[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 13 พฤษภาคม 2558 09:21:51



หัวข้อ: เรื่องเล่าประกอบพระราชพิธีพืชมงคลฯ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 13 พฤษภาคม 2558 09:21:51
.
เรื่องเล่าประกอบพระราชพิธีพืชมงคลฯ
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พระราชพิธีโบราณที่สืบทอดกันมาช้านาน
เพื่อความเป็นสิริมงคล บำรุงขวัญและกำลังใจ แก่เกษตรกรชาวไร่ชาวนา


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/83253503176901_1.jpg)

อีกหนึ่งวันสำคัญ พืชมงคล ในวันนี้มีความหมายยิ่งต่อเกษตรกรและการเกษตรกรรมของไทย ด้วยเป็นสัญญาณเริ่มขึ้นของฤดูกาลแห่งการทำนาและการเพาะปลูก พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีโบราณที่สืบทอดกันมาช้านานเพื่อความเป็นสิริมงคล บำรุงขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรชาวไร่ชาวนา ประกอบด้วย พระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ ประกอบพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นการทำขวัญเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เพื่อให้ปลอดจากโรคและเจริญงอกงามสมบูรณ์ จากนั้นเริ่ม พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ในวันถัดมาซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ โดยเริ่มต้นด้วยการไถหว่านเมล็ดข้าว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง อันเป็นการส่งสัญญาณการเข้าสู่ฤดูกาลทำนาและเพาะปลูกประจำปี ด้วยความสำคัญการประกอบพระราชพิธี ที่เป็นการทำขวัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารที่จะเพาะปลูกประจำปี สร้างเสริมกำลังใจเกษตรกร โดยข้าวเป็นอาหารหลักและการเกษตรกรรมอาชีพหลักของคนไทยมายาวนาน จากพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ จากนั้นว่างเว้นไปกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๐๓ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นและจัดขึ้นต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชประเพณีอันดีงาม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธี การจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว จัดทำกระบุงข้าว

ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นิพนธ์ เทียมหงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรี กองเมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ่ายทอดประสบการณ์เล่าถึงความสำคัญและการดำเนินการจัดเตรียมกระบุงข้าวว่า กระบุงข้าว เป็นอุปกรณ์สำคัญใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยแบ่งเป็นภาชนะสำหรับบรรจุเมล็ดพันธุ์ข้าวเข้าพิธีในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม รวมถึงยังใช้เป็นภาชนะบรรจุเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับพระยาแรกนาขวัญใช้หว่านในลานแรกนาขวัญ ณ มลฑลพิธีท้องสนามหลวง และใช้หว่านในแปลงนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

“การจัดเตรียมส่วนนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้กรมการข้าว สำนักเมล็ดพันธุ์ข้าวดูแลรับผิดชอบ ซึ่งกว่า ๒๗ ปี ที่ได้มีโอกาสดำเนินการจัดเตรียมไม่เพียงเฉพาะอุปกรณ์กระบุงคู่หาบเงิน คู่หาบทอง แต่ยังจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยเมื่อได้รับเมล็ดพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน จะคัดแยกเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากสิ่งเจือปน เศษหิน ดิน ทราย หรือแมลงที่ติดไปกับเมล็ดพันธุ์ ฯลฯ ก่อนที่จะนำเมล็ดพันธุ์ข้าวแต่ละสายพันธุ์บรรจุในถุงเงิน ถุงทอง หรือใส่ซองพลาสติกเพื่อนำไปแจกจ่ายเกษตรกร บนซองจะพิมพ์ข้อความระบุชื่อพันธุ์ข้าวพระราชทาน รวมถึงรายละเอียดของพันธุ์ข้าว ฯลฯ” ทุกขั้นตอนนั้นมีความละเอียดจัดทำขึ้นด้วยความพิถีพิถันเพื่อไม่ให้เมล็ดพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทานแต่ละสายพันธุ์ปะปนกัน เมื่อเกษตรกรได้รับเมล็ดพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทานไป จะได้นำไปใช้รวมกับพันธุ์ที่จัดเตรียมไว้เพาะปลูกเป็นขวัญกำลังใจในแปลงนา เช่นเดียวกับการจัดทำชุดกระบุงข้าวคู่หาบเงิน-คู่หาบทอง ต้องละเอียดพิถีพิถัน โดยองค์กระบุงข้าวประกอบด้วย

