[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 14:33:24



หัวข้อ: หลวงปู่ผล อักกโชติ วัดเวตวันธรรมาวาส (วัดเซิงหวาย) กรุงเทพฯ
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 14:33:24
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/96897116841541_view_resizing_images_4_320x200.jpg)
หลวงปู่ผล อักกโชติ
วัดเวตวันธรรมาวาส (วัดเซิงหวาย) กรุงเทพฯ  

พระราชนันทาจารย์ หรือ หลวงปู่ผล อักกโชติ อดีตเจ้าอาวาส วัดเวตวันธรรมาวาส (วัดเซิงหวาย) และอดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะเขตพญาไท กรุงเทพฯ ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา มีความวิริยอุตสาหะในการปฏิบัติสมณกิจ สร้างคุณูปการทั้งในด้านการศึกษาและการสร้างวัด มีผลงานปรากฏต่อสาธารณชนวงกว้างอย่างมากมาย

มีนามเดิมว่า ผล ใกล้ขาว เกิดเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2454 ที่บ้านเลขที่ 76 หมู่ 10 แขวงและเขตบางซื่อ กรุงเทพฯ

ชีวิตในวัยเด็ก ช่วยงานครอบครัวอย่างขยันขันแข็ง และจบการศึกษาสามัญชั้น ม.1 โรงเรียนวัดธรรมาภิรตาราม จนเมื่ออายุย่าง 16 ปี บรรพชาที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมีพระพิมลธรรม เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2474 ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมีพระพิมลธรรม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระญาณสมโพธิ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระเทพโมลี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ด้วยความมุ่งมั่นศึกษาพระธรรมวินัยและพระปริยัติธรรมอย่างลึกซึ้ง ที่สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มุมานะเล่าเรียนอย่างหนัก

พ.ศ.2466 สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท ตามลำดับ ที่สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราช รังสฤษฎิ์ พ.ศ.2502 สำเร็จการศึกษาประโยคครูพิเศษประถม (พ.ป.) จากกระทรวงศึกษาธิการ

ด้วยปฏิปทาที่น่าเลื่อมใส ประกอบกับความเมตตาบารมี ทำให้มีญาติโยมสาธุชนทั้งใกล้ไกลต่างให้ความนับถือ ซึ่งในจำนวนญาติโยมต่างๆ นั้น มีชาวบ้านบริเวณวัดเซิงหวาย อาราธนาให้มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดเซิงหวาย ด้วยความที่เป็นวัดโบราณจนเกือบร้าง

หลวงปู่ผลเล่าให้ฟังว่า เดิมทีวัดเซิงหวายนั้นทรุดโทรมมาก เสนาสนะต่างๆ ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถจะประกอบพิธีทางศาสนา รวมทั้งถนนหนทางต่างๆ ก็ลำบาก แต่เมื่อท่านรับปากรับคำญาติโยมมาแล้ว ท่านก็ต้องช่วย ครั้งแรกท่านเห็นว่าวัดนั้น ถ้าจะอยู่ได้ก็ต้องได้รับความช่วยเหลือร่วมมือร่วมใจจากประชาชน ท่านจึงตั้งใจที่จะให้การศึกษาแก่เด็ก และสอนธรรมะประจำใจเป็นการกระตุ้นเตือนให้ทุกคนรู้จักหน้าที่ของตน

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2481 เป็นเจ้าอาวาสวัดเวตวันธรรมาวาส พ.ศ.2509 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2515 เป็นเจ้าคณะแขวงบางซ่อน

พ.ศ.2517 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะเขตพญาไท

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2499 ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามที่พระครูวิบูลโชติวัฒน์ พ.ศ.2509 ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2510 ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม พ.ศ.2514 ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระศีลาจารพิพัฒน์

พ.ศ.2514 ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชนันทาจารย์

อบรมสั่งสอนให้ชาวบ้านรู้จักสัจธรรมในการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง ไม่หลงงมงายกับเรื่องต่างๆ มากเกินไปนัก ท่านยังคงยืนยันถึงคำสอนของพระพุทธศาสนาและการอยู่อย่างไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน รวมถึงการศึกษาที่ท่านพยายามที่จะให้ประชาชนได้รับอย่างจริงจัง เพื่ออนาคตที่ดีของคนในชุมชน

เป็นพระผู้อุปถัมภ์โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง นับแต่ท่านได้ก่อตั้งโรงเรียนหลายสิบปี ในช่วงนั้น เล็งเห็นถึงความลำบากของเด็กๆ ในย่านซอยวัดเซิงหวาย ซึ่งต้องพากันเดินไปเรียนที่โรงเรียนวัดสร้อยทอง ที่อยู่ไกลออกไปหลายกิโลเมตร

จึงเมตตามอบที่ดินของวัด เพื่อก่อตั้งโรงเรียนวัดเวตวันธรรมาวาส ต่อมาได้แยกเป็นโรงเรียนอีกแห่ง คือ โรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์ ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา

นับเป็นผู้มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างพื้นฐานปลูกฝังเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของชุมชน นักเรียนแต่ละรุ่นที่จบการศึกษาออกไป ต่างประสบความสำเร็จ ประกอบอาชีพเลี้ยงตัวและเป็นประโยชน์ต่อสังคมเป็นอย่างดี

ในช่วงบั้นปลายชีวิต อาพาธบ่อยครั้งด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ สุดท้ายมรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2547 ที่โรงพยาบาลบางโพ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ

สิริอายุ 93 ปี พรรษา 73
    ข่าวสดออนไลน์