[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 12 พฤษภาคม 2563 19:14:54



หัวข้อ: พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๔ คันธารชาดก : พระคันธาระฤๅษี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 พฤษภาคม 2563 19:14:54

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13576513404647__500_320x200_.jpg)
พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๔ คันธารชาดก
พระคันธาระฤๅษี

         พระราชโอรสในพระเจ้าคันธาระแห่งคันธารรัฐ เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติภายหลังจากที่พระราชบิดาเสด็จสวรรคตแล้ว ในฐานะที่ทรงเป็นพระเจ้าคันธาระเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน พระองค์ได้ใช้ธรรมะปกครอง จึงทรงเป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม ส่งผลให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ประเทศชาติสงบร่มเย็น
          สมัยนั้นก็ปรากฏว่ามีกษัตริย์ผู้ทรงธรรมพระองค์หนึ่ง มีพระนามตามชื่อแว่นแคว้นว่า พระเจ้าวิเทหะ ครองราชสมบัติอยู่ในมิถิลานครแห่งวิเทหรัฐ กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระสหายกันโดยทางจดหมายหรือพระราชสาส์น ดังนั้นตลอดระยะสองพระองค์มิได้ทรงพบเห็นกันเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทรงทราบข่าวคราวความเป็นไปของกันและกันโดยทางจดหมายเท่านั้น แต่กระนั้นทั้งสองพระองค์ก็ทรงสนิทสนมกันดีดูเป็นที่แปลกใจยิ่งนัก
          อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าคันธาระทรงสมาทานศีลแล้ว (ตามปกติพระองค์สมาทานศีลเป็นครั้งคราว) ก็เสด็จไปประทับอยู่ในท้องพระโรง ท่ามกลางเหล่าอำมาตย์ ข้าราชการทั้งหลาย พระองค์ได้ทอดพระเนตรไปทางทิศตะวันออกโดยผ่านช่องสีหบัญชร (หน้าต่าง) แล้วทรงเห็นพระราหูบดบังดวงจันทร์ไว้ทั้งดวง จนไม่อาจเห็นแสงจันทร์เลยแม้แต่น้อย
          เหล่าอำมาตย์ก็มองเห็นปรากฏการณ์เช่นนั้นเหมือนกัน แล้วได้ทูลให้ทรงทราบถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว
          พระเจ้าคันธาระทรงสดับแล้วก็รู้สึกสลดพระทัยถึงกับทรงดำริว่า
           “ดวงจันทร์ยังลับแสงได้ เพราะมีสิ่งมาบดบัง พวกข้าราชบริพารเหล่านี้ก็เป็นครื่องเศร้าหมองของเราเหมือนกัน การที่เราจะหมดสิ้นรัศมีดุจดวงจันทร์นั้นช่างเป็นเรื่องที่ไม่เข้าท่าเอาเสียเลย เราควรจะแสวงหาสิ่งที่ดีกว่านี้ สละราชสมบัติออกบวช ทำตัวให้เป็นดั่งดวงจันทร์เจิดจ้า ท่องเที่ยวไปในท้องฟ้าที่สดใสเพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะคอยให้คนอื่นมาตักเตือนเรา เราคอยเตือนตัวเองน่าจะดีกว่า”
          ทรงดำริดังนั้นก็ทรงสละราชสมบัติมอบให้เหล่าอำมาตย์แต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมเป็นพระราชาแทนพระองค์ แล้วเสด็จเข้าสู่ป่า ผนวชเป็นฤๅษี ดำรงชีวิตอยู่ ผลไม้ รากไม้ หัวเผือกหัวมันที่มีอยู่ในป่า มุ่งหน้าบำเพ็ญญาณและอภิญญาจนสำเร็จ ฝ่ายพระเจ้าวิเทหะเมื่อได้ทราบข่าวว่าพระเจ้าคันธาระเพื่อนรักออกบวชเป็นฤๅษี ก็ทรงสละราชสมบัติออกผนวชเช่นกัน แต่ไม่อยู่ประจำที่เดียว หากแต่สัญจรเที่ยวไปยังที่ต่างๆ
