[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 14 มิถุนายน 2555 11:26:50



หัวข้อ: ประวัติของ มีเกลันเจโล หรือที่คนไทยเรียก ไมเคิล แองเจโล
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 14 มิถุนายน 2555 11:26:50
ประวัติของ มีเกลันเจโล หรือที่คนไทยเรียก ไมเคิล แองเจโล

(http://www.baanjomyut.com/library/michelangelo/michelangelo.jpg)

มีเกลันเจโล หรือชื่อเต็มว่า มีเกลันเจโล ดี โลโดวีโก บัวนาร์โรตี ซีโมนี (อิตาลี: Michelangelo di Lodovico Buonarroti Simoni, 6 มีนาคม ค.ศ. 1475 - 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564) เป็นจิตรกร สถาปนิก และประติมากรชื่อดังชาวอิตาลี

ศิลปินที่เข้าถึง 3 ศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก เขาไม่เป็นเพียงผู้ที่เข้าถึงแต่เพียงศาสตร์ด้านวิจิตรศิลป์ แต่เขายังเข้าถึงความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรม และประติมากรรมอีกด้วย เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1475 และเติบโตที่เมืองฟลอเรนซ์ ภายหลังเป็นผู้สร้างประติมากรรมหินอ่อนชื่อกระฉ่อนโลกนามว่า เดวิด (David)

หลังจากที่ไปอยู่ที่กรุงโรมเมื่ออายุ 21 ปี และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นถึง 5 ปี มีเกลันเจโลสร้างประติมากรรมรูปเดวิด ตอนอายุ 26 ปี จากหินอ่อนก้อนมหึมาที่ถูกทิ้งไว้กลางเมืองฟลอเรนซ์เป็นเวลาหลายปี จึงกลายเป็นที่ฮือฮาของชาวเมือง ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีใครกล้าพอที่จะแตะต้องมันนั่นเอง ความสำเร็จหลังจากงานชิ้นนี้ ทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังไปทั่วอิตาลี มีเกลันเจโลเดิมทีเป็นคนที่เกลียด เลโอนาโด ดาวินชี ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะมีอายุห่างกันถึง 23 ปี และไม่ค่อยได้พบกันบ่อยนัก (คล้ายกับ "การที่เสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้") ในช่วงนี้ (ค.ศ. 1497 - ค.ศ. 1500) เขาก็ได้สร้างประติมากรรมหินอ่อนอีกชิ้นหนึ่งที่มีชื่อว่า ปีเอตะ (Pietà) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวิหารเซนต์ปีเตอร์ (St. Peter's Basilica) ที่กรุงโรม

ตอนอายุได้ 30 ปี เขาได้ถูกเชิญให้กลับมาที่กรุงโรม เพื่อออกแบบหลุมฝังศพให้กับ พระสันตะปาปาจูเลียส ที่ 2 ซึ่งใช้เวลาประมาณ 40 ปี หลังจากแก้หลายครั้งหลายครา จนมาสำเร็จในปี ค.ศ. 1545 ต่อมาในปี ค.ศ. 1546 เขาเป็นสถาปนิกคนสำคัญในการสร้างมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่กรุงโรม ที่มีความยิ่งใหญ่และงดงามเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของโลก โดยเฉพาะส่วนที่เป็นโดม

เขาใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่ในกรุงโรม ตลอด 30 ปี ช่วงนี้นั้นเองที่เขาเขียนภาพระดับโลกไว้มากมาย โดยเฉพาะ The Last Judgement (Last Judgment) ซึ่งเขาใช้เวลาในการเขียนภาพขนาดยักษ์นี้นานถึง 6 ปี

มีเกลันเจโล บัวนาร์โรตี เสียชีวิตลงเมื่ออายุได้ 90 ปี ซึ่งมีคำกล่าวจาก พระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ว่า "ทรงยินดีบั่นทอนชีวิตของท่านลง เพื่อแลกกับชีวิตของ มิเกลันเจโล ให้ยืนยาวออกไปอีก"


หัวข้อ: Re: ประวัติของ มีเกลันเจโล หรือที่คนไทยเรียก ไมเคิล แองเจโล
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 14 มิถุนายน 2555 11:27:25
เพิ่มเติม

