[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 10 มกราคม 2567 18:56:30



หัวข้อ: พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๔๔ นักขัตตชาดก : หม้ายขันหมาก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 มกราคม 2567 18:56:30


(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13576513404647__500_320x200_.jpg)

พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๔๔ นักขัตตชาดก
หม้ายขันหมาก

          ในกรุงพาราณสีมีเศรษฐีตระกูลหนึ่ง มีอาชีพค้าข้าว เศรษฐีมีลูกชาย ๑ คน รูปร่างหน้าตาดี เฉลียวฉลาด เรียนรู้งานได้เร็ว เมื่อลูกชายอายุ ๑๐ ขวบ ก็เข้าศึกษายังสำนักทิศาปาโมกข์ จนสำเร็จเป็นบัณฑิต
          ลูกชายได้มาช่วยทำงานค้าขายที่บ้าน เศรษฐีเห็นว่าลูกชายไม่มีภรรยาสักที เพราะมัวยุ่งอยู่กับการงาน เขาจึงไปสู่ขอลูกสาวของเพื่อนที่อยู่ต่างเมืองมาให้ลูกชาย จะได้มีคนมาช่วยทำงาน ตอนแรกลูกชายเขาปฏิเสธ แต่คิดไปคิดมาก็ดีเหมือนกัน ถ้ามีภรรยาจะได้ไม่เหงา
          เศรษฐีพาญาติๆ ออกเดินทางไปสู่ขอลูกสาวเศรษฐีบ้านนอก ก็เห็นว่านางเป็นหญิงเรียบร้อย มีกิริยามารยาทงาม เก่งงานบ้านงานเรือน พูดจาไพเราะ เศรษฐีคิดว่านางเป็นหญิงที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม จึงเอ่ยปากขอลูกสาวกับเศรษฐีบ้านนอก และบอกกับเขาว่าอีก ๒ วันจะนำขันหมากมาสู่ขอให้ลูกสาวของเขา เตรียมตัวไว้ให้พร้อม
          ก่อนวันแต่งงาน เศรษฐีเดินทางไปหาหมอดูคนหนึ่งให้ดูว่าวันแต่งงานที่เขากำหนดไว้ เป็นวันที่ดีหรือไม่ หมอดูฟังแล้วก็รู้สึกโกรธ ทำไมทำอะไรข้ามหน้าข้ามตา ไม่ถามไถ่กันก่อน เดี๋ยวนี้กำหนดวันมงคลเองแล้ว ยังจะมาถามเขาทำไม 
          หมอดูคิดจะแกล้งทำลายงานวิวาห์ เลยบอกกับเศรษฐีว่า “วันนี้เป็นวันกาลกิณี ไม่สมควรทำการใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจะนำความฉิบหายมาสู่ครอบครัว”
          เศรษฐีเชื่อว่าเป็นวันอัปมงคล จึงยกเลิกงานแต่ง แล้วค่อยไปแต่งวันอื่นที่หมอดูบอกว่าเป็นฤกษ์ดี
          ส่วนทางฝ่ายเจ้าสาวเตรียมอาหารคาวหวานไว้พร้อมมากมาย กะจะเลี้ยงคนกรุงให้อิ่มหนำสำราญ ไม่ให้มีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง รอแล้วรอเล่าเศรษฐีเมืองกรุงก็ไม่มาตามนัดหมาย ไม่มีแม้กระทั่งวี่แวว 
          ญาติๆ จึงปรึกษากันว่าเราจะอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ข้าวของจะเสียหายเปล่าๆ ถ้าพวกเขาไม่มาเราก็ยกลูกสาวให้ตระกูลอื่นไปซะ พูดเสร็จก็จัดแจงยกลูกสาวให้แต่งงานกับเศรษฐีเหมือนกัน
          เช้าวันต่อมา เศรษฐีเมืองกรุงแห่งขันหมากมาสู่ขอลูกสาวเศรษฐีบ้านนอกอย่างยิ่งใหญ่ อาหารคาวหวานมีมากมาย เมื่อเดินทางมาถึงเขาโดนพวกชาวบ้านต่อว่ากันยกใหญ่
          ชาวบ้าน “ทำกันอย่างนี้ได้อย่างไร เมื่อวานนัดกันไว้ซะดิบดีทำไมไม่มา ลูกสาวท่านเศรษฐีต้องอับอายขายขี้หน้า ข้าวของก็เสียหาย มาตอนนี้มันไม่สายไปหน่อยหรือ”
          เศรษฐี “ข้าต้องขอโทษจริงๆ เมื่อวานที่ไม่มาเพราะฤกษ์ไม่ดี ถ้ามีงานมงคลชีวิตของครอบครัวข้าจะฉิบหาย ข้าเกิดความกลัวจึงไม่มาตามกำหนด” 
          ชาวบ้าน “ท่านเศรษฐีเห็นท่านไม่มาตามนัด จึงยกลูกสาวให้เศรษฐีอีกตระกูลหนึ่งไปแล้ว”
          ทั้งสองฝ่ายก็เกิดบันดาลโทสะ ด่าทอกันยกใหญ่ บัณฑิตผู้หนึ่งเดินทางมาทำธุระในหมู่บ้าน เห็นเหตุการณ์ จึงถามถึงสาเหตุกับชาวบ้าน ก็รู้เรื่องทั้งหมดจึงพูดว่า “ท่านจะทำการอันใดด้วยฤกษ์ยาม อย่ามัวแต่คอยฤกษ์ จะทำให้พวกท่านเสียประโยชน์เปล่า ทำงานวันใดก็เป็นฤกษ์ดีทั้งนั้นแหละ
   

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“จะทำการใด ไม่ต้องคอยฤกษ์ยาม”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
อตฺโถ อตฺถสฺส นกฺขตฺตํ กึ กริสฺสนฺติ ตารกา
ประโยชน์ คือ ตัวฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวจักทำอะไรได้ (๒๗/๔๙)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดย ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม