[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 12 พฤษภาคม 2566 15:18:19



หัวข้อ: วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ "ต้นกำเนิดพระผงสุพรรณ" ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 พฤษภาคม 2566 15:18:19
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/34921880811452_2_Copy_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/69449216748277_.1_Copy_.JPG)
พุทธสถานพระผงสุพรรณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

“วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ” ตั้งอยู่บนถนนสมภารคง ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เดิมเป็นวัดสำคัญศูนย์กลางของเมืองโบราณสุพรรณบุรีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ก่อนถูกทิ้งร้างไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นมีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์

วัดแห่งนี้ถือเป็นต้นกำเนิดของพระเครื่องหนึ่งใน “เบญจภาคี” อันลือลั่น ตั้งอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอารามเก่าแก่ ปรากฏพระปรางค์องค์ประธานตั้งโดดเด่นเป็นสง่า  พระอารามแห่งนี้ถูกทอดทิ้งรกร้างอยู่เป็นเวลานาน ประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๖ มีชาวจีนเข้าไปหักร้างถางพง ทำสวนผักในบริเวณวัด และขุดองค์พระปรางค์ประธาน พบแก้วแหวนเงินทองสมัยโบราณจำนวนมาก จนข่าวกรุแตกกระจายไป ความทราบถึงคณะกรรมการเมือง พระยาสุนทรบุรี (อี๋ กรรณสูต) เจ้าเมืองสุพรรณบุรี เห็นว่าปล่อยทิ้งสร้างความเสียหายต่อสมบัติของชาติ จึงได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงสนพระทัยทางโบราณคดีและกำลังค้นหาที่ตั้งของเจดีย์ยุทธหัตถีในเขตเมืองสุพรรณบุรีอยู่ เป็นองค์ประธานเปิดกรุพระปรางค์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี อย่างเป็นทางการใน พ.ศ.๒๔๕๖

พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี นับเป็นพระเครื่องเลื่องชื่อ ถูกบรรจุอยู่ในชุด “เบญจภาคี” ซึ่งมีทั้งเนื้อดินและเนื้อชินเงินที่เรียกว่า “พระผงสุพรรณยอดโถ” แต่สาเหตุที่เรียกว่า “ผงสุพรรณ” ก็เนื่องจากการค้นพบจารึกลานทอง กล่าวถึงการสร้างจากผงว่านเกสรดอกไม้อันศักดิ์สิทธิ์ จึงได้รับการเรียกขานกันว่า “ผงสุพรรณ” เรื่อยมา  โดยสามารถจำแนกออกได้เป็น ๓ พิมพ์ ดังนี้ หน้าแก่ หน้ากลาง และหน้าหนุ่ม  ลุถึงกาลปัจจุบัน คณะกรรมการจัดทำหนังสือ “พระผงสุพรรณ ฉบับสมบูรณ์” ได้ดำเนินการจัดสร้างพระผงสุพรรณย้อนยุค พระบูชาผงสุพรรณ เหรียญที่ระลึกสร้างกำแพง เหรียญกตัญญุตาจิต (หลวงพ่อโพธิ์)  และพระผงสุพรรณใหญ่ที่สุดในโลก ทำพิธีพุทธาภิเษกขึ้นในวันอังคารที่ ๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๔ โดยพระคณาจารย์ ๑๙๙ รูป นั่งภาวนาอธิษฐานจิต และในวันศุกร์ที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๔  โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม กทม.เป็นประธาน มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

       ๑. เพื่อร่วมสมทบทุนสร้างกำแพงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี
       ๒. เพื่อร่วมสมทบทุนสร้างวิหารพระผงสุพรรณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี
       ๓. เพื่อเป็นพุทธานุสติสำหรับผู้มีไว้ครอบครอง
       ๔. เพื่อสืบอายุพระบวรพุทธศาสนาและประเพณีอันดีงามของบูรพาจารย์
       ๕. เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของพระผงสุพรรณและวัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่เป็นแหล่งกำเนิดของพระเครื่องชื่อดังและเป็นหนึ่งในชุดพระเบญจภาคี

ต้นกำเนิดของพระพิมพ์ผงสุพรรณบุรี ที่โด่งดังมากในวงการพระเครื่อง และเป็นหนึ่งใน "เบญจภาคี" ๕ พระเครื่องยอดนิยม ได้แก่ พระสมเด็จนางพญาของสมเด็จพระพุทธาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร, พระผงสุพรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี, พระสมเด็จนางพญา จังหวัดพิษณุโลก, พระทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชร และพระรอด จังหวัดลำพูน

จากจารึกลานทองที่พบจากวัดแห่งนี้ สันนิษฐานว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุคงสถาปนาขึ้นช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ ๒๐) ในรัชกาลใดรัชกาลหนึ่งระหว่างสมเด็จพระนครินทราธิราช หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) โดยเป็นวัดสำคัญศูนย์กลางของเมืองโบราณสุพรรณบุรีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ก่อนจะถูกทิ้งร้างไประยะหนึ่งเมื่อคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๓๑๐) จากนั้นจึงมีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์

ภายในวัดประกอบด้วย “เจดีย์ทรงปรางค์” เป็นประธานของวัด มีปีกปรางค์หรือปรางค์ขนาดเล็กขนาบสองข้าง ด้านหน้าปีกปรางค์ด้านทิศใต้พบฐานเจดีย์ ๑ องค์ ส่วนด้านหน้าปีกปรางค์ด้านทิศเหนือพบฐานอาคาร ๑ หลัง ทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นลานประทักษิณ มีระเบียงคดล้อมรอบ ด้านนอกระเบียงคดมีวิหารอยู่ด้านหน้าทางทิศตะวันออก และอุโบสถอยู่ด้านหลังทิศตะวันตก  โดยสร้างอยู่ในแนวแกนเดียวกับปรางค์ประธานตามความนิยมในสมัยอยุธยาตอนต้น  นอกระเบียงคดยังมีเจดีย์บริวารอีกหลายองค์อยู่โดยรอบ

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ หน้า ๓๗๑๐ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และบูรณะโบราณสถานแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๕๘
....สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/35993249507413_1_Copy_.JPG)
พระปรางค์ดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
อายุกว่า ๗๐๐ ปี แหล่งกำเนิดพระผงสุพรรณ พระกำแพงศอก พระมเหศวร พระประทุมมาศ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70380403556757_3_Copy_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/83564445873101_8_Copy_.JPG)
วิหารพระผงสุพรรณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/57279073819518_5_Copy_.JPG)
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑
(ขุนหลวงพะงั่ว เจ้าเมืองสุพรรณ)

ขุนหลวงพะงั่ว ร่วมกับพระเจ้าอู่ทอง สถาปนาอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.๑๘๙๓  ปราบเขมรไว้เป็นเมืองขึ้นต่ออยุธยา พ.ศ.๑๘๙๕ 
ทรงรวมเผ่าไทยสยามให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยผนวกอาณาจักรสุโขทัยไว้ได้ พ.ศ.๑๙๒๑  และส่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับ
จักรพรรดิจีนหลายครั้ง ฯ  พระองค์ทรงเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ (กษัตริย์องค์แรกของสุพรรณ) และเป็นกษัตริย์
องค์ที่ ๓ แห่งกรุงศรีอยุธยา และได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุไว้ในกรุงศรีอยุธยาและสุพรรณบุรี  เป็นพระบรมราชารำลึก
มาจนถึงปัจจุบันนี้


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/88896330032083_6_Copy_.JPG)
ประวัติพระฤๅษี ๔ ตน
จากจารึกแผ่นลานทองศุภมัสดุ ๑๒๖๕
                                   
พระพิมพ์ต่างๆ ที่พบในเจดีย์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วย พระพิมพ์ผงสุพรรณ เนื้อดิน โดยจำแนกออกเป็น ๓ พิมพ์ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง พิมพ์หน้าหนุ่ม พร้อมพระพิมพ์มเหศวรเนื้อชินเงิน พระพิมพ์สุพรรณยอดโถเนื้อชินเงิน พระขุนแผน พระสุพรรณหลังพระ พระปทุมมาศ และพิมพ์ต่างๆ อีกหลายพิมพ์  ทั้งเนื้อดินและเนื้อเงิน  ตามประวัติ มีพระฤๅษี ๔ ตน เป็นประธานผู้สร้าง โดยมีพระฤๅษีภรตมุณี (พ่อแก่) เป็นประธาน ๑ พระฤๅษีพิราลัย ๒ พระฤๅษีตาไฟ ๓ พระฤๅษีตาวัว ๔ พระฤๅษีภุชงค์ และมีพระฤๅษีอีก ๑๑ ตน เป็นผู้ร่วมสร้างโดยมีพระมหาเถรปิยะทัสสะสีศรีสาลีบุตร เป็นองค์ประธานพิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อทำถวายแก่พระยาศรีธรรมาโศกราช เพื่อบรรจุในพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เพื่อเป็นการบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยอัญเชิญเทพยดามาช่วยกันทำพิธีปลุกเสกด้วยมนต์คาถาครบ ๓ เดือน พระพุทธคุณจะเป็นไปในทางเมตตามหานิยม ป้องกันอันตรายได้ทั้งปวง
          พระมหาวิเชียร กลฺยาโณ ป.ธ.๖
          เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี
          ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๕

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/14081468102004_10_Copy_.JPG)
หลวงปู่โพธิ์ - พระครูศรีรัตนาภิรักษ์ ญาณรังสี 
อดีตเจ้าอาวาส วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/49898392127619_7_Copy_.JPG)

800/27