[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 10 สิงหาคม 2566 18:58:18



หัวข้อ: คติความเชื่อและที่มาของ “กษัตริย์” ในไตรภูมิกถา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 10 สิงหาคม 2566 18:58:18
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/75795709838469_dFQROr7oWzulq5FZYAIxNVxJowFx7C.jpg)
พระมหากษัตริย์เสด็จเลียบพระนคร
ที่มา : หนังสือ จิตรกรรมฝีพระหัตถ์และจิตรกรรม
ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วัดอัมพวันเจติยาราม

คติความเชื่อและที่มาของ “กษัตริย์” ในไตรภูมิกถา


ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณกรรมพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลเป็นอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชนชาวไทย เพราะเป็นรากฐานความเชื่อทางพุทธศาสนาและคติในการสร้างงานศิลปกรรมหลายสาขาทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม หรือแม้กระทั่งวรรณกรรม

พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ทรงพระราชนิพนธ์ไตรภูมิกถาขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๘๘ โดยทรงค้นคว้าและเรียบเรียงจากคัมภีร์พุทธศาสนาจำนวนกว่า ๓๐ เล่ม เนื้อหาในไตรภูมิกถาแบ่งเป็น ๑๑ กัณฑ์ กล่าวถึงสัตว์และสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นและดับสูญไปในภูมิ ๓ ภูมิ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ   ไตรภูมิกถาเริ่มเรื่องโดยชี้ให้เห็นความน่าสะพรึงกลัวของโทษทัณฑ์ในนรกใหญ่ ๘ ขุม และนรกบ่าว ๑๖ ขุม เพื่อกระตุ้นให้คนกลัวการทำบาป จากนั้นจึงพรรณนาถึงวิถีของสัตว์ในภพภูมิอื่นๆ ได้แก่ สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย มนุษย์ เทวดา พรหม อรูปพรหม พรรณนาถึงการเกิดดับของสรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาล เช่น พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว เขาสัตบริภัณฑ์ แผ่นดิน ฯลฯ และปิดท้ายด้วยการชี้ให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนแต่ต้องเสื่อมสูญไปตามกาลเวลา ไม่เว้นแม้แต่เทวสมบัติอันงดงามและน่าปรารถนา ผู้มีปัญญาจึงควรพิจารณาถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง เร่งบำเพ็ญภาวนาเพื่อให้ไปถึงนิพพานและหลุดพ้นจากวัฏสงสารได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้แนวคิดด้านพุทธธรรมจะเป็นสาระสำคัญของไตรภูมิกถา แต่ไตรภูมิกถาก็ไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะเรื่องการทำดี ทำชั่ว นรก สวรรค์ หรือการเผยแผ่หลักธรรมเท่านั้น หากยังเป็นคัมภีร์โลกศาสตร์ที่อธิบายถึงกำเนิดของสิ่งต่างๆ รวมทั้งระบบสังคมและที่มาของการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ภายใต้แนวคิดพุทธศาสนาอีกด้วย

ไตรภูมิกถากล่าวถึงความเป็นมาและคติความเชื่อเกี่ยวกับพระญาจักรวรรดิราช หรือพระมหากษัตริย์ผู้เป็นใหญ่กว่ากษัตริย์อื่นๆ ไว้ในปัญจมกัณฑ์ (กัณฑ์ที่ ๕) ว่าด้วยเรื่องมนุษยภูมิ ดังนี้

                   “ท่านผู้เป็นพระญาจักรวรรดิราชนั้นไสร้ ท่านมีศักดิ์มียศดั่งนี้ แลจะกล่าวแลน้อยๆ แต่พอให้รู้ไสร้ คนผู้ใดที่ได้ทำบุญแต่ก่อน
คือว่าได้ปฏิบัติบูชาแก่พระศรีรัตนตรัย แลรู้จักคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า แลให้ทานรักษาศีลเมตตาภาวนา
ครั้นตายก็เอาตนไปเกิดในสวรรค์ ลางคาบเล่าได้เกิดเป็นท้าวเป็นพระญาผู้ใหญ่ แลมีศักดิ์มียศบริวารเป็นอเนกอนันต์ไสร้
ได้ปราบทั่วทั้งจักรวาลแล แม้ท่านว่ากล่าวถ้อยคำสิ่งใดก็ดี แลบังคับบัญชาสิ่งใดก็ดี เทียรย่อมชอบด้วยทรงธรรมทุกประการแล
ท่านนั้นเป็นพระญาทรงพระนามชื่อว่าพระญาจักรวรรดิราชแล”

