[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สยาม ในอดีต => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 30 กรกฎาคม 2559 19:53:43



หัวข้อ: กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว แฝดสยามอิน-จัน แฝดสยาม ก้องโลก
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 30 กรกฎาคม 2559 19:53:43
กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว...แฝดสยามอิน-จัน (1)
แฝดสยามก้องโลกคู่นี้เกิดที่สมุทรสงคราม

โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก
มติชนรายวัน 21 ตุลาคม 2558

(http://www.matichon.co.th/news-photo/matichon/2015/10/act05211058p1.jpg)

เดิมทีเดียว ผู้เขียนตั้งใจจะสืบค้นว่า ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของชนชาติสยาม ใครหนอคือคนไทยรุ่นแรกๆ ที่เสี่ยงตายลงเรือเดินทางไปเหยียบแผ่นดินอเมริกา ไปเรียนหนังสือ ไปทำมาหากิน ไปเพราะโชคชะตาฟ้าลิขิต หรือไปสำรวจขอบฟ้าใหม่ให้ชีวิต เค้าไปกันยังไง เพราะสองร้อยปีที่ผ่านมา ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ในโลกนี้ สูง ต่ำ ดำ ขาว แม้แต่ชาวจีนยังหลั่งไหลอพยพไปตั้งต้นชีวิตใหม่ในอเมริกา ดินแดนแผ่นดินแห่งโอกาส อาณาจักรแห่งความฝันของมวลมนุษยชาติ

ค้นไปค้นมาจึงไปเจอข้อมูลจริงที่มหัศจรรย์แสนจะเหลือเชื่อ

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 200 ปีที่แล้ว คนสยามที่ตัวติดกันเป็นคู่แฝดประหลาดคู่นี้ พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ซักคำ พออายุได้ 18 ปี มีพ่อค้าอังกฤษและกัปตันเรืออเมริกันจ่ายเงินให้พ่อ-แม่ที่ปากคลองแม่กลอง ต.แหลมใหญ่ เมืองสมุทรสงคราม จำนวนมหาศาลถึง 1,600 บาท จับใส่เรือสินค้าจากสยามแล่นผ่านมหาสมุทรค่อนโลกไปจัดการแสดง "มนุษย์ประหลาด" ในอเมริกา ข้ามโลกไปแสดงในอังกฤษ คนในอเมริกาแห่กันซื้อตั๋วเสียตังค์เข้ามาขอดู ขอพิสูจน์การแสดงของคนตัวติดกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน แฝดจากสยามสนุกสนาน เฮฮา ร่าเริง ตระเวนไปแสดงเกือบทั่วแผ่นดินอเมริกา มีผู้จัดการส่วนตัวจัดโปรแกรมการแสดง จนทั้งสองคนมีเงินร่ำรวย

ชายชาวสยามผู้มีลำตัวติดกัน สมัยเด็กอยู่ที่ปากคลองแม่กลอง เลี้ยงเป็ดขายไข่ หาปลาเลี้ยงชีพ บรรพบุรุษสยามคู่นี้ในที่สุดเสน่ห์แรงไปมีเมียเป็นฝรั่งอเมริกัน ทั้งคู่สร้างตัว สร้างบ้าน ซื้อที่ดินในอเมริกาขนาดมหึมา แถมมีลูกดกบานตะไท เหมือนผลไม้ใส่ปุ๋ยออกดอกออกผล แตกหน่อต่อกิ่งเกิดเป็นลูกหลาน เหลน ลื่อ สร้างวงศาคณาญาติในอเมริกา นับถึงปัจจุบันมีโคตรเหง้ารวมราว 1,500 คนในอเมริกา นับเป็นเรื่องราวสุดแสนพิสดารและเป็นหนึ่งเดียวในโลกใบนี้ที่คนไทยไม่ทราบไม่ได้ครับ

ประการสำคัญคือ มีการบันทึกเป็นวิชาการเกือบครบถ้วน เกร็ดข้อมูล หลักฐานสำคัญจะอยู่ในอเมริกาเกือบทั้งหมด เชื่อถือได้ทั้งด้านการแพทย์ ด้านสังคม มุมมองจากหลายมิติ

เรื่องนี้ไม่ใช่นิยายหรือตำนาน แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่มีลมหายใจ ไม่มีเรื่องอะไรจะโดนใจผู้เขียนเท่ากับเรื่องราวของแฝดสยามอิน-จัน ที่ต่อมาก่อให้เกิดคำว่า Siamese Twin ใช้กันทั่วไปในโลก

(http://www.matichon.co.th/online/2015/10/14454081521445478025l.jpg)


