[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 29 กรกฎาคม 2563 14:04:59



หัวข้อ: 'ต้นตำรับพระกริ่ง' พระมงคลราชมุนี (สนธ์ ยติธโร) วัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 29 กรกฎาคม 2563 14:04:59

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/33271053392026_bud02p1_9_320x200_.jpg)

พระมงคลราชมุนี (สนธ์ ยติธโร) - ต้นตำรับพระกริ่ง
วัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ

พระมงคลราชมุนี (สนธ์ ยติธโร) หรือที่ผู้คนส่วนใหญ่เรียกขานท่านในสมณศักดิ์เดิมว่า “ท่านเจ้าคุณศรี” (สนธิ์) ท่านเป็นศิษย์ในสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงประสาทศิลปวิทยาการอันล้ำค่า คือ ตำรับและพิธีกรรมการสร้างพระพุทธรูปและพระกริ่งให้จนหมดสิ้น

ท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) สร้างวัตถุมงคลพระเครื่อง และพระกริ่งรุ่นต่างๆ ไว้หลายรุ่น ล้วนได้รับความนิยมจากศิษยานุศิษย์ และนักสะสมพระกริ่งอย่างกว้างขวาง

นามเดิม สนธิ์ พงศ์กระวี เกิดเมื่อวัน ศุกร์ที่ 17 ก.ค. 2446 ที่ ต.บ้านป่าหวาย กิ่ง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี บิดา-มารดาชื่อ นายสุข และนางทองดี มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน 11 คน

อายุ 11 ขวบ บิดาถึงแก่กรรม มารดาจึงนำมาฝากไว้กับหลวงตาบุญ ซึ่งเกี่ยวเป็นญาติของท่านที่วัดสุทัศนเทพวราราม คณะ 15 เพื่อให้ศึกษาอักขระสมัยฝ่ายบาลี ตามคตินิยมที่เล่าเรียนกันในยุคนั้นคือ เริ่มเรียนคัมภีร์สนธิ คัมภีร์นาม คือไปตามลำดับ

อายุ 13 ปี บรรพชาโดยมี พระมงคลราชมุนี (ผึ่ง ปุปฺผโก) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูปลัดสุวัฒนพรหมจริยคุณ ฐานานุกรมในพระพรหมมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์

ศึกษาเล่าเรียนต่อไปตามปกติ จนถึงเดือนเมษายน 2459 ย้ายไปอยู่ที่วัดกลางบางแก้ว อ.นครไชยศรี จ.นครปฐม ในความปกครองของพระพุทธิวิถีนายก เจ้าคณะจังหวัดนครปฐมในยุคนั้น

ตราบจนถึงพ.ศ.2460 จึงย้ายกลับมาอยู่ที่วัดสุทัศนฯ ตามเดิม ศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2464 สอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ.2465 สอบได้นักธรรมชั้นโทได้ในปี

พ.ศ.2466 เข้าพิธีอุปสมบท โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์, พระมงคลราชมุนี (ผึ่ง ปุปฺผโก) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระครูปลัดสุวัฒนพรหมจริยคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระพิมลธรรม (นาค สุมมนาโค) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามเมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระเทพเวทีและยังอยู่ที่วัดสุทัศน์เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า ยติธโร

พ.ศ.2468 สอบเปรียญธรรมได้ 4 ประโยค พร้อมทั้งได้รับสมณศักดิ์เพราะครูธรรมรักขิต ฐานานุกรมในสมเด็จพระพุฒาจารย์

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2469 เวลาประมาณ 04.00 น. ประสบเคราะห์กรรมอย่างหนัก ถูกคนวิกลจริตฟันท่านด้วยมีดตอก ได้รับบาดเจ็บตามร่างกายหลายแห่ง

ผลจากการถูกทำร้ายอย่างสาหัสในคราวนั้นทำให้ท่านอาพาธหนักไปพักหนึ่ง ประมาณ 3 เดือน เมื่อหายจากการอาพาธกลับคืนอยู่ที่วัดสุทัศน์ตามเดิม และเมื่อมาถึงได้ขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว) รับสั่งว่า “อ๋อ! มหาสนธิ์ เธอหายดีแล้วหรือ” แล้วท่านก็รับสั่งเรียกให้เข้าไปใกล้ ทรงจับศีรษะท่านไว้แล้วทรงเป่าให้ 3 ครั้ง พร้อมกับรับสั่งต่อไปอีกว่า “ตั้งแต่นี้ต่อไปจะไม่มีอะไรอีกแล้ว”

พ.ศ.2474 สอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 7 ประโยค

รับตำแหน่งฐานานุกรมต่างๆ ตามลำดับ พร้อมกับได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ รวมทั้งโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา ฯลฯ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2481 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีสัจจญาณมุนี

วันที่ 8 ธ.ค. 2493 ได้เลื่อนจากตำแหน่งพระราชาคณะสามัญขึ้นเป็นพระราชาคณะเสมอชั้นราชที่ พระมงคลราชมุนี

เรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ หลายแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) พระอุปัชฌาย์ ทรงประสาทศิลปวิทยาการคือ ตำรับและพิธีกรรมการสร้างพระพุทธรูปและพระกริ่งให้แก่ท่านจนหมดสิ้น ซึ่งท่านสืบสานพิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้ ในเวลาต่อมาสมัยที่สมเด็จพระสังฆราช (แพ) สิ้นพระชนม์แล้ว อย่างถูกต้องตามตำราทุกประการ

ต่อมาภายหลังเมื่อว่างในด้านศึกษา ท่านกลับเพิ่มภารกิจในหน้าที่ของพระมหาเถราจารย์ ได้รับนิมนต์ให้ไปประกอบพิธีกรรมต่างๆ เสมอเป็นเนืองนิตย์ รวมทั้งต้องนั่งปรกเข้าพิธีสวดพุทธาภิเษก นั่งปรกไปจนกว่าจะได้ฤกษ์เททอง การประกอบพิธีเช่นนี้แต่ละครั้งทำให้สุขภาพของท่านค่อยๆ เสื่อมทรุดลงทุกที

ท้ายที่สุด เมื่ออาการอาพาธกำเริบ ทรุดหนัก จนสุดที่คณะแพทย์จะเยียวยา คืนวันที่ 16 ม.ค.2495 เวลา 21.20 น. มรณภาพด้วยอาการอันสงบ

ท่ามกลางความเศร้าสลดของบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งปวง
ข่าวสดออนไลน์