[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ อนามัย => ข้อความที่เริ่มโดย: ฉงน ฉงาย ที่ 23 สิงหาคม 2563 00:45:28



หัวข้อ: โรคไตเรื้อรัง
เริ่มหัวข้อโดย: ฉงน ฉงาย ที่ 23 สิงหาคม 2563 00:45:28


โรคไตเรื้อรัง

(http://sriphat.med.cmu.ac.th/Public/images/uploads/imgupload-1474268897.jpg)


โดยทั่วไปเมื่อคนเราอายุมากกว่า 30 ปี ไตจะเริ่มทำงานลดลงหรือเสื่อมลงตามธรรมชาติ โดยเฉลี่ยทำงานลดลงร้อยละ 1 ต่อปี  ในกรณีที่ไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็วหรือหยุดทำงานทันที เรียกว่า ไตวายเฉียบพลัน ซึ่งการทำงานของไตอาจกลับมาเป็นปกติได้ ถ้าได้รับการรักษาที่ทันท่วงที  แต่ถ้าไตเสื่อมลงอย่างช้าๆ ต่อเนื่อง หรือมีความผิดปกติของไตเกินกว่า 3 เดือน เราจะเรียกว่า โรคไตเรื้อรัง



สาเหตุของโรคไตเรื้อรังที่พบบ่อย ได้แก่


        1.  เป็นโรคเรื้อรังอยู่เดิม เช่น เบาหวาน , ความดันโลหิตสูง , โรคเอสแอลอี (โรคพุ่มพวง) , โรคเกาต์ , นิ่วในไต

        2.  ผลข้างเคียงจากยาและสารเคมีต่างๆ ได้แก่ ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช้สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือที่มักเรียกกันว่ายาแก้อักเสบ , ยาแก้ปวดข้อ , ยาลดความดันโลหิตบางชนิด , ยาปฏิชีวนะ และรวมถึงยาลดความอ้วนบางตัว

        3.  กรรมพันธุ์ หรือความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรคถุงน้ำในไต

เบาหวาน เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด ที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย



การแบ่งระยะของโรคไตเรื้อรัง


ระยะที่ 1   การทำงานของไตยังคงปกติหรือมากกว่าร้อยละ 90  แต่ตรวจพบความผิดปกติของไต เช่น ปัสสาวะมีตะกอนผิดปกติ หรืออาจพบโปรตีนมากกว่าปกติในปัสสาวะ  แพทย์มักบอกว่าเริ่มตรวจพบความผิดปกติของไต

ระยะที่ 2   ไตทำงานเหลือร้อยละ 60-90                เรียกว่า  ไตเรื้อรังระยะเริ่มต้น

ระยะที่ 3   ไตทำงานเหลือร้อยละ 30-60         เรียกว่า  ไตเรื้อรังระดับปานกลาง

ระยะที่ 4   ไตทำงานเหลือร้อยละ 15-30        เรียกว่า  ไตเรื้อรังค่อนข้างมาก

ระยะที่ 5   ไตทำงานเหลือน้อยกว่าร้อยละ 15      เรียกว่า  ไตเรื้อรังระยะสุดท้าย

แพทย์จะเป็นผู้แบ่งระยะของโรคและบอกแก่ผู้ป่วย โดยทำการเจาะตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ รวมไปถึงการอัลตราซาวด์ดูลักษณะของไต





หัวข้อ: Re: โรคไตเรื้อรัง
เริ่มหัวข้อโดย: ฉงน ฉงาย ที่ 23 สิงหาคม 2563 00:47:57


อาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง     

   โรคไตเรื้อรังเป็นภัยเงียบ ซึ่งมักไม่แสดงอาการให้เห็นได้ชัดเจน จนกระทั่งเมื่อไตเสื่อมมากแล้ว อย่างไรก็ตามมี อาการสำคัญบางอย่างที่อาจเป็นสัญญาณเตือน ว่าท่านอาจมีโรคไตซ่อนอยู่ และควรไปพบแพทย์

อาการเริ่มต้นของโรคไต

1. อาการปัสสาวะแสบขัดที่เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ปกติมักจะพบในเพศหญิง แต่หากพบในเพศชายอาจต้องไปตรวจเพิ่มเติมว่ามีโรคนิ่วระบบไต หรือความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะอื่นๆ หรือไม่ 

2.อาการปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่งแรง ปัสสาวะไม่พุ่ง หรือปัสสาวะสะดุดกลางคัน บ่งบอกถึงว่ามีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโตในเพศชาย หรือมดลูกหย่อนในเพศหญิง

3.ปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ  ในคนปกติเมื่อเรานอนหลับ 6-8 ชั่วโมง มักจะไม่ต้องตื่นขึ้นมาปัสสาวะ หรืออาจตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางคืนได้ 1-2 ครั้ง เนื่องจากในตอนกลางคืน ไตจะดูดกลับน้ำมากขึ้น ทำให้การขับปัสสาวะลดลง แต่ในคนที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ไตจะดูดกลับน้ำได้ไม่ดี ทำให้ต้องลุกมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยๆ อีกโรคที่ทำให้มีอาการนี้ คือ เบาหวาน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะไตเรื้อรังเช่นกัน

4.ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ เลือด หรือขุ่นกว่าปกติ ซึ่งบ่งบอกว่ามีเลือดปน หรือมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ สาเหตุ เช่น มีนิ่ว , ไตอักเสบ หรือเนื้องอกทางเดินปัสสาวะ

5.อาการบวมรอบตา บวมหน้า บวมเท้า อาการบวมที่หน้าสังเกตได้ง่ายเวลาตื่นนอน ส่วนเท้าบวมอาจพบเมื่อเข้าช่วงบ่าย หรือยืนนานๆ ใช้มือกดที่เท้าหรือหน้าแข้งจะมีรอยบุ๋ม อาการบวมนี้อาจพบได้ในโรคหัวใจ โรคตับหรือโรคไต

เมื่อเริ่มเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 ไตจะเริ่มขับน้ำและของเสียออกทางปัสสาวะไม่ได้ตามปกติ ทำให้เริ่มมีอาการต่างๆ เช่น


          - รู้สึกไม่สบาย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ง่วงซึม สับสน เนื่องจากมีของเสียในร่างกายมากขึ้น

 - เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียจากภาวะซีด เนื่องจากไตสร้างฮอร์โมนสร้างเม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอ

 - บวมในตำแหน่งต่างๆ เช่น เปลือกตา ข้อเท้า เท้า หน้าแข้ง เนื่องจากไตกำจัดน้ำส่วนเกินออกไม่ได้ เมื่อมีน้ำสะสมในร่างกายมากขึ้น จะเกิดภาวะน้ำท่วมปอดและหายใจลำบาก

 - ความดันโลหิตสูง ทำให้มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง อ่อนเพลีย และเป็นโรคหัวใจได้

หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ รับการตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง



การชะลอการเสื่อมของไต

            - ดูแลโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุของไตเรื้อรัง เช่น ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับไม่เกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท ควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในช่วง 80-120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร(มก./ดล.) หรืออย่างน้อยต้องไม่เกินกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร(มก./ดล.) รับการรักษาอย่างต่อเนื่องในโรคที่เป็นเรื้อรัง เช่น ไตเสื่อมจากเอสแอลอี นิ่ว หรือถุงน้ำในไต

            -  พักผ่อนให้เพียงพอ (อย่างน้อย 6 - 8 ชั่วโมงต่อวัน)

            -  หลีกเลี่ยงความเครียด

            -  ดื่มน้ำบริสุทธิ์สะอาดให้เพียงพอ วันละ 1.5 - 2 ลิตรต่อวัน การดื่มน้ำบาดาลอาจทำให้เกิดโรคนิ่วได้ แต่ต้องระวังการดื่มน้ำมากเกินไป อาจทำให้ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ แต่ถ้าไตไม่ดีและเริ่มบวม แพทย์จะแนะนำให้เริ่มจำกัดน้ำ

            -  การดูแลเรื่องอาหาร ลดทานอาหารเค็ม ลดอาหารมัน ลดโปรตีน ลดทานผักผลไม้ (แพทย์จะอธิบายแก่ผู้ป่วยในแต่ละระยะเอง)

            -  การออกกำลังกายที่เหมาะสมเป็นพิเศษ คือ การออกกำลังกายชนิดต่อเนื่อง เช่น การเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค การยกน้ำหนัก (แต่ไม่ควรหนักเกินไป) ออกกำลังกายประมาณวันละ 30-60 นาที อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ไม่ควรออกกำลังกายจนเหนื่อยถึงขั้นไม่สามารถพูดเป็นคำๆได้ ควรออกกำลังช่วงเช้าหรือเย็น และควรหยุดออกกำลังกายเมื่อรู้สึกเหนื่อย หายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอก รู้สึกหัวใจเต้นผิดจังหวะ แน่นท้อง ตะคริว เวียนศีรษะ จะเป็นลม

            -  ควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้อ้วนเกินไป

            -  หลีกเลี่ยงยาที่มีผลต่อไต เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน ถ้าใช้ติดต่อกันก็อาจจะทำให้ไตเสื่อมได้ ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (ยาแก้อักเสบ แก้ปวดข้อ) ยาอื่นๆ เช่น พวกสมุนไพรบางอย่าง

            -  หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

            -  หลีกเลี่ยงยาเสพติด เฮโรอีน โคเคน ยาอี (เอคสตาซี) กัญชา

            -  เพศสัมพันธ์ไม่ได้เป็นข้อห้าม แต่การเป็นโรคไตเรื้อรังอาจทำให้ความต้องการทางเพศลดลง

            -  หยุดสูบบุหรี่

            -  หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ

            -  ระวังอย่าให้เกิดท้องเสีย ถ้ามีท้องเสียควรทานน้ำให้พอ

            -  อย่าหลงคำโฆษณาชวนเชื่อ


          - ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทานยาตัวใหม่ๆ เสมอ

   ที่มา นพ.ณัฐพล  เลาหเจริญยศ  อายุรแพทย์โรคไต
         ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาสิทยาลัยเชียงใหม่