลับไม่มีใครโผล่หน้ามาให้เห็นเลย แม้แต่พระสวามีที่ว่ารักนางนักหนา

พระยาครุฑเห็นนางไม่ได้โวยวายก็ทึกทักเอาว่ากากีเป็นใจด้วย จัดการโฉมอุ้มนางบินกลับสู่วิมานฉิมพลี  ตอนนี้มีบางท่านตั้งคำถามว่า ถ้ากากีไม่เต็มใจจะไปกับพระยาครุฑทำไมจึงไม่ดิ้นรนขัดขืน คำตอบก็คือ แค่กลัวก็ไม่หวาดไม่ไหวแล้ว ยังจะไปหาแรงที่ไหนมาดิ้นอีก อย่าว่าแต่กากีที่เป็นผู้หญิงตัวนิดเดียวเลย สมมติว่าเป็นคุณผู้ชายอกสามศอกครึ่ง ถ้าอยู่ๆ ถูกบุคคลลึกลับหุ่นชามงามโลกสามปีซ้อน แต่กลับมาริมฝีปากยื่นยาวแหลมคมกริบชวนสยองขวัญ โฉบเขาบินขึ้นไปอยู่เหนือขุนเขา มหาสมุทร แล้วลองทายซิว่า เขากล้าดิ้นไหม หากไม่ได้สวมร่มชูชีพไว้ เอาละ ไม่ว่ากากีจะเป็นอย่างที่ผู้เขียนสันนิษฐานไว้หรือไม่ก็ตาม นางก็ได้ตกไปเป็นของพระยาครุฑแล้ว อย่างไม่อาจโต้แย้ง ในขณะที่ท้าวพรหมทัตเอาแต่คร่ำครวญถึงมเหสีรัก

คนธรรพ์นาฏกุเวร (คนธรรพ์คือเทวดาชั้นผู้น้อยพวกหนึ่งที่ชำนาญในดนตรีการ) ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงคนสนิทของท่านท้าว ได้อาสาว่าจะนำกากีกลับคืนสู่พาราณสี   ทั้งทูลว่าตนสงสัยมานพจะเป็นผู้ลักพานางไป  ดังนั้น เมื่อเจ็ดวันต่อมาเมื่อมานพหนุ่มมาเล่นสกาตามปกติ  นาฏกุเวรจึงคอยจับตาสังเกตและสะกดรอยตาม พอเห็นมานพหนุ่มคืนสู่ร่างครุฑ นาฏกุเวรก็รีบฉวยโอกาสแปลงเป็นไรแทรกขนครุฑไปฉิมพลีด้วย

การปฏิบัติงานอย่างนี้ นาฏกุเวรรู้แก่ใจดีว่าอันตรายยิ่ง หากถูกครุฑพบเห็นเข้าก็มีแต่ตายกับตายเท่านั้น  ฉะนั้น พอถึงวิมานฉิมพลีนาฏกุเวรจึงรีบผละจากขนพระยาครุฑที่กำลังแปลงร่างเป็นมานพหนุ่มในทันที และซ่อนตัวไว้อย่างว่องไว ก็เลยได้รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนวิมานยอดงิ้วทุกอย่าง (วิมานฉิมพลีอยู่บนยอดงิ้ว)

วันรุ่งขึ้น นาฏกุเวรคอยให้พระยาครุฑออกไปหาอาหารในป่าหิมพานต์เสียก่อน จึงปรากฏกายออกมาให้กากีเห็น พร้อมกับใช้คำหวานปะเหลาะนาง นางกากีเองอดรู้สึกตกใจจนหน้าซีดเผือดไม่ได้ เมื่อได้พบกับนาฏกุเวรอย่างกะทันหัน แต่พอถูกนาฏกุเวรโลมเล้าสัมผัส นางก็ตกเป็นของนาฏกุเวรอีกผู้หนึ่งอย่างง่ายดาย  นากฎกุเวรหลบซ่อนในวิมานฉิมพลีเจ็ดวัน ก็ถึงกำหนดเล่นสกาของพระครุฑ จึงได้แปลงร่างเป็นไรแทรกขนครุฑอาศัยกลับสู่พาราณสีด้วย

หลังจากพระยาครุฑกลับไปแล้วนาฏกุเวรก็ทูลท้าวพรหมทัตว่า กากีมีใจหลงรักพระยาครุฑคงไม่ต้องการกลับพาราณสีอีก  และเพื่อรักษาชีวิตไว้มารายงาน ถึงตนจะเกรงพระราชอาญาก็จำใจต้องยุ่งเกี่ยวกับกากี ทั้งจะใช้อุบายนี้ทำให้พระยาครุฑส่งนางคืน  ท้าวพรหมทัตพอได้ฟังทรงพิโรธราวกับงูถูกกระทืบหาง แต่ก็จนพระทัยที่จะทำอย่างไรได้ เพราะเรื่องได้เลยเถิดมาจนถึงขั้นนี้แล้ว จึงทรงหวังเพียงว่า
ทำไฉนจึงจะได้กากี  คืนบุรีให้เรืองเดชาชาญ

ความรู้สึกของท้าวพรหมทัตในขณะนั้น ไม่ใช่ต้องการให้กากีกลับมาเพราะความรักความเสน่หาอีกต่อไป แต่ต้องการจะเอาตัวนางกลับมาลงโทษต่างหาก