ไมเคิลแอนเจโล คือ ประติมากร , จิตรกร , สถาปนิก และกวีผู้ยิ่งใหญ่ในยุคทองของสมัยเรอนาซอง  เขาถือกำเนิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ.1475 ณ หมู่บ้านคาเปรเซ่ เมืองคาสเซ็นติโน รัฐฟลอเรนซ์  บิดาเป็นข้าราชการและสืบเชื้อสายมาจากตระกูลผู้ดีเก่าแก่ของฟลอเรนซ์  เขาตั้งความหวังไว้ว่า คงจะมีสักวันใดวันหนึ่งที่คนในตระกูลบูโอนาร์โรตีจะต้องมีโอกาสขึ้นมากอบกู้ฟื้นฟูฐานะอันรุ่งเรืองในอดีตให้กลับคืน  ด้วยเหตุนี้ จึงทุ่มเทความหวังฝากไว้กับหนูน้อยไมเคิลแอนเจโล  แต่ทว่าไมเคิลแอนเจโลกลับทุ่มเทความรักและความสนใจพร้อมกับแสดงเจตนารมณ์ต้องการศึกษาศิลปะ  จึงเท่ากับขัดความประสงค์ของบิดาอย่างรุนแรง  แต่ด้วยความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวของหนูน้อยไมเคิลแอนเจโล  ทำให้บิดาไม่สามารถขัดขวางได้  ดังนั้นในวันที่ 1 เมษายน    ค.ศ. 1488  เขามีอายุได้ 13 ปี ก็ได้มอบตัวเป็นศิษย์เข้าศึกษาการวาดภาพกับโดมิเนโก กีย์ลันไดโอ  จิตรกรคนสำคัญของฟลอเรนซ์
                การเรียนการศึกษาศิลปะมีหลักสูตรการเรียนการปฏิบัติใช้เวลาทั้งหมดสามปี  เริ่มต้นจะต้องเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไปก่อน  การเรียนก็เป็นไปในทำนองลูกมือช่วยทำงานสารพัดให้กับครู  นับตั้งแต่ช่วยบดสี ผสมสี ล้างพู่กัน หรือการเตรียมพื้นผนังปูนสำหรับวาดภาพระบายสีแบบเฟรสโก้  ครั้นพอชำนาญจึงเขยิบขึ้นมาหัดร่างภาพและระบายสีตามลำดับ  ผลดีจากประสบการณ์ครั้งนี้ได้ก่อประโยชน์อย่างมหาศาลให้แก่เขาในเวลาต่อมา  โดยเฉพาะการเรียนรู้และการฝึกปฏิบัติวิธีการระบายสีแบบเฟรสโก้
                ไมเคิลแอนเจโลศึกษายังไม่ทันจบหลักสูตร  ก็ลาออกเข้าไปเรียนวิชาประติมากรรมที่เขารักและหลงใหลมากกว่า  สถานศึกษาแห่งใหม่ตั้งอยู่ในอุทยานประติมากรรมของเจ้าชายโลเร็นโซ ณ สถานศึกษาแห่งใหม่  ไมเคิลแอนเจโลศึกษาวิชาวาดเส้นอย่างหนักจากแบบประติมากรรมชิ้นเยี่ยมของกรีกและโรมัน  ซึ่งเจ้าชายโลเร็นโซทรงเสาะแสวงหามาสะสมไว้ด้วยกันเป็นจำนวนมาก  นอกจากนี้ยังฝึกหัดปั้นและแกะสลักจากแบบดังกล่าวแล้วยังศึกษาจากแบบคนจริงด้วย  ไมเคิลแอนเจโลได้แสดงความสามารถพิเศษส่วนตนทางด้านศิลปะได้ตั้งแต่วัยเยาว์  เขาสามารถสร้างผลงานให้เจ้าชายโลเร็นโซเกิดความนิยมการศึกษาของไมเคิลแอนเจโล  มิได้เพียงแต่ศึกษาวิชาประติมากรรมเท่านั้น  หากเขายังได้ศึกษาดนตรี กวีนิพนธ์ ปรัชญา ตลอดจนวิทยาการต่างๆเพราะสภาพบรรยากาศในราชสำนักของเจ้าชายโลเร็นโซอบอวนด้วยกลิ่นอายทางวิชาการจากเหล่ากวี ศิลปิน และปัญญาชนทางลัทธิมนุษยนิยมที่แวดล้อมเจ้าชายโลเร็นโซ
                ในวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1494  นับเป็นวันวิกฤติของฟลอเร็นได้วันหนึ่ง  เมื่อเจ้าชายโลเร็นโซทรงสิ้นพระชนม์ลง  พร้อมกันนั้นได้เกิดความวุ่นวาย ชุลมุน ก่อการจลาจลจากชาวเมือง  มีผลสืบเนื่องจากการเทศนาปลุกเร้าความคิดทั้งด้านการเมืองและศาสนาของพระในนิกายโดมินิกันองค์หนึ่งชื่อ สโวนาโรล่า  ผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองของตระกูลเมดิชี่  จากนั้นรัฐบาลภายใต้การบัญชาการของพระสโวนาโรลาได้เข้ามาบริหารบ้านเมืองแทน  โดยมีนโยบายเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มลัทธิมนุษยธรรมนิยมโดยตรง  ไมเคิลแอนเจโลจึงจำต้องหลบหนีออกจากเมือง  ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ที่เมืองโบโลญา  รับจ้างสลักรูปประดับในโบสถ์วัดซานเปรโตนีโอ



หัวข้อ: Re: ประวัติของ มีเกลันเจโล หรือที่คนไทยเรียก ไมเคิล แองเจโล
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 14 มิถุนายน 2555 11:28:15
ต่อจากด้านบน

วันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1496  ภายหลังจากวัดซานเปรโตนีโอเสร็จเรียบร้อย  เขาก็ออกเดินทางจากโบโลญามุ่งหน้าสู่กรุงโรม  เพื่อรับจ้างสลักรูปหินอ่อนประดับในโบสถ์เซนต์ปีเตอร์  เขาเริ่มงานชิ้นแรกเป็นรูปของเทพแบคคุส   เทพเจ้าแห่งเมรัยและความสนุกสนานรื่นเริงตามเทพนิยายของกรีก    เป็นประติมากรรมที่แกะสลักจากหินอ่อน มีขนาดความสูงเท่ากับคนจริง          พระคาร์ดินาล วิลลิเอร์  เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสำนักวาติกัน    ได้มีโอกาสเห็นผลงานของไมเคิลแอนเจโลจึงเกิดความสนใจ  ต่อมาได้ติดต่อให้เขารับสร้างงานให้ชิ้นหนึ่ง  สร้างเป็นรูปแม่พระประทับบนพระแท่นหิน มีร่างของพระบุตรหรือพระเยซูวางพาดอยู่บนหน้าตัก  สัญญาว่าจ้างได้ลงนามกันเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 2498    ประติมากรรมรูปนี้เป็นที่รู้จักกันดีในนามของ        “ ปิเอต้า ” ( Pieta )
                ในค.ศ. 1501  เมื่อสลักรูปหินปิเอต้าเสร็จ  ได้เดินทางกลับฟลอเรนซ์ทันที  สาเหตุที่รีบร้อนเดินทางกลับคงเป็นเพราะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการปกครองเมืองฟลอเรนซ์  ให้เขาสามารถนำเอาหินอ่อนขนาดมหึมาซึ่งจมดินอยู่เป็นเวลานานถึง 46 ปี มาสกัดรูปตามที่เขาต้องการ  เมื่อเขากลับมาถึงฟลอเรนซ์  ได้รีบเร่งร่างแผนการนำเอาดาวิดหรือเดวิดวีรบุรุษชาวยิวในพระคัมภีร์เดิมของคริสตศาสนามาสร้าง  ซึ่งวีรบุรุษชาวยิวผู้นี้โดนาเต็ลโลและเวอร์รอคคิโอ ประติมากรเอกของฟลอเรนซ์เคยสร้างมาก่อนหน้านี้แล้ว  มีการเล่ากันว่า ในขณะที่ไมเคิลแอนเจโลกำลังร่างแผนงานสลักรูปดาวิดอยู่นั้น  เขาศึกษาภาพเปลือยจากประติมากรรมจากกรีกและโรมันอย่างหนัก  นอกจากนี้ยังศึกษากายวิภาคจากซากศพคนจริง  ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลออกัสติเนียน
                รูปดาวิดสลักสำเร็จเรียบร้อยในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1504  ใช้เวลาร่วมทั้งหมด 4 ปี  ต่อจากนั้นเขาก็มีงานที่มีผู้ว่าจ้างให้ทำอยู่หลายรายการ  ดังเช่นรูปสลักประติมากรรมภาพแบน  เป็นรูปแม่พระมาดอนนากับสาวก 12 องค์ผู้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ให้เป็นที่รู้จักกันในระยะแรก  เพื่อนำไปติดตั้งที่โบสถ์ในวัดประจำเมืองฟลอเรนซ์  แต่เนื่องจากเขามีงานมากจนล้นมือจึงสลักรูปสาวก  12   องค์เสร็จเพียงรูปเซนต์แมทธิวเพียงองค์เดียว            ในขณะเดียวกันนี้เอง ไมเคิลแอนเจโลเริ่มสนใจงานด้านจิตรกรรมบ้าง  ดังจะเห็นได้จากที่เขารับวาดภาพเกี่ยวกับครอบครัวของพระเยซูในรูปวงกลม หรือที่เรียกเป็นภาษาอิตาเลียนว่า “ โดนิทอนโด” ( Donitondo )
                ในช่วงระยะเวลานี้ เป็นระยะเวลาที่เลโอนาร์โดลี้ภัยการเมืองมาพำนักอยู่ในฟลอเรนซ์  ศิลปินเอกทั้งสองต่างเป็นผู้มีชื่อเสียงและความสามารถสูงด้วยกัน  ต่างฝ่ายต่างว่าตนเองมีความสามารถสูงกว่า  ทำให้เกิดมีการปะทะกันด้วยคารมบ่อยครั้ง  ทางคณะกรรมการปกครองเมืองเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะเชิญให้ทั้งเลโอนาร์โดกับไมเคิลแอนเจโลมาวาดภาพประดับบนฝาผนังแข่งกัน  โดยกำหนดให้เอาฝาผนังในศาลากลางแห่งใหม่ที่พระราชวังเวคดิโอเป็นสนามประลองฝีมือ  เนื้อหาที่จะใช้วาดกำหนดให้เป็นเรื่องของสงคราม  เลโอนาร์โดเลือกเอาเรื่องราว “ การรบที่แอนกิอารี่ ”  ส่วนไมเคิลแอนเจโลเลือกเอาเรื่องราว “ การรบที่คาสชินา ” ซึ่งเขาได้ลงมือร่างภาพ     ( Cartoon ) ในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1504  แต่อย่างไรก็ตามศิลปินเอกทั้งสองท่านต่างก็ทำงานไม่เสร็จด้วยกันทั้งคู่  ต้องมีอันแยกย้ายไปทำงานอื่น เลโอนาร์โดกลับไปรับราชการในราชสำนักมิลาน  ไมเคิลแอนเจโลต้องรีบเดินทางไปกรุงโรมเพื่อทำงานให้สันตะปาปา
                ผลงานที่เขาเหลือไว้เป็นอนุสรณ์สำหรับผลงานแห่งนี้คือ  ภาพร่างรูปคนด้วยดินสอบนแผ่นกระดาษ  เป็นรูปคนและสัตว์ประมาณ 500 ภาพ  ซึ่งผลงานชุดนี้ก็ได้กลายเป็นขุมตำราวิชาการศิลปะอันล้ำค่าให้ศิลปินรุ่นหลังได้ศึกษากัน  เขาคือผู้ยกระดับฐานะของงานวาดเส้น ( Drawing ) ซึ่งในอดีตถูกมองว่าเป็นผลงานอันต่ำต้อย  เป็นแค่เพียงบันไดหรือทางผ่านของจิตรกรรมหรือประติมากรรมเท่านั้น  เขาได้สร้างให้มันมีคุณค่าสูงทัดเทียมกับจิตรกรรมและประติมากรรมอีกด้วย
                ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1505  สันตะปาปาจูลิอุสหรือจูเลียสที่ 2 จึงได้มีสาส์นเชื้อเชิญให้เขาเดินทางเข้ากรุงโรม  พระองค์ทรงมอบหมายงานการออกแบบก่อสร้างสุสานส่วนพระองค์  เมื่อไมเคิลแอนเจโลได้รับสาส์นก็รีบเดินทางเข้าเฝ้าองค์สันตะปาปา  เมื่อได้รับมอบหมายหน้าที่ในการออกแบบก่อสร้างสุสานส่วนพระองค์  เขาได้เสนอโครงงานอย่างใหญ่โตมโหฬาร  กำหนดให้สุสานมีรูปร่างคล้ายวิหารขนาดเล็ก  ติดตั้งอยู่ภายในโบสถ์เซนต์ปีเตอร์  มีรูปสลักหินอ่อนเป็นรูปคนประดับสุสาน 40 รูป  เมื่อองค์สันตะปาปาได้ทราบถึงโครงงานทั้งหมดก็ทรงอนุมัติทันที  แต่ว่าในขณะที่ไมเคิลแอนเจโลกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่นั้น  ได้เกิดปัญหาจนก่อเป็นอุปสรรคหลายอย่าง อาทิเช่น แม่น้ำไทเบอร์ซึ่งไหลผ่านใจกลางกรุงโรม  ในฤดูน้ำหลากมีมากจนเกิดเป็นอุทกภัยร้ายแรง  เป็นอุปสรรคขัดขวางการขนส่งลำเลียงหินอ่อนชนิดดีที่สั่งซื้อมาจากเมืองคาร์ราร่า  ฐานะการเงินขององค์สันตะปาปาเริ่มฝืดเคือง  จึงต้องลดภาระตัดงบประมาณในด้านอื่นๆลง  เป็นเหตุให้ไมเคิลแอนเจโลกับองค์สันตะปาปามีปากเสียงกันบ่อยครั้ง