กระบุงข้าว ภาชนะที่จัดทำขึ้นจากไม้ไผ่สีสุกนำไปหลาวให้เป็นเส้นมีขนาดสม่ำเสมอแล้วนำไปจักสาน โดยกระบุงชุดหนึ่งจะมีจำนวน ๘ ใบ สานให้มีขนาดเท่ากันหมดจากนั้นจึงนำไปตกแต่งพ่นสีเงิน สีทอง

ไม้คาน ซึ่งใช้ในการหาบกระบุง ทำจากไม้ไผ่สีสุก โดยคัดเลือกจากไม้ไผ่ที่มีีจำนวน ๘ ข้อถือเป็นอีกความพิเศษ โดยการจัดทำต้องคัดเลือกต้นที่ลำต้นสมบูรณ์ไม่งอ จากนั้นจะผ่าซีกหลาวให้มีลักษณะแบน หากมีลักษณะกลมจะทำให้บ่าของเทพีเจ็บได้ ด้วยเพราะไม่กระจายน้ำหนัก ไม้คานที่มีความแบนจะทำให้หาบได้ดีกว่า “ไม้ไผ่ ๘ ข้อที่เลือกนำมาใช้นั้นมีความหมายเป็นไปตามโบราณ มีความเป็นสิริมงคลโดยข้อที่ ๑-๘ มีความหมายการเรียกคือ คาน-แคน-ยาก-แค้น-มั่ง-มี-ศรี-สุข อีกทั้งด้านปลายจะเรียว โดยไม้ไผ่ติดเศียรพญานาค อีกด้านหนึ่งเป็นหางพญานาคงดงาม แต่ละชุดกระบุงจะใช้เวลาประมาณ ๔-๕ เดือน ในการจัดทำ โดยทุกส่วนประกอบต้องมีความละเอียดประณีต”

สาแหรก อุปกรณ์ที่ใช้คู่กับกระบุงข้าว ทำจากหวายอย่างดีโดยคัดเลือกลำต้นที่สม่ำเสมอ ด้านล่างสานเป็นฐานสี่เหลี่ยมเพื่อรองรับกระบุงข้าวได้พอดีและที่พิเศษด้านบนสาแหรกถักเป็นหัวแหวนพิรอดเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งต่างจากสาแหรกทั่วไป

ไม้ค้างคาน มีความสำคัญเช่นเดียวกันโดยช่วยค้ำไม้คานให้กระบุงดูสวย ทำขึ้นจากไม้สักทอง ขณะที่ ไม้รองกันกระบุง เป็นไม้ที่ใช้รองเมล็ดพันธุ์ข้าวที่บรรจุในกระบุงข้าวให้มีปริมาณข้าวในแต่ละข้างน้อยลงเป็นต้น กระบุงข้าวแต่ละชุดสามารถใช้งานได้ ๔ ปี หลังจากนั้นจะนำไปเป็นชุดสำรอง อีกทั้งกระบุงข้าวในพระราชพิธียังเป็นคลังข้อมูลให้ศึกษาค้นคว้าทั้งในด้านเกษตรกรรม วิถีไทยต่อเนื่องไป

อีกส่วนสำคัญ คันไถ ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประสงค์ ประไพตระกูล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมด้วยคณะทำงานฝ่ายจัดเตรียมคันไถให้ความรู้เพิ่มอีกว่า คันไถมีส่วนสำคัญ ได้แก่ ตัวคันไถ แอกเทียมพระโค ฐานรอง ธงสามชาย โดยคันไถที่ใช้ในปัจจุบันสร้างขึ้นในปี ๒๕๓๙ โดยกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อนำมาใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ คันไถทำจากไม้สมอ ในชุดคันไถประกอบด้วย คันไถ มีขนาดสูงวัดจากพื้นถึงเศียรนาค ๒.๒๖ เมตร ยาว ๖.๕๙ เมตร ทาสีแดงชาดตลอดคันไถที่หัวคันไถทำเป็นเศียรพญานาคลงรักปิดทอง ลวดลายประดับคันไถเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทองตลอดคัน ปลายไถหุ้มผ้าขาวขลิบทองสำหรับมือจับ แอกเทียมพระโค ยาว ๑.๔๕ เมตร ตรงกลางแอกประดับด้วยรูปครุฑยุดนาคหล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทองอยู่บนฐานบัว ปลายแอกทั้งสองด้านแกะสลักเป็นรูปเศียญพญานาคลงรักปิดทอง ประดับลายสวยงาม ทั้งยังปิดทองตลอดคันที่ปลายแอกแต่ละด้านมีลูกแอกทั้งสองด้านสำหรับเทียมพระโคพร้อมเชือกกระทาม ฐานรอง สำหรับตั้งรองรับคันไถพร้อมแอกทำด้วยไม้เนื้อแข็งทาสีแดงชาด ประดับลายสวยงามเช่นกัน และในส่วน ธงสามชาย เป็นธงประดับคันไถติดตั้งอยู่บนเศียรนาคทำด้วยกระดาษและผ้าสักหลาด เขียนลวดลายลงรักปิดทองประดับกระจกแวว มีพู่ขาวประดับด้านบนเป็นเครื่องสูง เป็นต้น

“หลังจากกระทรวงเกษตรฯตั้งคณะทำงาน ทางทีมเรารับผิดชอบจัดเตรียมคันไถต่อเนื่องในทุกปี โดยก่อนเริ่มพิธีจะมีการซ้อมย่อยและซ้อมใหญ่ ดูความพร้อมของคันไถ หากมีการชำรุดสึกหรอในส่วนใดก็จะต้องซ่อมแซมปรับปรุงจัดเตรียมให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เรียบร้อย จวบกระทั่งเสร็จพระราชพิธียังคงดูแลความเรียบร้อยก่อนจัดเก็บในอาคาร” พระราชพิธีสำคัญซึ่งเป็นขวัญกำลังใจสร้างความเชื่อมั่นการทำเกษตรกรรมให้กับเกษตรกร ผอ.ประสงค์ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ในรอยไถจากคันไถที่ปรากฏ ทุกสิ่งมีความหมายหากพิจารณาในมุมสร้างสรรค์ศิลปกรรม ถ่ายทอดความงดงามประณีต ขณะเดียวกันเชื่อมโยงการเรียนรู้เกษตรกรรมในวันวานส่งผ่านมาถึงปัจจุบัน ทั้งยังถ่ายทอดประเพณีงดงามเป็นมิ่งขวัญให้กับเกษตรกรได้มีกำลังใจทำการเกษตรอย่างมั่นคงต่อเนื่องไป“

๑๑ พันธุ์ข้าวสิริมงคล
ในปีนี้กรมการข้าวขอพระราชทานพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทานในฤดูนาปี ๒๕๕๘ ทั้งข้าวนาสวนและข้าวไร่ที่มีคุณลักษณะและความโดดเด่นในด้านต่างๆ จำนวน ๑๑ พันธุ์ ประกอบด้วย ข้าวนาสวน จำนวน ๘ พันธุ์ ได้แก่ ปทุมธานี ๑ สังข์หยดพัทลุง ขาวดอกมะลิ ๑๐๕ กข ๔๙ กข ๔๑ กข ๓๑ กข ๔๗ กข ๖ ข้าวไร่ จำนวน ๓ พันธุ์ ได้แก่ ดอกพะยอม ซิวแม่จันและข้าวเหนียวลืมผัว โดยจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกเพื่อใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นำเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานโดยเป็นพันธุ์ขาวดอกมะลิ๑๐๕ บรรจุในกระบุงเพื่อใช้หว่าน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงและแปลงนาสาธิตในพระราชวังดุสิต สวนจิตรลดา รวมถึงบรรจุใส่ถุงเงิน ถุงทอง และจัดแบ่งบรรจุในซองพลาสติก แจกจ่ายให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปเพื่อเป็นมิ่งขวัญ สิริมงคลในการประกอบอาชีพทางการเกษตรตามประเพณี


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/43489489662978_2.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/32514298914207_3.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/12356993804375_4.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/41563672448197_5.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/38952091791563_6.jpg)

ข้อมูล-ภาพ : ตามรอย 'คันไถ-กระบุงข้าว' เรื่องเล่าประกอบพระราชพิธีพืชมงคลฯ นสพ. dailynews หน้า ๔ พุธที่ ๑๓ พ.ค.๕๘