[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
15 พฤษภาคม 2567 04:31:43 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ไหว้พระธาตุวัดเกตุการาม กับตำนานตัว "มอม" สัตว์ในนิยายที่ปรากฏกายตามหน้าบันวิหาร  (อ่าน 6154 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5483


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 06 มีนาคม 2556 15:38:46 »

.





วัดเกตุการาม Wat Gategaram
ถนนเจริญราษฏร์  ตำบลวัดเกต  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่

วัดเกตุการาม เดิมชื่อวัดสระเกษ เป็นวัดเก่าแก่ทางฝั่งตะวันออกของริมแม่น้ำปิงหรือเรียกว่าท่าน้ำวัดเกตุ ถ.เจริญราษฎร์ ต.วัดเกต อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่  ตามศิลาจารึกกล่าวว่าวัดนี้สร้างขึ้นโดยพญาสามฝั่งแกน (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๕๔–๑๙๘๕) กษัตริย์เชียงใหม่ ลำดับที่ ๘ แห่งราชวงศ์มังราย พระราชบิดาของพญาติโลกราช

พญาสามฝั่งแกนโปรดฯ ให้พระยาเมือง พระยาคำ และพระยาลือ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๙๗๑  

ภายในวัดมีพระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี ซึ่งเป็นที่สักการะของชุมชน เป็นเจดีย์บูชาโดยผู้ที่เกิดในปีของสุนัขตามราศีจีน

พระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณีเป็นเจดีย์ประธานทรงระฆังแบบล้านนา จำลองจากพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อให้สาธุชนได้สักการะ ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมแบบย่อเก็จ มีซุ้มจระนำ ประดิษฐานองค์พระทั้งสี่ทิศ ส่วนบนตั้งแต่ปากระฆังถึงปลียอดประดับด้วยทองจังโกดุนลาย โดยรอบมีเจดีย์บริวารทั้งสี่มุม นอกนั้นมีพระวิหารที่หาดูได้ยาก สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๙ ห้อง มีเสาคู่รองรับหลังคาหน้าจั่วและเสาคู่นอกรับแนวหลังคา ปีกนกย่อเก็จ ๓ ตอน ในแนวตะวันออก–ตะวันตก หน้าบันประดับลวดลายแกะสลักลายพรรณพฤกษา ปิดทองนาคะตัน เป็นไม้แกะสลักลวดลายเครือเถา บัวหัวเสาประดับด้วยแก้วอังวะ ตัวเสามีลายทอง หางหงส์ประดับด้วยไม้เป็นรูปนาคลำยอง ประดับด้วยแก้วอังวะ ลงรักปิดทอง มีประตูทางเข้าสามทาง หลังคาทรงจั่ว เรียงซ้อนกัน ๕ ชั้น ๒ ตับ และเนื่องด้วยชุมชนอยู่ในย่านการค้าเก่าของชาวจีนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง สิ่งก่อสร้างในยุคหลังที่ได้บูรณะขึ้นจึงมีศิลปะจีนปนอยู่





พระธาตุเกตการาม

 
พระธาตุประจำปีนักษัตรสุนัข หรือผู้ที่เกิดปีจอ โดยอนุโลมแทนพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ และพระธาตุอินทร์แขวนในประเทศพม่า

พระธาตุเกตุการาม มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลม ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม ศิลปะล้านนา สร้างเมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๗๑ ปราชญ์ชาวล้านนาได้อนุโลมกำหนดให้เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดในปีจอ แทนพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี และพระธาตุอินทร์แขวน

ปราชญ์ล้านนา กำหนดเอาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดในนักษัตรสุนัข  หรือผู้ที่เกิดปีจอ หรือปีเส็ด (ภาษาเหนือ)   และกำหนดให้ไปไหว้พระธาตุวัดเกตุการาม จังหวัดเชียงใหม่  เพราะเชื่อว่าพระธาตุวัดเกตุการาม เป็นพระธาตุที่บรรจุเส้นพระเกศาของพระพุทธเจ้า  

ตามตำนานพระธาตุของล้านนา พระธาตุที่บรรจุเส้นพระเกศาของพระพุทธเจ้านั้น มีอยู่หลายแห่งในดินแดนล้านนา เช่น พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี  พระธาตุอินทร์แขวน และพระธาตุวัดเกตุการาม

ปราชญ์ล้านนากำหนดให้พระธาตุทั้งสามองค์ดังกล่าวเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดในนักษัตรสุนัข หรือผู้ที่เกิดในปีจอ

• พระเกศแก้วจุฬามณี เป็นพระธาตุที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นที่ประดิษฐานพระเมาฬี (เส้นผม) และพระทันตธาตุเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้า ปรากฏในพระพุทธประวัติและในไตรภูมิตถา ที่กล่าวถึงภูมิต่างๆ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นที่ตั้งของเมืองไตรตรึงษ์ เป็นที่อยู่ของพระอินทร์และเทวสภา



พระธาตุอินทร์แขวน หรือเจดีย์ไจ้ทีโย
ภาพจาก : วิกิพีเดีย

•พระธาตุอินทร์แขวนหรือเจดีย์ไจ้ทีโย หรือก้อนหินสีทอง เป็นเจดีย์ที่อยู่ระหว่างเส้นทางเมืองบาโก กับเมืองตะโทง ในประเทศพม่า โดยมีเมืองไจ้ทีโยอยู่ตรงระหว่างกลาง เป็นเจดีย์ขนาดเล็กสูงประมาณ ๕.๕ เมตร สร้างขึ้นบนก้อนศิลาก้อนใหญ่ที่เทินค้างอย่างหมิ่นเหม่บนหน้าผา  มองดูคล้ายจะกลิ้งตกลงมาได้ทุกเมื่อ แต่ชาวพม่าเชื่อกันว่าหินก้อนนี้ไม่มีวันที่จะกลิ้งตกลงมาจากหินก้อนใหญ่ที่รองรับอยู่ได้เพราะปาฏิหาริย์อันเกิดจากพระเกศาธาตุที่ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์ จะดลบันดาลให้ก้อนศิลาตั้งอยู่คงที่ได้เช่นนั้นตลอดไป และยังมีความเชื่อกันอีกว่าระหว่างหินสองก้อนที่เทินซ้อนกันอยู่นี้สามารถใช้เส้นผมหรือเส้นด้ายสอดลอดผ่านไปได้อย่างอัศจรรย์  คล้ายกับก้อนหินก้อนบนลอยทรงตัวอยู่หรือแขวนลอยบนก้อนหินขนาดใหญ่บนหน้าผา  ดุจดั่งพระอินทร์นำมาแขวนไว้ จึงนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระธาตุอินทร์แขวน

สำหรับพระธาตุเกตุการาม ที่วัดเกตุการาม จังหวัดเชียงใหม่ นั้น ปราชญ์ชาวล้านนาได้อนุโลมกำหนดให้เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดในปีจอ แทนพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีและพระธาตุอินทร์แขวน มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลม ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม ศิลปะล้านนา สร้างเมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๗๑

ในสมัยพระเมืองเกษเกล้าเคยมีพิธีอุปสมบทอุทกเสมา ดังจารึกที่ใบเสมาที่วัดกล่าวว่า มังนราช่อ กษัตริย์ชาวพม่าที่เคยมาครองเมืองเชียงใหม่ในสมัยพม่ายึดครองเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๑๐๑–๒๓๑๗)  ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุเกตุการาม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๑๒๑ จึงนิยมเรียกว่าเจดีย์วัดเกตุ และมีเรื่องพิสดารที่ควรสังเกตคือ ในการบูรณะพระธาตุแห่งนี้ ปรากฏว่ายอดแหลมของพระธาตุวัดเกตุมีลักษณะเอียงและโค้งงอ ไม่ตรงเสียทีเดียว ซึ่งปราชญ์ชาวล้านนาได้สันนิษฐานว่าไม่ต้องการจะให้ยอดของพระธาตุชี้ขึ้นไปที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระเกตุแก้วจุฬามณี เพราะถือเป็นการลบหลู่หรือไม่บังควร  ดังนั้นช่างจึงเจตนาสร้างให้ยอดพระธาตุวัดเกตุเอียงงอ ไม่ให้ตรง








