[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 11 ธันวาคม 2566 18:05:52



หัวข้อ: พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๔๑ จุลลโพธิชาดก : โพธิกุมารกับพราหมณ์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 ธันวาคม 2566 18:05:52

(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/13576513404647__500_320x200_.jpg)

พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๑๔๑ จุลลโพธิชาดก
โพธิกุมารกับพราหมณ์


          ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี ณ นิคมของชาวกาสีแห่งหนึ่ง มีพราหมณ์คนหนึ่งเป็นผู้มั่งคั่ง มีโภคทรัพย์มาก แต่ไม่มีบุตร นางพราหมณ์ภรรยาของเขาอยากได้บุตร
          คราวนั้นพระโพธิสัตว์จุติจากพรหมโลกมาบังเกิดในท้องของนางพราหมณ์ ในวันตั้งชื่อกุมารนั้น ญาติทั้งหลายตั้งชื่อว่า โพธิกุมาร ครั้นเจริญวัยแล้วไปเมืองตักสิลาเรียนศิลปะทุกอย่างสำเร็จแล้วกลับมา มารดาบิดาได้นำกุมาริกาผู้มีตระกูลเสมอกันมาให้เขาผู้ซึ่งยังไม่ปรารถนาเลย แม้กุมาริกานั้นก็จุติจากพรหมโลกเหมือนกัน มีรูปร่างงามเลิศเปรียบด้วยเทพอัปสร  โพธิกุมารกับนางกุมาริกาต่างไม่ปรารถนาเป็นสามีภรรยากัน ญาติทั้งหลายก็จัดการอาวาหวิวาหมงคล (แต่งงาน) ให้  ก็ชนแม้ทั้งสองนั้นไม่เคยมีความฟุ้งซ่านด้วยกิเลส  เพียงแต่จะดูแลกันด้วยอำนาจแห่งราคะก็มิได้มี ขึ้นชื่อว่าเมถุนธรรมไม่เคยประสบแม้ในฝัน ทั้งสองได้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ด้วยประการฉะนี้
          ต่อมาภายหลังเมื่อมารดาบิดาถึงแก่กรรมแล้ว พระมหาสัตว์ได้จัดการปลงศพของท่านทั้งสองเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรียกนางกุมาริกามาสั่งว่า ที่รัก เธอจงรับทรัพย์ ๘๐ โกฏินี้ไว้เลี้ยงชีพให้เป็นสุขเถิด” นางกุมาริกาถามว่า “ข้าแต่ลูกเจ้าก็ตัวท่านเล่า”
          พระมหาโพธิสัตว์ตอบว่า “ฉันไม่มีกิจด้วยทรัพย์ ฉันจักเข้าไปถิ่นหิมพานต์ บวชเป็นฤๅษีทำที่พึ่งแก่ตน”
          นางกุมาริกาถามว่า “ข้าแต่ลูกเจ้า ก็การบรรพชานั้นควรแก่พวกบุรุษเท่านั้นหรือ”
          พระมหาโพธิสัตว์ตอบว่า “แม้พวกสตรีก็ควรที่รัก”
          นางกุมาริกาจึงกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ฉันจักไม่รับเขฬะที่ท่านถ่มทิ้งไว้ แม้ฉันก็ไม่มีกิจด้วยทรัพย์ ถึงฉันก็จักบวช พระมหาโพธิสัตว์ก็รับรองว่า ดีแล้วที่รัก เขาทั้งสองได้ให้ทานเป็นการใหญ่ แล้วออกไปสร้างอาศรมในภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ บวชแล้วเที่ยวแสวงหาผลาผลเลี้ยงชีพอยู่ในที่นั้นประมาณ ๑๐ ปี ฌานสมาบัติก็มิได้เกิดขึ้นแก่เขาทั้งสองนั้นเลย ฤๅษีทั้งสองอยู่ในทึ่นั้น ๑๐ ปี ด้วยความสุขเกิดแต่บรรพชาเท่านั้น เพื่อต้องการจะเสพรสเค็ม รสเปรี้ยว จึงเที่ยวจาริกไปตามชนบท ถึงพระนครพาราณสีโดยลำดับ อาศัยอยู่ในพระราชอุทยาน
          อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาทอดพระเนตรเห็นบุรุษเฝ้าสวนถือเครื่องบรรณาการมาเฝ้า จึงตรัสว่า “เราจักไปชมสวน เจ้าจงชำระสวนให้สะอาด”
          ดังนี้แล้วจึงเสด็จไปยังพระราชอุทยานที่นายอุทยานนั้นชำระสะอาดเรียบร้อยแล้ว พร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก ขณะนั้นชนทั้งสองแม้เหล่านั้นนั่งให้กาลล่วงไปด้วยความสุขอันเกิดแต่บรรพชาอยู่ ณ ด้านหนึ่งของพระราชอุทยาน  ลำดับนั้น พระราชาเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นชนแม้ทั้งสองนั้นผู้นั่งอยู่แล้ว เมื่อทรงเห็นนางปริพพาชิกาผู้มีรูปร่างงามเลิศ น่าเลื่อมใสยิ่ง ก็มีพระทัยปฏิพัทธ์ พระองค์ทรงสะท้านอยู่ด้วยอำนาจแห่งกิเลส ทรงพระดำริว่า “เราจักถามดูก่อน นางปริพพาชิกานี้จะเป็นอะไรกันกับดาบสนี้”
          แล้วเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ ตรัสถามว่า “ข้าแต่บรรพชิตนางปริพพาชิกานี้เป็นอะไรกันกับท่าน  พระดาบสตอบว่า มหาบพิตรไม่ได้เป็นอะไรกัน เป็นแต่บวชด้วยกันอย่างเดียว ก็แต่ว่าเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ นางนี้ได้เป็นบาทบริจาริกาของอาตมภาพ”
          พระราชาได้ทรงสดับดังนี้แล้ว ทรงพระดำริว่า “นางนี้มิได้เป็นอะไรกันกับพระดาบสนั้นแต่เป็นบาทบริจาริกาเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ ก็ถ้าเราจักพาเอานางนี้ไปด้วยกำลังความเป็นใหญ่ไซร้ พระดาบสนี้จักทำอย่างไรหนอ และเราจักสอบถามดาบสนั้นดูก่อน ดังนี้แล้วจึงเข้าไปใกล้ แล้วกล่าวว่า “พราหมณ์ ถ้าจะมีบุคคลมาพาเอานางปริพพาชิกาผู้มีนัยน์ตากว้างงามน่ารัก มีใบหน้าอมยิ้มของท่านไปด้วยกำลัง ท่านจะทำอย่างไรเล่า”
     

นิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“ขึ้นชื่อว่าโกรธ ย่อมไม่มีสิ่งดีเลย”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
โกธํ  ฆตฺวา  สขํ  เสติ
ผู้ฆ่าความโกรธได้ย่อมอยู่เป็นสุข (๑๕/๖๕)

ทุกฺขํ  สยติ  โกธโน
คนมักโกรธย่อมมีแต่ทุกข์ (๒๓/๙๑)

ที่มา : นิทานชาดกจากพระไตรปิฎก : พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ จัดพิมพ์เผยแพร่ธรรมโดย ธรรมสภา สถาบันบันลือธรรม