[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => นิทาน - ชาดก => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 16 พฤศจิกายน 2562 17:16:58



หัวข้อ: ไภยราชชาดก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 16 พฤศจิกายน 2562 17:16:58

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/52167408706413_8.jpg)
จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ อำเภอเมือง  จังหวัดน่าน

ไภยราชชาดก

ครั้งเมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร พระพุทธองค์ทรงแสดงเทศนาธรรมปฐมกถาแก่พระสาวก และทรงยกอดีตชาติมาแสดงดังนี้

มีพระญาองค์หนึ่งชื่อ พระญาอินทะ เสวยราชย์นครหังสาวัตติ ทรงกระทำบุญให้ทานรักษาศีลมิได้ขาด ทรงมีพระราชเทวีชื่อ คำผง เป็นผู้มีผิวพรรณวรรณะเหลืองใสดั่งทองคำ ทั้งสองพระองค์ทรงครองคู่กันมาอย่างมีความสุข

ต่อมา พระนางคำผงได้ตั้งพระครรภ์ เมื่อครบกำหนดก็ได้ประสูติพระธิดาผู้มีกลิ่นกายหอมเหมือนแก่นจันทน์ ให้ชื่อว่า จันทกุมารี  จากนั้นไม่นานพระราชเทวีคำผงก็ทรงพระครรภ์อีก  และเมื่อครบกำหนดก็ให้กำเนิดพระโอรสอีกองค์หนึ่ง ให้ชื่อว่า จิตตกุมาร

เมื่อจันทกุมารีเติบโตขึ้นก็อยากได้แมวฅำ  (แมวทอง) มาเลี้ยงเป็นคู่บุญ จึงกราบทูลให้พระมารดาทราบ  พระนางคำผงจึงทูลให้พระญาอินทะทราบ  เสนาก็ไปหาได้ลูกแมวฅำมาได้ตัวหนึ่งมาถวายพระธิดา ส่วนพระธิดาจันทกุมารีก็มีใจชื่นชมยินดียิ่งนัก จึงนำแมวฅำตัวน้อยไปเลี้ยงดูในปราสาท ป้อนข้าวปลาอาหารอย่างดี ไม่นานนักแมวฅำก็เจริญวัยอ้วนท้วน มีขนสีทองสวยงามยิ่งนัก และนับวันก็ยิ่งกินอาหารและเนื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ครั้นเนื้อหมดพระธิดาก็เข้าไปขอพระมารดาแล้วนำไปให้แมวกิน แมวนั้นกินเท่าไรก็ไม่รู้จักอิ่ม ต้องเพิ่มปริมาณเนื้อขึ้นเรื่อยๆ  เนื้อก็หมดภายในเวลาอันรวดเร็ว ครั้นราชธิดาจันทกุมารีเข้าไปขอเนื้อเพิ่มอีก พระนางคำผงก็บอกราชธิดาของตนว่าเนื้อหมดแล้ว นางจึงไปกราบทูลขอเนื้อจากพระญาอินทะเพื่อเอาไปเลี้ยงแมว  พระญาอินทะจึงให้เสนาไปตามนายพรานมาเข้าเฝ้า แล้วสั่งให้พรานนั้นออกไปล่าเนื้อมาถวายพระราชธิดา  นายพรานจึงเข้าป่าเพื่อล่าสัตว์  เวลาผ่านไป ๔ วัน ก็ไม่พบสัตว์ให้ล่าแม้แต่ตัวเดียว สร้างความแปลกใจให้กับพรานผู้นั้นเป็นยิ่งนัก  เสบียงอาหารที่เตรียมไว้มากินระหว่างทางก็หมดลง พรานรู้สึกหิวมาก จนกระทั่งไปพบสระน้ำแห่งหนึ่ง จึงเข้าไปตักน้ำกินจนอิ่ม พอดีสายตาเหลือบไปเห็นไข่จระเข้ดูงดงามยิ่งนัก พรานนั้นคิดว่าในเมื่อล่าเนื้อไม่ได้ก็ขอนำไข่จระนี้ไปถวายพระญาอินทะ คิดแล้วจึงเอาใบตองห่อไข่จระเข้ใส่ย่ามสะพายแล้วเดินทางกลับสู่เรือนของตน  เมื่อมาถึงบ้านภรรยาของพรานก็แปลกใจที่ไม่ได้เนื้อมา ซึ่งพรานก็เล่าให้ฟังตามความเป็นจริง และเอาไข่จระเข้ให้ภรรยาดู จากนั้นก็อาบน้ำกินข้าวปลาอาหารแล้วพักผ่อน รุ่งเช้าจึงนำไข่จระเข้เข้าสู่วังเฝ้าพระญาอินทะทันที

พระญาอินทะเมื่อเห็นพรานกลับมาโดยไม่มีเนื้อจึงตรัสถามเหตุ พรานนั้นก็ทูลให้ทรงทราบทุกประการ แล้วถวายไข่จระเข้ เมื่อพระญาอินทะเห็นไข่จระเข้ที่งดงามก็พอใจ จึงมอบไข่จระให้ราชธิดา พร้อมรับสั่งให้ราชธิดานำไข่ไปฟักไว้ หากได้เวลาแตกเป็นลูกอ่อนก็ให้เลี้ยงไว้คู่กับแมวฅำตัวนั้น  ราชธิดามีความยินดียิ่งนัก ได้นำไข่จระไข้ไปห่อผ้าไว้ ต่อมาไม่นานไข่ก็แตกออกเป็นลูกจระเข้อันงดงาม แรกเกิดลูกจระเข้ร้องขอกินนม ราชธิดาก็ไปขอนมแม่ลูกอ่อนมาให้ เมื่อกินอิ่มแล้วก็นอนหลับนิ่งอยู่ถึง ๗ วัน จึงตื่นแล้วร้องขอกินอีก ราชธิดาก็ป้อนนมป้อนเนื้อให้กิน เมื่ออิ่มแล้วก็นอนหลับต่อไปอีก ๗ วัน เป็นอย่างนั้นมาตลอดจนกระทั่งจระเข้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อาหารก็เพิ่มขึ้น เมื่อจระเข้กินเท่าไรก็ไม่รู้จักอิ่มในที่สุดอาหารก็หมด ราชธิดาจึงไปขอพระบิดา พระญาอินทะสั่งให้ทหารไปฆ่าวัวให้กินจึงกินอิ่มแล้วนอนหลับ ๗ วัน ตื่นขึ้นก็ขอควายหากไม่ได้กินจะกินราชธิดาแทน คราวนี้พระญาอินทะได้สั่งให้ฆ่าควายให้กิน ซึ่งจระเข้ขอกินถึง ๓ ตัวจึงอิ่ม แล้วนอนหลับไปอีก ๗ วันจึงตื่นขึ้นมาอีก  และด้วยสันดานแห่งสัตว์เดรัจฉานมีใจหยาบช้าไม่รู้จักบุญคุณผู้ที่เลี้ยงดูมาแต่เล็ก จึงพยายามจะกินพระธิดาให้ได้ การตื่นมาครั้งนี้ก็เพื่อจะกินพระธิดาจันทกุมารีอย่างเดียว มันจึงไล่กัดราชธิดาซึ่งนางก็วิ่งหนีไปสู่ปราสาทของพระบิดา เมื่อถึงปราสาทจระเข้ได้ร้องขู่พระญาอินทะว่าหากไม่ส่งราชธิดาให้กิน จะใช้หางฟาดปราสาทให้พังทลายหมด จากนั้นจะจัดการขุดเมืองให้ล่มลงแล้วกินพระญาอินทะแทน  พระญาอินทะได้ยินก็ตกใจกลัว จึงเรียกประชุมมุขอำมาตย์มนตรี ซึ่งในที่ประชุมต่างมีมติให้ส่งราชธิดาให้จระเข้กินเสียเพื่อเห็นแก่บ้านเมือง  พระญาอินทะไม่รู้จะทำประการใด จึงพูดจาหว่านล้อมขอให้พระราชธิดายอมให้จระเข้กินเนื้อเพื่อสละชีวิตแทนตนผู้เป็นพ่อ และขออย่าผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรแก่ตน  ราชธิดาก็ยินยอมพร้อมบอกแก่พระบิดาว่า การเสียสละครั้งนี้ไม่มีบาปเวรแก่กัน ขอให้พระบิดาอย่าได้กังวลใดๆ ทั้งสิ้น จากนั้นจึงกราบลาพระบิดาและพระมารดา  พระญาอินทะรับสั่งให้เสนาอำมาตย์และชาวเมืองทั้งหลายพากันไปส่งราชธิดาที่นอกเมือง โดยมีแมวฅำและจระเข้ตามหลังไป เมื่อพ้นเขตเมืองเสนาและชาวเมืองก็พากันกลับเข้าเมือง

กล่าวถึงจระเข้ เมื่อชาวเมืองกลับแล้วจึงถามแมวฅำว่าจะกินเนื้อราชธิดาที่ไหนดี ฝ่ายแมวฅำมีใจรักใคร่และสำนึกในบุญคุณราชธิดาที่เลี้ยงดูมาจึงคิดช่วยเหลือ เมื่อได้ยินจระเข้ถามดังนั้นจึงออกอุบายบอกไปว่า ควรไปกินที่เกาะทรายริมน้ำ เพราะหากกินตอนนี้อาจติดคอและสำลักได้ ถ้ากินที่เกาะทรายจะมีน้ำล้างคอ ขนาดเสือจะกินเนื้อมันยังคาบไปกินริมน้ำ จระเข้ได้ฟังก็เห็นคล้อยตามจึงพากันเดินทางต่อไป จนกระทั่งไปถึงเกาะทรายริมแม่น้ำใหญ่แห่งหนึ่ง อาจจะเป็นด้วยวิบากกรรมของจระเข้ใจบาปตัวนั้นที่จะต้องถึงกาลสิ้นชีวิตที่นั่น เพราะทันทีที่ไปถึง เทพยดาที่รักษาแม่น้ำใหญ่แห่งนั้นเกิดความสงสารราชธิดา จึงพากันดลบันดาลให้พายุพัดเอาเม็ดทรายทั้งหลายเข้าตา ปาก และจมูกของจระเข้เป็นจำนวนมาก จนมันทุรนทุรายได้รับทุกขเวทนาและขาดใจตายไปในที่สุด วิญญาณบาปของจระเข้ก็ดิ่งลงสู่นรกอเวจีด้วยวิบากกรรมที่มันก่อมา เมื่อจระเข้ตายแล้ว แมวฅำก็บอกราชธิดาว่า ตนกลัวจระเข้จะกินราชธิดา จึงแกล้งถ่วงเวลามาที่เกาะดอนทรายแห่งนี้ ราชธิดาได้ยินก็ชื่นชมยินดีรักใคร่แมวฅำมากกว่าเดิม  แมวฅำถามราชธิดาว่าเมื่อจระเข้ตายไปแล้ว นางจะกลับคืนสู่เมืองดังเดิมหรือไม่ นางก็บอกแมวฅำว่าตนพ้นจากเขตเมืองมาแล้วยอมสละชีวิตให้จระเข้กิน ย่อมเปรียบเสมือนตายไปแล้ว ผู้ที่ตายไปแล้วไม่ควรกลับสู่ที่เดิม ตั้งแต่อยู่ในเมืองมาก็กินเนื้อสัตว์มามาก จึงมีบาปมาก ควรงดเว้นการทำบาป หันมาทำบุญรักษาศีล ประพฤติตนอยู่ในพรหมวิหารสี่ เพื่อสร้างบารมีธรรมไปภายหน้า และการเป็นอยู่ในป่าควรกินผลหมากรากไม้และหัวมันเป็นอาหาร แมวฅำก็เห็นดีด้วย จึงพากันเดินทางไปจนะกระทั่งถึงฝั่งแม่น้ำใหญ่แห่งหนึ่ง จึงสร้างกระท่อมพออาศัยหลบแดดฝนพักกายอยู่ริมแม่น้ำนั่นเอง