โรงเรียนนักธรรม วัดเกตุการาม เชียงใหม่

อาคารโรงเรียนนักธรรม
สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒  ในยุคที่เรียก วัดเกตุการาม ปัจจุบันในชื่อของวัดสระเกษ  โดยจีนอินทร์ ซิ้มกิมฮั่วเซ้ง และนางจีบ ภริยา เพื่อใช้เป็นโรงเรียนสอนนักธรรม บาลี ปริยัติธรรม จนคนเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรงเรียนปริยัติธรรมวัดสระเกษ  

ต่อมาภายหลังไม่มีการเรียนการสอนนักธรรม บาลี  จึงใช้เป็นกุฏิพระสงฆ์ สามเณร พักอาศัยแทน

สำหรับจีนอินทร์หรือพ่ออินทร์  ซิ้มกิมฮั่วเซ้ง นั้น ท่านเป็นคนมาจากที่อื่น เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านวัดเกตุด้วยการแต่งงานกับแม่จีบ มีบ้านตั้งอยู่ที่ปัจจุบัน คือที่จอดรถข้างๆ บ้านเลขที่ ๘๙ ถนนเจริญราษฎร์  ติดกับสะพานจันทร์สมทางทิศใต้  พ่ออินทร์ท่านเป็นพ่อค้าขายของโชวห่วยใหญ่โตที่บ้านวัดเกตุ  ท่านไม่มีลูกสืบตระกูล

แม่จีบนั้น ท่านเป็นหลานของหม่อมลมัย  สนิทวงศ์ ณ อยุธยา  ผู้เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ ๘๙ ถนนเจริญราษฎร์ นั่นเอง




พระประธาน ในพระวิหารวัดเกตุการาม


พระวิหาร


ธรรมาสน์หลวง ทำจากไม้เนื้อแข็ง แกะสลักลวดลายสวยงามมาก
ความสูงของธรรมาสน์จรดเพดานพระวิหาร (น่าจะเกิน ๖ เมตร)
เท่าที่สังเกต พระวิหารแถบล้านนามักจะมีธรรมาสน์หลวงประดิษฐานไว้แทบทุกแห่ง


เทวดาประจำทั้งสี่ทิศ ประดับธรรมาสน์หลวง


ฐานธรรมาสน์ เป็นชั้นลดหลั่นฝีมือปราณีตงดงาม ประดับลายเขียนสี เทวดาแกะสลัก พรรณพฤกษา ฯลฯ



ข้าวมธุปายาส ทำพิธีกวนและแจกทาน เมื่อวันมาฆบูชา (วันจันทร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖)


 







"มอม" หน้าบันพระอุโบสถวัดเกตุการาม
โดดเด่นสะดุดตามากกว่าวัดอื่นที่เคยไปมา  
จึงนำข้อมูลเกี่ยวกับ "มอม" มาเสริมความรู้

มอม

มอมเป็นสัตว์ในนิยาย ปรากฏตามลวดลายประดับให้เห็นตามหน้าบัน หรือตามภาพแกะสลักที่บานประตูหน้าต่างของโบสถ์วิหาร และรูปปูนปั้นตามซุ้มประตูโบสถ์วิหาร  และโบสถ์วิหารหลายแห่ง มีรูปเทวดายืนบนหลังมอม หรือยืนเอาเท้าข้างหนึ่งเหยียบลงบนหัว หรือหลังของมอม ทำให้คิดกันว่า เทวดาองค์นั้นอาจหมายถึงปัชชุนนะเทวบุตร ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝน

ตัวมอมนี้เป็นชื่อเรียกกันโดยทั่วไป แต่มีอยู่บ้างที่มีคนเรียกสิงห์มอม ซึ่งมีลักษณะทั่วไปคล้ายกับลูกเสือหรือสิงโต แต่ก็มีส่วนที่คล้ายแมวอยู่มาก ดังที่มักพรรณนากันว่ามอมคล้ายกับแมว แต่มีขายาวกว่า

กล่าวโดยเชิงวัฒนธรรม นอกจากจะปรากฏตัวมอมในฐานะลวดลายประดับแล้ว ยังจัดให้มอมเป็นสัตว์ที่เกี่ยวพันกับเทวดาที่ชื่อปัชชุนนะ คือเป็นสัตว์ที่คอยรับใช้หรือเป็นสัตว์พาหนะ จึงมีพิธีแห่มอมเพื่อขอให้ฝนตก
    