ฝ่ายนาฏกุเวรซึ่งมีแผนสำเร็จอยู่ในใจ พอมานพแปลงมาเล่นสกาอีกครั้งตามที่คาดหมาย ก็จัดแจงบรรเลงพิณ ขับกลอนเสียงพลิ้วว่า
     โอ้พระพายชายกลิ่นมารัญจวน  
     หอมหวนนาสาเหมือนกากี
     รื่นรื่นชื่นจิตพี่จำได้  
     เหมือนเมื่อไปร่วมภิรมย์ประสมศรี
     ในสถานพิมานฉิมพลี  
     กลิ่นยังซาบทรวงพี่ทั้งวรกาย
     นิจจาเอ๋ยจากเชยมาเจ็ดวัน  
     กลิ่นสุคันธรสรื่นก็เหือดหาย
     ฤาว่าใครแนบน้องประคองกาย  
     กลิ่นสายสวาทซาบอุรามา

พระยาครุฑเวนไตยพอได้ฟังก็สะอึกด้วยความโกรธ  ที่คนธรรพ์จอมเจ้าเล่ห์เอ่ยพาดพิงถึงกากีในเชิงชู้ ทั้งยังระบุสถานที่ว่าเป็นวิมานยอดงิ้วของตน แต่ก็ข่มใจถามกลับไปด้วยความสงสัยว่า
    อนึ่งนายก็เป็นชายแต่เดินดิน  
     ไฉนรู้เสร็จสิ้นในฉิมพลี
     เราแจ้งทางทุเรศเขตอรัญ  
     สัตภัณฑ์คั่นสมุทรใสสี
     แม้นจะกว้างแววหางมยุรี  
     ก็จมลงถึงที่แผ่นดินดาน
     ด้วยน้ำนั้นสุขุมละเอียดอ่อน  
     จึงชื่อสีทันดรอันไพศาล
     ประกอบหมู่มัจฉากุมภาพาล  
     คชสารเงือกน้ำและนาคินทร์
     ผู้ใดข้ามนทีสีทันดร  
     ก็ม้วยมรณ์เป็นเหยื่อแก่สัตว์สิ้น
     แสนมหาพระยาครุฑยังเต็มบิน  
     จึ่งล่วงสินธุถึงพิมานทอง

นาฏกุเวรได้ที  เยาะเย้ยทันใดว่า
     อันเวทย์มนต์ฤทธิไกรไม่เชี่ยวชาญ  
     แต่จิตหาญแทรกขนสุบรรณจร
     พระยาครุฑครองชู้เป็นชายเฉา  
     มานพเราผู้ชู้ไปสู่สมร
     ราตรีปักษีเข้าแนบนอน  
     ทิวากรเราแนบประจำนาง
     ต่างชู้ต่างชื่นทุกคืนวัน  
     แต่สุบรรณงมจิตไม่คิดหมาง
     เป็นสัจจังดั่งพร้องไม่อำพราง  
     ข้าระคางกลัวเกลือกจะมีครรภ์

เท่านั้นแหละ พระยาครุฑก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ตกหลุมอุบายที่นาฏกุเวรขุดล่อไว้โครมเบ้อเล่อ  ตรงรี่กลับวิมานฉิมพลีไปเอาเรื่องกับกากีทันที ด่าว่าอย่างสาดเสียเทเสีย ในขณะที่กากีปากแข็งไม่ยอมสารภาพความจริง ปฏิเสธหมดทุกข้อหา ตอนนี้มีคำกลอนตอนหนึ่งที่พระยาครุฑด่ากากี ดูแล้วน่าสังเวชจริงๆ ทั้งสังเวชกากีผู้ถูกด่า แต่ถ้าดูให้ซึ้งๆ แล้ว พระยาครุฑผู้ด่ากลับน่าสังเวชเสียยิ่งกว่าเป็นไหนๆ คำกลอนที่ว่านี้มีใจความว่า
     คิดว่าหงส์จะลงแต่ชลธาร  
     กลับบันดาลกลั้วเกลือกด้วยเปือกตม
     ตัวนางเป็นไทแต่ใจทาส  
     ไม่รักชาติรสหวานมาพานขม
     ดั่งสุกรฟ่อนฝ่าแต่อาจม  
     ห่อนนิยมรักรสสุคนธาร
     จิตนางเปรียบอย่างชลาลัย  
     ไม่เลือกไหลห้วยหนองคลองระหาน
     เสียดายทรงแสนวิไลแต่ใจพาล  
     ประมาณเหมือนหนึ่งผลอุทุมพร
     สุกแดงดั่งแสงปัทมราช  
     ข้างในล้วนกิมิชาติ (หนอน) เบียนบ่อน

ถ้อยคำเหล่านี้ หากพิจารณาด้วยใจเป็นกลางก็คงอดรู้สึกไม่ได้หรอกว่า พระยาครุฑกำลังประจานตัวเองออกมาด้วย และที่ว่ากากีตัวเป็นไทนั้นนะ...จริงหรือ ลองนึกถึงสภาพผู้หญิงตัวคนเดียวที่ถูกหิ้วปีกขึ้นไปอยู่บนยอดงิ้ว กลางป่าเปลี่ยวกว้างใหญ่อย่างนั้น แม้จะไม่ได้ล่ามโซ่ตราตรวนกักขังแต่มันจะผิดกันสักแค่ไหน  ในเมื่อจะอย่างไรนางก็ไปไหนไม่รอดอยู่แล้ว พอด่าจนสมใจ พระยาครุฑก็นำกากีกลับมาคืนยังพาราณสี วางทิ้งไว้ที่หน้าพระลานในคืนนั้นเอง แถมท้ายก่อนจากยังเสียดสีด้วยคำพูดอีกว่า
ไปอยู่กับเราเปล่าเปลี่ยวนัก  
     ทีนี้พรั่งพร้อมสวาทไม่ขาดข้าง
     เชิญเชยเสวยสุขสวรรยางค์  
     ตั้งแต่ปางนี้ไปอย่าพบกัน
     ตราบสิ้นดินฟ้าสุเมรุมาศ  
     แสนชาติอย่าได้ร่วมภิรมย์ขวัญ
     กว่าจะลุศิวโมกข์อมัตธรรม์  
     ว่าแล้วเหาะหันไปฉิมพลี
นี่แหละนะ ถึงได้มีคำพูดเกิดขึ้นประโยคหนึ่งว่า “ความผิดของผู้อื่นใหญ่เท่าภูเขา ความผิดของเราเล็กเพียงเส้นผม”  พระยาครุฑจึงมองเห็นแต่ความผิดพลาดของกากี ที่รู้สึกว่ามากมายจนอภัยให้ไม่ได้ แต่ความเลวของตนเองกลับไม่เคยสำนึกเลยแม้แต่น้อย และนอกจากจะโง่เขลาเบาความคิด ถูกนาฏกุเวรใส่เล่ห์กลปั่นหัวได้ตามใจชอบแล้ว พระยาครุฑยังไร้คุณธรรมของลูกผู้ชายในคำว่า “รับผิดชอบ” อีกด้วย

พอเช้าวันรุ่งขึ้น ท้าวพรหมทัตเปิดหน้าต่างออกมาเห็นกากีเข้า ก็เยาะเย้ยซ้ำเติมนางอีก แล้วสั่งให้จับนางไปลอยแพโดยไม่ยอมฟังคำวิงวอนใดๆ ของนางเลย กากีที่เผชิญเข้ากับโทษลอยแพ ซึ่งแตกต่างกว่าโทษประหารไม่เท่าไรเลย เพราะโอกาสรอดแทบจะมองไม่เห็น ต้องเผชิญกับความหวาดหวั่นกลางทะเลเวิ้งว้างกว้างใหญ่แต่ลำพัง ทั้งแบกชื่อฉาวโฉ่เพื่อชดใช้ต่อความผิด แต่ชายสามคนในชีวิตช่วงต้นของนาง คือ ท้าวพรหมทัตที่ไร้ความสามารถจะคุ้มครองปกกันมเหสีของตน พระยาครุฑผู้ไม่มีทั้งศีลธรรมและคุณธรรม และนาฏกุเวรคนทรยศและไร้ยางอาย กลับไม่ต้องถูกจารึกชื่อว่าเป็นชายโฉด มันแปลกดีนะ

ก็นับว่ายังเป็นบุญของกากีอยู่ที่สามารถรอดชีวิตจากการถูกลอยแพได้ เพราะบังเอิญพบกับสำเภาค้าขาย จึงได้รับความช่วยเหลือจากนายสำเภา แต่ชีวิตของนางยังคงหนีไม่พ้นการเวียนว่ายอยู่ในทะเลโลกีย์ เริ่มจากนายสำเภาผู้ให้ความช่วยเหลือนั้นได้รับนางไว้เป็นภรรยาทั้งที่มีใจดูหมิ่น แล้วในขณะที่นายสำเภาพากากีไปบวงสรวงศาลเทพารักษ์ที่เชิงผาแห่งหนึ่ง นางก็ถูกนายโจรก๊กหนึ่งลักพาเอาไปเพราะหลงใหลในความงามของนาง และก็เพราะความงามของนางอีกนั่นแหละ ที่ทำให้พวกสมุนโจรซึ่งมีคติประจำใจว่า “ใครใหญ่ใครอยู่” ฮือกันขึ้น สังหารนายโจรตายแล้วฆ่าฟันกันเองด้วยต้องการจะครอบครองนาง กากีจึงฉวยโอกาสที่ชุลมุนกันนี้หนีจากพวกโจรได้สำเร็จ

