[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 06 เมษายน 2560 18:57:03



หัวข้อ: พระอจนะ วัดศรีชุม พระพุทธรูปกลางแจ้งสมัยสุโขทัย
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 06 เมษายน 2560 18:57:03

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/46325508794850_bud04261259p1_696x413_1_.jpg)
พระอจนะ วัดศรีชุม
พระพุทธรูปกลางแจ้งสมัยสุโขทัย

วัดศรีชุม หนึ่งในโบราณสถานสำคัญในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย คำว่า “ศรีชุม” นั้น มาจาก “สะหลีชุม” คำว่า “สะหลี” เป็นคำโบราณหมายถึง “ต้นโพธิ์” ต่อมาได้เรียกขานเป็น “ศรี” คำว่า “ศรีชุม” จึงหมายถึง ดงของต้นโพธิ์ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 กล่าวไว้ว่า “…เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยมีตลาดปสาน มีพระอจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว ป่าหมากกลาง มีไร่ มีนา มีถิ่นถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก…”

สันนิษฐานกันว่า พระอจนะ ที่กล่าวถึงก็คือ พระอจนะ พระพุทธรูปกลางแจ้งเก่าแก่ ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีชุมนี้เอง และเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่มีตำนานเล่าขานกันว่าเป็น “พระพูดได้”

ตามหลักฐานระบุว่า วัดศรีชุมนี้ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าลิไท ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และมีการดูแลบูรณะเรื่อยมา ก่อนจะถูกทิ้งร้างลงในสมัยอยุธยาตอนปลาย จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้มีโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ นำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ในช่วงปี พ.ศ.2496-2499 เป็นการบูรณะครั้งสำคัญ โดยยึดรูปแบบ วิธีการ และวัสดุแบบโบราณ มีการซ่อมแซมพระประธาน “พระอจนะ” ใหม่ตามแบบอย่างพระพุทธรูปสำริด ศิลปะสุโขทัย โดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และอาจารย์เขียน ยิ้มสิริ

ปัจจุบันวัดศรีชุมหลงเหลือปูชนียสถานสำคัญอยู่เพียงหนึ่งเดียว คือ พระมณฑปรูปทรงสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 32 เมตร สูง 15 เมตร พระมณฑปที่คับแคบแบบนี้เรียกกันว่า ‘ปฏิมาฆระ’ สร้างตามคติความเชื่อสมัยสุโขทัย ที่ไม่ได้ใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา หากแต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นการจำลอง ‘พระคันธกุฎี’ คือ กุฏิที่ประทับของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล ตัวมณฑปตั้งอยู่บนฐานสูง ด้านหน้าเปิดเป็นช่องเห็นพระพักตร์พระพุทธรูปพระประธานที่องค์ใหญ่เต็มมณฑป นามว่า “พระอจนะ”

นาม “พระอจนะ” หมายถึงคำในภาษาบาลีว่า ‘อจละ’ แปลว่า ผู้ไม่หวั่นไหว มั่นคง หรือ ผู้ที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น แกนในก่ออิฐและศิลาแลง พุทธศิลปะสุโขทัยขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 11.30 เมตร สูง 15 เมตร ประทับนั่งปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ มีพุทธลักษณะงดงามมาก พระวรกายอวบอิ่ม พระพักตร์แฝงด้วยรอยยิ้มและความเมตตา

ในอดีตมีตำนานเล่าขานว่า “พระอจนะ” เป็น “พระพูดได้” ที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ความจริงคือ …

…ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพ ในปี พ.ศ.2127 ที่เมืองแครง ทำให้หัวเมืองต่างๆ ยกเลิกการส่งส่วยให้กับพม่า แต่ยังมีเมืองเชลียง (สวรรคโลก) ที่ไม่ยอมทำตามพระราชโองการ พระองค์จึงนำทัพเสด็จมาปราบเมืองเชลียง และได้มีการมาชุมนุมทัพที่วัดศรีชุมแห่งนี้ก่อนที่จะไปตีเมืองเชลียง ด้วยการรบในครั้งนั้นเป็นการรบระหว่างคนไทยกับคนไทยด้วยกัน ทำให้เหล่าทหารไม่มีกำลังใจในการสู้รบ ไม่อยากรบ สมเด็จพระนเรศวร จึงได้วางแผนสร้างกำลังใจโดยการให้ทหารคนหนึ่งปีนบันไดขึ้นไปทางด้านหลังองค์พระ และพูดให้กำลังใจแก่เหล่าทหาร ทำให้ทหารเกิดกำลังใจฮึดที่จะต่อสู้…

นับเป็นกุศโลบายอันชาญฉลาดของพระมหากษัตริย์ไทย ‘สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในการสร้างขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารหาญให้ฮึกเหิมก่อนจะออกรบ นับจากนั้นเป็นต้นมา “พระอจนะ วัดศรีชุม” ก็ได้รับการร่ำลือว่าเป็นพระพุทธรูปพูดได้สืบมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงประกอบ “พิธีศรีสัจจะปานะการ (พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา)” ณ วัดแห่งนี้ด้วย

รอยอดีตอันยิ่งใหญ่ของ วัดศรีชุม โบราณสถานสำคัญ และ “พระอจนะ” พระพุทธรูปกลางแจ้งศิลปะสุโขทัยอันเก่าแก่และทรงคุณค่า ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยนี้ นับเป็น “ไฮไลต์” สำคัญของมรดกโลกสุโขทัย ที่ได้รับความนิยมเยี่ยมชมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ซึ่งทุกคนควรรักษาและอนุรักษ์ให้คงอยู่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติสืบไป


คอลัมน์พันธุ์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์