[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 05 กรกฎาคม 2561 11:05:31



หัวข้อ: ถอด หรือ ไม่ถอด รองเท้าเข้าวัด
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 05 กรกฎาคม 2561 11:05:31
(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/shoes-01.jpg)

ถอด หรือ ไม่ถอด รองเท้าเข้าวัด

มีเรื่องเล่ามาว่า มีชายคนหนึ่งกำลังจะใส่บาตร แต่พื้นสกปรกมากจึงไม่อยากถอดรองเท้า กระนั้นก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะดีหรือเปล่า หรือทำได้หรือไม่ จึงลองเอ่ยปากถามพระสงฆ์ที่กำลังเดินรับบาตรว่า

“ใส่รองเท้าได้รึเปล่าครับ ?”

หลวงพ่อรีบตอบ “ใส่แต่อาหารก็พอมั้ง โยม !”

ตามธรรมเนียมชาวพุทธไทยปัจจุบันมักถือว่าเวลาใส่บาตรต้องถอดรองเท้า อาจเพราะความคิดเรื่องลำดับสูง-ต่ำ ด้วยว่าพระสงฆ์ที่ออกรับบิณฑบาตนั้น ส่วนมากท่านก็เดินเท้าเปล่า ดังนั้นฆราวาสซึ่งต่ำต้อยกว่า จึงไม่พึงอยู่ “สูง” กว่าท่าน-ด้วยการใส่รองเท้า

กระนั้นก็ยังเห็นบ่อยๆ ว่ามีคนที่ใส่บาตรด้วยวิธีการ “เลี่ยงบาลี” กันทั่วไป คือถอดรองเท้าก็จริง แต่เสร็จแล้วกลับไปยืนบนรองเท้าของตัวเองอีกทีหนึ่ง เนื่องจากรังเกียจพื้นถนนหรือฟุตปาธที่มักสกปรกหรือเปียกเปื้อน ซึ่งก็บอกได้ว่า “ถอดรองเท้าแล้ว” แต่ก็ยัง “สูง” กว่าพระท่านอยู่ดี

ความพยายามหลีกเลี่ยงตำแหน่งที่อยู่สูงกว่า หรือเหนือกว่า สิ่งอันพึงเคารพในพระศาสนา มีให้เห็นตั้งแต่ในตำนานโบราณ เช่นเมื่อพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์หริภุญชัยยุคดึกดำบรรพ์ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระธาตุหริภุญไชย เป็นสถูปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สูง ๓ วา ขึ้นกลางเวียงลำพูน นับแต่นั้นมาจึงมีคติว่าคนในเมืองลำพูนย่อมไม่ปลูกสร้างสิ่งใดที่สูงเกิน ๓ วา ด้วยเกรงจะสูงกว่าองค์พระธาตุ

และตามคติพุทธศาสนานั้น องค์พระธาตุเจดีย์เองย่อมถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อันไม่พึงสวมใส่รองเท้าเข้าไป

ดังมีเรื่องครั้งยุคพุทธกาลกล่าวว่าเมื่อพระเจ้าพิมพิสารถูกพระเจ้าอชาตศัตรู ราชบุตร จับกุมคุมขังไว้ แม้พระองค์มิได้เสวยอาหารเลย ด้วยพระเจ้าอชาตศัตรูหวังให้อดอยากจนสิ้นพระชนม์ แต่พระบิดาก็ยังทรงอิ่มเอิบด้วยปีติที่ได้รับจากการเดินจงกรม เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบเช่นนั้นจึงให้นายช่างกัลบก (ช่างตัดผม) เข้าไปใช้มีดโกนกรีดฝ่าพระบาทพระบิดาเสียทั้งสิ้น เพื่อมิให้ออกเดินจงกรมได้อีก

