[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 19 พฤศจิกายน 2556 15:42:36



หัวข้อ: ความต่างเรื่องความเชื่อประเพณีลอยกระทง ระหว่างชาวไทยและมอญ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 19 พฤศจิกายน 2556 15:42:36
.

(http://www.sookjaipic.com/images/4568350728_DSC03387.JPG)
ความเชื่อเรื่องการลอยกระทง



ประเพณีลอยกระทงของไทย มาจากสองความเชื่อ
๑. เป็นการขอขมาและสักการะแม่พระคงคา หนึ่งในแม่น้ำทั้ง ๕ ในอินเดีย
๒. บูชานางพญากาเผือก ผู้เป็นแม่ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕

แต่ความเชื่อของมอญแตกต่างออกไป ในคืนวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒ ชาวมอญจะช่วยกันสร้างเรือ ใส่เครื่องบูชา ลอยตามน้ำไปให้ถึงใจกลางมหาสมุทร เพื่อบูชาพระอุปคุต

พระอุปคุตเกิดหลังพุทธกาล ๒๐๐ ปี ในตระกูลพ่อค้าเครื่องหอม เมืองมถุรา ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา  เป็นน้องชายคนสุดท้อง ในจำนวนพี่น้องชาย ๓ คน  ตอนเล็กๆ ช่วยพ่อแม่ค้าขายจนร่ำรวย โตขึ้นก็บวชเป็นพระในพุทธศาสนา เป็นอาจารย์สอนสมถะวิปัสสนา มีพระเป็นลูกศิษย์ถึง ๑ หมื่น ๘ พันรูป เวลาที่ท่านหายไปอยู่ในที่สงบสงัด ลูกศิษย์ก็เชื่อกันว่าพระอาจารย์ไปจำพรรษาอยู่ที่สะดือทะเลและเชื่อกันอีกว่าอาจารย์มีฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์สารพัด


 
 (https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRT4Pf9upLB-IWzaqISusNwkQR3rZszaK2IJaJthPrttqaftbFH)   ยุคสมัยพระอุปคุต กษัตริย์หงสาวดี ชื่อเจ้านรปติ ทรงมีเรือวิเศษ ชื่อจิตะนาคะแล่นไปมาได้ในอากาศ

วันหนึ่งพระเจ้านรปติ นั่งเรือเหาะผ่านหนองน้ำขุ่นเป็นตมเห็นพระรูปหนึ่ง มือหนึ่งถือใบบัวคลุมศีรษะ อีกมือถือใบบัวลุยโคลนจับกุ้งหอยปูปลาที่เกยตื้นตกคลักตามขอบหนองน้ำใส่ใบบัว ทรงคิดว่า พระจับสัตว์น้ำไปกิน...ก็บ่นว่า “ไม่น่าเลย”
 
แค่นี้ก็เกิดเรื่องใหญ่ เรือเหาะของท่านก็ให้มันหยุดแล่น...หล่นปุลงพื้น
 
ความจริงพระรูปนั้นเจตนาจะจับสัตว์ไปปล่อยยังแหล่งน้ำใหญ่ พระเจ้านรปติจึงทราบในบัดนั้นว่า ได้ล่วงเกินพระอรหันต์ รีบเดินไปหา ตั้งพระทัยจะขอขมา  แต่พระรูปนั้นก็หายไป ไร้ร่องรอย

กลับถึงพระราชวัง พระเจ้านรปติก็ทรงสละเรือเหาะแกะสลักเป็นรูปอรหันต์บูชา แต่เพราะไม่ทรงเห็นหน้าตาพระ จึงทรงแกะสลักเป็นใบหน้าเกลี้ยงๆ ไม่มีหูตาจมูกปาก แล้วก็เอาแก้วศักดิ์สิทธิ์ ๙ เม็ด ที่ฝังไว้ในเรือทำให้เรือเหาะได้ ฝังเข้าไปในองค์พระ  ทรงตั้งชื่อพระองค์นั้นว่า อุปคุต ภาษาบาลีแปลว่า ผู้มีความเป็นเลิศทางอิทธิฤทธิ์  เมื่อเจ้านับถือ ชาวมอญก็นับถือแพร่หลายไปถึงพม่า ล้านนา
  
ในล้านนาเชื่อว่า ในคืนเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่ตรงกับวันพุธเรียกว่า “เป็งปุ๊ด” เริ่มตีหนึ่งอังคาร ไปถึงรุ่งสาง  พระอุปคุต จะออกมาบิณฑบาตในร่างสามเณร  เชื่อกันว่าใครได้ใส่บาตรพระอุปคุตเป็นคนไม่มีโรคภัย ร่ำรวย จิตเป็นสมาธิ มีความสุข
การสร้างรูปพระอุปคุต ต่อมาได้พัฒนามาเป็นพระบัวเข็ม นิยมทำพระด้วยไม้ นั่งอยู่กลางน้ำ เขมรเอาไปด้วยโลหะขนาดเล็ก เป็นรูปพระนั่งอยู่ในเปลือกหอย หรือในหอยสังข์
 
ใน “ปอยหลวง” หรืองานพิธีกรรม ชาวล้านนา ชาวมอญ พม่าจะอาราธนาพระอุปคุตจากแม่น้ำ ขึ้นมาคุ้มครองการจัดงาน คนไทยใช้ในพิธีขอฝน หรือพิธีมงคล  พอจะสรุปได้ว่า คืนเพ็ญเดือน ๑๒ มอญพม่า จะลอยเรือบูชาพระอุปคุต คนไทยลอยกระทงขอขมาแม่พระคงคา หรือบูชานางพญากาเผือก



ข้อมูล : คอลัมน์ ชักธงรบ "กระทงหลงทาง" หน้า ๓ นสพ.ไทยรัฐ ฉบับประจำวันอังคารที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖

(http://www.sookjaipic.com/images/8872134987_1.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images/9309195416_2.JPG)