[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
10 พฤษภาคม 2567 01:57:02 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ที่บรรจุศพพระยามโนปกรณ์ฯ นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย ณ. เมืองปีนัง  (อ่าน 1094 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
แคทรีนจังกกไข่
นักโพสท์ระดับ 5
*****

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 49


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 43.0.2357.130 Chrome 43.0.2357.130


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 24 มิถุนายน 2558 09:41:13 »

ที่บรรจุศพพระยามโนปกรณ์ฯ นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย ณ. เมืองปีนัง




เมื่อไม่กี่วันก่อนผมเพิ่งไปคารวะที่บรรจุศพพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่บริเวณสุสานภายในวัดปิ่นบังอร 379 Jalan (ถนน) Masjid Negeri เมืองปีนัง ต่อจากนั้นได้ว่าจ้างรถไปยังบริเวณถนนมโน หรือ Jalan Mano ซึ่งอยู่นอกเมืองชั้นในออกไป รถแท็กซี่คันที่ผมว่าจ้างไม่รู้จัก Jalan Mano ต้องอาศัยเทคโนโลยี Google Map บอกทางในที่สุดก็ได้ไปถ่ายรูปป้ายถนนและป้ายซอย Solok Mano เดินดูสภาพพื้นที่ซึ่งเคยเป็นบ้านพักและสวนหาเลี้ยงชีพของอดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกสำเร็จสมความมุ่งหมายประการหนึ่งของการเดินทางทริปนี้
       
          สารภาพว่าผมเองนั้นไม่เคยสนใจใคร่รู้ชีวประวัติหรือเรื่องราวการลี้ภัยไปตายเมืองนอกของพระยามโนฯ มาก่อน ในบรรดาอดีตนายกรัฐมนตรีที่สนใจมากหน่อยก็เช่นจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ เนื่องเพราะมีบทบาทสูงต่อการเมืองช่วงรอยต่อจนระยะหลังที่อ่าน “สาส์นสมเด็จ” พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์กล่าวถึงวัดปิ่นบังอรเป็นสถานที่ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพเจ้านายองค์สำคัญคือกรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฏ์ ต้นสกุล “สวัสดิวัตน์” ที่คุณหมึกแดง คุณชายถนัดศรีใช้อยู่นี่แหละและพอค้นคว้าเรื่องวัดปิ่นบังอรต่อก็ได้พบว่าเป็นที่เก็บศพของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาด้วย
       
          เมืองปีนังเป็นหนึ่งในฉากสำคัญของการเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองหยิบจับประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมาล้วนแต่คาบเกี่ยวกับปีนังไม่มากก็น้อย หลังเกิดกบฎบวรเดช 2476 ต่อเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ลาออกจากราชสมบัติเจ้านายเชื้อพระวงศ์ถูกเพ่งเล็งบรรยากาศทางการเมืองตึงเครียดเจ้านายจำนวนหนึ่งต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศซึ่งเวลานั้นล้วนแต่เป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกเช่น ปีนัง สิงคโปร์ เมดาน(อินโดนีเชีย) อย่างเช่นกรมพระยาดำรงฯ กรมพระสวัสดิ์ฯ กรมพระกำแพงเพชรฯ ในยุคต่อมาฝ่ายนิยมเจ้าที่ถูกจับอยู่ที่เกาะตะรุเตาจากคดีกบฎบวรเดชก็หนีไปอยู่ละแวกนั้นเช่น พ.อ.พระยาสุรพันธ์เสนี, น.อ.พระยาศราภัยพิพัฒ, ขุนอัคนีรถการ แต่ก็หาใช่ว่ามีแต่สายเจ้าหรือพวกนิยมเจ้าที่ต้องลี้ภัยเท่านั้นเพราะต่อมาคณะราษฏร์ด้วยกันเองก็แตกคอกัน เกิดรัฐประหาร เกิดความขัดแย้งต่อเนื่องตามมาบุคคลสำคัญในคณะราษฏร์ก็ต้องจรลีหรือไม่ก็ถูกเนรเทศไปตายเมืองนอกด้วยอีกระลอก
       
          กรณีนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่ชื่อว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดาต้องลี้ภัยจากพวกเดียวกันไปตายเมืองนอกเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่ที่ผมสัมผัสไม่รู้เรื่องเพราะเราไม่เคยมีการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ก็แปลกดีที่หลาย ๆ ประเทศเขายกย่องผู้นำคนแรกอย่างยิ่งใหญ่เพราะส่วนใหญ่มักจะเป็นแกนนำต่อสู้เรียกร้องเอกราชหรือมีความโดดเด่นคุณูปการด้านใดด้านหนึ่งแต่ผู้นำคนแรกของไทยกลับไปมีอนุสาวรีย์เป็นถนนเล็ก ๆ ที่เมืองปีนัง ส่วนนายกฯคนต่อมามีชื่อถนนพหลโยธินไว้เป็นอนุสรณ์ ขณะที่ท่านผู้นำพิบูลสงครามยิ่งไม่ต้องพูดถึง
       
       โดยสรุปคือพระยามโนฯ เป็นฝ่ายขัดแย้งกับท่านปรีดี พนมยงค์ ในกรณีเค้าโครงเศรษฐกิจ พวกที่หนุนพระยามโนฯก็ล้วนแต่เป็นทหารคนสำคัญของคณะราษฏร์ที่มีลำดับในคณะทหารยึดอำนาจ อาทิ พระยาฤทธิ์อัคเนย์ พระยาทรงสุรเดช แต่ต่อมาทั้งพระยาทรงฯ และพระยาฤทธิ์ฯ ก็ประสบชะตาไม่ดีไปกว่าเจ้านายเชื้อพระวงศ์หรือนายทหารฝ่ายบวรเดชเช่นกันเพราะต้องจรลีลี้ภัยจากฝ่ายพระยาพหลฯ- จอมพลป. ไปตายเมืองนอกเหมือนกัน
       
          เราเป็นคนรุ่นหลัง.., ดูประวัติศาสตร์ย้อนกลับไป 70-80 ปี ระหว่างที่แต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายปะทะกันในเชิงการเมืองแล้วต้องมาเผชิญชะตากรรมยิ่งสะทกสะท้อนใจ ผมเชื่อว่าคนที่นับถือท่านปรีดี พนมยงค์เมื่อได้ศึกษาประวัติของพระยามโนฯ ก็คงจะไม่เกลียดชังนายกฯคนแรกท่านนี้หรอกเพราะเหล่าบุคคลแกนนำคณะราษฎร์นั่นแหละที่ไปเชิญท่านมาเป็นนายกฯสมานฉันท์ฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฏร์ และที่ขัดแย้งกันเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจเหตุการณ์มันก็น่าจะเป็นเช่นนั้นแลเพราะในยุคนั้นข้อมูลข่าวสารการปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจไม่ได้กว้างขวางเช่นปัจจุบัน เป็นยุคที่ผีคอมมิวนิสต์เริ่มตะหลอนยุโรปอเมริกากันแล้ว
       
          จาก 2475-2490 (คือช่วงเวลาที่กลุ่มนิติราษฏร์มองว่าเป็นช่วงเราควรย้อนไปใช้รัฐธรรมนูญยุคนั้น) เป็นช่วงของการเปลี่ยนอำนาจจาก “เจ้า” มาสู่ “อำมาตย์” ฝ่ายอำมาตย์ในนามของประชาธิปไตยไล่บี้เจ้าจนไม่มีที่จะยืน และต่อมาอำมาตย์ก็ฟัดกับอำมาตย์ด้วยกันเอง พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ ไม่เอาเค้าโครงเศรษฐกิจ ถูกฝ่ายพระยาพหลฯ หลวงประดิษฐ์ และหลวงพิบูลสงครามไล่ตะเพิดไปตายเมืองนอก จากนั้นก็ถึงรอบหลวงพิบูลสงครามโตเดี่ยวหลังพระยาพหลฯ ตาย แปลงร่างเป็นท่านผู้นำจอมพลป.ไล่บี้หลวงดิษฐ์ ปรีดี พนมยงค์อีกต่อ
       
