[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 17 กรกฎาคม 2566 16:05:29



หัวข้อ: เปิดเคล็ดลับสุขภาพสูตร “ซูสีไทเฮา” และกำเนิดเมนูโปรดของพระนาง
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 17 กรกฎาคม 2566 16:05:29
(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/2/2c/The_Ci-Xi_Imperial_Dowager_Empress_%285%29.JPG)
พระนางซูสีไทเฮา

เปิดเคล็ดลับสุขภาพสูตร “ซูสีไทเฮา” และกำเนิดเมนูโปรดของพระนาง

ผู้เขียน - กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
เผยแพร่ - https://www.silpa-mag.com/history/article_27642?fbclid=IwAR1Ppmry72dSs6tlbFglGFPOELr3wxlr9zJYcMXBHnYR58_WNLi9GLpnlv0 วันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2566


พระกระยาหารของ ซูสีไทเฮา แห่งราชวงศ์ชิง เป็นที่รู้กันว่าไม่เพียงแต่พิถีพิถัน แต่ยังอลังการงานสร้าง เพียบพร้อมทั้งแง่ปริมาณและคุณภาพ รายละเอียดในพระกระยาหารที่น่าสนใจคือ องค์ประกอบในเมนูที่ว่ากันว่าเป็นที่โปรดปรานของพระนาง และว่ากันว่าเป็นเคล็ดลับที่ช่วยรักษาสุขภาพความงาม

พระกระยาหารของจักรพรรดิและราชวงศ์ในพระราชวังจีนขึ้นชื่อเรื่องความหรูหราจนเป็นที่สนใจของคนทั่วไป เมนูหลายอย่างถูกนำมาประยุกต์ หรือถอดสูตรมาผลิตจำหน่ายในภัตตาคารชั้นเลิศทั่วเอเชีย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่หลายคนพิจารณาคือวัตถุดิบที่นำมาปรุงพระกระยาหารนั้นล้วนพิถีพิถัน เมื่อราชวงศ์มีทั้งอำนาจและการเงิน ย่อมสามารถหาคนครัวชั้นยอดมาใช้งานได้

ก่อนหน้านี้เคยเล่าเรื่องธรรมเนียมเรื่องเสวยพระกระยาหารของพระนางซูสีไทเฮา ไปจนถึงเรื่องงบประมาณต่อพระกระยาหาร 1 มื้อไปแล้ว ข้อมูลที่นักประวัติศาสตร์พบคือ ห้องเครื่องสมัยพระนางซูสีไทเฮามีกำลังคนราว 200 คน และขันทีที่คอยจัดเครื่องเสวยให้ซูสีไทเฮามีมากกว่า 20 คน

แม้ว่าในพระราชวังจะมีระเบียบปฏิบัติเพื่ออารักขาความปลอดภัยในส่วนพระกระยาหาร โดยเป็นมาตรฐานที่ปฏิบัติกันมาจนเป็นระเบียบแบบแผน และจากระเบียบเหล่านี้ทำให้แม้แต่ขันทีคนสนิทที่ถวายการรับใช้มานับ 10 ปี หรือสาวรับใช้ในวัง ก็ยังไม่รู้ว่าองค์จักรพรรดิทรงโปรดปรานอาหารชนิดไหนเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์มีข้อมูลเพียงพอจะสันนิษฐานได้ว่า อาหารที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในพระราชวังสมัยราชวงศ์แมนจูคือเมนู “หม้อไฟ” ข้อมูลหลายแหล่งสะท้อนถึงความนิยมนี้ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในปี ค.ศ.1279 ทหารมองโกลที่หิวโหยกำลังพักผ่อนและเตรียมอาหารในแคมป์ทหาร ทันใดนั้นเกิดเสียงกลองดังลั่น เป็นสัญญาณแจ้งว่าข้าศึกกำลังเดินทัพใกล้เข้ามาแล้ว ทหารที่หิวโหยจัดการโยนเนื้อวัวและเนื้อแกะลงในหม้อที่น้ำกำลังเดือดปุด จากนั้นก็รับประทานให้เร็วที่สุดเพื่อเป็นกำลังสำหรับสู้ศึก

กองทัพมองโกลอันเกรียงไกรสามารถพิชิตแผ่นดินฮั่นในภายหลัง และสถาปนาราชวงศ์หยวนปกครองจีนระหว่างปี 1271-1368 เรื่องราวเกี่ยวกับต้นกำเนิดของหม้อไฟในจีนยังเกี่ยวข้องกับอาหารที่ใช้รับประทานในช่วงหน้าหนาว กระทั่งอีก 300 ปีต่อมา ในราชวงศ์ชิง ห้องครัวในพระราชวังต้องห้ามยังใส่เมนูหม้อไฟ หรือหม้อร้อน ในพระกระยาหารของจักรพรรดิอยู่เสมอ ในแต่ละมื้อต้องมีเมนูนี้ไม่ต่ำกว่า 1 จานโดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว

ในช่วงพระนางซูสีไทเฮากุมอำนาจ เป็นเรื่องที่ทราบกันดีว่าพระนางโปรดปรานและพิถีพิถันเรื่องสุขภาพ การกิน และความงาม องค์ประกอบจำเป็นสำหรับเรื่องการบำรุงพระวรกายของพระนางซูสีไทเฮา ซึ่งเป็นข้อมูลที่เล่าสืบต่อกันมาพูดถึง 3 สิ่ง คือ น้ำนมคน, ผงมุข และดอกเบญจมาศ หรือดอกเก๊กฮวย (chrysanthemum)

ในตำราการแพทย์จีนระบุถึงดอกเก๊กฮวยว่ามีสรรพคุณลดอุณหภูมิร่างกายและบำรุงผิวพรรณ อีกทั้งยังช่วยขับถ่ายพิษในร่างกาย

สำหรับ ซูสีไทเฮา มีข้อมูลจากบันทึกของคนใกล้ชิดของพระนางระบุว่า ดอกเบญจมาศเป็นที่โปรดปรานของพระนางซูสีไทเฮาอย่างมาก ในวิถีชีวิตประจำวันของพระนางมีดอกเบญจมาศเป็นองค์ประกอบตั้งแต่การล้างมือ ไปจนถึงการเสวยพระกระยาหาร พระนางโปรดให้คัดดอกเบญจมาศสดจากพระราชวังในฤดูหนาวมาเสวยด้วย โดยพระนางรับสั่งให้นำกลีบมาโปรยในน้ำซุปที่กำลังเดือด นอกจากจะทำให้น้ำซุบมีกลิ่นหอมแล้ว ยังมีผลต่อรสชาติ และบำรุงสุขภาพตามความเชื่อตามตำราแพทย์จีน

การปรุงพระกระยาหารด้วยดอกเบญจมาศยังไปจนถึงผสมในการดื่มชา (ซึ่งดื่มกันทั่วไป) จากนั้นก็เริ่มแพร่หลายไปสู่ชาวบ้านทั่วไป เมนูหม้อไฟผสมกลีบดอกเบญจมาศยังได้รับความนิยมในช่วงปลายราชวงศ์ชิงด้วย