[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ตลาดสด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 01 มิถุนายน 2566 14:14:09



หัวข้อ: ป่าสนเขา หรือป่าสน (Coniferous Forest/Pine Forestt) : บทความ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 มิถุนายน 2566 14:14:09
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/39474527496430_IMG_0167_Copy_.JPG)
ภาพจาก : อำเภอภูเรือ  จังหวัดเลย

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/86923738651805_IMG_9917_Copy_.JPG)
ภาพจาก : อำเภอภูเรือ  จังหวัดเลย

ป่าสนเขา หรือป่าสน

ป่าสนเขา หรืออาจเรียกอีกอย่างว่า ป่าสน (Coniferous Forest หรือ Pine Forest) เป็นสังคมป่าไม่ผลัดใบ มีองค์ประกอบของสนสองใบหรือสนสามใบเป็นไม้เด่น สังคมป่าประเภทนี้ค่อนข้างโล่ง พื้นล่างปกคลุมด้วยพื้นหญ้า ในประเทศไทย มักเห็นป่าสนเขาในพื้นที่สูงตามภูเขาเป็นส่วนใหญ่ มีอยู่มากในภาคเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ ๗๐๐ เมตรขึ้นไป และในบางครั้งอาจพบในพื้นที่ซึ่งมีระดับความสูงเพียง ๒๐๐-๓๐๐  เมตรเท่านั้น พบกระจายตั้งแต่จังหวัดเชียงรายลงมาจนถึงตาก เพชรบุรี เทือกเขาเพชรบูรณ์จนถึงจังหวัดชัยภูมิ  ส่วนภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปยังไม่ปรากฏว่าพบป่าชนิดนี้ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ  

ป่าสนเขาปกติมักปรากฏอยู่ที่ระดับต่ำกว่าป่าดงดิบเขา หรืออาจอยู่ในระดับเดียวกัน แต่ในพื้นที่มักจะแห้งแล้งกว่า หรือบริเวณที่ดินเก็บน้ำได้ไม่ดี มักจะขึ้นอยู่ในพื้นที่ซึ่งดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ มีความเป็นกรดสูง ลักษณะเป็นป่าโปร่งไม่ผลัดใบ ต้นสนเขาบางทีจะขึ้นอยู่เป็นหมู่ล้วนๆ โดยไม่มีต้นไม้ชนิดอื่นปะปนเลย แต่บางครั้งอาจพบขึ้นกระจายเป็นหย่อมๆหรือขึ้นปะปนอยู่กับชนิดพันธุ์ไม้ของป่าดงดิบเขา หรือป่าแดง

การจำแนกลักษณะป่าสนเขาอาศัยชนิดพันธุ์ไม้เป็นหลักเพียงอย่างเดียว คือ ป่าที่มีไม้สนสองใบ และสนสามใบ เป็นพันธุ์ไม้เด่น โดยโครงสร้างของป่ามี ๓ ชั้นเรือนยอด ไม้ชั้นบนจะประกอบด้วยสนล้วนๆ ส่วนพันธุ์ไม้ชั้นรองส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ไม้ในป่าดงดิบเขา โดยเฉพาะพันธุ์ไม้ในวงศ์ก่อ เช่น ก่อแอบ ก่อสีเสียด ก่อแหลม เป็นต้น รวมถึงพันธุ์ไม้อื่นๆ เช่น กำยาน สลักป่า หว้า มันปลา ส้มอ๊อบแอ๊บ เป้งดอย ปรงเขา และหัวแหวน เป็นต้น พืชคลุมดินในป่าสนเขาจะมีความผันแปรกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างของป่า เช่น ปริมาณของแสง และปริมาณใบสนที่ล่วงหล่นคลุมดิน โดยพบว่าป่าสนในภาคเหนือบางแห่งมีเรือนยอดค่อนข้างทึบ และมีใบหล่นคลุมดินหนา จึงมีพืชคลุมดินน้อย แต่ป่าสนเขาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรือนยอดชั้นบนค่อนข้างโปร่ง จะมีพืชคลุมดินขึ้นหนาแน่น โดยพืชคลุมดินส่วนใหญ่เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่สำคัญ คือ ตองกง แขมหลวง หญ้าแฝก และหญ้ายูง เป็นต้น

 
ป่าสนเขาในประเทศไทยมี ๒ ประเภทคือ

๑.ป่าสนผสมก่อ (Pine-Oak subtype) พบบนพื้นที่สูงเกิน ๑,๐๐๐เมตร สามารถแบ่งโครงสร้างป่าได้ ๓ เรือนยอด

- ชั้นเรือนยอด (canopy) สูงประมาณ ๓๐-๔๐ เมตร ประกอบด้วยไม้สน อาจจะเป็นสนสองใบหรือสนสามใบ บางพื้นที่ในชั้นเรือนยอดโผล่กระจัดกระจายไม่ต่อเนื่องกัน จะทำให้เกิดชั้นเหนือเรือนยอด (emergents) ได้

- ชั้นใต้เรือนยอด (understory) สูงประมาณ ๑๐-๒๐ เมตร มักจะขึ้นตามช่องว่างของเรือนยอดชั้นบน ชนิดพันธุ์ที่สำคัญ เช่น ก่อแอบ ก่อสีเสียด ก่อเดือย นอกจากวงศ์ก่อแล้วยังมี กำยาน สลักป่า หว้า เป็นต้น

- ชั้นไม้พุ่ม (shrub) ประกอบด้วยต้นมันปลา กำลังช้างสาร ปรงเขา เป็นต้น

๒.ป่าสนผสมเต็งรัง (Deciduous dipterocarp with pine subtype) พบในพื้นที่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ เมตร และมีการกระจายมากกว่าป่าสนผสมก่อ ในสภาพป่าที่สมบูรณ์จะมีโครงสร้างป่าได้ถึง ๔ เรือนยอด

- ชั้นเหนือเรือนยอด (emergents) สูงประมาณ ๓๐-๔๐ เมตร ประกอบด้วยไม้สน อาจจะเป็นสนสองใบหรือสนสามใบ บางพื้นที่ในชั้นเรือนยอดโผล่กระจัดกระจายไม่ต่อเนื่องกัน

- ชั้นเรือนยอด (canopy) สูงประมาณ ๒๐-๓๐ เมตร เรือนยอดต่อเนื่องกัน ประกอบด้วยไม้หลักในป่าเต็งรัง เช่น เหียง เต็ง รัง เป็นหลัก

- ชั้นใต้เรือนยอด (understory) สูงประมาณ ๗-๑๕ เมตร มักจะขึ้นตามช่องว่างของชั้นเรือนยอด จึงทำให้เรือนยอดไม่ต่อเนื่องกัน ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ในป่าเต็งรัง

- ไม้พุ่มและพื้นป่า มีความสูงประมาณ ๒-๓ เมตร ผสมกับไม้รุ่นของชั้นเรือนยอด

โดยทั่วไปป่าสนผสมเต็งรังมักจะเกิดไฟป่าเป็นประจำ จึงทำให้เปลือกของต้นสนมีความหนาและทนไฟได้ดี นอกจากนี้พืชพื้นล่างยังพัฒนาฝังตาเจริญไว้ใต้ดินเพื่อป้องกันความร้อนจากไฟป่าอีกด้วย

ด้วยสภาพป่าที่ค่อนข้างโล่ง จึงไม่ค่อยพบสัตว์ป่าที่อาศัยในป่าชนิดนี้มากนัก ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าที่เข้ามาใช้ประโยชน์มักจะเป็นสัตว์ป่าขนาดเล็ก อย่างกระต่าย ตุ่น กระรอก เป็นต้น ส่วนสัตว์ใหญ่อย่าง เลียงผา กวางป่า หมูป่า อาจจะเข้ามาใช้ประโยชน์บ้างหรืออาจใช้เป็นเส้นทางผ่าน นอกจากนี้ป่าสนเขายังเป็นแหล่งกล้วยไม้ที่สำคัญของประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะเอื้องกาจก เอื้องช้างน้าว เอื้องกุหลาบแดง เป็นต้น



ข้อมูลอ้างอิง :
- มูลนิธิสืบนาคะเสถียร  - เกร็ดความรู้ : ป่าสนเขา (Coniferous/ Pine Forest)
- ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี - ป่าสนเขา (Coniferous Forest หรือ Pine Forest)
- เว็บไซต์ saowalakmim11.wordpress.com - ป่าสน