คัมภีร์ชั้นอรรถกถาอธิบายว่า เหตุที่ทรงถูกกรีดฝ่าพระบาทจนต้องได้รับทุกขเวทนาเป็นสาหัสนี้ ก็ด้วยผลแห่งบุพกรรมในอดีตชาติ ที่พระเจ้าพิมพิสารเคยทรงฉลองพระบาทขึ้นไปบนลานพระเจดีย์

คติทำนองนี้ยังคงถือเคร่งครัดอยู่ในเมืองพม่า ดังที่คนไทยซึ่งไปเที่ยวเมืองพม่ามักบ่นว่า เวลาไปไหว้พระตามวัดต่างๆ ต้องถอดถุงเท้ารองเท้าตั้งแต่นอกกำแพงวัด แม้กระทั่งวัดร้างที่เป็นโบราณสถาน อย่างที่เมืองพุกาม ก็ต้องถอดรองเท้าไว้ข้างนอก แล้วจึงเดินเท้าเปล่า ลุยป่า ฝ่าหนาม เหยียบกรวดหินดินทราย (หรือทางเดินอิฐร้อนระอุเพราะถูกแดดเผามาตลอดวันแล้ว) เพื่อเข้าไปในวัด



(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/shoes02.jpg)

คนไทยไปเมืองพม่าทุกวันนี้จะรู้สึกว่าคนพม่าเคร่งครัดในพุทธศาสนาด้วยศรัทธาอย่างสูง เวลาเข้าวัดก็ต้องถอดรองเท้าตั้งแต่ข้างนอกกำแพง ที่รู้สึกเช่นนั้นเพราะในเมืองไทย เวลาไปวัด ทั้งภิกษุและฆราวาสถอดรองเท้าก็เพียงแค่หน้าบันไดประตูเข้าโบสถ์เท่านั้น แต่ถ้าอยู่ข้างนอกอาคาร โดยทั่วไปก็ไม่เห็นใครถอดรองเท้ากัน

สันนิษฐานได้ว่าตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยเดินเท้าเปล่ากันเป็นปกติ ความเดือดร้อนเรื่องต้องถอดรองเท้าคงไม่มี เพราะทุกคนไปไหนมาไหนก็ไม่ได้ใส่รองเท้าอยู่แล้ว เวลาเดินขึ้นบ้านขึ้นเรือนใครๆ จึงต้องล้างเท้าเสียก่อน อันเป็นที่มาของสำนวนไทย “หัวกระไดไม่แห้ง” คือมีแขกไปไทยมาอยู่ตลอดเวลาจนพื้นดินตรงหัวบันได คือพื้นก่อนจะก้าวขึ้นบันไดบ้านไม่เคยแห้งเลย เพราะมีคนมาล้างเท้าให้เปียกไม่หยุดไม่หย่อน

เมื่อเป็นดังนั้น ประเด็นว่าต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าวัด ตรงไหน หรือไม่ ก็ย่อมไม่ใช่ปัญหา

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญคงมาถึงในสมัยรัชกาลที่ ๕ นับแต่ปี ๒๔๑๖ ช่วงต้นรัชกาลในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ขณะเมื่อมีพระชนมายุ ๒๐ พรรษา ดังมีประกาศยกเลิกการหมอบคลานในเวลาเข้าเฝ้า ให้เปลี่ยนเป็นการยืนเข้าเฝ้าและถวายคำนับแทน

ความเปลี่ยนแปลงนี้มิได้เกิดขึ้นลำพัง แต่ดำเนินไปควบคู่กับการเปลี่ยนแปลง “เสื้อผ้าหน้าผม” ของชนชั้นสูงชาวสยามทั้งหมดให้เป็นแบบตะวันตก ดังที่ข้อเขียนเรื่องหนึ่งใน วชิรญาณวิเศษ นิตยสารยุคต้นรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี ๒๔๓๕ บันทึกไว้ด้วยความอัศจรรย์ใจว่า “ถ้าเปนในรัชกาลที่ ๓ มีผู้กล่าวว่าอีกไม่ถึง ๓๐ ปี จะคิดให้ข้าราชการเข้าเฝ้าสรวมเสื้อแลรองเท้ายืนเฝ้าเช่นนี้ แทบเถียงว่าพ้นวิไสยจะเปนได้…”

เหตุที่กล่าวเช่นนั้นก็เพราะในรัชกาลที่ ๓ หลักฐานจากพระราชานุกิจ ระบุว่าไม่โปรดให้ขุนนางสวมเสื้อเข้าเฝ้า นอกจากในฤดูหนาวที่อากาศหนาวจัด ดังนั้นในเวลา “ออกขุนนาง” พระเจ้าแผ่นดินและขุนนางทั้งหลายก็คงมีแต่ผ้านุ่งตามลำดับชั้นยศ แต่มิได้สวมเสื้อ ส่วนรองเท้าก็แน่นอนว่าไม่มีอยู่แล้ว ผู้เขียนบทความดังกล่าวจึงบอกว่า ถ้ามีใครพูดว่าอีกหน่อยคนจะสวมเสื้อใส่รองเท้าเข้าเฝ้าในหลวง คนยุครัชกาลที่ ๓ ก็คงต้องเถียงว่าไม่มีทางเป็นไปได้

ขนบธรรมเนียมราชสำนักสมัยตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ให้ข้าราชการใช้เครื่องแบบเครื่องยศอย่างฝรั่ง และสวมถุงน่องรองเท้า เวลาที่มีเหตุให้ต้อง “เข้าวัด” เช่นในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองขณะนั้นคงเห็นว่าการต้องมาคอยถอดคอยสวมรองเท้าพร้อมๆ กันจำนวนมาก แล้วไหนจะต้องไปนั่งเท้าเปล่าเปลือยขณะที่แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างฝรั่งประดับเหรียญตราสายสะพายเต็มยศ ย่อมดูประดักประเดิดและไม่เสริมส่งสง่าราศีแต่อย่างใด จึงอนุโลมกันมาแต่สมัยนั้นว่า ก็ในเมื่อรองเท้าถือเป็นส่วนหนึ่งของ “เครื่องแบบ” ก็อนุญาตให้สวมเข้าไปในวัด หรือกระทั่งเข้าไปนั่งเก้าอี้ในพระอุโบสถระหว่างการพระราชพิธีด้วยก็ย่อมได้ ถือเป็นการแสดงความเคารพแก่สถานที่ตามแบบใหม่


(https://www.sarakadee.com/wp-content/uploads/shoes-03.jpg)

การถอดรองเท้าก่อนเข้าวัดกลายเป็นปัญหาทางการเมืองในพม่ายุคอาณานิคม ซึ่งก็คือช่วงเดียวกับที่ชนชั้นนำของสยามตัดสินใจให้ใส่รองเท้าเข้าวัดได้ ประเด็นนี้ถูกกลุ่มชาตินิยมพม่าที่ต่อต้านอังกฤษหยิบยกขึ้นมาโจมตีเจ้าอาณานิคม โดยผูกโยงเข้ากับความเชื่อและศรัทธาในพุทธศาสนา เพราะเจ้าอาณานิคมซึ่งเป็น “ฝรั่ง” ต่างศาสนาและถือตัวว่าสูงส่ง มักไม่ยอมถอดรองเท้าเข้าวัดพุทธ สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่คนพม่าที่เคร่งครัดในเรื่องนี้ จนลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งไปทั่ว

น่าสนใจว่ารัฐบาลอาณานิคมในพม่า (ซึ่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งใน “อินเดียของอังกฤษ”) ถึงกับมีหนังสือมาหารือรัฐบาลสยาม-ในฐานะรัฐสมัยใหม่ที่นับถือพุทธศาสนาเช่นเดียวกับพม่า-ว่าในสยามมีแนวทางปฏิบัติเช่นไร

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าเรื่องนี้ไว้ในพระนิพนธ์ “เรื่องเที่ยวเมืองพม่า” เมื่อปี ๒๔๗๘ ว่าเวลานั้น (น่าจะเป็นช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕)

“ได้ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ส่งคำถามไปยังสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ถวายวินิจฉัยว่าบุคคลเข้าไปในเจดียสถานจะเป็นเจดียสถานในศาสนาของตนเองก็ตามหรือศาสนาอื่นก็ตาม ควรเข้าไปด้วยความเคารพ ถ้าไม่อยากจะเคารพก็ไม่ควรเข้าไปทีเดียว ก็ความเคารพนั้นถ้าว่าฉะเพาะด้วยเครื่องแต่งตัว คนชาติใดหรือจำพวกใดถือประเพณีว่าแต่งตัวอย่างไรเป็นการเคารพ ก็ควรแต่งตัวอย่างนั้น ไม่ได้เป็นใหญ่อยู่ที่เกือก…”

โดยสรุปก็คือพระวินิจฉัยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส รับรองและเน้นย้ำสิ่งที่ชนชั้นนำสยามประพฤติปฏิบัติอยู่แล้ว คือมิได้ให้ความสำคัญแก่เรื่องที่ว่าต้องถอดรองเท้าหรือไม่ เท่ากับว่าเป็นไปด้วยเจตนาเช่นไร

เมื่อปี ๒๔๗๘ ขณะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไป “เที่ยวเมืองพม่า” นั้น ข้อเรียกร้องของฝ่ายชาตินิยมพม่าบรรลุผลมาหลายปีแล้ว ฝรั่งนักท่องเที่ยวต่างยินยอมพร้อมใจกันถอดรองเท้าเข้าวัดในพม่าหมดแล้ว แต่เรื่องกลับกลายเป็นประเด็นปัญหาใหม่สำหรับสมเด็จฯ ซึ่งเดินทางไปด้วยการทรงฉลองพระองค์แบบตะวันตก ดังที่ทรงเล่าว่า

“ครั้นจะยอมถอดเกือกขึ้นไปด้วยแต่งตัวอย่างฝรั่งเหมือนเช่นพวกฝรั่งที่ท่องเที่ยวทำกันก็ขัดข้อง ด้วยฉันถือพระพุทธศาสนา ถ้าแต่งตัวเช่นนั้นตามธรรมเนียมไทยถือว่าปราศจากความเคารพ…ฉันจึงคิดไว้ว่าเมื่อขึ้นไปที่พระเกศธาตุ หรือไปดูเจดียสถานแห่งอื่นที่ฉันอยากเห็น จะแต่งตัวอย่างอุบาสกไทยตามแบบเก่า คือนุ่งผ้าใส่เสื้อ ไม่ใส่เกือกถุงตีน”

แนวทางเช่นที่สมเด็จฯ ทรงตัดสินพระทัยเลือกใช้นี้ คงได้รับการสืบทอดต่อมาในพระบรมราชวงศ์ ดังเมื่อคราวในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ เยือนสหภาพพม่าเมื่อปี ๒๕๐๓ วันที่เสด็จไปทรงสักการะพระมหาธาตุชเวดากอง (หรือที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกด้วยคำไทยอย่างเก่าว่า “พระเกศธาตุ” ) ณ นครย่างกุ้ง ทรงเลือกฉลองพระองค์อย่างไทยโบราณ คือเสื้อราชปะแตนขาว และทรงพระภูษา (โจงกระเบน) สีแดง โดยปราศจากฉลองพระบาท (รองเท้า)

ยังความปลื้มปีติเป็นล้นพ้นทั้งแก่พสกนิกรชาวไทยและราษฎรพม่าที่ได้พบเห็น ว่าพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยทรงให้ความเคารพแก่ขนบธรรมเนียมของเขา เฉกเช่นที่พุทธศาสนิกชนควรประพฤติปฏิบัติทุกประการ


ที่มา นิตยสาร สารคดี