[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 10 มกราคม 2556 14:45:07



หัวข้อ: ความหมายของ "ตำนาน"
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 มกราคม 2556 14:45:07
.
(http://www2.tnews.co.th/userfiles/image/1(1057).jpg)

ตำนาน

ตำนาน เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทหนึ่ง  เดิมเป็นเพียงการจดจำบอกเล่าเรื่องราวที่เล่าขานสืบต่อกันมาในรูปแบบของ “ประวัติศาสตร์บอกเล่า”  ต่อมาภายหลังจึงได้มีการจดบันทึกเรื่องราวของตำนานต่างๆ ขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ก่อให้เกิดประโยชน์ในการรับรู้เรื่องราวประวัติความเป็นมาของสังคมแต่ละท้องถิ่นหรือภูมิภาค อันนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจและเป็นประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างกว้างขวางลึกซึ้งมากขึ้นโดยลำดับ

จารีตการเขียนตำนาน
ในระยะแรกราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑ นั้น  ตำนานเป็นงานเขียนที่บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ย้อนหลังไปในอดีตที่ไกลมากแล้ว  ในระยะนี้มีการนำเรื่องพุทธศาสนามาเป็นแกนกลางสำคัญในการเขียนเรื่อง โดยสอดแทรกเรื่องราวของพุทธประวัติ การเผยแพร่พุทธศาสนา ตลอดจนคำสอนต่างๆ ไว้ในเนื้อเรื่อง  ตำนานประเภทนี้พบมากในงานเขียนของล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑    ด้วยเหตุที่เป็นระยะที่พุทธศาสนาลังกาวงศ์ในล้านนามีความเจริญรุ่งเรืองมาก งานเขียนจำนวนมากเขียนขึ้นโดยพระสงฆ์ที่เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่ลังกา  ดังนั้น เรื่องราวของตำนานต่างๆ จึงมักปรากฏอิทธิพลจากการเผยแพร่แนวคิดเรื่องพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เป็นสำคัญ  เช่น ชินกาลมาลีปกณ์ แต่งโดยพระรัตนปัญญา จามเทวีวงศ์  แต่งโดย พระโพธิรังสี เป็นต้น  นอกจากนี้ ในส่วนของดินแดนอื่นที่ได้รับอิทธิพลจากการเผยแพร่พุทธศาสนาลังกาวงศ์ เช่น สุโขทัย อยุธยา ก็ปรากฏงานเขียนที่มีลักษณะเช่นเดียวกับตำนาน แต่มิได้ตั้งชื่อว่าเป็น “ตำนาน” ก็มี เช่น พงศาวดารเหนือ เป็นต้น

ประเภทของตำนาน
ตำนานแบ่งตามเนื้อหาได้เป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้
๑.ตำนานที่มีเนื้อหาดึกดำบรรพ์  เป็นตำนานที่เขียนด้วยภาษาไทยยวน มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของบ้านเมืองและการสลายตัวของเมืองต่างๆ ในเขตล้านนา ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๘  นอกจากนี้ยังปรากฏเรื่องราวปรัมปราของกำเนิดมนุษย์ ตลอดจนเรื่องราวของกษัตริย์และบรรดาราชวงศ์  ตำนานประเภทนี้ไม่สามารถระบุชื่อผู้แต่งและเวลาที่แต่งได้อย่างแน่ชัด เช่น ตำนานเมืองสุวรรณโคมคำ ตำนานสิงหนวัติกุมาร เป็นต้น

๒.ตำนานที่มีเนื้อหาแบบประวัติศาสตร์สากล หมายถึงตำนานที่มีเนื้อหาหลากหลาย  ในส่วนแรกจะเริ่มเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติมาจนถึงการเผยแผ่พุทธศาสนาในลังกาและล้านนา  บางครั้ง อาจกล่าวถึงการสังคายนาพุทธศาสนาในสมัยต่างๆ อีกด้วย  เนื้อเรื่องส่วนต่อมาจะเป็นเรื่องราวของราชวงศ์มังราย โดยเริ่มตั้งแต่กำเนิดราชวงศ์  พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระราชกรณียกิจทางศาสนาอันเป็นการแทรกแนวความคิดและความเชื่อทางพุทธศาสนาในเนื้อเรื่องมาโดยลำดับ  ตำนานกลุ่มนี้มักจะระบุชื่อผู้แต่ง และระยะเวลาที่แต่งได้แน่นอน เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ แต่งโดยพระรัตนปัญญา แต่งเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๐๖๐ เป็นต้น

๓.ตำนานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ เป็นกลุ่มตำนานที่มีจำนวนมากที่สุด เนื้อหาจัดอยู่ในกรอบพุทธศาสนาเช่นกัน แต่มีขอบเขตมุ่งเน้นอธิบายถึงประวัติความเป็นมาของปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ เช่น ตำนานวัดพระธาตุดอยสุเทพ  ตำนานพุทธสิงหิงค์ เป็นต้น

คุณค่าของตำนาน ถือเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ชั้นต้น  แม้ว่าจะมีส่วนบกพร่องในเรื่องข้อเท็จจริงอยู่บ้าน แต่หากนำมาวิเคราะห์เทียบเคียงกับเอกสารร่วมสมัย หรือหลักฐานอื่นๆ ประกอบกัน อาทิ หลักฐานทางด้านโบราณคดี หรือมานุษยวิทยา ก็อาจช่วยอธิบายเรื่องราวของอดีตให้คลี่คลายและนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนประวัติความเป็นมาของสังคมแต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากตำนานเป็นงานที่เกิดขึ้นจากการสั่งสมทางความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ตลอดจนทัศนคติของคนหลายยุคสมัยสืบต่อกันมา ดังนั้น ตำนานจึงเปรียบเสมือนผลงานทางภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่ได้สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้อันมีคุณค่าประเมินมิได้
 


ข้อมูล : หนังสืออักขรานุกรมประวัติศาสตร์ไทย  หน้า ๓๘๘ - ๓๙๑  จัดพิมพ์เผยแพร่โดยกรมศิลปากร เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๘