ความเป็นมาของใบเสมา

(1/2) > >>

Kimleng:
Tweet



ใบเสมา วัดหนองหญ้านาง ต.หนองไผ่แบน อ.เมืองฯ จ.อุทัยธานี
แผ่นหินใบเสมาแกะสลักเป็นรูปตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ปี  ของพระมหากษัตริย์
แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ (รัชกาลที่ ๙)  เป็นตราพระบรมราชวงศ์จักรี และพระมหาพิชัยมงกุฎ
อยู่ด้านบน มีพานเครื่องสูง ๒ ชั้น มีช้าง ๒ เชือก เทินตราพระราชลัญจกร อยู่ภายใต้พระเศวตฉัตร
ความเป็นมาของใบเสมา

สีมา แปลว่า เขต, แดน, เครื่องหมายบอกเขต ใช้ว่า เสมา ก็มี

สีมา หมายถึงเขตหรือแดนที่กำหนดไว้สำหรับทำสังฆกรรมต่างๆ กำหนดเขตแดนด้วยเครื่องหมายบอกเขตที่เรียกว่า นิมิต ที่เหนือนิมิตนิยมสกัดหินเป็นแผ่นประดิษฐานไว้ในซุ้มที่สร้างครอบนิมิต ถือเป็นสัญลักษณ์แทนนิมิต เรียกแผ่นหินนั้นว่า ใบสีมา หรือ ใบเสมา เรียกซุ้มนั้นว่า ซุ้มสีมา หรือ ซุ้มเสมา

สีมา ยังหมายถึงอุโบสถได้ด้วย

พระไตรปิฎกฉบับหลวง ระบุว่า ใบเสมาคือนิมิต ในขณะที่พระไตรปิฏกแสดงว่าเสมาเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งซึ่งใช้กำหนดเขตพระอุโบสถอันเป็นที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์

ใบเสมา หรือ สีมา เป็นประติมากรรมหินสลัก ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์หรือเพื่อแสดงขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เนื่องในพุทธศาสนา จากการศึกษาพบว่ามีการสร้างอย่างแพร่หลายมาก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖  ซึ่งเป็นยุคที่วัฒนธรรมทวารวดีเจริญรุ่งเรื่องขึ้น การปักใบเสมาดังกล่าวอาจสืบเนื่องมาจากระบบคติความเชื่อ สันนิษฐานว่าอาจจะเกี่ยวกับ

- คติที่สืบทอดมาจากประเพณีการปักหินตั้ง (Megaliths) โดยเชื่อเรื่องการนับถือผีบรรพบุรุษของชนพื้นเมืองในเอเชียอาคเนย์

 -คติการสร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนา เพื่อเป็นหลักเขตกำหนดบริเวณศักดิ์สิทธิ์ หรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา

- เป็นตัวแทนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับเคารพบูชา  ทำหน้าที่คล้ายสถูปเจดีย์หรือพระพุทธรูปเพื่อให้ผู้คนได้กราบไหว้บูชา


ลักษณะการปักใบเสมา
- ปักหลักเดียว เพื่อแสดงเขตหรือตำแหน่งของบริเวณพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

- ปักเป็นกลุ่ม พบว่ามีการปักล้อมรอบเนินดินหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์โดยไม่มีการกำหนดทิศทางแน่นอน

- ปักประจำทิศ มีตั้งแต่การปัก ๔ ทิศ ๘ ทิศ ไปจนถึง ๑๖ ทิศ โดยปักล้อมรอบเนินดินหรือสิ่งก่อสร้างทางศาสนา เพื่อแสดงเขตของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น เจดีย์ พระธาตุ อุโบสถ พบว่ามีทั้งการปักใบเสมาเดี่ยว ปักเสมาคู่ หรือปักซ้อนกัน ๓ ใบ

Kimleng:




เสมาคู่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) อำเภอเมือง  จังหวัดพิษณุโลก
ทำด้วยแผ่นหิน (Slab Type) ที่มีการสกัด หรือถากโกลนให้เป็นแผ่น
มีการตกแต่งลวดลาย โดยการแกะสลักลวดลายแบบเรียบง่ายลงบนใบเสมา