       ขอเลี้ยวเข้าซอยพารากราฟเดียวว่า จอมพล ป. กลายเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่แสดงอาการเหม็นเบื่อเจ้านายศักดินาแต่ตัวเองก็มีพฤติกรรมอำมาตย์ศักดินา ทำตราอัศวิน ตราไก่แบบเดียวกับศักดินาทั้งหลายจนม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเอาไปเขียนเหน็บในหนังสือฝรั่งศักดินาและที่อื่น ๆ ถ้าเป็นยุคปัจจุบันก็คงเป็นพวกประกาศหลอกชาวบ้านว่าตัวว่าเป็นไพร่แต่หัวใจและพฤติกรรมอำมาตย์ตัวจริงเสียงจริงนั่นแหละ
       
          (กลุ่มนิติราษฎร์ทราบหรือไม่ว่า) ตัวละครสำคัญของคณะราษฏร์ในยุคนั้นแทบทุกคนล้วนแต่ถูกสถานการณ์ลากให้เกี่ยวข้องกับการถือปืนทำปฏิวัติรัฐประหาร (ในประวัติศาสตร์การเมืองประชาธิปไตยไทยยุคต้น) ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าพระยาทรงสุรเดช พระยาพหลฯ หลวงประดิษฐ์ปรีดี พนมยงค์ หรือจอมพล ป. พิบูลสงคราม
       
          มองย้อนกลับไปการเมืองยุคก่อนเล่นจริงเจ็บจริงกว่ายุคปัจจุบันเยอะเลยครับ แบบที่โวยวายอยู่มันเบบี๋ ๆ เพราะยุคนั้นถ้าไม่ฆ่าก็ต้องเนรเทศพ้นให้ไปตายเมืองนอกเขาไม่ปล่อยให้มีเงินทองให้พื้นที่เคลื่อนไหวแล้วมาประนีประนอมกันใหม่หรอก
       
       เรื่องราวของพระยามโนปกรณ์ฯ ที่มีอยู่ปัจจุบันมีไม่มากเท่ากับนายกฯหรือนักการเมืองคนอื่น ฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดในส่วนที่ผมเคยอ่านผ่านตาคืองานชื่อ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา'คนนอกคณะราษฎร' นายกรัฐมนตรีคนแรกของสยามประเทศ โดย ธัชชัย ยอดพิชัยตีพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2549 คงไม่ต้องย้อนกลับไปเล่าเรื่องราวโดยละเอียดเอาเป็นว่าวันที่จับแท็กซี่เข้าไปในวัดปิ่นบังอร เมื่อ 9 ตุลาคม 2554 ในวัดมีพระภิกษุจากเมืองไทยเพิ่งไปขอจำพรรษาอยู่ 2 เดือนนั่งอยู่รูปเดียวท่านก็ชี้ทางให้ไปดูบริเวณด้านในที่เป็นสุสาน บริเวณดังกล่าวมีที่บรรจุศพแบบต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 50 อ่านชื่อล้วนแต่เป็นคนจีนที่นั่น ผมหาอยู่พักใหญ่จนพระท่านที่สังเกตอยู่ไกล ๆ อดรนทนไม่ได้เดินมาชี้ที่ตั้งที่บรรจุพระยานโมฯ
       
       ที่บรรจุศพ ซึ่งผมเรียกเองว่ากู่ของพระยามโนฯ เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างยาวประมาณ 1.5 คูณ 3 เมตร เหมือนจะสร้างคลุมโลงศพเอาไว้ ด้านหน้ามีป้ายหินแกะสลักภาษาไทยจำนวน 4 บรรทัดว่า “พระยามโนปกรณ์นิติธาดา / (ก้อน หุตะสิงห์) /ชาตะ 15 ก.ค.2426 / มรณะ 1 ต.ค.2491”
       