          สองพระฤๅษีประพฤติวัตรของฤๅษีมีจรรยามารยาทเรียบร้อยน่าเลื่อมใส
          วันหนึ่งทั้งสองได้มาพบกันเข้า รู้สึกเลื่อมใสได้ศรัทธาในกันและกัน จึงสมัครใจปฏิบัติธรรมด้วยกัน
          ในคืนพระจันทร์เต็มดวงคืนหนึ่ง ขณะมีพระฤๅษีวิเทหะผู้บวชทีหลังอยู่ดูแลรับใช้พระฤๅษีคันธาระผู้บวชก่อนอยู่ ก็ได้มองเห็นราหูอมจันทร์ จึงถามว่า
           “ท่านอาจารย์! มีอะไรมาบดบังแสงจันทร์จนมืดมิดอย่างนี้”
          พระคันธาระฤๅษีตอบว่า
           “สิ่งที่บดบังดวงจันทร์ไว้ก็คือพระราหู พระราหูเป็นเครื่องเศร้าหมองอย่างหนึ่งของดวงจันทร์ พระราหู ทำให้ดวงจันทร์รับแสงได้ เราเองเห็นดวงจันทร์ถูกราหูอมมาแล้ว จึงเกิดความคิดว่าทำไมดวงจันทร์ต้องมาอับแสงเพียงเพราะสิ่งเศร้าหมองที่โคจรมาดังราชสมบัติก็เป็นเครื่องเศร้าหมองสำหรับกษัตริย์ เพราะเหตุนี้เราจึงสละราชสมบัติออกมาหลบอยู่ในป่าอย่างนี้”
          วิเทหะฤๅษีได้ฟังเช่นนั้นก็รู้ได้ทันทีว่า นี่คงเป็นพระเจ้าคันธาระเพื่อนของเราแน่แล้ว เมื่อได้ตรัสถามก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ จึงได้แสดงพระองค์เองว่าพระองค์ก็คือพระเจ้าวิเทหะที่ออกผนวชเช่นกัน
          จากนั้นทั้งสองต่างก็ชื่นชมซึ่งกันและกัน และคบหาสมาคมสนิทสนมกลมเกลียวกันยิ่งขึ้น
อยู่มาวันหนึ่ง ทั้งสองท่องเที่ยวไปตามชายแดน แล้วผู้คนในถิ่นนั้นเขาเลื่อมใสศรัทธาถึงกับช่วยกันสร้างอาศรมให้อยู่อาศัยและนำอาหารมาถวายอยู่เนืองๆ
          คราวหนึ่งชาวบ้านนำเกลือมาถวายพระฤๅษีทั้งสอง
          วิเทหะฤๅษีรับเอามาฉันแต่พอดี ส่วนที่เหลือก็เก็บไว้ที่ต้นหญ้าแห้ง
          ภายหลังทั้งสองฉันอาหารจืดไปหน่อย วิเทหะฤๅษีจึงนำเกลือที่เก็บไว้ส่งให้ฤๅษีคันธาระ
          ฤๅษีคันธาระถามถึงที่มาของเกลือพอทราบว่าฤๅษีวิเทหะเก็บไว้แต่วันก่อน จึงตำหนิว่าท่านอุตส่าห์สละราชสมบัติยิ่งใหญ่มาแล้ว ยังจะมาสะสมเกลือไว้อีกมันจะเหมาะกับความเป็นนักบวชหรือ
          ฤๅษีวิเทหะถูกตำหนิเช่นนั้นก็ไม่พอใจ จึงโต้เถียงว่า ท่านเองก็ดีแต่ตำหนิเรา ไม่ดูตัวเองเสียบ้างท่านไม่ต้องการให้คนอื่นมาคอยตักเตือน แต่ทำไมต้องมาตักเตือนเรา ท่านสละการปกครองแว่นแคว้นมาแล้วยังจะมาปกครองเราอีก มันใช้ได้ที่ไหน
          คันธาระฤๅษีได้ฟังดังนี้ก็ไม่โกรธ แต่ได้กล่าวขึ้นอย่างใจเย็นว่า
           “เรากล่าวแต่คำที่เป็นธรรม ไม่กล่าวคำที่ไม่เป็นธรรม เมื่อเรากล่าวธรรมอยู่ บาปจะไม่เปื้อนเรา”
          หยุดคิดนิดหนึ่งแล้วกล่าวต่อไปว่า
           “ผู้มีปัญญาคนใด มักชี้โทษ มักพูดกำราบควรมองเขาผู้นั้นเป็นเมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้
          ควรควบบัณฑิตเช่นนั้น เพราะเมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น จะมีแต่ความดีอย่างดี ไม่มีความชั่วเลย
          บุคคลควรตักเตือน พร่ำสอน ห้ามปรามผู้อื่นให้พ้นจากความเห็นผิด บุคคลเช่นนั้นจะเป็นที่รักของสัตบุรุษ แต่จะไม่เป็นที่รักของอสัตบุรุษ”
          ฤๅษีวิเทหะโต้กลับว่า
           “แต่ท่านก็ไม่พูดกระทบกระเทียบคนอื่นให้เขาไม่พอใจ เหมือนโกนผมด้วยมีดโกทื่อๆ คำพูดบางอย่างแม้จะมีประโยชน์มาก บางทีก็ไม่ควรพูด”
          ฤๅษีคันธาระยังกล่าวหนักแน่นเหมือนเดิมว่า
          ถึงอย่างไรท่านก็ยังทำไม่ถูก เมื่อท่านถูกเราตักเตือนพอใจหรือไม่พอใจ ถ้าเรากล่าวคำเป็นธรรมะ เราก็ไม่มีบาปอย่างแน่นอน”
          เหตุที่พระฤๅษีคันธาระกล่าวเช่นนั้นเพราะยึดถือหลักว่า เราจะไม่ทะนุถนอมใครๆ แต่จะทำอย่างช่างปั้นหม้อที่ปั้นดินเหนียวที่ยังเปียกยังดับอยู่ โดยจะปั้นราวกับจะกำราบจะข่มผู้ที่หวังมรรคผล ก็จะอดทนอยู่ได้ จึงกล่าวอีกว่า
          “ผู้ไม่มีปัญญา หรือไม่ได้ศึกษาวินัยให้ดี จะท่องเที่ยวไปเหมือนกระบือตาบอดเที่ยวไปในป่า แต่ผู้ที่ศึกษาวินัยมาอย่างดีในสำนักของอาจารย์ เขาจะเป็นผู้มีวินัยดีเพราะได้อาจารย์สอนไว้ดี จะเป็นปราชญ์มีจิตมั่นดังบรรพชิตที่ศึกษาวัตรปฏิบัติดีแล้วก็เจริญก้าวหน้าในศีล สมาธิ ปัญญา
          วิเทหะฤๅษีฟังมาถึงตรงนี้ ก็เริ่มรู้สึกสลดใจมองเห็นข้อผิดพลาดของตนเองที่ถือทิฐิมานะไม่เข้าเรื่อง จึงเข้าไปขอขมาคันธาระฤๅษีว่า “ท่านอาจารย์! ผมขอโทษ นับแต่บัดนี้ไปขอให้ท่านตักเตือนพร่ำสอนผมเถิด คำใดที่ผมกล่าวล่วงเกินท่าน ขอให้ท่านยกโทษให้กระผมด้วย”
          ฤๅษีคันธาระยกโทษให้ เพราะไม่ได้รู้สึกโกรธเคืองแม้แต่น้อย
          แล้วสองพระฤๅษีก็รักใคร่กลมเกลียวกันเหมือนเดิม พากันเข้าไปอยู่ในป่าหิมพานต์
          คันธาระฤๅษีสอนการบริกรรมกสิณแก่วิเทหะฤๅษีอย่างละเอียดลออ พระฤๅษีวิเทหะได้ปฏิบัติตามนั้นไม่นานก็สำเร็จอภิญญาและสมาบัติ
          สองพระฤๅษีเจริญอยู่ในฌาน มีพรหมโลกเป็นที่ใปในเบื้องหน้าแน่แท้แล้ว


ธรรมนิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“อย่ารังเกียจผู้แนะนำพร่ำสอน จงหมั่นทำตามคำตักเตือนของเขา แล้วเราจะได้ดี”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
นิธีนํ ว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ
นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช
ตาทิสํ ภชมานฺสส เสยฺโย โหติ น ปาปิโย

คนเราควรมองผู้มีปัญญาใดๆ ที่คอยชี้โทษและกล่าวคำขนาบอยู่เสมอไป
ว่าผู้นั้นแหละคือผู้ขุมทรัพย์และควรคบหาบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น
เพราะเมื่อคบหากับบัณฑิตเช่นนั้นอยู่
ย่อมมีแต่คุณอันประเสริฐส่วนเดียวไม่มีเสื่อมเสีย (๒๕/๒๑)

(http://buddha.dmc.tv/images/dhamma_for_people/mongkol01/mongkol01-17.jpg)
ขอขอบคุณภาพ จากเว็บไซต์ buddha.dmc.tv

คัดจาก : หนังสือ พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ / จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดย สถาบันบันลือธรรม ... สาธุ