ถาม-ตอบปัญหาธรรม กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี

(1/15) > >>

Maintenence:
Tweet




ถาม-ตอบปัญหา กับพระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

“หลักของการนั่งสมาธิเบื้องต้น”

ถาม: อยากให้พระอาจารย์อธิบายหลักของการนั่งสมาธิเบื้องต้นและลักษณะของสมาธิเบื้องต้นครับ

พระอาจารย์: ก็เบื้องต้นนั่งก็ให้นั่งขัดสมาธิ ถ้านั่งขัดสมาธิไม่ได้ก็นั่งเก้าอี้นั่งห้อยเท้าไป ตั้งตัวให้ตรงแล้วก็ตั้งจิตให้อยู่กับอารมณ์ที่เรากำหนดไว้เป็นเครื่องผูกใจ ถ้าใช้พุทโธก็บริกรรมพุทโธพุทโธไป ไม่ต้องหยุดไม่ต้องไปสนใจกับอะไรที่ปรากฏในขณะที่เรานั่ง ถ้าดูลมหายใจก็ดูที่ปลายจมูก รู้ว่าเข้ารู้ว่าออกไป เท่านั้นเอง แล้วถ้าใจไม่ไปยุ่งกับเรื่องอื่นอยู่กับพุทโธหรืออยู่กับลม ใจก็จะค่อยๆ สงบ รู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในถ้ำ พวกเสียงอะไรต่างๆ ที่เข้ามาทางร่างกายเราจะรู้สึกว่ามันห่างไปห่างไป เหมือนกับเวลาที่เราเดินเข้าไปในถ้ำนี้ เราจะรู้สึกว่าเสียงที่อยู่นอกถ้ำนี้มันเริ่มห่างไกลห่างไกลออกไป นี่คือลักษณะของความสงบ ใจจะเข้าข้างใน ใจจะปล่อยรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ก็ทำไปเรื่อยๆ อย่าไปหยุด ไปจนกว่ามันจะสงบแล้วมันจะหยุดของมันเอง แล้วเราค่อยหยุด เท่านี้เอง พอสงบแล้วก็จะเกิดความสุขที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนในชีวิต จะรู้สึกว่าเป็นความสุขที่มหัศจรรย์ยิ่งกว่าความสุขทั้งหลายทั้งปวงที่เราเคยได้สัมผัสมา สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒


“สัญญามันลืมได้ปัญญามันไม่ลืม”

ถาม: ความเห็นด้วยปัญญากับความเห็นด้วยสัญญาต่างกันอย่างไรครับ

พระอาจารย์: สัญญามันลืมได้ไง ปัญญามันไม่ลืม เช่น บางทีเราลืมว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นอนิจจัง เราก็จะไปอยากได้ขึ้นมา แต่ถ้าเราไม่ลืมเราจำได้ตลอดว่ามันเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง อนัตตา เราก็จะไม่อยากได้ งั้นต้องเอาความรู้ที่เราได้เรียนรู้ เช่น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรืออสุภะหรือปฏิกูลนี่ ให้มันจำได้ ปฏิกูลก็คือเวลาเห็นอาหารก็ต้องนึกต้องเห็นปฏิกูลทันที อสุภะก็เห็นอะไรสวยคนสวยคนงามคนหล่อก็เห็นอสุภะทันที อย่างนี้เขาถึงจะเรียกว่าเป็นปัญญา แต่ถ้าเห็นคนสวยคนหล่อก็ยังเห็นสวยหล่ออยู่นั่น ไม่เห็นอสุภะ ก็แสดงว่าอสุภะนั้นไม่ได้เป็นปัญญา เป็นสัญญา จำได้บ้างจำไม่ได้บ้าง  สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒

Maintenence:


“นั่งสมาธิแล้วเห็นเป็นสีขาวนวล”

ถาม: กราบนมัสการค่ะหลวงพ่อ หนูอยากถามว่าการนั่งสมาธิทำจิตว่าง จะเห็นเป็นสีขาวนวลๆ หมายถึงอะไรเจ้าคะ

พระอาจารย์: หมายถึงว่ายังใช้ไม่ได้ ต้องนั่งต่อไป อย่าไปสนใจกับสีขาวนวลๆ ถ้าพุทโธก็ต้องพุทโธต่อไป ถ้าดูลมก็ต้องดูลมต่อไป มันต้องเข้าไปจนไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ต้องว่างจริงๆ เหลือแต่สักแต่ว่ารู้ แล้วก็มีความสุขอย่างมาก เป็นความสุขที่มหัศจรรย์ใจ นั่นแหละถึงจะเรียกว่าเราได้ผลจากการนั่งสมาธิ ถ้านั่งไปแล้วยังรู้สึกเฉยๆ เหมือนกับตอนที่ไม่ได้นั่งก็ยังถือว่ายังไม่ได้สมาธิ ถึงแม้จะรู้สึกว่างจะเบาบ้างแต่มันยังไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ต้องนั่งต่อไปต้องดูลมต่อไป หรือต้องพุทโธต่อไปอย่าหยุด  ธรรมะบนเขา  วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒


“เจ้ากรรมนายเวรหรือเราไม่มีสติ”

ถาม: เวลานั่งสมาธิแล้วมักจะเห็นอะไรแปลกๆ แวบขึ้นมา นั่นคือเจ้ากรรมนายเวรหรือเราไม่มีสติเจ้าคะ

พระอาจารย์: อ๋อ ไม่มีสติ พอเผลอสติปั๊บเดี๋ยวก็มีอะไรผุดขึ้นมา ก็แสดงว่ามันเป็นเครื่องเตือนใจเราว่า “เฮ้ย เผลอสติแล้วนะ” กลับมาหาพุทโธต่อ กลับมาดูลมต่อ อย่านั่งเฉยๆ อย่าขี้เกียจ พอขี้เกียจแล้วเดี๋ยวมันก็โผล่ขึ้นมา  สนทนาธรรมบนเขา  วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒



“ต้องเพิ่มสติ”

ถาม: การนั่งสมาธิแล้วเพลินไปคิดถึงเรื่องอื่นกว่าจะมีสติกลับมาดูลมหายใจเข้าออกบางทีก็นาน หรือพอเริ่มสงบขาก็เริ่มปวดมากจนทนนั่งต่อไปไม่ไหว ต้องทำอย่างไรครับ

พระอาจารย์: ก็ต้องเพิ่มสติไง เวลาออกจากสมาธิมาก็ต้องทำสติต่อไป พุทโธต่อไป ทำให้มากๆ เวลายังไม่ได้นั่งต้องเตรียมสติไว้ก่อน เหมือนเติมน้ำมันนี่ ก่อนที่เราจะลงสนามแข่งรถ เรามั่นใจว่าเรามีน้ำมันเต็มถังหรือยัง ไม่ใช่เติมไว้แค่ครึ่งถังเดี๋ยวแข่งกับเขา เดี๋ยวไปหมดกลางสนาม อันนี้ก็เหมือนกันเวลาเรานั่งสมาธิก็เหมือนสู้กับกิเลส สู้กับความอยากต่างๆ ถ้าสติเรามีน้อยเดี๋ยวก็หมดกำลัง พอหมดกำลังกิเลสมันก็เอาไปกิน

ดังนั้น เราต้องเติมน้ำมันให้มันเต็มถัง เติมสติให้มันเต็ม ๑๐๐ ถ้าสติเต็ม ๑๐๐ นี้ พอลงสนามแข่งมันก็สามารถดึงจิตเข้าสู่ความสงบได้ อย่างนั้นเวลาออกจากสมาธิมาต้องมาเติมสติกัน เหมือนเวลาออกจากสนามแข่งรถก็รีบไปเติมน้ำมัน เติมให้มันเต็มถัง พอเติมเต็มถังแล้วค่อยกลับลงสนามใหม่ ทีนี้ไม่ต้องจอดกลางคันแล้วเพราะมันจะวิ่งได้ครบ อันนี้ก็เหมือนกันพอเรานั่งสมาธิแล้วไปได้ครึ่งทางหมดกำลัง สติหายเผลอไป จิตเริ่มคิดอาการปวดของร่างกายเริ่มปรากฏทนไม่ไหวแล้ว แต่ถ้ามีสติมันไม่คิดแล้วมันจะไม่รับรู้เรื่องความปวดของร่างกาย ร่างกายปวดยังไงมันก็นั่งต่อไปได้ ดังนั้น ต้องกลับมาเติมสติ พอออกจากสมาธิมาก็อย่าปล่อยให้ใจคิด ใช้พุทโธ พุทโธ บังคับมันต่อไป  สนทนาธรรมบนเขา วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒

Maintenence:


“วิธีฝึกสติและรักษาอุเบกขา”

ถาม: กราบเรียนถามหลวงพ่อ การที่จิตผู้รู้กระทบสัมผัสที่เป็นนามไม่เห็นรูป แต่ตัวรู้รู้จิตว่าเป็นเช่นไร แต่ทำให้ขาดสติชั่วขณะหนึ่งเพื่อพิจารณาสิ่งนั้นๆ การแก้ไขให้สติให้มีกำลังมากขึ้นเพื่อให้อารมณ์ภายนอกต่างๆ ตกไปได้ ควรปฏิบัติอย่างไรครับ โปรดพิจารณาเพื่อไม่ให้เป็นประสาทกับอารมณ์ภายนอกต่างๆ

พระอาจารย์: ก็ต้องฝึกจนจิตรวมเป็นสมาธิให้ได้ เป็นอัปปนาสมาธิ แล้วจิตจะมีสติที่ต่อเนื่องที่มีกำลังมาก ที่จะสามารถควบคุมจิตไม่ให้ไปวุ่นวายกับเรื่องราวต่างๆ ได้ สตินี้สำคัญมาก ถ้ามีสติควบคุมใจได้แล้ว ใจจะเชื่องพูดง่ายๆ ใจนี้ถ้ายังไม่ได้ฝึกสตินี่เหมือนม้าป่า ม้าป่านี่ถ้าเราจะเอาไปขี่มันจะขี่ไม่ได้ เดี๋ยวมันก็ทำให้เราตกหลังม้าได้ พยศ แต่ถ้าเราฝึกมันเชื่องแล้วมันก็จะเรียบร้อย มันจะไม่พยศ จิตของเราไม่มีสติพอไปสัมผัสรับรู้อะไรแล้ว มันจะเกิดอารมณ์ขึ้นมาทันที ไม่รักก็ชัง ไม่ชังก็กลัว ไม่กลัวก็หลง แต่ถ้าเราฝึกสติจนเชื่องแล้ว มันจะไม่รักไม่ชังไม่กลัวไม่หลง เห็นอะไรก็เฉยๆ เห็นงูเลื้อยมาก็เฉยๆ เห็นไฟไหม้ก็เฉยๆ ไม่ได้ตื่นเต้นตกใจ แต่ไม่ได้อยู่เฉยๆ นะ ถ้าไฟไหม้ถ้าดับได้ก็ดับนะ ถ้างูมาถ้าหลบได้ก็หลบ เพียงแต่ว่าใจไม่ไปตื่นเต้นตกใจหวาดเสียวหวาดกลัวกับเหตุการณ์ต่างๆ ใจจะเฉยๆ แต่ใจจะใช้ปัญญาใช้เหตุผลว่า “หลบได้ก็หลบ หลีกได้ก็หลีก” หลบไม่ได้หลีกไม่ได้ก็อยู่เฉยๆ ไป อยู่เฉยๆ มันก็ปลอดภัย สัตว์มันไม่ทำร้ายเราหลอกถ้าเราอยู่เฉยๆ อันนี้เป็นเรื่องของการควบคุมใจ สตินี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าไม่มีสติแล้วควบคุมไม่ได้ ถึงแม้จะใช้ปัญญาก็ปัญญามันก็ไม่เชื่อ ตอนนี้เรารู้เรามีปัญญา เรารู้ว่าเราไม่ควรรักไม่ควรชังไม่ควรกลัวไม่ควรหลง แต่มันก็ยังอดไม่ได้ เพราะเรายังไม่ได้ไปทำให้มันนิ่งสงบแบบไม่รักไม่ชังไม่กลัวไม่หลงจริงๆ

ฉะนั้น เราต้องหมั่นฝึกสติอยู่เรื่อยๆ ฝึกบ่อยๆ ยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งดี การฝึกสติได้มากเท่าไหร่ ก็เหมือนกับการหัดว่ายน้ำบ่อยๆ ยิ่งว่ายน้ำบ่อยๆ ยิ่งชำนาญ ต่อไปก็จะเป็นแชมป์ของศาสตร์ได้ กระโดดลงน้ำแล้วเหมือนกับอยู่บนพื้นดิน คล่องแคล่วว่องไวเหมือนกับตอนที่อยู่บนพื้นดิน ถ้าไม่ฝึกมันก็เหมือนลงไปเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็จมน้ำตายได้ งั้นหมั่นฝึกสติอยู่เรื่อยๆ เป็นแล้วจะรักษาใจให้เป็นอุเบกขา ไม่ให้รักไม่ให้ชังไม่ให้กลัวไม่ให้หลงได้ พอเราทำให้มันเป็นอุเบกขาได้แล้ว ขั้นต่อไปเราก็ใช้ปัญญาสอนมันให้มันเป็นอุเบกขาอย่างถาวรต่อไปได้ เพราะตัวที่จะมาทำให้ใจออกจากอุเบกขาคือตัวความหลง ที่ไปเห็นว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้ดี พอเกิดเห็นว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้ดีก็เกิดความอยากได้ขึ้นมา พอเกิดความอยาก อุเบกขาก็จะหายไป

แต่ถ้ามีปัญญาสอนว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้ดีหรอก มันดีปลอมมันหลอกเราทั้งนั้น มันดีเดี๋ยวเดียวเดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป เหมือนผู้หญิงคนเมื่อกี้บอก แต่งงานกับสามีแล้ว เดี๋ยวนี้สามีกลายเป็นเจ้านายแล้ว สั่งนู้นสั่งนี้ ตอนที่คบกันใหม่ๆ ไม่ได้คิดว่าจะได้เขามาเป็นเจ้านาย ใช่ไหม คิดว่าจะได้เขามาเป็นสามีเป็นคู่รัก แต่ที่ไหนได้พอได้มาแล้ว มันไม่ได้เป็น เพราะเรามองไม่เห็นอนิจจังว่ามันไม่เที่ยง มันต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าเรามีปัญญาก็จะรู้ก่อนเลยว่า ไม่เอา ได้สามีมาเดี๋ยวก็ได้เจ้านายมา อยู่คนเดียวดีกว่า อยู่กับความสงบดีกว่า ความสงบนี่แหละเป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งปวง อันนี้คือปัญญา พอปัญญาบอกปั๊บจิตก็จะเลิกอยาก พอเลิกอยากปั๊บอุเบกขาก็กลับมาเหมือนเดิม ไม่รักไม่ชังไม่กลัวไม่หลงเหมือนเดิม

ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
550

Maintenence:



“ทุกขังนี้เป็นใจ”

ถาม: เมื่อคืนสวดมนต์นั่งสมาธิไม่มีปวดเมื่อยเลยพิจารณาอสุภะจนกระดูกสลายไปกับดิน สักพักออกจากสมาธิเพราะเหลือแต่ขากับมือ ที่เหลือว่างเปล่าไม่มีกายให้ได้เห็นว่าไม่มีตัวตนแม้แต่จิต จากนั้นเห็นได้ชัดว่าทุกขัง อนิจจัง เป็นอนัตตา “ทุกขัง อนิจจัง” เป็นอนัตตาใช่ไหมครับ

พระอาจารย์: อ๋อ ไม่ใช่ ร่างกายเป็นอนัตตา มันเป็นอนิจจังมันไม่เที่ยง มันเป็นอนัตตาคือเป็นเหมือนต้นไม้ มันไม่มีเจ้าของ มันทำมาจากดิน น้ำ ลม ไฟ เจ้าของก็เป็นเจ้าของชั่วคราวคือเรา เรามาเกาะติดกับร่างกาย แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่แท้จริง เป็นผู้มาอาศัยอยู่ เหมือนอาศัยบ้านอยู่ เดี๋ยวต่อไปบ้านมันก็ต้องพัง เพราะนี่คือธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ มันจะอยู่ได้ไม่นาน เดี๋ยวมันก็ต้องเสื่อมสภาพหมดสภาพไป มันเลยทำให้เราทุกข์กัน ผู้ที่ทุกข์คือใจ ร่างกายไม่ทุกข์ ร่างกายเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา แต่ร่างกายไม่ได้เป็นทุกขัง ทุกขังนี้เป็นใจ ใจทุกข์เพราะว่าใจไปอยากให้ร่างกายไม่เป็นอนิจจัง ไม่เป็นอนัตตา อยากให้เป็นนิจจัง อยากให้เป็นสุขัง อยากให้เป็นอัตตา มันก็เลยทำให้ใจทุกข์ แต่ถ้าใจเห็นด้วยปัญญาว่ามันเป็นอนิจจัง มันต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เป็นอนัตตา มันเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ต่อไปมันก็จะแยกออกจากกัน ร่างกายนี้มันทำด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ เดี๋ยวดินน้ำลมไฟก็จะแยกออกจากกันไป ถ้าเห็นด้วยความจริงอันนี้มันก็จะปล่อยวาง จะละความอยากให้ร่างกายเป็น “นิจจัง สุขัง อัตตา” ได้ ก็จะไม่ทุกข์กับร่างกาย เวลาร่างกายเป็น “อนิจจัง” เป็น “อนัตตา”
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน


“ให้เอาบุญวิ่งหนีบาป”

ถาม: ถ้าในอดีตเราได้ทำบาปฆ่าสัตว์ แต่ในปัจจุบันรู้แล้วว่าเป็นบาปเราจะทำอย่างไรคะในอดีตที่ทำผิดพลาดไป

พระอาจารย์: อ๋อ ในอดีตก็ต้องใช้มันไปละซิ ถ้าทำบาปโดยไม่รู้ก็ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน งั้นมันห้ามไม่ได้ของเก่าที่ทำไปแล้วก็ต้องรับผลไป แต่เราสามารถรอให้มันลงอาญาได้ เลื่อนเวลาได้ด้วยการพยายามทำบุญให้มากๆ ไว้ ถ้าเราทำบุญไว้มากกว่าบาป เวลาที่เราตายไป บาปมันยังแสดงผลไม่ได้เพราะบุญมันมีกำลังมากกว่า บุญก็จะดึงใจไปสวรรค์ก่อน พอบุญกับบาปมีกำลังเท่ากันเราก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ เราก็มาทำบุญใหม่ พยายามให้มันมากกว่าบาปไว้เรื่อยๆ แล้วเวลาตายมันก็ยังไม่ไปอบาย แต่มันไม่หาย แต่เวลาใดที่บุญน้อยกว่าบาปแล้วเวลาที่เราตายไป ตอนนั้นแหละบาปมันก็จะดึงเราไปอบาย เราไปลบล้างมันไม่ได้ เพียงแต่เราอาจจะรอลงอาญาได้ด้วยการพยายามทำบุญให้มากกว่าบาปไว้อยู่เรื่อยๆ คือให้เอาบุญวิ่งหนีบาป ถ้าบุญวิ่งเร็วกว่าบาป บาปก็ตามไม่ทัน ถ้าบุญวิ่งช้ากว่าบาป บาปแซงหน้าเมื่อไหร่ บาปมันก็จะพาเราไปอบายเมื่อนั้น

สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

Maintenence:


“บัญชีบุญบัญชีบาป”

ถาม: ในเมื่อคนเราสะสมทั้งบุญและบาปและไม่บุญไม่บาป ก่อนที่เราจะถึงนาทีสุดท้ายที่ต้องจากโลกนี้ไป ไม่ทราบว่า ณ ปัจจุบันพอมีทางทราบโดยสังเขปไหมครับว่าบัญชีบุญบัญชีบาป บัญชีไม่บุญไม่บาปเป็นอย่างไรตอนที่ยังไม่ตาย คล้ายๆสรุปบัญชีคร่าวๆ

พระอาจารย์: ได้ ก็ตอนที่เรานอนหลับไง ตอนที่เรานอนหลับก็เหมือนเราตายเทียม ตายชั่วคราว เพราะตอนนอนหลับเราก็จะฝันกัน ฝันดีก็บัญชีบุญมันมีกำลังมากกว่า ถ้าฝันไม่ดีก็แสดงว่าบัญชีบาปมีกำลังมากกว่า ถ้าฝันแบบกลางๆ ก็แสดงว่าบุญกับบาปเท่าๆกัน ก็เลยฝันไม่ดีไม่ร้าย ฉะนั้นก็ดูที่ความฝันนี่ เป็นเหมือนกับเกวัดรถยนต์นี่ เวลาเราจะรู้ว่ารถวิ่งเร็วเท่าไหร่ต้องไปดูที่เกวัด ว่าตอนนี้ 80,90 เราอยากจะดูว่าบุญกับบาปในใจเรามีมากมีน้อยก็ดูตอนที่เรานอนหลับ แต่เวลาที่ไม่ได้หลับไม่ได้ฝัน ไม่ได้แสดงว่ามันไม่มีบุญไม่มีบาปนะ บางทีมันเหนื่อย จิตบางทีมันเหนื่อยมันก็ไม่อยากจะฝันก็มี เพราะฉะนั้นดูความฝันเป็นหลัก


สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๒
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป