[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => เพลงไทยเดิม => ข้อความที่เริ่มโดย: Compatable ที่ 16 มกราคม 2555 17:42:19



หัวข้อ: ราตรีประดับดาว บทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๗
เริ่มหัวข้อโดย: Compatable ที่ 16 มกราคม 2555 17:42:19
ราตรีประดับดาว บทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก
ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๗


ราตรีประดับดาว 2 ชั้น (http://www.youtube.com/watch?v=gpHjzVPB4Q0#)

เพลงราตรีประดับดาวนี้ เป็นบทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ ๗ แห่งพระมหาจักรีบรมวงศ์ กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดดนตรีไทยเป็นอย่างยิ่ง และทรงมีพระปรีชาสามารถในการบรรเลงเครื่องดนตรีไทย โดยเฉพาะการทรงซอ ทรงศึกษาดนตรีไทยจากหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดูรยชีวิน) และหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งเป็นครูดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น


ประวัติของเพลงราตรีประดับดาวนั้น ว่าไว้ว่า ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงฟังเพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา อันเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์พินิต เพลงนี้เป็นเพลงสำเนียงเป็นมอญ ซึ่งบทร้องที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในตอนชั้นเดียวท่อนสุดท้ายนั้นมีว่า “ชื่อแขกมอญบางขุนพรหมนามสมญา ฉันได้มาจากวังบางขุนพรหม” รัชกาลที่ ๗ จึงมีพระราชประสงค์จะทรงแต่งเพลงเถาในสำเนียงมอญอย่างนั้นบ้าง จึงทรงหารือกับครูผู้ใหญ่ในวงการดนตรีไทยในสมัยนั้น
เพลงที่ทรงเลือกมาเพื่อพระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นเพลงเถานั้น คือเพลงมอญดูดาว สองชั้น ของเก่า ซึ่งเมื่อทรงพิจารณาเพลงลงไป ทรงเห็นว่า เพลงมอญดูดาวของเดิมใช้หน้าทับมอญ (เทียบได้กับประเภทหน้าทับสองไม้ของไทย) และมีอยู่เพียง ๑๑ จังหวะ แต่โดยที่พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชนิพนธ์เพลงโดยใช้หน้าทับเป็นประเภทปรบไก่ ซึ่งความยาวเป็น ๒ เท่าของหน้าทับประเภทสองไม้ ดังนั้นหากทรงคงเนื้อเพลงของเดิม ก็จะได้จำนวนหน้าทับปรบไก่เพียง ๕ จังหวะครึ่ง

แล้วจึงทรงประดิษฐ์ทำนองขยายขึ้นเป็นอัตราสามชั้น และตัดแต่งลงเป็นชั้นเดียวจนครบเป็นเพลงเถา กับทรงพระราชนิพนธ์บทร้องขึ้นสำหรับร้องเป็นประจำโดยเฉพาะว่า
สามชั้น วันนี้ แสนสุดยินดี พระจันทร์วันเพ็ญ
ขอเชิญสายใจเจ้าไปเที่ยวเล่น(๒) ลมพัดเย็นเย็น หอมกลิ่นมาลี
หอมดอกราตรี แม้ไม่สดสี แต่หอมดีน่าดม
เหมือนงามน้ำใจ แม้ไม่ขำคม
กิริยาน่าชม สมใจจริงเอย
ชมแต่ดวงเดือน ที่ไหนจะเหมือน ได้ชมหน้าน้อง
พี่อยู่แดเดียว เปลี่ยวใจหม่นหมอง เจ้าอย่าขุ่นข้องจงได้เมตตา
หอมดอกชำมะนาด สีไม่ฉูดฉาด แต่หอมยวนใจ
เหมือนน้ำใจดี ปรานีปราศรัย
ผูกจิตสนิทได้ ให้รักจริงเอย
สองชั้น ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ เพลงของท่านแต่ใหม่ในวังหลวง
หอมดอกแก้วยามเย็น ไม่เห็นใจพี่เสียเลยเอย
ดวงจันทร์หลั่นลดเกือบหมดดวง โอ้หนาวทรวงยอดชีวาไม่ปรานี
หอมมะลิกลีบซ้อน อ้อนวอนเจ้าไม่ฟังเอย
ชั้นเดียว จวนจะรุ่งแล้วนะเจ้าพี่ขอลา แสงทองส่องฟ้าสง่าศรี
หอมดอกกระดังงา ชิชะช่างน่าเจ็บใจจริงเอย
หมู่ภมรร่อนหาช่อมาลี แต่ตัวพี่จำจากพรากไปไกล
หอมดอกจำปี นี่แน่พรุ่งนี้จะกลับมาเอย ฯ
คำร้องในบทพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งที่ว่า “ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ เพลงของท่านแต่งใหม่ในวังหลวง” นั้น ก็เพื่อให้เป็นที่หมายรู้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงพระราชนิพนธ์ เพราะพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) เป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน (แม้ความจริงเพลงนี้ จะทรงพระราชนิพนธ์ยังวังไกลกังวล ก็ทรงใช้ว่าวังหลวงตามสัญลักษณ์)



หัวข้อ: Re: ราตรีประดับดาว บทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๗
เริ่มหัวข้อโดย: Compatable ที่ 16 มกราคม 2555 17:42:43
เมื่อทรงพระราชนิพนธ์สำเร็จเรียบร้อยทั้งทำนองดนตรีและบทร้องแล้ว ก็ทรงต่อเพลงนี้พระราชทานแก่ข้าราชการในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง ครั้นซักซ้อมกันเรียบร้อยดีแล้วก็ทรงให้นำวงปี่พาทย์ไปบรรเลง ถวาย ณ วังสุโขทัย เพื่อทรงฟังตรวจแก้ไขอีก ๒-๓ ครั้งในครั้งแรกมีเจ้านายที่ทรงสามารถในการดนตรี อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และกรมหมื่นอนุพงศ์จักรพรรดิ ทรงร่วมฟังอยู่ด้วย ในระหว่างนี้ยังมิได้ทรงตั้งชื่อเพลงที่ทรงแต่งขึ้นใหม่นั้นว่ากระไร เจ้านายหลายพระองค์ต่างเสนอชื่อถวายต่าง ๆ กัน เช่น ดาวประดับฟ้า ดารารามัญ และอื่น ๆ ที่มีนัยเดียวกันนี้อีกหลายชื่อ แต่ก็ยังมิได้ทรงเลือกเอาชื่อไหน
ต่อมาวงมโหรีหลวงได้นำเพลงนี้ออกร้อง และบรรเลงส่งกระแสเสียง ณ สถานี ๑.๑ ที่ศาลาแดง โดยประกาศชื่อเพลงนี้ว่า “เพลงราตรีประดับดาว” อันเป็นชื่อที่รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงคิดตั้งขึ้นเอง จึงเป็นการตกลงใช้ชื่อนี้ตลอดมา
เพลงราตรีประดับดาว เถา นี้ ได้รับความนิยมแพร่หลายในวงการดนตรีไทยเป็นอันมาก เป็นเพลงที่มีทำนองและชั้นเชิงไพเราะน่าฟังเพลงหนึ่งในบรรดาเพลงไทยทั้งหลาย(๓)
หมายเหตุ
๑. สำหรับการออกนามวังว่า “พระราชวัง” นั้น โดยราชประเพณีปฏิบัติจะต้องมีพระบรมราชโองการสถาปนา แต่จากการค้นคว้าเอกสารของทางราชการไม่พบว่าเคยมีพระบรมราชโองการสถาปนา “พระราชวังไกลกังวล” หรือ “พระราชวังสวนไกลกังวล” แต่อย่างใด ดังนั้นการออกนามว่า “วังไกลกังวล” จึงถูกต้องตามราชประเพณี และพระราชนิยมในรัชกาลปัจจุบันแล้ว (จดหมายเหตุวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ ๗ : แพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ)
๒. ในปัจจุบัน นิยมร้องกันว่า “ขอเชิญสายใจเจ้าไปนั่งเล่น” แต่อาจารย์สุรางค์ ดุริยพันธ์ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่ได้ร้องเพลงถวายเสด็จพระองค์สี่ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ) นั้น เสด็จท่านได้ทรงประทานแก้ไขให้ร้องว่า “ขอเชิญสายใจเจ้าไปเที่ยวเล่น” จึงจะถูกต้องตามบทพระราชนิพนธ์ของเดิมที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าท่านได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้