หัวข้อ: Re: ประวัติของ มีเกลันเจโล หรือที่คนไทยเรียก ไมเคิล แองเจโล
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 14 มิถุนายน 2555 11:28:56
ต่อจากด้านบน

                ในวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1506  ไมเคิลแอนเจโลจึงจำต้องตัดสินใจละทิ้งงานหลบหนีออกจากโรม  สุสานขององค์สันตะปาปายังคงทิ้งค้างไว้  โครงงานที่ไมเคิลแอนเจโลร่างไว้เสร็จเพียงบางส่วน  ประติมากรรมที่ตั้งใจจะสลักถึง 40 รูปนั้น  สำเร็งเพียงรูปเดียว คือ รูปโมเสสกับงานที่สลักค้างไว้อีก 2 รูป  แม้ว่าสันตะปาปาจูลิอุสที่ 2  จะทรงมีอำนาจในการลงโทษไมเคิลแอนเจโลได้อย่างเต็มที่  แต่ดูเหมือนว่าพระองค์ไม่ทรงยอมใช้อำนาจนี้  สันนิษฐานกันว่า คงเป็นเพราะพระองค์ทรงเห็นความสามารถของเขาอยู่     พอลุล่วงฤดูใบไม้ผลิทรงโปรดประทานอภัยโทษและเรียกให้ไมเคิลแอนเจโลเดินทางกลับเข้ากรุงโรม  แม้ว่าสุสานจะยังไม่เสร็จองค์สันตะปาปาก็ไม่ติดพระทัยให้ทำต่อ  แต่กลับเสนองานวาดภาพประดับเพดานในหอสวดมนต์ซิสติเน่แทน
                หอสวดมนต์ซิสติเน่หรือซิสทีน ( Sistine Chapel ) เป็นอาคารขนาดย่อมอยู่ภายในพระราชวังวาติกัน  สร้างขึ้นในสมัยสันตะปาปาซิกตุสที่ 4 ( Sixtus IV )  และได้ชื่อตามนามพระองค์  จัดให้มีการฝึกหัดและฝึกซ้อมร้องเพลงในหอสวดมนต์ซิสติเน่เป็นประจำ  คณะร้องเพลงสวดนี้ชื่อว่า “ คาเปลลา ซิกติน่า ” ( Capella Sixtena ) เป็นวงที่รับหน้าที่ขับร้องประจำในโบสถ์เซนต์ปีเตอร์  และยังใช้เป็นสถานที่สำหรับองค์สันตะปาปาซิกตุสที่ 4 ประกอบศาสนากิจส่วนพระองค์  ที่ฝาผนังด้านข้างทั้งสองข้างตกแต่งด้วยจิตรกรรมปูนเปียก ( Fresco ) เขาใช้เวลาทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นระยะเวลายาวนานติดต่อกันถึง 4 ปี  เนรมิตโลกแห่งจิตนาการขึ้น  ผลงานได้สำเร็จอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1512
ไมเคิลแอนเจนโลมีโอกาสวาดภาพบนเพดานในซีสติเน่ตามความปรารถนาของสันตะปาปาซึ่งเขาได้สะท้อนความคิดตามลัทธิปรัชญานีโอ-เพลโตนิคและความศรัทธาของคริสตศาสนิกชนที่ดีโดยแสดงถึงความเป็นจริงทั้งในสภาพชีวิตธรรมดาและอุดมคติตามหลักปรัชญาเพลโตที่เชื่อว่าความงามมาตรฐานอยู่แต่ในอุดมการณ์เท่านั้น เขาได้สร้างภาพวีรบุรุษและวีรสตรีเท่าขนาดคนจริงมีอิริยาบถแตกต่างกันและเปลือยกายแสดงความงามของเรือนร่างตามคตินิยมทางศิลปะของกรีกและโรมันและจัดพื้นที่เป็นรูปทรงเรขาคณิตในแบบต่าง ๆ ตามทัศนะของเพลโต จุดเด่นของภาพนี้อยู่ที่การวาดภาพมนุษย์ซึ่งมีรูปร่างลักษณะเช่นเดียวกับพระเจ้าเพราะเขาต้องการเน้นคุณค่าและยกย่องในความเป็นมนุษย์ตามหลักทฤษฎีของนีโอ-เพลโตนิค ใช้การระบายสีแบบเฟรสโกหรือการระบายสีในขณะผนังปูนยังเปียก เมื่องานนี้เสร็จลงเขากลับมาสลักรูปหินอ่อนศาสดาพยากรณ์และรูปทาสที่ค้างไว้ในงานสร้างสุสานสันตะปาปาจูลิอุสที่ 2 ซึ่งคอนโดวิดินักประวัติศาสตร์ขนานนามว่า “สุสานแห่งโศกนาฏกรรม” เพราะสร้างความยุ่งยากมากจนเมื่อเขาถึงแก่กรรมผลงานนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ปี ค.ศ. 1516 สันตะปาปาเลโอที่ 10 ซึ่งรับตำแหน่งจากสันตะปาปาจูลิอุสที่ 2 ได้ให้เขาออกแบบตกแต่งหอสวดมนต์ในวัดซานโลเร็นโซ ในปี ค.ศ. 1527 จักรพรรดิชาร์ลที่ 5 ทรงเข้ายึดกรุงโรมและจับองค์สันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 คุมขังทำให้เมืองฟลอเรนซ์เกิดจลาจล ในปี ค.ศ. 1530 กองทัพจักรพรรดิชาร์ลที่ 5 พ่ายแพ้ทำให้ไมเคิลแอนเจโลซึ่งอยู่ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐมีความผิดด้วยแต่สันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 ทรงอภัยโทษและเสนอให้สร้างงานในวัดซานโลเร็นโซต่อไปจนเสร็จ ปี ค.ศ. 1534 สันตะปาปาปอลที่ 3 ดำรงตำแหน่งสืบต่อทรงเปิดโอกาสให้เขาวาดภาพในหอสวดมนต์ซีสติเน่ เขาลงมือวาดภาพเมื่อปี ค.ศ. 1536 โดยนำเรื่องราวจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ตอน “การตัดสินครั้งสุดท้าย (The Last Judgment)” ช่วงที่กำลังวาดภาพนี้ได้เกิดความขัดแย้งทางศาสนาอย่างหนักจึงส่งผลให้ภาพนี้แสดงถึงความดิ้นรนของชีวิตอันทุกข์ยาก มีการสร้างภาพให้เกิดความเกรงกลัวในการประพฤติผิดและให้กำลังใจแก่ผู้ทำความดี ภาพคนส่วนใหญ่มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์อยู่ในห้วงทรมาน ในวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1541 เขาได้รับงานวาดภาพเฟรสโก้บนผนังหอสวดมนต์เปาลีเนขององค์สันตะปาปาปอลที่ 3 ในวาติกันเช่นเดียวกับซีสติเน่ โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับการอุทิศตนเองเพื่อศาสนาของเซนต์ปีเตอร์กับเซนต์ปอล แต่ภายหลังได้มีจิตรกรหลายคนแก้ไขทำให้เหลือภาพส่วนที่เป็นฝีมือของไมเคิลแอนเจโลเพียงเล็กน้อย ต่อมาในปี ค.ศ. 1546 ไมเคิลแอนเจโล ในวัย 71 ปี ได้รับการทาบทามเชื้อเชิญให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานปนิกควบคุมการก่อสร้างโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ เขามีจุดประสงค์ให้โบสถ์นี้เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา แสดงถึงความมีเอกภาพ ความสงบ ความหวังและมั่นคง เป็นศูนย์กลางแห่งการรวมวิญญาณของชาวคริสเตียนทั้งหมด โบสถ์เซนต์ปีเตอร์นับเป็นต้นแบบในการก่อสร้างอื่น ๆ โดยเฉพาะโดม เห็นได้จากในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 เป็นสมัยแห่งการล่าอาณานิคม หลายประเทศได้ก่อสร้างโดมตามแบบสถาปัตยกรรมของโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ ผลงานบั้นปลายชีวิตของไมเคิลแอนเจโลเพิ่มอารมณ์แห่งความกดดันและเศร้าหมองมากขึ้น สันตะปาปาปอลที่ 4 ทรงให้ออกแบบก่อสร้างรอบอนุสาวรีย์จักรพรรดิ ทราจันและดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการวางผังเมืองของกรุงโรม ในปี ค.ศ. 1569 เจ้าชายโคสิโมที่ 1 ยอมรับแบบวัดเซนต์จอห์นที่จะสร้างในกรุงโรม และปี ค.ศ. 1561 เขาได้ลงนามให้ก่อสร้างประตูปอร์ตา ปิอา จวบจนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1564 ไมเคิลแอนเจโลในวัย 89 ปี ได้ถึงแก่กรรม ณ บ้านพักที่มาเซล เด คอร์วี่ ในกรุงโรม มีการนำร่างของเขาไปที่โบส์ถซานตา โกรเซ เมืองฟลอเรนซ์ เขาได้ทิ้งค้างผลงานสุดท้ายไว้ซึ่งมีชื่อว่า ปิเอตา รอนดานินี่
 