เสมาคู่และเสมาเดี่ยวต่างกันอย่างไร

เสมาคู่และเสมาเดี่ยวต่างกันอย่างไร สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

๑. เป็นเครื่องบอกว่าเป็นวัดหลวงหรือวัดราษฎร์   และจากบันทึกของ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ที่ได้เดินทางมาประเทศไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับอาณาจักรอยุธยา ในตอนพรรณนาว่าด้วยวัด ไว้ว่า ถ้าเป็นวัดหลวงมีใบเสมาหินซ้อน ๒ ใบ ถ้าเป็นวัดราษฎร์ มีใบเสมาหินแต่ใบเดียว   พิจารณาดูใบเสมาวัดหลวง เช่นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพน และวัดสุทัศนก็เป็น ๒ ใบซ้อนกันทุกวัด วัดราษฎร์นั้นได้เห็นก็เป็นเสมาใบเดียวจริงเหมือนเช่นว่า

๒. เกิดจากการที่สงฆ์มีหลายฝ่าย จึงมีเสมาคู่เพื่อให้แต่ละฝ่ายไม่รังเกียจในการร่วมสังฆกรรมด้วยกัน  ที่โบสถ์มีใบเสมาใบเดียวหรือหลายใบซ้อนกัน เห็นจะเป็นด้วยพระสงฆ์ต่างนิกายผูกพัทธสีมา นิกายไหนผูกก็ปักใบเสมาของนิกายนั้นไว้เป็นสำคัญ เพราะผูกหลายคราวใบเสมาจึงมีซ้อนกันเป็นหลายชั้น และ โบสถ์วัดหลวงทำใบเสมาซ้อน ๒ ใบมาจนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในทำเนียบพระสงฆ์เรียกเป็น ๒ ฝ่ายมาแต่โบราณ คือ พระสงฆ์คามวาสี แปลว่า อยู่ในละแวกบ้าน ฝ่ายหนึ่ง กับ พระสงฆ์อรัญวาสี แปลว่า อยู่ชายป่า ฝ่ายหนึ่ง

ในพระวินัยก็ได้มีการกล่าวถึงที่มาของการเว้นช่องว่างระหว่างสีมา (สีมันตริก) ว่า เนื่องจากพวกภิกษุฉัพพัคคีย์สมมติสีมาทับสีมา ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ   พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงสมมติสีมาทับสีมา ภิกษุสงฆ์หมู่ใดสมมติทับ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์จะสมมติสีมา เว้นช่องว่างในระหว่างสีมาแล้วจึงสมมติสีมา” ดังนั้นเสมาคู่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่โบราณคณาจารย์คิดขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่ามีช่องว่างระหว่างสีมาตรงตามพระวินัยก็เป็นได้

750-22

Kimleng:



วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดที่มีมหาสีมา
เป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร ๘ เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง ๘ ทิศ
ขอบคุณเว็บไซต์ bloggang.com (ที่มาภาพประกอบ)

มหาสีมา และขัณฑสีมา

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงกำหนดสีมา (ตามแบบกัลยาณีสีมาของมอญ) ที่ครอบคลุมทั้งวัด นัยว่าเพื่อให้ตรงกับแบบในพระบาลีและเพื่อความสะดวกในการทำสังฆกรรมว่าจะทำตรงไหนในวัดก็ได้ ดังที่มีในจารึกวัดราชประดิษฐ์ซึ่งเป็นวัดที่มีมหาสีมาว่า
              สังฆกรรมทําได้ทั่ว ทั้งวัด               แต่ว่าจําประฏิบัติ   ที่ถ้วน               ชุมนุมภิกษุบรรพสัช    ให้หมด เจียวนา                 ทวารทั่วทุกทิศล้วน        ปิดแล้วจึงกระทําฯ
อย่างไรก็ตาม มหาสีมานี้ ก็ยังมีความวุ่นวายอยู่มาก เนื่องจากจำเป็นต้องปิดประตูวัดทั้งหมดขณะทำสังฆกรรม เพื่อไม่ให้มีภิกษุอื่นเข้ามาในสีมาได้ นอกจากนี้แล้ว การทำสังฆกรรมก็จำเป็นต้องกระทำในโรงอุโบสถที่สงฆ์สมมติไว้แล้วอยู่ดี
ดังนั้นวัดที่มีมหาสีมาส่วนใหญ่ จึงมีการคลี่คลายเป็นแบบที่มีสีมา ๒ ชั้น

       ๑. ชั้นนอกรอบเขตวัด เรียก มหาสีมา
       ๒. ชั้นในรอบพระอุโบสถ เรียก ขัณฑสีมา

โดยมักจะทำสังฆกรรมในพระอุโบสถ แต่บางครั้งอาจทำนอกพระอุโบสถได้ถ้าต้องการพื้นที่มากขึ้น (เนื่องจากไม่ได้สมมติให้เป็นโรงอุโบสถแต่แรก แม้จะอ้างว่าจะอยู่ในมหาสีมาก็ตามที)

ในปัจจุบัน วัดที่มีมหาสีมา มีอยู่ไม่กี่วัดได้แก่
       ๑. วัดที่ลงท้ายด้วย “สถิตมหาสีมาราม” ได้แก่ วัดราชประดิษฐ์ (ร.๔), วัดราชบพิธ (ร.๕), วัดโพธินิมิตร (สมเด็จพระวันรัตน แดง สีลวฑฺฒโน)
       ๒. วัดอื่นๆที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้แก่ วัดโสมนัส, วัดมกุฏกษัตริยาราม, วัดบรมนิวาส ... ที่มาข้อมูล : ความหลากหลายของสีมาและใบเสมา “เสมาเดี่ยว เสมาคู่ มหาสีมาและขัณฑสีมา”  (เว็บไซต์ w2.med.cmu.ac.th)


เสมาแท่งหินขนาดสูงใหญ่ (สูงกว่า ๒ เมตร)  ปักไว้ตามทิศต่างๆ รอบเพิงหินธรรมชาติ เพื่อเป็นสัญลักษณ์
และแสดงขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เนื่องในพุทธศาสนา  บนเทือกเขาภูพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
ที่ถูกดัดแปลงให้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมในพุทธศาสนา ตั้งแต่ช่วงที่รับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรโบราณ
ปัจจุบัน ปรากฏมีร่องรอยเห็นได้อยู่ ๖ ทิศภาพจาก อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี


เสมาแผ่นหินที่มีการสลักเสลาเป็นรูปกลีบบัวหรือใบเสมาชัดเจน (อยู่ด้านหลังเพิงหิน ทั้งด้านซ้ายและขวา)
ภาพจาก อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี


ความงามอย่างน่าอัศจรรย์ของเพิงหินธรรมชาติ บนเทือกเขาภูพาน
ที่สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา หรือบำเพ็ญเพียรวิปัสนามาแต่สมัยโบราณ
ภาพจาก อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

Kimleng:




เสมาคู่ วัดหนังราชวรวิหาร  เขตจอมทอง  กรุงเทพฯ
๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๕

750-22

Kimleng:

ใบเสมาเขาพระอังคาร จังหวัดบุรีรัมย์























ใบเสมาเขาพระอังคาร จังหวัดบุรีรัมย์

กลุ่มใบเสมาวัดเขาอังคาร บ้านเจริญสุข ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ บริเวณพิกัด 48p 266674/1607582 หรือประมาณรุ้งที่ ๒๔ องศา ๓๒ ลิปดา ๑๔.๙ ฟิลิปดาเหนือ เส้นแวงที่ ๑๐๒ องศา ๕๐ ลิปดา ๑๔.๑๗ ฟิลิปดาตะวันออก เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ๓๒๑ เมตร ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดเขาอังคาร มีการก่อสร้างพระอุโบสถใหม่และอาคารสมัยใหม่ต่างๆ โดยนำใบเสมาที่พบจากเขาอังคารมาปักไว้รอบโบสถ์ บางส่วนนำมาไว้ภายในอาคารพ่อปู่วิริยะเมฆ  ใบเสมามีลักษณะเป็นแผ่นหินแบน สลักรูปบุคคลบุรุษหรือสตรีสมัยทวารวดี (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖) ตามคติพุทธศาสนามหายาน พบทั้งสิ้นจำนวน ๑๖ แผ่น จึงเคลื่อนย้ายจากตำแหน่งเดิม บริเวณโดยรอบไม่ปรากฏร่องรอยสิ่งก่อสร้างใดๆ  ดังนั้น ในกรณีการปักใบเสมาอย่างมีระเบียบแบบแผนล้อมรอบพื้นที่ว่าง เช่น วัดเขาอังคารในอดีตนั้น สันนิษฐานว่าเพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงหลักเขตของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา

ในทางธรณีสัณฐานวิทยา เขาพระอังคารเป็นภูเขาไฟ หินบะซอลต์แบบลาวาโดม ดับสนิทแล้วมากว่าเจ็ดแสนปี มีรูปร่างกลมรี วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีช่องทางการไหลออกของลาวาหลายจุดตามไหล่เขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีปล่องปะทุอยู่ชัดเจน ตั้งโดดเด่นกลางพื้นที่ราบ ปากปล่องภูเขาไฟเกิดการทรุดถล่มเป็นแนวซ้อนกันหลายชั้น

ใบเสมาทั้งหมดสลักขึ้นจากหินบะซอลต์เนื้อละเอียด มีลักษณะเป็นแผ่นหินแบนๆ ลักษณะเด่นของใบเสมาที่เขาอังคารสลักเป็นภาพบุคคลคนเดียวยืนถือดอกบัวด้วยมือขวา ประทับอยู่ใต้ฉัตร ขนาบด้วยเครื่องสูง ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ บางใบสลักบุคคลเป็นภาพยักษ์ บางชิ้นสลักเป็นบุคคลสี่กรถือสิ่งของอยู่ในมือ สันนิษฐานว่าเป็นคัมภีร์ และลูกประคำ ทั้งหมดทรงผ้าแบบเดียวกัน ประทับยืนอยู่บนฐานดอกบัว มีอิทธิพลศิลปะเขมรแบบไพรกเมงผสมอยู่ บางใบมีการสลักลายเป็นภาพธรรมจักร สถูปหม้อน้ำที่ด้านหลังด้วย

แหล่งใบเสมาที่อยู่บนภูเขาเช่นที่เขาพระอังคาร เป็นแหล่งเดียวในจังหวัดบุรีรัมย์ที่พบในพื้นที่ภูเขาสูง ไม่พบแหล่งชุมชนที่บนเขาอังคารเลยจึงไม่สามารถบอกพื้นที่การใช้งานที่สัมพันธ์กับชุมชนได้ แต่จากลักษณะภาพสลักที่ปรากฏเป็นรูปบุคคลลักษณะเดียวกันทั้งหมด น่าจะเป็นพระโพธิสัตว์ในฝ่ายมหายาน ซึ่งไม่พบลักษณะเช่นนี้ในแหล่งโบราณคดีในสมัยทวารวดีในที่อื่นๆที่แม้จะเป็นภาพสลักบุคคลก็จะเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติหรือชาดกในฝ่ายเถรวาทเป็นหลัก การพบในพื้นที่ภูเขาสูงน่าจะเป็นลักษณะของแนวคิดภูเขาศักดิ์สิทธิ์แบบเดียวกับที่ภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพุทธแบบเถรวาทก็อาจเป็นได้


ข้อมูลโดย
          - นายกิตติพงษ์ สนเล็ก ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา (เว็บไซต์ กรมศิลปากร)
          - กมลวรรณ นิธินันทน์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา กรมศิลปากร (นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๖๕ ฉบับที่ ๔ ก.ค.-ส.ค.๒๕๖๕ หน้า ๒๑)
750

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป