[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 05 ตุลาคม 2564 20:19:55



หัวข้อ: โรคอัมพาตใบหน้า (Bell 's Palsy): พระอาการประชวรในรัชกาลที่ ๔
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 05 ตุลาคม 2564 20:19:55
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/55891088893016_244433272_1122702901470746_559.jpg)

โรคอัมพาตใบหน้า (Bell 's Palsy): พระอาการประชวรในรัชกาลที่ ๔

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุได้ ๓๒ พรรษา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ประทับอยู่ ณ วัดสมอราย (ปัจจุบันคือ วัดราชาธิวาสวิหาร ครั้งนั้นทรงพระประชวรด้วยพระโรค ซึ่งแพทย์ไทยเรียกว่า พระโรคลมอัมพาต คือ โรคที่มีอาการแขนขาซีกหนึ่งอ่อนแรง หรือเป็นอัมพาตขึ้นฉับพลัน

ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเรือไปรับหมอบรัดเลย์มาทำการรักษาพระอาการประชวรสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์ [พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว] เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๓๗๙

ซึ่งหมอบรัดเลย์และภรรยานี้ได้เคยมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์ เมื่อเดือนก่อน ดังปรากฏหลักฐานใน “จดหมายเหตุเรื่องมิซชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยาม” ความว่า

“...เวลาเช้าหมอบรัดเลได้รับสั่งจากเจ้าฟ้าน้อย ขอเชิญให้หมอบรัดเลไปเฝ้าเจ้าฟ้าใหญ่ ไปพร้อมกับพระองค์แลส่งเรือเก๋งประทานมาให้รับหมอบรัดเลไปก่อน ส่วนพระองค์เสด็จโดยเรือพระที่นั่งอิกลำหนึ่งต่างหากตามไปข้างหลัง ที่วัดวันนี้มีผู้คนมาทำบุญกันแน่นหนา เมื่อไปถึงแล้วคอยอยู่สักครึ่งชั่วโมงจึงได้เข้าเฝ้า เจ้าฟ้าใหญ่เสด็จออกมาประทับบนพระเก้าอี้ตรงหน้าหมอบรัดเล หมอบรัดเลนั่งเฝ้าอยู่บนเก้าอี้ ซึ่งสูงกว่าบรรดาผู้ที่หมอบเฝ้าอยู่ทุกๆ คน สงสัยว่าจะต้องกล่าวคำขอโทษหรือไม่ แต่ถือเสียว่าเป็นธรรมเนียมฝรั่งแลทั้งไม่มีผู้ใดต้องการให้กล่าวคำขอโทษด้วย จึงมิได้กล่าวคำขอโทษอย่างใดๆ หมอบรัดเลเห็นว่าอาการประชวรของพระองค์ไม่ใช่โรคเล็กน้อย โรคชนิดนี้หมอไทยเรียกกันว่า โรคลม (อัมพาต) เดิมจับตั้งแต่พระบาทแล้วลามสูงขึ้นไปโดยลำดับจนถึงเท่าที่เป็นอยู่ในบัดนี้ (ถึงพระพักตร์) แลเท่าที่หมอไทยได้รักษากันมาแล้วนั้น ใช้ยาชนิดร้อนๆ พอก หมอบรัดเลตรวจอยู่เป็นเวลานาน จึงเห็นว่าตามที่หมอไทยว่าเปนโรคเกิดแต่ลมแลรักษาโดยวิธีนั้นไม่ถูกเสียแล้ว เมื่อเจ้าฟ้าใหญ่แลเจ้าฟ้าน้อยได้ทรงสดับคำชี้แจงกราบทูลของหมอบรัดเลเช่นนั้น ก็ทรงเห็นว่ามีความจริงมาก คร่จะทรงเลิกหมอไทยแลให้หมอบรัดเลรักษาต่อไป แต่ชั้นต้นก็ยังทรงลังเลพระหฤทัยอยู่ จนเมื่อหมอบรัดเลได้ชี้แจงถวายให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งแล้ว จึงตกลงให้เลิกหมอไทยแล้วมอบภาระในเรื่องการรักษาพระโรคให้แก่หมอบรัดเลต่อไป...”

ต่อมาในวันที่ ๖ พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้แพทย์หลวงประจำพระองค์มารักษาพระอาการประชวร พระองค์จึงมีลายพระหัตถ์ถึงหมอบรัดเลย์ด้วยจำเป็นต้องให้แพทย์หลวงรักษาพระองค์ตามพระราชประสงค์ ดังปรากฏหลักฐานใน “จดหมายเหตุเรื่องมิซชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยาม” ความว่า

“...วันที่ ๖ พฤษภาคม วันนี้ เจ้าฟ้าใหญ่มีลายพระหัตถ์ฉบับหนึ่งมาถึงหมอบรัดเลว่า บัดนี้พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชโองการจะให้หมอหลวงมาประจำรักษาพระองค์ แลได้ทรงสัญญาว่าหมอหลวงนั้นจะรักษาให้หายได้ ภายใน ๓ วันเท่านั้น พระองค์ได้ทูลพระเจ้าแผ่นดินให้ทรงทราบเหมือนกัน ว่าเวลานี้หมอบรัดเลได้ถวายพระโอสถอยู่ แลว่าพระองค์ทรงสบายขึ้นมากตั้งแต่ได้เสวยพระโอสถที่หมอบรัดเลถวาย แต่ครั้นจะทรงปฏิเสธหมอหลวงเสียทีเดียวก็เกรงว่าจะเปนการขัดพระราชโองการ ฉนั้น พระองค์จึงได้แจ้งแก่หมอบรัดเลว่า ขอให้หมอหลวงได้รักษาพระองค์ตามพระราชประสงค์ ขอหมอบรัดเลอย่าได้มีความรังเกียจเลย ถ้าว่าหมอหลวงไม่สามารถรักษาพระองค์ให้หายตามกำหนดนั้นแล้ว พระองค์จึงจะขอให้หมอบรัดเลถวายพระโอสถต่อไปใหม่ หมอบรัดเลทูลตอบไปว่า มีความยินดีจะให้หมอหลวงได้ถวายพระโอสถตามพระราชโองการของพระเจ้าแผ่นดิน แลให้อยู่ในความรับผิดชอบของหมอหลวงนั้นทีเดียว แลไม่ยอมรับถวายพระโอสถพระองค์อิกต่อไป ด้วยเกรงว่าจะเกิดมีการแกล้งกันขึ้นในระหว่างหมอซึ่งอาจจะเปนอันตรายแก่คนไข้ (คือว่าเมื่อต้องการจะให้หมออิกฝ่ายหนึ่งเสียชื่อก็จะแกล้งเอายาที่แสลงแก่โรควางแล้วก็ทิ้งเสีย) อนึ่ง หมอบรัดเลเชื่อว่าพระอาการโรคของเจ้าฟ้าใหญ่เท่าที่ตนได้รักษาไปแล้วนั้น นับว่าเกือบหายดีแล้ว แลถึงแม้ว่าจะไม่ได้เสวยพระโอสถอย่างใดๆ อิก พระองค์ก็มีแต่จะทรงสบายขึ้นทุกๆ วัน  เรื่องนี้หมอบรัดเลเชื่อว่าเจ้าฟ้าใหญ่ทรงทราบอยู่ในพระหฤทัยเปนอันดี แลปอตกับตันก็เห็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะว่าพระโรคที่เจ้าฟ้าใหญ่ทรงประชวรนั้น หมอบรัดเลเชื่อว่าหมอไทยน้อยตัวนักที่จะรู้ถึง แลหมอบรัดเลอยากรู้นักว่าหมอไทยคนไหนที่ได้กล้าสัญญาว่าจะรักษาให้หายได้ในภายใน ๓ วัน เท่านั้น ตัวเขาจะได้สบายใจไม่ต้องเกี่ยวข้องอิกต่อไป...”

ครั้งนั้น หมอบรัดเลย์ได้วินิจฉัยพระอาการประชวรของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์ ว่าเป็นโรคอัมพาตใบหน้า (Bell 's Palsy) หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ ๗ อักเสบ เป็นโรคที่กล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งเกิดการอ่อนแรงไปชั่วขณะ อันมีความผิดปรกติของเส้นประสาทคู่ที่ ๗ ซึ่งจะเกี่ยวโยงกับกล้ามเนื้อใบหน้าแต่ละครั้ง

พระอาการประชวรนี้ปรากฏในหนังสือ "สยามแต่ปางก่อน ๓๕ ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์" ได้กล่าวถึงอาการประชวรในครั้งนั้นว่า  "...หลังจากการเข้าเฝ้าครั้ง (แรก) นั้นไม่นานนัก ข้าพเจ้า [หมอบรัดเลย์] ก็ได้รับพระบัญชาด่วนจากเจ้าฟ้าจุฑามณีให้เข้าเฝ้าพระเชษฐาของพระองค์ [สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์] เพื่อถวายการเยี่ยมไข้ ข้าพเจ้าเดินทางโดยเรือบดลำเล็กๆ ส่วนเจ้าฟ้าน้อย [สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์] ทรงประทับเรือพระที่นั่งติดตามมาไม่ห่างนัก ที่วัดมีผู้คนมากมาย ส่วนใหญ่นำของมาถวายองค์เจ้าอาวาส ข้าพเจ้าคอยอยู่ประมาณหนึ่งชั่วโมง พร้อมกับเจ้าฟ้าจุฑามณีและแพทย์ประจำองค์พระเชษฐาของท่าน จนในที่สุดผู้ป่วย คือเจ้าฟ้ามงกุฎก็เสด็จเข้ามา ทรงประทับที่พระเก้าอี้ข้างๆ ข้าพเจ้า ขณะที่พระอนุชาและคนอื่นๆ ทั้งหมดคุกเข่าลงเบื้องพระพักตร์ ข้าพเจ้ามิได้ขอพระราชทานอภัยที่ยังคงนั่งอยู่เช่นนั้น ซึ่งที่จริงก็ไม่มีใครบอกกล่าวแก่ข้าพเจ้าให้ขออภัยแต่อย่างใด รู้สึกว่าทุกคนจะยอมรับกันว่าข้าพเจ้านั่งบนที่สุูงเช่นนั้นก็ถูกต้องดีแล้ว

ข้าพเจ้าตรวจพบว่าเจ้าฟ้าพระองค์นั้นทรงพระประชวรหนัก เดิมทรงประชวรพระโรคในพระกรรณข้างขวา ซึ่งทำให้เส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามพระมังสาต่างๆ ในพระพักตร์เป็นอัมพาต ดังนั้นพระพักตร์ซีกขวาจึงหย่อนลงมาก และพระโอษฐ์ถูกดึงลู่ไปทางซ้าย เวลาจะทรงรับสั่งต้องทรงจับพระโอษฐ์ด้านขวาพยุงไว้ พระเนตรขวามีเส้นพระโลหิตคั่งเต็ม และเปลือกพระเนตรหย่อนเล็กน้อย กับมีตุ่มปูดโปนให้พระกรรณข้างขวาอีกด้วย

โรคนี้ข้าพเจ้าได้รับการบอกเล่าว่า เราเรียกว่าโรค "ลม" กล่าวกันว่าครั้งแรกจะเริ่มที่เท้า และค่อยๆ แล่นขึ้นมาถึงที่ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ทรงได้รับการรักษาด้วยวิธีที่ใช้กันอยู่พื้นๆ และเสวยพระโอสถที่ให้ความร้อน ข้าพเจ้าต้องเสียเวลาอยู่นานเพื่อจะทำให้ทั้งผู้ประชวรและบรรดาแพทย์เชื่อว่า ความคิดที่ว่า "ลม" เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยนั้น เป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระที่สุด

ทั้งองค์ผู้ประชวรและพระอนุชา ทรงเข้าพระทัยในสาระสำคัญที่ข้าพเจ้าอธิบายได้อย่างรวดเร็ว และทรงพยายามชักชวนให้บรรดาแพทย์ชาวพื้นเมืองเชื่อถือด้วย แต่ฝ่ายหลังยังไม่ค่อยเต็มใจที่จะละทิ้งสมมติฐานซึ่งเป็นหลักสำคัญของทฤษฎีของตน ข้าพเจ้าจึงอธิบายต่อไปถึงสาเหตุที่เชื่อได้ว่าทำให้เกิดโรคนี้ และรู้สึกพอใจที่ปรากฏว่าได้รับความเชื่อถือจากผู้ฟัง องค์ผู้ประชวรดูทรงพอพระทัยที่จะเลิกใช้แพทย์เดิมที่เคยทรงใช้ และยอมให้ข้าพเจ้าถวายการรักษาพระองค์แต่เพียงผู้เดียว

อย่างไรก็ตาม อีกสัปดาห์หนึ่งต่อมาเจ้าฟ้าทรงมีพระอักษรฉบับหนึ่งถึงข้าพเจ้า ความว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชโองการให้พระองค์อยู่ในความดูแลใกล้ชิดของแพทย์หลวงซึ่งสัญญาว่าจะรักษาให้ทรงหายได้ภายในสิบวัน ทรงเล่าว่าได้กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า ข้าพเจ้ายินดีรับรักษาพระองค์และได้ถวายพระโอสถซึ่งช่วยให้พระอาการประชวรหลายอย่างทุเลาลงจนพระองค์ทรงพระสำราญขึ้นในปัจจุบัน ทรงขอปฏิบัติตามพระราชโองการก่อน หากแพทย์ชาวสยามไม่อาจรักษาให้หายได้ในเวลาที่กำหนดก็อาจจะทรงมีโอกาสตามตัว ข้าพเจ้าไปถวายการรักษาต่อตามวิธีการของข้าพเจ้าอีก

ข้าพเจ้าทูลตอบไปว่า ข้าพเจ้าต้องยอมให้พระองค์อยู่ในความดูแลของแพทย์ของพระเจ้าอยู่หัวอย่างแน่นอน แต่ไม่อาจถวายสัญญาได้ว่าจะรับรักษาพระองค์ออีกครั้งหนึ่ง เพราะเสี่ยงต่อชื่อเสียงความเป็นแพทย์ของข้าพเจ้าหากยามรับรักษาต่อ หลังจากที่การรักษาไว้แรกเริ่มเป็นอย่างดีต้องเสียหายไป และทูลด้วยว่าพระองค์กำลังจะทรงพระสำราญเป็นปรกติ และการที่พระอาการดีขึ้นมากหลังจากวิธีการรักษาของข้าพเจ้าตามที่ทรงเห็นนั้น ก็ทำให้เชื่อได้ว่า อาจทรงพระสำราญดังเดิม โดยไม่ต้องถวายการเยียวยาเพิ่มขึ้นอีก

พระโรคที่ทรงประชวรคือ อัมพาตซีกซ้ายของพระเศียร ทำให้พระโอษฐ์บิดเบี้ยวไปทางขวาเป็นอย่างมาก แม้ว่าต่อมาจะมีข่าวว่าทรงหายประชวรแล้วก็ตาม แต่ความผิดปรกติของพระโอษฐ์ยังคงเห็นได้ชัดอยู่ตลอดพระชนม์ชีพ”

ดังนั้น หากสังเกตจากพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประดิษฐานอยู่ในห้องพระฉากตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงเทพรจนา (พลับ) ปั้นด้วยปูนน้ำมัน แลทรงมีพระราชวินิจฉัยมาโดยตลอดนั้น จะพบว่าบริเวณพระพักตร์ด้านขวาจักปรากฏร่องรอยของพระโรคคือ หางพระเนตรและมุมพระโอษฐ์จะตกลงกว่าเบื้องซ้าย ด้วยเป็นเหตุแห่งพระอัมพาตใบหน้า (Bell 's Palsy) ที่คงปรากฏมาตลอดพระชนมชีพ


ขอขอบคุณ เพจเล่าเรื่องวัดบวรฯ  (ที่มาเรื่อง/ภาพ)