[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 08 ธันวาคม 2566 15:55:23



หัวข้อ: “พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ” พระอิสริยยศที่ไม่คุ้นหู มีที่มาจากไหน?
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 08 ธันวาคม 2566 15:55:23

(https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2022/03/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%9B%E0%B8%81-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5-696x364.jpg)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระองค์เจ้าหญิงบุตรี

“พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ” พระอิสริยยศที่ไม่คุ้นหู มีที่มาจากไหน?

ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - นิตยสารศิลปวัฒนธรรม วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2566


พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เป็นพระอิสริยยศของเชื้อพระวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทุกวันนี้หลายคนอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน แล้วคำนำพระนามนี้มีที่มาจากไหน?

ราชบัณฑิตยสภา อธิบายที่มาและความหมายของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอไว้ว่า เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ คำนำพระนามของเจ้านายในรัชกาลก่อนก็ย่อมเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ และเนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้มีพระราชโอรสพระราชธิดาที่มีพระสกุลยศชั้นเจ้าฟ้า พระราชโอรสพระราชธิดาซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระองค์ เมื่อมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ก็จะกลายเป็นพระเจ้าหลานเธอ

เมื่อเป็นดังนี้ รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ใช้คำนำพระนามว่าพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ โดยให้คงศักดินาเสมอพระเจ้าลูกเธอ คือ ศักดินา 6,000 ทรงกรมศักดินา 15,000 เพราะหากใช้คำนำพระนามว่า “พระเจ้าหลานเธอ” ศักดินาก็จะลดลงไปเป็นพระเจ้าหลานเธอ ศักดินาเท่าพระองค์เจ้าวังหน้า ที่ศักดินา 4000 ทรงกรมศักดินา 11000

คำนำพระนามพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ใช้ต่อเนื่องมาถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนคำนำพระนามพระราชโอรสพระราชธิดาในพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนๆ โดยใช้คำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ตามพระเกียรติยศ

ราชบัณฑิตยสภา อธิบายต่ออีกว่า ด้วยเหตุนี้ คำนำพระนามพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 จึงเปลี่ยนมาใช้ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ และพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 เมื่อมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ทรงศักดิ์เป็นชั้น ลุง ป้า น้า อา หากมีพระสกุลยศชั้นเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้าทรงกรมชั้นสมเด็จกรมพระ หรือสมเด็จกรมพระยา ใช้คำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ แต่หากมีพระสกุลยศชั้นพระองค์เจ้าและพระองค์เจ้าทรงกรม ที่มิได้เป็นสมเด็จกรมพระ หรือสมเด็จกรมพระยา ก็ใช้คำนำพระนามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ

เจ้านายที่ทรงมีคำนำพระนามพระเจ้าราชวงศ์เธอ มีเช่นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” ในรัชกาลที่ 3 เป็นต้น