จากเนื้อความข้างต้น ผู้ที่ได้เป็นพระญาจักรวรรดิราช คือ ผู้ที่หมั่นทำบุญ รักษาศีล และปฏิบัติบูชาพระรัตนตรัยอยู่เป็นนิจ เมื่อตายลงจึงได้เกิดเป็นท้าวพระญา มีอำนาจบารมีและมีสิทธิ์ในการปกครอง เพราะอานิสงส์ของบุญที่ได้สั่งสมไว้แต่อดีตชาติ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่ทำบุญรักษาศีลจะได้เกิดเป็นพระมหากษัตริย์  ไตรภูมิกถาชี้ให้เห็นว่าบุญญาธิการของพระมหากษัตริย์นั้นต่างจากบุญของคนทั่วไป เพราะยังมีความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นพุทธวงศ์ หรือพระโพธิสัตว์ ดังปรากฏใน ทสมกัณฑ์ (กัณฑ์ที่ ๑๐) ว่าด้วยการวินาศดับสูญและการอุบัติขึ้นใหม่ของโลก กล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากเกิดไฟ น้ำ หรือลม ล้างโลก และเกิดแผ่นดินขึ้นมาใหม่ พรหมที่หมดบุญได้ลงมากินง้วนดินและค่อยๆ สูญเสียทิพยสภาวะ จนกลายเป็นคนธรรมดาสืบลูกหลานต่อมา คนเหล่านี้ทะเลาะถกเถียงกันเรื่องการแบ่งปันที่ดินเพาะปลูกทำกิน จึงคิดแต่งตั้งให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็น “พระญา” เพื่อตัดสินคดีความและจัดสรรปันส่วนที่ดินผู้ที่ฝูงชนเคารพยกย่อง และพร้อมใจกันยกขึ้นเป็นพระญาก็คือ พระโพธิสัตว์ ซึ่งได้สืบราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์มานับแต่นั้น  ด้วยเหตุนี้ คำเรียกพระญาผู้ปกครองแผ่นดินจึงมี ๓ ชื่อ คือ มหาสมมติราช หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ ขษัตติยะ (กษัตริย์) หมายถึง ผู้ครองที่ดิน และราชา หมายถึง ผู้เป็นที่ชอบใจ ชื่อทั้งหมดล้วนสอดคล้องกับสถานภาพและหน้าที่รับผิดชอบของ “พระญา” ซึ่งเป็นทั้งผู้มีบุญ ผู้เป็นเจ้าของแผ่นดิน และผู้เป็นที่รักของประชาชน

ความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์คือพระโพธิสัตว์ที่กล่าวถึงในไตรภูมิกถาก็คือ คติพุทธราชา อันมาพร้อมกับความเชื่อเรื่องบุญญาธิการและความทรงธรรมของพระมหากษัตริย์ โดย “บุญ” และ “ธรรม” ดังกล่าวนี้ ก็นำมาซึ่งพระราชอำนาจในลักษณะของสิทธิธรรมในการปกครองประชาชนและแผ่นดินนั่นเอง

ผู้เป็นพระญาจักรวรรดิราชยังมีของคู่บุญถึง ๗ สิ่ง ได้แก่ กงจักรแก้ว (จักรรัตนะ)  ช้างแก้ว (หัตถีรัตนะ)  ม้าแก้ว (อัศวรัตนะ)  มณีแก้ว (มณีรัตนะ)  นางแก้ว (อิตถีรัตนะ)  ขุนคลังแก้ว (คหปติรัตนะ)  โอรสแก้ว (ปริณายกรัตนะ)  ของวิเศษเหล่านี้เกิดขึ้นหรือมาสู่การครอบครองของพระญาจักรวรรดิราชด้วยอำนาจบุญของพระองค์เพียงผู้เดียว และช่วยให้การปกครองบ้านเมืองของพระญาจักรวรรดิราชราบรื่นมากยิ่งขึ้น