       จากนั้นผมได้ขึ้นไปกราบนมัสการท่านพระครูปัญญาศาสนานุรักษ์ ท่านเจ้าอาวาสเชื้อสายคนไทยรัฐเคดาห์ (คนไทยพลัดถิ่น) ท่านเล่าว่าตอนท่านมาอยู่ที่วัดนี้เพิ่งจะเสร็จสิ้นพิธีศพของพระยามโนฯ ไปเพียงประมาณปี ยังพอเห็นเครื่องไม้เครื่องเมรุที่เหลือจากพิธีอยู่ภายในวัดเจ้าอาวาสท่านก่อนได้เล่าว่าเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และยังจำได้ว่ามีสัปเหร่อและคนทำพิธีจากเมืองไทยมาเอาอัฐิของพระยามโนฯ ไปทำพิธีที่เมืองไทย
       
       คำบอกเล่าของท่านเจ้าอาวาสประหนึ่งว่ามีการเผาที่ปีนังก่อนแล้วค่อยนำอัฐิไปทำพิธีพระราชทานเพลิงที่เมืองไทยอีกรอบ ที่ต้องบันทึกไว้เผื่อลูกหลานหรือผู้สนใจค้นคว้าตรวจสอบกันเอง ผมนั้นขอทำหน้าที่แค่นักบันทึกไปเจออะไรก็บันทึกเป็นหมายเหตุไว้ก่อน
       
       สำหรับผมจินตนาการว่าตอนที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาอสัญกรรมเมื่อ 1 ต.ค.2491 นั้นคงจะเป็นเพียงพิธีบรรจุเอาไว้ชั่วคราวเท่านั้นเพราะมีหลักฐานว่ามีพิธีพระราชทานเพลิงศพในกรุงเทพฯ ในเดือนเมษายน 2492 เพียง 6 เดือนหลังการตายซึ่งไม่ถือว่านานมากเพราะการเดินทางติดต่อสื่อสารและเตรียมการต่าง ๆ ในยุคนั้นไม่สะดวกนัก แต่ที่ต้องบันทึกก็คือได้มีการตีพิมพ์หนังสือ “สาส์นสมเด็จ” พระนิพนธ์โต้ตอบของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ กับ สมเด็จกรมพระยานริศฯ เป็นที่ระลึกในพิธีพระราชทานเพลิงศพครั้งนั้นด้วย
       
       มันมีความระหว่างบรรทัดที่น่าสนใจเพราะทั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และ พระยามโนฯ ต่างก็เคยลี้ภัยการเมืองจากคณะราษฏร์อยู่ในปีนัง กรมพระยาดำรงฯเสด็จกลับตอนสงครามโลกอยู่กรุงเทพฯประมาณปี ก็สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2486 ส่วนพระยามโนฯ ยังอยู่ต่อเพราะผู้ยิ่งใหญ่สุดในยุคนั้นคือ จอมพล ป.ยังไม่เปิดไฟเขียว พระครูปัญญาศาสนานุรักษ์เจ้าอาวาสวัดยังเล่าว่ามีคนไทยที่เป็นทหารหนีภัยจากเหตุต่าง ๆ อีกหลายคน เอ่ยชื่อคนนั้นคนนี้หนึ่งจดไม่ทันเพราะไม่มีพื้น สองท่านพระครูเองก็เจอนานมากแล้วไม่แน่ว่าคนเหล่านั้นยังอยู่หรือเปล่า
       