ต่อมานางบังเอิญได้พบกับท้าวทศวงศ์กษัตริย์แห่งเมืองอภัยสาลี ซึ่งทรงออกประพาสป่า พอถูกถามถึงชาติกำเนิด นางกากีจึงโกหกท้าวทศวงศ์ว่านางเกิดในดอกบัว พระฤาษีตนหนึ่งได้เก็บนางไปเลี้ยงไว้ แต่พระฤาษีก็ได้ตายจากไปแล้วนางเลยต้องระเหเร่ร่อนและยังไม่มีคู่ครอง  คำทูลตอบของนางกากียังความยินดีให้แก่ท้าวทศวงศ์ผู้กำลังตกพุ่มหม้ายอย่างมาก ท่านท้าวได้จัดแจงแต่งตั้งนางเป็นพระมเหสีในทันที  แต่ชีวิตของกากีก็เพิ่งจะสงบสุขได้ไม่ทันนานคนธรรพ์จอมเจ้าเล่ห์นาฏกุเวรก็ตามมาจองเวรกับนางอีก เนื่องเพราะหลังจากกากีถูกลอยแพไปไม่นาน ท้าวพรหมทัตก็ทรงสวรรคต ด้วยไม่มีราชโอรสสืบบัลลังก์ นาฏกุเวรจึงได้ขึ้นครองพาราณสีแทนเป็นท้าวพรหมทัตองค์ใหม่ และพอได้ข่าวว่านางยังไม่ตายแต่ได้เป็นมเหสีท้าวทศวงศ์ ท้าวพรหมทัตองค์ใหม่ก็จัดการส่งสาส์นไปยังอภัยสาลีอ้างสิทธิ์ขอกากีคืน เมื่อถูกท้าวทศวงศ์ปฏิเสธ นาฏกุเวรก็ยกทัพเข้าโจมตีอภัยสาลีอย่างไม่ต้องอาศัยเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น

ในที่สุดนาฏกุเวรรบชนะ ฆ่าท้าวทศวงศ์แล้วนำนางกากีกลับไปครอบครองที่พาราณสีอีกครั้ง เข้าตำราฆ่าสามีชิงภรรยา  เรื่องราวชาดกโบราณก็จบลงเพียงนี้พร้อมกับทิ้งชื่อของหญิงอ่อนแอนางหนึ่งให้แบกรับความผิดความชั่วร้ายทั้งหมดไว้แต่เพียงฝ่ายเดียว ชื่อนั้นก็คือ กากี


บทมโหรีเรื่องกากี
บทมโหรีเรื่องกากีนี้ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่ง
แต่สงสัยว่าจะมีผู้อื่นช่วยแก้ไขภายหลังบ้าง
พิเคราะห์ดูทางสำนวน มีสำนวนใหม่แทรกอยู่หลายแห่ง
ด้วยบทเรื่องกากีนี้เล่ากันมาว่า แต่ก่อนชอบใช้ร้องมโหรีกันแพร่หลาย

    
   
     คนธรรพ์ครั้นเห็นกรุงกษัตริย์  
     แจ้งรหัสให้เนตรดั่งบรรหาร
     น้อมศิโรตม์รับรสพจมาน  
     แล้วจับพิณประสานสำเนียงครวญ
     แกล้งประดิษฐ์คิดขับเป็นกาพย์กลอน  
     กระแสเสียงลอยร่อนโหยหวน
     โอ้พระพายชายกลิ่นมารัญจวน  
     หอมหวนนาสาเหมือนกากี

     รื่นรื่นชื่นกลิ่นพี่จำได้  
     เมื่อไปร่วมภิรมย์สมศรี
     ยังสถานพิมานฉิมพลี  
     ยังซาบทรวงพี่ไม่เว้นวาย
     นิจจาเอ๋ยจากเชยมาเจ็ดวัน  
     กลิ่นสุคันธรสรื่นเพิ่งเหือดหาย
     ฤาว่าใครแนบน้องประคองกาย  
     กลิ่นสายสวาทซาบอุรามา

     พระยาราชเวนไตยได้สดับ  
     สำเนียงขับกล่าวกลิ่นขนิษฐา
     ประหลาดจิตพิศดูคนธรรพ์พา  
     จินตนานิ่งนึกคนึงใน
     เออไฉนไอ้นี่จึงกล่าวกลอน  
     ถึงกลิ่นแก้วดังศรมาเสียบใส่
     ฉุนโกรธแล้วระงับดับไว้  
     จะฟังไปให้รู้ในเรื่องความ

     นาฏกุเวนเจนแจ้งในที่โกรธ  
     จึงเอื้อนโอษฐ์คำขับกระหยับหยาม
     โอ้ว่าแก้วกานดาพงางาม  
     ยามนี้เจ้าจะนิ่งอนาถองค์
     พี่อยู่จะได้ชูประคองชื่น  
     สำราญรื่นร่วมจิตพิศวง
     เสียดายจากพรากเนื้อนวลผจง  
     คิดจะใคร่คืนคงฉิมพลี

     ครุฑฟังยิ่งคั่งฤทัยแค้น  
     ดั่งหนึ่งแสนอัคนิรุทรมาจุดจี้
     เสแสร้งแกล้งกล่าววาที  
     ว่าดูก่อนเสนีเสนาะพิณ
     เราได้ฟังกังวานประสานสาย  
     บรรยายหลากจิตคิดถวิล
     อนึ่งนายก็เป็นชายแต่เดินดิน  
     ไฉนรู้เสร็จสิ้นถึงฉิมพลี

     เราแจ้งว่าทางทุเรศเขตอรัญ  
     สัตภัณฑ์คั่นสมุทรใสศรี
     แม้จะขว้างแววหางโมรี  
     ก็จมลงถึงที่แผ่นดินดาล
     ด้วยน้ำนั้นสุขุมละเอียดอ่อน  
     ชื่อว่าสีทันดรอันไพศาล
     ประกอบหมู่มัจฉากุมภาพาล  
     คชสารเงือกน้ำแลนาคินทร์

     ผู้ใดข้ามนทีสีทันดร  
     ก็ม้วยมรณ์เป็นเหยื่อแก่สัตว์สิ้น
     ถึงว่าพระยาครุฑก็เต็มบิน  
     จะล่วงสินธุถึงพิมานทอง
     แน่ะนายนี่ไปไฉนเล่า  
     ฤาโดยเดาว่าเล่นก็เห็นคล่อง
     ฤาว่าเหาะเหินได้ดังใจปอง  
     จึงได้ไปเห็นห้องพิมานไชย
     ฤาประกอบกายสิทธิ์ฤทธิเวศย์  
     วิเศษด้วยมนตราเป็นไฉน
     เราก็หวังอยู่ยังไม่เคยไป  
     คิดจะใคร่ศึกษาเป็นอาจารย์

     คนธรรพ์ครั้นฟังก็แย้มสรวล  
     กล่าวสำนวนเยาะเย้ยเฉลยสาร
     อันเวทมนต์ฤทธิไกรไม่เชี่ยวชาญ  
     แต่จิตหาญแทรกขนสุบรรณจร
     พระยาครุฑครองชู้เป็นชายเฉา  
     มาพาเราผู้ชู้ไปสู่สมร
     ราตรีปักษีเข้าแนบนอน  
     ทิวากรเราแนบประจำนาง
     ต่างชู้ต่างชื่นทุกคืนวัน  
     แต่สุบรรณงมจิตไม่คิดหมาง
     เป็นสัจจังดังพร้องไม่อำพราง  
     ข้าระคางกลัวเกลือกจะมีครรภ์

     ว่าพลางขับครวญกระบวนพิณ  
     โอ้ว่ากลิ่นกากีที่หมายมั่น
     เสียดายพักตร์รับพักตร์เมียงมัน
     เสียดายกรรณรับรสพจนา
     เสียดายขนงก่งรับเมื่อยักยวน  
     เสียเนตรงามชวนเสน่หา
     เสียดายปรางช่างเบือนกระบวนมา  
     ให้นาสาสูดรสรัญจวนใจ

     เสียดายโอษฐ์เอื้อนคำให้กำหนัด  
     เสียดายกรกอดรัดกระหวัดไหว
     เสียดายเต้าเคล้าคลึงอุราใน  
     เสียดายในน้ำใจทุกสิ่งอัน
     อกเอ๋ยชวดเชยเพราะสองชู้  
     ถ้าคงคู่ก็ไม่ร้องภิรมย์ขวัญ
     เวทนาด้วยพระยาสุบรรณครัน  
     ขับแล้วอภิวันท์กษัตรา

     พระยาครุฑได้สดับที่ขับอ้าง  
     จึงกระจ่างแจ้งข้อไม่กังขา
     สลดจิตคิดเสียดายสายสุดา  
     ดังศัตราฟาดให้บรรลัยลาญ
     สะทึกสะท้อนถอนใจอยู่ในอก  
     แสนวิตกตัดรักสมัครสมาน
     ดังจอมสุรารักษ์มัฆวาน  
     เมื่อกรุงพาลลอบโลมสุจิตรา
     เสียเดชเพราะทะนงด้วยองอาจ  
     เสียสวาทเพราะห่างเสน่หา
     เสียมนต์เพราะกลอสุรา  
     สุจิตราจึงพรากไปจากกัน

     เราเสียแก้วกากีศรีสวาท
     เพราะประมาทจะถนอมเป็นจอมขวัญ
     เสียฤทธิ์เพราะไม่คิดจะป้องกัน  
     คนธรรพ์มันจึงแทรกเข้าซ้อนกล

     ครั้งนี้เสียรักก็ได้รู้  
     เสียชู้ได้เชิงที่เฉาฉงน
     เป็นชายหมิ่นชายได้อายคน  
     จำจนจำพรากอาลัยลาญ
     คิดแล้วจึงว่าแก่คนธรรพ์  
     ท่านช่างขับเฉื่อยฉ่ำเป็นคำหวาน
     เสาวภาพกาพย์เกลี้ยงกลอนการ  
     ชำนาญนักควรนับว่าเป็นชาย

     ว่าพลางทางลาบรมนาถ  
     ลีลาศจรจรัลผันผาย
     ถึงพระไทรสำนักก็แปลงกาย  
     เป็นสุบรรณบินว่ายโพยมมาล
     ลุถึงฉิมพลีก็ร่ายเวท  
     เปิดบานทวาเรศมุกดาหาร
     นั่งเหนือบัลลังก์รัตน์ชัชวาลย์  
     จึงกล่าวรสพจมานแก่กากี

     ดูก่อนอรทัยวิไลโฉม  
     เราประโลมเจ้าจากพาราณสี
     มาอยู่พิมานรัตน์สวัสดี  
     ได้สิบสี่ราตรีทิวาวาร
     จงแจ้งจริงคำอย่าอำไว้  
     มีใครมามั่งยังสถาน
     ว่าไปโดยสัจปฏิญาณ  
     เยาวมาลย์อย่าทำอำพราง

     กากีฟังคดีพระยานก  
     สองกรข้อนอกเข้าผางผาง
     อนิจจาพระมาว่าให้ผิดทาง  
     เหมือนจะล้างชีวิตให้วายชนม์
     แต่พระพามาชมสมบัติทิพย์  
     อันลอยลิบลิ่วฟ้าเวหาหน
     ข้าก็อยู่เดียวเปลี่ยวสกนธ์  
     ไม่ยลพักตร์ใครมาใกล้กาย

     พระยาครุฑฟังนุชสนองคำ  
     พิโรธซ้ำดังฟ้าคะนองสาย
     ดูดู๋คบชู้มาพรางชาย  
     จนชู้หน่ายชายชู้แล้วจู่จร
     เสียแรงรักหักจิตไม่คิดบาป  
     นิยมหยาบฉกพามาสมสมร
     ทั้งเจือใจอยู่มิให้อนาทร  
     ประคองนอนแนบข้างไม่ห่างกาย
     เราชูชื่นดังวิเชียรเจียระไน  
     มิรู้ใฝฟองช้ำส่ำสลาย
     ยังไม่รับเมื่อจับได้ชู้ชาย  
     คือนายนาฏกุเวนที่เจนกัน

     กากีฝืนพักตร์สนองถ้อย
     เป็นน่าน้อยใจเพียงชีวาสัญ
     อนิจจาว่าคบกับคนธรรพ์  
     คือใครเล่ายืนยันจำนรรจา
     จงนำมาสอบไล่ไต่สวน  
     ถ้าเป็นสัจแล้วก็ควรลงโทษา
     นี่กระไรไม่พิจารณา  
     มาเสกแสร้งแกล้งว่าดังจริงจัง

  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 พฤศจิกายน 2558 10:27:28 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5478


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 7.0 MS Internet Explorer 7.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 23 ตุลาคม 2556 17:49:40 »

.
เรื่องกากี (จบ)

     เออพิมานฉิมพลีนี้สูงสุด  
     มนุษย์ฤาจะมาได้ดังใจหวัง
     แล้วร่ายเวทผูกทวารบานบัง  
     เหมือนดังข่ายเพชรสักเจ็ดชั้น
     อย่าว่าแต่มนุษย์ในใต้หล้า  
     ถึงอสุราเทพไทในสวรรค์
     ก็ไม่หาญทำลายเวทเดชสุบรรณ  
     ไหนคนธรรพ์จะมาได้ดังใจจง

     หนึ่งคนธรรพก็เป็นทาสบาทมูล  
     ต่ำสกุลดังกาอันไกลหงส์
     ถ้าข้าพลัดภัสดามาเอองค์  
     ก็รักวงศ์เหมราชไม่แกมกา
     ซึ่งพระไม่กลัวเวรหวังสวาท  
     พานิราศมาร่วมเสน่หา
     ถนอมน้องมิให้หมองสักเวลา  
     พระคุณล้ำดินฟ้าแลสาคร
     ไม่ทันไรฤาใจจะทุจริต  
     พระพินิจตรองตริดำริก่อน
     ธรรมดาว่ารักจะหักรอน  
     เพราะหลงกลเขาซ้อนจะเสียการ

     พระยาครุฑฟังสุดสารแสดง  
     จิตแหนงดังมณีที่แตกฉาน
     จึงว่าดูราสตรีพาล  
     อย่ากล่าวสารสอดแก้สำนวนกล
     เราทราบสิ้นระบิลมันแอบอ้าง  
     จริงกระจ่างทุกข้ออนุสนธิ์
     อัปยศมาตยาเสนาพล  
     ดังจะด้นดินม้วยด้วยคำพาล

     เพราะคบชู้ไม่รู้ให้รอบเชิง  
     หลงระเริงว่าเจ้ารักสมัครสมาน
     คิดว่าหงส์จะลงแต่ชลธาร  
     มิรู้พาลกลั้วเกลือกด้วยเปือกตม
     ตัวนางเป็นไทสิใจทาส  
     ไม่รักชาติรสหวานไปพานขม
     ดังสุกรฟอนฟ่าแต่อาจม
     ห่อนนิยมรักรสสุคนธาร


     http://www.sookjaipic.com/images/4233369657_4.JPG
กำเนิด "พญาครุฑ" และวรรณกรรมเรื่อง "กากี" ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)


     จิตนางเปรียบอย่างชลาลัย  
     ไม่เลือกไหลห้วยหนองคลองละหาน
     เสียดายทรงแสนวิไลแต่ใจพาล  
     ประมาณเหมือนกับผลอุทุมพร  
     สุกแดงดังแสงปัทมราช  
     ข้างในล้วนกิมิชาติเบียนบ่อน
     เรารู้ใจมิให้อนาทร  
     จะพาคืนนครในราตรีฯ

     กากีประนมกรแล้ววอนว่า  
     อนิจจาช่างไม่โปรดเกศี
     บริภาษข้าบาทไม่มีดี  
     นี่เนื้อว่าเวรีมาราญรอน
     เพราะเชื่อเขาเบาความจึงเสียกล  
     หลงฉงนแหนงหน่ายสโมสร
     แม้เขาว่าแก้วเกิดในอุทร  
     ตกจะรอนราญอุราผ่าตาย

     พระฟังฝ่ายเดียวมาเกรี้ยวโกรธ  
     ทุเลาโทษขอพิสูจน์สัจถวาย
     แม้พิรุธทุจริตก็ควรตาย  
     ไม่เสียดายชีพน้องเท่ายองใย
     นี่หลัดหลัดฤาจะซัดไปส่งเสีย  
     ไม่โปรดเมียจงประหารให้ตักษัย
     อันพาราอย่าขืนให้คืนไป  
     จะสู้ม้วยบรรลัยในฉิมพลี

     พระยาครุฑได้สดับคดีนาง  
     หมองหมางห่างรักสุดาศรี
     จึงว่าดูรานางกากี  
     หญิงกาลีเล่นลิ้นพิรากล
     จะเลี้ยงเจ้าเราแสนอัปยศ  
     จะลือหมดทั่วหล้าเวหาหน
     ว่าพลางอุ้มนางนฤมล  
     ออกจากไพชยนต์ในราตรี

     เผ่นผงาดผาดผยองล่องฟ้า  
     พริบตาก็ถึงกรุงศรี
     วางองค์ลงหน้าพระลานคลี  
     แล้วจึงมีพจนารถประภาษนาง

     เจ้าไปอยู่กับเราเปล่าเปลี่ยวนัก  
     ที่นี่พรักพร้อมสวาทไม่ขาดข้าง
     เชิญเชยเสวยรมย์สมใจนาง  
     ตั้งแต่ปางนี้ไปอย่าพบกัน
     จนสิ้นดินฟ้าสุเมรุมาศ  
     แสนชาติอย่าได้ร่วมภิรมย์ขวัญ
     กว่าจะลุศิวโมกข์อมัตธรรม์  
     ว่าแล้วเหาะหันไปฉิมพลี

     ฝ่ายบรมพรหมทัตบดินทร
     ทิพากรรุ่งรางสว่างศรี
     อ่าองค์สรงพักตร์แล้วจรลี  
     เผยสีหบัญชรชำเลืองมา
     เห็นกากีศรีสมรบวรนาฏ  
     ให้ร้อนราชฤทัยรุมดังสุมผา
     พระระงับดับเดือดด้วยปรีชา  
     พจนาตรัสเย้ยยุพินพลัน

     ดูราสุดาดวงเนตร  
     เจ้าประเวศไปสู่พิมานสวรรค์
     พี่ตั้งหน้าท่าน้องทุกคืนวัน  
     พึ่งเห็นขวัญตามาถึงธานี
     อยู่ใยในหน้าพระลานเล่า  
     ขอเชิญเข้าปรางค์มาศปราสาทศรี
     พี่ขอบใจในสวาทแสนทวี  
     มิเสียทีบำรุงผดุงมา

     แต่ยังเยาว์คุ้มเท่าเป็นเอกองค์  
     ปิ่นอนงค์นางในทั้งซ้ายขวา
     คิดว่าจะไว้ชื่อให้ฤาชา  
     มิรู้ว่าเริงรวยไปด้วยครุฑ
     ด้วยแรงราคจากรสพาราณสี  
     ไปลองเล่นฉิมพลีอันสูงสุด
     ครั้นเบื่อหน่ายบ่ายเล่ห์เสน่ห์ครุฑ  
     กลับมายุดย้ายชมสมคนธรรพ์
     หนึ่งแล้วสองมิหนำมาซ้ำสาม  
     เจ้าทำงามพักตราน่ารับขวัญ
     เมื่อเป็นหญิงแพศยาใจอาธรรม์  
     จะให้เลี้ยงนางนั้นฉันใด

     กากีอภิวันท์ด้วยเบญจางค์  
     กำสรดพลางทางทูลสนองไข
     ความสัจเกิดวิบัติจึงซัดไป  
     ใช่ว่าใจจะร้างรสบทมาลย์
     เมื่อมืดมนอนธการในอากาศ  
     ครุฑบังอาจพาพรากไปจากสถาน
     ข้าร่ำไห้เพียงทำลายวายปราณ  
     แต่โหยหาภูบาลไม่เห็นตาม

     ข้ารำพรรณเพิดพ้อไม่ท้อครุฑ  
     จะโจนลงในสมุทรไม่เข็ดขาม
     จะหวังตายด้วยสัจจาพยายาม  
     สุบรรณบินรีบข้ามไปฉิมพลี
     แต่พูนเทวษเนตรนองเป็นโลหิต  
     ไม่มีจิตจงรักด้วยปักษี
     เขาเรืองฤทธิ์จนจิตเป็นสตรี  
     ก็สุดทีด้วยกรรมจึงจำเป็น

     ถึงกระนั้นจริงใจไม่ประดิพัทธ  
     ความสัจว่าไปใครจะเห็น
     พร่ำบวงสรวงเทพเจ้าทุกเช้าเย็น  
     ขอให้ครุฑเคลิ้มเคล้นมาส่งคืน
     เจ็ดวันคนธรรพ์ไปถึงสถาน  
     แจ้งอาการภูวไนยไม่มีชื่น
     ให้อัดอั้นตันจิตดังพิษปืน  
     สลบลงยังพื้นพิมานบน

     ซึ่งพี่เลี้ยงทำการทุจริต  
     จริงจิตมิได้แจ้งในเหตุผล
     ดังร่างผีมิได้รู้สึกสกนธ์  
     เท็จจริงก็เป็นจนประจานกาย
     เพราะกรรมนำเหตุให้หฤโหด  
     ประมาณโทษก็ผิดอยู่เหลือหลาย
     แม้มิโปรดเข่นฆ่าก็ท่าตาย  
     ขอไว้ลายสู้ม้วยด้วยสัจจา

 
    

    นฤบาลฟังสารสำนวนกล่าว  
     หทัยผ่าวเพียงเพลิงประลัยหล้า
     บริภาษด้วยราชบัญชา  
     หญิงพาลาใจดำกลำภร
     กูเป็นไกรกรุงผดุงเดช  
     ใช่จะไร้อัคเรศสโมสร
     อย่าพักกล่าวกลว่าให้อาวรณ์  
     จะเลี้ยงไว้ในนครก็หนักดิน

     ทุกนิเวศน์เขตขัณฑ์บุรีเรือง  
     รู้เรื่องจะตำหนิติฉิน
     แล้วสั่งลอยแพลงวาริน  
     จึงจะหมดมลทินที่นินทา
     ตรัสพลางสั่งเสวกามาตย์  
     รับราชโองการอยู่พร้อมหน้า
     นำนางกากีลีลามา  
     ถึงท่าใส่แพแล้วลอยไป

     ฝ่ายอนงค์กากีศรีสมร  
     เมื่อแพจรจากท่าชลาไหล
     สงัดเหงาเปล่าเนตรสังเวชใจ  
     กรรแสงไห้ฟูมฟายเพียงวายปราณ
     ผันพักตร์ทัศนาดูปราสาท  
     พิมานมาศใหญ่โตรโหฐาน
     แสงสุวรรณเนาวรัตน์ชัชวาล  
     แลตระการโชติช่วงดวงมณี
     มณเฑียรทองที่นั่งบัลลังก์แก้ว  
     ล้วนเพริดแพร้วจำรัสรัศมี
     บรรจถรณ์ประทิ่นกลิ่นมาลี
     วิสุทธิ์ศรีไสยาสน์สะอาดตา
     อนิจจาจำร้างปรางค์ปราสาท  
     แรมนิราศทั้งสมบัติวัตถา
     ค่อยอยู่เถิดมีกรรมต้องจำลา  
     แต่นี้ไหนจะได้มาไพชยนต์

     ครั้นสิ้นแสงสุริยาภานุมาศ  
     ดาวดาษเดือนสว่างกลางเวหน
     แพน้อยลอยออกทะเลวน  
     นฤมลครวญคร่ำรำพรรณ
     นิจจาเอ๋ยคิดปรางอยู่ปรางค์มาศ
     เป็นนาฏนางในไอศวรรย์
     แสนสุรางค์นางสนมบังคมคัล  
     ดังดาวห้อมล้อมจันทร์ในราตรี
     เผอิญกรรมนำไปให้พบครุฑ
     เขาฉกฉุดพาพรากจากกรุงศรี
     ไปสถานพิมานฉิมพลี  
     ก็เลี้ยงดูดิบดีให้คลายใจ
     พอเจ็ดวันคนธรรพ์ก็ไปถึง  
     เฝ้าเคล้าคลึงจะสนิทพิสมัย
     ไปเสียตัวชั่วซ้ำระยำไป  
     จะโทษใครเพราะตัวนี้ชั่วเอง

     เพลาค่ำน้ำค้างลงพร่างพร้อย  
     แพน้อยลอยซัดมาเท้งเต้ง
     ลมกระพือพัดคลื่นเสียงครื้นเครง  
     ยิ่งวังเวงเปลี่ยวเปล่าเศร้าอุรา
     เหลียวหลังฝั่งฝาก็ห่างหาย  
     เห็นแต่ฝูงปลาว่ายทั้งซ้ายขวา
     ฉลากฉลามกระโห้โลมา  
     ทั้งเหราปลาวาฬขึ้นพ่นน้ำ
     กระเบนบินอินทรีย์สีกุน  
     ปลาพยูนเงือกงูดูคลาคล่ำ
     สิ้นกุศลผลบุญหนุนนำ  
     วิบากกรรมพาไปในนที


คัดจาก : หนังสือโน๊ตเพลงไทยรับ-ร้อง ชุด "ตับเรื่องกากี" โดยอาจารย์สมพล  อนุตตรังกูร (สงวนลิขสิทธิ์)
..ขอกราบขอบพระคุณ ท่านอาจารย์สมพล  อนุตตรังกูร  ครูผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ด้านดนตรีไทย
ที่อนุญาตให้นำโน๊ตเพลงไทยเดิมเผยแพร่เป็นวิทยาทานใน www.sookjai.com
มา ณ ที่นี้ ด้วยความเคารพสูงยิ่ง....


* หมายเหตุ : สาระครบถ้วนของกระทู้นี้ โพสท์ไว้ใน สุขใจฟังเพลง (เพลงไทยเดิม)
                ซึ่งประกอบด้วยโน๊ตเพลงไทยรับ-ร้อง ตับเรื่องกากี ได้แก่ บทมโหรีตับนางนาค  
                บทมโหรีตับแขกมอญ  และบทเสภาเรื่องกากี
                    
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 ตุลาคม 2556 17:54:43 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.518 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 26 เมษายน 2567 14:45:00