กงจักรแก้ว คือ กงจักรวิเศษที่จมอยู่ในมหาสมุทร เมื่อมีพระญาจักรวรรดิราชเกิดขึ้น กงจักรแก้วจะลอยขึ้นจากท้องทะเลมาสู่พระราชมณเฑียรของพระญาจักรวรรดิราชและพาพระองค์พร้อมกับประชาชนเหาะไปเลียบกำแพงจักรวาล ปราบทั่วทั้งสี่ทวีป (อุตรกุรุทวีป บูรพวิเทหทวีป อมรโคยานทวีป และชมพูทวีป) พระญาเมืองอื่นต่างพากันมานอบน้อมด้วยยอมรับในบุญสมภารโดยไม่เกิดสงคราม กงจักรแก้วยังมีอำนาจแหวกท้องสมุทรให้เห็นแก้วสัตตพิธรัตนะที่จมอยู่เบื้องล่างซึ่งจะกลายเป็นสมบัติของพระญาจักรวรรดิราชทั้งสิ้น

ช้างแก้ว (ช้างเผือกในตระกูลฉัททันต์และตระกูลอุโปสถ) และม้าแก้ว (ม้าในตระกูลสินธพ) เป็นสัตว์คู่บุญซึ่งจะเหาะมาสู่พระญาจักรวรรดิราชด้วยบุญของพระองค์ สามารถพาพระญาจักรวรรดิราชและไพร่พลเหาะไปเวียนเขาพระสุเมรุราช เลียบกำแพงจักรวาลและกลับมาได้ทันก่อนถึงเวลาอาหารเช้า

มณีแก้ว คือ แก้ววิเศษอยู่ในยอดเขาวิบุลบรรพต เมื่อเกิดพระญาจักรวรรดิราช มณีแก้วพร้อมด้วยแก้วบริวารอีก ๘๔,๐๐๐ ดวง จะเหาะมาสู่พระองค์ มณีแก้วมีรัศมีรุ่งเรืองบันดาลกลางคืนให้เป็นกลางวัน ช่วยให้ผู้คนทำงานในยามค่ำคืนได้อย่างสะดวกสบาย

นางแก้ว คือ หญิงสาวผู้เกิดในอุตรกุรุทวีป มีคุณสมบัติอันเป็นอุดมคติ เช่น รูปโฉมงดงามหมดจด ร่างกายมีรัศมีเปล่งได้ไกล ๑๐ ศอก ผิวกายเย็นและหอมดั่งแก่นจันทน์ แก่นกฤษณา กลิ่นปากหอมดั่งดอกบัว นางแก้วจะคอยปรนนิบัติพระญาจักรวรรดิราชและเชื่อฟังคำสั่งของพระองค์ทุกประการ

ขุนคลังแก้ว คือ มหาเศรษฐีผู้มีตาทิพย์ หูทิพย์ ล่วงรู้ได้ว่ามีทรัพย์สมบัติอยู่ที่ใดในแผ่นดิน และสามารถอธิษฐานให้แก้วแหวนเงินทองต่างๆ มาสู่พระญาจักรวรรดิราชตามพระราชประสงค์

โอรสแก้ว คือ พระโอรสองค์โตสุดของพระญาจักรวรรดิราช มีอำนาจอ่านใจคนซึ่งอยู่ห่างออกไปได้ถึง ๑๒ โยชน์ จึงสามารถคอยกราบทูลพระญาจักรวรรดิราชให้ระวังภัยจากผู้คิดร้ายได้ทันเวลา โอรสแก้วยังคอยช่วยแบ่งเบาราชกิจ บริหารปกครองบ้านเมืองแทนพระญาจักรวรรดิราชอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ไตรภูมิกถาจะแสดงให้เห็นว่าพระญาจักรวรรดิราชมีพระราชอำนาจเป็นอันมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่าอำนาจเหล่านี้ย่อมมีวันหมดลงได้ หากพระญาจักรวรรดิราชไม่ตั้งอยู่ในคุณธรรม ไตรภูมิกถาเน้นย้ำเสมอว่า อำนาจของพระญาจักรวรรดิราชเกิดขึ้นด้วยธรรมเป็นสำคัญ ของคู่บุญต่างๆ ก็ล้วนได้มาด้วยอานิสงส์ของการรักษาธรรมของพระองค์ทั้งสิ้น ธรรมของพระญาจักรดิราชไม่เพียงเป็นหัวใจของการปกครองแว่นแคว้นให้สงบสุข แต่ยังเชื่อมโยงกับความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองอีกด้วย ดังปรากฏในไตรภูมิกถา ความว่า  “ผิแลว่าท้าวพระญาองค์ใด แลเสวยราชสมบัติแล้วแลทำความชอบธรรมไสร้ ไพร่ฟ้าข้าไททั้งหลายก็อยู่เย็นเป็นสุข ได้หลกขาดดีในศรีสมบัติเพราะด้วยบุญสมภารของท่านผู้เป็นเจ้าเป็นจอม แลข้าวน้ำซำปลาอาหารแก้วแหวนแสนสัด เนาวรัตนเงินทองผ้าผ่อนแพรพรรณนั้นก็บริบูรณ์ อีกฝูงเทวฟ้าฝนนั้นก็ตกชอบฤดูกาล บ่มิน้อยบ่มิมาก ทั้งข้าวในนาทั้งปลาในน้ำก็บ่ห่อนรู้ร่วงโรยเสียไปด้วยฝนด้วยแล้วเลย...แลท้าวพระญาองค์ใดกระทำความอันบ่มิชอบคลองธรรมไสร้ เทวาฟ้าฝนนั้นก็พิปริต แม้นทำไร่ไถนาก็บันดาลให้เสียหายตายด้วยแล้งแลฝนแลอนึ่งผลไม้ทั้งหลายแลพืชอันเกิดเหนือแผ่นดินอันมีโอชารสอันอร่อยนั้นก็กลับหายเสียไป เพื่อโอชารสนั้นจมลงไปใต้แผ่นดินสิ้น ทั้งต้นแลลำอันปลูกนั้น มันก็มิงามเลย ทั้งแดดแลลมทั้งฝนแลเดือนดาว ก็บ่ชอบอุตุกาลดั่งเก่าเลย เพราะว่าท้าวพระญากระทำบ่มิชอบธรรมนั้น...”

จากเนื้อความข้างต้น แสดงให้เห็นคติความเชื่อเรื่องคุณธรรมของกษัตริย์กับความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง หากกษัตริย์ยึดมั่นในศีลธรรม ฝนฟ้าก็จะตกต้องตามฤดูกาล เพาะปลูกพืชผลได้ผลดี แต่หากกษัตริย์ขาดศีลธรรม สภาพอากาศก็จะวิปริตแปรปรวนทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล ความอุดมสมบูรณ์ทางอาหารเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นพื้นฐานความมั่นคงของอาณาประชาราษฎร์อันเป็นกำลังของราชอาณาจักร  ดังนั้น ธรรมของกษัตริย์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมชะตากรรมบ้านเมืองทั้งด้านวิถีปฏิบัติและด้านความเชื่อ

ไตรภูมิกถาได้วางต้นแบบของกษัตริย์ผู้ทรงธรรมไว้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยใช้แนวคิดทางพุทธศาสนาเป็นสิ่งเชื่อมโยงความมั่นคงทางศาสนจักรและอาณาจักรเข้าด้วยกัน ไตรภูมิกถาจึงมิได้เป็นเพียงวรรณกรรมพุทธศาสนาที่ชี้นำให้ผู้คนเข้าถึงแก่นแท้ของพุทธธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นวรรณกรรมที่สร้างดุลยภาพทางสังคมและการเมืองการปกครองได้เป็นอย่างดี


--------------------------------------
 ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย สมัยสุโขทัย ไตรภูมิกถา, (กรุงเทพฯ, ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๔), หน้า ๘๙
 ราชบัณฑิตยสถาน, เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๐๖.


ที่มา : คติความเชื่อและที่มาของ “กษัตริย์” ในไตรภูมิกถา บทความโดย วกุล มิตรพระพันธ์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
         นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๖๔ ฉบับที่ ๓ พ.ค.-มิ.ย.๒๕๖๔