[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ อนามัย => ข้อความที่เริ่มโดย: ฉงน ฉงาย ที่ 03 พฤษภาคม 2564 11:50:26



หัวข้อ: ตัวเหลืองในทารกแรกเกิด
เริ่มหัวข้อโดย: ฉงน ฉงาย ที่ 03 พฤษภาคม 2564 11:50:26

ตัวเหลืองในทารกแรกเกิด


          ตัวเหลือง เป็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในทารกแรกเกิด เนื่องจากทารกมีจำนวนเม็ดเลือดแดงมากกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเม็ดเลือดแดงแตกหรือหมดอายุ จะทำให้ได้สารสีเหลืองในเลือดที่เรียก บิลิรูบิน  โดยตับมีหน้าที่ขับถ่ายออกทางน้ำดี ในทารกแรกเกิดการทำงานของตับยังไม่เจริญเต็มที่ เราจึงพบว่าประมาณร้อยละ 50-60 ของทารกปกติจะมีอาการตัวเหลืองได้ประมาณวันที่ 3-5 หลังเกิด    อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ของทารกเหล่านี้จะมีอาการเหลืองไม่มาก  เป็นการเหลืองในทารกปกติที่ไม่ต้องการรักษาอย่างใด

          ในทารกบางคนมีอาการเหลืองผิดปกติ เช่นเหลืองในวันแรก หรือตัวเหลืองมากกว่าธรรมดา จำเป็นต้องหาสาเหตุและให้การรักษา เพราะการที่ทารกตัวเหลืองมากกว่าธรรมดามากจะมีผลต่อสมอง เมื่อสีเหลืองย้อมติดเนื้อสมองแล้วจะไม่สามารถให้การรักษาได้ จะทำให้เกิดอาการทางสมอง เช่น ตัวเกร็ง ชัก ปัญญาอ่อน เป็นต้น ในรายที่สงสัยว่าทารกจะตัวเหลืองมากกว่าธรรมดาจำเป็นต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับสีเหลือง คือ บิลลิรูบินในเลือด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการรักษาต่อไป



          สาเหตุที่สำคัญๆ ที่ทำให้ทารกตัวเหลืองมากกว่าปกติ ได้แก่

          1.หมู่เลือดของมารดาและทารกไม่เข้ากัน เป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกตัวเหลืองได้เร็ว และเหลืองมากกว่าปกติ เนื่องจากมีการทำลายของเม็ดเลือดแดงมากกว่าธรรมดา
          2.เม็ดเลือดแดงผิดปกติ เช่น รูปร่างผิดปกติแต่กำเนิดหรือเอ็นไซม์ในเม็ดเลือดแดงบกพร่อง (G6PD ) จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าธรรมดาได้
          3.มีเลือดออกตามที่ต่างๆในร่างกาย ทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงที่ต้องทำลายมีมากขึ้น
          4.เกิดก่อนกำหนด  ทารกที่เกิดก่อนกำหนด ยังมีการทำงาน ของตับไม่ดี มักจะมีตัวเหลืองมากกว่าทารกครบกำหนดเสมอ
          5.จากน้ำนมแม่ เนื่องจากน้ำนมแม่เฉพาะบางคน จะมีสารที่ต้านการทำงานของตับในการขับถ่ายสารสีเหลืองจะทำให้ทารกตัวเหลืองได้ พบไม่บ่อยและจะเหลืองเมื่ออายุมากกว่า 10 วัน แตกต่างจากตัวเหลืองทั่วไปที่มักจะตัวเหลืองในสัปดาห์แรก ในรายที่เหลืองมากๆ                               
          อาจต้องงดนมแม่ชั่วคราว1- 2วัน เพื่อให้หายเหลืองเร็วขึ้น ส่วนใหญ่สามารถกลับมาให้นมแม่ใหม่ได้
          6.จากการดูดนมแม่ เป็นตัวเหลืองในทารกแรกเกิดที่พบได้บ่อย และพบในสัปดาห์แรกเนื่องจากน้ำนมยังมีน้อย ทำให้ทารกขาดน้ำ พลังงานและสารอาหาร ส่วนใหญ่มักไม่มีอันตราย และป้องกันโดยให้ทารกดูดนมมารดาได้บ่อยๆในช่วงแรก
          7.สาเหตุอื่นๆ ของตัวเหลือง เช่นการติดเชื้อ มารดาเป็นเบาหวาน ลำไส้อุดตัน ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อย และความผิดปกติต่างๆของการขับถ่ายสารสีเหลือง เป็นต้น

          ปัจจุบันมีเครื่องมือวัดดัชนีความเหลืองจากความเข้มของสีจากผิวหนังทารกได้ โดยมีผลใกล้เคียงกับในเลือด ทำให้การประเมินภาวะตัวเหลือง  ทำได้แม่นยำขึ้นกว่าการใช้สายตา จึงนำมาใช้ในการคัดกรองทารกที่มีภาวะตัวเหลืองได้ดี ทำให้ไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดทารกทุกครั้ง อย่างไรก็ตามถ้าทารกตัวเหลืองมาก หรือไม่แน่ใจ เราต้องใช้ผลการตรวจจากเลือดเสมอ เพื่อเป็นข้อบ่งชี้ในการรักษา


          การรักษา เนื่องจากภาวะตัวเหลืองที่มากกว่าธรรมดา อาจทำอันตรายต่อสมองได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องให้การรักษาเพื่อป้องกันอันตรายดังกล่าว การรักษาที่สำคัญมี 2 แนวทาง คือ

          1.การส่องไฟ  มีหลักการคือใช้พลังงานจากแสงที่มีคลื่นความถี่ใกล้เคียงกับแสงสีฟ้าและสีเขียว ซึ่งจะเปลี่ยนสารสีเหลืองของบิลิรูบิน ให้ละลายน้ำได้ แล้วขับออกทางลำไส้และปัสสาวะ ในทางปฏิบัติอาจใช้หลอดไฟนีออนสีขาว สีน้ำเงิน หรือสีน้ำเงินพิเศษก็ได้ นอกจากนี้พลังงานแสงจากหลอดไฟ LED มักจะให้พลังงานได้มากกว่าหลอดนีออนทั่วไป และให้ความร้อนน้อย ปัจจุบันจึงมีผู้นิยมใช้มากขึ้น วิธีการส่องไฟ คือการให้ผิวหนังทารกมีโอกาสถูกแสงมากที่สุด แต่ต้องปิดตา เพื่อไม่ให้แสงทำอันตรายต่อประสาทตาของทารกได้ ระหว่างที่ส่องไฟทารกอาจมีถ่ายเหลวเล็กน้อย มีผื่นตามผิวหนัง และสูญเสียน้ำเพิ่มขึ้น ทารกจึงมักจะดูดนมเพิ่มขึ้นเองเพื่อป้องกันการขาดน้ำ

          2.การเปลี่ยนถ่ายเลือด เป็นวิธีที่ลดสารสีเหลืองลงได้ทันที เพราะสารเหลืองที่อยู่ในเลือดจะลดลงทันทีภายหลังการเปลี่ยน แต่เนื่องจากสารสีเหลืองมีอยู่ในส่วนอื่นๆของร่างกายด้วย ร่างกายจึงต้องขับออกเองหรือใช้ไฟส่องร่วมด้วย เพื่อให้หายเหลืองเร็วขึ้น การเปลี่ยนถ่ายเลือดจึงจำเป็นเฉพาะทารกที่เหลืองจัด ไม่สามารถรอให้หายเหลืองจากการส่องไฟได้ ส่วนกรณีตัวเหลืองทั่วๆไป มักจะไม่จำเป็นต้องทำการถ่ายเลือด เนื่องจากจะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากกว่าการส่องไฟ



          ที่มา หน่วยทารกแรกเกิด ชั้น 18 อาคารศูนย์การแพทย์วิชัยยุทธ