       สำหรับถนน Jalan Mano และซอย Solok Mano เป็นถนนเล็ก ๆ แยกจากถนนใหญ่สาย Jalan Bagan jermal ที่ตั้งใจไปดูให้เห็นกับตาและต้องการถ่ายรูปเก็บไว้เป็นย่านที่อยู่อาศัยนอกเมืองออกไป ไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวถ้าไม่มีแผนที่ดาวเทียม Google Earth ติดไว้ในมือถือก็คงหายากหน่อย ย่านดังกล่าวเป็นบ้านพักอาศัยชั้นเดียวของคนระดับชั้นกลางค่อนข้างสูง เป็นบ้านมีรั้วทั้งย่านหลับตานึกว่าเมื่อ 80 ปีก่อนมันคงเป็นที่สวนรกครึ้มแยกตัวเองโดดเดี่ยวออกจากเมืองและผู้คน
       
       อ่านจากงานของธัชชัย ยอดพิชัย ในศิลปะวัฒนธรรมที่อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของบุตรชายพระยามโนฯ ว่าเป็นสวนเงาะและตอนสงครามก็รื้อสนามหญ้าหน้าบ้านปลูกมันสำปะหลังกินกันแก้อาหารขาดแคลนไม่ลำบากเท่าไหร่ แล้วนึกไปถึงชะตาของกรมพระยาดำรงฯ ที่ดูจะหนักหนากว่าเพราะต้องแบกพระอิศริยยศเกียรติศักดิ์ศรีของเจ้านายแห่งสยามประเทศอยู่ เรื่องราวความยากลำบากของพระองค์ถูกถ่ายทอดผ่านงานเขียนของ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล มานานพอสมควรหลายท่านคงจะผ่านตามาแล้ว และคงหาอ่านไม่ยากจะไม่เล่าซ้ำ
       
       ผมนึกแปลกใจที่สงคมไทยไม่ได้ให้น้ำหนักการศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนผ่านการเปลี่ยนแปลงให้มากกว่าที่เป็น มีหลายคนที่ผมพบแปลกใจที่ผมเล่าว่าไปถ่ายภาพที่บรรจุศพของพระยามโนปกรณ์ที่ปีนัง ยังโชคดีที่เรื่องราวรอยต่อเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีคนแรกยังพอมีบุคคลเกี่ยวข้องยืนยันต่อเชื่อมอยู่ แต่น่าเสียดายที่รายละเอียดบางเรื่องเกี่ยวกับการจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพกรมพระสวัสดิวัตน์ฯ เจ้านายองค์สำคัญพระบิดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีในรัชกาลที่ 7 ที่เมืองปีนังกลายเป็นเรื่องที่นานเกินกว่าจะหาบุคคลเชื่อมโยงมายืนยันเสียแล้ว
       
       ผมถามท่านพระครูเรื่องกรมพระสวัสดิ์ฯ ท่านตอบเพียงว่าเป็นผู้ตั้งชื่อวัดเป็นไทยว่าปิ่นบังอรแต่ท่านพระครูเองก็ไม่ทราบเรื่องการจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพมาก่อน ผมไปเจอเจ้าหน้าที่สถานกงสุลไทยคนหนึ่งที่วัดในซึ่งอยู่ติด ๆ กับวัดปิ่นบังอรเจ้าหน้าที่ท่านนี้เล่าว่าทางกรุงเทพฯ ยังเคยถามข้อมูลเรื่องกรมพระสวัสดิ์ฯ มาแต่ทางสถานกงสุลไม่ทราบเพราะที่วัดไม่ได้บันทึกอะไรไว้
       
          เรื่องกรมพระสวัสดิ์ฯ น่าสนใจครับเพราะนอกจากเป็นเจ้านายองค์สำคัญ นอกจากเป็นพิธีพระราชทานเพลิงนอกพระราชอาณาเขตที่ค่อนข้างฉุกละหุกแล้วกรมพระสวัสดิ์ยังทรงเป็น
       ปฐมเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมอีกด้วย
       
       ไว้ตอนหน้าผมจะนำความจาก “สาส์นสมเด็จ” เล่าเรื่องพิธีพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ที่วัดปิ่นบังอรและสถานที่จริงที่ผมไปพบครับ.

ที่มา: manager.co.th/Columnist/ViewNews.aspx?NewsID=9540000132307

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.575 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 14 มีนาคม 2567 16:39:07