วันหนึ่งมีนายพรานผู้หนึ่งเดินทางหาล่าสัตว์ในป่า ระหว่างทางก็เห็นกระท่อมริมฝั่งน้ำก็แปลกใจว่ามีมนุษย์ที่ไหนมาสร้างกระท่อมในป่าดงลึกอย่างนี้ จึงแวะเข้าไปแล้วแสร้งร้องขอน้ำดื่ม ราชธิดาได้ยินเสียงคนเรียกก็ออกมา เมื่อนายพรานแลเห็นราชธิดาผู้มีรูปโฉมอันงดงามหาใครเปรียบมิได้ก็ตกตะลึง คิดว่าเป็นเทวดาจึงก้มลงกราบ ราชธิดาจึงว่าเธอเป็นเพียงมนุษย์ผู้หญิงซึ่งอาศัยผลหมากรากไม้เป็นอาหาร ปฏิบัติอยู่ในพรหมวิหารและศีลอันพึงปฏิบัติเท่านั้น มิใช่เป็นเทวดาเหมือนที่ท่านคิด นายพรานไม่กล้ารบกวนนางมากนักจึงอำลาราชธิดาไป พร้อมกับนึกในใจว่า ตนได้มาพบนางผู้งดงามและมากล้นด้วยบารมี ครั้งนี้นับว่าเป็นบุญมากแล้ว ควรนำเรื่องราวไปกราบทูลให้กษัตริย์แห่งเมืองของตนได้ทรงทราบจะเป็นการดียิ่ง

เมื่อนายพรานกลับสู่เมือง ก็ได้นำความไปกราบทูลใพ้พระญาจิตตราชแห่งเมืองหงสาวดีทราบ  พระญาจิตตราชก็สั่งให้นำกองทัพมุ่งหน้าสู่สถานที่ที่ราชธิดาจันทกุมารีอาศัยอยู่ทันที  พอใกล้จะถึงในที่ไม่ไกลจึงส่งเสนาผู้ใหญ่เข้าไปเจรจากับนาง ในตอนแรกก็เจรจาไม่ได้ผล เพราะเสนาเหล่านั้นเมื่อไปเห็นนางต่างก็ขาดสติพลั้งเผลอด้วยตะลึงในความงามของนาง และต่างก็มีอาการอันหาสติมิได้ พูดจาไม่ตรงความหมาย หลงลืมไปต่างๆ นานา เมื่อส่งเสนาคนใหม่ไปก็มีอาการไร้สติเช่นกัน  พระญาจิตตราชจึงต้องเสด็จไปเอง เมื่อไปถึงก็เจรจรขอนางไปเป็นราชเทวี ราชธิดาไม่ปรารถนาจะไปอยู่ในเมืองอีก เพราะตั้งใจปฏิบัติภาวนารักษาศีลอยู่ในป่า จึงกล่าวปฏิเสธ โดยอ้างว่าตนเป็นคนป่าไม่ควรคู่กับราชบัลลังก์ หากนำตนไปเป็นมเหสีก็จะไม่เป็นมงคลแก่บ้านเมือง พระญาจิตตราชก็ยังคงใช้ความอยายามหลายต่อหลายครั้ง จนสุดท้ายราชธิดาจำใจต้องรับคำเชิญ พระญาจิตตราชได้จัดขบวนแห่สู่เมืองอย่างสมเกียรติ แล้วได้จัดพิธีอภิเษกสมรสในเวลาต่อมา

พระญาจิตตราชครองราชสมบัติคู่กับนางจันทาราชเทวีมาได้ระยะหนึ่ง วันหนึ่งนางจันทาฝันว่ามีลูกแก้วอันประเสริฐล่องลอยมาจากฟ้าแล้วเข้าสู่ปากของนางประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งฝันว่า นางได้กลับไปอยู่ในป่าดังเดิม ก็พอดีขณะนั้นมีศึกมาประชิดเมือง พระบิดาของพระญาจิตตราชได้ยกกองทัพออกต้านแต่สู้ไม่ได้ พระญาจิตตราชจึงยกกองทัพออกไปปราบ ขณะที่พระญาจิตตราชไม่อยู่ในวังนั้น เสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ทั้งหลายได้หารือกันว่า เมืองหงสาวดีแต่ไหนแต่ไรมาก็อยู่อย่างสงบสุขไม่เคยมีข้าศึกมารบกวน มาบัดนี้มีข้าศึกมาประชิดเมืองให้ได้รับความเดือดร้อน อาจเป็นเพราะพระญาจิตตราชนำเอานางจันทาซึ่งเป็นคนป่ามาเป็นราชเทวี ผิดราชประเพณีที่มีมา จึงควรขับไล่นางให้ไปอยู่ป่าดังเดิม บ้านเมืองจะได้สงบสุข เมื่อหารือกันดังนั้นจึงพากันขับไล่นางจันทาให้ออกจากเมือง นางจันทาขณะนั้นกำลังตั้งครรภ์อยู่ก็จำต้องออกไปอยู่ป่าและสร้างกระท่อมอยู่ดังเดิม ต่อมาก็ได้กำเนิดลูกชายคนหนึ่งมีรูปโฉมงดงามยิ่ง นางตั้งชื่อว่า “ไภยราชกุมาร


โปรดติดตามตอนต่อไป


หัวข้อ: Re: ไภยราชชาดก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 31 มีนาคม 2563 19:32:21
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/52167408706413_8.jpg)

ไภยราชชาดก (ต่อ)

ไภยราชกุมารเจริญเติบโตจขึ้น มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสามารถในการเล่นหมากรุกหมากสกาเป็นอย่างดี  วันหนึ่งไภยราชกุมารขออนุญาตไปเล่นในบ้านเมือง ไภยราชกุมารได้ไปเล่นหมากสกากับเด็กเลี้ยงควายที่ชานเมือง โดยขอดาบสรีกัญไชยกับธนูสงห์เป็นของพนัน หากชนะก็จะขอข้าวห่อ เด็กเหล่านั้นจึงยอมเล่นด้วย เมื่อเล่นกันไปสุดท้ายไภยราชก็ชนะจึงได้ข้าวห่อกลับมาหามารดา เด็กเลี้ยงควายเหล่านั้นก็กลับไปกินข้าวที่บ้าน รุ่งขึ้นไภยราชกุมารก็ไปเล่นหมากสกากับเด็กเลี้ยงควายโดยพนันเอาข้าวห่ออีก ไภยราชเล่นชนะก็เอาข้าวห่อกลับมาหามารดา เด็กเหล่านั้นก็กลับไปกินข้าวที่บ้าน เป็นอยู่อย่างนี้หลายวัน พ่อแม่เห็นผิดปกติจึงถามเอาความจริง เด็กเหล่านั้นก็เล่าให้ฟัง พ่อแม่ของเด็กจึงสั่งห้ามไม่ให้เล่นอีก

กล่าวถึงพระญาจิตตราช เมื่อรบชนะข้าศึกกลับมาไม่เห็นราชเทวีก็ถามเสนาอำมาตย์ เสนาทั้งหลายก็ตอบตามความเป็นจริง พระญาจิตตราชทรงพิโรธยิ่งนัก แต่ก็สามารถระงับอารมณ์ไว้ได้ อยู่ต่อมาได้ยินกิตติศัพท์ของไภยราชกุมารในความสามารถเล่นหมากสกา จึงให้เสนาไปตามมาเล่นกับตน พอไภยราชกุมารมาถึงก็ถามว่าจะเอาอะไรเป็นของพนัน ไภยราชว่าตนมีแต่ดาบสรีกัญไชยกับธนูสิงห์ก็ขอเอาเป็นของพนัน หากเล่นชนะจะขอเพียงข้าวห่อไปกินเท่านั้น เมื่อลงเล่นได้สักพักพระญาจิตตราชก็แพ้ พอเริ่มใหม่ก็แพ้อีก ไภยราชจึงได้ข้าวห่อกลับบ้าน  รุ่งขึ้นพระญาจิตตราชก็ให้มาเล่นอีก แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะไภยราชได้ แม้จะพยายามอยู่หลายวัน  พระญาจิตตราชรู้สึกไม่พอใจที่เล่นแพ้เด็กน้อยอยู่หลายวัน และด้วยขัตติยมานะจึงท้าพนันครั้งสุดท้ายว่า หากไภยราชแพ้ต้องมาเป็นทาสรับใช้ หากชนะตนจะยกเมืองให้ครอง ไภยราชก็ตกลง  เมื่อเล่นหมากสกาด้วยความสามารถทั้งสองฝ่าย ไภยราชก็เอาชนะพระญาจิตตราชได้ พระญาจิตตราชทรงพิโรธหนักและเกรงจะเสียราชสมบัติ จึงสั่งทหารให้ไล่จับตัวไภยราช แต่ด้วยบุญบารมีที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายหน้าจึงไม่มีใครสามารถจับตัวได้ ต่างคนต่างเห็นพวกเดียวกันเป็นไภยราช จึงเกิดการจับตัวผิด ทำร้ายกันบ้างเป็นอลหม่าน

ฝ่ายไภยราชเมื่อถูกโกงก็กลับบ้านเล่าเรื่องราวให้ราชเทวีผู้เป็นแม่ฟัง ราชเทวีจันทาจึงบอกความจริงให้ฟังว่าคนที่โกงลูกนั้นก็คือบิดาของลูกนั่นเอง จากนั้นได้เล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อไภยราชรู้แล้วก็อยากพิสูจน์ความจริงจึงลามารดาเข้าไปในวังในวันรุ่งขึ้น

พอไภยราชไปถึงก็ร้องทวงสัญญาและท้าทายต่างๆ นานา จากนั้นได้ยกธนูขึ้นมาอธิษฐาน หากพระญาจิตตราชเป็นบิดาจริงแล้วขอให้ลูกธนูพุ่งเข้าสู่ใบหูพระญา โดยไม่ให้พระญารู้สึกเจ็บ แล้วขอให้ธนูดึงหูพระญามาหาตนแล้วพาไปหาพระเถระเพื่อตัดสินคดี พระเถระเมื่อได้ฟังจบก็มีความเห็นให้ไภยราชควรได้ครองเมืองตามสัญญาจากนั้นพระเถระเหล่านั้นได้ถามประวัติความเป็นมาของตัวไภยราชว่าเป็นลูกของใครเชื้อสายไหน ไภยราชก็เล่าความที่พระมารดาจันทาเทวีเคยเล่าให้ฟังว่าเป็นลูกของพระญาจิตตราชนั่นเอง  พระญาจิตตราชทราบความก็ดีใจหายโกรธได้เข้าไปโอบปลอบโยน จากนั้นได้สั่งให้เสนาจัดริ้วขบวนไปรับพระนางจันทาราชเทวีถึงในป่า

พระนางจันทาราชเทวีเมื่อเห็นพระญาจิตตราชจัดขบวนไปรับก็ปฏิเสธและขออยู่ป่าตลอดไป พระญาจิตตราชได้อ้อนวอนต่างๆ นานา ในที่สุดพระนางก็ยอมกลับสู่นคร อยู่ได้ไม่นานพระญาจิตตราชก็อภิเษกให้ไภยราชขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์แทนตนต่อไป ส่วนพระญาก็ทรงอยู่กับราชเทวีจนได้โอรสอีก ๑ องค์ และธิดา ๑ องค์

พระยาไภยราชปกครองเมืองได้ระยะหนึ่งก็ขออนุญาตไปแสวงโชคในป่าลึก เมื่อทุกคนไม่ขัดข้องจึงออกจากเมืองพร้อมด้วยอาวุธคู่กายคือดาบสรีกัญไชยและธนูสิงห์มุ่งสู่ป่าใหญ่

ในป่าดงลึกนั้น มีเมืองแห่งหนึ่งชื่อเมืองเงิน มีพระญาทุมราชปกครองอยู่บริเวณเขาไกรลาศ พระญาทุมราชมีธิดาอยู่ ๗ คน คนสุดท้องชื่อ “สรีฅำกอง” ธิดาทั้ง ๗ มีวัยขึ้นสู่วัยสาวมีรูปโฉมอันงดงามยิ่ง วันหนึ่งธิดาทั้ง ๗ ได้ขออนุญาตพระบิดาไปเล่นน้ำที่สระบัวกลางป่า ขณะนั้นมียักษ์ตนหนึ่งแปลงร่างเป็นมาณพหนุ่มมาดู เมื่อเห็นธิดาทั้ง ๗ เล่นน้ำอยู่จึงจับมัดไว้แล้วไปหากินต่อ โดยคิดว่าจะกลับมากินในภายหลัง ขณะธิดาถูกมัดอยู่ไภยราชก็มาพบและทำการช่วยเหลือแก้มัดออก เมื่อยักษ์กลับมาพบว่าพระธิดาถูกแก้มัดก็โกรธจะเข้าทำร้ายไภยราช ไภยราชจึงกวัดแกว่งดาบสรีกัญไชยเข้าหา เมื่อยักษ์เห็นก็เกิดความกลัวจึงร้องขอชีวิต ซึ่งไภยราชก็เมตตาไว้ชีวิตให้ พระธิดาทั้ง ๗ เมื่อรอดพ้นจากอันตรายก็ขอเป็นข้าบาทบริจาริกา ไภยราชกล่าวขอบคุณแต่ไม่ขอรับ โดยเห็นว่าพระบิดาจะเป็นห่วงหาเมื่อไม่เห็นธิดากลับคืนนคร แต่ก็จะขอรับเพียงพระธิดาคนสุดท้องคือนางสรีฅำกองไปเป็นราชเทวี  ธิดาผู้พี่ทั้งหกจึงกลับคืนสู่นครเมืองเงิน แล้วเล่าเหตุการณ์ให้พระบิดาฟัง พระญาทุมราชทรงอาดูรด้วยความอาลัยรักในธิดาสรีฅำกอง แต่ก็มิรู้จะทำประการใด ธิดาและราชเทวีช่วยกันปลอบโยน พระญาทุมราชจึงค่อยบรรเทาลง

กล่าวถึงไภยราชเมื่อได้นางสรีฅำกองแล้วก็พาเหาะไปในอากาศท่องเที่ยวชมป่า  ขณะนั้นมีวิทยาธรตนหนึ่งผ่านมาเห็นนางสรีฅำกองมีรูปโฉมอันงดงามก็มีจิตปฏิพัทธ์ จึงเข้ารบกับไภยราชเพื่อชิงเอานาง  ไภยราชก็ใช้ดาบสรีกัญไชยรบด้วย แต่เนื่องจากไภยราชต้องอุ้มนางด้วย จึงมีมือข้างเดียวที่ถือดาบ จึงพลาดพลั้งถูกวิทยาธรฟันที่บ่าล้มลง วิทยาธรจึงแย่งเอานางได้แล้วพาเหาะหนีไป ส่วนไภยราชได้รับทุกข์ทรมานมากและรู้ว่าตนเองต้องสิ้นชีวิต จึงกระเสือกกระสนคลานไปหาที่ตายที่เหมาะสม เมื่อคลานไประยะหนึ่งก็พบฤๅษีตนหนึ่งจึงถามว่าที่ใดเหมาะสมที่จะตาย ฤๅษีก็ชี้ทางให้ไปตายยังเนินที่ราบไม่รกรุงรัง ไภยราชจึงคลานไปนอนซมอยู่เพื่อรอความตาย


ส่วนวิทยาธรได้พานางสรีฅำกองหนีไป ในระหว่างทางก็เกิดอาการร้อนกายจึงแวะพักใกล้สระน้ำแห่งหนึ่งแล้ววางดาบลงอาบน้ำ นางสรีฅำกองได้ทีจึงเอาดาบฟันวิทยาธรจนตายแล้วย้อนกลับมา  เมื่อไม่พบไภยราชจึงตามรอยเลือดไปพบไภยราชนอนอยู่ ไภยราชอยู่ได้ไม่นานก็สิ้นใจตายต่อหน้านางสรีฅำกอง การตายของไภยราชทำให้นางสรีฅำกองโศกเศร้าเสียใจ ด้วยความอาลัยรักและซื่อสัตย์ นางร้องไห้วอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทวดาให้ช่วยเหลือ แล้วนางก็เฝ้าศพของไภยราชจนศพเน่าเปื่อยเหลือแต่กระดูก นางก็ยังเฝ้าอยู่จนล่วงเลยไปถึง ๓ เดือน นางก็ยังไม่ไปไหน เมื่อพระอินทร์เห็นดังนั้นก็คิดจะช่วยเหลือ แต่ก็อยากลองใจของนางสรีฅำกองว่าจะซื่อสัตย์ขนาดไหน จึงให้วิษณุกรรมแปลงร่างเป็นชายหนุ่มหลงทางมาแล้วเกี้ยวพาราสีต่างๆ นานา ซึ่งนางก็ไม่นำพาสนใจ วิษณุกรรมจึงไปบอกพระอินทร์ พระอินทร์ก็ยังไม่มั่นใจจึงแปลงกายเป็นมาณพหนุ่มรูปงามลงมาเกี้ยวอีก นางยังคงยืนยันว่าขอมีไภยราชคนเดียวเท่านั้น  พระอินทร์รู้สึกสงสารจึงเอาน้ำจากคนโททิพย์มาหลั่งรดกายของไภยราชจนฟื้นคืนชีพอีกครั้ง นางสรีฅำกองจึงเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ให้ไภยราชฟัง จากนั้นจึงพากันกลับคืนสู่เมืองเงิน ณ เขาไกรลาส

พระญาทุมราชดีพระทัยยิ่งนักที่เห็นธิดาสรีฅำกองกลับมา จึงจัดงานเฉลิมฉลองและอภิเษกให้ไภยราชครองเมืองอีกด้วย อยู่มาไม่นานเจ้าเมืองน้อยใหญ่รวม ๗ เมือง ได้ยกทัพมาเพื่อแย่งชิงธิดาทั้ง ๗ พระญาไภยราชจึงออกรบโดยใช้ธนูสิงห์ปราบจนชนะศึก ตั้งแต่นั้นบ้านเมืองก็ร่มเย็นเป็นสุข พระญาไภยราชปกครองไพร่ฟ้าเมืองเงินได้ระยะหนึ่ง ก็คิดถึงบ้านเมืองเดิมคือหงสาวดี จึงกราบทูลขออนุญาตลาพระญาทุมราช ซึ่งพระญาทุมราชก็อนุญาต พระธิดาสรีฅำกองก็ขออนุญาตติดตามไปด้วย ทั้งสองจึงออกเดินทางไปในที่ที่มีผลไม้ดกดื่น นางสรีฅำกองเห็นลูกชมพู่ใหญ่น่ากินจึงขอให้ไภยราชปลิดให้ พระญาไภยราชเกรงจะเป็นลูกไม้มีพิษจึงห้ามไว้ นางก็ไม่ยอม แม้ไม่ได้กินก็ขอชิมเพียงนิดหนึ่ง ไภยราชก็พยายามห้าม นางยังยืนยันจะชิมให้ได้ ด้วยวิบากกรรมด้วยไภยราชจะต้องได้เฝ้าศพนาง จึงบันดาลให้ไภยราชปลิดชมพู่ให้นางกิน พอนางได้ชิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พิษแห่งผลไม้นั้นก็แผ่ซ่านทั่วกาย นางจึงสิ้นใจตายไปต่อหน้า แล้วร่างกายของนางก็กลายเป็นทองคำในบัดดล ไภยราชตกใจร่ำไห้ไม่มีที่สิ้นสุด เฝ้าศพนางอันเป็นที่รัก กล่าวถึงพระอินทร์เห็นเช่นนั้นก็ส่งมเหสีคือนางสุชาดาลงมาลองใจดูความซื่อสัตย์ของไภยราช โดยแปลงร่างเป็นหญิงสาวมาแสดงมายาต่างๆ นานา ไภยราชก็มิได้สนใจ พระอินทร์จึงนำน้ำจากคนโททิพย์มารดให้  นางสรีฅำกองก็ฟื้นคืนมาดังเดิม จากนั้นทั้งสองจึงเดินทางต่อจนลุเมืองหงสาวดี

พระญาจิตตราชดีพระทัยที่ไภยราชกลับมาจึงโปรดให้ขึ้นครองราชย์สมบัติอีกครั้ง ต่อมานางสรีฅำกองก็ประสูติพระโอรส ๑ องค์ และธิดาอีก ๑ องค์  พระญาไภยราชปกครองไพร่ฟ้าโดยสงบสืบมาจนพระบิดาและมารดาสิ้นอายุ จากนั้นก็อภิเษกให้โอรสขึ้นครองราชย์แทนแล้วครองชีวิตจนสิ้นอายุขัย ได้ไปเกิด ณ สรวงสวรรค์

พระพุทธองค์เมื่อแสดงพระธรรมเทศนาจบ ทรงประชุมชาดกว่า วิทยาธรพาลบัดนั้นคือพระเทวทัตในกาลบัดนี้ ยักษ์ที่จับธิดาทั้งเจ็ดคือองคุลิมาล พระญาทุมราชคือพระสารีบุตร จระเข้คืออุททายีเถร พระอินทร์คืออนุรุทธเถร วิษณุกรรมคือพระโมคคัลลาน พระญาจิตตราชคือพระเจ้าสรีสุทโธทนะ พระนางจันทาราชเทวีคือพระนางสิริมหามายา โอรสของไภยราชคือพระราหุล ธิดาของไภยราชคือนางอุบลวรรณา นางสรีฅำกองได้แก่พระนางยโสธราพิมพา และพระญาไภยราช ได้แก่พระพุทธองค์เอง


จบ ไภยราชชาดก

ขอขอบคุณที่มา: "ไภยราช" สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชน์