[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 21 พฤษภาคม 2556 16:12:42



หัวข้อ: เรื่องเล่า พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 21 พฤษภาคม 2556 16:12:42
.

(https://fbcdn-photos-g-a.akamaihd.net/hphotos-ak-xat1/v/t1.0-0/s526x395/12049123_1650057048603721_20186403713127918_n.jpg?oh=59e5e73b049c74e676a99fc973880f54&oe=56B0FE10&__gda__=1454385620_036ce1d1ba1194c7e3a52138dc4bd66f)

เรื่องเล่าพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่
จากคำบอกเล่าของ พระครูย้อย ขนฺติพโล

พระครูย้อยขนฺติพโล (ย้อยหนูแก้ว) อดีตเจ้าอาวาสวัดอมรานุยุตต์ อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรนายชู-นางดำ  หนูแก้ว  บ้านศาลาแก้ว ตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร  จังหวัดนครศรีธรรมราช  ได้บวชครั้งแรกสมัยเป็นหนุ่มที่วัดโคกพิกุล ตำบลทรายขาว อำเภอหัวไทร  มีพระครูนิโครธจรรยานุยุตต์ (พรหมแก้ว) อดีตเจ้าคณะอำเภอหัวไทร เป็นพระอุปัชฌาจารย์  บวชครั้งหลังในงานฌาปนกิจศพของท่านอาจารย์พระครูนิโครธจรรยานุยุตต์ (บวชหน้าไฟ) เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๑  และตั้งใจจะบวชตลอดชีวิต  ตอนแรกจำพรรษาที่วัดโคกพิกุล สอบได้นักธรรมตรีจน พ.ศ. ๒๔๙๓ ญาติๆ ได้นิมนต์ไปจำพรรษาที่วัดอิมอญ รักษาการเจ้าอาวาส ๑ ปี แล้วได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอิมอญ ท่านได้ขอเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดอมรานุยุตต์  โดยเปลี่ยนคำ อิมอญ เป็น อมร และเอาคำ นุยุตต์ จากท้ายนามสมณศักดิ์พระครูนิโครธจรรยานุยุตต์ มาเพื่อเป็นที่ระลึกถึงท่านพระครูนิโครธฯ  จึงเป็น “วัดอมรานุยุตต์”  ท่านได้มรณภาพที่วัดอมรานุยุตต์ เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๑๗  อายุ ๘๓ ปี

ผู้เขียน เป็นหลานคนหนึ่งของท่านพระครูย้อยขนฺติพโล  ได้ขอให้ท่านเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาของท่านให้ฟัง และได้บันทึกเทปไว้เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๑๓  ขณะนั้นท่านมีอายุ ๗๙ ปี  ท่านก็เล่าไว้หลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ และ ม.ร.ว.หญิง  เป็นเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังจากคำเล่าของท่าน ซึ่งเล่าไว้เป็นภาษาใต้ ขอถอดเทปคำต่อคำโดยไม่มีการดัดแปลงใดๆ ทั้งสิ้นดังนี้

“จะเล่าประวัติเจ้าพระยานครให้ลูกหลานฟัง เมื่อคราวครั้งยังเป็นเด็กๆ เมื่อหนุ่มๆ อายุข้าพเจ้าได้ ๑๕-๑๖ ปี ยังไว้หัวเปีย คุณพ่อชูหนูแก้วได้เข้าเลกวัดกับเขาด้วยเพราะว่าพ่อท่านครูหนัง วัดศาลาแก้วนั้นได้เข้าไปอยู่วัดหน้าพระบรมธาตุเมื่อต้องอธิกรณ์ มีท่านพระครูพิศาล ฯ (ร่ม) เป็นผู้จัดการในพระบรมธาตุอีกครั้งหนึ่ง ได้ขอเลกวัดกับท่านครูพนังสัก ๑๐๐ คนเพื่อมิให้ถูกราชการ พอดีคุณพ่อชูได้เข้าเลกวัดกับเขาด้วย

ครั้นต่อมา พ.ศ. ๒๔๐๐ เศษเท่าใด ข้าพเจ้าจำไม่ได้ พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๕ ท่านจะเสด็จมาเมืองนคร เพื่อจะมาทำศพเจ้าคุณข้างใน เจ้าคุณข้างในท่านมีบารมีมาก ท่านจัดสร้างวัดไว้หลายแห่ง  มีวัดมเหยงคณ์เป็นตัวอย่าง และท่านได้สร้างกันมาด้วยมือตนเอง ซึ่งเป็นย่าของพระยาวรเดชเดโชสิงหราช

ตามประวัติคนเฒ่าเล่าว่า พระยาเดโชขึ้นลาถึง ๓ ครั้ง พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๕ ว่าจะเสด็จมาทำบุญด้วย ครั้งนั้นคุณพ่อชูให้ข้าพเจ้าไปทำงานแทนที่นครเพาะแกจะมาไถนาที่อ่าวเผือก ก็ให้ร้อนถึงพวกเลกวัดท่านครูพนังก็จัดเรียกตัวให้เข้าไปทำงานอยู่ ๑ เดือน ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จมาในเดือน ๗ ข้างแรม  ข้าพเจ้าจำไม่ได้ และเมื่อสมัยก่อนนั้นไม่มีทางรถ เสด็จมาทางเรือไฟ ๓ ราตรี ถึงปากพูน  จึงท่านเสด็จมาด้วยเรือเมล์ขึ้นที่ท่าแพ เสด็จขี่รถม้าคู่พร้อมทั้งพระเจ้าน้องยาเธอและพระหน่อทั้ง ๑๐ พระองค์ มีทหารขี่ม้านำหน้านุ่งชุดขาว ทหารวังหลังนุ่งชุดเขียว พระเจ้าแผ่นดินทรงนุ่งผ้าม่วงแสด  เสด็จมาถึงวัดพระบรมธาตุมีมโนราห์มุก และพรานหีดออกรับเสด็จ เต้นรำที่ป่าทราย ได้รับรางวัลขันเงินและขันทอง   ครั้นต่อมา พระพันปีหลวงเสด็จมาทีหลัง ทรงช้างถึง ๒๐ ช้าง เสด็จมาถึงวัดพระบรมธาตุ เมื่อเข้ากับเกยช้างแล้วพระเจ้าแผ่นดินเสด็จขึ้นไปยกพระพันปีหลวงให้ลงมาจากเกยช้าง ข้าพเจ้านับได้ ๒๐ ช้าง ช้างเชือกหนึ่งมีมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินทรงข้างละ ๒ องค์ รวมพระนางได้ ๔๐ องค์


ครั้นต่อมาวันที่ ๒ เป็นวันถวายพระเพลิงศพของคุณย่า พระยาวรเดชเป็นเจ้าภาพ พระเจ้าแผ่นดินพร้อมทั้งพระพันปีหลวงเป็นประธานได้รับสั่งให้หาตัวพวกเลกวัด ๑๐๐ คนมาถือธงนำหน้าแห่ศพไปเผาที่หน้าพระเมรุ พวกเลกวัดได้รับรางวัลข้าวห่อคนละโทง เมื่อพระเจ้าแผ่นดินได้จุดพระเพลิงศพแล้ว พระยาขนทวน พระยานครเจ้าเมือง ก็ให้รางวัลลูกโกกับพวกเลกวัดคนละ ๒ ลูก บางคนไม่รู้ว่าอะไรอยู่ในลูกโกนั้นจึงยื่นให้เพื่อนเสีย ที่จริงท่านฝังไว้ข้างในนั้นคือเงินเฟื้อง ครั้นต่อมาวันที่ ๓ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาปากพนัง มาตั้งศาลเมืองตัดสินจนกระทั่งทุกวันนี้.."


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/71052264173825_a1.gif)
เมรุเผาศพเจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ และ ม.ร.ว.หญิง ที่วัดสวนป่าน
ภาพจาก : หนังสือสารนครศรีธรรมราช

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/29021368051568_a2.gif)
ที่ตั้งศพเจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ และ ม.ร.ว.หญิง
ภาพจาก : หนังสือสารนครศรีธรรมราช

การเสด็จพระราชดำเนินนครศรีธรรมราชของพระพุทธเจ้าหลวงในครั้งนั้น นับเป็นการเสด็จมาเป็นครั้งที่ ๕ ระหว่างวันที่ ๓-๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ และวันที่ ๘ กรกฎาคม นั้นได้เสด็จประพาสปากพนัง ทรงเปิดศาลาปากพนังและเสด็จโรงสีไฟโค้วฮักหงี ที่บางนาวด้วย แล้วเสด็จกลับขึ้นเรือมหาจักรี เวลา ๒๐.๐๐ น. เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร

การเสด็จครั้งนั้นมาด้วยเรือมหาจักรี จากกรุงเทพฯ ๓ วัน ๓ คือถึงอ่าวนครฯ จอดเรือที่ปากพูน แล้วเสด็จด้วยเรือยนต์เล็กเข้ามาถึงท่าแพ แล้วเสด็จด้วยรถม้าพระที่นั่งเข้าสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ มีข้าราชการและประชาชนรับเสด็จเป็นจำนวนมาก เสด็จนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์มีมโนราห์มุกและพรานหีดรำถวายบนพื้นทราย หน้าพระอุโบสถวัดพระบรมธาตุ ได้รับพระราชทานขันเงินขันทองเป็นที่ระลึก

พระพุทธเจ้าหลวงพร้อมผู้ตามเสด็จ ได้แก่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง เจ้าจอมมารดา-จอมมารดา รวม ๔๐ องค์ พระโอรสธิดา รวม ๑๐ พระองค์ พระเจ้าน้องยาเธอ โดยเฉพาะสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งท่าน (พระครูย้อย) จำไม่ได้ เสด็จด้วย

คำที่พระครูย้อยเล่าว่า “เจ้าคุณข้างใน” นั้น ได้แก่ เจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ ในรัชกาลที่ ๓  ซึ่งเป็นธิดาคนโตของ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยหรือน้อยคืนเมือง) ที่ท่านเล่าว่าเป็นย่าของพระยาวรเดชนั้น
อยากทำความเข้าใจว่า งานพระราชทานเพลิงศพในครั้งนั้นมี ๒ ศพ คือ ศพเจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ กับ ศพ ม.ร.ว.หญิง  ซึ่ง ม.ร.ว.หญิงนั้น เป็นมารดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เป็นย่าแท้ๆ ของพระยาวรเดชศักดาวุธ (แย้ม ณ นคร)  เพราะพระยาวรเดชฯ เป็นบุตรของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) ส่วนเจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ ท่านเป็นพี่สาวของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) ซึ่งเป็นบิดาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม)  เจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่จึงมีศักดิ์เป็นคุณย่าของพระยาวรเดชเช่นเดียวกัน (เป็นพี่สาวของปู่) ท่านผู้อ่านโปรดทำความเข้าใจให้ดี

คำเล่าของพระครูย้อยที่ว่า พระยาเดโชขึ้นลาถึง ๓ ครั้ง นั้น  หมายถึง พระยาวรเดชศักดาวุธ (แย้ม)  ซึ่งต่อมาได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสีหราชเดโชชัย ได้ขึ้นกราบบังคมทูลลาพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ถึง ๓ ครั้งแต่ทรงยังยั้งไว้ เพราะต้องการเสด็จมาพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เอง

พระครูย้อยเล่าว่า ท่านได้ร่วมถือธงนำขบวนแห่ศพไปเผาที่หน้าพระเมรุ  ซึ่งตั้งในวัดสวนป่าน การแห่ศพนั้นได้แห่จากภายในจวนท่านเจ้าเมือง  ซึ่งอยู่ในบริเวณศาลจังหวัด และศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบันไปยังวัดสวนป่าน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ โดยตั้งเมรุพระราชทานเพลิงที่นั่น  (ดูเมรุตามภาพ)
 
ที่ท่านเล่าว่า “พระยาขนทวนพระยานครเจ้าเมือง” นั้นหมายถึง เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) เจ้าเมือง เล่ากันว่ามีขนตามร่างกายลักษณะทวนขึ้นมาไม่เหมือนขนของคนทั่วไป คนเมืองนครฯ จึงให้นามว่า “พระยาขนทวน”  ได้ให้เจ้าหน้าที่แจกข้าวห่อคนละ ๑ กระทง (โทง)  และให้ของขวัญเป็นเงินเฟื้องใส่ในตะกร้อสานด้วยใบมะพร้าว (ลูกโก) รูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ คนละ ๒ ลูก  ซึ่งผู้รับบางคนไม่ทราบว่ามีอะไรอยู่ข้างในจึงให้เพื่อนไปเสีย


ข้อมูลจาก  : หนังสือ สารนครศรีธรรมราช หน้า ๒๙-๓๓ ปีที่ ๔๑  ขอขอบคุณผู้อำนวยการกองการท่องเที่ยวและกีฬา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่กรุณาอนุเคราะห์ข้อมูล