"พระคติธรรม" สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

(1/8) > >>

Kimleng:
Tweet


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

บทพระนิพนธ์
พระคติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
               ---------- * ----------

ในบรรดาความไม่ประมาททั้งหลาย  ความไม่ประมาทในความคิดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นต้นสายของความไม่ประมาททั้งปวง

ความคิดเป็นเรื่องของใจ และใจนั้นท่านก็แสดงไว้แจ้งชัดว่าเป็นใหญ่ เป็นประธานทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ การพูด การดู การฟัง การทำ
เป็นไปตามที่ใจคิดทั้งนั้น ความคิดให้เกิดความเห็นชอบ คือความคิดด้วยอาศัยเหตุผล อาศัยปัญญาให้ตรงให้ถูกต้องตามความจริง
ความจริงเป็นอย่างไรต้องอาศัยปัญญา ต้องไม่ประมาทปัญญา คิดให้เห็นตามความจริงนั้้น ไม่คิดให้เห็นผิดจากความเป็นจริง.               ---------- * ----------


ทางที่ถูกควรจะเอาชนะอุปสรรคในทางที่ชอบ และพยายามส่งเสริมความดีของตน คิดให้เห็นว่า เราทำความดี
ก็เพื่อความดี มิใช่เพื่อให้ใครชม ใครจะชมหรือติ เราก็ยังไม่ควรรับหรือปฏิเสธ ควรนำมาคิดสอบสวนตัวเราเองดู เพื่อแก้ไขตัวเราเอง
ให้ดีขึ้น แต่ไม่รับมาเป็นเครื่องหลอกตัวเองว่าวิเศษเพราะเขาชม หรือเลวทรามเพราะเขาติ เขาจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา เราจะดีหรือไม่ดี
อยู่ที่การกระทำของเราเอง.               ---------- * ----------
              


การคบหาสมาคมกันระหว่างบุคคลนั้น ท่านสอนให้เลือกคบ คือให้คบแต่บัณฑิตอันหมายถึงคนดี ไม่ให้คบคนพาล
อันหมายถึงคนไม่ดี เพราะเมื่อคบกันก็หมายถึงว่าจะต้องมีวิสาสะ คือความคุ้นเคยไว้วางใจกัน ถ้าไปไว้วางใจในคนไม่ดีก็จะเกิดอันตราย
จึงได้ตรัสเตือนไว้ว่าภัยเกิดจากวิสาสะ ไม่ต้องกล่าวถึงบุคคลอื่น แม้ตนเองจะไว้ใจตนเองเสมอไปได้หรือถ้ายังมีกิเลส คือ โลภ โกรธ
หลง อยู่ จะไว้ใจที่มีกิเลสดังกล่าวนี้หาได้ไม่ ฉะนั้น เมื่อไม่ควรจะไว้ใจตนเองได้เสมอไปแล้ว จะไว้ใจผู้อื่นโดยไม่เลือกไม่พิจารณาได้อย่างไร               ---------- * ----------


พื้นแผ่นดิน แม่น้ำ ภูเขา ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ คนเรามีปัญญาถมให้เป็นถนน ขุดให้เป็นแม่น้ำลำคลอง ทำสะพาน
ข้ามแม่น้ำใหญ่ สร้างทำนบกั้นน้ำ ขุดอุโมงค์ทะเลภูเขา เรียกว่าใช้กรรมปัจจุบันปรับปรุงธรรมชาติ ฉันใด  ความขรุขระของชีวิตเพราะกรรมเก่า
ก็ฉันนั้น เหมือนความขรุขระของแผ่นดินตามธรรมชาติ คนเราสามารถประกอบกรรมปัจจุบัน ปรับปรุงสกัดกั้นกรรมเก่า เหมือนอย่างสร้างทำนบ
กั้นน้ำ เป็นต้น เพราะคนเรามีปัญญา.               ---------- * ----------
              


ถ้าเป็นเรื่องจริง เมื่อถึงเวลาที่ควรติก็ต้องติ เมื่อถึงเวลาที่ควรชมก็ต้องชม แต่ถ้าเป็นเรื่องไม่จริง ก็ไม่ควรพูดแท้
และแม้เป็นเรื่องจริง หากไม่ถึงเวลาที่ควรติหรือชม ก็อย่าไปติหรือชม นิ่งเสียดีกว่า ฉะนั้น ความมีกาลัญญุตา ในที่นั้นๆ
จึงเป็นหลักสำคัญ คือ เวลาที่ควรนิ่งก็นิ่ง เวลาที่ควรพูดก็พูด หรือเวลาที่ควรอุเบกขาก็วางอุเบกขา เวลาที่ไม่ควรอุเบกขาก็พูดออกไป
สุดแต่ว่าเวลาไหนจะควรติหรือชม.               ---------- * ----------


ทางพระพุทธศาสนาสอนให้ทุกๆ คนพิจารณาให้ทราบหลักกรรมเนืองๆ เพื่อเป็นผู้ไม่ประมาท พยายามละกรรมชั่ว ประกอบแต่กรรมดี
เพราะทุกๆ คนสามารถละกรรมชั่ว ประกอบแต่กรรมที่ดีได้ การที่ยังปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้ ก็เพราะยังประมาท มิได้พิจารณาให้รู้ตระหนักในหลักรรม
และไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม ไม่เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน  ต่อเมื่อเป็นผู้ไม่ประมาท และมีศรัทธาความเชื่อดังกล่าว จึงละกรรมชั่ว
ทำกรรมดีได้ตามสมควร.               ---------- * ----------
              


มงคล คือเหตุให้ถึงความเจริญนั้น มี ๒ อย่าง คือ มงคลภายนอกอย่างหนึ่ง มงคลภายในอย่างหนึ่ง มงคลภายนอกนั้น
ได้แก่ สิ่งที่ตามองเห็น เรื่องที่หูได้ยิน และสิ่งต่างๆ ที่ประสบทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตลอดจนถึงที่ปรากฏแก่ใจ ซึ่งสมมติกันถือกันว่าเป็นมงคล
คือเหตุที่ให้ถึงความเจริญ ส่วนมงคลภายในนั้น ทางพระพุทธศาสนามุ่งถึงความประพฤติดี ประพฤติชอบของตนเอง ที่เป็นส่วนเหตุอันจะให้เกิดผล
คือความสุขความเจริญ.               ---------- * ----------


พระพุทธศาสนาสอนให้เข้าใจในกรรม ไม่ได้สอนให้คนกลัวกรรม เป็นทาสของกรรม หรืออยู่ใต้อำนาจกรรม
แต่สอนให้รู้จักกรรม ให้ควบคุมกรรมของตนในปัจจุบัน  คนมีอำนาจเหนือกรรม อาจควบคุมกรรมของตนได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า
จะต้องควบคุมจิตเจตนาของตนได้ด้วย โดยตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ในธรรม เช่น เมตตา สติ ปัญญาเป็นต้น อันเป็นส่วนจิตและศีลอันหมายถึง
ตั้งเจตนาเว้นการที่ควรเว้น ทำการที่ควรทำอยู่ในขอบเขตอันควร               ---------- * ----------


อำนาจของกรรมยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ไม่มีอำนาจใดทำลายล้างได้ แม้อำนาจของกรรมดีก็ไม่อาจ
ทำลายอำนาจของกรรมชั่วและอำนาจของกรรมชั่วก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมดี อย่างมากที่สุดที่มีอยู่ คืออำนาจของกรรมดี
แม้ให้มาก ให้สม่ำเสมอในภพภูมินี้ ก็อาจจะทำให้อำนาจของกรรมชั่วที่ได้ทำมาแล้วตามมาถึงได้ยากดังมีเครื่องขวางกั้นไว้ หรือไม่
เช่นนั้น ก็ดังที่ท่านเปรียบว่าเหมือนวิ่งหนีผู้ร้ายที่วิ่งไล่ตามมา ถ้ามีกำลังแข็งแรง วิ่งเร็วกว่าผู้ร้าย ก็ย่อมยากที่ผู้ร้ายจะไล่ทัน
ความแข็งแรงของผู้วิ่งหนีกรรมชั่ว ก็หาใช่อะไรอื่น คือความความเข้มแข็งสม่ำเสมอของการทำกรรมดีนั่นเอง               ---------- * ----------
              