การขอฝนต่อปัชชุนนะเทวบุตรโดยผ่านทางสัตว์พาหนะคือมอม ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งโดยเชื่อกันว่ามอมซึ่งเป็นสัตว์รับใช้จะนำเอาความเดือดร้อนและการวิงวอนขอของมนุษย์ไปรายงานให้แก่ผู้เป็นนายทราบ เพื่อจะได้บันดาลให้ฝนตกตามความประสงค์ของผู้ขอ

มอมที่ใช้ขอฝน แกะสลักด้วยไม้ ส่วนใหญ่เป็นไม้สัก ลงรักทาชาด มีอยู่ตามวัดแถบล้านนาเกือบทุกแห่ง อาจอยู่ตามฐานล่างของแท่นแก้วในวิหารหรือตั้งอยู่ตามซุ้มของเจดีย์ มีขนาดเท่ากับแมวตัวเล็กๆ หรือแมวตัวใหญ่สุด  นอกจากนี้ยังพบมอมที่ทำด้วยกระเบื้องดินเผาที่วัดทรายมูล อำเภอเมืองเชียงใหม่ และกล่าวกันว่า เจ้าแก้วนวรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเชียงใหม่ เป็นผู้ถวาย

ประเพณีการแห่มอม
เมื่อถึงต้นฤดูการทำนา หรือช่วงเดือน ๘ ถึงเดือน ๑๐ ถ้าฝนฟ้ายังไม่ตกต้องตามฤดูกาลจนทำให้เกิดการแห้งแล้งผิดปกติ ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจะชักชวนกันทำคานหามซึ่งมีลักษณะคล้ายครัวทาน หรือชองอ้อย (อ่าน “จองอ้อย”)  คือกระบะที่ใช้บรรจุเครื่องไทยทาน นำมอมทำด้วยไม้มาตั้งไว้กลางชองอ้อย  จุดธูปเทียนรอบคานหาม มีผู้ร่วมขบวนแห่ ส่วนมากมักจะเป็นผู้ชาย บางคนใช้ดินหม้อทาหน้าเป็นดั่งตัวตลก บางคนจะนำผ้าซิ่นของผู้หญิงมานุ่ง มีการแห่ด้วยฆ้อง กลองเล็ก ที่เรียกว่า กลองสิ้งหม้อง    

ขบวนแห่จะเริ่มจากในวัดออกไปตามถนนในหมู่บ้านจากหัวบ้านล่องไปท้ายหมู่บ้าน  ระหว่างที่แห่ไปนั้นจะมีคนประพรมน้ำให้ตกไปที่คานหามมอม และตกไล่ขบวนไปตลอดทาง ชาวบ้านที่ไม่ได้ร่วมขบวนก็จะคอยดักดูตามรายทาง  

เชื่อว่าได้กระทำดังนี้แล้วเทวดาจะร้อนใจและบันดาลให้ฝนตกลงมา

สมัยต่อมา ตัวมอมที่เป็นไม้สูญหายไป เนื่องจากถูกไฟไหม้บ้าง หรือมีคนที่หาซื้อของวัตถุโบราณหลอกซื้อไปบ้าง มอมจึงหายไปจากวัด ฝ่ายชาวบ้านเมื่อจะทำการขอฝนจึงใช้แมวมาแห่ขอฝนแทนมอม โดยการจับแมวมาแต่งหน้าทาปาก นุ่งเสื้อนุ่งผ้าให้แมว ขังแมวในตะกร้า เอาตะกร้าใส่บนคานหามอีกทีหนึ่ง แล้วจึงแห่แมวเหมือนกับการแห่มอม เมื่อแห่ไปแมวก็ดิ้นหาทางออก คงเป็นเพราะตื่นคนและเสียงฆ้องกลองนั่นเอง
...สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม ๑๐ หน้า ๕๐๘๒–๕๐๘๓ มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทยฯ จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒


มอมประดับพระวิหาร วัดเกตุการาม เชียงใหม่

พจนานุกรมล้านนาไทย ฉบับที่เขียนโดย อุดม รุ่งเรืองศรี อธิบายว่า "มอม" เป็นสัตว์ในจินตนาการ ซึ่งชาวล้านนานิยมปั้นประดับตามสิ่งก่อสร้างทางศาสนา โดยมีความเชื่อเกี่ยวกับมอมว่า เป็นสัตว์หิมพานต์ รูปร่างคล้ายสิงโตและมีส่วนคล้ายแมว

ตำนานทางภาคเหนือเชื่อกันว่ามอมเป็นสัตว์พาหนะของ "ปัชชุนนเทวบุตร" เทพเจ้าแห่งฟ้าฝน และเป็นเทวบริวารของพระวรุณ สถิตอยู่ ณ สรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

สมัยก่อนวัดทางเหนือจะแกะตัวมอมจากไม้แล้วลงรักทาด้วยชาดอย่างสวยงาม เมื่อใดที่ฝนแล้งชาวล้านนาจะมีประเพณีขอฝน โดยนำตัวมอมขึ้นเสลี่ยงแห่ไปตามท้องถนน ระหว่างทางชาวบ้านจะร่วมประพรมน้ำให้กับมอมและคนที่ร่วมในพิธี

ตามความเชื่อว่าหากชาวบ้านเซ่นไหว้มอมแล้ว มอมจะนำความเดือดร้อนของชาวบ้านไปบอกกล่าวแก่ปัชชุนนเทวบุตร เพื่อบันดาลให้ฝนฟ้าตกลงมาให้ความชุ่มฉ่ำ
 
การแห่มอมดังกล่าวอาจเป็นต้นเค้าของการแห่นางแมวในปัจจุบัน เนื่องจากแมวมีลักษณะใกล้เคียงกับมอมมาก

ด้วยเหตุที่มอมเป็นสัตว์ป่าหิมพานต์ ที่มีรูปลักษณ์องอาจผึ่งผายราวราชสีห์ แข็งแกร่งดังเสือ นิ่มนวลเหมือนแมว และคล่องแคล่วดุจลิง จึงมีผู้นำมาผูกกับอักขระเลขยันต์เพื่อให้ส่งผลด้านคงกระพัน สังเกตได้จากกลุ่มลาวพุงดำ ที่กระจายตัวอยู่ทางภาคเหนือ นิยมสักรูปมอมไว้ตามท้องและต้นขา โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดความน่าเกรงขามแก่ผู้อื่น

มอมในความเชื่อของชาวอีสานเรียกกันว่า "สิงห์มอม" เป็นสัตว์ที่ทรงฤทธานุภาพ แข็งแรง ทรงกำลังมหาศาล เมื่อลงมายังมนุษย์โลกก็แสดงอำนาจไปทั่ว กิเลสดังกล่าวทำให้มอมไม่สามารถกลับขึ้นไปยังสวรรค์อันเป็นที่สถิตของเทวบุตรได้ เทพปัชชุนนฯ จึงสั่งให้มาเฝ้าพุทธสถานเพื่อรับฟังพระธรรมคำสอนเป็นเนืองนิจ จนกว่าจะละกิเลสคือความทะนงตน และเข้าใจในพระธรรมจึงจะกลับไปสถิตเป็นเทพพาหนะบนวิมานชั้นฟ้าต่อไป

พุทธสถานในประเทศไทยพบเห็นตัวมอมได้หลายแห่ง อาทิ วิหารและหอมณเฑียรธรรม วัดบุพพาราม จ.เชียงใหม่ หรือบนลายปิดทองล่องชาดของวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่

มักมีคนสับสนคิดว่า "ตัวมอม" เป็นสัตว์ชนิดเดียวกับ "ตัวมกร" หรือ"เหรา" ที่เฝ้าอยู่ตรงราวบันไดศาสนสถาน แต่จริงๆ แล้วเป็นสัตว์ต่างชนิดกัน
ที่มา : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด



ข้อมูลเกี่ยวข้อง
พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดเกตุการาม เพชรเม็ดงามที่ส่องประกายร่องรอยประวัติศาสตร์ล้านนา
กดอ่านที่ตัวอักษรภาษาอังกฤษสีเทาด้านล่าง
http://www.sookjai.com/index.php?topic=59159.msg87963#msg87963

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ธันวาคม 2560 11:36:25 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.564 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 28 กุมภาพันธ์ 2567 11:26:00