หัวข้อ: Re: ประวัติของ มีเกลันเจโล หรือที่คนไทยเรียก ไมเคิล แองเจโล
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 14 มิถุนายน 2555 11:30:09
ไมเคิลแอนเจโลกับอุดมคติในการสร้างงาน

              ดังได้เคยกล่าวมาแล้วว่า ศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 และคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีศูนย์กลางครั้งแรกที่เมืองฟลอเรนซ์ ต่อมาได้ย้ายมาที่กรุงโรม ผลงานส่วนมากสร้างขึ้นตามแนวคตินิยมในลัทธิปรัชญานีโอ-เพลโต มีจุดมุ่งหมายสูงสุดในการแสดงออกอยู่ที่ให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์ ตามอุดมการณ์ของลัทธิมนุษย์ธรรมนิยม ให้ความสำคัญของปัจเจกชนทั้งทางด้านเสรีภาพในการคิดและการกระทำ มิได้มุ่งอยู่แต่ในเรื่องของความเป็นจริงเท่าที่สภาพชีวิตทั่วไปเผชิญอยู่ หากแต่คำนึงถึงความจริงแท้ในมโนคติ ตามหลักคิดของเพลโตส่วนในปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับทางศิลปะโดยตรงของเพลโตนั้นเชื่อว่า ความงามที่เราสัมผัสได้นั้นเป็นเพราะความงามนั้นได้สะท้อนจำลองมาจากความงามอันสูงสุด เป็นความงามมาตรฐานที่มีอยู่เพียงในมโนคติ ซึ่งอยู่นอกเหนือการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส เป็นความงามสากลอันเป็นแม่แบบแห่งความงามทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลก ถ้าปราศจากความงามสากลนี้แล้ว ย่อมไม่มีความงามที่เราสามารถสัมผัสได้
                ไมเคิลแอนเจโลได้นิพนธ์บทกวีไว้บทหนึ่งความว่า “ ความงามทุกอย่างที่มนุษย์ผู้มีการรับรู้เห็นได้ในโลกนี้  ย่อมมีความคล้ายคลึงกับสิ่งที่มีแหล่งกำเนิดจากสวรรค์  ซึ่งเราทั้งหลายได้มาจากที่นั้น ”  จะเห็นได้ว่าศิลปะในทุกสาขาของสมัยเรนาซอง  ไม่ว่าจะเป็นกวีนิพนธ์จะมีครรลองแสดงออกถึงความงามเช่นดียวกับที่ปรากฏในจิตรกรรมหรือประติมากรรม  เมื่อต้องการจะกล่าวพรรณนาชมหญิงสาวสุดสาวคนใดคนหนึ่ง  ต่างก็จะร่ายในท่วงทำนองที่คล้ายกัน  จิตรกรรมและประติมากรรมเองก็ได้แรงดลใจไม่น้อยจากกวีนิพนธ์มากเสียยิ่งกว่าจะนำมาจากธรรมชาติโดยตรง  หรือมาจากความรู้ในประวัติศาสตร์
                สถาบันศิลปะที่เจ้าชายโลเร็นโซให้การอุปถัมภ์อย่างดีนั้น  ได้ทุ่มเทความมานะพยายามศึกษาค้นคว้าและสนับสนุนให้สร้างงานตามอุดมคติ นีโอ-เพลโตนิค อย่างเต็มที่  โดยนำรูปแบบจากศิลปกรรมกรีกและโรมันมาศึกษาเป็นแม่บท  ทำให้ฟลอเรนซ์เป็นศูนย์กลางสำคัญของวงการศิลปะในเวลาอย่างรวดเร็ว  ศิลปินฟลอเรนซ์ต่างมีงานทำอย่างล้นมือ  ในบางโอกาสอาจไปมีหน้าที่เป็นผู้กำกับเวทีการแสดงอีกด้วย
                ทั้งไมเคิลแอนเจโลและเลโอนาร์โดดูจะไม่ค่อยพึงพอใจในสภาพบรรยากาสเหล่านี้เท่าใดนัก  บุคคลทั้งสองพยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าว  เลโอนาร์โดมุ่งความสนใจแสวงหาความจริงและความงามในมโนคติทางวิทยาศาสตร์  ส่วนไมเคิลแอนเจโลค้นหาความจริงและความงามในแบบฉบับลัทธิปรัชญาของเพลโตอย่างสมบูรณ์แบบ  นำทั้งหมดมาปรุงแต่งรวมแสดงออกเป็นพลังอำนาจของความเป็นมนุษย์ความงามในความหมายกว้างมีอยู่สองแบบด้วยกัน กล่าวคือ เป็นความงามตามธรรมชาติกับความงามที่ได้รับการปรุงแต่งกลั่นกรอง  ไมเคิลแอนเจโลได้ยึดทั้งสองแบบนอกจากนี้ยังได้เพิ่มเติมสอดแทรกความงามทางศีลธรรมเข้าไปเพราะเขาเชื่อว่าความงามเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่  จากแนวคิดนี้จะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในภาพ “การตัดสินครั้งสุดท้าย”  ที่ผนังในหอสวดมนซิสติเน่  ซึ่งแฝกความงามในธรรมชาติร่างกายของมนุษย์และความงามทางศีลธรรมตามหลักคริสต์ศาสนาผสมเข้ากับลัทธิมนุษยธรรมอย่างลึกซึ้ง
                ไมเคิลแอนเจโลถืองานวาดเส้น ( Drawing ) นอกจากจะมีความสำคัญที่เส้นได้แสดงลีลาแล้ว  แสงเงาและความมีเอกภาพของรูปทรงก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่า  จากการที่เขามีความคิดเช่นนี้อาจเป็นเพราะมีความหลงใหลในงานประติมากรรม  จนกระทั่งนำหลักสำคัญของประติมากรรมสดใส่ในผลงานศิลปะทุกอย่าง  ส่วนการประติมากรรมตามทัศนะของไมเคิลแอนเจโลนั้น  ถือว่ามีเรื่องราวและคุณค่าพิเศษเฉพาะตน  มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเนื้อหาและวัสดุ  ไมเคิลแอนเจโลดูจะเชื่อมั่นในอำนาจภายในอันเร้นลับ  จนกระทั่งสามารถเสกบันดาลสิ่งต่างๆให้มีอิทธิฤทธิ์ได้ เกล่าวว่า “การเลียนแบบภาพอันน่าเคารพของพระเจ้า  ศิลปินไม่เพียงแต่เป็นครูหรือผู้แนะนำที่ดีเท่านั้น  หากแต่พวกเขาจำเป็นต้องมีชีวิตที่ดีหรือแม้แต่จะต้องทำตนเป็นนักบุญ  เพื่อวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์จะได้ดลบันดาลให้พวกเขาเกิดพุทธิปัญญา” ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่า  ตลอดชั่วชีวิตอันยาวนานของไมเคิลแอนเจโล  เขาได้ดำเนินชีวิตด้วยควาสะอาดบริสุทธิ์ไม่มีเรื่องผิดใดๆให้ด่างพร้อย  เขายินดีที่ทุ่มเทพลังทั้งหมดในผลงาน ปฏิเสธที่จะมีผู้ช่วยหรือลูกมือในการทำงาน  เขายอมวาดภาพขนาดมหึมาเพียงคนเดียวอย่างโดดเดี่ยว  สลักหินอ่อนด้วยค้อนและสิ่วอย่างเดียวดาย  เขาทำงานด้วยสมาธิอันแน่วแน่ดุจนักพรตผู้มีตะบะอันแรงกล้า
ประติมากรรมหินสลัก “ปิเอต้า” นับเป็นตัวอย่างที่ดีอีกชิ้นหนึ่งได้รวมเอาหลักการในความงานตามหลักปรัชญาลัทธินีโอ-เพลนิคกับคริสต์ศาสนาเข้าไว้ด้วยกันอย่างเหมาะสม  โดยมีเรื่องราวเนื้อหาจากพระคัมภีร์  ส่วนกรรมวิธีและการแสดงออกถึงความงามเป็นไปตามแบบศิลปะกรีกและโรมัน  เช่นเดียวกับภาพจิตรกรรมเพดานในหอสวดมนต์ซิสติเน่  เขาได้สร้างภาพบุคคลสำคัญของคริสเตียนเคียงข้างกับบุคคลสำคัญในตำนานเทพนิยายกรีกอย่างไม่เคอะเขิน  ภาพ “การตัดสินครั้งสุดท้าย” บนผนังในสถานที่แห่งเดียวกัน  เขาได้วาดภาพคนเปลือยไว้อย่างมากมาย  แสดงความงามตามอุดมคติของกรีกและโรมัน   นอกจากจิตรกรรมและประติมากรรมที่ได้กล่าวมาแล้ว  ในสถาปัตยกรรมที่เขาออกแบก็มีอยู่อย่างสมบูรณ์เช่นกัน  นับตั้งแต่โดมของโบสถ์เซนต์ปีเตอร์  เสาหินขนาดยักษ์ที่รองรับน้ำหนักมหาศาลของโดม  ภายในโดมเมื่อมองขึ้นไปจะเห็นโครงสร้างที่ทำเป็นวงกลมสลับซับซ้อนดุจวงแหวนเรียงรายเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นเปรียบเสมือนชั้นของสรวงสวรรค์  ไมเคิลแอนเจโลได้นำสวรรค์ในคตินิยมของคริสต์ศาสนามาแสดงกับอาคารสำคัญทางศาสนา  เพราะครั้งหนึ่งในอดีต  อาดัมและอีฟชายหญิงคู่แรกของโลกได้ประพฤติบาปจึงได้ถูกขับออกจากสวรรค์  และมนุษย์ปัจจุบันได้สูญเสียมันไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว  แต่ทุกคนก็ยังมีความใฝ่ฝันที่จะกลับคืนสถานที่นี้อีก  บนช่องสุดของโดม เขาได้ทำช่องปล่อยให้แสงสว่างเข้ามา  เปรียบประดุจดังแสงสว่างจากการประทานของพระผู้เป็นเจ้า  ซึ่งพระองค์ยังทรงมีพระกรุณาเมตตาปราณีต่อมวลมนุษย์ อยู่ตลอดกาล



หัวข้อ: Re: ประวัติของ มีเกลันเจโล หรือที่คนไทยเรียก ไมเคิล แองเจโล
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 14 มิถุนายน 2555 11:31:01
อ้างถึง

     ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมหรือประติมากรรม
     ต่างสามารถเข้าหาความจริงของวิญญาณ
     สามารถเข้าหาความรักของพระผู้เป็นเจ้า
     มันได้เปิดทางไว้ให้แล้ว
     ที่ไม้กางเขน  ที่พระหัตถ์ของพระองค์
     ซึ่งทรงสวมกอดพวกเราไว้

                                        

                                   ไมเคิลแอนเจโล  บูโอนาร์โรตี



หัวข้อ: Re: ประวัติของ มีเกลันเจโล หรือที่คนไทยเรียก ไมเคิล แองเจโล
เริ่มหัวข้อโดย: That's way ที่ 28 กันยายน 2555 12:18:51
(http://www.bloggang.com/data/a-wild-sheep-chase/picture/1131068304.jpg)

(http://4.bp.blogspot.com/_1Z5_frqW26w/S4A0iFG525I/AAAAAAAAKrk/Lr-qJkeLdEg/s400/Michelangelos_David.jpg)

(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=1431298)

(http://www.thaigoodview.com/files/u19248/mona.jpg)

ส่วนหนึ่งจากผลงานมากมายของไมเคิล แองเจโล ที่หลายคนคุ้นตา