ในชีวิตมนุษย์... ความเจริญรุ่งเรือง ร่มเย็นเป็นสุขก็ตาม ความตกต่ำทุกข์ร้อนก็ตาม ย่อมเกิดจากกรรม
ย่อมมีกรรมเป็นเหตุให้เกิดอย่างแน่นอนเสมอไป ผลดีทั้งปวง ย่อมเกิดจากกรรมดี มีกรรมดีเป็นเหตุ ผลไม่ดีทั้งปวง ย่อมเกิด
จากกรรมไม่ดี มีกรรมไม่ดีเป็นเหตุกรรมของผู้ใด ผลย่อมเป็นของผู้นั้น ผลจักไม่เป็นของผู้อื่น ผู้ใดทำกรรมดี ผู้นั้นย่อมจัก
ได้รับผลดี เป็นความเจริญรุ่งเรืองร่มเย็นเป็นสุข ผู้ใดทำกรรมไม่ดี ผู้นั้นย่อมได้รับผลไม่ดีเป็นความตกต่ำและเป็นความทุกข์ร้อน.
               ---------- * ----------
              


ทั้งคนและสัตว์ ต่างถูกอำนาจกรรมทำให้เป็นไป คนก็ตาม สัตว์ก็ตาม เกิดด้วยอำนาจของกรรม
กรรมนำให้เป็นคน และกรรมนำให้เป็นสัตว์ เชื่อไว้ก่อนย่อมมีโอกาสที่จะพ้นจากความเป็นสัตว์ เพราะเมื่อเชื่อว่ากรรม
มีอำนาจถึงเพียงนั้น ก็ย่อมขวนขวายทำกรรมที่จะไม่นำให้ต้องไปเป็นสัตว์ ไม่มีใครที่ไม่กลัวความเป็นสัตว์ และมีโอกาส
ที่จะได้เกิดเป็นสัตว์แน่ในภพภูมิข้างหน้า แม้บังเอิญไปทำกรรมที่จะทำให้เกิดผลเช่นนั้นโดยจะรู้หรือไม่รู้ เชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม
พลาดพลั้งไปทำกรรมผิดเข้า ก็จะไม่อาจปฏิเสธผลของกรรมได้เลย .               ---------- * ----------


การที่จะให้ใครช่วยเหลือทำอะไร ต้องเลือกคนที่มีปัญญา ที่รู้จักผิดถูก ควรไม่ควร มิใช่ว่าถ้าเขามุ่งดี
ปรารถนาดีแล้ว เป็นมอบการงานให้ทำเรื่อยไป เพราะถ้าเป็นคนขาดปัญญา แม้จะทำด้วยความตั้งใจช่วยจริงแต่ก็อาจจะทำการ
ที่เป็นโทษ แม้อย่างอุกฤษฎ์ก็ได้ คนเรานั้น นอกจากจะมีปัญญาแล้ว ยังต้องมีความคิดอีกด้วย จึงจะเอาตัวรอดได้จากอันตรายต่างๆ
ในโลก วิสัยของบัณฑิตคือคนที่ฉลาดนั้นย่อมไม่ยอมแพ้หรืออับจนต่อเหตุการณ์ทั้งหลายที่รัดรึงเข้ามา ย่อมใช้ความคิดคลี่คลาย
เอาตัวรอดปลอดภัยให้จงได้ และเป็นธรรมดาอยู่ ที่คนฉลาดกว่าย่อมเอาชนะคนที่ฉลาดน้อยกว่าได้.               ---------- * ----------
              


อันความรัก หรือที่รัก เมื่อผู้ใดมีร้อยหนึ่ง ผู้นั้นก็มีทุกข์ร้อยหนึ่ง รักเก้าสิบ แปดสิบ เจ็ดสิบ หกสิบ ห้าสิบ เป็นต้น
จำนวนทุกข์ก็มีเท่านั้น  ถึงแม้มีรักเพียงอย่างหนึ่งก็มีทุกข์อย่างหนึ่ง ต่อเมื่อไม่มีรักจึงจะไม่มีทุกข์ ผู้หมดรักหมดทุกข์นั้น
พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "เป็นผู้ไม่มีโศก ไม่มีธุลีใจ ไม่มีคับแค้น".
               ---------- * ----------


การพลาดพลั้งทำกรรมไม่ดีนำไปสู่ทุคติ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ในภพชาตินี้ และสามารถมีญาณหยั่งรู้ภพชาติในอดีต
ของตนที่เป็นสัตว์ เช่น ท่านพระอาจารย์องค์สำคัญที่ท่านเล่าไว้ว่าเคยเกิดเป็นไก่ ย่อมรู้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างความเป็นคนกับเป็นสัตว์
ย่อมได้ความสลดสังเวช และความหวาดกลัวความต้องเวียนว่ายตายเกิดเป็นที่สุด เพราะได้รู้ชัดด้วยตนเองแล้วว่า การพลาดพลั้งทำกรรมไม่ดี
ไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจคือการนำไปสู่ทุคติต่างๆ อันไม่เป็นที่พึงปรารถอย่างยิ่ง อันจักก่อให้เกิดความทุกข์ร้อนนานาประการ.
               ---------- * ----------


"คนที่ถือกำเนิดเป็นคนนั้น ยังไม่จัดเป็นคนโดยสมบูรณ์ เพราะเหตุเพียงเกิดมามีรูปร่างเป็นคน
ต่อเมื่อมีการปฏิบัติประกอบด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีสมกับความเป็นคน จึงเรียกว่าเป็นคนโดยธรรม เมื่อมีธรรมของคนสมบูรณ์
แม้คำในหิโตประเทศ ก็กล่าวว่า การกิน การนอน ความกลัว และการสืบพันธุ์ของคนและดิรัจฉานเสมอกัน แต่ธรรมของคน
และดิรัจฉานเหล่านั้นแปลกกว่ากัน เว้นจากธรรมเสีย คนก็เสมอกับดิรัจฉาน...".
               ---------- * ----------


ศรัทธาความเชื่อของคนนั้น ถ้าเชื่อผิดก็เท่ากับก้าวไปในทางผิดครึ่งทางแล้ว ถ้าเชื่อถูกก็เท่ากับก้าวไปในทางถูกครึ่งทางแล้ว
เช่นเดียวกัน  ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงได้สอนย้ำให้เชื่อกรรม หมายถึงความดีความชั่ว ว่ามีผลที่ผู้ทำจะต้องเป็นผู้รับ เมื่อเชื่อดังนี้แล้ว
ก็จะไม่ก้าวไปในทางชั่วหรือในทางอันตรายแน่

              

Kimleng:


ผลของกรรมดีและกรรมชั่ว มีคุณและโทษในตัว

ผลของกรรมดีและผลของกรรมชั่ว มีทั้งคุณและมีทั้งโทษอยู่ในตัว
คุณหรือโทษจะปรากฏตามการวางใจรับผลนั้น ผลของกรรมดีที่เกิด
แก่ผู้ใดก็ตาม แม้ผู้นั้นวางใจรับไม่ถูก ไม่ประกอบด้วยปัญญา
ผลดีก็จะไม่สมบูรณ์ ทั้งผลร้ายก็จะต้องตามมา.

พระคติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
---------- * ----------

Kimleng:




ภาพจาก : งานประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา วัดพระพุทธบาท
อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี (ปี พ.ศ.๒๕๕๙)


การทำอะไรทุกๆ อย่างที่อำนวยประโยชน์ก็จะต้องมีการเสียสละบ้างไม่มากก็น้อย
ดังเช่นจะทำทาน ก็ต้องเสียสละทรัพย์ ทั้งนี้ก็เพราะเห็นว่า บุญข้อนี้มีค่าสูงกว่าทรัพย์
ที่สละไป การทำประโยชน์อื่นๆ ทุกอย่างก็เป็นเช่นเดียวกัน

พระคติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



ท่านพระอาจารย์สำคัญองค์หนึ่ง ท่านปรารถนาพุทธภูมิ คือ ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า
ครั้นมาระลึกชาติได้ว่าเคยเกิดเป็นไก่หลายร้อยหลายพันชาติ ก่อนที่จะได้มาเป็นมนุษย์ในชาตินี้  
ท่านก็เปลี่ยนความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธะ มาเป็นพระผู้ไกลจากกิเลส ไม่ต้องเวียนว่าย
ตายเกิดต่อไป เพราะท่านสลดสังเวชชีวิตที่ผ่านมาแล้วมากมาย และหวาดเกรงชีวิตที่จะต้องพบ
อีกต่อไปนับภพนับชาติไม่ถ้วน กว่าจะถึงจุดปรารถนาคือพุทธภูมิ....

ด้วยความพากเพียรพยายามสุดสติปัญญาความสามารถที่จะตัดภพชาติอนาคตให้หมดสิ้นโดยเร็ว
ในที่สุดก็เชื่อกันว่าท่านพระอาจารย์สำคัญองค์นั้นท่านก็สำเร็จประสงค์ถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงในภพภูมิปัจจุบัน

พระคติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์




ภาพจากวัดแม่นางปลื้ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนให้เกิดสติขึ้นว่า...ความทุกข์นี้มีเพราะความรัก
มีมากก็เป็นทุกข์มาก มีรักน้อยก็เป็นทุกข์น้อย จนถึงไม่มีรักเลย จึงไม่ต้องเป็นทุกข์เลย  
แต่ตามวิสัยโลกจะต้องมีความรัก มีบุคคลและสิ่งที่รัก ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้มีสติ
ควบคุมใจมิให้ความรักมีอำนาจเหนือสติ แต่ให้สติมีอำนาจควบคุมความรักให้ดำเนินในทางที่ถูก
และให้มีความรู้เท่าทันว่าจะต้องพลัดพรากสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน
เมื่อถึงคราวเช่นนั้น จักได้ระงับใจลงได้

พระคติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์




สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีต่อพระมหาอุปราชา
จิตรกรรมพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

ปัญญาเป็นรัตนะของนรชน
นี้เป็นพระพุทธภาษิต เพราะนรชนคือคนเรา รัตนะคือปัญญาติดตัวมาตั้งแต่เกิด
เป็นพิเศษกว่าสัตว์ร่วมโลกทั้งหลาย จึงได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ และสามารถอบรมปัญญาให้มากขึ้นได้ด้วย
ฉะนั้น คนเราจึงมีความฉลาด สามารถเปลี่ยนภาวะจากความเป็นคนป่ามาเป็นคนเมือง มีความเจริญ
ด้วยอารยธรรม วัฒนธรรม มีบ้านเมือง มีระเบียบ การปกครอง มีศาสนา มีเครื่องบำรุงความสุข
ทางกายทางใจต่างๆ สิ่งทั้งปวงเหล่านี้สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายหามีไม่ ทั้งนี้ด้วยอำนาจของปัญญานี้เอง

พระคติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



ภาพจาก : วัดมเหยงคณ์ ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
(การอุปสมบทหมู่)

ผู้มีบุญ คือ ผู้ที่ทำบุญทำกุศลทำคุณงามความดีไว้มากในอดีตชาติ
อันความเกิดขึ้นของผู้มีบุญนั้น ย่อมเกิดขึ้นพร้อมบุญห้อมล้อมรักษา แม้ชนกกรรมนำให้เกิด
จะนำให้เกิดลำบาก เมื่อบุญที่ทำไว้มากกว่ากรรมไม่ดีที่นำให้ลำบาก ก็จะต้องถูกตัดรอน
ด้วยอำนาจของกุศลกรรม คือบุญอันยิ่งใหญ่กว่า คือเกิดมามารดาบิดายากจน มือแห่งบุญ
ก็จะต้องเอื้อมมาโอบอุ้มให้พ้นจากความลำบากยากจน ให้มั่งมีศรีสุขควรแก่บุญที่ได้ทำไว้

พระคติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

Kimleng:


ภาพจาก : สมเด็จนางพญาเรือนแก้ว วัดนางพญา อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

สีลสมาธิคุณานํ ขนฺติ ปธานการณํ สพฺเพปิ กุสลา ธมฺมา ขนฺตฺยาเยว วฑฺฒนฺติ เต
พระพุทธศาสนสุภาษิตบทนี้แปลความว่า
"ขันติเป็นประธาน เป็นเหตุ แห่งคุณคือศีลและสมาธิ กุศทั้งปวงย่อมเจริญ เพราะขันติเท่านั้น"
ขันติเป็นธรรมเครื่องทำให้งาม คู่กับโสรัจจะ ซึ่งเป็นธรรมเครื่องทำให้งามเช่นกัน ขันติเป็นความอดทน
โสรัจจะเป็นความเสงี่ยม ผู้มีขันติความอดทนและมีโสรัจจะความเสงี่ยม นั้นเป็นผู้งาม

พระมงคลวิเสสกถา ในสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง
วันเสาร์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐




"อย่าแสดงตนว่ารู้ดี หรืออวดรู้ คนอื่นเขาจะหมั่นไส้เอา"
กล่าวคือ แม้บางเรื่องจะเป็นเรื่องจริงที่รู้อยู่ แต่ก็หาควรที่จะพูดกับทุกคนไม่
บางเรื่องหากไม่ถูกด้วย 'กาละ' คือ เวลา และ 'เทศะ' คือสถานที่แล้ว ก็ไม่ควรพูด

คติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์




จิตรกรรมฝาผนังพระวิหารพระพุทธชินราช
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

"การได้เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานั้น
เป็นมงคลสูงสุดของชีวิต
ผู้มีสัมมาทิฐิจึงตั้งจิตปรารถนาอย่างจริงจัง"

คติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

450-22

Kimleng:

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

บทพระนิพนธ์
พระคติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
---------- * ----------

คนน่าสงสารในโลกนี้มีมากนัก ทั้งน่าสงสารทางกายและน่าสงสารทางใจ เราเองแทบทุกคนก็เป็นโรคน่าสงสารเช่นที่กล่าว
แต่เมื่อไม่ใช่โรคทางกาย ก็ไม่เห็นกันไม่รู้กันว่าตนเป็นคนหนึ่งจำนวนมหาศาลที่น่าสงสาร และน่าสงสารยิ่งกว่าเป็นโรคทางกาย
น่ากลัวน่าเป็นห่วงยิ่งกว่าโรคทางกาย. โรคน่าสงสารทางใจตัวเอง ต้องรู้ด้วยตัวของตัวเอง ต้องยอมรับด้วยตัวของตัวเอง
จึงจะแก้ไขได้ ไม่เช่นนั้นแล้วก็ไม่มีทางจะรักษาโรคทางใจได้เลย แม้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจะเป็นโอสถรักษา
โรคทางใจของผู้ที่ไม่ยอมรับรู้ว่าใจของตนมีโรค นั่นก็คือผู้ไม่ยอมรับการรักษา ไม่ยอมรับโอสถของพระพุทธเจ้า เขาย่อม
เป็นคนน่าสงสารตลอดไป. พบคนเช่นนี้พึงย้อนดูตนเองคงจะต้องพบโรคทางใจด้วยกัน เพียงแต่ว่าจะมากน้อยหนักเบา
กว่ากันเพียงไร ตามอำนาจของกรรมที่ได้กระทำมาแล้วเท่านั้น




อย่าเป็นผู้ปฏิเสธในเรื่องของกรรม
อย่าเป็นผู้ปฏิเสธในเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรม อย่างปราศจากเหตุผล
คืออย่าปฏิเสธดื้อๆ ว่า ใครจะเคยเกิดเป็นอะไรมาก่อนก็ตาม ก็ไม่ใช่เรา เราไม่
เคยเกิดเช่นนั้นแน่ คนจะเกิดมาเป็นสัตว์ไม่ได้ สัตว์จะไปเกิดเป็นคนก็ไม่ได้ ไม่มี
เหตุผล เป็นความเชื่อที่ปราศจากเหตุผล เป็นคนสมัยใหม่แล้วจะเชื่ออย่างนั้น
ไม่ได้ เพื่อความไม่ประมาท จงอย่าปฏิเสธโดยไม่รู้จริงเช่นนี้ เพราะวันหนึ่งจะหนี
ไม่พ้นผลที่น่ากลัวของกรรม.
คติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์




อำนาจแห่งกรรมของตนเอง
ผู้ที่เป็นมนุษย์ในชาตินี้ อาจเกิดเป็นสัตว์ในชาติหน้าได้ ด้วยอำนาจแห่งกรรมของตนเองที่เพียงพอ
แก่ความเป็นสัตว์ ซึ่งมีต่างๆ ประเภท ทั้งหมูหมากาไก่วัวควายช้างม้า ที่อำนาจกรรมอำนาจนำให้
มนุษย์ไปเกิดได้ประเภทนั้นๆ ในพระพุทธศาสนามีเรื่องเล่าถึงพระภิกษุรูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล
ที่ประพฤติดีประพฤติชอบมาตลอด ก่อนแต่จะมรณภาพได้จีวรมาผืนหนึ่งซักตากไว้บนราว
ด้วยมีใจผูกพันยินดีที่จะได้ครองจีวรใหม่ เกิดมรณภาพในช่วงเวลาก่อนจะทันได้ใช้จีวร เพื่อนภิกษุ
จะถือจีวรนั้นเป็นของตน สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงห้ามไว้  มีพระพุทธดำรัส
ให้รอก่อน ๗ วัน เพราะขณะนั้นพระภิกษุผู้เป็นเจ้าของได้ไปเกิดเป็นเล็นเกาะติดอยู่กับผ้าจีวร
ด้วยอำนาจจิตที่ยึดมั่นผูกพันเป็นเจ้าของ.  อายุของเล็นอยู่นานเพียง ๗ วัน จากนั้นจะได้ไป
เสวยผลแห่งกรรมดีที่พระภิกษุรูปนั้นได้ประกอบกระทำไว้เป็นอันมาก นี้เป็นเรื่องแสดงอำนาจ
ของกรรมทางใจที่ใหญ่ยิ่ง อาจนำให้พระภิกษุไปเกิดเป็นสัตว์ได้
คติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์




ผลแห่งกรรม ย่อมตรงต่อเหตุที่กระทำไว้
อำนาจของกรรมทั้งใหญ่ยิ่งทั้งล้ำลึก ยากที่สามัญชนคนทั้งหลายจะเข้าใจได้ถูกแท้ แต่แม้ผู้ใด
จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม ย่อมไม่พ้นผลของกรรมที่ตนกระทำแล้วได้ ย่อมต้องได้รับผลของ
กรรมที่ตนกระทำแล้ว ทำกรรมดีใดจักได้รับผลของกรรมดีนั้น ทำกรรมไม่ดีใด...จักได้รับผล
ของกรรมที่ไม่ดีนั้้นแน่นอนเสมอไป. ผลที่เกิดแต่กรรมใด ย่อมตรงกับกรรมที่เป็นเหตุแห่งผล
น้้นเสมอ เช่น ความขี้โรคย่อมเกิดแต่ความเบียดเบียน ความขี้โรคเป็นผลอันตรงกับกรรมที่
เป็นเหตุคือความเบียดบียน ความเบียดเบียนเป็นการทำให้เกิดความไม่เป็นสุข ความขี้โรคก็
เป็นความไม่เป็นสุข ผู้ทำเหตุคือความเบียดเบียน ก็ย่อมได้รับผลเป็นผู้ขี้โรค ผลย่อมตรงต่อ
เหตุดังนี้



ใจจักร้อนรุ่ม ถ้าไม่เข้าใจเรื่องกรรมและผลกรรม
แม้ในฐานะเป็นผู้ดู มิใช่ผู้พลอยได้รับความเดือดร้อนทนทุกข์ทรมานด้วย ถ้าไม่สามารถ
ทำใจ อบรมใจให้เข้าใจในเรื่องของกรรม และการให้ผลของกรรมได้แล้ว เมื่อตนต้องเป็น
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในเหตุการณ์อันร้ายแรง  ก็ย่อมยากที่จะช่วยใจตนเองให้พ้นจาก
ความร้อนได้ แม้เพียงพอสมควร.



ความคิดเป็นเหตุแห่งสุขและทุกข์
ความคิดเป็นเหตุแห่งความทุกข์ และความคิดก็เป็นเหตุแห่งความสุขได้
พึงรอบคอบในการใช้ความคิด คิดให้ดี คิดให้งาม คิดให้ถูก คิดให้ชอบ  แล้วชีวิต
ในชาตินี้ก็จะงดงาม สืบเนื่องไปถึงภพชาติใหม่ได้ด้วย     ระวังความคิดให้ดีที่สุด
เพราะความคิดที่ผูกพันในสิ่งที่ไม่สมควร ที่ทำให้พระภิกษุองค์หนึ่งต้องไปเกิดเป็น
เล็น อีกองค์หนึ่งต้องไปเกิดเป็นไก่อยู่หลายภพหลายชาติ เราทั้งหลายหาได้มีบุญ
สมบัติเสมอพระภิกษุทั้งสองนั้นไม่   ความคิดที่ผิดพลาดของเราจะมินำเราไปเป็น
อะไรที่น่ากลัวเหลือเกินหรือ.
คติธรรม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป