[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 03 กรกฎาคม 2557 19:31:37



หัวข้อ: ปริศนา? มัมมี่ฟาโรห์ 'ตุตันคาเมน'
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 03 กรกฎาคม 2557 19:31:37
.

ปริศนาฟาโรห์ ตุตันคาเมน
มัมมี่ตุตันคาเมน ถูกเพลิงเผา!?

(http://www.trueplookpanya.com/data/product/media/MEMO/16_48.jpg)

ทัตอังค์อามุน (Tut–ankh–Amun = the living image of Amun ภาพที่มีชีวิตแห่งเทพอามุน) หรือที่เรียกกันคุ้นปากคุ้นหูว่าตุตันคาเมน ฟาโรห์หนุ่มน้อยแห่งราชวงศ์ที่ 18 ซึ่งมีคนรู้จักมากที่สุดในบรรดาฟาโรห์อียิปต์ และเป็นผู้ถูกแวดล้อมด้วยปริศนามากมาย ทั้งในการดำรงพระชนม์ชีพและการสวรรคต รวมถึงเรื่องของอาถรรพณ์คำสาปที่ลือกันว่าเฮี้ยนยิ่งกว่าฟาโรห์องค์ใดๆ

สุสานของพระองค์ที่เฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ค้นพบในปี ค.ศ. 1922 นั้น อลังการเนืองแน่นไปด้วยสมบัติล้ำค่านานาประการ โลงพระศพที่ซ้อนกันถึงสามชั้นก็งดงาม ยังหน้ากากทองคำที่คลุมพระพักตร์อีกเล่า ช่างอลังการเกินบรรยาย อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าการพันผ้าพระศพนั้นกระทำอย่างลวกๆ ผิดกว่าที่ควร แม้เนื้อผ้ากับเครื่องรางและอัญมณีที่ซุกตามผ้าพันพระศพจะเป็นวัสดุคุณภาพดีเช่นเดียวกับฟาโรห์องค์อื่นๆ ก็ตามที จึงเป็นเหตุให้สันนิษฐานว่า การประกอบพิธีเป็นไปอย่างเร่งรีบ เนื่องจากทัตอังค์อามุนอาจสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหัน ข้อสันนิษฐานนี้นำมาสู่ปริศนาที่ชวนพิศวงกว่านั้นก็คือพระองค์สิ้นพระชนม์อย่างไร ประเด็นนี้ นักวิชาการหลายหลากสาขาพยายามศึกษาวิเคราะห์กันมานาน ตั้งแต่ยังใช้เพียงเครื่องเอกซเรย์รุ่นเก่า เรื่อยมาจนปัจจุบันที่มีทั้ง CT Scan และการตรวจพิสูจน์ DNA


(http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1HTg5kDHL6fnwfEgo72QrhYgJ6P9d.jpg)

สาเหตุการสิ้นพระชนม์นั้นมีสมมติฐานจากนักวิชาการหลากหลายสาขาที่สมมติฐานยอดนิยมก็มีเช่น ถูกฆาตกรรมโดยมหาเสนาบดีของพระองค์เอง, เสียชีวิตด้วยโรคมาร์แฟนซินโดรม (Marfan Syndrome โรคความผิดปกติเนื้อเยื่อที่ทำให้อวัยวะเช่น แขน ขา นิ้ว กะโหลก ยืดยาวกว่าปกติ) อันเป็นโรคทางพันธุกรรม, พระองค์ประชวรด้วยโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (sickle cell disease) แล้วพระอาการก็ทรุดหนักจนถึงสวรรคตเมื่อพระองค์มาติดเชื้อมาลาเรียชนิดร้ายแรงซึ่งระบาดในอียิปต์ ณ เวลานั้นร่วมด้วย โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียวทำให้พระองค์ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคมาลาเรียชนิดร้ายแรงนี้ ฯลฯ

ล่าสุด สดๆ ร้อนๆ นี้เอง ดร.คริส นอนตัน (Chris Naunton) นักอียิปต์วิทยาชาวอังกฤษ ผู้อำนวยการสมาคมการสำรวจอียิปต์ (Egypt Exploration Society) ก็ได้เสนอสมมติฐานใหม่อีกประการหนึ่งว่า ทัตอังค์อามุนสิ้นพระชนม์เพราะถูกรถศึกชน นอนตันร่วมกับคณะนักนิติวิทยาศาสตร์จากแครนฟีลด์ (Cranfield) ใช้ข้อมูลการเอกซเรย์และการทำ CT Scan พระศพในปี 1968 และ 2005 ตามลำดับมาใช้ผ่าพระศพแบบเสมือนจริง (virtual autopsy) การผ่าพระศพแบบเสมือนจริงนี้ทำให้เห็นภาพบาดแผลที่พระวรกายด้านซ้ายได้อย่างชัดเจน จากนั้นก็จำลองภาพบาดแผลที่เกิดจากแรงรถพุ่งชนในลักษณะต่างๆ เทียบกับบาดแผลของทัตอังค์อามุน และได้ข้อสรุปว่าพระองค์น่าจะสิ้นพระชนม์จากการถูกรถศึก (chariot) พุ่งชนเข้าเต็มแรง  ที่ด้านซ้ายของพระวรกายขณะพระองค์ทรงนั่งคุกพระชานุ (เข่า) อยู่กับพื้น แรงกระแทกทำให้กระดูกเชิงกรานและซี่โครงด้านซ้ายหัก พระหทัยก็ฉีกขาดเกินกว่าจะนำมาอาบยาเป็นมัมมี่ได้ จึงไม่พบชิ้นส่วนพระองคาพยพเหล่านี้ในมัมมี่ของพระองค์


(http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1HTg5kDHL6fnwfEgx9X3lDBhaFcS2.jpg)

นอกจากนั้น ดร.นอนตันยังไปค้นคว้าบันทึกเก่าของคาร์เตอร์ที่ถูกละเลยหลงลืมไปนานแล้ว และพบข้อสังเกตของคาร์เตอร์ประการหนึ่งที่ว่า มัมมี่พระศพทัตอังค์อามุนดำเกรียมเหมือนถูกเผา เขาจึงติดต่อไปหาโรเบิร์ต คอนนอลลี (Robert Conolly) นักอียิปต์วิทยาแห่งมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ผู้เคยตรวจมัมมี่ทัตอังค์­อามุนเมื่อปี 1968 และยังคงมีตัวอย่างชิ้นเนื้อจากมัมมี่อยู่ นอนตันขอนำชิ้นเนื้อนี้มาตรวจพิสูจน์ด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ซึ่งก็พบว่าชิ้นเนื้อนั้นไหม้ไฟจริงๆ เป็นการไหม้หลังพระศพถูกทำเป็นมัมมี่และบรรจุในโลงผนึกสนิทแล้ว นอนตันอธิบายปรากฏการณ์อันแปลกประหลาดนี้ว่าน้ำมันหรือยางไม้ปริมาณมากที่เทลงไปในพระศพเพื่อทำให้เป็นมัมมี่นั้น อาจจะยังแห้งไม่ได้ที่ดี เนื่องจากต้องการเร่งประกอบพิธีฝัง หลังจากนำมัมมี่พระศพลงโลงผนึกไปแล้วสักระยะ ความร้อนอบอ้าวของสุสานก็เป็นตัวเร่งให้น้ำมันที่ชุ่มผ้าลินินพันพระศพนี้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่สันดาปในตัวเองจนเกิดประกายไฟขึ้น “ย่าง” พระศพที่อุณหภูมิราว 200 องศาเซลเซียส จนเกรียมดำอย่างที่คาร์เตอร์ตั้งข้อสังเกตไว้ ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่แสดงถึงความเร่งรีบบรรจุพระศพทัตอังค์อามุนก็คือรอยเชื้อราสีดำบนภาพผนังในสุสาน อันแสดงว่าผนังยังไม่แห้งดีก่อนการผนึกสุสานนั้น ทั้งสุสานนี้อาจมิได้สร้างสำหรับทัตอังค์อามุนก็ได้ แต่ต้องนำมาใช้ก่อนด้วยความจำเป็นอันเร่งรีบเนื่องจากทัตอังค์อามุนสิ้นพระชนม์กะทันหัน


(http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1HTg5kDHL6fnwfEgtWBhNJ0g8cuni.jpg)

อย่างไรก็ตาม แม้นักวิชาการบางท่านจะเห็นด้วยว่าปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างยางไม้กับมัมมี่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ถึงกับมีไฟลุกไหม้นั่นหรือ น่าจะยากอยู่นะ

ประการแรก มัมมี่พระศพยังอยู่ดี มิได้ไหม้เป็นเถ้าถ่าน หากมีไฟลุกไหม้เผาผิวพระศพจนดำเกรียมจริง ทำไมพระศพจึงไม่มอดเป็นเถ้าถ่านไปด้วยเล่า ข้อนี้ ทีมงานของนอนตันอ้างว่าเพลิงในโลงพระศพนั้นร้อนเพียง 200 องศาเซลเซียส ต่ำกว่าความร้อนในเตาเผาศพปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 760-982 องศาเซลเซียส มัมมี่พระศพจึงยังไม่เป็นเถ้าถ่าน

เอาละ แม้ความร้อนอาจจะยังไม่สูงพอที่จะเผาพระศพให้เป็นเถ้าถ่านได้ แต่บนพระศพนั้นยังมีข้าวของอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น หมวกผ้าลินินประดับลูกปัดบนพระเศียร เครื่องประดับนานาชนิด ทั้งกำไล สร้อยพระศอ จี้ ตุ้มหู แหวน และเครื่องรางต่างๆ อีกมากมายที่ทำจากทองคำ เงิน พลอย และหินสีต่างๆ เครื่องประดับเหล่านี้หลายชิ้นยังคงจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ไคโร ทุกชิ้นไม่มีร่องรอยความเสียหายจากความร้อนหรือเปลวไฟเลย


(http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1HTg5kDHL6fnwfEgrRXAoomxm7ubX.jpg)

นอกจากนั้น ตามบันทึกของเฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ เมื่อเปิดโลงพระศพนั้นเขาพบเศษซากพืชอยู่บนผ้าลินินพันมัมมี่ด้วย เศษซากพืชเหล่านั้นคือใบมะกอก วิลโลว์ เซเลรีป่า และพวงหรีดดอกไม้ตรงพระเศียร ดอกไม้ใบไม้เหล่านี้อาจจะแห้งกรอบบอบบางตามกาลเวลาที่ล่วงมา 3,300 ปีมาแล้ว แต่ก็คือการแห้งตามปกติธรรมดา ไม่มีร่องรอยว่ากรอบเกรียมเพราะถูกความร้อนจากไฟ ทั้งๆ ที่หากมีไฟไหม้จริงแล้ว ทั้งผ้าลินินและดอกไม้ใบไม้เหล่านี้ก็น่าเกรียมไปแล้วด้วยความร้อนระอุจากโลงชั้นในที่เป็นทองคำ ทั้งโลงชั้นนอกอีกสองชั้นที่เป็นไม้ก็ไม่มีร่องรอยว่าถูกความร้อนถึง 200 องศาเลย


(http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1HTg5kDHL6fnwfEgxjiDqFPBaU6yl.jpg)

นอกจากมัมมี่พระศพทัตอังค์อามุนจะปราศจากพระหทัย หรือแม้แต่เครื่องรางที่แทนพระหทัยแล้ว ลักษณะแปลกอีกประการหนึ่งก็คือพระคุยหฐานหรือองคชาตของทัตอังค์อามุนนั้นถูกทำมัมมี่ในสภาพตั้งตรงอย่างที่ไม่เคยพบในมัมมี่ใด แม้จะมาหักออกจากพระวรกายหลังการค้นพบพระศพ ซาลิมาน อิคราม (Saliman Ikram) ศาสตราจารย์ทางอียิปต์วิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอเมริกัน ณ กรุงไคโร กล่าวว่า ลักษณะดังกล่าวไม่ใช่ความผิดพลาดระหว่างการทำมัมมี่ แต่เป็นการกระทำโดยเจตนาเพื่อทำให้พระองค์เป็นเสมือนเทพโอสิริส เทพแห่งภพหลังความตาย พระคุยหฐานที่ตั้งขึ้นนั้นหมายถึงพลังในภาวะสูงสุดแห่งการสร้างชีวิตใหม่หรือการฟื้นคืนชีวิต น้ำมันสีดำที่อาบพระศพนั้นก็เพื่อทำให้พระฉวีเป็นสีดำคล้ายเทพโอสิริส ทั้งพระหทัยที่หายไปก็ยังเป็นเช่นเดียวกับเทพโอสิริสที่ถูกเซ็ธสับพระวรกายเป็นชิ้นๆ นำไปโปรยทั่วอียิปต์ และนำพระหทัยไปฝังไว้ ศาสตราจารย์ซาลิมานอธิบายว่า การทำมัมมี่ทัตอังค์อามุนให้คล้ายเทพโอสิริสนั้นก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์ลบล้างการปฏิรูปศาสนาของฟาโรห์อเคนาเตน พระบิดาของพระองค์ที่เปลี่ยนศาสนาไปนับถือเทพอาเตนแต่เพียงองค์เดียว


(http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1HTg5kDHL6fnwfEgqQ7eYU6yESRrw.jpg)

เฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ ค้นพบสุสานและมัมมี่พระศพทัตอังค์อามุนในปี ค.ศ. 1922 จากวันนั้นจวบจนกระทั่งวันนี้ เวลาผ่านไปเกือบๆ จะร้อยปีแล้ว แต่ปริศนาที่แวดล้อมทัตอังค์อามุน ก็ยังลึกลับชวนฉงนไม่อาจคลี่คลายได้อยู่เช่นนั้น และอาจจะคงเป็นเช่นนี้ตลอดไป.


โดย : เอื้อนทิพย์
ทีมงาน นิตยสาร ต่วย'ตูน