ขอนำเกร็ดสาระมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟังแบบสบายๆ ครับ เรื่องนี้เป็นมงคลสำหรับแผ่นดินสยาม โดยเฉพาะพี่น้องบ้านแหลมใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ที่เป็นต้นกำเนิดความแปลกน่าศึกษา ขยายตัวกลายเป็นตำนานเล่าขานกันไปทั่วโลก

ในรัชสมัยในหลวง ร.2 เด็กชายตีอาย ชาวจีนแต้จิ๋ว อพยพโดยเรือสำเภาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายจากท้องทะเลพร้อมกับบิดา มารดา มุ่งหน้าเข้ามาอาศัยแผ่นดินสยาม ครอบครัวนี้สู้ชีวิตสุดสุด แบบชาวจีนนับหมื่นนับแสนคนที่หนีความอดอยากแร้นแค้นจากจีนเข้ามาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในแผ่นดินสยามที่เขียวขจี ตีอายเติบใหญ่ ทำอาชีพประมงและค้าขายเล็กๆ น้อยๆ แถวปากคลองแม่กลอง เมื่อตีอายอายุอานามพอเหมาะพอควร ได้พบรักกับนางนาก ชาวสยามเชื้อสายจีน-มาเลย์ที่ปักหลักทำมาหากินอยู่ถิ่นละแวกนั้น แต่งงานอยู่กินกันจนให้กำเนิดลูก เป็นครอบครัวใหญ่ ลูกเยอะตามวิถีชีวิตของชาวสยาม แต่สำหรับท้องที่ 5 นางนากเจ็บปวดใจจะขาดแทบสิ้นลม เพราะทารกที่คลอดมานั้นเป็นฝาแฝด แฝดคู่นี้ไม่ธรรมดาเพราะลำตัวมีเนื้อเยื่อเป็นเส้นเชื่อมทารกน้อยทั้งสองทำให้เห็นชัดว่าท้องติดกัน

ตามบันทึกประวัติศาสตร์ วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2354 ในสมัยในหลวง ร.2 คือวันเกิดของทารกแฝดตัวน้อยที่หมอตำแยทำคลอด ที่มีสภาพหน้าท้องติดกันแต่กลับหัวกลับเท้าซึ่งกันและกัน ร่างกายเด็กน้อยดูสมประกอบ ไม่มีอะไรแปลกหูแปลกตา หมอตำแยจับทารกอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย ทำกรรมวิธีตามตำราเสร็จสรรพ จึงเห็นชัดว่ามีเพียงหนังเหมือนเชือกที่บิดเป็นเกลียวเชื่อมทารกน้อยตรงบริเวณหน้าอกเข้าด้วยกัน

ท่านผู้อ่านบทความนี้จำนวนหนึ่งคงไม่คุ้นกับคำว่า "หมอตำแย" เป็นแน่แท้


หมอตำแย หมายถึงหญิงที่ทำหน้าที่คลอดลูกตามแผนโบราณครับ ชื่อตำแยที่ฟังดูแล้วรู้สึกว้าเหว่ หนาวกายหนาวใจสำหรับคนในยุคนี้ คาดว่ามาจากชื่อของเถรตำแย เจ้าสำนักวิชาการทำคลอดมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

โบราณกาลของสยาม หมอตำแยเป็นบุคคลสำคัญในชุมชนที่ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นความตายของทารกเริ่มตั้งแต่ตั้งท้อง หมอตำแยมีทักษะสามารถใช้มือคลำไปที่ท้องแล้วบอกข้อมูลของเด็กในท้องได้เลย จะต้องใช้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ จัดท่าทาง จัดหัว จัดเท้าของทารกในท้องแม่เพื่อให้คลอดออกมาสะดวก ปลอดภัย ทุกสังคมในโลกนี้มีหมอตำแยทั้งสิ้น (หมอตำแย ตรงกับภาษาอังกฤษว่า midwives) ต่อมาเมื่อแพทย์และวิชาการจากโลกตะวันตกเข้ามาในสยาม องค์ความรู้ของหมอตำแยนี้จึงพัฒนามาเป็นวิชาผดุงครรภ์ สูตินารี

ในหลักวิชาชีพหมอตำแยของสยาม มีสิ่งต้องห้ามที่เข้มงวดที่สุดคือ ก่อนเด็กคลอดออกมา ห้ามพูดว่าเด็กในท้องเป็นหญิงหรือชาย

สำหรับสังคมไทย เมื่อวิชาการแพทย์แผนปัจจุบันได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงเริ่มมีการ จัดระเบียบหมอตำแย ในปี พ.ศ.2500 ผลลัพธ์คือหมอตำแยค่อยๆ หายหน้าสาบสูญไปจากวงการ เพราะคนไทยหันมาให้ความเชื่อถือสถานผดุงครรภ์และโรงพยาบาลที่ใช้หลักการแพทย์แผนปัจจุบันสำหรับการทำคลอด

ผู้เขียนเชื่อว่า ใน พ.ศ.2558 นี้ยังคงมีคนไทยรุ่นอาวุโสที่เกิดมาด้วยฝีมือหมอตำแยและยังมีชีวิตอยู่ไม่น้อยครับ


กลับมาที่เรื่องแฝดสยาม ข่าวการให้กำเนิดแฝดประหลาดของนางนากอื้ออึงตึงตังไปอย่างรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง ชาวบ้านละแวกนั้นต่างตั้งตัวเป็นเกจิ ผู้หยั่งรู้ ส่งข่าวปากต่อปากชี้เปรี้ยงว่า เด็กแฝดประหลาดคู่นี้ชะรอยจะเป็นลางร้ายที่จะนำเสนียดจัญไรหายนะมาสู่บ้านเมืองเป็นแน่แท้

วงซุบซิบนินทาคิดหาหนทางร้อยแปด เจ้ากี้เจ้าการยื่นมือยื่นปากยุแหย่ที่จะต้องผ่าแยกร่างทารกแฝดพิสดาร หรือต้องกำจัดเสียให้จงได้

ในครั้งกระโน้น คงมิพักที่จะพูดถึงการผ่าตัดแยกร่างโดยแพทย์ที่ไหน เจ็บไข้ได้ป่วยต้องใช้การเสกเป่า ท่องคาถา รดน้ำมนต์ ทุกชีวิตที่เกิดมาหรือต้องตายไปเป็นเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฟ้าดิน และบุญวาสนา ความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ อวัยวะภายในร่างกาย ปอด ตับ ไต ไส้ พุง ของเด็กแฝดคู่นี้มีอวัยวะอะไรที่ใช้ร่วมกัน มีอะไรที่แยกจากกันได้-ไม่ได้ ชาวสยามยุคนั้นไม่สามารถรู้ได้เลย แม้แต่มโนก็มโนแบบมืดสนิท เห็นด้วยตาอย่างเดียวคือ มีหนังเชื่อมกันตรงบริเวณหน้าอก

ข้อมูลทางการแพทย์ที่ค้นมาเล่าแถมอธิบายแบบบ้านๆ คือว่า เมื่อผู้ชายหลั่งเชื้อตัวผู้หรืออสุจิ (ภาษาอังกฤษเรียกว่า sperm : สเปิร์ม) เข้าไปในช่องคลอดผู้หญิงเพื่อผสมกับไข่หรือเชื้อตัวเมีย เชื้อตัวผู้ นับร้อยล้านตัว จะมีเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าไปผสมกับไข่ในมดลูกของผู้หญิง ซึ่งธรรมชาติให้ผู้หญิงมีไข่ตัวเมียคราวละ 1 ฟอง เดือนละครั้งเท่านั้น

แต่ถ้าหากรังไข่ของผู้หญิงเกิดผลิตไข่ตกมาพร้อมกัน 2 หรือ 3 หรือ 4 ฟอง เป็นเวลาเดียวกับที่สเปิร์มแห่กันเข้าไป ก็จะเกิดปฏิสนธิเป็นแฝด 2 หรือ 3 หรือ 4 ได้ครับ เด็กแฝดส่วนใหญ่มีอัตราเสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่าเด็กธรรมดาครับ

หมอตำแย พ่อมด หมอผี และผู้คนทั้งหลายต่างคิดว่า แฝดพิสดารของเมืองแม่กลองคู่นี้คงมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน เพราะที่ผ่านมาเด็กแฝดลักษณะนี้อายุสั้นทั้งนั้น

นายตีอายและนางนากตั้งชื่อลูกแฝดคู่นี้ว่า อินและจัน


ชื่อนี้มีความหมายแค่ไหน อิน-จัน เป็นชื่อของผลไม้ไทย 2 แบบที่อยู่ร่วมต้นเดียวกันคือ ผลแบบทรงกลมแป้น เรียกว่าลูกจัน ไม่มีเมล็ด และผลแบบทรงกลม ผลหนา ผิวเรียบ ไม่มีรอยบุ๋ม มีเมล็ด เรียกว่าลูกอิน จำง่ายดีจัง

วันคืนผ่านไปหลายเพลา นายตีอายและนางนากไม่เคยคิดจะผ่าแยกร่างลูกน้อยตามที่ชาวบ้านละแวกนั้นอยากเห็น เรื่องของไสยศาสตร์มนต์ดำมีอิทธิพลทางความคิดอ่านต่อผู้คนเหนือสิ่งอื่นใด แต่นายตีอายและนางนากไม่แยแสขี้ปากคนแถวนั้น ยืนกรานที่จะไม่ขอแยกร่างลูกน้อยเด็ดขาด

เด็กน้อยแสนประหลาดอิน-จันสมบูรณ์แข็งแรงเช่นเด็กปกติทั่วไป พ่อแม่ป้อนข้าว ป้อนน้ำ ร่าเริงแจ่มใส ไม่เจ็บป่วย กินได้ นอนหลับ ทำเอาเกจิอาจารย์หมอผีทั้งหลายต้องหลบหน้าหายไป ทารกแฝดเริ่มคลานไปไหนก็ไปด้วยกัน น่ารักน่าชัง มีความสอดคล้องราวกับคนเดียวกัน มีบางครั้งก็เงอะงะไปตามประสาเด็ก

พ่อแม่ของแฝดอิน-จันทำให้ลูกน้อยได้อย่างเดียว คือพยายามยืดหนังที่เชื่อมลำตัวอินและจันให้ขยายออกให้มากที่สุด เพื่อให้ลูกน้อยมีระยะห่าง ไม่ดึงตัวกัน แต่ก็ยืดได้ไม่มากนัก พ่อแม่เฝ้าสังเกตว่าลูกน้อยหากมีการเจ็บป่วยก็จะป่วยพร้อมกันและจะหายป่วยพร้อมกัน

ในขณะที่ต้องสาละวนกับแฝดคู่นี้ นางนากยังมีลูกเพิ่มอีก 3 คนที่ถือเป็นน้องของแฝดอิน-จัน รวมลูกของนางนากเบ็ดเสร็จ 9 คน

อิน-จันมีพัฒนาการไปตามธรรมชาติของมนุษย์ จากคลานจนกระทั่งเริ่มยืน (ตั้งไข่) จนถึงขั้นเดินเตาะแตะ แฝดคู่นี้ล้มลุกคลุกคลาน หงายหน้า หงายหลังไปตามเรื่อง เพราะทารก 2 คนตัวติดกันมี 4 แขน 4 ขา 2 หัว ยังไม่ได้เริ่มฝึกหัดที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน

ความท้าทายที่ทุกคนต่างเฝ้ามองคือ แล้วไอ้แฝดอิน-จันคู่นี้มันจะเดินเหินใช้ชีวิตด้วยกันยังไงวะ?


ท่านผู้อ่านคงนึกภาพออกนะครับว่าเอาเชือกมาผูกหน้าอกเชื่อมคน 2 คน (เอาแบบเชือกมีระยะห่างเล็กน้อย) แล้วให้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน และต้องอยู่ให้ได้ตลอดไป ว่ามันจะเกิดความรุงรังอะไรขึ้นบ้าง

ธรรมชาติไม่ไร้ความปรานี มีการหยิบยื่นน้ำใจและโอกาสต่อแฝดอิน-จันครับ

การเดินไป-มา การหยุด เป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงที่คู่ชีวิตทั้ง 2 จะต้องร่วมกันคิดอ่านแก้ไข หาวิธีการที่เหมาะสมที่จะใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขต่อไปให้ได้ อิน-จันมักจะล้มหัวคะมำ อินจะนั่ง จันจะยืน จันจะวิ่ง อินจะหยุด หกคะเมน คว่ำหงายเป็นที่ขบขัน เรียกเสียงเฮฮาจากผู้คนทั่วไปในหมู่บ้านเสมอ

พ่อแม่ของเด็กน้อยทั้งสองและธรรมชาติล้วนเป็นครูสอนให้ลูกแฝดเรียนรู้ที่จะโอบไหล่ กอดเอวกัน ตอนเดิน ตอนหยุด เดินเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เข้าขากันดี แบบทูอินวัน ความรู้สึกนึกคิดแบบคนคนเดียวเข้ามาหล่อหลอมโอบอุ้ม และในที่สุดแฝดอิน-จันกลายเป็นคน "รู้ใจกัน" ก็วิ่งเล่นได้เหมือนเด็กทั่วไป เป็นที่โจษขานกันไปทั่วทุกสารทิศ แถมยังว่ายน้ำในคลอง หาปลาปูกุ้งหอยมาเลี้ยงพ่อแม่พี่น้องอีกต่างหาก

ประการสำคัญคือ อินและจันไม่เคยโต้เถียงเกี่ยงงอนกัน

แฝดคู่นี้กำลังจะไปบางกอกครับ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ


มีอีก หาอ่านเอง ใน http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1445408152&grpid=02&catid=08 (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1445408152&grpid=02&catid=08)

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1450762624 (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1450762624)