[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 27 มีนาคม 2557 17:24:32



หัวข้อ: พบศิวลึงค์ทองคำ ๒ องค์ อายุกว่าพันปี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 มีนาคม 2557 17:24:32
.

(http://www.matichon.co.th/online/2014/03/13959085501395909138l.jpg)
พบศิวลึงค์ทองคำ ๒ องค์ อายุกว่าพันปี

วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๗ นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่ามีการขุดค้นพบศิวลึงค์ทองคำ ๒ องค์ ขุดค้นพบจากถ้ำบนเขาพลีเมือง ต.สิชล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช โดยนายเสกสันต์ นาคกลัด ชาวบ้านเข้าไปขุดมูลค้างคาวในถ้ำดังกล่าว พบแผ่นอิฐขนาด ๑๖ เซ็นติเมตร ยาว ๓๐ เซ็นติเมตร เรียงกันอยู่ จึงงัดแผ่นอิฐดังกล่าวพบอิฐแผ่นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยกอิฐขึ้นพบว่าภายในมีผอบทำด้วยโลหะ มีฝาปิด เปิดฝาอบออกจึงพบศิวลึงค์ทองคำ

จากการตรวจสอบ และประเมินอายุของกรมศิลปากร พบว่า ลักษณะของศิวลึงค์ เป็นแบบประเพณีนิยมอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ หรือมีอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี  ยังพบโบราณวัตถุอีก ๖ รายการ ประกอบด้วย ๑.ผอบทำด้วยโลหะ ๒. ผอบลักษณะทำด้วยโลหะ ๓. อิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ๔. อิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๕. พบฐานทำด้วยโลหะ (เงิน) และ ๖. แผ่นรอง มีลักษณะเป็นแผ่นทองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส

นายเอนกกล่าวอีกว่า ก่อนหน้าในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ได้พบโบราณวัตถุสำคัญๆ หลายชิ้นเมื่อปี ๒๕๒๕ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางโบราณคดี พบว่า พื้นที่ อ.สิชล มีเทวาลัยในศาสนาพราหณ์ไม่ต่ำกว่า ๓๐ แห่งกระจายอยู่ ที่ผ่านมามีการพบศิวลึงค์ในเขตอำเภอสิชลแล้ว ๒๔ องค์

โดยศิวลึงค์ทองที่พบถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทางโบราณคดีอย่างสูงทั้งนี้ ผู้ค้นพบได้ประสานจะมอบศิวลึงค์ที่ขุดพบให้กับกรมศิลปากร ในวันที่ ๑ เมษายน จากนั้นตนจะนำมาจัดแสดงเพื่อให้ประชาชนได้ชม และศึกษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ๑ องค์ และอีก ๑ องค์จะนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
...ที่มา สุขใจร้านน้ำชา เว็บไซต์สุขใจดอทคอม


(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/f/f9/Aikya_Linga_in_Varanasi.jpg/220px-Aikya_Linga_in_Varanasi.jpg)
การถวายดอกไม้เป็นเครื่องบูชาแก่ศิวลึงค์
ศิวลึงค์ ลึงค์ หรือ ลิงค์ (สันสกฤต: लिङ्गं liṅgaṃ) หมายถึง เครื่องหมาย สัญลักษณ์ เพศ องคชาต การอนุมาน คัพภะที่ก่อเกิดลูกหลานชั่วนิรันดร์ เป็นสัญลักษณะของพระศิวะเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ใช้ในการบูชาสักการะในโบสถ์วิหารฮินดู ในศาสนาฮินดูยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าศิวลึงค์เป็นตัวแทนทางกายภาพของเทพเจ้าหรือเป็นเครื่องหมายทางจิตวิญญาณ
 
ศิวลึงค์ ถูกแปลความว่าเป็นเครื่องหมายแห่งพลังสร้างสรรค์ในบุรุษเพศที่มาจากองคชาต แม้ว่าในปัจจุบันชาวฮินดูส่วนใหญ่จะมองศิวลึงค์เป็นเครื่องหมายแห่งพลังศักดิ์สิทธิ์มากกว่าเครื่องหมายทางเพศศิวลึงค์มักปรากฏอยู่พร้อมกับโยนีสัญลักษ์ของพระแม่ปารวตีอันบ่งบอกถึงพลังสร้างสรรค์ของสตรีเพศ การที่ศิวลึงค์และและโยนีอยู่ร่วมกันแสดงถึง "ความเป็นสองในหนึ่งเดียวที่แยกออกจากกันไม่ได้ของบุรุษและสตรี อวกาศที่หยุดนิ่งและเวลาซึ่งเคลื่อนที่อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพชีวิต" ตั้งแต่สิ้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นักวิชาการตีความว่าศิวลึงค์และโยนีเป็นอวัยวะเพศชายและหญิง ขณะที่ชาวฮินดูเห็นว่าทั้งสองสิ่งเป็นเครื่องแสดงถึงหลักการที่ว่าหญิงและชายไม่อาจแยกออกจากกันได้และเป็นเครื่องหมายแห่งการก่อกำเนิด
...วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี


หัวข้อ: Re: พบศิวลึงค์ทองคำ ๒ องค์ อายุกว่าพันปี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 เมษายน 2557 18:16:17
.
(http://www.matichon.co.th/online/2014/04/13963358441396336711l.jpg)
กรมศิลปากร รับมอบศิวลึงค์ทองคำ ๒ องค์
จากชาวบ้านสิชล-ชี้เป็นครั้งแรกที่ขุดพบ

วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๗ ที่ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ กรมศิลปากร นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีรับมอบศิวลึงค์ทองคำ ๒ องค์ พร้อมผอบเงินบรรจุศิวลึงค์ ผอบอิฐชั้นนอกและอิฐที่เป็นองค์ประกอบซึ่งพบในถ้ำบนเขาพลีเมือง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช จากนายเสกสันต์ นาคกลัด ชาวบ้านหมู่ที่ ๒ บ้านจอมทอง อ.สิชล เพื่อนำโบราณวัตถุดังกล่าวไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ว่า ผลพิสูจน์ศิวลึงค์ทองคำทั้ง ๒ องค์และองค์ประกอบล้วนเป็นโบราณวัตถุแท้จริงและพบในแหล่งที่ใช้เป็นที่ประกอบพิธีฝังไว้ตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดู ไศวนิกาย ปรากฎร่องรอยหลักฐานการประดิษฐานศาสนาฮินดูและการสร้างศาสนสถานของศาสนานี้ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขต อ.สิชล และอ.ท่าศาลา อยู่มากมายไม่น้อยกว่า ๓๐ แห่ง แหล่งที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ แหล่งเขาคาใน อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช

นายเอนก กล่าวว่า ข้อมูลวิชาการนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากศิวลึงค์ทองคำนี้อาจเรียกว่า ′สุวรรณลิงคะ′ ตามการกล่าวถึงในคัมภีร์ และปรากฎการเรียนเช่นนี้ในศิลาจารึกที่พบในประเทศไทย โดยการสร้างศิวลึงค์ของชุมชนฮินดูใน อ.ท่าศาลา สิชล ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔ อายุกว่า ๑ พันปี เพื่ออุทิศให้กับผู้มีอำนาจทางโลกหรือทางธรรมที่ล่วงลับไปแล้วเพื่อให้ผู้ล่วงลับเข้าไปรวมกับพระเจ้าสูงสุด คือพระศิวะหรือไปสู่โลกของพระเจ้าที่เรียกว่า ศิวโลก และทั่วไปจะขุดค้นพบศิวลึงค์ที่ทำจากวัสดุที่เป็นหินทรายและหินทั่วไป ยังไม่เคยพบสุวรรณลิงคะ หรือ ศิวลึงค์ทองคำ

ดังนั้น การค้นพบศิวลึงค์ทองคำครั้งนี้ จึงถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่มีชาวบ้านพบแล้วนำมามอบให้กรมศิลปากรเก็บรักษาเพื่อเป็นมรดกของชาติ จึงได้มอบเงินรางวัล ๑ ใน ๓ ของราคาประเมินแก่นายเสกสันต์ ผู้พบศิวลึงค์ทองคำ ๒ องค์พร้อมโบราณวัตถุที่เป็นองค์ประกอบอย่างครบถ้วน เป็นเงินจำนวน ๔๕๐,๐๐๐ บาท ส่วนกรณีมีข้อมูลระบุว่าการค้นพบศิวลึงค์ครั้งนี้แท้จริงมีทั้งหมด ๔ องค์ ได้รับการรับมอบแล้ว ๒ องค์ ส่วนอีก ๒ องค์ยังอยู่ในการครอบครองของเอกชน

ด้านนายเสกสันต์ กล่าวว่า ได้เก็บรักษาศิวลึงค์นี้ไว้เกือบ ๑๐ ปี จึงตัดสินใจมามอบให้กรมศิลปากร เนื่องจากไม่อยากเก็บไว้คนเดียว เป็นสมบัติของตัวเอง อยากให้เป็นสมบัติของชาติให้ทุกคนมาชื่นชม หากอยากมาดูก็มาดูได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกคนที่มีโบราณวัตถุในครอบครองเห็นความสำคัญในข้อนี้และนำมามอบให้กรมศิลปากรเก็บรักษาเป็นสมบัติของชาติต่อไป
...ที่มา สุขใจร้านน้ำชา เว็บไซต์สุขใจดอทคอม