[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 25 มีนาคม 2559 15:43:41



หัวข้อ: พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 มีนาคม 2559 15:43:41

(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/1/11/Tabinshwehti_Nat.jpg/263px-Tabinshwehti_Nat.jpg)
ภาพจาก: wikimedia.org

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ พระมหากษัตริย์พม่าในราชวงศ์ตองอู ครองราชย์ประมาณ พ.ศ.๒๐๗๔-๒๐๙๔ ทรงยกกองทัพเข้ามาทำสงครามกับไทยในศึกเชียงกราน อันถือเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างไทยกับพม่า และเป็นมูลเหตุให้เสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.๒๑๑๒

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ตามความหมายแปลว่าสุวรรณเอกฉัตร เป็นพระราชโอรสพระเจ้าเมงคยินโย หรือพระเจ้ามหาสิริไชยสุระ กษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์ตองอู

มีเรื่องกล่าวกันว่าพระองค์ประสูติก่อนรุ่งอรุณขณะบรรยากาศยังมืดอยู่ แต่พระแสงดาบและหอกในห้องสรรพาวุธกลับส่งประกายแวววาว ถือเป็นนิมิตว่าพระองค์จะทรงเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ พระบิดาจึงขนานพระนามว่าตะเบ็งชะเวตี้  พระองค์ทรงมีพระเกียรติคุณแผ่ไพศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความกล้าหาญ เมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระมหาอุปราชทรงเลือกทำพิธีเจาะพระกรรณตามพระราชประเพณีที่วัดมหาธาตุมุเตาหรือวัดชเวมาวดอ ซึ่งอยู่ที่เมืองหงสาวดีหรือพะโค เมืองศูนย์กลางของมอญ ขณะนั้นยังเป็นอิสระอยู่ โดยทรงนำกำลังทหารพม่าไปด้วย ๕๐๐ คน ขณะกำลังทำพิธีอยู่ในวัด ทหารมอญเมื่อทราบข่าวก็เข้ามาล้อมจับ พระองค์ทรงนำกำลังทหารพม่าตีฝ่าวงล้อมของทหารมอญออกไปได้ กิตติศัพท์ความกล้าหาญของพระองค์ครั้งนี้ปรากฏไปทั่ว เป็นการสร้างเสริมพระบารมี

สภาพการเมืองในพม่านั้นประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ เข้ามาตั้งที่ทำกินอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน เริ่มต้นเมื่อพวกพยูซึ่งเป็นเชื้อสายต้นตระกูลพม่าตั้งเมืองหลวงชื่อว่าศรีเกษตร อยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดีในพม่าตอนกลาง พวกมอญตั้งอาณาจักรอยู่ในพม่าตอนล่าง ต่อมาพม่าตั้งอาณาจักรพุกามในพม่าตอนบนริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดี  อาณาจักรนี้รุ่งเรืองมาก ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ สามารถขยายลงมายึดครองอาณาจักรมอญที่เมืองสะเทิม อาณาจักรรุ่งเรืองอยู่เป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปี ก็ถูกกองทัพมองโกลสมัยจักรพรรดิกุบไลข่านตีย่อยยับไปใน พ.ศ.๑๘๓๐ พุกามถูกยึดครองระยะหนึ่ง

ดินแดนพม่าจึงแตกแยกเป็นแว่นแคว้นต่างๆ ทางเหนือมีศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองอังวะ ตอนกลางมีศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองตองอู ทางด้านตะวันตกของภาคกลางมีแคว้นยะไข่ ทางใต้มีเมืองหงสาวดีของมอญ  ระหว่างนี้อาณาจักรตองอูได้สะสมกำลังมีอำนาจขึ้นจนกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ พวกพม่าที่อังวะก็เข้ามาร่วมด้วย  ในที่สุด พระเจ้าเมงคยินโยก็สามารถก่อตั้งราชวงศ์ตองอูขึ้นใน พ.ศ.๒๐๒๙

ราชวงศ์ตองอูพยายามขยายอาณาจักรลงทางใต้ โดยเฉพาะเมืองหงสาวดีในอาณาจักรมอญเพื่อใช้เป็นเมืองท่าติดต่อค้าขายกับฝรั่งชาติตะวันตกซึ่งเดินทางมาหาสินค้าประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ไหม เพชร พลอย และของป่าจากเอเชียส่งไปขายที่ยุโรป ขณะเดียวกันฝรั่งก็ได้นำอาวุธปืนและสินค้าฟุ่มเฟือยจากยุโรปเข้ามาขายในดินแดนเอเชียด้วย  เนื่องจากหงสาวดีอยู่ในเส้นทางการเดินเรือจากอินเดียผ่านมาเพื่ออ้อมแหลมมลายูไปยังอินโดจีน จีน ญี่ปุ่น ต่อไป

เมื่อพระเจ้าเมงคยินโยสวรรคต พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ขึ้นครองราชย์สมบัติเมืองตองอูสืบต่อมา พระองค์ทรงมีนายทหารคนสนิทนายหนึ่งมีนามว่าชินเยทูต มีอายุมากกว่าพระองค์เล็กน้อย เป็นนายทหารที่มีความสามารถ กล้าหาญ เข้มแข็ง มีประสบการณ์ รับใช้ใกล้ชิดและเป็นที่ปรึกษาของพระองค์ ปรากฏว่านายทหารผู้นี้ผูกสมัครรักใคร่กับพระเชษฐภคินีของพระองค์ ตามกฎมณเฑียรบาลของพม่าถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นกบฏซึ่งมีโทษประหาร แต่พระองค์ทรงตัดสินพระทัยให้พระเชษฐภคินีสมรสด้วย และทรงแต่งตั้งให้ชินเยทูตเป็นเจ้า มีตำแหน่งเป็นกยอดินนรธา การตัดสินพระทัยดังกล่าวทำให้พสกนิกรชื่นชมในพระเมตตามาก และทำให้กยอดินนรธาจงรักภักดีอย่างยิ่งยวด เป็นกำลังสำคัญทำการรบได้ชัยชนะหลายครั้ง ทำความดีความชอบให้มาก จึงทรงแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสูงขึ้นเป็นบุเรงนอง หรือ พระเชษฐาธิราช

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทรงขยายพระราชอาณาจักร โดยการปราบปรามเมืองต่างๆ พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะปราบปรามมอญโดยเร็วที่สุดเพื่อจะยึดเมืองท่ามอญเป็นเส้นทางการค้า เป็นแหล่งซื้อปืนคาบศิลา ปืนใหญ่จากโปรตุเกส ตลอดจนจ้างทหารชาวโปรตุเกสเพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในการเข้ายึดเมืองหงสาวดี พระองค์ตีได้เมืองพะสิม จากนั้นทรงเข้าตีได้เมืองหงสาวดี แปร และอังวะ นับได้ว่าพระองค์ทรงรวบรวมมอญและพม่าให้เป็นชาติเดียวกันได้สำเร็จ จากนั้นได้ยกกองทัพไปตีเมืองเมาะตะมะ ซึ่งมีทหารจ้างชาวโปรตุเกสเช่นกัน ทำให้การสู้รบค่อนข้างยาก แต่ทรงได้ชัยชนะในที่สุด พวกมอญที่เมาะลำเลิงและบริเวณใกล้เคียงต่างเกรงกลัวพระบารมี จึงยอมอ่อนน้อมต่อพม่าทั้งสิ้น จากนั้นทรงปราบปรามไทยใหญ่แล้วเสด็จไปยังเมืองพุกามกระทำพิธีบรมราชาภิเษกอย่างสมบูรณ์แบบเช่นเดียวกับกษัตริย์พุกามทุกประการ เมื่อย้อนกลับมาเมืองหงสาวดีก็ทรงกระทำพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบกษัตริย์มอญ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระราชอำนาจที่ทรงมีครอบคลุมทั้งพม่าและมอญ

ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทรงไปโจมตียะไข่ ยังตีไม่สำเร็จก็มีข่าวทัพไทยยกมาบริเวณตะนาวศรี จึงรีบเสด็จกลับเมืองหงสาวดี

เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงปราบปรามอาณาจักรต่างๆ ได้แล้ว ทรงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองหงสาวดี แทนที่จะย้อนกลับไปตั้งราชธานีที่พุกามหรืออังวะเหมือนในอดีต ความพยายามขยายอาณาเขตลงทางใต้ทำให้พรมแดนพม่าเข้ามาประชิดกับดินแดนของกรุงศรีอยุธยาจนเป็นสาเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น

ตามพระราชพงศาวดารกรุงสยามกล่าวว่า ใน พ.ศ.๒๐๘๑ เกิดสงครามขึ้นที่ชายแดนที่เมืองเชียงกราน นับเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างไทยกับพม่า กล่าวกันว่าในกองทัพไทยมีทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสช่วยรบอยู่ประมาณ ๑๒๐ คน  พม่าก็มีทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสช่วยรบอยู่ด้วย สงครามเมืองเชียงกรานเป็นสงครามแรกที่มีการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ในประวัติศาสตร์ไทย ปืนและปืนใหญ่เป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นเครื่องช่วยเสริมอำนาจได้เป็นอย่างดี

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายในไทยรบพม่าว่า เมืองเชียงกรานเป็นหัวเมืองปลายแดนไทย มอญเรียกว่าเดิงกรายน์ อังกฤษเรียกว่าเมืองอัตรัน อยู่ต่อแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงทราบข่าวศึก จึงเสด็จยกทัพไปรบพม่า ตามความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ว่า “เถิงเดือน ๑๑ เสด็จไปเชียงไกร เชียงกราน” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายต่อไปว่า จดหมายเหตุของปินโตโปรตุเกสบันทึกว่าครั้งนั้นมีพวกโปรตุเกสเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ๑๓๐ คน สมเด็จพระไชยราชาธิราช เกณฑ์โปรตุเกสเข้ากองทัพไปด้วย ๑๒๐ คน ได้รบพุ่งกันกับพม่าที่เมืองเชียงกรานเป็นสามารถ ไทยตีกองทัพพม่าพ่ายไป ได้เมืองเชียงกรานคืนมาเป็นของไทยดังแต่ก่อน เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราช เสด็จกลับมาถึงพระนครทรงยกย่องความชอบพวกโปรตุเกสที่ได้ช่วยรบพม่าคราวนั้น จึงพระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนที่แถวบ้านดินเหนือคลองตะเคียนแล้วพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พวกโปรตุเกสสร้างวัดสอนศาสนาตามความพอใจ จึงเป็นเหตุให้มีวัดคริสตังและบาทหลวงมาตั้งในเมืองไทยแต่นั้นมา

เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตใน พ.ศ.๒๐๘๙ เกิดเหตุจลาจลเมื่อพระแก้วฟ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อมาถูกขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ปลงพระชนม์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงขจัดเหตุวุ่นวายทั้งปวงและขึ้นครองราชสมบัติ ใน พ.ศ.๒๐๙๑

เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ทรงทราบข่าวจลาจลในกรุงศรีอยุธยา ทรงเห็นเป็นโอกาสที่จะขยายพระราชอาณาเขตมาทางกรุงศรีอยุธยา จึงทรงสั่งให้เกณฑ์ทัพมาตั้งชุมนุมที่เมืองเมาะตะมะ แล้วเสด็จยกทัพเข้ามาทางกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้กองทัพไปตั้งรับทัพอยู่ที่สุพรรณบุรี และเตรียมกรุงศรีอยุธยาเป็นที่รับศึก พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ยกทัพเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรีไม่มีผู้ใดต่อต้าน ก็ยกต่อมาถึงสุพรรณบุรี กองทัพไทยทานกำลังไม่ได้ถอยกลับมากรุงศรีอยุธยา พม่ายกทัพตามมาจนถึงชานพระนครทางทุ่งลุมพลีข้างด้านเหนือ

สมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีพระราชประสงค์จะดูกำลังข้าศึก พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระสุริโยทัยพระอัครมเหสีซึ่งทรงแต่งพระองค์เป็นชายอย่างพระมหาอุปราชา พระราเมศวร และพระมหินทรพระราชโอรสทรงพระคชาธารตามเสด็จ กองทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิยกไปปะทะกองทัพพระเจ้าแปรซึ่งเป็นทัพหน้าของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียที พระเจ้าแปรขับช้างไล่มา สมเด็จพระสุริโยทัยเกรงพระสวามีจะเป็นอันตรายจึงขับช้างเข้าขวางช้างข้าศึกไว้ พระเจ้าแปรได้ทีฟันสมเด็จพระสุริโยทัยด้วยสำคัญว่าเป็นชายสิ้นพระชนม์ซบลงกับคอช้าง พระราเมศวร และพระมหินทร ทรงขับช้างเข้าต่อสู้ พระเจ้าแปรถอยไป จึงกันพระศพสมเด็จพระสุริโยทัยกลับพระนคร เมื่อเสร็จสงครามแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงศพที่สวนหลวงตรงต่อเขตวัดสบสวรรค์แล้วสร้างพระอารามขึ้นตรงพระเมรุ มีพระเจดีย์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ภายในวัด เรียกว่า วัดสวนหลวงสบสวรรค์

ส่วนกองทัพพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ไม่สามารถตีหักเอากรุงศรีอยุธยาได้ ตั้งล้อมอยู่จนเสบียงอาหารหมด จึงยกทัพกลับขึ้นไปทางเหนือออกไปทางด่านแม่ละเมา

พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กลับจากกรุงศรีอยุธยาได้ไม่นาน ก็ถูกเจ้าเมืองสะโตงลอบปลงพระชนม์ ใน พ.ศ.๒๐๙๔ ประกาศให้หงสาวดีเป็นเอกราช เจ้าเมืองสะโตงตั้งตนเป็นกษัตริย์ แต่ชาวมอญไม่ยอมรับ ก่อกบฏขึ้น เมืองแปรและเมืองตองอูก็ตั้งตนเป็นอิสระ บุเรงนองต้องกลับมาปราบปราม และตั้งตนเป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทำพิธีบรมราชาภิเษกใน พ.ศ.๒๐๙๖
ส.ข.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/24813137782944_7.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/36576491263177_4.JPG)
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย
ทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา